Endurance : Why we do what we do?

สัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อน ๆ หลายคนมีกิจกรรม Endurance (ต่อจากนี้ผมจะเรียกมันว่า อดทน) ที่แตกต่าง แต่มีความเข้มข้นไม่แพ้กัน มาเล่าสู่กันฟัง ผมนั่งไล่อ่านกิจกรรมของทุก ๆ คน ที่อธิบายถึงความรู้สึก เล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้น แชร์กันไปมาเต็มไปด้วยความสุข และตื้นตัน ผมอดไม่ได้ที่จะแสดงความเห็นว่าผมรู้สึกมีความสุขที่ได้เห็นหลาย ๆ คนมีความสุข โดยใช้การอธิบายในลักษณะ “ความสุขบนความทรมาน” ซึ่งพบว่ามีหลาย ๆ คน รวมถึงคู่หูเพื่อนซี้ในกิจกรรมอดทนของผมค่อนข้างไม่สบายใจกับทำว่า “ทรมาน” และต้องการที่จะแสดงออกว่านี่ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นและเหตุผลที่เขาเหล่านั้นเลือกทำกิจกรรมอดทน จากการแลกเปลี่ยนในกระทู้นั้น ทำให้ผมมาถามตัวเองอีกครั้ง ทั้ง ๆ ที่ถามตัวเองมาหลายต่อหลายครั้งแล้วตลอดยี่สิบปีที่ผ่านมา ว่าเราทำกิจกรรมอดทนเหล่านี้ไปเพื่ออะไร

TRI NCB

แต่ก่อนอื่นคงต้องท้าวความไปถึงครั้งแรกที่ผมใช้คำว่า “ทรมาน” เพื่อสื่อถึงความรู้สึกบางช่วงในกิจกรรมเหล่านี้ มันเกิดเมื่อเพื่อนของผมชวนให้ไปปั่นบนเขาใหญ่ ผมจึงเลือกช่วงที่ผมต้องไปแข่งขัน TNF100 เป็นวันที่จะปั่นเขาใหญ่ โดยวันแรกวิ่ง TNF50K แล้ววันที่สองปั่นเขาใหญ่ ด่านชนด่าน 100K เพื่อที่จะชักชวนเพื่อน ๆ มาร่วมสนุกกัน ผมจึงคิดที่จะหาชื่อที่เหมาะสมให้กับกิจกรรมนี้ ในช่วงนั้นผมซ้อมเทรนเนอร์กับ DVD Series SufferFest ซึ่งผมรู้สึกว่ามันสื่อตรงกับความรู้สึกของผมจึงคิดที่จะแปลความหมายนี้ออกมา เลือกมาได้ว่า “ทรมานบันเทิง” เพื่อสื่อถึงกิจกรรมนี้ หลังจากนั้นผมใช้คำว่า “ทรมาน” อีกหลายครั้ง เพื่อสื่อถึงกิจกรรมอดทนที่เราชาวเผ่า V40 ทำกัน

IMG_1140

สำหรับผมคำว่า “ทรมาน” มันไม่ได้มีความหมายเป็นลบเลย เพราะที่มาจากความว่า Suffer ที่ผมแปลมานั้น ผมนึกไปถึง “ทุกข์” ในศาสนาตลอดเวลา ผมมองมันคล้าย ๆ กับว่ากิจกรรมอดทนนั้น คือการธุดงค์ ที่นำ “ทุกข์” มาพิจารณา ส่วนกิจกรรมอดทนนั้นนำ “ทรมาน” มาพิจารณา มันเกิดขึ้นกับผมในทุก ๆ ครั้ง และผมใช้มันในทำนองนี้ในทุก ๆ ครั้ง แต่ไม่เคยคิดว่าคำ ๆ นี้จะบาดใจใครหลาย ๆ คน โดยที่ผมไม่ได้ตั้งใจ ดังนั้นผมจึงตั้งใจที่จะเขียนมันออกมาว่าสำหรับผมแล้ว ผมเห็นอะไร และทำไปทำไม โดยไม่แน่ใจว่าเมื่อจบบทความนี้ผมจะได้คำตอบหรือไม่ ความเป็นนักวิทยาศาสตร์ในตัวผมสอนให้ผมบันทึกกระบวนการ และให้ความสำคัญกับมันเท่า ๆ กับผลลัพธ์

IMG_2582

เมื่อพิจารณาถึงสิ่งที่เกิดขึ้นที่ถูกสื่อว่า “ทรมาน” มันมีอะไรเกิดขึ้นบ้างในกิจกรรมอดทน สำหรับผม ความร้อน ความเหนื่อย ความเมื่อยล้า คำที่เรียกง่าย ๆ ว่า “หมด” หรือ exhaustion เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแน่ ๆ ในกิจกรรมอดทนทั้งหลาย ในมุมมองของเปลือกภายนอก แต่ถ้าพิจารณาลึกเข้าไปในจิตใจ ผมจะเห็นความท้อใจ การยอมแพ้ กำลังใจ ความหึกเหิม ในความต่อเนื่องของความรู้สึกทางร่างกายและจิตใจนั้น บางครั้งมันปวดร้าวรุนแรงจนผมเองต้องตั้งคำถามว่า ผมมันทำมันไปทำไม แม้มันจะไม่บ่อย แต่คำตอบของคำถามในเวลานั้นมันจะกำหนดผลลัพธ์ของกิจกรรมไม่ว่าในช่วงเวลาก่อนทำกิจกรรมนั้นเราต้องการผลลัพธ์เช่นใด

IMG_3711

ผมวิ่ง 10K เพราะต้องการลบความคิดว่านักว่ายน้ำ (จริง ๆ แค่สมาชิกชมรมว่ายน้ำ) จะไม่ถนัดวิ่ง ผมลง 21K เพราะอยากเอาความฟิตที่เหลือจาก 10K มาใช้ให้เป็นประโยชน์ ผมลงทวิกีฬาเพราะอยากปั่นจักรยานที่ผมใช้มามหาลัยแบบเร็ว ๆ สุดชีวิตกะเขามั่ง ผมลงไตรกีฬาเพราะผมเป็นนักว่ายน้ำ กิจกรรมอดทนของผมนั้นถูกขับมาจากความอยากรู้ และความต้องการขยายข้อจำกัด รวมไปถึงใช้ทรัพยากร อุปกรณ์ และทักษะทั้งหมดที่ผมมีอย่างคุ้มค่า ซึ่งมันเป็นนิสัยส่วนตัวที่จะใช้ความคุ้มค่า หรือประสิทธิภาพมากำหนดสิ่งที่ทำ ผมใช้เวลาอยู่กับมันสิบกว่าปี วิ่งไล่ตามสถิติต่าง ๆ ปีหน้ามันต้องเร็วขึ้นดีขึ้น ตำแหน่งสูงขึ้น แม้ว่าจะไม่เคยได้ถ้วยกับเขาเลย แต่ก็สามารถนำตัวเองไปอยู่ในอันดับ Top 5 Top 10 ได้ทั้งในสนามประเทศไทย และต่างประเทศ ในขณะที่สถิติก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ จนไปพีคที่อายุประมาณ 30 ก่อนที่จะค่อย ๆ คงตัวและช้าลงในที่สุด

