Ironman Langkawi ForZuri Episode II : ไม่หมู แต่ทุกคนทำได้

ขาผมหนักเหลือเกิน ท้องไส้ปั่นป่วนพะอืดพะอม กินอะไรไม่ลงแม้แต่น้ำก็ไม่อยากจิบ ผมแทบวิ่งไม่ได้เลยมากว่าสิบกิโลแล้ว เวลาที่คาดว่าจะเหลือเฟือกลับดูน้อยลงทุก ๆ ที ทุกครั้งที่นั่งพัก แทบจะไม่สามารถลุกขึ้นโดยไม่หน้ามืดได้อีก ผมหนาวและดูเหมือนว่าร่างกายจะเริ่มควบคุมอุณหภูมิไม่ได้ ขนลุกซู่ไปทั้งตัว ผมเดินผ่านมาที่จุดที่พบกับลูก ๆ ของผมในรอบที่แล้วแต่ไม่เจอพวกเขา กำลังใจผมอ่อนลง กำลังกายผมร่อยหรอลงทุกที ผมใช้เวลามาแล้วเกือบ 4 ชั่วโมง ตอนนี้ผมเพิ่งได้ระยะมา 17 km เท่านั้น เหลือเวลาอีกเพียง 3 ชม. กับอีก 25km แต่ผมต้องหาที่ล้มตัวลงนอนสักพักแล้วค่อยว่ากันใหม่ แล้วผมหลับไปไม่แน่ใจว่านานเท่าไร Medic เข้ามาดูอาการของผมและได้ทำการปฐมพยาบาลอาการ dehydrate เบื้องต้นแล้วกำชับให้ผมนอนพักต่อไป สักพักเมื่อผมสามารถประคองตัวลุกนั่งได้ ผมก็ตัดสินใจบอกกับ Medic ว่าผมต้องการ DNF

10384459_946104222073330_6550812990853246579_n

ผมได้พบกับคำว่า DNF ครั้งแรกในชีวิตนักกีฬายี่สิบกว่าปีของผมที่นี่ในปี 2014 ผมกลับมาในปี 2015 ไม่ได้มาเพื่อแก้แค้น ล้างตา แต่เหมือนเป็นหน้าที่ ที่ต้องไปได้ยินคำว่า You are an IronMan สักครั้ง หลังจากที่ DNF ครั้งแรกนั้น ผมกลับบ้านมาพร้อมกับความรู้สึกว่าไอรอนแมนนั้นเป็นระยะที่ไม่น่าเล่น เนื่องจากการซ้อมที่ยาวนานหนักหน่วงเกินความสนุกที่เคยเป็น แต่หลังจากที่ผมได้ยินประโยคทองที่ใคร ๆ ต้องการได้ยิน ความคิดของผมก็เปลี่ยนไป ผมจะมาเล่าให้ฟังว่าทำไม และถ้าใครต้องการได้ยินประโยคนี้ ผมมีคำแนะนำให้ และถ้าใครยังไม่มั่นใจ Add Facebook ผมไว้ได้ ยินดีให้คำปรึกษา ถ้าต้องการเพื่อนบ้าพลัง ก็เข้ากลุ่ม Very Forty เอาไว้ แม้ว่าเราจะไม่ใช่ทีมไตรกีฬาแต่กิจกรรมบ้าพลังเราทำกันอย่างสม่ำเสมอครับ

ทำไมผมถึงเชื่อว่าใครก็ทำได้ จริง ๆ แล้ว ผมเชื่อแบบนั้นมาตลอด แต่การที่จะพูดแบบนั้นโดยที่ยังไม่เคยทำสำเร็จอาจจะเป็นการดูถูกความสำเร็จของผู้อื่น ยิ่งไปกว่านั้นผมทำไม่สำเร็จในครั้งแรกของผม ผมจึงรอให้ผมทำสำเร็จก่อน แม้ว่าผมจะต้องใช้เวลาถึงสองปี สองครั้ง กับหนึ่งความผิดหวังก็ตาม ผมยังเชื่อว่าถ้าหากมีการเตรียมตัวที่เหมาะสม ได้รับคำแนะนำที่ถูกต้อง ไอรอนแมนนั้นไม่ใช่เรื่องยากเลย อยากแนะนำให้ทุกคนนอกจากมาลองไตรกีฬาแล้ว ได้ลองระยะไอรอนแมนสักครั้งในชีวิต จะสร้างพลังให้กับคุณอย่างเหลือเชื่อแบบไม่ต้องเสียเงินไปปลุกยักษ์ที่ไหนอีก

12227619_1693079797581646_1361076560909368855_n

ผมวางแผนสำหรับไอรอนแมนครั้งที่สองนี้อย่างมีระบบ แต่เลือกที่จะใช้แผนการซ้อม 16 สัปดาห์เหมือนเดิม ซึ่งมีงานปูพื้นก่อนซ้อมหลักที่ดีกว่าเดิมนิด ๆ ผมลดกิจกรรมโหด ๆ ทั้งหมด ต่างจากปีที่แล้วที่มีรายการมหาโหดหลายรายการต่อเนื่องกัน เหลือเพียงแค่ จอมบึงมาราธอนตอนต้นปี ห่างจากรายการแข่งขันถึงเกือบปี ฮาร์ฟมาราธอนอีกหนึ่งครั้ง ช่วงวันแม่ ผมไม่แข่งรายการใด ๆ เลย มีการปั่นออแดกซ์ 300, 400 อย่างละหนึ่งครั้ง 600 หนึ่งครั้ง และ ปั่น 1200 อีกหนึ่งครั้ง ทั้งหมดเกิดขึ้นก่อนเดือนมิถุนายน เพื่อปูพื้นสำหรับการซ้อมที่จะมาถึง ในช่วงซ้อมผมวางแผนการแข่งขันระยะ 70.3 เอาไว้หนึ่งครั้งในช่วงกลางของแผนการซ้อม ในปีนี้ผมวางแผนลงไตรกีฬาเพียงสองรายการนี้เท่านั้น เพราะในช่วงที่ผมสมัครนั้น ผมมีความรู้สึกเบื่อกีฬาประเภทนี้ เพราะเล่นมายาวนานถึง 25 ปี ในใจคิดว่านี่จะเป็นรายการรองสุดท้ายที่ผมจะแข่งขันแล้วไปหาอย่างอื่นเล่นต่อไป

