Endurance : Why we do what we do?

สัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อน ๆ หลายคนมีกิจกรรม Endurance (ต่อจากนี้ผมจะเรียกมันว่า อดทน) ที่แตกต่าง แต่มีความเข้มข้นไม่แพ้กัน มาเล่าสู่กันฟัง ผมนั่งไล่อ่านกิจกรรมของทุก ๆ คน ที่อธิบายถึงความรู้สึก เล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้น แชร์กันไปมาเต็มไปด้วยความสุข และตื้นตัน ผมอดไม่ได้ที่จะแสดงความเห็นว่าผมรู้สึกมีความสุขที่ได้เห็นหลาย ๆ คนมีความสุข โดยใช้การอธิบายในลักษณะ “ความสุขบนความทรมาน” ซึ่งพบว่ามีหลาย ๆ คน รวมถึงคู่หูเพื่อนซี้ในกิจกรรมอดทนของผมค่อนข้างไม่สบายใจกับทำว่า “ทรมาน” และต้องการที่จะแสดงออกว่านี่ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นและเหตุผลที่เขาเหล่านั้นเลือกทำกิจกรรมอดทน จากการแลกเปลี่ยนในกระทู้นั้น ทำให้ผมมาถามตัวเองอีกครั้ง ทั้ง ๆ ที่ถามตัวเองมาหลายต่อหลายครั้งแล้วตลอดยี่สิบปีที่ผ่านมา ว่าเราทำกิจกรรมอดทนเหล่านี้ไปเพื่ออะไร

TRI NCB

แต่ก่อนอื่นคงต้องท้าวความไปถึงครั้งแรกที่ผมใช้คำว่า “ทรมาน” เพื่อสื่อถึงความรู้สึกบางช่วงในกิจกรรมเหล่านี้ มันเกิดเมื่อเพื่อนของผมชวนให้ไปปั่นบนเขาใหญ่ ผมจึงเลือกช่วงที่ผมต้องไปแข่งขัน TNF100 เป็นวันที่จะปั่นเขาใหญ่ โดยวันแรกวิ่ง TNF50K แล้ววันที่สองปั่นเขาใหญ่ ด่านชนด่าน 100K เพื่อที่จะชักชวนเพื่อน ๆ มาร่วมสนุกกัน ผมจึงคิดที่จะหาชื่อที่เหมาะสมให้กับกิจกรรมนี้ ในช่วงนั้นผมซ้อมเทรนเนอร์กับ DVD Series SufferFest ซึ่งผมรู้สึกว่ามันสื่อตรงกับความรู้สึกของผมจึงคิดที่จะแปลความหมายนี้ออกมา เลือกมาได้ว่า “ทรมานบันเทิง” เพื่อสื่อถึงกิจกรรมนี้ หลังจากนั้นผมใช้คำว่า “ทรมาน” อีกหลายครั้ง เพื่อสื่อถึงกิจกรรมอดทนที่เราชาวเผ่า V40 ทำกัน

IMG_1140

สำหรับผมคำว่า “ทรมาน” มันไม่ได้มีความหมายเป็นลบเลย เพราะที่มาจากความว่า Suffer ที่ผมแปลมานั้น ผมนึกไปถึง “ทุกข์” ในศาสนาตลอดเวลา ผมมองมันคล้าย ๆ กับว่ากิจกรรมอดทนนั้น คือการธุดงค์ ที่นำ “ทุกข์” มาพิจารณา ส่วนกิจกรรมอดทนนั้นนำ “ทรมาน” มาพิจารณา มันเกิดขึ้นกับผมในทุก ๆ ครั้ง และผมใช้มันในทำนองนี้ในทุก ๆ ครั้ง แต่ไม่เคยคิดว่าคำ ๆ นี้จะบาดใจใครหลาย ๆ คน โดยที่ผมไม่ได้ตั้งใจ ดังนั้นผมจึงตั้งใจที่จะเขียนมันออกมาว่าสำหรับผมแล้ว ผมเห็นอะไร และทำไปทำไม โดยไม่แน่ใจว่าเมื่อจบบทความนี้ผมจะได้คำตอบหรือไม่ ความเป็นนักวิทยาศาสตร์ในตัวผมสอนให้ผมบันทึกกระบวนการ และให้ความสำคัญกับมันเท่า ๆ กับผลลัพธ์

IMG_2582

เมื่อพิจารณาถึงสิ่งที่เกิดขึ้นที่ถูกสื่อว่า “ทรมาน” มันมีอะไรเกิดขึ้นบ้างในกิจกรรมอดทน สำหรับผม ความร้อน ความเหนื่อย ความเมื่อยล้า คำที่เรียกง่าย ๆ ว่า “หมด” หรือ exhaustion เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแน่ ๆ ในกิจกรรมอดทนทั้งหลาย ในมุมมองของเปลือกภายนอก แต่ถ้าพิจารณาลึกเข้าไปในจิตใจ ผมจะเห็นความท้อใจ การยอมแพ้ กำลังใจ ความหึกเหิม ในความต่อเนื่องของความรู้สึกทางร่างกายและจิตใจนั้น บางครั้งมันปวดร้าวรุนแรงจนผมเองต้องตั้งคำถามว่า ผมมันทำมันไปทำไม แม้มันจะไม่บ่อย แต่คำตอบของคำถามในเวลานั้นมันจะกำหนดผลลัพธ์ของกิจกรรมไม่ว่าในช่วงเวลาก่อนทำกิจกรรมนั้นเราต้องการผลลัพธ์เช่นใด

