Ironman Langkawi : The final edition

ชีวิตเต็มไปด้วยความไม่คาดฝัน ผมเองไม่เคยคิดว่าจะได้เข้าร่วมกิจกรรมท้าทายเช่นนี้ 3 ปีติดต่อกัน แต่มันก็เป็นไปแล้ว วันนี้จะมาเล่าให้ฟังว่าทำไม แล้วเกิดอะไรขึ้น ผมได้อะไร ผมเสียอะไร จากการเดินทางครั้งนี้ หลายคนที่ติดตามงานเขียนของผมเกี่ยวกับ Ironman Langkawi ก็จะรู้ดีว่า ความหลังของผมกับ Ironman Langkawi นั้น อาจจะเป็นเรื่องราวที่เป็นส่วนตัวเล็กน้อย ในครั้งแรกที่มาเพราะต้องการวิ่งหนีจากการรักษาโรคดับอักเสบบีเรื้อรัง พร้อมทั้งการหาทุนเพื่อกองทุนเพื่อซูริ ในครั้งแรก ๆ ผมเรียกบทความแรกว่า Ironman Langkawi “For Zuri” หลังจากนั้นผมกลับมาอีกครั้ง เพื่อมาจบเป็น Ironman ครั้งแรกของผม เป็นหนึ่งบทความที่ไม่น่าเชื่อว่ามีหลาย ๆ คนเข้ามาบอกกับผมว่า มันทำให้เขามีกำลังใจในการตั้งเป้าหมายเพื่อการจบ Ironman เพียงสักครั้งในชีวิต ผมเรียกบทความนั้นว่า Ironman Langkawi ForZuri Episode II : ไม่หมู แต่ทุกคนทำได้ ในขณะเดียวกันก็สร้างแรงกระเพื่อมในวงการไตรกีฬาพอสมควร ที่กล่าวถึง holy grail ของวงการว่าเป็นสิ่งที่เอื้อมถึงกันได้ทุก ๆ คน รอบนี้เป็นรอบสุดท้ายของสัญญา Ironman ของที่นี่ ผมวางแผนเล็ก ๆ ไว้ว่าน่าจะกลับมาอีกครั้ง เพียงเพราะมันใกล้ และเดินทางค่อนข้างสะดวกสำหรับผม แล้วอีกอย่าง เด็ก ๆ ของผมชอบกิจกรรมบนเกาะนี้ ไม่ว่าจะเป็น Aquarium และ Wildlife Park และที่สำคัญรายการ Ironkids ที่ผมพาเด็ก ๆ มาเล่นสนุกเป็นปีที่ 2 แล้ว สำหรับปีนี้จะเป็นครั้งแรกของฮารุที่จะร่วมวิ่งกับพี่ ๆ แม้ว่าจะไม่ถึงวัยที่จะสามารถสมัครเข้าร่วมได้

This slideshow requires JavaScript.

อย่างไรก็ตามการตัดสินใจจริง ๆ นั้นเกิดขึ้นภายหลัง หนึ่งเหตุผลที่ทำให้ผมตัดสินใจกลับมาที่นี่อีกครั้ง เพราะมีเพื่อน Very Forty ของผมสองคนมาร่วมด้วย คนแรกคือ หมอนก ที่ต้องการกลับมาแก้เกมส์ที่พลาดไปเมื่อรอบที่แล้ว แต่จริง ๆ ผมคิดว่าหมอนกมาเพียงเพราะน้อง ๆ ทีมบางแสนไตรฯ ต้องการความท้าทายของชีวิตด้วย Ironman และที่สำคัญที่สุดสำหรับผมคือ ผมต้องการให้ตุ๊มาเป็น Ironman สักครั้ง ผมพยายามชวนตุ๊หลาย ๆ ครั้งในหลาย ๆ กิจกรรม ซึ่งตุ๊ไม่เคยปฏิเสธเลยสักครั้งเดียว ไม่ว่าจะเป็นระยะทางเท่าไร มาราธอนสองสามครั้งแรกที่วิ่งร่วมกัน การขยับระยะมาเป็น TNF50 TNF100 PYT66 Audax200 300 400 600 ต่าง ๆ เหล่านี้ ตุ๊ไม่เคยปฏิเสธ แม้ว่าจะไม่เคยได้ซ้อม ไม่วายยังมีผลงานที่ล้ำหน้าเกินที่ผมจะทำได้หลายต่อหลายครั้ง ทั้งที่โป่งแยง หรือ ปั่น 600 km. แต่ตุ๊ไม่เคยยอมตัดสินใจลอง Ironman เลยสักครั้ง ว่ายน้ำเป็นอุปสรรค ตุ๊พยายามขยับระยะของไตรกีฬาขึ้นมาทีละเล็กละน้อย แต่ผมว่าที่สำคัญที่สุดของตุ๊คือช่วงที่ได้ไปซ้อม Open water ระยะยาว ๆ กับกลุ่มบางแสน การได้โฟกัสการวิ่ง ultra trail ในช่วงปีที่แล้ว นั่นร่วมถึงการวิ่ง 200 miles ที่ผ่านมา ทำให้ปีนี้ตุ๊พร้อมมากที่สุด สิ่งที่ผมพยายามทำมากที่สุดในช่วงสมัครคือกระตุ้นให้ตุ๊ตัดสินใจสมัคร เพราะในทุก ๆ ความสำเร็จใด ๆ ที่จะเกิดขึ้นได้นั้น ก้าวแรกเป็นสิ่งที่สำคัญ ในทุก ๆ ขั้นตอนของการเดินทางสู่ไอรอนแมน การสมัคร เป็นขั้นตอนที่แบ่งแยกว่าใครจะได้เป็นไอรอนแมน และใครจะไม่ได้เป็นไอรอนแมน เมื่อมีตุ๊และนกสมัคร ผมก็มั่นใจว่าจะเป็นอีกหนึ่งความทรงจำของผม ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม

 

เมื่อเพื่อน ๆ และ ผมสมัครกันเรียบร้อยแล้ว ในใจของผมมันผ่านไปมากกว่าครึ่งหนึ่ง ผมคิดเสมอว่าสิ่งที่ยิ่งใหญ่ไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุด พร้อมที่สุด แต่การตัดสินใจที่จะก้าวไป ในช่วงปีนี้ผมมีรายการใหญ่ ๆ สามรายการ รายการแรกคือ Roth ซึ่งผมถือว่าเป็น A race เพราะมีเวลา cut off time ที่ 15 ชั่วโมงและคิดว่าคงไม่ได้ไปกันบ่อย ๆ อีกสองรายการที่ผมสมัครพร้อม ๆ กันคือ Langkawi และ Thailand ตอนนี้ผมผ่านมาแล้วรายการที่ Roth เป็นความประทับใจที่ผมเล่าให้หลาย ๆ คนได้ฟังไปแล้ว ในบทความที่ชื่อว่า Challenge Roth : The dream that you can all experience ถือได้ว่าการแข่งที่ลังกาวีครั้งนี้เป็นการแข่งระยะไอรอนแมนครั้งที่ 4 ของผม สอบตกไปแล้วหนึ่งครั้งในสนามเดียวกันนี้ และเป็นไอรอนแมนครั้งแรกที่สนามนี้ ส่วนอีกสนามเขาเป็นของ Challenge เค้าไม่เรียกว่าไอรอนแมน แต่สนุกมากเหมือนกัน

ในช่วงหนึ่งปีครึ่งที่ผ่านมาชีวิตผมมีความเปลี่ยนแปลงมากมาย หลังจากที่จบไอรอนแมนครั้งแรกที่ลังกาวีนั้น ผมเริ่มมีความฝันลาง ๆ ว่าจะสะสมสนามไอรอนแมนเพื่อสิทธิ์ที่จะสมัครไปสนามที่ Kona สักครั้งหนึ่งในชีวิต ผมจึงเริ่มวางแผน สถานที่แข่งต่าง ๆ ทั่วโลกที่ผมคิดว่าน่าจะเป็นสนามที่ควรจะไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์ ผมเริ่มค่อย ๆ วาดไลฟสไตล์ของไอรอนแมน ที่เดินทางพร้อมครอบครัวไปตามเมืองต่าง ๆ แข่งขัน และท่องเที่ยวไปเรื่อย ๆ ประกอบการเรียนรู้ของลูก ๆ ของผมที่เป็นบ้านเรียนที่เน้นการเดินทาง หรือ Worldschooling สิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกไม่เหมาะกับผมในความเป็นไอรอนแมนนั้นคือ ตารางซ้อม 10-18 ชม. ต่อสัปดาห์เป็นระยะเวลา 16 สัปดาห์ ซึ่งถือว่าน้อยมากสำหรับระยะนี้ (ผมยังไม่เคยซ้อมได้สม่ำเสมอได้เลย) ทุกวันหยุดสุดสัปดาห์ ชีวิตผมกลายเป็นของไอรอนแมน มีเวลาให้กับครอบครัวน้อยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งวันหยุด วันครอบครัวของเราถูกเบียดบังด้วยการปั่นยาว 130-150 km เป็นส่วนใหญ่ ในการไป Roth ผมจึงปรับการซ้อมใหม่เล็กน้อย โดย incorperate การปั่นออแดกซ์ และการแข่งขันระยะยาว ๆ เข้าไป เพื่อให้เป็นการเดินทางไปซ้อมของผม ซึ่งจะสร้างบรรยากาศที่ไม่น่าเบื่อสำหรับครอบครัวและลูก ๆ สิ่งที่กัดกินจิตใจของผมมากที่สุด คือ อนุกรมของคำถามจากภรรยาในตอนกลางคืนของทุก ๆ วันในช่วงที่ผมซ้อมค่อนข้างสม่ำเสมอ คือ พรุ่งนี้ทำอะไร เสร็จกี่โมง ถ้าเป็นวันเสาร์อาทิตย์ ผมจะรู้สึกผิดอย่างมากที่จะต้องตอบว่า บ่าย ๆ จะเสร็จ เพราะนั่นหมายถึง เวลาของครอบครัวของเราจะหมดไป หลังจากปั่นยาวกลับมาแล้ว ส่วนใหญ่ผมไม่สามารถทำอะไรได้มากไปกว่านอนพัก ถ้าหากว่าผมต้องการใช้ไลฟสไตล์ที่จะเก็บสะสมสนามไอรอนแมนผมต้องปรับเปลี่ยนอะไรบางอย่าง เพราะ 10 ปีในการสะสมสนามนั้น ผมจะเป็นเช่นนี้กับครอบครัวไม่ได้ ลูกผมจะอายุ 18 และ 17 ผมเองก็เข้า 55 เมื่อหันกลับมาแล้วนั้น ไอรอนแมน แม้จะเป็น Kona ไม่ได้สำคัญอะไรไปกว่าคนตรงหน้าตรงนี้เลย ในการแข่งขันมีคนถือป้ายว่า “If your wife complained, that mean you worked hard for this. Go Go” น่าจะสรุปใจความของชีวิตนักไตรกีฬาได้เป็นอย่างดี แต่ผมต้องการเปลี่ยน perception เหล่านี้ อย่างน้อยที่บ้านของผม

10622870_1376472892393523_2863681320746695892_n

Roth ไม่มีมีการซ้อมตามตารางอย่างตั้งใจ แต่ผมผ่านการปั่นระยะหนัก ๆ อย่าง 400 300 หลายต่อหลายครั้ง มีการปั่นเพื่อหาเส้นทาง ระยะ 100+ อีกหลาย ๆ ครั้ง มีการแข่งมาราธอนหนึ่งรายการ แม้ว่าไม่ได้ซ้อม แต่ไม่ได้ทิ้ง แต่รอบนี้ ผมแทบหาเวลาเพื่อซ้อมไม่ได้เลย จริง ๆ ไม่ใช่เวลา แต่เป็น rhythm ที่เสียไป การเดินทางที่เยอะมาก ๆ ทำให้จังหวะการซ้อมผมเสียไป ผมไม่ได้ตื่นขึ้นมา ซ้อมเล็ก ซ้อมน้อย เก็บเกี่ยวไปอย่างที่เคย ผมไม่สามารถวางแผนเพื่อไปแข่งระยะสั้น ๆ ต่าง ๆ อย่างที่เป็น การเดินทางทั้งหมดเกิดขึ้นจากงาน และไม่ได้มีการใส่การออกกำลังกายที่จะคอยช่วยเติมฐานฟิตเนสขึ้นพื้นฐานได้อย่างเพียงพอ ตั้งแต่ผ่าน Roth มาจนถึงก่อนวันแข่งผมปั่นจักรยานไปแค่ 400 km เฉลี่ยแค่ 32 km/week วิ่งรวมแค่ 60 km เฉลี่ยแค่ 9 กม.ต่อสัปดาห์ ว่ายน้ำทั้งหมด 8000 เมตรเท่านั้น เป็นความ out of shape มากที่สุดในรอบสิบปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม  ผมรู้ตัวดี แต่ก็มองการแข่งขันรอบนี้เป็นโอกาสที่จะได้เรียนรู้ ผมได้ทำกิจกรรมสนุก ๆ คือ การว่ายน้ำระยะ 3000 เมตรข้ามปากอ่าวปัตตานี แล้วปั่นจักรยาน 40 km รอบอ่าว ไปสุดด้วยการวิ่งประมาณ 8 km รอบ ๆ เมืองปัตตานี ในหนึ่งสัปดาห์ล่วงหน้า (จริง ๆ วางแผนเอาไว้สองสัปดาห์ แต่จำเป็นต้องเปลี่ยนแผน) แม้จะไม่ซ้อมมาเลย กิจกรรมที่ว่านี้ทำให้ปลุกกล้ามเนื้อที่หลับไหลของผมขึ้นมาบ้าง flush glycogen เก่า ๆ ใส่ของใหม่ ๆ เข้าไป ในวันถัดไปผมก็พายเรือสำรวจแม่น้ำปัตตานีอีกประมาณ 7 km ซึ่งผมมองว่ากิจกรรมนี้หนักไปเล็กน้อย ทำให้กล้ามเนื้อของผมล้า และเสียเวลาในการสะสมไกลโคลเจนไปอีกหนึ่งวันเต็ม ๆ ห่างเพียง 5 วันจากการแข่งขันครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม The Show Must Go On การแข่งขันคราวนี้จะพาผมไปเจอกับ Lower Limit ของการเตรียมตัวสำหรับการแข่งขันระยะทางอย่างไอรอนแมน ในสนามที่ได้ชื่อว่ามีความโหดเป็นอันดับที่สามของโลก ซึ่งน่าจะเป็นเส้นทางปั่น ร่วมกับความร้อนของสภาพอากาศ

รอบนี้เนื่องด้วยความเชี่ยวชาญที่มากขึ้นของภรรยา เราเลือกจองที่พักที่ตำแหน่งใกล้จุดเริ่มต้น เพราะเห็นว่ามีรถ shuttle bus ที่จะคอยลำเลียงนักกีฬาจากจุดสำคัญต่าง ๆ (เอาเข้าจริง ๆ ไม่ค่อยเวิร์คครับ ตามคำบอกเล่าของภรรยา) แต่สำคัญกว่านั้น การเดินทางมารอบที่แล้วที่พักที่นี่ให้คำตอบได้ดี ทั้งร้านอาหารประจำที่เราใช้บริการแทบจะตลอดเวลาที่อยู่ที่ลังกาวี เป็นร้านของชาวออสเตรียที่มีภรรยาเป็นคนไทย อาหารรสชาดถูกปากและเด็ก ๆ ทานฟรี นอกจากนี้ความผ่อนคลายที่ได้จากการพักผ่อนที่นี่ทำให้ผมแทบไม่ได้ไปร่วมกิจกรรมกับทางผู้จัดเลย ด้วยความขี้เกียจ ทำตามความจำเป็น คือการลงทะเบียน ฝากจักรยาน และกระเป๋าต่าง ๆ และสุดท้ายก็รอปล่อยตัว ผมค่อนข้างรู้สึกผ่อนคลายจากประสบการณ์ที่มากขึ้น และแน่นอนการว่ายน้ำซึ่งเป็นกีฬาที่ผมถนัดที่สุด จากการว่ายซ้อมครั้งที่สอง หลังจากกลับมาจาก Roth คือ 6 วันล่วงหน้าระยะ 3000 เมตร ผมทำเวลาได้ค่อนข้างน่าพอใจ แบบสบาย ๆ ผมจึงกะว่าจะไปด้วยสโตรคแบบนั้น ก่อนออกตัวผมมีโอกาสได้พบเจอกับคนไทยแทบครบทุกคนที่มาร่วมกันในครั้งนี้ บรรยากาศแบบที่โรงแรม Alias เหมือนเมื่อปีที่แล้วผมไม่ได้สัมผัส Vangang ไม่ได้รวมตัวกันมาเหมือนปีก่อนหน้านี้ แต่การได้พบเจอคนไทยที่มาตามหาฝัน ก็ทำให้มีความสุขเล็ก ๆ ในใจของผม ยิ่งไปกว่านั้นหลาย ๆ คนมาทักทายผมด้วยคำว่า “ผมอ่านบทความของพี่แล้วเลยตัดสินใจมาลองดู” นั่นหมายความว่าบทความของผมประสบความสำเร็จที่จะทำให้คนไทยหลายคนก้าวออกมาจาก comfort zone ปีนี้ผมเลือก slot ว่ายน้ำตรงกับเวลาที่คาดว่าจะทำได้ เพราะในปีที่แล้ว ผมรู้สึกว่าต้องว่ายแซงมากเกินไปจนหงุดหงิด ผมมีโอกาสผ่านรอบแรกค่อนข้างน่าพอใน แม้ว่าจะเป๋ไปบ้างในช่วงว่ายเข้าหาฝั่งเพราะแดดส่องเข้าตา มองไม่ค่อยเห็นธง ผมทำเวลาได้เร็วกว่าแผนเกือบ 10 นาที แต่ในรอบที่สองผมเริ่มไปเกยอยู่กับช่วงท้าย ๆ ของ เวฟแรก หมวกสีเหลือง โดยเฉพาะช่วงกลับ ทำให้ต้องว่ายเลี้ยวไปมาตลอดเวลา บางครั้งก็หยุดรอเฉย ๆ เพราะมันเริ่มว่ายไม่สนุก สุดท้ายมาจบที่ 4200 กว่าเมตร เวลา 1.19 นาที ตามที่คาดไว้ (ระยะเกินไปหน่อย แต่รอบแรกทำเวลาเผื่อไว้) แตนทะเล หรือ แมงกระพรุนค่อนข้างชุก ตอนนี้ขณะเขียนผมกำลังคันเขยอเต็มไปทั้งหลัง มันคงเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ของนักไตรกีฬา ผมไม่เหนื่อยหรือเมื่อยเลยหลังจากว่ายน้ำ นั่นหมายความว่าผมคุมความเร็วได้ดี ไม่มีอาการที่ต้องหยุด sighting มากจนเกินจำเป็น คิดว่าเป็นเพราะการ marking ของ course ที่มีประสิทธิภาพสูง ติดแค่ช่วงว่ายกลับนั้น แสงแยงเข้าตา

15032372_10153920537457477_724865341_n

รอบนี้ ผมชิล ๆ กับการปั่น เนื่องจากผมไม่ได้ซ้อมจักรยานเลยแม้แต่ครั้งเดียว มีการปั่นไปกินข้าวที่ยะลาเพียงหนึ่งครั้ง และปั่นเพื่อสำรวจเส้นทางออแดกซ์ 200 กม. ในช่วงเดือนกันยายน เป็นครั้งสุดท้าย ผมยังไม่ได้เอา QR ออกมาปั่นเลยแม้แต่ครั้งเดียวหลังจากกลับจาก Roth ผมจึงเลือกที่จะใช้ Cannondale คันเก่าของผม ที่เคยเป็นรถไตรกีฬารุ่นแรก ๆ ของโลก แต่ผมมาแปลงเป็น Road Bike เพื่อใช้ปั่นซ้อม เล็ก ๆ น้อย ๆ พาไปออแดกซ์บ้าง ข้อเสียของคันนี้คือ เป็นรถที่ออกแบบสำหรับการปั่นระยะสั้น เร่งได้เร็ว แต่ปั่นยาว ๆ ไม่ค่อยสบาย และไม่ไหล ซึ่งจะพบว่าเป็นการตัดสินใจที่น่าจะ cost ให้เกิดการ DNF ของผมในที่สุด อย่างไรก็ตาม กว่า 25 ปีที่ผมเล่นไตรมา ผมพาคันนี้แข่งมากที่สุด แต่ยังไม่เคยได้สัมผัสระยะ ฮาร์ฟ หรือ ระดับไอรอนแมนเลยสักครั้ง ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม มันย่อมทำให้ผมมีความสุขเล็ก ๆ กับความหลังของผมบ้าง ผมเริ่มเห็นปัญหาของผมได้อย่างชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้น ที่ power meter ผมแบตหมดทำให้ผมต้องใช้ HR ในการคุมการปั่นในสนามนี้ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ ideal นัก สำหรับสนามที่มีความโดดเด่นที่เส้นทาง rolling แบบบาดหัวใจ พลังงานที่ใช้ในการไต่เขา มีความสำคัญมากสำหรับนักปั่นที่ไม่ฟิตอย่างผม ผมหาซื้อไม่ได้ (เช่นเดียวกันกับตอนที่ไป Roth) สุดท้าย Cyclocomputer ของผมก็มาตายในวันงานพอดี ตอนนี้ผมมีแต่  920xt อย่างเดียวซึ่งจะไม่เพียงพอต่อเวลาทั้งหมดที่ผมต้องใช้ กว่าจะคิดออกว่าผมสามารถใช้การปั่นในโหมด indoor ได้ เพราะจักรยานคันนี้ถูก set up เอาไว้ปั่น indoor เลยมีตัววัดรอบอยู่เพียงคันเดียว ผมก็ปั่นออกตัวมาแล้วประมาณ 2 กม. แต่ก็ยังนับว่ายังเป็นโชคดี ผมไม่ต้องใช้ GPS ในนาฬิกา ซึ่งน่าจะทำให้มีแบตเหลือไปวิ่ง ในขณะที่น่าจะยังพอได้ข้อมูลของ Average ซึ่งจะใช้ในการวางแผนการปั่น ปั่นไปได้ไม่นานนักผมก็เริ่มเห็นปัญหา  HR ผมคงที่ประมาณ 171 ตลอดเวลา ซึ่งอยู่ในระดับ Zone 5 สำหรับผม ผมรู้ว่านั่นไม่ดีแน่ เพราะ ที่ Zone 5 จะต้องใช้พลังงานมากกว่ากว่า Zone 2 เกือบสองเท่า ไม่รวมถึงสัดส่วนการใช้ไกลโคลเจนเทียบกับไขมันยังสูงกว่า ถ้าเป็นเช่นนี้ ผมจะไม่สามารถจบได้แน่ ๆ ถ้าเติมพลังงานไม่ทัน และไม่พยายามใช้ไขมันมากไปกว่านี้ แต่อีกใจก็คิดว่าความเร็วที่ผมได้มานั้นแค่ปริ่ม ๆ 26 เท่านั้นเอง ถ้าเราเลี้ยงตัวเลขนี้ในช่วงแรก ๆ ไม่ได้ ในรอบหลัง ๆ ก็คงไม่ไหว และนั่นเป็นจุดแตกหักในการตัดสินใจที่ส่งผลอันเลวร้ายที่สุดของวันนี้ แน่นอนว่าผมลาก HR 171 มาได้ไม่กี่กิโลเมตร ก็ต้องค่อย ๆ drop เป็น 160 แลกกับความเร็วที่ประมาณ 23-24 เท่านั้น ผมพยายามกินเจลหนึ่งซองทุก ๆ  20 กม. พร้อมทั้งจิบ Isotonic drink ทุก ๆ 15 นาที นรกรออยู่ข้างหน้า นี่คือผลโดยตรงของการไม่รักษาฐาน Cardiovascular ด้วย power เดิม ๆ ผมต้องทำงานหนักขึ้น HR ต้องเต้นสูงขึ้นเพื่อส่งเลือดไปยังตำแหน่งต่าง ๆ ร่างกายไม่สามารถเปลี่ยนพลังงาน จากแหล่งพลังงานที่สำคัญอย่างไขมันได้ทัน ต้องใช้พลังงานเร่งด่วนอย่างไกลโคลเจนที่มีจำนวนจำกัด นอกจากนี้กล้ามเนื้อที่ไม่ถูกฝึกฝนมาเพียงพอ ต้องทำงานหนักต้องการเลือดเข้ามาเลี้ยงเป็นพิเศษ อาการต่อไปที่ต้องตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ GI distress เลือดเข้าไปเลี้ยงระบบย่อยอาหารน้อยกว่าที่ต้องการ ทำให้การย่อยไม่เป็นไปตามที่ต้องการ ร่วมกับการใช้อาหารที่ไม่คุ้นเคย หายนะกำลังค่อย ๆ คืบคลานเข้ามาอย่างช้า ๆ ผมรู้ตัวดี ผมผ่านเส้นทางนี้มาหลายครั้ง

