ผมรักไตรกีฬา แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าผมวางแผนให้ลูกผมเป็นนักไตรกีฬา หรือ แม้กระทั่งเล่นไตรกีฬา ตามปรัชญาการเลี้ยงดูของบ้านเราที่จะปล่อยให้ธรรมชาติและความสนใจของลูกเป็นสิ่งผลักดันพวกเขามาจากข้างใน ในขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าธรรมชาติและความสนใจของพ่อแม่ยังคงมีส่วนเป็นอย่างมากในการสร้างตัวอย่างและผลักดันจากภายนอก การแข่งขันไตรกีฬาสำหรับผมนั้นไม่เคยเป็นการแข่งขันแต่มันเป็นการฝึกตนอย่างหนึ่ง ฝึกวินัยในการซ้อม ฝึกมองภาพใหญ่ ฝึกตั้งเป้าหมายแต่ไม่ลืมสิ่งสวยงามข้างทาง ผมเพียงต้องการถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ให้กับลูก ๆ ผ่านสื่อที่เรียกว่าไตรกีฬา
เด็ก ๆ บ้านเราถูกสอนให้คุ้นเคยกับน้ำตั้งแต่อายุยังน้อย 2, 3, 6 เดือนตามสภาพความพร้อมของร่างกายและสภาพอากาศ ซึ่งผมได้เคยให้ความคิดเห็นเอาไว้แล้วในโพสเก่า ๆ เรื่องทักษะการว่ายน้ำ ผมต้องการให้ลูก ๆ ทุกคนรู้จักการเอาตัวรอดในน้ำได้ ผมไม่ได้มีความรู้อะไรเป็นพิเศษในการฝึกหัดเด็กให้ว่ายน้ำ เราเพียงแค่พาเด็ก ๆ ไปสนุกกับมัน จริงอยู่ผมมีวิธีการเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่จะแนะนำให้เขาคุ้นเคยกับน้ำเป็นขั้นเป็นตอนไป แต่นั่นผมค่อยมาขยายความภายหลังน่าจะดีกว่า แม้จะดูง่ายแต่รายละเอียดมันเยอะพอสมควร อย่างไรก็ตามพอเด็ก ๆ อายุประมาณสามขวบครึ่งถึงสี่ขวบก็จะเริ่มลอยตัวได้ พาตัวเองไปยังตำแหน่งต่าง ๆ ได้ในระยะทางค่อนข้างไกล 25-50 เมตร ผมยังไม่มีแผนที่จะสอนท่าให้กับพวกเขาจนกว่าเขาจะสนใจ ตอนนี้เซน พี่ชายคนโตอายุห้าขวบครึ่งเริ่มมีความสนใจที่จะว่ายท่าฟรีสไตล์อยู่บ้าง อาจจะเป็นเพราะเริ่มอยากว่ายให้เร็วขึ้น แต่อย่างไรก็ตามทักษะแรกสำหรับไตรกีฬามาตามธรรมชาติที่เราเตรียมภาวะแวดล้อมไว้ให้ ไม่ใช่เรื่องยากอะไรเลย เพราะเด็ก ๆ ส่วนใหญ่ชอบเล่นน้ำกันอยู่แล้ว การเอาเด็กขึ้นจากสระนั้นยากกว่าเอาเด็กไปลงสระเยอะมาก ๆ
ในการเตรียมตัวเรื่องจักรยานก็ไม่ต่างกัน พ่อเป็นคนรักจักรยานเป็นชีวิตจิตใจ โตมากับการใช้จักรยานเพื่อเสริมความสามารถในการเดินทางสมัยยังเป็นเด็ก ผมอยากให้ลูก ๆ ได้ความรู้สึกแบบนั้นบ้าง อยากให้เขารู้ว่ากำลังขาของพวกเขาสามารถนำพาเขาไปได้ไกลเท่าที่หัวใจเขาอยากไป อย่างไรก็ตามจักรยานเป็นกีฬาที่ต้องใช้อุปกรณ์ การเลือกอุปกรณ์ที่เหมาะสมกับทักษะที่พร้อมของเด็ก ๆ จึงเป็นเรื่องที่เราค้นหากัน
