Ironman Langkawi : The final edition

ชีวิตเต็มไปด้วยความไม่คาดฝัน ผมเองไม่เคยคิดว่าจะได้เข้าร่วมกิจกรรมท้าทายเช่นนี้ 3 ปีติดต่อกัน แต่มันก็เป็นไปแล้ว วันนี้จะมาเล่าให้ฟังว่าทำไม แล้วเกิดอะไรขึ้น ผมได้อะไร ผมเสียอะไร จากการเดินทางครั้งนี้ หลายคนที่ติดตามงานเขียนของผมเกี่ยวกับ Ironman Langkawi ก็จะรู้ดีว่า ความหลังของผมกับ Ironman Langkawi นั้น อาจจะเป็นเรื่องราวที่เป็นส่วนตัวเล็กน้อย ในครั้งแรกที่มาเพราะต้องการวิ่งหนีจากการรักษาโรคดับอักเสบบีเรื้อรัง พร้อมทั้งการหาทุนเพื่อกองทุนเพื่อซูริ ในครั้งแรก ๆ ผมเรียกบทความแรกว่า Ironman Langkawi “For Zuri” หลังจากนั้นผมกลับมาอีกครั้ง เพื่อมาจบเป็น Ironman ครั้งแรกของผม เป็นหนึ่งบทความที่ไม่น่าเชื่อว่ามีหลาย ๆ คนเข้ามาบอกกับผมว่า มันทำให้เขามีกำลังใจในการตั้งเป้าหมายเพื่อการจบ Ironman เพียงสักครั้งในชีวิต ผมเรียกบทความนั้นว่า Ironman Langkawi ForZuri Episode II : ไม่หมู แต่ทุกคนทำได้ ในขณะเดียวกันก็สร้างแรงกระเพื่อมในวงการไตรกีฬาพอสมควร ที่กล่าวถึง holy grail ของวงการว่าเป็นสิ่งที่เอื้อมถึงกันได้ทุก ๆ คน รอบนี้เป็นรอบสุดท้ายของสัญญา Ironman ของที่นี่ ผมวางแผนเล็ก ๆ ไว้ว่าน่าจะกลับมาอีกครั้ง เพียงเพราะมันใกล้ และเดินทางค่อนข้างสะดวกสำหรับผม แล้วอีกอย่าง เด็ก ๆ ของผมชอบกิจกรรมบนเกาะนี้ ไม่ว่าจะเป็น Aquarium และ Wildlife Park และที่สำคัญรายการ Ironkids ที่ผมพาเด็ก ๆ มาเล่นสนุกเป็นปีที่ 2 แล้ว สำหรับปีนี้จะเป็นครั้งแรกของฮารุที่จะร่วมวิ่งกับพี่ ๆ แม้ว่าจะไม่ถึงวัยที่จะสามารถสมัครเข้าร่วมได้

This slideshow requires JavaScript.

อย่างไรก็ตามการตัดสินใจจริง ๆ นั้นเกิดขึ้นภายหลัง หนึ่งเหตุผลที่ทำให้ผมตัดสินใจกลับมาที่นี่อีกครั้ง เพราะมีเพื่อน Very Forty ของผมสองคนมาร่วมด้วย คนแรกคือ หมอนก ที่ต้องการกลับมาแก้เกมส์ที่พลาดไปเมื่อรอบที่แล้ว แต่จริง ๆ ผมคิดว่าหมอนกมาเพียงเพราะน้อง ๆ ทีมบางแสนไตรฯ ต้องการความท้าทายของชีวิตด้วย Ironman และที่สำคัญที่สุดสำหรับผมคือ ผมต้องการให้ตุ๊มาเป็น Ironman สักครั้ง ผมพยายามชวนตุ๊หลาย ๆ ครั้งในหลาย ๆ กิจกรรม ซึ่งตุ๊ไม่เคยปฏิเสธเลยสักครั้งเดียว ไม่ว่าจะเป็นระยะทางเท่าไร มาราธอนสองสามครั้งแรกที่วิ่งร่วมกัน การขยับระยะมาเป็น TNF50 TNF100 PYT66 Audax200 300 400 600 ต่าง ๆ เหล่านี้ ตุ๊ไม่เคยปฏิเสธ แม้ว่าจะไม่เคยได้ซ้อม ไม่วายยังมีผลงานที่ล้ำหน้าเกินที่ผมจะทำได้หลายต่อหลายครั้ง ทั้งที่โป่งแยง หรือ ปั่น 600 km. แต่ตุ๊ไม่เคยยอมตัดสินใจลอง Ironman เลยสักครั้ง ว่ายน้ำเป็นอุปสรรค ตุ๊พยายามขยับระยะของไตรกีฬาขึ้นมาทีละเล็กละน้อย แต่ผมว่าที่สำคัญที่สุดของตุ๊คือช่วงที่ได้ไปซ้อม Open water ระยะยาว ๆ กับกลุ่มบางแสน การได้โฟกัสการวิ่ง ultra trail ในช่วงปีที่แล้ว นั่นร่วมถึงการวิ่ง 200 miles ที่ผ่านมา ทำให้ปีนี้ตุ๊พร้อมมากที่สุด สิ่งที่ผมพยายามทำมากที่สุดในช่วงสมัครคือกระตุ้นให้ตุ๊ตัดสินใจสมัคร เพราะในทุก ๆ ความสำเร็จใด ๆ ที่จะเกิดขึ้นได้นั้น ก้าวแรกเป็นสิ่งที่สำคัญ ในทุก ๆ ขั้นตอนของการเดินทางสู่ไอรอนแมน การสมัคร เป็นขั้นตอนที่แบ่งแยกว่าใครจะได้เป็นไอรอนแมน และใครจะไม่ได้เป็นไอรอนแมน เมื่อมีตุ๊และนกสมัคร ผมก็มั่นใจว่าจะเป็นอีกหนึ่งความทรงจำของผม ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม

 

เมื่อเพื่อน ๆ และ ผมสมัครกันเรียบร้อยแล้ว ในใจของผมมันผ่านไปมากกว่าครึ่งหนึ่ง ผมคิดเสมอว่าสิ่งที่ยิ่งใหญ่ไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุด พร้อมที่สุด แต่การตัดสินใจที่จะก้าวไป ในช่วงปีนี้ผมมีรายการใหญ่ ๆ สามรายการ รายการแรกคือ Roth ซึ่งผมถือว่าเป็น A race เพราะมีเวลา cut off time ที่ 15 ชั่วโมงและคิดว่าคงไม่ได้ไปกันบ่อย ๆ อีกสองรายการที่ผมสมัครพร้อม ๆ กันคือ Langkawi และ Thailand ตอนนี้ผมผ่านมาแล้วรายการที่ Roth เป็นความประทับใจที่ผมเล่าให้หลาย ๆ คนได้ฟังไปแล้ว ในบทความที่ชื่อว่า Challenge Roth : The dream that you can all experience ถือได้ว่าการแข่งที่ลังกาวีครั้งนี้เป็นการแข่งระยะไอรอนแมนครั้งที่ 4 ของผม สอบตกไปแล้วหนึ่งครั้งในสนามเดียวกันนี้ และเป็นไอรอนแมนครั้งแรกที่สนามนี้ ส่วนอีกสนามเขาเป็นของ Challenge เค้าไม่เรียกว่าไอรอนแมน แต่สนุกมากเหมือนกัน

ในช่วงหนึ่งปีครึ่งที่ผ่านมาชีวิตผมมีความเปลี่ยนแปลงมากมาย หลังจากที่จบไอรอนแมนครั้งแรกที่ลังกาวีนั้น ผมเริ่มมีความฝันลาง ๆ ว่าจะสะสมสนามไอรอนแมนเพื่อสิทธิ์ที่จะสมัครไปสนามที่ Kona สักครั้งหนึ่งในชีวิต ผมจึงเริ่มวางแผน สถานที่แข่งต่าง ๆ ทั่วโลกที่ผมคิดว่าน่าจะเป็นสนามที่ควรจะไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์ ผมเริ่มค่อย ๆ วาดไลฟสไตล์ของไอรอนแมน ที่เดินทางพร้อมครอบครัวไปตามเมืองต่าง ๆ แข่งขัน และท่องเที่ยวไปเรื่อย ๆ ประกอบการเรียนรู้ของลูก ๆ ของผมที่เป็นบ้านเรียนที่เน้นการเดินทาง หรือ Worldschooling สิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกไม่เหมาะกับผมในความเป็นไอรอนแมนนั้นคือ ตารางซ้อม 10-18 ชม. ต่อสัปดาห์เป็นระยะเวลา 16 สัปดาห์ ซึ่งถือว่าน้อยมากสำหรับระยะนี้ (ผมยังไม่เคยซ้อมได้สม่ำเสมอได้เลย) ทุกวันหยุดสุดสัปดาห์ ชีวิตผมกลายเป็นของไอรอนแมน มีเวลาให้กับครอบครัวน้อยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งวันหยุด วันครอบครัวของเราถูกเบียดบังด้วยการปั่นยาว 130-150 km เป็นส่วนใหญ่ ในการไป Roth ผมจึงปรับการซ้อมใหม่เล็กน้อย โดย incorperate การปั่นออแดกซ์ และการแข่งขันระยะยาว ๆ เข้าไป เพื่อให้เป็นการเดินทางไปซ้อมของผม ซึ่งจะสร้างบรรยากาศที่ไม่น่าเบื่อสำหรับครอบครัวและลูก ๆ สิ่งที่กัดกินจิตใจของผมมากที่สุด คือ อนุกรมของคำถามจากภรรยาในตอนกลางคืนของทุก ๆ วันในช่วงที่ผมซ้อมค่อนข้างสม่ำเสมอ คือ พรุ่งนี้ทำอะไร เสร็จกี่โมง ถ้าเป็นวันเสาร์อาทิตย์ ผมจะรู้สึกผิดอย่างมากที่จะต้องตอบว่า บ่าย ๆ จะเสร็จ เพราะนั่นหมายถึง เวลาของครอบครัวของเราจะหมดไป หลังจากปั่นยาวกลับมาแล้ว ส่วนใหญ่ผมไม่สามารถทำอะไรได้มากไปกว่านอนพัก ถ้าหากว่าผมต้องการใช้ไลฟสไตล์ที่จะเก็บสะสมสนามไอรอนแมนผมต้องปรับเปลี่ยนอะไรบางอย่าง เพราะ 10 ปีในการสะสมสนามนั้น ผมจะเป็นเช่นนี้กับครอบครัวไม่ได้ ลูกผมจะอายุ 18 และ 17 ผมเองก็เข้า 55 เมื่อหันกลับมาแล้วนั้น ไอรอนแมน แม้จะเป็น Kona ไม่ได้สำคัญอะไรไปกว่าคนตรงหน้าตรงนี้เลย ในการแข่งขันมีคนถือป้ายว่า “If your wife complained, that mean you worked hard for this. Go Go” น่าจะสรุปใจความของชีวิตนักไตรกีฬาได้เป็นอย่างดี แต่ผมต้องการเปลี่ยน perception เหล่านี้ อย่างน้อยที่บ้านของผม

