วิ่งเป็นจุดอ่อนของชีวิตนักไตรกีฬาของผม สำหรับคนที่จบในระดับทอป 10-20% ของสนาม การวิ่ง 10K ที่ 50 นาที เป็นเรื่องที่น่าอับอายมาก หลังจากประสบอุบัติเหตุกับกระดูกสันหลัง จนกระทั่งนำมาซึ่งการวางมือจากไตรกีฬาเพราะไม่สามารถวิ่งได้ แล้วหาวิธีที่จะวิ่งกลับมาได้อีกครั้ง วิ่งจนเข่าเสื่อม หมอแนะนำให้หยุดวิ่ง ไปจนกระทั่งหลังกำเริบต้องเดินเกือบตลอดการแข่งขันระยะอัลตรา 50K ครั้งแรกในชีวิตของผม ทุกวันนี้แม้ผมจะยังซ้อมและลงแข่งขันไตรกีฬาอย่างสม่ำเสมอ แต่การวิ่งนั้นยังต้องปล่อยให้เป็นปริศนาตัวใหญ่ตั้งไว้ เข่า หลัง และอาการอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงวิ่งนั้น จะกำหนดผลลัพธ์ของการแข่งขันอย่างไม่สามารถกะเกณฑ์ใด ๆ ได้เลย ตั้งแต่ปีที่แล้วที่ผมตั้งใจจะโฟกัสเรื่องการวิ่งโดยเริ่มต้นปีด้วยการวิ่งมาราธอนจอมบึง แต่แล้วการปั่นจักรยานทางไกลเบี่ยงเบนความสนใจของผมออกไป กว่าจะรู้ตัวอีกที ผมก็ไป DNF สนามแรกในรายการไอรอนแมนลังกาวีในช่วงวิ่งนั่นเอง ปีนี้ผมไม่ได้ตั้งใจโฟกัสเรื่องการวิ่ง แต่เป็นการเตรียมตัวสำหรับแก้ตัวไอรอนแมนอีกครั้ง ด้วยการปูพื้นด้วยการปั่นทางไกลออแดกซ์ แต่การวิ่งของผมยังถูกละเลยเช่นเคย แม้ว่าผมจะเอาชนะไอรอนแมนได้ แต่ด้วยเวลาวิ่งยาวนานถึง 6:20 ชั่วโมง จึงแทบไม่สามารถนับได้ว่าผมวิ่งจบรายการไอรอนแมนนี้ ผมมั่นใจอยู่ลึก ๆ ว่า ถ้าหากต้องการให้ฟอร์มการแข่งขันไอรอนแมนที่ Roth สมบูรณ์แบบที่สุด ในระยะเวลาอีก 6 เดือนกว่า ๆ ที่เหลือนี้ ผมต้องปูพื้นการวิ่งให้มั่นคง และแล้วผมจึงเลือกที่จะใช้ approch เดียวกันกับการปั่นนั่นคือ เล็งไปที่ระยะอัลตรา ทำให้มาราธอนกลายเป็นเรื่องของการวอร์มอัป ทันทีที่มีเพื่อนทีม V40 ชวนไปวิ่งที่เชียงใหม่ในรายการโป่งแยง ซึ่งประกอบไปด้วยระยะ 66, 30, 10 และ 4Km ผมจึงกระโจนลงสมัครระยะ 66K ในทันที ทั้ง ๆ ที่ประสบการณ์ที่ผมมีคือ การเดิน 50K TNF เท่านั้น ส่วนการซ้อมในปีนี้ก็มีเพียงระยะ 42K ที่เป็นส่วนหนึ่งของไอรอนแมนลังกาวีที่ใช้เวลาไปถึง 6:20 แต่ผมคิดว่าเราต้องเดินไปถึงที่ขอบเหวจึงจะสามารถก้าวข้ามเหวออกไปได้ ทางเดียวที่จะสร้างความมั่นใจสำหรับการวิ่งอีกครั้งก็คือวิ่งมันไปให้ถึงที่สุด ด้วย condition ที่ extreme เท่าที่จะเป็นไปได้
ในการแข่งขันไอรอนแมนลังกาวี ผมได้ประจักษ์ถึงความน่าสะพรึงกลัวของ สภาวะ Hyponatremia with overhydration มาแล้ว เป็นสภาวะเดียวของการ hydration ที่เรียกได้ว่าอันตรายที่สุด อาการของน้องเมื่อถึงเส้นชัยคือ collapse หลังจากนั้น มีอาเจียรพุ่ง ผ่านไปสักพักใหญ่ ๆ มีอาการชัก ต้องแอทมิทเพราะพบว่ามีสภาวะสมองบวม สำหรับผมนี่คือสุดขอบของกีฬาอัลตราที่ต้องทำความเข้าใจเอาไว้ให้ดี โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาเรื่องการจัดการ nutrition อย่างผม หลังจากวันนั้นผมจึงศึกษาเรื่อง hydration อย่างเอาเป็นเอาตาย เพื่อต้องการเขียนบทความสักชิ้นหนึ่งเพื่อถ่ายทอด