พี่อาร์มนักสู้ผู้มากประสบการณ์ (บทสัมภาษณ์ใน Fit 4 Fun)

บทสัมภาษณ์จาก Fit 4 Fun

Arm-1Arm-8

พี่อาร์มนักสู้ผู้มากประสบการณ์ แม้แต่ไวรัสตับอักเสบไม่สามารถขัดขวางชายคนนี้เข้าแข่ง Ironman ที่ลังกาวีได้

ชื่อ : ณัฐพงศ์ นิธิอุทัย (อาร์ม)
อายุ : 42 ปี
น้ำหนัก : 57 Kg.
ส่วนสูง : 171 cm.
สถานะภาพ : แต่งงานแล้วมีลูก 3 คน จริงๆมี 4 ครับ แต่เสียไป 1 คน ตอนนี้ผมก็เลยทำกองทุนในชื่อลูกที่เสียไปด้วยครับ
การศึกษา :
ประถม – วรคามินอนุสรณ์ (ปัตตานี)
มัธยม(ต้น) – อัสสัมชัญ ศรีราชา
มัธยม(ปลาย) – สาธิตสงขลานครินทร์ (ปัตตานี)
ป.ตรี – จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย (วิศวกรรมศาสตร์)
ป.โท – ป.เอก Case Western Reserve University, USA (Polymer Engineering)
อาชีพ :
– เป็นอาจารย์ที่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ภาควิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์
– ดูแลกิจการของครอบครัวผลิตและจำหน่ายเครื่องนอนยางพารา
ประวัติกีฬาที่เล่น : ว่ายน้ำก๊อกๆแก๊กๆ ได้มาอยู่ทีมโปโลน้ำจุฬา ในตำแหน่งที่ไม่ต้องว่ายน้ำมาก

Arm-9Arm-10

Fit4fun : รางวัลและสถิติ
คุณอาร์ม : ไม่เคยได้รางวัลอะไรเลย เล่นเพราะรักเพราะชอบ แต่ผมแบกคำว่า DNF (DID NOT FINISH หรือ แข่งไม่จบ) มานานมากแล้ว ไม่เคยไม่จบ ทรมาน เจ็บ ไข้ ลากสังขารจนจบทุกครั้ง เพิ่งได้ลอง DNF ในงานล่าสุดนี่แหละ

Arm-4Arm-2

Fit4fun : เป้าหมายในการออกกำลังกายและการเล่นไตรกีฬา
คุณอาร์ม : เคยคิดว่าแก่ๆน่าจะวางมือได้แล้ว การแข่ง Ironman ที่ลังกาวีที่ผ่านมากับผมก็ต้องใช้ยา อินเตอฟิวรอน (ฉีดยาอินเตอฟิวรอนเข้าไปในร่างกายเหมือนคีโมอ่อนๆทุกสัปดาห์เป็นเวลาหนึ่งปี เพื่อรักษาอาการตับอักเสบบีเรื้อรัง) ช่วงหลังนี่ผมเป็นลมบ่อยขึ้น แต่ก็ยังฝืนเล่น มันมีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่พอ ๆ กัน ทั้งการซ้อมและการแข่งขัน สุดท้ายผมก็ไม่สามารถเป็นไอรอนแมนได้นะ เป็นลมไปเสียก่อน dehydrate น่ะ