15032387_10153920537807477_1218246198_n

ปีนี้ทางรายการเปลี่ยนจากการใช้ 100plus ซึ่งเป็นเกลือแร่แบบมีอัดลม มาเป็นอีกยี่ห้อนึงที่ไม่มีอัดลม รสส้ม ผมทดลองกินก่อนแข่งไปขวดนึงพบว่ารสชาดใช้ได้ จึงวางใจที่จะใช้ผลิตภัณฑ์ของเขาในการแข่งขัน เพราะส่วนใหญ่ผมจะมีปัญหาเรื่องรับรสชาดไม่ค่อยได้มากกว่าเรื่องอื่น ๆ แต่นั่นเป็นการตัดสินใจที่ผิดอีกเช่นกัน เป็นกฏเหล็กที่สำคัญของนักกีฬาระดับไอรอนแมน แต่เป็นสิ่งที่ผมพยายามจะหาทางออกที่ลงตัว กฏของไอรอนแมนเขาว่าไว้ว่าให้กินอาหารที่ซ้อม และซ้อมกับอาหารที่จะกิน นั่นรวมไปถึงของเหลวด้วย แต่จากปริมาณแกตเตอเรตที่เป็นเกลือแร่ที่ผมมีปัญหาน้อยที่สุด รวมไปถึงการซ้อมพร้อม ๆ กับการกินเจลเป็นระยะเวลานับสิบ ๆ ปีนั้น ไม่เป็นสิ่งที่น่าพิสมัยมากนัก ผมจึงพยายามหาทางออกที่ง่ายที่สุด ด้วยการกินอาหารหลากหลาย กินอะไรที่มีให้กิน แล้วค่อย ๆ รับรู้เรียนรู้กันไป มีอาหารบางอย่างควรต้องระวัง เช่น ผมกินกล้วยเกิน 8-9 ลูกจะเริ่มย่อยไม่ไหว หรือ การไม่ใช้แกตเตอเรด หรือเกลือแร่ในรูปแบบอื่น ๆ เลย เป็นอันตราย เกลือแร่จากอาหารนั้นไม่เพียงพอ อาการเคี้ยวบางครั้งช่วยให้การย่อย หรือการกินง่ายขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นประสบการณ์ที่สะสมเรื่อยมาจากการทดลองจริง ๆ ด้วยตัวผมเอง ถึงกระนั้นก็ตามความประมาทที่จะใช้เครื่องตื่ม Isotonic ที่ผมไม่เคยใช้มาก่อนเลยเป็นเครื่องดื่มพื้นฐานของการแข่งขัน เป็นสิ่งที่ไม่ควรเลยจริง ๆ รสส้ม กับท้องว่าง ๆ นี่ก็เป็นอีกปัญหาที่ไม่น่าเลยที่จะมองข้ามไป

15086217_1378129848894494_417475952_n

ผมกินด้วยตารางเช่นนี้คือ เจลทุก ๆ 20 กม. และจิบ isotonic ทุก ๆ 15 นาที ไปได้จนประมาณระยะ 120 km ผมก็เริ่มมีอาการปวดท้อง คล้าย ๆ จะเริ่มเรอ ย่อยไม่ค่อยดี แต่ผมยังไม่ได้กินอะไรที่ต้องย่อยมากนัก นั่นแสดงว่า sugar concentration ในกระเพาะของผมมันไม่ค่อยสมดุลย์นัก ปัญหาหลัก ๆ ก็มาจากสัดส่วนของอาหารที่ผมใส่ลงไปในระบบ ผมจึงค่อย ๆ หยุด isotonic แล้วเปลี่ยนเป็นน้ำเปล่าแทน แต่อาหารยังไม่หายดี ผมเริ่มกินอะไรไม่ค่อยได้ ก็คิดว่าจะรอจนกระทั่งรู้สึกดีขึ้นสักนิด แล้วค่อยใส่เข้าไปใหม่ แต่นั่นก็เป็นอีกความผิดพลาดหนึ่ง ความเร็วของค่อย ๆ ตกลงเรื่อย ๆ จนในที่สุด HR เหลืออยู่แค่ 140 กว่า ๆ แต่ขากดไม่ค่อยลงทำความเร็วให้ได้ 22 ยังไม่ใช่เรื่องง่าย นั่นมันเป็นอาหารของการขาดพลังงานอย่างชัดเจน แต่ผมยังกินอะไรไม่ลง มันอยากจะออกมาเสียมากกว่า แต่ยังดีที่โชคยังช่วย มีฝนตกลงมาห่าใหญ่ ใหญ่มาก ในช่วงระยะประมาณ 150 km หนักแทบมองไม่เห็นทาง ผมเริ่มหนาวเย็นและเหนื่อย ผมค่อย ๆ รูดซิปขึ้นร่างกายอบอุ่นขึ้นเล็กน้อย ผมชอบปั่นท่ามกลางสายฝน แต่เวลานั้น ผมมีความรู้สึกว่าถ้าเป็นเช่นนี้ต่อไปผมไม่ควรที่จะออกวิ่งต่อ เพราะความเหนื่อยอ่อนจะทำให้ผมรักษาความเร็วไม่ได้ และท้ายที่สุดร่างกายผมจะหนาวสะท้านจนป่วยในที่สุด ในใจตอนนั้นตัดสินใจแล้วว่าผมคงต้อง DNF อย่างแน่นอน เมื่อความเสี่ยงเริ่มค่อย ๆ กองสูงขึ้นมาทุกที แต่หลังจากรูดซิปขึ้นมาตัวอุ่นขึ้น ฝนที่กระหน่ำลงมาทำให้ผมรู้สึกดีขึ้นมาอย่างประหลาด คว้าเจลมาบีบเข้าไปหนึ่งซอง แล้วตามด้วยอีกซองในไม่กี่นาทีถัดมา พลังงานเหมือนเพิ่มขึ้นมาเล็กน้อย ผมจึงเร่งความเร็วเพื่อเข้า T2 แต่ยังเต็มไปด้วยความสับสนปนความไม่มั่นใจ DNF ยังคงวนอยู่ในใจ แต่พบว่าเจอกับคนไทยหลาย ๆ คนในห้อง เชียร์ ๆ กันไป เวลาของผมเหลืออีก 7.30 ชม สำหรับการวิ่ง ถ้าไม่เกิดเหตุการณ์อะไรเลวร้ายมากนัก คงไม่ต้อง DNF ผมคิดเช่นนั้นเลยลุยต่อไป และจะพยายามกินอะไรเท่าที่กินได้

ผมออกวิ่งมาพบกับลูก ๆ และภรรยาของผม ก็เลยเล่าเหตุการณ์ให้ฟังเล็กน้อย ภรรยาเริ่มเข้าใจปัญหา เพราะผมมีปัญหาเรื่องการกินเป็นหลักในทุกครั้งที่ต้อง DNF ผมเลือกที่จะเดินกินแตงโม สลับกับโค้กทุก ๆ สองกิโลเมตร ในใจคิดเช่นนั้น ตอนเริ่มวิ่งรู้สึกค่อนข้างดี กล้ามเนื้อไม่ตึง นั่นหมายถึงผมไม่ได้ใช้กล้ามเนื้อหนักเกินเหตุตอนปั่น นั่นก็เข้าใจได้เพราะไม่มีพลังงานให้ใช้กล้ามเนื้อนั่นเอง ผมวางแผนจะวิ่งไปเรื่อย ๆ แล้วเดินทุกๆ 2 km หลังจากนั้นก็ค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ จนเหลือ วิ่ง 800 เมตรแล้วเดิน 200 เมตร พลังงานจาก แตงโม และโค้ก เริ่มเติมไม่พอ แต่ในขณะเดียวกัน ผมค่อย ๆ คลื่นไส้มากขึ้นเรื่อย ๆ ผมไม่แน่ใจว่าขาดโซเดียมหรือไม่ แต่ผมไม่กล้าเติมด้วย Isotonic อาหารที่ให้ก็มีแค่ แตงโม กล้วย และเจล แตงโมผมกินได้ แต่พลังงานไม่ค่อยพอ กล้วยกินแทบไม่ได้ เจลนี่ไม่กล้าแตะเลย ผมก็ลากสภาพร่างกายแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนระยะประมาณ 25 กม. คนไทยแทบทุกคนแซงผมไปหมดแล้วในระยะนี้ เหลือเพียงตุ๊เพื่อนของผมคนเดียว ส่วนหมอนกแซงผมตั้งแต่ระยะ 14 km แล้ว ท้ายที่สุดมาเจอกับกองเชียร์คนไทย และกองเชียร์เบอร์หนึ่งอย่างซี ท่าทางซีจะเห็นท่าไม่ค่อยดีจึงเรียกให้นั่งพักเพื่อเติมน้ำตาล ได้ลูกอมมาลูกนึงนั่งอมแบบพะอีดพะอมมาก และได้ M&M มาถุงนึงที่ตอนนี้ยังไม่กล้ากินเลย สรุปนั่งพักแป๊บนึง แล้วซีก็ตัดสินใจเดินเป็นเพื่อน ตอนนั้น เริ่มเดิน 500 วิ่ง 500 แล้ว แต่พอซีมาด้วยก็บ่น ๆ ว่าผมเดินที่ความเร็วช้ามาก วิ่งก็ช้าเมื่อเทียบกับความเร็วตอนเดิน ซึจึงตัดสินใจให้ผมเดินเร็ว ๆ โดยจะคอย pace ให้ที่ประมาณ pace 11 ซึ่งจะทำให้ผมเข้าเส้นใจทันเวลาพอดี ผมยังกินอะไรเป็นเรื่องเป็นราวไม่ได้สักที ซีโทรหาภรรยาผมเล็กน้อยเมื่อเจอกับผมในตอนแรก หลังจากนั้นคาดว่ามีการคุยกันผ่านสื่อออนไลน์ อย่างสม่ำเสมอ เพราะผมได้ยินเสียงตลอดเวลา แล้วซีก็เขียนตอบ ในท้ายที่สุด ผมรู้สึกว่ามันทรมานมากเกินไปกับความพะอีดพะอม ความมึนงง ความซวนเซของตัวผมเอง และเลือกที่จะ DNF ตัวเองในที่สุดที่ระยะ 30 km ที่มีซีเดินมาเป็นเพื่อนร่วม 5-6 km ซึ่งมาทราบในภายหลังว่าภรรยาอยากให้ผมหยุด ในขณะที่ซีเริ่มมองว่าผมเดินเซค่อนข้างมาก และอยากให้หยุดเช่นกัน แต่ต้องการให้ผมพูดออกมาจากปากของผมเอง

This slideshow requires JavaScript.

ในฐานะของคนที่เล่นกีฬาโหด ด้วยสภาพของผู้ป่วยโรคตับที่มี ภรรยาเป็นแม่บ้าน พร้อมกับลูกตัวเล็ก ๆ สามคน ในครอบครัวที่ผ่านประสบการณ์เสียลูกไปแล้วหนึ่งคนนั้น ผมไม่ใช่ตัวคนเดียวที่จะสามารถตัดสินใจได้อย่างอิสระ ความเสี่ยงที่ยอมรับได้สำหรับผมนั้นต้องได้รับการยอมรับ ได้รับการเข้าใจจากภรรยาอีกด้วย ไม่เช่นนั้น การใช้ชีวิตแบบนี้จะไม่ส่งผลดีต่อครอบครัวเลย ผมจึงต้องมั่นใจว่าภรรยาเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับผม ความเสี่ยงมีมากแค่ไหน และต้องมั่นใจว่าผมเข้าใจตัวเองดี พร้อมกันนั้นผมจะไม่เสี่ยงมากเกินความจำเป็น นี่คือกฏของนักกีฬา extreme ที่มีครอบครัวแบบผม สุดท้ายเมื่อผมค่อนข้างคิดว่าผมมาสุดทางสำหรับปีนี้แล้ว ภรรยาเริ่มมีความกังวลมากแล้ว ซีเองก็เริ่มลังเลบ้างแล้ว (สังเกตุจากการถามให้นั่งพักหลายครั้งขึ้น) ผมบอกซีให้บอกภรรยาผม ว่าวันนี้ผมจะพอเพียงแค่นี้ เราหาที่นั่งพักที่ medic หลังจากนั้น ก็ปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการ ผมเองก็เลื่อนลอยเล็กน้อย มีซีคอยดูแล ความทรงจำก็คล้าย ๆ คนเมาที่เพิ่งฟื้นเช่นเคย แต่ต่างกันกับที่เกิดที่โป่งแยง ที่ค่อนข้างจะเป็นอาการ Hyponat ซึ่งอาการกลับมาดีขึ้นแทบจะทันที่ทีเติมมาม่าเค็ม ๆ เต็มไปด้วยเกลือแร่ แต่สำหรับรอบนี้ผมยังไม่เคยประสบจริง ๆ แต่โดยทั่ว ๆ ไปน่าจะเป็นเพียงการขาดน้ำตาล ที่ทำให้ขาดพลังงาน แต่อาจจะร่วมกับอาการ GI distress ที่เป็นมาตั้งแต่เที่ยง ทำให้อาจจะสับสนเล็กน้อยว่าเกิดอะไรขึ้น ผมกลับมาห้องไม่รู้สึกว่า dehydrate มากนัก เพราะเคยเป็นมากกว่านี้ ในช่วงสุดท้ายของการปั่น กรุงเทพ หาดใหญ่ ที่เหลือปั่นอยู่คนสุดท้าย แต่ไม่มีอาการอื่นร่วมในลักษณะนี้ สุดท้ายคงน่าจะเป็นแค่น้ำตาล ที่เหมือนว่าร่างกายของผมในระยะหนึ่งที่ขาดน้ำตาลนั้นจะไม่สามารถเติมกลับมาได้ทันทีจนทำให้ร่างกายทำงานได้เหมือนเดิม ก็นับว่าโชคดีที่มีซีคอยเดินข้าง ๆ ไม่เช่นนั้น 5 กม. สุดท้ายของผมคงยาวนานกว่านี้อีกมากนัก รอบนี้ผมใช้เวลาพักฟื้นนานกว่าเคย ผมต้องทานข้าวมื้อสุดท้ายของวันประมาณ สองทุ่มของอีกวันถัดมาจึงจะพบว่าร่างกายเริ่มกลับสู่สภาพปกติอีกครั้ง อาจจะเป็นอาการร่วมของโรคตับ ซึ่งผมไม่ค่อยแน่ใจ และอาจจะไม่มีวันได้เข้าใจ

15027484_1159108114138743_3159324946003359463_n

สุดท้าย ผมมาแข่ง Ironman Langkawi 3 ครั้ง ผ่านเพียงครั้งเดียว สุดท้ายสนามนี้เป็นความทรงจำดี ๆ ของผม ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องใด ๆ กับการจบหรือไม่จบ ผมมาลองเป็นครั้งแรกที่นี่ ผมได้แข่งเพื่อระดมทุนครั้งแรกกับรายการนี้ ผมดีใจที่สุดที่หมอนก จากที่ไม่กล้าว่ายน้ำ มาลงครั้งแรกที่นี่กับผม ผมดีใจที่สุดที่ตุ๊ที่มีว่ายน้ำเป็นอุปสรรค จากที่เขาไม่เคยมองอะไรเป็นอุปสรรค มาก้าวข้ามมันกับผมที่นี่ สนามนี้ยังคงเป็นความทรงจำดี ๆ ไม่ใช่หมู แต่ผมยังเชื่อว่าคนที่ตั้งใจจริง ๆ จะทำได้กันทุก ๆ คน ลังกาวีในสามปีที่ผ่านมานี้สอนผมหลาย ๆ อย่าง ให้ผมหลาย ๆ อย่าง ผมเรียนรู้การก้าวข้ามจุดที่ไกลโคลเจนไม่เพียงพอ ถึงสองครั้งสองครา ในครั้งแรกจากอาการร่วมของการใช้ยาอินเตอฟูรอน ในครั้งที่สองเกิดจากการเผาหัวตั้งแต่เริ่มต้นเหตุจากความอ่อนซ้อมอย่างหนัก และลังกาวียังสอนผมถึงการเดินทางสู่ไอรอนแมน ที่นำมาสู่ความสำเร็จบนสนาม Challenge Roth ในเวลาต่อมา สนามนี้ยังคงเป็นความทรงจำที่ลูก ๆ ทุกคนของผมพบสัมผัสแรกของการแข่งขัน เป็นสนามที่เพื่อนร่วมทีมทั้งสองคนของผม ได้ก้าวข้ามอุปสรรคของการว่ายน้ำสู่ความเป็นไอรอนแมน ผมเองไม่มั่นใจว่าเพื่อนทั้งสองมีเป้าหมายใด กับคำว่าไอรอนแมน ที่จริง ๆ แล้วพวกเขาก้าวผ่านความท้าทายยากยิ่งกว่าไปแล้ว ถ้านี่เป็นเพียง bucket list ของพวกเขา นี่อาจจะเป็นครั้งสุดท้ายในสนามไอรอนแมนที่เราสามคนจะได้แข่งร่วมกัน แม้ว่าผมจะไม่ได้มีโอกาสไปร่วมยินดีกับพวกเขาในวันนั้น ผมก็ขอแสดงความยินดีกับพวกเขาในตอนนี้

15049541_1521040467913033_1176135719_n

สำหรับผมเอง ลังกาวี ได้เปิดประตูของผมกับครอบครัว ผมเริ่มมองเห็นแล้ว ใคร ๆ ก็เป็นไอรอนแมนได้จริง แต่ฐานความฟิตของร่างกายต้องรักษาไว้ระดับหนึ่ง ระดับที่สามารถยืนความเร็ว 23-24 km/hr ที่โซนสองได้ สามารถว่ายน้ำ 3.8 km ในเวลาประมาณ 2 ชม. ได้ และวิ่ง ๆ เดิน ๆ ภายใน 7 ชม. ได้สำหรับระยะมาราธอนที่เหลือ สิ่งที่สำคัญกว่าคือ โซนสองโซนสาม ไม่มากไปกว่านั้น ไม่เหนื่อยจนกินไม่ได้ เพราะท้ายที่สุด การเติมพลังงาน การรักษาสมดุลย์ของเกลือแร่จะเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด และสุดท้ายผมพอที่จะรู้แล้วว่า ผมและครอบครัวจะเดินทางไปสู่ Legacy Program แบบมีความสุขร่วมกันทั้งครอบครัวได้อย่างไร

Ironman is not for selected few but only few possess Ironwill.

Challenge Roth : The dream that you can all experience

หลังจากผ่านการ DNF และ Finish รายการไอรอนแมนที่ลังกาวีมาอย่างละครั้ง ผมเริ่มมีความเชื่อภายในจิตใจว่า ขั้นตอนที่สำคัญที่สุดของไอรอนแมนคือการ register หลาย ๆ คนไม่สามารถก้าวข้ามเส้นบาง ๆ เส้นนั้นได้ การเข้าร่วมหรือการได้รับรองความบ้าระดับที่ถูกเรียกว่าไอรอนแมนนั้นสำหรับผมจึงไม่ได้มีอะไรที่ยิ่งใหญ่อย่างที่ผมเคยเป็นคนนอกมองเข้ามา ดังนั้นในวันนี้ผมจึงอยากจะขอเล่าเรื่องราวจากมุมมองของคนในเล่าให้ฟัง ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ได้มีความตั้งใจที่จะสบประมาทความเป็นไอรอนแมนของใคร ๆ ไม่ได้ไม่เห็นคุณค่าของการเตรียมตัว การซ้อม ระเบียบวินัยอันดีของนักกีฬาระดับไอรอนแมน ที่หลาย ๆ ท่านใช้เพื่อนำมาซึ่งความสำเร็จ รวมไปถึงเวลาในการสำเร็จไอรอนแมนของแต่ละท่านเหล่านั้น แต่ผมเคยเขียนบทความทำนองนี้เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ของบุคคลธรรมดาที่จะเข้าร่วมมาแล้ว ซึ่งหลาย ๆ คนใช้มันเพื่อเป็นกำลังใจ และคราวนี้ในรายการที่ยิ่งใหญ่ กับสิ่งที่ผมไม่ได้วางแผนไว้ มันกลับทำให้ผมได้เข้าใจอะไรอีกหลาย ๆ อย่างที่อยากมาเล่าให้ฟัง

challengeroth14promo-thumb-580x344-4951

รายการ Challenge Roth จริง ๆ แล้วเริ่มมีการแข่งขันมาตั้งแต่ปี 1984 แต่เริ่มเป็นระยะไอรอนแมนในปี 1990 ถ้าจำไม่ผิดจะเรียกว่า Ironman Europe แต่ภายหลังที่ WTC ที่เป็นเจ้าของเทรดมาร์คคำว่า Ironman และเครื่องหมาย M-Dot เริ่มเข้มงวดกับเครื่องหมายการค้า การแข่งขันที่เรียกว่า Challenge Roth ก็ถือกำเนิดขึ้นในปี 2002 เป็นปีแรก แต่บรรยากาศ ประวัติศาสตร์ และความร่วมมือของชาวเมือง รวมไปถึงความสุดยอดของการจัดการของงานทำให้ถือว่าเป็นหนึ่งใน Bucket List ของนักไตรกีฬา แม้ว่ารายการนี้จะเปิดให้ใคร ๆ สมัครได้แต่ความเป็นไปได้ที่จะสมัครนั้นแทบจะเหลือเลยเพราะระบบออนไลน์แม้จะไม่เคยล่มก็รับผู้สมัครเต็มภายในไม่เกิน 30 วินาที ผมลองมาแล้วหลายปีด้วยกัน มีอีกไม่กี่วิธีที่จะเข้าร่วมได้นั่นคือซื้อผ่านบริษัททัวร์ของออสเตรเลีย ที่จริง ๆ แล้วผมก็แจ้งความจำนงค์เอาไว้หลายครั้งแล้วแต่ก็ไม่เคยทันกับจำนวน slot ที่จำกัดของบริษัททัวร์เช่นเดียวกัน ผมเคยแม้กระทั่งวางแผนมาเป็นผู้ชมเพื่อที่จะมาเข้าคิวลงทะเบียนในช่วงเช้าหลังจบการแข่งขันด้วยซ้ำ จนสุดท้ายรายการ Challenge ได้มาจัดที่ประเทศไทย ความเป็นไปได้จึงมีมากขึ้น กลุ่มนักไตรกีฬากลุ่มใหญ่ Van Gang ได้รวมตัวกันเพื่อที่จะต่อรอง slot สำหรับรายการนี้ผมโชคดีที่พี่หมอไก่ชักชวน ผมตกลงโดยไม่ลังเลแม้ว่าจะนึกภาพไม่ออกว่าการเดินทางพร้อมครอบครัวห้าชีวิตลูกตัวน้อย ๆ กระเป๋าจักรยานขนาดใหญ่และเป้หนึ่งใบจะเป็นอย่างไร เริ่มแรกดีลคือเราต้องลงแข่งรายการ Challenge Phuket และ Challenge Roth ต่อเนื่องกัน แต่สุดท้าย Challenge ไม่ได้ต่อสัญญาเราจึงต้องไปใช้บริการของบริษัท TriTravel ที่ผมได้กล่าวถึงมาก่อนหน้า ผมไม่แน่ใจเบื้องลึกเบื้องหลังของผู้ทำงานเรื่องนี้มากนัก แต่ถือว่าเป็นงานที่ยุ่งยากเพราะเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นหลายครั้ง ต้องถือว่าผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดทำให้รอยยิ้มของนักกีฬาทุกท่านเกิดขึ้นได้ในวันนี้ ต้องขอขอบคุณมาก ๆ