เมื่อพร้อมแล้วก็ถึงเวลาที่จะทดลองจริง PYT เหมือนจะเป็นสนามที่จะได้มีการทดสอบที่น่าสนใจ ผมคุ้นเคยกับการแข่งขันในสภาวะร้อน ๆ ของเมืองไทย การดูแลเรื่อง dehydration ด้วยการดูสีปัสสาวะ อาการปากแห้ง ทั้งหลายเริ่มเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ง่าย สังเกตุได้ง่ายขึ้นสำหรับผม การสังเกตุปริมาณเกลือแร่ที่สูญเสียจากเหงื่อ และขี้เกลือตามเสื้อผ้าก็พอจะช่วยให้ประเมินสภาวะการขาดเกลือแร่ได้บ้าง แต่ลักษณะอาการของคนขาดเกลือแร่นั้นเป็นอย่างไรผมยังไม่เคยรู้สึกด้วยตนเอง ส่วนเรื่องพลังงาน หรือน้ำตาลนั้นผมพอจะเข้าใจอาการอยู่บ้าง แต่ปริมาณแคลลอรี่ที่ต้องใส่เข้าไปในการวิ่งนั้นผมยังไม่ค่อยมั่นใจว่ามากน้อยเท่าไรจึงจะเพียงพอ ต่างจากการปั่นจักรยานที่ผมใช้เวลาเกือบทั้งปีเพื่อที่จะหาปริมาณที่เหมาะสมสำหรับผม คราวนี้จึงเป็นโอกาสที่จะได้ทดสอบหลาย ๆ อย่างเพื่อที่จะเปิดประตูเข้าสู่โลกของอัลตราเทรล
สนาม PYT66 เป็นสนามที่ถือว่าโหดพอดูสำหรับผมที่มีประวัติบาดเจ็บหลัง หลังจากวิ่งเทรล 50K ครั้งแรกตั้งแต่ระยะไม่ถึง 20K ด้วยระยะ 66K Elevation gain 3600+ m. ทำให้ได้คะแนนสะสมเทียบเท่ากับ TNF100 เลยทีเดียว แถมผู้จัดโปรหนำยังเปรย ๆ ว่าจริง ๆ แล้วโหดกว่า TNF100 เสียอีก แต่ไม่เป็นไรถ้าอยากจะรู้ว่ามันคืออะไร ระยะ 30K นั้นไม่ให้คำตอบผมแน่ ๆ ลงไป 66K นั่นแหละ อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด ยังไงเสียผมก็คงไม่ถึงกับเสียชีวิตอย่างแน่นอน ผมจองตั๋วขึ้นไปล่วงหน้าหลายวัน เนื่องจากสัปดาห์ก่อนหน้ามีงานแต่งงานของน้องชาย นั่นหมายถึงผมไม่ค่อยมีโอกาสซ้อมอย่างที่ควรจะเป็น การใช้ชีวิตตะลอน ๆ นั้นไม่ง่ายนักที่จะใส่ตารางวิ่งยาวเข้าร่วมด้วยสำหรับผม เนื่องจากเราไปถึงก่อนหลายวันเรานั่นหมายถึงครอบครัวเราทั้ง 5 ชีวิต จึงวางแผนไปเที่ยวเชียงรายกันก่อนที่จะกลับมาลงทะเบียน ฟังบรีฟในวินาทีสุดท้าย แต่สุดท้ายก็เข้าไปฟังไม่ค่อยทัน ไม่รู้เหมือนกันว่าเขาพูดอะไรบ้าง แต่ได้ยินแว่ว ๆ ว่าจะมี sweeper นั่นหมายถึงผมมีคนวิ่งเป็นเพื่อนแน่ ๆ โดยประวัติแล้วในสนามเทรล ผมอยู่อันดับสุดท้ายทุกครั้ง และอีกเรื่องคือเส้นทางส่วนใหญ่รถจะเข้าถึง มีแค่บางช่วงเท่านั้นที่รถไม่สามารถเข้าไปได้ นั่นหมายถึงไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ผมก็ไม่จำเป็นมากนักที่จะต้องลากสังขารไปเพื่อให้ถึง Aid Station ผมพักที่บ้านของซี ที่เป็นส่วนหนึ่งของผู้อาสาในการจัดงานครั้งนี้ ร่วมกับเพื่อนทีม Very Forty อีกสองคน ผมจัดของเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่เครียดอะไรนัก และไม่ได้เตรียมอะไรเป็นพิเศษนอกจากอุปกรณ์บังคับที่ทางรายการกำหนดไว้ เป้น้ำ ไฟฉาย นกหวีด โทรศัพท์ เสื้อหนาว ผมไม่ได้เตรียมอาหารอะไรไปเลย เพราะต้องการทดสอบว่าอาหารตาม Aid Station จะสามารถพาผมจบในเส้นทางได้หรือไม่ ผมต้องเตรียมอะไรเป็นของตัวเองบ้างในคราวต่อ ๆ ไป ผมเข้านอนค่อนข้างเร็วเพราะต้องตื่นตั้งแต่ตีสาม มาหาของกินก่อนจะออกจากบ้านตอนตีสี่