Arm-5Arm-7

Fit4fun : การแบ่งเวลาการซ้อม การแข่งและเวลาของครอบครัว
คุณอาร์ม : ผมตั้ง priority ให้ครอบครัว ชีวิตและสุขภาพเป็นที่หนึ่ง ในส่วนการทำงานที่ทำอย่างเป็นทางการคืออาจารย์มหาวิทยาลัย ก็ต้องเสียสละเรื่องความก้าวหน้าไปบ้าง ส่วนธุรกิจของครอบครัวก็วางตัวห่าง ๆ ให้น้องๆไปดูแล และเข้าไปช่วยตามความจำเป็น ผมจะซ้อมตอนเช้าอย่างเดียว ตอนเย็นเป็นเวลาครอบครับ นอกจากต้องเดินทางก็จะอดซ้อมไปบ้าง ผมมีแนวคิดแบบนี้ครับ คือผมซ้อมเพื่อจะไปแข่ง และสมัครแข่งขันเตรียมไว้เพื่อบังคับให้ซ้อมและแข่งเวียนกันไป ไม่ว่างเว้น สุขภาพจะได้ดีๆตลอดครับ ทีนี้เราก็เพิ่มเรื่องของครอบครัวเราเข้าไปด้วย เช่นเลือกรายการที่เราอยากไปเที่ยว อยากพักผ่อนจากการทำงาน เลือกประเทศที่เราอยากพาลูกๆและภรรยาไป พอเลือกแล้วก็วางเป้าหมายในการแข่งขันนั้นๆ เช่น ถ้าเป็นระยะทางใหม่ เราอาจจะตั้งเป้าเวลา อาจจะขอแค่แข่งจนจบ ถ้าเป็นระยะทางเดิม เราอาจจะทำเวลาให้ได้ดีกว่าเดิม แล้วจึงมาวางแผนการซ้อมเพื่อจะทำให้สำเร็จตามเป้าหมาย ผมพาไปหมดนะ แต่งงานใหม่ ๆ ท้องเล็ก ๆ ท้องแก่ ๆ ลูกหนึ่งเดือน ลูกสอง ลูกสาม ไม่เคยไปแข่งโดยไม่มีครอบครัวเลยแม้แต่ครั้งเดียว หลัง ๆ เริ่มลากเพื่อน ๆ ไปด้วย รวมตัวเป็นทีมกีฬาสุขภาพ V40 (Very Forty) เล่นมันทุกกีฬาคนอึด ผมเป็นหัวหน้าเผ่าในปัจจุบัน

Arm-13Arm-16

Fit4fun : ทำไมจึงเลือกเล่นไตรกีฬาและมีเป้าหมายต่อไปอย่างไร
คุณอาร์ม : ผมเล่นไตรกีฬา เพราะมันหลากหลายดี ผมชอบการใช้ชีวิตตรงตามคอนเซปต์ของไตรกีฬา คือ จริง ๆ เป็นเป็ด มันไม่เก่งสักอย่าง แต่ก็เล่นมาเรื่อยๆ บางปีก็เน้นวิ่ง บางปีเน้นปั่นจักรยานสลับกันไป สมัยก่อนมันมีองค์ประกอบหลายอย่างที่ต่างจากกีฬาประเภทอื่น คือหลักๆ เราแข่งร่วมกับโปร (ไม่เหมือนสมัยนี้) ต้องเดินทางไปแข่งไกลๆ เพราะรายการแข่งขันมีน้อยมาก ทุกคนจะเดินทางไปถึงสถานที่แข่งขันล่วงหน้าหนึ่งวัน เพื่อร่วม pasta party เพื่อที่จะกินอาหารร่วมกัน พูดคุยทำความรู้จักกัน ผู้จัดก็จะมาคุยเล็กๆน้อยๆ เกี่ยวกับการแข่งขันในวันรุ่งขึ้น เราก็จะมีโอกาสได้พูดคุยทำความรู้จักกับโปรด้วย จริงๆ pasta party ก็ไม่ได้อร่อยอะไรนะครับ แต่มันเป็นอาหารง่ายๆน่ะครับ แต่ที่สำคัญคือการได้มีโอกาสพูดคุย ทำความรู้จักกันมากกว่าสนามการแข่งขันจะเป็นมิตรกว่าปัจจุบันพอสมควร

Arm-3Arm-6

จริงๆไตรกีฬาในยุคแรกเป็นกีฬาของคนที่ทำอาชีพ หมอ ทนายและเจ้าของกิจการ คือด้วยความที่เป็นกีฬาที่ต้องใช้ระเบียบวินัยและการจัดการในการซ้อมมาก ใช้งบประมาณมากทั้งอุปกรณ์และการเดินทาง ซึ่งกลุ่มคนพวกนี้ไม่ได้มีเวลามากกว่าคนอื่นเลย แต่ดูเหมือนว่าจะจัดการเวลาได้เก่งกว่า สมัยที่ผมเริ่มแข่ง ผมใส่กางเกงใน (speedo) ตัวเดียวแข่งตั้งแต่ว่ายน้ำจนวิ่งเข้าเส้นชัยเลย 555 เดี๋ยวนี้อะไรๆ มันก็เปลี่ยนไป ถอดเสื้อปั่น-วิ่งไม่ได้แล้ว ผิดกฎ

