(ยอดบริจาครวม 977,722 บาท)
วันนี้ (24 เม.ย.)เป็นวันเกิดของลูกสองคนแรกของเรา เซน และ ซูริ ฝาแฝดต่างเพศ เช่นเดียวกับลูกคนอื่น ๆ เราไม่ได้กำหนดฤกษ์ยาม แต่ปล่อยให้ธรรมชาติเป็นผู้กำหนด (ธรรมชาติของแพทย์ผู้ทำคลอด) แต่ต่างจากลูกคนอื่น ๆ ที่ความผิดธรรมชาติต่างหากที่กำหนดให้วันวันนี้เป็นวันเกิดของเด็กน้อยทั้งสอง และต่างจากครอบครัวอื่น ๆ ในวันเกิดพ่อไม่มีโอกาสได้อยู่เป็นพยานรู้เห็น แม่ไม่มีโอกาสได้ยินเสียงร้องแรก หรือได้เห็นเด็ก ๆ เมื่อคลอด เซนและซูริ มีกำหนดคลอดโดยประมาณในเดือนกรกฎาคม ซึ่งหมายความว่าฝาแผดเป็นกลุ่มเด็กที่มีชื่อเล่นในโรงพยาบาลว่า premie เพราะเขาทั้งสองนั้นมีเวลาอยู่ในครรภ์เพียง 31 สัปดาห์ ด้วยน้ำหนักคลอดเพียง 1400 กรัม และ 900 กรัม สำหรับเซนและซูริ ตามลำดับ ทำให้แฝดทั้งสองต้องเดินทางเข้าหน่วย NICU ในทันที แม้ว่าจะมีการฉีดยากระตุ้นล่วงหน้าไว้แล้ว แฝดทั้งสองยังไม่สามารถหายใจได้ด้วยตัวเองในวินาทีแรกที่ออกมาสู่โลกภายนอก เซนผู้เป็นพี่ชายใส่หน้ากากออกซิเจนประมาณหนึ่งวันก็สามารถหายใจเองได้ และใช้เวลาไม่นานนักในตู้ควบคุมอุณหภูมิก่อนที่จะสามารถควบคุมอุณหภูมิของร่างกายได้ และออกมาใช้ชีวิตนอกสภาวะควบคุม แต่หากยังต้องอยู่ในหน่วย NICU เช่นเดิม แต่น้องสาวซูริ ผู้มีน้ำหนักเพียง 900 กรัมนั้น ยังต้องต่อสู้กับความโหดร้ายของโลกภายนอกรกของแม่ กับอีกหลายระบบที่ยังต้องรอการพัฒนาการให้เหมาะสมกับการใช้ชีวิตบนโลกใบนี้ จะว่าไปแล้วการต่อสู้ของทั้งสองเริ่มตั้งแต่วันแรกที่มีการปฏิสนธิเลยทีเดียว ทั้งสองเกิดจากกระบวนการนอกเหนือธรรมชาติที่เรียกว่า IUI ซึ่งเชื้ออสุจิที่สมบูญถูกฉีดส่งเข้าไปในมดลูกโดยตรง ในสภาวะที่รังไข่ถูกกระตุ้นเตรียมพร้อมให้ไข่ตกลงมารอไว้แล้ว ไม่กี่วันหลังจากการฉีดเชื้อก็พบการตั้งครรภ์พร้อม ๆ กับการตกเลือดเล็ก ๆ แต่ก็เพียงพอที่จะทำให้หมอตัดสินใจฉีดฮอโมนกันแท้ง เรากลายเป็นผู้ปวยที่ถูกเรียกรวม ๆ กันว่า ภาวะแท้งคุกคาม ตั้งแต่วันแรก ๆ ที่แฝดทั้งสองเกิดขึ้นมา แต่เราไม่ได้กังวลอะไรมากนักเพราะสภาวะไข่ที่ถูกกระตุ้นมากเกินไปนั้น ความซับซ้อนที่เกิดจากแฝดที่มากกว่าสองคน เช่นแฝดสาม แฝดสี่นั้นน่ากลัวกว่ามาก เราเพียงคิดว่าถ้าเขาทั้งสองคนไม่พร้อมเขาก็จะไม่อยู่กับเราโดยธรรมชาติ ผ่านไปสองเดือนก็แล้วสามเดือนก็แล้ว การตกเลือดไม่มีท่าทีว่าจะหยุด เราถูก admit เข้าโรงพยาบาลหลายต่อหลายครั้ง เกิดภาวะเสียเลือดจนแม่แทบจะเอาตัวไม่รอดอยู่หลายครั้ง