เมื่อสมัครได้เรียบร้อยแล้วก็เหลือแต่การวางแผนเพื่อแข่งขัน ผมเลือกใช้ตารางซ้อมที่ผมเคยใช้สำเร็จที่ลังกาวีมาแล้ว เป็นตารางง่าย ๆ สำหรับบุคคลธรรมดา ที่สามารถว่ายน้ำต่อเนื่องได้ประมาณ 1500-2000 ม. ปั่นจักรยานต่อเนื่องได้ 90 กม. และวิ่งต่อเนื่องได้ 21 กม. ก่อนเริ่มตารางก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับระยะประมาณนี้ ซึ่งผมถือว่าเป็นเรื่องค่อนข้างปกติสำหรับผมแล้ว เป้าหมายของตารางนี้เพียงแค่ “จบ” ไอรอนแมนอย่างแข็งแรง โดยเฉลี่ยซ้อมประมาณ 10-12 ชม. ต่อสัปดาห์ และสูงที่สุด 17  ชม. ต่อสัปดาห์ วิ่งยาวที่สุดประมาณ 36 km และปั่นยาวที่สุด 160 km ใช้เวลาทั้งหมด 16 สัปดาห์ แต่โชคไม่เข้าข้างผมเลย เพราะมีหลายอย่างในชีวิตเปลี่ยนแปลงไป ผมยังไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับความจำเป็นใหม่ ๆ ของชีวิตนั้นได้ ทำให้ไม่มีสมาธิ และ rhythm ของการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่ต้องพูดถึงตารางที่วางไว้ แทบไม่ได้มีการนำมาใช้เลย อย่างไรก็ตามผมพยายามวางการปั่นออแดกซ์เอาไว้อย่างสม่ำเสมอ ประมาณเดือนละครั้ง และการที่ต้องเตรียมงานปั่นออแดกซ์ปัตตานีระยะ 200 กม. นั้นทำให้ผมต้องปั่นทำเส้นทางสม่ำเสมอในระยะที่ค่อนข้างยาว และความถี่ค่อนข้างมาก ซึ่งกลายมาเป็นการซ้อมอันจำกัดของผมสำหรับรายการสำคัญนี้ ถ้าสังเกตุจากตารางการซ้อมของผมจะพบว่าประมาณหนึ่งเดือนก่อนการแข่งขันไอรอนแมนลังกาวี ผมไม่ได้ซ้อมอย่างสม่ำเสมออีกเลย มี peak ของ TSS เสียบขึ้นมาเป็นระยะ ๆ เป็นการปั่นออแดกซ์ และ ultra trail ที่ผมพยายามลงแข่งขันเพื่อสร้างความมั่นใจ

งานนี้ผมรู้ตัวดีว่าจักรยานและว่ายน้ำไม่ใช่ปัญหาสำหรับผมแน่ ๆ การว่ายน้ำด้วยเทคนิคเพียงอย่างเดียวโดยไม่ต้องใช้กำลังมากนักผมน่าจะสามารถจบที่ pace 2 ต้น ๆ ได้สบาย ๆ ปกติผมซ้อมว่ายน้ำตอนเช้า หรือไม่ก็เที่ยง แต่ตารางซ้อมมาชนกับช่วงปิดเทอมของเด็ก ๆ ทำให้ช่วงเช้าสระว่ายน้ำเต็มไปด้วยเด็กที่มาเรียนว่ายน้ำ ส่วนตอนเที่ยงผมก็งานสุมจนปลีกตัวไปค่อนข้างลำบาก ทั้งหมดทั้งสิ้นผมน่าจะว่ายน้ำไปประมาณ 2400 ม. ในช่วงแรก ๆ ของตาราง จักรยานนอกจากการปั่นหาเส้นทางสำหรับออแดกซ์ปัตตานีแล้วผมไม่ได้ซ้อมเลย จักรยาน TT ผมฟิตติ้งใหม่หลังจากแข่งลังกาวี เพราะมี Tri-Bar ชุดใหม่ เคยใช้ปั่นซ้อมเพียง 130 km แบบไม่ต่อเนื่องเพียงครั้งเดียว แต่โชคดีที่ผมร่วมปั่นออแดกซ์ค่อนข้างสม่ำเสมอ ทั้งระยะ 200, 300, 400 km โดยปั่น 400 km ไปถึง 3 ครั้ง ยิ่งไปกว่านั้นได้มาปั่นกระชั้นกันในช่วงก่อนแข่งขัน ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างฐานที่ดี ทั้งในแง่ของกำลังกาย และกำลังใจ อย่างที่เคยเล่าให้ฟังแล้วว่าความเหนื่อยต่อเนื่องของไอรอนแทนนั้นเทียบได้กับการปั่นประมาณ 300km ส่วนการปั่น 400km จะเหนื่อยและต้องการพลังใจมากกว่าอีกระดับหนึ่ง แต่นั่นไม่ได้ทำให้ Ironman สูญเสียความเป็น toughest one day sport event เพราะ 400km ความเหนื่อยจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมันกลายเป็น 2 วัน คนที่ปั่นได้เร็วจะไม่เหนื่อยเท่ากับคนที่ปั่นได้ช้ากว่า เพราะความอ่อนล้าจากการอดหลับอดนอนนั้น เป็นส่วนสำคัญของความกดดันทางจิตใจของชาวออแดกซ์

13700050_1244220542285426_328457610314859223_n

ดังนั้นรอบนี้สิ่งที่ผมต้องใส่ใจเป็นพิเศษคือการวิ่ง ผมสูญเสีย running engine ไปตอนเข้าร่วม TNF ระยะ 50K อาการเจ็บหลังระหว่างแข็งจนต้องเดิน หรือ บางครั้งแทบจะไม่สามารถยืนทรงตัวได้ระหว่างแข่งนั้นเป็นกำแพงทางจิตใจของผม ที่ทำให้การวางแผนทั้งหมดไม่ใช่เรื่องตรงไปตรงมา ผมพยายามลงสมัครระยะทางระดับอัลตราเพื่อเพิ่มความคุ้นเคยกับ time one foot ที่สูง ๆ มากกว่า  10 ชม. ซึ่งแม้ว่าจะทำให้ผมต้อง DNF ไปถึงสองรายการทั้ง PYT66 และ TNF100 แต่ทำให้ระยะเวลาบนเท้าของผมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากจาก 6-7 ชม. เป็น 10-15 ชม. ซึ่งสร้างอะไรบางอย่างในตัวผมทั้งร่างกายและจิตใจ อย่างไรก็ตามความเร็วทั้งหมดผมได้สูญเสียไปแล้ว ตั้งแต่ครั้งที่ผมบาดเจ็บเข่า ความเร็วสูงสุดที่ทำได้กับระยะฮาร์ฟมาราธอนครั้งสุดท้ายคือ 1:55 ชม. หรือส่วนหนึ่งของ 70.3 ก็ประมาณ 2:10 ชม. แต่นั่นก็นานมาแล้ว ผมมาหัดเพิ่มระยะเป็นมาราธอนไม่นานมานี้และเคยทำได้ดีที่สุดคือ 5:39 ชม. โดยประมาณ การวิ่งมาราธอนทั้งหมดของผมก็มีไม่กี่ครั้ง นานที่สุดคือ 6:30ชม. ทั้งเป็นการวิ่งในรายการไอรอนแมน และวิ่งรายการพัทยามาราธอน และสุดท้ายผมลงรายการภูเก็ตมาราธอนในเดือนมิถุนายนเอาไว้เป็นส่วนหนึ่งของการฝึกซ้อมก็ทำเวลาได้ 6:05 ชม. ทำให้ผมค่อนข้างที่จะกังวลเรื่องวิ่งมากที่สุดในการแข่งขันระยะทางไอรอนแมน

13726846_1410346625649085_5984292856668982699_n

รายการ Challenge Roth นั้นกำหนดระยะเวลา Cut Off เร็วกว่ารายการไอรอนแมนทั่วไป โดย Challenge Roth ตัดเวลาที่ 15 ชม. หรือ ว่ายรวมปั่น 9:30 ชม. ในขณะที่ไอรอนแมนจะกำหนดเวลาไว้ 17 ชม. ว่ายรวมปั่น 10:30 ชม. ทำให้ด้วยศักยภาพของผมที่มีอยู่มันเป็นความท้าทายโดยตัวของมันเอง สถิติการจบไอรอนแมนเพียงครั้งเดียวของผมคือ 15:02ชม. ที่ลังกาวี บวกกับสภาพการเตรียมตัวที่จำกัดเป็นอย่างมาก ประสบการณ์ ความเชื่อมั่น และแผนการจึงเป็นส่วนสำคัญที่สุดในการแข่งขันครั้งนี้ ผมวางแผนการแข่งขันอย่างง่าย ๆ คือ ว่ายน้ำ 1:30 จักรยาน 7 และวิ่ง 6:30 รวมกันเป็น 15 ชม. พอดีไม่มีเวลาสำหรับการเปลี่ยนชุด แต่ผมคาดว่าผมน่าจะว่ายได้ดีกว่านั้น และผมสามารถทำเวลาตอนปั่นถ้าหากว่าเสียเวลาช่วงว่ายน้ำหรือ T1 มากเกินไป ส่วนการวิ่ง 6:30 น่าจะเชื่อถือได้ หากไม่บาดเจ็บ และอาจจะทำเวลาดีขึ้นได้ถ้า T2 มากเกินความจำเป็น นอกจากนี้ผมยังวางแผนละเอียดไปอีกว่า ผมต้องการวิ่งครึ่งแรกของมาราธอนประมาณ 2:30 เพื่อจะเหลือเวลาครึ่งหลัง 4:00 แบบไม่เครียด เพซเดียวกับภูเก็ตมาราธอนก่อนหน้า ในช่วงครึ่งแรกและใช้ survival mode ในช่วงครึ่งหลัง นอกจากนั้นผมวางแผนที่จะแค่ไหล ๆ ในช่วงว่ายน้ำ ส่วนการปั่นผมต้องการใช้ไม่เกินโซนสอง เช่นเดียวกันกับการวิ่ง

การเดินทางเพื่อมาแข่งขันเป็นไปอย่างสะดวกสบาย ผมมาก่อนเวลาที่บริษัททัวร์นัดพบหนึ่งคืน มาพักที่ใจกลางเมืองใกล้ Hbf ของนูเรมเบิร์ก ซึ่งเป็นเมืองที่น่ารัก ใหญ่เป็นอันดับสองของแคว้นบาวาเรียรองจากมิวนิค อยู่ทางเหนือขึ้นมาประมาณ 110 km ผมบินลงมามิวนิคแล้วนั่งรถไฟกันมาค่อนข้างสะดวกค่าใช้จ่ายประมาณ 11 Euro สำหรับรถไฟสายปกติ ซึ่งต้องรอ 9 โมงเช้า ทีมส่วนใหญ่ที่เดินทางมาล่วงหน้าเลือกที่จะพักเที่ยวกันที่มิวนิค ทำให้ผมยังมีทั้งมิวนิคเก็บไว้ให้เดินเที่ยวเล่นได้อีกครั้งถ้ากลับมาในพื้นที่แห่งนี้ ในคืนแรกผมได้พบกับนักไตรกีฬาจากมาเลเซียที่มา Roth เป็นครั้งที่สอง ผมจึงสอบถามเรื่องวิธีสมัคร เขาบอกผมว่า slot ที่แจกนั้นส่วนใหญ่มักจะมีเหลือดังนั้นหลังแข่งแล้วสามารถไปสมัครได้ ยิ่งไปกว่านั้น ยัง transferable อีกด้วย หลังจากนั้นครอบครัวของผมก็ขอแยกตัวไปเที่ยวปราคขณะที่ผมย้ายเข้าพักกับบริษัททัวร์ ห่างออกไปจากตัวเมืองประมาณ 15 กม. เรียกแทกซี่ก็ไม่ยุ่งยากหมดไป 17Euro เพื่อรอเพื่อน ๆ อีกกลุ่มที่บินเข้าที่มิวนิคช่วงเช้าแล้วจะเข้ามาพร้อมกันที่โรงแรม หลังจากทุกคนพร้อมแล้วทางบริษัททัวร์ก็พาเราเข้าไปงานเอกโปซ์เพื่อไปลงทะเบียนล่วงหน้าหนึ่งวัน ลดกิจกรรมที่จะต้องทำในวันรุ่งขึ้น

13716107_1393542967338945_6092240235650305064_n

เริ่มพบกับยอดมนุษย์เหล็กทั้ง 40 คนกันแล้ว แต่ละคนก็มีเป้าหมายที่แตกต่างกันไป ผมคงไม่ไปกล่าวถึงแต่เป้าหมายของผมในเวลานี้คือเอาตัวให้รอด หลังจากที่พบว่าตัวเองแทบไม่ได้ซ้อมอะไรมาเลย มีแต่เพียงหัวใจและประสบการณ์ ผมมีวิธีที่จะคิดได้สองแบบคือ กังวล หรือ สู้ตาย ซึ่งแน่นอนว่าในขั้นนี้สู้ตายเป็นทางเลือกที่ไอรอนแมนส่วนใหญ่จะเลือกใช้ ยิ่งไปกว่านั้นผมมีอาวุธลับที่พิเศษกว่าคนอื่น ๆ ในยามที่ทุกอย่างไม่เข้ารูปเข้ารอย นั่นคือ ความเยือกเย็น ไม่ว่าเรื่องราวจะมาอย่างไร ผมรู้สึกเสมอว่าทุกอย่างจะผ่านไปได้ด้วยดี เพื่อนนักปีนเขาเรียกชื่อเล่นผมว่า Zen Master ไม่ใช่เพราะความสามารถในการปีน แต่เป็นความสามารถในการเก็บอาการเมื่อรู้ว่าสถานการณ์ที่กำลังจะเจอนั้นอาจจะเกินความสามารถ และมีอันตรายเข้ามาเกี่ยวข้อง ผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าเหตุการณ์ยุ่งยากมากขึ้นเพียงใด ความจำเป็นในการสงบสติอารมณ์ยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น ณ เวลานี้ไม่ใช่เวลาที่ผมจะเสียใจว่าผมขาดอะไร แต่ต้องมาดูว่าผมมีอะไรอยู่บ้าง ในขณะเดียวกันสิ่งที่จะได้มาจากงานนี้อย่างแน่นอนนั่นคือ ความเข้าใจปริมาณการซ้อมที่น้อยที่สุดที่เป็นไปได้ วิธีการเอาตัวรอดจากไอรอนแมนโดยอาศัยสิ่งที่ตนเองถนัด และอื่น ๆ

13699420_1249351451772335_548084090_o

ในวันรุ่งขึ้นทางทัวร์พาเราไปลองว่ายน้ำ ผมปกติไม่เคยทดลองน้ำ เนื่องจากไม่ชอบความหนาวเย็น แต่รอบนี้เริ่มมองเห็นความจำเป็น เจตนาของการไปว่ายน้ำก็เพียงเพื่อทดสอบอุณหภูมิของน้ำ การฟิตติ้ง wetsuit ให้เหมาะสม เพื่อดูพื้นที่จริง ที่สุดท้ายแล้วทุก ๆ สิ่งที่ได้ทำวันนี้เพื่อลดความเครียดที่จะเจอในวันจริง อุณหภูมิน้ำประมาณ 20 องศาถือว่ากำลังดี wetsuit ก็พอดีมีกังวลแค่การเสียดสีที่ต้นคอเท่านั้น หลังจากที่เราทดสอบสนามในช่วงว่ายน้ำแล้วเราก็ต่อด้วยนั่งรถชมเส้นทางตลอดเส้นทางทั้งรอบ 90 กม. ผมไม่ค่อยได้ดูเส้นทางที่เขาให้ชมมากนัก ไม่รู้สึกว่ามีเนินอะไรที่กังวล ไม่มีทางลาดไหนที่ดูอันตราย โค้งไหนที่ควรระวัง ตลอดทางนั่งมองแต่วิวและความสวยงามของพื้นที่ โดยปกติแล้วผมเป็นคนชอบจดจำจุดสำคัญต่าง ๆ เพื่อใช้ในการวางแผนการปั่น แต่รอบนี้ผมไม่คิดว่าการปั่นต้องมีแผนอะไรเป็นพิเศษ หลังจากกลับที่พักเราก็นัดกันอีกครั้งเพื่อจะเข้าไปงานเลี้ยงอาหารต้อนรับ แต่สุดท้ายแล้วคนไทยกลุ่มใหญ่เลือกที่จะเดินทางเข้าเมือง ผมก็เช่นกัน วันรุ่งขึ้นก็เป็นวันที่เราเตรียมตัวเพื่อ Bike Check-in ไม่น่าเชื่อว่าผู้แข่งขัน 6000 คน มีทางเข้าจุด T1 สีจุด แทบไม่มีแถวให้ต่อเลย การจัดการขั้นเทพ รวดเร็วแม่นยำ ที่นี่เขาตรวจสภาพหมวกกันน๊อคเคร่งเครียดมาก ดูสภาพกันแทบทุกมุม พร้อมมีของใหม่เตรียมตัวขายถ้าไม่ผ่าน ส่วนจักรยานเขาไม่ดูอะไรมาก ต่างจากงานภูเก็ตหรือลังกาวีที่ตรวจสอบเบรคอย่างเคร่งครัด เวลาที่เหลือเราพยายามรีบกลับไปพักผ่อนเพราะวันรุ่งขึ้นเริ่มต้นที่ตีสาม แม้ว่าเวลาเริ่มต้นของเราจะอยู่ที่ 7-8 โมงก็ตาม

13692551_1393543180672257_3064557522683468204_n

การไปก่อนเวลานานมาก ๆ ช่วยลดความตึงเครียดของการแข่งขันลงได้มาก มีเวลาดูแลจักรยาน จัด  T1 เข้าห้องน้ำ drop bags ใส่ wet suit และ selfie อย่างสนุกสนาน กลุ่มผู้หญิงออกตัวก่อน ในขณะที่กลุ่มชายไทยออกตัวเป็นกลุ่มสุดท้ายห่างกันหนึ่งชั่วโมงเต็ม ๆ การออกตัวเป็นไปอย่างยิ่งใหญ่ คนเชียร์เต็มตลอดสองฝั่งแม่น้ำ บอลลูนถูกปล่อยขึ้น ปืนใหญ่ยิงปล่อยตัวทุก ๆ เวฟ 200-250 คนออกพร้อม ๆ กัน เสียงดังสนั่นทุก ๆ ห้านาที พร้อมควันพวยพุ่งเบื้องหลังบอลลูนสีสด เป็นภาพที่ยากที่จะลืมเลือน เราจะว่ายเป็นวงขึ้นลงตามแม่น้ำที่ปกติห้ามมีการว่ายน้ำ เป็นคลองที่เชื่อม Rhine-Main-Danube เข้าด้วยกันใช้เพื่อการขนส่งสินค้า เราจะว่ายไปชนสะพานด้านหนึ่งแล้วกลับตัวว่ายไปถึงอีกสะพานหนึ่งที่จะมีคนยืนเชียร์อยู่สองฝั่งคลอง และเต็มพื้นที่สะพาน ผมเริ่มเป็นกลุ่มสุดท้ายนั่นก็ช่วยให้มีเวลาผ่อนคลายอีกพักใหญ่ ๆ หลังเวฟแรกออกตัวไปแล้ว หูเริ่มคุ้นเคยกับเสียงปืนใหญ่ จำนวนผู้คน เสียงเชียร์ เมื่อถึงคิวว่ายลงไปจุดเริ่มต้น ไม่ช้าไม่นานสองร้อยชีวิตก็ค่อย ๆ เคลื่อนตัวเลียบชายฝั่งออกไปพร้อม ๆ กับเสียงปืนใหญ่ครั้งสุดท้าย น้ำในคลองค่อนข้างขุ่นมองไปหน้าไปประมาณระยะปลายนิ้วมือ ไม่เห็นคนว่ายนำที่ผมชอบใช้ในการนำทาง ผมต้องพยายามมองข้างตลิ่งไว้ แต่ผมว่ายห่างจากตลิ่งเพราะคิดว่าคนด้านในน่าจะแน่น สุดท้ายก็ว่ายเป๋ไปมา ระหว่างกองเรือที่แบ่งกลางคลองกับขอบตลิ่ง น้ำเย็นขึ้นกว่าวันทดลองว่าย 1 องศา ไม่รู้สึกหนาวขึ้น มือ หัว ปลายเท้าไม่ชา wet suit ฟิตพอดี นำ้ไม่เข้ามากนักถ้าหากไม่พยายามให้มันเข้า แน่นอนว่ามีน้ำเข้ามาบ้างแต่พอดีกับความร้อนของร่างกายที่ต้องการการระบาย ขอของ wet suit เริ่มเสียดสีกับต้นคอของผม จนทำให้ไม่ค่อยอยาก sighting อีกต่อไป เจตนาการมองข้างขวาอย่างเดียวตลอด 3800 เมตร ไม่เป็นแผนที่ดี ผมเริ่มใช้วิธี rolling body เพื่อหายใจ และใช้ร่วมกับ bi-laterally breathing แต่ทำได้ไม่มากนัก ความเย็น ความลอยตัวของ wet suit ทำให้ไม่คุ้นกับระดับของร่างกาย สุดท้ายต้องผ่อนความเร็วลงเพื่อที่จะให้ roll body ได้ง่ายขึ้น ลดการหันคอลง ช่วงครึ่งแรกผมเสียเวลาไปเกือบ 5 นาทีจากที่วางแผนไว้ ทำให้ช่วงครึ่งหลังต้องตั้งสมาธิมากขึ้น สุดท้ายก็ยังไม่ได้เวลาคืนมามากนักจึงเข้าโหมดเร่งความเร็วจนท้ายที่สุดผมทำเวลาได้ 1:24 นาที ช้ากว่าที่คาดไว้ 4 นาที ว่ายเกินไปประมาณ 300 เมตรจากระยะการ์มิน

