ไตรกีฬา หรือ Triathlon เป็นกีฬาที่ผมโปรดปรานมากที่สุด ไม่นานมานี้ (2 ธันวาคม 2555) ผมเพิ่งประสบความสำเร็จกับระยะทางใหม่ที่ไกลกว่าเดิมนั่นคือ ระยะ Half Ironman หรือ ในเวลานี้ถูกจดลิขสิทธิ์ไว้ในชื่อของ Ironman 70.3 โดยหมายเลข 70.3 เป็นระยะทางรวม (เป็นไมล์) ที่นักกีฬาจะต้องผ่านกันภายในระยะเวลาที่กำหนด ผมจบรายการนี้ด้วยเวลา 6 ชั่วโมง 59 นาที ด้วยระยะทางอันยาวไกลและเวลาที่หลาย ๆ คนไม่สามารถนึกภาพตามได้ว่าการออกกำลังกายอย่างหนักเป็นเวลาค่อนวันมันเป็นอย่างไร และที่สำคัญทำไปเพื่ออะไร
หลาย ๆ คน มองว่าเป็นการเอาชนะตนเอง ความท้าทายของชีวิต บางคนมองว่าทำไปเพื่อสุขภาพ หรืออื่น ๆ อีกมากมาย เมื่อผมมองกลับมาที่ตัวเอง มันยังไม่มีคำตอบที่โดนใจผม ผมตั้งใจจะเขียนบทความนี้เพื่อขุดเข้าไปภายในจิตใจของตนเอง เพื่อจะถามว่าทำไม โดยที่ผมเอง ณ เวลานี้ยังไม่รู้ว่าบทความนี้จะให้คำตอบอะไรกับผม ทำไม ผมเริ่มกีฬานี้ในฐานะของสมาชิกชมรมว่ายน้ำ ที่หันไปวิ่งเพื่อสุขภาพ ในขณะที่ใช้จักรยานเป็นยานพาหนะในการเดินทาง ในขณะที่ผมเริ่มกีฬาประเภทนี้จากรายการทวิกีฬางานต่าง ๆ ก่อน เนื่องจากสมัยนั้นการแข่งขันไตรกีฬาต่างจังหวัดเป็นไปได้ยากมากสำหรับนักเรียนบ้านนอกอย่างผม ในที่สุดผมได้มีโอกาสแข่งขันไตรกีฬาครั้งแรกในทันทีที่เรียนจบ แม้่ว่าการเดินทางจะทุลักทุเลเป็นอย่างมาก ผมต้องเดินทางด้วยรถไฟจากปัตตานี มาขึ้นรถทัวร์เพื่อไปจังหวัดจันทบุรี เพื่อแข่งรายการไตรกีฬาวิบาก การแข่งขันครั้งแรกนั้นมันช่างทรมาณเหลือหลาย ผมใช้เวลาส่วนใหญ่ในการเดินมากกว่าวิ่ง แต่ความฝันของผมที่จะได้ลงเล่นไตรกีฬาก็เป็นจริงแล้ว ครั้งแรกนั้นจึงเป็นเพียงเติมความฝัน ในเวลานั้นผมซ้อมมั่ว ๆ ตามสภาพ ขอแค่ถึงเป็นพอ
หลังจากจบการศึกษาไม่นาน ผมก็ไม่โอกาสไปศึกษาต่อต่างประเทศ ทันทีที่ผมไปถึงผมก็หาข้อมูลเกี่ยวกับไตรกีฬาในทันที โชคดีที่ว่าไตรกีฬาในขณะนั้นเริ่มได้รับความนิยม มีรายการแข่งขันแทบทุกสัปดาห์ตลอดช่วงฤดูร้อน รวมไปถึงรายการยิ่งใหญ่ประจำปีของเมืองคลีฟแลนด์ที่ผมอยู่ด้วย ซึ่งอาจจะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมไปจนถึงสิงหาคม ผมหาข้อมูลทุกอย่างเรื่องการซ้อม รวมไปถึงหาเพื่อนร่วมซ้อม แม้ว่าผมจะโชคดีที่ได้เพื่อนร่วมซ้อมที่ต่อมาชวนกันไปแข่งในหลาย ๆ งานที่น่าจดจำ อย่างไรก็ตามผมก็ยังไม่ทุ่มเทมากถึงขนาดเข้าร่วมกับทีมนักวิ่ง นักว่ายน้ำ หรือนักปั่นจักรยานของเมืองเพื่อซ้อมทั้งสามกีฬานี้ ผมเลือกที่จะจัดเวลาในการซ้อมด้วยตนเอง ด้วยความรุ้ที่ได้จากหนังสือหลาย ๆ เล่ม