จนในที่สุดก็ผ่านวันเวลานั้นมาได้ด้วยคำนิยามใหม่ที่เรียกว่า Ovary rupture แฝดทั้งสองเดิบโตมาในสภาวะที่แม่กำลังดิ้นรนเพื่อจะเอาชีวิตรอด เสียเลือดจนเข้าสู่สภาวะช็อค ธรรมชาติพยายามอย่างดีที่สุดที่จะรักษาชีวิตแฝดเอาไว้ แต่ไม่วายผ่านไป 31 สัปดาห์ น้องสาวซูริ ที่เริ่มโตไม่ทันพี่ชาย ก็มีอาการไม่มีเลือดเข้าไปเลี้ยง ธรรมชาติกำลังตัดสิน แฝดที่พยายามช่วยกันอย่างสุดชีวิตที่จะยื้ออยู่ให้นานที่สุด เพราะถ้าใครคนใดคนหนึ่งยอมแพ้นั่นก็หมายถึงชีวิตของอีกคนเช่นกัน
ชีวิตบนโลกใบนี้ของซูริค่อนข้างจะทรหดไม่แพ้กับในครรภ์ ด้วยน้ำหนักตัวที่ยังน้อย ปอดยังไม่พร้อมที่จะทำงาน ทำให้ต้องใช้ท่อช่วยหายใจ ระบบการกลืนยังไม่ทำงานจึงต้องใช้ท่อส่งอาหารลงกระเพาะ ภาพของการใส่ท่อทั้งสองในทารกขนาดประมาณฝ่ามือนั้นมันบาดตา ขนาดว่าคณะพยาบาลไม่เคยอนุญาติให้เราได้เห็นเลยแม้แต่ครั้งเดียว แน่นอนว่าดูน่ากลัวยิ่งกว่าภาพแรกที่เราได้โอกาสเข้ามาพบฝาแฝดทั้งสองในตู้อบที่เต็มไปด้วยสายระโยงระยาง เมื่อเรารู้ว่าลูกของเราทั้งสองจะไม่ได้กลับบ้านพร้อมกันกับเรา เราจึงหาที่พักใกล้โรงพยาบาลเพื่อที่จะได้อยู่กับพวกเชาทุก ๆ วัน เหมือนอย่างพ่อแม่มือใหม่คาดฝันไว้ก่อนคลอด
เราเฝ้ามองพัฒนาการของระบบต่าง ๆ ที่สำคัญ ของลูกทั้งสอง ขณะที่ทั้งสองดูมีพัฒนาการรวดเร็ว เซนสามารถออกจากตู้ได้แต่ซูริยังมีเรื่องของระบบการหายใจที่ดูเหมือนไม่พร้อมเสียที ซึ่งไม่ใช่ข่าวที่ดีมากนัก การใช้ท่อช่วยหายใจทำให้เกิดอาการข้างเคียงหลายอย่างตั้งแต่ระยะสั้น คือ ภาวะปอดติดเชื้อ ซึ่งทำให้มีไข้ ต้องให้ยาฆ่าเชื้อ และมีเสลดตามมา ซึ่งจะมีการไหลไปผิดที่ผิดทางจนต้องมีการดูดออก หรือผลข้างเคียงระยะยาวที่อาจจะทำให้ประสาทตาใช้งานไม่ได้ ทางแพทย์จึงมีความพยายามที่จะหยุดใช้ท่อหายใจให้เร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ เพราะแม้ผลข้างเคียงระยะสั้นนั้นอาจจะลุกลามใหญ่โต การติดเชื้ออาจจะเข้าสู่กระแสเลือดทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ แต่ทุกครั้งที่มีความพยายามที่จะถอดท่อช่วยหายใจออก ซูริก็ยังไม่สามารถหายใจได้ด้วยตัวเอง เนื่องด้วยขนาดที่ค่อนข้างเล็กของซูริ อุปกรณ์ช่วยหายใจแบบที่เป็นหน้ากากครอบจมูกที่มีนั้นมีขนาดที่ใหญ่เกินไปไม่สามารถใช้กับซูริได้ต่างจากพี่เซนที่ใช้หน้ากากตัวนี้ช่วยในการฝึกหายใจวันช่วงวันสองวันแรก ซูริจึงจำเป็นต้องหายใจเองโดยไม่มีอุปกรณ์ช่วยเหลือ ซึ่งจะเกิดอาการตามมาคือ sleep apnea