HepB / Langkawi / PBP แด่ความพ่ายแพ้ที่ยิ่งใหญ่

เมื่อต้นปี 2014 ผมมีกำหนดเข้ารักษา Chronic HepB โดยการใช้ Interfuron ฉีดใต้ผิวหนังทุกสัปดาห์เป็นระยะเวลา 48 สัปดาห์ แม้ว่าจะมีกระแสฮือฮาอยู่ช่วงหนึ่งที่ว่า “ไวรัสตับอักเสบปี อันตรายกว่า เอดส์ 100 เท่า” มันไม่ใช่เรื่องที่ผมกังวลมากนัก แม้ว่าจะมีเพียง 10% ที่โรคตับอักเสบบีจะไม่สามารถรักษาตัวเองจนกลายเป็นเรื้อรังแบบที่ผมเป็น และแม้ว่าจะมีเพียง 10% ของผู้ป่วยเรื้อรังเหล่านั้นที่จะพัฒนาไปจนกลายเป็นมะเร็งตับในที่สุด หรืออย่างน้อย ๆ ต้องมีภาวะตับแข็ง ตับวายเมื่ออายุมากขึ้น สิ่งที่ผมกังวลมากที่สุดคือ การฉีดยา การเจาะตับ สำหรับคนที่กลัวเข็มเป็นชีวิตจิตใจ การที่จะต้องใช้เข็มยาว ๆ แทงสีข้างเพื่อเก็บตัวอย่างตับ การที่จะต้องฉีดยาเข้าบริเวณรอบสะดือ หรือต้นขาทุก ๆ สัปดาห์ เจาะเลือดจำนวนมากทุก ๆ เดือน เป็นเรื่องที่ทำให้ผมกังวลมากที่สุด อุบายเพียงอย่างเดียวที่ผมนึกออกในตอนนั้นคือ ผมต้องสร้างความท้าทายอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน เพื่อจะดึงจิตใจผมให้อยู่กับความท้าทายเหล่านั้น และปล่อยให้การรักษาดำเนินไปตามตารางของมัน ความท้าทายที่ผมกำหนดขึ้นคือ การแข่งขันไอรอนแมนลังกาวี และการเตรียมตัวเพื่อไปแข่งขัน Paris-Bret-Paris (PBP) จักรยานทางไกลที่มีระยะทางถึง 1200 กม.

Screen Shot 2558-06-29 at 10.54.52 PM

ในการแข่งขันไอรอนแมนลังกาวีนั้น ผมต้องเตรียมตัวซ้อมประมาณ 16 สัปดาห์ อย่างเข้มข้นเพื่อยกระดับจากระยะการซ้อม 60-80 km ไปเป็น 130-150 จากการวิ่ง 15-18 กม. ไปเป็น 25-35 กม. ในช่วงเวลา 16 สัปดาห์นั้น ในขณะที่ต้องค่อย ๆ เก็บ qulification และซ้อมเพื่อการปั่นจักรยานระยะไกลที่ผมไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน ที่ระยะทาง 200, 300, 400 และสุดท้ายคือ 600 กม. ให้ทันภายใน 1 ปี จะเห็นได้ว่าการมีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวผมเองอย่างมากมายเช่นนี้ ทำให้จิตใจผมแทบไม่มีเวลาเหลือที่จะโอดครวญกับกระบวนการรักษาต่าง ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นเลยแม้แต่น้อย ผมฉีดยาเข้าตัวเองเข็มแรก ก่อนการปั่นระยะทาง 200 กม. ครั้งแรกของผมจะเกิดขึ้นบนเส้นทาง BRM200 อยุธยา ในช่วงเข็มแรกนั้น ร่างกายกำลังปรับตัวทำให้เกิดไข้สูงตลอดคืน ร่างกายหนาวสั่น เกิดตะคริวทั่วตัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อไปจนวันแข่งขัน เข็มแล้วเข็มเล่า อาการต่าง ๆ ก็ทุเลาลงเรื่อย ๆ ผลการเจาะเลือดก็ดูดีขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่ร่างกายของผมอ่อนแอลงทุกที ๆ การแข่งขันในสาย Audax BRM ก็เข้มข้นขึ้นทุกที ๆ