เราก็เริ่มพวกเขากับพาหนะมีล้อตั้งแต่เริ่มตั้งไข่ เริ่มด้วยจักรยานสามล้อแบบไถ ทำความคุ้นเคยกับสิ่งประดิษฐ์มหัสจรรย์ของโลกนั่นคือ “ล้อ” เมื่อเขาเริ่มโตขึ้นสามารถพาเขาออกเดินเล่นบริเวณหมู่บ้านได้ เราก็เริ่มหาพาหนะใหม่ให้พวกเขา ในจังหวะนี้ผมยังมีประสบการณ์น้อยว่าจริง ๆ แล้วพวกเขาจะมีพัฒนาการอย่างไร ในวัย 2 ขวบนั้นการเดินและวิ่งค่อนข้างจะเชี่ยวชาญกันหมดแล้ว การฟังคำสั่งยังไม่ค่อยจะพัฒนามากนัก ซึ่งทำให้ผมเป็นห่วงเพราะพื้นที่ที่เราเล่นกันนั้นเป็นถนนในหมู่บ้าน ไม่ใช่สวนสาธารณะที่ปลอดรถ ในเบื้องต้นผมเลือกจักรยานถีบ 3 ล้อให้กับพวกเขาก่อน ผมได้เห็นความพยายามในการทำความเข้าใจที่จะใช้บันไดในการถีบ ซึ่งดู ๆ แล้วไม่ค่อยเป็นธรรมชาติมากนักสำหรับเด็กวัยนี้ เราจึงไม่ได้ใช้มันเท่าที่ควร แต่อยู่มาวันหนึ่งผมค้นพบสิ่งที่เรียกว่า push bike จากรูปจักรยานไม้สวย ๆ ที่แชร์กันตามเฟสบุค ผมตามหาจนพบว่ามันเป็นจักรยานสำหรับเด็กที่ผลิตที่เยอรมันโดยใช้ชื่อว่า Like-A-Bike ผมตามมาเจอตัวแทนในฮ่องกงแล้วสั่งซื้อตรงจากเขา ไม่นานนักผมก็ได้ของและให้ลูกชายวัยสองขวบครึ่งได้ลอง เขาใช้เวลาสองวันในการที่จะเข้าใจการทำงานของมันและใช้งานได้คล่องแคล่วในเวลาอย่างรวดเร็ว ในปีถัดมาลูกสาวโตขึ้นระบบแบบนี้เริ่มได้รับความนิยม มีคนจำหน่าย push bike มากขึ้น ผมจึงจัดอีกคันที่ใช้ชื่อว่า Strider แม้ว่าจะราคาถูกกว่ากันแรกถึงสี่เท่าแต่รายละเอียดในการออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นความปลอดภัย หรือ ความเหมาะสมของทักษะเด็กในวัยย่างสามขวบ นั้นจะสู้ Like-A-Bike ไม่ได้เลย ลูกสาวไม่สามารถเล่นได้ผมจึงจำเป็นต้องให้ลูกชายแลก Like-A-Bike กับ Strider ของลูกสาว ซึ่งในเวลานั้นลูกชายคนโตเริ่มใช้จักรยานทรงตัวคล่องมากแล้ว การสลับมาใช้ Strider เป็นเรื่องง่าย ในขณะที่ลูกสาวก็สามารถทรงตัวบน Like-A-Bike ได้แทบจะทันทีตามที่เขาได้ออกแบบมา
เด็ก ๆ ถูกพาออกไปเดินเล่นนอกบ้านพร้อม ๆ กับยานพาหนะคู่ใจของพวกเขาทุกครั้ง เราแทบจะไม่จัด session พิเศษสำหรับการปั่นจักรยานใด ๆ เลย แต่ใช้มันเป็นส่วนประกอบของการ commute สั้น ๆ ในบริเวณหมู่บ้าน ซึ่งในบางวันเขาก็จะเอาสามล้อปั่นออกมาเล่นกันบ้างตามความสนใจในขณะนั้น เมื่อผมมองว่าลูกชายคนโตของผมเริ่มมีความพร้อม ผมก็ไปยืมจักรยานปั่นที่ติดล้อข้างของญาติรุ่นพี่ ผมเอามาถอดล้อออกแล้วลองให้เขาหัดใช้ดู เซนซึ่งสามารถทรงตัวได้แล้ว