ระบบนิเวศน์ทางอิเลคโทรนิค

การพัฒนาของสมาร์ทโฟนค่ายอื่น ๆ นอกเหนือจากแอ๊ปเปิ้ล ไม่ว่าจะเป็นซัมซุง HTC Nokia รวมไปถึงระบบปฏิบัติการต่าง ๆ และการจากไปของสตีฟ จ๊อปที่ทำให้รังสีของแอ๊ปเปิ้ลถดถอยลง การเปรียบเทียบ การแข่งขันมันดูเหมือนรุนแรงขึ้น มีการผลัดกันนำ แซงในความสามารถของมือถือรุ่นใหม่ ๆ ที่เอามาชนกันได้อย่างสนุกสนาน แต่ในรายชื่อผู้เล่นทั้งหมด มีเพียงแอ๊ปเปิ้ล และซัมซุงเท่านั้น (รีวิวเปรียบเทียบ iPhone 5 และ Galaxy S4) ที่มีอุปกรณ์อิเลคโทรนิคประเภทอื่น ๆ ในท้องตลาด แต่มีเพียงแอ๊ปเปิ้ลเท่านั้นที่มีระบบนิเวศน์ทางอิเลคโทรนิคที่สมบูรณ์แบบ แม้ว่าผมจะไม่เคยมีโอกาสได้สัมผัสกับซัมซุงมาก่อน ผมมั่นใจว่าระบบของแอ๊ปเปิ้ลสมบูรณ์แบบที่สุด และยังคงเป็นผู้นำอยู่โดยตลอด

 

450px-IPod_video_30_GB_white_2

ผมเปลี่ยนค่ายมาอยู่แอ๊ปเปิ้ลได้ไม่นานมากนัก และเปลี่ยนในช่วงที่ระบบนิเวศน์ทางอิเลคโทรนิคที่ผมพูดถึงนี้กำลังเริ่มก่อตัวเป็นรูปเป็นร่าง แม้ว่าในอดีตจะมีประสบการณ์กับเครื่องแอ๊ปเปิ้ล IIe แต่ด้วยราคาที่ต่างกันลิบลิ่ว การกลับมาของ iMac สีลูกกวาดก็ทำให้ผมได้แต่นั่งมอง ผมเริ่มด้วย iPod Video 60GB เพื่อตอบโจทย์แผ่นซีดีสะสมจำนวนมากของผม และหลายปีให้หลังผมจึงถอย iPod touch รุ่นแรก ๆ เพราะความสามารถในการเข้าถึง Internet ของมัน และผมค่อย ๆ ปล่อยตัวเองเข้าสู่ระบบนิเวศน์ทางอิเลคโทรนิคที่จ๊อปได้สร้างขึ้น แต่ภาพดังกล่าวยังไม่ชัดเจนจนกระทั่งผมสามารถสะสมเงินจนซื้อ iMac เครื่องแรกของผมได้ เพราะในระบบยุคแรก ระบบนิเวศน์นี้ยังต้องอาศัยตัวกลางที่เป็น Digital Hub ในปัจจุบัน ผมเห็นความพยายามที่จะลดความเป็น digital hub ของอุปกรณ์ใดอุปกรณ์หนึ่ง แต่ผมยังคิดว่าเวลานั้นยังไม่มาถึง (iPod TV Ad)

ที่ผมจะเล่าต่อไปนี้เป็นบรรยากาศในระบบนิเวศน์ทางอิเลคโทรนิคที่สร้างไว้โดยแอ๊ปเปิ้ล โครงสร้างที่มีแต่จะเสริมให้ผู้ใช้ได้ประโยชน์มีเพิ่มอุปกรณ์เข้าในระบบ และโครงสร้างที่จะทำให้ผู้ใช้ถูกกักขังของในระบบที่ตนเองได้สร้างขึ้นจนการเปลี่ยนแปลงระบบนั้น มีค่าใช้จ่ายสูงเกินกว่าที่จะยอมรับได้ แน่นอนว่าคุณเองสามารถสร้างบรรยากาศเช่นนี้ได้โดยใช้อุปกรณ์จากค่ายต่าง ๆ หลากหลายค่าย แต่ความสะดวกแบบแอ๊ปเปิ้ลนั้นคุณจะไม่มีวันได้สัมผัส และเมื่อมูลค่าของเวลาคุณสูงเพียงพอ การลงทุนในระบบแอ๊ปเปิ้ลจึงเป็นการลงทุนที่สมเหตุสมผลมากขึ้นตามลำดับ

apple-imac2011_q2-270-main-lg

สิ่งที่ถือว่าเป็นหัวใจของระบบนี้ แม้ว่าจะเป็นอุปกรณ์แอ๊ปเปิ้ลชิ้นสุดท้ายที่ผมเพิ่มเข้ามาในชีวิตผมนั่นคือ iPhone สิ่งนี้คือที่แอ๊ปเปิ้ลเรียกมันว่า Contact มันเป็นรายชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพย์ที่ผมสะสมมาตลอดทั้งชีวิตของผม ข้อมูลนี้เคยอยู่ในโปรแกรมที่ชื่อว่า Lotus Organizer ที่ผมต้องคอยย้ายไปเรื่อย ๆ ตามความเปลี่ยนแปลงของระบบคอมพิวเตอร์ เมื่อบริษัท Lotus ปิดตัวลงข้อมูลของผมก็รอวันหมดอายุ แต่ตัวช่วยตัวใหม่ Microsoft Outlook ก็มาทดแทน แต่โปรแกรมเหล่านี้เป็นเพียงที่เก็บข้อมูลฉุกเฉิน มีไว้สำหรับค้นข้อมูลเมื่อจำเป็นเท่านั้น ชีวิตที่มีข้อมูลอยู่ในมือเหมือนกับปัจจุบันนี้ยังห่างใกลจากความเป็นจริง แต่เมื่อโทรศัพย์มือถือกลายเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของคนยุคใหม่ การใช้ข้อมูลเบอร์โทรศัพย์บน Outlook กับสิ่งที่ทำได้บนโทรศัพย์ยังแยกออกจากกันโดยสิ้นเชิง ยิ่งไปกว่านั้น ผู้คนจำนวนมากเริ่มให้ความไว้วางใจกับระบบ contact บนมือถือจน เหตุการณ์มือถือหายพร้อมเบอร์ contact ทั้งหมด เป็นเรื่องปกติของคนยุคใหม่ ผมรอจนกระทั่งระบบมือถือสามารถเชื่อมต่อกับ Microsoft Outlook ได้จึงได้ซื้อ smartphone เครื่องแรก โดยเลือก HTC touch แทนที่จะเป็น iPhone 1 ที่เพิ่งออกใหม่ในตอนนั้น ชีวิตดูเหมือนกับง่ายขึ้นเป็นอย่างมากเมื่อในที่สุดเบอร์โทรศัพย์ ที่อยู่ และหลาย ๆ อย่างที่โทรศัพย์สมัยใหม่สามารถทำได้ แต่แล้ว iPod touch ก็ทำให้มุมมองของผมเปลี่ยนไป เทคโนโลยี user interface รูปลักษณ์ แอ๊ปเปิ้ลทำได้ดีกว่าอย่างเหนือชั้น ความสนใจในผลิตภัณฑ์แอ๊ปเปิ้ลของผมเพิ่มขึ้นเป็นสิบเท่าเมื่อได้เป็นเจ้าของ iPod touch จนในที่สุดเมื่อ HTC ของผมเริ่มหมดสภาพ ผมจึงเลือกที่จะพก iPod touch คู่กับ ​​Nokia รุ่นถูกที่สุดแทน (iPod Touch TV Ad)

ในวันที่ iMac เครื่องแรกมาวางบนโต๊ะทำงานของผมทุกอย่างก็เปลี่ยนไป เป็นครั้งแรกที่ iPod ทั้งสองเครื่องของผมจะได้ทำงานกับระบบ native อย่าง iMac ข้อมูลบน iPod touch ของผมได้ถูกป้องกันไว้อย่างดีบน iMac ซึ่งสามารถกู้ทุกอย่างได้แม้ว่าผมจะต้องทดแทน iPod touch มาแล้วถึง 3 เครื่องด้วยกัน และแล้วสิ่งที่เรียกว่าระบบนิเวศน์ทางอิเลคโทรนิคเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นเมื่อจ๊อปแนะนำสิ่งที่เรียกว่า Home Sharing ขึ้นในระบบ ระบบ Home Sharing ทำให้ iPod สามารถเล่นเพลงที่เก็บไว้บนเครื่อง iMac ได้เมื่ออยู่ในระบบ network เดียวกัน ความจุ 8GB ของ iPod touch ระเบิดขึ้นเป็น 1TB ตามขนาดของ iMac ทันที ผมสามารถเล่นเพลงทุกเพลงที่ผมมีจากเครื่องเล็ก ๆ ของผมได้ทุกที่ในบ้าน ผมเริ่มย้ายการทำงานบนฝั่งวินโดส์ของผมข้ามมาฝั่ง Mac มากขึ้นเรื่อย ๆ Home Sharing ได้ถูกขยายความสามารถเพิ่มขึ้นเมื่อผมได้ติดตั้ง Airport Express หรือ wireless router ที่มี Audio Output ผมติดตั้ง AE ในห้องนอนและต่อเข้ากับวิทยุเครื่องเก่า เมื่อใช้ร่วมกับ app ฟรีที่ชื่อว่า Remote ผมสามารถใช้ iPod touch ทำหน้าที่เหมือน remote control ที่จะเปิดเพลงบน iMac ผ่านระบบ Home Sharing และส่งสัญญาณมาออกที่ AE ที่ห้องนอนของผมเพื่อเล่นเพลงออกบนวิทยุของผมได้ผ่านระบบที่จ๊อปเรียกว่า Airplay ซึ่งผมใช้งานระบบที่ว่านี้เป็นประจำทุกวัน

