Challenge Roth : The dream that you can all experience

หลังจากผ่านการ DNF และ Finish รายการไอรอนแมนที่ลังกาวีมาอย่างละครั้ง ผมเริ่มมีความเชื่อภายในจิตใจว่า ขั้นตอนที่สำคัญที่สุดของไอรอนแมนคือการ register หลาย ๆ คนไม่สามารถก้าวข้ามเส้นบาง ๆ เส้นนั้นได้ การเข้าร่วมหรือการได้รับรองความบ้าระดับที่ถูกเรียกว่าไอรอนแมนนั้นสำหรับผมจึงไม่ได้มีอะไรที่ยิ่งใหญ่อย่างที่ผมเคยเป็นคนนอกมองเข้ามา ดังนั้นในวันนี้ผมจึงอยากจะขอเล่าเรื่องราวจากมุมมองของคนในเล่าให้ฟัง ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ได้มีความตั้งใจที่จะสบประมาทความเป็นไอรอนแมนของใคร ๆ ไม่ได้ไม่เห็นคุณค่าของการเตรียมตัว การซ้อม ระเบียบวินัยอันดีของนักกีฬาระดับไอรอนแมน ที่หลาย ๆ ท่านใช้เพื่อนำมาซึ่งความสำเร็จ รวมไปถึงเวลาในการสำเร็จไอรอนแมนของแต่ละท่านเหล่านั้น แต่ผมเคยเขียนบทความทำนองนี้เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ของบุคคลธรรมดาที่จะเข้าร่วมมาแล้ว ซึ่งหลาย ๆ คนใช้มันเพื่อเป็นกำลังใจ และคราวนี้ในรายการที่ยิ่งใหญ่ กับสิ่งที่ผมไม่ได้วางแผนไว้ มันกลับทำให้ผมได้เข้าใจอะไรอีกหลาย ๆ อย่างที่อยากมาเล่าให้ฟัง

challengeroth14promo-thumb-580x344-4951

รายการ Challenge Roth จริง ๆ แล้วเริ่มมีการแข่งขันมาตั้งแต่ปี 1984 แต่เริ่มเป็นระยะไอรอนแมนในปี 1990 ถ้าจำไม่ผิดจะเรียกว่า Ironman Europe แต่ภายหลังที่ WTC ที่เป็นเจ้าของเทรดมาร์คคำว่า Ironman และเครื่องหมาย M-Dot เริ่มเข้มงวดกับเครื่องหมายการค้า การแข่งขันที่เรียกว่า Challenge Roth ก็ถือกำเนิดขึ้นในปี 2002 เป็นปีแรก แต่บรรยากาศ ประวัติศาสตร์ และความร่วมมือของชาวเมือง รวมไปถึงความสุดยอดของการจัดการของงานทำให้ถือว่าเป็นหนึ่งใน Bucket List ของนักไตรกีฬา แม้ว่ารายการนี้จะเปิดให้ใคร ๆ สมัครได้แต่ความเป็นไปได้ที่จะสมัครนั้นแทบจะเหลือเลยเพราะระบบออนไลน์แม้จะไม่เคยล่มก็รับผู้สมัครเต็มภายในไม่เกิน 30 วินาที ผมลองมาแล้วหลายปีด้วยกัน มีอีกไม่กี่วิธีที่จะเข้าร่วมได้นั่นคือซื้อผ่านบริษัททัวร์ของออสเตรเลีย ที่จริง ๆ แล้วผมก็แจ้งความจำนงค์เอาไว้หลายครั้งแล้วแต่ก็ไม่เคยทันกับจำนวน slot ที่จำกัดของบริษัททัวร์เช่นเดียวกัน ผมเคยแม้กระทั่งวางแผนมาเป็นผู้ชมเพื่อที่จะมาเข้าคิวลงทะเบียนในช่วงเช้าหลังจบการแข่งขันด้วยซ้ำ จนสุดท้ายรายการ Challenge ได้มาจัดที่ประเทศไทย ความเป็นไปได้จึงมีมากขึ้น กลุ่มนักไตรกีฬากลุ่มใหญ่ Van Gang ได้รวมตัวกันเพื่อที่จะต่อรอง slot สำหรับรายการนี้ผมโชคดีที่พี่หมอไก่ชักชวน ผมตกลงโดยไม่ลังเลแม้ว่าจะนึกภาพไม่ออกว่าการเดินทางพร้อมครอบครัวห้าชีวิตลูกตัวน้อย ๆ กระเป๋าจักรยานขนาดใหญ่และเป้หนึ่งใบจะเป็นอย่างไร เริ่มแรกดีลคือเราต้องลงแข่งรายการ Challenge Phuket และ Challenge Roth ต่อเนื่องกัน แต่สุดท้าย Challenge ไม่ได้ต่อสัญญาเราจึงต้องไปใช้บริการของบริษัท TriTravel ที่ผมได้กล่าวถึงมาก่อนหน้า ผมไม่แน่ใจเบื้องลึกเบื้องหลังของผู้ทำงานเรื่องนี้มากนัก แต่ถือว่าเป็นงานที่ยุ่งยากเพราะเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นหลายครั้ง ต้องถือว่าผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดทำให้รอยยิ้มของนักกีฬาทุกท่านเกิดขึ้นได้ในวันนี้ ต้องขอขอบคุณมาก ๆ

เมื่อสมัครได้เรียบร้อยแล้วก็เหลือแต่การวางแผนเพื่อแข่งขัน ผมเลือกใช้ตารางซ้อมที่ผมเคยใช้สำเร็จที่ลังกาวีมาแล้ว เป็นตารางง่าย ๆ สำหรับบุคคลธรรมดา ที่สามารถว่ายน้ำต่อเนื่องได้ประมาณ 1500-2000 ม. ปั่นจักรยานต่อเนื่องได้ 90 กม. และวิ่งต่อเนื่องได้ 21 กม. ก่อนเริ่มตารางก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับระยะประมาณนี้ ซึ่งผมถือว่าเป็นเรื่องค่อนข้างปกติสำหรับผมแล้ว เป้าหมายของตารางนี้เพียงแค่ “จบ” ไอรอนแมนอย่างแข็งแรง โดยเฉลี่ยซ้อมประมาณ 10-12 ชม. ต่อสัปดาห์ และสูงที่สุด 17  ชม. ต่อสัปดาห์ วิ่งยาวที่สุดประมาณ 36 km และปั่นยาวที่สุด 160 km ใช้เวลาทั้งหมด 16 สัปดาห์ แต่โชคไม่เข้าข้างผมเลย เพราะมีหลายอย่างในชีวิตเปลี่ยนแปลงไป ผมยังไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับความจำเป็นใหม่ ๆ ของชีวิตนั้นได้ ทำให้ไม่มีสมาธิ และ rhythm ของการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่ต้องพูดถึงตารางที่วางไว้ แทบไม่ได้มีการนำมาใช้เลย อย่างไรก็ตามผมพยายามวางการปั่นออแดกซ์เอาไว้อย่างสม่ำเสมอ ประมาณเดือนละครั้ง และการที่ต้องเตรียมงานปั่นออแดกซ์ปัตตานีระยะ 200 กม. นั้นทำให้ผมต้องปั่นทำเส้นทางสม่ำเสมอในระยะที่ค่อนข้างยาว และความถี่ค่อนข้างมาก ซึ่งกลายมาเป็นการซ้อมอันจำกัดของผมสำหรับรายการสำคัญนี้ ถ้าสังเกตุจากตารางการซ้อมของผมจะพบว่าประมาณหนึ่งเดือนก่อนการแข่งขันไอรอนแมนลังกาวี ผมไม่ได้ซ้อมอย่างสม่ำเสมออีกเลย มี peak ของ TSS เสียบขึ้นมาเป็นระยะ ๆ เป็นการปั่นออแดกซ์ และ ultra trail ที่ผมพยายามลงแข่งขันเพื่อสร้างความมั่นใจ