ทักษะการถีบบันไดพร้อมแล้ว เขาก็สามารถนำทักษะของอย่างนี้รวมเข้าด้วยกันในจักรยานคันใหม่ได้ค่อนข้างรวดเร็วภายในเวลาสองสามวัน ในขณะที่เมื่อไม่นานมานี้ผมได้ให้น้องสาวซาช่าทดลองบ้าง ตอนนี้ซาช่าสามารถใช้ Strider คล่องแล้ว แต่ยังค่อนข้างชอบใช้ Like-A-Bike มากกว่า (นั่งสบายกว่า) ในขณะที่ไม่เคยมีทักษะในการถีบบันได้เลย เพราะไม่ค่อยได้เล่นจักรยานสามล้อ ก็พบว่าในขณะที่ซาช่าสามารถทรงตัวได้ แต่ความเข้าใจในการถีบจักรยานยังมีน้อยเกินไปและยังไม่พร้อมในการปั่นจักรยานในรูปแบบนี้ ซึ่งในขณะนี้ผมนำเอาจักรยานสามล้อลงมาใหม่เพื่อจะให้น้องซาช่าได้มีโอกาสฝึกฝน คงต้องรอดูกันต่อไป
ส่วนตัวเซน พี่ชายคนโตเอง เมื่อสามารถปั่นจักรยานสองล้อได้ดีแล้ว ผมจึงเริ่มมองหาจักรยานที่มีขนาดใหญ่สักหน่อย ขนาดล้อ 20″ เป็นของยี่ห้อ Obea ประเทศสเปน รุ่นสำหรับเด็กที่ไม่ใช่รุ่นที่เล็กที่สุด และมีอุปกรณ์ใหม่ที่เขาไม่รู้จักมาก่อนคือ เกียร์ 7 สปีด และมือเบรค ซึ่งในเวลานั้นเซนยังไม่สามารถยืนคร่อมจักรยานได้อย่างมั่นคง แต่ทักษะการปั่นจักรยานเขามีพร้อมแล้ว อีกทั้งจักรยานมีขนาดใหญ่กว่าตัวเขา หนักมากกว่าความสามารถในการยกจักรยานของเขา ในช่วงแรกที่พาเขาไปปั่นนั้น เขาล้มหลายครั้ง และสุดท้ายโดนสุนัขไล่จนล้ม แล้วในที่สุดผมก็พบว่าเซนไม่ยอมเล่นจักรยานคันใหม่อีกเลย ซึ่งผมเองไม่ได้กังวลอะไรมากนักเพราะรู้ดีว่าผมซื้อมาค่อนข้างเร็วกว่าสรีระของเขา และอีกอย่างคือ จักรยานคันนี้ผมวางแผนให้เป็นของซาช่าน้องสาวเขา เราเลือกสีชมพูตามที่น้องสาวต้องการ และขอให้น้องสาวให้พี่ชายยืมใช้ก่อน ในช่วงที่น้องสาวยังปั่นจักรยานไม่เป็น สามเดือนผ่านไปไวเหมือนโกหก เซนก็เริ่มสามารถเขย่งให้ยืนคร่อมจักรยานได้บ้าง ผมจึงคยั้นคยอให้เขาออกไปหัดอีกครั้ง
ในช่วงที่สองนี้ผมพยายามหัดทักษะที่สำคัญคือการเริ่มต้นปั่นจักรยาน การหยุดและลงจากจักรยาน เป็นหลัก ซึ่งใช้เวลานานพอดูในการหัดเขาน่าจะประมาณ 4-5 ครั้งกว่าที่เขาจะเริ่มจับจุดได้เอง ผมสอนการใช้เบรค สอนการใช้เกียร์ แล้วให้เขามั่ว ๆ เอาจนกระทั่งตอนนี้คาดว่าเขาเข้าใจมันดีมากแล้ว การพัฒนาการของเซนบนจักรยานเป็นไปอย่างรวดเร็ว เขาเริ่มปั่นเร็วขึ้น ทดลองปล่อยมือข้างเดียว การเบรค การเปลี่ยนเกียร์ การฟังคำสั่งของผม ในที่สุดผมคิดว่าเขาพร้อมที่จะออกถนนไปพร้อมกับผม ผมจึงพยายามหาการแข่งขันในพื้นที่ใกล้ ๆ ระยะทางไม่ไกลมากนักให้กับเขา ในที่สุดมาลงตัวในรายการแรกที่ต้องปั่น 25 km ในพื้นที่นาทวี ซึ่งจริง ๆ ไม่ใกล้มากนักเพราะห่างออกไป 60 กม. แต่เท่าที่ดูแล้วน่าจะเป็นงานเล็ก ๆ ในถนนเล็ก ๆ ผ่านป่ายาง ผมจึงตัดสินใจพาเขามาลองปั่นด้วยกัน