IMG_3711

ผมวิ่ง 10K เพราะต้องการลบความคิดว่านักว่ายน้ำ (จริง ๆ แค่สมาชิกชมรมว่ายน้ำ) จะไม่ถนัดวิ่ง ผมลง 21K เพราะอยากเอาความฟิตที่เหลือจาก 10K มาใช้ให้เป็นประโยชน์ ผมลงทวิกีฬาเพราะอยากปั่นจักรยานที่ผมใช้มามหาลัยแบบเร็ว ๆ สุดชีวิตกะเขามั่ง ผมลงไตรกีฬาเพราะผมเป็นนักว่ายน้ำ กิจกรรมอดทนของผมนั้นถูกขับมาจากความอยากรู้ และความต้องการขยายข้อจำกัด รวมไปถึงใช้ทรัพยากร อุปกรณ์ และทักษะทั้งหมดที่ผมมีอย่างคุ้มค่า ซึ่งมันเป็นนิสัยส่วนตัวที่จะใช้ความคุ้มค่า หรือประสิทธิภาพมากำหนดสิ่งที่ทำ ผมใช้เวลาอยู่กับมันสิบกว่าปี วิ่งไล่ตามสถิติต่าง ๆ ปีหน้ามันต้องเร็วขึ้นดีขึ้น ตำแหน่งสูงขึ้น แม้ว่าจะไม่เคยได้ถ้วยกับเขาเลย แต่ก็สามารถนำตัวเองไปอยู่ในอันดับ Top 5 Top 10 ได้ทั้งในสนามประเทศไทย และต่างประเทศ ในขณะที่สถิติก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ จนไปพีคที่อายุประมาณ 30 ก่อนที่จะค่อย ๆ คงตัวและช้าลงในที่สุด

IMG_7410

แน่นอนว่าผมคุ้นเคยกับความเจ็บปวด ตะคริว ไม่ใช่เรื่องแปลก และหลาย ๆ ครั้งไม่สามารถชะลอผมลงได้มากนัก อัดจนอาเจียรข้างทาง หรือจำเป็นต้องกลืนมันกลับเข้าไป เพราะอยู่ในระหว่างการแข่งขัน ไม่ใช่เรื่องแปลกอีกเช่นกัน ถ้าถามว่ามันจะใช้คำว่า “ทรมาน” ได้มั้ยสำหรับผม ผมเองก็เห็นด้วยกับเพื่อน ๆ ที่ไม่ชอบคำ ๆ นี้ว่าผมไม่อยากเรียกมันว่า “ทรมาน” ผมต้องยอมรับว่ามันอาจจะเจ็บปวด ผมไม่ได้ชอบมัน ไม่ได้เสพติด แต่ระหว่างซ้อมจนถึงวันแข่งและระหว่างแข่งนั้นผมทำทุกอย่างเพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้น แต่แม้ว่าผมรู้อยู่แก่ใจว่ามันจะเกิดขึ้นอีกถ้าผมต้องการสถิติที่ดีขึ้นในทุก ๆ ครั้งที่ผมลงแข่งขัน แต่เมื่อจุดสูงสุดของผมเหมือนจะผ่านพ้นไปแล้ว ความที่ผมเองอาจจะต้องยอมแพ้ให้กับตัวเองในวัยหนุ่ม เปลี่ยนมาแข่งขันกับคนรอบข้าง เปลี่ยนมาตั้งเป้าหมายใหม่ ๆ สถิติใหม่ ๆ ที่เหมาะสมกับกลุ่ม V40 อย่างผม ความกดดันในระดับที่จะต้อง “ทรมาน” มันก็ค่อย ๆ หมดไปจนวันหนึ่งผมเองก็เริ่มหาเป้าหมายใหม่ให้ตนเอง

IMG_7455

วันหนึ่งเพื่อนสนิทสมัยเรียนมัธยมมาชวนให้ตั้งทีมเพื่อวิ่งผลัดข้ามประเทศ ที่เรียกว่า O2O ผมคิดว่ามันฟังดูแล้วตื่นเต้นท้าทายดี จึงพยายามฟอร์มทีมขึ้นมาซึ่งก็ไม่ง่ายนักเพราะไอเดียที่จะวิ่งกันในเวลาเที่ยง วิ่งกันข้ามวันข้ามคืน วิ่งผลัดระยะสั้น ๆ ที่รวมระยะของแต่ละคนแล้วไม่เกิน 30K นั้นมันดูช่างไม่ “ท้าทาย” เอาเสียเลย แต่โชคดีที่ทีมได้ถือกำเนิดขึ้น และผมได้พบกับเหตุผลใหม่ของกิจกรรมอดทด กิจกรรมนี้ทำมาแล้วสองปี ได้ทำให้ผมได้ไปสนิทอีกครั้งกับเพื่อนเก่า ๆ ที่ร้างราจากกันมานาน กิจกรรมนี้ถือเป็นต้นกำเนิดของทีม Very Forty ที่เพื่อนในกลุ่มนี้อยากมีการรวมตัวเพื่อเข้าแข่งขันไตรกีฬาในรายการกรุงเทพไตรกีฬา ผลลัพธ์ของกิจกรรมที่ผมได้ดูเหมือนว่าจะสร้างผลกระทบได้กว้างขวางขึ้น มีเพื่อน ๆ หลาย ๆ คนมารวมตัวกันแสดงจุดยืน สร้างตัวตน แสดงตัวเป็นแบบอย่างของการใช้ชีวิต active ที่ผมต้องรับว่าเป็นอีกความสุขหนึ่งที่ทำให้ผมมุ่งมั่นทำกิจกรรมเหล่านี้มากขึ้นเรื่อย ๆ แม้ว่าการเผยตัวตนในครั้งนี้เริ่มทำให้อีกหลาย ๆ คนมองเห็นผมเป็นคน “บ้า”

