Endurance : Why we do what we do?

สัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อน ๆ หลายคนมีกิจกรรม Endurance (ต่อจากนี้ผมจะเรียกมันว่า อดทน) ที่แตกต่าง แต่มีความเข้มข้นไม่แพ้กัน มาเล่าสู่กันฟัง ผมนั่งไล่อ่านกิจกรรมของทุก ๆ คน ที่อธิบายถึงความรู้สึก เล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้น แชร์กันไปมาเต็มไปด้วยความสุข และตื้นตัน ผมอดไม่ได้ที่จะแสดงความเห็นว่าผมรู้สึกมีความสุขที่ได้เห็นหลาย ๆ คนมีความสุข โดยใช้การอธิบายในลักษณะ “ความสุขบนความทรมาน” ซึ่งพบว่ามีหลาย ๆ คน รวมถึงคู่หูเพื่อนซี้ในกิจกรรมอดทนของผมค่อนข้างไม่สบายใจกับทำว่า “ทรมาน” และต้องการที่จะแสดงออกว่านี่ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นและเหตุผลที่เขาเหล่านั้นเลือกทำกิจกรรมอดทน จากการแลกเปลี่ยนในกระทู้นั้น ทำให้ผมมาถามตัวเองอีกครั้ง ทั้ง ๆ ที่ถามตัวเองมาหลายต่อหลายครั้งแล้วตลอดยี่สิบปีที่ผ่านมา ว่าเราทำกิจกรรมอดทนเหล่านี้ไปเพื่ออะไร

TRI NCB

แต่ก่อนอื่นคงต้องท้าวความไปถึงครั้งแรกที่ผมใช้คำว่า “ทรมาน” เพื่อสื่อถึงความรู้สึกบางช่วงในกิจกรรมเหล่านี้ มันเกิดเมื่อเพื่อนของผมชวนให้ไปปั่นบนเขาใหญ่ ผมจึงเลือกช่วงที่ผมต้องไปแข่งขัน TNF100 เป็นวันที่จะปั่นเขาใหญ่ โดยวันแรกวิ่ง TNF50K แล้ววันที่สองปั่นเขาใหญ่ ด่านชนด่าน 100K เพื่อที่จะชักชวนเพื่อน ๆ มาร่วมสนุกกัน ผมจึงคิดที่จะหาชื่อที่เหมาะสมให้กับกิจกรรมนี้ ในช่วงนั้นผมซ้อมเทรนเนอร์กับ DVD Series SufferFest ซึ่งผมรู้สึกว่ามันสื่อตรงกับความรู้สึกของผมจึงคิดที่จะแปลความหมายนี้ออกมา เลือกมาได้ว่า “ทรมานบันเทิง” เพื่อสื่อถึงกิจกรรมนี้ หลังจากนั้นผมใช้คำว่า “ทรมาน” อีกหลายครั้ง เพื่อสื่อถึงกิจกรรมอดทนที่เราชาวเผ่า V40 ทำกัน

IMG_1140

สำหรับผมคำว่า “ทรมาน” มันไม่ได้มีความหมายเป็นลบเลย เพราะที่มาจากความว่า Suffer ที่ผมแปลมานั้น ผมนึกไปถึง “ทุกข์” ในศาสนาตลอดเวลา ผมมองมันคล้าย ๆ กับว่ากิจกรรมอดทนนั้น คือการธุดงค์ ที่นำ “ทุกข์” มาพิจารณา ส่วนกิจกรรมอดทนนั้นนำ “ทรมาน” มาพิจารณา มันเกิดขึ้นกับผมในทุก ๆ ครั้ง และผมใช้มันในทำนองนี้ในทุก ๆ ครั้ง แต่ไม่เคยคิดว่าคำ ๆ นี้จะบาดใจใครหลาย ๆ คน โดยที่ผมไม่ได้ตั้งใจ ดังนั้นผมจึงตั้งใจที่จะเขียนมันออกมาว่าสำหรับผมแล้ว ผมเห็นอะไร และทำไปทำไม โดยไม่แน่ใจว่าเมื่อจบบทความนี้ผมจะได้คำตอบหรือไม่ ความเป็นนักวิทยาศาสตร์ในตัวผมสอนให้ผมบันทึกกระบวนการ และให้ความสำคัญกับมันเท่า ๆ กับผลลัพธ์

IMG_2582

เมื่อพิจารณาถึงสิ่งที่เกิดขึ้นที่ถูกสื่อว่า “ทรมาน” มันมีอะไรเกิดขึ้นบ้างในกิจกรรมอดทน สำหรับผม ความร้อน ความเหนื่อย ความเมื่อยล้า คำที่เรียกง่าย ๆ ว่า “หมด” หรือ exhaustion เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแน่ ๆ ในกิจกรรมอดทนทั้งหลาย ในมุมมองของเปลือกภายนอก แต่ถ้าพิจารณาลึกเข้าไปในจิตใจ ผมจะเห็นความท้อใจ การยอมแพ้ กำลังใจ ความหึกเหิม ในความต่อเนื่องของความรู้สึกทางร่างกายและจิตใจนั้น บางครั้งมันปวดร้าวรุนแรงจนผมเองต้องตั้งคำถามว่า ผมมันทำมันไปทำไม แม้มันจะไม่บ่อย แต่คำตอบของคำถามในเวลานั้นมันจะกำหนดผลลัพธ์ของกิจกรรมไม่ว่าในช่วงเวลาก่อนทำกิจกรรมนั้นเราต้องการผลลัพธ์เช่นใด

IMG_3711

ผมวิ่ง 10K เพราะต้องการลบความคิดว่านักว่ายน้ำ (จริง ๆ แค่สมาชิกชมรมว่ายน้ำ) จะไม่ถนัดวิ่ง ผมลง 21K เพราะอยากเอาความฟิตที่เหลือจาก 10K มาใช้ให้เป็นประโยชน์ ผมลงทวิกีฬาเพราะอยากปั่นจักรยานที่ผมใช้มามหาลัยแบบเร็ว ๆ สุดชีวิตกะเขามั่ง ผมลงไตรกีฬาเพราะผมเป็นนักว่ายน้ำ กิจกรรมอดทนของผมนั้นถูกขับมาจากความอยากรู้ และความต้องการขยายข้อจำกัด รวมไปถึงใช้ทรัพยากร อุปกรณ์ และทักษะทั้งหมดที่ผมมีอย่างคุ้มค่า ซึ่งมันเป็นนิสัยส่วนตัวที่จะใช้ความคุ้มค่า หรือประสิทธิภาพมากำหนดสิ่งที่ทำ ผมใช้เวลาอยู่กับมันสิบกว่าปี วิ่งไล่ตามสถิติต่าง ๆ ปีหน้ามันต้องเร็วขึ้นดีขึ้น ตำแหน่งสูงขึ้น แม้ว่าจะไม่เคยได้ถ้วยกับเขาเลย แต่ก็สามารถนำตัวเองไปอยู่ในอันดับ Top 5 Top 10 ได้ทั้งในสนามประเทศไทย และต่างประเทศ ในขณะที่สถิติก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ จนไปพีคที่อายุประมาณ 30 ก่อนที่จะค่อย ๆ คงตัวและช้าลงในที่สุด