ผมวางแผนทุกอย่างมาเป็นอย่างดี แต่ไม่น่าเชื่อว่าสิ่งต่าง ๆ ที่ผิดแผนนั้น ทำให้ผมเข้าใจกลไกของไอรอนแมนมากขึ้นและกล้าที่จะบอกว่าทุก ๆ คนทำได้ หลังจาก DNF ครั้งแรกที่ลังกาวี ผมก็ DNF ครั้งที่สอง เมื่อวางแผนปั่น 1200 กม ภายใน 90 ชม. ผมปั่นจากกรุงเทพ มาสิ้นสุดที่พัทลุงก่อนเข้าหาดใหญ่ ได้ระยะทางไป 821 กม. ใช้เวลาไปประมาณ 65 ชม. ต้อง DNF ที่มีทั้ง Dehydrate ความบอบช้ำของกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ตั้งแต่คอเรื่อยลงมาจนปลายเท้า ผมมา DNF ครั้งที่สาม ตอนปั่น 600 ที่เกิดจาก Sleep Deprevation, Dehydrate, Bonk ปั่นไปได้เพียง 320 กว่ากิโล รวมจากการ DNF ครั้งแรกที่เกิดจาก Dehydrate และ Bonk  ในลังกาวีปี 2014 นั่นเอง ผมจึงมีประสบการณ์ตรง และเข้าใจความสำคัญของเรื่อง Fuel, Hydration มากขึ้น ผมทำการศึกษาเรื่องราวเหล่านี้มากขึ้นอย่างมาก เพราะผมเชื่อว่ากุญแจสำคัญของการเอาชนะการแข่งขันในระยะแบบนี้คือ น้ำและพลังงาน เป็นสำคัญ แล้วผมจะมีคำแนะนำสำหรับผู้ที่เริ่มสนใจความท้าทายของการเป็นไอรอนแมนนี้ว่าอย่างไร

11168149_1068580806516068_2985408457971295557_n-2

คำแนะนำที่หนึ่งของผม คือ ถ้าคุณต้องการเอาชนะไอรอนแมนให้ได้นั้น แม้ว่าจะไม่จำเป็น แต่ผมแนะนำเลยว่าคุณควรที่จะมีประสบการณ์ในระยะเดี่ยว ๆ ของไอรอนแมนมาก่อน ไม่ต้องห่วงเรื่องความเร็ว ไม่ต้องสนว่าสภาพหลังแข่งจะเป็นอย่างไร คุณควรจะมีประสบการณ์ว่าระยะที่ว่านี้คุณทำได้มาแล้ว ในแต่ละกีฬา เวลาประมาณเท่าไร ความรู้สึกเหนื่อยประมาณไหน กล้ามเนื้อล้าประมาณไหน ให้พอคุ้นเคยกับมัน ซึ่งในวันแข่งจริงจะช่วยลดความเครียดของการทำครั้งแรกในแต่ละ discipline ไปได้ คงเหลือไว้แต่ความตื่นเต้นของการเอาแต่ละ discipline มาต่อ ๆ กัน

คำแนะนำที่สอง คือ แม้ว่าผมจะใช้ตารางซ้อม 16 สัปดาห์ หรือ 4 เดือน แต่การเตรียมตัวเพื่อเข้าตารางของผมนั้นค่อนข้างเข้มข้น ขาดเพียงความสม่ำเสมอ สำหรับคนอื่น ๆ ที่อาจจะไม่ได้ใช้ชีวิตทั้งชีวิตไปกับการซ้อมเรื่อยๆ แบบผมนั้น ผมแนะนำให้มองการเตรียมตัวเป็น 6-9 เดือน จึงจะเหมาะสม โดยช่วงเดือนแรก ๆ เป็นการสร้างพื้นฐาน นั่นหมายถึงระบบ Cardio และ กล้ามเนื้อที่เหมาะสมสำหรับแต่ละกีฬา ในขณะที่ความเข้มข้นของ 4 เดือนหลังนั้น เป็นการยกระดับ Cardio และกล้ามเนื้อให้พร้อมกับการรับการทดสอบการเป็นมนุษย์เตารีด ด้วยความสม่ำเสมอและระยะทางที่นานขึ้น ตารางซ้อมที่ผมใช้นั้น เฉลี่ยแล้วสัปดาห์ละ 10 ชม. มีช่วงกลาง ๆ ของตารางที่เป็นช่วงเข้มข้นก็จะหนักไปถึง  15 ชม. สัปดาห์ที่ผ่อน ๆ ก็จะประมาณ 6-8  ชม นั่นหมายความว่าผมซ้อมเฉลี่ยวันละ 1-2 ชม. เท่านั้น ระยะทางที่ยาวที่สุดที่ซ้อม ว่ายน้ำก็ 3.8 km จักรยาน 150 km และวิ่ง 30 กม. เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ผมมีรายการมาราธอนมากก่อนหน้านี้ และมีการปั่นออแดกซ์ 200 อยู่เรื่อย ๆ

11034041_1068241929883289_1190114121439582096_n

ถ้าหากว่าคุณทำได้เพียงสองข้อนี้ คุณก็จะเป็นไอรอนแมนได้อย่างแน่นอนครับ ผมรับรอง ถ้าคุณสามารถจัดการกับการกินน้ำและอาหารได้อย่างสม่ำเสมอในช่วงปั่น และอย่างน้อย ๆ 3 ใน 4 ของการวิ่ง ความหนักหน่วงของไอรอนแมนสำหรับคนที่ไม่คุ้นเคย มันอยู่ที่การฝึกซ้อม ความต่อเนื่อง ความยาวนานของตารางซ้อมในบางวัน สำหรับใครที่ทำเป็นครั้งแรกนั้น ผมยืนยันได้เลยว่าจะเป็นเหมือนกับผมในปีแรก นั่นคือ รู้สึกได้เลยว่าไอรอนแมนไม่ใช่ระยะที่น่าเล่น เพราะต้องการความทุ่มเทมากเกินความพอดี แต่ถ้าหากได้มีโอกาสทำมันในครั้งที่สอง ความรู้สึกก็จะเปลี่ยนไป ว่ากันว่าจริง ๆ แล้วคำว่าไอรอนแมนมันเกิดขึ้นที่ช่วงเวลาของการฝึกซ้อม วันแล้ววันเล่า อย่างสม่ำเสมอ ส่วนในวันของการแข่งขันนั้น เป็นช่วงเวลาของการเฉลิมฉลอง ความสุข ความยิ่งใหญ่ของการเฉลิมฉลองนั้นจะมากมายเพียงใด ก็ขึ้นกับช่วงเวลาซ้อมที่คุณได้เตรียมมา

คราวนี้เราลองมาดูกันว่าเมื่อคุณมีการเตรียมตัวที่ดี เหมาะสมแล้ว ในวันเฉลิมฉลองของคุณนั้น คุณควรจะวางแผนอย่างไร อย่าลืมว่าสิ่งที่ผมกำลังจะเล่าสู่กันฟังนี้ คือ การนำตัวเองก้าวข้ามเส้นชัย วิ่งถือธงชาติ ชูมือขึ้นฟ้า เฉลิมฉลอง ประโยคที่ว่า You are an Ironman. ไม่ใช่แผนเพื่อจะติดอันดับ Age Group หรือ qualify ไป Kona ดังนั้น แผนการทั้งหมดเราจะเล่นกันฝั่งที่เรียกกันในภาษาออแดกซ์ว่า Redline Specialist เรามีเวลา 17 ชม. ว่ายกับปั่น 10:30 ชม. ว่ายเดี่ยว ๆ 2:20 ชม. แล้วเราควรจะวางแผนจัดการกับมันอย่างไร นี่คือวิธีคิดแบบ Audax Redline Specialist อย่างผม