L1010355

ผมเริ่มร่วมการแข่งขันจักรยานทางไกล เริ่มขยายระทางทางของไตรกีฬา และเริ่มสนใจระยะมาราธอน เนื่องจากเป็นระยะทางใหม่ ๆ ทุก ๆ ครั้ง ทุก ๆ ก้าวที่ผมทำลงไปมันเป็นสถิติใหม่ไปทั้งสิ้น แม้ว่าผมยังไม่เห็นเหตุผลที่ชัดเจนในการทำมันลงไป ผมยังได้ป้อนอาหาร ego ส่วนตัวของผมด้วยสถิติใหม่ ๆ เช่น Sub5 Marathon, 6:08 Hr Half-Ironman เป็นต้น จนวันหนึ่งเพื่อนแจ๊คแนะนำให้ผมรู้จักกับ Festive500 ที่ต้องปั่น 500K ภายใน 8 วันช่วงปลายปี สำหรับคนปั่นระยะ 80-100K การที่จะทำแบบนี้ต่อเนื่องทุก ๆ วันสร้างความท้าทายใหม่ ๆ ให้กับผม และก็ไม่ผิดหวังเมื่อผมร่วมคำท้าแล้วต้องถามกับตัวเองวันแล้ววันเล่าที่ต้องตื่นมาปั่นระยะ 80-100K โดยไม่สนว่าฝนจะตกหรือแดดจะออก เพื่อนคนเดียวกันนี้ก็แนะนำให้ผมรู้จักกับ Audax กิจกรรมอดทนในรูปแบบใหม่ที่ไม่ต้องแข่งกับใคร ไม่สนใจสถิติ มาด้วยใจกับคิวชีทเป็นพอ ผมกระโดดเข้าหาแล้วก็ติดมันงอมแงม มันเป็นการปั่นระยะที่ไกลมากขึ้น 200 300 400 600 ซึ่งต้องมีเรื่องของการกิน การพัก การนอนเข้ามาเป็นส่วนร่วมของความท้าทายนั้น ๆ ด้วย ดูเหมือนว่าในช่วงนี้ผมเริ่มได้เป้าหมายใหม่ของกิจกรรมอดทน นั่นก็คือ “ท้าทาย”

IMG_6245

อย่างไรก็ตามยังมีคำถามจากบุคคลภายนอกอีกในเรื่องของค่าใช้จ่าย นอกเหนือจากความเหน็ดเหนื่อยแล้ว ยังไม่ค่าใช้จ่ายในกิจกรรมเข้ามาเกี่ยวข้องอีกเยอะมาก ทำให้ผมเริ่มมองในมุมมองของทางด้านการเงินบ้าง แต่ไม่ทราบว่ามันมีอะไรที่ดลใจให้ผมจัดการกับปัญหาด้วยการตั้งกองทุนในชื่อลูกสาวที่เสียไปของผม ชื่อว่า กองทุนเพื่อซูริ ในการที่จะระดมเงินไปบริจาคให้กับหน่วย NICU โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ สถานที่ที่ลูกสาวคนนี้ของผมถือกำเนิดและเสียชีวิต ด้วยความหวังไกล ๆ ว่าเงินเหล่านี้อาจจะช่วยให้ลูกตัวน้อยของคนอื่นมีโอกาสกลับบ้านไม่เป็นเช่นลูกสาวของผม ผมจึงพยายามสร้างความสัมพันธ์ุระหว่างกิจกรรมอดทนและเงินบริจาคเพื่อกองทุนขึ้นในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อที่จะเป็นคำตอบหนึ่งในด้านการเงิน ซึ่งหลาย ๆ กลุ่มที่มีความเห็นตรงกันก็ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ ยกตัวอย่างเช่น กลุ่ม Run4ManyReasons ของพี่ย้ง เป็นต้น