IMG_7410

แน่นอนว่าผมคุ้นเคยกับความเจ็บปวด ตะคริว ไม่ใช่เรื่องแปลก และหลาย ๆ ครั้งไม่สามารถชะลอผมลงได้มากนัก อัดจนอาเจียรข้างทาง หรือจำเป็นต้องกลืนมันกลับเข้าไป เพราะอยู่ในระหว่างการแข่งขัน ไม่ใช่เรื่องแปลกอีกเช่นกัน ถ้าถามว่ามันจะใช้คำว่า “ทรมาน” ได้มั้ยสำหรับผม ผมเองก็เห็นด้วยกับเพื่อน ๆ ที่ไม่ชอบคำ ๆ นี้ว่าผมไม่อยากเรียกมันว่า “ทรมาน” ผมต้องยอมรับว่ามันอาจจะเจ็บปวด ผมไม่ได้ชอบมัน ไม่ได้เสพติด แต่ระหว่างซ้อมจนถึงวันแข่งและระหว่างแข่งนั้นผมทำทุกอย่างเพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้น แต่แม้ว่าผมรู้อยู่แก่ใจว่ามันจะเกิดขึ้นอีกถ้าผมต้องการสถิติที่ดีขึ้นในทุก ๆ ครั้งที่ผมลงแข่งขัน แต่เมื่อจุดสูงสุดของผมเหมือนจะผ่านพ้นไปแล้ว ความที่ผมเองอาจจะต้องยอมแพ้ให้กับตัวเองในวัยหนุ่ม เปลี่ยนมาแข่งขันกับคนรอบข้าง เปลี่ยนมาตั้งเป้าหมายใหม่ ๆ สถิติใหม่ ๆ ที่เหมาะสมกับกลุ่ม V40 อย่างผม ความกดดันในระดับที่จะต้อง “ทรมาน” มันก็ค่อย ๆ หมดไปจนวันหนึ่งผมเองก็เริ่มหาเป้าหมายใหม่ให้ตนเอง

IMG_7455

วันหนึ่งเพื่อนสนิทสมัยเรียนมัธยมมาชวนให้ตั้งทีมเพื่อวิ่งผลัดข้ามประเทศ ที่เรียกว่า O2O ผมคิดว่ามันฟังดูแล้วตื่นเต้นท้าทายดี จึงพยายามฟอร์มทีมขึ้นมาซึ่งก็ไม่ง่ายนักเพราะไอเดียที่จะวิ่งกันในเวลาเที่ยง วิ่งกันข้ามวันข้ามคืน วิ่งผลัดระยะสั้น ๆ ที่รวมระยะของแต่ละคนแล้วไม่เกิน 30K นั้นมันดูช่างไม่ “ท้าทาย” เอาเสียเลย แต่โชคดีที่ทีมได้ถือกำเนิดขึ้น และผมได้พบกับเหตุผลใหม่ของกิจกรรมอดทด กิจกรรมนี้ทำมาแล้วสองปี ได้ทำให้ผมได้ไปสนิทอีกครั้งกับเพื่อนเก่า ๆ ที่ร้างราจากกันมานาน กิจกรรมนี้ถือเป็นต้นกำเนิดของทีม Very Forty ที่เพื่อนในกลุ่มนี้อยากมีการรวมตัวเพื่อเข้าแข่งขันไตรกีฬาในรายการกรุงเทพไตรกีฬา ผลลัพธ์ของกิจกรรมที่ผมได้ดูเหมือนว่าจะสร้างผลกระทบได้กว้างขวางขึ้น มีเพื่อน ๆ หลาย ๆ คนมารวมตัวกันแสดงจุดยืน สร้างตัวตน แสดงตัวเป็นแบบอย่างของการใช้ชีวิต active ที่ผมต้องรับว่าเป็นอีกความสุขหนึ่งที่ทำให้ผมมุ่งมั่นทำกิจกรรมเหล่านี้มากขึ้นเรื่อย ๆ แม้ว่าการเผยตัวตนในครั้งนี้เริ่มทำให้อีกหลาย ๆ คนมองเห็นผมเป็นคน “บ้า”

L1010355

ผมเริ่มร่วมการแข่งขันจักรยานทางไกล เริ่มขยายระทางทางของไตรกีฬา และเริ่มสนใจระยะมาราธอน เนื่องจากเป็นระยะทางใหม่ ๆ ทุก ๆ ครั้ง ทุก ๆ ก้าวที่ผมทำลงไปมันเป็นสถิติใหม่ไปทั้งสิ้น แม้ว่าผมยังไม่เห็นเหตุผลที่ชัดเจนในการทำมันลงไป ผมยังได้ป้อนอาหาร ego ส่วนตัวของผมด้วยสถิติใหม่ ๆ เช่น Sub5 Marathon, 6:08 Hr Half-Ironman เป็นต้น จนวันหนึ่งเพื่อนแจ๊คแนะนำให้ผมรู้จักกับ Festive500 ที่ต้องปั่น 500K ภายใน 8 วันช่วงปลายปี สำหรับคนปั่นระยะ 80-100K การที่จะทำแบบนี้ต่อเนื่องทุก ๆ วันสร้างความท้าทายใหม่ ๆ ให้กับผม และก็ไม่ผิดหวังเมื่อผมร่วมคำท้าแล้วต้องถามกับตัวเองวันแล้ววันเล่าที่ต้องตื่นมาปั่นระยะ 80-100K โดยไม่สนว่าฝนจะตกหรือแดดจะออก เพื่อนคนเดียวกันนี้ก็แนะนำให้ผมรู้จักกับ Audax กิจกรรมอดทนในรูปแบบใหม่ที่ไม่ต้องแข่งกับใคร ไม่สนใจสถิติ มาด้วยใจกับคิวชีทเป็นพอ ผมกระโดดเข้าหาแล้วก็ติดมันงอมแงม มันเป็นการปั่นระยะที่ไกลมากขึ้น 200 300 400 600 ซึ่งต้องมีเรื่องของการกิน การพัก การนอนเข้ามาเป็นส่วนร่วมของความท้าทายนั้น ๆ ด้วย ดูเหมือนว่าในช่วงนี้ผมเริ่มได้เป้าหมายใหม่ของกิจกรรมอดทน นั่นก็คือ “ท้าทาย”

IMG_6245

อย่างไรก็ตามยังมีคำถามจากบุคคลภายนอกอีกในเรื่องของค่าใช้จ่าย นอกเหนือจากความเหน็ดเหนื่อยแล้ว ยังไม่ค่าใช้จ่ายในกิจกรรมเข้ามาเกี่ยวข้องอีกเยอะมาก ทำให้ผมเริ่มมองในมุมมองของทางด้านการเงินบ้าง แต่ไม่ทราบว่ามันมีอะไรที่ดลใจให้ผมจัดการกับปัญหาด้วยการตั้งกองทุนในชื่อลูกสาวที่เสียไปของผม ชื่อว่า กองทุนเพื่อซูริ ในการที่จะระดมเงินไปบริจาคให้กับหน่วย NICU โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ สถานที่ที่ลูกสาวคนนี้ของผมถือกำเนิดและเสียชีวิต ด้วยความหวังไกล ๆ ว่าเงินเหล่านี้อาจจะช่วยให้ลูกตัวน้อยของคนอื่นมีโอกาสกลับบ้านไม่เป็นเช่นลูกสาวของผม ผมจึงพยายามสร้างความสัมพันธ์ุระหว่างกิจกรรมอดทนและเงินบริจาคเพื่อกองทุนขึ้นในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อที่จะเป็นคำตอบหนึ่งในด้านการเงิน ซึ่งหลาย ๆ กลุ่มที่มีความเห็นตรงกันก็ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ ยกตัวอย่างเช่น กลุ่ม Run4ManyReasons ของพี่ย้ง เป็นต้น