images-6

ในขณะเดียวกับการจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์พกพาเครื่องใหม่ที่เป็น Macbook Air ตัวแรกของผมที่ได้มาพร้อม ๆ กับการเปิดตัวของบริการที่เรียกว่า iCloud เครื่องคอมพิวเตอร์พกพานับว่าเป็นอุปกรณ์จำเป็นสำหรับอาชีพอาจารย์อย่างผม เมื่อเนื้อหาการสอนหรืองานพรีเซนต์เป็นส่วนสำคัญของอาชีพ ปัญหาการจัดการไฟล์ต่าง ๆ บนเครื่อง desktop และเครื่อง notebook เป็นปัญหาโลกแตกถึงขนาดที่ผมจำใจที่จะใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์ Notebook เพียงตัวเดียวเพื่อที่จะแก้ปัญหานี้ โดยต้องยอมทนทำงานทุกอย่างบนหน้าจอขนาดเล็กกว่าที่ควรจะเป็น แต่เมื่อมีบริการ iCloud เหตุผลในการมีเครื่องคอมพิวเตอร์พกพาที่เป็น Mac ก็ดูสมเหตุผลมากขึ้น บริการ iCloud ในเริ่มแรกนี้เชื่อมโยง app พื้นฐานอย่าง Contact Calendar Note และอื่น ๆ เข้าด้วยกันโดยเชื่อมเข้ากับศูนย์ข้อมูลกลางที่เรียกมันว่า Cloud AppleID ที่เคยใช้สำหรับการลงทะเบียนเครื่อง สมาชิก iTunes Home Sharing ตอนนี้ก็ใช้สำหรับบริการ iClound เพิ่มขึ้น ​​Macbook Air ของผมจึงมีเพียงโปรแกรมพื้นฐานที่จำเป็นต้องใช้งานเมื่อเดินทาง ในขณะที่ข้อมูลทั้งหมดจะเชื่อมต่อกันอยู่บน Cloud ดังนั้นไม่ว่าผมจะทำงานบนเครื่องไหนผมก็จะมีไฟล์งานที่ใหม่ล่าสุดอยู่พร้อมเสมอ แม้ว่า iCloud จะยังไม่รับรองโปรแกรมหลาย ๆ โปรแกรม แต่บริการ Cloud Service อย่าง Dropbox ก็ทำให้การทำงานแบบนี้เป็นเรื่องง่าย และเมื่อผมจำเป็นต้องเปลี่ยน router ตัวใหม่ไปเป็น Time Capsule ที่ทำงานเป็นทั้ง router และ NAS ข้อมูลของผมทั้งหมดก็ถูกปกป้อง 100% เพราะงานหลักของ NAS ตัวนี้ถูกออกแบบมาเพื่อใช้กับโปรแกรมที่เรียกว่า Time Machine ที่แถมมาพร้อมกับ OSX ทุกเครื่อง iMac ที่ต่ออยู่กับ Time Capsule ตัวนี้จะถูก Backup ไว้อัตโนมัติการกู้ไฟล์เป็นเรื่องง่ายแสนง่ายเหมือนกับชื่อที่เขาตั้งไว้ ในขณะเดียวกันระบบที่มาใหม่ใน OSX ที่เรียกว่า Version ทำให้ความเสียหายของข้อมูลเนื่องจากลืมกด Save กลายเป็นอดีตไปในทันที ยิ่งไปกว่านี้ ​Macbook Air ของผมก็ถูก Backup ผ่าน Time Machine เครื่องเดียวกันผ่าน Wifi โดยไม่ต้องทำอะไรเพิ่มเติม แน่นอนว่าการติดตั้งระบบใหม่ภายหลังที่ Macbook Air เครื่องแรกของผมถูกขโมยไป สามารถทำได้ภายในเสี้ยววินาที ทุกอย่างกลับมาเหมือนเดิมเป๊ะรวมถึงไฟล์ต่าง ๆ ที่วางไว้บน desktop แม้เครื่อง iMac ของผมจะไม่เคยเสีย แต่บริการ Time machine ก็เคยช่วยชีวิตผมมาแล้วเมื่อการอัปเกรด Vmware เกิดปัญหาทำให้ partition ฝั่งวินโดส์ทั้งหมดไม่สามารถเข้าถึงได้ นั่นเป็นความเสียหายใหญ่หลวงที่ถ้าเกิดขึ้นกับระบบวินโดส์ในยุคก่อน นี่คือเวลาที่ต้องฆ่าตัวตายเพียงอย่างเดียว แต่ด้วย Time machine ผมแค่ย้อนเวลากลับไปก่อนการอัปเกรดทุกอย่างก็เรียบร้อย

ความสนุกของระบบนิเวศน์ทางอิเลคโทรนิคเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อผมตัดสินใจที่จะฝากลูกศิษย์ของผมหิ้ว AppleTV กลับมาจากญี่ปุ่น เมื่อจดทะเบียน AppleID ใหม่โดยใช้ที่อยู่ประเทศอเมริกาทำให้สามารพใช้งาน AppleTV ในอย่างเต็มประสิทธิภาพที่เมืองไทย นั่นหมายถึงการเช่า/ซื้อ หนังหรือรายการทีวีได้เหมือนกับอยู่อเมริกา เพียงแค่ใช้บัตรเติมเงินที่เรียกว่า iTunes Card ที่หาซื้อได้ทั่วไปตามร้าน Apple Store ของต่างประเทศที่มีการขาย Apple TV เมื่อ AppleTV ต่อกับ TV ที่มีอยู่จะสามารถคุยกับ iMac ผ่าน Home Sharing เพื่อที่จะนำหนังต่าง ๆ ที่มีอยู่บน iMac ออก TV ได้ ผมจึงเริ่ม rip แผ่นหนังที่มีอยู่ลง iMac เรื่อย ๆ ตั้งแต่วันนั้น เครื่องเล่นดีวีดีที่เริ่มหมดอายุก็ถูกปลดระวางอย่างถาวร นอกจากนี้ผมยังสามารถเปิดรูปที่อยู่ในโปรแกรม iPhoto หรือ Aperture บน iMac ให้ออก TV ได้ ซึ่งหมายถึงการแชร์รูปให้เพื่อน ๆ ดูได้โดยไม่ต้องลากตัวเข้าไปที่ห้องทำงาน รวมไปถึงโปรแกรมต่าง ๆ ที่มีใน AppleTV ก็ทำให้ TV ธรรมดากลายเป็น Internet TV ไปทันทีก่อนที่จะมี Internet TV ขายในท้องตลาด นั่นหมายถึงบริการต่าง ๆ ที่ทางแอ๊ปเปิ้ลจัดให้ ไม่ว่าจะเป็น Youtube หรือ Vimeo จะเห็นว่าทางแอ๊ปเปิ้ลไม่ได้จัดให้มีการใช้ browser ผ่าน AppleTV ซึ่งผมเห็นด้วยเพราะจากประสบการณ์ Jailbreak เพื่อลองใช้พบว่ามันไม่สนุกเอาเสียเลย และเมื่อการใช้ remote ในการเล่น Youtube บน TV เป็นเรื่องลำบาก เพราะการพิมพ์และค้นหา Youtube ด้วย remote control ตัวเล็ก ๆ มันยุ่งยาก ผมก็ยังสามารถยิงทุกอย่างที่ต้องการออก TV ได้ผ่านระบบ Airplay ไม่ว่าจะเป็นหน้าจอของ Macbook Air หรือ Youtube จาก iPod touch ที่ทำการค้นหาและควบคุมได้ง่ายกว่า ผมนั่งดู Tour de France ในปีที่ผ่านมาด้วยระบบยิงจาก TV app บน iPod touch ยิงผ่าน AppleTV ไปออกบนทีวีมาแล้วทั้งการแข่งขัน รวมไปถึงการถ่ายทอด Ironman World Championship ผ่าน Youtube เต็ม ๆ ชั่วโมงอีกด้วย (Airplay TV Ad)

apple-appletv12-channels-lg

ระบบนิเวศน์นี้ดึงผมเข้าไปลึกมากขึ้น และเมื่อเทคโนโลยีของ iPad เริ่มสเถียรผมจึงจัดหา iPad 2 เข้ามาในระบบอีกสองเครื่องเป็นของผมกับภรรยา เครื่องแรกเป็นของขวัญวันเกิดจากแม่ผมเอง และอีกเครื่องผมจัดให้ภรรยา ในขณะที่ผมพยายามนำมาหาศักยภาพของการใช้เป็นเครื่องมือการสอน หนังสือและแมกกาซีนอิเลคโทรนิก ภรรยาผมใช้มันเป็น Internet Portal (iPad TV Ad) แน่นอนว่าอุปกรณ์ทุกอย่างถูก Backup ลงบน iMac ซึ่งเคยถูกฟื้นชีพมาหลายครั้งจากความเสียหายที่เกิดขึ้นกับ iPad 2 ของเราถึงสองสามครา ยิ่งไปกว่านั้นการ Backup นี้เกิดขึ้นอัตโนมัติผ่าน Wifi เมื่อมีการ charge เครื่องโดยไม่จำเป็นต้องนำไปต่อเข้ากับ iMac เครื่องแม่เลย เมื่ออุปกรณ์เริ่มหลากหลายขึ้น และมีผู้ใช้ในระบบเพิ่มขึ้นในบ้านผมทำให้ผมต้องตัดสินใจอีกครั้ง ผมเลือกที่จะใช้ AppleID สองบัญชีเหมือนเดิมคือบัญชีประเทศไทย และบัญชีอเมริกาโดยให้บัญชีประเทศไทยเป็นตัวแม่ และผมกับภรรยาใช้บัญชีร่วมกัน ซึ่งทางแอ๊ปเปิ้ลอนุญาติให้หนึ่ง AppleID รองรับอุปกรณ์ได้จำนวนมากกว่าที่เงินของผมจะจัดหาได้เกินข้อจำกัดนี้ และมูลค่าเพิ่มของ AppleID นี้ก็มีมูลค่าสูงขึ้นเมื่อระบบ app store อนุญาติให้ app ทุกตัวที่ซื้อผ่าน app store สามารถลงในอุปกรณ์ทุก ๆ ตัวที่ใช้ appleID เดียวกันได้ และในอุปกรณ์ตัวเดียวกันยังสามารถสลับ AppleID ไปมาได้อย่างไม่จำกัด ดังนั้นในเวลานี้ผมจึงสามารถซื้อ app ใด ๆ แล้วลงในเครื่องใด ๆ ของผมที่มีก็ได้ ลบเมื่อไร จะลงใหม่เมื่อไรก็ได้ผ่านระบบ Cloud ที่จัดตั้งไว้ เมื่อรวมกับอุปกรณ์ของน้องชายของผมแล้ว การซื้อ app แล้วแบ่งกันใช้มันคุ้มค่ามากจริง ๆ