10622870_1376472892393523_2863681320746695892_n

Roth ไม่มีมีการซ้อมตามตารางอย่างตั้งใจ แต่ผมผ่านการปั่นระยะหนัก ๆ อย่าง 400 300 หลายต่อหลายครั้ง มีการปั่นเพื่อหาเส้นทาง ระยะ 100+ อีกหลาย ๆ ครั้ง มีการแข่งมาราธอนหนึ่งรายการ แม้ว่าไม่ได้ซ้อม แต่ไม่ได้ทิ้ง แต่รอบนี้ ผมแทบหาเวลาเพื่อซ้อมไม่ได้เลย จริง ๆ ไม่ใช่เวลา แต่เป็น rhythm ที่เสียไป การเดินทางที่เยอะมาก ๆ ทำให้จังหวะการซ้อมผมเสียไป ผมไม่ได้ตื่นขึ้นมา ซ้อมเล็ก ซ้อมน้อย เก็บเกี่ยวไปอย่างที่เคย ผมไม่สามารถวางแผนเพื่อไปแข่งระยะสั้น ๆ ต่าง ๆ อย่างที่เป็น การเดินทางทั้งหมดเกิดขึ้นจากงาน และไม่ได้มีการใส่การออกกำลังกายที่จะคอยช่วยเติมฐานฟิตเนสขึ้นพื้นฐานได้อย่างเพียงพอ ตั้งแต่ผ่าน Roth มาจนถึงก่อนวันแข่งผมปั่นจักรยานไปแค่ 400 km เฉลี่ยแค่ 32 km/week วิ่งรวมแค่ 60 km เฉลี่ยแค่ 9 กม.ต่อสัปดาห์ ว่ายน้ำทั้งหมด 8000 เมตรเท่านั้น เป็นความ out of shape มากที่สุดในรอบสิบปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม  ผมรู้ตัวดี แต่ก็มองการแข่งขันรอบนี้เป็นโอกาสที่จะได้เรียนรู้ ผมได้ทำกิจกรรมสนุก ๆ คือ การว่ายน้ำระยะ 3000 เมตรข้ามปากอ่าวปัตตานี แล้วปั่นจักรยาน 40 km รอบอ่าว ไปสุดด้วยการวิ่งประมาณ 8 km รอบ ๆ เมืองปัตตานี ในหนึ่งสัปดาห์ล่วงหน้า (จริง ๆ วางแผนเอาไว้สองสัปดาห์ แต่จำเป็นต้องเปลี่ยนแผน) แม้จะไม่ซ้อมมาเลย กิจกรรมที่ว่านี้ทำให้ปลุกกล้ามเนื้อที่หลับไหลของผมขึ้นมาบ้าง flush glycogen เก่า ๆ ใส่ของใหม่ ๆ เข้าไป ในวันถัดไปผมก็พายเรือสำรวจแม่น้ำปัตตานีอีกประมาณ 7 km ซึ่งผมมองว่ากิจกรรมนี้หนักไปเล็กน้อย ทำให้กล้ามเนื้อของผมล้า และเสียเวลาในการสะสมไกลโคลเจนไปอีกหนึ่งวันเต็ม ๆ ห่างเพียง 5 วันจากการแข่งขันครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม The Show Must Go On การแข่งขันคราวนี้จะพาผมไปเจอกับ Lower Limit ของการเตรียมตัวสำหรับการแข่งขันระยะทางอย่างไอรอนแมน ในสนามที่ได้ชื่อว่ามีความโหดเป็นอันดับที่สามของโลก ซึ่งน่าจะเป็นเส้นทางปั่น ร่วมกับความร้อนของสภาพอากาศ

รอบนี้เนื่องด้วยความเชี่ยวชาญที่มากขึ้นของภรรยา เราเลือกจองที่พักที่ตำแหน่งใกล้จุดเริ่มต้น เพราะเห็นว่ามีรถ shuttle bus ที่จะคอยลำเลียงนักกีฬาจากจุดสำคัญต่าง ๆ (เอาเข้าจริง ๆ ไม่ค่อยเวิร์คครับ ตามคำบอกเล่าของภรรยา) แต่สำคัญกว่านั้น การเดินทางมารอบที่แล้วที่พักที่นี่ให้คำตอบได้ดี ทั้งร้านอาหารประจำที่เราใช้บริการแทบจะตลอดเวลาที่อยู่ที่ลังกาวี เป็นร้านของชาวออสเตรียที่มีภรรยาเป็นคนไทย อาหารรสชาดถูกปากและเด็ก ๆ ทานฟรี นอกจากนี้ความผ่อนคลายที่ได้จากการพักผ่อนที่นี่ทำให้ผมแทบไม่ได้ไปร่วมกิจกรรมกับทางผู้จัดเลย ด้วยความขี้เกียจ ทำตามความจำเป็น คือการลงทะเบียน ฝากจักรยาน และกระเป๋าต่าง ๆ และสุดท้ายก็รอปล่อยตัว ผมค่อนข้างรู้สึกผ่อนคลายจากประสบการณ์ที่มากขึ้น และแน่นอนการว่ายน้ำซึ่งเป็นกีฬาที่ผมถนัดที่สุด จากการว่ายซ้อมครั้งที่สอง หลังจากกลับมาจาก Roth คือ 6 วันล่วงหน้าระยะ 3000 เมตร ผมทำเวลาได้ค่อนข้างน่าพอใจ แบบสบาย ๆ ผมจึงกะว่าจะไปด้วยสโตรคแบบนั้น ก่อนออกตัวผมมีโอกาสได้พบเจอกับคนไทยแทบครบทุกคนที่มาร่วมกันในครั้งนี้ บรรยากาศแบบที่โรงแรม Alias เหมือนเมื่อปีที่แล้วผมไม่ได้สัมผัส Vangang ไม่ได้รวมตัวกันมาเหมือนปีก่อนหน้านี้ แต่การได้พบเจอคนไทยที่มาตามหาฝัน ก็ทำให้มีความสุขเล็ก ๆ ในใจของผม ยิ่งไปกว่านั้นหลาย ๆ คนมาทักทายผมด้วยคำว่า “ผมอ่านบทความของพี่แล้วเลยตัดสินใจมาลองดู” นั่นหมายความว่าบทความของผมประสบความสำเร็จที่จะทำให้คนไทยหลายคนก้าวออกมาจาก comfort zone ปีนี้ผมเลือก slot ว่ายน้ำตรงกับเวลาที่คาดว่าจะทำได้ เพราะในปีที่แล้ว ผมรู้สึกว่าต้องว่ายแซงมากเกินไปจนหงุดหงิด ผมมีโอกาสผ่านรอบแรกค่อนข้างน่าพอใน แม้ว่าจะเป๋ไปบ้างในช่วงว่ายเข้าหาฝั่งเพราะแดดส่องเข้าตา มองไม่ค่อยเห็นธง ผมทำเวลาได้เร็วกว่าแผนเกือบ 10 นาที แต่ในรอบที่สองผมเริ่มไปเกยอยู่กับช่วงท้าย ๆ ของ เวฟแรก หมวกสีเหลือง โดยเฉพาะช่วงกลับ ทำให้ต้องว่ายเลี้ยวไปมาตลอดเวลา บางครั้งก็หยุดรอเฉย ๆ เพราะมันเริ่มว่ายไม่สนุก สุดท้ายมาจบที่ 4200 กว่าเมตร เวลา 1.19 นาที ตามที่คาดไว้ (ระยะเกินไปหน่อย แต่รอบแรกทำเวลาเผื่อไว้) แตนทะเล หรือ แมงกระพรุนค่อนข้างชุก ตอนนี้ขณะเขียนผมกำลังคันเขยอเต็มไปทั้งหลัง มันคงเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ของนักไตรกีฬา ผมไม่เหนื่อยหรือเมื่อยเลยหลังจากว่ายน้ำ นั่นหมายความว่าผมคุมความเร็วได้ดี ไม่มีอาการที่ต้องหยุด sighting มากจนเกินจำเป็น คิดว่าเป็นเพราะการ marking ของ course ที่มีประสิทธิภาพสูง ติดแค่ช่วงว่ายกลับนั้น แสงแยงเข้าตา

15032372_10153920537457477_724865341_n

รอบนี้ ผมชิล ๆ กับการปั่น เนื่องจากผมไม่ได้ซ้อมจักรยานเลยแม้แต่ครั้งเดียว มีการปั่นไปกินข้าวที่ยะลาเพียงหนึ่งครั้ง และปั่นเพื่อสำรวจเส้นทางออแดกซ์ 200 กม. ในช่วงเดือนกันยายน เป็นครั้งสุดท้าย ผมยังไม่ได้เอา QR ออกมาปั่นเลยแม้แต่ครั้งเดียวหลังจากกลับจาก Roth ผมจึงเลือกที่จะใช้ Cannondale คันเก่าของผม ที่เคยเป็นรถไตรกีฬารุ่นแรก ๆ ของโลก แต่ผมมาแปลงเป็น Road Bike เพื่อใช้ปั่นซ้อม เล็ก ๆ น้อย ๆ พาไปออแดกซ์บ้าง ข้อเสียของคันนี้คือ เป็นรถที่ออกแบบสำหรับการปั่นระยะสั้น เร่งได้เร็ว แต่ปั่นยาว ๆ ไม่ค่อยสบาย และไม่ไหล ซึ่งจะพบว่าเป็นการตัดสินใจที่น่าจะ cost ให้เกิดการ DNF ของผมในที่สุด อย่างไรก็ตาม กว่า 25 ปีที่ผมเล่นไตรมา ผมพาคันนี้แข่งมากที่สุด แต่ยังไม่เคยได้สัมผัสระยะ ฮาร์ฟ หรือ ระดับไอรอนแมนเลยสักครั้ง ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม มันย่อมทำให้ผมมีความสุขเล็ก ๆ กับความหลังของผมบ้าง ผมเริ่มเห็นปัญหาของผมได้อย่างชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้น ที่ power meter ผมแบตหมดทำให้ผมต้องใช้ HR ในการคุมการปั่นในสนามนี้ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ ideal นัก สำหรับสนามที่มีความโดดเด่นที่เส้นทาง rolling แบบบาดหัวใจ พลังงานที่ใช้ในการไต่เขา มีความสำคัญมากสำหรับนักปั่นที่ไม่ฟิตอย่างผม ผมหาซื้อไม่ได้ (เช่นเดียวกันกับตอนที่ไป Roth) สุดท้าย Cyclocomputer ของผมก็มาตายในวันงานพอดี ตอนนี้ผมมีแต่  920xt อย่างเดียวซึ่งจะไม่เพียงพอต่อเวลาทั้งหมดที่ผมต้องใช้ กว่าจะคิดออกว่าผมสามารถใช้การปั่นในโหมด indoor ได้ เพราะจักรยานคันนี้ถูก set up เอาไว้ปั่น indoor เลยมีตัววัดรอบอยู่เพียงคันเดียว ผมก็ปั่นออกตัวมาแล้วประมาณ 2 กม. แต่ก็ยังนับว่ายังเป็นโชคดี ผมไม่ต้องใช้ GPS ในนาฬิกา ซึ่งน่าจะทำให้มีแบตเหลือไปวิ่ง ในขณะที่น่าจะยังพอได้ข้อมูลของ Average ซึ่งจะใช้ในการวางแผนการปั่น ปั่นไปได้ไม่นานนักผมก็เริ่มเห็นปัญหา  HR ผมคงที่ประมาณ 171 ตลอดเวลา ซึ่งอยู่ในระดับ Zone 5 สำหรับผม ผมรู้ว่านั่นไม่ดีแน่ เพราะ ที่ Zone 5 จะต้องใช้พลังงานมากกว่ากว่า Zone 2 เกือบสองเท่า ไม่รวมถึงสัดส่วนการใช้ไกลโคลเจนเทียบกับไขมันยังสูงกว่า ถ้าเป็นเช่นนี้ ผมจะไม่สามารถจบได้แน่ ๆ ถ้าเติมพลังงานไม่ทัน และไม่พยายามใช้ไขมันมากไปกว่านี้ แต่อีกใจก็คิดว่าความเร็วที่ผมได้มานั้นแค่ปริ่ม ๆ 26 เท่านั้นเอง ถ้าเราเลี้ยงตัวเลขนี้ในช่วงแรก ๆ ไม่ได้ ในรอบหลัง ๆ ก็คงไม่ไหว และนั่นเป็นจุดแตกหักในการตัดสินใจที่ส่งผลอันเลวร้ายที่สุดของวันนี้ แน่นอนว่าผมลาก HR 171 มาได้ไม่กี่กิโลเมตร ก็ต้องค่อย ๆ drop เป็น 160 แลกกับความเร็วที่ประมาณ 23-24 เท่านั้น ผมพยายามกินเจลหนึ่งซองทุก ๆ  20 กม. พร้อมทั้งจิบ Isotonic drink ทุก ๆ 15 นาที นรกรออยู่ข้างหน้า นี่คือผลโดยตรงของการไม่รักษาฐาน Cardiovascular ด้วย power เดิม ๆ ผมต้องทำงานหนักขึ้น HR ต้องเต้นสูงขึ้นเพื่อส่งเลือดไปยังตำแหน่งต่าง ๆ ร่างกายไม่สามารถเปลี่ยนพลังงาน จากแหล่งพลังงานที่สำคัญอย่างไขมันได้ทัน ต้องใช้พลังงานเร่งด่วนอย่างไกลโคลเจนที่มีจำนวนจำกัด นอกจากนี้กล้ามเนื้อที่ไม่ถูกฝึกฝนมาเพียงพอ ต้องทำงานหนักต้องการเลือดเข้ามาเลี้ยงเป็นพิเศษ อาการต่อไปที่ต้องตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ GI distress เลือดเข้าไปเลี้ยงระบบย่อยอาหารน้อยกว่าที่ต้องการ ทำให้การย่อยไม่เป็นไปตามที่ต้องการ ร่วมกับการใช้อาหารที่ไม่คุ้นเคย หายนะกำลังค่อย ๆ คืบคลานเข้ามาอย่างช้า ๆ ผมรู้ตัวดี ผมผ่านเส้นทางนี้มาหลายครั้ง