ผมมีคำแนะนำง่าย ๆ เช่นนี้คือ ว่ายน้ำ 2 จักรยาน 8 วิ่ง 7 รวมกันเป็น 17 พอดี เวลา T1 T2 ก็แอบอยู่ในพวกนั้นแหละ รวม ๆ แล้วไม่เกิน 0.5 ชม. ใจเย็น ๆ ได้ แต่ทรานสิชั่นละ 15 นาทีถือว่ากำลังดี เวลาที่ผมเสนอนั้นเป็นความเร็วพื้น ๆ ที่ใคร ๆ ก็ทำให้ อาจจะมีบวกลบเล็ก ๆ น้อย ๆ ขึ้นกับความถนัดหรือไม่ถนัดในแต่ละกีฬาของแต่ละคน แต่เวลารวมอย่าเกิน 17 ว่ายน้ำอย่าเกิน 2:20 และ รวมไปจนปั่นเสร็จอย่าได้เกิน 10:30

12249942_1068242049883277_4195824912588518452_n

ในการเดินทางไปแข่งขันนั้น ควรจะเดินทางไปถึงอย่างน้อยสองวันล่วงหน้า ซึ่งจริง ๆ แล้วทางผู้จัดก็จะบังคับให้มาลงทะเบียนในสองวันล่วงหน้าอยู่แล้ว และมีเวลาอีกหนึ่งวันที่จะ brief สำรวจเส้นทาง bike check-in และ bags check-in ผมมีคำแนะนำสำหรับผู้ที่ไม่ถนัดกีฬาบางประเภทให้ทำการสำรวจเส้นทางกีฬาประเภทนั้น ๆ เอาไว้ เช่น ว่ายน้ำเป็นอุปสรรค ก็ควรจะจัดเวลาไปว่ายซ้อมสนามจริงที่ผู้จัดมักจะจัดเวลาซ้อมไว้ให้อยู่แล้ว ถ้าเป็นจักรยานก็อาจจะขน หรือ ปั่นไปลองสัมผัสเขาบางเขาที่คิดว่าสำคัญ ถ้าเป็นไปได้ ผมไม่ค่อยเชื่อในการนั่งรถดูเส้นทาง เพราะรู้สึกว่ามันไม่ช่วยให้รู้สึกว่าเส้นทางมันเป็นเช่นไร ผมเอาเวลานั้นมาวิ่งหรือปั่นเบา ๆ โดยไม่สำรวจเส้นทางจะยังดีเสียกว่า การโหลดคาโบร์ ก็โหลดล่วงหน้าประมาณสัปดาห์นึงหรือน้อยกว่า ไม่ควรจัดอะไรพิสดาร ก็แค่เพิ่มส่วนที่เป็นแป้งในอาหารหลักก็น่าจะพอ เลือกขนมที่เป็นแป้ง ๆ เช่น ขนมปังปิ้ง ขนมปังสังขยา อะไรพวกนี้เพื่อเสริมแป้งนอกเวลาอาหารอีกส่วน เดินทางไปแข่งต่างประเทศก็ระวังอาหารที่กินก่อนช่วงแข่ง อย่าเพิ่งทดลองอาหารประหลาด เพราะเราไม่อยากมีปัญหาท้องไส้ก่อนการหรือระหว่างการแข่งขัน ซ้อมเบา ๆ ทุก ๆ วัน หรือใช้การซ้อมเป็นการสำรวจเส้นทางแข่งขันไปในตัว ในคืนวันแข่งขันให้จัดของให้เรียบร้อย ทำ ritual ต่าง ๆ ให้ดี ส่วนใหญ่เราต้องตื่นตีสี่ ถ้าเป็นไปได้ให้นอน 2-3 ทุ่มเพื่อให้ได้ 8 ชม. แต่นอน 5-6 ชม. ก็ไม่ใช่ปัญหาสำหรับผม

เช้าวันแข่งขันตื่นมากินมื้อเช้า 2-3 ชม. ก่อนการแข่งขัน เน้นแป้ง หลากหลายรูปแบบ กินน้ำเยอะ ๆ รอเวลาให้ขับถ่าย ซึ่งมักจะใช้เวลาไม่นานนัก แล้วออกเดินทางไปจุดเริ่มต้น เพื่อไปสำรวจจักรยาน ถ้าเป็นไปได้ให้ยกลงมาปั่นเล็ก ๆ น้อย ๆ สำรวจการทำงานของเกียร์ ติดตั้งน้ำและอาหารเสริมบนรถ ตามที่ได้วางแผนหรือซ้อมมา ผมไม่ได้เตรียมอาหารเสริมอะไรในคราวนี้ มีเพียงกระติกน้ำบรรจุแกเตอเรดสองกระปุกที่นำติดตัวมาเท่านั้น ผมสูบลมให้แน่นขึ้น เพราะปล่อยลมออกเล็กน้อยในช่วง Bike Check-in เพราะความเสี่ยงในการทิ้งจักรยานตากแดดไว้นาน ๆ คือ ยางระเบิด ดังนั้นขั้นตอนแรกในการกลับมาคือสำรวจว่าเกิดขึ้นกับจักรยานของเราหรือไม่ บรรจุทุกอย่างเรียบร้อยแล้วก็นำ Bags ต่าง ๆ ไปฝากเพื่อจะได้พร้อมในการทำกิจกรรมอื่น ๆ ต่อ ๆ ไป เราควรจะกินน้ำเรื่อย ๆ ในช่วงนี้ คราวละครึ่งแก้วเพื่อสะสมน้ำในระบบ ในการว่ายน้ำสองชั่วโมงนั้นเราจะไม่มีโอกาสได้ดื่มน้ำเลย เราจึงต้องดูดเข้าระบบเอาไว้ โดยปกติแล้ว ผมจะซื้อแกเตอเรดมา 4 ขวดในตอนกลางคืน เปิดใส่กระปุกเอาไว้ซึ่งจะใช้ประมาณเกือบ ๆ สามขวด ผมจะดื่มส่วนที่เหลือให้หมด พร้อมกับบางส่วนของขวดที่ 4 และดื่มขวดที่ 4 ให้หมดหลังตื่นนอนพร้อมกับอัดขนมปังไปสักสองสามแผ่น ก่อนที่จะหาอาหารเช้ากินเป็นเรื่องเป็นราว หลังจากนั้นก็ถือขวดน้ำขวดนึงค่อย ๆ เดิมไปเรื่อย ๆ ในเวลา 2 ชม. ที่เหลือก่อนแข่ง พอฝากถุงทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว ส่วนใหญ่ก็จะได้เวลาไปปลดปล่อย หลังจากนั้นก็จะมีเวลาที่จะวอร์มอัป แต่ในระยะไอรอนแมน ผมไม่ค่อยเห็นประโยชน์ของการวอร์มอัปมากเท่าไร เพราะระยะเวลาการแข่งขันมันยาวนานมาก ผมวางแผนที่จะใช้ว่ายน้ำช่วงแรก ๆ เป็นการวอร์มอัป