IronmanLangkawiForZuri

ความ “ท้าทาย” ใหม่เข้ามาอีกครั้งเมื่อผมต้องเข้ารักษาตับอักเสบด้วยการฉีดยาอินเตอฟูรอน 48 เข็ม ผมจึงสมัครแข่งขันไอรอนแมนทันที แม้ว่าผมจะไม่คิดว่าจะลงรายการระยะนี้ในสภาพที่ผมไม่แน่ใจว่าผมสามารถวิ่งได้ไกลเพียงใด ผมดีใจที่การตัดสินใจพุ่งเข้าชนกับโรคร้ายและการรักษาอันหฤโหดนั้นได้สร้างแบบอย่างและกำลังใจให้กับผู้ป่วย หรือผู้พักฟื้นอีกหลายคน แม้ว่าในด้านของการวิ่งนั้น หลังจากผมแตะระยะมาราธอนแรกแล้ว ผมก็ขยายเป็นระยะอัลตราที่ TNF 50K แต่ทำให้อาการบาดเจ็บที่กระดูกสันหลังกำเริบ การวิ่งระยะ 10K 15K 21K กลายเป็นความท้าทายอีกครั้ง ขอแค่เพียงได้วิ่งครบระยะ ผมเก็บความท้าทายแบบผู้ป่วยกายภาพของผมอย่างเงียบ ๆ เพราะความผิดหวังในการ DNF ครั้งแรกในชีวิตที่สนามไอรอนแมนลังกาวี ก่อนที่จะประกาศชนกับมันอีกครั้งด้วยการวิ่งจอมบึงมาราธอน เพียงแต่บอกคนรอบข้างว่าผมต้องการวิ่งช้า ๆ ในใจเพียงคิดว่าต้องการวิ่งให้ถึงเป็นเท่านั้น ซึ่งในเวลานี้ผมต้องยอมรับว่า มันยังคงเป็นความ “ท้าทาย” สำหรับผมอยู่ดี

Week2

ในขณะเดียวกันที่ผมไม่สามารถเร่งความเร็วได้ดั่งใจ ผมจึงเริ่มหาความแปลกใหม่เพื่อมาเติมเต็มให้จิตใจผมอีกครั้งในกิจกรรมอดทนที่แทบไม่มีความหวังจะสร้างสถิติ เมื่อความท้าทายลดคุณค่าเหลือเพียงที่จะ “วิ่ง” ได้จนครบระยะ ผมเริ่มอาสาวิ่งเก็บขยะ ในงานภูเก็ตมาราธอน ในระยะฮาร์ฟ ที่ทำให้ผมได้รู้จักกับพี่ย้ง กล้วยหอม ผมเข็นรถ trailer ขนลูก ๆ สัมผัสบรรยากาศสงลามาราธอนในระยะฮาร์ฟ และสุดท้ายวิ่งแจกตุ๊กตาในงานจอมบึงมาราธอน ที่ระยะฟูลมาราธอน แม้ว่า ณ เวลานี้ ผมยังไม่สามารถ “วิ่ง” ได้จนครบระยะ แต่ผมก้าวข้ามความ “ท้าทาย” ในแต่ละขั้นมาเรื่อย ๆ ช้า ๆ อย่างมั่นคง

L1040269

ผมร่ายยาวมาจนถึงย่อหน้าสุดท้าย ผมเองยังไม่แน่ใจว่าผมได้คำตอบหรือยัง ว่าผมทำกิจกรรมอดทนเหล่านี้ไปทำไม มีความเป็นไปได้ว่าผมอาจจะต้องค้นหามันไปตลอดชีวิต เฉกเช่นคำถามที่ว่า มนุษย์เราเกิดมาเพื่ออะไร แม้ว่าผมจะเล่าให้หลาย ๆ คนด้วยเหตุผลต่าง ๆ กัน ไม่ว่าอาการเจ็บหลังที่กำเริบจนไม่สามารถอุ้มลูกชายคนแรกอาบน้ำได้ สุขภาพที่ย่ำแย่จากการโหมทำงานหนักจนแม้กระทั่งเดินขึ้นบันไดหอบ หรือการที่จะสร้างแบบอย่างให้กับลูก ๆ ในการใช้ชีวิตแบบมีสุขภาพ ไปจนกระทั่งเหตุผลเนื่องจากเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่พัฒนาจนอายุเฉลี่ยเรายาวนานขึ้นและผมไม่ต้องการที่จะใช้ช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตบนเตียง เหตุผลเหล่านี้อาจจะเติมเต็มให้กับผู้สงสัย ผู้ตั้งคำถาม แต่ผมรู้ดีว่าสำหรับผมนี่มันเป็นเพียงผลพลอยได้  Why we do what we do? The answer my friend is blowing in the wind.           

Samui Triathlon/Duathlon : The Good, The Bad and The Beauty

สมุยไตรกีฬา 2012 ผ่านไปเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2012 ที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เป็นครั้งแรกและถือว่าสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ มั่นใจว่าจะไม่ใช่ครั้งสุดท้าย  นักกีฬาระดับแนวหน้าของโลก ไม่ว่าจะเป็นแชมป์ไอรอนแมนหลากหลายสนามอย่าง Cameron Brown รวมทั้งรายการ World Championship ที่ Hawaii อย่าง Farris Al Sultan หรือเจ้าของสถิติโลกในปัจจุบัน Marino Vannhoenacker