ผมนอนหลับไม่ดีนัก อาจจะเพราะตื่นเต้น แม้ว่าจริง ๆ ผมไม่รู้สึกตื่นเต้นเลยแม้แต่น้อย ยังไม่ทันตีสามดีผมก็เริ่มรู้สึกตัว จึงออกไปอาบน้ำ ไม่ทันไรเซนก็กระเด้งขึ้นมาทำเสียงสดใส บอกว่าเซนตื่นแล้ว พร้อมแล้ว แผนของแม่ที่จะหลับยาวไม่พาเด็ก ๆ ออกไปวิ่งกัดฟันรัน ก็ต้องพังทลาย แม่ยังคงต้องคิดหาวิธีที่จะออกจากบ้านไปส่งพ่อวิ่งแล้วรอเพื่อออกวิ่งของตัวเองตอน 7 โมงเช้า ยังไม่นับรวมการวิ่งขึ้นลงเขาระยะ 4K โดยมีฮารุอุ้มคาดเอวไว้โดยตลอด เราไปถึงก่อนปล่อยตัวประมาณแค่ 10 นาที ผมรีบหาน้ำใส่เป้น้ำ แล้วเข้าห้องน้ำก่อนออกตัวไป สถานที่ออกตัวคือ สวนพฤกษศาสตร์พระนางเจ้าฯ บริเวณจุดสูงสุดของสวนซึ่งเป็นเส้นชัยเช่นเดียวกัน ผมไม่ค่อยอยากจะนึกสภาพตอน 64K แล้วต้องมาปีนเขาลูกนี้เป็นระยะทาง 2K สุดท้าย ผมออกตัวท้าย ๆ ตามสไตล์ของผม ออกไปพร้อมกับตุ๊จอมอึด เราไปกันเรื่อย ๆ ได้ไม่นานตุ๊ก็จำเป็นต้องปล่อยทุกข์ ผมจึงถือโอกาสล่วงหน้าไปก่อนเพราะผมมีแนวโน้มที่จะช้ากว่าตุ๊ ไม่นานนักตุ๊ก็ไล่ตามผมมาได้อีกก่อนที่เราจะวิ่งไปด้วยกันเรื่อย ๆ ผมเพิ่งเข้าใจว่าการวิ่งเทรลนั้น ไม่ใช่เพียงแค่การวิ่งในป่าเขา นอกถนน บนเส้นทางดินไม่ราบเรียบ ผมคาดหวังว่าจะพบเจอหิน ดิน โคลนบ้าง น้ำบ้างตามสภาพเส้นทางที่ไม่ได้ลาดยาง แต่สิ่งที่ผมไม่เคยสัมผัสหรือไม่ได้คาดคิดมาก่อนคือความชัน ทั้งทางขึ้นและทางลง
ผมไปวิ่งเทรลที่คิดว่าน่าจะเป็นครั้งแรกของผม ที่ญี่ปุ่น แต่ระยะเพียง 38K Elevation gain 1800 m ในคราวนั้น ความชันสูงสุดที่เราต้องปีนคือ 1000 m ในระยะ 4K ซึ่งเราต้องปีนทั้งขึ้นและลง ผมจึงไม่รู้สึกว่ามันผิดปกติอะไรมากนัก และรู้สึกว่านี่อาจจะเป็นอะไรที่ไม่ปกติ แต่ที่ PYT เราไม่ได้เจออะไรแบบนั้น แต่เราเจอ elevation gain ประมาณ 500ม. ต่อระยะทาง 5Km หลาย ๆ ครั้ง ขึ้น ๆ ลง ๆ อยู่แบบนี้ตลอดวัน ไม่มีทางราบเสียเลยเท่าที่จะได้ นั่นหมายความว่าในความจริง แล้วสิ่งที่นักวิ่งอัลตราเทรลชอบคุยกันเรื่อย ๆ นั่นคือ elevation gain การซ้อมเทคนิค การขึ้นเขา ลงเขา การใช้รองเท้าที่เหมาะสม และอื่น ๆ ที่ผมไม่เคยจะให้ความสนใจ มันเป็นเรื่องที่เป็นหัวใจของการวิ่งอัลตราเทรล นอกเหนือจากการควบคุมการ hydration และ การเติมพลังงาน ที่ผมต้องการมาฝึกในคราวนี้ ความซับซ้อนของเส้นทาง หมายถึง elevation gain ทำให้การใช้พลังงานไม่เป็นไปตามที่ผมเคยคุ้นเคย การเติมพลังงานสำหรับผมไม่ใช่เรื่องง่าย ชีวิตนักไตรกีฬา หรือแม้กระทั่งการปั่นออแดกซ์นั้น โดยส่วนมากสามารถเติมพลังงาน และน้ำด้วยอัตราคงที่สม่ำเสมอเรื่อยๆ ได้ แต่รูปแบบของการวิ่งเทรลไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับผม เพราะสภาพของตับ กระเพาะ รวมไปถึงหลังทำให้ผมย่อยอาหารได้ช้า พลังงานมาไม่ทัน ต้องใช้วิธีกินล่วงหน้านาน ๆ แล้วค่อย ๆ กินทีละนิดไปเรื่อย ๆ แต่จะแบกไปเพื่อกินเรื่อย ๆ หลังผมก็อาจจะมีปัญหาจนทำให้วิ่งต่อไม่ได้ ด้วยประสบการณ์ที่ยังน้อย ผมจึงยังไม่รู้ว่าจะจัดการกับปัญหานี้อย่างไร