T1 ของที่นี่มีเต้นท์เปลี่ยนเครื่องแต่งตัวให้ ไม่ต่างจากงานไอรอนแมน Bike Bags ทั้ง 6000 ใบวางอย่างเป็นระเบียบอยู่ด้านหน้าซึ่งนักกีฬานำมาวางไว้เองตอนช่วงก่อนเริ่มแข่ง ที่พิเศษคือเต้นท์นี้เป็นเต้นท์รวมชายหญิง และเต็มไปด้วยอาสาสมัครสตรี หลากหลายวัยที่จะวิ่งเข้ามาประกบเพื่อช่วยเหลือในการแต่งตัว จากพยากรอากาศล่วงหน้าผมไปจัดหาซื้อเสื้อ compression เพิ่มอีกหนึ่งชั้น แต่ด้วยความยากลำบากในการสวมใส่ผมจึงใส่ตั้งแต่ก่อนว่ายน้ำ ผมวางแผนที่จะใส่เสื้อปั่นจักรยานแขนยาวเพื่อความสะดวกในการขนอาหาร และพกเสื้อกันลมอีกหนึ่งตัว แต่สุดท้าย ผมคิด ๆ ไว้ว่าถ้าช่วงวิ่งผมต้องถอดเสื้อปั่นแขนยาวออกชุดแข่งน่าจะไม่ค่อยสวยงามมากนักจึงสวมเสื้อไตรแขนกุดของทีม V40 ทับไว้อีกตัวเพราะกลัวว่าช่วงวิ่งอาจจะไม่มีแรงใส่เสื้อรัด ๆ แบบนี้ได้ สาว ๆ มาช่วยรุมทึ้งถอด wet suit ให้ผม แล้วยื่นเสื้อผ้าในถุง Bike Bag มาให้เลือกทีละชิ้นแล้วช่วยสวม ไม่ช้าไม่นานผมก็วิ่งออกไปปั่นได้  ใช้เวลาใน T1 ไปประมาณ 8 นาที สรุปแล้วผมเสียเวลาจากที่วางแผนไว้ 12 นาที หรือ 2 นาทีจาก range ที่วางเอาไว้ ซึ่งไม่เครียดเท่าไร จักรยานเอาคืนได้ง่ายเพราะตั้งไว้ 7 ชม ซึ่งหมายถึงเฉลี่ยเพียง 26 กม/ชม อากาศไม่หนาวมากนักแต่เย็นเพียงพอที่จะทำให้เสื้อสี่ชั้นของผมไม่ร้อนจนเกินไป ผมรูดซิบออกเป็นชั้น ๆ ตามจังหวะ และสภาพอากาศ ผมทำเวลาได้ค่อนข้างดีเส้นทาง rolling ซึ่งค่อนข้างเป็นเส้นทางแบบที่ผมถนัด มีจังหวะเนินและทิ้งตัว เข้าโค้ง เบรคไม่ค่อยต้องใช้ เสียอย่างเดียวที่ไม่ค่อยได้ซ้อม กล้ามเนื้อจึงไม่ค่อยแข็งแรงมาก ผมวางแผนปั่นที่ Zone 2 ตลอดการแข่งขันแต่แบตของ power meter ที่เป็น Power2Max ดันมาหมดในวันก่อนแข่งทำให้ไม่สามารถหามาเปลี่ยนได้ทันจึงต้องอาศัยโซนของหัวใจแทน ผมเลือกปั่นที่ HR ไม่เกิน 150 ในครึ่งแรกผมทำความเร็วเฉลี่ยได้ประมาณ 28 ก่อนจะเข้า Solar Hill ที่มีเนินต่อเนื่องยาวนานจนท้ายที่สุดตกลงไปเหลือ 26 เศษ ๆ Solar Hill ถือว่าเป็นไฮไลท์ของสนามนี้ ชาวเมืองเชียร์กันสองข้างทางกว่า 30,000 คน ปั่นจักรยานเลนเดียวแหวกผู้คนขึ้นไปเรื่อย ๆ บนเนินที่ยาวที่สุดของการแข่งขันความชันที่ไม่มากจนต้องมีใครลงมาเข็น เป็นความทรงจำที่ยากจะลืมเลือน กองเชียร์ในมุมอื่น ๆ ก็ไม่แพ้กัน มีการตั้งเครื่องเสียงเปิดเพลงร๊อคปลุกใจ ดีเจตะโกนเชียร์ เด็ก ๆ ยื่นมือออกมา และแน่นอนว่าผมยื่นมือออกไปแตะมือเด็กทุก ๆ คนที่ยื่นมือออกมาเพื่อเป็นการขอบคุณ บางบูธเป็นโต๊ะเรียงราย เปิดไวน์นั่งเชียร์ บางบูธเล่นเอาเตียงมานอนเชียร์นอนกินกันข้างทางกันไปเลย แน่นอนว่าเสียงสนั่นหวั่นไหวกันแทบตลอดเส้นทาง ในรอบที่สองผมจึงเลือกที่จะปั่นเลี้ยงความเร็วเฉลี่ยไปเรื่อย ๆ เก็บแรงเอาไว้ที่ Solar Hill รอบที่สอง เป็นไปตามคาดรอบที่สองเริ่มมีอากาศที่ร้อนขึ้นเล็กน้อย ผมต้องจอดเพื่อถอดเสื้อกันลมหนึ่งครั้ง จอดเพื่อเข้าห้องน้ำหนึ่งครั้ง และจอดเพื่อปรับแก้เสื้อจักรยานอีกหนึ่งครั้ง เสียเวลาเล็ก ๆ แต่ได้พักขามากขึ้น rolling hill มักจะทำให้กล้ามเนื้อล้าโดยง่ายถ้าไม่ระมัดระวัง มาถึงจุดนี้กล้ามเนื้อผมเริ่มล้าเกินกว่าที่จะทำให้ HR ผมขึ้นไปถึงเป้า 150 แล้ว ผมผ่อน ๆ คลาย ๆ และใช้เวลาบน base bar มากขึ้น aero bar และ ฟิตติ้งใหม่ยังไม่เข้ากับตัวผมที่ไม่ได้ซ้อมปั่นด้วย set up ใหม่นี้มาเลยทำให้เริ่มเมื่อยคอ ผมจำอาการตะคริวขึ้นคอได้ดีในสองโอกาสทั้งที่ลังกาวีและการปั่นกรุงเทพหาดใหญ่ของผม ทุกครั้งที่มีโอกาสผมจึงจับ base bar ตลอดซึ่งทำให้ลดความเร็วเฉลี่ยลง เพิ่มกำลังขานิดหน่อย เพราะร่างกายอยู่ในตำแหน่ง open torso ผมปั่นเข้า Solar hill โดยไม่เสียเวลา และพยายามคงความเร็วเฉลี่ยในเนินที่เหลือให้ได้มากที่สุด โดยที่ไม่โหลดกล้ามเนื้อขาจนเกินไป ระหว่างรอบที่สองนี้ผมจึงมีเวลาชื่นชมวิวสองข้างทางตามสไตล์ออแดกซ์มากขึ้น ถนนเรียบที่ปิดการจราจรแทบจะ 100% เส้นทางเขาขึ้นลง มีเนินท้าทายขาสองเนินที่ไม่ได้ทำให้ใครต้องลงมาเข็น ข้างทางรายล้อมด้วยทุ่งนา ทุ่งข้าวโพด หรือ ข้าวบาเลย์ ฉากไกล ๆ เป็นภูเขาสูง ประดับด้วยกังหันลมเป็นระยะ ๆ ทำให้ต้องคอยเตือนตัวเองให้คุมความเร็วเอาไว้ให้ได้ อย่าเพลินจนเกินไป ในขณะเดียวกันสภาพเนินต่อเนื่องยาวนานหลายชั่วโมงเริ่มทำให้ความล้าคืบคลานเข้ามา 170 กม ไม่ได้มาถึงเร็วอย่างที่คิด แต่สุดท้ายผมก็ปั่นเข้า T2 ด้วยเวลาปั่นประมาณ 6:48 ชม. เอาเวลาที่หายไปคืนมาทั้งหมด

13775453_1410345645649183_6030980180576254421_n

เมื่อถึง T2 ผมเปลี่ยนแผนที่เคยคิดจะถอดรองเท้าทิ้งไว้กับจักรยาน เพราะเพิ่งรู้ว่าทางทัวร์จะนำจักรยานกลับโรงแรมให้กับเรา ผมคิดว่าอาจจะทำให้รองเท้าสูญหายได้ เกือบเสียศูนย์เพราะลืมปลดคลิบเมื่อมาถึงจุด unmount แต่สุดท้ายก็สามารถบิดขาทั้งตัวเพื่อปลดตัวเองออกจากบันไดได้ทั้ง ๆ ที่ตอนนั้นเริ่มยกขาข้ามจักรยานลงมาแตะพื้นแล้วหนึ่งข้าง อาสาสมัครยื่น Run bag มาให้แล้วมีคนวิ่งตามเข้าเตนท์เพื่อรักษาความปลอดภัยตลอดเส้นทาง พยาบาลสอบถามว่าต้องการปฐมพยาบาลบ้างหรือไม่ ผมคว้าถุงมาแล้วอาสาอีกคนก็ลงมือเปิดถุงให้กับผม ค่อย ๆ ยื่นเสื้อผ้าด้านในให้กับผม ปลอกแขน หมวก ผมปฏิเสธทุกอย่างเพราะคิดว่าผม over dress  อยู่แล้วในขณะนี้แล้วคิดว่าแดดไม่น่าจะแรงมากนักในขณะวิ่งเพราะเป็นเวลาสี่โมงกว่า ๆ แล้ว ผมเลือกที่จะเอาผ้า buff ติดตัวไปแทน ป้องกันอากาศหนาวและเอาไว้กันเหงื่อเข้าตา ผมถอดเสื้อปั่นจักรยานแขนยาวออกทิ้งไว้พร้อมกับเสื้อกันลม เปลี่ยนเป็นรองเท้าวิ่งที่เพิ่งซื้อ ผ่านการวิ่งมาราธอนไปเพียงหนึ่งครั้งที่เวลา 6:05 ชม. สุดท้ายสาวน้อยยื่นกางเกงวิ่งที่ผมวางแผนจะเปลี่ยนมาให้ แต่ด้วยความเกรงใจสาววัยละอ่อนผมจึงยืนยันที่จะใส่กางเกงปั่นจักรยานตัวเดิมออกวิ่งไป เส้นทางวิ่งเป็นทางวิ่งเลียบคลองเป็นส่วนใหญ่ มีส่วนที่ต้องเข้าเมืองหลายช่วง รวมถึงช่วงที่เรียกว่า beer mile ที่มีโต๊ะเชียร์วางข้างทางพร้อมกับชาวเมืองนักกินเบียร์เชียร์นักกีฬากันอย่างสนุกสนาน

13697135_1410649612285453_3675710670695162634_n

ผมออกวิ่งไปได้ไม่นานก็รู้ตัวว่าแต่งตัวผิดนิดหน่อย แดดร้อนเกินคาด น่าจะมีหมวกสักหน่อย ถึงจุดหนึ่งผมต้องถลกแขนขึ้นลดความร้อน เส้นทางวิ่งสุดยอดมาก ๆ เป็นเส้นทางเลียบแม่น้ำเป็นส่วนใหญ่ พื้นกรวด บางคนบ่นเรื่องพื้นรองเท้าบางไป แต่สำหรับคนชอบวิ่งเท้าเปล่าแบบผมไม่มีปัญหา การใส่รองเท้าอัลตรามาวิ่งเที่ยวนี้ ความหนาความกว้างเกินพอสำหรับทุกสถานการณ์อยู่แล้ว สำหรับคนเชียร์มีตลอดทางจริง ๆ มีบูธใหญ่ ๆ เครื่องเสียงโต ๆ เพลงดัง ๆ ดีเจประกาศชื่อ ตะโกนไทยแลนด์ hop hop hop คนเชียร์ข้างทางพยายามอ่านชื่อ มองธง ตะโกนชื่อประเทศ ตลอดเส้นทาง สนุกมาก ๆ ประมือ ตลอดเส้นทาง ผมปั่นจักรยานหนักไปนิดทำให้ HR ช่วงแรกของการวิ่งพุ่งสูงเกินไป ผมจึงเลือกที่จะเดินมากกว่าที่จะรักษา pace เพื่อให้ได้ 2.5 ชั่วโมงสำหรับครึ่งทางแรก แต่การที่จะเดินในสนามนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายมากนักถ้าหน้าไม่ด้านพอ กองเชียร์ตะโกนให้วิ่งตลอดเวลา ไม่อยากให้เรายอมแพ้ ในหลาย ๆ จุดเรียกว่าไม่กล้าเดินกันเลย เกรงใจกองเชียร์ขนาดมหึมา บางโซนเป็นป้า ๆ ลุง ๆ เอาเก้าอี้ออกมานั่งชมความทรมานกันหน้าบ้าน ยิ้มให้ ปรบมือให้กำลังใจ สุดท้ายผมจึงพยายามเดินและหยุดพักที่จุดให้น้ำแทน เพื่อไม่ให้น่าเกลียด เส้นทางวิ่งวกไปวนมา เราเริ่มเจอเพื่อน ๆ ชาวไทยที่มาด้วยกัน วิ่งสวนกันไปมา คนแล้วคนเล่าค่อย ๆ แซงผมไป ผมคาดว่าผมวิ่งช้าเพียงพอให้ทุกคนมาแซงผมถ้าต้องการเข้าเส้นชัยทันเวลา เพราะผมเตรียมมาเพื่อเข้าเส้นนาทีสุดท้าย ผมคิดไว้นานแล้วว่าด้วยสภาพของผมในปัจจุบันแล้วยังอยากเล่นระดับไอรอนแมนอยู่ มีทางเลือกสามทางที่จะสามารถเตรียมตัวให้พร้อมได้ หนึ่งคือ ซ้อมเต็มที่เพื่อให้ได้ sub4 มาราธอน ระดับจิตใจและฐานการวิ่งจะยกขึ้นไปอีกระดับหนึ่งที่เหลือเฟือสำหรับไอรอนแมน สองคือ เข้าร่วมรายการระดับอัลตราเทรล 50-100 km อย่างสม่ำเสมอ เพื่อหัดการกินอาหาร เพิ่ม time on foot และสร้างความคุ้นเคยกับความอ่อนล้าของกล้ามเนื้อขาในระยะปลาย ๆ ของการแข่งขัน รวมไปถึงความแกร่งของจิตใจ สุดท้ายคือ เล่น red line เข้าคนสุดท้าย ใช้การคำนวณปรับ pace ให้เหมาะสมตลอดเวลา อาศัย cut off time เป็นตัวผลักดัน ความผิดพลาดไม่ใช่ option ในคราวนี้ผมเลือกทำวิธีที่สอง อย่างไรก็ตามผมไม่ค่อยประสบความสำเร็จมากนักในรายการอัลตราเทรล DNF ทั้งสองรายการที่สำคัญในการฝึกซ้อม PYT66 และ TNF100 อย่างไรก็ตามการก้าวไประยะอัลตราทำให้ mindset ของระยะมาราธอนของผมเปลี่ยนไป 42Km กลายเป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่ไม่ได้น่ากลัวอะไรเลย time on foot ระดับ 10 ชม ขึ้นไปเป็นเรื่องธรรมดามากขึ้น ผมจึงวางแผนสำหรับการแข่งขันเป็นแบบทางเลือกที่ 3 แบบไม่บีบเค้นหัวใจเพราะในตอนนี้ระยะ 42km ในเวลา 6:30 ชม. มันไม่ยาวเลย เช่นเดียวกันการปั่นออแดกซ์ระดับ 300-400 km ที่เวลา 28-40 ชม ทำให้การแข่งขันระดับ 17 ชม. รู้สึกสั้นกว่าที่เคยรู้สึกเยอะมาก ๆ

ด้วยแผนดังกล่าวนี้ผมได้พบความสมดุลย์ใหม่ของไอรอนแมน จากที่เคยเชื่อว่าไอรอนแมนเป็นสิ่งที่ต้องทุ่มเทเวลาเป็นจำนวนมาก ซ้อมอย่างหนักอย่างน้อย ๆ 16 สัปดาห์ แทบไม่มีเวลาในช่วงวันหยุดสำหรับครอบครัวเลย หรือ 2 sessions day  เป็นเรื่องปกติที่ต้องทำจนไม่มีเวลาที่จะช่วยเหลือภรรยาแบ่งเบางานในบ้านในระหว่างวัน ผมกลับมารอบนี้ด้วยกระบวนการแบบใหม่โดยที่ไม่ได้ตั้งใจ จากงานที่ถาโถมมาอย่างหนัก จังหวะชีวิตที่ไม่ลงตัว จำนวนชั่วโมงนับจากเดือนพฤศจิกายนปี 2015 มาถึงวันแข่งเดือนกรกฎาคา 2016 แทบจะเป็นศูนย์ ถ้ามองในมุมของความสม่ำเสมอและจำนวนชั่วโมงที่มีอยู่ แต่การร่วมแข่งขัน โดยเฉพาะรายการทางยุทธศาสตร์ทั้งหลายผมเข้าร่วมอย่างสม่ำเสมอ นั่นหมายถึง อัลตราเทรล PYT66 TNF100 น่าเสียดายว่าไม่ได้ลงเพิ่มเพราะรายการ PYT66 ทำเล็บผมหลุดจึงไม่ค่อยกล้าสมัครรายการอื่น ๆ และการปั่นออแดกซ์ระดับ 200-400km อย่างสม่ำเสมอ ทำให้ฐานของจักรยานไม่เสียไปมากนัก แต่ที่สำคัญกว่าคือผมมีเวลามากขึ้นที่จะใช้มันทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัวอย่างสม่ำเสมอไม่ว่าแผนการของวันจะเป็นเช่นไร ด้วยความรู้สึกเช่นนี้ผมคิดว่าไอรอนแมนลังกาวีผมน่าจะสามารถทำได้ดีกว่าเดิมในแง่ของการบริหารเวลา การซ้อม รวมไปถึงเวลาแข่งขัน

ผมวิ่งฮาร์ฟมาราธอนแรกด้วยเวลา 3 ชม. ซึ่งช้าไปกว่าแผนที่วางไว้ถึงครึ่งชั่วโมง จากที่จะมีความผ่อนคลาย 4 ชม. สำหรับ 21 km สุดท้าย กลายเป็น 3.5 ชม. ที่ค่อนข้างตึงเครียด อย่างไรก็ตามผมพอจะรู้คร่าว ๆ ว่า 3.5 ชม ในครึ่งหลังจะต้องเป็นอย่างไร จากการที่ได้แข่งขันรายการภูเก็ตมาราธอนในเดือนมิถุนายนแบบไม่ได้ซ้อม ที่ผมทำ 2.5 + 3.5 ชม. เพื่อให้ได้ 6 ชม. ทำให้แม้ว่าจะเครียดในแง่ของความพอดีของเวลา แต่ก็ผ่อนคลายในแง่ของประสบการณ์ที่เคยผ่านมาแล้ว อย่างไรก็ตามกว่าผมจะเริ่มคิดอะไรให้เข้าที่ได้ ผมก็มาอยู่ในสภาวะที่ต้องวิ่งต่ำกว่า 10 min/km เป็นระยะทางประมาณ 16 km นั่นหมายถึงผมต้องรักษาความเร็วนี้เป็นเวลา 2:40 ชม นั่นเป็นช่วงเวลายาวนานพอสมควรสำหรับการทำสมาธิระหว่างวิ่งเช่นนี้ ผมลองทดสอบกำลังขานิดหน่อย พบว่าผมสามารถวิ่งสบาย ๆ ที่  เพซประมาณ 7.5-8 ได้ ผมจึงเลือกจัดการกับช่วงสุดท้ายของการแข่งขันตามแผนเดิน 200 เมตร วิ่ง 800 เมตร ให้เพซเฉลี่ยของแต่ละกิโลเมตรต่ำกว่า 10 แล้วทำแบบนี้ซ้ำ ๆ 16 ครั้ง ซึ่งคลายความเครียดได้มาก ผมได้เดินยาวจนรู้สึกหายเมื่อย ผมไม่ต้องวิ่งเร่งแค่จัดให้ต่ำกว่า 10 ช่วงที่หยุดกินอาหารก็ต้องเร่งมากขึ้นเล็กน้อยในช่วงปลาย มีกองเชียร์ที่สำคัญสองคนที่ช่วยให้การวิ่งของผมสม่ำเสมอมากขึ้น คนแรกคือชายที่ใส่ชุดแฟนซี เหมือนหมีแบกคน เขามายืนเชียร์เป็นระยะ ๆ แล้วปั่นจักรยานไปดักด้านหน้าแล้วเชียร์ จริง ๆ แล้วเขามาเชียร์แฟนของเขาที่วิ่งเพซใกล้ ๆ กับผม เขาเตรียมอุปกรณ์เชียร์มาเป็นระยะ ๆ ตามแต่ stage ของการวิ่ง เริ่มต้นจากการใส่ชุดตะโกนเชียร์ ปรบมือ ปั่นจักรยานไปดักด้านหน้า แล้วทำซ้ำ ๆ แบบนี้ เปลี่ยนเสื้อมาใช้เสื้อที่เขียนว่า “Shut Up Legs” สำหรับนักจักรยานแล้วเป็น phrase ที่สำคัญของนักจักรยานที่เพิ่งรีไทร์ Jen Voight ทำให้ผมต้องวิ่งมากขึ้นกว่าที่วางแผนไว้ มีบางช่วงเขาปั่นจักรยานมาประกบเพื่อ pace ให้จนสุดท้ายแฟนเขาตามผมทัน เขาบอกผมว่าผมต้องวิ่งไปเรื่อย ๆ ดูแลแฟนให้เขา ส่วนเขาจะปั่นล่วงหน้าขึ้นไป ไม่นานนักแฟนเขาก็วิ่งแซงผมไปตอนถึงจังหวะเดินของผม แล้วผมก็ไม่เห็นทั้งสองคนอีกเลย อีกคนหนึ่งเป็นคนเชียร์ที่ผมเห็นสวนไปมาหลายครั้งในชุดวิ่ง ในช่วงหนึ่งกองเชียร์คนนี้มาวิ่งประกบเพื่อชวนคุยคาดว่าเพื่อช่วยเป็น pacer ให้ผมเฉย ๆ เขาเป็นคนเยอรมันที่มีภาษาอังกฤษค่อนข้างดี เคยลง Roth มาแล้ว 7 ครั้ง แต่ปีนี้มาเชียร์เฉย ๆ เขาเดินทางมาจาก Munich ซึ่งห่างจากบริเวณนี้ประมาณ 120km โดยประมาณ เขาวิ่งประกบแล้วคุยกับผมเกือบ ๆ สองกิโล ช่วงนี้ผมไม่ได้หยุดเดินเลย ทั้งสองคนนี้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การวิ่งรอบนี้ง่ายขึ้นมาก

ที่สำคัญที่สุดสำหรับการแข่งขันครั้งนี้และทุก ๆ ครั้งของผม คือครอบครัวของผม ผมจะเขียนเวลาโดยประมาณให้กับครอบครัวตามระยะต่าง ๆ เพื่อให้พวกเขาสามารถวางแผนวันของพวกเขาได้เอง เพื่อที่จะมาเจอกับผมได้เป็นช่วง ๆ ระหว่างการแข่งขัน ครั้งนี้ก็เช่นกัน การเดินทางมาจุดชมการแข่งขันช่วงเช้าไม่ใช่เรื่องง่ายมากนัก แม้ว่าผมกำหนดเวลาให้พวกเขาทั้งการแข่งขัน ผมคิดว่าช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดที่จะมาคือช่วง T2 เป็นต้นไป และส่วนสำคัญที่สุดคือช่วงเส้นชัยที่รายการนี้อนุญาติให้ครอบครัววิ่งเข้าเส้นด้วยกันได้ แตกต่างจากรายการ Ironman แต่อย่างไรก็ตามก็ขึ้นกับการตัดสินใจของพวกเขาเพราะขนส่งมวลชนจะสิ้นสุดก่อนที่ผมจะเข้าเสียชัยได้ทัน ช่วงปั่นเข้า Solar Hill ผมมีความหวังเพียงเล็กน้อยที่จะเจอพวกเขา ผมจะผ่านจุดนั้นในเวลา เที่ยงและบ่ายสามโมง ซึ่งจากตารางรถไฟแล้วถ้าเขาจะมาเจอผมที่นั่นเข้าต้องมารออย่างน้อยสองชั่วโมง ท่ามกลางคน 30,000 คน ผมแนะนำว่าแม้ว่าจะทำได้ก็ไม่น่าจะคุ้มค่าเท่าไร ซึ่งผมไม่เห็นพวกเขาในช่วงนั้นจึงค่อนข้างมั่นใจว่าจะเจอที่ T2 แต่กลับไม่พบในช่วง T2 อย่างไรก็ตามหลังออกจาก T2 ไม่ถึงกิโลก็พบกับพวกเขายืนรอเชียร์อยู่ ฮารุเรียกผมตั้งแต่ไกล ซาช่าวิ่งเข้ามากอด ส่วนเซนของวิ่งตามไป ผมกอดพวกเขาเอากำลังใจ แล้วบอกกับเซนว่าอีก 40 km เซนคงวิ่งตามไม่ไหว หลังจากนั้นผมหวังเพียงลึก ๆ ว่าจะได้เจออีกครั้ง เพราะต้องเว้นช่วงไปมากกว่าสามชั่วโมงผมจึงจะกลับมาจุดนี้อีกครั้งหนึ่ง ผมไม่เจอพวกเขาในรอบที่สองที่ผมระบุจุดไว้ให้ แต่ท้ายที่สุดแล้วก็พบกับเซนและภรรยาอีกครั้งที่ระยะทางประมาณ 38 กม. ช่วงก่อนวิ่งเข้า Beer Mile คราวนี้เซนต้องการวิ่งไปกับผมอย่างจริง ๆ จัง ๆ ระยะทาง 4 กม. ด้วยเพซที่ผมใช้อยู่นั้นไม่เกินความสามารถเขาอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตามพวกเขาเหลือเวลาอีกเพียงไม่ถึงสิบนาทีเพื่อวิ่งกลับไปขึ้นรถบัสเพื่อไปต่อรถไฟกลับโรงแรม เซนวิ่งคู่กับผมประมาณ  20 เมตรแล้วโบกมือลา 4 กม. สุดท้ายที่ผมวางแผนใช้เวลาอีก 40 นาทีตามเพซที่วางไว้ ผมใช้ไปเพียง 31 นาที เป็นกำลังใจเล็ก ๆ ที่ยิ่งใหญ่จากหัวใจน้อยใหญ่รายล้อมตัวผม มารู้ทีหลังว่าหลังจากเขาเจอผมรอบแรก พวกเขาก็กลับไปส่งฮารุและแม่ยายที่โรงแรมแล้วออกกันมาอีกรอบไม่ได้หยุดพักกันเลย น่าประทับใจ นี่เป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจสมัครงานนี้ในปีหน้าเพื่อมาแก้ไขช่วง Finale ครั้งนี้