ipad-2_

การตัดสินใจใช้ appleID เดียวกันของผมกับภรรยา ทำให้ผมจัดการระบบ IT ภายในบ้านง่ายขึ้น นอกจากนี้ผมยังใช้บริการ iCloud ของ Contact Calender Notes ร่วมกันในทุก ๆ อุปกรณ์ ทำให้เรามีข้อมูลนี้เพียงชุดเดียวเป็นของครอบครัว ผมสามารถค้นหาเบอร์ของเพื่อนภรรยา หรือภรรยาสามารถค้นหาเบอร์บริษัทที่ผมต้องการติดต่อให้ผมได้ รวมไปถึงตารางเวลาการทำงานของเราทั้งสองคนก็ใช้ร่วมกัน ไม่ว่าใครถืออุปกรณ์ตัวไหนอยู่เราก็ค้นได้ทั้งสิ้น สุดท้ายบริการที่เราใช้งานบ่อยที่สุดแต่มีการกล่าวถึงน้อยที่สุดก็คือ Photostream ซึ่งเป็นการนำรูปที่เราถ่ายในอุปกรณ์ต่าง ๆ ขึ้นในระบบ Cloud ทั้งจากการถ่ายรูปด้วยอุปกรณ์ และจากการนำรูปเข้าโปรแกรมจัดการรูปอย่าง iPhoto หรือ Aperture นั่นหมายความว่าไม่ว่าผมหรือภรรยาจะถ่ายรูปที่ไหน เมื่อไร ด้วยเครื่องมือใด ๆ ก็ตาม ในทุก ๆ อุปกรณ์ของเราจะมีรูปภาพเหล่านั้น 1000 รูปสุดท้ายรอให้เราได้ใช้อยู่เสมอ ซึ่งการใช้งานของภรรยาของผมมักจะเป็นการนำไปโพสบน Facebook โดยใช้รูปที่อาจจะถ่ายมาจากกล้องไลก้าของผม หรือ iPod ผ่านจาก iPad ของภรรยาที่เป็นเครื่องมือหลักของเขา ผมเองก็มักจะนำรูปใน Photostream เหล่านี้ที่ผมไม่ได้เป็นคนถ่ายเอง ซึ่งอาจจะมาจากการถ่ายรูปด้วย iPad ของภรรยาขณะที่เลี้ยงลูกอยู่ที่บ้าน มาใส่ใน Instagram app หลักที่ผมชอบใช้ในการแชร์รูปภาพ บริการดังกล่าวนี้ทำให้รู้สึกว่าการถ่ายรูปเป็นเรื่องสนุกสนาน และการส่งผ่านข้อมูลภายในครอบครัวเป็นสิ่งที่ Seamless มากขึ้นเป็นอย่างมาก ไม่มีคำว่ารูปในกล้องเธอ รูปในกล้องฉัน มีเพียงแต่รูปที่ถ่ายเมื่อไรเพียงเท่านั้น

iPhone5_0571_large_verge_medium_landscape

และเมื่อถึงเวลาที่ผมต้องจัดหาโทรศัพย์มือถือเครื่องใหม่ ผมจึงไม่ลังเลที่จะเลือกใช้ iPhone ซึ่งในเวลานั้นอยู่ในรุ่น iPhone 4s นับว่าผมไม่ได้เป็น early adopter แต่อย่างใดเพราะในทุก ๆ อุปกรณ์ที่ผมเลือกใช้ ผมได้รอให้การพัฒนาของอุปกรณ์ดังกล่าวอยู่ในระดับที่เริ่มคงตัวแล้วทั้งนั้น ในปัจจุบันผมจึงมีอุปกรณ์ Apple ที่หลากหลายพอสมควร แม้ว่าจะไม่ได้จัดหาเมื่อออกใหม่ล่าสุด และไม่ได้มีการอัปเกรดตามเลยก็ตาม แต่เมื่อใครได้เห็นระบบนิเวศน์ของผมแล้วก็อดที่จะนึกไม่ได้ว่าผมเป็นสาวกตัวยงของสตีฟ จ๊อป การมี iPhone 4s ทำให้ผมถลำลึกลงไปในระบบนิเวศน์นี้อย่างยากที่จะถอนตัวได้ มือถือที่ติดตัวอยู่ตลอดเวลา สามารถค้นหาทุกอย่างบนอินเตอร์เนทได้ มีระบบ Cloud ที่ดูแล Contact Calendar Notes ที่แชร์ร่วมกับครอบครัว ผ่านอุปกรณ์อื่น ๆ ที่มี ระบบ Backup ทำให้มั่นใจว่านอกจากข้อมูลบน Cloud จะปลอดภัย 100% แล้วข้อมูลที่เก็บไว้ในอุปกรณ์ชิ้นต่าง ๆ ก็จะยังถูกเก็บไว้เป็นอย่างดี พร้อมทั้งการปกป้องอีกชั้นด้วย Time Machine app ทุกอย่างที่มีสามารถแชร์ไดักับทุกอุปกรณ์ที่มีทั้งในอดีตและอนาคต รูปถ่ายทั้งหมดของครอบครัวไม่ว่าจะถ่ายด้วยวิธีใดก็ตามจะถูกเก็บบน ​iMac และแชร์ผ่าน Cloud ที่ใครในครอบครัวสามารถเข้ามาหยิบใช้ได้โดยอัตโนมัติ ผ่านทุกอุปกรณ์ที่มี ระบบนี้ทำให้ค่าใช้จ่ายในการออกจากระบบมันแพงมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่า Sumsung หรือ Nokia จะมาด้วยมุขใด ๆ คงยากที่จะทะลวงเข้าสู่ระบบนิเวศน์ที่ผมเป็นอยู่ได้แล้ว ผมไม่สามารถนึกภาพได้อีกแล้วว่า Contact ของผมจะไม่ถูกปรับปรุงไปทุก ๆ อุปกรณ์เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงที่อุปกรณ์ใดอุปกรณ์หนึ่ง การ Backup ข้อมูลและโปรแกรม app ที่สะสมไว้ ความสามารถในการใช้เป็น Remote ในการเล่น Airplay บังคับ AppleTV นี่ละมั้งที่เรียกว่าสาวก ผมคิดว่าไม่ว่าใครก็ตามถ้าคิดจะ penetrate เข้าสู่ The Matrix ไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันที่ features ที่ดูแล้วก็เป็นเพียงของเล่นอวดสาวเท่านั้นเอง

หนังสืออิเลคโทรนิค : Replacement or Supplement

ตั้งแต่วันแรกที่อเมซอนแนะนำหนังสืออิเลคโทรนิคเข้าสู่ตลาด แอปเปิ้ลตามมาด้วยไอแพด ผมก็ได้แต่สงสัยว่าความรู้สึกในการอ่านหนังสือ หรือแมกกาซีนจากอุปกรณ์แห่งโลกอนาคตจะเป็นเช่นไร ในฐานะที่เป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือเป็นชีวิตจิตใจ ทั้งแมกกาซีนและหนังสือ แมกกาซีนส่วนมากผมจะซื้อหนังสือแต่งบ้าน หนังสือ Lifestyle เช่น Wallpaper, A Day และอื่น ๆ อีกมากมาย โดยส่วนใหญ่ดูรูป อ่านบ้างเล็กน้อย ส่วนหนังสือส่วนใหญ่ก็เป็นหนังสือกลุ่มที่เรียกว่า Non-Fiction 80% ของหนังสือที่ผมซื้อจะเป็นภาษาอังกฤษ และจำนวนมากเลยทีเดียวที่ผมสั่งซื้อจากอเมซอนนี่แหละส่งมาจากต่างประเทศ ผมจึงคิดว่าอุปกรณ์ประเภทนี้น่าจะเหมาะสำหรับผมเป็นอย่างมาก

ตั้งแต่วันแรกที่เจ้า Kindle ออกสู่ตลาดผมก็ตัดสินใจในทันทีว่าผมต้องซื้อมัน แต่ผมมีข้อแม้ให้กับตัวเองว่าหนังสือลอทสุดท้ายที่ผมสั่งมาจากอเมซอน ผมต้องจัดการมันให้หมดเสียก่อน ผมจำไม่ได้แล้วว่ากี่เล่ม แต่คาดว่าประมาณ 4-5 เล่มน่าจะได้ แต่ไม่ทันที่ผมจะได้อ่านไปได้ถึงไหน ไอแพดก็ออกมาทำให้ชีวิตมันน่าปวดหัวมากยิ่งขึ้น พอผมอ่านจบทั้ง 4-5 เล่มแล้วผมจะถอยอะไรดีล่ะ ผมมีโอกาสได้แอบเห็นหน้าจอของ Kindle ของฝรั่งที่ดูแล้วทึ่งจริง ๆ ส่วนไอแพดก็สามารถเข้าไปลูบ ๆ คลำ ๆ ได้ที่ iStudio ทั่วไป ข้อแม้นั้นของผมก็ดูจะไม่หมดไปง่าย ๆ หนังสือกองนี้ช่างไม่สนุกเอาเสียเลย

แต่แล้วทุกสิ่งทุกอย่างก็เปลี่ยนไปเมื่อ คุณแม่ของผมซื้อไอแพด 2 ให้เป็นของขวัญ (สังเกตุว่าผมรอที่จะซื้อนานมาก ๆ จากวันแรกที่ Kindle เปิดตัวไปจนถึงวันที่ไอแพด 2 ออกจำหน่าย ) ในที่สุดผมก็มีโอกาสได้สำรวจความรู้สึกของผมที่มีต่อหนังสืออิเลคโทรนิคเสียที ผมรีบหาหนังสือทุกรูปแบบที่แจกฟรีมาอ่านดูบนไอแพด ความรู้สึกแรกก็แปลกใหม่และสนุกดีครับ แต่ความตื่นเต้นก็ผ่านไปอย่างรวดเร็ว ประโยชน์แรกที่ผมได้จากอุปกรณ์แห่งอนาคตชิ้นนี้ คือ Aps ที่ชื่อ Zinio ที่เรียกตัวเองว่า World Largest Newstand ผมใช้เพื่อซื้อหนังสือบ้านเล่มแรก สวยงามมากในราคาเพียงไม่เกินห้าร้อยบาท เมื่อเทียบกับแมคกาซีนหัวนอกที่ผมซื้อเป็นประจำที่ราคา 600-800 บาท ผมเริ่มเห็นประโยชน์ของเจ้าไอแพดนี่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังสือที่ผมซื้อมานี้น่าจะมีสนนราคาไม่ต่ำกว่าพันเลยทีเดียว