IMG_7410

แน่นอนว่าผมคุ้นเคยกับความเจ็บปวด ตะคริว ไม่ใช่เรื่องแปลก และหลาย ๆ ครั้งไม่สามารถชะลอผมลงได้มากนัก อัดจนอาเจียรข้างทาง หรือจำเป็นต้องกลืนมันกลับเข้าไป เพราะอยู่ในระหว่างการแข่งขัน ไม่ใช่เรื่องแปลกอีกเช่นกัน ถ้าถามว่ามันจะใช้คำว่า “ทรมาน” ได้มั้ยสำหรับผม ผมเองก็เห็นด้วยกับเพื่อน ๆ ที่ไม่ชอบคำ ๆ นี้ว่าผมไม่อยากเรียกมันว่า “ทรมาน” ผมต้องยอมรับว่ามันอาจจะเจ็บปวด ผมไม่ได้ชอบมัน ไม่ได้เสพติด แต่ระหว่างซ้อมจนถึงวันแข่งและระหว่างแข่งนั้นผมทำทุกอย่างเพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้น แต่แม้ว่าผมรู้อยู่แก่ใจว่ามันจะเกิดขึ้นอีกถ้าผมต้องการสถิติที่ดีขึ้นในทุก ๆ ครั้งที่ผมลงแข่งขัน แต่เมื่อจุดสูงสุดของผมเหมือนจะผ่านพ้นไปแล้ว ความที่ผมเองอาจจะต้องยอมแพ้ให้กับตัวเองในวัยหนุ่ม เปลี่ยนมาแข่งขันกับคนรอบข้าง เปลี่ยนมาตั้งเป้าหมายใหม่ ๆ สถิติใหม่ ๆ ที่เหมาะสมกับกลุ่ม V40 อย่างผม ความกดดันในระดับที่จะต้อง “ทรมาน” มันก็ค่อย ๆ หมดไปจนวันหนึ่งผมเองก็เริ่มหาเป้าหมายใหม่ให้ตนเอง

IMG_7455

วันหนึ่งเพื่อนสนิทสมัยเรียนมัธยมมาชวนให้ตั้งทีมเพื่อวิ่งผลัดข้ามประเทศ ที่เรียกว่า O2O ผมคิดว่ามันฟังดูแล้วตื่นเต้นท้าทายดี จึงพยายามฟอร์มทีมขึ้นมาซึ่งก็ไม่ง่ายนักเพราะไอเดียที่จะวิ่งกันในเวลาเที่ยง วิ่งกันข้ามวันข้ามคืน วิ่งผลัดระยะสั้น ๆ ที่รวมระยะของแต่ละคนแล้วไม่เกิน 30K นั้นมันดูช่างไม่ “ท้าทาย” เอาเสียเลย แต่โชคดีที่ทีมได้ถือกำเนิดขึ้น และผมได้พบกับเหตุผลใหม่ของกิจกรรมอดทด กิจกรรมนี้ทำมาแล้วสองปี ได้ทำให้ผมได้ไปสนิทอีกครั้งกับเพื่อนเก่า ๆ ที่ร้างราจากกันมานาน กิจกรรมนี้ถือเป็นต้นกำเนิดของทีม Very Forty ที่เพื่อนในกลุ่มนี้อยากมีการรวมตัวเพื่อเข้าแข่งขันไตรกีฬาในรายการกรุงเทพไตรกีฬา ผลลัพธ์ของกิจกรรมที่ผมได้ดูเหมือนว่าจะสร้างผลกระทบได้กว้างขวางขึ้น มีเพื่อน ๆ หลาย ๆ คนมารวมตัวกันแสดงจุดยืน สร้างตัวตน แสดงตัวเป็นแบบอย่างของการใช้ชีวิต active ที่ผมต้องรับว่าเป็นอีกความสุขหนึ่งที่ทำให้ผมมุ่งมั่นทำกิจกรรมเหล่านี้มากขึ้นเรื่อย ๆ แม้ว่าการเผยตัวตนในครั้งนี้เริ่มทำให้อีกหลาย ๆ คนมองเห็นผมเป็นคน “บ้า”

L1010355

ผมเริ่มร่วมการแข่งขันจักรยานทางไกล เริ่มขยายระทางทางของไตรกีฬา และเริ่มสนใจระยะมาราธอน เนื่องจากเป็นระยะทางใหม่ ๆ ทุก ๆ ครั้ง ทุก ๆ ก้าวที่ผมทำลงไปมันเป็นสถิติใหม่ไปทั้งสิ้น แม้ว่าผมยังไม่เห็นเหตุผลที่ชัดเจนในการทำมันลงไป ผมยังได้ป้อนอาหาร ego ส่วนตัวของผมด้วยสถิติใหม่ ๆ เช่น Sub5 Marathon, 6:08 Hr Half-Ironman เป็นต้น จนวันหนึ่งเพื่อนแจ๊คแนะนำให้ผมรู้จักกับ Festive500 ที่ต้องปั่น 500K ภายใน 8 วันช่วงปลายปี สำหรับคนปั่นระยะ 80-100K การที่จะทำแบบนี้ต่อเนื่องทุก ๆ วันสร้างความท้าทายใหม่ ๆ ให้กับผม และก็ไม่ผิดหวังเมื่อผมร่วมคำท้าแล้วต้องถามกับตัวเองวันแล้ววันเล่าที่ต้องตื่นมาปั่นระยะ 80-100K โดยไม่สนว่าฝนจะตกหรือแดดจะออก เพื่อนคนเดียวกันนี้ก็แนะนำให้ผมรู้จักกับ Audax กิจกรรมอดทนในรูปแบบใหม่ที่ไม่ต้องแข่งกับใคร ไม่สนใจสถิติ มาด้วยใจกับคิวชีทเป็นพอ ผมกระโดดเข้าหาแล้วก็ติดมันงอมแงม มันเป็นการปั่นระยะที่ไกลมากขึ้น 200 300 400 600 ซึ่งต้องมีเรื่องของการกิน การพัก การนอนเข้ามาเป็นส่วนร่วมของความท้าทายนั้น ๆ ด้วย ดูเหมือนว่าในช่วงนี้ผมเริ่มได้เป้าหมายใหม่ของกิจกรรมอดทน นั่นก็คือ “ท้าทาย”

IMG_6245

อย่างไรก็ตามยังมีคำถามจากบุคคลภายนอกอีกในเรื่องของค่าใช้จ่าย นอกเหนือจากความเหน็ดเหนื่อยแล้ว ยังไม่ค่าใช้จ่ายในกิจกรรมเข้ามาเกี่ยวข้องอีกเยอะมาก ทำให้ผมเริ่มมองในมุมมองของทางด้านการเงินบ้าง แต่ไม่ทราบว่ามันมีอะไรที่ดลใจให้ผมจัดการกับปัญหาด้วยการตั้งกองทุนในชื่อลูกสาวที่เสียไปของผม ชื่อว่า กองทุนเพื่อซูริ ในการที่จะระดมเงินไปบริจาคให้กับหน่วย NICU โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ สถานที่ที่ลูกสาวคนนี้ของผมถือกำเนิดและเสียชีวิต ด้วยความหวังไกล ๆ ว่าเงินเหล่านี้อาจจะช่วยให้ลูกตัวน้อยของคนอื่นมีโอกาสกลับบ้านไม่เป็นเช่นลูกสาวของผม ผมจึงพยายามสร้างความสัมพันธ์ุระหว่างกิจกรรมอดทนและเงินบริจาคเพื่อกองทุนขึ้นในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อที่จะเป็นคำตอบหนึ่งในด้านการเงิน ซึ่งหลาย ๆ กลุ่มที่มีความเห็นตรงกันก็ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ ยกตัวอย่างเช่น กลุ่ม Run4ManyReasons ของพี่ย้ง เป็นต้น