13754256_1409545835729164_1974906100854905638_n

ช่วงสุดท้ายของการวิ่งเข้าเส้นชัยมันยิ่งใหญ่ ทุกคนตะโกนบอกว่าอีกสองร้อยเมตรสุดท้าย ตั้งแต่กิโลเมตรสุดท้ายเวที อัฒจรรสูงตระหง่านรอให้นักกีฬาคนสุดท้ายวิ่งเข้าเส้นชัย และรอคอยดูพลุเฉลิมฉลอง อย่างที่เขาว่ากองเชียร์แทบจะอุ้มเข้าเส้นชัยกันเลย มันเป็นเช่นนั้นจริง ๆ เสียงเชียร์เสียงปรบมือดังสนั่น มือที่ยื่นออกมาท้ังสองข้างทางที่ต้องวิ่งเข้าไปประมือจำนวนมากมายในหนึ่งรอบสนามนั้น และแล้วผมก็เข้าเส้นชัยล่วงหน้าก่อนเวลาไปประมาณ 8 นาทีกว่า ๆ ธงไทยจากกองเชียร์ถูกยื่นมาให้ ผมยืนงง ๆ ดูดซับความรู้สึกสุดท้าย ถ่ายภาพคู่กับธงเป็นระยะเวลาหนึ่งก่อนที่จะเดินกลับไปที่พักนักกีฬาเพื่อพบกับเพื่อน ๆ ชาวไทยที่มาด้วยกัน เป็นการแข่งขันที่ยิ่งใหญ่ สนุกสนาน น่าจดจำมากที่สุดสนามหนึ่งในชีวิต ผมคิดว่าผม crack the code of iron distance triathlon แล้ว ความสมดุลย์ของการฝึกซ้อม แข่งขัน เตรียมตัว ชีวิต และครอบครัว ยืนยันได้อย่างมั่นใจอีกครั้งว่า ไอรอนแมน แม้จะไม่ง่าย แต่ใคร ๆ ก็ทำได้ แม้ไม่เข้าตารางซ้อม เพียงแต่ต้องมี minimum requirements ที่เหมาะสมเพียงเท่านั้น สุดท้ายทั้งหมดนี่เป็นส่วนหนึ่งของความประทับใจในรายการ เพื่อเป็นการยืนยันว่า ปีหน้าพบกันใหม่ครับ Challenge Roth : We are triathlon

 

 

 

 

Ironman Langkawi ForZuri Episode II : ไม่หมู แต่ทุกคนทำได้

ขาผมหนักเหลือเกิน ท้องไส้ปั่นป่วนพะอืดพะอม กินอะไรไม่ลงแม้แต่น้ำก็ไม่อยากจิบ ผมแทบวิ่งไม่ได้เลยมากว่าสิบกิโลแล้ว เวลาที่คาดว่าจะเหลือเฟือกลับดูน้อยลงทุก ๆ ที ทุกครั้งที่นั่งพัก แทบจะไม่สามารถลุกขึ้นโดยไม่หน้ามืดได้อีก ผมหนาวและดูเหมือนว่าร่างกายจะเริ่มควบคุมอุณหภูมิไม่ได้ ขนลุกซู่ไปทั้งตัว ผมเดินผ่านมาที่จุดที่พบกับลูก ๆ ของผมในรอบที่แล้วแต่ไม่เจอพวกเขา กำลังใจผมอ่อนลง กำลังกายผมร่อยหรอลงทุกที ผมใช้เวลามาแล้วเกือบ 4 ชั่วโมง ตอนนี้ผมเพิ่งได้ระยะมา 17 km เท่านั้น เหลือเวลาอีกเพียง 3 ชม. กับอีก 25km แต่ผมต้องหาที่ล้มตัวลงนอนสักพักแล้วค่อยว่ากันใหม่ แล้วผมหลับไปไม่แน่ใจว่านานเท่าไร Medic เข้ามาดูอาการของผมและได้ทำการปฐมพยาบาลอาการ dehydrate เบื้องต้นแล้วกำชับให้ผมนอนพักต่อไป สักพักเมื่อผมสามารถประคองตัวลุกนั่งได้ ผมก็ตัดสินใจบอกกับ Medic ว่าผมต้องการ DNF

10384459_946104222073330_6550812990853246579_n

ผมได้พบกับคำว่า DNF ครั้งแรกในชีวิตนักกีฬายี่สิบกว่าปีของผมที่นี่ในปี 2014 ผมกลับมาในปี 2015 ไม่ได้มาเพื่อแก้แค้น ล้างตา แต่เหมือนเป็นหน้าที่ ที่ต้องไปได้ยินคำว่า You are an IronMan สักครั้ง หลังจากที่ DNF ครั้งแรกนั้น ผมกลับบ้านมาพร้อมกับความรู้สึกว่าไอรอนแมนนั้นเป็นระยะที่ไม่น่าเล่น เนื่องจากการซ้อมที่ยาวนานหนักหน่วงเกินความสนุกที่เคยเป็น แต่หลังจากที่ผมได้ยินประโยคทองที่ใคร ๆ ต้องการได้ยิน ความคิดของผมก็เปลี่ยนไป ผมจะมาเล่าให้ฟังว่าทำไม และถ้าใครต้องการได้ยินประโยคนี้ ผมมีคำแนะนำให้ และถ้าใครยังไม่มั่นใจ Add Facebook ผมไว้ได้ ยินดีให้คำปรึกษา ถ้าต้องการเพื่อนบ้าพลัง ก็เข้ากลุ่ม Very Forty เอาไว้ แม้ว่าเราจะไม่ใช่ทีมไตรกีฬาแต่กิจกรรมบ้าพลังเราทำกันอย่างสม่ำเสมอครับ

ทำไมผมถึงเชื่อว่าใครก็ทำได้ จริง ๆ แล้ว ผมเชื่อแบบนั้นมาตลอด แต่การที่จะพูดแบบนั้นโดยที่ยังไม่เคยทำสำเร็จอาจจะเป็นการดูถูกความสำเร็จของผู้อื่น ยิ่งไปกว่านั้นผมทำไม่สำเร็จในครั้งแรกของผม ผมจึงรอให้ผมทำสำเร็จก่อน แม้ว่าผมจะต้องใช้เวลาถึงสองปี สองครั้ง กับหนึ่งความผิดหวังก็ตาม ผมยังเชื่อว่าถ้าหากมีการเตรียมตัวที่เหมาะสม ได้รับคำแนะนำที่ถูกต้อง ไอรอนแมนนั้นไม่ใช่เรื่องยากเลย อยากแนะนำให้ทุกคนนอกจากมาลองไตรกีฬาแล้ว ได้ลองระยะไอรอนแมนสักครั้งในชีวิต จะสร้างพลังให้กับคุณอย่างเหลือเชื่อแบบไม่ต้องเสียเงินไปปลุกยักษ์ที่ไหนอีก

12227619_1693079797581646_1361076560909368855_n

ผมวางแผนสำหรับไอรอนแมนครั้งที่สองนี้อย่างมีระบบ แต่เลือกที่จะใช้แผนการซ้อม 16 สัปดาห์เหมือนเดิม ซึ่งมีงานปูพื้นก่อนซ้อมหลักที่ดีกว่าเดิมนิด ๆ ผมลดกิจกรรมโหด ๆ ทั้งหมด ต่างจากปีที่แล้วที่มีรายการมหาโหดหลายรายการต่อเนื่องกัน เหลือเพียงแค่ จอมบึงมาราธอนตอนต้นปี ห่างจากรายการแข่งขันถึงเกือบปี ฮาร์ฟมาราธอนอีกหนึ่งครั้ง ช่วงวันแม่ ผมไม่แข่งรายการใด ๆ เลย มีการปั่นออแดกซ์ 300, 400 อย่างละหนึ่งครั้ง 600 หนึ่งครั้ง และ ปั่น 1200 อีกหนึ่งครั้ง ทั้งหมดเกิดขึ้นก่อนเดือนมิถุนายน เพื่อปูพื้นสำหรับการซ้อมที่จะมาถึง ในช่วงซ้อมผมวางแผนการแข่งขันระยะ 70.3 เอาไว้หนึ่งครั้งในช่วงกลางของแผนการซ้อม ในปีนี้ผมวางแผนลงไตรกีฬาเพียงสองรายการนี้เท่านั้น เพราะในช่วงที่ผมสมัครนั้น ผมมีความรู้สึกเบื่อกีฬาประเภทนี้ เพราะเล่นมายาวนานถึง 25 ปี ในใจคิดว่านี่จะเป็นรายการรองสุดท้ายที่ผมจะแข่งขันแล้วไปหาอย่างอื่นเล่นต่อไป

ผมวางแผนทุกอย่างมาเป็นอย่างดี แต่ไม่น่าเชื่อว่าสิ่งต่าง ๆ ที่ผิดแผนนั้น ทำให้ผมเข้าใจกลไกของไอรอนแมนมากขึ้นและกล้าที่จะบอกว่าทุก ๆ คนทำได้ หลังจาก DNF ครั้งแรกที่ลังกาวี ผมก็ DNF ครั้งที่สอง เมื่อวางแผนปั่น 1200 กม ภายใน 90 ชม. ผมปั่นจากกรุงเทพ มาสิ้นสุดที่พัทลุงก่อนเข้าหาดใหญ่ ได้ระยะทางไป 821 กม. ใช้เวลาไปประมาณ 65 ชม. ต้อง DNF ที่มีทั้ง Dehydrate ความบอบช้ำของกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ตั้งแต่คอเรื่อยลงมาจนปลายเท้า ผมมา DNF ครั้งที่สาม ตอนปั่น 600 ที่เกิดจาก Sleep Deprevation, Dehydrate, Bonk ปั่นไปได้เพียง 320 กว่ากิโล รวมจากการ DNF ครั้งแรกที่เกิดจาก Dehydrate และ Bonk  ในลังกาวีปี 2014 นั่นเอง ผมจึงมีประสบการณ์ตรง และเข้าใจความสำคัญของเรื่อง Fuel, Hydration มากขึ้น ผมทำการศึกษาเรื่องราวเหล่านี้มากขึ้นอย่างมาก เพราะผมเชื่อว่ากุญแจสำคัญของการเอาชนะการแข่งขันในระยะแบบนี้คือ น้ำและพลังงาน เป็นสำคัญ แล้วผมจะมีคำแนะนำสำหรับผู้ที่เริ่มสนใจความท้าทายของการเป็นไอรอนแมนนี้ว่าอย่างไร

11168149_1068580806516068_2985408457971295557_n-2

คำแนะนำที่หนึ่งของผม คือ ถ้าคุณต้องการเอาชนะไอรอนแมนให้ได้นั้น แม้ว่าจะไม่จำเป็น แต่ผมแนะนำเลยว่าคุณควรที่จะมีประสบการณ์ในระยะเดี่ยว ๆ ของไอรอนแมนมาก่อน ไม่ต้องห่วงเรื่องความเร็ว ไม่ต้องสนว่าสภาพหลังแข่งจะเป็นอย่างไร คุณควรจะมีประสบการณ์ว่าระยะที่ว่านี้คุณทำได้มาแล้ว ในแต่ละกีฬา เวลาประมาณเท่าไร ความรู้สึกเหนื่อยประมาณไหน กล้ามเนื้อล้าประมาณไหน ให้พอคุ้นเคยกับมัน ซึ่งในวันแข่งจริงจะช่วยลดความเครียดของการทำครั้งแรกในแต่ละ discipline ไปได้ คงเหลือไว้แต่ความตื่นเต้นของการเอาแต่ละ discipline มาต่อ ๆ กัน

คำแนะนำที่สอง คือ แม้ว่าผมจะใช้ตารางซ้อม 16 สัปดาห์ หรือ 4 เดือน แต่การเตรียมตัวเพื่อเข้าตารางของผมนั้นค่อนข้างเข้มข้น ขาดเพียงความสม่ำเสมอ สำหรับคนอื่น ๆ ที่อาจจะไม่ได้ใช้ชีวิตทั้งชีวิตไปกับการซ้อมเรื่อยๆ แบบผมนั้น ผมแนะนำให้มองการเตรียมตัวเป็น 6-9 เดือน จึงจะเหมาะสม โดยช่วงเดือนแรก ๆ เป็นการสร้างพื้นฐาน นั่นหมายถึงระบบ Cardio และ กล้ามเนื้อที่เหมาะสมสำหรับแต่ละกีฬา ในขณะที่ความเข้มข้นของ 4 เดือนหลังนั้น เป็นการยกระดับ Cardio และกล้ามเนื้อให้พร้อมกับการรับการทดสอบการเป็นมนุษย์เตารีด ด้วยความสม่ำเสมอและระยะทางที่นานขึ้น ตารางซ้อมที่ผมใช้นั้น เฉลี่ยแล้วสัปดาห์ละ 10 ชม. มีช่วงกลาง ๆ ของตารางที่เป็นช่วงเข้มข้นก็จะหนักไปถึง  15 ชม. สัปดาห์ที่ผ่อน ๆ ก็จะประมาณ 6-8  ชม นั่นหมายความว่าผมซ้อมเฉลี่ยวันละ 1-2 ชม. เท่านั้น ระยะทางที่ยาวที่สุดที่ซ้อม ว่ายน้ำก็ 3.8 km จักรยาน 150 km และวิ่ง 30 กม. เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ผมมีรายการมาราธอนมากก่อนหน้านี้ และมีการปั่นออแดกซ์ 200 อยู่เรื่อย ๆ

11034041_1068241929883289_1190114121439582096_n

ถ้าหากว่าคุณทำได้เพียงสองข้อนี้ คุณก็จะเป็นไอรอนแมนได้อย่างแน่นอนครับ ผมรับรอง ถ้าคุณสามารถจัดการกับการกินน้ำและอาหารได้อย่างสม่ำเสมอในช่วงปั่น และอย่างน้อย ๆ 3 ใน 4 ของการวิ่ง ความหนักหน่วงของไอรอนแมนสำหรับคนที่ไม่คุ้นเคย มันอยู่ที่การฝึกซ้อม ความต่อเนื่อง ความยาวนานของตารางซ้อมในบางวัน สำหรับใครที่ทำเป็นครั้งแรกนั้น ผมยืนยันได้เลยว่าจะเป็นเหมือนกับผมในปีแรก นั่นคือ รู้สึกได้เลยว่าไอรอนแมนไม่ใช่ระยะที่น่าเล่น เพราะต้องการความทุ่มเทมากเกินความพอดี แต่ถ้าหากได้มีโอกาสทำมันในครั้งที่สอง ความรู้สึกก็จะเปลี่ยนไป ว่ากันว่าจริง ๆ แล้วคำว่าไอรอนแมนมันเกิดขึ้นที่ช่วงเวลาของการฝึกซ้อม วันแล้ววันเล่า อย่างสม่ำเสมอ ส่วนในวันของการแข่งขันนั้น เป็นช่วงเวลาของการเฉลิมฉลอง ความสุข ความยิ่งใหญ่ของการเฉลิมฉลองนั้นจะมากมายเพียงใด ก็ขึ้นกับช่วงเวลาซ้อมที่คุณได้เตรียมมา

คราวนี้เราลองมาดูกันว่าเมื่อคุณมีการเตรียมตัวที่ดี เหมาะสมแล้ว ในวันเฉลิมฉลองของคุณนั้น คุณควรจะวางแผนอย่างไร อย่าลืมว่าสิ่งที่ผมกำลังจะเล่าสู่กันฟังนี้ คือ การนำตัวเองก้าวข้ามเส้นชัย วิ่งถือธงชาติ ชูมือขึ้นฟ้า เฉลิมฉลอง ประโยคที่ว่า You are an Ironman. ไม่ใช่แผนเพื่อจะติดอันดับ Age Group หรือ qualify ไป Kona ดังนั้น แผนการทั้งหมดเราจะเล่นกันฝั่งที่เรียกกันในภาษาออแดกซ์ว่า Redline Specialist เรามีเวลา 17 ชม. ว่ายกับปั่น 10:30 ชม. ว่ายเดี่ยว ๆ 2:20 ชม. แล้วเราควรจะวางแผนจัดการกับมันอย่างไร นี่คือวิธีคิดแบบ Audax Redline Specialist อย่างผม

ผมมีคำแนะนำง่าย ๆ เช่นนี้คือ ว่ายน้ำ 2 จักรยาน 8 วิ่ง 7 รวมกันเป็น 17 พอดี เวลา T1 T2 ก็แอบอยู่ในพวกนั้นแหละ รวม ๆ แล้วไม่เกิน 0.5 ชม. ใจเย็น ๆ ได้ แต่ทรานสิชั่นละ 15 นาทีถือว่ากำลังดี เวลาที่ผมเสนอนั้นเป็นความเร็วพื้น ๆ ที่ใคร ๆ ก็ทำให้ อาจจะมีบวกลบเล็ก ๆ น้อย ๆ ขึ้นกับความถนัดหรือไม่ถนัดในแต่ละกีฬาของแต่ละคน แต่เวลารวมอย่าเกิน 17 ว่ายน้ำอย่าเกิน 2:20 และ รวมไปจนปั่นเสร็จอย่าได้เกิน 10:30

12249942_1068242049883277_4195824912588518452_n

ในการเดินทางไปแข่งขันนั้น ควรจะเดินทางไปถึงอย่างน้อยสองวันล่วงหน้า ซึ่งจริง ๆ แล้วทางผู้จัดก็จะบังคับให้มาลงทะเบียนในสองวันล่วงหน้าอยู่แล้ว และมีเวลาอีกหนึ่งวันที่จะ brief สำรวจเส้นทาง bike check-in และ bags check-in ผมมีคำแนะนำสำหรับผู้ที่ไม่ถนัดกีฬาบางประเภทให้ทำการสำรวจเส้นทางกีฬาประเภทนั้น ๆ เอาไว้ เช่น ว่ายน้ำเป็นอุปสรรค ก็ควรจะจัดเวลาไปว่ายซ้อมสนามจริงที่ผู้จัดมักจะจัดเวลาซ้อมไว้ให้อยู่แล้ว ถ้าเป็นจักรยานก็อาจจะขน หรือ ปั่นไปลองสัมผัสเขาบางเขาที่คิดว่าสำคัญ ถ้าเป็นไปได้ ผมไม่ค่อยเชื่อในการนั่งรถดูเส้นทาง เพราะรู้สึกว่ามันไม่ช่วยให้รู้สึกว่าเส้นทางมันเป็นเช่นไร ผมเอาเวลานั้นมาวิ่งหรือปั่นเบา ๆ โดยไม่สำรวจเส้นทางจะยังดีเสียกว่า การโหลดคาโบร์ ก็โหลดล่วงหน้าประมาณสัปดาห์นึงหรือน้อยกว่า ไม่ควรจัดอะไรพิสดาร ก็แค่เพิ่มส่วนที่เป็นแป้งในอาหารหลักก็น่าจะพอ เลือกขนมที่เป็นแป้ง ๆ เช่น ขนมปังปิ้ง ขนมปังสังขยา อะไรพวกนี้เพื่อเสริมแป้งนอกเวลาอาหารอีกส่วน เดินทางไปแข่งต่างประเทศก็ระวังอาหารที่กินก่อนช่วงแข่ง อย่าเพิ่งทดลองอาหารประหลาด เพราะเราไม่อยากมีปัญหาท้องไส้ก่อนการหรือระหว่างการแข่งขัน ซ้อมเบา ๆ ทุก ๆ วัน หรือใช้การซ้อมเป็นการสำรวจเส้นทางแข่งขันไปในตัว ในคืนวันแข่งขันให้จัดของให้เรียบร้อย ทำ ritual ต่าง ๆ ให้ดี ส่วนใหญ่เราต้องตื่นตีสี่ ถ้าเป็นไปได้ให้นอน 2-3 ทุ่มเพื่อให้ได้ 8 ชม. แต่นอน 5-6 ชม. ก็ไม่ใช่ปัญหาสำหรับผม

เช้าวันแข่งขันตื่นมากินมื้อเช้า 2-3 ชม. ก่อนการแข่งขัน เน้นแป้ง หลากหลายรูปแบบ กินน้ำเยอะ ๆ รอเวลาให้ขับถ่าย ซึ่งมักจะใช้เวลาไม่นานนัก แล้วออกเดินทางไปจุดเริ่มต้น เพื่อไปสำรวจจักรยาน ถ้าเป็นไปได้ให้ยกลงมาปั่นเล็ก ๆ น้อย ๆ สำรวจการทำงานของเกียร์ ติดตั้งน้ำและอาหารเสริมบนรถ ตามที่ได้วางแผนหรือซ้อมมา ผมไม่ได้เตรียมอาหารเสริมอะไรในคราวนี้ มีเพียงกระติกน้ำบรรจุแกเตอเรดสองกระปุกที่นำติดตัวมาเท่านั้น ผมสูบลมให้แน่นขึ้น เพราะปล่อยลมออกเล็กน้อยในช่วง Bike Check-in เพราะความเสี่ยงในการทิ้งจักรยานตากแดดไว้นาน ๆ คือ ยางระเบิด ดังนั้นขั้นตอนแรกในการกลับมาคือสำรวจว่าเกิดขึ้นกับจักรยานของเราหรือไม่ บรรจุทุกอย่างเรียบร้อยแล้วก็นำ Bags ต่าง ๆ ไปฝากเพื่อจะได้พร้อมในการทำกิจกรรมอื่น ๆ ต่อ ๆ ไป เราควรจะกินน้ำเรื่อย ๆ ในช่วงนี้ คราวละครึ่งแก้วเพื่อสะสมน้ำในระบบ ในการว่ายน้ำสองชั่วโมงนั้นเราจะไม่มีโอกาสได้ดื่มน้ำเลย เราจึงต้องดูดเข้าระบบเอาไว้ โดยปกติแล้ว ผมจะซื้อแกเตอเรดมา 4 ขวดในตอนกลางคืน เปิดใส่กระปุกเอาไว้ซึ่งจะใช้ประมาณเกือบ ๆ สามขวด ผมจะดื่มส่วนที่เหลือให้หมด พร้อมกับบางส่วนของขวดที่ 4 และดื่มขวดที่ 4 ให้หมดหลังตื่นนอนพร้อมกับอัดขนมปังไปสักสองสามแผ่น ก่อนที่จะหาอาหารเช้ากินเป็นเรื่องเป็นราว หลังจากนั้นก็ถือขวดน้ำขวดนึงค่อย ๆ เดิมไปเรื่อย ๆ ในเวลา 2 ชม. ที่เหลือก่อนแข่ง พอฝากถุงทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว ส่วนใหญ่ก็จะได้เวลาไปปลดปล่อย หลังจากนั้นก็จะมีเวลาที่จะวอร์มอัป แต่ในระยะไอรอนแมน ผมไม่ค่อยเห็นประโยชน์ของการวอร์มอัปมากเท่าไร เพราะระยะเวลาการแข่งขันมันยาวนานมาก ผมวางแผนที่จะใช้ว่ายน้ำช่วงแรก ๆ เป็นการวอร์มอัป

12247158_1234060123277737_8536027418264730672_n

ในรายการไอรอนแมนนั้นจะมีความพิเศษกว่าระยะอื่น ๆ คือ เราจะมีโอกาสเตรียมสิ่งของพิเศษที่จะมาคว้าไปใช้ได้ ในช่วงปั่น และช่วงวิ่ง ที่เรียกว่า Specia Needs Bags ซึ่งในคู่มือก็แนะนำว่า อาจจะเป็นวาสลีน ครีมนวด หรือ อาหารพลังงานพิเศษที่เตรียมไว้ ในปีที่แล้ว ผมเตรียมอาหารประเภทขนมปัง และวางแผนที่จะมาคว้าในรอบที่สองของการแข่งขัน แต่ในปีนี้ผมมีแผนที่แตกต่างกัน ผมเตรียมสเปรย์ อาหารเสริมเป็นข้าวต้มมัด และ พาวเวอร์บาร์สองอัน สำหรับการปั่นจักรยาน และคว้ามาเก็บไว้ในทันทีที่เริ่มปั่น ส่วนสำหรับวิ่ง ผมก็มีอาหารอีกชุดเป็นข้าวต้มมัดเช่นเคย เสริมด้วยฝอยทอง และสเปรย์อีกขวด (กันหมด) และก็คว้าในรอบแรกของการแข่งขันเช่นเดิม ซึ่งผมรู้สึกว่า Special needs bags ที่ผมจัดในรอบนี้ ทั้งสิ่งที่เตรียมมาและการคว้ามาใช้ในทันทีในรอบแรกที่ผ่านเข้าไป มีส่วนเป็นอย่างมากที่ทำให้ผมพิชิตมนุษย์เตารีดครั้งนี้ได้ ทั้งนี้เนื่องจากได้รับอาหารที่เราเลือกมาเอง เป็นอาหารที่ช่วยกระตุ้นความอยากอาหารอื่น ๆ (อร่อยกว่าเจล) และการมีสเปรย์ติดตัวไว้ใช้ตลอดเวลาก็เป็นประกันที่ดี ซึ่งผมได้เอาออกมาใช้หลายต่อหลายครั้งทั้งในช่วงปั่นและวิ่ง

