ZeroWaste is the final answer.

ผมเคยให้สัมภาษณ์หลายครั้งแล้วว่าทางออกของหลาย ๆ ปัญหาสิ่งแวดล้อมในเวลานี้ สามารถเริ่มต้นและลงท้ายด้วยคำว่า “ZeroWaste” แต่หลายคนเมื่อได้ยินคำนี้ก็เดินหนีทันทีอาจจะเพราะเกรงกลัวคำว่า Zero หรือ หมายเลขศูนย์ หรือ อาจจะติดกับภาพจำของ YouTuber หรือ Bloggler หลายคนที่จุดประกายความสนใจในคำคำนี้ด้วยการดำเนินชีวิตไปในทางสุดโต่ง เพื่อทดสอบว่าตนเองจะสามารถลดขยะได้มากน้อยเพียงใดหากตั้งใจจริง ซึ่งความตั้งใจเหล่านั้น น่ายกย่อง และ น่าประทับใจมาก ๆ หลายคนสร้างขยะเพียงขวดโหลเล็ก ๆ ในช่วงระยะเวลาหลาย ๆ เดือน หรือ แม้กระทั่งเป็นปี แม้ว่าสิ่งที่สื่อสารออกมาจะบอกว่า การใช้ชีวิต ZeroWaste และการสร้างขยะน้อยมาก ๆ มีความเป็นไปได้สูง เพียงแค่ตั้งใจเท่านั้น แต่ภาพของปริมาณขยะอันน้อยนิด หรือ ตัวเลขศูนย์ ทำให้หลาย ๆ คน เมื่อได้ยินคำว่า ZeroWaste สมองจะไม่ยอมรับข้อมูลใด ๆ อีก ใจคิดเพียงว่าเป็นไปไม่ได้

ครอบครัวของผมเองได้ทดลองชีวิต ZeroWaste มาได้ประมาณ 4 ปีล่วงมาแล้วน่าจะได้ จากครอบครัวปกติที่สร้างขยะ ไม่ได้น้อยเลย เกือบ 1.5 kg ต่อหัวต่อวัน จนเหลือเพียง 20 กรัมต่อคนต่อวัน ภายในเวลาประมาณ 1 ปี โดยใช้เครื่องมือต่าง ๆ ทั้งถูกและแพง หลากหลาย ก่อนที่จะค่อย ๆ ขยายความคำ ๆ นี้ออกไปในกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยเครื่องมือต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดร้าน ZeroWaste Pattani ไปเรื่อยจนถึงการพัฒนาคอนเซ็ปท์ของ ZeroWaste Events รวมถึงเนื้อหาของ ZeroWaste Camping ที่ค่อย ๆ ปรับปรุงมาจนเป็นครั้งที่ 7 เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ภาพของกิจกรรมได้ถูกถ่ายทอดหลายครั้งตั้งแต่ครั้งที่ 5 ครั้งที่ 6 ไปจนครั้งที่ 7 ในรายการคนค้นคน แม้ว่าในรายการไม่ได้เน้นสื่อสารเรื่อง ZeroWaste แต่ฉายแสงไปที่ความร่วมมือของกลุ่มต่าง ๆ ในพื้นที่ในการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับชุมชน แต่ก็หลีกเลี่ยงเส้นเรื่องกลางของกิจกรรมที่เราทำเป็น ZeroWaste ไม่พ้น

ในการศึกษาชนิดของขยะของประเทศไทยพบว่า สัดส่วนของขยะที่จัดเป็นสี่ประเภทให้คัดแยกนั้นประกอบไปด้วยขยะอินทรีย์ 60% ขยะรีไซเคิล 30% ขยะอันตราย 3% และขยะทั่วไปเพียง 7% ซึ่งแสดงให้เห็นว่าในชีวิตจริง ๆ ของเรานั้น มีขยะเพียง 10% (ขยะอันตราย และขยะทั่วไป) ที่จัดการเองไม่ได้ หากเราอ้างถึงข้อกำหนดของ Zerowaste International Alliance ที่กำหนดไว้ว่า หากเราสามารถจัดการขยะของตนเองได้ 90% หรือ มีขยะที่ไม่สามารถจัดการได้เพียง 10% เราจะสามารถใช้คำว่า ZeroWaste ในการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ได้ทันที ไม่ว่าจะเป็น ZeroWaste Family, ZeroWaste Community, ZeroWaste Event, ZeroWaste Village, ZeroWaste Province หรือแม้กระทั่งกรณีนี้ ZeroWaste Country เพียงแค่เราแยกขยะ 4 ประเภทนี้ให้ได้ และ ล้างขยะรีไซเคิลให้สะอาด เพื่อแยกขยะรีไซเคิลออกจากขยะทั่วไปที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ เพราะไม่มีเทคโนโลยี ไม่ใช่เพียงเพราะสกปรก ถามว่าต้องใช้เทคโนโลยีมั้ยก็จะเห็นว่าเราไม่ได้ต้องการเทคโนโลยีใด ๆ เลยในการไปสู่คำว่า ZeroWaste

อย่างไรก็ตาม การล้างขยะทั่วไปให้สะอาด เพื่อให้มันกลับมาเป็นขยะรีไซเคิลให้ได้นั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะจูงใจคนให้ทำได้ง่ายนัก เมื่อเทียบกับการชักชวนให้คนช่วยกันแยกขยะ ในกิจกรรม ZeroWaste Camping ที่เป็นงานที่รวมบุคคลที่ทุ่มเทกับการแยกขยะ และการใช้ชีวิต ZeroWaste มาร่วมกันนั้น เรามีสถิติในการล้างขยะทั่วไปให้กลายเป็นขยะรีไซเคิลได้เพียง 5-10% เท่านั้น หมายความว่า ถ้าบรรจุภัณฑ์ใด ที่ถูกออกแบบให้เป็นขยะทั่วไป แนวโน้มของการที่มันจะลงท้ายเป็นขยะทั่วไปนั้นสูงถึง 90-95% เลยทีเดียว บรรจุภัณฑ์เหล่านี้ ได้แก่ ถุงแกง กล่องพลาสติกบรรจุอาหาร หรือ แก้วพลาสติกใช้แล้วทิ้ง ดังนั้นเราพบว่าเรามีโอกาสสร้าง ZeroWaste ได้ง่ายกว่า หากเรามีการเตรียมตัวเบื้องต้นเล็กน้อยเพื่อที่จะลดขยะจำพวกนี้ตั้งแต่เริ่มต้น

การลดขยะตั้งแต่ต้นทางนั้น พูดเหมือนง่าย แต่การกระทำนั้นไม่ได้ง่ายนัก เพราะเป็นเรื่องของการเปลี่ยนพฤติกรรม เปลี่ยนสิ่งที่ติดตัวมาเป็นเวลานาน จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ เครื่องมือ หรือแม้กระทั่ง community มาช่วยสร้างพฤติกรรมที่เหมาะสมให้เกิดขึ้นจนท้ายที่สุดกลายเป็นธรรมชาติ และกลายเป็นอะไรที่ง่ายเหมือนไม่ต้องเปลี่ยนแปลงใด ๆ เราใช้การ camping มาเป็น simulation ของการใช้ชีวิตร่วมกัน การดำเนินชีวิตจริง ๆ 3 วัน 2 คืน มีอาหาร 5 มื้อ อาบน้ำแต่งตัว 4 รอบ ที่หากเราจะลองกำหนดกติกาในการใช้ชีวิต ZeroWaste เราจะได้พัฒนากระบวนการในการดำเนินชีวิตให้สร้างขยะที่จัดการไม่ได้ หรือ ขยะทั่วไปนั้นให้น้อยลง เราทำสถิติของการอยู่ร่วมกันเช่นนี้ไว้เพียง 2 ครั้ง ในการ camping ครั้งที่ 6 และครั้งที่ 7 ครั้งที่ 6 พบว่าเราสร้างขยะเพียง 40 กรัมต่อคนต่อวัน และครั้งที่ 7 ลดเหลือเพียง 33 กรัมต่อคนต่อวันเท่านั้น จากประชาชนคนธรรมดาที่สร้างขยะประจำวันอยู่ที่ 1.3 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน นั่นแสดงให้เห็นว่าชีวิต ZeroWaste นั้นสามารถเกิดขึ้นได้ในทันที ขอเพียงมีการปรับพฤติกรรมเพียงเล็กน้อย และ แยกขยะให้ได้เท่านั้น

ในทุกครั้งที่เราพูดถึงการแยกขยะ จะต้องถูกตั้งคำถามเสมอเรื่องที่หลายคนเคยแอบเห็นรถขยะเขาเทถุงรวมกันที่ท้ายรถ แม้ว่าจริง ๆ แล้วนั่นเป็นกระบวนการที่ชาวเก็บขยะเขาใช้เพื่อแยกขยะรีไซเคิลให้ละเอียดและถูกต้องยิ่งขึ้น ถ้าจะสังเกตุดี ๆ จะพบว่าท้ายรถทุกคันจะมีถุงแยกขยะห้อยไว้เตรียมแยกขยะเหล่านี้ให้แม่นยำ แม้ว่าเรื่องนี้จะเป็นความจริงมากน้อยแค่ไหนก็ตาม จากข้อมี Waste Audit เราจะพบว่าเรื่องสำคัญของการแยกขยะนั้น ไม่ได้อยู่ในประเด็นที่สังคมพยายามพูดถึงกันเลย ไม่ว่าจะแยกประเภทของเหล็ก พลาสติก กระดาษ อลูมิเนียม หรือ กล่องนม เพราะปริมาณขยะรีไซเคิลเหล่านี้ รวมกันมีปริมาณเพียง 30% ดังนั้นประเด็นของการแยกขยะคือ การแยกจัดการขยะอินทรีย์เป็นสำคัญ ไม่ว่าบ้านใดจะแยกขยะรีไซเคิลเป็น 20-30 ประเภท หากมีการรวมขยะอินทรีย์เข้ากับขยะทั่วไปนั่นถือว่าสอบตก เพราะขยะที่จัดการได้จะมีเพียง 33% (รวมขยะอันตราย) และขยะทั่วไปจะกลายเป็น 67% (รวมอินทรีย์กับขยะทั่วไปเข้าด้วยกัน) เมื่อเป็นเช่นนี้ การสื่อสารเรื่องการแยกขยะโดยมุ่งเน้น เรื่องการเพิ่มรายได้นั้นจริง ๆ แล้ว ผิดทั้งหมด หากไม่สามารถจัดการขยะอินทรีย์ให้ได้เสียก่อน

ข้อมูลจากการทำ ZeroWaste Camping 2 ครั้งสุดท้าย เราพบว่าเมื่อทำการ Waste Audit สัดส่วนของขยะจะเปลี่ยนไปดังนี้

ครั้งที่ 6 สร้างขยะ 40 กรัมต่อคนต่อวัน

  • ขยะอินทรีย์ 31.6%
  • ขยะรีไซเคิล 20.8%
  • ขยะทั่วไป 47%

ครั้งที่ 7 สร้างขยะ 33 กรัมต่อคนต่อวัน

  • ขยะอินทรีย์ 60%
  • ขยะรีไซเคิล 5.3%
  • ขยะทั่วไป 34.5%

ความแตกต่างของครั้งที่ 6 และ 7 มีดังนี้ ในครั้งที่ 7 มีการสื่อสารที่ชัดเจนมากขึ้นในขยะจำพวกกระดาษ และทิชชู่ ซึ่งเป็นขยะอินทรีย์ที่ย่อยสลายได้ ทำให้ขยะเหล่านี้ย้ายจากขยะทั่วไปไปลงที่ขยะอินทรีย์ ถือว่าแยกขยะถูกต้องขึ้น และครั้งที่ 7 เราทำการทดลองให้มีตลาดเล็ก ๆ เกิดขึ้น คือ มีร้านอาหาร มีบริการอาหารในบางมื้อ และมีร้านน้ำโดยทั้งสองบริการนั้นให้บริการในรูปแบบ ZeroWaste รวมถึงการสื่อสารที่ชัดเจนมากขึ้นในกระบวนการ ZeroWaste ทำให้ขยะทั้งเป็นขยะรีไซเคิลเกิดขึ้นน้อย ปริมาณขยะทั่วไปลดน้อยลง และเชื่อว่าหากมีการล้างขยะเหล่านี้จะสามารถรีไซเคิลได้แทบทั้งหมด

การสร้างสถานการณ์การใช้ชีวิต 3 วัน 2 คืนใน camp นั้น ไม่ได้แตกต่างจากสิ่งที่ผมเรียนรู้จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของครอบครัวของเรา เริ่มต้นจากการจัดการขยะอินทรีย์ ที่ใช้ตั้งแต่กรีนโคน หรือ ถังขยะไม่มีวันเต็ม ใส่ขยะอินทรีย์ทุกอย่าง เพิ่ม Aerobin เพื่อกำจัดขยะเปลือกผลไม้ และผัก ได้ปุ๋ยน้ำ และปุ๋ยหมัก และไปปิดท้ายที่ถัง Oklin ที่กำจัดขยะทุกประเภทได้ และได้ปุ๋ยหมักคืนมา ถือว่าเป็นระบบที่ redundant เพราะผมมองว่าขยะอินทรีย์มีปริมาณมากที่สุดต้องจัดการได้ก่อน อีกประเด็นที่สำคัญแต่อาจจะถูกมองข้ามคือ น้ำดื่ม ผมใช้ระบบต้มน้ำ ค่อย ๆ ปรับมาเป็นกรองน้ำ RO และปัจจุบันมีระบบดักน้ำจากความชื้นร่วมด้วย นั่นหมายความว่า ผมไม่มีขยะรีไซเคิลประเภทขวดนน้ำเลยในระบบ ซึ่งเราก็เลือกที่จะนำแนวคิดนี้มาใช้ในแคมป์เช่นเดียวกันด้วยการเตรียมน้ำดื่มให้ผู้ร่วมแคมป์ทำให้ลดขยะขวดน้ำได้จำนวนมาก แม้ว่าเราจะไม่ได้เอาขยะส่วนนี้มาคำนวณปริมาณขยะ เราก็ถือว่าเป็นประเด็นสำคัญ อีกสองเรื่องราวที่เหลือคือ การใช้ภาชนะใช้ซ้ำที่เราชวนคนมาใช้กันตั้งแต่การทำร้าน ZeroWaste Pattani เริ่มต้นที่กระบอกน้ำ ถุงผ้าของ Trash Hero และอื่น ๆ ชวนคนมาปรุงอาหารด้วยไฟ การใช้ไฟทำให้กระบวนการเตรียมอาหารเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น ไม่ได้ดูลำบาก และช่วยลดการเตรียมอาหารแคมป์ในจำพวกอาหารกึ่งสำเร็จรูปที่มาพร้อมกับขยะพลาสติกจำนวนมากได้

ในอนาคตทางองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ชวนทีม Trash Hero Pattani เข้าไปคุยเรื่องจัดการขยะ ซึ่งแน่นอนว่า เราก็ต้องชักชวนให้มีการตั้งเป้าหมายไปที่คำว่า ZeroWaste เสียก่อน และจัดการขยะอินทรีย์เป็นลำดับแรก แยกขยะรีไซเคิล ส่งเสริมด้วยระบบการเงิน ทั้งการแยกขายขยะรีไซเคิล และการคิดค่าขยะตามปริมาณจริง เพราะผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าทันทีที่เราทำครบตามนี้ ท้องถิ่นของเราจะกลายเป็น ZeroWaste ไปในทันที

Nurturing Naturalist Intelligence

สำหรับใครที่เป็น FC ของ Howard Gardner จะทราบดีว่า 12 ปีหลังจากตีพิมพ์หนังสือ Frame of Mind : Theory of Multiple Intelligence เขาขอเพิ่มอีกหนึ่ง Intelligence ที่เรียกว่า Naturalist ในปี 1995 ทำให้เกิดกระแสธรรมชาตินิยมขึ้นอย่างมากมาย เช่นเดียวกัน มีวารสารทางวิทยาศาสตร์หลากหลายงานที่ตีพิมพ์เกี่ยวกับผลดีของการที่เด็กรักธรรมชาติในแง่มุมที่หลากหลายเกินที่จะจินตนาการได้ สำหรับผมที่เป็น FC ของ Gardner นั้น เป็นเพียงการยืนยันความหลงไหลส่วนตัวของความเป็นคนชอบสันโดด การหนีไปอยู่ท่ามกลางธรรมชาติอย่างภูเขา หรือ ทะเล นั้นเป็นสิ่งที่ผมทำอย่างสม่ำเสมอ จนกลายเป็นกิจวัตรอย่างกิจกรรม Trash Hero Pattani เป็นต้น จึงไม่เป็นเรื่องที่แปลกนักที่ผมจะพยายามปลูกฝังความรักในธรรมชาติให้กับลูก ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราเลือกเองได้เมื่อเรานั้นทำ โฮมสคูล ผมจึงมีหน่วยกิจกรรมการเรียนรู้ที่สามารถใช้การเข้าหาธรรมชาติเป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา เช่น กิจกรรมท่องโลก (ซึ่งหลายครั้งเราเลือกท่องเที่ยวธรรมชาติ) กิจกรรม sports and outdoor ที่เราให้การเข้าหาธรรมชาติเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้โดยตรง

ผมบังเอิญได้ค้นพบ Tarzan Boyd โดยบังเอิญผ่าน Facebook จากภาพเดินป่าสวย ๆ แต่ได้มาเจอตัวจริง ๆ ในวันที่ลูก ๆ ของเราไปเข้าค่ายวิทยาศาสตร์ที่ศูนย์วิทย์ นครฯ ในวันสุดท้ายที่น้ำตกอ้ายเขียว เมื่อ Tarzan Boyd ลงจากเขามาพบกับลูกชาย ที่ร่วมเรียนในค่าย พร้อมกับคุณแม่ที่เป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่ของศูนย์วิทย์ ในวันนั้นผมเพียงแค่ขอถ่ายภาพไว้ในฐานะ FC คนหนึ่ง ส่วนภรรยาของผมก็ทำความรู้จักกับเจ้าหน้าที่ของศูนย์เพื่อรับทราบข้อมูลค่ายอื่น ๆ ที่อาจจะเป็นประโยชน์กับลูก ๆ ของเรา ซึ่งแน่นอนว่าเราก็มีโอกาสได้เข้าร่วมหลาย ๆ ครั้ง ล้วนแล้วแต่เป็นค่ายที่เราเลือกเพื่อที่จะเสริมสร้างความเป็น Naturalist ให้กับลูก ๆ ของเรา ไม่ว่าจะเป็น นักสืบสายน้ำ เรียนรู้เรื่องเมฆ ดูนก ดูปลา และอื่น ๆ แต่หนึ่งค่ายที่เรารู้สึกตื่นเต้นที่สุด เพราะจะได้ไปกางเตนท์ใหม่ที่เตรียมมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ แต่นี่เป็นค่ายของ Tarzan Boyd ไม่ใช่ของศูนย์วิทย์ ซึ่งใช้ขื่อค่ายว่า “รหัสป่า junior”

17757599_1711390285544716_6163357360554631062_n

เราพาครอบครัวไปเข้าค่ายรหัสป่าจูเนียร์ เพื่อให้ลูก ๆ ได้สัมผัสบรรยากาศการนอนเตนท์กลางป่า และเรียนรู้การใช้ขีวิตในป่า ตามวิถีของพรานป่า ไม่ใช่วิถีของนักเดินป่ายุคปัจจุบัน เด็ก ๆ ได้สัมผัสอารมณ์ นอนเตนท์ แคมป์ไฟ การกินอาหารที่ทำกันในป่า โดยใช้เครื่องปรุงที่เตรียมไว้ ร่วมกับพืชผักที่หาได้ในป่า เด็ก ๆ ได้สัมผัสกับการเดินป่าจริง ๆ การดูแลตัวเองในการเดินป่า พร้อม ๆ กับเพื่อนในวัยไล่เรี่ยกันหลาย ๆ ครอบครัว  บรรยากาศในการได้ตั้งแคมป์ในพื้นที่ป่า ทำความรู้จักกับพืชพันธุ์ นานาชนิด เล่นน้ำตก หาอาหารป่า สร้างอารมณ์ร่วมให้กับเด็ก ๆ เป็นอย่างมาก เด็ก ๆ ของเรามีพัฒนาการด้านธรรมชาติวิทยาเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากหลังจากกลับจากค่าย ซึ่งผมเองก็พยายามหากิจกรรมธรรมขาติ เดินป่า ล่องเรือ ตั้งแคมป์ นอนเดนท์ให้เด็ก ๆ ได้สัมผัสอย่างสม่ำเสมอ แต่มีหนึ่งโครงการที่เรารออย่างใจจดจ่อ เพราะแทบจะจองลงชื่อทันทีที่จบจากค่าย รหัสป่าจูเนียร์ นั่นคือ รหัสป่า junior advance

แน่นอนว่าระหว่างที่เราอยู่ในค่ายรหัสป่าจูเนียร์ เราได้มีการพูดคุยถึงค่ายอื่น ๆ และได้สอบถามเกี่ยวกับเรื่องค่าย advance นี้มาบ้างแล้ว ว่าเป็นค่ายสำหรับเด็ก ที่จะเดินขึ้นยอดเขาหลวง ในระยะเวลา 5 วัน 4 คืน โดยที่จะต้องดูแลสัมภาระของตัวเอง ตั้งแคมป์ในป่า กินนอนกันในป่า ในขณะที่เดินทางไปเรื่อย ๆ สู่เป้าหมาย ซึ่งดูท้ายทายดี ค่าย advance นี้เด็กจะต้องผ่านค่ายพื้นฐานมาก่อนเท่านั้น จึงจะมีสิทธิ์ ในขณะเดียวกันผมเคยแลกเปลี่ยนรูปภาพขณะที่ไปเดินป่าที่ญี่ปุ่นบนเกาะ Yagoshima ก็ทราบว่าบนยอดเขาหลวงก็มีพื้นที่ที่มีภาพใกล้เคียงกับป่าโบราณที่เราไปเห็นที่ญี่ปุ่น จึงรู้สึกว่าเป็นสถานที่ที่น่าจะต้องไปค้นหา เมื่อค่าย advance เปิดเราจึงลงทะเบียนล่วงหน้ากันข้ามปี และรอคอยให้ถึงวันนั้น

17862761_1714509741899437_8120669183760309003_n

ตามแผนที่ได้คุยกันกับครูแจง ซึ่งเป็นอดีตเจ้าหน้าที่ศูนย์วิทย์ ภรรยา Tarzan Boyd ซึ่งในเวลานี้เราเรียกกันว่าครูบอยเมื่อผ่าน รหัสป่าจูเนียร์มาเรียบร้อยแล้ว เราได้คุยกันคร่าว ๆ ว่า เด็ก ๆ ที่ไม่มีผู้ปกครองมาเดินป่าด้วยจะค่อนข้างแข็งแกร่ง ไม่อิดออดเหมือนกับเด็กที่มีผู้ปกครองมาเดินด้วย และน่าจะทำให้การจัดการค่ายเป็นไปได้ง่ายขึ้น เราจึงวางแผนให้เซนไปเดินคนเดียว และซาช่า รอออกไปอีกปี แม้ว่าจะผ่าน รหัสป่ามาแล้วก็ตาม แต่เมื่อวันเดินป่าใกล้เข้ามากลับพบว่าหลาย ๆ ครอบครัวเลือกที่จะเดินทางไปด้วยกัน หรือ อย่างน้อยมีผู้ปกครองหนึ่งคนร่วมไปด้วย เราคุยกันว่าน่าจะให้ผมไปเดินกับเซนด้วย เพื่อไม่ให้เซนรู้สึกแตกต่างจากเพื่อน ๆ ที่มีพ่อหรือแม่มาเดินเป็นเพื่อน ในขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสของผมที่จะได้ไปเยือนป่าที่มีภาพใกล้เคียงกับที่ Yagoshima โอกาสที่จะฝึกความ independent ของเซนถอยออกไปอีกปี แต่โอกาสเที่ยวของผมเพิ่มขึ้นมา แถมด้วยโอกาสการสร้างความสัมพันธ์พิเศษระหว่างพ่อลูก ซึ่งคิด ๆ ไปแล้วผมอาจจะทำแบบนี้กับซาช่าด้วย โดยไม่มีเซนตามมาในคราวหน้า

17884432_1711472825536462_2001074965874511122_n

เมื่อวันเดินป่าเวียนมาถึง ด้วยความที่ผมเองก็เดินป่าเป็นครั้งแรก ถ้าไม่นับการเข้าป่าแบบลูกเสือ หรือ เรียน รด. ผมไม่แน่ใจว่าจะต้องเตรียมตัวอย่างไร หรือ คาดหวังอะไร ผมทราบเพียงว่าเราจะเดินเข้าไปในป่าลึก ไปยังที่ใดที่หนึ่ง พักแรม ค้างคืนกันในป่า แล้วเดินไปเรื่อย ๆ ก่อนที่จะกลับมาในวันสุดท้าย ผมไม่รู้ว่าคนเดินป่าเขาทำอะไรกัน เดินไปดูวิวที่จุดสูงสุด ดูนก ชมไม้ ผมไม่ใช่คนแบบนั้น ผมชอบอารมณ์ของการเดินทางมากกว่าจุดหมายปลายทาง ไม่ว่าเป็นกิจกรรมใด ๆ สิ่งที่ผมจะเก็บเกี่ยวได้มักจะเป็นการเดินทาง ผมจึงพยายามติดตามคำแนะนำของทางผู้จัดว่าให้ตระเตรียมอุปกรณ์อย่างไร เสื้อผ้าสำหรับเดิน ขายาว แห้งเร็ว ๆ เบา ๆ ไม่อมน้ำ สองชุด ชุดนอนอุ่น ๆ หนึ่งชุด ถุงกันทาก ถุงเท้ายาวแบบฟุตบอล ถุงนอน ไฟฉาย น้ำ ทุกอย่างให้ใส่ถุงพลาสติกลงในเป้ให้หมด ไม่แขวนหรือผูกอะไรไว้ด้านนอก เราไม่ได้มีอะไรที่เหมาะสมสำหรับเดินป่าสักอย่าง ผมซื้อกางเกงเดินป่ามือสองมาหนึ่งตัว แต่ก็พบภายหลังว่ามีซับใน ไม่น่าจะเหมาะกับกิจกรรมที่ต้องเปียก จึงเอาไปใช้เป็นชุดนอน ส่วนเซนก็เลือกหากางเกงขายาวที่พอมีในบ้าน ไม่ได้มีตัวไหนที่ดูจะแห้งเร็วเป็นพิเศษ แต่โชคดีที่เรามีเสื้อจากงานวิ่งเป็นจำนวนมาก เสื้อพวกนี้แห้งไวอยู่แล้วจึงไม่เป็นปัญหา ถุงกันทาก เรายืมทางทีมงานได้ ถุงเท้าไปหาเอาดาบหน้า ถุงพลาสติกเอาไปเผื่อเยอะ ๆ ผมไม่แน่ใจสภาพจึงขนเอากล้องถ่ายรูป กล้องส่องทางไกล มือถือพร้อม power bank ไปด้วยเต็มสูบ ไฟฉายคาดหัว และแน่นอนสมุดบันทึกของเซน พร้อมกับกระติกน้ำคนละกระบอกให้สมชื่อ Trash Hero Pattani ไม่ใช้น้ำขวด

เราเดินทางไปจุดนัดพบเวลา 9 โมงที่น้ำตกวังลุง ท่ามกลางสายฝนโปรยปราย บังเอิญ 2 ใน 5 วันที่เราจะเข้าป่ากันนั้น คาบเกี่ยวกับช่วงเวลาพายุฤดูร้อน 5 วันที่กำลังถล่มภาคใต้พอดี เราพอเดาได้ว่าสภาพป่าน่าจะสวยสด แต่พื้นดินน่าจะเละเทะ และปริมาณน้ำในน้ำตกน่าจะมากพอดู นั่นคือการประเมินแบบคนไม่เคยเดินป่าอย่างผม แต่เมื่อดูสถานะการณ์รอบ ๆ จากผู้เชี่ยวชาญไม่ว่าจะเป็นครูบอย หรือเจ้าหน้าที่อุทยาน ผมเริ่มคิดว่างานนี้น่าจะไม่ค่อยธรรมดา ทางผู้จัดเริ่มเปรย ๆ ว่าด้วยสภาพที่ว่านี้ เราน่าจะต้องเปลี่ยนเส้นทางกันเล็กน้อย เส้นทางที่คาดว่าจะไปในคราวแรกนั้น มีความลาดชันสูง แม้จะไกล้กว่าเล็กน้อย สภาพอากาศเช่นนี้มีความเสี่ยงมากเกินไป ในขณะที่เจ้าหน้าที่อุทยานกล่าวต้อนรับ ด้วยคำพูดแปลก ๆ “ปกติสภาพแบบนี้เราไม่ให้เข้าไป แต่นี่เห็นว่าเป็นนักเรียนรหัสป่า มีประสบการณ์สูง และเราทำงานร่วมกันมานาน” ในใจผมก็รู้สึกว่าเอ๊ะนี่มันแปลก ๆ ในขณะเดียวกันช่วงนั้นมีฝนเทลงมาห่าใหญ่ ครูบอยบอกว่าเราจะรอให้ฝนซาสักนิดก่อนเดินเข้าไป ฝนแบบนี้มาหนักเป็นพัก ๆ แล้วผ่านไป แต่ไม่น่าจะหยุดง่าย ๆ เริ่มตื่นเต้นแล้วสิ จริง ๆ แล้วผมน่าจะเรียนรู้มาก่อนเพราะจุดนัดพบนี้ถูกเลื่อนมากระทันหัน จากจุดนัดพบเดิม ซึ่งทางเดินจะปลอดภัยมากขึ้น แลกกับระยะทางเดินที่ไกลขึ้น ผมเริ่มจัดแจงสิ่งของวินาทีสุดท้าย ตรวจดูร่างกาย อุปกรณ์ให้ผมและเซน ก่อนที่จะปล่อยให้เซนบอกลาน้อง ๆ และแม่ เพราะเราจะไม่ได้เจอกันในอีก 5 วันข้างหน้า นี่จะเป็นครั้งแรกที่ยาวที่สุดที่เซนจะแยกกับแม่ของเขา โชคดีว่าในเวลานั้นเขาเริ่มออกไปเล่นน้ำฝนกับเพื่อน ๆ แม้ว่าผมทดสอบถามเขาว่า ผมไม่เดินไปด้วยได้ไหม เขายังหันกลับมาตอบอย่างอารมณ์ดีว่า ผมไม่ต้องไปกับเขาก็ได้ ผมยิ้มในใจ

17904107_1714075641942847_4540273630950799423_n

เรารอฝนอยู่ประมาณชั่วโมงนึง เราเริ่มเดินเข้าไปตอน 10 โมงเช้า เลทไปแล้วหนึ่งชั่วโมง ฝนห่าใหญ่ผ่านไปแล้ว แต่ยังไม่หยุด ทุกคนแต่งตัวมิดชิด ใส่ถุงกันทากแล้วถุงเท้ายาวทับอีกชั้น เสื้อใส่ในกางเกง ป้องกันสัตว์ แมลง โดยเฉพาะทาก ครูแจงแนะนำให้เด็ก ๆ ใส่แขนสั้น ถ้าแขนยาวไม่รัดรูป เพื่อที่จะได้สังเกตได้ง่ายเมื่อมีสัตว์หรือแมลงเข้าไปด้านในแขนเสื้อ ผมจึงต้องถอดปลอกแขนที่เตรียมมาให้เขาออก ในขณะที่ผมนั้นใส่ปลอกแขนไว้ เราเดินมุ่งหน้าเข้าป่า แล้วก็เริ่มปีนเขาสูงชันเข้าไปทางทางเล็ก ๆ ที่พอเดินได้ ไม่ได้มีลักษณะเป็น trail อย่างที่เคยพบเจอในรายการวิ่ง trail ใด ๆ ค่อย ๆ ลัดเลาะผ่านสวนยาง ป่าโปร่งเรื่อยไปจนในที่สุดก็เข้าป่ารกทึบอีกครั้ง ในตอนนี้ทุกคนเปียกไปหมดทั้งตัว ทางผู้จัดได้แนะนำให้เดินตัวเปล่าไม่ใส่เสื้อกันฝน เพราะจะเย็นสบายกว่า ในขณะนี้ลูกทีมที่เตรียมเสื้อกันฝนกันมาเริ่มถอดเก็บกันหมดแล้ว เพราะความเร็ว ความชัน และระยะทางที่เราเดินกันมานั้น เริ่มทำให้ความร้อนสะสมภายใต้เสื้อเหล่านั้นสูงจนไม่อยู่ในสภาวะที่น่าใช้มากนัก เราเดินขึ้นเขา ลงหุบ ซ้ำไปมาแบบนี้หลายรอบจนผมเริ่มงง ว่าสุดท้ายแล้วเราขึ้นลงไปกี่ครั้ง ผมคุยคร่าว ๆ กับครูบอยว่า เราต้องพยายามหาทางข้ามน้ำที่แคบและปลอดภัยที่สุด เพราะในสภาวะช่วงนี้ ฝนตกมาหลายวัน แม่น้ำมีน้ำมาก หลายจุดข้ามปกติไม่สามารถข้ามได้ เมื่อมาถึงจุดข้ามแรก ผมก็เริ่มเข้าใจว่าเรากำลังพบเจอกับอะไร

17862616_1662631570431392_8655465547247298626_n

ทีมงานข้ามแม่น้ำไปผูกเชือกไว้กับโขดหินที่ฝั่งตรงกันข้ามแล้วค่อย ๆ แนะนำให้เด็ก ๆ เดินข้ามแม่น้ำที่ในเวลานั้นเชี่ยวกราก เด็กบางคนทางทีมเลือกที่จะอุ้ม แต่บางคนก็ต้องเดินเอง ภาพที่เห็นเป็นความทุลักทุเล เมื่อเด็กบางคนที่ต้องเดินแต่ไม่สามารถวางเท้าลงบนหินที่มีแรงน้ำสูงขนาดนั้นได้ ขณะที่มือโหนเชือกปล่อยให้ตัวถูกโยนไปกับสายน้ำ มั่นน่าตื่นเต้นสำหรับผมที่จะลองสัมผัสความอันตรายของธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ เมื่อถึงคราวผมก็ได้เข้าใจ สายน้ำแรง ๆ ที่เห็นทำให้บางครั้งไม่สามารถเล็ง หรือ กำหนดตำแหน่งวางเท้าได้อย่างที่ต้องการ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการเดินข้ามธารน้ำตกที่เต็มไปด้วยหิน บางจุดไม่เหมาะในการวางเท้า ความลื่น ความไม่มั่นคง ต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้มีจุดบังคับในการวางเท้า ที่บางครั้งเราเอาเท้าลงไปไม่ค่อยได้ ทุกครั้งที่มีการข้ามน้ำถือเป็นความเสี่ยง ทีมออกแบบการเดินทางเพื่อลดความเสี่ยงเหล่านี้ ในขณะที่หยั่งกับความเสี่ยงของการเดินผ่านหน้าผาชัน ลื่น หรือสภาพต่าง ๆ ที่ต้องพบเจอ ทำให้การเดินป่าแบบพรานนั้น มีความสนุกตื่นเต้นจากความไม่แน่นอนของเส้นทางเดินปะปนอยู่ด้วย ผมทราบภายหลังว่าเส้นทางที่เราใช้ในการเดินทางนั้น ส่วนใหญ่แล้วเป็นเส้นทางเดินของสัตว์ สำหรับป่านี้เราเดินตามเส้นทางของสมเสร็จ ครูบอยบอกว่าสมเสร็จที่ป่าเขาหลวงนั้นตัวใหญ่มาก ทำให้ทางเดินของเราค่อนข้างเดินง่าย เราเดินผ่านมูลสมเสร็จหลายครั้ง ขนาดของกองถ่ายทำให้เราพอจะเดาขนาดสมเสร็จที่น่าจะใกล้เคียงวัวตัวย่อม ๆ ตัวหนึ่งเลยทีเดียว เราเดินมาพักทานอาหารเที่ยงกันริมลำธาร ซึ่งจริง ๆ แล้วควรจะเป็นจุดตั้งค่ายพักในคืนนี้ แต่วันนี้เราต้องเดินกันต่อ เพราะพายุฝนยังไม่ผ่านไป ตำแหน่งนี้อาจจะมีความเสี่ยงของน้ำป่าได้ ทางทีมจึงต้องมองหาตำแหน่งที่ปลอดภัยกว่านี้

17862648_1713429135340831_3274983964333435475_n

การเปิดพื้นที่พักแรมในป่าดิบนั้น ว่ากันว่าจะทำเมื่อจำเป็นจริง ๆ เท่านั้น พรานจะใช้พื้นที่เดิม ๆ ถ้าเป็นไปได้ เพราะพื้นที่เปิดใหม่จะส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมของป่าเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะสิ่งมีชีวิตในป่า เมื่อไม่มีการใช้งานซ้ำ การฟื้นฟูให้คงสภาพเดิมอาจจะใช้เวลาเป็นสิบปี แต่วันนี้เป็นหนึ่งในข้อยกเว้นนั้น เราเดินจากจุดตั้งแคมป์เดิมไปอีกประมาณ 2 ชม. ทีมก็ให้เด็ก ๆ ลงเล่นน้ำตกกัน แล้วบอกว่าจะขึ้นไปทำค่ายกันที่ด้านบน เด็ก ๆ เหมือนจะผ่อนคลายกันนิดนึงวันนี้เดินกันมาได้ประมาณ 5 ชม. ระยะทางรวม ๆ แค่ 5 กม. เท่านั้น เป็นการวอร์มอัปที่ทำให้เด็ก ๆ บางคนถอดใจไปบ้าง อารมณ์เล่นน้ำวันนี้จึงดูไม่ครื้นเครงเท่าที่ควร เมื่อล้างเนื้อล้างตัวกันแล้ว เราก็ปีนเชิงเขาขึ้นไปดูที่ตั้งค่าย พื้นที่เล็ก ๆ พอจะมีจุดให้กางเตนท์ได้บ้าง มีลำธารขนาดเล็กใกล้ ๆ แต่เราก็ไม่มีพื้นที่มากเพียงพอสำหรับทุก ๆ กิจกรรม เราต้องใช้พื้นที่ใต้ Flysheet เดียวกันระหว่างพื้นที่รับประทานอาหารและสันทนาการ พร้อมกับกางเต้นท์ 6 หลังที่ต้องยกเข้าออกสลับหน้าที่ของพื้นที่นั้น เด็ก ๆ หิวและมากินมาม่าบ้าง โจ๊กบ้าง หรือขนมบ้างตามแต่ที่พกมาก อาหารเย็นมื้อแรก เด็ก ๆ ยังเลือกกินกันอยู่บ้าง เพราะแต่ละคนยังมีเสบียงส่วนตัว และยังไม่เห็นภาพที่ชัดเจนของชีวิตการเดินป่า ในคืนนั้นเด็ก ๆ ใช้เวลากลางคืนในบริเวณทำครัว ครูเกรียงเล่านิทานสอดแทรกความรู้ ช่วยให้เวลาค่ำคืนแรกในป่าดิบชื้นของเด็ก ๆ ผ่านไปได้ง่ายขึ้น ส่วนผู้ใหญ่อย่างผม กับรากไม้ทิ่มแทง เสียงป่า น้ำตก และเวลาค่ำคืนที่ยาวนาน เริ่มต้นที่ประมาณสามทุ่ม มันช่างผ่านไปเชื่องช้าเสียเหลือเกิน

คืนแรกนั้น ฝนกระหน่ำลงมาอีกครั้งราว ๆ ตีสาม รุนแรง จนผมคิดในใจว่าแล้วเราจะทำกันอย่างไรในวันรุ่งขึ้น ผมนอนกระสับกระส่ายเพื่อรอแสงแรกของวัน แต่ชิงลุกขึ้นมาหากาแฟร้อน ๆ ดื่มทันทีที่ได้ยินเสียง พื้นดินในค่ายเฉอะแฉะเต็มไปด้วยโคลน ระหว่างที่ทางทีมเตรียมอาหารเช้า บางส่วนเริ่มออกเดินสำรวจสภาพน้ำ ป่าเพื่อที่จะประเมินสถานการณ์ ครูบอยเรียกประชุมคร่าว ๆ บอกข่าวร้ายกับเราว่าในคราวนี้คาดว่าคงจะไม่สามารถเดินขึ้นไปถึงยอดได้อย่างที่คาดหวังไว้ ฝนตกหนักทั้งคืน คาดว่าเราอาจจะไม่สามารถข้ามน้ำไปได้ เส้นทางที่เราจะเดินขึ้นไปนั้น ลาดชัน และยาวไกล ไม่มีจุดที่จะสามารถพักค้างแรมใด ๆ ได้ ถ้าเรามุ่งหน้าไปแล้ว มีอย่างเดียวคือเราต้องไปให้ถึง สุดท้ายครูบอยจะออกไปสำรวจสภาพน้ำอีกครั้ง และจะพยายามหาที่ตั้งแคมป์ใหม่ที่เหมาะสมที่จะค้างคืนอีกสามวันที่เหลือโดยไม่ลำบากมากนัก ในขณะที่เราอาจจะใช้เวลาระหว่างวันในการทำกิจกรรมเดินป่าในพื้นที่ใกล้ ๆ บริเวณนี้แทน ตอนนี้เด็ก ๆ ตื่นกันหมดแล้ว บ้างก็นั่งเล่นกัน ผมเองในใจก็รู้สึกเสียดายอยู่บ้าง แต่อีกใจก็รู้สึกยินดีเล็ก ๆ ที่เหมือนกับว่าจะไม่ต้องดันทุรังฝ่าฝนฝ่าน้ำเดินทางกันเหมือนเมื่อวานอีก หลังจากนั้นไม่นาน ครูบอยก็กลับมาด้วยข่าวที่ปนดีปนร้าย พื้นที่ที่คาดว่าจะลงไปตั้งแคมป์ ในพื้นที่เปิดและจะใช้เวลาอยู่กันนั้น ไม่เปิดเท่าที่ควร มีน้ำในระดับที่ยังไม่น่าไว้วางใจที่จะตั้งแคมป์ การตั้งแคมป์ที่จุดเดิมนี้อีกหลายวันคงไม่เป็นทางเลือกที่ดี เด็ก ๆ คงไม่น่าจะทนเบื่อและเละเทะกันได้ ถ้าจะเดินกลับไปความเสี่ยงที่จะติดน้ำ ไม่ต่างกันไปกับเสี่ยงที่จะเดินขึ้นไปต่อ ครูบอยจึงเรียกประชุมอีกครั้ง พร้อมกับเสนอแผนที่ยิ่งใหญ่ ท้าทาย และต้องการความร่วมมือจากทุกคน