IronmanLangkawiForZuri

ความ “ท้าทาย” ใหม่เข้ามาอีกครั้งเมื่อผมต้องเข้ารักษาตับอักเสบด้วยการฉีดยาอินเตอฟูรอน 48 เข็ม ผมจึงสมัครแข่งขันไอรอนแมนทันที แม้ว่าผมจะไม่คิดว่าจะลงรายการระยะนี้ในสภาพที่ผมไม่แน่ใจว่าผมสามารถวิ่งได้ไกลเพียงใด ผมดีใจที่การตัดสินใจพุ่งเข้าชนกับโรคร้ายและการรักษาอันหฤโหดนั้นได้สร้างแบบอย่างและกำลังใจให้กับผู้ป่วย หรือผู้พักฟื้นอีกหลายคน แม้ว่าในด้านของการวิ่งนั้น หลังจากผมแตะระยะมาราธอนแรกแล้ว ผมก็ขยายเป็นระยะอัลตราที่ TNF 50K แต่ทำให้อาการบาดเจ็บที่กระดูกสันหลังกำเริบ การวิ่งระยะ 10K 15K 21K กลายเป็นความท้าทายอีกครั้ง ขอแค่เพียงได้วิ่งครบระยะ ผมเก็บความท้าทายแบบผู้ป่วยกายภาพของผมอย่างเงียบ ๆ เพราะความผิดหวังในการ DNF ครั้งแรกในชีวิตที่สนามไอรอนแมนลังกาวี ก่อนที่จะประกาศชนกับมันอีกครั้งด้วยการวิ่งจอมบึงมาราธอน เพียงแต่บอกคนรอบข้างว่าผมต้องการวิ่งช้า ๆ ในใจเพียงคิดว่าต้องการวิ่งให้ถึงเป็นเท่านั้น ซึ่งในเวลานี้ผมต้องยอมรับว่า มันยังคงเป็นความ “ท้าทาย” สำหรับผมอยู่ดี

Week2

ในขณะเดียวกันที่ผมไม่สามารถเร่งความเร็วได้ดั่งใจ ผมจึงเริ่มหาความแปลกใหม่เพื่อมาเติมเต็มให้จิตใจผมอีกครั้งในกิจกรรมอดทนที่แทบไม่มีความหวังจะสร้างสถิติ เมื่อความท้าทายลดคุณค่าเหลือเพียงที่จะ “วิ่ง” ได้จนครบระยะ ผมเริ่มอาสาวิ่งเก็บขยะ ในงานภูเก็ตมาราธอน ในระยะฮาร์ฟ ที่ทำให้ผมได้รู้จักกับพี่ย้ง กล้วยหอม ผมเข็นรถ trailer ขนลูก ๆ สัมผัสบรรยากาศสงลามาราธอนในระยะฮาร์ฟ และสุดท้ายวิ่งแจกตุ๊กตาในงานจอมบึงมาราธอน ที่ระยะฟูลมาราธอน แม้ว่า ณ เวลานี้ ผมยังไม่สามารถ “วิ่ง” ได้จนครบระยะ แต่ผมก้าวข้ามความ “ท้าทาย” ในแต่ละขั้นมาเรื่อย ๆ ช้า ๆ อย่างมั่นคง

L1040269

ผมร่ายยาวมาจนถึงย่อหน้าสุดท้าย ผมเองยังไม่แน่ใจว่าผมได้คำตอบหรือยัง ว่าผมทำกิจกรรมอดทนเหล่านี้ไปทำไม มีความเป็นไปได้ว่าผมอาจจะต้องค้นหามันไปตลอดชีวิต เฉกเช่นคำถามที่ว่า มนุษย์เราเกิดมาเพื่ออะไร แม้ว่าผมจะเล่าให้หลาย ๆ คนด้วยเหตุผลต่าง ๆ กัน ไม่ว่าอาการเจ็บหลังที่กำเริบจนไม่สามารถอุ้มลูกชายคนแรกอาบน้ำได้ สุขภาพที่ย่ำแย่จากการโหมทำงานหนักจนแม้กระทั่งเดินขึ้นบันไดหอบ หรือการที่จะสร้างแบบอย่างให้กับลูก ๆ ในการใช้ชีวิตแบบมีสุขภาพ ไปจนกระทั่งเหตุผลเนื่องจากเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่พัฒนาจนอายุเฉลี่ยเรายาวนานขึ้นและผมไม่ต้องการที่จะใช้ช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตบนเตียง เหตุผลเหล่านี้อาจจะเติมเต็มให้กับผู้สงสัย ผู้ตั้งคำถาม แต่ผมรู้ดีว่าสำหรับผมนี่มันเป็นเพียงผลพลอยได้  Why we do what we do? The answer my friend is blowing in the wind.           

กระดูกข้อเข่าเสื่อม : แล้วไง?

เมื่อไม่นานมานี้ผมมีอาการบาดเจ็บบริเวณเข่า เกิดขึ้นในระหว่างผมแข่งขันวิ่งระยะฮาร์ฟมาราธอนในรายการสงขลามาราธอน ซึ่งผมได้บันทึกไว้ในบทความก่อนหน้านี้แล้ว เวลาผ่านไปประมาณสองเดือนเศษ ๆ อาการของผมก็ยังไม่หายดี และเริ่มแสดงอาการเจ็บเมื่อวิ่งไปได้ระยะทางหนึ่ง ในเบื้องต้นผมสงสัย ITBS หรือ  Iliotibial “band” friction syndrome โรคคลาสสิคสำหรับนักวิ่ง และเคยเกิดกับผมมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่หลักฐานยังไม่แจ้งชัดเนื่องจากสาเหตุของโรคนั้นควรจะเกิดจากท่าทางการวิ่ง (Gait) ที่ผมเองเพิ่งปรับมา แม้จะน่าสงสัยแต่โดยหลักการควรจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาเช่นนี้ เมื่ออาการมันยืดเยื้อเป็นเวลานาน และกลับมาทุกครั้งที่มีการออกกำลังกายมากถึงจุดหนึ่ง อีกสันนิษฐานหนึ่งของผมคือ อาการบาดเจ็บของเส้นเอ็น ที่มักจะใช้เวลานานกว่าในการรักษาตัว และจะกลับมาเจ็บทุกครั้งที่มีการออกกำลังกายเกินความพร้อมของร่างกายที่กำลังรักษาตัว เพื่อนนักวิ่งของผมแนะนำให้ไปหาหมอเพื่อรู้สาเหตุที่ชัดเจน และรับยามารักษาอาการให้เหมาะสม