เจตนาในการนำมาแข่งขันครั้งนี้คือ ให้เขาได้ร่วมการปั่นจักรยานกับคนอื่น ๆ จำนวนมาก ในสภาวะที่กึ่ง ๆ ปิดถนน และมีระยะทางที่ยาวเพียงพอที่จะได้อะไรกลับไป ผมไม่รู้ว่าระยะทาง 25 กม. ในการปั่นออกถนนครั้งแรกนั้นใกล้หรือใกลมากเกินไปหรือไม่ เพราะในใจคิดเพียงว่าถ้าเขาขอหยุดเมื่อไร ผมก็จะให้แม่เอารถมารับ ก็เท่านั้น อีกอย่างที่ผมต้องการจะฝึกเขามากที่สุดคือการฟังคำสั่ง การที่จะนำเด็กวัยไม่ถึงห้าขวบไปปั่น 25 กม. บนถนนจริงนั้น ความปลอดภัยเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด แม้ว่าถนนจะกึ่งปิด และมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลในทุก ๆ แยกแล้วนั้น เด็กวัยนี้ประสบการณ์แบบนี้ยังไม่สามารถตัดสินใจบนพื้นถนนด้วยตัวเองได้ ผมจึงต้องปั่นประกบและคอยบอกคิวให้เขาในทุก ๆ จังหวะ ไม่ว่าจะเป็นการชะลอ การเตรียมตัวเลี้ยว ทิศทางในการมองรถ การเปลี่ยนเกียร์เมื่อต้องขึ้นเนิน การเบรคและความเร็วที่เหมาะสม รวมไปถึงจังหวะในการพัก รวบรวมกำลังใจและกินน้ำ เป็นต้น เราออกปั่นท่ามกลางความสนเท่ห์ของผู้ร่วมปั่นทุกคน แน่นอนว่าแม้ว่าเราจะพยายามออกตัวไปเป็นคนแรกก่อนที่คนอื่น ๆ จะปล่อยตัว ไม่นานนักเราก็เป็นตำแหน่งสุดท้าย ที่คอยตามติดด้วยรถพยาบาล หลังจากปั่นผ่านไป 15 กม. เราก็หลงทางพร้อม ๆ กับรถติดตามของเรา เมื่อหลงไปได้สักพักรถพยาบาลจึงแจ้งว่าเราหลงและน่าจะขึ้นรถกลับกันได้แล้ว ตัวเซนเองนั้นในเบื้องต้นคงรู้สึกดีใจที่ไม่ต้องปั่นแล้ว และคงกำลังเหนื่อย แต่เมื่อรถพยาบาลขับกลับมาตามเส้นทางจนเจอกับตำแหน่งรองสุดท้ายที่เป็นเด็กผู้หญิงน่าจะอายุประมาณสิบขวบ เซนก็ขอลงไปปั่นแข่งกับพี่เขา ยังไม่ทันจะได้ขึ้นปั่นเราก็ไม่เห็นพี่เขาอีกเลย ส่วนเราเองก็ต้องปั่นดุ่ม ๆ ไปตามเส้นทางที่ในขณะนี้เริ่มเป็นบ้านของชาวบ้าน มีคนจำนวนมากออกมาเชียร์เซน และผมคิดว่าเขาเริ่มรู้สึกสนุก ในที่สุดเราก็ปั่นด้วยความเร็ว 10 kph เป็นจนถึงเส้นชัย พร้อมเสียงปรบมือกึกก้อง น้องคนเล็ก เข้าคนสุดท้าย ผู้จัดคนแล้วคนเล่า ขับมอเตอร์ไซด์มาเวียนดูขณะเซนปั่น แม้ว่าในงานนี้จะไม่มีถ้วยให้กับเซน แต่ผู้จัดก็กรุณาไปหาถ้วยที่ระลึกของงานอื่นมามอบให้เด็กตัวน้อยหัวใจพองโต ที่สุดท้ายแล้วเขาก็ได้เหรียญทองแรก และถ้วยแรกในชีวิตที่วัยไม่ถึงห้าขวบ กับระยะทาง 20 km บนจักรยานเด็กล้อ 20″ ที่ปั่นได้เร็วที่สุดประมาณ 12kph เท่านั้น