มันช่าง Ironic จริง ๆ ที่ผมได้มาเห็นประโยชน์อีกครั้งหนึ่งของเจ้าไอแพดเมื่อศาสดาจ๊อปเดินทางกลับสู่สวรรค์ ผม pre-order หนังสือ Steve Jobs ทันทีที่เขาเปิดให้จอง ด้วยราคาเพียง 300 กว่าบาทเท่านั้น ก่อนหน้านี้ผมได้ลองใช้ iBook ของแอ๊ปเปิ้ลบ้างแล้วแต่เป็นหนังสือคลาสสิคที่เขาแจกฟรี ผมยังไม่เจอหนังสืออะไรที่อยากอ่านใน iBook เลย ในขณะที่หนังสือ PDF ทั้งหมดที่ผมใส่เข้าไปก็ยังไม่ดึงดูดเพียงพอให้ผมอ่าน นอกจากการรวบรวมหนังสืออิเลคโทรนิคที่ผมมีทั้งหมดเอาไว้ในที่เดียวกัน รวมไปจนถึงหนังสือเล่มที่ pre-order นี้ที่มีแต่ Kindle Store เท่านั้นที่มี ในขณะที่ iBook ยังไม่มีให้เลือกซื้อ เมื่อเปรียบเทียบปริมาณหนังสือแล้ว Kindle Store มีให้เลือกมากมายกว่า iBook Store หลายขุมนัก โดยเฉพาะใครที่ไม่อ่านหนังสือนิยาย หรือ Best Seller อย่างผม iBook Store เรียกได้ว่าปิดกันไปเลย

ทันทีที่หนังสือ Steve Jobs ออกสู่ท้องตลาดมันก็ถูกส่งตรงมาที่ Kindle Aps ที่อยู่ในไอแพดในทันที แน่นอนว่าด้วยความสนใจในตัวศาสดาอย่างมหาศาล ประกอบกับฝีไม้ลายมือการเขียนของผู้เขียน และช่วงเวลาของ Steve Jobs ที่คาบเกี่ยวกับชีวิตของผมเอง การอ่านหนังสือเล่มแรกบนไอแพดเป็นไปอย่างรวดเร็ว ผมใช้เวลาว่างระหว่างวัน รวมไปถึงช่วงก่อนเข้านอนประมาณ  3-4 วันที่จะอ่านหนังสือเล่มหนาประมาณ  800 หน้าให้จบได้อย่างสนุกสนาน แน่นอนว่าฟังก์ชั่นในการไฮไลท์ และการที่ได้เห็นคนอื่น ๆ ไฮไลท์ในหลาย ๆ จุด ทั้งที่ตรงหรือไม่ตรงกับเรา มันเพิ่มความรู้สึกของอะไรบางอย่างคล้าย ๆ Book club ให้กับเราได้พอสมควร นอกเหนือจากนี้ระบบแวดล้อมอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้ การอ่านบนเจ้าไอแพดก็ถูกคิดมาแล้วอย่างดี ไม่ว่าการอ่านบนหน้าจอ LCD ที่สามารถเปลี่ยนสีกระดาษเป็นสีเหลืองนวล แทงตาน้อยลง และสามารถอ่านในเวลากลางคืนได้โดยไม่ต้องเปิดไฟ ความว่องไวในการเปิดหน้าย้อนกลับไปมา Dictionary ซึ่งแม้ว่าโดยปกติผมไม่ได้ใช้ ก็ดูจะมีประโยชน์ขึ้นมาทันทีเมื่อการใช้งานก็เพียงแค่เลือกคำที่ต้องการเปิดก็เท่านั้น ทั้งหมดทั้งสิ้นทำให้กระบวนการอื่นหนังสือบนไอแพด เป็นกระบวนการที่ค่อนข้างรื่นไหลเป็นธรรมชาติ ข้อเสียของความเป็นวัตถุที่จับต้องได้ หน้าปก กลิ่น สัมผัสถูกทดแทนด้วยความสะดวกอื่น ๆ ที่กล่าวไปแล้ว ผมถือว่าแทนกันได้เลยทีเดียว

เมื่อไม่นานมานี้ผมก็ยังได้ของขวัญวันเกิดล่วงหน้าจากน้องชาย เป็น Kindle Touch ตัวใหม่รุ่นที่มีโฆษณาพ่วงราคาย่อมเยา ขนาดกระทัดรัดมาเพิ่มอืกหนึ่งตัว เพื่อเป็นการเปรียบเทียบและศึกษาพฤติกรรมการอ่าน การใช้หนังสืออิเลคโทรนิคของผมเอง ผมจึงตัดสินใจที่จะสั่งหนังสือเล่มขนาดเดียวกันมาอีกหนึ่งเล่ม ชื่อหนังสือคือ Snowball ซึ่งเป็ชีวประวัติของ Warren Buffet อีกชายหนึ่งที่ผมค่อนข้างจะบูชาเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามจะเป็นการเปรียบเทียบที่ไม่สมน้ำสมเนื้อกันมากนัก ในขณะที่หนังสือเรื่อง Steve Jobs เขียนโดยนักเขียนฝีมือเยี่ยม ผู้เขียน Snowball ยังอายุน้อยและฝีมือการเขียนเทียบกันไม่ติด อีกทั้งการนำเสนออาจจะมีข้อจำกัดอยู่บ้างเนื่องจาก Warren Buffet ยังมีชีวิตอยู่ ผมเองซื้อหนังสือเล่มนี้มาตั้งแต่เริ่มออกซึ่งนานมากแล้ว หนังสือขนาดประมาณ 900 หน้า ราคาอยู๋ที่ประมาณ 990 บาทถ้าจำไม่ผิด ผมซื้ออีกเล่มในรูปแบบ Kindle ในราคาประมาณ 450 บาทถูกลงอย่างน้อยครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว เนื่องจากสไตล์การเขียนที่ค่อนข้างเยิ่นเย้อ และนำเสนอตัวละครที่เป็นตัวประกอบมากจนเกินเหตุจนจำกันไม่ไหว และขนาดของหนังสือที่หนาเกือบ ๆ สามน้ิว ผมจึงอ่านมันไปได้เพียงไม่ถึง 10% ทิ้งช่วงมาเป็นระยะเวลานานมาก การซื้อมาใหม่คราวนี้ก็คงเป็นการเริ่มต้นอ่านใหม่อีกครั้ง

สิ่งประทับใจอย่างแรก ไม่ต่างจากสิ่งแรกที่ผมเห็นใน Kindle นั่นก็คือ หน้าจอที่สมบูญแบบเป็นที่สุด เหมาะสำหรับการอ่านเป็นอย่างยิ่ง แม้ว่าจะไม่สามารถเปลี่ยนสีจากสีขาวไปเป็นสีเหลืองนวลอย่างไอแพดได้ แต่หน้าจอขาวอย่างที่เห็นนั้นอาจจะสบายตากว่าอ่านจากกระดาษสีขาวจริง ๆ เสียด้วยซ้ำ เนื่องจากการสะท้อนแสงที่ต่ำมากจนแทบจะสังเกตุไม่เห็น เป็นข้อได้เปรียบที่ถ้าไม่ใช้เอง อธิบายให้เห็นความสำคัญได้ยากมาก ๆ แม้แต่ผมซึ่งมีศักยภาพในการมองหน้าจอเป็นระยะเวลาต่อเนื่องมากกว่าสิบชั่วโมงต่อวัน ซึ่งการใช้คอมพิวเตอร์หรือไอแพดไม่ได้รบกวนกระบวนการทำงานของตาผมมากไปกว่าที่เป็นอยู่อย่างไรเลย ผมยังรู้สึกถึงความได้เปรียบอันมหาศาลของหน้าจอ Kindle อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ก็ต้องแลกกับความเฉื่อยชาในการตอบสนองของตัวเครื่อง ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะ CPU หรือระบบ touch ที่ค่อนข้างช้าและ unresponsive เมื่อชินกับการใช้งานไอแพดมาหลายเดือน การเปลี่ยนมาใช้ Kindle ก็ต้องปรับตัวกันพอสมควร การทำงานทุกอย่างกับ Kindle ต้องทำแบบเนิบ ๆ ค่อย ๆ เปลี่ยนหน้า ค่อย ๆ แตะแล้วไฮไลท์ เป็นต้น ความสามารถอื่น ๆ ของ Kindle เช่นการไฮไลท์แล้ว share การใช้ web browser ก็ค่อนข้างจะยุ่งยาก ช้าและทำให้ประสบการณ์ในการใช้ไม่บรรเทิงมากนัก อาจจะใช้เพื่อทดลองก็เพียงเท่านั้น popular highlight ก็ยังมีเหมือนกันกับฝั่งไอแพด แต่นี่อาจจะเป็นเพราะเป็นหนังสือ Kindle ที่สามารถอ่านได้ในหลาย ๆ ที่แบบไร้รอยต่อ

เมื่อมองโดยระบบแล้วผมคิดว่า Kindle เป็นระบบที่เวิร์คกว่า iBook ทั้งในเรื่องปริมาณหนังสือที่มีให้เลือก อิสระในการอ่านที่ไหน เมื่อไรด้วยอุปกรณ์ใด ๆ ก็ได้ มันทำให้ชีวิตคล้าย ๆ กับการพกหนังสือไปได้ทุกที่จริง ๆ ผมอาจจะอ่านที่หัวเตียงโดยไม่ได้เปิดไฟบนไอแพด แล้วมาอ่านต่อบนเครื่อง Kindle ในช่วงเช้าตอนออกไปทานอาหารเช้านอกบ้าน เนื่องจาก Kindle Touch เบาและพกสะดวกกว่าไอแพดหลายขุมอยู่ นอกจากนี้ผมจะยังสามารถมาเปิดของเครื่อง iMac ของผมเพื่อทำ research ถ้าต้องการได้อีกด้วย โดยอะไรก็ตามที่ผมเปลี่ยนแปลงบนเครื่องใดเครื่องหนึ่งก็จะถูก sync ไปยังเครื่องอื่น ๆ โดยอัตโนมัติ แต่อุปกรณ์ในการอ่านนั้นผมยังคิดว่า Kindle เองก็มีข้อดีของมัน ไอแพดเองมันก็มีข้อดีของมัน เนื่องจากมันเป็นอุปกรณ์คนละประเภทกัน เปรียบเทียบกันโดยตรงไม่ได้