จากคำบอกเล่าของเพื่อนผมที่บอกว่าอาการบาดเจ็บที่เส้นเอ็นบางครั้งอยู่ลึกและใช้เวลานานในการรักษาตัว จำต้องพักให้หายขาดจึงจะไม่กลับมาใหม่ แต่การใช้ยาจะลดระยะเวลานั้นลงได้ ผมจึงงดการซ้อมวิ่งโดยเด็ดขาดและนัดเวลาเพื่อไปพบแพทย์ แม้ว่าจะช้าไปบ้างแต่ก็ทันเวลาก่อนที่จะเข้าร่วมรายการกรุงเทพมาราธอน ในระยะฮาร์ฟมาราธอนอีกครั้งหนึ่ง ผมถือว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่จะต้องรู้สาเหตุของการบาดเจ็บที่แท้จริง ก่อนที่จะเข้าแข่งขันระยะนี้อีกครั้ง เพราะอาการเจ็บเข่าที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างการแข่งขันครั้งนี้นั้น จะได้มีการป้องกันและจัดการอย่างเหมาะสม อีกเหตุผลสำคัญคือในช่วงปลายปีเนื่องจากการเดินทางที่มากมายของผมทำให้ชั่วโมงซ้อมของผมนั้นหดสั้นลงเป็นอย่างมาก ผมจึงใช้วิธีการแข่งขันในรายการต่าง ๆ เป็นหนทางในการรักษาสภาพร่างกายของผมให้พร้อมรับรายการแข่งขันสำคัญที่กำลังจะมาถึง Ironman 70.3

หลังจากระยะฮาร์ฟมาราธอนในรายการกรุงเทพมาราธอนแล้ว ผมมีคิววิ่งระยะมินิมาราธอนในรายการอโยธยาฮาร์ฟมาราธอน แล้วจึงเป็นรายการใหญ่ของปี Ironman 70.3 ก่อนที่จะปิดท้ายฤดูกาลด้วย Ocean2Ocean  ก่อนที่จะปิดการวิ่งประมาณหนึ่งเดือนครึ่งเพื่อรักษาตัว รายการแรกสำหรับปีหน้าถูกจัดไว้ต้นเดือนกุมภาพันธ์ ระยะสั้น ๆ แต่น่าจะสมบุกสมบันพอใช้กับรายการ Northface 100 เมื่อดูรายการวิ่งแล้วเหมือนจะหนักหนาสาหัสแต่ระยะการซ้อมของผมในระยะหลังที่อยู่ที่ระดับ 8km+ ต่อครั้งนั้น รายการแข่งขันเหล่านี้ไม่ต่างอะไรนักกับวันวิ่งยาวที่มีในรายการซ้อมทุกสัปดาห์อยู่แล้ว

ผมเข้าพบกับหมอที่โรงพยาบาลกรุงเทพ เพื่อความสะดวกและความคาดหวังว่าจะไม่เข้าพบกับเพื่อนหมอที่ผมรู้จัก เพราะผมมั่นใจว่าไม่ว่าผมจะเป็นอะไรก็ตามหมอจะต้องให้ผมหยุดวิ่ง อาจจะสั้นหรือยาว แต่นั่นแหละนี่ยังไม่ใช่เวลา และถ้าคำแนะนำนี้ไม่ได้มาจากเพื่อนที่ผมรู้จัก ผมน่าจะสบายใจกว่าที่จะไม่ทำตามคำแนะนำ อีกอย่างโรงพยาบาลกรุงเทพมีแนวโน้มที่จะจ่ายยาราคาแพงและปริมาณมาก ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของผมในการพบแพทย์ครั้งนี้ หมอสอบถามเล็กน้อย ผมตอบเกี่ยวกับอาการด้วยความอึดอัดเพราะตัวแทนประกันพยายามกำหนดสิ่งที่ผมควรจะพูดเพื่อให้มีโอกาสที่จะเคลมประกันอุบัติเหตุได้  แม้ว่าผมจะไม่เคยเชื่อเลยว่ามันจะเคลมได้ หลังจากได้มีการซัก จับ กด บิด โยก จนเป็นที่พอใจแล้ว ผมก็ถูกส่งไปทำการ x-ray เพื่อจะหาคำตอบที่แท้จริง

ภาพถ่าย x-ray  ข้อเข่าสองสามภาพของผม ตามปากคำของแพทย์ คือ ผมมีอาการของ “กระดูกอ่อนข้อเข่ากร่อน” เป็นผลของการใช้งานหนัก และเป็นอาการเริ่มต้นของโรคที่เรียกว่า “กระดูกอ่อนข้อเข่าเสื่อม” แม้ว่าผมจะไม่ค่อยเห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของแพทย์เกี่ยวกับสาเหตุมากนัก เนื่องจากความจำกัดของคำถามของแพทย์ที่ซักผม และความอ้อมค้อมของคำตอบของผมที่เจตนาเพื่อลุ้นเงินประกัน แต่ต้นเหตุของอาการบาดเจ็บของผมน่าจะชัดเจนจากภาพ x-ray ที่แสดงให้เห็นระยะระหว่างข้อเข่าของผมเริ่มไม่เท่ากันและมีระยะด้านในของข้อเข่าที่แคบกว่าด้านนอก เป็นสัญญาณคลาสสิคของอาการกระดูกอ่อนข้อเข่าที่สึกกร่อนไป

เวลาที่รอคอยมาถึงเมื่อแพทย์เริ่มสั่งยา ยามาตรฐานสำหรับอาการทางกระดูกที่ผมได้เสมอ ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาแก้ปวดแก้อักเสบ แถมยาเคลือบกระเพาะ และที่เด็ดที่สุด คือ Glucosamine Sulfate ยาที่ปัจจุบันถูกยกเลิกจากบัญชียา และจัดให้อยู่ในรายการของยาทางเลือก ที่เชื่อกันว่าใช้เสริมกระดูกอ่อนข้อได้ ผมเองเป็นคนที่ไม่เชื่อในระบบยามากนักเนื่องจากเชื่อว่าร่างกายควรมีโอกาสได้ซ่อมแซมตัวเอง แต่เวลานี้ผมต้องแข่งกับเวลาจึงอดไม่ได้ที่จะต้องลอง แม้กระทั่ง dietary supplement อย่าง Glucosamine Sulfate ที่เป็นเพียงสารหนึ่งที่พบบริเวณข้อต่อ จึงมีความเชื่อว่าการกินสารนี้เข้าไปจะช่วยเสริมสร้างข้อต่อนั่นเอง ไม่แตกต่างอะไรกันนักกับเครื่องดื่มผสม Collagen ที่เชื่อว่าจะช่วยคงความเด้งดึ่งให้กับเราได้ แน่นอนว่าผมไม่ได้รับเงินประกันกับการรักษาครั้งนี้ โรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเสื่อมไม่สามารถเคลมอุบัติเหตุได้ ผมต้องจ่ายค่ารักษาประมาณสองพันกว่าบาท จึงไม่มีเหตุผลอื่นใดที่ผมจะไม่ลองใช้ยาทุกประเภทที่ได้รับมาในวันนี้