งานนี้ผมรู้ตัวดีว่าจักรยานและว่ายน้ำไม่ใช่ปัญหาสำหรับผมแน่ ๆ การว่ายน้ำด้วยเทคนิคเพียงอย่างเดียวโดยไม่ต้องใช้กำลังมากนักผมน่าจะสามารถจบที่ pace 2 ต้น ๆ ได้สบาย ๆ ปกติผมซ้อมว่ายน้ำตอนเช้า หรือไม่ก็เที่ยง แต่ตารางซ้อมมาชนกับช่วงปิดเทอมของเด็ก ๆ ทำให้ช่วงเช้าสระว่ายน้ำเต็มไปด้วยเด็กที่มาเรียนว่ายน้ำ ส่วนตอนเที่ยงผมก็งานสุมจนปลีกตัวไปค่อนข้างลำบาก ทั้งหมดทั้งสิ้นผมน่าจะว่ายน้ำไปประมาณ 2400 ม. ในช่วงแรก ๆ ของตาราง จักรยานนอกจากการปั่นหาเส้นทางสำหรับออแดกซ์ปัตตานีแล้วผมไม่ได้ซ้อมเลย จักรยาน TT ผมฟิตติ้งใหม่หลังจากแข่งลังกาวี เพราะมี Tri-Bar ชุดใหม่ เคยใช้ปั่นซ้อมเพียง 130 km แบบไม่ต่อเนื่องเพียงครั้งเดียว แต่โชคดีที่ผมร่วมปั่นออแดกซ์ค่อนข้างสม่ำเสมอ ทั้งระยะ 200, 300, 400 km โดยปั่น 400 km ไปถึง 3 ครั้ง ยิ่งไปกว่านั้นได้มาปั่นกระชั้นกันในช่วงก่อนแข่งขัน ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างฐานที่ดี ทั้งในแง่ของกำลังกาย และกำลังใจ อย่างที่เคยเล่าให้ฟังแล้วว่าความเหนื่อยต่อเนื่องของไอรอนแทนนั้นเทียบได้กับการปั่นประมาณ 300km ส่วนการปั่น 400km จะเหนื่อยและต้องการพลังใจมากกว่าอีกระดับหนึ่ง แต่นั่นไม่ได้ทำให้ Ironman สูญเสียความเป็น toughest one day sport event เพราะ 400km ความเหนื่อยจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมันกลายเป็น 2 วัน คนที่ปั่นได้เร็วจะไม่เหนื่อยเท่ากับคนที่ปั่นได้ช้ากว่า เพราะความอ่อนล้าจากการอดหลับอดนอนนั้น เป็นส่วนสำคัญของความกดดันทางจิตใจของชาวออแดกซ์

13700050_1244220542285426_328457610314859223_n

ดังนั้นรอบนี้สิ่งที่ผมต้องใส่ใจเป็นพิเศษคือการวิ่ง ผมสูญเสีย running engine ไปตอนเข้าร่วม TNF ระยะ 50K อาการเจ็บหลังระหว่างแข็งจนต้องเดิน หรือ บางครั้งแทบจะไม่สามารถยืนทรงตัวได้ระหว่างแข่งนั้นเป็นกำแพงทางจิตใจของผม ที่ทำให้การวางแผนทั้งหมดไม่ใช่เรื่องตรงไปตรงมา ผมพยายามลงสมัครระยะทางระดับอัลตราเพื่อเพิ่มความคุ้นเคยกับ time one foot ที่สูง ๆ มากกว่า  10 ชม. ซึ่งแม้ว่าจะทำให้ผมต้อง DNF ไปถึงสองรายการทั้ง PYT66 และ TNF100 แต่ทำให้ระยะเวลาบนเท้าของผมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากจาก 6-7 ชม. เป็น 10-15 ชม. ซึ่งสร้างอะไรบางอย่างในตัวผมทั้งร่างกายและจิตใจ อย่างไรก็ตามความเร็วทั้งหมดผมได้สูญเสียไปแล้ว ตั้งแต่ครั้งที่ผมบาดเจ็บเข่า ความเร็วสูงสุดที่ทำได้กับระยะฮาร์ฟมาราธอนครั้งสุดท้ายคือ 1:55 ชม. หรือส่วนหนึ่งของ 70.3 ก็ประมาณ 2:10 ชม. แต่นั่นก็นานมาแล้ว ผมมาหัดเพิ่มระยะเป็นมาราธอนไม่นานมานี้และเคยทำได้ดีที่สุดคือ 5:39 ชม. โดยประมาณ การวิ่งมาราธอนทั้งหมดของผมก็มีไม่กี่ครั้ง นานที่สุดคือ 6:30ชม. ทั้งเป็นการวิ่งในรายการไอรอนแมน และวิ่งรายการพัทยามาราธอน และสุดท้ายผมลงรายการภูเก็ตมาราธอนในเดือนมิถุนายนเอาไว้เป็นส่วนหนึ่งของการฝึกซ้อมก็ทำเวลาได้ 6:05 ชม. ทำให้ผมค่อนข้างที่จะกังวลเรื่องวิ่งมากที่สุดในการแข่งขันระยะทางไอรอนแมน

13726846_1410346625649085_5984292856668982699_n

รายการ Challenge Roth นั้นกำหนดระยะเวลา Cut Off เร็วกว่ารายการไอรอนแมนทั่วไป โดย Challenge Roth ตัดเวลาที่ 15 ชม. หรือ ว่ายรวมปั่น 9:30 ชม. ในขณะที่ไอรอนแมนจะกำหนดเวลาไว้ 17 ชม. ว่ายรวมปั่น 10:30 ชม. ทำให้ด้วยศักยภาพของผมที่มีอยู่มันเป็นความท้าทายโดยตัวของมันเอง สถิติการจบไอรอนแมนเพียงครั้งเดียวของผมคือ 15:02ชม. ที่ลังกาวี บวกกับสภาพการเตรียมตัวที่จำกัดเป็นอย่างมาก ประสบการณ์ ความเชื่อมั่น และแผนการจึงเป็นส่วนสำคัญที่สุดในการแข่งขันครั้งนี้ ผมวางแผนการแข่งขันอย่างง่าย ๆ คือ ว่ายน้ำ 1:30 จักรยาน 7 และวิ่ง 6:30 รวมกันเป็น 15 ชม. พอดีไม่มีเวลาสำหรับการเปลี่ยนชุด แต่ผมคาดว่าผมน่าจะว่ายได้ดีกว่านั้น และผมสามารถทำเวลาตอนปั่นถ้าหากว่าเสียเวลาช่วงว่ายน้ำหรือ T1 มากเกินไป ส่วนการวิ่ง 6:30 น่าจะเชื่อถือได้ หากไม่บาดเจ็บ และอาจจะทำเวลาดีขึ้นได้ถ้า T2 มากเกินความจำเป็น นอกจากนี้ผมยังวางแผนละเอียดไปอีกว่า ผมต้องการวิ่งครึ่งแรกของมาราธอนประมาณ 2:30 เพื่อจะเหลือเวลาครึ่งหลัง 4:00 แบบไม่เครียด เพซเดียวกับภูเก็ตมาราธอนก่อนหน้า ในช่วงครึ่งแรกและใช้ survival mode ในช่วงครึ่งหลัง นอกจากนั้นผมวางแผนที่จะแค่ไหล ๆ ในช่วงว่ายน้ำ ส่วนการปั่นผมต้องการใช้ไม่เกินโซนสอง เช่นเดียวกันกับการวิ่ง