17861619_1662633073764575_8956256117690840938_n

ครูบอยวางแผนว่าเราจะเสี่ยงที่จะเดินขึ้นไปให้ถึงจุดพักใกล้จุดสูงสุด ในบริเวณที่เรียกว่าห้วยน้ำหนาว ซึ่งเป็นพื้นที่โล่งกว้าง มีลำธารสวยงามไหลผ่าน แต่เส้นทางไปนั้นจะต้องข้ามน้ำอีกสามครั้ง ทางเดินชันตลอดเส้นทาง จากความสูงในเวลานี้ประมาณ 300 เมตรจากระดับน้ำทะเล เราต้องเดินไปอีกประมาณ 10 กม. ขึ้นอีก 1000 ม. จากระดับน้ำทะเล ไปพักกันที่ 1300 เมตร ซึ่งเราไม่สามารถที่จะค้างคืนที่อื่นใดได้อีก นอกจากจะต้องเดินให้ถึงเท่านั้น เราจะต้องทิ้งของทุกอย่างที่นี่ไว้ครึ่งหนึ่ง นำสำภาระเท่าที่จำเป็นขึ้นไป แล้วเราจะกลับลงมาแคมป์กันที่นี่อีกครั้งในเที่ยวกลับ (ซึ่งปกติไม่เคยทำเช่นนี้มาก่อน นั่นคือ ค่ายมักจะเดินขึ้นทางหนึ่งแล้วเดินลงอีกทางหนึ่ง แต่ในครั้งนี้เป็นความจำเป็น) ในเวลานั้นใกล้ 10 โมงเช้าแล้ว ครูบอยให้เวลาทุกคนจัดสัมภาระ 15 นาทีก่อนที่จะรวมตัวกันเพื่อเดินฝ่าฝนกันออกไป เด็ก ๆ หลาย ๆ คนเมื่อต้องเปลี่ยนเป็นชุดเปียกอีกครั้ง ออกมายืนกลางฝน เริ่มออกอาการตัวสั่น ด้วยความหนาวเย็น เซนก็เช่นกัน เราก็ได้แต่หวังว่าการเดินจะค่อย ๆ ทำให้เราทุก ๆ คนอุ่นขึ้นเรื่อย ๆ ณ จุดนี้ ไม่มีป่าโปร่งอีกแล้ว เราเดินผ่านป่าทึบ หลายครั้งหากไม่รักษาระยะห่างดี ๆ อาจจะมองไม่เห็นคนด้านหน้า จนทำให้รู้สึกเหมือนหลงทางกันเลยทีเดียว เราต้องเดินลัดเลาะเลียบลำน้ำตกหลายครั้ง เพื่อหาตำแหน่งในการข้ามน้ำที่ปลอดภัย เส้นทางสูงชันต้องปีนขึ้นลงเขาแล้วเขาเล่า ครูบอยคาดว่าวันนี้เราน่าจะเดินในป่ากันจนมืดค่ำ ไฟฉายเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ครูบอยกำชับให้ทุกคนพกไว้ในตำแหน่งที่หยิบออกมาใช้ได้ง่าย เส้นทางเดินป่าของวันนี้ เรียกได้ว่าไม่ธรรมดาเลยทีเดียว ด้วยความอ่อนประสบการณ์ของผม จากเส้นทาง ความสูง ความชัน การเดินลัดเลาะไหล่เขา หน้าผาเช่นนี้ ถ้าผมต้องตัดสินใจด้วยตัวเอง ผมคงไม่มีวันปล่อยมือเซนเป็นแน่ อย่างไรก็ตาม ผมไว้ใจทีมงานในการประเมินสถานการณ์

หลายครั้งทีมงานมีการแบ่งหน้าที่เพื่อคอยเฝ้าระวังในจุดที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ทางลงเขาชันแล้วต้องเลี้ยวเลาะไหล่เขาในทันที ถ้าพลั้งพลาดในบางจุดคาดว่าคงไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ที่จะกลับขึ้นมาครบ 32 ได้ เห็นทีมงานทำงานเข้าขากันอย่างเงียบ ๆ ความอันตรายของเส้นทางถูก ป้องกัน สร้างระบบเพื่อลดความเสี่ยงอย่างมากจนคาดว่าคนมาเดินหลาย ๆ คนคาดไม่ถึงว่าความอันตรายของเส้นทางนี้มีสูงมากเพียงใด หากไม่ได้เดินทางมากับผู้เชี่ยวชาญอย่างเช่นวันนี้ อย่างไรก็ตามในความเหนื่อยล้าของการเดินทางทั้งวันนี้ แดดแทบไม่มีให้เห็น ป่าทึบ เมฆฝน แทบจะบังคับให้ต้องใช้ไฟฉาย ในเวลากลางวัน เราเริ่มไต่ความสูงขึ้นมาเรื่อย ๆ จนถึงยอดต้นไม้ใหญ่ เราเริ่มเดินเข้ามาสู่ระดับเดียวกันกับเมฆหมอก ครูบอยพาพวกเรามาดูหนึ่งต้นน้ำ และเล่าปรากฏการณ์ของการเกิดน้ำที่ต้นน้ำแห่งนี้ ที่นี่ไม่ได้มีตาน้ำ ไม่มีน้ำใต้ดินที่ไหลลงมา แต่หากว่าเมฆ หมอกที่มาพร้อมกับความชื้นที่พัดผ่านมาปะทะกับต้นไม้ ป่าในบริเวณนี้และรอบ ๆ ทำให้น้ำถูกก่อตัวลงสู่ใบ กิ่งก้านสาขาของต้นไม้เหล่านั้นแล้วไหลร่วงลงมาสู่พื้นดิน รวมตัวกันจนเป็นจุดเริ่มต้นของสายน้ำยิ่งใหญ่ที่เราพยายามข้ามกันมาทั้งวัน สองสามเที่ยว มันเป็นความน่ามหัสจรรย์ของธรรมชาติ เป็นจังหวะที่ทุกคนได้ผ่อนคลายกันเล็กน้อย เรายังต้องเดินทางกันอีกยาวไกลในวันนี้

17904202_1714509428566135_2691042292950774906_n

ท่ามกลางความเหน็ดเหนื่อยมีเสียงพร่ำสอนของครูเกรียงเป็นระยะ ๆ แมลงบ้าง เห็ดบ้าง ผมเดินค่อนข้างห่างไปทางด้านหลังจึงไม่ได้มีโอกาสที่จะได้เห็นว่าสิ่งเหล่านั้นคืออะไร ในบางช่วงเส้นทางมันช่างดูน่าหวาดกลัวสำหรับคนเป็นพ่อแม่ แต่เหมือนว่าเด็ก ๆ จะจัดการกับมันได้ดี เราเดินหยุดคอยกันเป็นระยะ ๆ การเดินป่านั้นมีเรื่องราวสองสามเรื่องที่ครูบอยและครูแจงสอนไว้ ครูแจงพยายามเร่งให้แต่ละคนเดินไม่ทิ้งระยะกันจนเกินไปนัก เพราะความรกของเส้นทาง ถ้ามองไม่เห็นหลังกันอาจจะหลงกันง่าย ๆ ส่วนครูบอยก็มีการสอนการแกะรอยแบบง่าย ๆ ไว้ให้บ้าง ในเส้นทางที่มีทางแยกก็อาจจะมีการบิดใบไม้ให้พอเป็นจุดสังเกตุ เส้นทางอันตรายอาจจะมีการหักกิ่งไม้พาดไว้ เป็นเรื่องราวที่พรานเขาทำกัน แต่สำหรับอย่างเรา ๆ ถ้าสายตาหลุดจากหลังคนด้านหน้าเมื่อไร ก็รู้สึกทันทีว่าหลงทาง มีเรื่องราวตื่นเต้นอึกครั้งเมื่อมีเสียงตะโกนโหวกเหวกโวยวายจากรีซ หนูน้อยตัวเล็กที่สุดวัย 7 ขวบ ช่วงนั้นรีซเริ่มงอแงบ้างแล้ว หลาย ๆ คนไม่ได้แปลกใจอะไรมาก ถ้าหากจะเกิดการร้องไห้โวยวายในเวลานี้ แต่ไม่นานนักเราก็รู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น เมื่อเหล่าผู้ใหญ่เมื่อเดินตามมาถึงต่างตะโกนกันว่า วิ่งเร็ววิ่ง ฝูงผึ้งแตกรัง เข้ารุมต่อย ใบหน้า หัว หลัง หลาย ๆ คน ตั้งแต่รีซและทุก ๆ คนที่เดินตามมา ทำให้ผมเริ่มนึกได้ว่า ผมเองก็โดนเหมือนกันไปสามสี่ครั้ง แต่ด้วยความที่ด้านต่อสิ่งเหล่านี้จึงไม่ได้รู้สึกอะไรมากมาย

วันนี้มีแสงอาทิตย์สอดส่องลงมาบ้างเป็นระยะ สลับกับฟ้ามืด และสายฝน ไม่ได้ถึงกับเลวร้ายเหมือนกับเมื่อคืน แต่เราเดินกันมาทั้งวันแล้ว ช่วงบ่ายแก่ ๆ ฟ้าค่อนข้างจะมืดลง การเดินทางในป่าเริ่มยากลำบากขึ้น แม้ว่ายังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ไฟฉาย หลังจากที่รู้สึกว่าความมืดจะเริ่มเข้าปกคลุมได้ไม่นาน ผมก็เห็นไข่มุก เด็กตัวเล็กที่สุดอีกคนลื่นไถล แล้วก็ตีลังกาลงข้างทางสูงชัน ก่อนที่จะไปค้างอยู่กับต้นไม้เล็ก ๆ ทันทีที่ไข่มุกตะโกนเรียก “ช่วยหนูด้วย” พรานเธียรก็กระโจนไปอยู่ข้างตัวเด็กน้อยแล้วช่วยผลักให้ไข่มุกกลับขึ้นมาได้ ไข่มุกตัวสั่นด้วยความกลัว ครูแจงต้องเข้ามาปลอบและเดินจูงมือไปด้วยกันจากจุดนั้น เด็กทุกคนในเวลานี้ เริ่มวิตก และร้องไห้กันทุกคน ยกเว้นสองคนที่อายุมากที่สุด ผมเริ่มมาเดินข้างเซน จูงมือกันไปสร้างกำลังใจให้เขาอีกครั้ง เรามีเวลาไม่มากนักถ้าไม่อยากเดินทางในความมืด จากจุดนั้น ไม่มีเสียงอื่น ๆ ใดอีกเลย นอกจากเสียงร้องไห้ สะอีกสะอื้นของเด็ก ๆ ทั้งหลาย ร้องไห้ไป เดินหน้าต่อไป จนในที่สุดเรามาถึงจุดหนึ่งที่เป็นลานเปิดกว้าง มีลำธารอยู่ใกล้ ๆ แล้วครูบอยก็บอกว่า ถึงแล้ว คืนนี้เราจะพักกันที่นี่ ให้อาบน้ำล้างตัวกันได้ แต่น้ำอาจจะเย็นอยู่สักหน่อย ตามชื่อสถานที่ “ห้วยน้ำหนาว” อุณหภูมิขณะนี้ประมาณ 15 องศา ทางทีมงานจัดเตรียมพื้นที่ กางเตนท์ หุงหาอาหาร ส่วนเด็ก ๆ ก็ค่อย ๆ กระจายกันไป ล้างเนื้อล้างตัว เปลี่ยนเสื้อผ้า แล้วออกมาหาอะไรกินรองท้อง มาม่าบ้าง โจ๊กซองบ้าง ขนมบ้างไปตามประสา อารมณ์ตื่นตกใจทั้งเรื่องของผึ้ง หรือ ไข่มุกตกผา ยังตราตรึง หลังจากอาหารค่ำ ทุกคนแยกย้ายกันเข้านอนแบบไม่อิดออด แต่ความหนาวเย็นก็เป็นอุปสรรคในการนอนหลับสนิทพอสมควร แม้ว่าวันนี้เราจะเดินขึ้นเขากันมากว่า 8 ชั่วโมง กับระยะทาง 10 กม. ไต่ระดับความสูงประมาณ 1000 เมตร

17904223_1714543015229443_4614302251025924284_n

เช้าวันถัดไป หลังจากตื่นขึ้นมาเราค่อย ๆ ซึมซับทีละเล็กละน้อย กับบรรยากาศรอบข้าง ความเขียวขจี อากาศที่สดชื่น หนาวเย็น สายน้ำ โขดหิน ทุกสิ่งอย่างมันค่อย ๆ ลงตัวมากขึ้น ครูบอยบอกให้ทุกคนเตรียมทานอาหารแล้วจะพาเดินไต่ระดับประมาณ 300 เมตรไปยังจุดสูงสุดในบริเวณนี้ที่ระดับความสูงประมาณ 1500 เมตรจากระดับน้ำทะเล บริเวณที่เรียกว่าหินสองเกลอ หลังมื้อเช้า เด็ก ๆ หลาย ๆ คนอิดออด ไม่อยากกลับมาใส่เสื้อผ้าเปียกอีกครั้งในความหนาว 15 องศาเช่นนี้ ความคิดเรื่องการเดินป่าอีกวันนึงนั้น มันช่างน่าสะอิดสะเอียน ทางครูแจงพยายามอธิบายว่าที่เราลำบากกันเมื่อวานนั้น ก็เพื่อความรื่นรมในวันนี้ ถ้าวันนี้เราไม่ออกเดิน ทุกสิ่งทุกอย่างที่เหนื่อยมาเมื่อวานก็คือสูญเสียไป ผมมองเหน้าเด็ก ๆ หลาย ๆ คน ก็เข้าใจว่า หลาย ๆ คนไม่แคร์ ถ้าเขาจะสามารถนั่งรออยู่ที่นี่ได้ พวกเขาเหล่านั้นก็คงเลือกเส้นทางนั้น แต่มันเป็นไปไม่ได้ เราค่อย ๆ ช่วยกันแต่งตัวเด็ก ๆ แล้วมารวมตัวกันเพื่อผจญภัยกันต่อ เราค่อย ๆ เดินลัดเลาะขึ้นไปตามลำธาร กระโดดจากหินก้อนหนึ่งสู่อีกก้อนหนึ่ง บางครั้งก็ลุยน้ำบ้าง แต่ในวันนี้หลาย ๆ คนพยายามไม่ให้เปียก ไม่กี่สิบนาทีผ่านไปความสดใสของเด็ก ๆ ค่อย ๆ กลับมาทีละคน ละคน วันนี้เราเดินนิด ๆ หน่อย ๆ แล้วหยุดเพื่อถ่ายรูป บางครั้ง เราพยายามจัดองค์ประกอบเพื่อถ่ายรูปกันจนเด็ก ๆ เริ่มโวยวายออกเดินกันต่อ พันธุ์ไม้ในความสูงระดับนี้แตกต่างจากด้านล่างพอสมควร ต้นไม่ได้สูงใหญ่มากนัก อากาศเย็น มีมอสขึ้นปกคลุมเขียวไปหมด เราเดินชมบรรยากาศ ดูกล้วยไม้ หลากหลายพันธุ์ รวมไปถึงนกต่าง ๆ ที่เป็นจุดเด่นของเทือกเขาหลวง ก่อนที่จะค่อย ๆ ลอดทะลุป่าโปร่งมาเจอกับโขดหินขนาดใหญ่สองก้อน ที่เรียกว่า หินสองเกลอ ในช่วงเวลาประมาณเที่ยงวันพอดี เราหยุดรับประทานอาหารเที่ยงกันบนโขดหิน ครูบอยเลือกมาแจกประกาศกันที่นี่ เด็ก ๆ ร่าเริงกันมาก เซนบอกกับผมว่า “ดีนะ ที่เซน เดินมาด้วยในวันนี้ เพราะตรงนี้มันสวยมากเลย” ในใจผมรู้สึกเล็ก ๆ ว่า เขาเริ่มเข้าใจในทัศนคติบางอย่างที่ผมต้องการให้เขาได้กลับไปจากการเข้าค่ายนี้บ้างแล้ว

17523374_1711167778900300_7324851528602095607_n

ช่วงบ่ายหลังจากนั่งกินอาหารเที่ยงบนตำแหน่งที่วิวสวยที่สุดแห่งหนึ่งบนยอดเขาหลวงเรียบร้อยแล้ว ฝนก็กลับมาไล่เราอีกครั้ง ครูบอยจึงพาเดินกลับย้อนลงไปอีกเส้นทางหนึ่ง เพื่อผ่านบริเวณที่เป็นป่าโบราณ ต้นไม้แปลกตา สวยงาม ป่าในโซนนี้ต้นไม้จะไม่สูงใหญ่มากนัก ต่างจากป่าด้านล่าง เราเดินชมป่า วิว กล้วยไม้ เรื่อยไป จนค่อย ๆ ย้อนลงไปถึงแนวลำธารที่เราเกาะขึ้นมา หลังจากนั้นครูบอยก็ค่อย ๆ ทิ้งระยะหายไป แต่ละคนก็ค่อย ๆ ไล่เดินตามแนวลำธารกลับมายังที่พัก วันนี้ทุกคนอิ่มเอิบหัวใจเป็นอย่างมาก เด็ก ๆ ล้างเนื้อล้างตัวมารออาหารเย็น หลังอาหารเย็นก็มีครูเกรียงคอยเล่านิทานความรู้ธรรมชาติให้ฟัง ก่อนที่ครูแจงจะให้เด็ก ๆ เขียนบันทึก วาดภาพเพื่อนำมาแบ่งปันกัน คืนนี้เราจะพักกันที่นี่เป็นคืนสุดท้าย เวลาช่างผ่านไปเร็วเหลือเกิน เมื่อเทียบกับความเชื่องช้าของคืนแรก

วันรุ่งขึ้นเราเดินกลับไปยังแคมป์เก่าอีกครั้ง เพื่อไปค้างคืนสุดท้ายกันที่นั่น การเดินลงเขาเราทำเวลากันได้ดีกว่าขั้นเขามาก เด็ก ๆ ทุกคนเดินนำหน้าไปกับครูบอย การเดินลงเขานั้น อันตรายมากกว่าการเดินขึ้นเขามากนัก ครูบอยค่อนข้างกำชับเรื่องความปลอดภัย มีการระวังภัยให้เป็นระยะ ๆ แต่ก็ไม่วาย เซนร่วงผาในตำแหน่งเดียวกันกับไข่มุกอีกครั้ง แต่มือคว้ารากไม้ไว้ทัน จึงไม่ได้มีเรื่องราวให้ตื่นเต้นกันอีกครั้ง เมื่อมาถึงแคมป์ที่พัก เราจึงใช้เวลาอยู่กับธารน้ำตกค่อนข้างนาน วันนี้เป็นวันแรกที่ผมเองได้อาบน้ำเป็นเรื่องเป็นราว ผมยังเหลือชุดแห้งอีกหนึ่งชุด ในใจมีความสุขเป็นอย่างมากว่าอย่างน้อยในวันพรุ่งนี้ ผมไม่ต้องเปลี่ยนชุดเปียกในตอนเช้า ช่วงคืนสุดท้าย เด็ก ๆ ใช้เวลาบางส่วนทำการบ้านที่ครูแจงให้ แล้วก็รวมตัวนั่งฟังครูเกรียงเล่านิทานกันคืนสุดท้าย เช้าวันถัดมาเราก็ได้มาฟังการเล่าเรื่องราวบันทึกของเด็ก ๆ และความประทับใจต่าง ๆ ที่เด็ก ๆ ได้รับ หลายคนบอกว่าจะไม่กลับมาแล้ว มันเหนื่อย ทำให้ผมคิดถึงการปั่นจักรยานทางไกลออแดกซ์ของผม ที่หลาย ๆ ครั้ง หลาย ๆ คน ก็ได้แต่บอกว่าไม่กลับมาอีกแล้ว แต่สุดท้าย ก็กลับมาอีกครั้ง

17903776_1714665928550485_4449359428701853905_n

ในวันสุดท้าย เราเดินกันเพียง 5 กม. กว่า ๆ เส้นทางง่าย ๆ ไม่เหลืออะไรที่ตื่นเต้นอีกแล้ว และเราก็ใช้เวลาไม่นานเพื่อมายังจุดเริ่มต้นของเรา ที่น้ำตกวังชุม และเราก็ใช้เวลาที่เหลือทั้งหมดเล่นน้ำ ฆ่าเวลา เด็ก ๆ ค่อย ๆ แยกย้ายกันกลับไป เมื่อพ่อแม่มารับ หลายคนก็เปลี่ยนชุด บอกลาครู และเพื่อน ๆ เพราะยังมีการเดินทางกลับบ้านอีกยาวไกลรอกันอยู่ หลายคนมาจากจังหวัดไกล ๆ ภูเก็ต ตรัง นครปฐม หรือ ปัตตานีอย่างเรา สำหรับเซนเอง เขาก็ยังตอบกลับไปกลับมา ว่าจะกลับมาอีกครั้งหรือไม่ แต่ที่แน่ ๆ ประสบการณ์ การเล่าของเซน ทำให้ซาช่ารอคอยเพื่อให้ถึงคิวของเขาในปีถัดไป เป้าหมายที่จะให้ลูกได้สัมผัสธรรมชาติอย่างที่มันเป็น เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของป่าใหญ่ ได้บรรลุแล้ว แต่ยังได้ของแถมเป็นการใช้เวลาร่วมกันสองต่อสอง ของพ่อกับลูก ผมมั่นใจว่าคุณค่าของ 5 วัน 4 คืนที่ผ่านมานั้น จะถูกฝังอยู่ในความทรงจำของเขา ภาพป่าดิบ ๆ การเดินฝ่าป่าเมฆ ข้ามสายน้ำเชี่ยว เพื่อนที่ตกหน้าผา วิวอันงดงาม ความเหนื่อย ความหนาว และเราสองคนในเตนท์เล็ก ๆ พื้นแข็ง ๆ อากาศหนาว ๆ สำหรับผมเอง ก็เช่นกัน

Ironman Langkawi : The final edition

ชีวิตเต็มไปด้วยความไม่คาดฝัน ผมเองไม่เคยคิดว่าจะได้เข้าร่วมกิจกรรมท้าทายเช่นนี้ 3 ปีติดต่อกัน แต่มันก็เป็นไปแล้ว วันนี้จะมาเล่าให้ฟังว่าทำไม แล้วเกิดอะไรขึ้น ผมได้อะไร ผมเสียอะไร จากการเดินทางครั้งนี้ หลายคนที่ติดตามงานเขียนของผมเกี่ยวกับ Ironman Langkawi ก็จะรู้ดีว่า ความหลังของผมกับ Ironman Langkawi นั้น อาจจะเป็นเรื่องราวที่เป็นส่วนตัวเล็กน้อย ในครั้งแรกที่มาเพราะต้องการวิ่งหนีจากการรักษาโรคดับอักเสบบีเรื้อรัง พร้อมทั้งการหาทุนเพื่อกองทุนเพื่อซูริ ในครั้งแรก ๆ ผมเรียกบทความแรกว่า Ironman Langkawi “For Zuri” หลังจากนั้นผมกลับมาอีกครั้ง เพื่อมาจบเป็น Ironman ครั้งแรกของผม เป็นหนึ่งบทความที่ไม่น่าเชื่อว่ามีหลาย ๆ คนเข้ามาบอกกับผมว่า มันทำให้เขามีกำลังใจในการตั้งเป้าหมายเพื่อการจบ Ironman เพียงสักครั้งในชีวิต ผมเรียกบทความนั้นว่า Ironman Langkawi ForZuri Episode II : ไม่หมู แต่ทุกคนทำได้ ในขณะเดียวกันก็สร้างแรงกระเพื่อมในวงการไตรกีฬาพอสมควร ที่กล่าวถึง holy grail ของวงการว่าเป็นสิ่งที่เอื้อมถึงกันได้ทุก ๆ คน รอบนี้เป็นรอบสุดท้ายของสัญญา Ironman ของที่นี่ ผมวางแผนเล็ก ๆ ไว้ว่าน่าจะกลับมาอีกครั้ง เพียงเพราะมันใกล้ และเดินทางค่อนข้างสะดวกสำหรับผม แล้วอีกอย่าง เด็ก ๆ ของผมชอบกิจกรรมบนเกาะนี้ ไม่ว่าจะเป็น Aquarium และ Wildlife Park และที่สำคัญรายการ Ironkids ที่ผมพาเด็ก ๆ มาเล่นสนุกเป็นปีที่ 2 แล้ว สำหรับปีนี้จะเป็นครั้งแรกของฮารุที่จะร่วมวิ่งกับพี่ ๆ แม้ว่าจะไม่ถึงวัยที่จะสามารถสมัครเข้าร่วมได้

This slideshow requires JavaScript.

อย่างไรก็ตามการตัดสินใจจริง ๆ นั้นเกิดขึ้นภายหลัง หนึ่งเหตุผลที่ทำให้ผมตัดสินใจกลับมาที่นี่อีกครั้ง เพราะมีเพื่อน Very Forty ของผมสองคนมาร่วมด้วย คนแรกคือ หมอนก ที่ต้องการกลับมาแก้เกมส์ที่พลาดไปเมื่อรอบที่แล้ว แต่จริง ๆ ผมคิดว่าหมอนกมาเพียงเพราะน้อง ๆ ทีมบางแสนไตรฯ ต้องการความท้าทายของชีวิตด้วย Ironman และที่สำคัญที่สุดสำหรับผมคือ ผมต้องการให้ตุ๊มาเป็น Ironman สักครั้ง ผมพยายามชวนตุ๊หลาย ๆ ครั้งในหลาย ๆ กิจกรรม ซึ่งตุ๊ไม่เคยปฏิเสธเลยสักครั้งเดียว ไม่ว่าจะเป็นระยะทางเท่าไร มาราธอนสองสามครั้งแรกที่วิ่งร่วมกัน การขยับระยะมาเป็น TNF50 TNF100 PYT66 Audax200 300 400 600 ต่าง ๆ เหล่านี้ ตุ๊ไม่เคยปฏิเสธ แม้ว่าจะไม่เคยได้ซ้อม ไม่วายยังมีผลงานที่ล้ำหน้าเกินที่ผมจะทำได้หลายต่อหลายครั้ง ทั้งที่โป่งแยง หรือ ปั่น 600 km. แต่ตุ๊ไม่เคยยอมตัดสินใจลอง Ironman เลยสักครั้ง ว่ายน้ำเป็นอุปสรรค ตุ๊พยายามขยับระยะของไตรกีฬาขึ้นมาทีละเล็กละน้อย แต่ผมว่าที่สำคัญที่สุดของตุ๊คือช่วงที่ได้ไปซ้อม Open water ระยะยาว ๆ กับกลุ่มบางแสน การได้โฟกัสการวิ่ง ultra trail ในช่วงปีที่แล้ว นั่นร่วมถึงการวิ่ง 200 miles ที่ผ่านมา ทำให้ปีนี้ตุ๊พร้อมมากที่สุด สิ่งที่ผมพยายามทำมากที่สุดในช่วงสมัครคือกระตุ้นให้ตุ๊ตัดสินใจสมัคร เพราะในทุก ๆ ความสำเร็จใด ๆ ที่จะเกิดขึ้นได้นั้น ก้าวแรกเป็นสิ่งที่สำคัญ ในทุก ๆ ขั้นตอนของการเดินทางสู่ไอรอนแมน การสมัคร เป็นขั้นตอนที่แบ่งแยกว่าใครจะได้เป็นไอรอนแมน และใครจะไม่ได้เป็นไอรอนแมน เมื่อมีตุ๊และนกสมัคร ผมก็มั่นใจว่าจะเป็นอีกหนึ่งความทรงจำของผม ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม

 

เมื่อเพื่อน ๆ และ ผมสมัครกันเรียบร้อยแล้ว ในใจของผมมันผ่านไปมากกว่าครึ่งหนึ่ง ผมคิดเสมอว่าสิ่งที่ยิ่งใหญ่ไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุด พร้อมที่สุด แต่การตัดสินใจที่จะก้าวไป ในช่วงปีนี้ผมมีรายการใหญ่ ๆ สามรายการ รายการแรกคือ Roth ซึ่งผมถือว่าเป็น A race เพราะมีเวลา cut off time ที่ 15 ชั่วโมงและคิดว่าคงไม่ได้ไปกันบ่อย ๆ อีกสองรายการที่ผมสมัครพร้อม ๆ กันคือ Langkawi และ Thailand ตอนนี้ผมผ่านมาแล้วรายการที่ Roth เป็นความประทับใจที่ผมเล่าให้หลาย ๆ คนได้ฟังไปแล้ว ในบทความที่ชื่อว่า Challenge Roth : The dream that you can all experience ถือได้ว่าการแข่งที่ลังกาวีครั้งนี้เป็นการแข่งระยะไอรอนแมนครั้งที่ 4 ของผม สอบตกไปแล้วหนึ่งครั้งในสนามเดียวกันนี้ และเป็นไอรอนแมนครั้งแรกที่สนามนี้ ส่วนอีกสนามเขาเป็นของ Challenge เค้าไม่เรียกว่าไอรอนแมน แต่สนุกมากเหมือนกัน

ในช่วงหนึ่งปีครึ่งที่ผ่านมาชีวิตผมมีความเปลี่ยนแปลงมากมาย หลังจากที่จบไอรอนแมนครั้งแรกที่ลังกาวีนั้น ผมเริ่มมีความฝันลาง ๆ ว่าจะสะสมสนามไอรอนแมนเพื่อสิทธิ์ที่จะสมัครไปสนามที่ Kona สักครั้งหนึ่งในชีวิต ผมจึงเริ่มวางแผน สถานที่แข่งต่าง ๆ ทั่วโลกที่ผมคิดว่าน่าจะเป็นสนามที่ควรจะไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์ ผมเริ่มค่อย ๆ วาดไลฟสไตล์ของไอรอนแมน ที่เดินทางพร้อมครอบครัวไปตามเมืองต่าง ๆ แข่งขัน และท่องเที่ยวไปเรื่อย ๆ ประกอบการเรียนรู้ของลูก ๆ ของผมที่เป็นบ้านเรียนที่เน้นการเดินทาง หรือ Worldschooling สิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกไม่เหมาะกับผมในความเป็นไอรอนแมนนั้นคือ ตารางซ้อม 10-18 ชม. ต่อสัปดาห์เป็นระยะเวลา 16 สัปดาห์ ซึ่งถือว่าน้อยมากสำหรับระยะนี้ (ผมยังไม่เคยซ้อมได้สม่ำเสมอได้เลย) ทุกวันหยุดสุดสัปดาห์ ชีวิตผมกลายเป็นของไอรอนแมน มีเวลาให้กับครอบครัวน้อยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งวันหยุด วันครอบครัวของเราถูกเบียดบังด้วยการปั่นยาว 130-150 km เป็นส่วนใหญ่ ในการไป Roth ผมจึงปรับการซ้อมใหม่เล็กน้อย โดย incorperate การปั่นออแดกซ์ และการแข่งขันระยะยาว ๆ เข้าไป เพื่อให้เป็นการเดินทางไปซ้อมของผม ซึ่งจะสร้างบรรยากาศที่ไม่น่าเบื่อสำหรับครอบครัวและลูก ๆ สิ่งที่กัดกินจิตใจของผมมากที่สุด คือ อนุกรมของคำถามจากภรรยาในตอนกลางคืนของทุก ๆ วันในช่วงที่ผมซ้อมค่อนข้างสม่ำเสมอ คือ พรุ่งนี้ทำอะไร เสร็จกี่โมง ถ้าเป็นวันเสาร์อาทิตย์ ผมจะรู้สึกผิดอย่างมากที่จะต้องตอบว่า บ่าย ๆ จะเสร็จ เพราะนั่นหมายถึง เวลาของครอบครัวของเราจะหมดไป หลังจากปั่นยาวกลับมาแล้ว ส่วนใหญ่ผมไม่สามารถทำอะไรได้มากไปกว่านอนพัก ถ้าหากว่าผมต้องการใช้ไลฟสไตล์ที่จะเก็บสะสมสนามไอรอนแมนผมต้องปรับเปลี่ยนอะไรบางอย่าง เพราะ 10 ปีในการสะสมสนามนั้น ผมจะเป็นเช่นนี้กับครอบครัวไม่ได้ ลูกผมจะอายุ 18 และ 17 ผมเองก็เข้า 55 เมื่อหันกลับมาแล้วนั้น ไอรอนแมน แม้จะเป็น Kona ไม่ได้สำคัญอะไรไปกว่าคนตรงหน้าตรงนี้เลย ในการแข่งขันมีคนถือป้ายว่า “If your wife complained, that mean you worked hard for this. Go Go” น่าจะสรุปใจความของชีวิตนักไตรกีฬาได้เป็นอย่างดี แต่ผมต้องการเปลี่ยน perception เหล่านี้ อย่างน้อยที่บ้านของผม

10622870_1376472892393523_2863681320746695892_n

Roth ไม่มีมีการซ้อมตามตารางอย่างตั้งใจ แต่ผมผ่านการปั่นระยะหนัก ๆ อย่าง 400 300 หลายต่อหลายครั้ง มีการปั่นเพื่อหาเส้นทาง ระยะ 100+ อีกหลาย ๆ ครั้ง มีการแข่งมาราธอนหนึ่งรายการ แม้ว่าไม่ได้ซ้อม แต่ไม่ได้ทิ้ง แต่รอบนี้ ผมแทบหาเวลาเพื่อซ้อมไม่ได้เลย จริง ๆ ไม่ใช่เวลา แต่เป็น rhythm ที่เสียไป การเดินทางที่เยอะมาก ๆ ทำให้จังหวะการซ้อมผมเสียไป ผมไม่ได้ตื่นขึ้นมา ซ้อมเล็ก ซ้อมน้อย เก็บเกี่ยวไปอย่างที่เคย ผมไม่สามารถวางแผนเพื่อไปแข่งระยะสั้น ๆ ต่าง ๆ อย่างที่เป็น การเดินทางทั้งหมดเกิดขึ้นจากงาน และไม่ได้มีการใส่การออกกำลังกายที่จะคอยช่วยเติมฐานฟิตเนสขึ้นพื้นฐานได้อย่างเพียงพอ ตั้งแต่ผ่าน Roth มาจนถึงก่อนวันแข่งผมปั่นจักรยานไปแค่ 400 km เฉลี่ยแค่ 32 km/week วิ่งรวมแค่ 60 km เฉลี่ยแค่ 9 กม.ต่อสัปดาห์ ว่ายน้ำทั้งหมด 8000 เมตรเท่านั้น เป็นความ out of shape มากที่สุดในรอบสิบปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม  ผมรู้ตัวดี แต่ก็มองการแข่งขันรอบนี้เป็นโอกาสที่จะได้เรียนรู้ ผมได้ทำกิจกรรมสนุก ๆ คือ การว่ายน้ำระยะ 3000 เมตรข้ามปากอ่าวปัตตานี แล้วปั่นจักรยาน 40 km รอบอ่าว ไปสุดด้วยการวิ่งประมาณ 8 km รอบ ๆ เมืองปัตตานี ในหนึ่งสัปดาห์ล่วงหน้า (จริง ๆ วางแผนเอาไว้สองสัปดาห์ แต่จำเป็นต้องเปลี่ยนแผน) แม้จะไม่ซ้อมมาเลย กิจกรรมที่ว่านี้ทำให้ปลุกกล้ามเนื้อที่หลับไหลของผมขึ้นมาบ้าง flush glycogen เก่า ๆ ใส่ของใหม่ ๆ เข้าไป ในวันถัดไปผมก็พายเรือสำรวจแม่น้ำปัตตานีอีกประมาณ 7 km ซึ่งผมมองว่ากิจกรรมนี้หนักไปเล็กน้อย ทำให้กล้ามเนื้อของผมล้า และเสียเวลาในการสะสมไกลโคลเจนไปอีกหนึ่งวันเต็ม ๆ ห่างเพียง 5 วันจากการแข่งขันครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม The Show Must Go On การแข่งขันคราวนี้จะพาผมไปเจอกับ Lower Limit ของการเตรียมตัวสำหรับการแข่งขันระยะทางอย่างไอรอนแมน ในสนามที่ได้ชื่อว่ามีความโหดเป็นอันดับที่สามของโลก ซึ่งน่าจะเป็นเส้นทางปั่น ร่วมกับความร้อนของสภาพอากาศ

รอบนี้เนื่องด้วยความเชี่ยวชาญที่มากขึ้นของภรรยา เราเลือกจองที่พักที่ตำแหน่งใกล้จุดเริ่มต้น เพราะเห็นว่ามีรถ shuttle bus ที่จะคอยลำเลียงนักกีฬาจากจุดสำคัญต่าง ๆ (เอาเข้าจริง ๆ ไม่ค่อยเวิร์คครับ ตามคำบอกเล่าของภรรยา) แต่สำคัญกว่านั้น การเดินทางมารอบที่แล้วที่พักที่นี่ให้คำตอบได้ดี ทั้งร้านอาหารประจำที่เราใช้บริการแทบจะตลอดเวลาที่อยู่ที่ลังกาวี เป็นร้านของชาวออสเตรียที่มีภรรยาเป็นคนไทย อาหารรสชาดถูกปากและเด็ก ๆ ทานฟรี นอกจากนี้ความผ่อนคลายที่ได้จากการพักผ่อนที่นี่ทำให้ผมแทบไม่ได้ไปร่วมกิจกรรมกับทางผู้จัดเลย ด้วยความขี้เกียจ ทำตามความจำเป็น คือการลงทะเบียน ฝากจักรยาน และกระเป๋าต่าง ๆ และสุดท้ายก็รอปล่อยตัว ผมค่อนข้างรู้สึกผ่อนคลายจากประสบการณ์ที่มากขึ้น และแน่นอนการว่ายน้ำซึ่งเป็นกีฬาที่ผมถนัดที่สุด จากการว่ายซ้อมครั้งที่สอง หลังจากกลับมาจาก Roth คือ 6 วันล่วงหน้าระยะ 3000 เมตร ผมทำเวลาได้ค่อนข้างน่าพอใจ แบบสบาย ๆ ผมจึงกะว่าจะไปด้วยสโตรคแบบนั้น ก่อนออกตัวผมมีโอกาสได้พบเจอกับคนไทยแทบครบทุกคนที่มาร่วมกันในครั้งนี้ บรรยากาศแบบที่โรงแรม Alias เหมือนเมื่อปีที่แล้วผมไม่ได้สัมผัส Vangang ไม่ได้รวมตัวกันมาเหมือนปีก่อนหน้านี้ แต่การได้พบเจอคนไทยที่มาตามหาฝัน ก็ทำให้มีความสุขเล็ก ๆ ในใจของผม ยิ่งไปกว่านั้นหลาย ๆ คนมาทักทายผมด้วยคำว่า “ผมอ่านบทความของพี่แล้วเลยตัดสินใจมาลองดู” นั่นหมายความว่าบทความของผมประสบความสำเร็จที่จะทำให้คนไทยหลายคนก้าวออกมาจาก comfort zone ปีนี้ผมเลือก slot ว่ายน้ำตรงกับเวลาที่คาดว่าจะทำได้ เพราะในปีที่แล้ว ผมรู้สึกว่าต้องว่ายแซงมากเกินไปจนหงุดหงิด ผมมีโอกาสผ่านรอบแรกค่อนข้างน่าพอใน แม้ว่าจะเป๋ไปบ้างในช่วงว่ายเข้าหาฝั่งเพราะแดดส่องเข้าตา มองไม่ค่อยเห็นธง ผมทำเวลาได้เร็วกว่าแผนเกือบ 10 นาที แต่ในรอบที่สองผมเริ่มไปเกยอยู่กับช่วงท้าย ๆ ของ เวฟแรก หมวกสีเหลือง โดยเฉพาะช่วงกลับ ทำให้ต้องว่ายเลี้ยวไปมาตลอดเวลา บางครั้งก็หยุดรอเฉย ๆ เพราะมันเริ่มว่ายไม่สนุก สุดท้ายมาจบที่ 4200 กว่าเมตร เวลา 1.19 นาที ตามที่คาดไว้ (ระยะเกินไปหน่อย แต่รอบแรกทำเวลาเผื่อไว้) แตนทะเล หรือ แมงกระพรุนค่อนข้างชุก ตอนนี้ขณะเขียนผมกำลังคันเขยอเต็มไปทั้งหลัง มันคงเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ของนักไตรกีฬา ผมไม่เหนื่อยหรือเมื่อยเลยหลังจากว่ายน้ำ นั่นหมายความว่าผมคุมความเร็วได้ดี ไม่มีอาการที่ต้องหยุด sighting มากจนเกินจำเป็น คิดว่าเป็นเพราะการ marking ของ course ที่มีประสิทธิภาพสูง ติดแค่ช่วงว่ายกลับนั้น แสงแยงเข้าตา

15032372_10153920537457477_724865341_n

รอบนี้ ผมชิล ๆ กับการปั่น เนื่องจากผมไม่ได้ซ้อมจักรยานเลยแม้แต่ครั้งเดียว มีการปั่นไปกินข้าวที่ยะลาเพียงหนึ่งครั้ง และปั่นเพื่อสำรวจเส้นทางออแดกซ์ 200 กม. ในช่วงเดือนกันยายน เป็นครั้งสุดท้าย ผมยังไม่ได้เอา QR ออกมาปั่นเลยแม้แต่ครั้งเดียวหลังจากกลับจาก Roth ผมจึงเลือกที่จะใช้ Cannondale คันเก่าของผม ที่เคยเป็นรถไตรกีฬารุ่นแรก ๆ ของโลก แต่ผมมาแปลงเป็น Road Bike เพื่อใช้ปั่นซ้อม เล็ก ๆ น้อย ๆ พาไปออแดกซ์บ้าง ข้อเสียของคันนี้คือ เป็นรถที่ออกแบบสำหรับการปั่นระยะสั้น เร่งได้เร็ว แต่ปั่นยาว ๆ ไม่ค่อยสบาย และไม่ไหล ซึ่งจะพบว่าเป็นการตัดสินใจที่น่าจะ cost ให้เกิดการ DNF ของผมในที่สุด อย่างไรก็ตาม กว่า 25 ปีที่ผมเล่นไตรมา ผมพาคันนี้แข่งมากที่สุด แต่ยังไม่เคยได้สัมผัสระยะ ฮาร์ฟ หรือ ระดับไอรอนแมนเลยสักครั้ง ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม มันย่อมทำให้ผมมีความสุขเล็ก ๆ กับความหลังของผมบ้าง ผมเริ่มเห็นปัญหาของผมได้อย่างชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้น ที่ power meter ผมแบตหมดทำให้ผมต้องใช้ HR ในการคุมการปั่นในสนามนี้ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ ideal นัก สำหรับสนามที่มีความโดดเด่นที่เส้นทาง rolling แบบบาดหัวใจ พลังงานที่ใช้ในการไต่เขา มีความสำคัญมากสำหรับนักปั่นที่ไม่ฟิตอย่างผม ผมหาซื้อไม่ได้ (เช่นเดียวกันกับตอนที่ไป Roth) สุดท้าย Cyclocomputer ของผมก็มาตายในวันงานพอดี ตอนนี้ผมมีแต่  920xt อย่างเดียวซึ่งจะไม่เพียงพอต่อเวลาทั้งหมดที่ผมต้องใช้ กว่าจะคิดออกว่าผมสามารถใช้การปั่นในโหมด indoor ได้ เพราะจักรยานคันนี้ถูก set up เอาไว้ปั่น indoor เลยมีตัววัดรอบอยู่เพียงคันเดียว ผมก็ปั่นออกตัวมาแล้วประมาณ 2 กม. แต่ก็ยังนับว่ายังเป็นโชคดี ผมไม่ต้องใช้ GPS ในนาฬิกา ซึ่งน่าจะทำให้มีแบตเหลือไปวิ่ง ในขณะที่น่าจะยังพอได้ข้อมูลของ Average ซึ่งจะใช้ในการวางแผนการปั่น ปั่นไปได้ไม่นานนักผมก็เริ่มเห็นปัญหา  HR ผมคงที่ประมาณ 171 ตลอดเวลา ซึ่งอยู่ในระดับ Zone 5 สำหรับผม ผมรู้ว่านั่นไม่ดีแน่ เพราะ ที่ Zone 5 จะต้องใช้พลังงานมากกว่ากว่า Zone 2 เกือบสองเท่า ไม่รวมถึงสัดส่วนการใช้ไกลโคลเจนเทียบกับไขมันยังสูงกว่า ถ้าเป็นเช่นนี้ ผมจะไม่สามารถจบได้แน่ ๆ ถ้าเติมพลังงานไม่ทัน และไม่พยายามใช้ไขมันมากไปกว่านี้ แต่อีกใจก็คิดว่าความเร็วที่ผมได้มานั้นแค่ปริ่ม ๆ 26 เท่านั้นเอง ถ้าเราเลี้ยงตัวเลขนี้ในช่วงแรก ๆ ไม่ได้ ในรอบหลัง ๆ ก็คงไม่ไหว และนั่นเป็นจุดแตกหักในการตัดสินใจที่ส่งผลอันเลวร้ายที่สุดของวันนี้ แน่นอนว่าผมลาก HR 171 มาได้ไม่กี่กิโลเมตร ก็ต้องค่อย ๆ drop เป็น 160 แลกกับความเร็วที่ประมาณ 23-24 เท่านั้น ผมพยายามกินเจลหนึ่งซองทุก ๆ  20 กม. พร้อมทั้งจิบ Isotonic drink ทุก ๆ 15 นาที นรกรออยู่ข้างหน้า นี่คือผลโดยตรงของการไม่รักษาฐาน Cardiovascular ด้วย power เดิม ๆ ผมต้องทำงานหนักขึ้น HR ต้องเต้นสูงขึ้นเพื่อส่งเลือดไปยังตำแหน่งต่าง ๆ ร่างกายไม่สามารถเปลี่ยนพลังงาน จากแหล่งพลังงานที่สำคัญอย่างไขมันได้ทัน ต้องใช้พลังงานเร่งด่วนอย่างไกลโคลเจนที่มีจำนวนจำกัด นอกจากนี้กล้ามเนื้อที่ไม่ถูกฝึกฝนมาเพียงพอ ต้องทำงานหนักต้องการเลือดเข้ามาเลี้ยงเป็นพิเศษ อาการต่อไปที่ต้องตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ GI distress เลือดเข้าไปเลี้ยงระบบย่อยอาหารน้อยกว่าที่ต้องการ ทำให้การย่อยไม่เป็นไปตามที่ต้องการ ร่วมกับการใช้อาหารที่ไม่คุ้นเคย หายนะกำลังค่อย ๆ คืบคลานเข้ามาอย่างช้า ๆ ผมรู้ตัวดี ผมผ่านเส้นทางนี้มาหลายครั้ง