15032387_10153920537807477_1218246198_n

ปีนี้ทางรายการเปลี่ยนจากการใช้ 100plus ซึ่งเป็นเกลือแร่แบบมีอัดลม มาเป็นอีกยี่ห้อนึงที่ไม่มีอัดลม รสส้ม ผมทดลองกินก่อนแข่งไปขวดนึงพบว่ารสชาดใช้ได้ จึงวางใจที่จะใช้ผลิตภัณฑ์ของเขาในการแข่งขัน เพราะส่วนใหญ่ผมจะมีปัญหาเรื่องรับรสชาดไม่ค่อยได้มากกว่าเรื่องอื่น ๆ แต่นั่นเป็นการตัดสินใจที่ผิดอีกเช่นกัน เป็นกฏเหล็กที่สำคัญของนักกีฬาระดับไอรอนแมน แต่เป็นสิ่งที่ผมพยายามจะหาทางออกที่ลงตัว กฏของไอรอนแมนเขาว่าไว้ว่าให้กินอาหารที่ซ้อม และซ้อมกับอาหารที่จะกิน นั่นรวมไปถึงของเหลวด้วย แต่จากปริมาณแกตเตอเรตที่เป็นเกลือแร่ที่ผมมีปัญหาน้อยที่สุด รวมไปถึงการซ้อมพร้อม ๆ กับการกินเจลเป็นระยะเวลานับสิบ ๆ ปีนั้น ไม่เป็นสิ่งที่น่าพิสมัยมากนัก ผมจึงพยายามหาทางออกที่ง่ายที่สุด ด้วยการกินอาหารหลากหลาย กินอะไรที่มีให้กิน แล้วค่อย ๆ รับรู้เรียนรู้กันไป มีอาหารบางอย่างควรต้องระวัง เช่น ผมกินกล้วยเกิน 8-9 ลูกจะเริ่มย่อยไม่ไหว หรือ การไม่ใช้แกตเตอเรด หรือเกลือแร่ในรูปแบบอื่น ๆ เลย เป็นอันตราย เกลือแร่จากอาหารนั้นไม่เพียงพอ อาการเคี้ยวบางครั้งช่วยให้การย่อย หรือการกินง่ายขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นประสบการณ์ที่สะสมเรื่อยมาจากการทดลองจริง ๆ ด้วยตัวผมเอง ถึงกระนั้นก็ตามความประมาทที่จะใช้เครื่องตื่ม Isotonic ที่ผมไม่เคยใช้มาก่อนเลยเป็นเครื่องดื่มพื้นฐานของการแข่งขัน เป็นสิ่งที่ไม่ควรเลยจริง ๆ รสส้ม กับท้องว่าง ๆ นี่ก็เป็นอีกปัญหาที่ไม่น่าเลยที่จะมองข้ามไป

15086217_1378129848894494_417475952_n

ผมกินด้วยตารางเช่นนี้คือ เจลทุก ๆ 20 กม. และจิบ isotonic ทุก ๆ 15 นาที ไปได้จนประมาณระยะ 120 km ผมก็เริ่มมีอาการปวดท้อง คล้าย ๆ จะเริ่มเรอ ย่อยไม่ค่อยดี แต่ผมยังไม่ได้กินอะไรที่ต้องย่อยมากนัก นั่นแสดงว่า sugar concentration ในกระเพาะของผมมันไม่ค่อยสมดุลย์นัก ปัญหาหลัก ๆ ก็มาจากสัดส่วนของอาหารที่ผมใส่ลงไปในระบบ ผมจึงค่อย ๆ หยุด isotonic แล้วเปลี่ยนเป็นน้ำเปล่าแทน แต่อาหารยังไม่หายดี ผมเริ่มกินอะไรไม่ค่อยได้ ก็คิดว่าจะรอจนกระทั่งรู้สึกดีขึ้นสักนิด แล้วค่อยใส่เข้าไปใหม่ แต่นั่นก็เป็นอีกความผิดพลาดหนึ่ง ความเร็วของค่อย ๆ ตกลงเรื่อย ๆ จนในที่สุด HR เหลืออยู่แค่ 140 กว่า ๆ แต่ขากดไม่ค่อยลงทำความเร็วให้ได้ 22 ยังไม่ใช่เรื่องง่าย นั่นมันเป็นอาหารของการขาดพลังงานอย่างชัดเจน แต่ผมยังกินอะไรไม่ลง มันอยากจะออกมาเสียมากกว่า แต่ยังดีที่โชคยังช่วย มีฝนตกลงมาห่าใหญ่ ใหญ่มาก ในช่วงระยะประมาณ 150 km หนักแทบมองไม่เห็นทาง ผมเริ่มหนาวเย็นและเหนื่อย ผมค่อย ๆ รูดซิปขึ้นร่างกายอบอุ่นขึ้นเล็กน้อย ผมชอบปั่นท่ามกลางสายฝน แต่เวลานั้น ผมมีความรู้สึกว่าถ้าเป็นเช่นนี้ต่อไปผมไม่ควรที่จะออกวิ่งต่อ เพราะความเหนื่อยอ่อนจะทำให้ผมรักษาความเร็วไม่ได้ และท้ายที่สุดร่างกายผมจะหนาวสะท้านจนป่วยในที่สุด ในใจตอนนั้นตัดสินใจแล้วว่าผมคงต้อง DNF อย่างแน่นอน เมื่อความเสี่ยงเริ่มค่อย ๆ กองสูงขึ้นมาทุกที แต่หลังจากรูดซิปขึ้นมาตัวอุ่นขึ้น ฝนที่กระหน่ำลงมาทำให้ผมรู้สึกดีขึ้นมาอย่างประหลาด คว้าเจลมาบีบเข้าไปหนึ่งซอง แล้วตามด้วยอีกซองในไม่กี่นาทีถัดมา พลังงานเหมือนเพิ่มขึ้นมาเล็กน้อย ผมจึงเร่งความเร็วเพื่อเข้า T2 แต่ยังเต็มไปด้วยความสับสนปนความไม่มั่นใจ DNF ยังคงวนอยู่ในใจ แต่พบว่าเจอกับคนไทยหลาย ๆ คนในห้อง เชียร์ ๆ กันไป เวลาของผมเหลืออีก 7.30 ชม สำหรับการวิ่ง ถ้าไม่เกิดเหตุการณ์อะไรเลวร้ายมากนัก คงไม่ต้อง DNF ผมคิดเช่นนั้นเลยลุยต่อไป และจะพยายามกินอะไรเท่าที่กินได้

ผมออกวิ่งมาพบกับลูก ๆ และภรรยาของผม ก็เลยเล่าเหตุการณ์ให้ฟังเล็กน้อย ภรรยาเริ่มเข้าใจปัญหา เพราะผมมีปัญหาเรื่องการกินเป็นหลักในทุกครั้งที่ต้อง DNF ผมเลือกที่จะเดินกินแตงโม สลับกับโค้กทุก ๆ สองกิโลเมตร ในใจคิดเช่นนั้น ตอนเริ่มวิ่งรู้สึกค่อนข้างดี กล้ามเนื้อไม่ตึง นั่นหมายถึงผมไม่ได้ใช้กล้ามเนื้อหนักเกินเหตุตอนปั่น นั่นก็เข้าใจได้เพราะไม่มีพลังงานให้ใช้กล้ามเนื้อนั่นเอง ผมวางแผนจะวิ่งไปเรื่อย ๆ แล้วเดินทุกๆ 2 km หลังจากนั้นก็ค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ จนเหลือ วิ่ง 800 เมตรแล้วเดิน 200 เมตร พลังงานจาก แตงโม และโค้ก เริ่มเติมไม่พอ แต่ในขณะเดียวกัน ผมค่อย ๆ คลื่นไส้มากขึ้นเรื่อย ๆ ผมไม่แน่ใจว่าขาดโซเดียมหรือไม่ แต่ผมไม่กล้าเติมด้วย Isotonic อาหารที่ให้ก็มีแค่ แตงโม กล้วย และเจล แตงโมผมกินได้ แต่พลังงานไม่ค่อยพอ กล้วยกินแทบไม่ได้ เจลนี่ไม่กล้าแตะเลย ผมก็ลากสภาพร่างกายแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนระยะประมาณ 25 กม. คนไทยแทบทุกคนแซงผมไปหมดแล้วในระยะนี้ เหลือเพียงตุ๊เพื่อนของผมคนเดียว ส่วนหมอนกแซงผมตั้งแต่ระยะ 14 km แล้ว ท้ายที่สุดมาเจอกับกองเชียร์คนไทย และกองเชียร์เบอร์หนึ่งอย่างซี ท่าทางซีจะเห็นท่าไม่ค่อยดีจึงเรียกให้นั่งพักเพื่อเติมน้ำตาล ได้ลูกอมมาลูกนึงนั่งอมแบบพะอีดพะอมมาก และได้ M&M มาถุงนึงที่ตอนนี้ยังไม่กล้ากินเลย สรุปนั่งพักแป๊บนึง แล้วซีก็ตัดสินใจเดินเป็นเพื่อน ตอนนั้น เริ่มเดิน 500 วิ่ง 500 แล้ว แต่พอซีมาด้วยก็บ่น ๆ ว่าผมเดินที่ความเร็วช้ามาก วิ่งก็ช้าเมื่อเทียบกับความเร็วตอนเดิน ซึจึงตัดสินใจให้ผมเดินเร็ว ๆ โดยจะคอย pace ให้ที่ประมาณ pace 11 ซึ่งจะทำให้ผมเข้าเส้นใจทันเวลาพอดี ผมยังกินอะไรเป็นเรื่องเป็นราวไม่ได้สักที ซีโทรหาภรรยาผมเล็กน้อยเมื่อเจอกับผมในตอนแรก หลังจากนั้นคาดว่ามีการคุยกันผ่านสื่อออนไลน์ อย่างสม่ำเสมอ เพราะผมได้ยินเสียงตลอดเวลา แล้วซีก็เขียนตอบ ในท้ายที่สุด ผมรู้สึกว่ามันทรมานมากเกินไปกับความพะอีดพะอม ความมึนงง ความซวนเซของตัวผมเอง และเลือกที่จะ DNF ตัวเองในที่สุดที่ระยะ 30 km ที่มีซีเดินมาเป็นเพื่อนร่วม 5-6 km ซึ่งมาทราบในภายหลังว่าภรรยาอยากให้ผมหยุด ในขณะที่ซีเริ่มมองว่าผมเดินเซค่อนข้างมาก และอยากให้หยุดเช่นกัน แต่ต้องการให้ผมพูดออกมาจากปากของผมเอง

This slideshow requires JavaScript.