ในการแข่งขัน ผู้จัดจะให้ประเมินเวลาการว่ายน้ำในใบสมัครเพื่อที่จะจัดสีหมวกกำหนดช่วงเวลาปล่อยตัว การปล่อยตัวเป็นแบบปล่อยทีละกลุ่มย่อย ๆ 4-5 คน ที่เรียกว่า Rolling Start ไม่ใช่ Mass start ที่จะปล่อยวิ่งลุยกันเป็นกลุ่ม ซึ่งจะทำให้ลดความเครียดและเกิดความปลอดภัย ผมแนะนำให้ลงเวลาประเมินตามจริง เพื่อที่เราจะได้ว่ายร่วมกับกลุ่มที่มีความเร็วใกล้เคียงกัน ลดปัญหาปลาตีน การโดนทุบ ถ้าว่ายน้ำเป็นกีฬาที่ไม่ถนัด ผมแนะนำให้เริ่มคนแรก ๆ ของ wave ที่เราเลือก เพื่อที่จะได้เวลา cut off ที่ไม่มีความเสี่ยง ผมคิดว่าวิธีที่ดีที่สุดสำหรับการว่ายน้ำในรายการไอรอนแมนคือระบบ Total Immersion การว่ายโดยเน้นการใช้แขน การ Glide และติดไปในทาง low cadance มีการใช้ขาค่อนข้างน้อย ใช้เพื่อทรงตัว และ roll body เท่านั้น การว่ายน้ำแบบนี้จะช่วยให้ได้ความเร็วจากประสิทธิภาพของการดึงแขน การบิดตัว และการ  Glide มากกว่าการใช้พลังงานทุกสัดส่วนของวิธีการว่ายน้ำรูปแบบอื่น ๆ  ระยะทาง 3.8 km ในเวลา 2 ชม. เราต้องการ pace 3:00 ต่อ 100 เมตรเท่านั้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่เหลือบ่ากว่าแรง ว่ายความเร็วนี้น่าจะไม่เกินโซน 2 หรือ 3 ต้น ๆ ค่อนข้างปลอดภัย กล้ามเนื้อที่ใช้เน้นการใช้แขน มีเตะขาตามจังหวะ ซึ่งจะประหยัดพลังงาน และแรงขาเป็นอย่างมาก ในวันแข่งจริง ๆ นั้น ผมว่ายประมาณ 2:00 ต่อ 100 เมตร ทำให้เวลาจบจริง ๆ เพียง 1:20 ชม. แบบไม่ค่อยเหนื่อย ผมมีเวลา spare ไว้แล้ว ครึ่งขั่วโมงจากที่วางแผนไว้ แต่สำหรับมือใหม่หัดว่ายอาจจะได้ประมาณ 2 ชม.บวกลบนิดหน่อย ซึ่งรวม T1 ไป 15 นาทีก็กินเวลาปั่นไปไม่มากนัก

1182_006142

ในการซ้อมว่ายน้ำถ้าจะเอาง่ายที่สุดสามารถว่ายยาว ๆ 1500, 2000, 3000 หรือ กำหนดเป็นเวลา 1, 1.5, 2 ชม เอาก็ได้ เน้นฟอร์ม โฟกัสการใช้แขนให้ดี (คำแนะนำสำหรับมือใหม่ทางการว่ายน้ำจริง) ถ้าอยากให้ดีขึ้นก็นับจำนวนแขน พยายามให้น้อย ๆ และคงที่ ถ้าเริ่มเยอะก็โฟกัสท่าทาง การจับน้ำดี ๆ ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ เวลาก็จะดีขึ้นเอง ส่วนใครที่เริ่มว่ายน้ำเก่งแล้วก็อาจจะหาคอร์ทมาลอง มันสปรินท์บ้างไรบ้างแก้เบื่อ ในเวลาแข่ง ผมเลือกที่จะใส่ชุดไตรเต็มตัว เพราะเวลาถ่ายรูปจะดูสวย เพราะเมื่อปีที่แล้วใส่เฉพาะกางเกงแล้วมันดูไม่ค่อยดี และเมื่อมา T1 ก็เปลี่ยนชุดซึ่งผมก็แนะนำให้เปลี่ยนไปใช้ชุดจักรยานทั้งชุดไปเลย กางเกงดี ๆ ที่พร้อมรับงานหนัก 180 กม. เสื้อจักรยานที่มีกระเป๋าหลังเอาไว้ใส่ของกิน บางครั้งกระบอกน้ำ และสเปรย์ เสื้อผ้า หมวก แว่น และอื่น ๆ จะถูกเตรียมไว้ใน Bike Bag มีเพียงรองเท้าที่มีให้เลือกว่าจะติดไว้กับจักรยานหรือเอามาใส่พร้อม ๆ กับเครื่องแต่งตัวอื่น ๆ ผมแนะนำให้เอามาใส่พร้อมกันไปเลย ผมรู้สึกว่าจากการว่ายน้ำมา 1.5-2.0 ชม. แล้วการใส่รองเท้าแล้วค่อย ๆ ประคองตัวออกไปเรื่อย ๆ ไม่รีบเร่งนัก จะช่วยเป็นการเตรียมตัวที่ดีสำหรับการปั่นที่จะตามมา แทนที่จะรีบเร่งวิ่งเท้าเปล่าออกไป หาจักรยานแล้วใส่รองเท้าบนจักรยาน เพราะนอกจากจะดูไม่จำเป็นแล้ว ยังต้องมาตระเตรียมการแขวนรองเท้า รัดหนังยาง หรือเสี่ยงกับรองเท้าหลุดจากบันไดตอนเข็น ไม่ค่อยคุ้มกัน แต่ถ้าการแข่งระดับโอลิมปิกหรือ 70.3 ที่มีระยะว่ายน้ำสั้นกว่านี้มาก อาจจะเตรียมตัวแตกต่างกัน

เมื่อถึงเวลาปั่น เรามีเวลาอีก 8 ชม. ในการจัดการ 180 km. ซึ่งคิดเป็นความเร็วเฉลี่ย 22 เท่านั้น ถือว่าช้ามาก ๆ และทุกคนน่าจะจัดการได้อย่างไม่เป็นปัญหา เวลามีบวกลบเล็กน้อยขึ้นกับผลของการว่ายน้ำ และการใช้เวลาในการแต่งตัว โดยมากแล้วความเร็วนี้ทุก ๆ คนสามารถเลี้ยงตัวเองในโซนสองได้โดยไม่ยาก ซึ่งทำให้ประหยัดพลังงาน กินอาหารง่าย เก็บแรงขาไว้สำหรับมาราธอนที่จะตามมาได้ สำหรับผมนั้น ปีนี้ผมวางแผนไว้ 7:30 ชม เพราะปีนี้ความแข็งแรงผมเพิ่มขึ้น ผมรักษา power zone 2 ไว้ได้ที่ความเร็วประมาณ  25-28 แม้ว่า HR ในช่วงท้าย ๆ จะมีอาการ drift ขึ้นไปโซน 3 บ้างแต่ก็ไม่ใช่เรื่องน่ากังวล การรักษา HR ไม่ให้  drift เลยนั้น ต้องอาศัยฐานที่แกร่งมาก ๆ ซึ่งยังไม่ถึงกับจำเป็นในงานไอรอนแมนนี้

11058086_1233526099997806_2028243179698462793_n

อีกเทคนิคที่ผมใช้คือ ผม spin ทุกครั้งที่เป็นการขึ้นเขา เพื่อเก็บแรงขา โดยทั่วไปแล้ว จานหน้า Compact กับเฟืองหลัง 11-28 ก็เพียงพอกับสนามลังกาวี เพราะเราต้องการ power สูงที่สุดประมาณ 180 วัตต์ในการไต่เขาทุกเขาที่มี แตกต่างกันเพียงแค่บางเขาต้องลากนานหน่อยเท่านั้น ซึ่งในการซ้อมคุณควรที่จะมีการตระเตรียมสถานการณ์แบบนี้เอาไว้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นการปั่น Zone 3 ลากยาว ๆ แล้วพักแล้วลากต่อ Zone 4 ยาว ๆ 10, 15, 20 นาที เหมือนการทำการทดสอบ FTP  หรือสปรินท์ VO2Max สั้น ๆ สองสามครั้ง ก่อนสิ้นสุดการปั่นยาว ๆ  การซ้อมประเภทนี้ จะทำให้เกิดความคุ้นเคยกับการดึง HR ไประดับสูง ๆ แล้วอดทนให้ได้เวลาตามต้องการ รวมไปถึงจะช่วยเพิ่มกำลังขา FTP ที่จะมีประโยชน์ในการลากยาวเขาที่มีความชันสูงและค่อนข้างยาว สิ่งที่สำคัญคือ คุม HR ให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ลุกขึ้นปั่นถ้าไม่จำเป็น จับ Hood หรือ Bar ยืดตัว หายใจให้เต็มปอด ใช้แขนดึงสลับซ้ายขวากับจังหวะกดขาเพื่อสร้าง leverage ถ้ากำลังขาเริ่มไม่พอ ก็ลุกขึ้นยืน ทิ้งน้ำหนัก 2-3 จังหวะแล้วนั่งลงใหม่ ในการซ้อมนั้นจริง ๆ แล้ว ผมแนะนำให้ซ้อมการยืนโยกแบบนี้บ่อย ๆ อาจจะทุกครั้งที่ขึ้นสะพาน เพื่อเสริมทักษะ ถ้าจังหวะการโยกดี HR จะเพิ่มขึ้นไม่มาก จะช่วยให้คุณพิชิตเขาได้มากขึ้นมาก เพราะถ้าหากคุณต้องลงเข็น เวลาที่เสียไปนั้นจะสูงมากและประเมินลำบาก อาจจะทำให้มีการผิดพลาดเกิดขึ้นได้ เรื่องการเตรียมตัวปั่นขึ้นเขาจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ไม่ใช่เรื่องของความภูมิใจ ขาแตะพื้นหรือไม่แตะพื้น กำลังขาที่ใช้ในการปั่นขึ้นแบบถูกวิธีนั้น แทบไม่ต่างกับการเข็นขึ้นโดยใส่รองเท้าจักรยานเลย แต่เวลาที่จะใช้นั้นมีความเป็นไปได้ที่จะแตกต่างกันในระดับครึ่งชั่วโมงขึ้นไป แต่สิ่งสำคัญคือคุณต้องไม่ blow HR จะถึงในระดับที่ใกล้เป็นลม เพราะนั่นหมายถึงคุณจะต้องใช้เวลาในการ recover ในช่วงลงเขา คุณจะไม่สามารถเร่งลงเขาได้ สมองทำงานช้าและบีบเบรคบ่อย ถ้าไม่ก็จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น

ความรู้สึกที่ควรเกิดขึ้นเมื่อถึงยอดเขาคือ ความสุขใจที่ผ่านพ้น สามารถหายใจตามปกติได้ คว้าน้ำขึ้นมาจิบได้ เปลี่ยนเกียร์เพื่อเตรียมลงได้ ไม่ใช่หมดจนไม่อาจจะทำอะไรได้ต้องปล่อยไหลลงไป ลืมแม้กระทั่งการเปลี่ยนเกียร์ จิบน้ำ นั่นหมายถึงคุณลาก HR สูงและนานเกินความสามารถ และการทำแบบนี้บ่อย ๆ แหล่งพลังงานคุณจะหมดอย่างรวดเร็วอาจจะมีใช้ไม่พอสำหรับการแข่งขัน ในการแข่งขันรอบนี้ผมเข้า food station ที่มีทุก ๆ 20 กม. ครบทุกอัน ผมเลือกที่จะรับ special need bag ตั้งแต่รอบแรกเพื่อที่จะรับอาหารที่ผมอยากกินมาใช้กินก่อน ต่างจากปีที่แล้วที่มารับรอบที่สอง การรับอาหารของตัวเองมากินก่อนแล้วจัดการเรื่องการกินอย่างรวดเร็วในตอนแรกนั้น ทำให้การกินเป็นเรื่องง่าย ผมกินอาหารทุก ๆ ครึ่งชั่วโมง ซึ่งเป็นข้าวต้มมัดแม่นภา และจิบแกเตอเรดไปเรื่อย ๆ ให้ได้กระปุกละประมาณ ชั่วโมง ผมเตรียมมาเพียงสองกระปุก และรู้ว่าผมจะไม่ได้รับมันอีก เนื่องจากในงานลังกาวีนั้น เขาแจก 100 Plus ซึ่งมีแก๊สด้วย ผมไม่สามารถกินแก๊สระหว่างแข่งขันได้ การรู้รสชาติและเตรียมแผนเพื่อรองรับ energy drink ที่แจกโดยงานแข่งขันก็เป็นกลไกที่จำเป็นต้องเตรียมให้ดี เนื่องจากในการซ้อมผมใช้แกเตอเรด สลับกับน้ำเปล่าเป็นหลัก ในรายการแข่งนั้น มักจะเป็นเครื่องดื่มประเภทอื่นซึ่งผมไม่สามารถใช้งานได้ ผมจึงต้องออกแบบการเพิ่มพลังงานเข้าไปชดเชยแทนแกเตอเรดซึ่งมีพลังงานประมาณ 100 cal  ที่ผมจะจัดเข้าไปให้ตัวเองทุก ๆ ชั่วโมง ในงานนี้ผมเลือกที่จะเข้ารับ กล้วย และเจลหนึ่งซอง บีบกินในทันทีแล้วตามด้วยน้ำ 1/4 กระบอก ผมเปลี่ยนน้ำสองกระบอกทุกครั้งที่เข้าจุดให้น้ำ (หลังจากที่ผมจัดการแกเตอเรดสองกระบอกแรกที่เตรียมมาหมดแล้ว) น้ำเย็นจะกระตุ้นให้มีการจิบบ่อยขึ้น และช่วยในการดูดซึมได้ดีกว่าน้ำอุ่น เมื่อระยะมันประมาณ 20 กม. ก็จะใช้เวลาประมาณ 45 นาทีต่อเจลหนึ่งถุง ระหว่างนั้นผมก็จัดการอาหารแข็งหนึ่งอย่าง ซึ่งรวม ๆ แล้วผมน่าจะได้รับพลังงานเพิ่มเข้าไปชั่วโมงละประมาณ 200-250 cal. ยกเว้นในช่วงแรกที่ผมกินอาหารแข็งทุกครึ่งชั่วโมงและเสริมด้วยแกเตอเรด รวม ๆ แล้วช่วงสองชั่วโมงแรกผมน่าจะได้พลังงานเข้าไป 300-400 cal. การรีบใส่อาหารในช่วงแรกนั้นช่วยผมได้มาก เพราะเมื่อระยะเวลาปั่นนานขึ้นเรื่อย ๆ ความเหนื่อยจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้น HR เริ่ม drift อัตราการกินน้ำและอาหารแข็งจะค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ ในบางคนถึงกับเหนื่อยจนกินไม่ลง แถมยังมีเรื่องความเสี่ยงของการปวดท้อง มวนท้องจากการย่อยอาหารไม่สะดวกเนื่องจากการออกกำลังกายอย่างหนักที่จะตามมาอีก ดังนั้นการเริ่มต้นด้วยการเร่งกินสำหรับผมนั้น ค่อนข้างได้ผลในคราวนี้ เพราะท้าย ๆ ของการปั่น ความสามารถในการกินของผมก็ลดลงเรื่อย ๆ อย่างที่คาดการณ์เอาไว้ แต่ไม่เป็นไรเพราะผมได้เตรียมการไว้แล้ว

1182_012598

การจัดสนามปั่นในปีนี้ถือว่าใจร้ายกว่าปีที่แล้ว เนินสามเนินสุดท้ายแม้จะไม่ได้ชันมากเวอร์ แต่ยาวและต่อเนื่องกันสามลูก กลับมาเจอที่ระยะประมาณ 155 กม. สภาพกำลังน่วม แม้ว่าจะไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่โตสำหรับผม แต่ก็เป็นปัญหากับหลาย ๆ คน ผมเจอคนจีนที่ปั่นนำหน้าเกิดตะคริวกินขาสองข้างจนต้องล้มตัวลงนอนพร้อมจักรยาน ร้องให้ช่วยโอดโอย ผมปั่นผ่านไปพร้อมกับถามตามมารยาท เพราะในใจคิดว่าตะคริวนั้นเพียงแค่พักสักพักก็จะหายได้เอง ผมตะโกนถาม “Are you ok?” เขาดันตะโกนกลับมาว่า “I’m not ok. Help me!” ซวยละผมกำลังกัดฟันอัดขึ้นไป เขาขอให้หยุดช่วย ทำไงได้ก็ต้องหยุดเพื่อช่วยเขา แต่พอหยุดเท่านั้น ผมก็หน้ามืด ผมพยายามยืนทรงตัวไม่ให้ล้ม แต่แล้วก็เกิดตะคริวที่ต้นขาทั้งสองข้างจนต้องยอมล้มตัวลงนอนไปข้าง ๆ คนจีนที่ผมจะช่วยนั่นเอง ผมล้วงเอาสเปรย์มาฉีด แล้วยื่นให้คนจีน ที่เริ่มลุกขึ้นกำลังจะขยับตัวออกไป เมื่อเขาฉีดเรียบร้อย ขอบคุณผมเล็กน้อยก็ลุกเข็นจักรยานขึ้นไป ผมเลือกที่จะยืดเหยียดสักพัก ฉีดสเปรย์อีกครั้งพร้อมกับนวดทั้งสองขาก่อนที่จะยกจักรยานขึ้นปั่น และแซงคนจีนคนนั้นไปก่อนที่จะถึงยอดเนิน ทุกครั้งที่ลงเนินเป็นความถนัดส่วนตัวของผม และส่วนใหญ่ทางลงไม่ได้คดเคี้ยวมากนัก ผมสามารถทำเวลาได้ค่อนข้างดี ความเร็วสูงสุดในคราวนี้ผมได้มาถึง  73 km/hr เลยทีเดียว

ในช่วงปั่นจักรยานนั้นผมเลือกที่จะพก power bar ที่เขาแจกมาไว้ด้วย แต่เลือกที่จะจอดกินข้างทาง เพราะมันต้องเคี้ยวแล้วกรอกน้ำตาม ผมจอดกินที่ระยะประมาณ 100 km ถือเป็น lunch break สำหรับผม เป็นการพักขา พักเท้า คลายเครียดที่เกินครึ่งทางมาแล้ว ระหว่างพักก็พบกับกองเชียร์ชาวสิงคโปร์ก็ได้คุยกันสนุกสนาน ก่อนที่จะออกตัวไปเพื่อจัดการ 80 km สุดท้ายของการปั่น ช่วงท้าย ๆ ผมเริ่มสวนกับเพื่อน ๆ ที่มาแข่งด้วยกันหลาย ๆ คน เวลาว่ายน้ำรวมปั่นของผมถือว่าค่อนข้างเร็ว แม้ว่าจริง ๆ แล้วจะไม่ได้เร็วนัก เพราะว่ายน้ำผมทำเฉลี่ยได้แค่ 2 นาที และผมจบการปั่นที่ 7 ชมพอดีเป๊ะ ความเร็วเฉลี่ยประมาณ 26.6 km/hr เร็วกว่าที่คาดไว้ครึ่งชั่วโมง เป็นผลให้กองเชียร์เด็ก ๆ ของผมมาช้าครึ่งชั่วโมงในทุก ๆ จุดที่ผมกำหนดเวลาไว้ให้ ก่อนเข้า T2 ผมถอดรองเท้าล่วงหน้าค่อนข้างนานเพื่อให้เท้าได้ผ่อนคลายเล็กน้อยก่อนที่จะต้องถูกใช้งานในอีกรูปแบบ ผมเลือกที่จะห้อยรองเท้าทิ้งไว้ที่จักรยานในช่วง T2 เพราะรู้สึกว่าการได้เดินเปลือยเท้าเข้ามาจะช่วยเตรียมสำหรับการวิ่งได้ดีกว่า

1182_022957

ผมเข้า  T2 แบบสบาย ๆ มีเวลาเหลือ 8 ชั่วโมงสำหรับมาราธอน ผมเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวอีกครั้ง ผมเลือกใช้เสื้อไตรกีฬารัดรูปในการวิ่ง กางเกงนั้นผมไม่ได้เปลี่ยนเพราะใส่ขาสั้นไตรกีฬาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ไม่ได้ใช้กางเกงจักรยานเต็มสูตร เนื่องจากในวันฝากกระเป๋าผมลืมเอากางเกงวิ่งที่กะจะเปลี่ยนมาใส่ถุง ทำให้ต้องใช้กางเกงไตรตั้งแต่การปั่นไปจนวิ่ง แต่ก็ไม่ได้ทำให้เกิดปัญหาอะไร การใช้เสื้อไตรกีฬาในการวิ่งนั้นมีประโยชน์หลายอย่างเมื่อเทียบกับเมื่อปีที่แล้วที่ผมใช้เสื้อวิ่งหลวม ๆ การใช้เสื้อฟิต ๆ นั้น สามารถทำให้อาหารและสเปรย์ที่ใส่ในกระเป๋าหลังไม่กระเด้งไปมาจนน่ารำคาญ และดูเหมือนว่าเสื้อรัดรูปจะระบายความร้อนได้ดีกว่า ในช่วงที่ผมต้องวิ่งนั่นคือ 4 โมงเย็น ถ้าเป็นเวลาบ้านเราคือ  3 โมงเท่านั้น แดดยังร้อนแรง การวิ่งรอบสนามบิน เป็นช่วงที่ทรมานน่าดู ปีนี้ผมออกวิ่งแบบสบาย ๆ ด้วยเพซ 6 นิด ๆ แบบไม่เหนื่อย แต่ผมกังวลว่าจะใช้พลังงานมากเกินไป จึงออกกฏให้เดินตลอดช่วงจุดให้น้ำทุก ๆ สองกิโล แต่ด้วยความร้อน HR ผมก็เริ่มลอยไปโซนสาม ผมจึงกำหนดกฏเกณฑ์ใหม่ซึ่งลอกมาจาก คุณนุ๊กแวนแกงค์ที่วิ่งเป็นเพื่อนผมเมื่อปีที่แล้วในรายการ CLP นั่นก็คือ เดินทุกครั้งที่มีร่ม แล้ววิ่งทุกครั้งที่มีแดด ผมใช้เกณฑ์นี้ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ สามารถควบคุม HR ให้ไม่เกิน 150 ได้ค่อนข้างตลอด เราต้องวิ่งรอบเส้นทางเดิมเป็นจำนวน 2.5 รอบ ผมใช้เกณฑ์นี้ไป 1.5 รอบ แล้วพบว่าผมเหลือเวลาอีกมากมายสำหรับ 17 km สุดท้ายของวันนี้ ผมทำได้ประมาณเพช 8 กว่า ๆ ผมคำนวณคร่าว ๆ ถ้าผมทำเพช 9 กว่า ๆ เกือบ ๆ 10 กับระยะทางที่เหลือ ผมก็จะจบที่เวลา 15 ชม. พอดี ๆ ในรอบสุดท้ายผมจึงปรับกลยุทธอีกครั้งเพื่อลดความเสี่ยง เพราะในตอนนี้ผมไม่อยากกินอะไรเท่าไรแล้ว มีจิบน้ำแก้วเดียว แตงโมหนึ่งซีกในทุก ๆ สองกิโล ผมรู้สึกว่ามันน่าจะไม่พอสำหรับการวิ่งเกินโซนสอง ผมจึงกำหนดไม่ให้ HR ของผมเกิน 140 ในช่วงท้ายของมาราธอน ส่งผลให้ผมแทบไม่สามารถวิ่งได้เลย ทันทีที่ก้าววิ่ง HR ก็โดดขึ้นอย่างรวดเร็ว เหมือนหยุดเดิน ก็ใช้เวลานานมากกว่าจะลดลงต่ำกว่า 130 ที่ผมจะเริ่มวิ่งอีกครั้ง แต่โชคช่วยที่มีฝนโปรยลงมาในช่วงสุดท้าย ความรู้สึกผมดีขึ้น ผมเปลี่ยนเป็นวิ่งทุกครั้งที่มีไฟสว่างและเดินเมื่อเจอความมืด หรือบางทีก็สลับกันไป วิ่งไปหาแสงไฟ แล้วเดินช่วงที่มีแสงไฟ ตามแต่ความรู้สึกของผม