David Dellow ผู้ชนะในวันนั้นเขียนไว้ในบล๊อกของเขา “Coming into the 15km turn around point I crossed paths with Faris – a world and European ironman champion, I took the turn and 30 seconds later crossed paths with Marino vanhoenacker – the current ironman world record holder, 30 seconds later I crossed paths with Aaron Farlow – 2 time iron distance champion and then 30 seconds later I saw Marcel Zamora – 5 time ironman champion. I was feeling good at the turn and I thought I was in with a chance of the win but I knew I’d have my work cut out for me with the blokes that were around.” คงทำให้เห็นภาพความดุเดือดของการแข่งขันครั้งนี้

ในฝ่ายหญิงก็มี Big names อย่าง Caroline Steffen หรือ legend อย่าง Belinda Granger ในวันนั้นไม่ต่างกับรายการมาสเตอร์ใหญ่ ๆ ของโลก เมื่อเสริมกับบรรยากาศในเดือนที่ร้อนที่สุดของประเทศไทย อากาศร้อนชื้นอย่างเกาะเมืองร้อน ทำให้สมุยไตรกีฬาถูกกล่าวขวัญถึงอย่างมากมายในโลกไซเบอร์ในแวดวงของนักไตรกีฬาชั้นนำของโลก (โปรฯพูดถึงสมุยไตรกีฬา)  สมุยไตรกีฬาได้ถูกบันทึกลงในปฏิทินของไตรกีฬาโลกแล้วอย่างไม่ต้องสงสัย (Video Intoduction)

ด้วยการเลือกระยะทางไตรกีฬาในระยะทาเกือบเท่ากับระยะ Ironman คือ ว่ายน้ำ 4000 เมตร จักรยาน 122.65 กม. และวิ่ง 30 กม. ซึ่งเป็นระยะทางยาวที่สุดในพื้นที่เอเซียเปซิฟิก แม้ว่าการจัดรายการกีฬาในสถานที่ท่องเที่ยวชั้นนำของโลกกำลังเป็นเทรนด์สำคัญที่แหล่งท่องเที่ยว สร้างอีเวนท์เหล่านี้ขึ้นเพื่อเป็นหนึ่งในแรงดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งนักกีฬาและผู้ชม ที่สำคัญบรรยากาศของความเป็นนานาชาติที่จะถูกสร้างผ่านกิจกรรมกีฬาระดับโลก ไม่แปลกที่เกาะสมุยจึงต้องการรายการกีฬาที่สำคัญนี้เช่นกัน แต่เกาะสมุยมีเป้าหมายที่สูงกว่านั้น ความตั้งใจของเทศบาลสมุยที่จะปักหมุดที่เกาะสมุยลงบนแผนที่ไตรกีฬาโลก และต้องการเป็นหนึ่งในรายการที่นักกีฬาทุกคนต้องเข้าร่วม (ความตั้งใจของนายกฯสมุย)

ไตรกีฬาเป็นกีฬาเพียงไม่กี่ประเภทที่ให้โอกาสนักกีฬามือสมัครเล่นสามารถเข้าร่วมแข่งขันในสนามเดียวกัน พร้อม ๆ กันกับมือหนึ่งของโลก ไตรกีฬาเป็นกีฬาสำหรับ participant มากกว่าสำหรับ spectator และต้องการ Amatuer มากกว่า Professional ในสิบปีที่ผ่านมาไตรกีฬาเป็นกีฬาที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก จากจุดเริ่มต้นถึงวันที่บรรจุลงในโอลิมปิก จากผู้เริ่มต้นเพียงไม่เกินสิบคนจนปัจจุบันมีนักกีฬาไตรกีฬาที่ลงทะเบียนเป็นหลักล้านคน จากเริ่มต้นที่เป็นกีฬายอดนิยมสำหรับชนชั้นกลางอย่างทนาย แพทย์ วิศวกร เนื่องจากการลงทุนเริ่มต้นที่สูง ในปัจจุบันมีหลายคนกระโดดลงมาลงทุนในระดับสูงเช่นนี้แม้ว่าจะรายได้ที่มีอาจจะต้องใช้เวลานับปีกว่าจะได้จักรยานที่ใช้ในการแข่งขันกีฬาที่รัก และที่สำคัญไตรกีฬาไม่ใช่กีฬาเล่น ๆ ที่จะชวนเพื่อมาเล่นเช้าวันอาทิตย์เพื่อสุขภาพ แต่ไตรกีฬาต้องเข้าแข่งขัน ต้องเดินทาง ทั้งหมดนี้ทำให้ไตรกีฬาไม่เป็นเพียงกีฬา ไม่เป็นเพียงงานอดิเรก แต่เป็น life style ที่แพงมากเลยทีเดียว