img_5819

อาการทางร่างกายของผมเริ่มตั้งแต่การเบื่ออาหาร รสชาดปากเปลี่ยนไปอย่างมาก อาหารหลาย ๆ อย่างเค็มไปหมด จนแทบจะกินอะไรไม่ได้ น้ำหนักลด เหนื่อยง่าย เพลีย ย่อยยาก ท้องอืด ตับเป็นอวัยวะที่สำคัญและมีหน้าที่หลายอย่างมากกว่าที่ทุกคนจะเข้าใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับกีฬาอดทนที่ต้องการใช้พลังงานเป็นจำนวนมาก ต้องพึ่งพาการย่อยอาหาร การตูดซึมอาหารที่มีประสิทธิภาพที่เป็นหน้าที่โดยตรงของตับ ความท้าทายของผมมันมากขึ้นทุกวัน ทุกวัน แม้ว่าอาการเฉียบพลันที่เกิดจากการฉีดยาแทบจะไม่หลงเหลืออีกต่อไป BRM300 เขาใหญ่ ที่ระดับเม็ดเลือดแดง ระดับฮีโมลโกลบิน ผมลดลงเรื่อย ๆ เม็ดเลือดขาวก็โดนทำลายจนเข้าขั้นวิกฤติลงไปทุกที ผมผ่าน BRM300 อย่างฉิวเฉียด อย่างที่ผมได้บันทึกความประทับใจของประสบการการปั่นทางไกลแบบ Audax เอาไว้ก่อนหน้านี้แล้ว (กดเพื่ออ่าน)

img_6252

ในช่วงเข็มหลัง ๆ ของการรักษา อาการเฉียบพลันเรียกได้ว่าหายไปหมดแล้ว เหลือแต่เพียงแผลไหม้ตามรอบสะดือ และหน้าขาที่ถูกฤทธิ์ยาแผดเผาจนไหม้ดำ แต่อาการที่เปลี่ยนผมไปอย่างถาวรคือ ปริมาณเม็ดเลือดแดงที่น้อยลง ฮีโมลโกลบินที่น้อยลง ในการปั่นที่ความเร็วเดิม ๆ หัวใจผมต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อส่งออกซิเจนให้กับร่างกายให้ได้ในระดับเดิม HR ผมสูงขึ้นอย่างน้อย 10 bpm ในทุก ๆ กิจกรรม ผมจำเป็นต้องซ้อมทุกอย่างให้ช้าลง เพราะการทำงานที่ระดับ HR สูง ๆ น้ันสิ้นเปลืองพลังงานที่เป็นส่วนสำคัญในการกำหนดผลลัพธ์ของกีฬาอดทนอย่างไอรอนแมนที่ใกล้เข้ามาทุก ๆ ที และเมื่อวันนั้นมาถึง ผมก็ต้องพบกับความพ่ายแพ้ครั้งแรกในชีวิตของผม เมื่อผมสามารถกินได้น้อยลง ๆ เรื่อย ๆ จนในที่สุดพลังงานก็ถูกใช้ไปจนหมดสิ้นโดยไม่สามารถเติมเข้าไปในระบบได้อีก ผมสิ้นสุดการแข่งขันไอรอนแมนแรกในชีวิตผมด้วย DNF แรกในชีวิตเช่นกัน ผมใช้เวลาอยู่กับตัวเองค่อนข้างนานในคืนนั้น ก่อนที่จะรวบรวมกำลังใจกำลังกายเดินกลับที่พัก พบกับภรรยาและลูก ๆ และ เพื่อแจ้งข่าวนี้ให้กับเพื่อน ๆ ทุกคนที่คอยลุ้นได้รับรู้ (กดเพื่ออ่าน)

10384459_946104222073330_6550812990853246579_n

ผมไม่มีเวลาเสียใจ เสียดายมากนัก เพราะยังมีรายการหนักหน่วงที่รอผมอยู่นั่นคือการแข่งขัน Back-to-back-to-back-to back สี่สัปดาห์ที่ต่อเนื่อง จากการปั่น BRM200 ไตรกีฬา LPT ไตรกีฬา CLP และ BRM400 เป็นการปิดท้าย แม้ว่าในปีนี้ ปีที่ผมไม่สามารถคาดหวังกับสถิติความเร็วได้ แต่ความต่อเนื่องและหนักหน่วงของการแข่งขันก็ทำให้หลาย ๆ คนเครียดได้พอสมควร ผมสามารถจบการแข่งขันทั้ง 4 รายการได้อย่างน่าพอใจ ทั้งนี้อาจจะเป็นช่วงที่ผมมีเม็ดเลือดขาวตกต่ำมากจนถึงขึ้นวิกฤติ จนหมอต้องงดการใช้ยา เพื่อน ๆ ที่เป็นหมอเริ่มตักเตือนเสียงแข็ง แต่ความอยากอาหารที่เพิ่งกลับมา ความอ่อนเพลียที่หายไปในฉับพลันนั้น ทำให้กำลังใจในการแข่งขันทั้งสี่รายการให้จบสิ้นภายในสี่สัปดาห์นั้นมีเปี่ยมล้น ผมค่อย ๆ กลับมาซ้อมวิ่งอีกครั้งหลังจากพักผ่อนชั่วคราวหลังการแข่งขันอันหนักหน่วง