ความพยายามของแอ๊ปเปิ้ลเองที่จะพัฒนาระบบของ iBook ไม่ว่าจะเป็น iTextbook ซึ่งเพิ่มฟังก์ชั่นของอุปกรณ์ช่วยเรียน เช่น การรวมไฮไลท์และโน๊ตไปเป็น Flashcard ใช้ช่วยในการทบทวน เป็นต้น ที่ผมดู potential แล้วก็สูงพอสมควร การแจก iBooks Author ฟรี ๆ รวมไปถึง Aps อื่น ๆ ที่ถูกออกแบบให้เป็น interactive book เช่น หนังสือเรื่อง Our Choice ของ Al Gore และหนังสือการ์ตูนเด็กอีกหลาย ๆ เล่ม ก็มีศักยภาพสูง แต่เท่าที่ผ่านมาผมยังไม่เจอหนังสือที่ผมสนใจจริง ๆ ไ่ม่ว่าจะเป็นฝั่ง iBook iTextbook หรือ Stand alone aps ทำให้ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ อย่างไรก็ตามระบบโดยรวมของ iTextbook iBooks Author iTunesU เป็นระบบที่น่าสนใจเป็นอย่างมากแต่น่าเสียดายประเทศไทยยังไม่สามารถใช้งานได้อย่างครบสูตร

ผ่านไป 3-4 วัน Kindle ได้ช่วยให้ผมอ่าน Snowball ได้เพิ่มขึ้นมาก แม้ว่าจะไม่สะดวกในการอ่านก่อนนอนโดยไม่เปิดไฟ แต่เนื่องจากความสะดวกในการหยิบจับและพกพา รวมไปถึงอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ที่ยาวเป็นหน่วยเดือน ทำให้ไม่ต้องเคยคิดเรื่อง recharge หนังสืออิเลคโทรนิคเล่มนี้เหมาะมากสำหรับคนรักการอ่านหนังสือ ในขณะที่ไอแพดมีศักยภาพ ความสามารถของเครื่องมากกว่ามากมาย แต่ด้วย Kindle Aps เราก็สามารถประยุกต์ใช้เพื่ออ่านหนังสือได้ อย่างไรก็ตาม iBook iBooks Author iTextbook รวมไปจนถึง interactive books เล่มใหม่ ๆ ที่ออกมาเรื่อย ๆ ก็อาจจะเปลี่ยนแปลงความต้องการของเราจากการอ่านหนังสือก็เป็นได้ แต่นั่นคงเป็นเรื่องในอนาคต เพราะสเน่ห์ในการอ่านหนังสือไม่ได้อยู่เพียงภาพประกอบสวยงาม ภาพเคลื่อนไหว แต่หากอยู่บนความสามารถในการจินตนาการของผู้อ่าน บางครั้งภาพที่สร้างขึ้นมาเพื่อประกอบมิอาจเทียบกับภาพที่ถูกสร้างโดยจินตนาการในใจของผู้อ่านได้

มีอีกส่วนหนึ่งที่ผมยังไม่ได้แตะมากคือส่วนแมกกาซีน เนื่องจากผมชอบอ่านแมกกาซีนแต่งบ้าน ศิลปะ และแมกกาซีนหัวนอกอีกจำนวนหนึ่ง แม้ว่า Kindle จะมีแมกกาซีนขายแต่ความคิดที่จะซื้อแมกกาซีนสีขาวดำมาอ่านบน Kindle มันไม่ค่อยน่าพิศมัยมากนัก Zinio เป็นร้านที่มีแมกกาซีนให้เลือกมากมาย ผมสมัครสมาชิกหนังสือบ้านเมืองนอกเล่มหนึ่งชื่อว่า Dwell ในราคาปีละร้อยกว่าบาท คุ้มค่าจริง ๆ แม้ว่าเอาเข้าจริง ๆ จะไม่ค่อยได้เปิดอ่านในไอแพดเสียเท่าไร ส่วน DTAC ก็แจกแมกกาซีนของอัมรินทร์ฟรีจำนวนมหาศาล หัวละ  6-7 เดือนป่านนี้ยังโหลดกันไม่หมด อย่างไรก็ตามผมพบว่าการอ่านแมกกาซีนบนไอแพดไม่สามารถทดแทนการเปิดหน้าหนังสือด้วยมือ ผมก็เลยยังแวะร้านหนังสือเพื่อหยิบหนังสือแมกกาซีนต่าง ๆ มาเปิดเล่นเป็นครั้งคราว แต่ที่จะมีประโยชน์จริง ๆ คือเมื่อเจอบทความบางบทความในแมกกาซีนหัวนอกที่สนใจการสั่งซื้อผ่าน Newstand บนไอแพดจะประหยัดกว่าซื้อเล่มจริงเกือบ ๆ สองเท่า

สุดท้ายสรุปว่าไอแพด และ Kindle เป็นคนละเครื่องกัน มีไว้ทั้งสองอันก็มีประโยชน์ หรือหาประโยชน์ได้ทั้งนั้น แม้ว่าทั้งสองเครื่องผมจะได้มาเป็นของขวัญ ถ้าหายไปทั้งสองเครื่องผมคงซื้อเพียงไอแพดกลับคืนมา แม้ว่า Kindle จะมีราคาเพียง 3-4000 เท่านั้น ผมก็คงไม่ซื้อชดเชย เพราะผมเองใช้งานอีกหลายฟังก์ชั่นของไอแพดที่ไม่ใช่การอ่านหนังสือ ส่วนการอ่านหนังสือบน Kindle นั้นผมคิดว่าตัวระบบมันดีกว่าตัวอุปกรณ์ไปมาก การมีอุปกรณ์ติดบ้านนั้นถ้าหากคุณเป็นคนชอบอ่านหนังสือทั้งไอแพดและ Kindle เป็นอุปกรณ์ที่เสริมกันได้ดี ไม่ใช่ว่ามีเครื่องใดแล้วอีกเครื่องจะถูกทิ้งให้เหงา แต่นั่นอยู่บนพื้นฐานของความชอบอ่านหนังสือของคุณเอง

Living with Steve #1 : Data Security.

ผมก็เหมือนกับใครหลาย ๆ คนที่ก้าวเข้าสู่โลกของแอปเปิ้ลด้วยอุปกรณ์ขนาดพกพา โดยประมาณกึ่งหนึ่งเข้าผ่านทาง iPod อีกประมาณกึ่งหนึ่งเข้าผ่านทาง iPhone และอีกเสี้ยวหนึ่งเข้าผ่านทาง MacBook หลาย ๆ คนเมื่อข้ามเข้าสู่โลกของแอปเปิ้ลแล้ว มากกว่า 80% ใช้ชีวิตที่เหลือในโลกกับอุปกรณ์ประเภทนั้น ๆ ของแอปเปิ้ล ประเมินว่ามากกว่า 50% ถลำลึกเข้าไปในโลกอื่น ๆ ของแอปเปิ้ลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อไม่นานมานี้ผมก็มีโอกาสได้อ่านบทความสั้น ๆ ที่พยายามจัดอันดับมือถือในปัจจุบันซึ่ง บางลิสไม่มี iPhone รุ่นใด ๆ อยู่ในลิสเลย หรือ เมื่อมือถือค่ายอื่นอยู่ในอันดับที่สูงกว่า iPhone 4s ที่เพิ่งเปิดตัวไปได้ไม่นานนัก ทำให้เกิดกระบวนการ link share ment กันอย่างสะใจจากสาวกค่ายอื่น ๆ ที่รอโอกาสนี้มานานแสนนาน ทำให้ผมคิดว่าเขาเหล่านั้น หรือแม้กระทั่งอีก 50% ที่เหลือของผู้ใช้แอปเปิ้ลที่ยังไม่มีโอกาสก้าวถลำสู่โลกของแอปเปิ้ลอย่างเต็มตัวจะเข้าใจสิ่งที่ Steve Jobs ได้ออกแบบไว้หรือไม่

แน่นอนว่าผลิตภัณฑ์ของแอปเปิ้ลเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีรายละเอียดสูงเริ่มตั้งแต่การออกแบบ ฟังก์ชั่นการใช้งาน ไปจนถึงบรรจุภัณฑ์ เรื่อยไปจนถึงประสบการณ์การแกะกล่อง ที่มีน้อยนักที่เราจะได้รับความใส่ใจของผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ในรายละเอียดระดับลึกซึ้งอย่างเช่นที่ Steve Jobs ทุ่มเทให้กับลูกค้าของเขา การนำเพียง ฟังก์ชั่นการใช้งานเพียงอย่างเดียวเพื่อมาใช้ในการจัดอันดับนั้นย่อมขาดรายละเอียดอีกหลายภาคส่วน และเป็นที่น่าเสียดายที่เราจะทิ้งภาคส่วนต่าง ๆ เหล่านั้นไป เพราะนั่นเป็นเพียงน้ำจิ้ม main course ที่ Steve ได้ออกแบบไว้มันมากไปกว่านั้นอีกมากมายนัก โปรดติดตาม

แม้ว่าผลิตภัณฑ์ของแอปเปิ้ลจะสามารถทำงานได้เองโดยเกือบจะไม่ต้องพึ่งพาอุปกรณ์อื่น ๆ ล่าสุดด้วย iOS5 แอปเปิ้ลก็ประกาศ PC Free อย่างไรก็ตามโปรดักส์ไลน์ทั้งหมดถูกออกแบบให้ใช้งานร่วมกันเป็นระบบนิเวศน์ทางอิเลคโทรนิคที่ถูกวางตำแหน่งเพื่อเสริมกันอย่างที่ไม่มีผู้ผลิตรายใด ๆ มองเห็น หรือมีศักยภาพเพียงพอที่จะทำได้ ผลิตภัณฑ์ของแอปเปิ้ลของแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มตามลักษณะการใช้งาน ได้แก่ Mac, iPod, iPad, iPhone และ AppleTV ซึ่งในปัจจุบันขนาดของแต่ละกลุ่มไม่สมดุลย์กันเท่าไรนัก ทั้งในแง่ของความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ ปริมาณการขาย ความสามารถในการทำกำไร และความใส่ใจของแอปเปิ้ลเองต่อกลุ่มนั้น ๆ นอกจากนี้กลุ่มของผลิตภัณฑ์ที่ไม่สามารถซื้อขายได้ แต่เสริมสร้างประสบการณ์การใช้งานของระบบนิเวศน์ ได้แก่ Apple Store, iTunes Store, App store ไปจนถึง iBook Store ซึ่งที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดได้เป็นตัวกำหนดมาตรฐานที่สำคัญของตลาด ที่ในปัจจุบันยังไม่มีใครสามารถสร้างสิ่งใด ๆ เข้ามาเทียบเคียงได้เลย สุดท้ายก็เป็นส่วนของ Software หลากหลายตัวที่แอปเปิ้ลพัฒนาขึ้นมาเพื่อแสดงดึงศักยภาพของระบบนิเวศน์ที่ว่านี้ออกมาใช้งานอย่างสูงที่สุด เริ่มจากระบบปฏิบัติการไปจนถึง iWork