ทันทีที่สมุยจัดไตรกีฬา ผมก็ตัดสินใจไปในทันที ด้วยเหตุผลเดียวกันกับรายการที่ภูเก็ต การได้เดินทางไปพักผ่อนสองสามวันก่อนร่วมแข่งขันกีฬาที่ตัวเองรัก กับนักกีฬาระดับโลกที่ตัวเองคลั่งไคล้ ในสถานที่ที่หลาย ๆ คนในโลกเรียกมันว่าสวรรค์ แล้วผมจะพลาดมันได้อย่างไร อย่างไรก็ตามสำหรับ long distance triathlon กับครั้งแรกของผู้จัด รวมไปถึงค่าสมัครที่กระเดียดไปในทิศทางที่เรียกว่าถูก ยิ่งไปกว่านั้นผู้จัดยังเป็นคนที่คุ้นเคย ไม่ไปร่วมก็ไม่รู้จะว่าอย่างไรแล้ว แน่นอนว่าเมื่อการแข่งขันเสร็จสิ้น สิ่งต่าง ๆ ที่ขลุกขลักอยู่บ้าง หักลบกับบรรยากาศของสมุย บรรยากาศการแข่งขัน ความตั้งใจของผู้จัด ผมต้องยอมรับว่าประทับใจ และมั่นใจว่าผมจะต้องกลับไปอีกในทุก ๆ ปี ถึงแม้ว่าสมุยไตรกีฬาจะไม่ดังเปรี้ยงปร้างข้ามคืนอย่างอาบูดาบีไตรกีฬา แต่รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่สามารถปรับปรุงได้จะทำให้ good กลายเป็น great ได้อย่างง่ายดาย

ต่อไปนี้คือรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่สมุยไตรกีฬาสามารถนำไปใช้เป็นข้อคิด ถือว่าเป็นการรีวิวร์จาก weekend warrior ที่อยากกลับไปสมุยเพื่อเจอกับ the greatest traiathlon event on the gulf of Thailand

เริ่มจากกระบวนการแนะนำตัว แม้ว่าวิดีโอทั้งหมดของโครงการนี้มีการเตรียมอย่างเป็นมืออาชีพ แต่ความไม่เรียบร้อยของเวปไซท์ รวมถึง fine print ที่เน้นเรื่องการยกเลิกการแข่งขัน จะคืนเงินเพียง 50% เท่านั้น ทางเลือกในการสมัครที่ดูแปลก ๆ ที่ให้เลือกระหว่างใช้ license ของนักกีฬาที่ไม่รู้จะไปหามาจากไหน หรือใบรับรองแพทย์ที่ไม่รู้ว่าจะไปบอกหมอว่าอย่างไร แต่สุดท้ายก็มี Waiver ให้ในภายหลังที่ผมได้สมัครโดยใช้ option อีกแบบคือซื้อประกันที่ผมไม่ได้ต้องการ

เนื่องจากนักไตรกีฬามากกว่า 90% จะต้องเดินทางดังนั้นข้อมูลการเดินทาง ที่พัก เบอร์โทรศัพย์ติดต่อต้องใช้งานได้จริง แต่เท่าที่ทดลองโทรไปตามเบอร์ที่ให้ไว้กลับไม่สามารถตอบคำถามใด ๆ ได้เลยแม้ว่าคำถามที่ผมถามจะเป็นเพียง race package pickup ได้เมื่อไร และที่ใดเพียงเท่านั้น เนื่องจากข้อมูลดังกล่าวไม่ชัดเจนมาก ๆ ในข้อมูลที่มีให้ ภาษาอังกฤษในเวปไซท์เรียกได้ว่า incomprehensible อ่านแล้วไม่เข้าใจอะไรเลย แม้กระทั่งคำว่า bike check-in ที่แม้ว่าจะดูเหมือนว่าจะชัดเจนว่าต้องฝากจักรยานไว้ข้ามคืน แต่ด้วยความไม่ชัดเจนและไม่มีข้อมูลอื่นใดเพิ่มเติม ทำให้ต้องลุ้นเอาว่าจริง ๆ ผู้จัดงานต้องการอะไร และดูเหมือนว่าเจ้าหน้าที่ทั้งหมดไม่มีใครรู้เรื่องเลยไม่ว่าจะถามใคร ยกเว้นฝรั่งหนึ่งคนที่คุมการ check-in จักรยานนั่นเอง ผมต้องเดินทางกลับไปมาหลายเที่ยวกว่าจะทำอะไรให้เรียบร้อยตามที่ผู้จัดต้องการ ผมว่า race package pickup, mandatory race briefing, bike check-in อย่างน้อย ๆ สามเรื่องนี้ต้องมีข้อมูลที่ชัดเจนครับ ไม่งั้นสับสนมาก ๆ เบอร์โทรศัพย์ที่ให้ไว้ต้องเตรียมคำตอบเรื่องนี้ให้ชัดเจนและถูกต้อง

ในการนั่งฟัง race briefing ซึ่งมีการแปลระหว่างอังกฤษกับไทย มันก็ดีครับ แต่คนที่แปลเป็นไทยดูเหมือนว่าไม่ได้เตรียมตัวมาก่อนเลย เพราะไม่รู้จริง ๆ ว่ารายการจะให้ทำอะไร เวลาฟังไม่ทันก็แปลแบบข้าม ๆ มั่ว ๆ หรือบางครั้งมีการใช้ภาษาเฉพาะไตรกีฬาก็จะไปไม่เป็นเสียเลย เดาเอาว่าคนที่ฟังเอาเฉพาะภาษาไทยจะไม่รู้เรื่องเลยครับ โดยเฉพาะกฏที่สำคัญ ๆ อย่างเช่นเรื่อง non-drafting rule ที่เห็นคนไทย draft กันแหลกลาฬ ดูแล้วคนไทยเป็นคนขี้โกงมากจริง ๆ race briefing ไม่ใช่เรื่องการประชาสัมพันธ์ แต่เป็นเรื่องของกฏ กติกา มารยาท ความปลอดภัย ความช่วยเหลือ จุดให้น้ำ หรือ cut off time อะไรทำนองนี้ครับ ควรให้คนที่รู้กฏจริง ๆ มาคุยเรื่องกฏ ไม่งั้นก็มั่วอย่างที่เห็น สาวประชาสัมพันธ์ชาวไทยโม้ไปเรื่อยโดยไม่พูดถึงกฎเลยแม้แต่นิดเดียว นอกจากแปลผิด ๆ อย่างเช่น aid station แปลเป็นจุดให้น้ำแปดจุด เป็นต้น