Arm-21
โดยรวมแล้ว เป้าหมายของการเล่นทั้งหมดก็คือทำอย่างไรให้ชีวิตเรา active ได้ทั้งชีวิต ไม่เบื่อไปซะก่อน ผมเริ่มพาลูกๆ แข่งๆโน่นแข่งนี่บ้าง อย่างคน 5 ขวบนี่เริ่มแข่งจักรยาน 25 กม. 30 กม. มาสองสนามแล้ว ว่ายน้ำ 50 – 100 ม. ก็พอว่ายได้ ก็ต้องแล้วแต่ลูกๆจะชอบ

Arm-19Arm-20

Fit4fun : ช่วยอธิบายถึงกองทุนเพื่อซูริ (For Zuri)
คุณอาร์ม : เรา (ผมและภรรยา) มีปัญหามีบุตรยากต้องพึ่งหมอ พอทำมาแล้วมันมี complication ได้ลูกแฝดต้องคลอดก่อนกำหนด ซูริแฝดน้องน้ำหนักน้อยสุขภาพไม่ค่อยดี ต้องอยู่ในห้องฉุกเฉินทารก (NICU) ระหว่างนั้นพบว่าเพราะที่ซูริตัวเล็ก อุปกรณ์ที่มีจะใช้ไม่ค่อยได้ โน่นนี่นั่น เคยมีแต่เสียไปแล้วบ้าง แต่ผมไม่คิดอะไรมาก เพราะเราวุ่นกับการเฝ้าและคอยให้กำลังจะเขาทุกวัน สุดท้ายเขาก็จากไปอยู่กับเราได้ 49 วัน ผ่านมาแล้ว 5 ปี ผมเริ่มคิดว่าความรับผิดชอบของ NICU ที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์นี่ค่อนข้างมาก รับผิดชอบภาคใต้ตอนล่าง และถ้าเป็นไปได้ถ้าผมช่วยระดมทุนให้อาจจะมีสักวันหนึ่ง ทุนที่เราระดมมาอาจจะทำประโยชน์ช่วยให้ “ซูริ” ของใครบางคนได้กลับบ้าน ไม่เหมือนกับซูริของผม

Arm-14Arm-15

Fit4fun : ช่วยฝากข้อคิดดีๆให้กับคนที่อยากเริ่มเล่นกีฬาประเภท endurance sport หรือ ยังลังเลกับการออกกำลังกายครับ
คุณอาร์ม : ผมมีความเชื่อแบบ extreme ที่ว่ากีฬาแก้ได้ทุกอย่าง ออกซิเจน ระบบภูมิคุ้มกัน ล้วนแล้วส่งผลดีต่อสุขภาพโดยรวมทั้งนั้น เจ็บเข่า เจ็บหลัง เจ็บขา มันมากับกีฬาบางประเภท ถ้าเราสร้างนิสัยการออกกำลังกายเอาไว้แล้ว มันจะเป็นแบบผม พอคิดว่าจะวิ่งไม่ได้เราก็จะหากีฬาอื่นแทนทันที ไม่งั้นลงแดง กีฬา endurance สามารถช่วยเรื่องความต่อเนื่องแบบนี้ได้มาก เพราะมีการแข่งขันที่มือสมัครเล่นเข้าร่วมได้เยอะ มีกีฬาหลากหลายให้เลือก และอาจจะทำได้ทั้งหมดเลยก็ยังได้ และส่วนใหญ่เริ่มได้ ทำได้ด้วยตัวคนเดียว ไม่ต้องคอยรอคู่หู เรามีชีวิตบนโลกนี้ประมาณ 30,000 วันผมใช้มาแล้วมากกว่าครึ่ง เหลือไม่น่าเกิน 10,000 ในช่วงวันท้าย ๆ เราจะใช้ชีวิตอย่างไรมันขึ้นกับช่วงประมาณนี้แหละครับ เป็นการลงทุนที่สำคัญสำหรับบั้นปลายของชีวิต

     Arm-17 Arm-18

Endurance : Why we do what we do?

สัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อน ๆ หลายคนมีกิจกรรม Endurance (ต่อจากนี้ผมจะเรียกมันว่า อดทน) ที่แตกต่าง แต่มีความเข้มข้นไม่แพ้กัน มาเล่าสู่กันฟัง ผมนั่งไล่อ่านกิจกรรมของทุก ๆ คน ที่อธิบายถึงความรู้สึก เล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้น แชร์กันไปมาเต็มไปด้วยความสุข และตื้นตัน ผมอดไม่ได้ที่จะแสดงความเห็นว่าผมรู้สึกมีความสุขที่ได้เห็นหลาย ๆ คนมีความสุข โดยใช้การอธิบายในลักษณะ “ความสุขบนความทรมาน” ซึ่งพบว่ามีหลาย ๆ คน รวมถึงคู่หูเพื่อนซี้ในกิจกรรมอดทนของผมค่อนข้างไม่สบายใจกับทำว่า “ทรมาน” และต้องการที่จะแสดงออกว่านี่ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นและเหตุผลที่เขาเหล่านั้นเลือกทำกิจกรรมอดทน จากการแลกเปลี่ยนในกระทู้นั้น ทำให้ผมมาถามตัวเองอีกครั้ง ทั้ง ๆ ที่ถามตัวเองมาหลายต่อหลายครั้งแล้วตลอดยี่สิบปีที่ผ่านมา ว่าเราทำกิจกรรมอดทนเหล่านี้ไปเพื่ออะไร

TRI NCB

แต่ก่อนอื่นคงต้องท้าวความไปถึงครั้งแรกที่ผมใช้คำว่า “ทรมาน” เพื่อสื่อถึงความรู้สึกบางช่วงในกิจกรรมเหล่านี้ มันเกิดเมื่อเพื่อนของผมชวนให้ไปปั่นบนเขาใหญ่ ผมจึงเลือกช่วงที่ผมต้องไปแข่งขัน TNF100 เป็นวันที่จะปั่นเขาใหญ่ โดยวันแรกวิ่ง TNF50K แล้ววันที่สองปั่นเขาใหญ่ ด่านชนด่าน 100K เพื่อที่จะชักชวนเพื่อน ๆ มาร่วมสนุกกัน ผมจึงคิดที่จะหาชื่อที่เหมาะสมให้กับกิจกรรมนี้ ในช่วงนั้นผมซ้อมเทรนเนอร์กับ DVD Series SufferFest ซึ่งผมรู้สึกว่ามันสื่อตรงกับความรู้สึกของผมจึงคิดที่จะแปลความหมายนี้ออกมา เลือกมาได้ว่า “ทรมานบันเทิง” เพื่อสื่อถึงกิจกรรมนี้ หลังจากนั้นผมใช้คำว่า “ทรมาน” อีกหลายครั้ง เพื่อสื่อถึงกิจกรรมอดทนที่เราชาวเผ่า V40 ทำกัน

IMG_1140

สำหรับผมคำว่า “ทรมาน” มันไม่ได้มีความหมายเป็นลบเลย เพราะที่มาจากความว่า Suffer ที่ผมแปลมานั้น ผมนึกไปถึง “ทุกข์” ในศาสนาตลอดเวลา ผมมองมันคล้าย ๆ กับว่ากิจกรรมอดทนนั้น คือการธุดงค์ ที่นำ “ทุกข์” มาพิจารณา ส่วนกิจกรรมอดทนนั้นนำ “ทรมาน” มาพิจารณา มันเกิดขึ้นกับผมในทุก ๆ ครั้ง และผมใช้มันในทำนองนี้ในทุก ๆ ครั้ง แต่ไม่เคยคิดว่าคำ ๆ นี้จะบาดใจใครหลาย ๆ คน โดยที่ผมไม่ได้ตั้งใจ ดังนั้นผมจึงตั้งใจที่จะเขียนมันออกมาว่าสำหรับผมแล้ว ผมเห็นอะไร และทำไปทำไม โดยไม่แน่ใจว่าเมื่อจบบทความนี้ผมจะได้คำตอบหรือไม่ ความเป็นนักวิทยาศาสตร์ในตัวผมสอนให้ผมบันทึกกระบวนการ และให้ความสำคัญกับมันเท่า ๆ กับผลลัพธ์