PYT พาเรามาเจอเนินแรกเป็นการต้อนรับที่น่ารักที่สุด ที่คลายความสงสัยแรกว่าทำไมจุดให้น้ำจุดแรกจึงดูไกล้นัก ระยะ 5 km กับ Gain 309 m ไม่สามารถทำให้ผมเห็นภาพได้ถ้าไม่ได้มาเดินเอง (งานนี้ผมแทบไม่มีวิ่งเลยครับ) แต่นี่มันเป็นเพียงขนมเมื่อเส้นทางสู่ม่อนหล้อง 6.1 km Gain 575 m มันทำให้ผมเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงความเป็น trail run วิวสวย ๆ ที่ม่อนหล้องทำให้ความรู้สึกเหน็ดเหนื่อยหายไปอย่างปลิดทิ้ง ผมมาเดิมน้ำและอาหารที่จุดให้น้ำ A1 อากาศเริ่มเย็น เพราะตอนนี้เราอยู่ที่ระดับความสูงกว่า 1400 ม. ผมคว้าเสื้อกันลมออกมาสวมทับแล้วออกตัวต่อไปเรื่อย ๆ มุ่งหน้าไปสู่ม่อนวิวงาม แม้ว่าวิวมุมแคบ ๆ จะงดงามสมชื่อ แต่ภาพมุมกว้าง ๆ นั้น ถือว่าไม่น่าสนใจเพราะเป็นจุดกางเตนท์ของนักท่องเที่ยว มีห้องน้ำ อาคารเล็ก ๆ บดบังคำที่เรียกว่าวิวงามนั้นไปเยอะ กับระยะทาง 5.6 km Gain 249 m จึงรู้สึกว่าไม่คุ้มค่าเท่าไรนัก ผมมาใจจดจ่ออยู่กับอาหารเช้า ที่เวลา 8 โมงครึ่งนี่ดีกว่า เพราะจุดให้อาหารถัดไปจะอยู่ห่างออกไปกว่า 25 km แม้ว ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 5 ชม. สำหรับผมในการที่จะดั้นด้นไปให้ถึง ตอนนี้ผมเริ่มที่จะพอประมาณเพซและความเร็วของตัวเองได้แล้ว ผมพยายามกินให้มาก แต่ไม่ได้มากมายนักเพราะในใจรู้สึกว่าตัวเองยังเพิ่งเริ่มมาได้เพียงแค่ 16.7km แม้ว่าเวลาจะผ่านไปแล้วร่วม 3 ชมเศษ หลังจากอาหารเช้าเราก็มุ่งหน้าต่อไป ผมกับตุ๊ยังอยู่ด้วยกัน เป็นครั้งสุดท้ายกับระยะทาง 6.1 km Gain 144 m มุ่งหน้าสู่จุด A3 วัดปงไคร้ ผมเริ่มสำรวจตัวเอง การกินผมยังค่อนข้างดีอยู่ ผมไม่มีอาหารติดตัวมากนัก คาดหวังเอาจากจุดให้น้ำที่ห่างออกไประยะ 1-2 ชม. ผมยังกินน้ำได้อย่างสม่ำเสมอ และอากาศก็เย็นสบายดีการ dehydrate คงไม่ใช่เรื่องน่าห่วง มีแค่ การชนกำแพง หรือ ที่เรียกว่า Bonk เนื่องจากปริมาณ glycogen หมด รวมไปถึง hypoglycemia น้ำตาลตก และ hyponatrimia คือ โซเดียมไม่พอ เท่านั้น ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญสำหรับผู้ป่วยโรคตับในกีฬาคนอึดรูปแบบนี้
การ dehydrate นั้นเคยเป็นปัญหาหลักของกีฬาที่ผมเล่น ซึ่งมักจะต้องอยู่กลางแจ้งตลอดทั้งวัน การควบคุมปริมาณน้ำและเฝ้าระวังปริมาณปัสสาวะ เฝ้าดูอาการป้องกันภาวะไตวายจึงเป็นเรื่องที่สำคัญอันดับต้น ๆ หรือสำหรับนักกีฬาที่สนใจผลงานภาวะ dehydrate เพียงเล็กน้อยก็ส่งผลให้สมรรถนะลดลงอย่างเห็นได้ชัด เพราะน้ำที่สูญเสียไปนั้นร่างกายจะพยายามรักษาสมดุลย์ของน้ำภายในเซลเอาไว้ ในขณะที่ปริมาณน้ำระหว่างเซลและในหลอดเลือดจะลดปริมาณลง เมื่อปริมาณเลือดลดลงร่างกายจึงต้องการอัตราสูบฉีดที่สูงขึ้นเพื่อส่งออกซิเจนและสารอาหารให้เพียงพอกับการใช้ในขณะนั้น ส่งผลให้อัตราการเต้นของหัวใจนั้นจะสูงขึ้น สมรรถนะโดยรวมจึงลดลง และอาจจะมีอาหารตะคริวร่วมด้วย