การเดินทางเพื่อมาแข่งขันเป็นไปอย่างสะดวกสบาย ผมมาก่อนเวลาที่บริษัททัวร์นัดพบหนึ่งคืน มาพักที่ใจกลางเมืองใกล้ Hbf ของนูเรมเบิร์ก ซึ่งเป็นเมืองที่น่ารัก ใหญ่เป็นอันดับสองของแคว้นบาวาเรียรองจากมิวนิค อยู่ทางเหนือขึ้นมาประมาณ 110 km ผมบินลงมามิวนิคแล้วนั่งรถไฟกันมาค่อนข้างสะดวกค่าใช้จ่ายประมาณ 11 Euro สำหรับรถไฟสายปกติ ซึ่งต้องรอ 9 โมงเช้า ทีมส่วนใหญ่ที่เดินทางมาล่วงหน้าเลือกที่จะพักเที่ยวกันที่มิวนิค ทำให้ผมยังมีทั้งมิวนิคเก็บไว้ให้เดินเที่ยวเล่นได้อีกครั้งถ้ากลับมาในพื้นที่แห่งนี้ ในคืนแรกผมได้พบกับนักไตรกีฬาจากมาเลเซียที่มา Roth เป็นครั้งที่สอง ผมจึงสอบถามเรื่องวิธีสมัคร เขาบอกผมว่า slot ที่แจกนั้นส่วนใหญ่มักจะมีเหลือดังนั้นหลังแข่งแล้วสามารถไปสมัครได้ ยิ่งไปกว่านั้น ยัง transferable อีกด้วย หลังจากนั้นครอบครัวของผมก็ขอแยกตัวไปเที่ยวปราคขณะที่ผมย้ายเข้าพักกับบริษัททัวร์ ห่างออกไปจากตัวเมืองประมาณ 15 กม. เรียกแทกซี่ก็ไม่ยุ่งยากหมดไป 17Euro เพื่อรอเพื่อน ๆ อีกกลุ่มที่บินเข้าที่มิวนิคช่วงเช้าแล้วจะเข้ามาพร้อมกันที่โรงแรม หลังจากทุกคนพร้อมแล้วทางบริษัททัวร์ก็พาเราเข้าไปงานเอกโปซ์เพื่อไปลงทะเบียนล่วงหน้าหนึ่งวัน ลดกิจกรรมที่จะต้องทำในวันรุ่งขึ้น

13716107_1393542967338945_6092240235650305064_n

เริ่มพบกับยอดมนุษย์เหล็กทั้ง 40 คนกันแล้ว แต่ละคนก็มีเป้าหมายที่แตกต่างกันไป ผมคงไม่ไปกล่าวถึงแต่เป้าหมายของผมในเวลานี้คือเอาตัวให้รอด หลังจากที่พบว่าตัวเองแทบไม่ได้ซ้อมอะไรมาเลย มีแต่เพียงหัวใจและประสบการณ์ ผมมีวิธีที่จะคิดได้สองแบบคือ กังวล หรือ สู้ตาย ซึ่งแน่นอนว่าในขั้นนี้สู้ตายเป็นทางเลือกที่ไอรอนแมนส่วนใหญ่จะเลือกใช้ ยิ่งไปกว่านั้นผมมีอาวุธลับที่พิเศษกว่าคนอื่น ๆ ในยามที่ทุกอย่างไม่เข้ารูปเข้ารอย นั่นคือ ความเยือกเย็น ไม่ว่าเรื่องราวจะมาอย่างไร ผมรู้สึกเสมอว่าทุกอย่างจะผ่านไปได้ด้วยดี เพื่อนนักปีนเขาเรียกชื่อเล่นผมว่า Zen Master ไม่ใช่เพราะความสามารถในการปีน แต่เป็นความสามารถในการเก็บอาการเมื่อรู้ว่าสถานการณ์ที่กำลังจะเจอนั้นอาจจะเกินความสามารถ และมีอันตรายเข้ามาเกี่ยวข้อง ผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าเหตุการณ์ยุ่งยากมากขึ้นเพียงใด ความจำเป็นในการสงบสติอารมณ์ยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น ณ เวลานี้ไม่ใช่เวลาที่ผมจะเสียใจว่าผมขาดอะไร แต่ต้องมาดูว่าผมมีอะไรอยู่บ้าง ในขณะเดียวกันสิ่งที่จะได้มาจากงานนี้อย่างแน่นอนนั่นคือ ความเข้าใจปริมาณการซ้อมที่น้อยที่สุดที่เป็นไปได้ วิธีการเอาตัวรอดจากไอรอนแมนโดยอาศัยสิ่งที่ตนเองถนัด และอื่น ๆ

13699420_1249351451772335_548084090_o

ในวันรุ่งขึ้นทางทัวร์พาเราไปลองว่ายน้ำ ผมปกติไม่เคยทดลองน้ำ เนื่องจากไม่ชอบความหนาวเย็น แต่รอบนี้เริ่มมองเห็นความจำเป็น เจตนาของการไปว่ายน้ำก็เพียงเพื่อทดสอบอุณหภูมิของน้ำ การฟิตติ้ง wetsuit ให้เหมาะสม เพื่อดูพื้นที่จริง ที่สุดท้ายแล้วทุก ๆ สิ่งที่ได้ทำวันนี้เพื่อลดความเครียดที่จะเจอในวันจริง อุณหภูมิน้ำประมาณ 20 องศาถือว่ากำลังดี wetsuit ก็พอดีมีกังวลแค่การเสียดสีที่ต้นคอเท่านั้น หลังจากที่เราทดสอบสนามในช่วงว่ายน้ำแล้วเราก็ต่อด้วยนั่งรถชมเส้นทางตลอดเส้นทางทั้งรอบ 90 กม. ผมไม่ค่อยได้ดูเส้นทางที่เขาให้ชมมากนัก ไม่รู้สึกว่ามีเนินอะไรที่กังวล ไม่มีทางลาดไหนที่ดูอันตราย โค้งไหนที่ควรระวัง ตลอดทางนั่งมองแต่วิวและความสวยงามของพื้นที่ โดยปกติแล้วผมเป็นคนชอบจดจำจุดสำคัญต่าง ๆ เพื่อใช้ในการวางแผนการปั่น แต่รอบนี้ผมไม่คิดว่าการปั่นต้องมีแผนอะไรเป็นพิเศษ หลังจากกลับที่พักเราก็นัดกันอีกครั้งเพื่อจะเข้าไปงานเลี้ยงอาหารต้อนรับ แต่สุดท้ายแล้วคนไทยกลุ่มใหญ่เลือกที่จะเดินทางเข้าเมือง ผมก็เช่นกัน วันรุ่งขึ้นก็เป็นวันที่เราเตรียมตัวเพื่อ Bike Check-in ไม่น่าเชื่อว่าผู้แข่งขัน 6000 คน มีทางเข้าจุด T1 สีจุด แทบไม่มีแถวให้ต่อเลย การจัดการขั้นเทพ รวดเร็วแม่นยำ ที่นี่เขาตรวจสภาพหมวกกันน๊อคเคร่งเครียดมาก ดูสภาพกันแทบทุกมุม พร้อมมีของใหม่เตรียมตัวขายถ้าไม่ผ่าน ส่วนจักรยานเขาไม่ดูอะไรมาก ต่างจากงานภูเก็ตหรือลังกาวีที่ตรวจสอบเบรคอย่างเคร่งครัด เวลาที่เหลือเราพยายามรีบกลับไปพักผ่อนเพราะวันรุ่งขึ้นเริ่มต้นที่ตีสาม แม้ว่าเวลาเริ่มต้นของเราจะอยู่ที่ 7-8 โมงก็ตาม