ในฐานะของคนที่เล่นกีฬาโหด ด้วยสภาพของผู้ป่วยโรคตับที่มี ภรรยาเป็นแม่บ้าน พร้อมกับลูกตัวเล็ก ๆ สามคน ในครอบครัวที่ผ่านประสบการณ์เสียลูกไปแล้วหนึ่งคนนั้น ผมไม่ใช่ตัวคนเดียวที่จะสามารถตัดสินใจได้อย่างอิสระ ความเสี่ยงที่ยอมรับได้สำหรับผมนั้นต้องได้รับการยอมรับ ได้รับการเข้าใจจากภรรยาอีกด้วย ไม่เช่นนั้น การใช้ชีวิตแบบนี้จะไม่ส่งผลดีต่อครอบครัวเลย ผมจึงต้องมั่นใจว่าภรรยาเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับผม ความเสี่ยงมีมากแค่ไหน และต้องมั่นใจว่าผมเข้าใจตัวเองดี พร้อมกันนั้นผมจะไม่เสี่ยงมากเกินความจำเป็น นี่คือกฏของนักกีฬา extreme ที่มีครอบครัวแบบผม สุดท้ายเมื่อผมค่อนข้างคิดว่าผมมาสุดทางสำหรับปีนี้แล้ว ภรรยาเริ่มมีความกังวลมากแล้ว ซีเองก็เริ่มลังเลบ้างแล้ว (สังเกตุจากการถามให้นั่งพักหลายครั้งขึ้น) ผมบอกซีให้บอกภรรยาผม ว่าวันนี้ผมจะพอเพียงแค่นี้ เราหาที่นั่งพักที่ medic หลังจากนั้น ก็ปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการ ผมเองก็เลื่อนลอยเล็กน้อย มีซีคอยดูแล ความทรงจำก็คล้าย ๆ คนเมาที่เพิ่งฟื้นเช่นเคย แต่ต่างกันกับที่เกิดที่โป่งแยง ที่ค่อนข้างจะเป็นอาการ Hyponat ซึ่งอาการกลับมาดีขึ้นแทบจะทันที่ทีเติมมาม่าเค็ม ๆ เต็มไปด้วยเกลือแร่ แต่สำหรับรอบนี้ผมยังไม่เคยประสบจริง ๆ แต่โดยทั่ว ๆ ไปน่าจะเป็นเพียงการขาดน้ำตาล ที่ทำให้ขาดพลังงาน แต่อาจจะร่วมกับอาการ GI distress ที่เป็นมาตั้งแต่เที่ยง ทำให้อาจจะสับสนเล็กน้อยว่าเกิดอะไรขึ้น ผมกลับมาห้องไม่รู้สึกว่า dehydrate มากนัก เพราะเคยเป็นมากกว่านี้ ในช่วงสุดท้ายของการปั่น กรุงเทพ หาดใหญ่ ที่เหลือปั่นอยู่คนสุดท้าย แต่ไม่มีอาการอื่นร่วมในลักษณะนี้ สุดท้ายคงน่าจะเป็นแค่น้ำตาล ที่เหมือนว่าร่างกายของผมในระยะหนึ่งที่ขาดน้ำตาลนั้นจะไม่สามารถเติมกลับมาได้ทันทีจนทำให้ร่างกายทำงานได้เหมือนเดิม ก็นับว่าโชคดีที่มีซีคอยเดินข้าง ๆ ไม่เช่นนั้น 5 กม. สุดท้ายของผมคงยาวนานกว่านี้อีกมากนัก รอบนี้ผมใช้เวลาพักฟื้นนานกว่าเคย ผมต้องทานข้าวมื้อสุดท้ายของวันประมาณ สองทุ่มของอีกวันถัดมาจึงจะพบว่าร่างกายเริ่มกลับสู่สภาพปกติอีกครั้ง อาจจะเป็นอาการร่วมของโรคตับ ซึ่งผมไม่ค่อยแน่ใจ และอาจจะไม่มีวันได้เข้าใจ

15027484_1159108114138743_3159324946003359463_n

สุดท้าย ผมมาแข่ง Ironman Langkawi 3 ครั้ง ผ่านเพียงครั้งเดียว สุดท้ายสนามนี้เป็นความทรงจำดี ๆ ของผม ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องใด ๆ กับการจบหรือไม่จบ ผมมาลองเป็นครั้งแรกที่นี่ ผมได้แข่งเพื่อระดมทุนครั้งแรกกับรายการนี้ ผมดีใจที่สุดที่หมอนก จากที่ไม่กล้าว่ายน้ำ มาลงครั้งแรกที่นี่กับผม ผมดีใจที่สุดที่ตุ๊ที่มีว่ายน้ำเป็นอุปสรรค จากที่เขาไม่เคยมองอะไรเป็นอุปสรรค มาก้าวข้ามมันกับผมที่นี่ สนามนี้ยังคงเป็นความทรงจำดี ๆ ไม่ใช่หมู แต่ผมยังเชื่อว่าคนที่ตั้งใจจริง ๆ จะทำได้กันทุก ๆ คน ลังกาวีในสามปีที่ผ่านมานี้สอนผมหลาย ๆ อย่าง ให้ผมหลาย ๆ อย่าง ผมเรียนรู้การก้าวข้ามจุดที่ไกลโคลเจนไม่เพียงพอ ถึงสองครั้งสองครา ในครั้งแรกจากอาการร่วมของการใช้ยาอินเตอฟูรอน ในครั้งที่สองเกิดจากการเผาหัวตั้งแต่เริ่มต้นเหตุจากความอ่อนซ้อมอย่างหนัก และลังกาวียังสอนผมถึงการเดินทางสู่ไอรอนแมน ที่นำมาสู่ความสำเร็จบนสนาม Challenge Roth ในเวลาต่อมา สนามนี้ยังคงเป็นความทรงจำที่ลูก ๆ ทุกคนของผมพบสัมผัสแรกของการแข่งขัน เป็นสนามที่เพื่อนร่วมทีมทั้งสองคนของผม ได้ก้าวข้ามอุปสรรคของการว่ายน้ำสู่ความเป็นไอรอนแมน ผมเองไม่มั่นใจว่าเพื่อนทั้งสองมีเป้าหมายใด กับคำว่าไอรอนแมน ที่จริง ๆ แล้วพวกเขาก้าวผ่านความท้าทายยากยิ่งกว่าไปแล้ว ถ้านี่เป็นเพียง bucket list ของพวกเขา นี่อาจจะเป็นครั้งสุดท้ายในสนามไอรอนแมนที่เราสามคนจะได้แข่งร่วมกัน แม้ว่าผมจะไม่ได้มีโอกาสไปร่วมยินดีกับพวกเขาในวันนั้น ผมก็ขอแสดงความยินดีกับพวกเขาในตอนนี้

15049541_1521040467913033_1176135719_n

สำหรับผมเอง ลังกาวี ได้เปิดประตูของผมกับครอบครัว ผมเริ่มมองเห็นแล้ว ใคร ๆ ก็เป็นไอรอนแมนได้จริง แต่ฐานความฟิตของร่างกายต้องรักษาไว้ระดับหนึ่ง ระดับที่สามารถยืนความเร็ว 23-24 km/hr ที่โซนสองได้ สามารถว่ายน้ำ 3.8 km ในเวลาประมาณ 2 ชม. ได้ และวิ่ง ๆ เดิน ๆ ภายใน 7 ชม. ได้สำหรับระยะมาราธอนที่เหลือ สิ่งที่สำคัญกว่าคือ โซนสองโซนสาม ไม่มากไปกว่านั้น ไม่เหนื่อยจนกินไม่ได้ เพราะท้ายที่สุด การเติมพลังงาน การรักษาสมดุลย์ของเกลือแร่จะเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด และสุดท้ายผมพอที่จะรู้แล้วว่า ผมและครอบครัวจะเดินทางไปสู่ Legacy Program แบบมีความสุขร่วมกันทั้งครอบครัวได้อย่างไร

Ironman is not for selected few but only few possess Ironwill.

Swim : The Dreadful Leg No More

เมื่อเช้าผมตื่นสายมาเจอกับข้อความจากพี่อ้อ ขาแรงล้อเล็ก “พี่มีโปรแกรมว่ายน้ำสำหรับ 2 อาทิตย์มั้ยครับ” ด้วยความงุนงง ผมต้องถามกลับไปมาอยู่นานจนได้ความว่า อีกสองสัปดาห์จะลงแข่งหัวหินไตรกีฬา ระยะ 1500 ม. แต่ยังไม่ได้ซ้อม อยากได้ยาแรง ผมเลยย้อนกลับไปว่า “สัปดาห์ละสามวัน ลง 1500?” พี่อ้อก็ยืนยันว่าโอเค ผมเลยจัดตารางแบบเร็ว ๆ ให้หนึ่งตาราง หน้าตาเป็นแบบนี้

Screen Shot 2015-08-05 at 11.05.21 PM

แต่พี่ก้อกลับตอบกลับมาว่า “ขอภาษาไทยได้มั้ยพี่” ผมจึงพยายามอธิบายตัวย่อต่าง ๆ ให้แต่ดูท่าพี่อ้อก็ยังไม่พึงพอใจ ผมจึงคิดว่าผมน่าจะเขียนบทความง่าย ๆ อันนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นไอเดียให้เพื่อน ๆ หลาย ๆ คนที่อาจจะไม่ถนัดว่ายน้ำ แล้วรู้สึกว่าการซ้อมว่ายน้ำนั้นเป็นยาขมของการเล่นไตรกีฬา และขอเพียงแค่ซ้อม ๆ ไปให้ได้ตามระยะเป็นเท่านั้น จริง ๆ แล้วการซ้อมว่ายน้ำเป็นส่วนที่สนุกที่สุดอันหนึ่งของไตรกีฬา เพราะเป็นหนึ่งกีฬาที่เราสามารถซ้อมแบบไหนก็ได้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นการซ้อมยาว ๆ ไม่ต้องคิดอะไร การฝึกเทคนิคเป็นบ้าเป็นหลัง หรือว่าการซ้อมความเร็วแทบทุก ๆ วันก็ไม่ทำให้ร่างกายกรอบได้โดยง่าย ต่างจากการวิ่งหรือปั่นจักรยาน ก็เลยคิดว่าเอาแนวคิดการซ้อมว่ายน้ำแบบบ้าน ๆ ที่ผมชอบใช้มาอธิบายให้ฟังจากตัวอย่างจริงน่าจะเป็นประโยชน์ต่อหลาย ๆ คน

ก่อนอื่นขอเริ่มจากแปลตารางด้านบนให้เป็นภาษาไทยก่อน วิธีการเตรียมซ้อมว่ายน้ำสำหรับคนขี้เกียจอย่างผมคือ ซ้อมให้ได้ระยะที่จะแข่ง หรืออาจจะเลยนิด ๆ แต่จะไม่ใช่แบบว่ายยาว ๆ ต่อเนื่อง เพราะผมเบื่อ ผมจะรวมทั้งการอบอุ่นร่างกาย การฝึกเทคนิค และการว่ายผ่อนคลาย เข้าไปกับตารางซ้อมหลัก ให้ได้ระยะโดยไม่สนใจว่าในวันจริง ๆ เราอาจจะต้องว่ายต่อเนื่อง เพราะผมคิดเอาว่าในวันจริง ๆ เลวร้ายที่สุดก็ว่าย ๆ หยุด ๆ แบบที่ซ้อมนี่แหละ มันก็ถึงเองได้  ทีนี้ก็มาดูที่ตารางภาษาไทย