ในขณะเดียวกันที่สูญเสียน้ำร่างกายก็จะพยายามรักษาสมดุลน์ของเกลือแร่ภายในน้ำในร่างกายเอาไว้ด้วย ความซับซ้อนจึงบังเกิด เพราะมีสองตัวแปรเข้ามาเกี่ยวข้อง ปริมาณน้ำที่อาจจะน้อยเกินไป dehydrate หรือมากเกินไป overhydrate ปริมาณเกลือแร่ (โซเดียม) มากเกินไป hypernatremia หรือน้อยเกินไป hyponatrimia โดยปกติแล้วร่างกายจะสูญเสียเกลือแร่จากร่างกายผ่านเหงื่อ ดังนั้นในการเติมน้ำเข้าร่างกายจึงควรมีการเติมเกลือแร่ร่วมด้วยเพื่อรักษาสมดุลย์นี้ไว้ สิ่งที่อันตรายที่สุดในกระบวนการนี้คือ dilutional hyponatrimia นั่นคือ อาการที่มีการ overhydrate ร่วมกับ hyponatrimia เกิดการการสูญเสียเกลือแร่แต่การเติมน้ำเข้าไปเกินพอทำให้ปริมาณเกลือแร่ในของเหลวภายนอกเซลที่เพิ่งเติมเข้าไปนั้นมีปริมาณเกลือแร่ต่ำเกินไป ทำให้เกิดการออสโมซิสของน้ำเข้าสู่เซลต่าง ๆ โดยเฉพาะเซลสมองทำให้เกิดอาการสมองบวม อาเจียน และชักร่วมด้วย อาการเริ่มต้นของสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้มีความคล้ายคลึงกันประสบการณ์ ความรู้ ความเข้าใจนั้นจะทำให้สามารถแยกแยะสาเหตุของความผิดปกติของร่างกายได้
อาการ Bonk หรือขาดน้ำตาลนั้น จะมีอาการเหมือนน้ำมันหมดอย่างกระทันหัน แรงไม่มี ขาหนัก เริ่มง่วงเหงาหาวนอน อาจจะมึนหัว เวียนหัวจะเป็นลมร่วมด้วย แก้ด้วยการให้อาหารจำพวกคาร์โบ หรือน้ำตาล แต่ถ้าอาการเหล่านี้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณหนึ่งในการฟื้นตัว อาการ dyhydrate สังเกตุได้จากปากแห้ง น้ำลายเหนียว ปัสสาวะสีเข้ม หรือไม่ปัสสาวะเลยเป็นเวลาหลายชั่วโมง แก้ด้วยการเติมน้ำ และควรมีเกลือแร่เพิ่มด้วยเพื่อป้องกันเกลือแร่ต่ำ ระวังอาการ heat stroke เนื่องจากร่างกายพยายามเก็บน้ำในร่างกายไว้ ไม่ยอมเสียออกมาเป็นเหงื่อเพื่อระบายความร้อน จะเหงื่อแห้ง เหมือนจะมีอาการหนาวสั่น ตัวร้อน เข้าร่วมด้วย แต่ที่น่ากลัวที่สุดคือ dilutional hyponatrimia จะมีอาการมึนงงเช่นเดียวกัน แต่มีอาการคลื่นไส้ร่วมด้วย หรืออาจจะมีอาเจียน สังเกตุว่าปากไม่แห้ง น้ำลายไม่เหนียว การแก้ไขด้วยการเติมเกลือแร่นั้น จะหายจากอาการค่อนข้างเร็ว และดูสดขึ้นเกือบจะทันที ทั้งหมดทั้งสิ้นนี้เป็นอาการที่ผมนั้นสัมผัสมาแล้วทั้งสิ้น แต่ความเข้าใจยังมีน้อย ผู้ป่วยตับอักเสบ ตับแข็งจะมีความเสี่ยงต่ออาการกลุ่มนี้ได้ง่าย เพราะตับเป็นอวัยวะภายในที่ต้องทำงานร่วมกับไต เพื่อที่จะควบคุมความเป็นไปเหล่านี้ของร่างกาย