13692551_1393543180672257_3064557522683468204_n

การไปก่อนเวลานานมาก ๆ ช่วยลดความตึงเครียดของการแข่งขันลงได้มาก มีเวลาดูแลจักรยาน จัด  T1 เข้าห้องน้ำ drop bags ใส่ wet suit และ selfie อย่างสนุกสนาน กลุ่มผู้หญิงออกตัวก่อน ในขณะที่กลุ่มชายไทยออกตัวเป็นกลุ่มสุดท้ายห่างกันหนึ่งชั่วโมงเต็ม ๆ การออกตัวเป็นไปอย่างยิ่งใหญ่ คนเชียร์เต็มตลอดสองฝั่งแม่น้ำ บอลลูนถูกปล่อยขึ้น ปืนใหญ่ยิงปล่อยตัวทุก ๆ เวฟ 200-250 คนออกพร้อม ๆ กัน เสียงดังสนั่นทุก ๆ ห้านาที พร้อมควันพวยพุ่งเบื้องหลังบอลลูนสีสด เป็นภาพที่ยากที่จะลืมเลือน เราจะว่ายเป็นวงขึ้นลงตามแม่น้ำที่ปกติห้ามมีการว่ายน้ำ เป็นคลองที่เชื่อม Rhine-Main-Danube เข้าด้วยกันใช้เพื่อการขนส่งสินค้า เราจะว่ายไปชนสะพานด้านหนึ่งแล้วกลับตัวว่ายไปถึงอีกสะพานหนึ่งที่จะมีคนยืนเชียร์อยู่สองฝั่งคลอง และเต็มพื้นที่สะพาน ผมเริ่มเป็นกลุ่มสุดท้ายนั่นก็ช่วยให้มีเวลาผ่อนคลายอีกพักใหญ่ ๆ หลังเวฟแรกออกตัวไปแล้ว หูเริ่มคุ้นเคยกับเสียงปืนใหญ่ จำนวนผู้คน เสียงเชียร์ เมื่อถึงคิวว่ายลงไปจุดเริ่มต้น ไม่ช้าไม่นานสองร้อยชีวิตก็ค่อย ๆ เคลื่อนตัวเลียบชายฝั่งออกไปพร้อม ๆ กับเสียงปืนใหญ่ครั้งสุดท้าย น้ำในคลองค่อนข้างขุ่นมองไปหน้าไปประมาณระยะปลายนิ้วมือ ไม่เห็นคนว่ายนำที่ผมชอบใช้ในการนำทาง ผมต้องพยายามมองข้างตลิ่งไว้ แต่ผมว่ายห่างจากตลิ่งเพราะคิดว่าคนด้านในน่าจะแน่น สุดท้ายก็ว่ายเป๋ไปมา ระหว่างกองเรือที่แบ่งกลางคลองกับขอบตลิ่ง น้ำเย็นขึ้นกว่าวันทดลองว่าย 1 องศา ไม่รู้สึกหนาวขึ้น มือ หัว ปลายเท้าไม่ชา wet suit ฟิตพอดี นำ้ไม่เข้ามากนักถ้าหากไม่พยายามให้มันเข้า แน่นอนว่ามีน้ำเข้ามาบ้างแต่พอดีกับความร้อนของร่างกายที่ต้องการการระบาย ขอของ wet suit เริ่มเสียดสีกับต้นคอของผม จนทำให้ไม่ค่อยอยาก sighting อีกต่อไป เจตนาการมองข้างขวาอย่างเดียวตลอด 3800 เมตร ไม่เป็นแผนที่ดี ผมเริ่มใช้วิธี rolling body เพื่อหายใจ และใช้ร่วมกับ bi-laterally breathing แต่ทำได้ไม่มากนัก ความเย็น ความลอยตัวของ wet suit ทำให้ไม่คุ้นกับระดับของร่างกาย สุดท้ายต้องผ่อนความเร็วลงเพื่อที่จะให้ roll body ได้ง่ายขึ้น ลดการหันคอลง ช่วงครึ่งแรกผมเสียเวลาไปเกือบ 5 นาทีจากที่วางแผนไว้ ทำให้ช่วงครึ่งหลังต้องตั้งสมาธิมากขึ้น สุดท้ายก็ยังไม่ได้เวลาคืนมามากนักจึงเข้าโหมดเร่งความเร็วจนท้ายที่สุดผมทำเวลาได้ 1:24 นาที ช้ากว่าที่คาดไว้ 4 นาที ว่ายเกินไปประมาณ 300 เมตรจากระยะการ์มิน