การแข่งขันซึ่งแบ่งเป็นไตรกีฬาและทวิกีฬา แต่เลือกที่จะให้มีจุดเริ่มต้นที่แตกต่างกัน และเส้นทางจักรยานและวิ่งที่ค่อนข้างจะแตกต่างกัน แม้ว่าจะไม่มีอะไรผิดแต่ก็ทำให้การจัดการเป็นไปด้วยความยากลำบากและอาจจะเกิดการผิดพลาดขึ้นได้ง่าย และเรื่องที่ไม่น่าจะเกิดก็เกิดขึ้นเมื่อบนเส้นทางการแข่งขันของทวิกีฬาทั้งวิ่ง 10k จักรยาน 44.5k มีจุดให้น้ำอยู่เพียงจุดเดียวคือประมาณ 500 เมตรก่อนถึงเส้นชัย ในขณะที่ 5k สุดท้ายมีจุดให้น้ำเพ่ิมขึ้นอีกจุดที่ 2.5K ตามที่วางแผนไว้ ทั้งหมดเกิดขึ้นเนื่องจากการที่ต้องมีการปล่อยตัวสองจุดทำให้การดูแลภายหลังการปล่อยตัวจุดแรกถูกละเลยไป แต่โชคดีที่ว่าแม้ว่าอากาศจะร้อนมาก ๆ แต่ก็ไม่มีใครที่เกิด heat stroke ขึ้นมา (อาจตายได้) เรื่องแบบนี้คงเกิดพลาดครั้งที่สองได้ยากครับ แต่การจัดงานแบบยาก ๆ เช่นนี้มีแต่จะก่อให้เกิดความผิดพลาดที่ไม่ควรจะเกิดครับ ควรวางแผนใหม่ให้ดีครับ

ผมเห็นด้วยกับการลดขยะโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเกาะสวรรค์อย่างสมุย แต่มีหลายวิธีที่ดีกว่าที่ทางผู้จัดเลือกที่ใช้อยู่อย่างนี้ครับ หนึ่งนโยบาย bring your own cup อันนี้ตลกมาก ๆ ครับและคงโด่งดังไปทั่วโลกไปแล้ว คิดดูครับวิ่งระยะเวลา 1-3 ชั่วโมงให้พกแก้วไปตลอด จะถือไปยังไงผมเองเลือกที่จะไม่ถือเลือกใช้ water belt แทน แต่เพื่อนข้าง ๆ ผมถือไปด้วยได้เพียงครึ่งทางก็บีบจนแตก ที่ตลกไปกว่านั้นสำหรับทวิกีฬาถือไปเฉย ๆ ครับ ไม่มีน้ำแจกให้ เช่นเดียวกันครับ นโยบาย bottle for bottle สำหรับจักรยาน ในความเป็นจริงทำได้ยากครับ จักรยานมีที่เก็บขวดน้ำประมาณสองขวด ไม่มีใครอยากจะพกมากไปกว่านี้ แต่ในบางกรณีอาจจะอยากได้ขวดเสริมเพื่อราดหัว ราดขา ก็มีอยู่บ้าง ขวดแลกขวดทำให้วางแผนไม่ถูกเลยจริง ๆ วิธีที่ดีกว่าคือกำหนดระยะทิ้งขยะและแจ้งกับนักกีฬาให้ช่วยให้ความร่วมมือจะดีกว่าครับ นักกีฬาส่วนใหญ่จะพยายามให้ความร่วมมือ ยกเว้นเหตุสุดวิสัย เช่น ตกหล่น ร้อนมาก เหนื่อยมาก ซึ่งอาจจะมีขยะเรี่ยราดไปบ้างซึ่งควรจะเป็นหน้าที่ของผู้จัดที่ควรจะให้รถเก็บตกนอกจากจะทำหน้าที่เคลียร์พื้นที่ ตามนักกีฬาคนสุดท้ายแล้วก็ใล่ทำความสะอาดไปด้วย (นี่ควรจะถูกคิดไปในค่าสมัครให้เรียบร้อย)