ผมเข้าจุดให้น้ำ A3 ที่ระยะ 22.8 km ที่ความสูง 993 m จากระดับน้ำทะเลร่วมกับตุ๊เป็นครั้งสุดท้าย เพราะด่านต่อไปเป็นระยะ 9.2 km Gain 500 m แม้ว่าเส้นทางจะเขียนเอาไว้เช่นนี้แต่ในความเป็นจริง จะแบ่งครึ่งทางเป็นทางลงเขาและครึ่งทางเป็นทางขึ้นเขา เมื่อเส้นทางเริ่มเงยหัวขึ้นผมก็เห็นหลังตุ๊เป็นครั้งสุดท้าย หลังจากถ่ายภาพวิวสวย ๆ ริมทางด้วยกัน ผมไม่อยากเร่งเครื่องเกินกำลังของผม เพราะนี่คือ ultra trail ครั้งแรก ผมยังไม่มั่นใจว่าที่ผมเบรคกินกล้วย 1-2 ลูกทุก ๆ สองชั่วโมงมันเพียงพอแค่ไหน ว่าแล้วผมก็พยายามเตือนตัวเองให้ดูดน้ำต่อไป ดูเหมือนว่าผมจะสามารถเติมน้ำให้ตัวเองได้อย่างสม่ำเสมอประมาณ 2 ลิตรทุก ๆ 2 ชม. แต่ผมแทบไม่ได้เติมเกลือแร่เลย ผมจำไม่ได้ว่าเห็นเกลือแร่ตอนไหนบ้าง ผมไม่ได้พกเกลือแร่ซองมาด้วย สปอนเซอร์ที่มีแจกในถ้วยเล็ก ๆ ผมก็กินไปทั้งหมดทั้งสิ้นเพียง 1 แก้ว เพราะใจมัวแต่พะว้าพะวังกับการกินกล้วย และเติมน้ำใส่เป้ในทุก ๆ ครั้ง แต่แล้วก็ยังลืมเสียได้เมื่อมาถึงจุดให้น้ำ A4 จุดชมวิวแม่สะเมิง สมค่าความเป็นจุดชมวิว ขณะนี้ตุ๊นำหน้าผมไปแล้วประมาณสิบห้านาที ผมใช้เวลาอยู่ที่จุดพักนี้เป็นเวลานาน เพราะตอนนี้รองเท้าเริ่มกดหัวแม่เท้าผมมากเกินที่จะทนไหวแล้ว ผมวิ่งระยะทางประมาณ 4 km สุดท้ายเพื่อเข้าจุดพัก ด้วยเท้าเปล่า ๆ ผมพยายามนั่งกินโน่นนี่นั่น และผ่อนคลายให้มากที่สุด เพื่อพักขา ผมคุยกับเจ้าหน้าที่ประจำจุดอย่างออกรสชาติ ปล่อยให้คนอื่น ๆ ออกตัวแซงผมไป ระยะต่อไปคือ 9.6 km Gain 439 m ผมต้องการเพิ่มพลังให้มากที่สุดในเวลานี้
ผมออกตัวอีกครั้งด้วยแผนใส่รองเท้าครึ่งทางและถอดรองเท้าอีกครึ่งทางถ้าพอที่จะทำได้ เส้นทางช่วงนี้แม้ว่าจะไม่ได้มีวิวที่สวยสดงดงาม เช่นเดียวกับที่จุดชมวิว แต่เป็นเส้นทางลัดเลี้ยวเข้าไปตามหุบ เป็นทางถนนขนาดใหญ่ที่ดูร้าง ไม่มีผู้คนใช้ผ่านทางมากนัก บรรยากาศคล้าย ๆ เส้นทางที่ผมวิ่งในยาโกชิมา ผมวิ่งไปได้ไม่นาน ก็รู้สึกว่าต้องถอดรองเท้าเพราะมันเจ็บจนเริ่มลงเท้าไม่ได้ แต่เมื่อถอดรองเท้าสภาพเส้นทางก็ต้องทำให้เจ็บปวดไม่แพ้กัน ที่เลวร้ายไปกว่านั้นผมมาพบว่าผมลืมเติมน้ำเพิ่ม และน้ำผมหมดเกลี้ยงหลังจากเดินออกมาจากจุด A4 ครึ่งชั่วโมงกว่า ๆ ถ้าเดินไปกลับก็ต้องเสียเวลาไปอีกหนึ่งชั่วโมงผมจึงเสี่ยงที่จะไปหาเอาดาบหน้า น้ำลวยผมเริ่มเหนียว แต่เดินมาได้ประมาณชั่วโมงเศษก็พบกับผู้ใจดี รีสอร์ทอะไรจำชื่อไม่ได้ มีน้ำตั้งไว้ให้บริการ ผมจึงรีบเข้าไปสวาปาม แล้วกรอกใส่เป้ไปอีกเล็กน้อย ที่จุดนี้มีกล้วยหอมงาม ๆ ตั้งไว้ให้ด้วย แต่ผมไม่รู้สึกอยากกิน ในใจก็เริ่มเสียว ๆ แล้ว อาการ dehydrate จะมาร่วมกับ loss appatite เสมอ ผมมุ่งหน้าต่อไป จนกระทั่งผมเข้าถึงจุด A5 ประมาณบ่ายสองโมง ก่อนเวลา Cut off อยู่ 1:40 ชม. จึงไม่น่ากังวลอะไร ตอนนี้ผมห่างจากตุ๊เป็นเวลา 50 นาทีแล้ว ผมคว้าข้าวกล่องที่รู้ภายหลังว่าเป็นหนึ่งในไม่กี่กล่องสุดท้าย ผมใช้เวลาที่จุดพักนี้นานมากเมื่อเทียบกับคนอื่น ๆ อีกแล้ว นานจนคนสุดท้ายเข้ามา ผมเสียเวลาไปกว่า 45 นาที นอกเหนือจากการกิน พักเท้า และขาแล้ว ผมก็ถือโอกาสโทรหาครอบครัวไปด้วย เพื่อแจ้งว่าโดยรวม ๆ ผมยังรู้สึกดีอยู่ เพียงแค่เจ็บนิ้วเท้า