15032387_10153920537807477_1218246198_n

ปีนี้ทางรายการเปลี่ยนจากการใช้ 100plus ซึ่งเป็นเกลือแร่แบบมีอัดลม มาเป็นอีกยี่ห้อนึงที่ไม่มีอัดลม รสส้ม ผมทดลองกินก่อนแข่งไปขวดนึงพบว่ารสชาดใช้ได้ จึงวางใจที่จะใช้ผลิตภัณฑ์ของเขาในการแข่งขัน เพราะส่วนใหญ่ผมจะมีปัญหาเรื่องรับรสชาดไม่ค่อยได้มากกว่าเรื่องอื่น ๆ แต่นั่นเป็นการตัดสินใจที่ผิดอีกเช่นกัน เป็นกฏเหล็กที่สำคัญของนักกีฬาระดับไอรอนแมน แต่เป็นสิ่งที่ผมพยายามจะหาทางออกที่ลงตัว กฏของไอรอนแมนเขาว่าไว้ว่าให้กินอาหารที่ซ้อม และซ้อมกับอาหารที่จะกิน นั่นรวมไปถึงของเหลวด้วย แต่จากปริมาณแกตเตอเรตที่เป็นเกลือแร่ที่ผมมีปัญหาน้อยที่สุด รวมไปถึงการซ้อมพร้อม ๆ กับการกินเจลเป็นระยะเวลานับสิบ ๆ ปีนั้น ไม่เป็นสิ่งที่น่าพิสมัยมากนัก ผมจึงพยายามหาทางออกที่ง่ายที่สุด ด้วยการกินอาหารหลากหลาย กินอะไรที่มีให้กิน แล้วค่อย ๆ รับรู้เรียนรู้กันไป มีอาหารบางอย่างควรต้องระวัง เช่น ผมกินกล้วยเกิน 8-9 ลูกจะเริ่มย่อยไม่ไหว หรือ การไม่ใช้แกตเตอเรด หรือเกลือแร่ในรูปแบบอื่น ๆ เลย เป็นอันตราย เกลือแร่จากอาหารนั้นไม่เพียงพอ อาการเคี้ยวบางครั้งช่วยให้การย่อย หรือการกินง่ายขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นประสบการณ์ที่สะสมเรื่อยมาจากการทดลองจริง ๆ ด้วยตัวผมเอง ถึงกระนั้นก็ตามความประมาทที่จะใช้เครื่องตื่ม Isotonic ที่ผมไม่เคยใช้มาก่อนเลยเป็นเครื่องดื่มพื้นฐานของการแข่งขัน เป็นสิ่งที่ไม่ควรเลยจริง ๆ รสส้ม กับท้องว่าง ๆ นี่ก็เป็นอีกปัญหาที่ไม่น่าเลยที่จะมองข้ามไป

15086217_1378129848894494_417475952_n

ผมกินด้วยตารางเช่นนี้คือ เจลทุก ๆ 20 กม. และจิบ isotonic ทุก ๆ 15 นาที ไปได้จนประมาณระยะ 120 km ผมก็เริ่มมีอาการปวดท้อง คล้าย ๆ จะเริ่มเรอ ย่อยไม่ค่อยดี แต่ผมยังไม่ได้กินอะไรที่ต้องย่อยมากนัก นั่นแสดงว่า sugar concentration ในกระเพาะของผมมันไม่ค่อยสมดุลย์นัก ปัญหาหลัก ๆ ก็มาจากสัดส่วนของอาหารที่ผมใส่ลงไปในระบบ ผมจึงค่อย ๆ หยุด isotonic แล้วเปลี่ยนเป็นน้ำเปล่าแทน แต่อาหารยังไม่หายดี ผมเริ่มกินอะไรไม่ค่อยได้ ก็คิดว่าจะรอจนกระทั่งรู้สึกดีขึ้นสักนิด แล้วค่อยใส่เข้าไปใหม่ แต่นั่นก็เป็นอีกความผิดพลาดหนึ่ง ความเร็วของค่อย ๆ ตกลงเรื่อย ๆ จนในที่สุด HR เหลืออยู่แค่ 140 กว่า ๆ แต่ขากดไม่ค่อยลงทำความเร็วให้ได้ 22 ยังไม่ใช่เรื่องง่าย นั่นมันเป็นอาหารของการขาดพลังงานอย่างชัดเจน แต่ผมยังกินอะไรไม่ลง มันอยากจะออกมาเสียมากกว่า แต่ยังดีที่โชคยังช่วย มีฝนตกลงมาห่าใหญ่ ใหญ่มาก ในช่วงระยะประมาณ 150 km หนักแทบมองไม่เห็นทาง ผมเริ่มหนาวเย็นและเหนื่อย ผมค่อย ๆ รูดซิปขึ้นร่างกายอบอุ่นขึ้นเล็กน้อย ผมชอบปั่นท่ามกลางสายฝน แต่เวลานั้น ผมมีความรู้สึกว่าถ้าเป็นเช่นนี้ต่อไปผมไม่ควรที่จะออกวิ่งต่อ เพราะความเหนื่อยอ่อนจะทำให้ผมรักษาความเร็วไม่ได้ และท้ายที่สุดร่างกายผมจะหนาวสะท้านจนป่วยในที่สุด ในใจตอนนั้นตัดสินใจแล้วว่าผมคงต้อง DNF อย่างแน่นอน เมื่อความเสี่ยงเริ่มค่อย ๆ กองสูงขึ้นมาทุกที แต่หลังจากรูดซิปขึ้นมาตัวอุ่นขึ้น ฝนที่กระหน่ำลงมาทำให้ผมรู้สึกดีขึ้นมาอย่างประหลาด คว้าเจลมาบีบเข้าไปหนึ่งซอง แล้วตามด้วยอีกซองในไม่กี่นาทีถัดมา พลังงานเหมือนเพิ่มขึ้นมาเล็กน้อย ผมจึงเร่งความเร็วเพื่อเข้า T2 แต่ยังเต็มไปด้วยความสับสนปนความไม่มั่นใจ DNF ยังคงวนอยู่ในใจ แต่พบว่าเจอกับคนไทยหลาย ๆ คนในห้อง เชียร์ ๆ กันไป เวลาของผมเหลืออีก 7.30 ชม สำหรับการวิ่ง ถ้าไม่เกิดเหตุการณ์อะไรเลวร้ายมากนัก คงไม่ต้อง DNF ผมคิดเช่นนั้นเลยลุยต่อไป และจะพยายามกินอะไรเท่าที่กินได้

ผมออกวิ่งมาพบกับลูก ๆ และภรรยาของผม ก็เลยเล่าเหตุการณ์ให้ฟังเล็กน้อย ภรรยาเริ่มเข้าใจปัญหา เพราะผมมีปัญหาเรื่องการกินเป็นหลักในทุกครั้งที่ต้อง DNF ผมเลือกที่จะเดินกินแตงโม สลับกับโค้กทุก ๆ สองกิโลเมตร ในใจคิดเช่นนั้น ตอนเริ่มวิ่งรู้สึกค่อนข้างดี กล้ามเนื้อไม่ตึง นั่นหมายถึงผมไม่ได้ใช้กล้ามเนื้อหนักเกินเหตุตอนปั่น นั่นก็เข้าใจได้เพราะไม่มีพลังงานให้ใช้กล้ามเนื้อนั่นเอง ผมวางแผนจะวิ่งไปเรื่อย ๆ แล้วเดินทุกๆ 2 km หลังจากนั้นก็ค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ จนเหลือ วิ่ง 800 เมตรแล้วเดิน 200 เมตร พลังงานจาก แตงโม และโค้ก เริ่มเติมไม่พอ แต่ในขณะเดียวกัน ผมค่อย ๆ คลื่นไส้มากขึ้นเรื่อย ๆ ผมไม่แน่ใจว่าขาดโซเดียมหรือไม่ แต่ผมไม่กล้าเติมด้วย Isotonic อาหารที่ให้ก็มีแค่ แตงโม กล้วย และเจล แตงโมผมกินได้ แต่พลังงานไม่ค่อยพอ กล้วยกินแทบไม่ได้ เจลนี่ไม่กล้าแตะเลย ผมก็ลากสภาพร่างกายแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนระยะประมาณ 25 กม. คนไทยแทบทุกคนแซงผมไปหมดแล้วในระยะนี้ เหลือเพียงตุ๊เพื่อนของผมคนเดียว ส่วนหมอนกแซงผมตั้งแต่ระยะ 14 km แล้ว ท้ายที่สุดมาเจอกับกองเชียร์คนไทย และกองเชียร์เบอร์หนึ่งอย่างซี ท่าทางซีจะเห็นท่าไม่ค่อยดีจึงเรียกให้นั่งพักเพื่อเติมน้ำตาล ได้ลูกอมมาลูกนึงนั่งอมแบบพะอีดพะอมมาก และได้ M&M มาถุงนึงที่ตอนนี้ยังไม่กล้ากินเลย สรุปนั่งพักแป๊บนึง แล้วซีก็ตัดสินใจเดินเป็นเพื่อน ตอนนั้น เริ่มเดิน 500 วิ่ง 500 แล้ว แต่พอซีมาด้วยก็บ่น ๆ ว่าผมเดินที่ความเร็วช้ามาก วิ่งก็ช้าเมื่อเทียบกับความเร็วตอนเดิน ซึจึงตัดสินใจให้ผมเดินเร็ว ๆ โดยจะคอย pace ให้ที่ประมาณ pace 11 ซึ่งจะทำให้ผมเข้าเส้นใจทันเวลาพอดี ผมยังกินอะไรเป็นเรื่องเป็นราวไม่ได้สักที ซีโทรหาภรรยาผมเล็กน้อยเมื่อเจอกับผมในตอนแรก หลังจากนั้นคาดว่ามีการคุยกันผ่านสื่อออนไลน์ อย่างสม่ำเสมอ เพราะผมได้ยินเสียงตลอดเวลา แล้วซีก็เขียนตอบ ในท้ายที่สุด ผมรู้สึกว่ามันทรมานมากเกินไปกับความพะอีดพะอม ความมึนงง ความซวนเซของตัวผมเอง และเลือกที่จะ DNF ตัวเองในที่สุดที่ระยะ 30 km ที่มีซีเดินมาเป็นเพื่อนร่วม 5-6 km ซึ่งมาทราบในภายหลังว่าภรรยาอยากให้ผมหยุด ในขณะที่ซีเริ่มมองว่าผมเดินเซค่อนข้างมาก และอยากให้หยุดเช่นกัน แต่ต้องการให้ผมพูดออกมาจากปากของผมเอง

This slideshow requires JavaScript.

ในฐานะของคนที่เล่นกีฬาโหด ด้วยสภาพของผู้ป่วยโรคตับที่มี ภรรยาเป็นแม่บ้าน พร้อมกับลูกตัวเล็ก ๆ สามคน ในครอบครัวที่ผ่านประสบการณ์เสียลูกไปแล้วหนึ่งคนนั้น ผมไม่ใช่ตัวคนเดียวที่จะสามารถตัดสินใจได้อย่างอิสระ ความเสี่ยงที่ยอมรับได้สำหรับผมนั้นต้องได้รับการยอมรับ ได้รับการเข้าใจจากภรรยาอีกด้วย ไม่เช่นนั้น การใช้ชีวิตแบบนี้จะไม่ส่งผลดีต่อครอบครัวเลย ผมจึงต้องมั่นใจว่าภรรยาเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับผม ความเสี่ยงมีมากแค่ไหน และต้องมั่นใจว่าผมเข้าใจตัวเองดี พร้อมกันนั้นผมจะไม่เสี่ยงมากเกินความจำเป็น นี่คือกฏของนักกีฬา extreme ที่มีครอบครัวแบบผม สุดท้ายเมื่อผมค่อนข้างคิดว่าผมมาสุดทางสำหรับปีนี้แล้ว ภรรยาเริ่มมีความกังวลมากแล้ว ซีเองก็เริ่มลังเลบ้างแล้ว (สังเกตุจากการถามให้นั่งพักหลายครั้งขึ้น) ผมบอกซีให้บอกภรรยาผม ว่าวันนี้ผมจะพอเพียงแค่นี้ เราหาที่นั่งพักที่ medic หลังจากนั้น ก็ปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการ ผมเองก็เลื่อนลอยเล็กน้อย มีซีคอยดูแล ความทรงจำก็คล้าย ๆ คนเมาที่เพิ่งฟื้นเช่นเคย แต่ต่างกันกับที่เกิดที่โป่งแยง ที่ค่อนข้างจะเป็นอาการ Hyponat ซึ่งอาการกลับมาดีขึ้นแทบจะทันที่ทีเติมมาม่าเค็ม ๆ เต็มไปด้วยเกลือแร่ แต่สำหรับรอบนี้ผมยังไม่เคยประสบจริง ๆ แต่โดยทั่ว ๆ ไปน่าจะเป็นเพียงการขาดน้ำตาล ที่ทำให้ขาดพลังงาน แต่อาจจะร่วมกับอาการ GI distress ที่เป็นมาตั้งแต่เที่ยง ทำให้อาจจะสับสนเล็กน้อยว่าเกิดอะไรขึ้น ผมกลับมาห้องไม่รู้สึกว่า dehydrate มากนัก เพราะเคยเป็นมากกว่านี้ ในช่วงสุดท้ายของการปั่น กรุงเทพ หาดใหญ่ ที่เหลือปั่นอยู่คนสุดท้าย แต่ไม่มีอาการอื่นร่วมในลักษณะนี้ สุดท้ายคงน่าจะเป็นแค่น้ำตาล ที่เหมือนว่าร่างกายของผมในระยะหนึ่งที่ขาดน้ำตาลนั้นจะไม่สามารถเติมกลับมาได้ทันทีจนทำให้ร่างกายทำงานได้เหมือนเดิม ก็นับว่าโชคดีที่มีซีคอยเดินข้าง ๆ ไม่เช่นนั้น 5 กม. สุดท้ายของผมคงยาวนานกว่านี้อีกมากนัก รอบนี้ผมใช้เวลาพักฟื้นนานกว่าเคย ผมต้องทานข้าวมื้อสุดท้ายของวันประมาณ สองทุ่มของอีกวันถัดมาจึงจะพบว่าร่างกายเริ่มกลับสู่สภาพปกติอีกครั้ง อาจจะเป็นอาการร่วมของโรคตับ ซึ่งผมไม่ค่อยแน่ใจ และอาจจะไม่มีวันได้เข้าใจ

15027484_1159108114138743_3159324946003359463_n

สุดท้าย ผมมาแข่ง Ironman Langkawi 3 ครั้ง ผ่านเพียงครั้งเดียว สุดท้ายสนามนี้เป็นความทรงจำดี ๆ ของผม ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องใด ๆ กับการจบหรือไม่จบ ผมมาลองเป็นครั้งแรกที่นี่ ผมได้แข่งเพื่อระดมทุนครั้งแรกกับรายการนี้ ผมดีใจที่สุดที่หมอนก จากที่ไม่กล้าว่ายน้ำ มาลงครั้งแรกที่นี่กับผม ผมดีใจที่สุดที่ตุ๊ที่มีว่ายน้ำเป็นอุปสรรค จากที่เขาไม่เคยมองอะไรเป็นอุปสรรค มาก้าวข้ามมันกับผมที่นี่ สนามนี้ยังคงเป็นความทรงจำดี ๆ ไม่ใช่หมู แต่ผมยังเชื่อว่าคนที่ตั้งใจจริง ๆ จะทำได้กันทุก ๆ คน ลังกาวีในสามปีที่ผ่านมานี้สอนผมหลาย ๆ อย่าง ให้ผมหลาย ๆ อย่าง ผมเรียนรู้การก้าวข้ามจุดที่ไกลโคลเจนไม่เพียงพอ ถึงสองครั้งสองครา ในครั้งแรกจากอาการร่วมของการใช้ยาอินเตอฟูรอน ในครั้งที่สองเกิดจากการเผาหัวตั้งแต่เริ่มต้นเหตุจากความอ่อนซ้อมอย่างหนัก และลังกาวียังสอนผมถึงการเดินทางสู่ไอรอนแมน ที่นำมาสู่ความสำเร็จบนสนาม Challenge Roth ในเวลาต่อมา สนามนี้ยังคงเป็นความทรงจำที่ลูก ๆ ทุกคนของผมพบสัมผัสแรกของการแข่งขัน เป็นสนามที่เพื่อนร่วมทีมทั้งสองคนของผม ได้ก้าวข้ามอุปสรรคของการว่ายน้ำสู่ความเป็นไอรอนแมน ผมเองไม่มั่นใจว่าเพื่อนทั้งสองมีเป้าหมายใด กับคำว่าไอรอนแมน ที่จริง ๆ แล้วพวกเขาก้าวผ่านความท้าทายยากยิ่งกว่าไปแล้ว ถ้านี่เป็นเพียง bucket list ของพวกเขา นี่อาจจะเป็นครั้งสุดท้ายในสนามไอรอนแมนที่เราสามคนจะได้แข่งร่วมกัน แม้ว่าผมจะไม่ได้มีโอกาสไปร่วมยินดีกับพวกเขาในวันนั้น ผมก็ขอแสดงความยินดีกับพวกเขาในตอนนี้

15049541_1521040467913033_1176135719_n

สำหรับผมเอง ลังกาวี ได้เปิดประตูของผมกับครอบครัว ผมเริ่มมองเห็นแล้ว ใคร ๆ ก็เป็นไอรอนแมนได้จริง แต่ฐานความฟิตของร่างกายต้องรักษาไว้ระดับหนึ่ง ระดับที่สามารถยืนความเร็ว 23-24 km/hr ที่โซนสองได้ สามารถว่ายน้ำ 3.8 km ในเวลาประมาณ 2 ชม. ได้ และวิ่ง ๆ เดิน ๆ ภายใน 7 ชม. ได้สำหรับระยะมาราธอนที่เหลือ สิ่งที่สำคัญกว่าคือ โซนสองโซนสาม ไม่มากไปกว่านั้น ไม่เหนื่อยจนกินไม่ได้ เพราะท้ายที่สุด การเติมพลังงาน การรักษาสมดุลย์ของเกลือแร่จะเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด และสุดท้ายผมพอที่จะรู้แล้วว่า ผมและครอบครัวจะเดินทางไปสู่ Legacy Program แบบมีความสุขร่วมกันทั้งครอบครัวได้อย่างไร

Ironman is not for selected few but only few possess Ironwill.

Challenge Roth : The dream that you can all experience

หลังจากผ่านการ DNF และ Finish รายการไอรอนแมนที่ลังกาวีมาอย่างละครั้ง ผมเริ่มมีความเชื่อภายในจิตใจว่า ขั้นตอนที่สำคัญที่สุดของไอรอนแมนคือการ register หลาย ๆ คนไม่สามารถก้าวข้ามเส้นบาง ๆ เส้นนั้นได้ การเข้าร่วมหรือการได้รับรองความบ้าระดับที่ถูกเรียกว่าไอรอนแมนนั้นสำหรับผมจึงไม่ได้มีอะไรที่ยิ่งใหญ่อย่างที่ผมเคยเป็นคนนอกมองเข้ามา ดังนั้นในวันนี้ผมจึงอยากจะขอเล่าเรื่องราวจากมุมมองของคนในเล่าให้ฟัง ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ได้มีความตั้งใจที่จะสบประมาทความเป็นไอรอนแมนของใคร ๆ ไม่ได้ไม่เห็นคุณค่าของการเตรียมตัว การซ้อม ระเบียบวินัยอันดีของนักกีฬาระดับไอรอนแมน ที่หลาย ๆ ท่านใช้เพื่อนำมาซึ่งความสำเร็จ รวมไปถึงเวลาในการสำเร็จไอรอนแมนของแต่ละท่านเหล่านั้น แต่ผมเคยเขียนบทความทำนองนี้เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ของบุคคลธรรมดาที่จะเข้าร่วมมาแล้ว ซึ่งหลาย ๆ คนใช้มันเพื่อเป็นกำลังใจ และคราวนี้ในรายการที่ยิ่งใหญ่ กับสิ่งที่ผมไม่ได้วางแผนไว้ มันกลับทำให้ผมได้เข้าใจอะไรอีกหลาย ๆ อย่างที่อยากมาเล่าให้ฟัง

challengeroth14promo-thumb-580x344-4951

รายการ Challenge Roth จริง ๆ แล้วเริ่มมีการแข่งขันมาตั้งแต่ปี 1984 แต่เริ่มเป็นระยะไอรอนแมนในปี 1990 ถ้าจำไม่ผิดจะเรียกว่า Ironman Europe แต่ภายหลังที่ WTC ที่เป็นเจ้าของเทรดมาร์คคำว่า Ironman และเครื่องหมาย M-Dot เริ่มเข้มงวดกับเครื่องหมายการค้า การแข่งขันที่เรียกว่า Challenge Roth ก็ถือกำเนิดขึ้นในปี 2002 เป็นปีแรก แต่บรรยากาศ ประวัติศาสตร์ และความร่วมมือของชาวเมือง รวมไปถึงความสุดยอดของการจัดการของงานทำให้ถือว่าเป็นหนึ่งใน Bucket List ของนักไตรกีฬา แม้ว่ารายการนี้จะเปิดให้ใคร ๆ สมัครได้แต่ความเป็นไปได้ที่จะสมัครนั้นแทบจะเหลือเลยเพราะระบบออนไลน์แม้จะไม่เคยล่มก็รับผู้สมัครเต็มภายในไม่เกิน 30 วินาที ผมลองมาแล้วหลายปีด้วยกัน มีอีกไม่กี่วิธีที่จะเข้าร่วมได้นั่นคือซื้อผ่านบริษัททัวร์ของออสเตรเลีย ที่จริง ๆ แล้วผมก็แจ้งความจำนงค์เอาไว้หลายครั้งแล้วแต่ก็ไม่เคยทันกับจำนวน slot ที่จำกัดของบริษัททัวร์เช่นเดียวกัน ผมเคยแม้กระทั่งวางแผนมาเป็นผู้ชมเพื่อที่จะมาเข้าคิวลงทะเบียนในช่วงเช้าหลังจบการแข่งขันด้วยซ้ำ จนสุดท้ายรายการ Challenge ได้มาจัดที่ประเทศไทย ความเป็นไปได้จึงมีมากขึ้น กลุ่มนักไตรกีฬากลุ่มใหญ่ Van Gang ได้รวมตัวกันเพื่อที่จะต่อรอง slot สำหรับรายการนี้ผมโชคดีที่พี่หมอไก่ชักชวน ผมตกลงโดยไม่ลังเลแม้ว่าจะนึกภาพไม่ออกว่าการเดินทางพร้อมครอบครัวห้าชีวิตลูกตัวน้อย ๆ กระเป๋าจักรยานขนาดใหญ่และเป้หนึ่งใบจะเป็นอย่างไร เริ่มแรกดีลคือเราต้องลงแข่งรายการ Challenge Phuket และ Challenge Roth ต่อเนื่องกัน แต่สุดท้าย Challenge ไม่ได้ต่อสัญญาเราจึงต้องไปใช้บริการของบริษัท TriTravel ที่ผมได้กล่าวถึงมาก่อนหน้า ผมไม่แน่ใจเบื้องลึกเบื้องหลังของผู้ทำงานเรื่องนี้มากนัก แต่ถือว่าเป็นงานที่ยุ่งยากเพราะเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นหลายครั้ง ต้องถือว่าผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดทำให้รอยยิ้มของนักกีฬาทุกท่านเกิดขึ้นได้ในวันนี้ ต้องขอขอบคุณมาก ๆ

เมื่อสมัครได้เรียบร้อยแล้วก็เหลือแต่การวางแผนเพื่อแข่งขัน ผมเลือกใช้ตารางซ้อมที่ผมเคยใช้สำเร็จที่ลังกาวีมาแล้ว เป็นตารางง่าย ๆ สำหรับบุคคลธรรมดา ที่สามารถว่ายน้ำต่อเนื่องได้ประมาณ 1500-2000 ม. ปั่นจักรยานต่อเนื่องได้ 90 กม. และวิ่งต่อเนื่องได้ 21 กม. ก่อนเริ่มตารางก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับระยะประมาณนี้ ซึ่งผมถือว่าเป็นเรื่องค่อนข้างปกติสำหรับผมแล้ว เป้าหมายของตารางนี้เพียงแค่ “จบ” ไอรอนแมนอย่างแข็งแรง โดยเฉลี่ยซ้อมประมาณ 10-12 ชม. ต่อสัปดาห์ และสูงที่สุด 17  ชม. ต่อสัปดาห์ วิ่งยาวที่สุดประมาณ 36 km และปั่นยาวที่สุด 160 km ใช้เวลาทั้งหมด 16 สัปดาห์ แต่โชคไม่เข้าข้างผมเลย เพราะมีหลายอย่างในชีวิตเปลี่ยนแปลงไป ผมยังไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับความจำเป็นใหม่ ๆ ของชีวิตนั้นได้ ทำให้ไม่มีสมาธิ และ rhythm ของการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่ต้องพูดถึงตารางที่วางไว้ แทบไม่ได้มีการนำมาใช้เลย อย่างไรก็ตามผมพยายามวางการปั่นออแดกซ์เอาไว้อย่างสม่ำเสมอ ประมาณเดือนละครั้ง และการที่ต้องเตรียมงานปั่นออแดกซ์ปัตตานีระยะ 200 กม. นั้นทำให้ผมต้องปั่นทำเส้นทางสม่ำเสมอในระยะที่ค่อนข้างยาว และความถี่ค่อนข้างมาก ซึ่งกลายมาเป็นการซ้อมอันจำกัดของผมสำหรับรายการสำคัญนี้ ถ้าสังเกตุจากตารางการซ้อมของผมจะพบว่าประมาณหนึ่งเดือนก่อนการแข่งขันไอรอนแมนลังกาวี ผมไม่ได้ซ้อมอย่างสม่ำเสมออีกเลย มี peak ของ TSS เสียบขึ้นมาเป็นระยะ ๆ เป็นการปั่นออแดกซ์ และ ultra trail ที่ผมพยายามลงแข่งขันเพื่อสร้างความมั่นใจ

งานนี้ผมรู้ตัวดีว่าจักรยานและว่ายน้ำไม่ใช่ปัญหาสำหรับผมแน่ ๆ การว่ายน้ำด้วยเทคนิคเพียงอย่างเดียวโดยไม่ต้องใช้กำลังมากนักผมน่าจะสามารถจบที่ pace 2 ต้น ๆ ได้สบาย ๆ ปกติผมซ้อมว่ายน้ำตอนเช้า หรือไม่ก็เที่ยง แต่ตารางซ้อมมาชนกับช่วงปิดเทอมของเด็ก ๆ ทำให้ช่วงเช้าสระว่ายน้ำเต็มไปด้วยเด็กที่มาเรียนว่ายน้ำ ส่วนตอนเที่ยงผมก็งานสุมจนปลีกตัวไปค่อนข้างลำบาก ทั้งหมดทั้งสิ้นผมน่าจะว่ายน้ำไปประมาณ 2400 ม. ในช่วงแรก ๆ ของตาราง จักรยานนอกจากการปั่นหาเส้นทางสำหรับออแดกซ์ปัตตานีแล้วผมไม่ได้ซ้อมเลย จักรยาน TT ผมฟิตติ้งใหม่หลังจากแข่งลังกาวี เพราะมี Tri-Bar ชุดใหม่ เคยใช้ปั่นซ้อมเพียง 130 km แบบไม่ต่อเนื่องเพียงครั้งเดียว แต่โชคดีที่ผมร่วมปั่นออแดกซ์ค่อนข้างสม่ำเสมอ ทั้งระยะ 200, 300, 400 km โดยปั่น 400 km ไปถึง 3 ครั้ง ยิ่งไปกว่านั้นได้มาปั่นกระชั้นกันในช่วงก่อนแข่งขัน ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างฐานที่ดี ทั้งในแง่ของกำลังกาย และกำลังใจ อย่างที่เคยเล่าให้ฟังแล้วว่าความเหนื่อยต่อเนื่องของไอรอนแทนนั้นเทียบได้กับการปั่นประมาณ 300km ส่วนการปั่น 400km จะเหนื่อยและต้องการพลังใจมากกว่าอีกระดับหนึ่ง แต่นั่นไม่ได้ทำให้ Ironman สูญเสียความเป็น toughest one day sport event เพราะ 400km ความเหนื่อยจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมันกลายเป็น 2 วัน คนที่ปั่นได้เร็วจะไม่เหนื่อยเท่ากับคนที่ปั่นได้ช้ากว่า เพราะความอ่อนล้าจากการอดหลับอดนอนนั้น เป็นส่วนสำคัญของความกดดันทางจิตใจของชาวออแดกซ์

13700050_1244220542285426_328457610314859223_n

ดังนั้นรอบนี้สิ่งที่ผมต้องใส่ใจเป็นพิเศษคือการวิ่ง ผมสูญเสีย running engine ไปตอนเข้าร่วม TNF ระยะ 50K อาการเจ็บหลังระหว่างแข็งจนต้องเดิน หรือ บางครั้งแทบจะไม่สามารถยืนทรงตัวได้ระหว่างแข่งนั้นเป็นกำแพงทางจิตใจของผม ที่ทำให้การวางแผนทั้งหมดไม่ใช่เรื่องตรงไปตรงมา ผมพยายามลงสมัครระยะทางระดับอัลตราเพื่อเพิ่มความคุ้นเคยกับ time one foot ที่สูง ๆ มากกว่า  10 ชม. ซึ่งแม้ว่าจะทำให้ผมต้อง DNF ไปถึงสองรายการทั้ง PYT66 และ TNF100 แต่ทำให้ระยะเวลาบนเท้าของผมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากจาก 6-7 ชม. เป็น 10-15 ชม. ซึ่งสร้างอะไรบางอย่างในตัวผมทั้งร่างกายและจิตใจ อย่างไรก็ตามความเร็วทั้งหมดผมได้สูญเสียไปแล้ว ตั้งแต่ครั้งที่ผมบาดเจ็บเข่า ความเร็วสูงสุดที่ทำได้กับระยะฮาร์ฟมาราธอนครั้งสุดท้ายคือ 1:55 ชม. หรือส่วนหนึ่งของ 70.3 ก็ประมาณ 2:10 ชม. แต่นั่นก็นานมาแล้ว ผมมาหัดเพิ่มระยะเป็นมาราธอนไม่นานมานี้และเคยทำได้ดีที่สุดคือ 5:39 ชม. โดยประมาณ การวิ่งมาราธอนทั้งหมดของผมก็มีไม่กี่ครั้ง นานที่สุดคือ 6:30ชม. ทั้งเป็นการวิ่งในรายการไอรอนแมน และวิ่งรายการพัทยามาราธอน และสุดท้ายผมลงรายการภูเก็ตมาราธอนในเดือนมิถุนายนเอาไว้เป็นส่วนหนึ่งของการฝึกซ้อมก็ทำเวลาได้ 6:05 ชม. ทำให้ผมค่อนข้างที่จะกังวลเรื่องวิ่งมากที่สุดในการแข่งขันระยะทางไอรอนแมน

13726846_1410346625649085_5984292856668982699_n

รายการ Challenge Roth นั้นกำหนดระยะเวลา Cut Off เร็วกว่ารายการไอรอนแมนทั่วไป โดย Challenge Roth ตัดเวลาที่ 15 ชม. หรือ ว่ายรวมปั่น 9:30 ชม. ในขณะที่ไอรอนแมนจะกำหนดเวลาไว้ 17 ชม. ว่ายรวมปั่น 10:30 ชม. ทำให้ด้วยศักยภาพของผมที่มีอยู่มันเป็นความท้าทายโดยตัวของมันเอง สถิติการจบไอรอนแมนเพียงครั้งเดียวของผมคือ 15:02ชม. ที่ลังกาวี บวกกับสภาพการเตรียมตัวที่จำกัดเป็นอย่างมาก ประสบการณ์ ความเชื่อมั่น และแผนการจึงเป็นส่วนสำคัญที่สุดในการแข่งขันครั้งนี้ ผมวางแผนการแข่งขันอย่างง่าย ๆ คือ ว่ายน้ำ 1:30 จักรยาน 7 และวิ่ง 6:30 รวมกันเป็น 15 ชม. พอดีไม่มีเวลาสำหรับการเปลี่ยนชุด แต่ผมคาดว่าผมน่าจะว่ายได้ดีกว่านั้น และผมสามารถทำเวลาตอนปั่นถ้าหากว่าเสียเวลาช่วงว่ายน้ำหรือ T1 มากเกินไป ส่วนการวิ่ง 6:30 น่าจะเชื่อถือได้ หากไม่บาดเจ็บ และอาจจะทำเวลาดีขึ้นได้ถ้า T2 มากเกินความจำเป็น นอกจากนี้ผมยังวางแผนละเอียดไปอีกว่า ผมต้องการวิ่งครึ่งแรกของมาราธอนประมาณ 2:30 เพื่อจะเหลือเวลาครึ่งหลัง 4:00 แบบไม่เครียด เพซเดียวกับภูเก็ตมาราธอนก่อนหน้า ในช่วงครึ่งแรกและใช้ survival mode ในช่วงครึ่งหลัง นอกจากนั้นผมวางแผนที่จะแค่ไหล ๆ ในช่วงว่ายน้ำ ส่วนการปั่นผมต้องการใช้ไม่เกินโซนสอง เช่นเดียวกันกับการวิ่ง

การเดินทางเพื่อมาแข่งขันเป็นไปอย่างสะดวกสบาย ผมมาก่อนเวลาที่บริษัททัวร์นัดพบหนึ่งคืน มาพักที่ใจกลางเมืองใกล้ Hbf ของนูเรมเบิร์ก ซึ่งเป็นเมืองที่น่ารัก ใหญ่เป็นอันดับสองของแคว้นบาวาเรียรองจากมิวนิค อยู่ทางเหนือขึ้นมาประมาณ 110 km ผมบินลงมามิวนิคแล้วนั่งรถไฟกันมาค่อนข้างสะดวกค่าใช้จ่ายประมาณ 11 Euro สำหรับรถไฟสายปกติ ซึ่งต้องรอ 9 โมงเช้า ทีมส่วนใหญ่ที่เดินทางมาล่วงหน้าเลือกที่จะพักเที่ยวกันที่มิวนิค ทำให้ผมยังมีทั้งมิวนิคเก็บไว้ให้เดินเที่ยวเล่นได้อีกครั้งถ้ากลับมาในพื้นที่แห่งนี้ ในคืนแรกผมได้พบกับนักไตรกีฬาจากมาเลเซียที่มา Roth เป็นครั้งที่สอง ผมจึงสอบถามเรื่องวิธีสมัคร เขาบอกผมว่า slot ที่แจกนั้นส่วนใหญ่มักจะมีเหลือดังนั้นหลังแข่งแล้วสามารถไปสมัครได้ ยิ่งไปกว่านั้น ยัง transferable อีกด้วย หลังจากนั้นครอบครัวของผมก็ขอแยกตัวไปเที่ยวปราคขณะที่ผมย้ายเข้าพักกับบริษัททัวร์ ห่างออกไปจากตัวเมืองประมาณ 15 กม. เรียกแทกซี่ก็ไม่ยุ่งยากหมดไป 17Euro เพื่อรอเพื่อน ๆ อีกกลุ่มที่บินเข้าที่มิวนิคช่วงเช้าแล้วจะเข้ามาพร้อมกันที่โรงแรม หลังจากทุกคนพร้อมแล้วทางบริษัททัวร์ก็พาเราเข้าไปงานเอกโปซ์เพื่อไปลงทะเบียนล่วงหน้าหนึ่งวัน ลดกิจกรรมที่จะต้องทำในวันรุ่งขึ้น

13716107_1393542967338945_6092240235650305064_n

เริ่มพบกับยอดมนุษย์เหล็กทั้ง 40 คนกันแล้ว แต่ละคนก็มีเป้าหมายที่แตกต่างกันไป ผมคงไม่ไปกล่าวถึงแต่เป้าหมายของผมในเวลานี้คือเอาตัวให้รอด หลังจากที่พบว่าตัวเองแทบไม่ได้ซ้อมอะไรมาเลย มีแต่เพียงหัวใจและประสบการณ์ ผมมีวิธีที่จะคิดได้สองแบบคือ กังวล หรือ สู้ตาย ซึ่งแน่นอนว่าในขั้นนี้สู้ตายเป็นทางเลือกที่ไอรอนแมนส่วนใหญ่จะเลือกใช้ ยิ่งไปกว่านั้นผมมีอาวุธลับที่พิเศษกว่าคนอื่น ๆ ในยามที่ทุกอย่างไม่เข้ารูปเข้ารอย นั่นคือ ความเยือกเย็น ไม่ว่าเรื่องราวจะมาอย่างไร ผมรู้สึกเสมอว่าทุกอย่างจะผ่านไปได้ด้วยดี เพื่อนนักปีนเขาเรียกชื่อเล่นผมว่า Zen Master ไม่ใช่เพราะความสามารถในการปีน แต่เป็นความสามารถในการเก็บอาการเมื่อรู้ว่าสถานการณ์ที่กำลังจะเจอนั้นอาจจะเกินความสามารถ และมีอันตรายเข้ามาเกี่ยวข้อง ผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าเหตุการณ์ยุ่งยากมากขึ้นเพียงใด ความจำเป็นในการสงบสติอารมณ์ยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น ณ เวลานี้ไม่ใช่เวลาที่ผมจะเสียใจว่าผมขาดอะไร แต่ต้องมาดูว่าผมมีอะไรอยู่บ้าง ในขณะเดียวกันสิ่งที่จะได้มาจากงานนี้อย่างแน่นอนนั่นคือ ความเข้าใจปริมาณการซ้อมที่น้อยที่สุดที่เป็นไปได้ วิธีการเอาตัวรอดจากไอรอนแมนโดยอาศัยสิ่งที่ตนเองถนัด และอื่น ๆ

13699420_1249351451772335_548084090_o

ในวันรุ่งขึ้นทางทัวร์พาเราไปลองว่ายน้ำ ผมปกติไม่เคยทดลองน้ำ เนื่องจากไม่ชอบความหนาวเย็น แต่รอบนี้เริ่มมองเห็นความจำเป็น เจตนาของการไปว่ายน้ำก็เพียงเพื่อทดสอบอุณหภูมิของน้ำ การฟิตติ้ง wetsuit ให้เหมาะสม เพื่อดูพื้นที่จริง ที่สุดท้ายแล้วทุก ๆ สิ่งที่ได้ทำวันนี้เพื่อลดความเครียดที่จะเจอในวันจริง อุณหภูมิน้ำประมาณ 20 องศาถือว่ากำลังดี wetsuit ก็พอดีมีกังวลแค่การเสียดสีที่ต้นคอเท่านั้น หลังจากที่เราทดสอบสนามในช่วงว่ายน้ำแล้วเราก็ต่อด้วยนั่งรถชมเส้นทางตลอดเส้นทางทั้งรอบ 90 กม. ผมไม่ค่อยได้ดูเส้นทางที่เขาให้ชมมากนัก ไม่รู้สึกว่ามีเนินอะไรที่กังวล ไม่มีทางลาดไหนที่ดูอันตราย โค้งไหนที่ควรระวัง ตลอดทางนั่งมองแต่วิวและความสวยงามของพื้นที่ โดยปกติแล้วผมเป็นคนชอบจดจำจุดสำคัญต่าง ๆ เพื่อใช้ในการวางแผนการปั่น แต่รอบนี้ผมไม่คิดว่าการปั่นต้องมีแผนอะไรเป็นพิเศษ หลังจากกลับที่พักเราก็นัดกันอีกครั้งเพื่อจะเข้าไปงานเลี้ยงอาหารต้อนรับ แต่สุดท้ายแล้วคนไทยกลุ่มใหญ่เลือกที่จะเดินทางเข้าเมือง ผมก็เช่นกัน วันรุ่งขึ้นก็เป็นวันที่เราเตรียมตัวเพื่อ Bike Check-in ไม่น่าเชื่อว่าผู้แข่งขัน 6000 คน มีทางเข้าจุด T1 สีจุด แทบไม่มีแถวให้ต่อเลย การจัดการขั้นเทพ รวดเร็วแม่นยำ ที่นี่เขาตรวจสภาพหมวกกันน๊อคเคร่งเครียดมาก ดูสภาพกันแทบทุกมุม พร้อมมีของใหม่เตรียมตัวขายถ้าไม่ผ่าน ส่วนจักรยานเขาไม่ดูอะไรมาก ต่างจากงานภูเก็ตหรือลังกาวีที่ตรวจสอบเบรคอย่างเคร่งครัด เวลาที่เหลือเราพยายามรีบกลับไปพักผ่อนเพราะวันรุ่งขึ้นเริ่มต้นที่ตีสาม แม้ว่าเวลาเริ่มต้นของเราจะอยู่ที่ 7-8 โมงก็ตาม