ประสบการณ์ออกถนน 30 km ครั้งแรกของเซนทำให้เขามั่นใจในศักยภาพของตัวเองเป็นอย่างมาก ถึงกับขอปั่นจากบ้านเพื่อไปบ้านย่าที่ห่างออกไป 5 กม. หลายครั้ง ผมต่างหากที่กลัว เพราะเส้นทางเป็นถนนไฮเวย์ที่รถขับกันค่อนข้างเร็ว ผมพาเขาไปตามที่ตั้งใจหลายครั้ง และเริ่มรู้สึกว่าบางครั้งพ่อแม่ก็ประเมินศักยภาพของลูกตนเองต่ำเกินไป เนื่องจากความวิตกกังวล หลังจากนั้น ทั้งผมและเซนเริ่มสนุกกับมัน เราจึงหาการแข่งขันงานใหม่ ก็มาได้การแข่งขันที่ยะลา บนถนนเส้น 418 ระยะทาง 30 กม. คราวนี้ผมไม่ให้พลาด สมัครรุ่น VIP ยังไง ๆ ก็ได้ถ้วย เซนเองจะได้ไม่ผิดหวัง งานนี้ผมวางแผนผิดไปเล็กน้อย เพราะเส้นทางเต็มไปด้วยเขาลูกโต มองดูสุดลูกหูลูกตาสำหรับเด็ก ๆ เซนปั่นขึ้นเนินแล้วเนินเล่าทั้งน้ำตา ผมต้องหยุดให้น้ำให้กำลังใจหลายครั้ง หลังจากข้ามเขามาสำเร็จแล้ว ผมจึงตัดสินใจทิ้งเส้นทางราบที่เหลือให้เขาปั่นข้ามเขากลับไปอีกครั้งเพื่อเข้าเส้นชัย คาดว่าเราปั่นสั้นลงประมาณ 10 km น่าจะได้ แต่แพคไปด้วยภูเขา ในการปั่นขากลับเซนมีกำลังใจดีขึ้น คาดว่าเนื่องจากรู้ว่าเส้นทางใกล้ไกลเพียงใด ในที่สุดเราก็พากันมาถึงเส้นชัยได้ในสภาพที่ไม่บอบช้ำ ผมหัดให้เซนได้ใช้เกียร์จนครบ 7 เกียร์ที่มี การเบรคการชะลอ การประเมินพละกำลัง การฟังคำสั่ง ถือว่าเซนผ่านทุกรูปแบบแล้ว เราจึงมองหาเป้าหมายใหม่ในทันที
สุดท้ายเรามาตัดสินใจใช้เป้าหมายใหม่เป็นไตรกีฬาสำหรับเด็ก แม้ว่าเป็นรายการที่จัดขึ้นสำหรับเด็กโดยเฉพาะ แต่ก็เป็นรายการระดับโลกที่เรียกว่า Junior Challenge Triathlon ที่จัดขึ้นพร้อม ๆ กับรายการ Challenge Laguna Phuket ในรุ่น 6-8 ขวบที่เซนจะลงแข่งนั้น มีระยะว่ายน้ำ 50 เมตร ปั่นจักรยาน 3 กม และวิ่ง 500 เมตร ซึ่งผมดู ๆ แล้วน่าจะเป็นเรื่องง่ายสำหรับเซนที่จะทำสำเร็จ แต่ก่อนที่จะเข้าร่วมแข่งได้เราต้องทำการโกงอายุครั้งแรกก่อน เนื่องจากระบบสมัครไม่อนุญาติให้อายุ 5 ขวบมาสมัคร เราจึงมั่วไปว่าเซนเอายุ 6 ขวบ แม้ว่าเซนจะยังว่ายน้ำไม่เป็น ได้แต่ลอยคอ แต่ผมคิดว่าทักษะเขามีเพียงพอที่จะลอยคอให้ครบ 50 เมตร สิ่งที่ผมห่วงคือถ้าสระมันสั้น 25 เมตรการจะทำให้เขายอมว่ายสองรอบนั้นน่าจะลำบากกว่า การปั่นจักรยานและวิ่งไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวล แต่นี่จะเป็นครั้งแรกที่เซนจะต้องแข่งขันด้วยตนเองโดยไม่มีผมติดตามให้กำลังใจอยู่ข้าง ๆ ไม่มีใครคอยบอกคิว ให้เบรคชะลอ และมองรถในทิศทางใด ๆ ผมกังวลมากกว่าลูก ๆ เยอะมากในเวลานั้น ในวันที่ได้รายละเอียดของการแข่งขัน ผมก็กังวลเพิ่มเป็นทวีคูณ เพราะผู้จัดการแข่งขันไม่อนุญาติให้มีการช่วยเหลือใด ๆ ซวยละซิ เซนใส่รองเท้า ถุงเท้าเองไม่เป็น ใส่หมวกกันน๊อกไม่เป็น และใส่เสื้อทีม V40 ด้วยตัวเองยังไม่ค่อยได้ (เสื้อมันไม่ค่อยยืด และหลังเปียกน้ำมันจะติด ๆ จนเซนไม่ค่อยยอมใส่เอง) ผมเองก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ในวันแข่งขันจึงมาซ้อมให้เซนใส่รองเท้ากับหมวกกันน๊อคก่อนเวลาสักเล็กน้อย
เมื่อการแข่งขันเริ่มต้นขึ้น เด็ก ๆ ในรุ่นเดียวกันกับเซนก็มาเข้าแถวเรียงกันที่สระว่ายน้ำ 50 เมตร สบายไปเปราะหนึ่งเพราะไม่ต้องลุ้นว่าพอครบ 25 แล้วเซนจะยอมว่ายต่ออีกเที่ยวมั้ย เมื่อเริ่มปล่อยตัว ผู้แข่งขันรุ่นพี่ทั้งหมดก็อัดกันเต็มที่ มีเซนและเพื่อน ๆ เด็กบ้าน ๆ อีกสองคนที่ว่ายน้ำยังไม่เป็นท่า ค่อย ๆ ลอยคอกันไป เซนเลือกที่จะใช้การดำน้ำเป็นระยะทางไกล ๆ แทน แต่ที่ตลกที่สุดคือเซนคิดว่ามันเป็นการต่อสู้กลาย ๆ ทำให้เซนหันหลังไปสาดน้ำคู่แข่ง หรือพยายามใช้มือกวักน้ำให้กระเด็นไปด้านหลัง โดยคิดว่าจะไปรบกวนคู่แข่ง ซึ่งดุแลค่อนข้างตลก ในขณะที่เพื่อนรุ่นพี่ว่ายขึ้นไปอย่างรวดเร็ว เซนก็ค่อย ๆ ลอยคอมาถึงอีกฝั่งก่อนทุกคนในกลุ่มที่ว่ายไม่เป็นท่า เซนแสดงความดีใจจนออกนอกหน้า วิ่งมาอวดผมว่าเขาชนะแล้ว ผมต้องรีบเตือนให้เขาวิ่งตามคนอื่น ๆ ไปเพื่อไปปั่นต่อ แต่ปัญหาก็เกิดเนื่องจากเซนพยายามจะวิ่งตามผมตลอดเวลา วิ่งไปแล้วก็วิ่งกลับมาหาผม ทำอย่างนี้อยู่หลายรอบจนกรรมการเห็นว่าปัญหาคืออะไร จึงวิ่งพาเซนไปที่จุดทรานสิชั่นได้
ผมซึ่งวิ่งมายืนรออยู่แล้ว ก็คอยบอกคิว ให้ใส่เสื้อก่อน เซนต้องหันมาถามว่าใส่ด้านไหนจึงจะถูก หลังจากนั้นก็หมวกกันน๊อค แต่เนื่องจากมันเป็นเรื่องความปลอดภัยกรรมการจึงเข้ามาช่วยดูแลเรื่องการใส่หมวก แล้วด้วยความเก้ ๆ กัง ๆ ของเซนกรรมการผู้นั้นก็เลยช่วยใส่รองเท้าให้เซนไปด้วยเลย เซนก็ปล่อยตัวปั่นออกไป ดีที่ว่ามีกรรมการคอยโบกทาง และมีคนปั่นนำอยู่บ้าง เซนจึงยอมปั่นออกไปคนเดียว หลังจากที่เหลียวหลังหลายรอบว่าทำไมผมจึงไม่ออกตามไปกับเขา ในช่วง 3 กม. มันยาวนานมาก ๆ สำหรับผม เพราะไม่รู้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง แต่ในที่สุดเซนก็กลับมาที่จุดทรานสิชั่นอีกครั้ง การวิ่งระยะ 500 เมตร ทางผู้จัดทำได้ดีมาก ๆ เพราะเด็กแต่ละคนจะมีผู้ใหญ่วิ่งตามประกบไปเพราะเป็นการวิ่งรอบสนามกีฬาที่ไม่เช่นนั้นเด็ก ๆ อาจจะไม่ยอมวิ่งรอบแต่วิ่งลัดสนามแทน ผมพาซาช่าไปรอรับเซนในช่วง 50 เมตรสุดท้าย ซาช่ามีความสุขมากที่ในที่สุดเขาได้มาวิ่งแข่งกับเซน และสุดท้ายเข้าเส้นชัยก่อนเซน ซึ่งหลังการแข่งขันซาช่าก็ภูมิใจที่เอาชนะเซนได้ เซนเสียใจเล็กน้อยมาเปรย ๆ ว่าแม้ว่าเขาจะชนะจนได้เหรียญ แต่ก็ยังแพ้น้องซาช่า
หลังการแข่งขัน ผมซึ่งตื่นเต้นมาก ก็ถามเซนตลอดว่าเป็นอย่างไรบ้าง เซนเล่าให้ฟังถึงช่วงปั่นจักรยานว่าเจอวัว เจอโน่น เจอนี่ ผมนึกภาพการปั่นของเซนออกในทันที เซนยังไม่มีความรู้สึกถึงการแข่งขัน เขายังมีความสุขกับการปั่นไกล ๆ ได้มองซ้ายมองขวา ดูโน่นนี่นั่น ใบหน้าปะทะกับสายลม ความทรงจำจากการแข่งขันของเขามีเพียงช่วงเวลาแห่งความสุขนั้น เขารู้สึกว่าเขาเอาชนะเด็กสองสามคนที่ว่ายน้ำไม่เป็นเหมือนเขา หลังปั่นจักรยานเขาไม่รู้ว่าใครแซงเขาหรือไม่ แต่เขาได้เห็นสิ่งต่าง ๆ ตามรายทางที่เขาประทับใจจนมาเล่าให้ผมฟังได้ เขาวิ่งเข้าเส้นชัยและชนะได้เหรียญตามที่ตั้งใจ แม้ว่าวิ่งแพ้น้องสาวในช่วงสุดท้าย แต่เขาก็สนุกกับมัน
หลังจากกลับมาจากการแข่งขัน เขาเริ่มขอจักรยานคันใหม่ เขาบอกว่าเอาที่เหมือนกับพี่ ๆ ที่แข่งขัน เขาจะได้ปั่นตามได้เร็ว ๆ ผมเองก็เล็ง ๆ จะหาให้เขาอยุ่เหมือนกัน เพราะพบว่าจักรยานที่เขาใช้นั้นมีเกียร์น้อย ปั่นได้เร็วสุดประมาณ 12-15 kph เท่านั้น ซึ่งเป็นความเร็วที่ช้าเกินไปสำหรับเซนแล้ว ทักษะของเซนโตเกินกว่าร่างกายของเขาอีกครั้ง ผมคิดว่าจะปลดระวาง Orbea Grow 7V คืนไปให้น้องสาว แล้วคงถึงเวลาที่จะต้องหัดน้องซาช่าให้ปั่นจักรยานจริง ๆ จัง ๆ ก่อนที่จะเกิดความแตกต่างกันมากจนร่วมเล่นด้วยกันไม่ได้ รายการต่อไปที่เล็ง ๆ ไว้เป็นการแข่งขันไตรกีฬาเด็กที่ต่างประเทศ ซึ่งเริ่มเป็นระยะที่ท้าทายมากขึ้น แต่ก่อนที่จะทำการสมัครผมคงต้องหาจักรยาน ลองหัดท่าว่ายน้ำ ให้เซนให้ได้ก่อน
ผมไม่ได้คาดหวังให้เด็ก ๆ เป็นนักกีฬา ไม่ต้องการให้เขามี competitive spirit ผมเพียงต้องการให้เขาเป็นคนที่ใช้ชีวิตแบบ active lifestyle รู้จักการแข่งขัน เข้าใจการแข่งขัน ตั้งแต่เด็ก ๆ และโตเกินการแข่งขันกับคนรอบ ๆ ตัว แต่เข้าใจถึงการแข่งขันกับตนเอง กับเป้าหมายของตนเอง ให้ได้เร็วที่สุด กิจกรรมกีฬาเป็นเพียงสื่อเท่านั้นครับ