12247158_1234060123277737_8536027418264730672_n

ในรายการไอรอนแมนนั้นจะมีความพิเศษกว่าระยะอื่น ๆ คือ เราจะมีโอกาสเตรียมสิ่งของพิเศษที่จะมาคว้าไปใช้ได้ ในช่วงปั่น และช่วงวิ่ง ที่เรียกว่า Specia Needs Bags ซึ่งในคู่มือก็แนะนำว่า อาจจะเป็นวาสลีน ครีมนวด หรือ อาหารพลังงานพิเศษที่เตรียมไว้ ในปีที่แล้ว ผมเตรียมอาหารประเภทขนมปัง และวางแผนที่จะมาคว้าในรอบที่สองของการแข่งขัน แต่ในปีนี้ผมมีแผนที่แตกต่างกัน ผมเตรียมสเปรย์ อาหารเสริมเป็นข้าวต้มมัด และ พาวเวอร์บาร์สองอัน สำหรับการปั่นจักรยาน และคว้ามาเก็บไว้ในทันทีที่เริ่มปั่น ส่วนสำหรับวิ่ง ผมก็มีอาหารอีกชุดเป็นข้าวต้มมัดเช่นเคย เสริมด้วยฝอยทอง และสเปรย์อีกขวด (กันหมด) และก็คว้าในรอบแรกของการแข่งขันเช่นเดิม ซึ่งผมรู้สึกว่า Special needs bags ที่ผมจัดในรอบนี้ ทั้งสิ่งที่เตรียมมาและการคว้ามาใช้ในทันทีในรอบแรกที่ผ่านเข้าไป มีส่วนเป็นอย่างมากที่ทำให้ผมพิชิตมนุษย์เตารีดครั้งนี้ได้ ทั้งนี้เนื่องจากได้รับอาหารที่เราเลือกมาเอง เป็นอาหารที่ช่วยกระตุ้นความอยากอาหารอื่น ๆ (อร่อยกว่าเจล) และการมีสเปรย์ติดตัวไว้ใช้ตลอดเวลาก็เป็นประกันที่ดี ซึ่งผมได้เอาออกมาใช้หลายต่อหลายครั้งทั้งในช่วงปั่นและวิ่ง

ในการแข่งขัน ผู้จัดจะให้ประเมินเวลาการว่ายน้ำในใบสมัครเพื่อที่จะจัดสีหมวกกำหนดช่วงเวลาปล่อยตัว การปล่อยตัวเป็นแบบปล่อยทีละกลุ่มย่อย ๆ 4-5 คน ที่เรียกว่า Rolling Start ไม่ใช่ Mass start ที่จะปล่อยวิ่งลุยกันเป็นกลุ่ม ซึ่งจะทำให้ลดความเครียดและเกิดความปลอดภัย ผมแนะนำให้ลงเวลาประเมินตามจริง เพื่อที่เราจะได้ว่ายร่วมกับกลุ่มที่มีความเร็วใกล้เคียงกัน ลดปัญหาปลาตีน การโดนทุบ ถ้าว่ายน้ำเป็นกีฬาที่ไม่ถนัด ผมแนะนำให้เริ่มคนแรก ๆ ของ wave ที่เราเลือก เพื่อที่จะได้เวลา cut off ที่ไม่มีความเสี่ยง ผมคิดว่าวิธีที่ดีที่สุดสำหรับการว่ายน้ำในรายการไอรอนแมนคือระบบ Total Immersion การว่ายโดยเน้นการใช้แขน การ Glide และติดไปในทาง low cadance มีการใช้ขาค่อนข้างน้อย ใช้เพื่อทรงตัว และ roll body เท่านั้น การว่ายน้ำแบบนี้จะช่วยให้ได้ความเร็วจากประสิทธิภาพของการดึงแขน การบิดตัว และการ  Glide มากกว่าการใช้พลังงานทุกสัดส่วนของวิธีการว่ายน้ำรูปแบบอื่น ๆ  ระยะทาง 3.8 km ในเวลา 2 ชม. เราต้องการ pace 3:00 ต่อ 100 เมตรเท่านั้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่เหลือบ่ากว่าแรง ว่ายความเร็วนี้น่าจะไม่เกินโซน 2 หรือ 3 ต้น ๆ ค่อนข้างปลอดภัย กล้ามเนื้อที่ใช้เน้นการใช้แขน มีเตะขาตามจังหวะ ซึ่งจะประหยัดพลังงาน และแรงขาเป็นอย่างมาก ในวันแข่งจริง ๆ นั้น ผมว่ายประมาณ 2:00 ต่อ 100 เมตร ทำให้เวลาจบจริง ๆ เพียง 1:20 ชม. แบบไม่ค่อยเหนื่อย ผมมีเวลา spare ไว้แล้ว ครึ่งขั่วโมงจากที่วางแผนไว้ แต่สำหรับมือใหม่หัดว่ายอาจจะได้ประมาณ 2 ชม.บวกลบนิดหน่อย ซึ่งรวม T1 ไป 15 นาทีก็กินเวลาปั่นไปไม่มากนัก

1182_006142

ในการซ้อมว่ายน้ำถ้าจะเอาง่ายที่สุดสามารถว่ายยาว ๆ 1500, 2000, 3000 หรือ กำหนดเป็นเวลา 1, 1.5, 2 ชม เอาก็ได้ เน้นฟอร์ม โฟกัสการใช้แขนให้ดี (คำแนะนำสำหรับมือใหม่ทางการว่ายน้ำจริง) ถ้าอยากให้ดีขึ้นก็นับจำนวนแขน พยายามให้น้อย ๆ และคงที่ ถ้าเริ่มเยอะก็โฟกัสท่าทาง การจับน้ำดี ๆ ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ เวลาก็จะดีขึ้นเอง ส่วนใครที่เริ่มว่ายน้ำเก่งแล้วก็อาจจะหาคอร์ทมาลอง มันสปรินท์บ้างไรบ้างแก้เบื่อ ในเวลาแข่ง ผมเลือกที่จะใส่ชุดไตรเต็มตัว เพราะเวลาถ่ายรูปจะดูสวย เพราะเมื่อปีที่แล้วใส่เฉพาะกางเกงแล้วมันดูไม่ค่อยดี และเมื่อมา T1 ก็เปลี่ยนชุดซึ่งผมก็แนะนำให้เปลี่ยนไปใช้ชุดจักรยานทั้งชุดไปเลย กางเกงดี ๆ ที่พร้อมรับงานหนัก 180 กม. เสื้อจักรยานที่มีกระเป๋าหลังเอาไว้ใส่ของกิน บางครั้งกระบอกน้ำ และสเปรย์ เสื้อผ้า หมวก แว่น และอื่น ๆ จะถูกเตรียมไว้ใน Bike Bag มีเพียงรองเท้าที่มีให้เลือกว่าจะติดไว้กับจักรยานหรือเอามาใส่พร้อม ๆ กับเครื่องแต่งตัวอื่น ๆ ผมแนะนำให้เอามาใส่พร้อมกันไปเลย ผมรู้สึกว่าจากการว่ายน้ำมา 1.5-2.0 ชม. แล้วการใส่รองเท้าแล้วค่อย ๆ ประคองตัวออกไปเรื่อย ๆ ไม่รีบเร่งนัก จะช่วยเป็นการเตรียมตัวที่ดีสำหรับการปั่นที่จะตามมา แทนที่จะรีบเร่งวิ่งเท้าเปล่าออกไป หาจักรยานแล้วใส่รองเท้าบนจักรยาน เพราะนอกจากจะดูไม่จำเป็นแล้ว ยังต้องมาตระเตรียมการแขวนรองเท้า รัดหนังยาง หรือเสี่ยงกับรองเท้าหลุดจากบันไดตอนเข็น ไม่ค่อยคุ้มกัน แต่ถ้าการแข่งระดับโอลิมปิกหรือ 70.3 ที่มีระยะว่ายน้ำสั้นกว่านี้มาก อาจจะเตรียมตัวแตกต่างกัน