13692551_1393543180672257_3064557522683468204_n

การไปก่อนเวลานานมาก ๆ ช่วยลดความตึงเครียดของการแข่งขันลงได้มาก มีเวลาดูแลจักรยาน จัด  T1 เข้าห้องน้ำ drop bags ใส่ wet suit และ selfie อย่างสนุกสนาน กลุ่มผู้หญิงออกตัวก่อน ในขณะที่กลุ่มชายไทยออกตัวเป็นกลุ่มสุดท้ายห่างกันหนึ่งชั่วโมงเต็ม ๆ การออกตัวเป็นไปอย่างยิ่งใหญ่ คนเชียร์เต็มตลอดสองฝั่งแม่น้ำ บอลลูนถูกปล่อยขึ้น ปืนใหญ่ยิงปล่อยตัวทุก ๆ เวฟ 200-250 คนออกพร้อม ๆ กัน เสียงดังสนั่นทุก ๆ ห้านาที พร้อมควันพวยพุ่งเบื้องหลังบอลลูนสีสด เป็นภาพที่ยากที่จะลืมเลือน เราจะว่ายเป็นวงขึ้นลงตามแม่น้ำที่ปกติห้ามมีการว่ายน้ำ เป็นคลองที่เชื่อม Rhine-Main-Danube เข้าด้วยกันใช้เพื่อการขนส่งสินค้า เราจะว่ายไปชนสะพานด้านหนึ่งแล้วกลับตัวว่ายไปถึงอีกสะพานหนึ่งที่จะมีคนยืนเชียร์อยู่สองฝั่งคลอง และเต็มพื้นที่สะพาน ผมเริ่มเป็นกลุ่มสุดท้ายนั่นก็ช่วยให้มีเวลาผ่อนคลายอีกพักใหญ่ ๆ หลังเวฟแรกออกตัวไปแล้ว หูเริ่มคุ้นเคยกับเสียงปืนใหญ่ จำนวนผู้คน เสียงเชียร์ เมื่อถึงคิวว่ายลงไปจุดเริ่มต้น ไม่ช้าไม่นานสองร้อยชีวิตก็ค่อย ๆ เคลื่อนตัวเลียบชายฝั่งออกไปพร้อม ๆ กับเสียงปืนใหญ่ครั้งสุดท้าย น้ำในคลองค่อนข้างขุ่นมองไปหน้าไปประมาณระยะปลายนิ้วมือ ไม่เห็นคนว่ายนำที่ผมชอบใช้ในการนำทาง ผมต้องพยายามมองข้างตลิ่งไว้ แต่ผมว่ายห่างจากตลิ่งเพราะคิดว่าคนด้านในน่าจะแน่น สุดท้ายก็ว่ายเป๋ไปมา ระหว่างกองเรือที่แบ่งกลางคลองกับขอบตลิ่ง น้ำเย็นขึ้นกว่าวันทดลองว่าย 1 องศา ไม่รู้สึกหนาวขึ้น มือ หัว ปลายเท้าไม่ชา wet suit ฟิตพอดี นำ้ไม่เข้ามากนักถ้าหากไม่พยายามให้มันเข้า แน่นอนว่ามีน้ำเข้ามาบ้างแต่พอดีกับความร้อนของร่างกายที่ต้องการการระบาย ขอของ wet suit เริ่มเสียดสีกับต้นคอของผม จนทำให้ไม่ค่อยอยาก sighting อีกต่อไป เจตนาการมองข้างขวาอย่างเดียวตลอด 3800 เมตร ไม่เป็นแผนที่ดี ผมเริ่มใช้วิธี rolling body เพื่อหายใจ และใช้ร่วมกับ bi-laterally breathing แต่ทำได้ไม่มากนัก ความเย็น ความลอยตัวของ wet suit ทำให้ไม่คุ้นกับระดับของร่างกาย สุดท้ายต้องผ่อนความเร็วลงเพื่อที่จะให้ roll body ได้ง่ายขึ้น ลดการหันคอลง ช่วงครึ่งแรกผมเสียเวลาไปเกือบ 5 นาทีจากที่วางแผนไว้ ทำให้ช่วงครึ่งหลังต้องตั้งสมาธิมากขึ้น สุดท้ายก็ยังไม่ได้เวลาคืนมามากนักจึงเข้าโหมดเร่งความเร็วจนท้ายที่สุดผมทำเวลาได้ 1:24 นาที ช้ากว่าที่คาดไว้ 4 นาที ว่ายเกินไปประมาณ 300 เมตรจากระยะการ์มิน

T1 ของที่นี่มีเต้นท์เปลี่ยนเครื่องแต่งตัวให้ ไม่ต่างจากงานไอรอนแมน Bike Bags ทั้ง 6000 ใบวางอย่างเป็นระเบียบอยู่ด้านหน้าซึ่งนักกีฬานำมาวางไว้เองตอนช่วงก่อนเริ่มแข่ง ที่พิเศษคือเต้นท์นี้เป็นเต้นท์รวมชายหญิง และเต็มไปด้วยอาสาสมัครสตรี หลากหลายวัยที่จะวิ่งเข้ามาประกบเพื่อช่วยเหลือในการแต่งตัว จากพยากรอากาศล่วงหน้าผมไปจัดหาซื้อเสื้อ compression เพิ่มอีกหนึ่งชั้น แต่ด้วยความยากลำบากในการสวมใส่ผมจึงใส่ตั้งแต่ก่อนว่ายน้ำ ผมวางแผนที่จะใส่เสื้อปั่นจักรยานแขนยาวเพื่อความสะดวกในการขนอาหาร และพกเสื้อกันลมอีกหนึ่งตัว แต่สุดท้าย ผมคิด ๆ ไว้ว่าถ้าช่วงวิ่งผมต้องถอดเสื้อปั่นแขนยาวออกชุดแข่งน่าจะไม่ค่อยสวยงามมากนักจึงสวมเสื้อไตรแขนกุดของทีม V40 ทับไว้อีกตัวเพราะกลัวว่าช่วงวิ่งอาจจะไม่มีแรงใส่เสื้อรัด ๆ แบบนี้ได้ สาว ๆ มาช่วยรุมทึ้งถอด wet suit ให้ผม แล้วยื่นเสื้อผ้าในถุง Bike Bag มาให้เลือกทีละชิ้นแล้วช่วยสวม ไม่ช้าไม่นานผมก็วิ่งออกไปปั่นได้  ใช้เวลาใน T1 ไปประมาณ 8 นาที สรุปแล้วผมเสียเวลาจากที่วางแผนไว้ 12 นาที หรือ 2 นาทีจาก range ที่วางเอาไว้ ซึ่งไม่เครียดเท่าไร จักรยานเอาคืนได้ง่ายเพราะตั้งไว้ 7 ชม ซึ่งหมายถึงเฉลี่ยเพียง 26 กม/ชม อากาศไม่หนาวมากนักแต่เย็นเพียงพอที่จะทำให้เสื้อสี่ชั้นของผมไม่ร้อนจนเกินไป ผมรูดซิบออกเป็นชั้น ๆ ตามจังหวะ และสภาพอากาศ ผมทำเวลาได้ค่อนข้างดีเส้นทาง rolling ซึ่งค่อนข้างเป็นเส้นทางแบบที่ผมถนัด มีจังหวะเนินและทิ้งตัว เข้าโค้ง เบรคไม่ค่อยต้องใช้ เสียอย่างเดียวที่ไม่ค่อยได้ซ้อม กล้ามเนื้อจึงไม่ค่อยแข็งแรงมาก ผมวางแผนปั่นที่ Zone 2 ตลอดการแข่งขันแต่แบตของ power meter ที่เป็น Power2Max ดันมาหมดในวันก่อนแข่งทำให้ไม่สามารถหามาเปลี่ยนได้ทันจึงต้องอาศัยโซนของหัวใจแทน ผมเลือกปั่นที่ HR ไม่เกิน 150 ในครึ่งแรกผมทำความเร็วเฉลี่ยได้ประมาณ 28 ก่อนจะเข้า Solar Hill ที่มีเนินต่อเนื่องยาวนานจนท้ายที่สุดตกลงไปเหลือ 26 เศษ ๆ Solar Hill ถือว่าเป็นไฮไลท์ของสนามนี้ ชาวเมืองเชียร์กันสองข้างทางกว่า 30,000 คน ปั่นจักรยานเลนเดียวแหวกผู้คนขึ้นไปเรื่อย ๆ บนเนินที่ยาวที่สุดของการแข่งขันความชันที่ไม่มากจนต้องมีใครลงมาเข็น เป็นความทรงจำที่ยากจะลืมเลือน กองเชียร์ในมุมอื่น ๆ ก็ไม่แพ้กัน มีการตั้งเครื่องเสียงเปิดเพลงร๊อคปลุกใจ ดีเจตะโกนเชียร์ เด็ก ๆ ยื่นมือออกมา และแน่นอนว่าผมยื่นมือออกไปแตะมือเด็กทุก ๆ คนที่ยื่นมือออกมาเพื่อเป็นการขอบคุณ บางบูธเป็นโต๊ะเรียงราย เปิดไวน์นั่งเชียร์ บางบูธเล่นเอาเตียงมานอนเชียร์นอนกินกันข้างทางกันไปเลย แน่นอนว่าเสียงสนั่นหวั่นไหวกันแทบตลอดเส้นทาง ในรอบที่สองผมจึงเลือกที่จะปั่นเลี้ยงความเร็วเฉลี่ยไปเรื่อย ๆ เก็บแรงเอาไว้ที่ Solar Hill รอบที่สอง เป็นไปตามคาดรอบที่สองเริ่มมีอากาศที่ร้อนขึ้นเล็กน้อย ผมต้องจอดเพื่อถอดเสื้อกันลมหนึ่งครั้ง จอดเพื่อเข้าห้องน้ำหนึ่งครั้ง และจอดเพื่อปรับแก้เสื้อจักรยานอีกหนึ่งครั้ง เสียเวลาเล็ก ๆ แต่ได้พักขามากขึ้น rolling hill มักจะทำให้กล้ามเนื้อล้าโดยง่ายถ้าไม่ระมัดระวัง มาถึงจุดนี้กล้ามเนื้อผมเริ่มล้าเกินกว่าที่จะทำให้ HR ผมขึ้นไปถึงเป้า 150 แล้ว ผมผ่อน ๆ คลาย ๆ และใช้เวลาบน base bar มากขึ้น aero bar และ ฟิตติ้งใหม่ยังไม่เข้ากับตัวผมที่ไม่ได้ซ้อมปั่นด้วย set up ใหม่นี้มาเลยทำให้เริ่มเมื่อยคอ ผมจำอาการตะคริวขึ้นคอได้ดีในสองโอกาสทั้งที่ลังกาวีและการปั่นกรุงเทพหาดใหญ่ของผม ทุกครั้งที่มีโอกาสผมจึงจับ base bar ตลอดซึ่งทำให้ลดความเร็วเฉลี่ยลง เพิ่มกำลังขานิดหน่อย เพราะร่างกายอยู่ในตำแหน่ง open torso ผมปั่นเข้า Solar hill โดยไม่เสียเวลา และพยายามคงความเร็วเฉลี่ยในเนินที่เหลือให้ได้มากที่สุด โดยที่ไม่โหลดกล้ามเนื้อขาจนเกินไป ระหว่างรอบที่สองนี้ผมจึงมีเวลาชื่นชมวิวสองข้างทางตามสไตล์ออแดกซ์มากขึ้น ถนนเรียบที่ปิดการจราจรแทบจะ 100% เส้นทางเขาขึ้นลง มีเนินท้าทายขาสองเนินที่ไม่ได้ทำให้ใครต้องลงมาเข็น ข้างทางรายล้อมด้วยทุ่งนา ทุ่งข้าวโพด หรือ ข้าวบาเลย์ ฉากไกล ๆ เป็นภูเขาสูง ประดับด้วยกังหันลมเป็นระยะ ๆ ทำให้ต้องคอยเตือนตัวเองให้คุมความเร็วเอาไว้ให้ได้ อย่าเพลินจนเกินไป ในขณะเดียวกันสภาพเนินต่อเนื่องยาวนานหลายชั่วโมงเริ่มทำให้ความล้าคืบคลานเข้ามา 170 กม ไม่ได้มาถึงเร็วอย่างที่คิด แต่สุดท้ายผมก็ปั่นเข้า T2 ด้วยเวลาปั่นประมาณ 6:48 ชม. เอาเวลาที่หายไปคืนมาทั้งหมด

13775453_1410345645649183_6030980180576254421_n

เมื่อถึง T2 ผมเปลี่ยนแผนที่เคยคิดจะถอดรองเท้าทิ้งไว้กับจักรยาน เพราะเพิ่งรู้ว่าทางทัวร์จะนำจักรยานกลับโรงแรมให้กับเรา ผมคิดว่าอาจจะทำให้รองเท้าสูญหายได้ เกือบเสียศูนย์เพราะลืมปลดคลิบเมื่อมาถึงจุด unmount แต่สุดท้ายก็สามารถบิดขาทั้งตัวเพื่อปลดตัวเองออกจากบันไดได้ทั้ง ๆ ที่ตอนนั้นเริ่มยกขาข้ามจักรยานลงมาแตะพื้นแล้วหนึ่งข้าง อาสาสมัครยื่น Run bag มาให้แล้วมีคนวิ่งตามเข้าเตนท์เพื่อรักษาความปลอดภัยตลอดเส้นทาง พยาบาลสอบถามว่าต้องการปฐมพยาบาลบ้างหรือไม่ ผมคว้าถุงมาแล้วอาสาอีกคนก็ลงมือเปิดถุงให้กับผม ค่อย ๆ ยื่นเสื้อผ้าด้านในให้กับผม ปลอกแขน หมวก ผมปฏิเสธทุกอย่างเพราะคิดว่าผม over dress  อยู่แล้วในขณะนี้แล้วคิดว่าแดดไม่น่าจะแรงมากนักในขณะวิ่งเพราะเป็นเวลาสี่โมงกว่า ๆ แล้ว ผมเลือกที่จะเอาผ้า buff ติดตัวไปแทน ป้องกันอากาศหนาวและเอาไว้กันเหงื่อเข้าตา ผมถอดเสื้อปั่นจักรยานแขนยาวออกทิ้งไว้พร้อมกับเสื้อกันลม เปลี่ยนเป็นรองเท้าวิ่งที่เพิ่งซื้อ ผ่านการวิ่งมาราธอนไปเพียงหนึ่งครั้งที่เวลา 6:05 ชม. สุดท้ายสาวน้อยยื่นกางเกงวิ่งที่ผมวางแผนจะเปลี่ยนมาให้ แต่ด้วยความเกรงใจสาววัยละอ่อนผมจึงยืนยันที่จะใส่กางเกงปั่นจักรยานตัวเดิมออกวิ่งไป เส้นทางวิ่งเป็นทางวิ่งเลียบคลองเป็นส่วนใหญ่ มีส่วนที่ต้องเข้าเมืองหลายช่วง รวมถึงช่วงที่เรียกว่า beer mile ที่มีโต๊ะเชียร์วางข้างทางพร้อมกับชาวเมืองนักกินเบียร์เชียร์นักกีฬากันอย่างสนุกสนาน

13697135_1410649612285453_3675710670695162634_n

ผมออกวิ่งไปได้ไม่นานก็รู้ตัวว่าแต่งตัวผิดนิดหน่อย แดดร้อนเกินคาด น่าจะมีหมวกสักหน่อย ถึงจุดหนึ่งผมต้องถลกแขนขึ้นลดความร้อน เส้นทางวิ่งสุดยอดมาก ๆ เป็นเส้นทางเลียบแม่น้ำเป็นส่วนใหญ่ พื้นกรวด บางคนบ่นเรื่องพื้นรองเท้าบางไป แต่สำหรับคนชอบวิ่งเท้าเปล่าแบบผมไม่มีปัญหา การใส่รองเท้าอัลตรามาวิ่งเที่ยวนี้ ความหนาความกว้างเกินพอสำหรับทุกสถานการณ์อยู่แล้ว สำหรับคนเชียร์มีตลอดทางจริง ๆ มีบูธใหญ่ ๆ เครื่องเสียงโต ๆ เพลงดัง ๆ ดีเจประกาศชื่อ ตะโกนไทยแลนด์ hop hop hop คนเชียร์ข้างทางพยายามอ่านชื่อ มองธง ตะโกนชื่อประเทศ ตลอดเส้นทาง สนุกมาก ๆ ประมือ ตลอดเส้นทาง ผมปั่นจักรยานหนักไปนิดทำให้ HR ช่วงแรกของการวิ่งพุ่งสูงเกินไป ผมจึงเลือกที่จะเดินมากกว่าที่จะรักษา pace เพื่อให้ได้ 2.5 ชั่วโมงสำหรับครึ่งทางแรก แต่การที่จะเดินในสนามนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายมากนักถ้าหน้าไม่ด้านพอ กองเชียร์ตะโกนให้วิ่งตลอดเวลา ไม่อยากให้เรายอมแพ้ ในหลาย ๆ จุดเรียกว่าไม่กล้าเดินกันเลย เกรงใจกองเชียร์ขนาดมหึมา บางโซนเป็นป้า ๆ ลุง ๆ เอาเก้าอี้ออกมานั่งชมความทรมานกันหน้าบ้าน ยิ้มให้ ปรบมือให้กำลังใจ สุดท้ายผมจึงพยายามเดินและหยุดพักที่จุดให้น้ำแทน เพื่อไม่ให้น่าเกลียด เส้นทางวิ่งวกไปวนมา เราเริ่มเจอเพื่อน ๆ ชาวไทยที่มาด้วยกัน วิ่งสวนกันไปมา คนแล้วคนเล่าค่อย ๆ แซงผมไป ผมคาดว่าผมวิ่งช้าเพียงพอให้ทุกคนมาแซงผมถ้าต้องการเข้าเส้นชัยทันเวลา เพราะผมเตรียมมาเพื่อเข้าเส้นนาทีสุดท้าย ผมคิดไว้นานแล้วว่าด้วยสภาพของผมในปัจจุบันแล้วยังอยากเล่นระดับไอรอนแมนอยู่ มีทางเลือกสามทางที่จะสามารถเตรียมตัวให้พร้อมได้ หนึ่งคือ ซ้อมเต็มที่เพื่อให้ได้ sub4 มาราธอน ระดับจิตใจและฐานการวิ่งจะยกขึ้นไปอีกระดับหนึ่งที่เหลือเฟือสำหรับไอรอนแมน สองคือ เข้าร่วมรายการระดับอัลตราเทรล 50-100 km อย่างสม่ำเสมอ เพื่อหัดการกินอาหาร เพิ่ม time on foot และสร้างความคุ้นเคยกับความอ่อนล้าของกล้ามเนื้อขาในระยะปลาย ๆ ของการแข่งขัน รวมไปถึงความแกร่งของจิตใจ สุดท้ายคือ เล่น red line เข้าคนสุดท้าย ใช้การคำนวณปรับ pace ให้เหมาะสมตลอดเวลา อาศัย cut off time เป็นตัวผลักดัน ความผิดพลาดไม่ใช่ option ในคราวนี้ผมเลือกทำวิธีที่สอง อย่างไรก็ตามผมไม่ค่อยประสบความสำเร็จมากนักในรายการอัลตราเทรล DNF ทั้งสองรายการที่สำคัญในการฝึกซ้อม PYT66 และ TNF100 อย่างไรก็ตามการก้าวไประยะอัลตราทำให้ mindset ของระยะมาราธอนของผมเปลี่ยนไป 42Km กลายเป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่ไม่ได้น่ากลัวอะไรเลย time on foot ระดับ 10 ชม ขึ้นไปเป็นเรื่องธรรมดามากขึ้น ผมจึงวางแผนสำหรับการแข่งขันเป็นแบบทางเลือกที่ 3 แบบไม่บีบเค้นหัวใจเพราะในตอนนี้ระยะ 42km ในเวลา 6:30 ชม. มันไม่ยาวเลย เช่นเดียวกันการปั่นออแดกซ์ระดับ 300-400 km ที่เวลา 28-40 ชม ทำให้การแข่งขันระดับ 17 ชม. รู้สึกสั้นกว่าที่เคยรู้สึกเยอะมาก ๆ

ด้วยแผนดังกล่าวนี้ผมได้พบความสมดุลย์ใหม่ของไอรอนแมน จากที่เคยเชื่อว่าไอรอนแมนเป็นสิ่งที่ต้องทุ่มเทเวลาเป็นจำนวนมาก ซ้อมอย่างหนักอย่างน้อย ๆ 16 สัปดาห์ แทบไม่มีเวลาในช่วงวันหยุดสำหรับครอบครัวเลย หรือ 2 sessions day  เป็นเรื่องปกติที่ต้องทำจนไม่มีเวลาที่จะช่วยเหลือภรรยาแบ่งเบางานในบ้านในระหว่างวัน ผมกลับมารอบนี้ด้วยกระบวนการแบบใหม่โดยที่ไม่ได้ตั้งใจ จากงานที่ถาโถมมาอย่างหนัก จังหวะชีวิตที่ไม่ลงตัว จำนวนชั่วโมงนับจากเดือนพฤศจิกายนปี 2015 มาถึงวันแข่งเดือนกรกฎาคา 2016 แทบจะเป็นศูนย์ ถ้ามองในมุมของความสม่ำเสมอและจำนวนชั่วโมงที่มีอยู่ แต่การร่วมแข่งขัน โดยเฉพาะรายการทางยุทธศาสตร์ทั้งหลายผมเข้าร่วมอย่างสม่ำเสมอ นั่นหมายถึง อัลตราเทรล PYT66 TNF100 น่าเสียดายว่าไม่ได้ลงเพิ่มเพราะรายการ PYT66 ทำเล็บผมหลุดจึงไม่ค่อยกล้าสมัครรายการอื่น ๆ และการปั่นออแดกซ์ระดับ 200-400km อย่างสม่ำเสมอ ทำให้ฐานของจักรยานไม่เสียไปมากนัก แต่ที่สำคัญกว่าคือผมมีเวลามากขึ้นที่จะใช้มันทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัวอย่างสม่ำเสมอไม่ว่าแผนการของวันจะเป็นเช่นไร ด้วยความรู้สึกเช่นนี้ผมคิดว่าไอรอนแมนลังกาวีผมน่าจะสามารถทำได้ดีกว่าเดิมในแง่ของการบริหารเวลา การซ้อม รวมไปถึงเวลาแข่งขัน

ผมวิ่งฮาร์ฟมาราธอนแรกด้วยเวลา 3 ชม. ซึ่งช้าไปกว่าแผนที่วางไว้ถึงครึ่งชั่วโมง จากที่จะมีความผ่อนคลาย 4 ชม. สำหรับ 21 km สุดท้าย กลายเป็น 3.5 ชม. ที่ค่อนข้างตึงเครียด อย่างไรก็ตามผมพอจะรู้คร่าว ๆ ว่า 3.5 ชม ในครึ่งหลังจะต้องเป็นอย่างไร จากการที่ได้แข่งขันรายการภูเก็ตมาราธอนในเดือนมิถุนายนแบบไม่ได้ซ้อม ที่ผมทำ 2.5 + 3.5 ชม. เพื่อให้ได้ 6 ชม. ทำให้แม้ว่าจะเครียดในแง่ของความพอดีของเวลา แต่ก็ผ่อนคลายในแง่ของประสบการณ์ที่เคยผ่านมาแล้ว อย่างไรก็ตามกว่าผมจะเริ่มคิดอะไรให้เข้าที่ได้ ผมก็มาอยู่ในสภาวะที่ต้องวิ่งต่ำกว่า 10 min/km เป็นระยะทางประมาณ 16 km นั่นหมายถึงผมต้องรักษาความเร็วนี้เป็นเวลา 2:40 ชม นั่นเป็นช่วงเวลายาวนานพอสมควรสำหรับการทำสมาธิระหว่างวิ่งเช่นนี้ ผมลองทดสอบกำลังขานิดหน่อย พบว่าผมสามารถวิ่งสบาย ๆ ที่  เพซประมาณ 7.5-8 ได้ ผมจึงเลือกจัดการกับช่วงสุดท้ายของการแข่งขันตามแผนเดิน 200 เมตร วิ่ง 800 เมตร ให้เพซเฉลี่ยของแต่ละกิโลเมตรต่ำกว่า 10 แล้วทำแบบนี้ซ้ำ ๆ 16 ครั้ง ซึ่งคลายความเครียดได้มาก ผมได้เดินยาวจนรู้สึกหายเมื่อย ผมไม่ต้องวิ่งเร่งแค่จัดให้ต่ำกว่า 10 ช่วงที่หยุดกินอาหารก็ต้องเร่งมากขึ้นเล็กน้อยในช่วงปลาย มีกองเชียร์ที่สำคัญสองคนที่ช่วยให้การวิ่งของผมสม่ำเสมอมากขึ้น คนแรกคือชายที่ใส่ชุดแฟนซี เหมือนหมีแบกคน เขามายืนเชียร์เป็นระยะ ๆ แล้วปั่นจักรยานไปดักด้านหน้าแล้วเชียร์ จริง ๆ แล้วเขามาเชียร์แฟนของเขาที่วิ่งเพซใกล้ ๆ กับผม เขาเตรียมอุปกรณ์เชียร์มาเป็นระยะ ๆ ตามแต่ stage ของการวิ่ง เริ่มต้นจากการใส่ชุดตะโกนเชียร์ ปรบมือ ปั่นจักรยานไปดักด้านหน้า แล้วทำซ้ำ ๆ แบบนี้ เปลี่ยนเสื้อมาใช้เสื้อที่เขียนว่า “Shut Up Legs” สำหรับนักจักรยานแล้วเป็น phrase ที่สำคัญของนักจักรยานที่เพิ่งรีไทร์ Jen Voight ทำให้ผมต้องวิ่งมากขึ้นกว่าที่วางแผนไว้ มีบางช่วงเขาปั่นจักรยานมาประกบเพื่อ pace ให้จนสุดท้ายแฟนเขาตามผมทัน เขาบอกผมว่าผมต้องวิ่งไปเรื่อย ๆ ดูแลแฟนให้เขา ส่วนเขาจะปั่นล่วงหน้าขึ้นไป ไม่นานนักแฟนเขาก็วิ่งแซงผมไปตอนถึงจังหวะเดินของผม แล้วผมก็ไม่เห็นทั้งสองคนอีกเลย อีกคนหนึ่งเป็นคนเชียร์ที่ผมเห็นสวนไปมาหลายครั้งในชุดวิ่ง ในช่วงหนึ่งกองเชียร์คนนี้มาวิ่งประกบเพื่อชวนคุยคาดว่าเพื่อช่วยเป็น pacer ให้ผมเฉย ๆ เขาเป็นคนเยอรมันที่มีภาษาอังกฤษค่อนข้างดี เคยลง Roth มาแล้ว 7 ครั้ง แต่ปีนี้มาเชียร์เฉย ๆ เขาเดินทางมาจาก Munich ซึ่งห่างจากบริเวณนี้ประมาณ 120km โดยประมาณ เขาวิ่งประกบแล้วคุยกับผมเกือบ ๆ สองกิโล ช่วงนี้ผมไม่ได้หยุดเดินเลย ทั้งสองคนนี้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การวิ่งรอบนี้ง่ายขึ้นมาก

ที่สำคัญที่สุดสำหรับการแข่งขันครั้งนี้และทุก ๆ ครั้งของผม คือครอบครัวของผม ผมจะเขียนเวลาโดยประมาณให้กับครอบครัวตามระยะต่าง ๆ เพื่อให้พวกเขาสามารถวางแผนวันของพวกเขาได้เอง เพื่อที่จะมาเจอกับผมได้เป็นช่วง ๆ ระหว่างการแข่งขัน ครั้งนี้ก็เช่นกัน การเดินทางมาจุดชมการแข่งขันช่วงเช้าไม่ใช่เรื่องง่ายมากนัก แม้ว่าผมกำหนดเวลาให้พวกเขาทั้งการแข่งขัน ผมคิดว่าช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดที่จะมาคือช่วง T2 เป็นต้นไป และส่วนสำคัญที่สุดคือช่วงเส้นชัยที่รายการนี้อนุญาติให้ครอบครัววิ่งเข้าเส้นด้วยกันได้ แตกต่างจากรายการ Ironman แต่อย่างไรก็ตามก็ขึ้นกับการตัดสินใจของพวกเขาเพราะขนส่งมวลชนจะสิ้นสุดก่อนที่ผมจะเข้าเสียชัยได้ทัน ช่วงปั่นเข้า Solar Hill ผมมีความหวังเพียงเล็กน้อยที่จะเจอพวกเขา ผมจะผ่านจุดนั้นในเวลา เที่ยงและบ่ายสามโมง ซึ่งจากตารางรถไฟแล้วถ้าเขาจะมาเจอผมที่นั่นเข้าต้องมารออย่างน้อยสองชั่วโมง ท่ามกลางคน 30,000 คน ผมแนะนำว่าแม้ว่าจะทำได้ก็ไม่น่าจะคุ้มค่าเท่าไร ซึ่งผมไม่เห็นพวกเขาในช่วงนั้นจึงค่อนข้างมั่นใจว่าจะเจอที่ T2 แต่กลับไม่พบในช่วง T2 อย่างไรก็ตามหลังออกจาก T2 ไม่ถึงกิโลก็พบกับพวกเขายืนรอเชียร์อยู่ ฮารุเรียกผมตั้งแต่ไกล ซาช่าวิ่งเข้ามากอด ส่วนเซนของวิ่งตามไป ผมกอดพวกเขาเอากำลังใจ แล้วบอกกับเซนว่าอีก 40 km เซนคงวิ่งตามไม่ไหว หลังจากนั้นผมหวังเพียงลึก ๆ ว่าจะได้เจออีกครั้ง เพราะต้องเว้นช่วงไปมากกว่าสามชั่วโมงผมจึงจะกลับมาจุดนี้อีกครั้งหนึ่ง ผมไม่เจอพวกเขาในรอบที่สองที่ผมระบุจุดไว้ให้ แต่ท้ายที่สุดแล้วก็พบกับเซนและภรรยาอีกครั้งที่ระยะทางประมาณ 38 กม. ช่วงก่อนวิ่งเข้า Beer Mile คราวนี้เซนต้องการวิ่งไปกับผมอย่างจริง ๆ จัง ๆ ระยะทาง 4 กม. ด้วยเพซที่ผมใช้อยู่นั้นไม่เกินความสามารถเขาอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตามพวกเขาเหลือเวลาอีกเพียงไม่ถึงสิบนาทีเพื่อวิ่งกลับไปขึ้นรถบัสเพื่อไปต่อรถไฟกลับโรงแรม เซนวิ่งคู่กับผมประมาณ  20 เมตรแล้วโบกมือลา 4 กม. สุดท้ายที่ผมวางแผนใช้เวลาอีก 40 นาทีตามเพซที่วางไว้ ผมใช้ไปเพียง 31 นาที เป็นกำลังใจเล็ก ๆ ที่ยิ่งใหญ่จากหัวใจน้อยใหญ่รายล้อมตัวผม มารู้ทีหลังว่าหลังจากเขาเจอผมรอบแรก พวกเขาก็กลับไปส่งฮารุและแม่ยายที่โรงแรมแล้วออกกันมาอีกรอบไม่ได้หยุดพักกันเลย น่าประทับใจ นี่เป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจสมัครงานนี้ในปีหน้าเพื่อมาแก้ไขช่วง Finale ครั้งนี้

13754256_1409545835729164_1974906100854905638_n

ช่วงสุดท้ายของการวิ่งเข้าเส้นชัยมันยิ่งใหญ่ ทุกคนตะโกนบอกว่าอีกสองร้อยเมตรสุดท้าย ตั้งแต่กิโลเมตรสุดท้ายเวที อัฒจรรสูงตระหง่านรอให้นักกีฬาคนสุดท้ายวิ่งเข้าเส้นชัย และรอคอยดูพลุเฉลิมฉลอง อย่างที่เขาว่ากองเชียร์แทบจะอุ้มเข้าเส้นชัยกันเลย มันเป็นเช่นนั้นจริง ๆ เสียงเชียร์เสียงปรบมือดังสนั่น มือที่ยื่นออกมาท้ังสองข้างทางที่ต้องวิ่งเข้าไปประมือจำนวนมากมายในหนึ่งรอบสนามนั้น และแล้วผมก็เข้าเส้นชัยล่วงหน้าก่อนเวลาไปประมาณ 8 นาทีกว่า ๆ ธงไทยจากกองเชียร์ถูกยื่นมาให้ ผมยืนงง ๆ ดูดซับความรู้สึกสุดท้าย ถ่ายภาพคู่กับธงเป็นระยะเวลาหนึ่งก่อนที่จะเดินกลับไปที่พักนักกีฬาเพื่อพบกับเพื่อน ๆ ชาวไทยที่มาด้วยกัน เป็นการแข่งขันที่ยิ่งใหญ่ สนุกสนาน น่าจดจำมากที่สุดสนามหนึ่งในชีวิต ผมคิดว่าผม crack the code of iron distance triathlon แล้ว ความสมดุลย์ของการฝึกซ้อม แข่งขัน เตรียมตัว ชีวิต และครอบครัว ยืนยันได้อย่างมั่นใจอีกครั้งว่า ไอรอนแมน แม้จะไม่ง่าย แต่ใคร ๆ ก็ทำได้ แม้ไม่เข้าตารางซ้อม เพียงแต่ต้องมี minimum requirements ที่เหมาะสมเพียงเท่านั้น สุดท้ายทั้งหมดนี่เป็นส่วนหนึ่งของความประทับใจในรายการ เพื่อเป็นการยืนยันว่า ปีหน้าพบกันใหม่ครับ Challenge Roth : We are triathlon

 

 

 

 

ปรุงชีวิต :ปัจฉิมกถา

หากจะเปรียบเทียบชีวิตของอ.อาร์ม เป็นเมนูอาหาร ชีวิตอาจารย์น่าจะเป็นอาหารจานเดียว ที่มีครบรสชาติ สีสัน และสารอาหาร อาจจะเป็นสลัดเนื้อย่าง ข้าวยำไข่ต้ม หรือนาซิดาแก ชีวิตของอาจารย์ไม่แยกจานหรือสำรับ ไม่มีถ้วยน้ำแกง น้ำซุป หรือซอสมะเขือเทศ ที่แยกภาชนะโดดเดี่ยว แต่ทุกภาคส่วนในชีวิตถูก “ปรุง” ให้กลายเป็นจานเฉพาะของตัวเอง และเชื่อมโยงกับปัจจัยอื่น ๆ ของชีวิตอีกด้วย

การทำงานประจำด้วยการเป็นอาจารย์และนักวิจัยคิดค้นด้านนวัตกรรมยางพารา เป็นส่วนเสริมของกันและกันกับงานธุรกิจของครอบครัวที่คิดค้นและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่นอนจากยางพารารายแรกในประเทศไทย นอกจากนี้ อาจารย์เป็นนักกีฬาประเภทไตรกีฬาที่ได้เชื่อมโยงชีวิตครอบครัวที่มีภรรยาและลูก ๆ อีกสามชีวิต เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการซ้อมและการแข่งขัน จนกีฬาเหล่านี้ทั้งวิ่ง ปั่นจักรยาน และว่ายน้ำกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมครอบครัวได้อย่างกลมกลืน

กิจกรรมล่าสุดที่อาจารย์ได้เป็นทั้งผู้ริเริ่มผลักดันและลงมือทำกิจกรรมนั้นอย่างจริงจังสม่ำเสมอในตอนนี้คือ กิจกรรม Pattani Trash Hero ซึ่งเป็นกิจกรรมเพื่อบ้านเกิดจากสองมือเปล่าของกลุ่มคนที่จะช่วยกันเก็บกวาดขยะในบ้านของเราให้หมดไป โดยเน้นพื้นที่ไปที่ชายหาดในอำเภอยะหริ่ง กิจกรรมริเริ่มมาจาก Trash Hero ของชาวต่างประเทศในพื้นที่ฝั่งอันดามัน กิจกรรมนี้ก็เชื่อมโยงไปสู่การนำเอาขยะจากทะเลจำนวนหนึ่งกลับมาผ่านกระบวนการผลิตเป็นรองเท้าที่ชื่อว่า “ทะเลจร” ที่ได้สร้างแรงสะเทือนการรับรู้ไปในวงกว้างมากขึ้นเรื่อย ๆ ในหมู่นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทั้งภายในและต่างประเทศ

ในทุก ๆ สถานะและทุก ๆ กิจกรรมที่ทำ อาจารย์อาร์มได้ย้ำเสมอถึงจุดสำคัญของการลงมือทำอย่างสม่ำเสมอ จะเล็กจะใหญ่ จะมากจะน้อย ไม่ใช่เป็นสิ่งที่สำคัญไปกว่า “ความสม่ำเสมอ”

ข้างต้น เป็นคำกล่าวแนะนำองค์ปาฐกที่คณบดีคณะวิทยาการสื่อสารได้กรุณาเรียบเรียง ในวันที่เชิญผมไปพูดคุยให้กับนักศึกษาที่กำลังจบการศึกษา แม้ว่าการพูดคุยไม่ใช่เรื่องที่ยุ่งยากนักสำหรับผม แต่การปาฐกไม่ใช่สิ่งที่ง่ายสำหรับผม และในวันนั้นผมไม่คิดว่าผมทำได้ดีนัก จากความทรงจำที่ยังพอมีอยู่ แต่เพื่อไม่ให้โอกาสที่มีการตั้งคำถาม ด้วย keywords หลาย ๆ คำที่ได้ถูกโยนออกมา และผมได้โยนออกไป ผมจึงถือโอกาสเขียนความคิดความเห็นไล่เรียงไว้อีกครั้ง เพื่อเตือนความทรงจำว่าครั้งหนึ่งผมต้องการเล่าอะไรประมาณนี้ออกไป แม้ว่าอาจจะไม่ได้สื่อสารได้ตรงอย่างที่ใจคิด

13245287_241692246197831_5594295152584959871_n

จากวันที่เริ่มคุยกันถึงความเป็นไปได้ในการเป็นองค์ปาฐก ในเบื้องต้นเราคุยกันถึงแง่มุมของความแตกต่างในการเลือกใช้ชีวิต เรามองถึงความขวางโลกอย่างสร้างสรรค์ ทำให้ผมมองไปถึงประเด็นของ group psychology ประเด็นของ stereotype และ personal judgement เป็นส่วนใหญ่ในการที่จะคิดว่าจริง ๆ แล้วทางคณะมองเห็นผมในประเด็นใด แต่สุดท้ายเมื่อชื่อของการปัจฉิมกถา ออกมาเป็นคำว่า “ปรุงชีวิต” ทุกสิ่งทุกอย่างที่คิดเตรียมไว้ ก็ต้องเปลี่ยนไป ซึ่งในคำ ๆ นี้ ผมสามารถคิดได้อย่างเดียวคือคำว่า “สมดุลย์” และในความสมดุลย์นั้น ผมอยากที่จะสื่อให้ทุกคนมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องง่าย ๆ ที่หลาย ๆ คนแม้แต่องค์ปาฐกในหลาย ๆ งานนั้นพยายามทำให้มันดูเป็นเรื่องยาก เป็นความสำเร็จที่มีน้อยคนเท่านั้นที่จะทำได้ แต่ผมอยากจะบอกว่าเราเพียงใช้ชีวิตที่สมดุลย์ และความสมดุลย์นั้นเป็นสิ่งง่าย ๆ ที่มาตามธรรมชาติถ้าเราไม่ได้ไปฝืนอะไรมัน แล้วใคร ๆ ก็ตามก็สามารถทำได้ง่าย ๆ ตามคำพูดของโจน จันได ปราชชาวบ้านที่ผมเรียกเป็นครู ในฐานะที่ผมได้มีโอกาสไปเรียนรู้วิธีการทำบ้านดิน แต่ได้ปรัชญาชีวิตง่าย ๆ นี้กลับมา

ในวันที่เริ่มมีการประชาสัมพันธ์ ผมก็มาสะดุดกับหัวข้อของกิจกรรมที่เรียกว่า วิชาสุดท้ายที่มหาลัยไม่ได้สอน ซึ่งทางคณะได้ขออนุญาตินำเอาชื่อหนังสือแปลปาฐกชื่อดังของหลายมหาวิทยาลัยมารวมเล่มไว้ด้วยกัน ในใจผมเมื่อได้เห็นชื่อกิจกรรมก็อดที่จะถามตัวเองติดตลกไม่ได้ว่า มีวิชาอะไรอีกหรือที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน ในเมื่อวันแรก ๆ ที่ผมกลับมาทำหน้าที่อาจารย์ในมหาลัยก็พบรายวิชาที่สอนการ save file เปิดปิดคอมพิวเตอร์ การใช้ Word Excel การใช้ชีวิตอย่างชาวมุสลิมให้กับนักศึกษา 90% ที่เป็นมุสลิม มันยังเหลือวิชาอะไรอีกหรือ ผมโยนคำถามนี้ลงไปใน Facebook เพื่อขอความเห็น และมีคำตอบหนึ่งที่น่าสนใจ ชนกับความคิดของผมพอดีนั่นคือ “Life is not that fucking complicated and people are full of shit. That’s what they are not telling you in the university.” ผมตีความหมายเข้าข้างตัวเองว่า นั่นหมายถึงชีวิตเป็นเรื่องง่าย แต่คนส่วนใหญ่พยายามบอกหรือทำว่ามันยากนั่นเอง ผมพยายามเอาสองสามคำนั้นมายำ ๆ กันแล้วคิดคร่าว ๆ ว่าควรจะเล่าอะไรให้ฟังบ้าง

12741983_1287010017982747_5970979906565796934_n

เมื่อถึงวันจริง เมื่อได้ยินคำกล่าวแนะนำ จึงได้ตระหนักว่าจริง ๆ แล้ว สิ่งที่ผมต้องการจะบอกเล่านั้น ได้ถูกกลั่นกลองออกมาแล้ว สิ่งที่ผมควรจะเสริมจึงควรจะเป็นเรื่องราวที่เป็นส่วนตัวมากสักหน่อย แล้วน่าจะเป็นความเห็น รวมไปถึงเนื้อหาประมาณ How To แต่ในเสี้ยววินาทีที่พยายามเรียบเรียงทุก ๆ อย่างนั้น ผมก็หลุดไปกับอารมณ์เล่าให้ฟัง ตามนิสัยที่คุ้นเคย ผมชอบเล่า ชอบถูกถาม เพื่อจะได้เล่า มากกว่าที่จะให้แต่งเรื่องมาเล่าให้ฟัง ซึ่งอาจจะต่างจากการเขียนที่ผมชอบแต่งเรื่องมาเล่าให้ฟังในรูปแบบของการเขียน แต่เมื่อมีผู้ฟัง ผมอยากมากกว่าที่จะ be spontanious และตอบสนองกับผู้ฟังที่อยู่ตรงหน้า ทำให้การพูดคุยของผมแทบทุกครั้ง จับเอาสาระอะไรออกมาไม่ค่อยได้

คลิปของการพูดคุยในวันนั้น

ตั้งแต่วัยเด็ก ในใจลึก ๆ ของผมบอกตัวเองเสมอว่าผมนั้นมีความสนใจที่จะเรียนรู้หลายสิ่ง ในความหมายของคำว่าเรียนรู้ ผมหมายถึงการขุดเข้าไปลึกถึงจุดหนึ่ง ในคำว่าหลากหลายสิ่งอย่างนั้นผมแทบจะไม่กำหนดข้อแม้ใด ๆ ไว้เลย ด้วยลักษณะนิสัยเช่นนี้ทำให้ผมพยายามสร้างชีวิตตัวเองให้หลากหลายโดยเมื่อมองจากระยะไกลนั้นจะถูกมองว่าเกิดความสมดุลย์ ในวัยเรียน การเรียน กีฬา สังคม และดนตรี เป็นความสมดุลย์ เป็นสิ่งที่ผมแบ่งเวลาให้อย่างสมดุลย์ ผมมีผลการเรียนระดับแนวหน้าของประเทศในวัยเด็กที่ยังไม่เล่นดนตรี เมื่อโตขึ้นแบ่งเวลาให้สังคม การเรียนก็ตกมาในระดับเพียงที่สามารถชิงทุนได้ เมื่อรับทุนเรียนในมหาวิทยาลัยที่มีอันดับในสาขาสูงสุด Top 5 ของโลกได้ การเพิ่มเรื่องของดนตรีเข้าไป เพิ่มความเข้มข้นของกีฬา และการแสวงหาตัวตนด้านอื่น ๆ การเรียนก็ต้องตกลงมาในระดับที่เพียงสามารถผ่านจบการศึกษาได้เพียงเท่านั้น นั่นคือความสมดุลย์ในความจำกัดของทรัพยากรที่เรียกว่าเวลา แต่ในความสมดุลย์นั้นทำให้ผมเป็นหนึ่งในวิศวกรเครื่องกล ที่เรียนทุกรายวิชาของวิศวกรรมอุตสาหการ จบ Ph.D. ด้านวิศวกรรมพอลิเมอร์ ด้าน processing and rheology ที่มีเพียงไม่กี่คนในโลก เป็นนักไตรกีฬาระดับ Top 5 ในสนามแถบ ๆ Ohio ที่มีเพื่อนหลากหลายทั้งไทย ฝรั่ง เอเชีย ประสบการณ์เรียนกีตาร์คลาสสิคที่ Cleveland Institue of Music อีกสองปีกว่า ๆ ไปจนสามารถทำกีตาร์คลาสสิคด้วยตัวเอง รวมไปถึงการฟังดนตรีคลาสสิคและแจ๊สอย่างถึงกึ๋น แน่นอนว่าผมสามารถคุยเรื่องราวเหล่านี้กับคนทั่วไปได้ลึกกว่า 80-90% ของคนปกติ แต่ไม่ได้เชี่ยวชาญเหมือนมืออาชีพในด้านนั้น ๆ

