ZeroWaste is the final answer.

ผมเคยให้สัมภาษณ์หลายครั้งแล้วว่าทางออกของหลาย ๆ ปัญหาสิ่งแวดล้อมในเวลานี้ สามารถเริ่มต้นและลงท้ายด้วยคำว่า “ZeroWaste” แต่หลายคนเมื่อได้ยินคำนี้ก็เดินหนีทันทีอาจจะเพราะเกรงกลัวคำว่า Zero หรือ หมายเลขศูนย์ หรือ อาจจะติดกับภาพจำของ YouTuber หรือ Bloggler หลายคนที่จุดประกายความสนใจในคำคำนี้ด้วยการดำเนินชีวิตไปในทางสุดโต่ง เพื่อทดสอบว่าตนเองจะสามารถลดขยะได้มากน้อยเพียงใดหากตั้งใจจริง ซึ่งความตั้งใจเหล่านั้น น่ายกย่อง และ น่าประทับใจมาก ๆ หลายคนสร้างขยะเพียงขวดโหลเล็ก ๆ ในช่วงระยะเวลาหลาย ๆ เดือน หรือ แม้กระทั่งเป็นปี แม้ว่าสิ่งที่สื่อสารออกมาจะบอกว่า การใช้ชีวิต ZeroWaste และการสร้างขยะน้อยมาก ๆ มีความเป็นไปได้สูง เพียงแค่ตั้งใจเท่านั้น แต่ภาพของปริมาณขยะอันน้อยนิด หรือ ตัวเลขศูนย์ ทำให้หลาย ๆ คน เมื่อได้ยินคำว่า ZeroWaste สมองจะไม่ยอมรับข้อมูลใด ๆ อีก ใจคิดเพียงว่าเป็นไปไม่ได้

ครอบครัวของผมเองได้ทดลองชีวิต ZeroWaste มาได้ประมาณ 4 ปีล่วงมาแล้วน่าจะได้ จากครอบครัวปกติที่สร้างขยะ ไม่ได้น้อยเลย เกือบ 1.5 kg ต่อหัวต่อวัน จนเหลือเพียง 20 กรัมต่อคนต่อวัน ภายในเวลาประมาณ 1 ปี โดยใช้เครื่องมือต่าง ๆ ทั้งถูกและแพง หลากหลาย ก่อนที่จะค่อย ๆ ขยายความคำ ๆ นี้ออกไปในกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยเครื่องมือต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดร้าน ZeroWaste Pattani ไปเรื่อยจนถึงการพัฒนาคอนเซ็ปท์ของ ZeroWaste Events รวมถึงเนื้อหาของ ZeroWaste Camping ที่ค่อย ๆ ปรับปรุงมาจนเป็นครั้งที่ 7 เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ภาพของกิจกรรมได้ถูกถ่ายทอดหลายครั้งตั้งแต่ครั้งที่ 5 ครั้งที่ 6 ไปจนครั้งที่ 7 ในรายการคนค้นคน แม้ว่าในรายการไม่ได้เน้นสื่อสารเรื่อง ZeroWaste แต่ฉายแสงไปที่ความร่วมมือของกลุ่มต่าง ๆ ในพื้นที่ในการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับชุมชน แต่ก็หลีกเลี่ยงเส้นเรื่องกลางของกิจกรรมที่เราทำเป็น ZeroWaste ไม่พ้น