T1 ของที่นี่มีเต้นท์เปลี่ยนเครื่องแต่งตัวให้ ไม่ต่างจากงานไอรอนแมน Bike Bags ทั้ง 6000 ใบวางอย่างเป็นระเบียบอยู่ด้านหน้าซึ่งนักกีฬานำมาวางไว้เองตอนช่วงก่อนเริ่มแข่ง ที่พิเศษคือเต้นท์นี้เป็นเต้นท์รวมชายหญิง และเต็มไปด้วยอาสาสมัครสตรี หลากหลายวัยที่จะวิ่งเข้ามาประกบเพื่อช่วยเหลือในการแต่งตัว จากพยากรอากาศล่วงหน้าผมไปจัดหาซื้อเสื้อ compression เพิ่มอีกหนึ่งชั้น แต่ด้วยความยากลำบากในการสวมใส่ผมจึงใส่ตั้งแต่ก่อนว่ายน้ำ ผมวางแผนที่จะใส่เสื้อปั่นจักรยานแขนยาวเพื่อความสะดวกในการขนอาหาร และพกเสื้อกันลมอีกหนึ่งตัว แต่สุดท้าย ผมคิด ๆ ไว้ว่าถ้าช่วงวิ่งผมต้องถอดเสื้อปั่นแขนยาวออกชุดแข่งน่าจะไม่ค่อยสวยงามมากนักจึงสวมเสื้อไตรแขนกุดของทีม V40 ทับไว้อีกตัวเพราะกลัวว่าช่วงวิ่งอาจจะไม่มีแรงใส่เสื้อรัด ๆ แบบนี้ได้ สาว ๆ มาช่วยรุมทึ้งถอด wet suit ให้ผม แล้วยื่นเสื้อผ้าในถุง Bike Bag มาให้เลือกทีละชิ้นแล้วช่วยสวม ไม่ช้าไม่นานผมก็วิ่งออกไปปั่นได้  ใช้เวลาใน T1 ไปประมาณ 8 นาที สรุปแล้วผมเสียเวลาจากที่วางแผนไว้ 12 นาที หรือ 2 นาทีจาก range ที่วางเอาไว้ ซึ่งไม่เครียดเท่าไร จักรยานเอาคืนได้ง่ายเพราะตั้งไว้ 7 ชม ซึ่งหมายถึงเฉลี่ยเพียง 26 กม/ชม อากาศไม่หนาวมากนักแต่เย็นเพียงพอที่จะทำให้เสื้อสี่ชั้นของผมไม่ร้อนจนเกินไป ผมรูดซิบออกเป็นชั้น ๆ ตามจังหวะ และสภาพอากาศ ผมทำเวลาได้ค่อนข้างดีเส้นทาง rolling ซึ่งค่อนข้างเป็นเส้นทางแบบที่ผมถนัด มีจังหวะเนินและทิ้งตัว เข้าโค้ง เบรคไม่ค่อยต้องใช้ เสียอย่างเดียวที่ไม่ค่อยได้ซ้อม กล้ามเนื้อจึงไม่ค่อยแข็งแรงมาก ผมวางแผนปั่นที่ Zone 2 ตลอดการแข่งขันแต่แบตของ power meter ที่เป็น Power2Max ดันมาหมดในวันก่อนแข่งทำให้ไม่สามารถหามาเปลี่ยนได้ทันจึงต้องอาศัยโซนของหัวใจแทน ผมเลือกปั่นที่ HR ไม่เกิน 150 ในครึ่งแรกผมทำความเร็วเฉลี่ยได้ประมาณ 28 ก่อนจะเข้า Solar Hill ที่มีเนินต่อเนื่องยาวนานจนท้ายที่สุดตกลงไปเหลือ 26 เศษ ๆ Solar Hill ถือว่าเป็นไฮไลท์ของสนามนี้ ชาวเมืองเชียร์กันสองข้างทางกว่า 30,000 คน ปั่นจักรยานเลนเดียวแหวกผู้คนขึ้นไปเรื่อย ๆ บนเนินที่ยาวที่สุดของการแข่งขันความชันที่ไม่มากจนต้องมีใครลงมาเข็น เป็นความทรงจำที่ยากจะลืมเลือน กองเชียร์ในมุมอื่น ๆ ก็ไม่แพ้กัน มีการตั้งเครื่องเสียงเปิดเพลงร๊อคปลุกใจ ดีเจตะโกนเชียร์ เด็ก ๆ ยื่นมือออกมา และแน่นอนว่าผมยื่นมือออกไปแตะมือเด็กทุก ๆ คนที่ยื่นมือออกมาเพื่อเป็นการขอบคุณ บางบูธเป็นโต๊ะเรียงราย เปิดไวน์นั่งเชียร์ บางบูธเล่นเอาเตียงมานอนเชียร์นอนกินกันข้างทางกันไปเลย แน่นอนว่าเสียงสนั่นหวั่นไหวกันแทบตลอดเส้นทาง ในรอบที่สองผมจึงเลือกที่จะปั่นเลี้ยงความเร็วเฉลี่ยไปเรื่อย ๆ เก็บแรงเอาไว้ที่ Solar Hill รอบที่สอง เป็นไปตามคาดรอบที่สองเริ่มมีอากาศที่ร้อนขึ้นเล็กน้อย ผมต้องจอดเพื่อถอดเสื้อกันลมหนึ่งครั้ง จอดเพื่อเข้าห้องน้ำหนึ่งครั้ง และจอดเพื่อปรับแก้เสื้อจักรยานอีกหนึ่งครั้ง เสียเวลาเล็ก ๆ แต่ได้พักขามากขึ้น rolling hill มักจะทำให้กล้ามเนื้อล้าโดยง่ายถ้าไม่ระมัดระวัง มาถึงจุดนี้กล้ามเนื้อผมเริ่มล้าเกินกว่าที่จะทำให้ HR ผมขึ้นไปถึงเป้า 150 แล้ว ผมผ่อน ๆ คลาย ๆ และใช้เวลาบน base bar มากขึ้น aero bar และ ฟิตติ้งใหม่ยังไม่เข้ากับตัวผมที่ไม่ได้ซ้อมปั่นด้วย set up ใหม่นี้มาเลยทำให้เริ่มเมื่อยคอ ผมจำอาการตะคริวขึ้นคอได้ดีในสองโอกาสทั้งที่ลังกาวีและการปั่นกรุงเทพหาดใหญ่ของผม ทุกครั้งที่มีโอกาสผมจึงจับ base bar ตลอดซึ่งทำให้ลดความเร็วเฉลี่ยลง เพิ่มกำลังขานิดหน่อย เพราะร่างกายอยู่ในตำแหน่ง open torso ผมปั่นเข้า Solar hill โดยไม่เสียเวลา และพยายามคงความเร็วเฉลี่ยในเนินที่เหลือให้ได้มากที่สุด โดยที่ไม่โหลดกล้ามเนื้อขาจนเกินไป ระหว่างรอบที่สองนี้ผมจึงมีเวลาชื่นชมวิวสองข้างทางตามสไตล์ออแดกซ์มากขึ้น ถนนเรียบที่ปิดการจราจรแทบจะ 100% เส้นทางเขาขึ้นลง มีเนินท้าทายขาสองเนินที่ไม่ได้ทำให้ใครต้องลงมาเข็น ข้างทางรายล้อมด้วยทุ่งนา ทุ่งข้าวโพด หรือ ข้าวบาเลย์ ฉากไกล ๆ เป็นภูเขาสูง ประดับด้วยกังหันลมเป็นระยะ ๆ ทำให้ต้องคอยเตือนตัวเองให้คุมความเร็วเอาไว้ให้ได้ อย่าเพลินจนเกินไป ในขณะเดียวกันสภาพเนินต่อเนื่องยาวนานหลายชั่วโมงเริ่มทำให้ความล้าคืบคลานเข้ามา 170 กม ไม่ได้มาถึงเร็วอย่างที่คิด แต่สุดท้ายผมก็ปั่นเข้า T2 ด้วยเวลาปั่นประมาณ 6:48 ชม. เอาเวลาที่หายไปคืนมาทั้งหมด