IronmanLangkawiForZuri

ความ “ท้าทาย” ใหม่เข้ามาอีกครั้งเมื่อผมต้องเข้ารักษาตับอักเสบด้วยการฉีดยาอินเตอฟูรอน 48 เข็ม ผมจึงสมัครแข่งขันไอรอนแมนทันที แม้ว่าผมจะไม่คิดว่าจะลงรายการระยะนี้ในสภาพที่ผมไม่แน่ใจว่าผมสามารถวิ่งได้ไกลเพียงใด ผมดีใจที่การตัดสินใจพุ่งเข้าชนกับโรคร้ายและการรักษาอันหฤโหดนั้นได้สร้างแบบอย่างและกำลังใจให้กับผู้ป่วย หรือผู้พักฟื้นอีกหลายคน แม้ว่าในด้านของการวิ่งนั้น หลังจากผมแตะระยะมาราธอนแรกแล้ว ผมก็ขยายเป็นระยะอัลตราที่ TNF 50K แต่ทำให้อาการบาดเจ็บที่กระดูกสันหลังกำเริบ การวิ่งระยะ 10K 15K 21K กลายเป็นความท้าทายอีกครั้ง ขอแค่เพียงได้วิ่งครบระยะ ผมเก็บความท้าทายแบบผู้ป่วยกายภาพของผมอย่างเงียบ ๆ เพราะความผิดหวังในการ DNF ครั้งแรกในชีวิตที่สนามไอรอนแมนลังกาวี ก่อนที่จะประกาศชนกับมันอีกครั้งด้วยการวิ่งจอมบึงมาราธอน เพียงแต่บอกคนรอบข้างว่าผมต้องการวิ่งช้า ๆ ในใจเพียงคิดว่าต้องการวิ่งให้ถึงเป็นเท่านั้น ซึ่งในเวลานี้ผมต้องยอมรับว่า มันยังคงเป็นความ “ท้าทาย” สำหรับผมอยู่ดี

Week2

ในขณะเดียวกันที่ผมไม่สามารถเร่งความเร็วได้ดั่งใจ ผมจึงเริ่มหาความแปลกใหม่เพื่อมาเติมเต็มให้จิตใจผมอีกครั้งในกิจกรรมอดทนที่แทบไม่มีความหวังจะสร้างสถิติ เมื่อความท้าทายลดคุณค่าเหลือเพียงที่จะ “วิ่ง” ได้จนครบระยะ ผมเริ่มอาสาวิ่งเก็บขยะ ในงานภูเก็ตมาราธอน ในระยะฮาร์ฟ ที่ทำให้ผมได้รู้จักกับพี่ย้ง กล้วยหอม ผมเข็นรถ trailer ขนลูก ๆ สัมผัสบรรยากาศสงลามาราธอนในระยะฮาร์ฟ และสุดท้ายวิ่งแจกตุ๊กตาในงานจอมบึงมาราธอน ที่ระยะฟูลมาราธอน แม้ว่า ณ เวลานี้ ผมยังไม่สามารถ “วิ่ง” ได้จนครบระยะ แต่ผมก้าวข้ามความ “ท้าทาย” ในแต่ละขั้นมาเรื่อย ๆ ช้า ๆ อย่างมั่นคง

L1040269

ผมร่ายยาวมาจนถึงย่อหน้าสุดท้าย ผมเองยังไม่แน่ใจว่าผมได้คำตอบหรือยัง ว่าผมทำกิจกรรมอดทนเหล่านี้ไปทำไม มีความเป็นไปได้ว่าผมอาจจะต้องค้นหามันไปตลอดชีวิต เฉกเช่นคำถามที่ว่า มนุษย์เราเกิดมาเพื่ออะไร แม้ว่าผมจะเล่าให้หลาย ๆ คนด้วยเหตุผลต่าง ๆ กัน ไม่ว่าอาการเจ็บหลังที่กำเริบจนไม่สามารถอุ้มลูกชายคนแรกอาบน้ำได้ สุขภาพที่ย่ำแย่จากการโหมทำงานหนักจนแม้กระทั่งเดินขึ้นบันไดหอบ หรือการที่จะสร้างแบบอย่างให้กับลูก ๆ ในการใช้ชีวิตแบบมีสุขภาพ ไปจนกระทั่งเหตุผลเนื่องจากเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่พัฒนาจนอายุเฉลี่ยเรายาวนานขึ้นและผมไม่ต้องการที่จะใช้ช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตบนเตียง เหตุผลเหล่านี้อาจจะเติมเต็มให้กับผู้สงสัย ผู้ตั้งคำถาม แต่ผมรู้ดีว่าสำหรับผมนี่มันเป็นเพียงผลพลอยได้  Why we do what we do? The answer my friend is blowing in the wind.           

Challenge Laguna Phuket : Race of truth

IMG_1914

แม้ว่าเป็นเรื่องน่าเสียใจที่รายการนี้ไม่ได้ใช้ชื่อ Ironman ชื่อมีลิขสิทธิ์ที่สามารถสร้างความสนใจกับผู้คนรอบข้างได้มากกว่าชื่อใหม่ที่เรียกว่า Challenge สำหรับผมแล้วดูเหมือนว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะเข้าทางผมมากกว่า ในขณะที่ Ironman ถูกวางตำแหน่งให้เป็นซีรี่ส์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด มีรายการที่เรียกว่าชิงแชมป์โลกอยู่ภายใต้ชื่อของเขา รายการที่ใช้ชื่อ Ironman นั้นมีทั้งระยะเต็ม Ironman ระยะครึ่งหรือ Ironman 70.3 หรือเมื่อเร็ว ๆ นี้ระยะโอลิมปิกก็ถูกเรียกใหม่ภายใต้ชื่อ 5150 ผมเองไม่ค่อยชอบนักที่จะเอาชื่อที่พวกเราใช้เรียกสิ่งที่เราทำกันไปจดลิขสิทธิ์ สำหรับผมแล้ว Ironman หมายถึงคนที่ข้ามขีดจำกัดของตนเองไม่ว่าคุณจะทำกิจกรรมใด ระยะทางเท่าไรก็ตาม ในขณะที่ Ironman มีเป้าหมายให้รายการมีมาตรฐานสูงเท่าเทียมกันทุกรายการที่เขาจัด Challenge จะเน้นกิจกรรมของ local ใช้ทีมงาน local เน้นครอบครัวและสนับสนุนการแข่งขันในรูปแบบทีม โดยคอนเซปแล้วเหมือนว่า Challenge  จะน่าสนุกกว่า ผมไม่ได้ตั้งใจที่จะเขียนเล่าประสบการณ์นี้เท่าไร เนื่องจากว่ามันไม่ใช่ครั้งแรก แม้จะเป็นครั้งแรกของอำนวยเพื่อนร่วมทีมคนเดียวที่มาลงเดี่ยวพร้อมกันในปีนี้ แต่อำนวยมีการเตรียมพร้อมที่ดีมาก พร้อมกับประสบการณ์ไตรกีฬามาแล้วถึงสองสนาม ทวิกีฬาอีกหนึ่งสนาม ผมจึงไม่รู้สึกว่าเขาเองจะตื่นเต้นสักเท่าไรนัก แต่มีสองอย่างที่ในที่สุดแล้วทำให้ผมลงมานั่งเขียนอยุ่ในวันนี้ นั่นคือ การไปภูเก็ตคราวนี้เป็นครั้งแรกที่มีคนแปลกหน้าเข้ามาทักทายผมภายหลังการแข่งขัน เล่าให้ฟังว่าเขาอ่านบล๊อกนี้ของผม และเขาก็มาแข่งเป็นปีแรก ในรูปแบบทีม ผมไม่แน่ใจว่าเขาอ่านบทความเรื่องใด ไม่รุ้ว่าจะเป็นเรื่องราวของปีที่ผ่านมาที่ผมเขียนไว้หรือไม่ แต่ก็รู้สึกดีใจที่อย่างน้อยก็มีใครบางคนได้ประโยชน์จากปลายปากกา หรือว่าปลายนิ้วของผม อีกเหตุผลหนึ่งคือผมจะต้องตรวจเลือกตับอักเสบอีกครั้งหลังจากแข่งขัน ผมจะได้ทราบว่าผลการแข่งขันที่ดีขึ้นหรือเลวลงนั้นมีคามเกี่ยวข้องกับปริมาณไวรัสในตับที่ขึ้น ๆ ลง ๆ ของผมหรือไม่