IMG_2582

เมื่อพิจารณาถึงสิ่งที่เกิดขึ้นที่ถูกสื่อว่า “ทรมาน” มันมีอะไรเกิดขึ้นบ้างในกิจกรรมอดทน สำหรับผม ความร้อน ความเหนื่อย ความเมื่อยล้า คำที่เรียกง่าย ๆ ว่า “หมด” หรือ exhaustion เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแน่ ๆ ในกิจกรรมอดทนทั้งหลาย ในมุมมองของเปลือกภายนอก แต่ถ้าพิจารณาลึกเข้าไปในจิตใจ ผมจะเห็นความท้อใจ การยอมแพ้ กำลังใจ ความหึกเหิม ในความต่อเนื่องของความรู้สึกทางร่างกายและจิตใจนั้น บางครั้งมันปวดร้าวรุนแรงจนผมเองต้องตั้งคำถามว่า ผมมันทำมันไปทำไม แม้มันจะไม่บ่อย แต่คำตอบของคำถามในเวลานั้นมันจะกำหนดผลลัพธ์ของกิจกรรมไม่ว่าในช่วงเวลาก่อนทำกิจกรรมนั้นเราต้องการผลลัพธ์เช่นใด

IMG_3711

ผมวิ่ง 10K เพราะต้องการลบความคิดว่านักว่ายน้ำ (จริง ๆ แค่สมาชิกชมรมว่ายน้ำ) จะไม่ถนัดวิ่ง ผมลง 21K เพราะอยากเอาความฟิตที่เหลือจาก 10K มาใช้ให้เป็นประโยชน์ ผมลงทวิกีฬาเพราะอยากปั่นจักรยานที่ผมใช้มามหาลัยแบบเร็ว ๆ สุดชีวิตกะเขามั่ง ผมลงไตรกีฬาเพราะผมเป็นนักว่ายน้ำ กิจกรรมอดทนของผมนั้นถูกขับมาจากความอยากรู้ และความต้องการขยายข้อจำกัด รวมไปถึงใช้ทรัพยากร อุปกรณ์ และทักษะทั้งหมดที่ผมมีอย่างคุ้มค่า ซึ่งมันเป็นนิสัยส่วนตัวที่จะใช้ความคุ้มค่า หรือประสิทธิภาพมากำหนดสิ่งที่ทำ ผมใช้เวลาอยู่กับมันสิบกว่าปี วิ่งไล่ตามสถิติต่าง ๆ ปีหน้ามันต้องเร็วขึ้นดีขึ้น ตำแหน่งสูงขึ้น แม้ว่าจะไม่เคยได้ถ้วยกับเขาเลย แต่ก็สามารถนำตัวเองไปอยู่ในอันดับ Top 5 Top 10 ได้ทั้งในสนามประเทศไทย และต่างประเทศ ในขณะที่สถิติก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ จนไปพีคที่อายุประมาณ 30 ก่อนที่จะค่อย ๆ คงตัวและช้าลงในที่สุด