13775453_1410345645649183_6030980180576254421_n

เมื่อถึง T2 ผมเปลี่ยนแผนที่เคยคิดจะถอดรองเท้าทิ้งไว้กับจักรยาน เพราะเพิ่งรู้ว่าทางทัวร์จะนำจักรยานกลับโรงแรมให้กับเรา ผมคิดว่าอาจจะทำให้รองเท้าสูญหายได้ เกือบเสียศูนย์เพราะลืมปลดคลิบเมื่อมาถึงจุด unmount แต่สุดท้ายก็สามารถบิดขาทั้งตัวเพื่อปลดตัวเองออกจากบันไดได้ทั้ง ๆ ที่ตอนนั้นเริ่มยกขาข้ามจักรยานลงมาแตะพื้นแล้วหนึ่งข้าง อาสาสมัครยื่น Run bag มาให้แล้วมีคนวิ่งตามเข้าเตนท์เพื่อรักษาความปลอดภัยตลอดเส้นทาง พยาบาลสอบถามว่าต้องการปฐมพยาบาลบ้างหรือไม่ ผมคว้าถุงมาแล้วอาสาอีกคนก็ลงมือเปิดถุงให้กับผม ค่อย ๆ ยื่นเสื้อผ้าด้านในให้กับผม ปลอกแขน หมวก ผมปฏิเสธทุกอย่างเพราะคิดว่าผม over dress  อยู่แล้วในขณะนี้แล้วคิดว่าแดดไม่น่าจะแรงมากนักในขณะวิ่งเพราะเป็นเวลาสี่โมงกว่า ๆ แล้ว ผมเลือกที่จะเอาผ้า buff ติดตัวไปแทน ป้องกันอากาศหนาวและเอาไว้กันเหงื่อเข้าตา ผมถอดเสื้อปั่นจักรยานแขนยาวออกทิ้งไว้พร้อมกับเสื้อกันลม เปลี่ยนเป็นรองเท้าวิ่งที่เพิ่งซื้อ ผ่านการวิ่งมาราธอนไปเพียงหนึ่งครั้งที่เวลา 6:05 ชม. สุดท้ายสาวน้อยยื่นกางเกงวิ่งที่ผมวางแผนจะเปลี่ยนมาให้ แต่ด้วยความเกรงใจสาววัยละอ่อนผมจึงยืนยันที่จะใส่กางเกงปั่นจักรยานตัวเดิมออกวิ่งไป เส้นทางวิ่งเป็นทางวิ่งเลียบคลองเป็นส่วนใหญ่ มีส่วนที่ต้องเข้าเมืองหลายช่วง รวมถึงช่วงที่เรียกว่า beer mile ที่มีโต๊ะเชียร์วางข้างทางพร้อมกับชาวเมืองนักกินเบียร์เชียร์นักกีฬากันอย่างสนุกสนาน

13697135_1410649612285453_3675710670695162634_n

ผมออกวิ่งไปได้ไม่นานก็รู้ตัวว่าแต่งตัวผิดนิดหน่อย แดดร้อนเกินคาด น่าจะมีหมวกสักหน่อย ถึงจุดหนึ่งผมต้องถลกแขนขึ้นลดความร้อน เส้นทางวิ่งสุดยอดมาก ๆ เป็นเส้นทางเลียบแม่น้ำเป็นส่วนใหญ่ พื้นกรวด บางคนบ่นเรื่องพื้นรองเท้าบางไป แต่สำหรับคนชอบวิ่งเท้าเปล่าแบบผมไม่มีปัญหา การใส่รองเท้าอัลตรามาวิ่งเที่ยวนี้ ความหนาความกว้างเกินพอสำหรับทุกสถานการณ์อยู่แล้ว สำหรับคนเชียร์มีตลอดทางจริง ๆ มีบูธใหญ่ ๆ เครื่องเสียงโต ๆ เพลงดัง ๆ ดีเจประกาศชื่อ ตะโกนไทยแลนด์ hop hop hop คนเชียร์ข้างทางพยายามอ่านชื่อ มองธง ตะโกนชื่อประเทศ ตลอดเส้นทาง สนุกมาก ๆ ประมือ ตลอดเส้นทาง ผมปั่นจักรยานหนักไปนิดทำให้ HR ช่วงแรกของการวิ่งพุ่งสูงเกินไป ผมจึงเลือกที่จะเดินมากกว่าที่จะรักษา pace เพื่อให้ได้ 2.5 ชั่วโมงสำหรับครึ่งทางแรก แต่การที่จะเดินในสนามนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายมากนักถ้าหน้าไม่ด้านพอ กองเชียร์ตะโกนให้วิ่งตลอดเวลา ไม่อยากให้เรายอมแพ้ ในหลาย ๆ จุดเรียกว่าไม่กล้าเดินกันเลย เกรงใจกองเชียร์ขนาดมหึมา บางโซนเป็นป้า ๆ ลุง ๆ เอาเก้าอี้ออกมานั่งชมความทรมานกันหน้าบ้าน ยิ้มให้ ปรบมือให้กำลังใจ สุดท้ายผมจึงพยายามเดินและหยุดพักที่จุดให้น้ำแทน เพื่อไม่ให้น่าเกลียด เส้นทางวิ่งวกไปวนมา เราเริ่มเจอเพื่อน ๆ ชาวไทยที่มาด้วยกัน วิ่งสวนกันไปมา คนแล้วคนเล่าค่อย ๆ แซงผมไป ผมคาดว่าผมวิ่งช้าเพียงพอให้ทุกคนมาแซงผมถ้าต้องการเข้าเส้นชัยทันเวลา เพราะผมเตรียมมาเพื่อเข้าเส้นนาทีสุดท้าย ผมคิดไว้นานแล้วว่าด้วยสภาพของผมในปัจจุบันแล้วยังอยากเล่นระดับไอรอนแมนอยู่ มีทางเลือกสามทางที่จะสามารถเตรียมตัวให้พร้อมได้ หนึ่งคือ ซ้อมเต็มที่เพื่อให้ได้ sub4 มาราธอน ระดับจิตใจและฐานการวิ่งจะยกขึ้นไปอีกระดับหนึ่งที่เหลือเฟือสำหรับไอรอนแมน สองคือ เข้าร่วมรายการระดับอัลตราเทรล 50-100 km อย่างสม่ำเสมอ เพื่อหัดการกินอาหาร เพิ่ม time on foot และสร้างความคุ้นเคยกับความอ่อนล้าของกล้ามเนื้อขาในระยะปลาย ๆ ของการแข่งขัน รวมไปถึงความแกร่งของจิตใจ สุดท้ายคือ เล่น red line เข้าคนสุดท้าย ใช้การคำนวณปรับ pace ให้เหมาะสมตลอดเวลา อาศัย cut off time เป็นตัวผลักดัน ความผิดพลาดไม่ใช่ option ในคราวนี้ผมเลือกทำวิธีที่สอง อย่างไรก็ตามผมไม่ค่อยประสบความสำเร็จมากนักในรายการอัลตราเทรล DNF ทั้งสองรายการที่สำคัญในการฝึกซ้อม PYT66 และ TNF100 อย่างไรก็ตามการก้าวไประยะอัลตราทำให้ mindset ของระยะมาราธอนของผมเปลี่ยนไป 42Km กลายเป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่ไม่ได้น่ากลัวอะไรเลย time on foot ระดับ 10 ชม ขึ้นไปเป็นเรื่องธรรมดามากขึ้น ผมจึงวางแผนสำหรับการแข่งขันเป็นแบบทางเลือกที่ 3 แบบไม่บีบเค้นหัวใจเพราะในตอนนี้ระยะ 42km ในเวลา 6:30 ชม. มันไม่ยาวเลย เช่นเดียวกันการปั่นออแดกซ์ระดับ 300-400 km ที่เวลา 28-40 ชม ทำให้การแข่งขันระดับ 17 ชม. รู้สึกสั้นกว่าที่เคยรู้สึกเยอะมาก ๆ