img_0317

ผมลงแข่งขันรายการจอมบึงมาราธอนเป็นครั้งแรก และเป็นรายการที่น่าประทับใจ แม้ว่าผมและเพื่อน ๆ ในทีมจะวิ่งแบกถึงคอยแจกตุ๊กตาให้เด็ก ๆ ที่มาคอยเชียร์ตลอดทาง หลังจากนั้นผมก็ไปแข่งวิ่งเทรลที่เกาะสวรรค์ที่ญี่ปุ่น ซึ่งผ่านไปอย่างน่าประทับใจ จนผมสัญญากับตัวเองว่า มันคงถึงเวลาแล้วที่ผมจะเริ่มทำความรู้จักกับการแข่งขันที่เรียกว่าเทรลรันนิ่ง (กดเพื่ออ่าน) หลังจากนั้นมีการนัดกันในกลุ่มนักปั่น  Audax ที่ต้องการไปแข่งขัน PBP ที่จะซ้อมปั่นระยะทาง 1200 km ภายในเวลา 90 ชม. โดยเริ่มจากกรุงเทพ เพื่อมาปั่น BRM300 สงขลา ผมจึงตอบตกลงโดยไม่ลังเล ประสบการณ์นี้ทำให้ผมได้พบกับสิ่งที่ไม่เคยพบมาก่อนหลาย ๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นการ break down ของอุปกรณ์ การล้มเหลวของกล้ามเนื้อเล็ก ๆ บางส่วน เช่น คอ หลัง  ผลกระทบของการอดหลับอดนอน การ dehydrate และอื่น ๆ ผมจบการซ้อมใหญ่ของผมที่ระยะประมาณ 820 กม. และไม่สามารถเข้าร่วมการปั่น BRM300 ได้ เป็น DNS แรกในชีวิตของผม (กดเพื่ออ่าน) ช่วงนี้ผมหยุดการรักษา HepB ไปแล้วเนื่องจากเม็ดเลือดขาวตกต่ำเป็นเวลานาน จนหยุดยานานเกินไป รวมระยะเวลาการรักษา 32 สัปดาห์ ผลเลือดสองครั้งสุดท้ายพบว่าไม่พบไวรัสในร่างกายของผมอีกแล้ว อย่างไรก็ตามผมทราบดีว่า HepB จะไม่หายไปเพราะ HepB เป็นโรคที่รักษาไม่หาย

IMG_1975

ผมเหลือเพียงรายการ BRM600 อีกเพียงรายการเดียวที่ต้องสอบให้ผ่าน เพื่อที่จะ qualify ในการไปปั่น PBP ที่ฝรั่งเศส ซึ่งผมมีความกังวลน้อยมากเพราะเพื่อน ๆ หลายคนบอกว่า BRM400 จะหนักกว่าเนื่องจากการออกแบบ CP ที่มีเวลาเหลือให้นอนได้ไม่มาก ก่อนรายการ  BRM600 ผมจึงจัด BRM300 และ BRM400 ไปอีกครั้ง และนั่นทำให้ผมเริ่มสังเกตความผิดปกติในร่างกายของผม ผมเหนื่อยผิดปกติมาก ๆ แม้ว่าจะปั่นไปเพียงร้อยกิโลเมตรเศษ ๆ การที่จะบอกว่าเพื่อนผมที่มาช่วย pacing ให้กับผมนั้นใช้ความเร็วมากเกินไปก็คงไม่ใช่ เพราะเราปั่นในช่วง 25-30 km/hr เท่านั้น ซึ่งปกติระยะ 200 ผมสามารถปั่นเดี่ยวที่ความเร็ว 27-32 ได้มาก่อน อย่างไรก็ตาม BRM300 นั้น เรามีกัน 4 คน ก็มีการจอดรอกันเป็นช่วง ๆ ทำให้ผมยังพอมีเวลาหายใจ แต่สำหรับ BRM400 นั้น อำนวย pacer ของผมต้องการเข้าจุดพักตามกำหนดเพื่อให้มีเวลานอน ซึ่งนั่นเป็นกลยุทธ์ที่เขาวางให้ผมใช้เพื่อไปพิชิต PBP เมื่อการเดินทางกลายเป็น 4 วัน 4 คืน การอดนอนอย่างต่อเนื่อง มันเป็นระเบิดเวลาที่จะทำให้การพิชิต PBP เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ด้วยแผนนี้ BRM300 และ BRM400 ทั้งสองรายการนี้เป็นรายการที่ทำเวลาได้ดีกว่ารายการอื่น ๆ ก่อนหน้าค่อนข้างมาก แม้ว่าผมจะเหนื่อยแทบขาดใจก็ตาม