ที่ซูริจะลืมหายใจแล้วหลับไปเอง ต้องคอยมาสะกิดให้ตื่น อุปกรณ์เตียงแบบพิเศษที่คอยเคลื่อนไหวกระตุ้นไม่ให้เกิดอาการนี้ก็ได้พังไปหมดแล้ว อาการ sleep apnea จึงเป็นความเสี่ยงที่อันตรายมากกว่าความเสี่ยงจากการใส่ท่อช่วยหายใจ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ที่มีจำกัด และความเสี่ยงของการปลุกไม่ตื่น นำไปสู่ภาวะฉุกเฉินที่ไม่มีเจ้าหน้าที่คนไหนต้องการให้เกิดขึ้นในกะของตน ซูริจึงต้องหายใจด้วยท่อช่วยหายใจเป็นส่วนมาก ต้องผ่านประสบการการใส่ท่อหลายต่อหลายครั้ง พบกับการติดเชื้อหลายครั้ง มีความจำเป็นต้องดูดเสลดเป็นประจำ และผ่านประสบการ sleep apnea เป็นครั้งคราว สภาวะนี้กับทารกที่มีอายุไม่กี่วัน น้ำหนักตัวเพียง 900 กรัม มันหนักหนาสาหัส มากพอควร มากกว่าความกังวลแรก ๆ ที่เราเคยกังวลกับ ปากแหว่งเพดานโหว่เล็ก ๆ นิ้วมือที่พัฒนาไม่ค่อยสมบูรณ์ หรือแม้กระทั่งความผิดปกติของโครโมโซมที่เรียกกันว่า triple X
เราอยู่กับเซนและซูริทุกวัน ตลอดเวลาที่เราตื่น จนในที่สุดเซนมีน้ำหนัก 1.8 กก. เมื่อเวลาผ่านไประมาณ 30 วัน และแพทย์ให้ออกจาก NICU เพื่อกลับบ้านได้ เซนก็จะอยู่กับเราตลอด 24 ชม. และก็มาใช้ชีวิตส่วนใหญ่ที่หน้าห้อง NICU ระหว่างที่เราเข้าไปเยี่ยมซูริ ซูริมีกำลังใจที่ดี ลืมตาขึ้นมาทักทายเราทุก ๆ ครั้ง แม้ว่าจะต้องสู้กับอาการไข้ ภาวะปอดติดเชื้อ หรือ ผ่านการดูเสมหะมาหมาด ๆ การรับอาหารก็ไม่มีปัญหาน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนเป็น 1.4 กก. จนในท้ายที่สุดคณะแพทย์มีความเห็นว่า ซูริควรที่จะหายใจเองได้แล้ว และเริ่มตั้งคำถามถึงสาเหตุว่าทำไม แล้วในเช้าวันหนึ่งคณะแพทย์จึงได้บอกกับเราว่า เขาต้องการส่องกล้องทางเดินหายใจเพื่อจะดูว่ามีอะไรผิดปกติหรือไม่ ผมเห็นดีด้วยเพราะผมเห็นความพยายามที่ไม่เป็นผลสำเร็จหลายต่อหลายครั้งในการที่จะถอดท่อช่วยหายใจ ซึ่งทำให้ต้องมีการใส่ท่อใหม่ที่สุดแสนจะทรมาน ผมเห็นความเจ็บป่วยที่เกิดจากการติดเชื้อ และการเจาะเส้นเลือดทั่วทั้งตัวรวมไปถึงบนศีรษะเพื่อที่จะให้ยาฆ่าเชื้อ ผมเองก็อยากรู้เช่นกันว่าทำไม ในวันถัดไปเราจึงนัดทำการส่องกล้อง แต่สิ่งหนึ่งที่ผมไม่เคยรู้มาก่อนเลยนั่นก็คือ ขั้นตอนนี้ต้องมีการให้ยาสลบ และการให้ยาสลบนั้นมีความเสี่ยงในตัวของมันเองอยู่ ในเช้าวันส่องกล้องแพทย์นำเอกสารที่ระบุถึงการรับรู้ถึงความเสี่ยงและแสดงความยินยอมให้ผมเซนต์ หลังจากนั้นผมจึงอุ้มซูริขึ้นมาจากตู้ ซูริหันมามองหน้าผมเช่นทุก ๆ ครั้งด้วยตากลมโต