1404432_253360724818409_1769189008_o

แม้ว่าจะประสบความสำเร็จกับการกระตุ้นให้เพื่อนร่วมทีมยกแกงค์และครอบครัวไปร่วมงานไตรกีฬาประจำปีที่หัวหินได้สำเร็จ แม้ว่ารายการดังกล่าวไม่ได้อยู่ในแผนของผม ก็พลาดไม่ได้ที่หัวหอกของทีมอย่างผมจะพลาด อ่อนซ้อม และการเดินทางแสนไกลทำให้ผลการแข่งขันไม่ค่อยดีเท่าที่ควร แต่การได้เห็นเพื่อน ๆ มีความสุขกับความสำเร็จก้าวใหม่ของพวกเขาในวันนั้น มันก็คุ้มค่า แต่งานที่ภูเก็ตนี้แม้ว่าจะเป็น Triathlon Festival ที่จัดยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศมีการแข่งขัน back-to-back ทั้งระยะสั้นและยาว แต่ด้วยความโหดของเส้นทาง ความลำบากด้านโลจิสติก ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องที่ค่อนข้างสูง จากเป้าคนร่วมแข่งขันจากทีมที่เริ่มต้นด้วยเกือบ ๆ 10 คน ค่อย ๆ เงียบ ๆ หายไปจนในที่สุดเหลือเพียงผมคนเดียว ก่อนที่มนุษย์เหล็ก อำนวย จะตัดสินใจวินาทีสุดท้ายเข้าร่วมเป็นกำลังใจให้กับผม และสร้างชื่อไอรอนแมนให้กับตนเอง

ผมออกแบบตารางการซ้อมทั้งปีให้มาพีคที่รายการนี้เป็นรายการแรก ในการแข่งปีนี้จะมีการอัปเกรดจักรยาน ปรับแผนการซ้อม และเป็นปีที่ผมเข้าจัดการกับไวรัสตับอักเสบบีเป็นครั้งแรก หลังการแข่งขันเพียง 8 วันผมจะต้องไปอัลตราซาวน์ตับและเจาะเลือดเป็นครั้งสุดท้ายก่อนทำการรักษา เมื่อดูภาวะแวดล้อมทั้งสิ้นแล้ว นี่เป็นการแข่งขันที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตของผม symbolically ผมจึงแสดงความตั้งใจเป็นพิเศษให้รายการนี้ด้วยการโกนขนขาซึ่งเป็นการแสดงถึงความจริงจัง และความเคารพต่อกีฬาชนิดนี้

IMG_1910

แม้ว่าผมจะเริ่ม season ค่อนข้างต้วมเตี้ยมด้วยเวลาในรายการสมุยที่ช้ากว่าปีที่แล้ว รายการสำคัญอันดับสองของผมที่กรุงเทพฯ ค่อนข้างออกมาดี เสียกำลังใจที่หัวหินเล็กน้อย เพราะก่อนหน้าการแข่งขันผมต้องทำการเจาะตับทำให้ไม่สามารถซ้อมจริงจังได้เป็นเวลาประมาณสองสัปดาห์ แต่รายการนี้ผมมั่นใจเต็มที่ ผมเตรียมจักรยานทุกคันให้พร้อมสำหรับรายการนี้ด้วยการเปลี่ยนเป็น compact crank  ทั้งหมด ผมซ้อมจักรยานมาเป็นอย่างดีตลอดทั้งปี รวมถึงการซ้อมว่ายน้ำที่เรียกว่าพร้อมเป็นพิเศษ จะมีเพลาเรื่องวิ่งอยู่บ้าง อาจจะเป็นเพราะจักรยานทุกคันเพิ่งปรับปรุงมาใหม่สำหรับฤดูการนี้ ร่วมกับผมไม่มีรายการวิ่งท้าทายใหม่ ๆ ที่รอคอยอยู่เลยเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ช่วงสองสัปดาห์ก่อนแข่งขันนั้นตารางซ้อมผมเป็นเทเปอร์ที่เรียกได้ว่าลดจนเกือบใจหาย แต่ผมก็อดไม่ไหวที่จะออกไปปั่นเขาของรายการนี้ แบ่งระยะทาง 30 กม. แต่ปั่นช้าที่สุดเท่าที่ทำได้ ผมไม่ได้ต้องการวอร์มอัป แต่ทั้งนี้เพื่อเป็นการทดสอบเกียร์ของผมว่าที่เตรียมมานั้นเพียงพอกับเขาที่โหดที่สุดของรายการหรือไม่ แผนของผมคือไม่เข็นในทุกเขา แต่จะเก็บแรงให้มากที่สุดก่อนขึ้นเขาและจะปั่นที่เกียร์เบาที่สุดด้วยรอบที่ช้าที่สุด เพื่อให้ใช้ power ในการปั่นน้อยที่สุดนั่นเอง ผมลองใช้วิธีการนี้กับสองเขาสุดท้ายของรายการ อำนวยที่ปั่นร่วมกันมากับผมก็สามารถจัดการกับเขาทั้งสองได้โดยไม่ยากเย็นนัก หลังการออกปั่นผมก็มั่นใจว่าเป้าที่จะไม่เข็นเลยน่าจะเป็นเป้าที่ทำได้ ถ้าหากไม่มีอาการตะคริวเข้ามารบกวนเสียก่อน ส่วนสองเขาแรกเราไม่ได้ไปทดสอบเพราะฝนตกหนักแต่ผมมั่นใจว่าเขาที่สี่หรือเขาตรีศาลา นั้นโหดกว่าเขาศุภาลัยแน่นอนแม้ว่าในการ briefing จะยกนิ้วให้กับเขาศุภาลัยเป็นอันดับหนึ่ง