Screen Shot 2015-08-05 at 11.04.31 PM

จากตารางจะเห็นว่าผมแบ่งการซ้อมออกเป็น 4 กลุ่ม คือ WU, Drill, MS, WD ซึ่งมีเป้าหมายหรือแนวคิดตามนี้ WU ผมใช้เพื่ออบอุ่นร่างกาย คล้าย ๆ ยืดเส้นยืดสายเพราะผมขี้เกียจที่จะยืดเส้นบนบก ส่วนใหญ่ผมจะว่ายแบบยืด ๆ ไม่เร่ง ช้าบ้างเร็วบ้าง แต่ว่ายทีไรช่วงวอร์มอัปนี่เพซเร็วที่สุดอยู่เรื่อยเลย  หลังจากนั้นผมก็มาฝึกทักษะ แล้วแต่ที่นึกออกจะฝึก ทักษะ หรือ Drill ที่ผมชอบที่สุดคือ การว่ายกำมือ เพราะมันจะทำให้ผมรู้สึกถึงน้ำได้ดีขึ้น อีกทักษะที่ผมชอบเล่นคือ Catch Up คือ การว่ายแบบให้มือมาประกบกันด้านหน้าก่อนที่จะเริ่มดึงมืออีกข้าง การฝึกนี้จะช่วยให้ผมหมุนแขนเร็วขึ้นเนื่องจากลดความเคยชินที่จะยืดมือนำออกไปนานจนเกินไป พอจบจากการฝึกทักษะก็เข้าสู่การซ้อมจริง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ผมก็จะว่ายไม่เร็วมาก แค่ประมาณ race pace หรือ ความเร็ว 1000m TT (ความเร็วที่ผมทำได้ตอนว่ายจับเวลา 1000 ม.) เพราะเป้าหมายของผมคือ เพื่อให้ผมคุ้นเคยกับความเร็ว คุ้นเคยกับความรู้สึกที่ความเร็วที่ต้องการใช้แข่ง ผมมักจะไม่ว่ายยาว ๆ มาก ๆ เพราะมันทำให้เสียโอกาสในการดูเวลา แล้วปรับความเร็ว ผมอาจจะว่ายแค่ 100 ม. หลาย ๆ รอบ พยายามคงความเร็วให้แม่น ๆ หรือ อาจจะว่าย Build เพื่อจะหาความรู้สึกว่าทำอย่างไรคือการว่ายช้า แล้วอย่างไรคือการเร่งความเร็ว คล้าย ๆ กับการฝึกเหยียบคันเร่ง อาจจะมีการยืดระยะออกเป็น 300, 400 เพื่อดูความสามารถในการควบคุมความเร็วเมื่อระยะยาวขึ้น ทั้งหมดทั้งสิ้นสิ่งที่ผมต้องการคือ การว่ายความเร็วคงที่ ที่ความเร็วที่ผมวางแผนไว้เพื่อใช้ในการแข่งขันที่จะมาถึง สุดท้ายก็จบด้วยการว่ายยืดเส้นยืดสาย ส่วนใหญ่ผมจะเปลี่ยนท่าว่าย อาจจะเป็นว่ายกบ อาจจะมีการเตะขาในช่วง warm down นี้  ที่พิเศษให้เห็นในตารางด้านบนนี้ในวันสุดท้าย นั่นคือบางครั้ง ในวันซ้อมเบา ๆ ผมอาจจะว่ายโดยไม่สนใจความเร็วมากนัก แต่อาจจะพยายามใส่ใจเรื่องเทคนิค เช่น เน้นท่าสวยตามที่ได้เรียนรู้มา นับแขนให้สม่ำเสมอ อาจจะมีการใช้ Paddle มีการใช้ Pull Buoy ส่วนใหญ่เพื่อจะสังเกตุการดึงมือของผมที่ค่อนข้างมีปัญหาดึงไม่สมมาตรกัน

หลัก ๆ ในการซ้อมว่ายน้ำ ผมก็ทำแค่นี้ครับ ซ้อมแบบนี้ ไม่อาจจะพาคุณขึ้น Podium ได้ แต่รับรองว่าจะทำให้คุณสนุกกับการซ้อมว่ายน้ำได้อีกเยอะ และพาคุณไปเล่นไตรแบบไม่กังวลกับการว่ายน้ำอีกเลย นอกเหนือจากการประเมินเวลาการแข่งขันได้อย่างแม่นยำอีกด้วย

Becoming five years old triathlete.

IMG_8285ผมรักไตรกีฬา แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าผมวางแผนให้ลูกผมเป็นนักไตรกีฬา หรือ แม้กระทั่งเล่นไตรกีฬา ตามปรัชญาการเลี้ยงดูของบ้านเราที่จะปล่อยให้ธรรมชาติและความสนใจของลูกเป็นสิ่งผลักดันพวกเขามาจากข้างใน ในขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าธรรมชาติและความสนใจของพ่อแม่ยังคงมีส่วนเป็นอย่างมากในการสร้างตัวอย่างและผลักดันจากภายนอก การแข่งขันไตรกีฬาสำหรับผมนั้นไม่เคยเป็นการแข่งขันแต่มันเป็นการฝึกตนอย่างหนึ่ง ฝึกวินัยในการซ้อม ฝึกมองภาพใหญ่ ฝึกตั้งเป้าหมายแต่ไม่ลืมสิ่งสวยงามข้างทาง ผมเพียงต้องการถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ให้กับลูก ๆ ผ่านสื่อที่เรียกว่าไตรกีฬา

IMG_0033

เด็ก ๆ บ้านเราถูกสอนให้คุ้นเคยกับน้ำตั้งแต่อายุยังน้อย 2, 3, 6 เดือนตามสภาพความพร้อมของร่างกายและสภาพอากาศ ซึ่งผมได้เคยให้ความคิดเห็นเอาไว้แล้วในโพสเก่า ๆ เรื่องทักษะการว่ายน้ำ ผมต้องการให้ลูก ๆ ทุกคนรู้จักการเอาตัวรอดในน้ำได้ ผมไม่ได้มีความรู้อะไรเป็นพิเศษในการฝึกหัดเด็กให้ว่ายน้ำ เราเพียงแค่พาเด็ก ๆ ไปสนุกกับมัน จริงอยู่ผมมีวิธีการเล็ก ๆ น้อย ๆ  ที่จะแนะนำให้เขาคุ้นเคยกับน้ำเป็นขั้นเป็นตอนไป แต่นั่นผมค่อยมาขยายความภายหลังน่าจะดีกว่า แม้จะดูง่ายแต่รายละเอียดมันเยอะพอสมควร อย่างไรก็ตามพอเด็ก ๆ อายุประมาณสามขวบครึ่งถึงสี่ขวบก็จะเริ่มลอยตัวได้ พาตัวเองไปยังตำแหน่งต่าง ๆ ได้ในระยะทางค่อนข้างไกล 25-50 เมตร ผมยังไม่มีแผนที่จะสอนท่าให้กับพวกเขาจนกว่าเขาจะสนใจ ตอนนี้เซน พี่ชายคนโตอายุห้าขวบครึ่งเริ่มมีความสนใจที่จะว่ายท่าฟรีสไตล์อยู่บ้าง อาจจะเป็นเพราะเริ่มอยากว่ายให้เร็วขึ้น แต่อย่างไรก็ตามทักษะแรกสำหรับไตรกีฬามาตามธรรมชาติที่เราเตรียมภาวะแวดล้อมไว้ให้ ไม่ใช่เรื่องยากอะไรเลย เพราะเด็ก ๆ ส่วนใหญ่ชอบเล่นน้ำกันอยู่แล้ว การเอาเด็กขึ้นจากสระนั้นยากกว่าเอาเด็กไปลงสระเยอะมาก ๆ

 

L1000048

 

ในการเตรียมตัวเรื่องจักรยานก็ไม่ต่างกัน พ่อเป็นคนรักจักรยานเป็นชีวิตจิตใจ โตมากับการใช้จักรยานเพื่อเสริมความสามารถในการเดินทางสมัยยังเป็นเด็ก ผมอยากให้ลูก ๆ ได้ความรู้สึกแบบนั้นบ้าง อยากให้เขารู้ว่ากำลังขาของพวกเขาสามารถนำพาเขาไปได้ไกลเท่าที่หัวใจเขาอยากไป อย่างไรก็ตามจักรยานเป็นกีฬาที่ต้องใช้อุปกรณ์ การเลือกอุปกรณ์ที่เหมาะสมกับทักษะที่พร้อมของเด็ก ๆ จึงเป็นเรื่องที่เราค้นหากัน

IMG_1591

เราก็เริ่มพวกเขากับพาหนะมีล้อตั้งแต่เริ่มตั้งไข่ เริ่มด้วยจักรยานสามล้อแบบไถ ทำความคุ้นเคยกับสิ่งประดิษฐ์มหัสจรรย์ของโลกนั่นคือ “ล้อ” เมื่อเขาเริ่มโตขึ้นสามารถพาเขาออกเดินเล่นบริเวณหมู่บ้านได้ เราก็เริ่มหาพาหนะใหม่ให้พวกเขา ในจังหวะนี้ผมยังมีประสบการณ์น้อยว่าจริง ๆ แล้วพวกเขาจะมีพัฒนาการอย่างไร ในวัย 2 ขวบนั้นการเดินและวิ่งค่อนข้างจะเชี่ยวชาญกันหมดแล้ว การฟังคำสั่งยังไม่ค่อยจะพัฒนามากนัก ซึ่งทำให้ผมเป็นห่วงเพราะพื้นที่ที่เราเล่นกันนั้นเป็นถนนในหมู่บ้าน ไม่ใช่สวนสาธารณะที่ปลอดรถ ในเบื้องต้นผมเลือกจักรยานถีบ 3 ล้อให้กับพวกเขาก่อน ผมได้เห็นความพยายามในการทำความเข้าใจที่จะใช้บันไดในการถีบ ซึ่งดู ๆ แล้วไม่ค่อยเป็นธรรมชาติมากนักสำหรับเด็กวัยนี้ เราจึงไม่ได้ใช้มันเท่าที่ควร แต่อยู่มาวันหนึ่งผมค้นพบสิ่งที่เรียกว่า push bike จากรูปจักรยานไม้สวย ๆ ที่แชร์กันตามเฟสบุค ผมตามหาจนพบว่ามันเป็นจักรยานสำหรับเด็กที่ผลิตที่เยอรมันโดยใช้ชื่อว่า Like-A-Bike ผมตามมาเจอตัวแทนในฮ่องกงแล้วสั่งซื้อตรงจากเขา ไม่นานนักผมก็ได้ของและให้ลูกชายวัยสองขวบครึ่งได้ลอง เขาใช้เวลาสองวันในการที่จะเข้าใจการทำงานของมันและใช้งานได้คล่องแคล่วในเวลาอย่างรวดเร็ว ในปีถัดมาลูกสาวโตขึ้นระบบแบบนี้เริ่มได้รับความนิยม มีคนจำหน่าย push bike มากขึ้น ผมจึงจัดอีกคันที่ใช้ชื่อว่า Strider แม้ว่าจะราคาถูกกว่ากันแรกถึงสี่เท่าแต่รายละเอียดในการออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นความปลอดภัย หรือ ความเหมาะสมของทักษะเด็กในวัยย่างสามขวบ นั้นจะสู้ Like-A-Bike ไม่ได้เลย ลูกสาวไม่สามารถเล่นได้ผมจึงจำเป็นต้องให้ลูกชายแลก Like-A-Bike กับ Strider ของลูกสาว ซึ่งในเวลานั้นลูกชายคนโตเริ่มใช้จักรยานทรงตัวคล่องมากแล้ว การสลับมาใช้ Strider เป็นเรื่องง่าย ในขณะที่ลูกสาวก็สามารถทรงตัวบน Like-A-Bike ได้แทบจะทันทีตามที่เขาได้ออกแบบมา

IMG_0120

 

IMG_7526

เด็ก ๆ ถูกพาออกไปเดินเล่นนอกบ้านพร้อม ๆ กับยานพาหนะคู่ใจของพวกเขาทุกครั้ง เราแทบจะไม่จัด session พิเศษสำหรับการปั่นจักรยานใด ๆ เลย แต่ใช้มันเป็นส่วนประกอบของการ commute สั้น ๆ ในบริเวณหมู่บ้าน ซึ่งในบางวันเขาก็จะเอาสามล้อปั่นออกมาเล่นกันบ้างตามความสนใจในขณะนั้น เมื่อผมมองว่าลูกชายคนโตของผมเริ่มมีความพร้อม ผมก็ไปยืมจักรยานปั่นที่ติดล้อข้างของญาติรุ่นพี่ ผมเอามาถอดล้อออกแล้วลองให้เขาหัดใช้ดู เซนซึ่งสามารถทรงตัวได้แล้ว ทักษะการถีบบันไดพร้อมแล้ว เขาก็สามารถนำทักษะของอย่างนี้รวมเข้าด้วยกันในจักรยานคันใหม่ได้ค่อนข้างรวดเร็วภายในเวลาสองสามวัน ในขณะที่เมื่อไม่นานมานี้ผมได้ให้น้องสาวซาช่าทดลองบ้าง ตอนนี้ซาช่าสามารถใช้ Strider คล่องแล้ว แต่ยังค่อนข้างชอบใช้ Like-A-Bike มากกว่า (นั่งสบายกว่า) ในขณะที่ไม่เคยมีทักษะในการถีบบันได้เลย เพราะไม่ค่อยได้เล่นจักรยานสามล้อ ก็พบว่าในขณะที่ซาช่าสามารถทรงตัวได้ แต่ความเข้าใจในการถีบจักรยานยังมีน้อยเกินไปและยังไม่พร้อมในการปั่นจักรยานในรูปแบบนี้ ซึ่งในขณะนี้ผมนำเอาจักรยานสามล้อลงมาใหม่เพื่อจะให้น้องซาช่าได้มีโอกาสฝึกฝน คงต้องรอดูกันต่อไป