ในการศึกษาชนิดของขยะของประเทศไทยพบว่า สัดส่วนของขยะที่จัดเป็นสี่ประเภทให้คัดแยกนั้นประกอบไปด้วยขยะอินทรีย์ 60% ขยะรีไซเคิล 30% ขยะอันตราย 3% และขยะทั่วไปเพียง 7% ซึ่งแสดงให้เห็นว่าในชีวิตจริง ๆ ของเรานั้น มีขยะเพียง 10% (ขยะอันตราย และขยะทั่วไป) ที่จัดการเองไม่ได้ หากเราอ้างถึงข้อกำหนดของ Zerowaste International Alliance ที่กำหนดไว้ว่า หากเราสามารถจัดการขยะของตนเองได้ 90% หรือ มีขยะที่ไม่สามารถจัดการได้เพียง 10% เราจะสามารถใช้คำว่า ZeroWaste ในการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ได้ทันที ไม่ว่าจะเป็น ZeroWaste Family, ZeroWaste Community, ZeroWaste Event, ZeroWaste Village, ZeroWaste Province หรือแม้กระทั่งกรณีนี้ ZeroWaste Country เพียงแค่เราแยกขยะ 4 ประเภทนี้ให้ได้ และ ล้างขยะรีไซเคิลให้สะอาด เพื่อแยกขยะรีไซเคิลออกจากขยะทั่วไปที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ เพราะไม่มีเทคโนโลยี ไม่ใช่เพียงเพราะสกปรก ถามว่าต้องใช้เทคโนโลยีมั้ยก็จะเห็นว่าเราไม่ได้ต้องการเทคโนโลยีใด ๆ เลยในการไปสู่คำว่า ZeroWaste

อย่างไรก็ตาม การล้างขยะทั่วไปให้สะอาด เพื่อให้มันกลับมาเป็นขยะรีไซเคิลให้ได้นั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะจูงใจคนให้ทำได้ง่ายนัก เมื่อเทียบกับการชักชวนให้คนช่วยกันแยกขยะ ในกิจกรรม ZeroWaste Camping ที่เป็นงานที่รวมบุคคลที่ทุ่มเทกับการแยกขยะ และการใช้ชีวิต ZeroWaste มาร่วมกันนั้น เรามีสถิติในการล้างขยะทั่วไปให้กลายเป็นขยะรีไซเคิลได้เพียง 5-10% เท่านั้น หมายความว่า ถ้าบรรจุภัณฑ์ใด ที่ถูกออกแบบให้เป็นขยะทั่วไป แนวโน้มของการที่มันจะลงท้ายเป็นขยะทั่วไปนั้นสูงถึง 90-95% เลยทีเดียว บรรจุภัณฑ์เหล่านี้ ได้แก่ ถุงแกง กล่องพลาสติกบรรจุอาหาร หรือ แก้วพลาสติกใช้แล้วทิ้ง ดังนั้นเราพบว่าเรามีโอกาสสร้าง ZeroWaste ได้ง่ายกว่า หากเรามีการเตรียมตัวเบื้องต้นเล็กน้อยเพื่อที่จะลดขยะจำพวกนี้ตั้งแต่เริ่มต้น

การลดขยะตั้งแต่ต้นทางนั้น พูดเหมือนง่าย แต่การกระทำนั้นไม่ได้ง่ายนัก เพราะเป็นเรื่องของการเปลี่ยนพฤติกรรม เปลี่ยนสิ่งที่ติดตัวมาเป็นเวลานาน จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ เครื่องมือ หรือแม้กระทั่ง community มาช่วยสร้างพฤติกรรมที่เหมาะสมให้เกิดขึ้นจนท้ายที่สุดกลายเป็นธรรมชาติ และกลายเป็นอะไรที่ง่ายเหมือนไม่ต้องเปลี่ยนแปลงใด ๆ เราใช้การ camping มาเป็น simulation ของการใช้ชีวิตร่วมกัน การดำเนินชีวิตจริง ๆ 3 วัน 2 คืน มีอาหาร 5 มื้อ อาบน้ำแต่งตัว 4 รอบ ที่หากเราจะลองกำหนดกติกาในการใช้ชีวิต ZeroWaste เราจะได้พัฒนากระบวนการในการดำเนินชีวิตให้สร้างขยะที่จัดการไม่ได้ หรือ ขยะทั่วไปนั้นให้น้อยลง เราทำสถิติของการอยู่ร่วมกันเช่นนี้ไว้เพียง 2 ครั้ง ในการ camping ครั้งที่ 6 และครั้งที่ 7 ครั้งที่ 6 พบว่าเราสร้างขยะเพียง 40 กรัมต่อคนต่อวัน และครั้งที่ 7 ลดเหลือเพียง 33 กรัมต่อคนต่อวันเท่านั้น จากประชาชนคนธรรมดาที่สร้างขยะประจำวันอยู่ที่ 1.3 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน นั่นแสดงให้เห็นว่าชีวิต ZeroWaste นั้นสามารถเกิดขึ้นได้ในทันที ขอเพียงมีการปรับพฤติกรรมเพียงเล็กน้อย และ แยกขยะให้ได้เท่านั้น