ผมเริ่มใช้ยาได้เพียงสองวันก็เกิดผื่นขึ้นตามตัว ซวยแล้วผมน่าจะมีอาการแพ้ยา ตัวใดตัวหนึ่ง ผมหยุดทุกตัว แต่อาการผื่นยังอยู่กับผมจนกระทั่งผมต้องวิ่งฮาร์ฟมาราธอนทั้ง ๆ ที่เป็นผื่นแพ้ทั่วตัว สภาพของผมภายหลังการวิ่งดูน่าสมเพช นอกเหนือจากอาการเข่าที่มากำเริบที่ระยะประมาณ 16 km จนกระทั่งมาหนักที่กิโลเมตรสุดท้าย เลือกลมที่สูบฉีดทำให้ผื่นแดงชัดทั่วตัว แขน ขา คอ และหัว หลาย ๆ คนเห็นสภาพคงต้องกลับไปสงสัยว่าผมทำสิ่งเหล่านี้ไปทำไม ตอนนี้ผ่านรายการกรุงเทพมาราธอนมาเกือบสัปดาห์แล้ว อีกสองวันผมจะวิ่งอีกสิบกิโลในงานอโยธาฮาร์ฟมาราธอน อาการแพ้ยาของผมดีขึ้นแล้ว ผมเริ่ม Glucosamine อีกครั้ง อาการเข่าของผมก็ดีขึ้นแต่ไม่ 100% อีกสองวันจะรู้ว่าเป็นอย่างไร

ในระหว่างการตรวจแพทย์บอกกับผมว่า ให้ผมพัก 100% ทานยาให้หมด แล้วถ้าเกิดอาการอีกระหว่างวิ่ง ควรจะต้องเปลี่ยนกีฬา กลับกับสิ่งที่ผมทำคือ ผมทานยาได้เพียงสองวัน วิ่งฮาร์ฟมาราธอน เกิดอาการ ทานเพียง Glucosamine อีกครั้ง (ไม่รู้ว่าจะแพ้ตัวนี้หรือเปล่า แต่น่าจะไม่เพราะผมไม่ได้แพ้อาหารทะเล) เดี๋ยวผมจะวิ่งอีกสิบกิโล และยังมีต่ออีกทุกสัปดาห์ ผมไม่เคยคิดจะเปลี่ยนกีฬา กีฬาหลักของผมคือไตรกีฬา แต่เพื่อนผมส่วนใหญ่วิ่งได้เพียงอย่างเดียว กีฬาวิ่ง เป็นเหมือนกีฬาสังคมของผม ในขณะที่ไตรกีฬาเป็นความท้าทายของชีวิตผม แต่การปรับตัวต่อจากนี้ผมคงต้องใช้ความเป็นนักวิทยาศาสตร์ ตั้งสมมุติิฐาน ทดสอบ สังเกตุ ผมไม่เข้าใจตรรกกะของการหยุดวิ่งเพราะกลัวว่าจะวิ่งไม่ได้อีก ผมวิ่งจนกระทั่งค้นพบว่าวิ่งไม่ได้อีกน่าจะเป็นทางเลือกที่ดูสมเหตุผลมากกว่าสำหรับผม อาการเจ็บเข่ามันค่อนข้างรุนแรง จนผมคิดว่ามันไม่ควรที่จะทำให้เกิดอาการบาดเจ็บได้มากจนเกินเยียวยาถ้าผมเพียงแต่วิ่ง ต่างจากการเล่นกีฬาประเภทอื่นๆ ที่อาจจะมีการกระทบกระทั่ง หรือต้องมีการเคลื่อนไหวที่รวดเร็วรุนแรง

ทางออกของผม ณ เวลานี้ มุ่งไปที่รองเท้าวิ่ง ผมไม่เชื่อเสียทีเดียวว่า Vibram Fivefinegers ที่ผมเริ่มใช้เพื่อกลับมาวิ่งครั้งนี้จะเป็นต้นเหตุ เพราะอาการเข่าเสื่อมไม่น่าจะเกิดได้ภายในระยะเวลาสั้นไม่เกิน 1 ปี อาการน่าจะสะสมมาก่อนหน้านี้ แต่ผมก็ยังอยากใช้เวลามากขึ้นกับ Barefoot running ที่ช่วยให้มีการลงเท้าที่เบามากขึ้น และรองเท้ากลุ่ม Lightweight Cusion Trainer โดยเฉพาะอย่างยิ่งรองเท้า Newton ที่ช่วยโฟกัสท่าวิ่งในการลงปลายเท้า กลางเท้า อย่างไรก็ตามงานหน้านี้ผมจะลองเริ่มด้วย Barefoot running เพื่อทดสอบอีกครั้ง ให้กำลังใจผมด้วยครับ

Run for a reason : The Race


12 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา ตีสาม ผมค่อย ๆ คืบคลานไปปิดนาฬิกาปลุก ก่อนที่จะพาร่างไร้วิญญาณไปแปรงฟัน อาบน้ำ แต่งตัว วันนี้ผมมีรายการวิ่ง กรุงเทพมาราธอน 2554 ที่ต้องเลื่อนมาจากปลายปีที่แล้วเนื่องจากเหตุการณ์มหาอุทกภัย นี่จะเป็นรายการวิ่งแข่งขันครั้งแรกของผมในรอบเกือบยี่สิบปี ครั้งสุดท้ายผมลงรายการนี้ในระยะฮาล์ฟมาราธอน 21.1 กม. ด้วยเวลา 1:47 เป็นเวลาที่ดีที่สุดในชีวิตของผม อายุเพิ่มขึ้นอีกยี่สิบปี เป้าหมายของผมในปีนี้คือ ต่ำกว่าสองชั่วโมงในระยะทางเดียวกัน แต่ก็แอบหวังลืก ๆ ที่จะเข้าใกล้สถิติอันนี้ของผม แม้ว่ามีหลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนไปนอกเหนือจากอายุ หลายสิ่งหลายอย่างที่ผมจะมีโอกาสใช้ โอกาสที่จะทำ เป็นครั้งแรก ผมก็ยังคิดว่าทุกอย่างน่าจะไปได้ด้วยดีในวันนี้ ผมรีบแต่งตัวแล้วคว้ากล้วยหอมสี่ลูกที่เตรียมไว้ตั้งแต่เมื่อวาน แล้วรีบโจนออกไปเรียกแทกซี่ นาฬิกาบอกเวลาตีสามครึ่ง หลังจากบอกเป้าหมายกับคนขับแทกซี่แล้วก็ได้โอกาสปอกกล้วยเข้าปาก พลางคิด เราทำอย่างนี้ไปเพื่ออะไร

The Race :