IMG_1652

ส่วนตัวเซน พี่ชายคนโตเอง เมื่อสามารถปั่นจักรยานสองล้อได้ดีแล้ว ผมจึงเริ่มมองหาจักรยานที่มีขนาดใหญ่สักหน่อย ขนาดล้อ 20″ เป็นของยี่ห้อ Obea ประเทศสเปน รุ่นสำหรับเด็กที่ไม่ใช่รุ่นที่เล็กที่สุด และมีอุปกรณ์ใหม่ที่เขาไม่รู้จักมาก่อนคือ เกียร์ 7 สปีด และมือเบรค ซึ่งในเวลานั้นเซนยังไม่สามารถยืนคร่อมจักรยานได้อย่างมั่นคง แต่ทักษะการปั่นจักรยานเขามีพร้อมแล้ว อีกทั้งจักรยานมีขนาดใหญ่กว่าตัวเขา หนักมากกว่าความสามารถในการยกจักรยานของเขา ในช่วงแรกที่พาเขาไปปั่นนั้น เขาล้มหลายครั้ง และสุดท้ายโดนสุนัขไล่จนล้ม แล้วในที่สุดผมก็พบว่าเซนไม่ยอมเล่นจักรยานคันใหม่อีกเลย ซึ่งผมเองไม่ได้กังวลอะไรมากนักเพราะรู้ดีว่าผมซื้อมาค่อนข้างเร็วกว่าสรีระของเขา และอีกอย่างคือ จักรยานคันนี้ผมวางแผนให้เป็นของซาช่าน้องสาวเขา เราเลือกสีชมพูตามที่น้องสาวต้องการ และขอให้น้องสาวให้พี่ชายยืมใช้ก่อน ในช่วงที่น้องสาวยังปั่นจักรยานไม่เป็น สามเดือนผ่านไปไวเหมือนโกหก เซนก็เริ่มสามารถเขย่งให้ยืนคร่อมจักรยานได้บ้าง ผมจึงคยั้นคยอให้เขาออกไปหัดอีกครั้ง

 

L1020500

ในช่วงที่สองนี้ผมพยายามหัดทักษะที่สำคัญคือการเริ่มต้นปั่นจักรยาน การหยุดและลงจากจักรยาน เป็นหลัก ซึ่งใช้เวลานานพอดูในการหัดเขาน่าจะประมาณ 4-5 ครั้งกว่าที่เขาจะเริ่มจับจุดได้เอง ผมสอนการใช้เบรค สอนการใช้เกียร์ แล้วให้เขามั่ว ๆ เอาจนกระทั่งตอนนี้คาดว่าเขาเข้าใจมันดีมากแล้ว การพัฒนาการของเซนบนจักรยานเป็นไปอย่างรวดเร็ว เขาเริ่มปั่นเร็วขึ้น ทดลองปล่อยมือข้างเดียว การเบรค การเปลี่ยนเกียร์ การฟังคำสั่งของผม ในที่สุดผมคิดว่าเขาพร้อมที่จะออกถนนไปพร้อมกับผม ผมจึงพยายามหาการแข่งขันในพื้นที่ใกล้ ๆ ระยะทางไม่ไกลมากนักให้กับเขา ในที่สุดมาลงตัวในรายการแรกที่ต้องปั่น 25 km ในพื้นที่นาทวี ซึ่งจริง ๆ ไม่ใกล้มากนักเพราะห่างออกไป 60 กม. แต่เท่าที่ดูแล้วน่าจะเป็นงานเล็ก ๆ ในถนนเล็ก ๆ ผ่านป่ายาง ผมจึงตัดสินใจพาเขามาลองปั่นด้วยกัน

IMG_5689

เจตนาในการนำมาแข่งขันครั้งนี้คือ ให้เขาได้ร่วมการปั่นจักรยานกับคนอื่น ๆ จำนวนมาก ในสภาวะที่กึ่ง ๆ ปิดถนน และมีระยะทางที่ยาวเพียงพอที่จะได้อะไรกลับไป ผมไม่รู้ว่าระยะทาง 25 กม. ในการปั่นออกถนนครั้งแรกนั้นใกล้หรือใกลมากเกินไปหรือไม่ เพราะในใจคิดเพียงว่าถ้าเขาขอหยุดเมื่อไร ผมก็จะให้แม่เอารถมารับ ก็เท่านั้น อีกอย่างที่ผมต้องการจะฝึกเขามากที่สุดคือการฟังคำสั่ง การที่จะนำเด็กวัยไม่ถึงห้าขวบไปปั่น 25 กม. บนถนนจริงนั้น ความปลอดภัยเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด แม้ว่าถนนจะกึ่งปิด และมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลในทุก ๆ แยกแล้วนั้น เด็กวัยนี้ประสบการณ์แบบนี้ยังไม่สามารถตัดสินใจบนพื้นถนนด้วยตัวเองได้ ผมจึงต้องปั่นประกบและคอยบอกคิวให้เขาในทุก ๆ จังหวะ ไม่ว่าจะเป็นการชะลอ การเตรียมตัวเลี้ยว ทิศทางในการมองรถ การเปลี่ยนเกียร์เมื่อต้องขึ้นเนิน การเบรคและความเร็วที่เหมาะสม รวมไปถึงจังหวะในการพัก รวบรวมกำลังใจและกินน้ำ เป็นต้น เราออกปั่นท่ามกลางความสนเท่ห์ของผู้ร่วมปั่นทุกคน แน่นอนว่าแม้ว่าเราจะพยายามออกตัวไปเป็นคนแรกก่อนที่คนอื่น ๆ จะปล่อยตัว ไม่นานนักเราก็เป็นตำแหน่งสุดท้าย ที่คอยตามติดด้วยรถพยาบาล หลังจากปั่นผ่านไป 15 กม. เราก็หลงทางพร้อม ๆ กับรถติดตามของเรา เมื่อหลงไปได้สักพักรถพยาบาลจึงแจ้งว่าเราหลงและน่าจะขึ้นรถกลับกันได้แล้ว ตัวเซนเองนั้นในเบื้องต้นคงรู้สึกดีใจที่ไม่ต้องปั่นแล้ว และคงกำลังเหนื่อย แต่เมื่อรถพยาบาลขับกลับมาตามเส้นทางจนเจอกับตำแหน่งรองสุดท้ายที่เป็นเด็กผู้หญิงน่าจะอายุประมาณสิบขวบ เซนก็ขอลงไปปั่นแข่งกับพี่เขา ยังไม่ทันจะได้ขึ้นปั่นเราก็ไม่เห็นพี่เขาอีกเลย ส่วนเราเองก็ต้องปั่นดุ่ม ๆ ไปตามเส้นทางที่ในขณะนี้เริ่มเป็นบ้านของชาวบ้าน มีคนจำนวนมากออกมาเชียร์เซน และผมคิดว่าเขาเริ่มรู้สึกสนุก ในที่สุดเราก็ปั่นด้วยความเร็ว 10 kph เป็นจนถึงเส้นชัย พร้อมเสียงปรบมือกึกก้อง น้องคนเล็ก เข้าคนสุดท้าย ผู้จัดคนแล้วคนเล่า ขับมอเตอร์ไซด์มาเวียนดูขณะเซนปั่น แม้ว่าในงานนี้จะไม่มีถ้วยให้กับเซน แต่ผู้จัดก็กรุณาไปหาถ้วยที่ระลึกของงานอื่นมามอบให้เด็กตัวน้อยหัวใจพองโต ที่สุดท้ายแล้วเขาก็ได้เหรียญทองแรก และถ้วยแรกในชีวิตที่วัยไม่ถึงห้าขวบ กับระยะทาง 20 km บนจักรยานเด็กล้อ 20″ ที่ปั่นได้เร็วที่สุดประมาณ  12kph เท่านั้น

IMG_1630

ประสบการณ์ออกถนน 30 km ครั้งแรกของเซนทำให้เขามั่นใจในศักยภาพของตัวเองเป็นอย่างมาก ถึงกับขอปั่นจากบ้านเพื่อไปบ้านย่าที่ห่างออกไป 5 กม. หลายครั้ง ผมต่างหากที่กลัว เพราะเส้นทางเป็นถนนไฮเวย์ที่รถขับกันค่อนข้างเร็ว ผมพาเขาไปตามที่ตั้งใจหลายครั้ง และเริ่มรู้สึกว่าบางครั้งพ่อแม่ก็ประเมินศักยภาพของลูกตนเองต่ำเกินไป เนื่องจากความวิตกกังวล หลังจากนั้น ทั้งผมและเซนเริ่มสนุกกับมัน เราจึงหาการแข่งขันงานใหม่ ก็มาได้การแข่งขันที่ยะลา บนถนนเส้น 418 ระยะทาง 30 กม. คราวนี้ผมไม่ให้พลาด สมัครรุ่น VIP ยังไง ๆ ก็ได้ถ้วย เซนเองจะได้ไม่ผิดหวัง งานนี้ผมวางแผนผิดไปเล็กน้อย เพราะเส้นทางเต็มไปด้วยเขาลูกโต มองดูสุดลูกหูลูกตาสำหรับเด็ก ๆ เซนปั่นขึ้นเนินแล้วเนินเล่าทั้งน้ำตา ผมต้องหยุดให้น้ำให้กำลังใจหลายครั้ง หลังจากข้ามเขามาสำเร็จแล้ว ผมจึงตัดสินใจทิ้งเส้นทางราบที่เหลือให้เขาปั่นข้ามเขากลับไปอีกครั้งเพื่อเข้าเส้นชัย คาดว่าเราปั่นสั้นลงประมาณ 10 km น่าจะได้ แต่แพคไปด้วยภูเขา ในการปั่นขากลับเซนมีกำลังใจดีขึ้น คาดว่าเนื่องจากรู้ว่าเส้นทางใกล้ไกลเพียงใด ในที่สุดเราก็พากันมาถึงเส้นชัยได้ในสภาพที่ไม่บอบช้ำ ผมหัดให้เซนได้ใช้เกียร์จนครบ 7 เกียร์ที่มี การเบรคการชะลอ การประเมินพละกำลัง การฟังคำสั่ง ถือว่าเซนผ่านทุกรูปแบบแล้ว เราจึงมองหาเป้าหมายใหม่ในทันที

IMG_7008

สุดท้ายเรามาตัดสินใจใช้เป้าหมายใหม่เป็นไตรกีฬาสำหรับเด็ก แม้ว่าเป็นรายการที่จัดขึ้นสำหรับเด็กโดยเฉพาะ แต่ก็เป็นรายการระดับโลกที่เรียกว่า Junior Challenge Triathlon ที่จัดขึ้นพร้อม ๆ กับรายการ Challenge Laguna Phuket ในรุ่น 6-8 ขวบที่เซนจะลงแข่งนั้น มีระยะว่ายน้ำ 50 เมตร ปั่นจักรยาน 3 กม และวิ่ง 500 เมตร ซึ่งผมดู ๆ แล้วน่าจะเป็นเรื่องง่ายสำหรับเซนที่จะทำสำเร็จ แต่ก่อนที่จะเข้าร่วมแข่งได้เราต้องทำการโกงอายุครั้งแรกก่อน เนื่องจากระบบสมัครไม่อนุญาติให้อายุ 5 ขวบมาสมัคร เราจึงมั่วไปว่าเซนเอายุ 6 ขวบ แม้ว่าเซนจะยังว่ายน้ำไม่เป็น ได้แต่ลอยคอ แต่ผมคิดว่าทักษะเขามีเพียงพอที่จะลอยคอให้ครบ 50 เมตร สิ่งที่ผมห่วงคือถ้าสระมันสั้น 25 เมตรการจะทำให้เขายอมว่ายสองรอบนั้นน่าจะลำบากกว่า การปั่นจักรยานและวิ่งไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวล แต่นี่จะเป็นครั้งแรกที่เซนจะต้องแข่งขันด้วยตนเองโดยไม่มีผมติดตามให้กำลังใจอยู่ข้าง ๆ ไม่มีใครคอยบอกคิว ให้เบรคชะลอ และมองรถในทิศทางใด ๆ ผมกังวลมากกว่าลูก ๆ เยอะมากในเวลานั้น ในวันที่ได้รายละเอียดของการแข่งขัน ผมก็กังวลเพิ่มเป็นทวีคูณ เพราะผู้จัดการแข่งขันไม่อนุญาติให้มีการช่วยเหลือใด ๆ ซวยละซิ เซนใส่รองเท้า ถุงเท้าเองไม่เป็น ใส่หมวกกันน๊อกไม่เป็น และใส่เสื้อทีม V40 ด้วยตัวเองยังไม่ค่อยได้ (เสื้อมันไม่ค่อยยืด และหลังเปียกน้ำมันจะติด ๆ จนเซนไม่ค่อยยอมใส่เอง) ผมเองก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ในวันแข่งขันจึงมาซ้อมให้เซนใส่รองเท้ากับหมวกกันน๊อคก่อนเวลาสักเล็กน้อย