เมื่อถึงเวลาปั่น เรามีเวลาอีก 8 ชม. ในการจัดการ 180 km. ซึ่งคิดเป็นความเร็วเฉลี่ย 22 เท่านั้น ถือว่าช้ามาก ๆ และทุกคนน่าจะจัดการได้อย่างไม่เป็นปัญหา เวลามีบวกลบเล็กน้อยขึ้นกับผลของการว่ายน้ำ และการใช้เวลาในการแต่งตัว โดยมากแล้วความเร็วนี้ทุก ๆ คนสามารถเลี้ยงตัวเองในโซนสองได้โดยไม่ยาก ซึ่งทำให้ประหยัดพลังงาน กินอาหารง่าย เก็บแรงขาไว้สำหรับมาราธอนที่จะตามมาได้ สำหรับผมนั้น ปีนี้ผมวางแผนไว้ 7:30 ชม เพราะปีนี้ความแข็งแรงผมเพิ่มขึ้น ผมรักษา power zone 2 ไว้ได้ที่ความเร็วประมาณ  25-28 แม้ว่า HR ในช่วงท้าย ๆ จะมีอาการ drift ขึ้นไปโซน 3 บ้างแต่ก็ไม่ใช่เรื่องน่ากังวล การรักษา HR ไม่ให้  drift เลยนั้น ต้องอาศัยฐานที่แกร่งมาก ๆ ซึ่งยังไม่ถึงกับจำเป็นในงานไอรอนแมนนี้

11058086_1233526099997806_2028243179698462793_n

อีกเทคนิคที่ผมใช้คือ ผม spin ทุกครั้งที่เป็นการขึ้นเขา เพื่อเก็บแรงขา โดยทั่วไปแล้ว จานหน้า Compact กับเฟืองหลัง 11-28 ก็เพียงพอกับสนามลังกาวี เพราะเราต้องการ power สูงที่สุดประมาณ 180 วัตต์ในการไต่เขาทุกเขาที่มี แตกต่างกันเพียงแค่บางเขาต้องลากนานหน่อยเท่านั้น ซึ่งในการซ้อมคุณควรที่จะมีการตระเตรียมสถานการณ์แบบนี้เอาไว้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นการปั่น Zone 3 ลากยาว ๆ แล้วพักแล้วลากต่อ Zone 4 ยาว ๆ 10, 15, 20 นาที เหมือนการทำการทดสอบ FTP  หรือสปรินท์ VO2Max สั้น ๆ สองสามครั้ง ก่อนสิ้นสุดการปั่นยาว ๆ  การซ้อมประเภทนี้ จะทำให้เกิดความคุ้นเคยกับการดึง HR ไประดับสูง ๆ แล้วอดทนให้ได้เวลาตามต้องการ รวมไปถึงจะช่วยเพิ่มกำลังขา FTP ที่จะมีประโยชน์ในการลากยาวเขาที่มีความชันสูงและค่อนข้างยาว สิ่งที่สำคัญคือ คุม HR ให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ลุกขึ้นปั่นถ้าไม่จำเป็น จับ Hood หรือ Bar ยืดตัว หายใจให้เต็มปอด ใช้แขนดึงสลับซ้ายขวากับจังหวะกดขาเพื่อสร้าง leverage ถ้ากำลังขาเริ่มไม่พอ ก็ลุกขึ้นยืน ทิ้งน้ำหนัก 2-3 จังหวะแล้วนั่งลงใหม่ ในการซ้อมนั้นจริง ๆ แล้ว ผมแนะนำให้ซ้อมการยืนโยกแบบนี้บ่อย ๆ อาจจะทุกครั้งที่ขึ้นสะพาน เพื่อเสริมทักษะ ถ้าจังหวะการโยกดี HR จะเพิ่มขึ้นไม่มาก จะช่วยให้คุณพิชิตเขาได้มากขึ้นมาก เพราะถ้าหากคุณต้องลงเข็น เวลาที่เสียไปนั้นจะสูงมากและประเมินลำบาก อาจจะทำให้มีการผิดพลาดเกิดขึ้นได้ เรื่องการเตรียมตัวปั่นขึ้นเขาจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ไม่ใช่เรื่องของความภูมิใจ ขาแตะพื้นหรือไม่แตะพื้น กำลังขาที่ใช้ในการปั่นขึ้นแบบถูกวิธีนั้น แทบไม่ต่างกับการเข็นขึ้นโดยใส่รองเท้าจักรยานเลย แต่เวลาที่จะใช้นั้นมีความเป็นไปได้ที่จะแตกต่างกันในระดับครึ่งชั่วโมงขึ้นไป แต่สิ่งสำคัญคือคุณต้องไม่ blow HR จะถึงในระดับที่ใกล้เป็นลม เพราะนั่นหมายถึงคุณจะต้องใช้เวลาในการ recover ในช่วงลงเขา คุณจะไม่สามารถเร่งลงเขาได้ สมองทำงานช้าและบีบเบรคบ่อย ถ้าไม่ก็จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น