IMG_0806

รายการสุดท้ายที่จะชี้ชะตาก็มาถึง ผมไม่ได้ซ้อมมากนักเพราะรู้สึกว่าตัวเองมีอาการคล้าย ๆ กับ Overtrain หัวใจเต้นเร็วผิดปกติจากเดิมก่อนรักษาในเวลานี้ 15-20 bpm เข้าไปแล้ว การปั่น 27-30 km/hr อาจจะทำให้หัวใจเต้นสูงถึง 160-170 bpm เข้าโซน 4 ปริ่ม ๆ โซน 5 ก่อนวันแข่งไม่กี่วัน ผมไปฟังผลติดตามการตรวจเลือด ได้พบกว่าความจริงที่ว่าไวรัสกลับคืนมาอีกครั้ง นั่นหมายความว่า หนึ่งปีที่ผมได้ต่อสู้กับมันจนมาจบที่คำสรุปว่าผมไม่สามารถเอาชนะมันได้ และคงต้องอยู่กับสภาวะตับอักเสบไปอีกตลอดชีวิต เมื่อวันที่ต้องปั่น 600 มาถึง ผมเตือนอำนวย pacer ของผมให้เริ่มช้า ๆ เพราะผมอาจจะจำเป็นต้อง warm up นาน กว่าปกติ ซึ่งอำนวยก็ทำตาม แต่ก็มาเลียบ ๆ เคียง ๆ ถามไถ่อยู่เสมอ ว่าพร้อมหรือยัง ช่วงแรก ๆ เราเจอกับพี่อ้อ อารมณ์พาไปจึงเร่ง ๆ ตามพี่อ้อขาแรง ทำให้ผมมาหมดก่อนในช่วงเที่ยง ๆ ต้องจอดหาน้ำดาลชดเชย และในที่สุดต้องหาอาหารเที่ยงกินก่อนถึง CP ไม่กี่กิโลเมตร เพิ่งผ่านไปเพียงร้อยกิโลเศษ ผมเริ่มกินอาหารไม่ค่อยลง ผมปั่นตามไปเจอเพื่อน ๆ ที่ CP ที่เป็นปั้มน้ำมัน อำนวยให้ผมพักนิดหน่อยก่อนที่จะออกตัวไป ในช่วงหลังนี้ผมเริ่มมีปัญหากินไม่ได้มากขึ้น ปริมาณน้ำที่พยายามใส่เข้าไปชั่วโมงละขวดค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ จนเหลือ สองสามชั่วโมงไม่ถึงครึ่งขวด จาก CP หนึ่งไป CP หนึ่งห่างกันร่วม 80 กม. ใช้เวลากว่าสามสี่ชั่วโมงผมแทบไม่ต้องเติมน้ำเลย แต่ผมก็เปลี่ยนนำ้เย็นทุก ๆ ครั้ง ผมเหนื่อยจนคิดอะไรไม่ออก จากที่ควรจะพยายามกินน้ำหรืออาหารชดเชย ผมได้แต่เปลี่ยนน้ำเย็นใส่ขวดแล้วพยายามนั่งพักให้หายเหนื่อยแทนที่จะพยายามกิน พลังงานเริ่มหมด ขาเริ่มกดไม่ค่อยลง ท้ายที่สุดอำนวยเห็นว่าต้องพักบ่อยจนไม่ได้การ จำเป็นต้องแก้แผนให้ใหม่ พาผมเข้าพักที่ปั้มน้ำมันในนอนรอเพื่อนอีกกลุ่มที่ตามหลังอยู่ประมาณ 1 ชั่วโมง ผมจะได้พักก่อน 1 ชั่วโมงเพื่อดูว่าจะมีกำลังมาอีกหรือไม่