ด้วยแผนดังกล่าวนี้ผมได้พบความสมดุลย์ใหม่ของไอรอนแมน จากที่เคยเชื่อว่าไอรอนแมนเป็นสิ่งที่ต้องทุ่มเทเวลาเป็นจำนวนมาก ซ้อมอย่างหนักอย่างน้อย ๆ 16 สัปดาห์ แทบไม่มีเวลาในช่วงวันหยุดสำหรับครอบครัวเลย หรือ 2 sessions day  เป็นเรื่องปกติที่ต้องทำจนไม่มีเวลาที่จะช่วยเหลือภรรยาแบ่งเบางานในบ้านในระหว่างวัน ผมกลับมารอบนี้ด้วยกระบวนการแบบใหม่โดยที่ไม่ได้ตั้งใจ จากงานที่ถาโถมมาอย่างหนัก จังหวะชีวิตที่ไม่ลงตัว จำนวนชั่วโมงนับจากเดือนพฤศจิกายนปี 2015 มาถึงวันแข่งเดือนกรกฎาคา 2016 แทบจะเป็นศูนย์ ถ้ามองในมุมของความสม่ำเสมอและจำนวนชั่วโมงที่มีอยู่ แต่การร่วมแข่งขัน โดยเฉพาะรายการทางยุทธศาสตร์ทั้งหลายผมเข้าร่วมอย่างสม่ำเสมอ นั่นหมายถึง อัลตราเทรล PYT66 TNF100 น่าเสียดายว่าไม่ได้ลงเพิ่มเพราะรายการ PYT66 ทำเล็บผมหลุดจึงไม่ค่อยกล้าสมัครรายการอื่น ๆ และการปั่นออแดกซ์ระดับ 200-400km อย่างสม่ำเสมอ ทำให้ฐานของจักรยานไม่เสียไปมากนัก แต่ที่สำคัญกว่าคือผมมีเวลามากขึ้นที่จะใช้มันทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัวอย่างสม่ำเสมอไม่ว่าแผนการของวันจะเป็นเช่นไร ด้วยความรู้สึกเช่นนี้ผมคิดว่าไอรอนแมนลังกาวีผมน่าจะสามารถทำได้ดีกว่าเดิมในแง่ของการบริหารเวลา การซ้อม รวมไปถึงเวลาแข่งขัน

ผมวิ่งฮาร์ฟมาราธอนแรกด้วยเวลา 3 ชม. ซึ่งช้าไปกว่าแผนที่วางไว้ถึงครึ่งชั่วโมง จากที่จะมีความผ่อนคลาย 4 ชม. สำหรับ 21 km สุดท้าย กลายเป็น 3.5 ชม. ที่ค่อนข้างตึงเครียด อย่างไรก็ตามผมพอจะรู้คร่าว ๆ ว่า 3.5 ชม ในครึ่งหลังจะต้องเป็นอย่างไร จากการที่ได้แข่งขันรายการภูเก็ตมาราธอนในเดือนมิถุนายนแบบไม่ได้ซ้อม ที่ผมทำ 2.5 + 3.5 ชม. เพื่อให้ได้ 6 ชม. ทำให้แม้ว่าจะเครียดในแง่ของความพอดีของเวลา แต่ก็ผ่อนคลายในแง่ของประสบการณ์ที่เคยผ่านมาแล้ว อย่างไรก็ตามกว่าผมจะเริ่มคิดอะไรให้เข้าที่ได้ ผมก็มาอยู่ในสภาวะที่ต้องวิ่งต่ำกว่า 10 min/km เป็นระยะทางประมาณ 16 km นั่นหมายถึงผมต้องรักษาความเร็วนี้เป็นเวลา 2:40 ชม นั่นเป็นช่วงเวลายาวนานพอสมควรสำหรับการทำสมาธิระหว่างวิ่งเช่นนี้ ผมลองทดสอบกำลังขานิดหน่อย พบว่าผมสามารถวิ่งสบาย ๆ ที่  เพซประมาณ 7.5-8 ได้ ผมจึงเลือกจัดการกับช่วงสุดท้ายของการแข่งขันตามแผนเดิน 200 เมตร วิ่ง 800 เมตร ให้เพซเฉลี่ยของแต่ละกิโลเมตรต่ำกว่า 10 แล้วทำแบบนี้ซ้ำ ๆ 16 ครั้ง ซึ่งคลายความเครียดได้มาก ผมได้เดินยาวจนรู้สึกหายเมื่อย ผมไม่ต้องวิ่งเร่งแค่จัดให้ต่ำกว่า 10 ช่วงที่หยุดกินอาหารก็ต้องเร่งมากขึ้นเล็กน้อยในช่วงปลาย มีกองเชียร์ที่สำคัญสองคนที่ช่วยให้การวิ่งของผมสม่ำเสมอมากขึ้น คนแรกคือชายที่ใส่ชุดแฟนซี เหมือนหมีแบกคน เขามายืนเชียร์เป็นระยะ ๆ แล้วปั่นจักรยานไปดักด้านหน้าแล้วเชียร์ จริง ๆ แล้วเขามาเชียร์แฟนของเขาที่วิ่งเพซใกล้ ๆ กับผม เขาเตรียมอุปกรณ์เชียร์มาเป็นระยะ ๆ ตามแต่ stage ของการวิ่ง เริ่มต้นจากการใส่ชุดตะโกนเชียร์ ปรบมือ ปั่นจักรยานไปดักด้านหน้า แล้วทำซ้ำ ๆ แบบนี้ เปลี่ยนเสื้อมาใช้เสื้อที่เขียนว่า “Shut Up Legs” สำหรับนักจักรยานแล้วเป็น phrase ที่สำคัญของนักจักรยานที่เพิ่งรีไทร์ Jen Voight ทำให้ผมต้องวิ่งมากขึ้นกว่าที่วางแผนไว้ มีบางช่วงเขาปั่นจักรยานมาประกบเพื่อ pace ให้จนสุดท้ายแฟนเขาตามผมทัน เขาบอกผมว่าผมต้องวิ่งไปเรื่อย ๆ ดูแลแฟนให้เขา ส่วนเขาจะปั่นล่วงหน้าขึ้นไป ไม่นานนักแฟนเขาก็วิ่งแซงผมไปตอนถึงจังหวะเดินของผม แล้วผมก็ไม่เห็นทั้งสองคนอีกเลย อีกคนหนึ่งเป็นคนเชียร์ที่ผมเห็นสวนไปมาหลายครั้งในชุดวิ่ง ในช่วงหนึ่งกองเชียร์คนนี้มาวิ่งประกบเพื่อชวนคุยคาดว่าเพื่อช่วยเป็น pacer ให้ผมเฉย ๆ เขาเป็นคนเยอรมันที่มีภาษาอังกฤษค่อนข้างดี เคยลง Roth มาแล้ว 7 ครั้ง แต่ปีนี้มาเชียร์เฉย ๆ เขาเดินทางมาจาก Munich ซึ่งห่างจากบริเวณนี้ประมาณ 120km โดยประมาณ เขาวิ่งประกบแล้วคุยกับผมเกือบ ๆ สองกิโล ช่วงนี้ผมไม่ได้หยุดเดินเลย ทั้งสองคนนี้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การวิ่งรอบนี้ง่ายขึ้นมาก