ความรู้สึกที่ควรเกิดขึ้นเมื่อถึงยอดเขาคือ ความสุขใจที่ผ่านพ้น สามารถหายใจตามปกติได้ คว้าน้ำขึ้นมาจิบได้ เปลี่ยนเกียร์เพื่อเตรียมลงได้ ไม่ใช่หมดจนไม่อาจจะทำอะไรได้ต้องปล่อยไหลลงไป ลืมแม้กระทั่งการเปลี่ยนเกียร์ จิบน้ำ นั่นหมายถึงคุณลาก HR สูงและนานเกินความสามารถ และการทำแบบนี้บ่อย ๆ แหล่งพลังงานคุณจะหมดอย่างรวดเร็วอาจจะมีใช้ไม่พอสำหรับการแข่งขัน ในการแข่งขันรอบนี้ผมเข้า food station ที่มีทุก ๆ 20 กม. ครบทุกอัน ผมเลือกที่จะรับ special need bag ตั้งแต่รอบแรกเพื่อที่จะรับอาหารที่ผมอยากกินมาใช้กินก่อน ต่างจากปีที่แล้วที่มารับรอบที่สอง การรับอาหารของตัวเองมากินก่อนแล้วจัดการเรื่องการกินอย่างรวดเร็วในตอนแรกนั้น ทำให้การกินเป็นเรื่องง่าย ผมกินอาหารทุก ๆ ครึ่งชั่วโมง ซึ่งเป็นข้าวต้มมัดแม่นภา และจิบแกเตอเรดไปเรื่อย ๆ ให้ได้กระปุกละประมาณ ชั่วโมง ผมเตรียมมาเพียงสองกระปุก และรู้ว่าผมจะไม่ได้รับมันอีก เนื่องจากในงานลังกาวีนั้น เขาแจก 100 Plus ซึ่งมีแก๊สด้วย ผมไม่สามารถกินแก๊สระหว่างแข่งขันได้ การรู้รสชาติและเตรียมแผนเพื่อรองรับ energy drink ที่แจกโดยงานแข่งขันก็เป็นกลไกที่จำเป็นต้องเตรียมให้ดี เนื่องจากในการซ้อมผมใช้แกเตอเรด สลับกับน้ำเปล่าเป็นหลัก ในรายการแข่งนั้น มักจะเป็นเครื่องดื่มประเภทอื่นซึ่งผมไม่สามารถใช้งานได้ ผมจึงต้องออกแบบการเพิ่มพลังงานเข้าไปชดเชยแทนแกเตอเรดซึ่งมีพลังงานประมาณ 100 cal  ที่ผมจะจัดเข้าไปให้ตัวเองทุก ๆ ชั่วโมง ในงานนี้ผมเลือกที่จะเข้ารับ กล้วย และเจลหนึ่งซอง บีบกินในทันทีแล้วตามด้วยน้ำ 1/4 กระบอก ผมเปลี่ยนน้ำสองกระบอกทุกครั้งที่เข้าจุดให้น้ำ (หลังจากที่ผมจัดการแกเตอเรดสองกระบอกแรกที่เตรียมมาหมดแล้ว) น้ำเย็นจะกระตุ้นให้มีการจิบบ่อยขึ้น และช่วยในการดูดซึมได้ดีกว่าน้ำอุ่น เมื่อระยะมันประมาณ 20 กม. ก็จะใช้เวลาประมาณ 45 นาทีต่อเจลหนึ่งถุง ระหว่างนั้นผมก็จัดการอาหารแข็งหนึ่งอย่าง ซึ่งรวม ๆ แล้วผมน่าจะได้รับพลังงานเพิ่มเข้าไปชั่วโมงละประมาณ 200-250 cal. ยกเว้นในช่วงแรกที่ผมกินอาหารแข็งทุกครึ่งชั่วโมงและเสริมด้วยแกเตอเรด รวม ๆ แล้วช่วงสองชั่วโมงแรกผมน่าจะได้พลังงานเข้าไป 300-400 cal. การรีบใส่อาหารในช่วงแรกนั้นช่วยผมได้มาก เพราะเมื่อระยะเวลาปั่นนานขึ้นเรื่อย ๆ ความเหนื่อยจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้น HR เริ่ม drift อัตราการกินน้ำและอาหารแข็งจะค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ ในบางคนถึงกับเหนื่อยจนกินไม่ลง แถมยังมีเรื่องความเสี่ยงของการปวดท้อง มวนท้องจากการย่อยอาหารไม่สะดวกเนื่องจากการออกกำลังกายอย่างหนักที่จะตามมาอีก ดังนั้นการเริ่มต้นด้วยการเร่งกินสำหรับผมนั้น ค่อนข้างได้ผลในคราวนี้ เพราะท้าย ๆ ของการปั่น ความสามารถในการกินของผมก็ลดลงเรื่อย ๆ อย่างที่คาดการณ์เอาไว้ แต่ไม่เป็นไรเพราะผมได้เตรียมการไว้แล้ว

1182_012598

การจัดสนามปั่นในปีนี้ถือว่าใจร้ายกว่าปีที่แล้ว เนินสามเนินสุดท้ายแม้จะไม่ได้ชันมากเวอร์ แต่ยาวและต่อเนื่องกันสามลูก กลับมาเจอที่ระยะประมาณ 155 กม. สภาพกำลังน่วม แม้ว่าจะไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่โตสำหรับผม แต่ก็เป็นปัญหากับหลาย ๆ คน ผมเจอคนจีนที่ปั่นนำหน้าเกิดตะคริวกินขาสองข้างจนต้องล้มตัวลงนอนพร้อมจักรยาน ร้องให้ช่วยโอดโอย ผมปั่นผ่านไปพร้อมกับถามตามมารยาท เพราะในใจคิดว่าตะคริวนั้นเพียงแค่พักสักพักก็จะหายได้เอง ผมตะโกนถาม “Are you ok?” เขาดันตะโกนกลับมาว่า “I’m not ok. Help me!” ซวยละผมกำลังกัดฟันอัดขึ้นไป เขาขอให้หยุดช่วย ทำไงได้ก็ต้องหยุดเพื่อช่วยเขา แต่พอหยุดเท่านั้น ผมก็หน้ามืด ผมพยายามยืนทรงตัวไม่ให้ล้ม แต่แล้วก็เกิดตะคริวที่ต้นขาทั้งสองข้างจนต้องยอมล้มตัวลงนอนไปข้าง ๆ คนจีนที่ผมจะช่วยนั่นเอง ผมล้วงเอาสเปรย์มาฉีด แล้วยื่นให้คนจีน ที่เริ่มลุกขึ้นกำลังจะขยับตัวออกไป เมื่อเขาฉีดเรียบร้อย ขอบคุณผมเล็กน้อยก็ลุกเข็นจักรยานขึ้นไป ผมเลือกที่จะยืดเหยียดสักพัก ฉีดสเปรย์อีกครั้งพร้อมกับนวดทั้งสองขาก่อนที่จะยกจักรยานขึ้นปั่น และแซงคนจีนคนนั้นไปก่อนที่จะถึงยอดเนิน ทุกครั้งที่ลงเนินเป็นความถนัดส่วนตัวของผม และส่วนใหญ่ทางลงไม่ได้คดเคี้ยวมากนัก ผมสามารถทำเวลาได้ค่อนข้างดี ความเร็วสูงสุดในคราวนี้ผมได้มาถึง  73 km/hr เลยทีเดียว