1977283_10206693321549445_8820775100374244395_n

เมื่อเพื่อน ๆ ตามมาถึงเราก็ออกตัวไปด้วยกัน แต่ผมก็ไม่สามารถทำความเร็วตามทุก ๆ คนได้ เมื่อเลี้ยวเข้าเขางอบ เจอเนินแล้วเนินเล่า ผมก็ค่อย ๆ ถูกทิ้งห่างออกไปเรื่อย ๆ ผมปั่นช้า ๆ ด้วยความเร็ว 10 กว่า ๆ ไปเรื่อย ๆ จนถึงที่ รพ.เขางอบตอนตีสอง ช้ากว่าแผนการที่วางไว้ถึง สามชั่วโมง รวมเวลานอนพัก 1 ชม. ไปด้วย เพิ่งผ่านมาได้ครึ่งทาง 305 กม. เท่านั้น แต่ผมไม่เหลืออะไรอีกแล้วในร่างกาย โรงแรมที่พักที่จองไว้ 20 กม. ข้างหน้ามันดูไกลเกินไปที่ผมจะปั่นไปให้ถึงในตอนนี้ ผมจึงขอนอนข้างทางที่นั่น ข้าง ๆ ถ้วยถั่วเขียวที่กินไปได้เพียงสามคำ ผมมีเวลานอนสองชั่วโมงก่อนที่จะต้องออกตัวตอนตีสี่เพื่อไปให้ทันอีก CP หนึ่งที่ห่างออกไป 80 กม. ที่เส้นตาย 9 โมง ผมปั่นไปได้เพียง 15 km  เริ่มเกิดอาการเซไปมา หน้ามืดมองด้านหน้าไม่เห็นหลายครั้ง ผมคิดหลายต่อหลายครั้งว่าถ้าผมแพ้ในตอนนี้ PBP เป็นอันจบกัน แล้วก็กดขาไปเรื่อย ๆ จนในที่สุดผมคิดว่าผมได้พาชีวิตผมเข้าไปเสี่ยงจนล้ำเส้น ครั้งนี้ล้ำเส้นแบ่งถนนจนเริ่มเสียวว่า ชีวิตอาจจะสูญไปเพียงเพราะรถสวน ผมจึงยอมเข้าข้างทางที่ร้านน้ำเต้าหู้ สั่งน้ำเต้าหู้ทาน message บอกผู้จัดการทีม แจ๊ค และหยิน ที่คาดว่าจะเพิ่งเข้านอนได้ไม่นาน ให้มาเก็บศพผมด้วย ก่อนที่จะเปิดโลเกชั่นในโทรศัพท์ทั้งไว้ ก่อนที่จะผลอยหลับไป ผู้จัดการมารับผมตอนไหนผมจำไม่ค่อยได้ ไปอาบน้ำทานอาหารเช้า แล้วเราก็ออกรถตามเพื่อนคนอื่น ๆ ไป

11391329_822997454458731_3160123015741880084_n

ผมใช้เวลาส่วนใหญ่หลับ แทบไม่รู้สึกตัวอีกเลย กว่าจะเริ่มขยับตัวคุยรู้เรื่องราว ก็บ่ายแก่ ๆ ใจผมวนเวียนอยู่กับความพ่ายแพ้ที่ถาโถมเข้ามา การสอบตก BRM600 ครั้งนี้หมายความว่า  PBP เป็นเพียงความฝัน แม้ว่าจะมี BRM600 Singapore รอให้แก้ตัว แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่อยู่ในแผนของผม ผมคิดว่านี่คือความพ่ายแพ้ที่ผมต้องยอมรับ ใช้เวลาสามสี่วันกว่าผมจะเริ่มจับต้นชนปลายได้ และเริ่มวางแผนแก้มือใหม่อีกครั้ง ปลายปีนี้ผมจะเผชิญหน้ากับความพ่ายแพ้ครั้งแรกที่ลังกาวีอีกครั้ง อีกสี่ปีข้างหน้า ผมจะกลับไปจัดการกับมันให้ได้ PBP เมื่อบทหนึ่งได้สิ้นสุดลง ไม่ว่าตอนจบมันจะเป็นเช่นไร บทใหม่ย่อมเริ่มต้นขึ้นเสมอ เรื่องราวทั้งเล่มจะเป็นเช่นไร ก็ขึ้นกับหลาย ๆ บทที่เราค่อย ๆ เขียนขึ้น ไม่มีหนังเศร้าเรื่องใดที่จะเศร้าทุกบททุกตอน และไม่มีหนังสุขสมเรื่องใดที่จะสุขทุกบททุกตอน เรื่องราวจะ happy ending หรือไม่ ชีวิตเราขึ้นกับเราจะเขียนให้มันจบแบบแฮปปี้หรือไม่ก็เท่านั้น