ในความเป็นจริง ผลิตภัณฑ์แอปเปิ้ล ถูกออกแบบให้ทำงานร่วมกัน โดยมี Home based Mac ทำหน้าที่เป็น digital hub ทำหน้าที่เป็นหัวใจของระบบนิเวศน์ ซึ่งมีให้เลือกสามขนาดตามลักษณะการใช้งานของผู้ใช้ตั้งแต่ MacPro, iMac, Mac Mini  หัวใจดวงนี้มีหน้าที่ดูแลระบบข้อมูลทั้งหมดที่ไหลเวียนอยู่บนเครื่องมือแอปเปิ้ลที่คุณมี ทำหน้าที่ back up เป็นศูนย์กลางในการ syncronize ข้อมูลทั้งหมดตั้งแต่ address, calendar ไปจนถึง movie และ music ในอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่คุณมีอยู่ทั้งหมดให้เป็นข้อมูลชุดเดียวกัน หรือเป็นไปอย่างที่คุณต้องการ

ระบบความปลอดภัยของข้อมูลที่ว่านี้ จะถูกดูแลอีกชั้นหนึ่งผ่านโปรแกรมที่มาพร้อมกับ OSX Lion ที่เรียกว่า Time Machine เมื่อใช้ร่วมกับ feature ใหม่ที่เรียกว่า Versions ในโปรแกรมหลาย ๆ ตัวของแอปเปิ้ล ที่เก็บทุกการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับไฟล์ของคุณ ในทุกรูปแบบเหมือนมีผ้าคลุมกาลเวลาของโดเรมอน การ save เป็นเรื่องที่เชยมากในโลกของแอปเปิ้ล คุณสามารถจะปิดเครื่อง ปิดโปรแกรม ดึงปลั๊ก ฟ้าผ่า ไฟดับ กลับมาก็จะพบกับสิ่งที่คุณทิ้งไว้อยู่เสมอ การสูญเสียข้อมูลของคุณแทบจะกลายเป็นเรื่องอดีตไปในทันที แน่นอนว่าเพื่อให้ integration ของระบบนิเวศน์นี้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด Time Capsule ได้ถูกวางตัวมาให้ทำหน้าที่นี้ Wireless Network Attatched Storage & Router ถ้าจะต้องอธิบายหน้าที่ของเจ้า Time Capsule มันก็คงจะมีชื่อยาว ๆ ทำนองนั้น ร่วมกับ Time Machine เจ้า Time Capsule จะทำให้คำว่า Backup เป็นสิ่งที่ล้าสมัยไปในทันที เนื่องจากข้อมูลทั้งหมดใน digital hub ของคุณจะถูกเก็บเอาไว้อย่างเป็นระบบทุกชั่วโมงใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ทุกวันในสัปดาห์ที่ผ่านมา ทุกสัปดาห์ในหนึ่งเดือนท่ี่ผ่านมา ทั้งหมดทั้งสิ้นเป็นไปโดยอัตโนมัติ

Time capsule ทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้กับ Mac Mobile ของคุณด้วยแบบ seamless ไร้สาย ไม่ว่าคุณจะเป็น power mobile หรือ ligther mobile ด้วย Macbook Pro หรือ Macbook Air แม้กระทั่ง Vintage ไปกับ Original Macbook โปรแกรม Time machine ใน Mac Mobile ของคุณก็จะสามารถคุยไร้สายกับ Time Capsule เพื่อเก็บรักษาข้อมูลในลักษณะเดียวกันกับ digital hub  ของคุณทันทีที่ Mac Mobile ของคุณเข้าไปอยู่ในวง wifi เดียวกันกับ Time capsule

ส่วนอุปกรณ์กลุ่มอื่น ๆ ที่เหลือที่อยู่บนระบบปฏิบัติการ iOS การเปลี่ยนแปลงไปสู่ iOS5 เมื่อไม่นานที่ผ่านมานี้ ก็ทำให้กระบวนการที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นเป็นไปอย่าง seamless ไร้สายตามที่ควรจะเป็น มันน่าคิดจริง ๆ ว่าถ้าไม่ใช่เพราะ Steve Jobs จะมีใครดื้อรั้นพอที่จะให้เกิดระบบนิเวศน์ของการดูแลข้อมูลที่ไร้รอยต่อเช่นนี้ ถ้าคุณเลือกที่จะ Backup อุปกรณ์ iOS ของคุณผ่าน Mac แทนที่จะเป็น iCloud (ที่เราจะค่อยคุยกันต่อไป) และเลือกที่จะให้มีการ sync wirelessly กับ iTunes บน digital hub ของคุณ หรือที่เรียกว่า Wifi Sync เท่านี้ คำว่า Data Security ก็กลายเป็นเรื่องตลกที่คุยกันในอดีตเท่านั้น

อย่างไรก็ตามทิศทางในอนาคตที่แอปเปิ้ลจะย้าย digital hub นี้ไปอยู่บน iCould ก็เริ่มชัดเจนขึ้น แต่ ณ เวลานี้ยังค่อนข้างจะไกลจากความเป็นจริง เนื่องจากความไม่โปร่งใสเองของ iCould ขนาดที่จำกัดทำให้สามารถเก็บได้เพียงรูปหนึ่งพันรูป ข้อมูลจำพวก address, calendar ก็เท่านั้น พื้นที่ 5Gb ฟรีนั้นแทบจะไม่สามารถใช้งานอื่น ๆ ได้จริง ยกเว้นการเก็บข้อมูล docement ที่สามารถทำให้การทำงาน across platform ของคุณเป็นไปได้อย่างง่ายดาย ก็ยังไม่ค่อยจะเข้าท่าเท่าไรนักเพราะ document เหล่านั้นถูกจำกัดอยู่เพียง document ในระบบ iWork ของแอปเปิ้ลเพียงอย่างเดียว เรื่องระบบ Cloud นั้นแอปเปิ้ลมาทีหลัง ทำให้ระบบเมล์ ระบบ address, calendar เจ้าใหญ่รายอื่น ๆ ที่มาก่อนอย่าง Google ทำได้ดีกว่า ในขณะเดียวกันการแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่าน Cloud นั้น ผู้เล่นอย่าง Dropbox ก็ทำได้ดีกว่า หลายเท่าเลยทีเดียว ในปัจจุบันการใช้  Homebased Mac เป็น digital hub ยังเป็นสิ่งจำเป็นในการสร้างระบบนิเวศน์พิเศษนี้

ผมเห็นว่าด้วยระบบนิเวศน์ที่ว่านี้เพียงอย่างเดียว ก็ทำให้ไม่ว่าจะ ranking อย่างไร ติดหรือไม่ติดลิสใด ๆ อุปกรณ์จากค่ายไหน ๆ ก็ไม่เข้าใกล้สิ่งที่ผมได้เล่ามาให้ฟังนี้ได้เลยแม้แต่น้อย แต่ค่าใช้จ่ายในการสร้างระบบนิเวศน์ที่ว่านี้ เป็นข้อจำกัดที่สำคัญที่จะทำให้มีน้อยคนนักที่จะมีโอกาสได้สัมผัส หรือถ้าคุณสามารถรอจน iCloud สามารถใช้งานได้จริง ๆ ค่าใช้จ่ายนี้ก็จะลดลงอย่างน้อยครึ่งแสนกันเลยทีเดียว และวันนั้นหลาย ๆ คนจะเข้าใจว่าผมกำลังพูดถึงอะไร

Walking the path!

หกโมงเช้าผมงัวเงียขึ้นมาเพื่อกดปุ่ม snooze บน iPhone 4s เพื่อจะขอต่อเวลานอนอีกสักห้านาที แต่แล้วก็ต้องเปลี่ยนใจเมื่อเห็นเจ้าตัวเล็กลูก ๆ ของผมเริ่มขยับตัว ผมจึงเปลื่ยนใจกดปุ่ม Awake! เสียงต้อนรับเบา ๆ จากมือถือ “Good morning, you have logged 5 hours and 47 minutes for the night” ผมก้าวขึ้นชั่งน้ำหนักเพื่อเก็บน้ำหนักตัวที่แม่นยำที่สุดของวัน เมื่อกระเพาะอาหารได้ทำหน้าที่ของมันอย่างหนักมาตลอดทั้งคืน 57.8 Kg Fat 13% แล้วรี่ไปล้างหน้าล้างตา ระหว่างที่ผมแปรงฟันอยู่นั้น ข้อมูลการนอน และน้ำหนักตัวพร้อมปริมาณไขมัน กำลังไหลผ่าน Wifi และคืบคลานเข้าสู่อินเตอร์เนท ไหลเข้าไปเก็บอยู่ในเซิร์ฟเวอร์เครื่องใดเครื่องหนึ่งที่อาจจะอยู่ห่างจากห้องนอนของผมกว่า 10,000 กิโลเมตร

ผมค่อย ๆ บรรจงแต่งชุดวิ่งที่เพิ่งได้ลองใช้มาไม่นานนักของอดิดาส ที่มีส่วนผสมของเส้นใย silver เพื่อช่วยในการถ่ายเทความร้อนออกจากร่างกาย ผมว่าเป็นไปไม่ได้หรอก ผมซื้อมันมาเพียงเพราะสีส้มสะท้อนแสง น่าจะทำให้รถราต่าง ๆ เห็นผมได้หลาย ๆ กิโลล่วงหน้า วันนี้ตามตารางซ้อมของผมคือวิ่งสบาย ๆ เป็นเวลา 1 ชั่วโมง ซึ่งน่าจะกินระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร หลังจากใส่รองเท้า Fivefingers Bikila เทรนด์ล่าสุดจากออสเตรเลีย ที่ผมต้องแสวงหามาอย่างยากลำบาก เพียงเพื่อจะมีโอกาสกลับมาวิ่งอีกครั้งหลังจากถูกโรคกระดูกสันหลังเสื่อมเล่นงานจนต้องเลิกวิ่งไปนานกว่า 5 ปี เรียบร้อยแล้วผมก็คว้าปลอกแขนขนาดเทอะทะแล้วยัด iPhone 4s เข้าไปอย่างทุลักทุเล เหลือบดูนาฬิกาบอกเวลา 6:30 น. ผมคิดในใจ “หนึ่งชั่วโมงโดยไม่ได้กินน้ำเลย จะทำเวลาได้เท่าไรกัน”