ในช่วงปั่นจักรยานนั้นผมเลือกที่จะพก power bar ที่เขาแจกมาไว้ด้วย แต่เลือกที่จะจอดกินข้างทาง เพราะมันต้องเคี้ยวแล้วกรอกน้ำตาม ผมจอดกินที่ระยะประมาณ 100 km ถือเป็น lunch break สำหรับผม เป็นการพักขา พักเท้า คลายเครียดที่เกินครึ่งทางมาแล้ว ระหว่างพักก็พบกับกองเชียร์ชาวสิงคโปร์ก็ได้คุยกันสนุกสนาน ก่อนที่จะออกตัวไปเพื่อจัดการ 80 km สุดท้ายของการปั่น ช่วงท้าย ๆ ผมเริ่มสวนกับเพื่อน ๆ ที่มาแข่งด้วยกันหลาย ๆ คน เวลาว่ายน้ำรวมปั่นของผมถือว่าค่อนข้างเร็ว แม้ว่าจริง ๆ แล้วจะไม่ได้เร็วนัก เพราะว่ายน้ำผมทำเฉลี่ยได้แค่ 2 นาที และผมจบการปั่นที่ 7 ชมพอดีเป๊ะ ความเร็วเฉลี่ยประมาณ 26.6 km/hr เร็วกว่าที่คาดไว้ครึ่งชั่วโมง เป็นผลให้กองเชียร์เด็ก ๆ ของผมมาช้าครึ่งชั่วโมงในทุก ๆ จุดที่ผมกำหนดเวลาไว้ให้ ก่อนเข้า T2 ผมถอดรองเท้าล่วงหน้าค่อนข้างนานเพื่อให้เท้าได้ผ่อนคลายเล็กน้อยก่อนที่จะต้องถูกใช้งานในอีกรูปแบบ ผมเลือกที่จะห้อยรองเท้าทิ้งไว้ที่จักรยานในช่วง T2 เพราะรู้สึกว่าการได้เดินเปลือยเท้าเข้ามาจะช่วยเตรียมสำหรับการวิ่งได้ดีกว่า

1182_022957

ผมเข้า  T2 แบบสบาย ๆ มีเวลาเหลือ 8 ชั่วโมงสำหรับมาราธอน ผมเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวอีกครั้ง ผมเลือกใช้เสื้อไตรกีฬารัดรูปในการวิ่ง กางเกงนั้นผมไม่ได้เปลี่ยนเพราะใส่ขาสั้นไตรกีฬาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ไม่ได้ใช้กางเกงจักรยานเต็มสูตร เนื่องจากในวันฝากกระเป๋าผมลืมเอากางเกงวิ่งที่กะจะเปลี่ยนมาใส่ถุง ทำให้ต้องใช้กางเกงไตรตั้งแต่การปั่นไปจนวิ่ง แต่ก็ไม่ได้ทำให้เกิดปัญหาอะไร การใช้เสื้อไตรกีฬาในการวิ่งนั้นมีประโยชน์หลายอย่างเมื่อเทียบกับเมื่อปีที่แล้วที่ผมใช้เสื้อวิ่งหลวม ๆ การใช้เสื้อฟิต ๆ นั้น สามารถทำให้อาหารและสเปรย์ที่ใส่ในกระเป๋าหลังไม่กระเด้งไปมาจนน่ารำคาญ และดูเหมือนว่าเสื้อรัดรูปจะระบายความร้อนได้ดีกว่า ในช่วงที่ผมต้องวิ่งนั่นคือ 4 โมงเย็น ถ้าเป็นเวลาบ้านเราคือ  3 โมงเท่านั้น แดดยังร้อนแรง การวิ่งรอบสนามบิน เป็นช่วงที่ทรมานน่าดู ปีนี้ผมออกวิ่งแบบสบาย ๆ ด้วยเพซ 6 นิด ๆ แบบไม่เหนื่อย แต่ผมกังวลว่าจะใช้พลังงานมากเกินไป จึงออกกฏให้เดินตลอดช่วงจุดให้น้ำทุก ๆ สองกิโล แต่ด้วยความร้อน HR ผมก็เริ่มลอยไปโซนสาม ผมจึงกำหนดกฏเกณฑ์ใหม่ซึ่งลอกมาจาก คุณนุ๊กแวนแกงค์ที่วิ่งเป็นเพื่อนผมเมื่อปีที่แล้วในรายการ CLP นั่นก็คือ เดินทุกครั้งที่มีร่ม แล้ววิ่งทุกครั้งที่มีแดด ผมใช้เกณฑ์นี้ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ สามารถควบคุม HR ให้ไม่เกิน 150 ได้ค่อนข้างตลอด เราต้องวิ่งรอบเส้นทางเดิมเป็นจำนวน 2.5 รอบ ผมใช้เกณฑ์นี้ไป 1.5 รอบ แล้วพบว่าผมเหลือเวลาอีกมากมายสำหรับ 17 km สุดท้ายของวันนี้ ผมทำได้ประมาณเพช 8 กว่า ๆ ผมคำนวณคร่าว ๆ ถ้าผมทำเพช 9 กว่า ๆ เกือบ ๆ 10 กับระยะทางที่เหลือ ผมก็จะจบที่เวลา 15 ชม. พอดี ๆ ในรอบสุดท้ายผมจึงปรับกลยุทธอีกครั้งเพื่อลดความเสี่ยง เพราะในตอนนี้ผมไม่อยากกินอะไรเท่าไรแล้ว มีจิบน้ำแก้วเดียว แตงโมหนึ่งซีกในทุก ๆ สองกิโล ผมรู้สึกว่ามันน่าจะไม่พอสำหรับการวิ่งเกินโซนสอง ผมจึงกำหนดไม่ให้ HR ของผมเกิน 140 ในช่วงท้ายของมาราธอน ส่งผลให้ผมแทบไม่สามารถวิ่งได้เลย ทันทีที่ก้าววิ่ง HR ก็โดดขึ้นอย่างรวดเร็ว เหมือนหยุดเดิน ก็ใช้เวลานานมากกว่าจะลดลงต่ำกว่า 130 ที่ผมจะเริ่มวิ่งอีกครั้ง แต่โชคช่วยที่มีฝนโปรยลงมาในช่วงสุดท้าย ความรู้สึกผมดีขึ้น ผมเปลี่ยนเป็นวิ่งทุกครั้งที่มีไฟสว่างและเดินเมื่อเจอความมืด หรือบางทีก็สลับกันไป วิ่งไปหาแสงไฟ แล้วเดินช่วงที่มีแสงไฟ ตามแต่ความรู้สึกของผม