ในวัยประถมในวันที่เพื่อน ๆ ชวนกันไปเรียนว่ายน้ำผมก็ร่วมด้วย แต่ไปให้ถึงจุดที่แข่งขันข้ามจังหวัด ชัยชนะแรก ๆ ของผมเริ่มต้นที่ ป.1 ชีวิตเริ่มเข้าใจคำว่าฝึกซ้อม ม.ต้น ผมก็เลือกที่จะเล่นกรีฑาเสริมจากว่ายน้ำ ทั้งประเภทลู่และลาน เก็บเหรียญ ประสบการณ์ ฝึกซ้อมเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต สมดุลย์ระหว่างเรียน เล่น ซ้อม สุขภาพ วินัย สังคมในมุมต่าง ๆ ก่อตัวอย่างช้า ๆ เมื่อโอกาสเปิดผมทุ่มเทให้กับการเป็นนักดนตรีในช่วงสุดท้ายของมัธยมต้น ซ้อมหนักขึ้นอีกหลายระดับ เข้าแข่งขันในระดับประเทศ เป็นประสบการณ์และการฝึกตนที่สำคัญ ในขณะที่ด้านการเรียนยังคงไปได้ดี ไม่ใช่ที่หนึ่งของโรงเรียน แต่เป็นที่พึ่งของเพื่อน ๆ ห้องบ๊วย และเป็นตัวแทนของโรงเรียนบ้างตามแต่โอกาสจะอำนวย ในมัธยมปลายที่ย้ายโรงเรียนมาเป็นโรงเรียนเด็กเรียนที่กีฬาเป็นเรื่องรอง ผมก็เลือกที่จะซ้อมว่ายน้ำอยู่คนเดียวแทนที่จะไปเรียนพิเศษเหมือนคนอื่น แล้วใช้เวลากลางคืนอ่านหนังสือ น่าจะเป็นช่วงที่เป็นจุดสูงสุดของการเรียนเพราะเป็นช่วงที่สอบได้ระดับต้น ๆ ของประเทศ ผมใช้เวลาเหลือทั้งหมดของผมในการเล่นกีฬา ไม่ว่าจะเป็นว่ายน้ำหรือเทนนิส การเตรียมสอบทำเท่าที่จำเป็น เพื่อที่จะสอบได้คะแนนสูงกว่าคนสุดท้ายของคณะไปเพียง 10 คะแนน แต่ก็เป็นคณะที่คะแนนสูงที่สุดในยุคนั้น นี่คือความสมดุลย์ ระดับมหาวิทยาลัยทักษะว่ายน้ำของผมไม่สามารถแข่งขันกับเด็กเมืองได้ ผมต้องเปลี่ยนมาเล่นโปโลน้ำ ซึ่งก็อยู่ในระดับประเทศ แม้ว่าจะไม่เคยชนะแชมป์ประเทศไทย หรือ อุดมศึกษา แต่ส่วนใหญ่ทีมของผมก็ได้เหรียญเงิน โลกของมหาวิทยาลัยกว้างขึ้น ความสมดุลย์ถูกแบ่งสรรปันส่วนมากขึ้น งานคณะที่ผมเลือกเป็นทีม entertain ในกิจกรรมรับน้อง การเป็นนักกีฬาของคณะ ของมหาวิทยาลัย ผมเริ่มทำงานแปลก ๆ เช่น รณรงค์การปั่นจักรยาน เริ่มจากตัวคนเดียว ไปช่วยชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย เริ่มแข่งขันกีฬาแบบใหม่ วิ่งมาราธอน ต่อด้วยทวิกีฬา การเรียนจึงต้องลดเหลือเพียงเท่าที่จำเป็น จาก Top 10% ของคณะไปจนเหลือเพียง 2.76 ในวันจบการศึกษาเพียงเพื่อสิทธิ์ในการสอบชิงทุน ผมยังคงนำทักษะทางกีฬาไปใช้ในการเรียนต่อที่ต่างประเทศ ทั้งเตรียมทีมโปโลน้ำแข่งขันกับมหาวิทยาลัยอื่น การเป็นนักไตรกีฬาในอเมริกา ตะเวณแข่งไปทั่ว ขณะที่เรียน ป.โท ป.เอก ตีพิมพ์เพียงเท่าที่จำเป็น แม้ว่าทางหลักสูตรจะไม่บังคับแต่ที่ปรึกษามักจะขอให้มี ป.โทหนึ่ง ป.เอกสอง ผมต่อรองจนเหลือแค่ ป.เอกสอง เพราะในช่วงปลาย ๆ ของการศึกษาผมเริ่มใช้เวลากับการเรียนดนตรี ทำกีตาร์ เริ่มอาชีพการสร้าง template ของ website และการขายของออนไลน์ ซึ่งจะเห็นว่าในช่วงชีวิตตั้งแต่เด็กจนจบการศึกษานั้น ผมไม่เคยทุ่มเทให้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงอย่างเดียวเลย และเปิดโอกาสให้ตัวเองได้เรียนรู้ ทักษะใหม่ ๆ ประสบการณ์ใหม่ ๆ โดยยอมสูญเสียความเป็นหนึ่งในด้านอื่น ๆ ไปตามที่จำเป็น ในมุมมองผม ผมเรียกมันว่าสมดุลย์ แต่คนอื่น อาจจะมองว่าไม่ทุ่มเท ก็เป็นได้ แต่ผมคิดจริง ๆ ว่า ผมไม่รู้ว่าคำตอบของชีวิตคืออะไร เส้นทางใด ๆ นั้นล้วนแล้วแต่ใครจะตัดสิน จึงไม่ต้องสนใจใคร

10399943_1318573188159763_5051189311191381631_n

ผมใช้หลักการเดียวกันนี้เมื่อกลับมาทำหน้าที่ที่ประเทศไทย ทั้งหน้าที่ของลูกที่มารับหน้าที่ต่อจากพ่อแม่ในกิจการของครอบครัวและหน้าที่ชดใช้ทุนของกระทรวงวิทย์ในฐานะอาจารย์ ความสมดุลย์จึงต้องถูกสร้างระหว่างหน้าที่ในกิจการเอกชน และราชการ แน่นอนว่าเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงที่สุดผมต้องพยายามหาจุดร่วมกันให้มากที่สุด ในความเป็นอาจารย์นั้นมีภาระงานที่ถูกจัดออกเป็นงานสอน งานวิจัย บริการวิชาการ และทำนุบำรงวัฒนธรรม ซึ่งในสองหัวข้อหลังมีความคลุมเคลือจนผมคิดว่ามีไม่กี่คนเข้าใจว่าจริง ๆ มันคืออะไร ในขณะเดียวกันก็ถูกจัดให้แบ่งงานไปให้ไม่มากนักรวมกันไม่เกิน 20% ผมจึงแบ่งชีวิตด้านการงานของผมออกเป็นงานสอน งานวิจัย และงานโรงงาน ส่วนชีวิตส่วนตัวก็เป็นเรื่องของสังคม ดนตรีและกีฬา ในช่วงแรก ผมสร้างสังคมจากเรื่องราวของดนตรี ทั้งเรื่องดนตรีคลาสสิค แจ๊ส คอนเสริต จนกระทั่งมีเรื่องราวของครอบครัวเข้ามา ก็เริ่มแบ่งเวลาจากดนตรีมาให้ครอบครัว เริ่มผสมกีฬาและครอบครัวเข้าด้วยกัน จนสุดท้ายเมื่อต้องมีการ homeschool ลูก ๆ ก็เริ่มเอางานกับครอบครัวมาปนกัน ตอนนี้ใกล้ถึงจุดที่ลูก ๆ เริ่มเข้าใจดนตรีมากขึ้น ก็กำลังพยายามเอาดนตรีกลับเข้ามา ชีวิตในช่วงนี้จึงเป็นเหมือนกับอาหารจานเดียวที่มีครบทุกสิ่ง ในทุกมิติอย่างที่คณบดีได้กล่าวไว้ในช่วงต้น แต่มันไม่ได้เป็นเช่นนั้นในวันแรก และไม่ได้เป็นอาหารจานนั้น ๆ ในทุก ๆ ช่วงของชีวิต แม้จะเป็นอาหารที่ค่อนไปทางอาหารจานเดียวมากกว่าอย่างอื่น

อย่างไรก็ตามชีวิตครอบครัวไม่สามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่นถ้าการตัดสินใจเลือกคู่ชีวิตผิดพลาด แม้จะดูว่าไม่มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับเนื้อหานี้เลย แต่เป็นเหตุผลที่ยิ่งใหญ่ ผมค่อนข้างเป็นคนที่ให้ความสำคัญในเรื่องของคู่ชีวิตค่อนข้างมาก แม้ว่าภายนอกผมจะถูกมองว่าเป็นคนเจ้าชู้ แต่มันก็แฟร์ที่จะมองเช่นนั้นจากคำจำกัดความ เนื่องจากเรื่องคู่ชีวิตเป็นสิ่งที่สำคัญผมจึงเปิดโอกาสให้ตัวเองอย่างมากในการศึกษาคนที่จะมาเป็นคู่ชีวิตของผม และผมเชื่อในหลักสถิติ จำนวนมาก ๆ ย่อมได้เปรียบ แม้กระนั้นก็มีหลายคนที่ผมคบหาดูใจเป็นเวลาหลาย ๆ ปี แต่สำหรับผู้โชคร้ายที่ถูกเลือกนั้น ผมใช้เวลาในการทำความรู้จักเพียงแค่ไม่เกินหนึ่งหรือสองเดือน และรวบรัดแต่งงานภายในระยะเวลาเพียงสามเดือนเท่านั้น มี value หลัก ๆ เพียงไม่กี่ข้อ แต่หักงอไม่ได้เลยสำหรับผม นั่นคือ ผมต้องการชีวิตครอบครัวที่คำว่าครอบครัวต้องมาก่อน สมดุลย์ของผมเริ่มจากครอบครัว เวลา ความสุข ผมจึงต้องการที่จะมีลูกค่อนข้างเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ (แม้จะไม่ได้เร็วดั่งหวัง) ผมต้องการให้ภรรยาเป็นแม่บ้านเพราะงานดูแลลูก เราจะไม่ให้ใครอื่นมาแย่งไป นั่นหมายถึงเราจะต้องสูญเสียรายได้ครึ่งหนึ่งที่ภรรยาจะสามารถจัดหาได้ ผมบอกอย่างชัดเจนเรื่องความประหยัดในรูปแบบของผม กฏกติกามารยาท เพื่อที่จะเข้าใจกันตั้งแต่วันแรก หลังจากนั้น ผมวัดจากปฏิกิริยา ผมจึงเลือกคนที่มาเป็นคู่ชีวิต ทุกสิ่งทุกอย่างภายหลังการแต่งงานนั้น เป็นไปได้เพียงเพราะอีกครึ่งหนึ่งของชีวิตของผมเห็นด้วย แม้ว่าผมจะมีความคิดย้อนแยงกับสังคม ในเรื่องใด ๆ สมดุลย์ในรูปแบบของผมที่ต้องทิ้งรายได้ที่น่าจะได้ การใช้ชีวิตประหยัดกับหลาย ๆ สิ่งที่สังคมไม่ต้องการประหยัด เช่น รถ บ้าน เสื้อผ้า แม้แต่ first impression ทุกสิ่งล้วนต้องขอวีซ่ามาแล้วทั้งนั้น แน่นอนว่ากิจกรรมกีฬาท้าความตายอย่างการปั่นจักรยานเดี่ยวข้ามวันข้ามคืนจากกรุงเทพเพื่อลงมาหาดใหญ่ ก็ต้องมีวีซ่ามาแล้ว สิ่งเหล่านี้เหมือนเป็นความบังเอิญแต่เป็นการจัดตั้งที่มีการเตรียมงานมาอย่างแยบยล ผมเชื่อว่าภายหลังแต่งงาน ผลงานทุกอย่าง สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดเป็นสิ่งที่เกิดจากผมและคู่ชีวิต ไม่ใช่ตัวคนเดียวอย่างที่หลาย ๆ คนพยายามมอง และนี่เป็นอีกหนึ่งความสมดุลย์ภายในครอบครัวที่เราสร้างไว้

สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั้งหมด ถ้าจะว่าไปแล้วไม่ได้มีอะไรยิ่งใหญ่เกินธรรมดา การทำให้เกิดขึ้นได้นั้นไม่ใช่เรื่องราวที่ใช้ความทุ่มเทหรือความสามารถพิเศษใด ๆ ทั้งสิ้น เพียงแต่การยอมรับในข้อจำกัดของเวลาที่มีเพียง 24 ชั่วโมง ความสำนึกในหน้าที่ทั้งต่อครอบครัว ต่อพ่อแม่ ต่อประเทศชาติ และต่อตนเอง ทางออกเช่นอื่นนั้นจึงไม่มี  นอกจากจะต้องทำทุก ๆ อย่าง ไม่เลือกที่จะทิ้งภารกิจครอบครัวให้เป็นของภรรยา หรือทิ้งเรื่องของสุขภาพเพื่อสิ่งอื่น ๆ การมองอนาคต และการจัดความสำคัญจึงมีส่วนเข้ามาเกี่ยวข้อง ในช่วงแรกงานวิจัยก็เลือกทำงานวิจัยเกี่ยวกับฟองน้ำเพื่อที่จะใช้ในโรงงานได้ด้วย แต่ท้ายที่สุดมีการตำหนิว่าเป็น conflict of interest จากผู้ประเมินงานวิจัยท่านหนึ่ง แม้ว่าจะแค่เปรย ๆ ท้ายที่สุดจึงเปลี่ยนเป็นงานวิจัยด้านอื่นแทน แต่แล้วงานวิจัยชุดหลัง ๆ ก็กำลังจะกลายเป็นโรงงาน เพราะหลักสูตรถูกออกแบบมาให้ผลิตคนให้อุตสาหกรรม และสร้างงานให้อุตสาหกรรม มันเป็นไปไม่ได้เลยที่งานวิจัยที่เสร็จสิ้นจะไม่กลายมาเป็นธุรกิจใหม่ ๆ ส่วนรางวัลต่าง ๆ หรือ สิทธิบัตรที่ถูกมองว่าเป็นผลงานต่าง ๆ โดยบุคคลอื่นนั้นก็เป็นไปตามเส้นทางของงานวิจัยที่จะต้องเกิดอย่างเลี่ยงไม่ได้ แม้ว่าจะไม่ใช่แผนการ ไม่ใช่เป้าหมายเลยก็ตาม ในขณะที่งานด้านกีฬาก็ขยายจากนักกีฬา ที่หลากหลายขึ้นตามบริบทที่เปลี่ยนไปของชีวิตและครอบครัว จากผู้เล่น ค่อย ๆ กลายเป็นผู้จัด จากการแข่งกีฬาเริ่มแบ่งปันความรู้ในฐานะผู้รู้ รุ่นพี่ โคช ตามแต่บริบทและโอกาส ในที่สุดก็ได้มีโอกาสเริ่มงานที่เป็นงานทางสังคมมากขึ้นแม้ว่าในความเป็นจริงแล้วไม่ได้ชอบเข้าสังคมวงกว้างมากนัก งานวิจัยที่เริ่มส่งประโยชน์กับสังคม งานกีฬาที่ตอบโจทย์ด้านสังคม ทั้งหมดทั้งสิ้นก็เปิดโอกาสให้กับครอบครัวได้มีส่วนร่วมในทุก ๆ เรื่องทุก ๆ งาน ให้โอกาสลูก ๆ ได้เรียนรู้ ได้สัมผัสเมื่อพร้อม

10906391_1013371925346559_3845583309141289464_n

ผมได้มีโอกาสแชร์เรื่องราวชีวิต งาน ครอบครัว และสิ่งต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นมาผ่าน Facebook  ไปบ้างแล้ว หลาย ๆ คนที่อ่าน blog ของผม ก็น่าจะเป็นเพื่อนกันใน Facebook กันหมดแล้ว หลากสิ่ง สมดุลย์ ทำให้ง่าย แค่ได้ทำ เป็น keywords ที่ผมเลือกใช้ตลอดชีวิต conflict ต่าง ๆ ที่ถูกมองจากภายนอกจริง ๆ เป็นสัดส่วนที่ทำให้เกิดความสมดุลย์ ความเจ็บป่วยที่ถูกตอบด้วย extreme sport, introvert ที่สร้างสรรค์งานเพื่อสังคมที่หลากหลาย, บุคลากรทางการศึกษาที่ตอบคำถามความล้มเหลวของระบบด้วยการ homeschool ลูก ๆ ทั้งหมดทั้งสิ้นเป็นกระบวนการ just do it แบบไม่คิดมากเพื่อให้เกิดความสมดุลย์ทั้งสิ้น สมดุลย์นี้ถูกมองจากทุก ๆ มิติ เท่าที่ความลุ่มลึกในชีวิต อายุ ของผมจะสามารถทำความเข้าใจได้ เฉกเช่น อาหารจานเดียวที่สมดุลย์ทั้งรสชาติเปรี้วหวานมันเค็ม สมดุลย์ด้วยคุณค่าทางอาการ แป้ง โปรตีน ไขมัน วิตามิน ไปจนถึงกลิ่น เนื้อสัมผัส เสมือนการหาคำตอบของชีวิต หรือตั้งคำถามกับชีวิต โดยที่ยังไม่มีคำตอบว่าชีวิตคืองาน เงิน สุขภาพ ครอบครัว สังคม ในเมื่อยังไม่ได้คำตอบ สมดุลย์ในทุกสิ่งจึงเป็นคำตอบที่เสี่ยงน้อยที่สุด ผมเชื่อเสมอว่าผมต้องเรียนให้หนัก หรือทำงานให้หนัก หรือหาเงินให้เพียงพอเผื่อว่าผมจะต้องอยู่ในโลกนี้อีกนาน ในขณะเดียวกันผมต้องเล่นให้หนัก เดินทางให้มาก ค้นหาให้เพียงพอ มีความสุขให้เต็มที่ เผื่อว่าเวลาของผมในโลกจะหมดลง ชีวิตของผมจากเกิดจนตายจึงสมดุลย์ ถ้าเรียกเป็นอาหาร นั่นคือ “กลมกล่อม”

ในโลกที่ให้รางวัลและชื่นชูความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน การเรียนมุ่งเป้าลงไปหาสิ่งที่แคบลงไปเรื่อย ๆ เรียกว่าความเชี่ยวชาญ ในตำแหน่งงานหรือวิชาการก็มอบรางวัลให้กับความเชี่ยวชาญเฉพาะทางจนแทบจะลืมกันว่าเรานั้นเชี่ยวชาญกันไปเพื่ออะไรและเรื่องอะไร กระบวนการคิดของผมนั้นค่อนข้างเป็น contrarian หลายครั้งที่ผมถูกชื่นชมว่ามีความคิดสร้างสรรค์ คิดนอกกรอบ จริง ๆ แล้วผมแค่มองไปในฝั่งตรงกันข้าม ทำที่คนอื่นเขาไม่อยากทำ ไม่คิด หรือไม่ทำ ซึ่งไม่ต้องอาศัยความสร้างสรรค์ใด ๆ ความเชื่อในกาลามสูตรของผมมีมากกว่ากฏระเบียบที่องค์กร หรือแม้กระทั่งสังคมตั้งไว้ ความง่ายของ motto “Just Do It” ถูกนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ที่ผลักดันให้ผมนั้นมีประสบการณ์หลากหลาย มากมาย และดูเหมือนลึกซึ้งเพียงเพราะ ไม่เชื่อ และ ทดลองทำ แต่เมื่อมองเข้ามาในระยะใกล้นั้น ผมเป็นแค่เป็ด ในกีฬาที่เล่นผมแม้ว่าจะสามารถโคชได้และมีสถิติส่วนตัวที่น่าสนใจแต่ผมไม่เคยชนะรายการใดมาก่อน ในการเรียนแม้จะจบขั้นสูงที่สุดแต่ความเชี่ยวชาญนั้นไม่ได้เคยถูกใช้ประโยชน์อีกเลย งานวิจัยใหม่ ๆ ก็ทำเพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมยางของประเทศที่มีความหลากหลาย ไม่ได้เชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่ง ในชีวิตครอบครัวก็ไม่ได้โดดเด่นใด ๆ เพียงแค่เลือกใช้ชีวิตร่วมกันไปด้วยกันทั้งครอบครัว ปฏิเสธข้อกำหนดของสังคมที่บอกว่าลูก ๆ ต้องไปโรงเรียน พ่อแม่ต้องหาเงิน เราเพียงแบ่งงานกันทำ พ่อทำงาน แม่สร้างครอบครัว เมื่อความพร้อมถึงระดับหนึ่ง ครอบครัวก็ไปทำงานด้วยกันได้ เดินทางด้วยกันได้ เล่นกีฬาด้วยกันได้ เรียนรู้ไปด้วยกันได้ นี่ไม่ใช่ความเชี่ยวชาญพิเศษ มันคือความเป็นเป็ดที่หลาย ๆ คนเลือกที่จะไม่เป็น

ผมเชื่อว่าทุก ๆ คนสามารถเลือกใช้ชีวิตของตนเองให้มีความสมดุลย์ได้ เพราะมันง่าย เพียงแค่ทำ ด้วย keyword ว่าทำนั้น มันไม่ได้หมายถึงความยิ่งใหญ่ ก้าวที่ลงทุนสูง เพียงแค่เจตนารมว่าทำ และทำมันอย่างสม่ำเสมอ วันละเล็กละน้อย เราไม่ได้ต้องการความเชี่ยวชาญอย่างที่เราถูกสอนให้เชื่อ เพราะเพียงความรู้เบื้องต้นเล็กน้อย บวกการปฏิบัติก็จะพาเราไปยืนในแถวหน้าของทักษะนั้น ๆ เมื่อพ่วงอีกสักหนึ่งหรือสองทักษะเราก็มีความโดดเด่นในความสามารถเฉพาะ เมื่อหาจุดร่วมกันของทักษะเหล่านั้นได้ ก็จะเกิด synergy และเมื่อนั้นเราก็สร้างประโยชน์ได้มากขึ้น การดำเนินชีวิตไม่มีสิ่งใดยุ่งยาก คนบางคนมองหาแรงบันดาลใจจากคนรอบ ๆ ข้าง แต่ความเป็นจริงนั้นการทำ ๆ ไปง่าย ๆ ทุก ๆ วันนั้น ก็สร้างแรงบันดาลใจให้คนรอบ ๆ ข้างได้โดยไม่ต้องไปมองหาแรงบันดาลใจจากไหน

 

 

#Festive (BRM400) plus 100

This story is about “LOVE”. It started 3 years ago in an inaugural  #Festive500 in 2013. My first time was a torture. My second #Festive500 was devastating case of natural disaster with massive flood half wheel depth on a highway surrounding me. I managed to finish them somehow.  In 2015, I have something in my sleeve. Here is how it happened.

2015 Audax event was introduced in Thailand. Long ride has become my old friend. A lot of people join an Audax event only few know or even care about #Festive500. This year is different. Audax 2016 which started around the end of 2015 offer 400km distance on 26th December. I could not pass this opportunity to trick my friend into riding #Festive500. Our little tribe called V40 (Very Forty) registered 8 people into the event. 4 veterans including me and 4 newbies. Even though it is a risky business to announce that we would all ride together and wait for the slowest one. Accumulation of late arrival could turn into a sleepless night ride or even miss a control point cut off time. With two BRM400 medals each under the belt for veteran, everyone agree to this plan.

10298698_906319262793216_5649482439499409875_n

The ride started at 7am in the heart of Bangkok. We have to push through the morning traffic out to outskirt of Bangkok and then crisscrossing along several sort of outer loop of each passing provinces heading to Ang Thong province for lunch at approximately 100km. Everyone is still in a good mood. Sun was not so strong this time of the year. With noodles from an organizer and BBQ chicken bought along the way, we had nice meal getting ready to meet the highlight of today route. BRM400 Chaopraya was organised for 3rd time along similar route, a little bit modification at the beginning but the next 100km section remain to be the name of the game.

998490_10207201648513487_4779893769253216590_n

We left Ang thong going toward Ayuthaya province around 1pm. Everyone is ready for Noi river route, 80km along an abandon road next to the strategic Noi river. During Ayuthaya period, Noi river was used for suppling weaponry and earthenware made in upper area down to the capital city, Ayuthaya. Transportation along Noi river has become thing in the past. Resident settle along the river next to the small road restrict the expansion of the road along the river. New two lanes streets were replacing the old one on both sides of the river. We are now back travelling to the day when Ayuthaya was flourished. The road section were comprised of concrete, asphalt, dirt, ditch depend on density of people relying on it. Since there is an alternative many of the sections were terrible. The organiser has to put a secret check point along the river to prevent someone to find easier road next to it.

11046783_10204033974884664_1402002208460391937_n

Our tribe members who rode today BRM have very strong spirit so far. Two newbies who are about 10 years younger than the others prefer to ride out together by riding faster and rest longer. We took turn leading and take over along that 100 km stretch. It was felt very lively when kids ran along to sheer us up or waiting to give high five and there are quite a lot. The first time last year when Audax choose this road, it was very quiet. People looked in awe asking where were we heading or we were we coming from. No sign of shops or activities except a limiting pass through. But one year later, we can see a lot of changes. There are plenty shops along the river and many choose to stop fill up their bidons. People seem to get use to bicycle riding along the section. We stopped at one shop around 30 km into the section to have some cold beverages and sweets. These condition were tough not only for us but for the bike. I snap my spoke once on this road. This time we have 3 mini-velo in our group including mine. Bumps were getting much larger with small wheels.

10262199_906447166113759_7717685293258266701_n

We have to ride about 35km to a little village where my family were waiting to have dinner together today. My mother-in-law live on Noi river bank at the section where Singburi province meet Chainart. In a small vanishing village called Chanasoot. Next to the village is an archeological site, an old furnace used to produce earthenware as well as foundry for weaponry. We can imagine the market was bustling with people as the goods transportation started here. Now the market is very quiet. It has to move itself across the street to be out in an open to survive. Most new generations left or building there new place further down the road. We can predict its near future very accurately that soon it would vanish. When I first came to visit my future wife and mother-in-law, it was amazing to see the life in the village. It was like finding old wild west hiding 15km from major Asian highway. Within no more than 1 square kilometre this village have everything. Markets, grocery stores, two clinics, a hospital, a bank, barber shop, salon, Wats, all necessity to operate as a community. I can imagine how people were settling back in the old day. Main business would have been earthenware and metal works. Same as every community in Thailand we gather around Wat and it is still clearly see an influence of monks on community.

1186316_10207981215785996_3796134309719623330_n

After the dinner, we had to push through the turn around at Chinart. From  now on there will be no resident along Noi river which confirm the contribution of little village we just left to the capital, Ayuthaya. We rode until the end of the river where it meets Chaopraya river. We didn’t have much time to spare we have to leave within half an hour at 8pm heading back along now different river Chaopraya where it would lead us finally to Bangkok but tonight we had to make it at Ang thong as fast as we can. Every minute wasted from now was a minute deducted from our sleep for that night and it was 100km away. In my experience of the ride this is one of the toughest part of the ride. You have used all of the dinner you have had. You have been riding for more than 12-16 hours into wee hours. You would be so tired and can easily be sleeping while riding which I have done several times that night. We need to stop at midway around 30km to Ang thong to take a little map right in the middle of the highway where the light was plentiful. We reached Ang thong around 2:15am and need to leave at 3am to make the next control point 40km away before 5:44am. I took a 10 minutes nap then got myself ready for more ride. Now we had been riding for 307km, next stop Ayuthaya.

For me that was the hardest section, I was so sleepy that I can’t keep my eyes open. Coffee didn’t work anymore and I could handle Redbull. We need to stop half way, many of us choose to eat but I tried to get some more sleep, 5 minutes was very valuable at that time. Luckily we reach Ayuthaya around 5am and have time to spare. I took a quick nap for another half hour. Every one in our team looked battered. We all need that half hour. Then our last 60km started at 5:40am. I felt much better. Strangely no one complain at all, 22 hours passing by. We all kept riding, enjoying the scenery, smelling the environment, soaking into friendship that harden through hardship we shared.

Sun slowly came up. We can see rice patty along Chaopraya river bank. It was so beautiful not only because it was toward the end of our ride but also it was the life of our country. We depend on rice so much that our greeting was not hi nor hello but “have you eaten rice?” Every one now seem very relax even tough tired. Veterans started to let newbies loose. They don’t have to keep the pace anymore. We started to spread out some starting to stop taking picture of life on rice patty some kept riding slowly as we planned on meeting at next town few kilometre ahead for breakfast. It of course one of the most delicious breakfast I ever had. We all made it through the night and it was about to end with 400+ km on our bike computer and then Strava. We finished around half hour ahead of the deadline tired but fulfilled.

12431681_1194673703894471_988397219_n

 

I flew back to my province 1000 km from Bangkok. I need to ride 100 more for #Festive500 in no less epic route. It was tough ride with sun, wind, flat  and then rain. I documented my first #Festive500 ride with the feeling that I felt every time I went out riding. It has not change.

I live in Pattani, Thailand. One of the Southern most province of Thailand close to Malaysia border. Twenty years ago even Thais have trouble locating Pattani on Thailand map. Not until recently Pattani was included in an incident called “South Thailand Insurgency“, embassy of most country issue a warning not to travel to the area or else void your life insurance. Now everyone know Pattani and every time when I tell someone that I am from Pattani something changes in their mind and their face. It started 10 years ago on 2004. Now everyone living in the area know someone in person who was affected by incidents. This could be bombing, drive by shooting, arson or raid with assault rifle. It was so bad that carrying a conceal weapon is legal. Police and soldier having lunch with M16 on their lap. Just drive to work on certain day could be so challenging. My three bikes were hung up on the wall since the start of the incident as my wife told me that she would file a divorce if I pick up my bike and ride to work. My family business was burned down three times. Some nights I have to load my guns preparing for the worst after soldiers in the area came to warn us of potential attempt on our business for one more time. Ten years has passed but nothing seem to improve much. However, we changed. We have kids and we view our life differently. Now I ride my bike to work. My wife got herself a bike and my training ride take me to where it consider red area so far out of the city. I want to take this opportunity to write about my hometown and our life riding #Festive500. I have never ride so far like this before. In my life I have ridden 100km only three times, months apart. My training ride usually 40km and 60km for the long ride. It also depends on the situation. When I have down from bedroom seeing my gun and shotgun fully loaded from the night before and grab my bike. I would think “now it is safe to ride, let’s do it”.  But 500Km in 8 days would force my to ride no matter what (in fact I have only 6 days to ride since I knew about Festive500 late for 1 day and I have full working day on another day) So if I wake up realise the situation thinking “this could be my last ride” then I would have to tell myself “I might as well enjoy all of it”

I wrote this article in my head during my last ride of the year. It was 31st December when everyone else heading home prepare for celebration. For me though finishing #Festive500 yet another year is a celebration.

This story is about “LOVE”. Love of the simple two wheels machine. Love of the friendship that grew by the length of time we spent together riding. Love of the sight that we were allowed to see by the speed which is perfect for human to interact. Love of the smell in which no other way of transportation could give you.

 

PYT2015 : My first true ultratrail and a lesson on hydration

วิ่งเป็นจุดอ่อนของชีวิตนักไตรกีฬาของผม สำหรับคนที่จบในระดับทอป 10-20% ของสนาม การวิ่ง 10K ที่ 50 นาที เป็นเรื่องที่น่าอับอายมาก  หลังจากประสบอุบัติเหตุกับกระดูกสันหลัง จนกระทั่งนำมาซึ่งการวางมือจากไตรกีฬาเพราะไม่สามารถวิ่งได้ แล้วหาวิธีที่จะวิ่งกลับมาได้อีกครั้ง วิ่งจนเข่าเสื่อม หมอแนะนำให้หยุดวิ่ง ไปจนกระทั่งหลังกำเริบต้องเดินเกือบตลอดการแข่งขันระยะอัลตรา 50K ครั้งแรกในชีวิตของผม ทุกวันนี้แม้ผมจะยังซ้อมและลงแข่งขันไตรกีฬาอย่างสม่ำเสมอ แต่การวิ่งนั้นยังต้องปล่อยให้เป็นปริศนาตัวใหญ่ตั้งไว้ เข่า หลัง และอาการอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงวิ่งนั้น จะกำหนดผลลัพธ์ของการแข่งขันอย่างไม่สามารถกะเกณฑ์ใด ๆ ได้เลย ตั้งแต่ปีที่แล้วที่ผมตั้งใจจะโฟกัสเรื่องการวิ่งโดยเริ่มต้นปีด้วยการวิ่งมาราธอนจอมบึง แต่แล้วการปั่นจักรยานทางไกลเบี่ยงเบนความสนใจของผมออกไป กว่าจะรู้ตัวอีกที ผมก็ไป DNF สนามแรกในรายการไอรอนแมนลังกาวีในช่วงวิ่งนั่นเอง ปีนี้ผมไม่ได้ตั้งใจโฟกัสเรื่องการวิ่ง แต่เป็นการเตรียมตัวสำหรับแก้ตัวไอรอนแมนอีกครั้ง ด้วยการปูพื้นด้วยการปั่นทางไกลออแดกซ์ แต่การวิ่งของผมยังถูกละเลยเช่นเคย แม้ว่าผมจะเอาชนะไอรอนแมนได้ แต่ด้วยเวลาวิ่งยาวนานถึง 6:20 ชั่วโมง จึงแทบไม่สามารถนับได้ว่าผมวิ่งจบรายการไอรอนแมนนี้ ผมมั่นใจอยู่ลึก ๆ ว่า ถ้าหากต้องการให้ฟอร์มการแข่งขันไอรอนแมนที่ Roth สมบูรณ์แบบที่สุด ในระยะเวลาอีก 6 เดือนกว่า ๆ ที่เหลือนี้ ผมต้องปูพื้นการวิ่งให้มั่นคง และแล้วผมจึงเลือกที่จะใช้ approch เดียวกันกับการปั่นนั่นคือ เล็งไปที่ระยะอัลตรา ทำให้มาราธอนกลายเป็นเรื่องของการวอร์มอัป ทันทีที่มีเพื่อนทีม V40 ชวนไปวิ่งที่เชียงใหม่ในรายการโป่งแยง ซึ่งประกอบไปด้วยระยะ 66, 30, 10 และ 4Km ผมจึงกระโจนลงสมัครระยะ 66K ในทันที ทั้ง ๆ ที่ประสบการณ์ที่ผมมีคือ การเดิน 50K TNF เท่านั้น ส่วนการซ้อมในปีนี้ก็มีเพียงระยะ 42K ที่เป็นส่วนหนึ่งของไอรอนแมนลังกาวีที่ใช้เวลาไปถึง 6:20 แต่ผมคิดว่าเราต้องเดินไปถึงที่ขอบเหวจึงจะสามารถก้าวข้ามเหวออกไปได้ ทางเดียวที่จะสร้างความมั่นใจสำหรับการวิ่งอีกครั้งก็คือวิ่งมันไปให้ถึงที่สุด ด้วย condition ที่ extreme เท่าที่จะเป็นไปได้

12321490_1244953308855085_9213824707112955635_n

ในการแข่งขันไอรอนแมนลังกาวี ผมได้ประจักษ์ถึงความน่าสะพรึงกลัวของ สภาวะ Hyponatremia with overhydration มาแล้ว เป็นสภาวะเดียวของการ hydration ที่เรียกได้ว่าอันตรายที่สุด อาการของน้องเมื่อถึงเส้นชัยคือ collapse หลังจากนั้น มีอาเจียรพุ่ง ผ่านไปสักพักใหญ่ ๆ มีอาการชัก ต้องแอทมิทเพราะพบว่ามีสภาวะสมองบวม สำหรับผมนี่คือสุดขอบของกีฬาอัลตราที่ต้องทำความเข้าใจเอาไว้ให้ดี โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาเรื่องการจัดการ nutrition อย่างผม หลังจากวันนั้นผมจึงศึกษาเรื่อง hydration อย่างเอาเป็นเอาตาย เพื่อต้องการเขียนบทความสักชิ้นหนึ่งเพื่อถ่ายทอด เมื่อพร้อมแล้วก็ถึงเวลาที่จะทดลองจริง PYT เหมือนจะเป็นสนามที่จะได้มีการทดสอบที่น่าสนใจ ผมคุ้นเคยกับการแข่งขันในสภาวะร้อน ๆ ของเมืองไทย การดูแลเรื่อง dehydration ด้วยการดูสีปัสสาวะ อาการปากแห้ง ทั้งหลายเริ่มเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ง่าย สังเกตุได้ง่ายขึ้นสำหรับผม การสังเกตุปริมาณเกลือแร่ที่สูญเสียจากเหงื่อ และขี้เกลือตามเสื้อผ้าก็พอจะช่วยให้ประเมินสภาวะการขาดเกลือแร่ได้บ้าง แต่ลักษณะอาการของคนขาดเกลือแร่นั้นเป็นอย่างไรผมยังไม่เคยรู้สึกด้วยตนเอง ส่วนเรื่องพลังงาน หรือน้ำตาลนั้นผมพอจะเข้าใจอาการอยู่บ้าง แต่ปริมาณแคลลอรี่ที่ต้องใส่เข้าไปในการวิ่งนั้นผมยังไม่ค่อยมั่นใจว่ามากน้อยเท่าไรจึงจะเพียงพอ ต่างจากการปั่นจักรยานที่ผมใช้เวลาเกือบทั้งปีเพื่อที่จะหาปริมาณที่เหมาะสมสำหรับผม คราวนี้จึงเป็นโอกาสที่จะได้ทดสอบหลาย ๆ อย่างเพื่อที่จะเปิดประตูเข้าสู่โลกของอัลตราเทรล

12310691_1243840142299735_4093313757230434016_n

สนาม PYT66 เป็นสนามที่ถือว่าโหดพอดูสำหรับผมที่มีประวัติบาดเจ็บหลัง หลังจากวิ่งเทรล 50K ครั้งแรกตั้งแต่ระยะไม่ถึง 20K ด้วยระยะ 66K Elevation gain 3600+ m. ทำให้ได้คะแนนสะสมเทียบเท่ากับ TNF100 เลยทีเดียว แถมผู้จัดโปรหนำยังเปรย ๆ ว่าจริง ๆ แล้วโหดกว่า TNF100 เสียอีก แต่ไม่เป็นไรถ้าอยากจะรู้ว่ามันคืออะไร ระยะ 30K นั้นไม่ให้คำตอบผมแน่ ๆ ลงไป 66K นั่นแหละ อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด ยังไงเสียผมก็คงไม่ถึงกับเสียชีวิตอย่างแน่นอน ผมจองตั๋วขึ้นไปล่วงหน้าหลายวัน เนื่องจากสัปดาห์ก่อนหน้ามีงานแต่งงานของน้องชาย นั่นหมายถึงผมไม่ค่อยมีโอกาสซ้อมอย่างที่ควรจะเป็น การใช้ชีวิตตะลอน ๆ นั้นไม่ง่ายนักที่จะใส่ตารางวิ่งยาวเข้าร่วมด้วยสำหรับผม เนื่องจากเราไปถึงก่อนหลายวันเรานั่นหมายถึงครอบครัวเราทั้ง 5 ชีวิต จึงวางแผนไปเที่ยวเชียงรายกันก่อนที่จะกลับมาลงทะเบียน ฟังบรีฟในวินาทีสุดท้าย แต่สุดท้ายก็เข้าไปฟังไม่ค่อยทัน ไม่รู้เหมือนกันว่าเขาพูดอะไรบ้าง แต่ได้ยินแว่ว ๆ ว่าจะมี sweeper นั่นหมายถึงผมมีคนวิ่งเป็นเพื่อนแน่ ๆ โดยประวัติแล้วในสนามเทรล ผมอยู่อันดับสุดท้ายทุกครั้ง และอีกเรื่องคือเส้นทางส่วนใหญ่รถจะเข้าถึง มีแค่บางช่วงเท่านั้นที่รถไม่สามารถเข้าไปได้ นั่นหมายถึงไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ผมก็ไม่จำเป็นมากนักที่จะต้องลากสังขารไปเพื่อให้ถึง Aid Station ผมพักที่บ้านของซี ที่เป็นส่วนหนึ่งของผู้อาสาในการจัดงานครั้งนี้ ร่วมกับเพื่อนทีม Very Forty อีกสองคน ผมจัดของเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่เครียดอะไรนัก และไม่ได้เตรียมอะไรเป็นพิเศษนอกจากอุปกรณ์บังคับที่ทางรายการกำหนดไว้ เป้น้ำ ไฟฉาย นกหวีด โทรศัพท์ เสื้อหนาว ผมไม่ได้เตรียมอาหารอะไรไปเลย เพราะต้องการทดสอบว่าอาหารตาม Aid Station จะสามารถพาผมจบในเส้นทางได้หรือไม่ ผมต้องเตรียมอะไรเป็นของตัวเองบ้างในคราวต่อ ๆ ไป ผมเข้านอนค่อนข้างเร็วเพราะต้องตื่นตั้งแต่ตีสาม มาหาของกินก่อนจะออกจากบ้านตอนตีสี่

12360311_1244953498855066_6552361243637337707_n

ผมนอนหลับไม่ดีนัก อาจจะเพราะตื่นเต้น แม้ว่าจริง ๆ ผมไม่รู้สึกตื่นเต้นเลยแม้แต่น้อย ยังไม่ทันตีสามดีผมก็เริ่มรู้สึกตัว จึงออกไปอาบน้ำ ไม่ทันไรเซนก็กระเด้งขึ้นมาทำเสียงสดใส บอกว่าเซนตื่นแล้ว พร้อมแล้ว แผนของแม่ที่จะหลับยาวไม่พาเด็ก ๆ ออกไปวิ่งกัดฟันรัน ก็ต้องพังทลาย แม่ยังคงต้องคิดหาวิธีที่จะออกจากบ้านไปส่งพ่อวิ่งแล้วรอเพื่อออกวิ่งของตัวเองตอน 7 โมงเช้า ยังไม่นับรวมการวิ่งขึ้นลงเขาระยะ 4K โดยมีฮารุอุ้มคาดเอวไว้โดยตลอด เราไปถึงก่อนปล่อยตัวประมาณแค่ 10 นาที ผมรีบหาน้ำใส่เป้น้ำ แล้วเข้าห้องน้ำก่อนออกตัวไป สถานที่ออกตัวคือ สวนพฤกษศาสตร์พระนางเจ้าฯ บริเวณจุดสูงสุดของสวนซึ่งเป็นเส้นชัยเช่นเดียวกัน ผมไม่ค่อยอยากจะนึกสภาพตอน 64K แล้วต้องมาปีนเขาลูกนี้เป็นระยะทาง 2K สุดท้าย ผมออกตัวท้าย ๆ ตามสไตล์ของผม ออกไปพร้อมกับตุ๊จอมอึด เราไปกันเรื่อย ๆ ได้ไม่นานตุ๊ก็จำเป็นต้องปล่อยทุกข์ ผมจึงถือโอกาสล่วงหน้าไปก่อนเพราะผมมีแนวโน้มที่จะช้ากว่าตุ๊ ไม่นานนักตุ๊ก็ไล่ตามผมมาได้อีกก่อนที่เราจะวิ่งไปด้วยกันเรื่อย ๆ ผมเพิ่งเข้าใจว่าการวิ่งเทรลนั้น ไม่ใช่เพียงแค่การวิ่งในป่าเขา นอกถนน บนเส้นทางดินไม่ราบเรียบ ผมคาดหวังว่าจะพบเจอหิน ดิน โคลนบ้าง น้ำบ้างตามสภาพเส้นทางที่ไม่ได้ลาดยาง แต่สิ่งที่ผมไม่เคยสัมผัสหรือไม่ได้คาดคิดมาก่อนคือความชัน ทั้งทางขึ้นและทางลง