IMG_7410

แน่นอนว่าผมคุ้นเคยกับความเจ็บปวด ตะคริว ไม่ใช่เรื่องแปลก และหลาย ๆ ครั้งไม่สามารถชะลอผมลงได้มากนัก อัดจนอาเจียรข้างทาง หรือจำเป็นต้องกลืนมันกลับเข้าไป เพราะอยู่ในระหว่างการแข่งขัน ไม่ใช่เรื่องแปลกอีกเช่นกัน ถ้าถามว่ามันจะใช้คำว่า “ทรมาน” ได้มั้ยสำหรับผม ผมเองก็เห็นด้วยกับเพื่อน ๆ ที่ไม่ชอบคำ ๆ นี้ว่าผมไม่อยากเรียกมันว่า “ทรมาน” ผมต้องยอมรับว่ามันอาจจะเจ็บปวด ผมไม่ได้ชอบมัน ไม่ได้เสพติด แต่ระหว่างซ้อมจนถึงวันแข่งและระหว่างแข่งนั้นผมทำทุกอย่างเพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้น แต่แม้ว่าผมรู้อยู่แก่ใจว่ามันจะเกิดขึ้นอีกถ้าผมต้องการสถิติที่ดีขึ้นในทุก ๆ ครั้งที่ผมลงแข่งขัน แต่เมื่อจุดสูงสุดของผมเหมือนจะผ่านพ้นไปแล้ว ความที่ผมเองอาจจะต้องยอมแพ้ให้กับตัวเองในวัยหนุ่ม เปลี่ยนมาแข่งขันกับคนรอบข้าง เปลี่ยนมาตั้งเป้าหมายใหม่ ๆ สถิติใหม่ ๆ ที่เหมาะสมกับกลุ่ม V40 อย่างผม ความกดดันในระดับที่จะต้อง “ทรมาน” มันก็ค่อย ๆ หมดไปจนวันหนึ่งผมเองก็เริ่มหาเป้าหมายใหม่ให้ตนเอง

IMG_7455

วันหนึ่งเพื่อนสนิทสมัยเรียนมัธยมมาชวนให้ตั้งทีมเพื่อวิ่งผลัดข้ามประเทศ ที่เรียกว่า O2O ผมคิดว่ามันฟังดูแล้วตื่นเต้นท้าทายดี จึงพยายามฟอร์มทีมขึ้นมาซึ่งก็ไม่ง่ายนักเพราะไอเดียที่จะวิ่งกันในเวลาเที่ยง วิ่งกันข้ามวันข้ามคืน วิ่งผลัดระยะสั้น ๆ ที่รวมระยะของแต่ละคนแล้วไม่เกิน 30K นั้นมันดูช่างไม่ “ท้าทาย” เอาเสียเลย แต่โชคดีที่ทีมได้ถือกำเนิดขึ้น และผมได้พบกับเหตุผลใหม่ของกิจกรรมอดทด กิจกรรมนี้ทำมาแล้วสองปี ได้ทำให้ผมได้ไปสนิทอีกครั้งกับเพื่อนเก่า ๆ ที่ร้างราจากกันมานาน กิจกรรมนี้ถือเป็นต้นกำเนิดของทีม Very Forty ที่เพื่อนในกลุ่มนี้อยากมีการรวมตัวเพื่อเข้าแข่งขันไตรกีฬาในรายการกรุงเทพไตรกีฬา ผลลัพธ์ของกิจกรรมที่ผมได้ดูเหมือนว่าจะสร้างผลกระทบได้กว้างขวางขึ้น มีเพื่อน ๆ หลาย ๆ คนมารวมตัวกันแสดงจุดยืน สร้างตัวตน แสดงตัวเป็นแบบอย่างของการใช้ชีวิต active ที่ผมต้องรับว่าเป็นอีกความสุขหนึ่งที่ทำให้ผมมุ่งมั่นทำกิจกรรมเหล่านี้มากขึ้นเรื่อย ๆ แม้ว่าการเผยตัวตนในครั้งนี้เริ่มทำให้อีกหลาย ๆ คนมองเห็นผมเป็นคน “บ้า”