กรุงเทพมาราธอน 2011 สำหรับปีนี้เป็นการจัดครั้งที่ 24 แล้ว จุดเริ่มต้นและสิ้นสุดอยู่บริเวณริมรั้วพระบรมมหาราชวังฝั่งกระทรวงกลาโหม ซึ่งให้ฉากของการวิ่งเข้าเส้นชัยยิ่งใหญ่ตระการตา สมกับเป็นรายการมาราธอนที่ยิ่งใหญ่งานหนึ่งของประเทศ ที่มีการจัดมาเป็นระยะเวลายาวนาน เมื่อนึกย้อนกลับไปเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว กรุงเทพมาราธอน ครั้งที่ สอง สาม สี่ อยู่ในสภาพที่มีความเสี่ยงจะยกเลิกทุกปี แต่นี่ยี่สิบสี่ปีผ่านไป ช่างเป็นเรื่องที่น่ายินดี ไม่เหมือนกับ Jazz Festival ที่ต้องเปลี่ยนชื่อ ล้มหายตายจากไปด้วยระยะเวลาไม่เกินสองปี ผมมาถึงบริเวณปล่อยตัวประมาณตีสี่ เพื่อมาพบกับกระบวนการจัดการที่ดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับยี่สิบปีที่แล้ว ผมตรงเข้าไปฝากกระเป๋า ก่อนที่จะออกวิ่งเหยาะ ๆ ประมาณยี่สิบนาที เพื่อเป็นการวอร์มร่างกาย เรียบร้อยแล้วก็เดินหาห้องน้ำเพื่อทำธุระที่จำเป็น ก่อนที่จะได้ตระหนักว่า ป้ายบอกทาง ใช้ไม่ได้เอาเสียเลย แม้ว่าผมจะดูแผนที่คร่าว ๆ มาแล้วว่าตำแหน่งของห้องน้ำอยู่ที่ใด แต่เมื่ออยู่หน้างานมันไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด สุขาอยู่หนใด ผมพยายามมองหาป้ายแต่ไม่พบจึงได้ตัดสินใจเดินตามคนส่วนใหญ่เข้าไปในสวนสราญรม ผมคาดไว้ไม่ผิดคนส่วนใหญ่เหล่านั้นเดินไปเข้าห้องน้ำ แต่นี่ไม่ใช่ห้องน้ำที่ทางผู้จัดเตรียมไว้ แต่หากเป็นห้องน้ำเล็ก ๆ ภายในสวน พร้อมกับแถวยาว ๆ ผมเข้าคิวเพื่อรับฟังฝรั่งด้านหน้าก่นด่าผู้จัดอย่างเมามันส์ อยากจะบอกเขาว่านี่ไม่ใช่ห้องน้ำที่เขาจัดไว้นะ แต่ก็บอกไม่ถูกว่าที่เขาจัดไว้ให้มันอยู่ที่ไหน ก็เลยต้องเงียบไว้ก่อน

หลังจากห้องน้ำผมก็มุ่งหน้าไปที่จุดปล่อยตัว เหลือเวลาอีก 15 นาที ผมยืดเส้นยืดสายรอเวลา ไม่นานนักเพื่อนที่เป็นคนชักชวนให้ผมกลับมาวิ่งอีกครั้ง ก็แวะเข้ามาทักทาย ผมนึกในใจคนตั้งพันสองร้อยคน มันเห็นผมได้ไงง่ะ ผมลดความตื่นเต้นของตัวเองด้วยการถามเพื่อนของผมถึงเส้นทาง และระยะทางที่จะผ่านสะพานทั้งสองสะพานในการแข่งขัน การวิ่งขึ้นสะพานตอนเหนื่อย ๆ มันไม่ค่อยน่าสนุกนักในความคิดของผม เพื่อนผมหันมาตอบว่าสะพานแรกก็สะพานปิ่นเกล้าที่อยู่ตรงหน้าเรานี่เอง ผมถามถึงสะพานพระรามแปด แต่เพื่อนของผมได้แต่ยิ้ม

สัญญาณปล่อยตัวดังขึ้นผมวิ่งออกไปช้า ๆ ตามคนจำนวนมากที่ค่อย ๆ ขยายตัวออกไปจนเต็มถนน สะพานแรกอยู่ใกล้จริง ๆ ผมพยายามควบคุมความเร็วไม่ให้สูงเกินไปนัก ผมไม่ได้ซ้อมมากเท่าไร ระยะสูงที่สุดที่ผมซ้อมมาสำหรับการแข่งขันนี้คือ 14 กม. ในวันนี้ผมต้องวิ่งต่อไปอีก 7.1 กม. ผมยังไม่อยากเจอกับอาการชนกำแพงเป็นครั้งแรกของชีวิตในวันนี้ การวิ่งในวันนี้มันช่างต่างไปจากยี่สิบปีก่อนเสียจริง ๆ ผมไม่ได้เห็นตัวเมืองอย่างที่เป็นเมืองเอาเสียเลย หลังจากที่ขึ้นสะพานแรกมาแล้ว ผมยังไม่มีความรู้สึกว่าได้ลงสะพานอีกเลย ผมนึกในใจว่านี่กรุงเทพฯ เรามีรถเยอะขนาดต้องทำถนนวิ่งกันสองชั้นกันเลยหรือ ไม่ทันไร ก็ถึงจุดกลับตัว ที่ผมท่องมาว่าอยู่หน้าเซ็นทรัล เพื่อช่วยในการควบคุมเวลา อย่างไม่ทันได้ตั้งตัว เราวิ่งอยู่บนชั้นที่สองโดยตลอด ผมเริ่มกังวลถึงความเร็ว ผมเร็วเกินไปหรือเปล่านะ เมื่อดูป้ายบอกระยะเทียบกับเวลากลับพบว่านี่ผมวิ่งช้าอยู่เหรอเนี่ย ผมเร่งความเร็วขึ้นอีกนิด ไม่ทันจะได้ตั้งตัวป้ายบอกระยะทาง 10 กม. ก็อยู่ตรงหน้าผม ดูเวลาด้วยความตกใจ 50 นาที ผมวิ่งเร็วเกินไป ในใจคิด ไม่ค่อยเหนื่อยเลยนี่หว่า ถ้าอย่างนี้ 1:47 น่าจะมีความหวังนะเนี่ย

ความหวังผมค่อย ๆ สลายลงเมื่อผมวิ่งผ่านกิโลเมตรที่ 14 เข้าสู่เขตของความไม่รู้ ผมไม่เคยวิ่งเกินระยะนี้มาเป็นระยะเวลายี่สิบปี ต่อจากนี้จะเกิดอะไรขึ้นกับผมบ้าง ผมเกิดความรู้สึกอึดอัดขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อป้ายบอกระยะทางที่ 16 กม. ยังไม่มาถึงเสียที นี่มันนานเกิดไปแล้วนะผมคิด ทันใดนั้นผมก็เห็นจุดให้น้ำอยู่ตรงหน้า ผมตัดสินใจไม่แวะเข้าเพราะรู้สึกว่าผมทำเวลาไม่ค่อยดีในช่วงที่ผ่านมา ในใจพาลฉุกคิดนิด ๆ ทำไมไม่มีป้ายบอกระยะทางนะที่จุดเมื่อกี้ ผมค่อย ๆ เร่งฝีเท้าขึ้นเล็กน้อย จุดให้น้ำจุดต่อไปอยู่ด้านหน้า 18 กม. แล้วเหลือเพียงสามกิโลสุดท้าย เวลาแบบนี้น่าจะทำลายสถิติส่วนตัวเป็นแน่ ทันใดนั้นฝันผมก็สลายลงไปในทันทีเมื่อป้ายที่เห็นกลับเขียนว่า 16 กม. เห้ย อะไรฟะ ผมรีบคำนวณเวลาในใจอย่างรวดเร็ว โอ้ย 1:47 ไปซะแล้ว เวลาขณะนี้ 1:26 ต่ำกว่าสองชั่วโมงน่าจะยังเอาอยู่ ในใจคิดแต่ขาผมหนักขึ้นเรื่อย ๆ เร่งไม่ออกเลย กิโลเมตรที่ 18 เหมือนกับว่าจะไม่มีวันมาถึง ป้ายกิโลเมตรที่ 20 วางอยู่คู่กับ ป้ายกิโลเมตรที่ 40 ของมาราธอน เห้ย มันเหลืออีก 1 หรือ 2 กิโลกันแน่วะเนีี่ย