ยิ้มให้ผมที่มุมปากเล็ก ๆ ตามประสาการรับรู้ของพ่อที่มีต่อลูกน้อยที่มีอายุเพียง 49 วัน ก่อนที่ผมจะส่งให้กับคณะแพทย์ไป ส่วนผมเดินเข้าในนั่งรอในห้องพักแพทย์ภายในห้องผ่าตัด การผ่าตัดดำเนินไปได้ไม่นาน ก่อนที่ผมได้รับโทรศัพย์จากวิสัญญีแพทย์ที่เป็นรุ่นน้อง เรียกให้ผมเข้าไปด้านในห้องผ่าตัด เพื่อไปเห็นภาพซูริกำลังถูกปั้มหัวใจ แพทย์อธิบายว่าการส่องกล้องเป็นไปด้วยดี ซูริไม่มีอะไรผิดปกติที่ระบบทางเดินหายใจ แต่ซูริไม่ยอมตื่นจากยาสลบ
ผมไม่แน่ใจว่านี่เป็นแนวปฏิบัติหรือไม่ ที่ผมจะเป็นผู้ตัดสินใจที่จะให้แพทย์ยุติการยื้อชีวิตของลูกน้อย แต่ภาพที่เห็นแพทย์ได้อธิบายว่าในขณะนี้ การ resuscitate life สำคัญกว่าอย่างอื่น ถ้าได้ชีวิตกลับมาแล้ว อวัยวะอื่น ๆ เราค่อยซ่อมกันทีหลัง ด้วยขนาดที่เล็กของซูริ ในขณะนี้อวัยวะบริเวณทรวงอกคงจะบอบช้ำไปหมดแล้ว ผมไม่รู้ว่าแพทย์พยายามปลุกชีวิตซูริกลับมาเป็นเวลานานเท่าใด แต่เลือดที่ซึมออกมาทางปากและจมูกทุกครั้งที่มีการปั้มหัวใจน่าจะบ่งบอกว่ามันคงเป็นเวลาพอสมควรแล้ว สุดท้ายแพทย์จึงพยายามอธิบายว่ามันคงถึงเวลา เพื่อที่ในที่สุดผมจะต้องตัดสินใจว่าหยุด พยาบาลพาภรรยาที่กำลังอุ้มเซนเพื่อมารับรู้ถึงข่าวร้ายอันนี้ ภาพของภรรยาอุ้มลูกชายคนแรก เดินเข้ามายืนมองร่างไร้วิญญาณของลูกสาวคนแรก ยังติดตาผมอยู่ในทุกวันนี้ หลังจากนั้นพยาบาลย้ายร่างของซูริไปพักใน NICU ผมใช้เวลาอยู่กับซูริตลอดเวลาที่เหลืออยู่ ระห่างที่ภรรยาต้องคอยให้นมเซนเป็นพัก ๆ หลังจากนั้นทางพยาบาลก็นำร่างซูริไปเพื่อเตรียมให้ผมพากลับไปทำพิธีทางศาสนา ผมแจ้งข่าวร้ายให้กับทางบ้าน และเตรียมพิธีเผาแบบง่าย ๆ ทันทีที่ผมไปรับร่างชองซูริกลับไปวันรุ่งขึ้น อารมณ์ของพ่อที่อุ้มร่างของลูกคนแรก ออกจากโรงพยาบาล มันต่างจากอารมณ์เมื่อวานที่ยืนมองร่างอย่างสงบ และยากนักที่จะสรรหาคำอธิบาย ผมรู้ว่าเราต้องเข้มแข็ง และก้าวผ่านวันนี้ในทันที เพราะเรายังมีเซนที่ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดอีกหนึ่งคน พ่อแม่มือใหม่กับลูก premie น้ำหนักตัวเพียง 1.8 กก. ที่เราเพิ่งเสียน้องสาวของเขาไป ผมคิดว่าภรรยาของผมทำได้ดีมาก ในช่วงนั้น พ่อของผมมาเล่าให้ฟังว่าซูริมาบอกลากับคุณปู่ของเขาก่อนวันผ่าตัด แต่พ่อไม่กล้าที่จะมาบอกผม แต่ถ้าพ่อบอกผมแล้วผมไม่เชื่อพ่อ ผมคงทำใจลำบากกว่านี้ ทุกวันนี้ผมยังคิดถึงซูริอยู่เสมอ แม้ไม่ได้พูดอะไร แต่จริง ๆ แล้วผมพูดถึงเรื่องนี้ไม่ค่อยได้ นอกจากจะถ่ายทอดออกมาเป็นตัวหนังสือเช่นนี้ สิ่งที่ผมเสียดายที่สุดคือ ผมไม่มีภาพเหตุการณ์ 49 วันเหล่านั้นของเราเลย และรู้สึกเสียใจที่สุดที่ NICU ไม่อนุญาติ ให้มีการถ่ายรูป