IMG_1930

รายการซ้อมของผมจริง ๆ แล้วคือ 600 ชั่วโมงต่อปี ซึ่งเป็นจำนวนชั่วโมงที่น้อยที่สุดที่เขาแนะนำให้ซ้อมถ้าต้องการแข่งขันในระดับไอรอนแมน แต่ที่ผมทำได้จริง ๆ นั้นไม่ถึง 1 ใน 3 เสียทีเดียว จากเป้าซ้อมสัปดาห์ละ 8-16  ชม. ทำได้จริง ๆ เฉลี่ยประมาณ 5 ชม.กว่า ๆ และมีพีคแค่ 12 ชม. เพียงสัปดาห์เดียวเท่านั้น จะว่าไปผมอ่อนซ้อมถ้าจะอ้างถึงแผนการซ้อมอันนี้ แต่การเน้นจักรยานที่ตอนนี้เป็นจุดอ่อนสำคัญของผมก็ทำให้ผมกล้าที่จะตั้งเป้าหมายที่จะเอาชนะเวลาของทีมที่ทำเอาไว้เมื่อสามปีที่แล้ว ด้วยเวลา 6:36 ชม. เวลาว่ายน้ำ 45 นาที จักรยาน 3:30 ชม และวิ่งอีก 2:15 ชม. เมื่อดูส่วนประกอบนี้ดูแล้ว มีเพียงจักรยานเท่านั้นที่ผมจะเอาชนะมันได้ และต้องเอานะมันมาก ๆ ด้วยเพราะในการวิ่งเมื่อปีที่แล้วผมทำสถิติไว้ไม่ดีนัก อย่างไรก็ตามเพื่อป้องกันความเสียใจ ผมยังมีสถิติส่วนตัวที่ทำไว้ที่ 6:59 ชม เอาไว้คอยปลอบใจถ้าผมทำได้ไม่ตามเป้า ส่วนอำนวยตั้งเป้าไว้ที่ 8 ชม. เมื่อรู้ว่าผมทำไว้ครั้งแรกที่ประมาณ 7 ชม. ซึ่งผมเห็นว่าเป็นเป้าหมายที่กำลังดี

1400283_254289781392170_1454280041_o

ปีนี้ผมออกมาที่งานค่อนข้างช้าเพราะข้าศึกไม่มาตามนัด ร่วมกับการติดตั้งที่ยุ่งยากกว่าปีที่แล้วเพราะผมมีอุปกรณ์ hydration ที่ซับซ้อนขึ้น มีการพกพา power gel ซึ่งระบบการให้น้ำและพลังงานของผมในปีนี้ก็ถือว่ายกเครื่องใหม่ทั้งหมด เพราะผมเริ่มมั่นใจว่าอาการตะคริวของผมเกิดจากผม hydrate ไม่เพียงพอ ในขณะที่อาการแผ่วปลายของผมมีสาเหตุหลักมาจากผมเติมพลังงานไม่เพียงพอ ในคราวนี้มีการใช้ถุงเท้า ปลอกแขน และอื่น ๆ ที่ปกติผมไม่เคยใช้ สิ่งเหล่านี้ผมคาดว่าผมจะต้องใช้ในระยะไอรอนแมน ผมจึงเพิ่มเข้าไปในจุด transition ในครั้งนี้เพื่อความคุ้นเคย เนื่องจากผมไม่ค่อยชอบซ้อม transition ที่บ้าน ผม set up  จักรยานจนหมดเวลาต้องไปที่จุดเริ่มต้น ผมเดินหาอำนวยอยุ่พักใหญ่ก่อนที่จะตัดสินใจออกไปว่ายสั้น ๆ เพื่อเป็นการยืดเส้นยืดสาย ในการแข่งขันนี้ผมเริ่มต้นเป็นกลุ่มแรกสำหรับมือสมัครเล่น ซึ่งด้วยการเริ่มต้นเนิบ ๆ แบบผม และความเร็วปานกลางก็จะถูก wave หรือ 2 wave ที่ตามมาแซงได้จำนวนหนึ่ง แต่สำหรับอำนวยนั้น คาดว่าคงได้ว่ายอยู่ในกลุ่มใหญ่ของ wave ที่ตามมาอย่างแน่นอน

1167438_254289851392163_149199900_o

ผมออกตัวไม่ได้รอเหมือนปีที่ผ่านมา ผมออกตัวในกลุ่มกลาง ๆ แล้วก็พบว่า มันไม่น่าจะทำให้ผมเร็วขึ้นได้เลย เพราะผมไม่สามารถทำความเร็วได้ คนเกะกะไปหมด ออกซ้ายก็ไม่ได้ ออกขวาก็ไม่ได้ ริบบิ้นลายธงชาติที่ผมผูกข้อมือเอาไว้เป็นสัญลักษณ์ในการต่อต้านคอรับชั่นในวันนี้ค่อย ๆ เลื่อนหลุดออก ผมเอามือคว้าไว้ได้ทันแล้วพยายามยัดมันลงในอกเสื้อของผม ปีนี้ผมรู้สึกว่าผมว่ายได้ไม่ค่อยดีเมื่อเทียบกับปริมาณการซ้อมว่ายน้ำที่ทุ่มเทลงไป แม้ว่าเวลาซ้อมผมจะทำความเร็วได้ที่ 1:45/100m เวลาแข่งผมก็ยังทำได้เท่า ๆ เดิมที่ 2:xx/100m เช่นเดียวกันปีที่แล้ว แถมเวลารวมที่ช้าลงเกือบหนึ่งนาที ทั้ง ๆ ที่สภาพทะเลไม่ได้โหดร้ายเท่า สงสัยงานต่อ ๆ ไปผมคงต้องขอไปออกตัวด้านหน้า ๆ แก้ปัญหาตามก้นชาวบ้านบ้างเสียแล้ว อีกอย่างอาจจะเป็นเพราะเมื่อก่อนผมไม่ซ้อมว่ายน้ำเลย เวลาว่ายก็กะว่าให้เหนื่อย ๆ ประมาณ RPE 4 แต่คราวนี้เนื่องจากซ้อมเยอะเลยพยายามเก็บที่ RPE 3 มาแบบไม่เหนื่อยแต่เวลาเลวร้ายหน่อย ในตอนนี้ก็ยังไม่รู้ว่าในการแข่งจริง ๆ นั้นจะ pace อย่างไร ข้อดีอย่างนึงของการขึ้นจากน้ำแบบเหนื่อยน้อยคือ สภาพรูปที่ถ่ายออกมาค่อนข้างสวย ทำมาหากินได้ เอาวะ ถือว่าได้อย่างเสียอย่าง ผมพยายามควานหาริบบิ้นลายธงชาติที่ผมเก็บไว้ที่ในเสื้อ แต่ก็ไม่พบ ใจคิดว่านี่คงเป็นสัญญาณที่ดี มันคงหมายถึงไทยคงได้เป็นอิสระเสียที ผมคงเหลือริบบิ้นธงชาติอีกเส้นที่โบกสะบัดที่ท้ายหลักอานของจักรยานของผม
IMG_1983

ผมออกปั่นด้วยความเครียดน้อยมากเพราะเริ่มเข้าใจปฏิกิริยาของร่างกายในตอนปั่นจักรยาน ผมพยายามคุม HR และ Power ให้อยู่โซน 4 ไม่กระฉอกขึ้นสูงเหมือนการแข่งขันอื่น ๆ ที่ผมจะตื่นเต้นเมื่อเริ่มต้นปั่นจักรยานทำให้เสียพลังงานมากเกินไปในช่วงแรก ผมแทบไม่ได้ดูความเร็ว เวลาหรือค่าเฉลี่ยใด ๆ เลย ใจผมมุ่งมั่นอยู่ที่ Power Zone 4 เท่านั้น ในขณะที่เหลือบ ๆ ดูว่า HR ของผมพุ่งเกินไปหรือไม่ ซึ่งปรากฏว่าหัวใจผมเต้นในระดับ 160 ซึ่งเป็นจังหวะ Tempo เท่านั้นยังไม่เข้าใกล้ Threshold ของผม อย่างไรก็ตาม race marshall ปีนี้ค่อนข้างจะเข้มงวดเล็กน้อย ในกลุ่มเดียวกับที่ผมปั่นจะมี race marshall  ที่คอยตามเพราะมีกลุ่มปั่นอยู่ใกล้ ๆ กันหลายคน ซึ่งแน่นอนว่ามีความเสี่ยงของการ drafting ซึ่งเป็นข้อห้าม ปัญหาที่เกิดกับผมก็คือผมพยายามใช้ power ที่คงที่และทักษะการเข้าโค้งที่อาจจะดีกว่าหลาย ๆ คน เมื่อถึงโค้งทีไรผมเข้าประชิดกับคันข้างหน้าทุกที พอจะเร่งเท่านั้นแหละ ก็โดนตะโกน เป็นอย่างนี้สองสามครั้งจะกระทั่งครั้งสุดท้าย race marshall ถึงกับตะโกนเรียกหมายเลขของผม 377 point ผมตกใจจนเบรคทิ้งระยะลงมาเกือบ 100 ม. ด้วยความงง และไม่แน่ใจว่าจริง ๆ แล้วผมต้องจอดให้เขียน point บนป้ายผมหรือไม่ แต่ดูไปดูมาเขาก็ไม่ได้บอกให้จอด และผมก็ถอยลงมาจนไกลมาก ผมต้องเจอกับ marshall คนนี้และทำให้ไม่สามารถเร่งความเร็วได้เลย ไปพักใหญ่ ๆ เพราะเท่าที่เห็นกับคันข้างหน้าแต่ละคนก็โดนไปคนละทีสองที จนกระทั่งมีคนนึงที่ถูกปรับจอดจริง ๆ ผมจึงรีบเร่งออกไปให้ห่างจากเขาให้มากที่สุด ถือว่าเป็นช่วงตัดกำลังใจ และตัดความเร็วไปเยอะจริง ๆ