12390965_1660044747611215_7383767220138443720_n

ผมไปวิ่งเทรลที่คิดว่าน่าจะเป็นครั้งแรกของผม ที่ญี่ปุ่น แต่ระยะเพียง 38K Elevation gain 1800 m ในคราวนั้น ความชันสูงสุดที่เราต้องปีนคือ 1000 m ในระยะ 4K ซึ่งเราต้องปีนทั้งขึ้นและลง ผมจึงไม่รู้สึกว่ามันผิดปกติอะไรมากนัก และรู้สึกว่านี่อาจจะเป็นอะไรที่ไม่ปกติ แต่ที่ PYT เราไม่ได้เจออะไรแบบนั้น แต่เราเจอ elevation gain ประมาณ 500ม. ต่อระยะทาง 5Km หลาย ๆ ครั้ง ขึ้น ๆ ลง ๆ อยู่แบบนี้ตลอดวัน ไม่มีทางราบเสียเลยเท่าที่จะได้ นั่นหมายความว่าในความจริง แล้วสิ่งที่นักวิ่งอัลตราเทรลชอบคุยกันเรื่อย ๆ นั่นคือ elevation gain การซ้อมเทคนิค การขึ้นเขา ลงเขา การใช้รองเท้าที่เหมาะสม และอื่น ๆ ที่ผมไม่เคยจะให้ความสนใจ มันเป็นเรื่องที่เป็นหัวใจของการวิ่งอัลตราเทรล นอกเหนือจากการควบคุมการ hydration และ การเติมพลังงาน ที่ผมต้องการมาฝึกในคราวนี้ ความซับซ้อนของเส้นทาง หมายถึง elevation gain ทำให้การใช้พลังงานไม่เป็นไปตามที่ผมเคยคุ้นเคย การเติมพลังงานสำหรับผมไม่ใช่เรื่องง่าย ชีวิตนักไตรกีฬา หรือแม้กระทั่งการปั่นออแดกซ์นั้น โดยส่วนมากสามารถเติมพลังงาน และน้ำด้วยอัตราคงที่สม่ำเสมอเรื่อยๆ ได้ แต่รูปแบบของการวิ่งเทรลไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับผม เพราะสภาพของตับ กระเพาะ รวมไปถึงหลังทำให้ผมย่อยอาหารได้ช้า พลังงานมาไม่ทัน ต้องใช้วิธีกินล่วงหน้านาน ๆ แล้วค่อย ๆ กินทีละนิดไปเรื่อย ๆ แต่จะแบกไปเพื่อกินเรื่อย ๆ หลังผมก็อาจจะมีปัญหาจนทำให้วิ่งต่อไม่ได้ ด้วยประสบการณ์ที่ยังน้อย ผมจึงยังไม่รู้ว่าจะจัดการกับปัญหานี้อย่างไร

12308673_1245645082119241_1340725128963188011_n

PYT พาเรามาเจอเนินแรกเป็นการต้อนรับที่น่ารักที่สุด ที่คลายความสงสัยแรกว่าทำไมจุดให้น้ำจุดแรกจึงดูไกล้นัก ระยะ 5 km กับ Gain 309 m ไม่สามารถทำให้ผมเห็นภาพได้ถ้าไม่ได้มาเดินเอง (งานนี้ผมแทบไม่มีวิ่งเลยครับ) แต่นี่มันเป็นเพียงขนมเมื่อเส้นทางสู่ม่อนหล้อง 6.1 km Gain 575 m มันทำให้ผมเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงความเป็น trail run วิวสวย ๆ ที่ม่อนหล้องทำให้ความรู้สึกเหน็ดเหนื่อยหายไปอย่างปลิดทิ้ง ผมมาเดิมน้ำและอาหารที่จุดให้น้ำ A1 อากาศเริ่มเย็น เพราะตอนนี้เราอยู่ที่ระดับความสูงกว่า 1400 ม. ผมคว้าเสื้อกันลมออกมาสวมทับแล้วออกตัวต่อไปเรื่อย ๆ มุ่งหน้าไปสู่ม่อนวิวงาม แม้ว่าวิวมุมแคบ ๆ จะงดงามสมชื่อ แต่ภาพมุมกว้าง ๆ นั้น ถือว่าไม่น่าสนใจเพราะเป็นจุดกางเตนท์ของนักท่องเที่ยว มีห้องน้ำ อาคารเล็ก ๆ บดบังคำที่เรียกว่าวิวงามนั้นไปเยอะ กับระยะทาง 5.6 km Gain 249 m จึงรู้สึกว่าไม่คุ้มค่าเท่าไรนัก ผมมาใจจดจ่ออยู่กับอาหารเช้า ที่เวลา 8 โมงครึ่งนี่ดีกว่า เพราะจุดให้อาหารถัดไปจะอยู่ห่างออกไปกว่า 25 km แม้ว ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 5 ชม. สำหรับผมในการที่จะดั้นด้นไปให้ถึง ตอนนี้ผมเริ่มที่จะพอประมาณเพซและความเร็วของตัวเองได้แล้ว ผมพยายามกินให้มาก แต่ไม่ได้มากมายนักเพราะในใจรู้สึกว่าตัวเองยังเพิ่งเริ่มมาได้เพียงแค่ 16.7km แม้ว่าเวลาจะผ่านไปแล้วร่วม 3 ชมเศษ หลังจากอาหารเช้าเราก็มุ่งหน้าต่อไป ผมกับตุ๊ยังอยู่ด้วยกัน เป็นครั้งสุดท้ายกับระยะทาง 6.1 km Gain 144 m มุ่งหน้าสู่จุด A3 วัดปงไคร้ ผมเริ่มสำรวจตัวเอง การกินผมยังค่อนข้างดีอยู่ ผมไม่มีอาหารติดตัวมากนัก คาดหวังเอาจากจุดให้น้ำที่ห่างออกไประยะ 1-2 ชม. ผมยังกินน้ำได้อย่างสม่ำเสมอ และอากาศก็เย็นสบายดีการ dehydrate คงไม่ใช่เรื่องน่าห่วง มีแค่ การชนกำแพง หรือ ที่เรียกว่า Bonk เนื่องจากปริมาณ glycogen หมด รวมไปถึง hypoglycemia น้ำตาลตก และ hyponatrimia คือ โซเดียมไม่พอ เท่านั้น ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญสำหรับผู้ป่วยโรคตับในกีฬาคนอึดรูปแบบนี้

12243518_1244953322188417_6581061533231551413_n

การ dehydrate นั้นเคยเป็นปัญหาหลักของกีฬาที่ผมเล่น ซึ่งมักจะต้องอยู่กลางแจ้งตลอดทั้งวัน การควบคุมปริมาณน้ำและเฝ้าระวังปริมาณปัสสาวะ เฝ้าดูอาการป้องกันภาวะไตวายจึงเป็นเรื่องที่สำคัญอันดับต้น ๆ หรือสำหรับนักกีฬาที่สนใจผลงานภาวะ dehydrate เพียงเล็กน้อยก็ส่งผลให้สมรรถนะลดลงอย่างเห็นได้ชัด เพราะน้ำที่สูญเสียไปนั้นร่างกายจะพยายามรักษาสมดุลย์ของน้ำภายในเซลเอาไว้ ในขณะที่ปริมาณน้ำระหว่างเซลและในหลอดเลือดจะลดปริมาณลง เมื่อปริมาณเลือดลดลงร่างกายจึงต้องการอัตราสูบฉีดที่สูงขึ้นเพื่อส่งออกซิเจนและสารอาหารให้เพียงพอกับการใช้ในขณะนั้น ส่งผลให้อัตราการเต้นของหัวใจนั้นจะสูงขึ้น สมรรถนะโดยรวมจึงลดลง และอาจจะมีอาหารตะคริวร่วมด้วย

12321160_1246905898659826_4354146617394846304_n

ในขณะเดียวกันที่สูญเสียน้ำร่างกายก็จะพยายามรักษาสมดุลน์ของเกลือแร่ภายในน้ำในร่างกายเอาไว้ด้วย ความซับซ้อนจึงบังเกิด เพราะมีสองตัวแปรเข้ามาเกี่ยวข้อง ปริมาณน้ำที่อาจจะน้อยเกินไป dehydrate หรือมากเกินไป overhydrate ปริมาณเกลือแร่ (โซเดียม) มากเกินไป hypernatremia หรือน้อยเกินไป hyponatrimia โดยปกติแล้วร่างกายจะสูญเสียเกลือแร่จากร่างกายผ่านเหงื่อ ดังนั้นในการเติมน้ำเข้าร่างกายจึงควรมีการเติมเกลือแร่ร่วมด้วยเพื่อรักษาสมดุลย์นี้ไว้ สิ่งที่อันตรายที่สุดในกระบวนการนี้คือ dilutional hyponatrimia นั่นคือ อาการที่มีการ overhydrate ร่วมกับ hyponatrimia เกิดการการสูญเสียเกลือแร่แต่การเติมน้ำเข้าไปเกินพอทำให้ปริมาณเกลือแร่ในของเหลวภายนอกเซลที่เพิ่งเติมเข้าไปนั้นมีปริมาณเกลือแร่ต่ำเกินไป ทำให้เกิดการออสโมซิสของน้ำเข้าสู่เซลต่าง ๆ โดยเฉพาะเซลสมองทำให้เกิดอาการสมองบวม อาเจียน และชักร่วมด้วย อาการเริ่มต้นของสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้มีความคล้ายคลึงกันประสบการณ์ ความรู้ ความเข้าใจนั้นจะทำให้สามารถแยกแยะสาเหตุของความผิดปกติของร่างกายได้

12360066_1244953442188405_6382826182020300903_n

อาการ Bonk หรือขาดน้ำตาลนั้น จะมีอาการเหมือนน้ำมันหมดอย่างกระทันหัน แรงไม่มี ขาหนัก เริ่มง่วงเหงาหาวนอน อาจจะมึนหัว เวียนหัวจะเป็นลมร่วมด้วย แก้ด้วยการให้อาหารจำพวกคาร์โบ หรือน้ำตาล แต่ถ้าอาการเหล่านี้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณหนึ่งในการฟื้นตัว อาการ dyhydrate สังเกตุได้จากปากแห้ง น้ำลายเหนียว ปัสสาวะสีเข้ม หรือไม่ปัสสาวะเลยเป็นเวลาหลายชั่วโมง แก้ด้วยการเติมน้ำ และควรมีเกลือแร่เพิ่มด้วยเพื่อป้องกันเกลือแร่ต่ำ ระวังอาการ heat stroke เนื่องจากร่างกายพยายามเก็บน้ำในร่างกายไว้ ไม่ยอมเสียออกมาเป็นเหงื่อเพื่อระบายความร้อน จะเหงื่อแห้ง เหมือนจะมีอาการหนาวสั่น ตัวร้อน เข้าร่วมด้วย แต่ที่น่ากลัวที่สุดคือ dilutional hyponatrimia จะมีอาการมึนงงเช่นเดียวกัน แต่มีอาการคลื่นไส้ร่วมด้วย หรืออาจจะมีอาเจียน สังเกตุว่าปากไม่แห้ง น้ำลายไม่เหนียว การแก้ไขด้วยการเติมเกลือแร่นั้น จะหายจากอาการค่อนข้างเร็ว และดูสดขึ้นเกือบจะทันที ทั้งหมดทั้งสิ้นนี้เป็นอาการที่ผมนั้นสัมผัสมาแล้วทั้งสิ้น แต่ความเข้าใจยังมีน้อย ผู้ป่วยตับอักเสบ ตับแข็งจะมีความเสี่ยงต่ออาการกลุ่มนี้ได้ง่าย เพราะตับเป็นอวัยวะภายในที่ต้องทำงานร่วมกับไต เพื่อที่จะควบคุมความเป็นไปเหล่านี้ของร่างกาย

12295387_1244953365521746_5330460526239567266_n

ผมเข้าจุดให้น้ำ A3 ที่ระยะ 22.8  km ที่ความสูง 993 m จากระดับน้ำทะเลร่วมกับตุ๊เป็นครั้งสุดท้าย เพราะด่านต่อไปเป็นระยะ 9.2 km Gain 500 m แม้ว่าเส้นทางจะเขียนเอาไว้เช่นนี้แต่ในความเป็นจริง จะแบ่งครึ่งทางเป็นทางลงเขาและครึ่งทางเป็นทางขึ้นเขา เมื่อเส้นทางเริ่มเงยหัวขึ้นผมก็เห็นหลังตุ๊เป็นครั้งสุดท้าย หลังจากถ่ายภาพวิวสวย ๆ ริมทางด้วยกัน ผมไม่อยากเร่งเครื่องเกินกำลังของผม เพราะนี่คือ ultra trail ครั้งแรก ผมยังไม่มั่นใจว่าที่ผมเบรคกินกล้วย 1-2 ลูกทุก ๆ สองชั่วโมงมันเพียงพอแค่ไหน ว่าแล้วผมก็พยายามเตือนตัวเองให้ดูดน้ำต่อไป ดูเหมือนว่าผมจะสามารถเติมน้ำให้ตัวเองได้อย่างสม่ำเสมอประมาณ 2 ลิตรทุก ๆ  2 ชม. แต่ผมแทบไม่ได้เติมเกลือแร่เลย ผมจำไม่ได้ว่าเห็นเกลือแร่ตอนไหนบ้าง ผมไม่ได้พกเกลือแร่ซองมาด้วย สปอนเซอร์ที่มีแจกในถ้วยเล็ก ๆ ผมก็กินไปทั้งหมดทั้งสิ้นเพียง 1 แก้ว เพราะใจมัวแต่พะว้าพะวังกับการกินกล้วย และเติมน้ำใส่เป้ในทุก ๆ ครั้ง แต่แล้วก็ยังลืมเสียได้เมื่อมาถึงจุดให้น้ำ A4 จุดชมวิวแม่สะเมิง สมค่าความเป็นจุดชมวิว ขณะนี้ตุ๊นำหน้าผมไปแล้วประมาณสิบห้านาที ผมใช้เวลาอยู่ที่จุดพักนี้เป็นเวลานาน เพราะตอนนี้รองเท้าเริ่มกดหัวแม่เท้าผมมากเกินที่จะทนไหวแล้ว ผมวิ่งระยะทางประมาณ 4 km สุดท้ายเพื่อเข้าจุดพัก ด้วยเท้าเปล่า ๆ  ผมพยายามนั่งกินโน่นนี่นั่น และผ่อนคลายให้มากที่สุด เพื่อพักขา ผมคุยกับเจ้าหน้าที่ประจำจุดอย่างออกรสชาติ ปล่อยให้คนอื่น ๆ ออกตัวแซงผมไป ระยะต่อไปคือ 9.6 km Gain 439 m ผมต้องการเพิ่มพลังให้มากที่สุดในเวลานี้

12346515_1244953455521737_6336291903365163010_n

ผมออกตัวอีกครั้งด้วยแผนใส่รองเท้าครึ่งทางและถอดรองเท้าอีกครึ่งทางถ้าพอที่จะทำได้ เส้นทางช่วงนี้แม้ว่าจะไม่ได้มีวิวที่สวยสดงดงาม เช่นเดียวกับที่จุดชมวิว แต่เป็นเส้นทางลัดเลี้ยวเข้าไปตามหุบ เป็นทางถนนขนาดใหญ่ที่ดูร้าง ไม่มีผู้คนใช้ผ่านทางมากนัก บรรยากาศคล้าย ๆ เส้นทางที่ผมวิ่งในยาโกชิมา ผมวิ่งไปได้ไม่นาน ก็รู้สึกว่าต้องถอดรองเท้าเพราะมันเจ็บจนเริ่มลงเท้าไม่ได้ แต่เมื่อถอดรองเท้าสภาพเส้นทางก็ต้องทำให้เจ็บปวดไม่แพ้กัน ที่เลวร้ายไปกว่านั้นผมมาพบว่าผมลืมเติมน้ำเพิ่ม และน้ำผมหมดเกลี้ยงหลังจากเดินออกมาจากจุด A4 ครึ่งชั่วโมงกว่า ๆ ถ้าเดินไปกลับก็ต้องเสียเวลาไปอีกหนึ่งชั่วโมงผมจึงเสี่ยงที่จะไปหาเอาดาบหน้า น้ำลวยผมเริ่มเหนียว แต่เดินมาได้ประมาณชั่วโมงเศษก็พบกับผู้ใจดี รีสอร์ทอะไรจำชื่อไม่ได้ มีน้ำตั้งไว้ให้บริการ ผมจึงรีบเข้าไปสวาปาม แล้วกรอกใส่เป้ไปอีกเล็กน้อย ที่จุดนี้มีกล้วยหอมงาม ๆ ตั้งไว้ให้ด้วย แต่ผมไม่รู้สึกอยากกิน ในใจก็เริ่มเสียว ๆ แล้ว อาการ dehydrate จะมาร่วมกับ loss appatite เสมอ ผมมุ่งหน้าต่อไป จนกระทั่งผมเข้าถึงจุด A5 ประมาณบ่ายสองโมง ก่อนเวลา Cut off อยู่ 1:40 ชม. จึงไม่น่ากังวลอะไร ตอนนี้ผมห่างจากตุ๊เป็นเวลา 50 นาทีแล้ว ผมคว้าข้าวกล่องที่รู้ภายหลังว่าเป็นหนึ่งในไม่กี่กล่องสุดท้าย ผมใช้เวลาที่จุดพักนี้นานมากเมื่อเทียบกับคนอื่น ๆ อีกแล้ว นานจนคนสุดท้ายเข้ามา ผมเสียเวลาไปกว่า 45 นาที นอกเหนือจากการกิน พักเท้า และขาแล้ว ผมก็ถือโอกาสโทรหาครอบครัวไปด้วย เพื่อแจ้งว่าโดยรวม ๆ ผมยังรู้สึกดีอยู่ เพียงแค่เจ็บนิ้วเท้า

12311056_1244953698855046_6996504368540155111_n

ผมออกตัวไปอีกครั้งเพื่อมุ่งหน้าไปยัง A6 บ้านผานกกก ระยะเพียง 5.2km Gain 274m เรียกได้ว่าเป็นขนม เมื่อเทียบกับส่วนอื่น ๆ ที่เพิ่งผ่านมาในวันนี้ ผมเดินผ่านระยะ 42.2 km ไปได้ไม่นานนัก เริ่มความเป็นอัลตราของ ultra trail ช่วงนี้เริ่มมีใครหลาย ๆ คนตามผมมาทัน เราเดินร่วมกันไปเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ประมาณ 4-5 คน บางครั้ง 6-7 คน ซึ่งเป็นช่วงเดียวของการแข่งขันครั้งนี้ที่ผมมีเพื่อนร่วมทางมากที่สุด การมีคนร่วมเดินด้วยกันมันก็สนุกไปอีกแบบ ผมทำความเร็วได้ดีขึ้น แม้ว่าจะทำให้เจ็บหัวแม่เท้ามาก ๆ ก็ตาม แต่แล้วก็เหมือนหนังม้วนเก่ากลับมาฉายซ้ำ มันมีเหตุผลที่ภายในระยะ 5 km จะต้องมีจุดพัก นี่เป็นช่วงที่ชันที่สุดของการแข่งขันครั้งนี้ ชันขึ้นไป 274m นั่นในระยะประมาณ 3 km แล้วต่อด้วย ทางลงแบบโหด ๆ เพื่อคืนความสูงทั้งหมดภายในระยะ 2 km ที่เหลือ โคกนี้รีดทุกอย่างออกจากตัวผม ผมเข้า A6 ด้วยอาการสโลสเล ไปถึงก็เริ่มกินอะไรไม่ลง พยายามกินกล้วยไปหนึ่งใบ เติมน้ำให้เต็มเป้ ที่จุดนี้ซีมาอาสาเป็นเจ้าหน้าที่ จึงมีการถ่ายภาพรายงานครอบครัวลง FB นิดหน่อย ผมพยายามฝืนยิ้มเล็ก ๆ เราคุยกันเฮฮาเพราะเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดของวัน และรอจนกระทั่งสองคนสุดท้ายเดินเข้ามาสมทบ กลุ่มสุดท้ายนี้มีทั้งหมด 10 คนตอนนี้มีคนที่ DNF ไปแล้ว 7 คน เราเป็นกลุ่มสุดท้ายที่จะร่วมเดินทางออกไปพร้อมกับ sweeper เทพ ๆ ผมมาถึง A6 ประมาณ 4 โมง ระยะทางรวม 46.8km ใช้เวลาไปถึง 11 ชม. แล้ว สร้างความกังวลให้กับครอบครัวไม่ใช่น้อย เพราะ A5-A6 ห่างกันเพียง 5 กม. ผมใช้เวลาไปร่วม 2 ชม. ผมฝากให้ซีรายงานครอบครัว ส่วนตุ๊ล่วงหน้าผมไปแล้วชั่วโมงกว่า ๆ แล้วผมก็ร่วมเดินออกไปพร้อมกันกับกลุ่มสุดท้าย

12345664_1244953472188402_6166924676348842386_n

เมื่อออกตัวมาได้ไม่กี่ก้าวผมก็เริ่มรู้ว่าผมอยู่ในสภาพที่ไม่ค่อยปกติเท่าไรแล้ว มอง ๆ ไปแล้วรู้สึกว่าทุกคนเดินเร็วกว่าเพซที่ผมจะรู้สึกสบาย ด้านหน้า ๆ เริ่มวิ่งกันแล้ว ผมวิ่งไม่ค่อยออก มีคนที่เดินร่วมกับผมอยู่อีกสองสามคน แล้วแต่ละคนค่อย ๆ ทิ้งห่างผมออกไปเมื่อทางเริ่มชันขึ้น ผมเริ่มเข้าสู่โหมด slow motion พยายามก้าวไปเรื่อย ๆ ใช้เจ้าไม้เท้าคาร์บอนที่ขนกลับมาจากญี่ปุ่นให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตอนนี้ผมเหลือเป็นคนสุดท้ายกับ sweeper อีกสามคน ผมเหลือบมองนาฬิกาตอนนี้ผมก้าวข้ามระยะ 50 km ไปเรียบร้อยแล้วด้วยเวลา 12 ชม กว่า ๆ ผมเริ่มรู้สึกพึงพอใจ เพราะไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อจากนี้ ผมได้ก้าวข้าม PR เมื่อสองปีที่แล้วของผมมาแล้ว 50K TNF ขณะนี้ไม่มีอาการทางหลัง หรือ เข่าใด ๆ ทั้งสิ้น นั่นหมายความว่า core ของผม แข็งแรงเพียงพอ เหมาะสมเพียงพอกับ running gait ของผมในขณะนี้ ประตูของ ultra trail ได้เปิดขึ้นแล้วจริง ๆ เส้นทางจาก A6 ไปยัง A7 นั้น 9.4km Gain 386m ผมค่อย ๆ ไต่ขึ้นมาเรื่อย ๆ แล้วเริ่มหาว ต้องหยุดยืนบ่อยครั้ง ครั้งสุดท้ายเริ่มทรงตัวยาก เหล่า sweeper แนะนำให้ผมนอนพัก กินส้ม สัก 10 นาที ผมไม่ลังเล เพราะตอนนั้นผมเริ่มเดินไปข้างหน้าไม่ได้แล้ว เนินนี้มันจะยาวขึ้นไปเรื่อย ๆ ประมาณ 6 km เหล่า sweeper ว่าไว้เช่นนั้น ตอนนั้นผมยังไม่ได้ไม่ถึง 170m เลย 10 นาทีผ่านไปไวเหมือนโกหก ผมต้องลุกขึ้นเดินต่ออีกแล้ว แต่ไปได้อีกไม่นานนัก ผมก็รู้สึกคลื่นเหียน เวียนหัว คิดอะไรไม่ค่อยออก จึงหยุดยืนอีกครั้ง ปิดตา เห็น sweeper มายืนคุมด้านหลังอย่างกังวล ก่อนที่จะแนะนำให้ผมนั่งพักอีกครั้ง แล้วพยายามอธิบายว่า DNF เป็นเรื่องธรรมชาติ การฝืนอาจจะก่อนให้เกิดอันตรายกว่าที่คิด หนึ่งใน sweeper วันนั้นเป็นหมอ จำได้คุ้น ๆ ว่าชื่อหมอหน่อย ส่วนอีกคนคือเทพริชชี่ที่ได้ที่สองในวันนั้น อีกคนจำหน้าได้แต่ชื่อเลือนรางมาก ๆ ตอนนั้นเหลือระยะอีกประมาณ 5 km และเวลาเริ่มจะไม่ทันจุด Cut off ที่ A7 แล้ว เราจึงตัดสินใจที่จะไม่ดันทุรังกันต่อไป ขณะที่ sweeper วิ่งหาสัญญาณโทรศัพย์เรียกให้เจ้าหน้าที่เข้ามาขนตัวผมออกไป ผมนอนรอหลับ ๆ ตื่น ๆ คิดอะไรบ้างจำไม่ค่อยได้แล้ว ความจำที่ได้ไม่ต่างจาก DNF แรกที่ลังกาวีไม่มากนัก แต่แตกต่างกันที่ลังกาวีผมมีความรู้สึกหนืด ๆ เท้าหนัก ๆ รู้สึกว่าหมดแรง ส่วนคราวนี้คลื่นไส้ เวียนหัว คิดอะไรไม่ค่อยออก แต่สิ่งที่เหมือนกันคือหลังจากเหตุการณ์เมื่อนึกกลับไป ทุก ๆ อย่างรู้สึกเหมือนอยู่ในฝัน

12345441_1244953605521722_3417754646703408742_n

ผู้จัดคุณนที ขับรถเข้ามาเอง พร้อมกับซี เพื่อมาขนผมไปส่งที่เส้นชัย ผมหลับ ๆ ตื่น ๆ จนกระทั่งหมอหน่อยเปรย ๆ ว่าอาการเหมือน hyponatrimia แล้วยื่นสปอนเซอร์ที่มีในรถหนึ่งกระป๋องมาให้จิบ ผมกินไปได้ครึ่งกระป๋องก็เริ่มมีสติสตังค์ขึ้นมา เริ่มคุยกับสมาชิกในรถได้ ซีบอกภายหลังว่าหลังจากที่ทางผู้จัดประเมินอาการผมจากการพูดคุยในรถแล้ว พวกเขาก็ไม่ได้วิตกกังวลอะไร เมื่อถึงเส้นชัยผมรู้สึกหิวอยากกินอะไร ๆ เหมือนไม่ได้เคยคลื่นไส้มาก่อน จึงจัดก๋วยเตี๋ยวหมูชามใหญ่ ต่อด้วยมาม่าอีกหนึ่งกล่อง ทำให้ผมนึกถึงอาการคล้าย ๆ กันแบบนี้ครั้งแรกของผมตอนปั่น 300 เขาใหญ่ที่ผมคลื่นไส้กินอะไรไม่ได้ มึนหัว จนกระทั่งอำนวยบังคับให้กินมาม่าต้มยำกุ้งไปหนึ่งกล่อง อาการเหล่านี้ก็หายไป เพียงพอให้ลากสังขารเข้าเส้นชัยใน 10 นาทีสุดท้ายได้ทัน แม้ว่าท้ายที่สุดแล้วยังมีอาการคลื่นไส้ต่อเนื่องจนไปถึงที่พัก

12347710_1031296753560450_6171274176009748618_n

แง้มแรกสู่ ultra trail เต็มไปด้วยความประทับใจ เริ่มต้นด้วยวิวแบบหาดูได้ยากตลอดเส้นทาง friendship ของเจ้าบ้านอย่างพี่เอ ซี และคุณแม่ การพาตัวเองไปยังขอบจำกัดอีกครั้ง DNF ครั้งที่ 4 ที่ดูเหมือนเป็นเรื่องที่เริ่มต้องยอมรับสภาพ ความเข้าใจในธรรมชาติของ Trail การเรียนรู้ท้ังในเรื่อง hydration, fueling และคำถามที่ยังค้างคาเรื่องรองเท้าที่เหมาะสม ความยินดีที่เอาชนะอุปสรรคเรื่องหลัง และเข่าได้อีกครั้ง บรรยากาศทั้งหมดแม้ว่าจะเป็นความประทับใจ ผมยังไม่สามารถบอกได้อย่างเต็มปากว่าติดใจ จริง ๆ แล้วยังทำใจไม่ได้กับการวิ่งแล้วเล็บดำ หรืออาจจะเล็บหลุด ผมว่ามันทรมานร่างกายเกินไปหน่อยนึง ไว้งานหน้าค่อยมาตัดสินใจว่าชอบหรือไม่ TNF100

12360056_1244953745521708_572029679884187949_n

 

 

Ironman Langkawi ForZuri Episode II : ไม่หมู แต่ทุกคนทำได้

ขาผมหนักเหลือเกิน ท้องไส้ปั่นป่วนพะอืดพะอม กินอะไรไม่ลงแม้แต่น้ำก็ไม่อยากจิบ ผมแทบวิ่งไม่ได้เลยมากว่าสิบกิโลแล้ว เวลาที่คาดว่าจะเหลือเฟือกลับดูน้อยลงทุก ๆ ที ทุกครั้งที่นั่งพัก แทบจะไม่สามารถลุกขึ้นโดยไม่หน้ามืดได้อีก ผมหนาวและดูเหมือนว่าร่างกายจะเริ่มควบคุมอุณหภูมิไม่ได้ ขนลุกซู่ไปทั้งตัว ผมเดินผ่านมาที่จุดที่พบกับลูก ๆ ของผมในรอบที่แล้วแต่ไม่เจอพวกเขา กำลังใจผมอ่อนลง กำลังกายผมร่อยหรอลงทุกที ผมใช้เวลามาแล้วเกือบ 4 ชั่วโมง ตอนนี้ผมเพิ่งได้ระยะมา 17 km เท่านั้น เหลือเวลาอีกเพียง 3 ชม. กับอีก 25km แต่ผมต้องหาที่ล้มตัวลงนอนสักพักแล้วค่อยว่ากันใหม่ แล้วผมหลับไปไม่แน่ใจว่านานเท่าไร Medic เข้ามาดูอาการของผมและได้ทำการปฐมพยาบาลอาการ dehydrate เบื้องต้นแล้วกำชับให้ผมนอนพักต่อไป สักพักเมื่อผมสามารถประคองตัวลุกนั่งได้ ผมก็ตัดสินใจบอกกับ Medic ว่าผมต้องการ DNF

10384459_946104222073330_6550812990853246579_n

ผมได้พบกับคำว่า DNF ครั้งแรกในชีวิตนักกีฬายี่สิบกว่าปีของผมที่นี่ในปี 2014 ผมกลับมาในปี 2015 ไม่ได้มาเพื่อแก้แค้น ล้างตา แต่เหมือนเป็นหน้าที่ ที่ต้องไปได้ยินคำว่า You are an IronMan สักครั้ง หลังจากที่ DNF ครั้งแรกนั้น ผมกลับบ้านมาพร้อมกับความรู้สึกว่าไอรอนแมนนั้นเป็นระยะที่ไม่น่าเล่น เนื่องจากการซ้อมที่ยาวนานหนักหน่วงเกินความสนุกที่เคยเป็น แต่หลังจากที่ผมได้ยินประโยคทองที่ใคร ๆ ต้องการได้ยิน ความคิดของผมก็เปลี่ยนไป ผมจะมาเล่าให้ฟังว่าทำไม และถ้าใครต้องการได้ยินประโยคนี้ ผมมีคำแนะนำให้ และถ้าใครยังไม่มั่นใจ Add Facebook ผมไว้ได้ ยินดีให้คำปรึกษา ถ้าต้องการเพื่อนบ้าพลัง ก็เข้ากลุ่ม Very Forty เอาไว้ แม้ว่าเราจะไม่ใช่ทีมไตรกีฬาแต่กิจกรรมบ้าพลังเราทำกันอย่างสม่ำเสมอครับ

ทำไมผมถึงเชื่อว่าใครก็ทำได้ จริง ๆ แล้ว ผมเชื่อแบบนั้นมาตลอด แต่การที่จะพูดแบบนั้นโดยที่ยังไม่เคยทำสำเร็จอาจจะเป็นการดูถูกความสำเร็จของผู้อื่น ยิ่งไปกว่านั้นผมทำไม่สำเร็จในครั้งแรกของผม ผมจึงรอให้ผมทำสำเร็จก่อน แม้ว่าผมจะต้องใช้เวลาถึงสองปี สองครั้ง กับหนึ่งความผิดหวังก็ตาม ผมยังเชื่อว่าถ้าหากมีการเตรียมตัวที่เหมาะสม ได้รับคำแนะนำที่ถูกต้อง ไอรอนแมนนั้นไม่ใช่เรื่องยากเลย อยากแนะนำให้ทุกคนนอกจากมาลองไตรกีฬาแล้ว ได้ลองระยะไอรอนแมนสักครั้งในชีวิต จะสร้างพลังให้กับคุณอย่างเหลือเชื่อแบบไม่ต้องเสียเงินไปปลุกยักษ์ที่ไหนอีก

12227619_1693079797581646_1361076560909368855_n

ผมวางแผนสำหรับไอรอนแมนครั้งที่สองนี้อย่างมีระบบ แต่เลือกที่จะใช้แผนการซ้อม 16 สัปดาห์เหมือนเดิม ซึ่งมีงานปูพื้นก่อนซ้อมหลักที่ดีกว่าเดิมนิด ๆ ผมลดกิจกรรมโหด ๆ ทั้งหมด ต่างจากปีที่แล้วที่มีรายการมหาโหดหลายรายการต่อเนื่องกัน เหลือเพียงแค่ จอมบึงมาราธอนตอนต้นปี ห่างจากรายการแข่งขันถึงเกือบปี ฮาร์ฟมาราธอนอีกหนึ่งครั้ง ช่วงวันแม่ ผมไม่แข่งรายการใด ๆ เลย มีการปั่นออแดกซ์ 300, 400 อย่างละหนึ่งครั้ง 600 หนึ่งครั้ง และ ปั่น 1200 อีกหนึ่งครั้ง ทั้งหมดเกิดขึ้นก่อนเดือนมิถุนายน เพื่อปูพื้นสำหรับการซ้อมที่จะมาถึง ในช่วงซ้อมผมวางแผนการแข่งขันระยะ 70.3 เอาไว้หนึ่งครั้งในช่วงกลางของแผนการซ้อม ในปีนี้ผมวางแผนลงไตรกีฬาเพียงสองรายการนี้เท่านั้น เพราะในช่วงที่ผมสมัครนั้น ผมมีความรู้สึกเบื่อกีฬาประเภทนี้ เพราะเล่นมายาวนานถึง 25 ปี ในใจคิดว่านี่จะเป็นรายการรองสุดท้ายที่ผมจะแข่งขันแล้วไปหาอย่างอื่นเล่นต่อไป

ผมวางแผนทุกอย่างมาเป็นอย่างดี แต่ไม่น่าเชื่อว่าสิ่งต่าง ๆ ที่ผิดแผนนั้น ทำให้ผมเข้าใจกลไกของไอรอนแมนมากขึ้นและกล้าที่จะบอกว่าทุก ๆ คนทำได้ หลังจาก DNF ครั้งแรกที่ลังกาวี ผมก็ DNF ครั้งที่สอง เมื่อวางแผนปั่น 1200 กม ภายใน 90 ชม. ผมปั่นจากกรุงเทพ มาสิ้นสุดที่พัทลุงก่อนเข้าหาดใหญ่ ได้ระยะทางไป 821 กม. ใช้เวลาไปประมาณ 65 ชม. ต้อง DNF ที่มีทั้ง Dehydrate ความบอบช้ำของกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ตั้งแต่คอเรื่อยลงมาจนปลายเท้า ผมมา DNF ครั้งที่สาม ตอนปั่น 600 ที่เกิดจาก Sleep Deprevation, Dehydrate, Bonk ปั่นไปได้เพียง 320 กว่ากิโล รวมจากการ DNF ครั้งแรกที่เกิดจาก Dehydrate และ Bonk  ในลังกาวีปี 2014 นั่นเอง ผมจึงมีประสบการณ์ตรง และเข้าใจความสำคัญของเรื่อง Fuel, Hydration มากขึ้น ผมทำการศึกษาเรื่องราวเหล่านี้มากขึ้นอย่างมาก เพราะผมเชื่อว่ากุญแจสำคัญของการเอาชนะการแข่งขันในระยะแบบนี้คือ น้ำและพลังงาน เป็นสำคัญ แล้วผมจะมีคำแนะนำสำหรับผู้ที่เริ่มสนใจความท้าทายของการเป็นไอรอนแมนนี้ว่าอย่างไร

11168149_1068580806516068_2985408457971295557_n-2

คำแนะนำที่หนึ่งของผม คือ ถ้าคุณต้องการเอาชนะไอรอนแมนให้ได้นั้น แม้ว่าจะไม่จำเป็น แต่ผมแนะนำเลยว่าคุณควรที่จะมีประสบการณ์ในระยะเดี่ยว ๆ ของไอรอนแมนมาก่อน ไม่ต้องห่วงเรื่องความเร็ว ไม่ต้องสนว่าสภาพหลังแข่งจะเป็นอย่างไร คุณควรจะมีประสบการณ์ว่าระยะที่ว่านี้คุณทำได้มาแล้ว ในแต่ละกีฬา เวลาประมาณเท่าไร ความรู้สึกเหนื่อยประมาณไหน กล้ามเนื้อล้าประมาณไหน ให้พอคุ้นเคยกับมัน ซึ่งในวันแข่งจริงจะช่วยลดความเครียดของการทำครั้งแรกในแต่ละ discipline ไปได้ คงเหลือไว้แต่ความตื่นเต้นของการเอาแต่ละ discipline มาต่อ ๆ กัน

คำแนะนำที่สอง คือ แม้ว่าผมจะใช้ตารางซ้อม 16 สัปดาห์ หรือ 4 เดือน แต่การเตรียมตัวเพื่อเข้าตารางของผมนั้นค่อนข้างเข้มข้น ขาดเพียงความสม่ำเสมอ สำหรับคนอื่น ๆ ที่อาจจะไม่ได้ใช้ชีวิตทั้งชีวิตไปกับการซ้อมเรื่อยๆ แบบผมนั้น ผมแนะนำให้มองการเตรียมตัวเป็น 6-9 เดือน จึงจะเหมาะสม โดยช่วงเดือนแรก ๆ เป็นการสร้างพื้นฐาน นั่นหมายถึงระบบ Cardio และ กล้ามเนื้อที่เหมาะสมสำหรับแต่ละกีฬา ในขณะที่ความเข้มข้นของ 4 เดือนหลังนั้น เป็นการยกระดับ Cardio และกล้ามเนื้อให้พร้อมกับการรับการทดสอบการเป็นมนุษย์เตารีด ด้วยความสม่ำเสมอและระยะทางที่นานขึ้น ตารางซ้อมที่ผมใช้นั้น เฉลี่ยแล้วสัปดาห์ละ 10 ชม. มีช่วงกลาง ๆ ของตารางที่เป็นช่วงเข้มข้นก็จะหนักไปถึง  15 ชม. สัปดาห์ที่ผ่อน ๆ ก็จะประมาณ 6-8  ชม นั่นหมายความว่าผมซ้อมเฉลี่ยวันละ 1-2 ชม. เท่านั้น ระยะทางที่ยาวที่สุดที่ซ้อม ว่ายน้ำก็ 3.8 km จักรยาน 150 km และวิ่ง 30 กม. เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ผมมีรายการมาราธอนมากก่อนหน้านี้ และมีการปั่นออแดกซ์ 200 อยู่เรื่อย ๆ

11034041_1068241929883289_1190114121439582096_n

ถ้าหากว่าคุณทำได้เพียงสองข้อนี้ คุณก็จะเป็นไอรอนแมนได้อย่างแน่นอนครับ ผมรับรอง ถ้าคุณสามารถจัดการกับการกินน้ำและอาหารได้อย่างสม่ำเสมอในช่วงปั่น และอย่างน้อย ๆ 3 ใน 4 ของการวิ่ง ความหนักหน่วงของไอรอนแมนสำหรับคนที่ไม่คุ้นเคย มันอยู่ที่การฝึกซ้อม ความต่อเนื่อง ความยาวนานของตารางซ้อมในบางวัน สำหรับใครที่ทำเป็นครั้งแรกนั้น ผมยืนยันได้เลยว่าจะเป็นเหมือนกับผมในปีแรก นั่นคือ รู้สึกได้เลยว่าไอรอนแมนไม่ใช่ระยะที่น่าเล่น เพราะต้องการความทุ่มเทมากเกินความพอดี แต่ถ้าหากได้มีโอกาสทำมันในครั้งที่สอง ความรู้สึกก็จะเปลี่ยนไป ว่ากันว่าจริง ๆ แล้วคำว่าไอรอนแมนมันเกิดขึ้นที่ช่วงเวลาของการฝึกซ้อม วันแล้ววันเล่า อย่างสม่ำเสมอ ส่วนในวันของการแข่งขันนั้น เป็นช่วงเวลาของการเฉลิมฉลอง ความสุข ความยิ่งใหญ่ของการเฉลิมฉลองนั้นจะมากมายเพียงใด ก็ขึ้นกับช่วงเวลาซ้อมที่คุณได้เตรียมมา

คราวนี้เราลองมาดูกันว่าเมื่อคุณมีการเตรียมตัวที่ดี เหมาะสมแล้ว ในวันเฉลิมฉลองของคุณนั้น คุณควรจะวางแผนอย่างไร อย่าลืมว่าสิ่งที่ผมกำลังจะเล่าสู่กันฟังนี้ คือ การนำตัวเองก้าวข้ามเส้นชัย วิ่งถือธงชาติ ชูมือขึ้นฟ้า เฉลิมฉลอง ประโยคที่ว่า You are an Ironman. ไม่ใช่แผนเพื่อจะติดอันดับ Age Group หรือ qualify ไป Kona ดังนั้น แผนการทั้งหมดเราจะเล่นกันฝั่งที่เรียกกันในภาษาออแดกซ์ว่า Redline Specialist เรามีเวลา 17 ชม. ว่ายกับปั่น 10:30 ชม. ว่ายเดี่ยว ๆ 2:20 ชม. แล้วเราควรจะวางแผนจัดการกับมันอย่างไร นี่คือวิธีคิดแบบ Audax Redline Specialist อย่างผม

ผมมีคำแนะนำง่าย ๆ เช่นนี้คือ ว่ายน้ำ 2 จักรยาน 8 วิ่ง 7 รวมกันเป็น 17 พอดี เวลา T1 T2 ก็แอบอยู่ในพวกนั้นแหละ รวม ๆ แล้วไม่เกิน 0.5 ชม. ใจเย็น ๆ ได้ แต่ทรานสิชั่นละ 15 นาทีถือว่ากำลังดี เวลาที่ผมเสนอนั้นเป็นความเร็วพื้น ๆ ที่ใคร ๆ ก็ทำให้ อาจจะมีบวกลบเล็ก ๆ น้อย ๆ ขึ้นกับความถนัดหรือไม่ถนัดในแต่ละกีฬาของแต่ละคน แต่เวลารวมอย่าเกิน 17 ว่ายน้ำอย่าเกิน 2:20 และ รวมไปจนปั่นเสร็จอย่าได้เกิน 10:30