ก่อนที่จะมีการสวด ผมถือโอกาสถ่ายภาพซูริไว้หนึ่งภาพ ในเวลานั้นผมมองเห็นซูรินอนยิ้มอย่างมีความสุข ผมจึงคิดว่าซูริอาจจะทำหน้าที่ช่วยเหลือเซนให้มีชีวิตรอดออกมาเพียงเท่านั้น และหน้าที่นั้นได้สิ้นสุดลงอย่างสมบูรณ์แล้ว เขาจึงลาจากไป เราเผาสิ่งของเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เราเตรียมไว้ให้ซูริ ผมเป็นคนอุ้มร่างของซูริขึ้นบันไดเมรุ และเห็นร่างซูริเป็นคนสุดท้าย ปัจจุบันรูปที่ผมถ่ายไว้ไม่ได้ดูยิ้มอย่างที่ผมเห็นในเวลานั้น แต่กลับดูซีดเซียวไร้ชีวิต ในขณะที่รูปที่แอบถ่ายใน NICU ก็ไม่เต็มตัว สิ่งที่เหลือของซูริก็มีเพียงเถ้ากระดูก ที่ในบางครั้งผมจะแบ่งออกมาเพื่อพาซูริไปเที่ยวที่ต่าง ๆ ที่เราไปกัน เราไม่มีป้ายหลุมศพอย่างที่ฝรั่งเขามี ซูริจึงเป็นเหมือนความทรงจำของผมที่คอยแบ่งให้คนอื่นรับรู้บ้างบางครั้งที่มีการถามว่าผมมีลูกกี่คน และเมื่อสี่คนคือคำตอบ
ไม่นานมานี้มีการแชร์คลิปของเด็ก premie ที่ผ่านหลาย ๆ อย่างแบบที่ซูริเคยเจอแต่ได้มีโอกาสกลับบ้านเหมือนที่เซนได้กลับ แม้ว่าในใจผมเอง ผมเข้าใจดีว่าการจากไปของซูรินั้นมีความซับซ้อน ประกอบร่วมกันหลายอย่างตั้งแต่ความผิดปกติของโครโมโซม ความผิดปกติที่มองเห็นได้ที่นิ้วมือ นิ้วเท้า รวมไปถึงการปากแหว่งเพดานโหว่ และการหายใจที่ท้ายที่สุดแล้ว ด้วยเครื่องมือที่ดีที่สุดในโลก กอรปกับบุคลากรมือหนึ่งของทางโรงพยายาบาลเข้ามาดูแล แล้ว การจากไปของซูรินั้นก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่แล้วผมก็ยังอดที่จะถามตัวเองด้วยคำถาม What if? ไม่ได้ ถ้า NICU แห่งเดียวในภาคใต้ตอนล่างมีความพร้อมของเครื่องไม้เครื่องมือมากกว่านี้ หน้ากากออกซิเจนที่เล็กพอ เตียงป้องกัน sleep apnea ถ้า ถ้า ถ้า เมื่อตั้งสติได้ นั่นเป็นการแสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอภายในจิตใจของผม แสดงให้เห็นแผลในจิตใจที่ยังไม่ได้ถูกเยียวยา เป็นตัวอย่างคลาสสิคของผู้สูญเสียที่แสดงในขั้นตอนต่าง ๆ ของการสูญเสียนั้น ส่วนผมนั้นอยู่ในขั้นตอนที่สามของการเยียวยา หรือ Bargaining การตั้งคำถาม What If นั่นเอง (5 stages of grief and lost : Denial & Isolation, Anger, Bargaining, Depression, Acceptance) ในที่สุดผมจึงคิดได้ว่าคำถาม what if? นั้นไม่สามารถทำให้อะไรดีขึ้นได้ การเยียวยาจิตใจผมยังไม่ได้เกิดขึ้น ผมจำเป็นต้องทำอะไรบางอย่างที่จะยอมรับในการจากไป ยอมรับความจริงในสิ่งที่เกิดขึ้น (Acceptance) ในวันนี้ผมจึงถือโอกาสจัดตั้งกองทุนเพื่อซูริ เพื่อบริจาคเงิน และจัดหาเงิน มอบให้กับหน่วย NICU นำไปจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น ที่จะเพิ่มโอกาสที่จะช่วยให้ซูริได้กลับบ้าน เพื่อที่จะลดเหตุการณ์ดังเช่นที่ผมเล่ามาข้างต้น ป้องกันการตั้งคำถาม what if? ที่จะเกิดขึ้นกับครอบครัวอื่น ๆ ดังเช่นกับตัวผม ในขณะที่จะช่วยทำให้ผมมีช่องทางที่จะเยียวยาแผลในหัวใจของผมและครอบครัว ในทางที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ โดยวางแผนเป็นขั้นตอนเป็นดังนี้
- จัดตั้งกองทุนเพื่อซูริ ด้วยเงินทุนจัดตั้งขั้นต่ำ 100,000 บาท ด้วยทรัพย์ส่วนตัวและผู้ร่วมจัดตั้งบริจาค (*สำเร็จในวันที่ 24 เมย. และเปิดบัญชีวันที่ 27 พค. 54)
- สร้างระบบเพื่อนำส่วนแบ่งรายได้จากการขายสินค้าในกลุ่มเด็ก ของผลิตภัณฑ์ยางพาราออริจินัล เข้ากองทุนเป็นรายปี หรือรายครึ่งปี
- Fund raise เพื่อหาเงินเข้ากองทุน : กำเนิด Ironman Langawi For Zuri และ Run4ManyReason
เป้าหมายที่ผมต้องการคือ ความทรงจำที่มีค่ายิ่งกว่าป้ายหลุมศพใด ๆ และถ้ากองทุนนี้ได้มีโอกาสได้ช่วยให้ซูริของครอบครัวไหนได้กลับบ้าน เพียงหนึ่งครอบครัว ผมคงนอนตายหลับตาพริ้มอย่างที่ผมเห็นบนใบหน้าของซูริในวันนั้น วันที่กล้องถ่ายภาพไม่สามารถที่จะเก็บภาพนั้นที่ผมเห็นเอาไว้ได้ โครงการนี้ถือว่าเป็นโปรเจคของชีวิตของผมได้เลยทีเดียว คงจะไม่เบื่อกันนะครับ ถ้าผมจะต้องพูดถึงโปรเจคนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า
บันทึกความเคลื่อนไหวกองทุน (ยอดบริจาครวม 807,700 บาท)
1. ณ วันที่ 29 เมย. 2557 เราได้จัดตั้งกองทุนกับ รพ.สงขลานครินทร์ แล้วด้วยยอดบริจาคเริ่มต้น 100,000 บาทครับ 2. ณ วันนี้ 27 พค. 2557 ผมได้เปิดบัญชีเพื่อใช้ในการร่วมสมทบทุนกับเราไว้แล้วครับ โดยมีเงินเปิดบัญชี 19,500 บาท ที่เหลือมาจากยอดบริจาคของกลุ่มผู้ก่อตั้งกองทุนรวม 119,500 บาท สำหรับท่านใดที่ต้องการร่วมกับโครงการ เป็นบัญชี ธ.กรุงเทพ สาขามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 641-0-15829-6 ท่านใดที่มีจิตศรัทธาบริจาคเข้ามากรุณาแจ้งผมที่ email : nattapong@patexfoam.com หรือ ผ่านทาง www.facebook.com/arm1972 หรือจะแจ้งไว้ที่ตรงนี้ก็ได้ครับ บัญชีชื่อ ณัฐพงศ์ นิธิอุทัย ครับ