ผมออกตัวไปอีกครั้งเพื่อมุ่งหน้าไปยัง A6 บ้านผานกกก ระยะเพียง 5.2km Gain 274m เรียกได้ว่าเป็นขนม เมื่อเทียบกับส่วนอื่น ๆ ที่เพิ่งผ่านมาในวันนี้ ผมเดินผ่านระยะ 42.2 km ไปได้ไม่นานนัก เริ่มความเป็นอัลตราของ ultra trail ช่วงนี้เริ่มมีใครหลาย ๆ คนตามผมมาทัน เราเดินร่วมกันไปเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ประมาณ 4-5 คน บางครั้ง 6-7 คน ซึ่งเป็นช่วงเดียวของการแข่งขันครั้งนี้ที่ผมมีเพื่อนร่วมทางมากที่สุด การมีคนร่วมเดินด้วยกันมันก็สนุกไปอีกแบบ ผมทำความเร็วได้ดีขึ้น แม้ว่าจะทำให้เจ็บหัวแม่เท้ามาก ๆ ก็ตาม แต่แล้วก็เหมือนหนังม้วนเก่ากลับมาฉายซ้ำ มันมีเหตุผลที่ภายในระยะ 5 km จะต้องมีจุดพัก นี่เป็นช่วงที่ชันที่สุดของการแข่งขันครั้งนี้ ชันขึ้นไป 274m นั่นในระยะประมาณ 3 km แล้วต่อด้วย ทางลงแบบโหด ๆ เพื่อคืนความสูงทั้งหมดภายในระยะ 2 km ที่เหลือ โคกนี้รีดทุกอย่างออกจากตัวผม ผมเข้า A6 ด้วยอาการสโลสเล ไปถึงก็เริ่มกินอะไรไม่ลง พยายามกินกล้วยไปหนึ่งใบ เติมน้ำให้เต็มเป้ ที่จุดนี้ซีมาอาสาเป็นเจ้าหน้าที่ จึงมีการถ่ายภาพรายงานครอบครัวลง FB นิดหน่อย ผมพยายามฝืนยิ้มเล็ก ๆ เราคุยกันเฮฮาเพราะเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดของวัน และรอจนกระทั่งสองคนสุดท้ายเดินเข้ามาสมทบ กลุ่มสุดท้ายนี้มีทั้งหมด 10 คนตอนนี้มีคนที่ DNF ไปแล้ว 7 คน เราเป็นกลุ่มสุดท้ายที่จะร่วมเดินทางออกไปพร้อมกับ sweeper เทพ ๆ ผมมาถึง A6 ประมาณ 4 โมง ระยะทางรวม 46.8km ใช้เวลาไปถึง 11 ชม. แล้ว สร้างความกังวลให้กับครอบครัวไม่ใช่น้อย เพราะ A5-A6 ห่างกันเพียง 5 กม. ผมใช้เวลาไปร่วม 2 ชม. ผมฝากให้ซีรายงานครอบครัว ส่วนตุ๊ล่วงหน้าผมไปแล้วชั่วโมงกว่า ๆ แล้วผมก็ร่วมเดินออกไปพร้อมกันกับกลุ่มสุดท้าย
เมื่อออกตัวมาได้ไม่กี่ก้าวผมก็เริ่มรู้ว่าผมอยู่ในสภาพที่ไม่ค่อยปกติเท่าไรแล้ว มอง ๆ ไปแล้วรู้สึกว่าทุกคนเดินเร็วกว่าเพซที่ผมจะรู้สึกสบาย ด้านหน้า ๆ เริ่มวิ่งกันแล้ว ผมวิ่งไม่ค่อยออก มีคนที่เดินร่วมกับผมอยู่อีกสองสามคน แล้วแต่ละคนค่อย ๆ ทิ้งห่างผมออกไปเมื่อทางเริ่มชันขึ้น ผมเริ่มเข้าสู่โหมด slow motion พยายามก้าวไปเรื่อย ๆ ใช้เจ้าไม้เท้าคาร์บอนที่ขนกลับมาจากญี่ปุ่นให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตอนนี้ผมเหลือเป็นคนสุดท้ายกับ sweeper อีกสามคน ผมเหลือบมองนาฬิกาตอนนี้ผมก้าวข้ามระยะ 50 km ไปเรียบร้อยแล้วด้วยเวลา 12 ชม กว่า ๆ ผมเริ่มรู้สึกพึงพอใจ เพราะไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อจากนี้ ผมได้ก้าวข้าม PR เมื่อสองปีที่แล้วของผมมาแล้ว 50K TNF ขณะนี้ไม่มีอาการทางหลัง หรือ เข่าใด ๆ ทั้งสิ้น นั่นหมายความว่า core ของผม แข็งแรงเพียงพอ เหมาะสมเพียงพอกับ running gait ของผมในขณะนี้ ประตูของ ultra trail ได้เปิดขึ้นแล้วจริง ๆ เส้นทางจาก A6 ไปยัง A7 นั้น 9.4km Gain 386m ผมค่อย ๆ ไต่ขึ้นมาเรื่อย ๆ แล้วเริ่มหาว ต้องหยุดยืนบ่อยครั้ง ครั้งสุดท้ายเริ่มทรงตัวยาก เหล่า sweeper แนะนำให้ผมนอนพัก กินส้ม สัก 10 นาที ผมไม่ลังเล เพราะตอนนั้นผมเริ่มเดินไปข้างหน้าไม่ได้แล้ว