1450911_764244203592667_557843602_n

และแล้ว ช่วง 40 km แรกผ่านไปอย่างรวดเร็วและในที่สุดผมก็เข้าใกล้เขตเขาที่หนึ่ง ผมเคยปั่นขึ้นเขานี้แล้วหนึ่งครั้ง เข็นอีกหนึ่งครั้ง ผมจำเขานี้ได้ดี แม้ว่าเนินแรกจะดูน่ากลัวเพราะเราจะเห็นยอดเขา (ที่จริง ๆ แล้วเราไม่ต้องปั่นขึ้นไป) ตั้งตระหง่านอยู่เบื้องหน้า ด้านข้างเป็นเหวย่อม ๆ มีราวกันตกกั้นโดยตลอด ผมจำได้ว่าเลยโค้งและเนินนี้จะมีช่วงพักเล็กน้อยก่อนที่จะชันขึ้นไปสั้น ๆ เป็นมุมมองที่น่าเกรงขามแต่ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่ใจคนสร้างภาพไว้ เขาแรกเป็นการกระตุ้นบรรยากาศการแข่งขันได้ดี ผมรู้ว่าเขาศุภาลัยที่อยู่ถัดไปหนักหนาสาหัสกว่ามาก

ผมพยายามเลี้ยง Power Zone 4 มาเรื่อย ๆ จนเข้าเนินของเขาศุภาลัยอันโหดร้าย ซึ่งสมคำร่ำลือจริง ๆ แม้ผมค่อย ๆ ปั่นช้า ๆ เกียร์เบา ๆ รอบต่ำ ๆ ไปเรื่อย ๆ เนินเขาก็ดูเหมือนว่าจะไม่มีวันจบสิ้น เนินที่ชันขึ้นทีละเล็กละน้อย ค่อย ๆ เข้ามาระลอกแล้วระลอกเล่า ผมเริ่มจะเชื่อว่าบางทีที่ศุภาลัยนี่อาจจะเป็นเนินที่โหดที่สุด ผมเริ่มนึกถึงปีที่ผ่านมาที่มีฝนตกหนัก มีสายน้ำไหลเชี่ยวลงจากเขา ไหล่ทางที่ลื่น วันนี้ไม่มีฝน และตอนนี้ผมยังนั่งปั่นได้โดยไม่ระเบิดหัวใจ แต่ทันใดนั้นชะง่อนเนินสุดท้ายก็พุ่งเข้ามาผมต้องรีบยกตัวขึ้นทิ้งน้ำหนักลงไปบนเท้าหมุนล้อเร่งจักรยานขึ้นไปก่อนที่ความเร็วจะตกจนผมล้มไถลลงไปกับพื้นถนน ปั่นได้เพียง 2 ก้าวล้อหลังก็เริ่มฟรี นี่แหละความโหดของเนินที่เขาที่ร่ำลือกัน เหลืออีกเพียง 30 ม.ก็จะถึงยอด ผมรีบนั่งลงแล้วกัดฟัน มือซ้ายขวาสลับกันดึงรั้งเมื่อผมใช้พลังงานที่เหลืออยู่อัดเข้าที่บันไดเพื่อเร่งรอบขาทำความเร็วให้ข้ามเนินให้ได้ “Keep spinning, only 20 meters to go” เสียงกองเชียร์ชาวต่างชาติมาทันยกกำลังใจผมที่กำลังจะถดถอยลง ต้องขอบคุณเสียงนั้น และแล้วผมก็ผ่านมาไปได้

0513_03672

หลังจากเขาศุภาลัยผมรู้ว่ากว่าจะเจอเขาอีกครั้งหนึ่งก็จะประมาณ  80 กม. ช่วงนี้มีเวลาที่จะพักและทำความเร็วค่อนข้างจะมากเลยทีเดียว ในเที่ยวกลับนี้ผมปั่นสวนกับอำนวยบนเส้นทางสวนเพียงเส้นเดียวของงานนี้ ซึ่งหมายความว่าอำนวยอยู่ไม่ห่างจากผมมากมายนัก ถือว่าเป็นความเร็วที่น่านับถือเลยทีเดียวสำหรับคนที่เพิ่งซื้อจักรยานมาได้ 6 เดือน ผมโบกมือทักทายเล็กน้อย ก่อนที่จะกดหัวปั่นต่อไป ผมเริ่มเห็นประโยชน์อย่างจริงจังของ power meter เพราะในรายการนี้ผมควบคุม Power เป็นหลัก เพื่อที่จะไม่ให้เกิดการล้าของกล้ามเนื้อจนกระตุ้นให้เกิดตะคริว เพราะนั่นจะทำลายเป้าหมายสูงสุดของผมก็คือไม่ลงเข็นนั่นเอง ยังไม่ทันไรพอเข้าพื้นที่ของ 70km ขาผมก็เริ่มมีอาการตึง ๆ นิด ๆ ตะคริวที่น่องทั้งสองข้างกำลังมา ผมรู้ว่าอีกเพียง 10km ผมจะถึงย่นเขาที่โหดร้ายที่สุด ผมต้องเก็บอาการไว้ให้ได้ เพราะการที่จะต้องกดแรง ๆ ขณะขึ้นเขามีโอกาสทำให้ตะคริวโจมตีได้โดยง่าย แต่มันไม่ได้ง่ายอย่างที่คิดเพราะเส้นทางเข้าสู่สองเขาสุดท้ายก็เป็นเนินน้อย ๆ ซึม ๆ ที่ต้องใช้กำลังขาพอสมควร ต้นขาผมเริ่มออกอาการคล้ายตะคริวจะถามหา ผมจึงตัดสินใจชะลอตัวอย่างเต็มที่ เปลี่ยนเป็นเกียร์ที่เบาที่สุดแล้วเลี้ยงตัวเข้าสู่เขาที่สาม ยุทธวิธีนี้ได้ผล เขาที่สามผ่านไปอย่างง่ายดาย แต่เขาที่สี่ที่ตรีศาลารออยุ่ใกล้ ๆ ผมเลี้ยงขามาเรื่อย ๆ จนกระทั่งเห็นโค้งสุดท้ายที่จะหัดศอกไต่ขึ้นไปชันที่สุดของสนามนี้