ผมหันไปเปิด Runkeeper และบอกกับโค้ชของผมว่าช่วยดู pace ให้ผมด้วยนะ เป้าหมาย 5:30 นาทีต่อกิโลเมตร ก่อนที่จะกด start และออกวิ่งไปตามถนนสายเอเซียในทันที คร่ำคิดถึงเสียงเพลงที่กำลังกรอกหูระหว่างวิ่ง ใจหนึ่งก็ยินดีกับเสียงเพลงที่บดบังเสียงรถยนต์ที่วิ่งไปมา อีกใจก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่าจังหวะเพลงของ Oscar Peterson มันช้ากว่า pace เป้าหมายของผมมากเกินไปรึเปล่า ในขณะเดียวกันที่หน้า Wall บน Facebook ของผม ก็มี notification ให้เพื่อน ๆ ทางกายภาพที่กระจายกันอยู่ทั่วโลก ได้รู้ว่าเช้านี้ผมได้ออกกำลังกายอีกวัน การประกาศได้หลาย ๆ คนรับรู้กิจกรรมที่รบกวนเวลานอนของผมนั้น เป็นกลไกสำคัญอย่างหนึ่งที่คอยผลักดันให้ผมตื่นขึ้นมาได้ในวันต่อ ๆ ไป

ผมวิ่งผ่าน Big C สาขาที่ขายดีที่สุดในประเทศ ก่อนจะไปกลับตัวที่หน้าบ้านที่กำลังจะเป็นบ้านที่ใหญ่ที่สุดหลังหนึ่งในปัตตานีด้วยพื้นที่ใช้สอยกว่า 2,000 ตารางเมตร โค้ชก็ส่งเสียงเตือนผมมาแบบเรียบ ๆ “You are behind your target pace 45 seconds” อืม Oscar Peterson ทำให้เราวิ่งช้าจริง ๆ เวลาผ่านไปเพียง 15 นาที เรายังทำความเร็วเพิ่มได้อีก ผมหาข้ออ้างในใจ เกือบ 7 โมงเช้าแล้ว ลูก ๆ ของผมคงตื่นแล้ว จะมีใครแวะเข้ามาดูว่าผมอยู่ที่ไหนรึเปล่าเนี่ย Runkeeper คุยกับระบบดาวเทียม GPS ระบุพิกัดของผม และส่งตำแหน่งปัจจุบันแบบสด ๆ ไปในหน้าเวปของผม ที่ลูก ๆ สามารถเข้ามาดูได้ตลอดเวลา พร้อมทั้งใช้ข้อมูลในการคำนวณระยะทาง ความเร็ว และ pace ส่งให้โค้ชคอยเตือนผมเหมือนเมื่อเสี้่ยววินาทีที่ผ่านมา

เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็วผมวิ่งข้ามทางม้าลายสุดท้าย จากนี้เป็นทางตรงเข้าสู่โรงแรมซีเอสปัตตานี บ้านผมอยู่ที่นั่น “50 minutes distance 8.87 kilometers average pace 5:48 minutes. You are behind your target pace 18 seconds” ไอ๊หยา จะไปทันได้ไงเนี่ย ผมคิดในใจ เสียงเพลงเปลี่ยนไปเป็น Black Eyes Peas จังหวะกระชับ แต่ขาผมไม่อยากทำตามคำสั่งผมอีกต่อไป หิวน้ำมาก ๆ ร่างกายผมบอกอย่างนั้น ผมค่อย ๆ เลี้ยวเข้าสู่บริเวณหมู่บ้านออมทอง 55 minutes เสียงสวรรค์จาก iPhone 4s ผมตัดสินใจเดินเพื่อ warm down และไม่ได้ยินอะไรต่อ ๆ ไปที่โค้ชพยายามบอกผมต่อจากนั้น ในที่สุด “1 hour” เสียงแว่ว ที่ผมรอคอย ผมรีบถอดปลอกแขน และเอื้อมไปกดปุ่ม Stop ที่หน้า app Runkeeper พยายามไม่ฟังสรุปผลที่พยายามเตือนผมว่า 6:02 นาทีต่อกิโลเมตรนะที่ผมทำได้ ในขณะเดียวกัน ผมก็พิมพ์ข้อมูลเพื่อบันทึกการออกกำลังกายวันนี้ “1:47 half marathon. I’m after you.” เป้าหมายที่แท้จริงของผม 5:30 เป็นระยะทาง 21 กิโลเมตร
ผมขยับขาเล็ก ๆ น้อย ๆ ก่อนที่จะเปลี่ยนไปใช้ app Fleetlyทันทีที่เปิดขึ้นมาก็ได้ชื่นใจ “วันนี้คุณได้ 38 คะแนน ตอนนี้คุณแซง Amber C. ในตารางคะแนนรวมแล้ว” ถ้าหากว่าผมจะแปลเป็นภาษาไทย นั่นหมายความว่าข้อมูลจาก Runkeeper ส่งเข้าไปถึง Fleetly เรียบร้อยแล้ว ผมเลือก Stretching Exercise แล้วทำตามรายการที่มีมาให้ เมื่อเสร็จสิ้น Fleetly ให้คะแนนผมเพิ่มอีกหนึ่งคะแนน ด้วยความพึงพอใจ ผมหยิบ iPhone 4s เข้าบ้าน แล้วมุ่งหน้าไปอาบน้ำ

เมื่อแต่งตัวเสร็จเรียบร้อย ก็ลงมาหน้าโต๊ะทำงาน เพื่อที่จะเห็น 6 updates ที่ไอคอน Facebook ของผม เพื่อน ๆ ผมเริ่มตื่นกันบ้างแล้ว ผมเข้าไปทักทาย เล็กน้อย ก่อนที่จะเปลี่ยนเข้าไปดูหน้าเวปของ Runkeeper เพื่อตรวจสอบผลรวมของการออกกำลังกายทั้งสัปดาห์ของผม อืม เมื่อเช้านี้เป็นระยะทางที่ยาวที่สุดในสัปดาห์ นานที่สุดในสัปดาห์ ไม่เลวเลยทีเดียว แม้ว่าจะช้าไปหน่อย ผมแอบเหลือบไปเห็นเพื่อนของผม log การออกกำลังกายก่อนหน้าผมไปแล้ว เมื่อคืนที่ผ่านมา 18 events ในเดือนนี้ นำหน้าผมอยู่ 2 events ผมคิดในใจเดือนนี้คงตามไม่ทัน แต่ก็แอบดีใจว่ามีเป้าหมายให้พุ่งชนมันดีกว่าเป็นผู้นำอยู่คนเดียว

2 ชั่วโมงแรกของผมในวันนี้ ผ่านไปอย่างรวดเร็ว เมื่อมองย้อนกลับไป ทำให้ผมนึกถึงประโยคหนึ่งในเรื่อง Matrix ภาพยนต์เรื่องโปรดของผมเรื่องหนึ่ง มอเฟียส ได้พูดไว้ว่า “It’s different between knowing the path and walking the path.” นี่เรากำลังจะเห็นการเกิดขึ้นของ The Matrix อยู่หรือไม่ ผมกำลัง walking the path แล้ว plugging in and out กับเจ้า Matrix อยู่หรือเปล่า ว่าแล้วผมก็เอื้อมมือไปหยิบ iPhone 4s ปล่อยให้ notification ของ Facebook ที่เพื่อนผมบางคนคงเริ่มตอบกลับมาค้างไว้อยู่อย่างนั้น ขณะที่ในใจก็พลางคิดว่า เอาไว้ค่อยไปตอบตอนกินข้าวเข้าก็แล้วกัน

การใช้ระบบปฎิบัติการวินโดส์บนเครื่องแมค


คำถามแรกของหลาย ๆ คนที่เริ่มสนใจจะย้ายมายังค่ายแมค คือ เราจะต้องทำอย่างไรกับชีวิตบนโลกคอมพิวเตอร์ที่สร้างไว้บนวินโดส์ ตลอดระยะเวลานับสิบปีที่ผ่านมา คำตอบง่ายที่สุดก็คือ ย้ายทุกอย่างมาด้วยกันเสียเลย

ในเครื่องแมค และระบบปฏิบัติการ OSX มีทางเลือกสำหรับคำถามข้อนี้ให้คุณเรียบร้อยแล้ว ยิ่งถ้าเป็นเมื่อสักสองปีที่แล้วในเวปของแอปเปิ้ลจะมีลิงค์ที่พูดถึงการย้ายค่ายโดยเฉพาะ อย่างไรก็ตามในปัจจุบันข้อมูลเหล่านี้จะซ่อนอยู่ในหน้า Why you’ll love a Mac ซึ่งถ้าเข้าไปดูจะพบว่าในปัจจุบันการย้ายค่ายเป็นเรื่องง่ายเข้าไปกว่าเดิม อย่างไรก็ตามบทความนี้เราจะยกวินโดส์มาทั้งดุ้นกันก่อนแล้วต่อ ๆ ไปเราค่อยมาคุยกันเรื่องการปรับตัวเข้าสู่ แมค ทั้งระบบทีละเล็กทีละน้อย