IMG_7811

เมื่อการแข่งขันเริ่มต้นขึ้น เด็ก ๆ ในรุ่นเดียวกันกับเซนก็มาเข้าแถวเรียงกันที่สระว่ายน้ำ 50 เมตร สบายไปเปราะหนึ่งเพราะไม่ต้องลุ้นว่าพอครบ 25 แล้วเซนจะยอมว่ายต่ออีกเที่ยวมั้ย เมื่อเริ่มปล่อยตัว ผู้แข่งขันรุ่นพี่ทั้งหมดก็อัดกันเต็มที่ มีเซนและเพื่อน ๆ เด็กบ้าน ๆ อีกสองคนที่ว่ายน้ำยังไม่เป็นท่า ค่อย ๆ ลอยคอกันไป เซนเลือกที่จะใช้การดำน้ำเป็นระยะทางไกล ๆ แทน แต่ที่ตลกที่สุดคือเซนคิดว่ามันเป็นการต่อสู้กลาย ๆ ทำให้เซนหันหลังไปสาดน้ำคู่แข่ง หรือพยายามใช้มือกวักน้ำให้กระเด็นไปด้านหลัง โดยคิดว่าจะไปรบกวนคู่แข่ง ซึ่งดุแลค่อนข้างตลก ในขณะที่เพื่อนรุ่นพี่ว่ายขึ้นไปอย่างรวดเร็ว เซนก็ค่อย ๆ ลอยคอมาถึงอีกฝั่งก่อนทุกคนในกลุ่มที่ว่ายไม่เป็นท่า เซนแสดงความดีใจจนออกนอกหน้า วิ่งมาอวดผมว่าเขาชนะแล้ว ผมต้องรีบเตือนให้เขาวิ่งตามคนอื่น ๆ ไปเพื่อไปปั่นต่อ แต่ปัญหาก็เกิดเนื่องจากเซนพยายามจะวิ่งตามผมตลอดเวลา วิ่งไปแล้วก็วิ่งกลับมาหาผม ทำอย่างนี้อยู่หลายรอบจนกรรมการเห็นว่าปัญหาคืออะไร จึงวิ่งพาเซนไปที่จุดทรานสิชั่นได้

IMG_5709

ผมซึ่งวิ่งมายืนรออยู่แล้ว ก็คอยบอกคิว ให้ใส่เสื้อก่อน เซนต้องหันมาถามว่าใส่ด้านไหนจึงจะถูก หลังจากนั้นก็หมวกกันน๊อค แต่เนื่องจากมันเป็นเรื่องความปลอดภัยกรรมการจึงเข้ามาช่วยดูแลเรื่องการใส่หมวก แล้วด้วยความเก้ ๆ กัง ๆ ของเซนกรรมการผู้นั้นก็เลยช่วยใส่รองเท้าให้เซนไปด้วยเลย เซนก็ปล่อยตัวปั่นออกไป ดีที่ว่ามีกรรมการคอยโบกทาง และมีคนปั่นนำอยู่บ้าง เซนจึงยอมปั่นออกไปคนเดียว หลังจากที่เหลียวหลังหลายรอบว่าทำไมผมจึงไม่ออกตามไปกับเขา ในช่วง 3 กม. มันยาวนานมาก ๆ สำหรับผม เพราะไม่รู้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง แต่ในที่สุดเซนก็กลับมาที่จุดทรานสิชั่นอีกครั้ง การวิ่งระยะ 500 เมตร ทางผู้จัดทำได้ดีมาก ๆ เพราะเด็กแต่ละคนจะมีผู้ใหญ่วิ่งตามประกบไปเพราะเป็นการวิ่งรอบสนามกีฬาที่ไม่เช่นนั้นเด็ก ๆ อาจจะไม่ยอมวิ่งรอบแต่วิ่งลัดสนามแทน ผมพาซาช่าไปรอรับเซนในช่วง 50 เมตรสุดท้าย ซาช่ามีความสุขมากที่ในที่สุดเขาได้มาวิ่งแข่งกับเซน และสุดท้ายเข้าเส้นชัยก่อนเซน ซึ่งหลังการแข่งขันซาช่าก็ภูมิใจที่เอาชนะเซนได้ เซนเสียใจเล็กน้อยมาเปรย ๆ ว่าแม้ว่าเขาจะชนะจนได้เหรียญ แต่ก็ยังแพ้น้องซาช่า

IMG_8271

หลังการแข่งขัน ผมซึ่งตื่นเต้นมาก ก็ถามเซนตลอดว่าเป็นอย่างไรบ้าง เซนเล่าให้ฟังถึงช่วงปั่นจักรยานว่าเจอวัว เจอโน่น เจอนี่ ผมนึกภาพการปั่นของเซนออกในทันที เซนยังไม่มีความรู้สึกถึงการแข่งขัน เขายังมีความสุขกับการปั่นไกล ๆ ได้มองซ้ายมองขวา ดูโน่นนี่นั่น ใบหน้าปะทะกับสายลม ความทรงจำจากการแข่งขันของเขามีเพียงช่วงเวลาแห่งความสุขนั้น เขารู้สึกว่าเขาเอาชนะเด็กสองสามคนที่ว่ายน้ำไม่เป็นเหมือนเขา หลังปั่นจักรยานเขาไม่รู้ว่าใครแซงเขาหรือไม่ แต่เขาได้เห็นสิ่งต่าง ๆ ตามรายทางที่เขาประทับใจจนมาเล่าให้ผมฟังได้ เขาวิ่งเข้าเส้นชัยและชนะได้เหรียญตามที่ตั้งใจ แม้ว่าวิ่งแพ้น้องสาวในช่วงสุดท้าย แต่เขาก็สนุกกับมัน

IMG_8284

หลังจากกลับมาจากการแข่งขัน เขาเริ่มขอจักรยานคันใหม่ เขาบอกว่าเอาที่เหมือนกับพี่ ๆ ที่แข่งขัน เขาจะได้ปั่นตามได้เร็ว ๆ ผมเองก็เล็ง ๆ จะหาให้เขาอยุ่เหมือนกัน เพราะพบว่าจักรยานที่เขาใช้นั้นมีเกียร์น้อย ปั่นได้เร็วสุดประมาณ 12-15 kph เท่านั้น ซึ่งเป็นความเร็วที่ช้าเกินไปสำหรับเซนแล้ว ทักษะของเซนโตเกินกว่าร่างกายของเขาอีกครั้ง ผมคิดว่าจะปลดระวาง Orbea Grow 7V คืนไปให้น้องสาว แล้วคงถึงเวลาที่จะต้องหัดน้องซาช่าให้ปั่นจักรยานจริง ๆ จัง ๆ ก่อนที่จะเกิดความแตกต่างกันมากจนร่วมเล่นด้วยกันไม่ได้ รายการต่อไปที่เล็ง ๆ ไว้เป็นการแข่งขันไตรกีฬาเด็กที่ต่างประเทศ ซึ่งเริ่มเป็นระยะที่ท้าทายมากขึ้น แต่ก่อนที่จะทำการสมัครผมคงต้องหาจักรยาน ลองหัดท่าว่ายน้ำ ให้เซนให้ได้ก่อน

IMG_0129

ผมไม่ได้คาดหวังให้เด็ก ๆ เป็นนักกีฬา ไม่ต้องการให้เขามี competitive spirit ผมเพียงต้องการให้เขาเป็นคนที่ใช้ชีวิตแบบ active lifestyle  รู้จักการแข่งขัน เข้าใจการแข่งขัน ตั้งแต่เด็ก ๆ และโตเกินการแข่งขันกับคนรอบ ๆ ตัว แต่เข้าใจถึงการแข่งขันกับตนเอง กับเป้าหมายของตนเอง ให้ได้เร็วที่สุด กิจกรรมกีฬาเป็นเพียงสื่อเท่านั้นครับ

 

ไตรฯ ทำไม?

ไตรกีฬา หรือ Triathlon เป็นกีฬาที่ผมโปรดปรานมากที่สุด ไม่นานมานี้ (2 ธันวาคม 2555) ผมเพิ่งประสบความสำเร็จกับระยะทางใหม่ที่ไกลกว่าเดิมนั่นคือ ระยะ Half Ironman หรือ ในเวลานี้ถูกจดลิขสิทธิ์ไว้ในชื่อของ Ironman 70.3 โดยหมายเลข 70.3 เป็นระยะทางรวม (เป็นไมล์) ที่นักกีฬาจะต้องผ่านกันภายในระยะเวลาที่กำหนด ผมจบรายการนี้ด้วยเวลา 6 ชั่วโมง 59 นาที ด้วยระยะทางอันยาวไกลและเวลาที่หลาย ๆ คนไม่สามารถนึกภาพตามได้ว่าการออกกำลังกายอย่างหนักเป็นเวลาค่อนวันมันเป็นอย่างไร และที่สำคัญทำไปเพื่ออะไร

IMG_3800

หลาย ๆ คน มองว่าเป็นการเอาชนะตนเอง ความท้าทายของชีวิต บางคนมองว่าทำไปเพื่อสุขภาพ หรืออื่น ๆ อีกมากมาย เมื่อผมมองกลับมาที่ตัวเอง มันยังไม่มีคำตอบที่โดนใจผม ผมตั้งใจจะเขียนบทความนี้เพื่อขุดเข้าไปภายในจิตใจของตนเอง เพื่อจะถามว่าทำไม โดยที่ผมเอง ณ เวลานี้ยังไม่รู้ว่าบทความนี้จะให้คำตอบอะไรกับผม ทำไม ผมเริ่มกีฬานี้ในฐานะของสมาชิกชมรมว่ายน้ำ ที่หันไปวิ่งเพื่อสุขภาพ ในขณะที่ใช้จักรยานเป็นยานพาหนะในการเดินทาง ในขณะที่ผมเริ่มกีฬาประเภทนี้จากรายการทวิกีฬางานต่าง ๆ ก่อน เนื่องจากสมัยนั้นการแข่งขันไตรกีฬาต่างจังหวัดเป็นไปได้ยากมากสำหรับนักเรียนบ้านนอกอย่างผม ในที่สุดผมได้มีโอกาสแข่งขันไตรกีฬาครั้งแรกในทันทีที่เรียนจบ แม้่ว่าการเดินทางจะทุลักทุเลเป็นอย่างมาก ผมต้องเดินทางด้วยรถไฟจากปัตตานี มาขึ้นรถทัวร์เพื่อไปจังหวัดจันทบุรี เพื่อแข่งรายการไตรกีฬาวิบาก การแข่งขันครั้งแรกนั้นมันช่างทรมาณเหลือหลาย ผมใช้เวลาส่วนใหญ่ในการเดินมากกว่าวิ่ง แต่ความฝันของผมที่จะได้ลงเล่นไตรกีฬาก็เป็นจริงแล้ว ครั้งแรกนั้นจึงเป็นเพียงเติมความฝัน ในเวลานั้นผมซ้อมมั่ว ๆ ตามสภาพ ขอแค่ถึงเป็นพอ
TRI NCB