ในทุกครั้งที่เราพูดถึงการแยกขยะ จะต้องถูกตั้งคำถามเสมอเรื่องที่หลายคนเคยแอบเห็นรถขยะเขาเทถุงรวมกันที่ท้ายรถ แม้ว่าจริง ๆ แล้วนั่นเป็นกระบวนการที่ชาวเก็บขยะเขาใช้เพื่อแยกขยะรีไซเคิลให้ละเอียดและถูกต้องยิ่งขึ้น ถ้าจะสังเกตุดี ๆ จะพบว่าท้ายรถทุกคันจะมีถุงแยกขยะห้อยไว้เตรียมแยกขยะเหล่านี้ให้แม่นยำ แม้ว่าเรื่องนี้จะเป็นความจริงมากน้อยแค่ไหนก็ตาม จากข้อมี Waste Audit เราจะพบว่าเรื่องสำคัญของการแยกขยะนั้น ไม่ได้อยู่ในประเด็นที่สังคมพยายามพูดถึงกันเลย ไม่ว่าจะแยกประเภทของเหล็ก พลาสติก กระดาษ อลูมิเนียม หรือ กล่องนม เพราะปริมาณขยะรีไซเคิลเหล่านี้ รวมกันมีปริมาณเพียง 30% ดังนั้นประเด็นของการแยกขยะคือ การแยกจัดการขยะอินทรีย์เป็นสำคัญ ไม่ว่าบ้านใดจะแยกขยะรีไซเคิลเป็น 20-30 ประเภท หากมีการรวมขยะอินทรีย์เข้ากับขยะทั่วไปนั่นถือว่าสอบตก เพราะขยะที่จัดการได้จะมีเพียง 33% (รวมขยะอันตราย) และขยะทั่วไปจะกลายเป็น 67% (รวมอินทรีย์กับขยะทั่วไปเข้าด้วยกัน) เมื่อเป็นเช่นนี้ การสื่อสารเรื่องการแยกขยะโดยมุ่งเน้น เรื่องการเพิ่มรายได้นั้นจริง ๆ แล้ว ผิดทั้งหมด หากไม่สามารถจัดการขยะอินทรีย์ให้ได้เสียก่อน

ข้อมูลจากการทำ ZeroWaste Camping 2 ครั้งสุดท้าย เราพบว่าเมื่อทำการ Waste Audit สัดส่วนของขยะจะเปลี่ยนไปดังนี้