ผมตีออกขวาทันที่ที่มองเห็นโค้ง หวังแต่เพียงว่าจะไม่มีรถสวนลงมา หรือถ้ามีผมก็จะยังน่าที่จะไต่ขึ้นตามไหล่ทางได้ ผมพยายามนั่งให้นานที่สุด แล้วมายืนโยกเพียงไม่กี่ขาให้พ้นช่วงโค้งนั้นเท่านั้น ผมรู้ว่าหลังจากนี้จะยังมีเนินโหด ๆ ตามมาที่จะต้องเก็บแรงไว้อัดให้พ้น แผนนี้ก็ได้ผลอีกเช่นเคย เมื่อผ่านโค้งมรณะมาถึงทางลาดสั้น ๆ ได้พัก เนินชันยาว ๆ สองช่วงรอผมอยู่ ขาผมล้าเต็มที่แล้ว การนั่งปั่นเริ่มเป็นไปไม่ได้ ผมเริ่มตัดสินใจว่าเฮือกสุดท้ายที่ผมจะต้องยกตัวขึ้นแล้วกัดฟันไปให้ถึงยอด ผมใช้กำลังทั้งหมดที่มี กัดฟัน มือซ้ายขวาสลับกันดึง จนกล้ามเนื้อเกร็งไปทั้งตัว และแล้วผมก็สามารถผ่านข้ามมันมาได้โดยขาไม่แตะพื้นแม้แต่ครั้งเดียว ผมยิ้มให้กับน้องพนักงานไบค์โซนที่เอา Go Pro มาวิ่งถ่ายตอนผมอัดขึ้นมา ผมไม่แน่ใจว่าผมจะได้เห็นภาพเหล่านั้นมั้ย แต่การถูกบันทึกลงในวิดีโออาจจะเป็นกำลังใจหนึ่งที่ทำให้ผมข้ามเขาตรีศาลานี่มาก็ได้

IMG_2206

ในช่วง 10km สุดท้ายผมเริ่มเก็บแรงขา ปล่อย spin เบา ๆ หลาย ๆ ครั้ง เพื่อไล่ตะคริวให้หมดไป ผมทำเวลาเข้าสู่ T2 ได้รวดเร็วจนผมเองก็ต้องตกใจ เมื่อดูเวลารวมแล้ว เพิ่ง 3:50 ชม. เท่านั้น ถ้าผมสามารถวิ่งฮาร์ฟมาราธอนภายใน 2:10 ชม. ผมก็จะทำเวลาได้ต่ำกว่า 6 ชม. นั่นหมายความว่าไม่เพียงผมจะสามารถเอาชนะตัวเองเมื่อปีที่แล้ว ทำเป้าหมาย 6:37 ชม. ได้แล้ว ผมยังทำสถิติที่เรียกว่าน่าเกรงขามระดับหนึ่งเลยทีเดียว ผมเข้าสู่ T2 อย่างสบายใจ ค่อย ๆ เปลี่ยนรองเท้าใส่หมวก คว้าปลอกแขน และ hydration belt ผมลังเลเล็กน้อย เพราะสนามนี้มีน้ำให้ตามระยะ 1.5 กม. ซึ่งถือว่าถี่พอสมควร แต่สุดท้ายแล้วผมตัดสินใจคว้ามันออกมาด้วย ในใจผมคิดว่าถ้าผมวิ่งได้ดี ผมจะสามารถใช้น้ำของผมเองเกือบทั้งการแข่งขันไม่ต้องแวะเข้าจะให้น้ำเลย หรือถ้าผมวิ่งได้ไม่ดี ผมก็ยังสามารถดื่มน้ำได้ตลอดเวลาที่ผมต้องการซึ่งเป็นผลดีต่อกำลังใจ ผมวิ่งออกจาก T1 มาเจอกับครอบครัวที่ยืนรออยู่ผมวิ่งเข้าไปทักทายกับลูกชายคนโตอยู่พักใหญ่ ไม่ทันเห็นลูกสาวคนกลาง ซึ่งภรรยาผมบอกภายหลังว่ายืนอยู่ข้าง ๆ กัน เลยไม่รู้ว่าสาวน้อย ซาช่าจะมีอาการน้อยใจหรือไม่

2 กม.แรกผมทำเวลาค่อนข้างดีที่ความเร็ว 6 min/km ซึ่งเร็วกว่าเป้า แต่ไม่นานนักขาของผมก็เริ่มไม่ทำงาน hydration belt ที่ดูเหมือนว่าผมจะไม่อยากจะหิ้วมาตั้งแต่แรก เริ่มทำตัวมีปัญหา บน Tri-suit ที่ลื่นปรื๊ด Belt คอยจะเด้งขึ้นเด้งลงตลอดเวลา จนในที่สุดกระติกน้ำรูปไตก็คอยที่จะเด้งหล่นลงพื้นตลอดเวลา ซึ่งน่ารำคาญและเสียสมาธิเป็นอย่างมาก ผมวิ่งไปเจอคุณไตร เจ้าของร้านไบค์โซน ที่แซงผมในช่วงจักรยานมาเหมือนว่าจะนานแสนนานตั้งแต่ก่อนเขาที่หนึ่ง ผมแปลกใจเล็กน้อยผมจึงเข้าไปทักทาย และวิ่งคู่กันไป ทันใดนั้นเจ้ากระติกรูปไตก็กระเด็นหลุดอีกครั้ง ผมต้องหันกลับไปเก็บและปล่อยคุณไตรวิ่งต่อไป ผมตามคุณไตรทันอีกครั้งเมื่อเขาเข้า pit stop ก่อนที่เขาจะกลับมาแซงผมได้อีกครั้งในเวลาไม่นานนัก ความเร็วผมเริ่มตกจนเห็นได้ชัด ตอนนี้ผมเริ่มต้องเอากระติกขึ้นมาถือบนมือทั้งสองข้าง เนื่องจากมีการหล่นบ่อยครั้ง ความเหนื่อย ความล้า ความเร็วที่ตกลง ผมเริ่มไม่สามารถคุมความเร็วได้และพาลหลุดไป 7min/km บ่อยขึ้น

IMG_1979

ผมจำเป็นต้องตั้งสติให้ดี โฟกัสกับตัวเอง ตอนนี้วิ่งผ่านมากว่า 5 km แล้ว ผมยังทำเวลาได้ 30 เศษ ๆ ไม่ถึง 35 นับว่าไม่เลวร้ายจนเกินไปนัก ผมเริ่มต้ังเป้าแบบเบา ๆ ว่าผมขอแค่เฉลี่ยนเพียง 7 min/km หรือ จบฮาร์ฟมาราธอนนี้ที่ 2:27 ชม. น่าจะเพียงพอ ซึ่งจะทำให้เวลารวมผมอยู่ในช่วง 6:17ชม.  ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ถึง 20 นาที และเร็วกว่าเดิมถึง 40 นาที ผมเริ่มนับถอยหลังครั้งละ 1 km และคำนวณเวลาที่ผมได้กำไร ความเร็วของผมค่อย ๆ ดีขึ้น คงที่ขึ้นเฉลี่ยได้ 6:30-7:00 ซึ่งผมค่อนข้างพอใจ ที่จะไปตามใครทัน หรือวิ่งแซงใครผมไม่คิดแล้ว จิตใจแน่วแน่อยุ่ที่ความเร็วที่ตั้งไว้ และเวลาที่มีเหลือเพื่อที่คงความเร็วเฉลี่ยให้ได้ตามเป้า