มาราธอนครั้งนี้ถือว่าเป็นมาราธอนที่รู้สึกดีที่สุดของผม ผมไม่รู้สึกล้าขาเท่าใดนัก ที่ควบคุมไม่ได้คือ HR เท่านั้น แต่ผมก็พยายามคุมไม่ให้สูงเกินโซนสองในท้ายสุด เมื่อถึงระยะ 30 กม. เจ้านาฬิกาของผมก็ตายไป ผมไม่สามารถรับรู้ความเร็วและ HR อีกต่อไป ผมวิ่ง 12 km สุดท้ายด้วยความรู้สึก แต่ความรู้สึกส่วนใหญ่ของผมบอกให้ผมเดิน ผมวิ่งบ้างเล็กน้อยเวลาเจอผู้คน กองเชียร์ เวลาเงียบ ๆ เหงา ๆ มืด ๆ ก็เดินไปเรื่อย ๆ นับถอยหลัง 10, 8, 6, 4 จนในที่สุด 2 km ที่ผมกะไว้ว่าจะวิ่ง สุดท้ายผมก็ขี้เกียจ จะมาวิ่งอีกครั้งก็ช่วงเลียบหาดสุดท้ายระยะ 200 กว่า ๆ เมตรก่อนเข้าเส้นชัย แล้วผมก็กลายเป็นไอรอนแมนด้วยเวลารวม 15:02 ชม ใช้เวลาวิ่งไปประมาณ 6:20 ชม

CT1182_025322

น่าเสียดายที่ผมซ้อมวิ่งไม่ค่อยได้ระยะตามที่ตั้งใจ วิ่งยาวของผมได้ไปเพียง 27 กม. แบบไม่ต่อเนื่อง แต่ผมรู้สึกได้ว่าการใช้ชีวิตแบบ time on foot นั้นช่วยให้กล้ามเนื้อขาของผมแกร่งขึ้นมาก ความล้ามีน้อยมาก ผมใช้วิธีการวิ่งไป ๆ มา ๆ ตั้งแต่เช้าวิ่งไปกินข้าวเช้าวิ่งกลับ อาจจะเป็นระยะไปกลับเพียง 3 กม. บางวันก็อ้อม ๆ หน่อยได้ไป อีก 3 บางวันก็ได้รวม ๆ 8-10 กม. ช้า ๆ เป็นเพียงการ run commuting ไม่เชิงเป็นการซ้อมมากนัก ผมมีซ้อม tempo บ้างในช่วงแรก ๆ ของตาราง วิ่งยาวได้ประมาณ 20 กม ต่อเนื่องเท่านั้น การซ้อม brick ก็ค่อนข้างจำกัด เพราะหลังจากปั่นมายาว ๆ ภรรยาเริ่มหงุดหงิด พอเก็บจักรยานแล้วจึงไม่ค่อยกล้าออกไปวิ่งต่อ แต่ก็พยายามจัดวันวิ่งหลังวันปั่นยาว ซึ่งถือว่าช่วยได้ดีในปีนี้

ผมเช้าเส้นชัยมานวดที่เขาจัดไว้ให้ มีถังน้ำแข็งสำหรับแช่เท้า มีเจ้าหน้าที่มาช่วยเช็ดตัว นวดไหล่ให้ก่อน แล้วช่วยถอดถุงเท้ารองเท้า โดยไม่มีความรังเกียจเลยแม้แต่น้อย (เขาใส่ถุงมือ) ซึ่งเป็นความประทับใจหนึ่งของรายการนี้ เจ้าหน้าที่ในทรานสิชั่นช่วยเหลือเป็นอย่างมาก ช่วยเทของออกจากกระเป๋า ช่วยใส่เสื้อให้ในกรณีผมที่ใส่เสื้อรัดรูปสำหรับการวิ่ง ดึงเองไม่ค่อยลง หยิบโน่นนี่นั่นยัดกลับใส่ถุงให้ ไม่ว่าจะเป็นถุงเท้าเน่า ๆ หมวกเสื้อใช้แล้ว สร้างความประทับใจให้ผม ช่วยลดความเครียด สับสน งุนงง เนื่องจากความเหนื่อยล้าได้เป็นอย่างดี หลังจากรับบริการ sport massage แล้วซึ่งสบายมาก ๆ ผมก็ไปหาของกินซึ่งก็กินได้ไม่ค่อยมากนัก ผมพยายามหาพาสตา และซดซุปร้อน ๆ ชามใหญ่ ๆ รอจนหมอนกเข้าเส้นชัยมาห่างจากผมประมาณหนึ่งชั่วโมง หมอนกใช้เวลาวิ่งเพียง 5 ชม.เศษ ๆ เท่านั้น ทันทีที่เราเจอกันก็ทักกันทันทีว่า มันไม่ค่อยเหนื่อยเท่าไรเลย สบายมาก ๆ ยังต่อได้อีก ตามมาตรฐานของเผ่า V40 เรารู้สึกกันเช่นนั้น นั่นเป็นความรู้สึกแรก ๆ และเป็นความรู้สึกที่ผมต้องการจะบอกต่อ ชี้โพรง และเชิญชวน แม้ว่ามันไม่ได้เหนื่อยหนักโหดร้ายในวันเฉลิมฉลองของเรา แต่การได้สมัคร ซ้อมอย่างหนักหน่วงนั้น มันทำให้เราเป็นไอรอนแทนไปแล้ว ก่อนที่จะมีเฉลิมฉลอง ตีตราอีกครั้งที่สนามแห่งนี้ ผมเชื่อว่าใคร ๆ ก็เป็นไอรอนแมนได้ ตามที่ได้กล่าวเล่ามาข้างต้นนั่นเอง

12219347_1068985896475559_4930892196648334285_n

และในครั้งนี้ผมก็ได้จัดการระดมเงินบริจาค #ForZuri  เพื่อหอบริบารทารกแรกคลอด รพ.สงขลานครินทร์เช่นเคย โดยบริจาคเป็นนาที เวลารวมการแข่งขัน IronKids ของเด็ก ๆ และเวลาของผมวันนี้รวม 962 นาที ผมเองบริจาค 3 บาทต่อนาที เป็นเงิน 2886 บาท มีผู้ร่วมจิตศรัทธาครั้งนี้ ได้แก่ พี่ใหญ่พี่มิ๊กกี้ของเราเสนอมาถึง  10 บาทต่อนาที เป็นเงิน 9620 บาท ได้รางวัลอานบรูคซ์ไปครอง พี่ชมพู่สมทบ 1000 หมอนกสมทบ 1600 และพี่ป้อม ที่ทำเวลาไปได้ 13 ชม.นิด ๆ ร่วมมาอีก 3000 บาท รวมเป็นเงินประมาณ  18,106 บาท ครับผม หวังว่าบทความนี้จะทำให้ไอรอนแมนเข้าถึงง่ายขึ้นสำหรับทุกคน ถ้ามีอะไรให้ช่วยก็ยินดีครับ

 

HepB / Langkawi / PBP แด่ความพ่ายแพ้ที่ยิ่งใหญ่

เมื่อต้นปี 2014 ผมมีกำหนดเข้ารักษา Chronic HepB โดยการใช้ Interfuron ฉีดใต้ผิวหนังทุกสัปดาห์เป็นระยะเวลา 48 สัปดาห์ แม้ว่าจะมีกระแสฮือฮาอยู่ช่วงหนึ่งที่ว่า “ไวรัสตับอักเสบปี อันตรายกว่า เอดส์ 100 เท่า” มันไม่ใช่เรื่องที่ผมกังวลมากนัก แม้ว่าจะมีเพียง 10% ที่โรคตับอักเสบบีจะไม่สามารถรักษาตัวเองจนกลายเป็นเรื้อรังแบบที่ผมเป็น และแม้ว่าจะมีเพียง 10% ของผู้ป่วยเรื้อรังเหล่านั้นที่จะพัฒนาไปจนกลายเป็นมะเร็งตับในที่สุด หรืออย่างน้อย ๆ ต้องมีภาวะตับแข็ง ตับวายเมื่ออายุมากขึ้น สิ่งที่ผมกังวลมากที่สุดคือ การฉีดยา การเจาะตับ สำหรับคนที่กลัวเข็มเป็นชีวิตจิตใจ การที่จะต้องใช้เข็มยาว ๆ แทงสีข้างเพื่อเก็บตัวอย่างตับ การที่จะต้องฉีดยาเข้าบริเวณรอบสะดือ หรือต้นขาทุก ๆ สัปดาห์ เจาะเลือดจำนวนมากทุก ๆ เดือน เป็นเรื่องที่ทำให้ผมกังวลมากที่สุด อุบายเพียงอย่างเดียวที่ผมนึกออกในตอนนั้นคือ ผมต้องสร้างความท้าทายอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน เพื่อจะดึงจิตใจผมให้อยู่กับความท้าทายเหล่านั้น และปล่อยให้การรักษาดำเนินไปตามตารางของมัน ความท้าทายที่ผมกำหนดขึ้นคือ การแข่งขันไอรอนแมนลังกาวี และการเตรียมตัวเพื่อไปแข่งขัน Paris-Bret-Paris (PBP) จักรยานทางไกลที่มีระยะทางถึง 1200 กม.

Screen Shot 2558-06-29 at 10.54.52 PM

ในการแข่งขันไอรอนแมนลังกาวีนั้น ผมต้องเตรียมตัวซ้อมประมาณ 16 สัปดาห์ อย่างเข้มข้นเพื่อยกระดับจากระยะการซ้อม 60-80 km ไปเป็น 130-150 จากการวิ่ง 15-18 กม. ไปเป็น 25-35 กม. ในช่วงเวลา 16 สัปดาห์นั้น ในขณะที่ต้องค่อย ๆ เก็บ qulification และซ้อมเพื่อการปั่นจักรยานระยะไกลที่ผมไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน ที่ระยะทาง 200, 300, 400 และสุดท้ายคือ 600 กม. ให้ทันภายใน 1 ปี จะเห็นได้ว่าการมีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวผมเองอย่างมากมายเช่นนี้ ทำให้จิตใจผมแทบไม่มีเวลาเหลือที่จะโอดครวญกับกระบวนการรักษาต่าง ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นเลยแม้แต่น้อย ผมฉีดยาเข้าตัวเองเข็มแรก ก่อนการปั่นระยะทาง 200 กม. ครั้งแรกของผมจะเกิดขึ้นบนเส้นทาง BRM200 อยุธยา ในช่วงเข็มแรกนั้น ร่างกายกำลังปรับตัวทำให้เกิดไข้สูงตลอดคืน ร่างกายหนาวสั่น เกิดตะคริวทั่วตัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อไปจนวันแข่งขัน เข็มแล้วเข็มเล่า อาการต่าง ๆ ก็ทุเลาลงเรื่อย ๆ ผลการเจาะเลือดก็ดูดีขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่ร่างกายของผมอ่อนแอลงทุกที ๆ การแข่งขันในสาย Audax BRM ก็เข้มข้นขึ้นทุกที ๆ

img_5819

อาการทางร่างกายของผมเริ่มตั้งแต่การเบื่ออาหาร รสชาดปากเปลี่ยนไปอย่างมาก อาหารหลาย ๆ อย่างเค็มไปหมด จนแทบจะกินอะไรไม่ได้ น้ำหนักลด เหนื่อยง่าย เพลีย ย่อยยาก ท้องอืด ตับเป็นอวัยวะที่สำคัญและมีหน้าที่หลายอย่างมากกว่าที่ทุกคนจะเข้าใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับกีฬาอดทนที่ต้องการใช้พลังงานเป็นจำนวนมาก ต้องพึ่งพาการย่อยอาหาร การตูดซึมอาหารที่มีประสิทธิภาพที่เป็นหน้าที่โดยตรงของตับ ความท้าทายของผมมันมากขึ้นทุกวัน ทุกวัน แม้ว่าอาการเฉียบพลันที่เกิดจากการฉีดยาแทบจะไม่หลงเหลืออีกต่อไป BRM300 เขาใหญ่ ที่ระดับเม็ดเลือดแดง ระดับฮีโมลโกลบิน ผมลดลงเรื่อย ๆ เม็ดเลือดขาวก็โดนทำลายจนเข้าขั้นวิกฤติลงไปทุกที ผมผ่าน BRM300 อย่างฉิวเฉียด อย่างที่ผมได้บันทึกความประทับใจของประสบการการปั่นทางไกลแบบ Audax เอาไว้ก่อนหน้านี้แล้ว (กดเพื่ออ่าน)

img_6252

ในช่วงเข็มหลัง ๆ ของการรักษา อาการเฉียบพลันเรียกได้ว่าหายไปหมดแล้ว เหลือแต่เพียงแผลไหม้ตามรอบสะดือ และหน้าขาที่ถูกฤทธิ์ยาแผดเผาจนไหม้ดำ แต่อาการที่เปลี่ยนผมไปอย่างถาวรคือ ปริมาณเม็ดเลือดแดงที่น้อยลง ฮีโมลโกลบินที่น้อยลง ในการปั่นที่ความเร็วเดิม ๆ หัวใจผมต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อส่งออกซิเจนให้กับร่างกายให้ได้ในระดับเดิม HR ผมสูงขึ้นอย่างน้อย 10 bpm ในทุก ๆ กิจกรรม ผมจำเป็นต้องซ้อมทุกอย่างให้ช้าลง เพราะการทำงานที่ระดับ HR สูง ๆ น้ันสิ้นเปลืองพลังงานที่เป็นส่วนสำคัญในการกำหนดผลลัพธ์ของกีฬาอดทนอย่างไอรอนแมนที่ใกล้เข้ามาทุก ๆ ที และเมื่อวันนั้นมาถึง ผมก็ต้องพบกับความพ่ายแพ้ครั้งแรกในชีวิตของผม เมื่อผมสามารถกินได้น้อยลง ๆ เรื่อย ๆ จนในที่สุดพลังงานก็ถูกใช้ไปจนหมดสิ้นโดยไม่สามารถเติมเข้าไปในระบบได้อีก ผมสิ้นสุดการแข่งขันไอรอนแมนแรกในชีวิตผมด้วย DNF แรกในชีวิตเช่นกัน ผมใช้เวลาอยู่กับตัวเองค่อนข้างนานในคืนนั้น ก่อนที่จะรวบรวมกำลังใจกำลังกายเดินกลับที่พัก พบกับภรรยาและลูก ๆ และ เพื่อแจ้งข่าวนี้ให้กับเพื่อน ๆ ทุกคนที่คอยลุ้นได้รับรู้ (กดเพื่ออ่าน)

10384459_946104222073330_6550812990853246579_n

ผมไม่มีเวลาเสียใจ เสียดายมากนัก เพราะยังมีรายการหนักหน่วงที่รอผมอยู่นั่นคือการแข่งขัน Back-to-back-to-back-to back สี่สัปดาห์ที่ต่อเนื่อง จากการปั่น BRM200 ไตรกีฬา LPT ไตรกีฬา CLP และ BRM400 เป็นการปิดท้าย แม้ว่าในปีนี้ ปีที่ผมไม่สามารถคาดหวังกับสถิติความเร็วได้ แต่ความต่อเนื่องและหนักหน่วงของการแข่งขันก็ทำให้หลาย ๆ คนเครียดได้พอสมควร ผมสามารถจบการแข่งขันทั้ง 4 รายการได้อย่างน่าพอใจ ทั้งนี้อาจจะเป็นช่วงที่ผมมีเม็ดเลือดขาวตกต่ำมากจนถึงขึ้นวิกฤติ จนหมอต้องงดการใช้ยา เพื่อน ๆ ที่เป็นหมอเริ่มตักเตือนเสียงแข็ง แต่ความอยากอาหารที่เพิ่งกลับมา ความอ่อนเพลียที่หายไปในฉับพลันนั้น ทำให้กำลังใจในการแข่งขันทั้งสี่รายการให้จบสิ้นภายในสี่สัปดาห์นั้นมีเปี่ยมล้น ผมค่อย ๆ กลับมาซ้อมวิ่งอีกครั้งหลังจากพักผ่อนชั่วคราวหลังการแข่งขันอันหนักหน่วง

img_0317

ผมลงแข่งขันรายการจอมบึงมาราธอนเป็นครั้งแรก และเป็นรายการที่น่าประทับใจ แม้ว่าผมและเพื่อน ๆ ในทีมจะวิ่งแบกถึงคอยแจกตุ๊กตาให้เด็ก ๆ ที่มาคอยเชียร์ตลอดทาง หลังจากนั้นผมก็ไปแข่งวิ่งเทรลที่เกาะสวรรค์ที่ญี่ปุ่น ซึ่งผ่านไปอย่างน่าประทับใจ จนผมสัญญากับตัวเองว่า มันคงถึงเวลาแล้วที่ผมจะเริ่มทำความรู้จักกับการแข่งขันที่เรียกว่าเทรลรันนิ่ง (กดเพื่ออ่าน) หลังจากนั้นมีการนัดกันในกลุ่มนักปั่น  Audax ที่ต้องการไปแข่งขัน PBP ที่จะซ้อมปั่นระยะทาง 1200 km ภายในเวลา 90 ชม. โดยเริ่มจากกรุงเทพ เพื่อมาปั่น BRM300 สงขลา ผมจึงตอบตกลงโดยไม่ลังเล ประสบการณ์นี้ทำให้ผมได้พบกับสิ่งที่ไม่เคยพบมาก่อนหลาย ๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นการ break down ของอุปกรณ์ การล้มเหลวของกล้ามเนื้อเล็ก ๆ บางส่วน เช่น คอ หลัง  ผลกระทบของการอดหลับอดนอน การ dehydrate และอื่น ๆ ผมจบการซ้อมใหญ่ของผมที่ระยะประมาณ 820 กม. และไม่สามารถเข้าร่วมการปั่น BRM300 ได้ เป็น DNS แรกในชีวิตของผม (กดเพื่ออ่าน) ช่วงนี้ผมหยุดการรักษา HepB ไปแล้วเนื่องจากเม็ดเลือดขาวตกต่ำเป็นเวลานาน จนหยุดยานานเกินไป รวมระยะเวลาการรักษา 32 สัปดาห์ ผลเลือดสองครั้งสุดท้ายพบว่าไม่พบไวรัสในร่างกายของผมอีกแล้ว อย่างไรก็ตามผมทราบดีว่า HepB จะไม่หายไปเพราะ HepB เป็นโรคที่รักษาไม่หาย

IMG_1975

ผมเหลือเพียงรายการ BRM600 อีกเพียงรายการเดียวที่ต้องสอบให้ผ่าน เพื่อที่จะ qualify ในการไปปั่น PBP ที่ฝรั่งเศส ซึ่งผมมีความกังวลน้อยมากเพราะเพื่อน ๆ หลายคนบอกว่า BRM400 จะหนักกว่าเนื่องจากการออกแบบ CP ที่มีเวลาเหลือให้นอนได้ไม่มาก ก่อนรายการ  BRM600 ผมจึงจัด BRM300 และ BRM400 ไปอีกครั้ง และนั่นทำให้ผมเริ่มสังเกตความผิดปกติในร่างกายของผม ผมเหนื่อยผิดปกติมาก ๆ แม้ว่าจะปั่นไปเพียงร้อยกิโลเมตรเศษ ๆ การที่จะบอกว่าเพื่อนผมที่มาช่วย pacing ให้กับผมนั้นใช้ความเร็วมากเกินไปก็คงไม่ใช่ เพราะเราปั่นในช่วง 25-30 km/hr เท่านั้น ซึ่งปกติระยะ 200 ผมสามารถปั่นเดี่ยวที่ความเร็ว 27-32 ได้มาก่อน อย่างไรก็ตาม BRM300 นั้น เรามีกัน 4 คน ก็มีการจอดรอกันเป็นช่วง ๆ ทำให้ผมยังพอมีเวลาหายใจ แต่สำหรับ BRM400 นั้น อำนวย pacer ของผมต้องการเข้าจุดพักตามกำหนดเพื่อให้มีเวลานอน ซึ่งนั่นเป็นกลยุทธ์ที่เขาวางให้ผมใช้เพื่อไปพิชิต PBP เมื่อการเดินทางกลายเป็น 4 วัน 4 คืน การอดนอนอย่างต่อเนื่อง มันเป็นระเบิดเวลาที่จะทำให้การพิชิต PBP เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ด้วยแผนนี้ BRM300 และ BRM400 ทั้งสองรายการนี้เป็นรายการที่ทำเวลาได้ดีกว่ารายการอื่น ๆ ก่อนหน้าค่อนข้างมาก แม้ว่าผมจะเหนื่อยแทบขาดใจก็ตาม

IMG_0806

รายการสุดท้ายที่จะชี้ชะตาก็มาถึง ผมไม่ได้ซ้อมมากนักเพราะรู้สึกว่าตัวเองมีอาการคล้าย ๆ กับ Overtrain หัวใจเต้นเร็วผิดปกติจากเดิมก่อนรักษาในเวลานี้ 15-20 bpm เข้าไปแล้ว การปั่น 27-30 km/hr อาจจะทำให้หัวใจเต้นสูงถึง 160-170 bpm เข้าโซน 4 ปริ่ม ๆ โซน 5 ก่อนวันแข่งไม่กี่วัน ผมไปฟังผลติดตามการตรวจเลือด ได้พบกว่าความจริงที่ว่าไวรัสกลับคืนมาอีกครั้ง นั่นหมายความว่า หนึ่งปีที่ผมได้ต่อสู้กับมันจนมาจบที่คำสรุปว่าผมไม่สามารถเอาชนะมันได้ และคงต้องอยู่กับสภาวะตับอักเสบไปอีกตลอดชีวิต เมื่อวันที่ต้องปั่น 600 มาถึง ผมเตือนอำนวย pacer ของผมให้เริ่มช้า ๆ เพราะผมอาจจะจำเป็นต้อง warm up นาน กว่าปกติ ซึ่งอำนวยก็ทำตาม แต่ก็มาเลียบ ๆ เคียง ๆ ถามไถ่อยู่เสมอ ว่าพร้อมหรือยัง ช่วงแรก ๆ เราเจอกับพี่อ้อ อารมณ์พาไปจึงเร่ง ๆ ตามพี่อ้อขาแรง ทำให้ผมมาหมดก่อนในช่วงเที่ยง ๆ ต้องจอดหาน้ำดาลชดเชย และในที่สุดต้องหาอาหารเที่ยงกินก่อนถึง CP ไม่กี่กิโลเมตร เพิ่งผ่านไปเพียงร้อยกิโลเศษ ผมเริ่มกินอาหารไม่ค่อยลง ผมปั่นตามไปเจอเพื่อน ๆ ที่ CP ที่เป็นปั้มน้ำมัน อำนวยให้ผมพักนิดหน่อยก่อนที่จะออกตัวไป ในช่วงหลังนี้ผมเริ่มมีปัญหากินไม่ได้มากขึ้น ปริมาณน้ำที่พยายามใส่เข้าไปชั่วโมงละขวดค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ จนเหลือ สองสามชั่วโมงไม่ถึงครึ่งขวด จาก CP หนึ่งไป CP หนึ่งห่างกันร่วม 80 กม. ใช้เวลากว่าสามสี่ชั่วโมงผมแทบไม่ต้องเติมน้ำเลย แต่ผมก็เปลี่ยนนำ้เย็นทุก ๆ ครั้ง ผมเหนื่อยจนคิดอะไรไม่ออก จากที่ควรจะพยายามกินน้ำหรืออาหารชดเชย ผมได้แต่เปลี่ยนน้ำเย็นใส่ขวดแล้วพยายามนั่งพักให้หายเหนื่อยแทนที่จะพยายามกิน พลังงานเริ่มหมด ขาเริ่มกดไม่ค่อยลง ท้ายที่สุดอำนวยเห็นว่าต้องพักบ่อยจนไม่ได้การ จำเป็นต้องแก้แผนให้ใหม่ พาผมเข้าพักที่ปั้มน้ำมันในนอนรอเพื่อนอีกกลุ่มที่ตามหลังอยู่ประมาณ 1 ชั่วโมง ผมจะได้พักก่อน 1 ชั่วโมงเพื่อดูว่าจะมีกำลังมาอีกหรือไม่