3. วันที่ 24 มิย. ถอนเงินจากบัญชีมาบริจาคเพิ่มเติม 20,000 บาทครับ มีผู้สมทบทุนมาเพิ่ม 1000 บาท
4. วันที่ 2 กย. บริจาคเพิ่มเติม 70,000 บาทครับ เงินบริจาคส่วนใหญ่มาจากกิจกรรมของผู้ใจดีครับ ไม่ว่าจะเป็น Icebucket Challenge กลุ่มล้อเล็ก Run 4 Any Reason
5. วันที่ 14 ตค. กิจกรรม Ironman Langkawi #ForZuri สร้างยอดบริจาค ร่วมกับ กลุ่มหน้าขาวใจบุญ รวม 50,000 บาท
6. วันที่ 11 พย. ศิษย์เก่าคณะพยาบาลศาสตร์ มอ. รุ่นที่ 25 ได้จัดโครงการ White Face for Zuri by Nurse PSU และนำเงินไปบริจาคสมทบกองทุนเพื่อซูริเข้าไปอีก 16,000 บาท
7. วันที่ 18 พย. นำเงินบริจาค 30,000 บาท เงินส่วนใหญ่ได้มาจากการจัดกิจกรรมของกลุ่ม Run4ManyReasons ที่จุดประกายโดยพี่ กล้วยหอมเรื่องวิ่งเรื่องกล้วย
8. 18 มีนาคม 2558 วันนี้นำเงินเข้าไปบริจาคเพิ่ม 164,000 บาท ส่วนหนึ่งมาจากกิจกรรม 4 สัปดาห์มหาโหดของผม และการแข่งขันไตรกีฬาครั้งแรกของเซน และการร่วมบริจาคผ้าบัฟ และเงินของคุณติก๋วยเตี๋ยวเป็ด การประมูลของพี่ป๊อกครับ
9. วันที่ 28 เมษายน 2558 ครบรอบหนึ่งปีของการก่อตั้งกองทุน “เพื่อซูริ” บริจาคเงินเข้าอีก 35,500 บาท ส่วนใหญ่มาจากการปั่น กรุงเทพฯ-หาดใหญ่ของผม และผู้ใจบุญที่เริ่มทยอยบริจาคเข้ามาแบบไม่แจ้ง
10. 28 สิงหาคม 2558 ระหว่างที่น้องฮารุรักษาแผลน้ำร้อนลวกที่โรงพยาบาล เราก็พาน้อง ๆ มาผ่อนคลายด้วยการบริจาคเพิ่มอีก 80,000 บาทครับ มีกลุ่มนักวิ่งจากงานวิ่ง 12 สิงหา ส่วนแบ่งรายได้จากการขายสินค้า Original For Zuri และอื่น ๆ
11. 8 ธันวาคม 2558 นำเงินบริจาคจากกลุ่มน้องเตย จากการวิ่ง TNF100 ปี 2015 จำนวน 122,200 บาท เข้ามอบแก่มูลนิธิครับ ต้องขอบคุณน้องเตยและเพื่อน ๆ ครับ
12. 15 ตุลาคม 2559 นำเงินบริจาค 120,000 บาท เป็นเงินจากการจำหน่ายสินค้าเด็กแบรนด์ออริจินัล สินค้า JonJon เงินจากการขายเสื้อเชียร์ V40 เงินจากกล่องบริจาค เงินจากการทำกิจกรรมของ Banana Run และพี่ป๊อก เทพอัลตรา เงินจากการจัดปั่นออแดกซ์ปัตตานี 200, 300 กม. รวมไปถึงการจัดกิจกรรมของ โคชตั๊ว Elite Multisport Training
13. 28 ธันวาคม 2560 นำเงินบริจาค 100,000 บาท เป็นเงินส่วนใหญ่จากการจัดออแดกซ์ 3 ครั้ง และมีหมอแอมที่บังเอิญเจอกันที่ธนาคารตอนนำเงินออกมาบริจาค ก็ร่วมสมทบทุนมาด้วย 1000 บาท ยอดรวมในบัญชี มีเศษ 22 บาทเพิ่มขึ้นมาไม่แน่ใจว่ามีใครช่วยบริจาค หรือ เป็นการปรับดอกเบี้ยให้กองทุนผมไม่แน่ใจครับ