เมื่อ 10.5 km แรกผ่านไปผมรู้สึกดีขึ้น แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าผมวิ่งได้เร็วขึ้น ผมแอบว่า hydration belt ลงใกล้ ๆ กับเส้นชัย ตอนนี้มือผมว่าง ผมไม่รู้สึกหนักขาอีกต่อไป ผมเร่งความเร็วขึ้นเล็กน้อย พยายามดันให้ HR ผมขึ้นไปแตะ 160 ให้ได้ แต่ทำเท่าไรก็ไม่ได้ ขาผมไม่ค่อยตอบสนอง จึงต้องประคองที่ความเร็วเดิมไป และปล่อยให้ HR เต้นที่ประมาณ 155 เท่านั้น นั่นหมายความว่าข้อจำกัดของผมตอนนี้กลายเป็นกล้ามเนื้อ หรือไม่ก็พลังงานสะสม แต่ตอนนั้นผมคิดอะไรไม่ค่อยออก ยกเว้นแต่การคำนวณเวลาเท่านั้น แม้ว่าทางรายการจะมีแจก poewr gel จำนวนมาก ผมก็ไม่มีอารมณ์ที่จะเข้าไปรับมากินเลย ผมจึงไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วทำไมผมถึงเร่งเครื่องไม่ขึ้นทั้ง ๆ ที่ HR ไม่แสดงความเหนื่อยให้เห็นเลย

IMG_1984

ผ่านเป็น 15 km ผมมีเวลาเหลือเฟือเก็บไว้ในกระเป๋า ผมจึงตั้งเป้าใหม่ 6:10ชม. ทันใดนั้นผมก็เห็นอำนวยวิ่งสวนกลับมา พร้อมกับตะโกนว่า “เพิ่งถึงนี่เองเหรอวะ?” ผมตอบเออไปแบบงง ๆ ก่อนที่จะมาเข้าใจภายหลัง สมองเริ่มทำงานได้จำกัด เนื่องจากออกกำลังกายอย่างหนักต่อเนื่องมา 5 ชั่วโมงกว่า ๆ แล้ว นี่ถ้าไปไอรอนแมนเราต้องพูดกันถึงตัวเลข 13-15 ชม. เลยนะเนี่ย มันจะเป็นอย่างไรไม่ค่อยอยากจะคิดตอนนี้เท่าไรเลย ผมคำนวณเวลาเฉลี่ย และ pace ทุก ๆ กิโลเมตรที่ผ่านเข้ามา เพื่อให้เวลามันผ่านไปเร็วขึ้น ผมเริ่มเข้าจุดให้น้ำทุกจุด เพิ่มการเดินเข้าไปทุกครั้ง น้ำสองแก้ว ฟองน้ำสองก้อน เป็นกิจกรรมที่ดูเหมือนว่าลดความเครียดจากการนับถอยหลังลงไปได้บ้าง

ช่วงเวลา 2 km สุดท้ายค่อนข้างจะสบาย ๆ สำหรับผม เมื่อเทียบกับเมื่อปีที่ผ่านมา ผมยังสามารถคงความเร็ว 6:30 min/km ได้สบาย ๆ แม้ว่าจะไม่สามารถเร่งไปได้มากกว่านี้ แต่ก็ไม่รู้สึกทรมาน เมื่อเข้าโค้งสุดท้ายเพื่อวิ่งตรงเข้าเส้นชัย ผมมองไปทั่ว ๆ พยายามหาครอบครัวของผม แต่ก็ไม่เห็นใคร ผมรู้สึกผิดหวังเล็กน้อย เหลือบมองนาฬิกา แล้วพบว่าผมน่าจะทำเวลาได้ดีกว่า 6:10 ชม. อย่างแน่นอน สงสัยว่าตารางเวลาที่ผมเขียนให้พวกเขาจะไม่ค่อยแม่นยำ เพราะผมกะว่าจะเข้าประมาณ 6:30-6:50 ชม. ในกระดาษที่ผมคำนวณให้พวกเขาไว้ ในที่สุดผมก็เข้าเส้นชัยได้ด้วยเวลา 6:08:55 ชม. เร็วกว่าปีที่ผ่านมาถึง 51 นาที เร็วกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ถึง 28 นาที เป็นสัญญาณของความแข็งแรงที่ดี  หลังจากวันนี้ 8 วัน การตรวจเลือดของผมน่าจะให้ผลสวย ๆ เช่นนี้ออกมาเช่นกัน

0513_02769

ผมเข้าเส้นชัยมาเจอกับคุณหมอ Krongchai สมาชิกใหม่ของทีมที่มาปั่นแบบทีมผลัด เราถ่ายรูปร่วมกันเล็กน้อย แต่กิจกรรมนี้ทำให้ครอบครัวผมรับรู้ถึงการเข้าเส้นชัยของผมแล้วตัดสินใจรออยู่ในห้องพัก ผมขอตัวไปหาน้ำและอาหารทาน พร้อมกับใช้บริการนวดจากบันยันทรี ความรู้สึกของผมค่อนข้างดีมากเมื่อเทียบกับการแข่งขันครั้งอื่น ๆ ที่จะค่อนข้างทรมานเวลานวด หลังจากนวดเรียบร้อยผมก็ตัดสินใจออกมานั่งรออำนวยเพราะคาดเดาเอาว่าคงอีกไม่เกินครั้งชั่วโมงอำนวยน่าจะเข้าเส้นชัยถ้าทำเวลาห่างจากผมสักหนึ่งชั่วโมง ผมรออยุ่ค่อนข้างนานจนไม่มั่นใจว่าอำนวยเข้าเส้นไปก่อนหน้านี้แล้วหรือยัง แล้วในที่สุดอำนวยก็วิ่งสบาย ๆ เข้าเส้นมาด้วยเวลา 7:38 ชม. เวลาที่น่าประทับใจกับนักไตรกีฬาปีแรก ที่เพิ่งซื้อจักรยานไม่เกิน 6 เดือน เราถ่ายภาพกันเล็ก ๆ น้อย ๆ อำนวยบ่นแบบเดิม ๆ เหมือนกับที่บ่นตั้งแต่รายการแรกที่สมุย รายกรที่สองที่กรุงเทพ และรายการที่สามที่หัวหิน บ่นว่าเบื่อ

1479150_544503828974763_7490656_n

เราแยกย้ายกันไปพักผ่อน อำนวยแวะมาคุยสัพเพเหระที่โรงแรมในเย็นวันนั้น ก่อนที่จะบอกลา วันรุ่งขึ้นเราจะเริ่มแยกย้ายกันไป ผมถือโอกาสไปพักผ่อนที่พังงาต่ออีกวันก่อนค่อย ๆ คลานไปกระบี่อีกหนึ่งวัน แล้วกลับปัตตานี ผมใช้เวลาทั้งสัปดาห์พักผ่อน งดการออกกำลังกาย ผมมีอาการอ่อนเพลียเล็กน้อยเนื่องจากติดหวัดจากเด็ก ๆ และมีไข้ต่ำ ๆ ในขณะที่อำนวยออกไปพักในตัวเมืองภูเก็ตหนึ่งคืน ก่อนที่จะไปพักที่ชุมพรอีกคืน แล้วไปต่อที่หัวหินในวันที่ 5 ธันวาคม พร้อมกับการเริ่มซ้อมวันแรกหลังจากแข่ง ผมเชื่อว่า Tri Bug ได้กัดอำนวยเข้าแล้ว จากวันนี้เขาคงไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เตรียมพบกับบทใหม่ของ Ironman อำนวยกันได้แน่นอนครับ