1977283_10206693321549445_8820775100374244395_n

เมื่อเพื่อน ๆ ตามมาถึงเราก็ออกตัวไปด้วยกัน แต่ผมก็ไม่สามารถทำความเร็วตามทุก ๆ คนได้ เมื่อเลี้ยวเข้าเขางอบ เจอเนินแล้วเนินเล่า ผมก็ค่อย ๆ ถูกทิ้งห่างออกไปเรื่อย ๆ ผมปั่นช้า ๆ ด้วยความเร็ว 10 กว่า ๆ ไปเรื่อย ๆ จนถึงที่ รพ.เขางอบตอนตีสอง ช้ากว่าแผนการที่วางไว้ถึง สามชั่วโมง รวมเวลานอนพัก 1 ชม. ไปด้วย เพิ่งผ่านมาได้ครึ่งทาง 305 กม. เท่านั้น แต่ผมไม่เหลืออะไรอีกแล้วในร่างกาย โรงแรมที่พักที่จองไว้ 20 กม. ข้างหน้ามันดูไกลเกินไปที่ผมจะปั่นไปให้ถึงในตอนนี้ ผมจึงขอนอนข้างทางที่นั่น ข้าง ๆ ถ้วยถั่วเขียวที่กินไปได้เพียงสามคำ ผมมีเวลานอนสองชั่วโมงก่อนที่จะต้องออกตัวตอนตีสี่เพื่อไปให้ทันอีก CP หนึ่งที่ห่างออกไป 80 กม. ที่เส้นตาย 9 โมง ผมปั่นไปได้เพียง 15 km  เริ่มเกิดอาการเซไปมา หน้ามืดมองด้านหน้าไม่เห็นหลายครั้ง ผมคิดหลายต่อหลายครั้งว่าถ้าผมแพ้ในตอนนี้ PBP เป็นอันจบกัน แล้วก็กดขาไปเรื่อย ๆ จนในที่สุดผมคิดว่าผมได้พาชีวิตผมเข้าไปเสี่ยงจนล้ำเส้น ครั้งนี้ล้ำเส้นแบ่งถนนจนเริ่มเสียวว่า ชีวิตอาจจะสูญไปเพียงเพราะรถสวน ผมจึงยอมเข้าข้างทางที่ร้านน้ำเต้าหู้ สั่งน้ำเต้าหู้ทาน message บอกผู้จัดการทีม แจ๊ค และหยิน ที่คาดว่าจะเพิ่งเข้านอนได้ไม่นาน ให้มาเก็บศพผมด้วย ก่อนที่จะเปิดโลเกชั่นในโทรศัพท์ทั้งไว้ ก่อนที่จะผลอยหลับไป ผู้จัดการมารับผมตอนไหนผมจำไม่ค่อยได้ ไปอาบน้ำทานอาหารเช้า แล้วเราก็ออกรถตามเพื่อนคนอื่น ๆ ไป

11391329_822997454458731_3160123015741880084_n

ผมใช้เวลาส่วนใหญ่หลับ แทบไม่รู้สึกตัวอีกเลย กว่าจะเริ่มขยับตัวคุยรู้เรื่องราว ก็บ่ายแก่ ๆ ใจผมวนเวียนอยู่กับความพ่ายแพ้ที่ถาโถมเข้ามา การสอบตก BRM600 ครั้งนี้หมายความว่า  PBP เป็นเพียงความฝัน แม้ว่าจะมี BRM600 Singapore รอให้แก้ตัว แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่อยู่ในแผนของผม ผมคิดว่านี่คือความพ่ายแพ้ที่ผมต้องยอมรับ ใช้เวลาสามสี่วันกว่าผมจะเริ่มจับต้นชนปลายได้ และเริ่มวางแผนแก้มือใหม่อีกครั้ง ปลายปีนี้ผมจะเผชิญหน้ากับความพ่ายแพ้ครั้งแรกที่ลังกาวีอีกครั้ง อีกสี่ปีข้างหน้า ผมจะกลับไปจัดการกับมันให้ได้ PBP เมื่อบทหนึ่งได้สิ้นสุดลง ไม่ว่าตอนจบมันจะเป็นเช่นไร บทใหม่ย่อมเริ่มต้นขึ้นเสมอ เรื่องราวทั้งเล่มจะเป็นเช่นไร ก็ขึ้นกับหลาย ๆ บทที่เราค่อย ๆ เขียนขึ้น ไม่มีหนังเศร้าเรื่องใดที่จะเศร้าทุกบททุกตอน และไม่มีหนังสุขสมเรื่องใดที่จะสุขทุกบททุกตอน เรื่องราวจะ happy ending หรือไม่ ชีวิตเราขึ้นกับเราจะเขียนให้มันจบแบบแฮปปี้หรือไม่ก็เท่านั้น

Endurance : Why we do what we do?

สัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อน ๆ หลายคนมีกิจกรรม Endurance (ต่อจากนี้ผมจะเรียกมันว่า อดทน) ที่แตกต่าง แต่มีความเข้มข้นไม่แพ้กัน มาเล่าสู่กันฟัง ผมนั่งไล่อ่านกิจกรรมของทุก ๆ คน ที่อธิบายถึงความรู้สึก เล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้น แชร์กันไปมาเต็มไปด้วยความสุข และตื้นตัน ผมอดไม่ได้ที่จะแสดงความเห็นว่าผมรู้สึกมีความสุขที่ได้เห็นหลาย ๆ คนมีความสุข โดยใช้การอธิบายในลักษณะ “ความสุขบนความทรมาน” ซึ่งพบว่ามีหลาย ๆ คน รวมถึงคู่หูเพื่อนซี้ในกิจกรรมอดทนของผมค่อนข้างไม่สบายใจกับทำว่า “ทรมาน” และต้องการที่จะแสดงออกว่านี่ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นและเหตุผลที่เขาเหล่านั้นเลือกทำกิจกรรมอดทน จากการแลกเปลี่ยนในกระทู้นั้น ทำให้ผมมาถามตัวเองอีกครั้ง ทั้ง ๆ ที่ถามตัวเองมาหลายต่อหลายครั้งแล้วตลอดยี่สิบปีที่ผ่านมา ว่าเราทำกิจกรรมอดทนเหล่านี้ไปเพื่ออะไร

TRI NCB

แต่ก่อนอื่นคงต้องท้าวความไปถึงครั้งแรกที่ผมใช้คำว่า “ทรมาน” เพื่อสื่อถึงความรู้สึกบางช่วงในกิจกรรมเหล่านี้ มันเกิดเมื่อเพื่อนของผมชวนให้ไปปั่นบนเขาใหญ่ ผมจึงเลือกช่วงที่ผมต้องไปแข่งขัน TNF100 เป็นวันที่จะปั่นเขาใหญ่ โดยวันแรกวิ่ง TNF50K แล้ววันที่สองปั่นเขาใหญ่ ด่านชนด่าน 100K เพื่อที่จะชักชวนเพื่อน ๆ มาร่วมสนุกกัน ผมจึงคิดที่จะหาชื่อที่เหมาะสมให้กับกิจกรรมนี้ ในช่วงนั้นผมซ้อมเทรนเนอร์กับ DVD Series SufferFest ซึ่งผมรู้สึกว่ามันสื่อตรงกับความรู้สึกของผมจึงคิดที่จะแปลความหมายนี้ออกมา เลือกมาได้ว่า “ทรมานบันเทิง” เพื่อสื่อถึงกิจกรรมนี้ หลังจากนั้นผมใช้คำว่า “ทรมาน” อีกหลายครั้ง เพื่อสื่อถึงกิจกรรมอดทนที่เราชาวเผ่า V40 ทำกัน

IMG_1140

สำหรับผมคำว่า “ทรมาน” มันไม่ได้มีความหมายเป็นลบเลย เพราะที่มาจากความว่า Suffer ที่ผมแปลมานั้น ผมนึกไปถึง “ทุกข์” ในศาสนาตลอดเวลา ผมมองมันคล้าย ๆ กับว่ากิจกรรมอดทนนั้น คือการธุดงค์ ที่นำ “ทุกข์” มาพิจารณา ส่วนกิจกรรมอดทนนั้นนำ “ทรมาน” มาพิจารณา มันเกิดขึ้นกับผมในทุก ๆ ครั้ง และผมใช้มันในทำนองนี้ในทุก ๆ ครั้ง แต่ไม่เคยคิดว่าคำ ๆ นี้จะบาดใจใครหลาย ๆ คน โดยที่ผมไม่ได้ตั้งใจ ดังนั้นผมจึงตั้งใจที่จะเขียนมันออกมาว่าสำหรับผมแล้ว ผมเห็นอะไร และทำไปทำไม โดยไม่แน่ใจว่าเมื่อจบบทความนี้ผมจะได้คำตอบหรือไม่ ความเป็นนักวิทยาศาสตร์ในตัวผมสอนให้ผมบันทึกกระบวนการ และให้ความสำคัญกับมันเท่า ๆ กับผลลัพธ์

IMG_2582

เมื่อพิจารณาถึงสิ่งที่เกิดขึ้นที่ถูกสื่อว่า “ทรมาน” มันมีอะไรเกิดขึ้นบ้างในกิจกรรมอดทน สำหรับผม ความร้อน ความเหนื่อย ความเมื่อยล้า คำที่เรียกง่าย ๆ ว่า “หมด” หรือ exhaustion เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแน่ ๆ ในกิจกรรมอดทนทั้งหลาย ในมุมมองของเปลือกภายนอก แต่ถ้าพิจารณาลึกเข้าไปในจิตใจ ผมจะเห็นความท้อใจ การยอมแพ้ กำลังใจ ความหึกเหิม ในความต่อเนื่องของความรู้สึกทางร่างกายและจิตใจนั้น บางครั้งมันปวดร้าวรุนแรงจนผมเองต้องตั้งคำถามว่า ผมมันทำมันไปทำไม แม้มันจะไม่บ่อย แต่คำตอบของคำถามในเวลานั้นมันจะกำหนดผลลัพธ์ของกิจกรรมไม่ว่าในช่วงเวลาก่อนทำกิจกรรมนั้นเราต้องการผลลัพธ์เช่นใด

IMG_3711

ผมวิ่ง 10K เพราะต้องการลบความคิดว่านักว่ายน้ำ (จริง ๆ แค่สมาชิกชมรมว่ายน้ำ) จะไม่ถนัดวิ่ง ผมลง 21K เพราะอยากเอาความฟิตที่เหลือจาก 10K มาใช้ให้เป็นประโยชน์ ผมลงทวิกีฬาเพราะอยากปั่นจักรยานที่ผมใช้มามหาลัยแบบเร็ว ๆ สุดชีวิตกะเขามั่ง ผมลงไตรกีฬาเพราะผมเป็นนักว่ายน้ำ กิจกรรมอดทนของผมนั้นถูกขับมาจากความอยากรู้ และความต้องการขยายข้อจำกัด รวมไปถึงใช้ทรัพยากร อุปกรณ์ และทักษะทั้งหมดที่ผมมีอย่างคุ้มค่า ซึ่งมันเป็นนิสัยส่วนตัวที่จะใช้ความคุ้มค่า หรือประสิทธิภาพมากำหนดสิ่งที่ทำ ผมใช้เวลาอยู่กับมันสิบกว่าปี วิ่งไล่ตามสถิติต่าง ๆ ปีหน้ามันต้องเร็วขึ้นดีขึ้น ตำแหน่งสูงขึ้น แม้ว่าจะไม่เคยได้ถ้วยกับเขาเลย แต่ก็สามารถนำตัวเองไปอยู่ในอันดับ Top 5 Top 10 ได้ทั้งในสนามประเทศไทย และต่างประเทศ ในขณะที่สถิติก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ จนไปพีคที่อายุประมาณ 30 ก่อนที่จะค่อย ๆ คงตัวและช้าลงในที่สุด

IMG_7410

แน่นอนว่าผมคุ้นเคยกับความเจ็บปวด ตะคริว ไม่ใช่เรื่องแปลก และหลาย ๆ ครั้งไม่สามารถชะลอผมลงได้มากนัก อัดจนอาเจียรข้างทาง หรือจำเป็นต้องกลืนมันกลับเข้าไป เพราะอยู่ในระหว่างการแข่งขัน ไม่ใช่เรื่องแปลกอีกเช่นกัน ถ้าถามว่ามันจะใช้คำว่า “ทรมาน” ได้มั้ยสำหรับผม ผมเองก็เห็นด้วยกับเพื่อน ๆ ที่ไม่ชอบคำ ๆ นี้ว่าผมไม่อยากเรียกมันว่า “ทรมาน” ผมต้องยอมรับว่ามันอาจจะเจ็บปวด ผมไม่ได้ชอบมัน ไม่ได้เสพติด แต่ระหว่างซ้อมจนถึงวันแข่งและระหว่างแข่งนั้นผมทำทุกอย่างเพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้น แต่แม้ว่าผมรู้อยู่แก่ใจว่ามันจะเกิดขึ้นอีกถ้าผมต้องการสถิติที่ดีขึ้นในทุก ๆ ครั้งที่ผมลงแข่งขัน แต่เมื่อจุดสูงสุดของผมเหมือนจะผ่านพ้นไปแล้ว ความที่ผมเองอาจจะต้องยอมแพ้ให้กับตัวเองในวัยหนุ่ม เปลี่ยนมาแข่งขันกับคนรอบข้าง เปลี่ยนมาตั้งเป้าหมายใหม่ ๆ สถิติใหม่ ๆ ที่เหมาะสมกับกลุ่ม V40 อย่างผม ความกดดันในระดับที่จะต้อง “ทรมาน” มันก็ค่อย ๆ หมดไปจนวันหนึ่งผมเองก็เริ่มหาเป้าหมายใหม่ให้ตนเอง

IMG_7455

วันหนึ่งเพื่อนสนิทสมัยเรียนมัธยมมาชวนให้ตั้งทีมเพื่อวิ่งผลัดข้ามประเทศ ที่เรียกว่า O2O ผมคิดว่ามันฟังดูแล้วตื่นเต้นท้าทายดี จึงพยายามฟอร์มทีมขึ้นมาซึ่งก็ไม่ง่ายนักเพราะไอเดียที่จะวิ่งกันในเวลาเที่ยง วิ่งกันข้ามวันข้ามคืน วิ่งผลัดระยะสั้น ๆ ที่รวมระยะของแต่ละคนแล้วไม่เกิน 30K นั้นมันดูช่างไม่ “ท้าทาย” เอาเสียเลย แต่โชคดีที่ทีมได้ถือกำเนิดขึ้น และผมได้พบกับเหตุผลใหม่ของกิจกรรมอดทด กิจกรรมนี้ทำมาแล้วสองปี ได้ทำให้ผมได้ไปสนิทอีกครั้งกับเพื่อนเก่า ๆ ที่ร้างราจากกันมานาน กิจกรรมนี้ถือเป็นต้นกำเนิดของทีม Very Forty ที่เพื่อนในกลุ่มนี้อยากมีการรวมตัวเพื่อเข้าแข่งขันไตรกีฬาในรายการกรุงเทพไตรกีฬา ผลลัพธ์ของกิจกรรมที่ผมได้ดูเหมือนว่าจะสร้างผลกระทบได้กว้างขวางขึ้น มีเพื่อน ๆ หลาย ๆ คนมารวมตัวกันแสดงจุดยืน สร้างตัวตน แสดงตัวเป็นแบบอย่างของการใช้ชีวิต active ที่ผมต้องรับว่าเป็นอีกความสุขหนึ่งที่ทำให้ผมมุ่งมั่นทำกิจกรรมเหล่านี้มากขึ้นเรื่อย ๆ แม้ว่าการเผยตัวตนในครั้งนี้เริ่มทำให้อีกหลาย ๆ คนมองเห็นผมเป็นคน “บ้า”

L1010355

ผมเริ่มร่วมการแข่งขันจักรยานทางไกล เริ่มขยายระทางทางของไตรกีฬา และเริ่มสนใจระยะมาราธอน เนื่องจากเป็นระยะทางใหม่ ๆ ทุก ๆ ครั้ง ทุก ๆ ก้าวที่ผมทำลงไปมันเป็นสถิติใหม่ไปทั้งสิ้น แม้ว่าผมยังไม่เห็นเหตุผลที่ชัดเจนในการทำมันลงไป ผมยังได้ป้อนอาหาร ego ส่วนตัวของผมด้วยสถิติใหม่ ๆ เช่น Sub5 Marathon, 6:08 Hr Half-Ironman เป็นต้น จนวันหนึ่งเพื่อนแจ๊คแนะนำให้ผมรู้จักกับ Festive500 ที่ต้องปั่น 500K ภายใน 8 วันช่วงปลายปี สำหรับคนปั่นระยะ 80-100K การที่จะทำแบบนี้ต่อเนื่องทุก ๆ วันสร้างความท้าทายใหม่ ๆ ให้กับผม และก็ไม่ผิดหวังเมื่อผมร่วมคำท้าแล้วต้องถามกับตัวเองวันแล้ววันเล่าที่ต้องตื่นมาปั่นระยะ 80-100K โดยไม่สนว่าฝนจะตกหรือแดดจะออก เพื่อนคนเดียวกันนี้ก็แนะนำให้ผมรู้จักกับ Audax กิจกรรมอดทนในรูปแบบใหม่ที่ไม่ต้องแข่งกับใคร ไม่สนใจสถิติ มาด้วยใจกับคิวชีทเป็นพอ ผมกระโดดเข้าหาแล้วก็ติดมันงอมแงม มันเป็นการปั่นระยะที่ไกลมากขึ้น 200 300 400 600 ซึ่งต้องมีเรื่องของการกิน การพัก การนอนเข้ามาเป็นส่วนร่วมของความท้าทายนั้น ๆ ด้วย ดูเหมือนว่าในช่วงนี้ผมเริ่มได้เป้าหมายใหม่ของกิจกรรมอดทน นั่นก็คือ “ท้าทาย”

IMG_6245

อย่างไรก็ตามยังมีคำถามจากบุคคลภายนอกอีกในเรื่องของค่าใช้จ่าย นอกเหนือจากความเหน็ดเหนื่อยแล้ว ยังไม่ค่าใช้จ่ายในกิจกรรมเข้ามาเกี่ยวข้องอีกเยอะมาก ทำให้ผมเริ่มมองในมุมมองของทางด้านการเงินบ้าง แต่ไม่ทราบว่ามันมีอะไรที่ดลใจให้ผมจัดการกับปัญหาด้วยการตั้งกองทุนในชื่อลูกสาวที่เสียไปของผม ชื่อว่า กองทุนเพื่อซูริ ในการที่จะระดมเงินไปบริจาคให้กับหน่วย NICU โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ สถานที่ที่ลูกสาวคนนี้ของผมถือกำเนิดและเสียชีวิต ด้วยความหวังไกล ๆ ว่าเงินเหล่านี้อาจจะช่วยให้ลูกตัวน้อยของคนอื่นมีโอกาสกลับบ้านไม่เป็นเช่นลูกสาวของผม ผมจึงพยายามสร้างความสัมพันธ์ุระหว่างกิจกรรมอดทนและเงินบริจาคเพื่อกองทุนขึ้นในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อที่จะเป็นคำตอบหนึ่งในด้านการเงิน ซึ่งหลาย ๆ กลุ่มที่มีความเห็นตรงกันก็ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ ยกตัวอย่างเช่น กลุ่ม Run4ManyReasons ของพี่ย้ง เป็นต้น

IronmanLangkawiForZuri

ความ “ท้าทาย” ใหม่เข้ามาอีกครั้งเมื่อผมต้องเข้ารักษาตับอักเสบด้วยการฉีดยาอินเตอฟูรอน 48 เข็ม ผมจึงสมัครแข่งขันไอรอนแมนทันที แม้ว่าผมจะไม่คิดว่าจะลงรายการระยะนี้ในสภาพที่ผมไม่แน่ใจว่าผมสามารถวิ่งได้ไกลเพียงใด ผมดีใจที่การตัดสินใจพุ่งเข้าชนกับโรคร้ายและการรักษาอันหฤโหดนั้นได้สร้างแบบอย่างและกำลังใจให้กับผู้ป่วย หรือผู้พักฟื้นอีกหลายคน แม้ว่าในด้านของการวิ่งนั้น หลังจากผมแตะระยะมาราธอนแรกแล้ว ผมก็ขยายเป็นระยะอัลตราที่ TNF 50K แต่ทำให้อาการบาดเจ็บที่กระดูกสันหลังกำเริบ การวิ่งระยะ 10K 15K 21K กลายเป็นความท้าทายอีกครั้ง ขอแค่เพียงได้วิ่งครบระยะ ผมเก็บความท้าทายแบบผู้ป่วยกายภาพของผมอย่างเงียบ ๆ เพราะความผิดหวังในการ DNF ครั้งแรกในชีวิตที่สนามไอรอนแมนลังกาวี ก่อนที่จะประกาศชนกับมันอีกครั้งด้วยการวิ่งจอมบึงมาราธอน เพียงแต่บอกคนรอบข้างว่าผมต้องการวิ่งช้า ๆ ในใจเพียงคิดว่าต้องการวิ่งให้ถึงเป็นเท่านั้น ซึ่งในเวลานี้ผมต้องยอมรับว่า มันยังคงเป็นความ “ท้าทาย” สำหรับผมอยู่ดี

Week2

ในขณะเดียวกันที่ผมไม่สามารถเร่งความเร็วได้ดั่งใจ ผมจึงเริ่มหาความแปลกใหม่เพื่อมาเติมเต็มให้จิตใจผมอีกครั้งในกิจกรรมอดทนที่แทบไม่มีความหวังจะสร้างสถิติ เมื่อความท้าทายลดคุณค่าเหลือเพียงที่จะ “วิ่ง” ได้จนครบระยะ ผมเริ่มอาสาวิ่งเก็บขยะ ในงานภูเก็ตมาราธอน ในระยะฮาร์ฟ ที่ทำให้ผมได้รู้จักกับพี่ย้ง กล้วยหอม ผมเข็นรถ trailer ขนลูก ๆ สัมผัสบรรยากาศสงลามาราธอนในระยะฮาร์ฟ และสุดท้ายวิ่งแจกตุ๊กตาในงานจอมบึงมาราธอน ที่ระยะฟูลมาราธอน แม้ว่า ณ เวลานี้ ผมยังไม่สามารถ “วิ่ง” ได้จนครบระยะ แต่ผมก้าวข้ามความ “ท้าทาย” ในแต่ละขั้นมาเรื่อย ๆ ช้า ๆ อย่างมั่นคง

L1040269

ผมร่ายยาวมาจนถึงย่อหน้าสุดท้าย ผมเองยังไม่แน่ใจว่าผมได้คำตอบหรือยัง ว่าผมทำกิจกรรมอดทนเหล่านี้ไปทำไม มีความเป็นไปได้ว่าผมอาจจะต้องค้นหามันไปตลอดชีวิต เฉกเช่นคำถามที่ว่า มนุษย์เราเกิดมาเพื่ออะไร แม้ว่าผมจะเล่าให้หลาย ๆ คนด้วยเหตุผลต่าง ๆ กัน ไม่ว่าอาการเจ็บหลังที่กำเริบจนไม่สามารถอุ้มลูกชายคนแรกอาบน้ำได้ สุขภาพที่ย่ำแย่จากการโหมทำงานหนักจนแม้กระทั่งเดินขึ้นบันไดหอบ หรือการที่จะสร้างแบบอย่างให้กับลูก ๆ ในการใช้ชีวิตแบบมีสุขภาพ ไปจนกระทั่งเหตุผลเนื่องจากเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่พัฒนาจนอายุเฉลี่ยเรายาวนานขึ้นและผมไม่ต้องการที่จะใช้ช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตบนเตียง เหตุผลเหล่านี้อาจจะเติมเต็มให้กับผู้สงสัย ผู้ตั้งคำถาม แต่ผมรู้ดีว่าสำหรับผมนี่มันเป็นเพียงผลพลอยได้  Why we do what we do? The answer my friend is blowing in the wind.