L1010355

ผมเริ่มร่วมการแข่งขันจักรยานทางไกล เริ่มขยายระทางทางของไตรกีฬา และเริ่มสนใจระยะมาราธอน เนื่องจากเป็นระยะทางใหม่ ๆ ทุก ๆ ครั้ง ทุก ๆ ก้าวที่ผมทำลงไปมันเป็นสถิติใหม่ไปทั้งสิ้น แม้ว่าผมยังไม่เห็นเหตุผลที่ชัดเจนในการทำมันลงไป ผมยังได้ป้อนอาหาร ego ส่วนตัวของผมด้วยสถิติใหม่ ๆ เช่น Sub5 Marathon, 6:08 Hr Half-Ironman เป็นต้น จนวันหนึ่งเพื่อนแจ๊คแนะนำให้ผมรู้จักกับ Festive500 ที่ต้องปั่น 500K ภายใน 8 วันช่วงปลายปี สำหรับคนปั่นระยะ 80-100K การที่จะทำแบบนี้ต่อเนื่องทุก ๆ วันสร้างความท้าทายใหม่ ๆ ให้กับผม และก็ไม่ผิดหวังเมื่อผมร่วมคำท้าแล้วต้องถามกับตัวเองวันแล้ววันเล่าที่ต้องตื่นมาปั่นระยะ 80-100K โดยไม่สนว่าฝนจะตกหรือแดดจะออก เพื่อนคนเดียวกันนี้ก็แนะนำให้ผมรู้จักกับ Audax กิจกรรมอดทนในรูปแบบใหม่ที่ไม่ต้องแข่งกับใคร ไม่สนใจสถิติ มาด้วยใจกับคิวชีทเป็นพอ ผมกระโดดเข้าหาแล้วก็ติดมันงอมแงม มันเป็นการปั่นระยะที่ไกลมากขึ้น 200 300 400 600 ซึ่งต้องมีเรื่องของการกิน การพัก การนอนเข้ามาเป็นส่วนร่วมของความท้าทายนั้น ๆ ด้วย ดูเหมือนว่าในช่วงนี้ผมเริ่มได้เป้าหมายใหม่ของกิจกรรมอดทน นั่นก็คือ “ท้าทาย”

IMG_6245

อย่างไรก็ตามยังมีคำถามจากบุคคลภายนอกอีกในเรื่องของค่าใช้จ่าย นอกเหนือจากความเหน็ดเหนื่อยแล้ว ยังไม่ค่าใช้จ่ายในกิจกรรมเข้ามาเกี่ยวข้องอีกเยอะมาก ทำให้ผมเริ่มมองในมุมมองของทางด้านการเงินบ้าง แต่ไม่ทราบว่ามันมีอะไรที่ดลใจให้ผมจัดการกับปัญหาด้วยการตั้งกองทุนในชื่อลูกสาวที่เสียไปของผม ชื่อว่า กองทุนเพื่อซูริ ในการที่จะระดมเงินไปบริจาคให้กับหน่วย NICU โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ สถานที่ที่ลูกสาวคนนี้ของผมถือกำเนิดและเสียชีวิต ด้วยความหวังไกล ๆ ว่าเงินเหล่านี้อาจจะช่วยให้ลูกตัวน้อยของคนอื่นมีโอกาสกลับบ้านไม่เป็นเช่นลูกสาวของผม ผมจึงพยายามสร้างความสัมพันธ์ุระหว่างกิจกรรมอดทนและเงินบริจาคเพื่อกองทุนขึ้นในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อที่จะเป็นคำตอบหนึ่งในด้านการเงิน ซึ่งหลาย ๆ กลุ่มที่มีความเห็นตรงกันก็ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ ยกตัวอย่างเช่น กลุ่ม Run4ManyReasons ของพี่ย้ง เป็นต้น