เสียงของเส้นชัยได้ยินมาไกล แต่แล้วเส้นทางวิ่งก็พาผมห่างออกไปอีกครั้ง ขาของผมหนักขึ้นเรื่อย ๆ ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าเป็นเพราะใจหรือร่างกาย มองดูเวลา ผมคำนวณไม่ถูกแล้วว่าผมจะทำได้หรือไม่กับเป้าหมาย ในที่สุดกำแพงอันสวยงามก็อยู่ตรงหน้า ผมพยายามเร่งความเร็ว แต่ก็พบว่าหลาย ๆ คนเริ่มแซงผมราวกับผมยืนอยู่กับที่ เวลาสองชั่วโมงได้ผ่านไปแล้ว เป้าหมายผมพังทลายไปแล้ว ผมวิ่งเข้าเส้นชัย ด้วยเวลา 2:02

ผมค่อย ๆ เดินไปหาน้ำ ผลไม้ ในใจก่นด่าอยู่ตลอดเวลา จุดให้น้ำที่เส้นชัยมีน้อยนิด จนต้องต่อแถวรับน้ำกัน สปอนเซอร์น้ำเกลือแร่แกเตอเรต มีเพียงหนึ่งบูธที่แถวยาวเหมือนซื้อ Krispy Creme เต้นท์ผลไม้ซ่อนอยู่ในหลืบ แยกกันกับเต้นสปอนเซอร์แมคโดนัลที่ต้องเดินต่อไปอีกเกือบร้อยเมตร เป็นการทรมานคนที่เพิ่งวิ่งมา 21 กม. เป็นอย่างยิ่ง ไม่ต้องคิดถึงกลุ่มที่วิ่งมาแล้ว 42.195 กม. ผมมุ่งหน้าไปรับกระเป๋า น้ำเพียงหนึ่งแก้วที่รับมาได้จากการต่อแถวยาว ๆ หมดไปนานแล้ว ผมเดินตรงไปจนสุดทาง หาสนามหญ้าที่มุมเลี้ยวที่นักวิ่งที่เหลือทุกคนจะต้องวิ่งผ่าน ผมนั่งลงอย่างหมดแรง ตามองที่ผลไม้แจก พร้อมกับเบอร์เกอร์ ในใจได้แต่คิดว่าแล้วเราจะกระเดือกมันลงไปได้อย่างไร ในเมื่อไม่มีน้ำให้กิน ผมคว้าแอปเปิ้ลในถุง กัดทันทีเพื่อประทังความกระหาย effect ของบริการนวดแถมขายประกัน รวมไปถึงสปอนเซอร์น้ำมันมวย ค่อย ๆ หายไป ความปวดเมื่อยกลับคืนมา ผมได้แต่นั่งรอเวลาให้เพื่อน ๆ ที่ชวน ๆ กันมาวิ่งระยะทางต่าง ๆ กันมารวมตัวกันเพื่อชักภาพประวัติศาสตร์วันนี้ไว้ ก่อนจะแยกย้ายกันกลับบ้านไปพักผ่อน

 

Walking the path!

หกโมงเช้าผมงัวเงียขึ้นมาเพื่อกดปุ่ม snooze บน iPhone 4s เพื่อจะขอต่อเวลานอนอีกสักห้านาที แต่แล้วก็ต้องเปลี่ยนใจเมื่อเห็นเจ้าตัวเล็กลูก ๆ ของผมเริ่มขยับตัว ผมจึงเปลื่ยนใจกดปุ่ม Awake! เสียงต้อนรับเบา ๆ จากมือถือ “Good morning, you have logged 5 hours and 47 minutes for the night” ผมก้าวขึ้นชั่งน้ำหนักเพื่อเก็บน้ำหนักตัวที่แม่นยำที่สุดของวัน เมื่อกระเพาะอาหารได้ทำหน้าที่ของมันอย่างหนักมาตลอดทั้งคืน 57.8 Kg Fat 13% แล้วรี่ไปล้างหน้าล้างตา ระหว่างที่ผมแปรงฟันอยู่นั้น ข้อมูลการนอน และน้ำหนักตัวพร้อมปริมาณไขมัน กำลังไหลผ่าน Wifi และคืบคลานเข้าสู่อินเตอร์เนท ไหลเข้าไปเก็บอยู่ในเซิร์ฟเวอร์เครื่องใดเครื่องหนึ่งที่อาจจะอยู่ห่างจากห้องนอนของผมกว่า 10,000 กิโลเมตร

ผมค่อย ๆ บรรจงแต่งชุดวิ่งที่เพิ่งได้ลองใช้มาไม่นานนักของอดิดาส ที่มีส่วนผสมของเส้นใย silver เพื่อช่วยในการถ่ายเทความร้อนออกจากร่างกาย ผมว่าเป็นไปไม่ได้หรอก ผมซื้อมันมาเพียงเพราะสีส้มสะท้อนแสง น่าจะทำให้รถราต่าง ๆ เห็นผมได้หลาย ๆ กิโลล่วงหน้า วันนี้ตามตารางซ้อมของผมคือวิ่งสบาย ๆ เป็นเวลา 1 ชั่วโมง ซึ่งน่าจะกินระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร หลังจากใส่รองเท้า Fivefingers Bikila เทรนด์ล่าสุดจากออสเตรเลีย ที่ผมต้องแสวงหามาอย่างยากลำบาก เพียงเพื่อจะมีโอกาสกลับมาวิ่งอีกครั้งหลังจากถูกโรคกระดูกสันหลังเสื่อมเล่นงานจนต้องเลิกวิ่งไปนานกว่า 5 ปี เรียบร้อยแล้วผมก็คว้าปลอกแขนขนาดเทอะทะแล้วยัด iPhone 4s เข้าไปอย่างทุลักทุเล เหลือบดูนาฬิกาบอกเวลา 6:30 น. ผมคิดในใจ “หนึ่งชั่วโมงโดยไม่ได้กินน้ำเลย จะทำเวลาได้เท่าไรกัน”