12249942_1068242049883277_4195824912588518452_n

ในการเดินทางไปแข่งขันนั้น ควรจะเดินทางไปถึงอย่างน้อยสองวันล่วงหน้า ซึ่งจริง ๆ แล้วทางผู้จัดก็จะบังคับให้มาลงทะเบียนในสองวันล่วงหน้าอยู่แล้ว และมีเวลาอีกหนึ่งวันที่จะ brief สำรวจเส้นทาง bike check-in และ bags check-in ผมมีคำแนะนำสำหรับผู้ที่ไม่ถนัดกีฬาบางประเภทให้ทำการสำรวจเส้นทางกีฬาประเภทนั้น ๆ เอาไว้ เช่น ว่ายน้ำเป็นอุปสรรค ก็ควรจะจัดเวลาไปว่ายซ้อมสนามจริงที่ผู้จัดมักจะจัดเวลาซ้อมไว้ให้อยู่แล้ว ถ้าเป็นจักรยานก็อาจจะขน หรือ ปั่นไปลองสัมผัสเขาบางเขาที่คิดว่าสำคัญ ถ้าเป็นไปได้ ผมไม่ค่อยเชื่อในการนั่งรถดูเส้นทาง เพราะรู้สึกว่ามันไม่ช่วยให้รู้สึกว่าเส้นทางมันเป็นเช่นไร ผมเอาเวลานั้นมาวิ่งหรือปั่นเบา ๆ โดยไม่สำรวจเส้นทางจะยังดีเสียกว่า การโหลดคาโบร์ ก็โหลดล่วงหน้าประมาณสัปดาห์นึงหรือน้อยกว่า ไม่ควรจัดอะไรพิสดาร ก็แค่เพิ่มส่วนที่เป็นแป้งในอาหารหลักก็น่าจะพอ เลือกขนมที่เป็นแป้ง ๆ เช่น ขนมปังปิ้ง ขนมปังสังขยา อะไรพวกนี้เพื่อเสริมแป้งนอกเวลาอาหารอีกส่วน เดินทางไปแข่งต่างประเทศก็ระวังอาหารที่กินก่อนช่วงแข่ง อย่าเพิ่งทดลองอาหารประหลาด เพราะเราไม่อยากมีปัญหาท้องไส้ก่อนการหรือระหว่างการแข่งขัน ซ้อมเบา ๆ ทุก ๆ วัน หรือใช้การซ้อมเป็นการสำรวจเส้นทางแข่งขันไปในตัว ในคืนวันแข่งขันให้จัดของให้เรียบร้อย ทำ ritual ต่าง ๆ ให้ดี ส่วนใหญ่เราต้องตื่นตีสี่ ถ้าเป็นไปได้ให้นอน 2-3 ทุ่มเพื่อให้ได้ 8 ชม. แต่นอน 5-6 ชม. ก็ไม่ใช่ปัญหาสำหรับผม

เช้าวันแข่งขันตื่นมากินมื้อเช้า 2-3 ชม. ก่อนการแข่งขัน เน้นแป้ง หลากหลายรูปแบบ กินน้ำเยอะ ๆ รอเวลาให้ขับถ่าย ซึ่งมักจะใช้เวลาไม่นานนัก แล้วออกเดินทางไปจุดเริ่มต้น เพื่อไปสำรวจจักรยาน ถ้าเป็นไปได้ให้ยกลงมาปั่นเล็ก ๆ น้อย ๆ สำรวจการทำงานของเกียร์ ติดตั้งน้ำและอาหารเสริมบนรถ ตามที่ได้วางแผนหรือซ้อมมา ผมไม่ได้เตรียมอาหารเสริมอะไรในคราวนี้ มีเพียงกระติกน้ำบรรจุแกเตอเรดสองกระปุกที่นำติดตัวมาเท่านั้น ผมสูบลมให้แน่นขึ้น เพราะปล่อยลมออกเล็กน้อยในช่วง Bike Check-in เพราะความเสี่ยงในการทิ้งจักรยานตากแดดไว้นาน ๆ คือ ยางระเบิด ดังนั้นขั้นตอนแรกในการกลับมาคือสำรวจว่าเกิดขึ้นกับจักรยานของเราหรือไม่ บรรจุทุกอย่างเรียบร้อยแล้วก็นำ Bags ต่าง ๆ ไปฝากเพื่อจะได้พร้อมในการทำกิจกรรมอื่น ๆ ต่อ ๆ ไป เราควรจะกินน้ำเรื่อย ๆ ในช่วงนี้ คราวละครึ่งแก้วเพื่อสะสมน้ำในระบบ ในการว่ายน้ำสองชั่วโมงนั้นเราจะไม่มีโอกาสได้ดื่มน้ำเลย เราจึงต้องดูดเข้าระบบเอาไว้ โดยปกติแล้ว ผมจะซื้อแกเตอเรดมา 4 ขวดในตอนกลางคืน เปิดใส่กระปุกเอาไว้ซึ่งจะใช้ประมาณเกือบ ๆ สามขวด ผมจะดื่มส่วนที่เหลือให้หมด พร้อมกับบางส่วนของขวดที่ 4 และดื่มขวดที่ 4 ให้หมดหลังตื่นนอนพร้อมกับอัดขนมปังไปสักสองสามแผ่น ก่อนที่จะหาอาหารเช้ากินเป็นเรื่องเป็นราว หลังจากนั้นก็ถือขวดน้ำขวดนึงค่อย ๆ เดิมไปเรื่อย ๆ ในเวลา 2 ชม. ที่เหลือก่อนแข่ง พอฝากถุงทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว ส่วนใหญ่ก็จะได้เวลาไปปลดปล่อย หลังจากนั้นก็จะมีเวลาที่จะวอร์มอัป แต่ในระยะไอรอนแมน ผมไม่ค่อยเห็นประโยชน์ของการวอร์มอัปมากเท่าไร เพราะระยะเวลาการแข่งขันมันยาวนานมาก ผมวางแผนที่จะใช้ว่ายน้ำช่วงแรก ๆ เป็นการวอร์มอัป

12247158_1234060123277737_8536027418264730672_n

ในรายการไอรอนแมนนั้นจะมีความพิเศษกว่าระยะอื่น ๆ คือ เราจะมีโอกาสเตรียมสิ่งของพิเศษที่จะมาคว้าไปใช้ได้ ในช่วงปั่น และช่วงวิ่ง ที่เรียกว่า Specia Needs Bags ซึ่งในคู่มือก็แนะนำว่า อาจจะเป็นวาสลีน ครีมนวด หรือ อาหารพลังงานพิเศษที่เตรียมไว้ ในปีที่แล้ว ผมเตรียมอาหารประเภทขนมปัง และวางแผนที่จะมาคว้าในรอบที่สองของการแข่งขัน แต่ในปีนี้ผมมีแผนที่แตกต่างกัน ผมเตรียมสเปรย์ อาหารเสริมเป็นข้าวต้มมัด และ พาวเวอร์บาร์สองอัน สำหรับการปั่นจักรยาน และคว้ามาเก็บไว้ในทันทีที่เริ่มปั่น ส่วนสำหรับวิ่ง ผมก็มีอาหารอีกชุดเป็นข้าวต้มมัดเช่นเคย เสริมด้วยฝอยทอง และสเปรย์อีกขวด (กันหมด) และก็คว้าในรอบแรกของการแข่งขันเช่นเดิม ซึ่งผมรู้สึกว่า Special needs bags ที่ผมจัดในรอบนี้ ทั้งสิ่งที่เตรียมมาและการคว้ามาใช้ในทันทีในรอบแรกที่ผ่านเข้าไป มีส่วนเป็นอย่างมากที่ทำให้ผมพิชิตมนุษย์เตารีดครั้งนี้ได้ ทั้งนี้เนื่องจากได้รับอาหารที่เราเลือกมาเอง เป็นอาหารที่ช่วยกระตุ้นความอยากอาหารอื่น ๆ (อร่อยกว่าเจล) และการมีสเปรย์ติดตัวไว้ใช้ตลอดเวลาก็เป็นประกันที่ดี ซึ่งผมได้เอาออกมาใช้หลายต่อหลายครั้งทั้งในช่วงปั่นและวิ่ง

ในการแข่งขัน ผู้จัดจะให้ประเมินเวลาการว่ายน้ำในใบสมัครเพื่อที่จะจัดสีหมวกกำหนดช่วงเวลาปล่อยตัว การปล่อยตัวเป็นแบบปล่อยทีละกลุ่มย่อย ๆ 4-5 คน ที่เรียกว่า Rolling Start ไม่ใช่ Mass start ที่จะปล่อยวิ่งลุยกันเป็นกลุ่ม ซึ่งจะทำให้ลดความเครียดและเกิดความปลอดภัย ผมแนะนำให้ลงเวลาประเมินตามจริง เพื่อที่เราจะได้ว่ายร่วมกับกลุ่มที่มีความเร็วใกล้เคียงกัน ลดปัญหาปลาตีน การโดนทุบ ถ้าว่ายน้ำเป็นกีฬาที่ไม่ถนัด ผมแนะนำให้เริ่มคนแรก ๆ ของ wave ที่เราเลือก เพื่อที่จะได้เวลา cut off ที่ไม่มีความเสี่ยง ผมคิดว่าวิธีที่ดีที่สุดสำหรับการว่ายน้ำในรายการไอรอนแมนคือระบบ Total Immersion การว่ายโดยเน้นการใช้แขน การ Glide และติดไปในทาง low cadance มีการใช้ขาค่อนข้างน้อย ใช้เพื่อทรงตัว และ roll body เท่านั้น การว่ายน้ำแบบนี้จะช่วยให้ได้ความเร็วจากประสิทธิภาพของการดึงแขน การบิดตัว และการ  Glide มากกว่าการใช้พลังงานทุกสัดส่วนของวิธีการว่ายน้ำรูปแบบอื่น ๆ  ระยะทาง 3.8 km ในเวลา 2 ชม. เราต้องการ pace 3:00 ต่อ 100 เมตรเท่านั้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่เหลือบ่ากว่าแรง ว่ายความเร็วนี้น่าจะไม่เกินโซน 2 หรือ 3 ต้น ๆ ค่อนข้างปลอดภัย กล้ามเนื้อที่ใช้เน้นการใช้แขน มีเตะขาตามจังหวะ ซึ่งจะประหยัดพลังงาน และแรงขาเป็นอย่างมาก ในวันแข่งจริง ๆ นั้น ผมว่ายประมาณ 2:00 ต่อ 100 เมตร ทำให้เวลาจบจริง ๆ เพียง 1:20 ชม. แบบไม่ค่อยเหนื่อย ผมมีเวลา spare ไว้แล้ว ครึ่งขั่วโมงจากที่วางแผนไว้ แต่สำหรับมือใหม่หัดว่ายอาจจะได้ประมาณ 2 ชม.บวกลบนิดหน่อย ซึ่งรวม T1 ไป 15 นาทีก็กินเวลาปั่นไปไม่มากนัก

1182_006142

ในการซ้อมว่ายน้ำถ้าจะเอาง่ายที่สุดสามารถว่ายยาว ๆ 1500, 2000, 3000 หรือ กำหนดเป็นเวลา 1, 1.5, 2 ชม เอาก็ได้ เน้นฟอร์ม โฟกัสการใช้แขนให้ดี (คำแนะนำสำหรับมือใหม่ทางการว่ายน้ำจริง) ถ้าอยากให้ดีขึ้นก็นับจำนวนแขน พยายามให้น้อย ๆ และคงที่ ถ้าเริ่มเยอะก็โฟกัสท่าทาง การจับน้ำดี ๆ ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ เวลาก็จะดีขึ้นเอง ส่วนใครที่เริ่มว่ายน้ำเก่งแล้วก็อาจจะหาคอร์ทมาลอง มันสปรินท์บ้างไรบ้างแก้เบื่อ ในเวลาแข่ง ผมเลือกที่จะใส่ชุดไตรเต็มตัว เพราะเวลาถ่ายรูปจะดูสวย เพราะเมื่อปีที่แล้วใส่เฉพาะกางเกงแล้วมันดูไม่ค่อยดี และเมื่อมา T1 ก็เปลี่ยนชุดซึ่งผมก็แนะนำให้เปลี่ยนไปใช้ชุดจักรยานทั้งชุดไปเลย กางเกงดี ๆ ที่พร้อมรับงานหนัก 180 กม. เสื้อจักรยานที่มีกระเป๋าหลังเอาไว้ใส่ของกิน บางครั้งกระบอกน้ำ และสเปรย์ เสื้อผ้า หมวก แว่น และอื่น ๆ จะถูกเตรียมไว้ใน Bike Bag มีเพียงรองเท้าที่มีให้เลือกว่าจะติดไว้กับจักรยานหรือเอามาใส่พร้อม ๆ กับเครื่องแต่งตัวอื่น ๆ ผมแนะนำให้เอามาใส่พร้อมกันไปเลย ผมรู้สึกว่าจากการว่ายน้ำมา 1.5-2.0 ชม. แล้วการใส่รองเท้าแล้วค่อย ๆ ประคองตัวออกไปเรื่อย ๆ ไม่รีบเร่งนัก จะช่วยเป็นการเตรียมตัวที่ดีสำหรับการปั่นที่จะตามมา แทนที่จะรีบเร่งวิ่งเท้าเปล่าออกไป หาจักรยานแล้วใส่รองเท้าบนจักรยาน เพราะนอกจากจะดูไม่จำเป็นแล้ว ยังต้องมาตระเตรียมการแขวนรองเท้า รัดหนังยาง หรือเสี่ยงกับรองเท้าหลุดจากบันไดตอนเข็น ไม่ค่อยคุ้มกัน แต่ถ้าการแข่งระดับโอลิมปิกหรือ 70.3 ที่มีระยะว่ายน้ำสั้นกว่านี้มาก อาจจะเตรียมตัวแตกต่างกัน

เมื่อถึงเวลาปั่น เรามีเวลาอีก 8 ชม. ในการจัดการ 180 km. ซึ่งคิดเป็นความเร็วเฉลี่ย 22 เท่านั้น ถือว่าช้ามาก ๆ และทุกคนน่าจะจัดการได้อย่างไม่เป็นปัญหา เวลามีบวกลบเล็กน้อยขึ้นกับผลของการว่ายน้ำ และการใช้เวลาในการแต่งตัว โดยมากแล้วความเร็วนี้ทุก ๆ คนสามารถเลี้ยงตัวเองในโซนสองได้โดยไม่ยาก ซึ่งทำให้ประหยัดพลังงาน กินอาหารง่าย เก็บแรงขาไว้สำหรับมาราธอนที่จะตามมาได้ สำหรับผมนั้น ปีนี้ผมวางแผนไว้ 7:30 ชม เพราะปีนี้ความแข็งแรงผมเพิ่มขึ้น ผมรักษา power zone 2 ไว้ได้ที่ความเร็วประมาณ  25-28 แม้ว่า HR ในช่วงท้าย ๆ จะมีอาการ drift ขึ้นไปโซน 3 บ้างแต่ก็ไม่ใช่เรื่องน่ากังวล การรักษา HR ไม่ให้  drift เลยนั้น ต้องอาศัยฐานที่แกร่งมาก ๆ ซึ่งยังไม่ถึงกับจำเป็นในงานไอรอนแมนนี้

11058086_1233526099997806_2028243179698462793_n

อีกเทคนิคที่ผมใช้คือ ผม spin ทุกครั้งที่เป็นการขึ้นเขา เพื่อเก็บแรงขา โดยทั่วไปแล้ว จานหน้า Compact กับเฟืองหลัง 11-28 ก็เพียงพอกับสนามลังกาวี เพราะเราต้องการ power สูงที่สุดประมาณ 180 วัตต์ในการไต่เขาทุกเขาที่มี แตกต่างกันเพียงแค่บางเขาต้องลากนานหน่อยเท่านั้น ซึ่งในการซ้อมคุณควรที่จะมีการตระเตรียมสถานการณ์แบบนี้เอาไว้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นการปั่น Zone 3 ลากยาว ๆ แล้วพักแล้วลากต่อ Zone 4 ยาว ๆ 10, 15, 20 นาที เหมือนการทำการทดสอบ FTP  หรือสปรินท์ VO2Max สั้น ๆ สองสามครั้ง ก่อนสิ้นสุดการปั่นยาว ๆ  การซ้อมประเภทนี้ จะทำให้เกิดความคุ้นเคยกับการดึง HR ไประดับสูง ๆ แล้วอดทนให้ได้เวลาตามต้องการ รวมไปถึงจะช่วยเพิ่มกำลังขา FTP ที่จะมีประโยชน์ในการลากยาวเขาที่มีความชันสูงและค่อนข้างยาว สิ่งที่สำคัญคือ คุม HR ให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ลุกขึ้นปั่นถ้าไม่จำเป็น จับ Hood หรือ Bar ยืดตัว หายใจให้เต็มปอด ใช้แขนดึงสลับซ้ายขวากับจังหวะกดขาเพื่อสร้าง leverage ถ้ากำลังขาเริ่มไม่พอ ก็ลุกขึ้นยืน ทิ้งน้ำหนัก 2-3 จังหวะแล้วนั่งลงใหม่ ในการซ้อมนั้นจริง ๆ แล้ว ผมแนะนำให้ซ้อมการยืนโยกแบบนี้บ่อย ๆ อาจจะทุกครั้งที่ขึ้นสะพาน เพื่อเสริมทักษะ ถ้าจังหวะการโยกดี HR จะเพิ่มขึ้นไม่มาก จะช่วยให้คุณพิชิตเขาได้มากขึ้นมาก เพราะถ้าหากคุณต้องลงเข็น เวลาที่เสียไปนั้นจะสูงมากและประเมินลำบาก อาจจะทำให้มีการผิดพลาดเกิดขึ้นได้ เรื่องการเตรียมตัวปั่นขึ้นเขาจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ไม่ใช่เรื่องของความภูมิใจ ขาแตะพื้นหรือไม่แตะพื้น กำลังขาที่ใช้ในการปั่นขึ้นแบบถูกวิธีนั้น แทบไม่ต่างกับการเข็นขึ้นโดยใส่รองเท้าจักรยานเลย แต่เวลาที่จะใช้นั้นมีความเป็นไปได้ที่จะแตกต่างกันในระดับครึ่งชั่วโมงขึ้นไป แต่สิ่งสำคัญคือคุณต้องไม่ blow HR จะถึงในระดับที่ใกล้เป็นลม เพราะนั่นหมายถึงคุณจะต้องใช้เวลาในการ recover ในช่วงลงเขา คุณจะไม่สามารถเร่งลงเขาได้ สมองทำงานช้าและบีบเบรคบ่อย ถ้าไม่ก็จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น

ความรู้สึกที่ควรเกิดขึ้นเมื่อถึงยอดเขาคือ ความสุขใจที่ผ่านพ้น สามารถหายใจตามปกติได้ คว้าน้ำขึ้นมาจิบได้ เปลี่ยนเกียร์เพื่อเตรียมลงได้ ไม่ใช่หมดจนไม่อาจจะทำอะไรได้ต้องปล่อยไหลลงไป ลืมแม้กระทั่งการเปลี่ยนเกียร์ จิบน้ำ นั่นหมายถึงคุณลาก HR สูงและนานเกินความสามารถ และการทำแบบนี้บ่อย ๆ แหล่งพลังงานคุณจะหมดอย่างรวดเร็วอาจจะมีใช้ไม่พอสำหรับการแข่งขัน ในการแข่งขันรอบนี้ผมเข้า food station ที่มีทุก ๆ 20 กม. ครบทุกอัน ผมเลือกที่จะรับ special need bag ตั้งแต่รอบแรกเพื่อที่จะรับอาหารที่ผมอยากกินมาใช้กินก่อน ต่างจากปีที่แล้วที่มารับรอบที่สอง การรับอาหารของตัวเองมากินก่อนแล้วจัดการเรื่องการกินอย่างรวดเร็วในตอนแรกนั้น ทำให้การกินเป็นเรื่องง่าย ผมกินอาหารทุก ๆ ครึ่งชั่วโมง ซึ่งเป็นข้าวต้มมัดแม่นภา และจิบแกเตอเรดไปเรื่อย ๆ ให้ได้กระปุกละประมาณ ชั่วโมง ผมเตรียมมาเพียงสองกระปุก และรู้ว่าผมจะไม่ได้รับมันอีก เนื่องจากในงานลังกาวีนั้น เขาแจก 100 Plus ซึ่งมีแก๊สด้วย ผมไม่สามารถกินแก๊สระหว่างแข่งขันได้ การรู้รสชาติและเตรียมแผนเพื่อรองรับ energy drink ที่แจกโดยงานแข่งขันก็เป็นกลไกที่จำเป็นต้องเตรียมให้ดี เนื่องจากในการซ้อมผมใช้แกเตอเรด สลับกับน้ำเปล่าเป็นหลัก ในรายการแข่งนั้น มักจะเป็นเครื่องดื่มประเภทอื่นซึ่งผมไม่สามารถใช้งานได้ ผมจึงต้องออกแบบการเพิ่มพลังงานเข้าไปชดเชยแทนแกเตอเรดซึ่งมีพลังงานประมาณ 100 cal  ที่ผมจะจัดเข้าไปให้ตัวเองทุก ๆ ชั่วโมง ในงานนี้ผมเลือกที่จะเข้ารับ กล้วย และเจลหนึ่งซอง บีบกินในทันทีแล้วตามด้วยน้ำ 1/4 กระบอก ผมเปลี่ยนน้ำสองกระบอกทุกครั้งที่เข้าจุดให้น้ำ (หลังจากที่ผมจัดการแกเตอเรดสองกระบอกแรกที่เตรียมมาหมดแล้ว) น้ำเย็นจะกระตุ้นให้มีการจิบบ่อยขึ้น และช่วยในการดูดซึมได้ดีกว่าน้ำอุ่น เมื่อระยะมันประมาณ 20 กม. ก็จะใช้เวลาประมาณ 45 นาทีต่อเจลหนึ่งถุง ระหว่างนั้นผมก็จัดการอาหารแข็งหนึ่งอย่าง ซึ่งรวม ๆ แล้วผมน่าจะได้รับพลังงานเพิ่มเข้าไปชั่วโมงละประมาณ 200-250 cal. ยกเว้นในช่วงแรกที่ผมกินอาหารแข็งทุกครึ่งชั่วโมงและเสริมด้วยแกเตอเรด รวม ๆ แล้วช่วงสองชั่วโมงแรกผมน่าจะได้พลังงานเข้าไป 300-400 cal. การรีบใส่อาหารในช่วงแรกนั้นช่วยผมได้มาก เพราะเมื่อระยะเวลาปั่นนานขึ้นเรื่อย ๆ ความเหนื่อยจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้น HR เริ่ม drift อัตราการกินน้ำและอาหารแข็งจะค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ ในบางคนถึงกับเหนื่อยจนกินไม่ลง แถมยังมีเรื่องความเสี่ยงของการปวดท้อง มวนท้องจากการย่อยอาหารไม่สะดวกเนื่องจากการออกกำลังกายอย่างหนักที่จะตามมาอีก ดังนั้นการเริ่มต้นด้วยการเร่งกินสำหรับผมนั้น ค่อนข้างได้ผลในคราวนี้ เพราะท้าย ๆ ของการปั่น ความสามารถในการกินของผมก็ลดลงเรื่อย ๆ อย่างที่คาดการณ์เอาไว้ แต่ไม่เป็นไรเพราะผมได้เตรียมการไว้แล้ว

1182_012598

การจัดสนามปั่นในปีนี้ถือว่าใจร้ายกว่าปีที่แล้ว เนินสามเนินสุดท้ายแม้จะไม่ได้ชันมากเวอร์ แต่ยาวและต่อเนื่องกันสามลูก กลับมาเจอที่ระยะประมาณ 155 กม. สภาพกำลังน่วม แม้ว่าจะไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่โตสำหรับผม แต่ก็เป็นปัญหากับหลาย ๆ คน ผมเจอคนจีนที่ปั่นนำหน้าเกิดตะคริวกินขาสองข้างจนต้องล้มตัวลงนอนพร้อมจักรยาน ร้องให้ช่วยโอดโอย ผมปั่นผ่านไปพร้อมกับถามตามมารยาท เพราะในใจคิดว่าตะคริวนั้นเพียงแค่พักสักพักก็จะหายได้เอง ผมตะโกนถาม “Are you ok?” เขาดันตะโกนกลับมาว่า “I’m not ok. Help me!” ซวยละผมกำลังกัดฟันอัดขึ้นไป เขาขอให้หยุดช่วย ทำไงได้ก็ต้องหยุดเพื่อช่วยเขา แต่พอหยุดเท่านั้น ผมก็หน้ามืด ผมพยายามยืนทรงตัวไม่ให้ล้ม แต่แล้วก็เกิดตะคริวที่ต้นขาทั้งสองข้างจนต้องยอมล้มตัวลงนอนไปข้าง ๆ คนจีนที่ผมจะช่วยนั่นเอง ผมล้วงเอาสเปรย์มาฉีด แล้วยื่นให้คนจีน ที่เริ่มลุกขึ้นกำลังจะขยับตัวออกไป เมื่อเขาฉีดเรียบร้อย ขอบคุณผมเล็กน้อยก็ลุกเข็นจักรยานขึ้นไป ผมเลือกที่จะยืดเหยียดสักพัก ฉีดสเปรย์อีกครั้งพร้อมกับนวดทั้งสองขาก่อนที่จะยกจักรยานขึ้นปั่น และแซงคนจีนคนนั้นไปก่อนที่จะถึงยอดเนิน ทุกครั้งที่ลงเนินเป็นความถนัดส่วนตัวของผม และส่วนใหญ่ทางลงไม่ได้คดเคี้ยวมากนัก ผมสามารถทำเวลาได้ค่อนข้างดี ความเร็วสูงสุดในคราวนี้ผมได้มาถึง  73 km/hr เลยทีเดียว

ในช่วงปั่นจักรยานนั้นผมเลือกที่จะพก power bar ที่เขาแจกมาไว้ด้วย แต่เลือกที่จะจอดกินข้างทาง เพราะมันต้องเคี้ยวแล้วกรอกน้ำตาม ผมจอดกินที่ระยะประมาณ 100 km ถือเป็น lunch break สำหรับผม เป็นการพักขา พักเท้า คลายเครียดที่เกินครึ่งทางมาแล้ว ระหว่างพักก็พบกับกองเชียร์ชาวสิงคโปร์ก็ได้คุยกันสนุกสนาน ก่อนที่จะออกตัวไปเพื่อจัดการ 80 km สุดท้ายของการปั่น ช่วงท้าย ๆ ผมเริ่มสวนกับเพื่อน ๆ ที่มาแข่งด้วยกันหลาย ๆ คน เวลาว่ายน้ำรวมปั่นของผมถือว่าค่อนข้างเร็ว แม้ว่าจริง ๆ แล้วจะไม่ได้เร็วนัก เพราะว่ายน้ำผมทำเฉลี่ยได้แค่ 2 นาที และผมจบการปั่นที่ 7 ชมพอดีเป๊ะ ความเร็วเฉลี่ยประมาณ 26.6 km/hr เร็วกว่าที่คาดไว้ครึ่งชั่วโมง เป็นผลให้กองเชียร์เด็ก ๆ ของผมมาช้าครึ่งชั่วโมงในทุก ๆ จุดที่ผมกำหนดเวลาไว้ให้ ก่อนเข้า T2 ผมถอดรองเท้าล่วงหน้าค่อนข้างนานเพื่อให้เท้าได้ผ่อนคลายเล็กน้อยก่อนที่จะต้องถูกใช้งานในอีกรูปแบบ ผมเลือกที่จะห้อยรองเท้าทิ้งไว้ที่จักรยานในช่วง T2 เพราะรู้สึกว่าการได้เดินเปลือยเท้าเข้ามาจะช่วยเตรียมสำหรับการวิ่งได้ดีกว่า

1182_022957

ผมเข้า  T2 แบบสบาย ๆ มีเวลาเหลือ 8 ชั่วโมงสำหรับมาราธอน ผมเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวอีกครั้ง ผมเลือกใช้เสื้อไตรกีฬารัดรูปในการวิ่ง กางเกงนั้นผมไม่ได้เปลี่ยนเพราะใส่ขาสั้นไตรกีฬาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ไม่ได้ใช้กางเกงจักรยานเต็มสูตร เนื่องจากในวันฝากกระเป๋าผมลืมเอากางเกงวิ่งที่กะจะเปลี่ยนมาใส่ถุง ทำให้ต้องใช้กางเกงไตรตั้งแต่การปั่นไปจนวิ่ง แต่ก็ไม่ได้ทำให้เกิดปัญหาอะไร การใช้เสื้อไตรกีฬาในการวิ่งนั้นมีประโยชน์หลายอย่างเมื่อเทียบกับเมื่อปีที่แล้วที่ผมใช้เสื้อวิ่งหลวม ๆ การใช้เสื้อฟิต ๆ นั้น สามารถทำให้อาหารและสเปรย์ที่ใส่ในกระเป๋าหลังไม่กระเด้งไปมาจนน่ารำคาญ และดูเหมือนว่าเสื้อรัดรูปจะระบายความร้อนได้ดีกว่า ในช่วงที่ผมต้องวิ่งนั่นคือ 4 โมงเย็น ถ้าเป็นเวลาบ้านเราคือ  3 โมงเท่านั้น แดดยังร้อนแรง การวิ่งรอบสนามบิน เป็นช่วงที่ทรมานน่าดู ปีนี้ผมออกวิ่งแบบสบาย ๆ ด้วยเพซ 6 นิด ๆ แบบไม่เหนื่อย แต่ผมกังวลว่าจะใช้พลังงานมากเกินไป จึงออกกฏให้เดินตลอดช่วงจุดให้น้ำทุก ๆ สองกิโล แต่ด้วยความร้อน HR ผมก็เริ่มลอยไปโซนสาม ผมจึงกำหนดกฏเกณฑ์ใหม่ซึ่งลอกมาจาก คุณนุ๊กแวนแกงค์ที่วิ่งเป็นเพื่อนผมเมื่อปีที่แล้วในรายการ CLP นั่นก็คือ เดินทุกครั้งที่มีร่ม แล้ววิ่งทุกครั้งที่มีแดด ผมใช้เกณฑ์นี้ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ สามารถควบคุม HR ให้ไม่เกิน 150 ได้ค่อนข้างตลอด เราต้องวิ่งรอบเส้นทางเดิมเป็นจำนวน 2.5 รอบ ผมใช้เกณฑ์นี้ไป 1.5 รอบ แล้วพบว่าผมเหลือเวลาอีกมากมายสำหรับ 17 km สุดท้ายของวันนี้ ผมทำได้ประมาณเพช 8 กว่า ๆ ผมคำนวณคร่าว ๆ ถ้าผมทำเพช 9 กว่า ๆ เกือบ ๆ 10 กับระยะทางที่เหลือ ผมก็จะจบที่เวลา 15 ชม. พอดี ๆ ในรอบสุดท้ายผมจึงปรับกลยุทธอีกครั้งเพื่อลดความเสี่ยง เพราะในตอนนี้ผมไม่อยากกินอะไรเท่าไรแล้ว มีจิบน้ำแก้วเดียว แตงโมหนึ่งซีกในทุก ๆ สองกิโล ผมรู้สึกว่ามันน่าจะไม่พอสำหรับการวิ่งเกินโซนสอง ผมจึงกำหนดไม่ให้ HR ของผมเกิน 140 ในช่วงท้ายของมาราธอน ส่งผลให้ผมแทบไม่สามารถวิ่งได้เลย ทันทีที่ก้าววิ่ง HR ก็โดดขึ้นอย่างรวดเร็ว เหมือนหยุดเดิน ก็ใช้เวลานานมากกว่าจะลดลงต่ำกว่า 130 ที่ผมจะเริ่มวิ่งอีกครั้ง แต่โชคช่วยที่มีฝนโปรยลงมาในช่วงสุดท้าย ความรู้สึกผมดีขึ้น ผมเปลี่ยนเป็นวิ่งทุกครั้งที่มีไฟสว่างและเดินเมื่อเจอความมืด หรือบางทีก็สลับกันไป วิ่งไปหาแสงไฟ แล้วเดินช่วงที่มีแสงไฟ ตามแต่ความรู้สึกของผม

มาราธอนครั้งนี้ถือว่าเป็นมาราธอนที่รู้สึกดีที่สุดของผม ผมไม่รู้สึกล้าขาเท่าใดนัก ที่ควบคุมไม่ได้คือ HR เท่านั้น แต่ผมก็พยายามคุมไม่ให้สูงเกินโซนสองในท้ายสุด เมื่อถึงระยะ 30 กม. เจ้านาฬิกาของผมก็ตายไป ผมไม่สามารถรับรู้ความเร็วและ HR อีกต่อไป ผมวิ่ง 12 km สุดท้ายด้วยความรู้สึก แต่ความรู้สึกส่วนใหญ่ของผมบอกให้ผมเดิน ผมวิ่งบ้างเล็กน้อยเวลาเจอผู้คน กองเชียร์ เวลาเงียบ ๆ เหงา ๆ มืด ๆ ก็เดินไปเรื่อย ๆ นับถอยหลัง 10, 8, 6, 4 จนในที่สุด 2 km ที่ผมกะไว้ว่าจะวิ่ง สุดท้ายผมก็ขี้เกียจ จะมาวิ่งอีกครั้งก็ช่วงเลียบหาดสุดท้ายระยะ 200 กว่า ๆ เมตรก่อนเข้าเส้นชัย แล้วผมก็กลายเป็นไอรอนแมนด้วยเวลารวม 15:02 ชม ใช้เวลาวิ่งไปประมาณ 6:20 ชม

CT1182_025322

น่าเสียดายที่ผมซ้อมวิ่งไม่ค่อยได้ระยะตามที่ตั้งใจ วิ่งยาวของผมได้ไปเพียง 27 กม. แบบไม่ต่อเนื่อง แต่ผมรู้สึกได้ว่าการใช้ชีวิตแบบ time on foot นั้นช่วยให้กล้ามเนื้อขาของผมแกร่งขึ้นมาก ความล้ามีน้อยมาก ผมใช้วิธีการวิ่งไป ๆ มา ๆ ตั้งแต่เช้าวิ่งไปกินข้าวเช้าวิ่งกลับ อาจจะเป็นระยะไปกลับเพียง 3 กม. บางวันก็อ้อม ๆ หน่อยได้ไป อีก 3 บางวันก็ได้รวม ๆ 8-10 กม. ช้า ๆ เป็นเพียงการ run commuting ไม่เชิงเป็นการซ้อมมากนัก ผมมีซ้อม tempo บ้างในช่วงแรก ๆ ของตาราง วิ่งยาวได้ประมาณ 20 กม ต่อเนื่องเท่านั้น การซ้อม brick ก็ค่อนข้างจำกัด เพราะหลังจากปั่นมายาว ๆ ภรรยาเริ่มหงุดหงิด พอเก็บจักรยานแล้วจึงไม่ค่อยกล้าออกไปวิ่งต่อ แต่ก็พยายามจัดวันวิ่งหลังวันปั่นยาว ซึ่งถือว่าช่วยได้ดีในปีนี้

ผมเช้าเส้นชัยมานวดที่เขาจัดไว้ให้ มีถังน้ำแข็งสำหรับแช่เท้า มีเจ้าหน้าที่มาช่วยเช็ดตัว นวดไหล่ให้ก่อน แล้วช่วยถอดถุงเท้ารองเท้า โดยไม่มีความรังเกียจเลยแม้แต่น้อย (เขาใส่ถุงมือ) ซึ่งเป็นความประทับใจหนึ่งของรายการนี้ เจ้าหน้าที่ในทรานสิชั่นช่วยเหลือเป็นอย่างมาก ช่วยเทของออกจากกระเป๋า ช่วยใส่เสื้อให้ในกรณีผมที่ใส่เสื้อรัดรูปสำหรับการวิ่ง ดึงเองไม่ค่อยลง หยิบโน่นนี่นั่นยัดกลับใส่ถุงให้ ไม่ว่าจะเป็นถุงเท้าเน่า ๆ หมวกเสื้อใช้แล้ว สร้างความประทับใจให้ผม ช่วยลดความเครียด สับสน งุนงง เนื่องจากความเหนื่อยล้าได้เป็นอย่างดี หลังจากรับบริการ sport massage แล้วซึ่งสบายมาก ๆ ผมก็ไปหาของกินซึ่งก็กินได้ไม่ค่อยมากนัก ผมพยายามหาพาสตา และซดซุปร้อน ๆ ชามใหญ่ ๆ รอจนหมอนกเข้าเส้นชัยมาห่างจากผมประมาณหนึ่งชั่วโมง หมอนกใช้เวลาวิ่งเพียง 5 ชม.เศษ ๆ เท่านั้น ทันทีที่เราเจอกันก็ทักกันทันทีว่า มันไม่ค่อยเหนื่อยเท่าไรเลย สบายมาก ๆ ยังต่อได้อีก ตามมาตรฐานของเผ่า V40 เรารู้สึกกันเช่นนั้น นั่นเป็นความรู้สึกแรก ๆ และเป็นความรู้สึกที่ผมต้องการจะบอกต่อ ชี้โพรง และเชิญชวน แม้ว่ามันไม่ได้เหนื่อยหนักโหดร้ายในวันเฉลิมฉลองของเรา แต่การได้สมัคร ซ้อมอย่างหนักหน่วงนั้น มันทำให้เราเป็นไอรอนแทนไปแล้ว ก่อนที่จะมีเฉลิมฉลอง ตีตราอีกครั้งที่สนามแห่งนี้ ผมเชื่อว่าใคร ๆ ก็เป็นไอรอนแมนได้ ตามที่ได้กล่าวเล่ามาข้างต้นนั่นเอง

12219347_1068985896475559_4930892196648334285_n

และในครั้งนี้ผมก็ได้จัดการระดมเงินบริจาค #ForZuri  เพื่อหอบริบารทารกแรกคลอด รพ.สงขลานครินทร์เช่นเคย โดยบริจาคเป็นนาที เวลารวมการแข่งขัน IronKids ของเด็ก ๆ และเวลาของผมวันนี้รวม 962 นาที ผมเองบริจาค 3 บาทต่อนาที เป็นเงิน 2886 บาท มีผู้ร่วมจิตศรัทธาครั้งนี้ ได้แก่ พี่ใหญ่พี่มิ๊กกี้ของเราเสนอมาถึง  10 บาทต่อนาที เป็นเงิน 9620 บาท ได้รางวัลอานบรูคซ์ไปครอง พี่ชมพู่สมทบ 1000 หมอนกสมทบ 1600 และพี่ป้อม ที่ทำเวลาไปได้ 13 ชม.นิด ๆ ร่วมมาอีก 3000 บาท รวมเป็นเงินประมาณ  18,106 บาท ครับผม หวังว่าบทความนี้จะทำให้ไอรอนแมนเข้าถึงง่ายขึ้นสำหรับทุกคน ถ้ามีอะไรให้ช่วยก็ยินดีครับ

 

Shower in hell : มหันตภัยใกล้ครอบครัว

เช้าวันเสาร์ ผมตื่นมานำจักรยานออกไปปั่นไม่ต่างจากทุก ๆ เสาร์ แต่คราวนี้ระยะทางไม่ยาวมากนักเพราะผมเพียงต้องการสัมผัสเส้นทางบางส่วน คุณภาพถนน และบรรยากาศทั่ว ๆ ไปของเกาะบินตัน ประเทศอินโดนีเซีย เกาะชายขอบของประเทศที่สิงคโปร์เช่าพื้นที่พัฒนาให้รีสอร์ทระดับไฮเอนท์เข้ามาพัฒนา เพราะห่างจากสิงคโปร์เพียง 1 ชั่วโมงด้วยเรือ เฟอร์รี่ เราเข้าพักในห้อง type ใหญ่ที่สุดของโรงแรมที่วางตัวเองให้เป็นระดับห้าดาว แต่ผมมอง ๆ สภาพความเก่าและระดับการบริการแล้วผมคงให้แค่สี่ แต่ราคานั้นไม่ต้องพูดถึงเพราะเป็นราคาสิงค์โปร์ เสาร์นี้เหมือนกับอีกหลาย ๆ เสาร์ที่ผมใช้เวลาในการผ่อนคลายและจัดการเกี่ยวกับการลงทะเบียนเพื่อการแข่งขันในวันรุ่งขึ้น สำหรับชีวิตที่แข่งเฉลี่ยสองเดือนครั้งมาตลอดยี่สิบกว่าปี มันกลายเป็นกิจวัตรที่ไม่สร้างความตื่นเต้นหรือกังวลใด ๆ เลย ผมแทบไม่ทราบว่าวันนี้นั้นจะเปลี่ยนแปลงชีวิตของผมอีกครั้ง

11921711_1162948117065099_4941339402021949332_n-2

ผมกลับมาที่โรงแรมพอให้มีเวลาเหลือสำหรับอาหารเช้านิดหน่อย แต่เด็ก ๆ ต้องการที่จะให้พาไปว่ายน้ำผมจึงพาพวกเขาไปเปลี่ยนเสื้อผ้าบนห้อง เพื่อให้เวลากับภรรยาอีกเล็กน้อยกับอาหารเช้า เด็ก ๆ โตก็เปลี่ยนเสื้อผ้าได้เองแล้ว ส่วนเจ้าตัวเล็ก ฮารุ ผมยังต้องเปลี่ยนชุดให้เขาอยู่ ผมถอดเสื้อผ้าและผ้าอ้อมเขาออกแล้ววางเขาลงที่อ่างอาบน้ำ เพื่อจะล้างก้นให้เขาเล็กน้อยก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นชุดว่ายน้ำ ผมเปิดน้ำที่อ่างอาบน้ำ แล้วคว้ามือจับฝักบัวสายอ่อนไว้ในมือข้างซ้าย สายน้ำพุ่งของจากก๊อกลงอ่างรวดเร็วรุนแรง เป็นไปตามปกติของระบบน้ำของโรงแรมระดับห้าดาวทั่วไปที่ผมเองก็มองว่าความดันน้ำในระบบก็เป็นส่วนที่สำคัญต่อประสบการณ์ที่โรงแรมชั้นนำจะให้กับผู้เข้าใช้บริการเกิดความประทับใจหรือผิดหวังกลับไปได้ แต่ไม่เคยรู้เลยว่าสิ่งที่เราเรียกร้องในฐานะผู้ใช้บริการนั้นจะกลับมาย้อนให้เกิดสิ่งที่เลวร้ายที่สุดในชีวิตของผมอีกครั้งหนึ่ง

11899992_1163209050372339_4184867395235895141_n-2

ผมยื่นมือขวาเอื้อมไปเพื่อที่จะดึงจุกเปลี่ยนทิศทางของน้ำจากก๊อกลงอ่างจะให้ไปสู่ฝักบัวสายอ่อนที่ถืออยู่ในอีกมือหนึ่ง ในขณะเดียวกันก็ยื่นนิ้วไปสัมผัสกับนำ้ที่ไหลลงมาเพื่อทดสอบอุณหภูมิของน้ำ เมื่อทุกอย่างปกติผมจึงดึงจุกเปลี่ยนน้ำนั้น ทั้งหมดทั้งสิ้นใช้เวลาประมาณไม่เกินสามวินาที ผมได้ยินเสียงตะกุกตะกักเหมือนเสียงการเดินทางของน้ำผ่านท่อเข้ามาอีกเส้นหนึ่ง น้ำพุ่งแรงเหมือนน้ำห้องน้ำโรงแรมชั้นนำทั่วไป แต่สิ่งหนึ่งที่แตกต่างออกไป ลูกสาวตัวน้อยของผมกรีดร้อง ตะเกียกตะกาย ขึ้นจากอ่างอาบน้ำอย่างทุกทักทุเล ภรรยาซึ่งเห็นเหตุการณ์กรูเข้ามาช่วยดึงตัวขึ้น ยังไม่มีใครรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ทันใดนั้นก็มีควันพวยพุ่งออกจากฝักบัว อ่างอาบน้ำ เราทุกคนจึงรับทราบว่าน้ำร้อนคงลวกฮารุตัวน้อยของเราเสียแล้ว ภรรยารีบนำฮารุมาราดด้วยน้ำเย็นที่อ่างล้างหน้า ความตระหนกตกใจแสดงผ่านออกมาผ่านเสียงร้องไห้และสายน้ำตาของภรรยา ท่ามความฉุกละหุกปนเสียงร้องโหยหวนของฮารุ เด็กโตทั้งสองที่ยืนรอที่จะไปว่ายน้ำในห้องน้ำยืนมองตัวแข็งด้วยความตกใจ เหตุการณ์นี้รวมเวลาทั้งหมดประมาณสิบวินาที หนังบริเวณหว่างขาของฮารุหลุดลอกจนเห็นเนื้อแดง ๆ ภายใน ในขณะที่บริเวณอื่น ๆ แดงก่ำ ตั้งแต่บริเวณก้นลงไปยังขาทั้งสองข้าง ภาพเหตุการณ์นี้เวียนวนไปมาในหัวของผมเป็นภาพช้า ราวกับเป็นเหตุการณ์ยาวนานนับชั่วโมง