ครั้งที่ 6 สร้างขยะ 40 กรัมต่อคนต่อวัน

  • ขยะอินทรีย์ 31.6%
  • ขยะรีไซเคิล 20.8%
  • ขยะทั่วไป 47%

ครั้งที่ 7 สร้างขยะ 33 กรัมต่อคนต่อวัน

  • ขยะอินทรีย์ 60%
  • ขยะรีไซเคิล 5.3%
  • ขยะทั่วไป 34.5%

ความแตกต่างของครั้งที่ 6 และ 7 มีดังนี้ ในครั้งที่ 7 มีการสื่อสารที่ชัดเจนมากขึ้นในขยะจำพวกกระดาษ และทิชชู่ ซึ่งเป็นขยะอินทรีย์ที่ย่อยสลายได้ ทำให้ขยะเหล่านี้ย้ายจากขยะทั่วไปไปลงที่ขยะอินทรีย์ ถือว่าแยกขยะถูกต้องขึ้น และครั้งที่ 7 เราทำการทดลองให้มีตลาดเล็ก ๆ เกิดขึ้น คือ มีร้านอาหาร มีบริการอาหารในบางมื้อ และมีร้านน้ำโดยทั้งสองบริการนั้นให้บริการในรูปแบบ ZeroWaste รวมถึงการสื่อสารที่ชัดเจนมากขึ้นในกระบวนการ ZeroWaste ทำให้ขยะทั้งเป็นขยะรีไซเคิลเกิดขึ้นน้อย ปริมาณขยะทั่วไปลดน้อยลง และเชื่อว่าหากมีการล้างขยะเหล่านี้จะสามารถรีไซเคิลได้แทบทั้งหมด

การสร้างสถานการณ์การใช้ชีวิต 3 วัน 2 คืนใน camp นั้น ไม่ได้แตกต่างจากสิ่งที่ผมเรียนรู้จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของครอบครัวของเรา เริ่มต้นจากการจัดการขยะอินทรีย์ ที่ใช้ตั้งแต่กรีนโคน หรือ ถังขยะไม่มีวันเต็ม ใส่ขยะอินทรีย์ทุกอย่าง เพิ่ม Aerobin เพื่อกำจัดขยะเปลือกผลไม้ และผัก ได้ปุ๋ยน้ำ และปุ๋ยหมัก และไปปิดท้ายที่ถัง Oklin ที่กำจัดขยะทุกประเภทได้ และได้ปุ๋ยหมักคืนมา ถือว่าเป็นระบบที่ redundant เพราะผมมองว่าขยะอินทรีย์มีปริมาณมากที่สุดต้องจัดการได้ก่อน อีกประเด็นที่สำคัญแต่อาจจะถูกมองข้ามคือ น้ำดื่ม ผมใช้ระบบต้มน้ำ ค่อย ๆ ปรับมาเป็นกรองน้ำ RO และปัจจุบันมีระบบดักน้ำจากความชื้นร่วมด้วย นั่นหมายความว่า ผมไม่มีขยะรีไซเคิลประเภทขวดนน้ำเลยในระบบ ซึ่งเราก็เลือกที่จะนำแนวคิดนี้มาใช้ในแคมป์เช่นเดียวกันด้วยการเตรียมน้ำดื่มให้ผู้ร่วมแคมป์ทำให้ลดขยะขวดน้ำได้จำนวนมาก แม้ว่าเราจะไม่ได้เอาขยะส่วนนี้มาคำนวณปริมาณขยะ เราก็ถือว่าเป็นประเด็นสำคัญ อีกสองเรื่องราวที่เหลือคือ การใช้ภาชนะใช้ซ้ำที่เราชวนคนมาใช้กันตั้งแต่การทำร้าน ZeroWaste Pattani เริ่มต้นที่กระบอกน้ำ ถุงผ้าของ Trash Hero และอื่น ๆ ชวนคนมาปรุงอาหารด้วยไฟ การใช้ไฟทำให้กระบวนการเตรียมอาหารเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น ไม่ได้ดูลำบาก และช่วยลดการเตรียมอาหารแคมป์ในจำพวกอาหารกึ่งสำเร็จรูปที่มาพร้อมกับขยะพลาสติกจำนวนมากได้

ในอนาคตทางองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ชวนทีม Trash Hero Pattani เข้าไปคุยเรื่องจัดการขยะ ซึ่งแน่นอนว่า เราก็ต้องชักชวนให้มีการตั้งเป้าหมายไปที่คำว่า ZeroWaste เสียก่อน และจัดการขยะอินทรีย์เป็นลำดับแรก แยกขยะรีไซเคิล ส่งเสริมด้วยระบบการเงิน ทั้งการแยกขายขยะรีไซเคิล และการคิดค่าขยะตามปริมาณจริง เพราะผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าทันทีที่เราทำครบตามนี้ ท้องถิ่นของเราจะกลายเป็น ZeroWaste ไปในทันที

ให้ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s