เนินนี้มันจะยาวขึ้นไปเรื่อย ๆ ประมาณ 6 km เหล่า sweeper ว่าไว้เช่นนั้น ตอนนั้นผมยังไม่ได้ไม่ถึง 170m เลย 10 นาทีผ่านไปไวเหมือนโกหก ผมต้องลุกขึ้นเดินต่ออีกแล้ว แต่ไปได้อีกไม่นานนัก ผมก็รู้สึกคลื่นเหียน เวียนหัว คิดอะไรไม่ค่อยออก จึงหยุดยืนอีกครั้ง ปิดตา เห็น sweeper มายืนคุมด้านหลังอย่างกังวล ก่อนที่จะแนะนำให้ผมนั่งพักอีกครั้ง แล้วพยายามอธิบายว่า DNF เป็นเรื่องธรรมชาติ การฝืนอาจจะก่อนให้เกิดอันตรายกว่าที่คิด หนึ่งใน sweeper วันนั้นเป็นหมอ จำได้คุ้น ๆ ว่าชื่อหมอหน่อย ส่วนอีกคนคือเทพริชชี่ที่ได้ที่สองในวันนั้น อีกคนจำหน้าได้แต่ชื่อเลือนรางมาก ๆ ตอนนั้นเหลือระยะอีกประมาณ 5 km และเวลาเริ่มจะไม่ทันจุด Cut off ที่ A7 แล้ว เราจึงตัดสินใจที่จะไม่ดันทุรังกันต่อไป ขณะที่ sweeper วิ่งหาสัญญาณโทรศัพย์เรียกให้เจ้าหน้าที่เข้ามาขนตัวผมออกไป ผมนอนรอหลับ ๆ ตื่น ๆ คิดอะไรบ้างจำไม่ค่อยได้แล้ว ความจำที่ได้ไม่ต่างจาก DNF แรกที่ลังกาวีไม่มากนัก แต่แตกต่างกันที่ลังกาวีผมมีความรู้สึกหนืด ๆ เท้าหนัก ๆ รู้สึกว่าหมดแรง ส่วนคราวนี้คลื่นไส้ เวียนหัว คิดอะไรไม่ค่อยออก แต่สิ่งที่เหมือนกันคือหลังจากเหตุการณ์เมื่อนึกกลับไป ทุก ๆ อย่างรู้สึกเหมือนอยู่ในฝัน
ผู้จัดคุณนที ขับรถเข้ามาเอง พร้อมกับซี เพื่อมาขนผมไปส่งที่เส้นชัย ผมหลับ ๆ ตื่น ๆ จนกระทั่งหมอหน่อยเปรย ๆ ว่าอาการเหมือน hyponatrimia แล้วยื่นสปอนเซอร์ที่มีในรถหนึ่งกระป๋องมาให้จิบ ผมกินไปได้ครึ่งกระป๋องก็เริ่มมีสติสตังค์ขึ้นมา เริ่มคุยกับสมาชิกในรถได้ ซีบอกภายหลังว่าหลังจากที่ทางผู้จัดประเมินอาการผมจากการพูดคุยในรถแล้ว พวกเขาก็ไม่ได้วิตกกังวลอะไร เมื่อถึงเส้นชัยผมรู้สึกหิวอยากกินอะไร ๆ เหมือนไม่ได้เคยคลื่นไส้มาก่อน จึงจัดก๋วยเตี๋ยวหมูชามใหญ่ ต่อด้วยมาม่าอีกหนึ่งกล่อง ทำให้ผมนึกถึงอาการคล้าย ๆ กันแบบนี้ครั้งแรกของผมตอนปั่น 300 เขาใหญ่ที่ผมคลื่นไส้กินอะไรไม่ได้ มึนหัว จนกระทั่งอำนวยบังคับให้กินมาม่าต้มยำกุ้งไปหนึ่งกล่อง อาการเหล่านี้ก็หายไป เพียงพอให้ลากสังขารเข้าเส้นชัยใน 10 นาทีสุดท้ายได้ทัน แม้ว่าท้ายที่สุดแล้วยังมีอาการคลื่นไส้ต่อเนื่องจนไปถึงที่พัก
แง้มแรกสู่ ultra trail เต็มไปด้วยความประทับใจ เริ่มต้นด้วยวิวแบบหาดูได้ยากตลอดเส้นทาง friendship ของเจ้าบ้านอย่างพี่เอ ซี และคุณแม่ การพาตัวเองไปยังขอบจำกัดอีกครั้ง DNF ครั้งที่ 4 ที่ดูเหมือนเป็นเรื่องที่เริ่มต้องยอมรับสภาพ ความเข้าใจในธรรมชาติของ Trail การเรียนรู้ท้ังในเรื่อง hydration, fueling และคำถามที่ยังค้างคาเรื่องรองเท้าที่เหมาะสม ความยินดีที่เอาชนะอุปสรรคเรื่องหลัง และเข่าได้อีกครั้ง บรรยากาศทั้งหมดแม้ว่าจะเป็นความประทับใจ ผมยังไม่สามารถบอกได้อย่างเต็มปากว่าติดใจ จริง ๆ แล้วยังทำใจไม่ได้กับการวิ่งแล้วเล็บดำ หรืออาจจะเล็บหลุด ผมว่ามันทรมานร่างกายเกินไปหน่อยนึง ไว้งานหน้าค่อยมาตัดสินใจว่าชอบหรือไม่ TNF100
1 ความเห็น