มาราธอนครั้งนี้ถือว่าเป็นมาราธอนที่รู้สึกดีที่สุดของผม ผมไม่รู้สึกล้าขาเท่าใดนัก ที่ควบคุมไม่ได้คือ HR เท่านั้น แต่ผมก็พยายามคุมไม่ให้สูงเกินโซนสองในท้ายสุด เมื่อถึงระยะ 30 กม. เจ้านาฬิกาของผมก็ตายไป ผมไม่สามารถรับรู้ความเร็วและ HR อีกต่อไป ผมวิ่ง 12 km สุดท้ายด้วยความรู้สึก แต่ความรู้สึกส่วนใหญ่ของผมบอกให้ผมเดิน ผมวิ่งบ้างเล็กน้อยเวลาเจอผู้คน กองเชียร์ เวลาเงียบ ๆ เหงา ๆ มืด ๆ ก็เดินไปเรื่อย ๆ นับถอยหลัง 10, 8, 6, 4 จนในที่สุด 2 km ที่ผมกะไว้ว่าจะวิ่ง สุดท้ายผมก็ขี้เกียจ จะมาวิ่งอีกครั้งก็ช่วงเลียบหาดสุดท้ายระยะ 200 กว่า ๆ เมตรก่อนเข้าเส้นชัย แล้วผมก็กลายเป็นไอรอนแมนด้วยเวลารวม 15:02 ชม ใช้เวลาวิ่งไปประมาณ 6:20 ชม

CT1182_025322

น่าเสียดายที่ผมซ้อมวิ่งไม่ค่อยได้ระยะตามที่ตั้งใจ วิ่งยาวของผมได้ไปเพียง 27 กม. แบบไม่ต่อเนื่อง แต่ผมรู้สึกได้ว่าการใช้ชีวิตแบบ time on foot นั้นช่วยให้กล้ามเนื้อขาของผมแกร่งขึ้นมาก ความล้ามีน้อยมาก ผมใช้วิธีการวิ่งไป ๆ มา ๆ ตั้งแต่เช้าวิ่งไปกินข้าวเช้าวิ่งกลับ อาจจะเป็นระยะไปกลับเพียง 3 กม. บางวันก็อ้อม ๆ หน่อยได้ไป อีก 3 บางวันก็ได้รวม ๆ 8-10 กม. ช้า ๆ เป็นเพียงการ run commuting ไม่เชิงเป็นการซ้อมมากนัก ผมมีซ้อม tempo บ้างในช่วงแรก ๆ ของตาราง วิ่งยาวได้ประมาณ 20 กม ต่อเนื่องเท่านั้น การซ้อม brick ก็ค่อนข้างจำกัด เพราะหลังจากปั่นมายาว ๆ ภรรยาเริ่มหงุดหงิด พอเก็บจักรยานแล้วจึงไม่ค่อยกล้าออกไปวิ่งต่อ แต่ก็พยายามจัดวันวิ่งหลังวันปั่นยาว ซึ่งถือว่าช่วยได้ดีในปีนี้

ผมเช้าเส้นชัยมานวดที่เขาจัดไว้ให้ มีถังน้ำแข็งสำหรับแช่เท้า มีเจ้าหน้าที่มาช่วยเช็ดตัว นวดไหล่ให้ก่อน แล้วช่วยถอดถุงเท้ารองเท้า โดยไม่มีความรังเกียจเลยแม้แต่น้อย (เขาใส่ถุงมือ) ซึ่งเป็นความประทับใจหนึ่งของรายการนี้ เจ้าหน้าที่ในทรานสิชั่นช่วยเหลือเป็นอย่างมาก ช่วยเทของออกจากกระเป๋า ช่วยใส่เสื้อให้ในกรณีผมที่ใส่เสื้อรัดรูปสำหรับการวิ่ง ดึงเองไม่ค่อยลง หยิบโน่นนี่นั่นยัดกลับใส่ถุงให้ ไม่ว่าจะเป็นถุงเท้าเน่า ๆ หมวกเสื้อใช้แล้ว สร้างความประทับใจให้ผม ช่วยลดความเครียด สับสน งุนงง เนื่องจากความเหนื่อยล้าได้เป็นอย่างดี หลังจากรับบริการ sport massage แล้วซึ่งสบายมาก ๆ ผมก็ไปหาของกินซึ่งก็กินได้ไม่ค่อยมากนัก ผมพยายามหาพาสตา และซดซุปร้อน ๆ ชามใหญ่ ๆ รอจนหมอนกเข้าเส้นชัยมาห่างจากผมประมาณหนึ่งชั่วโมง หมอนกใช้เวลาวิ่งเพียง 5 ชม.เศษ ๆ เท่านั้น ทันทีที่เราเจอกันก็ทักกันทันทีว่า มันไม่ค่อยเหนื่อยเท่าไรเลย สบายมาก ๆ ยังต่อได้อีก ตามมาตรฐานของเผ่า V40 เรารู้สึกกันเช่นนั้น นั่นเป็นความรู้สึกแรก ๆ และเป็นความรู้สึกที่ผมต้องการจะบอกต่อ ชี้โพรง และเชิญชวน แม้ว่ามันไม่ได้เหนื่อยหนักโหดร้ายในวันเฉลิมฉลองของเรา แต่การได้สมัคร ซ้อมอย่างหนักหน่วงนั้น มันทำให้เราเป็นไอรอนแทนไปแล้ว ก่อนที่จะมีเฉลิมฉลอง ตีตราอีกครั้งที่สนามแห่งนี้ ผมเชื่อว่าใคร ๆ ก็เป็นไอรอนแมนได้ ตามที่ได้กล่าวเล่ามาข้างต้นนั่นเอง

12219347_1068985896475559_4930892196648334285_n

และในครั้งนี้ผมก็ได้จัดการระดมเงินบริจาค #ForZuri  เพื่อหอบริบารทารกแรกคลอด รพ.สงขลานครินทร์เช่นเคย โดยบริจาคเป็นนาที เวลารวมการแข่งขัน IronKids ของเด็ก ๆ และเวลาของผมวันนี้รวม 962 นาที ผมเองบริจาค 3 บาทต่อนาที เป็นเงิน 2886 บาท มีผู้ร่วมจิตศรัทธาครั้งนี้ ได้แก่ พี่ใหญ่พี่มิ๊กกี้ของเราเสนอมาถึง  10 บาทต่อนาที เป็นเงิน 9620 บาท ได้รางวัลอานบรูคซ์ไปครอง พี่ชมพู่สมทบ 1000 หมอนกสมทบ 1600 และพี่ป้อม ที่ทำเวลาไปได้ 13 ชม.นิด ๆ ร่วมมาอีก 3000 บาท รวมเป็นเงินประมาณ  18,106 บาท ครับผม หวังว่าบทความนี้จะทำให้ไอรอนแมนเข้าถึงง่ายขึ้นสำหรับทุกคน ถ้ามีอะไรให้ช่วยก็ยินดีครับ

 

4 Comments

  1. Vivat พูดว่า:

    ผมอายุ 47 อยากทำอะไรที่มีเป้าหมาย เอาชนะใจตัวเองบ้างนอกจากเรื่องงาน ไม่ทราบว่า พอจะติด่อขอคำแนะนำได้ไหมครับ

    1. arm1972 พูดว่า:

      ยินดีเลยครับ

ให้ความเห็น