เรื่องของการแจกอาหาร และประเภทของอาหารสามารถปรับปรุงได้มากขึ้นอีกครับ จุดให้น้ำสำหรับการวิ่งค่อนข้างจะโอเคครับ แต่สำหรับจักรยานน่าจะปรับปรุงได้อีก ยิ่งได้เห็นจากการซ้อมของผู้จัดแล้วยิ่งเห็นว่าเกิดจากความไม่เข้าใจในกีฬา ไม่ว่าจะเป็นวิ่งหรือจักรยาน นักกีฬาส่วนใหญ่ถ้าเป็นไปได้จะพยายามไม่หยุดรับน้ำและอาหารแต่จะวิ่งผ่านและหยิบไป ดังนั้นระยะจุดให้น้ำต้องขยายเป็นระยะยาว ๆ เพื่อให้มีระยะหยิบที่ยาวเพียงพอ แต่ในจักรยานจะต้องใช้คนกระจายตัวกันเป็นระยะยาว ๆ เพื่อให้จักรยานสามารถหยิบได้ทัน ในบางการแข่งขันผู้แจกน้ำอาจจะวิ่งเหยาะ ๆ ตามด้วยซ้ำ แต่ผมไม่คิดว่าดีเท่าไร น่าจะอยู่นิ่ง ๆ แบบที่เป็นน่ะดีแล้ว แต่ปัญหาที่เห็นคือเนื่องจากมีน้ำหลายประเภท ในความเป็นจริง นักกีฬาอาจจะต้องการน้ำหลายประเภทในการหยิบแต่ละครั้ง ซึ่งหมายความว่าต้องมีการแบ่งระยะให้ยาว และระบุประเภทน้ำให้ชัดเจนครับ การตะโกนถามก่อนเข้าจุดให้น้ำไม่ใช่วิธีการที่ใครเขาทำกันครับผม

อาหารในจุดให้น้ำส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีประโยชน์ครับ เพราะนักกีฬาส่วนใหญ่จะพยายามไม่ทานอะไรหนัก ๆ หรืออะไรที่ผิดแผกจากที่เคยซ้อมเนื่องจากกลัวว่าท้องจะรับไม่ได้ กระเพาะของนักกีฬาจะทำงานค่อนข้างจำกัดเพราะเลือดส่วนใหญ่ต้องไปเลี้ยงส่วนอื่นของร่างกายครับ กล้วย แอปเปิ้ล อาจจะพอได้เนื่องจากเป็นอาหารที่เขาแนะนำให้ทานก่อนแข่งอยู่แล้ว แต่อย่างอื่นอาจจะไม่ค่อยมีประโยชน์เท่าไรนัก เรื่องน้ำหลัก ๆ ก็คือน้ำเปล่ากับน้ำเกลือแร่ ส่วนโค้กอะไรที่มีให้เนี่ย ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ หลาย ๆ คนอาจจะอยากเลี่ยงครับ เพราะมีการอัดแกส ทานเข้าไปแล้วก็เสียว ๆ จะปวดท้องเหมือนกัน แต่พอเอาเข้าจริง ๆ ผมก็ลองดูครับ เนื่องจากมันร้อนมาก จิบโค้กเย็น ๆ มันก็ชื่นใจดีเหมือนกัน แต่ในความเป็นจริง อันตรายมากครับถ้าไม่อยากเป็นอย่าง Ali Fitch เขียนไว้ “Ummmm, nup.  Every attempt to run was confronted with pain and sickness in my gut , nausea and cramping.  I tried and tried again in the first few km’s to run; a nice French support lady got off her motor bike to walk with me at about the 5km mark.  Not long after I puked and puked and puked.  Litres of coke on the ground, a grand unload, yuk, but so good to get it out. After refusing a lift to Thai hospital and sugar cubes(???) the same nice French lady kindly went in search of something to help me hydrate.  At the 10km mark she came back with something like gastrolyte, all mixed up in a bottle ready to go.  Down in went.” ครับผม อาเจียนและต้องแก้ด้วยยาลดกรดเท่านั้น แต่โดยรวมเธอก็ชมและจะยังอยากจะกลับมาอยู่นะครับ ในบล๊อกของเธอว่างั้น และเรื่องโค้กก็กลายเป็นเรื่องตลกที่เล่าต่อกันไปร่วมกับนโยบาย bring your own cup ไปโดยปริยายครับ ส่วนฟองน้ำที่แจกก็สำคัญมากครับ โดยเฉพาะสนามร้อน ๆ แบบนี้

ส่วนอื่น ๆ ของงานถือว่าเปอร์เฟกครับ บริเวณทรานสิชั่น เส้นชัย อาหารหลังเส้นชัย ไม่มีที่ติจริง ๆ บริการนวดเต็มสูตร อาหารทุกรูปแบบ บรรยากาศที่เส้นชัย แต่ถ้าจะให้บรรยากาศการแข่งขันที่ดีขึ้นกว่านี้ บนเส้นทางน่าจะมีการจัดกองเชียร์เป็นระยะ ๆ เหมือน กับที่ทำการซ้อม ในวิดีโอ ในรายการภูเก็ตก็จะมีการใช้นักเรียนโรงเรียนต่าง ๆ ตามที่จักรยานผ่านออกมาเชียร์กัน ซึ่งสนุกดีครับ เด็ก ๆ ก็ดูสนุกกันมาก ๆ ผมจะแวะเข้าไป Hi-5 กับกองเชียร์ตลอดครับ สนุกดี แล้วบรรยากาศก็ดูดีมีส่วนร่วมครับผม หวังว่าปีหน้าผมจะได้ไปอีกครั้งครับ คราวนี้ผมจะลงไตรกีฬาให้ได้ จะได้มีน้ำแจกกะเขาบ้าง อิอิ (วิดิโอสรุปรายการ)