14. 14 ธันวาคม 2561 นำเงินบริจาค 70,000 บาท เงินบางส่วนมาจากการจัดออแดกซ์ 30,000 บาท อีก 30,000 บาท เป็นการบริจาคการยอดขายออริจินัล และที่เหลือเป็นเงินจากเพื่อน ๆ ที่บริจาคเข้ากันมาหลาย ๆ ปีรวม ๆ กัน ยกยอดออกมาบริจาคในรอบนี้ครับ
15. ในปี 2562 ไม่ได้มีเงินไปบริจาคนะครับ เนื่องจากยอดเงินในบัญชีมีไม่มากนัก งานออแดกซ์มีคนน้อย รวม ๆ ทั้งปี ไม่กี่หมื่นบาท ค่อยยกยอดรวมไปในปี 2563 ต่อไป ปัจจุบันมียอดเงินในกองทุน 977,722 บาทแล้วครับ
ผมสนใจและสนันสนุนเต็มที่ครับ
ขอบคุณครับ
ที่อ่านจนจบ เพราะตอนนี้มีหลานอยู่ ในสภาวะ แบบนัองซูริค่ะ แต่เขาอยู่เมืองนอก รู้สึกเศร้ามากค่ะ
เสียใจด้วยครับ
อาร์ขอร่วมสมทบทุนด้วยค่ะ
ยินดีครับ
ร่วมบริจาคโอนผ่านscbได้ไหมคะ ขอเลขที่บัญชีด้วย หรือแบงค์อื่นก็ได้นะคะ ถ้าไม่สะดวก ลูกส่วคลอดก่อนกำหนดเช่นกันคะ รอดได้เพราะคุณหมอที่มีปสก.และอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์จริงๆคะ
ขอร่วมบริจาคด้วยคะ ขอทราบเบอร์บัญชีและธนาคารที่สะดวกรับด้วยนะคะ
ขอบคุณครับ เมล์ไปแล้วครับ
หนูได้รับรู้เรื่องราวของ อาจารย์อาร์ม แล้วเข้าใจความเจ็บปวดค่ะ เนื่องจากลูกของหนูก็ต้องรักษาตัวในห้อง NICU ซึ่งอุปกรณ์ที่ใช้รักษาระโยงระยางกว่าหนูน้อยที่คลอดก่อนกำหนดมาก แต่ไม่ว่าจะเป็นกรณีไหนเด็กที่ต้องรักษาตัวในห้องนั้นน่าสงสารทุกคน … หนูขอบคุณห้อง เครื่องมือและบุคลากรในห้อง NICU ที่ช่วยให้ลูกหนูปลอดภัยแต่ก็ต้องต่อสู้กับอะไรอีหลายๆอย่างต่อไปในอนาคต .@@@@
ลูกมีปัญหาในการคลอด มีภาวะขาดออกซิเจน ค่ะ….
@@@ขอบคุณที่อาจารย์และครอบครัวที่เห็นความสำคัญกับสิ่งที่เกิดขึ้นและจัดตั้งมูลนิธิ หนูก็อยากช่วยเหลือเช่นกันค่ะ
@@@ ตอนนี้หนูและลูกยังรักษาตัวอยุ่ รพ. มอ.โดยได้รับการช่วยเหลือจากโรงพยาบาลผ่านงานสิทธิประโยชน์ทุกอย่าง เนื่องจากหนูรายได้น้อยและไม่สามารถจ่ายค่ารักษาได้
ขอบคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ขอบคุณพระราชยิดา ขอบคุณท่านสุขดี ขอบคุณทุกๆคน..
3/พ.ค.58.
เอาใจช่วยครับ
ขอบคุณค่ะ
อ่านเรื่องราวของอาจารย์แล้วน้ำตาไหลค่ะ รู้สึก เข้าใจ และเห็นภาพ หนูเพิ่งคลอดลูกเมื่อไม่นานนี้ เข้าใจหัวอกคนเป็นพ่อเป็นแม่มันทำใจยากมาก แต่ดีใจกับความตั้งใจของอาจารย์ค่ะ ที่เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสสำหรับเด็กคนอื่น หนูจะช่วยด้วยค่ะ อาจจะไม่มากมาย แต่จะช่วยให้บ่อยครั้งเท่าที่ทำได้นะค่ะ
ขอบคุณมาก ๆ ครับ แค่ได้ช่วยเผยแผ่ก็ดีใจแล้วครับ