IronmanLangkawiForZuri

ความ “ท้าทาย” ใหม่เข้ามาอีกครั้งเมื่อผมต้องเข้ารักษาตับอักเสบด้วยการฉีดยาอินเตอฟูรอน 48 เข็ม ผมจึงสมัครแข่งขันไอรอนแมนทันที แม้ว่าผมจะไม่คิดว่าจะลงรายการระยะนี้ในสภาพที่ผมไม่แน่ใจว่าผมสามารถวิ่งได้ไกลเพียงใด ผมดีใจที่การตัดสินใจพุ่งเข้าชนกับโรคร้ายและการรักษาอันหฤโหดนั้นได้สร้างแบบอย่างและกำลังใจให้กับผู้ป่วย หรือผู้พักฟื้นอีกหลายคน แม้ว่าในด้านของการวิ่งนั้น หลังจากผมแตะระยะมาราธอนแรกแล้ว ผมก็ขยายเป็นระยะอัลตราที่ TNF 50K แต่ทำให้อาการบาดเจ็บที่กระดูกสันหลังกำเริบ การวิ่งระยะ 10K 15K 21K กลายเป็นความท้าทายอีกครั้ง ขอแค่เพียงได้วิ่งครบระยะ ผมเก็บความท้าทายแบบผู้ป่วยกายภาพของผมอย่างเงียบ ๆ เพราะความผิดหวังในการ DNF ครั้งแรกในชีวิตที่สนามไอรอนแมนลังกาวี ก่อนที่จะประกาศชนกับมันอีกครั้งด้วยการวิ่งจอมบึงมาราธอน เพียงแต่บอกคนรอบข้างว่าผมต้องการวิ่งช้า ๆ ในใจเพียงคิดว่าต้องการวิ่งให้ถึงเป็นเท่านั้น ซึ่งในเวลานี้ผมต้องยอมรับว่า มันยังคงเป็นความ “ท้าทาย” สำหรับผมอยู่ดี

Week2

ในขณะเดียวกันที่ผมไม่สามารถเร่งความเร็วได้ดั่งใจ ผมจึงเริ่มหาความแปลกใหม่เพื่อมาเติมเต็มให้จิตใจผมอีกครั้งในกิจกรรมอดทนที่แทบไม่มีความหวังจะสร้างสถิติ เมื่อความท้าทายลดคุณค่าเหลือเพียงที่จะ “วิ่ง” ได้จนครบระยะ ผมเริ่มอาสาวิ่งเก็บขยะ ในงานภูเก็ตมาราธอน ในระยะฮาร์ฟ ที่ทำให้ผมได้รู้จักกับพี่ย้ง กล้วยหอม ผมเข็นรถ trailer ขนลูก ๆ สัมผัสบรรยากาศสงลามาราธอนในระยะฮาร์ฟ และสุดท้ายวิ่งแจกตุ๊กตาในงานจอมบึงมาราธอน ที่ระยะฟูลมาราธอน แม้ว่า ณ เวลานี้ ผมยังไม่สามารถ “วิ่ง” ได้จนครบระยะ แต่ผมก้าวข้ามความ “ท้าทาย” ในแต่ละขั้นมาเรื่อย ๆ ช้า ๆ อย่างมั่นคง

L1040269

ผมร่ายยาวมาจนถึงย่อหน้าสุดท้าย ผมเองยังไม่แน่ใจว่าผมได้คำตอบหรือยัง ว่าผมทำกิจกรรมอดทนเหล่านี้ไปทำไม มีความเป็นไปได้ว่าผมอาจจะต้องค้นหามันไปตลอดชีวิต เฉกเช่นคำถามที่ว่า มนุษย์เราเกิดมาเพื่ออะไร แม้ว่าผมจะเล่าให้หลาย ๆ คนด้วยเหตุผลต่าง ๆ กัน ไม่ว่าอาการเจ็บหลังที่กำเริบจนไม่สามารถอุ้มลูกชายคนแรกอาบน้ำได้ สุขภาพที่ย่ำแย่จากการโหมทำงานหนักจนแม้กระทั่งเดินขึ้นบันไดหอบ หรือการที่จะสร้างแบบอย่างให้กับลูก ๆ ในการใช้ชีวิตแบบมีสุขภาพ ไปจนกระทั่งเหตุผลเนื่องจากเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่พัฒนาจนอายุเฉลี่ยเรายาวนานขึ้นและผมไม่ต้องการที่จะใช้ช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตบนเตียง เหตุผลเหล่านี้อาจจะเติมเต็มให้กับผู้สงสัย ผู้ตั้งคำถาม แต่ผมรู้ดีว่าสำหรับผมนี่มันเป็นเพียงผลพลอยได้  Why we do what we do? The answer my friend is blowing in the wind.