IMG_0225IMG_0230

เราพาฮารุผู้น่าสงสารลงไปที่ล๊อปบี้เพื่อหาสถานพยาบาล เจ้าหน้าที่ของโรงแรมพยายามให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ขับรถพาไปคลีนิคระยะทางไม่เกินห้านาที พยาบาลที่คลินิคนำผ้าชุบน้ำแข็งมาประคบ หลังจากนั้นใช้น้ำเกลือล้างแผลแล้วทาด้วย ครีม Bioplancenton แล้วบอกกับเราว่าเป็น ยาฆ่าเชื้อ พร้อมให้ยาระงับปวดลดไข้ แล้วแนะนำให้ไปโรงพยาบาล หลังจากได้เห็นการปฐมพยาบาลที่แม้แต่เราก็ยังวิตก ความหวังต่อไปของเราคือโรงพยาบาลเนื่องจากเราคิดว่าที่นี่น่าจะมีอุปกรณ์ไม่เพียงพอ เรากลับไปที่โรงแรมอีกครั้ง ผู้ช่วยผู้จัดการแนะนำว่าเราควรกลับขึ้นไปที่สิงคโปร์ ไม่แนะนำให้ไปโรงพยาบาลที่นี่ ผมเริ่มวางแผนการในหัวอย่างช้า ๆ แล้วบอกว่าในขณะที่เราต้องรอ เฟอร์รี่ ข้ามกลับไปสิงค์โปร์เราขอไปดูที่โรงพยาบาลของเกาะดูดีกว่า เพราะในขณะนี้แผลของน้องเปิดกว้าง เรากลัวเรื่องการติดเชื้อและการดูแลทั่ว ๆ ไป โรงพยาบาลอยู่ห่างจากโรงแรมพอสมควรต้องขับรถข้ามไปใช้เวลาถึง 45 นาที คนขับรถของโรงแรมขอเข้าใช้เส้นทางลัดข้ามเขา ลัดเลาะคดเคี้ยวขนาดที่ว่าเมื่อถึงจุดหมายภรรยาของผมถึงกับต้องลงไปอาเจียร ระหว่างที่นั่งรถข้ามภูเขาไปนั้น แผลของฮารุก็ค่อย ๆ พัฒนาขึ้นไปเรื่อย ๆ เริ่มมีตุ่มน้ำพุพองเกิดขึ้นทีละเล็กละน้อย และดูเหมือนว่าจะยังไม่มีท่าทีว่าจะหยุดลง ผมโทรศัพท์ทางไกลไปหาหมอนกเพื่อนของผมที่เป็นเสมือนหมอเด็กประจำครอบครัวของผม แล้วส่งภาพให้ดู หมอนกเห็นภาพขณะนั้น ซึ่งเป็นรอยแดงและมีตุ่มพุพองเป็นหย่อม ๆ ก็ประเมินคร่าว ๆ ว่าน่าจะเป็น 1st degree burn หมอบอกว่าโดยทั่วไปก็พยายามไม่ให้แผลแตกเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ในการรักษาหมอน่าจะขัดผิวหนังที่ตายออกเพื่อเปิดแผลแล้วใช้ครีมขาว ๆ ลักษณะเป็นฟอง ๆ ทาให้ความชุ่มชื้นกันติดผ้าแล้วพันผ้ารอบ ๆ ป้องกันการติดเชื้อพร้อมให้ยาแก้ปวด และ ยาฆ่าเชื้อ ผมทำเช่นนี้ทุกครั้งเมื่อมีเหตุการณ์ความเจ็บป่วยในครอบครัวของผม ทำความเข้าใจกับปัญหา เรียนรู้วิธีมาตรฐานในการจัดการกับปัญหา และเรียนรู้ถึงความเป็นไปของโรครวมไปถึงภาวะเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น

IMG_0190IMG_0226

เมื่อไปถึงโรงพยาบาลซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็กมาก ๆ ไม่แน่ใจว่ามีห้องผ่าตัดหรือไม่ พยาบาลก็เข้ามาทำแผลให้ฮารุอีกครั้ง ในตอนนี้ตุ่มพุพองเริ่มเยอะมากและดูน่ากลัว ขั้นตอนการทำแผลก็ไม่ต่างจากเดิม ใช้ยาตัวเดิมในการทาบนแผล ให้เพิ่มสองหลอดกลับโรงแรม สั่งยาชื่อว่า Sibro มาให้นอกเหนือจากยาแก้ปวดและ ยาฆ่าเชื้อ บอกว่าเป็นยาช่วยสร้างผิวใหม่ คุณหมอขอถ่ายภาพร่วมกับผมเมื่อทราบว่าเป็นนักกีฬามาแข่งไอรอนแมน 70.3 พร้อมกับบอกว่าแผลใหญ่แต่ไม่ลึก ไม่มีการไหม้ลงไปที่เนื้อหรือเส้นประสาทใด ๆ ไม่ต้องกังวล เป็นเพียงการไหม้ผิวหนัง ผมพยายามถามว่าระดับนี้เรียกว่า 1st degree burn หรือไม่เพื่อจะมาใช้สื่อสารกับเพื่อน ๆ หมอของผมในคราวต่อไป แต่ไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน หมอแนะนำให้เปิดแผลทิ้งไว้เพราะจะทำให้หายเร็วกว่า ไม่ควรโดนน้ำ เราก็มองหน้ากันแบบงง ๆ เพราะบริเวณที่ไหม้นั้นจะต้องเปื้อนสิ่งขับถ่ายของฮารุอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แล้วการจัดการต้องเป็นอย่างไร สามารถใส่ผ้าอ้อมได้หรือไม่ ผมถามหมออีกครั้งหมอบอกว่าไม่ต้องทำอะไร แค่หวังว่าในวันรุ่งขึ้นแผลน่าจะแห้ง แล้วสามารถใส่ผ้าอ้อมได้ แต่วันนี้นั้นแนะนำให้ปล่อยแบบนี้ไว้ก่อน ผมสบายใจขึ้นเล็กน้อยแผลไหม้ไม่ลึกมาก แม้ว่าจะเป็นบริเวณกว้างก็เป็นความเจ็บปวดชั่วคราว ไม่น่าจะมีเรื่องของการซ่อมแซมระยะยาว การปลูกถ่ายเนื้อเยื่อ ที่ต้องกังวล หมอบอกว่าไม่ต้องปิดแผลไม่ต้องทำอะไรพิเศษ ไม่ต้องกลับมาทำแผลในวันรุ่งขึ้น เพียงแค่ล้างด้วยน้ำเกลือแล้วทาครีมที่สั่งให้ไป ไม่ควรปิดแผลและใส่ผ้าอ้อมเท่าที่จำเป็น เราจึงขอให้คนขับรถและผู้ดูแลส่วนตัวของเราในการพักครั้งนี้ให้ช่วยหายาตามที่หมอสั่งไว้ให้ แล้วหาอาหารการกินให้เราสักนิด เพราะคาดว่าเราคงไม่น่าจะออกเดินทางไปสิงค์โปร์ในคืนนี้แน่นอน

IMG_0185IMG_0186IMG_0188

ในตอนนี้ฮารุเริ่มหยุดร้องแล้ว แต่ยังอารมณ์ไม่ดีนัก เราไปทานอาหารเที่ยงกันที่ร้านอาหารพื้นเมือง ภรรยาผมร้องไห้จนไม่มีน้ำตาเหลืออีกแล้ว ผมเพิ่งเข้าใจคำว่าร้องไห้จนน้ำตาเป็นสายเลือดก็ตอนนี้ ไม่ใช่จากฮารุที่ร้องด้วยความเจ็บปวด และความตกใจ แต่จากภรรยาที่ร้องไห้ใจจะขาดรอน ๆ ภรรยาของผมทานอะไรไม่ลงในขณะที่ฮารุมีอาการทางจิตใจดีขึ้น สภาพของเขาทำให้เราอุ้มเขาไม่ได้ และเขาเองก็นั่งลงไม่ได้ เราจะเห็นภาพของเด็กหญิงตัวน้อย ๆ ตาหวานใส รูปร่างเล็ก น้ำหนักตกเกณฑ์กว่าครึ่งหนึ่ง ยืนโยกเยกดูดน้ำมะพร้าวจากลูก ผมเร่ิมตั้งสติได้มากขึ้นมาก เริ่มคิดและวางแผนชีวิตในช่วงต่อไป ในขณะเดียวกันก็เริ่มสำรวจร่างกายของลูกสาวที่ตอนนั้นหมอชาวอินโดประเมินว่าเป็นการไหม้เพียงผิวหนัง และจากรูปที่ให้หมอนกไปนั้นก็มองคร่าว ๆ ว่าเป็น 1st degree burn จากการสำรวจคร่าว ๆ ของผมเองก็น่าจะเป็นพื้นที่ประมาณ 25-30% ของร่างกาย ผิวที่เคยเป็นแดง ๆ ก็มีตุ่มน้ำขึ้นทั่วทั้งพื้นผิว ตุ่มน้ำที่ขึ้นในช่วงแรก ๆ ก็ขยายตัวใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จากเมล็ดถั่วเหลือง ค่อย ๆ กลายเป็นขนาด M&M ผลองุ่น มีบางลูกขยายจนมีขนาดประมาณลูกกอล์ฟ หนังรับน้ำหนักไว้ไม่ไหว ห้อยโตงเตงไปมาตามจังหวะการขยับตัวของฮารุ ผิวหนังส่วนใหญ่เปลี่ยนเป็นสีดำคล้ำหมดแล้วในเวลานี้ จากสีที่เคยแดง พื้นที่ที่เคยดูเหมือนไม่โดนน้ำร้อนบางส่วนก็เริ่มเปลี่ยนเป็นสีแดง เช่น ฝ่าเท้าทั้งสองข้าง

IMG_0189

หลังจากอาหารเที่ยงเรามุ่งหน้ากลับโรงแรมเพื่อพบกับผู้จัดการซึ่งเข้ามาดูเหตุการณ์ถามไถ่แล้วให้เจ้าหน้าที่ตรวจตราระบบน้ำร้อน ซึ่งผมคาดว่าได้มีการเดินไล่ตรวจมาแล้วในช่วงที่เราไม่อยู่ แต่ก็มีการเรียกให้ช่างมาตรวจปรับในห้องนอนของเราอีกเป็นระยะเวลานาน ภายในห้องนอนของเรา ผมยังไม่เข้าใจว่าช่างเข้ามาทำอะไร เพราะระบบต้มน้ำของโรงแรมนั้นอยู่ด้านนอก คิดว่าน่าจะมีความพยายามในการที่จะปรับก๊อกผสมที่อยู่ภายในห้องน้ำ เพราะผมย้ำว่าเขาต้องมั่นใจว่าเขาปรับทุกอย่างให้ปลอดภัย เท่าที่คุยกับผู้จัดการ เขาย้ำอยู่ในสองสามเรื่อง คือเรื่องแรกทิศทางของก๊อก ฝั่งร้อนและเย็นที่พยายามให้ผมคิดว่าผมเองอาจจะพลาดได้ เรื่องที่สองคืออุณหภูมิของน้ำที่จะตั้งไว้ไม่เกิน 80 องศา ในขณะที่ผมพยายามบอกให้รู้ว่าผมเป็นวิศวกรเครื่องกล และเข้าใจได้เองว่าการตั้งอุณหภูมิค่าเท่าไรนั้นไม่ได้บ่งบอกเลยว่าน้ำจริง ๆ จะมีอุณหภูมิเท่าไร ในขณะเดียวกันในเวลาที่ผมขอให้ปรับอุณหภูมินี้ลงเหลือ 60 นั้น เขาย้ำผมหลายครั้งด้วยเหตุผลที่ว่าการปรับนั้นจะกระทบกับห้องอื่น ๆ ด้วยซึ่งผมก็ยืนยันเช่นนั้น ด้วยเหตุว่าน้ำร้อนขนาดที่ลวกเด็กได้ในเสี้ยววินาทีนั้นไม่ใช่อุณหภูมิที่ควรจะมีอยู่ในอ่างอาบน้ำไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ๆ แต่นี่ก็เป็นสิ่งผิดปกติที่ผมไม่ค่อยชอบเพราะผมเห็นหม้อต้มที่แยกกันในแต่ละห้องพร้อมกับสวิทช์ปิดเปิดที่แยกอิสระสำหรับหม้อต้มแต่ละตัว พร้อมคำอธิบายให้เปิดสวิทช์ก่อนใช้น้ำร้อนประมาณ 40 นาที นั่นหมายความว่าข้อมูลที่ผู้จัดการให้ผมนั้นไม่เป็นความจริง จะด้วยเจตนาหรือรู้เท่าไม่ถึงการแต่นั่นหมายความว่า เขาพยายามให้ผมคิดว่าน้ำร้อนที่ลวกลูกสาวของผมนั้นเป็นอุณหภูมิเดียวกันกับห้องอื่น ๆ เขาถามผมเรื่องการแข่งขัน แต่ผมได้ตัดสินใจแล้วว่าในสภาพเช่นนี้ผมไม่มีอารมณ์ไปแข่งขัน 7-8 ชม. แต่จะกลับเมื่อไรอย่างไรนั้นผมขอคุยกับภรรยาของผมก่อน ผมดูท่าทางผู้จัดการแล้วไม่มีท่าทีที่จะแสดงความรับผิดชอบอื่นใดนอกเหนือจากที่ได้พาเราไปโรงพยาบาลแม้แต่อาหารระหว่างที่เราจะต้องรอเวลากลับในอีกสองวันข้างหน้า ผมมีอาหารอยู่เล็กน้อยจากที่ซื้อเข้ามา พร้อมกับข้าวและหม้อหุงข้าวที่ผู้ดูแลส่วนตัวของเราหามาให้ ผู้ดูแลและคนขับรถย้ำกับเราว่าควรจะเรียกร้องกับผู้จัดการให้มากที่สุดเพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่อันตราย ผมเองก็เริ่มเข้าใจบรรยากาศเล็กน้อย

IMG_0192IMG_0193

ผมนั่งคุยกับภรรยาที่ตอนนี้เริ่มค้นหาตั๋วเครื่องบินเที่ยวกลับหาดใหญ่ และร้อนใจถึงขนาดที่จะต้องนั่ง เฟอร์รี่ เที่ยวต่อไปเพื่อไปหาตั๋วอะไรก็ได้กลับประเทศไทยไว้ก่อน ผมมองว่ามันเป็นความเสี่ยงที่ไม่จำเป็น ฮารุมีจิตใจดี แผลไม่ลึก มีความเสี่ยงเรื่องของการติดเชื้อ ซึ่งต้องใช้เวลาอีกวันสองวัน ความร่าเริง และอารมณ์ที่ดีของฮารุ ทำให้เขากินอะไรสม่ำเสมอ ความเสี่ยงของการ dehydrated ก็น้อยลง การรออีก 1-2 วันยังมีความเป็นไปได้ เราจึงตัดสินใจกันว่าเราจะกลับกันในวันรุ่งขึ้น ในสายการบินเดิมจากสิงค์โปร์ไปหาดใหญ่ จึงขอให้ผู้จัดการเปลี่ยนตั๋วเฟอร์รี่ให้กับเรา แต่เราต้องรอลุ้นกันถึงตอนสองทุ่มในเวลาที่เฟอร์รี่เปิดทำการเที่ยวสุดท้ายของวัน การเปลี่ยนตั๋วเป็นไปอย่างราบรื่นเราได้ตั๋วกลับเที่ยวแรกของวันถัดไป เราจึงจองตั๋วเครื่องบินกลับในวันรุ่งขึ้นทันทีซึ่งก็โชคดีที่ไม่ใช่เที่ยวบินที่เป็นที่นิยมตั๋วสี่ใบจัดหาได้ในราคาไม่ต่างจากตั๋วที่จองหนึ่งเดือนล่วงหน้า

11911225_1163471590346085_49435683_n

ฮารุเหนื่อยหลับไปแล้ว เขาต้องนอนคว่ำหน้าเท่านั้นในเวลานี้ มีตื่นมาเรียกหาแม่เพื่อกินนมบางครั้ง ซึ่งผมต้องออกไปเรียกแม่ที่นอนอยู่ในห้องถัดไป ด้วยความทรมานทางจิตใจของผู้เป็นแม่ที่ยังไม่ลดเลือน ไม่สามารถทำใจให้นอนกับลูกที่ในเวลานี้ถุงน้ำพุพองหลาย ๆ ถุงได้แตกออกหมดแล้ว เห็นแต่เนื้อสด ๆ สีแดงเรื่อ ๆ ทั่วทั้งบริเวณบั้นท้ายและขา ภรรยาผมใช้ช่วงเวลาที่นอนไม่หลับนี้ เยียวยาจิตใจตนเองด้วยการคุยกับทุกคนที่ติดต่อได้ ไม่ว่าจะเป็นน้องสาวและแม่ที่เมืองไทย น้องสาวที่อเมริกา เพื่อนของผม หรือเพื่อนของเธอเองที่เมืองไทย บางครั้งเพียงเล่าเรื่อง บางครั้งขอคำปรึกษาในการรักษา ผมเองนั้นนอนหลับอยู่กับฮารุ โชคดีที่ภรรยาเลือกที่จะปรึกษากับหมอแป๊ะหมอที่ทำคลอดให้กับลูกเราทุก ๆ คน เมื่อแป๊ะรู้เรื่องจึงได้เตรียมการรักษาฉุกเฉินไว้ให้ที่เมืองไทย คืนนั้นจริง ๆ แล้วไม่มีใครนอนหลับเราเก็บของทุกอย่างลงกระเป๋า รวมทั้งจักรยานที่เพิ่งประกอบได้ไม่นานนัก

จากการพูดคุยของภรรยาทำให้เราเรียนรู้ว่าเราเองนั้นขาดความรู้พื้นฐานในการปฐมพยาบาลผู้ป่วยน้ำร้อนลวกอย่างแท้จริง ในความจริงนั้นเราต้องพยายามลดความร้อนที่ระอุภายใต้ผิวหนังด้วยการประคบน้ำ แช่น้ำ หรือผ้าชุบน้ำตลอดเวลาและยาวนานที่สุดที่จะทำได้ระหว่างที่รอคอยการรักษาที่เหมาะสม แต่ด้วยความรู้ที่ไม่มากพอเราใช้เพียงน้ำราดในช่วงแรก ๆ หลังจากนั้นเราก็ได้แต่ปล่อยเวลาให้ผ่านไปไม่ได้ช่วยอะไรกับแผล สิ่งที่จำ ๆ กันมาประเภททายาสีฟัน ว่านหางจรเข้ หรือใช้บัวหิมะอะไรนั่นเอามาใช้ประโยชน์ในยามฉุกเฉินแบบนี้ไม่ได้เลย เราเรียนรู้ว่าในแผลเปิดขนาดใหญ่ความเสี่ยงของการ dehydrated นั้นน่ากลัวกว่าการติดเชื้อในวันแรก ๆ และที่สำคัญมาตราการในการรักษาของแต่ละที่ แต่ละโรงพยาบาลนั้นมีความแตกต่างกันเนื่องจากเขาให้ความสำคัญของผลของการรักษาในแง่ต่าง ๆ กันที่แตกต่างกัน

IMG_0217IMG_0218

เช้าวันรุ่งขึ้นเราต้องเตรียมตัวตั้งแต่หกโมงเช้า เพราะภรรยาต้องการไปคลีนิคเพื่อปิดแผลเท่าที่ทำได้ เราได้ขอให้ทางโรงแรมจัดหาอุปกรณ์ปิดแผลไว้ให้ แต่ต้องการไปทำที่คลีนิคเพราะคิดว่าน่าจะสะอาดกว่าการทำเองที่โรงแรม เมื่อไปถึงก็พบว่าอุปกรณ์ปิดแผลที่ทางโรงแรมเตรียมไว้ให้นั้น ไม่เป็นอย่างที่เราคิด ทางคลินิคไม่ได้ปิดแผลหรือทำอะไรที่แตกต่างไปจากเดิมนั่นคือล้างด้วยน้ำเกลือและทาด้วยครีม ยาฆ่าเชื้อ ลงบนผิวเปิดแดง ๆ ทั่วท่อนล่างของฮารุ วันนั้นเราให้ฮารุใส่ dress ผ้าลูกฟูกน่ารัก เนื้อผ้าบานออกเล็กน้อย และเราไม่ให้ใส่ผ้าอ้อมเพราะยังไม่จำเป็น เราเพียงต้องคอยเช็ดอุบัติเหตุที่เกิดระหว่างการเดินทางข้ามเรือจากบินตันไปสิงค์โปร์เท่านั้น ทางโรงแรมจัดให้เราอยู่ในห้อง VIP ทำให้ไม่ต้องปะปนกับผู้คนส่วนใหญ่ที่มาขึ้นเรือ แต่ทุกครั้งที่ต้องยกตัวฮารุ เสื้อที่เปิดขึ้นให้เห็นร่องรอยของแผลนั้น ก็เรียกสายตาสงสัยรอบ ๆ ตัวอย่างมากมาย เราผ่านการเดินทางข้ามทะเลจากเกาะบินตัน มายังเกาะสิงค์โปร์อย่างราบเรียบ เสียเวลาที่ ตม. ไม่มากนัก เหมือนว่าการ transit จากบินตันไปยังประเทศอื่น ๆ นั้นเป็นเรื่องปกติมาก ๆ เราเรียกแทกซี่พิเศษเพื่อตรงไปสนามบินชางกีในทันที ขณะนั้นเวลาประมาณ 10:30 น. เครื่องบินที่จองไว้ออกเวลา 13:20 น. มีเวลาไม่มากนักสำหรับการ check in ต่างประเทศ พร้อมจักรยาน แถมด้วยการทำแผลให้ฮารุ

IMG_0202IMG_0203

ขั้นตอนการทำแผลให้ฮารุนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่เราคาดไม่ถึง ในใจเราเพียงต้องการปิดแผลให้ลูกเพื่อความสะดวกในการเดินทาง เพื่อช่วยให้สามารถใส่ผ้าอ้อมเป็นไปได้มากขึ้นเนื่องจากหนังที่ก้นของฮารุทั้งสองข้างเปิดทั้งหมดเห็นเป็นเนื้อสด ๆ แดง ๆ ภรรยาผมพยายามหาผ้าปิดแผลแบบเปียก ๆ โดยไม่รู้ว่ามันเรียกว่าอะไร นั่นก็เป็นความลำบากอีกอย่างหนึ่ง ภรรยาได้ Bactigras : Medicated Paraffin Gauze Dressings มาพร้อมกับผ้าก๊อซแบบยืด ๆ ไม่รู้เรียกว่าอะไร ซึ่งเพียงพอที่จะทำแผลชั่วคราวสำหรับการบินข้ามประเทศ เจตนานี้ร่วมกับภาวะทางอารมณ์ของฮารุที่มั่นคง กลายเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เราได้เดินทางกลับมารักษาต่อที่เมืองไทยได้ เราปิด Bactigras ทั่วทุกแผลที่มองเห็น แล้วพันผ้าก๊อซทุกที่ที่พันได้ ส่วนบริเวณก้นก็ใช้ผ้าอ้อมใส่ซ้อนเข้าไป ขณะนี้ฮารุเริ่มไม่สามารถยืนได้ดั่งใจแล้ว 1st degree burn ที่ฝ่าเท้าเริ่มระบม การอุ้มแทบเป็นไปไม่ได้เลยมันยากลำบากมาก ปกติเราจะช้อนรักแร้แล้วให้ยืนบนฝ่ามือ ช้อนก้นที่เต็มไปด้วยแผลไหม้นี่เป็นไปไม่ได้ แต่เท่านี้ก็เพียงพอให้เราสามารถทำตัวเนียนพาเด็ก ๆ ขึ้นเครื่องบินได้ ถึงขนาดกลุ่มหมอที่มารอรับเราที่สนามบินหาดใหญ่ถามด้วยความสงสัยว่าเขายอมให้ขึ้นเครื่องบินได้อย่างไร เพราะโดยปกติเด็กที่มีอาการป่วยระดับนี้จะไม่อนุญาติให้ขึ้นเครื่องบินได้ เพราะค่าใช้จ่ายในการลงฉุกเฉินที่ใดที่หนึ่งนั้นมันสูงกว่าที่สายการบินจะยอมรับความเสี่ยงนั้นได้

IMG_0205

ที่สนามบินหาดใหญ่คณะแพทย์ รพ. มอ. เตรียมรับเราไว้อย่างดี ตั้งแต่รถพยาบาลพร้อมทีมแพทย์รอที่สนามบิน คณะแพทย์ศัลยกรรมพลาสติก แพทย์วิสัญญีเตรียมตัวพร้อมสำหรับการดมยา เพื่อขูดแผลทั้งหมดซึ่งเป็นวิธีการรักษาที่เป็นมาตรฐานของที่นี่ เราแจ้งทางทีมแพทย์ว่าเราได้รับแจ้งจากแพทย์ช้าไม่ทันเวลาเราจึงให้ฮารุอดอาหารไม่ทัน แต่นั่นก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้การเดินทางขึ้นเครื่องเป็นไปได้ง่ายขึ้น เพราะฮารุแม้ว่ามีแผลไหม้ครึ่งตัว แต่เขายังร่าเริงอยู่ได้ด้วยขนมและอาหารต่าง ๆ ที่มีให้เลือกทานเล่นตลอดการเดินทาง รวมไปถึงการดูดนมแม่ที่ช่วยได้หลาย ๆ อาการ ถ้าเราทราบเรื่องการอดอาหารเพื่อมาดมยาก่อนหน้านี้ การเดินทางกลับอาจจะเป็นไปไม่ได้เลย ฮารุอาจจะมีอาการงอแงจนเป็นที่สงสัยแล้วไม่ถูกอนุญาติให้ขึ้นเครื่องได้เช่นวันนั้น ผมให้ฮารุและภรรยาล่วงหน้าไปก่อนบนรถพยาบาล ส่วนเซน ซาช่าอยู่กับผม เก็บสัมภาระแล้วขับรถตามไป

IMG_0208IMG_0206

ผมมารอด้านหน้าห้องฉุกเฉินเพราะในช่วงนั้นไม่สามารถติดต่อภรรยาได้ ภรรยาเล่าให้ฟังว่าเนื่องจากฮารุไม่ได้อดอาหารมาก่อน ทำให้การดมยาเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ มีความเสี่ยงมาก แต่จะรอเพื่อทำแผลอีก 5-6 ชม. ก็เป็นสิ่งไม่ดี ทำให้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากเพราะแผลใหญ่ นอกเหนือจากความเสี่ยงของการ dehydrated แล้วก็ยังต้องมีเรื่องติดเชื้อที่จะทำให้การรักษาเป็นเรื่องซับซ้อนมากขึ้น คุณหมอศัยลกรรมพลาสติกซึ่งเป็นรุ่นน้องโรงเรียนสาธิตเช่นกันจึงตัดสินใจที่จะขูดสด ฮารุผู้น่าสงสารจึงต้องถูก buff แผลสด ๆ ครึ่งตัว เป็นไหวพริบของแม่ที่ท่องนิทานให้กับฮารุ กลายเป็นกิจกรรมสนุกที่ทดแทนเสียงกรีดร้องที่คิดว่าจะเกิดขึ้น เหล่าแพทย์และพยาบาลถึงกับตะลึงในความอึดถึกทนของฮารุตัวน้อย เมื่อขูดแผลเรียบร้อย ก็ถูกปิดแผลด้วยแผ่นพอลิยูรีเทนโฟมที่มียาฆ่าเชื้อ เป็นนวัตกรรมที่ก้าวหน้ากว่าที่หมอนกเคยบอกเอาไว้ แผ่นวิเศษนี้จะช่วยซับน้ำเหลืองและให้ยาไปพร้อม ๆ กัน ทำให้สามารถปิดแผลนี้ไว้เป็นระยะเวลานานไม่ต้องเปิดออกเพื่อทำความสะอาด ส่งผลให้เวลาในการรักษาลดสั้นลงเป็นอย่างมาก แพทย์สรุปว่าฮารุไม่อาการ 2nd degree burn แบบตื้น ประมาณ 25-30% อาจจะมีบางจุดที่เป็น 2nd degree burn แบบลึกแต่คาดว่าไม่น่าจะมีมากนัก และมี 1st degree burn บางส่วนบริเวณเท้าและฝ่าเท้า

เราย้ายเข้าพักในห้องพิเศษ ฮารุรับน้ำเกลือพร้อมยาอีกประมาณ 2-3 ขวดก็หยุด เพราะร่าเริง ทานอาหารได้ตามปกติ แต่ก็ยังคงต้องอยู่โรงพยาบาลเพื่อรอให้แผลหายในระดับหนึ่ง รอเปิดแผลดูอาการอีกครั้งประมาณ 3, 5, 7 วันเพื่อประเมินตามลำดับ ความซับซ้อนของการรักษาอยู่ที่แผลบริเวณบั้นท้ายที่จะต้องคอยทำความสะอาดให้ดีทุกครั้งที่ฮารุถ่ายหนัก และระยะหลัง ๆ ที่ฮารุเริ่มมีอาการคันบริเวณแผล และรอบ ๆ ที่ปิดแผลมากจนรบกวนการนอนของเขา มีการทายา ทาโลชั่น และให้ยากินบ้างเล็กน้อย เราคาดว่าต้องอยู่โรงพยาบาลอย่างน้อยประมาณ 5-7 วัน เพื่อเปิดแผลดูครั้งแรก เปลี่ยนแผ่นปิดแผลประเมินสภาพของแผลว่าจะสามารถกลับไปดูแลที่บ้านแล้วกลับมาทำแผลเพียงอย่างเดียวได้หรือไม่ แต่ 6 วันผ่านไปเปิดแผลดูครั้งแรก ไม่เป็นไปตามที่หวังไว้แผลที่ขาแห้งดีพอสมควรแล้ว แกะแผ่นปิดแผลและปิดใหม่ได้ทันที แต่บริเวณที่มีปัญหาคือบริเวณบั้นท้ายที่มีการดูแลที่ลำบากกว่าแผลยังไม่แห้งและแผ่นปิดแผลยังติดกับแผลอยู่ นวัตกรรมชิ้นนี้ไม่ได้ทำงานได้ไร้ความผิดพลาดอย่างที่หวัง แผลยังไม่แห้งดี มีการเปิดออกเมื่อลอกบ้างเล็กน้อยสร้างความทรมาณให้กับฮารุอีกครั้ง เรายังไม่รู้ว่าจะมีโอกาสได้ออกจากโรงพยาบาลเมื่อไร เรามีแผนที่จะเดินทางไปญี่ปุ่นในอีกสองสัปดาห์ข้างหน้า เราก็ได้แต่หวังว่าแผลคงปิดสนิทพอที่จะเดินทางและดูแลแผลด้วยตัวเองได้ก่อนไป เราได้แต่คาดหวังว่าคำวินิจฉัยเบื้องต้นของหมอที่บอกว่าทุกอย่างเกิดที่ผิวหนังไม่น่าจะเกิดปัญหาหรือแม้แต่แผลเป็น เพราะการดูแลแผลน้ำร้อนลวกใหญ่ขนาดนี้น่าจะไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ

11923211_10154233576708009_7872921284934627575_n

มีหลาย ๆ อย่างที่เราได้เรียนรู้จากประสบการณ์นี้ การปฐมพยาบาลและดูแลแผลน้ำร้อนลวก รวมไปถึงความเสี่ยงและความซับซ้อนที่จะตามมา สิ่งที่ต้องระวัง การออกแบบที่น่าจะสร้างความเสี่ยงในระบบน้ำร้อนของโรงแรม ทุก ๆ โรงแรมที่เราจะต้องเดินทางไปพานพบอีกมาก ผมคิดว่าสิ่งที่เป็นไปได้มากที่สุดตามความคิดของผมที่เป็นวิศวกรเครื่องกลคือ โรงแรมใช้ระบบหม้อต้มที่อาจจะมีปัญหาเรื่องอุณหภูมิของน้ำสูงเกินไม่ ไม่ว่าจะเป็นเพราะตั้งไว้สูงเกินไปหรือเป็นความเสียหายของระบบควบคุมอุณหภูมิ ระบบเพิ่มความดันของน้ำร้อนที่ออกจากหม้อต้ม การออกแบบระบบความดันให้สมดุลย์กับระบบความดันของน้ำเย็นที่น่าจะใช้ระบบความดันแยกกับน้ำร้อนไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะมีการใช้น้ำระหว่างทางระหว่างท่อค่อนข้างมาก สิ่งที่ผมคาดว่าเกิดขึ้นกับผมคืออุณหภูมิน้ำที่หม้อต้มที่สูงร่วมกับปั้มเพิ่มความดันของน้ำร้อน เมื่อมีการปรับน้ำก๊อกจากน้ำลงอ่างไปยังสายฝักบัวความดันที่ตกลงในทันทีไปสั่งให้ปั้มความดันน้ำร้อนทำงาน ปั้มน้ำร้อนซึ่งอยู่ใกล้กว่าปั้มน้ำเย็นมีพลังสูงกว่า ใกล้กว่า ทำงานได้เร็วกว่าปั้มน้ำเย็น น้ำร้อนที่ร้อนเกินความปลอดภัยจึงพุ่งแทรกน้ำเย็นออกมาทันที หลายคนพูดถึงเรื่องประกัน ซึ่งผมขอบอกเป็นครั้งสุดท้ายว่าเรื่องเงินไม่เคยเป็นปัจจัยของผม การทำประกันหรือไม่ไม่ทำให้เกิดความแตกต่างใด ๆ ในกรณีนี้ หลายคนถามเรื่องการร้องเรียนการเรียกร้องความรับผิดชอบของโรงแรม ผมกำลังรวบรวมความคิดในเรื่องนี้อยู่ ผมไม่มีความต้องการเรียกร้องด้านเงินตรา แต่ผมอยากเห็นการแสดงความรับผิดชอบ อยากสร้างประสบการณ์ทดแทนให้กับเด็ก ๆ และครอบครัว อยากเห็นมาตรการป้องกัน การแก้ไขระบบของเขานี่เป็นสิ่งสำคัญที่ผมต้องการเห็น

IMG_1659

สิ่งที่เกิดขึ้นตอนต่อไป ผมจะค่อย ๆ มารายงานให้ทราบต่อไปครับ หวังว่าเรื่องราวของครอบครัวเราจะสามารถช่วยป้องกันขั้นพื้นฐานให้กับครอบครัวอื่น ๆ ในขณะที่ความพยายามอีกระดับในอนาคตของผมนั้นจะสร้างความปลอดภัยขึ้นกับระบบ รวมถึงปรับมาตรฐานความรับผิดชอบของโรงแรมทั้งระบบโดยรวม และที่สำคัญที่สุดทำให้ภรรยาของผมพอใจกับเหตุการณ์นี้ ซึ่งผมเองยังไม่สามารถเข้าใจได้ว่าภรรยาของผมต้องการอะไร ในระยะยาวถ้าผมเรียกร้องได้ไม่ตรงใจกับภรรยาของผม ชีวิตครอบครัวของผมต้องสั่นคลอนเพราะความไร้ความรับผิดชอบของโรงแรมเครือหนึ่งเพียงเท่านั้น

Swim : The Dreadful Leg No More

เมื่อเช้าผมตื่นสายมาเจอกับข้อความจากพี่อ้อ ขาแรงล้อเล็ก “พี่มีโปรแกรมว่ายน้ำสำหรับ 2 อาทิตย์มั้ยครับ” ด้วยความงุนงง ผมต้องถามกลับไปมาอยู่นานจนได้ความว่า อีกสองสัปดาห์จะลงแข่งหัวหินไตรกีฬา ระยะ 1500 ม. แต่ยังไม่ได้ซ้อม อยากได้ยาแรง ผมเลยย้อนกลับไปว่า “สัปดาห์ละสามวัน ลง 1500?” พี่อ้อก็ยืนยันว่าโอเค ผมเลยจัดตารางแบบเร็ว ๆ ให้หนึ่งตาราง หน้าตาเป็นแบบนี้

Screen Shot 2015-08-05 at 11.05.21 PM

แต่พี่ก้อกลับตอบกลับมาว่า “ขอภาษาไทยได้มั้ยพี่” ผมจึงพยายามอธิบายตัวย่อต่าง ๆ ให้แต่ดูท่าพี่อ้อก็ยังไม่พึงพอใจ ผมจึงคิดว่าผมน่าจะเขียนบทความง่าย ๆ อันนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นไอเดียให้เพื่อน ๆ หลาย ๆ คนที่อาจจะไม่ถนัดว่ายน้ำ แล้วรู้สึกว่าการซ้อมว่ายน้ำนั้นเป็นยาขมของการเล่นไตรกีฬา และขอเพียงแค่ซ้อม ๆ ไปให้ได้ตามระยะเป็นเท่านั้น จริง ๆ แล้วการซ้อมว่ายน้ำเป็นส่วนที่สนุกที่สุดอันหนึ่งของไตรกีฬา เพราะเป็นหนึ่งกีฬาที่เราสามารถซ้อมแบบไหนก็ได้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นการซ้อมยาว ๆ ไม่ต้องคิดอะไร การฝึกเทคนิคเป็นบ้าเป็นหลัง หรือว่าการซ้อมความเร็วแทบทุก ๆ วันก็ไม่ทำให้ร่างกายกรอบได้โดยง่าย ต่างจากการวิ่งหรือปั่นจักรยาน ก็เลยคิดว่าเอาแนวคิดการซ้อมว่ายน้ำแบบบ้าน ๆ ที่ผมชอบใช้มาอธิบายให้ฟังจากตัวอย่างจริงน่าจะเป็นประโยชน์ต่อหลาย ๆ คน

ก่อนอื่นขอเริ่มจากแปลตารางด้านบนให้เป็นภาษาไทยก่อน วิธีการเตรียมซ้อมว่ายน้ำสำหรับคนขี้เกียจอย่างผมคือ ซ้อมให้ได้ระยะที่จะแข่ง หรืออาจจะเลยนิด ๆ แต่จะไม่ใช่แบบว่ายยาว ๆ ต่อเนื่อง เพราะผมเบื่อ ผมจะรวมทั้งการอบอุ่นร่างกาย การฝึกเทคนิค และการว่ายผ่อนคลาย เข้าไปกับตารางซ้อมหลัก ให้ได้ระยะโดยไม่สนใจว่าในวันจริง ๆ เราอาจจะต้องว่ายต่อเนื่อง เพราะผมคิดเอาว่าในวันจริง ๆ เลวร้ายที่สุดก็ว่าย ๆ หยุด ๆ แบบที่ซ้อมนี่แหละ มันก็ถึงเองได้  ทีนี้ก็มาดูที่ตารางภาษาไทย

Screen Shot 2015-08-05 at 11.04.31 PM

จากตารางจะเห็นว่าผมแบ่งการซ้อมออกเป็น 4 กลุ่ม คือ WU, Drill, MS, WD ซึ่งมีเป้าหมายหรือแนวคิดตามนี้ WU ผมใช้เพื่ออบอุ่นร่างกาย คล้าย ๆ ยืดเส้นยืดสายเพราะผมขี้เกียจที่จะยืดเส้นบนบก ส่วนใหญ่ผมจะว่ายแบบยืด ๆ ไม่เร่ง ช้าบ้างเร็วบ้าง แต่ว่ายทีไรช่วงวอร์มอัปนี่เพซเร็วที่สุดอยู่เรื่อยเลย  หลังจากนั้นผมก็มาฝึกทักษะ แล้วแต่ที่นึกออกจะฝึก ทักษะ หรือ Drill ที่ผมชอบที่สุดคือ การว่ายกำมือ เพราะมันจะทำให้ผมรู้สึกถึงน้ำได้ดีขึ้น อีกทักษะที่ผมชอบเล่นคือ Catch Up คือ การว่ายแบบให้มือมาประกบกันด้านหน้าก่อนที่จะเริ่มดึงมืออีกข้าง การฝึกนี้จะช่วยให้ผมหมุนแขนเร็วขึ้นเนื่องจากลดความเคยชินที่จะยืดมือนำออกไปนานจนเกินไป พอจบจากการฝึกทักษะก็เข้าสู่การซ้อมจริง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ผมก็จะว่ายไม่เร็วมาก แค่ประมาณ race pace หรือ ความเร็ว 1000m TT (ความเร็วที่ผมทำได้ตอนว่ายจับเวลา 1000 ม.) เพราะเป้าหมายของผมคือ เพื่อให้ผมคุ้นเคยกับความเร็ว คุ้นเคยกับความรู้สึกที่ความเร็วที่ต้องการใช้แข่ง ผมมักจะไม่ว่ายยาว ๆ มาก ๆ เพราะมันทำให้เสียโอกาสในการดูเวลา แล้วปรับความเร็ว ผมอาจจะว่ายแค่ 100 ม. หลาย ๆ รอบ พยายามคงความเร็วให้แม่น ๆ หรือ อาจจะว่าย Build เพื่อจะหาความรู้สึกว่าทำอย่างไรคือการว่ายช้า แล้วอย่างไรคือการเร่งความเร็ว คล้าย ๆ กับการฝึกเหยียบคันเร่ง อาจจะมีการยืดระยะออกเป็น 300, 400 เพื่อดูความสามารถในการควบคุมความเร็วเมื่อระยะยาวขึ้น ทั้งหมดทั้งสิ้นสิ่งที่ผมต้องการคือ การว่ายความเร็วคงที่ ที่ความเร็วที่ผมวางแผนไว้เพื่อใช้ในการแข่งขันที่จะมาถึง สุดท้ายก็จบด้วยการว่ายยืดเส้นยืดสาย ส่วนใหญ่ผมจะเปลี่ยนท่าว่าย อาจจะเป็นว่ายกบ อาจจะมีการเตะขาในช่วง warm down นี้  ที่พิเศษให้เห็นในตารางด้านบนนี้ในวันสุดท้าย นั่นคือบางครั้ง ในวันซ้อมเบา ๆ ผมอาจจะว่ายโดยไม่สนใจความเร็วมากนัก แต่อาจจะพยายามใส่ใจเรื่องเทคนิค เช่น เน้นท่าสวยตามที่ได้เรียนรู้มา นับแขนให้สม่ำเสมอ อาจจะมีการใช้ Paddle มีการใช้ Pull Buoy ส่วนใหญ่เพื่อจะสังเกตุการดึงมือของผมที่ค่อนข้างมีปัญหาดึงไม่สมมาตรกัน

หลัก ๆ ในการซ้อมว่ายน้ำ ผมก็ทำแค่นี้ครับ ซ้อมแบบนี้ ไม่อาจจะพาคุณขึ้น Podium ได้ แต่รับรองว่าจะทำให้คุณสนุกกับการซ้อมว่ายน้ำได้อีกเยอะ และพาคุณไปเล่นไตรแบบไม่กังวลกับการว่ายน้ำอีกเลย นอกเหนือจากการประเมินเวลาการแข่งขันได้อย่างแม่นยำอีกด้วย