หลังจากจบการศึกษาไม่นาน ผมก็ไม่โอกาสไปศึกษาต่อต่างประเทศ ทันทีที่ผมไปถึงผมก็หาข้อมูลเกี่ยวกับไตรกีฬาในทันที โชคดีที่ว่าไตรกีฬาในขณะนั้นเริ่มได้รับความนิยม มีรายการแข่งขันแทบทุกสัปดาห์ตลอดช่วงฤดูร้อน รวมไปถึงรายการยิ่งใหญ่ประจำปีของเมืองคลีฟแลนด์ที่ผมอยู่ด้วย ซึ่งอาจจะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมไปจนถึงสิงหาคม ผมหาข้อมูลทุกอย่างเรื่องการซ้อม รวมไปถึงหาเพื่อนร่วมซ้อม แม้ว่าผมจะโชคดีที่ได้เพื่อนร่วมซ้อมที่ต่อมาชวนกันไปแข่งในหลาย ๆ งานที่น่าจดจำ อย่างไรก็ตามผมก็ยังไม่ทุ่มเทมากถึงขนาดเข้าร่วมกับทีมนักวิ่ง นักว่ายน้ำ หรือนักปั่นจักรยานของเมืองเพื่อซ้อมทั้งสามกีฬานี้ ผมเลือกที่จะจัดเวลาในการซ้อมด้วยตนเอง ด้วยความรุ้ที่ได้จากหนังสือหลาย ๆ เล่ม

swim finish#3

สิ่งที่ผมค้นพบคือว่า ไตรกีฬา เป็นกีฬาที่ต้องมีการวางแผน และเตรียมตัวล่วงหน้าเป็นเวลานานมาก ในยุคนั้นหนังสือทั้งหมดแนะนำการใช้เวลาทั้งปีในการออกแบบตารางการซ้อมสำหรับแข่งในฤดูแข่งขันที่จะมาถึง ในขณะที่ต่างเล่มอาจจะมีแนวความคิดที่แตกต่างกันอยู่บ้างในการซ้อมช่วงฤดูหนาว แต่ส่วนใหญ่การซ้อมจริง ๆ จะเน้นอยู่ในช่วงสร้างฐานในช่วงฤดูใบไม้ร่วง และเริ่มฝึกความเร็วก่อนถึงฤดูใบไม้ผลิเล็กน้อย จากการที่ต้องมีการเตรียมตัวซ้อมกันทั้งปี แบบนี้ในฤดูแข่งขัน เราก็มักจะร่วมการแข่งขันกันค่อนข้างถี่อาจจะถึงทุกสัปดาห์ แต่สลับระยะแข่งขันกันไป ส่วนใหญ่แล้วในเวลานั้น ระยะยาวที่สุดที่เป็นไฮไลท์ของฤดูกาลก็จะเป็นเพียงระยะโอลิมปิกเท่านั้น (ครึ่งหนึี่งของระยะ Ironman  70.3) รายการย่อย ๆ ก็ถูกเรียกว่า sprint distance ซึ่งมีระยะทางแตกต่างกันไปไม่มีมาตรฐานที่ชัดเจน ในฤดูกาลหนึ่งผมจะแข่งขันประมาณ 8-10 ครั้ง โดยมักจะมีระยะโอลิมปิกประมาณ 3 ครั้งกระจายตั้งแต่ต้นฤดูไปจนปลายฤดู ที่เหลือก็ไปแข่งทุกงานที่ไม่ไกลเกินไปนัก

เนื่องจากความจำเป็นในการวางแผน ออกแบบการซ้อม และมีอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องค่อนข้างมาก ในยุคเติบโตของไตรกีฬานั้น นักกีฬาส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มบุคคลประเภทหนึ่งที่จัดอยู่ในประเภทที่ต้องวางแผน และมีความสามารถมองสู่เป้าหมายระยะยาวได้ คนกลุ่มนี้ได้แก่ ทนายความ แพทย์ ผู้บริหารธุรกิจ และนักศึิกษาระดับบัณฑิตศึกษา ซึ่งผมจัดอยู่ในกลุ่มบัณฑิตศึกษา สำหรับผมที่เป็นนักศึกษาไทยได้รับทุนการศึกษาไปศึกษาต่างประเทศ ผมเองไม่เคยวางแผนระยะยาวเกี่ยวกับการเรียนของผมมากนัก แต่ต้องยอมรับว่าการเข้าเล่นไตรกีฬาอย่างจริง ๆ จังๆ ในช่วง 7 ปีที่ศึกษาต่ออยู่นั้น ทำให้ผมเพิ่มศักยภาพในการมองไกล ตั้งเป้าหมายระยะไกล และออกแบบวางแผนเพื่อไปสู่เป้าหมายนั้น ๆ ได้ อย่างเป็นธรรมชาติ การวางแผนต่าง ๆ โดยให้มีการสลับกิจกรรม มีไมล์สโตน รวมไปถึงการตรวจสอบความเหมาะสมของแผนและความก้าวหน้าของงานตามแผนนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นอะไรที่ผมเรียนรู้จากการออกแบบการซ้อมไตรกีฬาของผมทั้งนั้น

bike finish#1

ในช่วง 7 ปีนั้น ผมสนใจเรื่องของการออกแบบแผนการซ้อม ตั้งสมมุติฐาน ทดสอบสมมุติฐาน และวัดผล ผมต้องการผลการแข่งขันที่ดีขึ้น ๆ ทุก ๆ ปี แม้ว่าส่วนใหญ่จะได้ตามคาดหวัง ซึ่งอาจจะเกิดจากการซ้อมที่ปรับปรุงขึ้นเรื่อย ๆ หรือ ประสบการณ์แข่งขันที่สั่งสมมาเรื่อย ๆ ก็เป็นได้ เมื่อเวลาแย่ลงก็จะมีโจทย์เพื่อการปรับเปลี่ยนกระบวนการซ้อมเล็กน้อย รวมไปถึงการปรับปรุง ปรับเปลี่ยน แก้ไข เมื่อไม่สามารถทำตามแผนที่วางเอาไว้ สิ่งเหล่านี้จะสามารถทำได้ดีมากขึ้นเมื่อประสบการณ์มีมากขึ้น และมันเป็นประโยชน์อย่างมากในการเรียนระดับบัณฑิตศึกษาของผม ที่มีกิจกรรมเกี่ยวเนื่องมากมายจากวันที่เริ่มเข้าเรียนไปจนถึงวันที่พรีเซนต์จบ ทักษะเหล่านี้ผมเรียนรู้มาจากไตรกีฬาทั้งสิ้น

มุมมองต่อไตรกีฬาของผมเปลี่ยนไปเมื่อผมได้กลับมาเมืองไทย ณ เวลานั้นผมรู้จักเพียงรายการลากูน่าภูเก็ตไตรกีฬา ผมจึงสมัครเข้าร่วมทันทีที่ผมได้จักรยานผมกลับมาจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตามผมมองว่าการวางแผนซ้อมทั้งปีเพื่อการแข่งขันเพียงครั้งเดียวนั้นไม่คุ้มค่าเสียเลย ผมจึงเห็นการแข่งขันนี้เพียงเพื่อการเข้าร่วม และโอกาสไปเที่ยวภูเก็ตอย่างน้อยปีละครั้ง ส่วนการซ้อมก็ไปตามสภาพ ไม่มีการวางแผน อาศัยความรู้สึก และระยะที่คุ้นเคยมาตลอดระยะเวลา 7 ปี ที่สำคัญไม่มีการบันทึก การแข่งขันปีนั้นที่ภูเก็ตถือว่าอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่ สนามที่โหดกว่าทุก ๆ สนามที่ผมเคยเจอมาในอเมริกา ภูเขาชัน ๆ ที่ต้องเข็นเท่านั้น อากาศร้อน ๆ ขณะวิ่ง ทำให้ผมต้องเดินเป็นส่วนใหญ่และทำเวลาเกินกว่าสี่ชั่วโมง ในการแข่งขันครั้งนั้น ผมได้เรียนรู้ว่าประสบการณ์แม้ว่าจะทำให้เราทำอะไรได้ง่ายขึ้น ได้ผลที่ดีขึ้น แต่ไม่สามารถทดแทนการวางแผนไปได้ ในฤดูกาลถัดไปผมจึงเริ่มวางแผนการซ้อมแต่น่าเสียดายอาการบาดเจ็บที่กระดูกสันหลังของผมพัฒนาเป็นภาวะกระดูกเสื่อมจนผมไม่สามารถวิ่งได้อีก ทำให้จำเป็นต้องเลิกไป

IMG_3792

ผมหยุดไตรกีฬาแล้วหันมาหากีฬาอื่นเพื่อทดแทนเริ่มด้วยกีฬาเพาะกาย ในขณะที่กำลังจะไปได้ดีแต่ผมก็ต้องล้มเลิกเสียเพราะงานด้านการกินที่เป็นงานหลักของเพาะกายนั้นผมไม่มีความสุขเอาเสียเลย ในขณะที่สภาพการเสื่อมของกระดูกหลังของผมเริ่มเลวร้ายขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะเดียวกันกีฬาปีนเขาที่ผมเริ่มหลงไหลมันมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็ดูเป็นคำตอบที่ดีที่สุดเนื่องจากเป็นกีฬาที่ไม่มีการกระทบกระแทกเลย อย่างไรก็ตามด้วยความที่ยังเป็นกีฬาใหม่สำหรับประเทศไทย ที่ปัตตานีการหาสถานที่เพื่อซ้อมปีนเขาเป็นไปไม่ได้เลย ผมจึงค่อย ๆ ห่างจากการฝึกซ้อมและในที่สุดก็หยุดทุกอย่างไป จนกระทั่งในวันหนึ่งสุขภาพของผมย่ำแย่เป็นที่สุด อาการกระดูกเสื่อมไม่ได้ดีขึ้น ความแข็งแรงลดลง ป่วยง่าย เหนื่อยง่าย ผมต้องเริ่มทำอะไรกับชีวิตอีกครั้ง

ผมค้นคว้าและเริ่มใหม่ วิ่งด้วยรองเท้าแตะ Fivefingers เท้าเปล่า เอาจักรยานทุกคันออกมาซ่อม ปั่นไปทำงาน ปั่นเพื่อซ้อม ลงสมัครแข่งขันวิ่ง ไตรกีฬาในรูปแบบผลัด เพิ่มระยะวิ่งจาก 10K เป็น 21K จนเป็นมาราธอนแรกของชีวิต ลงทวิกีฬา เริ่มจากไตรกีฬาแบบผลัดไปเป็นเดี่ยว จากระยะโอลิมปิก เพิ่มเป็น Ironman  70.3 เกิดอาการเข่าเสื่อม กัดฟันสู้ ซ้อมต่อ วิ่ง trail วิ่งข้ามมหาสมุทร จากไม่เคยคิดจะแข่งขันรายการเสือหมอบก็เริ่มเข้าร่วมปั่น การแข่งขันเยอะแยะมากมาย เมื่อมองย้อนกลับไปในระยะปีกว่า ๆ ที่ผ่านมานี้ ผมแข็งแรงขึ้นมากกว่าสมัยหนุ่ม ๆ เสียอีก แม้ว่าสถิติผมจะไม่สามารถจะทำได้อย่างสมัยหนุ่ม ๆ อีกแล้วแต่ความอดทน จิตใจของผมแข็งแกร่งขึ้นมาก

IMG_6893

ไตรกีฬาสร้างผมให้เป็นเช่นนี้ ผมเชื่ออย่างนั้น กีฬาที่ต้องใช้การวางแผนระยะยาว กีฬาที่ต้องใช้ความอดทนเป็นปัจจัยหลัก กีฬาที่มีความหลากหลาย ทั้งการว่ายน้ำที่ต้องใช้เทคนิคเป็นสำคัญ จักรยานที่มีปัจจัยของอุปกรณ์เข้ามาเกี่ยวข้องค่อนข้างมาก วิ่งที่ต้องใช้ความอดทนเป็นอย่างสูงเมื่อเป็นกีฬาสุดท้ายภายหลังจากออกแรงทุกอย่างมาเป็นระยะเวลาพอสมควรแล้ว มีไม่กี่สิ่งในชีวิตของผมที่อยู่กันมาเนิ่นนานอย่างไตรกีฬา ถ้านับตั้งแต่ครั้งแรกที่ผมเข้าแข่งขันเราก็รู้จักกันมากว่า 24 ปี ผมทุ่มเทเวลา กำลังกายกำลังทรัพย์มากมายไปกับกีฬานี้ ผลตอบแทนเพียงอย่างเดียวที่ผมต้องการและกีฬานี้ให้ผมได้คือสุขภาพ พร้อมของแถมอื่น ๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ระเบียบวินัย การวางแผน การใช้เวลาเดินทางท่องเที่ยวกับครอบครัว แม้ว่าผมจะแข่งรายการวิ่ง หรือจักรยานอื่น ๆ บ่อยครั้งกว่าไตรกีฬา แต่ไตรกีฬายังคงเป็นเป้าหมายสำคัญของผมอยู่เสมอ 

IMG_3804