วิธีที่เมื่อก่อนแอปเปิ้ลแนะนำให้ใช้ก็คือการใช้โปรแกรมที่เรียกว่า Boot Camp แถมมาพร้อมกับแมค Boot Camp เป็นโปรแกรมประเภทบริหารพาติขั่นหรือบูธพาติชั่น ข้อดีของการใช้วิธีนี้คือ แต่ละระบบปฏิบัติการจะได้ใช้ทุกส่วนของเครื่องแมคอย่างเต็มที่ จะได้ศักยภาพการใช้งานของเครื่องแมคตามที่ได้ออกแบบมาโดยสมบูรณ์ อย่างไรก็ตามจากความเคลื่อนไหวของแอปเปิ้ล ณ เวลานี้ การใช้ Boot Camp เริ่มมีข้อจำกัดมากขึ้นเรื่อย ๆ และคาดว่าในอนาคตอาจจะไม่สามารถใช้งานได้ตามที่ต้องการอีกต่อไป ยกตัวอย่างเช่น วินโดส์ที่ใช้งานกับ Boot Camp ได้ต้องเป็น XP(sp2) ขึ้นไปเท่านั้น หรือ ถ้าใครต้องการใช้วินโดส์บน MacBookAir ตอนนี้ต้องเริ่มที่ Windows 7 เป็นต้นไป เป็นต้น รายละเอียดเกี่ยวกับการใช้งาน ข้อจำกัดเกี่ยวกับการใช้ Boot Camp เพิ่งถูกแก้ไขเมื่อปลายปี 2011 บนเวปของแอปเปิ้ลเองในบทความชื่อว่า Mac 101: Using Windows on your Mac via Boot Camp ข้อจำกัดหลัก ๆ ของการใช้วิธีที่ว่านี้คือ ระบบปฏิบัติการที่แยกกันโดยเด็ดขาด การทำงานร่วมกับระหว่างสองระบบปฏิบัติการของเราเองจะค่อนข้างยุ่งยาก ไม่ราบรื่นอย่างที่ควรจะเป็น การส่งผ่านไฟล์ข้อมูล การค้นหาข้อมูล ทำได้ไม่สะดวก ซึ่งจะส่งผลให้การย้ายค่ายมาสู่แมคโดยสมบูรณ์ทำได้ยากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณต้องการใช้ข้อมูลพื้นฐาน จำพวกที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ ดูข้อมูลอ้างอิงจากอีเมล์ ระหว่างที่ต้องใช้โปรแกรมฝั่งวินโดส์ คุณข้อต้องมีข้อมูลเหล่านี้ซ้ำซ้อนอยู่บนฝั่งวินโดส์ การดูแลเพื่ออัปเดทข้อมูลซ้ำซ้อนต่าง ๆ ทำได้ไม่สะดวก และอาจจะผิดพลาดได้

วิธีที่ผมเลือกใช้เป็นวิธีที่แอปเปิ้ลไม่แนะนำ ด้วยข้อหา “performance penalty” คือวิธีที่เรียกว่า software emulation หรือโดยทั่วไปเรียกติดปากกันว่า Virtual Machines (VM) แต่จะแก้ไขปัญหาในระยะยาวได้ดีกว่า เนื่องจาก ความเสี่ยงของการจำกัดระบบปฏิบัติการโดยแอปเปิ้ลจะลดลง เราก็จะสามารถใช้ Windows XP(sp2) ที่อุตสาห์ยอมเสียเงินซื้อแบบถูกลิขสิทธิ์มาไปได้อีกนานพอสมควรในกรณีของผมเอง ในขณะนี้ iMac และ MacBookAir  รุ่นประมาณปี 2010 ก็ยังสามารถทำงานในระบบนี้ได้อยู่ ทั้งหมดทั้งสิ้นถือว่าเป็นเซทอัปที่ future proof ได้ดีในระดับหนึ่ง โปรแกรมกลุ่ม VM นี้ โดยพื้นฐานแล้วก็คล้าย ๆ กับโปรแกรมบริหารพาติชั่นหรือบูธพาติชั่นที่มีความซับซ้อนขึ้นอีกระดับนั่นเอง ในการใช้งานจะไม่จำเป็นต้องมีการ reboot เพื่อเลือกฝั่งระบบปฏิบัติการ OSX จะเป็นระบบปฏิบัติการหลัก และ VM จะเป็นเหมือน app ตัวหนึ่งเพียงเท่านั้น และใน app ตัวที่ว่านี้เราสามารถลงระบบปฏิบัติการณ์อื่น ๆ ลงไปได้ตามแต่ที่เราต้องการ ไม่ว่าจะเป็น Linux, Windows7 หรือแม้กระทั่ง OSX อื่น ๆ เท่านี้คุณก็จะสามารถใช้งานระบบปฏิบัติการต่าง ๆ เหล่านี้บนเครื่องแมคไปพร้อม ๆ กัน การแลกเปลี่ยนข้อมูล ทำได้สะดวกโดยไม่ต้องคิดเล็กคิดน้อยว่าตอนนี้เรากำลังใช้งานอยู่บนระบบปฏิบัติการใด แต่ข้อเสียคือแต่ละระบบปฏิบัติการต้องการจองทรัพยากรไว้เป็นของตัวเองไม่ว่าจะเป็น แรม ฮาร์ดดิส หรืออาจจะลามไปถึงซีพียู ทำให้การใช้งานแมคจะไม่ได้สมบูรณ์แบบอย่างที่ได้ถูกออกแบบเอาไว้ เพราะทรัพยากรต่าง ๆ เหล่านี้จะถูกจองโดยไม่มีการใช้งานเป็นเสียส่วนใหญ่ แต่ผมก็มองว่ามันก็ยังเร็วกว่าที่จะต้อง reboot เพื่อเข้าถึงข้อมูลอีกฝั่งเมื่อต้องการเป็นไหน ๆ อีกทั้งเราจะสามารถเปิดปิด VM เมื่อไม่ต้องการใช้งานได้เสมอเพื่อประหยัดทรัพยากร ไม่รวมถึงราคาของแรม ฮาร์ดดิส ที่มีแต่ลดลงเรื่อย ๆ ปัญหาเรื่องการเพิ่มทรัพยากรไม่น่าจะเป็นเรื่องใหญ่มากนัก

โปรแกรมจำพวก VM ก็มีอยู่หลายตัวให้เลือกสรรค์ ตั้งแต่ Opensourse อย่าง Q emulator หรือ VirtualBox โปรแกรมที่ถือว่าเป็นตัวมาตรฐานในด้านความเร็วอย่าง Parallels Desktop หรือ โปรแกรมราคาถูกอย่าง VMware Fusion ที่ผมซื้อมาจาก Apple Store Thailand ในราคาเพื่อการศึกษา 1400 บาทเท่านั้น ในขณะที่ Parallels สำหรับการศึกษาจะเร่ิมประมาณ 2500 บาท ผมไม่เคยใช้ตัวอื่นแต่เท่าที่ทำงานกับ VMware มาตั้งแต่เวอร์ชั่น 3 จนวันนี้เวอร์ชั่น 4 ก็ยังไม่พบปัญหาอะไร บนระบบที่เป็น OSX Snow Leopard – VMWare Fusion3 – WindowsXP(sp2) ทั้งบน iMac และ MacBookAir เรื่อยไปจนเปลี่ยนเป็น OSX Lion – VMware Fusion4 บนทั้งสองเครื่อง ยังไม่เจอปัญหาใด ๆ ทั้งสิ้นครับ ผมมีแรมทั้งหมด 4GB แบ่งกันใช้คนละครึ่งแน่นอนว่าบางทีเครื่องก็ช้าจนต้องบูธใหม่ อาการค้างเหล่านั้นก็หายไป ผมคงไม่บ่นอะไรเพราะผมใช้งานเครื่องตามที่แอปเปิ้ลเขาโม้เอาไว้คือ ผมไม่เคยปิดเครื่องเลย จะมีมาบูธใหม่บ้างก็เวลามันช้าเกินเหตุนี่แหละ

แต่อยากบอกให้รู้กันว่า VMware Fusion4 ราคาถูกไม่มีให้หาซื้อกันแล้วนะครับ ตอนนี้ราคาลดพิเศษเริ่มที่ $49.99 และไม่สามารถหาซื้อได้ที่ Apple Store Thailand หรือ AppStore ได้ คิดว่าเป็นเพราะความสามารถใหม่ ๆ ของ Fusion4 ที่นำความสามารถของ OSX Lion มาสู่โปรแกรมฝั่งวินโดส์ ไม่ว่าจะเป็น Launchpad, Mission Control และ Spotlight แต่ผมเองก็ยังไม่เคยใช้นะครับ หรือว่าใช้อยู่โดยไม่รู้ตัว อันนี้ก็ไม่แน่ใจ แต่ที่แน่ ๆ ความสามารถใหม่ ๆ เหล่านี้ ทำให้คุณใช้ชีวิตบนเครื่องแมคใหม่ของคุณได้โดยแทบไม่รู้สึกเลยว่ากำลังใช้โปรแกรมฝั่งแมคหรือฝั่งวินโดส์อยู่ และแอปเปิ้ลก็ไม่อยากเห็นอย่างนั้น ก็เลยโละออกจาก Apple Store ไปเสีย

การลงโปรแกรมและลงวินโดส์ก็ตรงไปตรงมาครับ แต่ถ้าไม่แน่ใจทาง VMware Fusion ก็มี ระบบสนับสนุน ที่สุดยอดเลยทีเดียว รายละเอียดเยอะมาก ๆ ใครอยากหาข้อมูลวิธีการติดตั้งทั้งตัวโปรแกรมและวินโดส์ก็ไปที่นั่นเลยครับ ผมคิดว่าทุกปัญหาแก้ได้ด้วยลิงค์ที่ให้ไปแน่นอนครับ ในการติดตั้งแต่ละระบบปฏิบัติการซึ่งจะถูกเรียกว่า Virtual Machine นั้น จะมีขั้นตอนให้จัดการแรมและฮาร์ดดิสของแต่ละระบบปฏิบัติการก่อนที่จะติดตั้ง ไม่ต้องเครียดครับในส่วนนี้ เพราะเมื่อใช้งานไปแล้วไม่ชอบใจก็สามารถปรับเปลี่ยนได้ค่อนข้างจะอิสระเลยทีเดียว เช่นเดียวกันถ้าให้มีการแชร์ documents ร่วมกัน การใช้งานส่วนที่เป็น WindowsExploer กับ Finder ก็จะใช้ Folder ที่เรียกว่า My Document ร่วมกัน เท่าที่ผมใช้ก็สะดวกดีครับ ส่วนการใช้งานเมื่อติดตั้งโปรแกรมและวินโดส์เรียบร้อยแล้วผมก็แนะนำให้ใช้ View แบบ Fullscreen ก่อน จะได้รู้ว่าตอนนี้อยู่บนวินโดส์หรืออยู่บนแมค แบ่งหน้าจอใครหน้าจอมันไปก่อน หรือใช้ Single Window เราก็จะเห็นทุกอย่างอยุ่ในหน้าจอของวินโดส์ แต่ผมไม่ค่อยชอบแบบนี้เพราะมันจะเล็ก พอคล่อง ๆ แล้ว ก็เปลี่ยนเป็น Unity เลยครับ คราวนี้หน้าต่างของแมค วินโดส์ ก็จะบนกันอย่างอิสระอยู่ในหน้าจอของเราเลย ย้ายไปมาได้ ใช้งาน Multi Gesture ได้ ราบรื่นครับ

ไปลองกันดูนะครับ มีอะไรก็โพสมาถามกันได้ หลาย ๆ อย่างถ้าลองทำมาแล้วจะเล่าสู่กันฟังครับ