ผมหันไปเปิด Runkeeper และบอกกับโค้ชของผมว่าช่วยดู pace ให้ผมด้วยนะ เป้าหมาย 5:30 นาทีต่อกิโลเมตร ก่อนที่จะกด start และออกวิ่งไปตามถนนสายเอเซียในทันที คร่ำคิดถึงเสียงเพลงที่กำลังกรอกหูระหว่างวิ่ง ใจหนึ่งก็ยินดีกับเสียงเพลงที่บดบังเสียงรถยนต์ที่วิ่งไปมา อีกใจก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่าจังหวะเพลงของ Oscar Peterson มันช้ากว่า pace เป้าหมายของผมมากเกินไปรึเปล่า ในขณะเดียวกันที่หน้า Wall บน Facebook ของผม ก็มี notification ให้เพื่อน ๆ ทางกายภาพที่กระจายกันอยู่ทั่วโลก ได้รู้ว่าเช้านี้ผมได้ออกกำลังกายอีกวัน การประกาศได้หลาย ๆ คนรับรู้กิจกรรมที่รบกวนเวลานอนของผมนั้น เป็นกลไกสำคัญอย่างหนึ่งที่คอยผลักดันให้ผมตื่นขึ้นมาได้ในวันต่อ ๆ ไป

ผมวิ่งผ่าน Big C สาขาที่ขายดีที่สุดในประเทศ ก่อนจะไปกลับตัวที่หน้าบ้านที่กำลังจะเป็นบ้านที่ใหญ่ที่สุดหลังหนึ่งในปัตตานีด้วยพื้นที่ใช้สอยกว่า 2,000 ตารางเมตร โค้ชก็ส่งเสียงเตือนผมมาแบบเรียบ ๆ “You are behind your target pace 45 seconds” อืม Oscar Peterson ทำให้เราวิ่งช้าจริง ๆ เวลาผ่านไปเพียง 15 นาที เรายังทำความเร็วเพิ่มได้อีก ผมหาข้ออ้างในใจ เกือบ 7 โมงเช้าแล้ว ลูก ๆ ของผมคงตื่นแล้ว จะมีใครแวะเข้ามาดูว่าผมอยู่ที่ไหนรึเปล่าเนี่ย Runkeeper คุยกับระบบดาวเทียม GPS ระบุพิกัดของผม และส่งตำแหน่งปัจจุบันแบบสด ๆ ไปในหน้าเวปของผม ที่ลูก ๆ สามารถเข้ามาดูได้ตลอดเวลา พร้อมทั้งใช้ข้อมูลในการคำนวณระยะทาง ความเร็ว และ pace ส่งให้โค้ชคอยเตือนผมเหมือนเมื่อเสี้่ยววินาทีที่ผ่านมา

เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็วผมวิ่งข้ามทางม้าลายสุดท้าย จากนี้เป็นทางตรงเข้าสู่โรงแรมซีเอสปัตตานี บ้านผมอยู่ที่นั่น “50 minutes distance 8.87 kilometers average pace 5:48 minutes. You are behind your target pace 18 seconds” ไอ๊หยา จะไปทันได้ไงเนี่ย ผมคิดในใจ เสียงเพลงเปลี่ยนไปเป็น Black Eyes Peas จังหวะกระชับ แต่ขาผมไม่อยากทำตามคำสั่งผมอีกต่อไป หิวน้ำมาก ๆ ร่างกายผมบอกอย่างนั้น ผมค่อย ๆ เลี้ยวเข้าสู่บริเวณหมู่บ้านออมทอง 55 minutes เสียงสวรรค์จาก iPhone 4s ผมตัดสินใจเดินเพื่อ warm down และไม่ได้ยินอะไรต่อ ๆ ไปที่โค้ชพยายามบอกผมต่อจากนั้น ในที่สุด “1 hour” เสียงแว่ว ที่ผมรอคอย ผมรีบถอดปลอกแขน และเอื้อมไปกดปุ่ม Stop ที่หน้า app Runkeeper พยายามไม่ฟังสรุปผลที่พยายามเตือนผมว่า 6:02 นาทีต่อกิโลเมตรนะที่ผมทำได้ ในขณะเดียวกัน ผมก็พิมพ์ข้อมูลเพื่อบันทึกการออกกำลังกายวันนี้ “1:47 half marathon. I’m after you.” เป้าหมายที่แท้จริงของผม 5:30 เป็นระยะทาง 21 กิโลเมตร
ผมขยับขาเล็ก ๆ น้อย ๆ ก่อนที่จะเปลี่ยนไปใช้ app Fleetlyทันทีที่เปิดขึ้นมาก็ได้ชื่นใจ “วันนี้คุณได้ 38 คะแนน ตอนนี้คุณแซง Amber C. ในตารางคะแนนรวมแล้ว” ถ้าหากว่าผมจะแปลเป็นภาษาไทย นั่นหมายความว่าข้อมูลจาก Runkeeper ส่งเข้าไปถึง Fleetly เรียบร้อยแล้ว ผมเลือก Stretching Exercise แล้วทำตามรายการที่มีมาให้ เมื่อเสร็จสิ้น Fleetly ให้คะแนนผมเพิ่มอีกหนึ่งคะแนน ด้วยความพึงพอใจ ผมหยิบ iPhone 4s เข้าบ้าน แล้วมุ่งหน้าไปอาบน้ำ

เมื่อแต่งตัวเสร็จเรียบร้อย ก็ลงมาหน้าโต๊ะทำงาน เพื่อที่จะเห็น 6 updates ที่ไอคอน Facebook ของผม เพื่อน ๆ ผมเริ่มตื่นกันบ้างแล้ว ผมเข้าไปทักทาย เล็กน้อย ก่อนที่จะเปลี่ยนเข้าไปดูหน้าเวปของ Runkeeper เพื่อตรวจสอบผลรวมของการออกกำลังกายทั้งสัปดาห์ของผม อืม เมื่อเช้านี้เป็นระยะทางที่ยาวที่สุดในสัปดาห์ นานที่สุดในสัปดาห์ ไม่เลวเลยทีเดียว แม้ว่าจะช้าไปหน่อย ผมแอบเหลือบไปเห็นเพื่อนของผม log การออกกำลังกายก่อนหน้าผมไปแล้ว เมื่อคืนที่ผ่านมา 18 events ในเดือนนี้ นำหน้าผมอยู่ 2 events ผมคิดในใจเดือนนี้คงตามไม่ทัน แต่ก็แอบดีใจว่ามีเป้าหมายให้พุ่งชนมันดีกว่าเป็นผู้นำอยู่คนเดียว

2 ชั่วโมงแรกของผมในวันนี้ ผ่านไปอย่างรวดเร็ว เมื่อมองย้อนกลับไป ทำให้ผมนึกถึงประโยคหนึ่งในเรื่อง Matrix ภาพยนต์เรื่องโปรดของผมเรื่องหนึ่ง มอเฟียส ได้พูดไว้ว่า “It’s different between knowing the path and walking the path.” นี่เรากำลังจะเห็นการเกิดขึ้นของ The Matrix อยู่หรือไม่ ผมกำลัง walking the path แล้ว plugging in and out กับเจ้า Matrix อยู่หรือเปล่า ว่าแล้วผมก็เอื้อมมือไปหยิบ iPhone 4s ปล่อยให้ notification ของ Facebook ที่เพื่อนผมบางคนคงเริ่มตอบกลับมาค้างไว้อยู่อย่างนั้น ขณะที่ในใจก็พลางคิดว่า เอาไว้ค่อยไปตอบตอนกินข้าวเข้าก็แล้วกัน