ที่สำคัญที่สุดสำหรับการแข่งขันครั้งนี้และทุก ๆ ครั้งของผม คือครอบครัวของผม ผมจะเขียนเวลาโดยประมาณให้กับครอบครัวตามระยะต่าง ๆ เพื่อให้พวกเขาสามารถวางแผนวันของพวกเขาได้เอง เพื่อที่จะมาเจอกับผมได้เป็นช่วง ๆ ระหว่างการแข่งขัน ครั้งนี้ก็เช่นกัน การเดินทางมาจุดชมการแข่งขันช่วงเช้าไม่ใช่เรื่องง่ายมากนัก แม้ว่าผมกำหนดเวลาให้พวกเขาทั้งการแข่งขัน ผมคิดว่าช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดที่จะมาคือช่วง T2 เป็นต้นไป และส่วนสำคัญที่สุดคือช่วงเส้นชัยที่รายการนี้อนุญาติให้ครอบครัววิ่งเข้าเส้นด้วยกันได้ แตกต่างจากรายการ Ironman แต่อย่างไรก็ตามก็ขึ้นกับการตัดสินใจของพวกเขาเพราะขนส่งมวลชนจะสิ้นสุดก่อนที่ผมจะเข้าเสียชัยได้ทัน ช่วงปั่นเข้า Solar Hill ผมมีความหวังเพียงเล็กน้อยที่จะเจอพวกเขา ผมจะผ่านจุดนั้นในเวลา เที่ยงและบ่ายสามโมง ซึ่งจากตารางรถไฟแล้วถ้าเขาจะมาเจอผมที่นั่นเข้าต้องมารออย่างน้อยสองชั่วโมง ท่ามกลางคน 30,000 คน ผมแนะนำว่าแม้ว่าจะทำได้ก็ไม่น่าจะคุ้มค่าเท่าไร ซึ่งผมไม่เห็นพวกเขาในช่วงนั้นจึงค่อนข้างมั่นใจว่าจะเจอที่ T2 แต่กลับไม่พบในช่วง T2 อย่างไรก็ตามหลังออกจาก T2 ไม่ถึงกิโลก็พบกับพวกเขายืนรอเชียร์อยู่ ฮารุเรียกผมตั้งแต่ไกล ซาช่าวิ่งเข้ามากอด ส่วนเซนของวิ่งตามไป ผมกอดพวกเขาเอากำลังใจ แล้วบอกกับเซนว่าอีก 40 km เซนคงวิ่งตามไม่ไหว หลังจากนั้นผมหวังเพียงลึก ๆ ว่าจะได้เจออีกครั้ง เพราะต้องเว้นช่วงไปมากกว่าสามชั่วโมงผมจึงจะกลับมาจุดนี้อีกครั้งหนึ่ง ผมไม่เจอพวกเขาในรอบที่สองที่ผมระบุจุดไว้ให้ แต่ท้ายที่สุดแล้วก็พบกับเซนและภรรยาอีกครั้งที่ระยะทางประมาณ 38 กม. ช่วงก่อนวิ่งเข้า Beer Mile คราวนี้เซนต้องการวิ่งไปกับผมอย่างจริง ๆ จัง ๆ ระยะทาง 4 กม. ด้วยเพซที่ผมใช้อยู่นั้นไม่เกินความสามารถเขาอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตามพวกเขาเหลือเวลาอีกเพียงไม่ถึงสิบนาทีเพื่อวิ่งกลับไปขึ้นรถบัสเพื่อไปต่อรถไฟกลับโรงแรม เซนวิ่งคู่กับผมประมาณ  20 เมตรแล้วโบกมือลา 4 กม. สุดท้ายที่ผมวางแผนใช้เวลาอีก 40 นาทีตามเพซที่วางไว้ ผมใช้ไปเพียง 31 นาที เป็นกำลังใจเล็ก ๆ ที่ยิ่งใหญ่จากหัวใจน้อยใหญ่รายล้อมตัวผม มารู้ทีหลังว่าหลังจากเขาเจอผมรอบแรก พวกเขาก็กลับไปส่งฮารุและแม่ยายที่โรงแรมแล้วออกกันมาอีกรอบไม่ได้หยุดพักกันเลย น่าประทับใจ นี่เป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจสมัครงานนี้ในปีหน้าเพื่อมาแก้ไขช่วง Finale ครั้งนี้

13754256_1409545835729164_1974906100854905638_n

ช่วงสุดท้ายของการวิ่งเข้าเส้นชัยมันยิ่งใหญ่ ทุกคนตะโกนบอกว่าอีกสองร้อยเมตรสุดท้าย ตั้งแต่กิโลเมตรสุดท้ายเวที อัฒจรรสูงตระหง่านรอให้นักกีฬาคนสุดท้ายวิ่งเข้าเส้นชัย และรอคอยดูพลุเฉลิมฉลอง อย่างที่เขาว่ากองเชียร์แทบจะอุ้มเข้าเส้นชัยกันเลย มันเป็นเช่นนั้นจริง ๆ เสียงเชียร์เสียงปรบมือดังสนั่น มือที่ยื่นออกมาท้ังสองข้างทางที่ต้องวิ่งเข้าไปประมือจำนวนมากมายในหนึ่งรอบสนามนั้น และแล้วผมก็เข้าเส้นชัยล่วงหน้าก่อนเวลาไปประมาณ 8 นาทีกว่า ๆ ธงไทยจากกองเชียร์ถูกยื่นมาให้ ผมยืนงง ๆ ดูดซับความรู้สึกสุดท้าย ถ่ายภาพคู่กับธงเป็นระยะเวลาหนึ่งก่อนที่จะเดินกลับไปที่พักนักกีฬาเพื่อพบกับเพื่อน ๆ ชาวไทยที่มาด้วยกัน เป็นการแข่งขันที่ยิ่งใหญ่ สนุกสนาน น่าจดจำมากที่สุดสนามหนึ่งในชีวิต ผมคิดว่าผม crack the code of iron distance triathlon แล้ว ความสมดุลย์ของการฝึกซ้อม แข่งขัน เตรียมตัว ชีวิต และครอบครัว ยืนยันได้อย่างมั่นใจอีกครั้งว่า ไอรอนแมน แม้จะไม่ง่าย แต่ใคร ๆ ก็ทำได้ แม้ไม่เข้าตารางซ้อม เพียงแต่ต้องมี minimum requirements ที่เหมาะสมเพียงเท่านั้น สุดท้ายทั้งหมดนี่เป็นส่วนหนึ่งของความประทับใจในรายการ เพื่อเป็นการยืนยันว่า ปีหน้าพบกันใหม่ครับ Challenge Roth : We are triathlon

 

 

 

 

3 Comments

  1. suwaree พูดว่า:

    ขอบคุณมากที่shareประสบการณ์อันน่าประทับใจ เป็นจุดที่อยากไปให้ถึงเช่นกัน

ให้ความเห็น