สิ่งที่ผมค้นพบคือว่า ไตรกีฬา เป็นกีฬาที่ต้องมีการวางแผน และเตรียมตัวล่วงหน้าเป็นเวลานานมาก ในยุคนั้นหนังสือทั้งหมดแนะนำการใช้เวลาทั้งปีในการออกแบบตารางการซ้อมสำหรับแข่งในฤดูแข่งขันที่จะมาถึง ในขณะที่ต่างเล่มอาจจะมีแนวความคิดที่แตกต่างกันอยู่บ้างในการซ้อมช่วงฤดูหนาว แต่ส่วนใหญ่การซ้อมจริง ๆ จะเน้นอยู่ในช่วงสร้างฐานในช่วงฤดูใบไม้ร่วง และเริ่มฝึกความเร็วก่อนถึงฤดูใบไม้ผลิเล็กน้อย จากการที่ต้องมีการเตรียมตัวซ้อมกันทั้งปี แบบนี้ในฤดูแข่งขัน เราก็มักจะร่วมการแข่งขันกันค่อนข้างถี่อาจจะถึงทุกสัปดาห์ แต่สลับระยะแข่งขันกันไป ส่วนใหญ่แล้วในเวลานั้น ระยะยาวที่สุดที่เป็นไฮไลท์ของฤดูกาลก็จะเป็นเพียงระยะโอลิมปิกเท่านั้น (ครึ่งหนึี่งของระยะ Ironman 70.3) รายการย่อย ๆ ก็ถูกเรียกว่า sprint distance ซึ่งมีระยะทางแตกต่างกันไปไม่มีมาตรฐานที่ชัดเจน ในฤดูกาลหนึ่งผมจะแข่งขันประมาณ 8-10 ครั้ง โดยมักจะมีระยะโอลิมปิกประมาณ 3 ครั้งกระจายตั้งแต่ต้นฤดูไปจนปลายฤดู ที่เหลือก็ไปแข่งทุกงานที่ไม่ไกลเกินไปนัก
เนื่องจากความจำเป็นในการวางแผน ออกแบบการซ้อม และมีอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องค่อนข้างมาก ในยุคเติบโตของไตรกีฬานั้น นักกีฬาส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มบุคคลประเภทหนึ่งที่จัดอยู่ในประเภทที่ต้องวางแผน และมีความสามารถมองสู่เป้าหมายระยะยาวได้ คนกลุ่มนี้ได้แก่ ทนายความ แพทย์ ผู้บริหารธุรกิจ และนักศึิกษาระดับบัณฑิตศึกษา ซึ่งผมจัดอยู่ในกลุ่มบัณฑิตศึกษา สำหรับผมที่เป็นนักศึกษาไทยได้รับทุนการศึกษาไปศึกษาต่างประเทศ ผมเองไม่เคยวางแผนระยะยาวเกี่ยวกับการเรียนของผมมากนัก แต่ต้องยอมรับว่าการเข้าเล่นไตรกีฬาอย่างจริง ๆ จังๆ ในช่วง 7 ปีที่ศึกษาต่ออยู่นั้น ทำให้ผมเพิ่มศักยภาพในการมองไกล ตั้งเป้าหมายระยะไกล และออกแบบวางแผนเพื่อไปสู่เป้าหมายนั้น ๆ ได้ อย่างเป็นธรรมชาติ การวางแผนต่าง ๆ โดยให้มีการสลับกิจกรรม มีไมล์สโตน รวมไปถึงการตรวจสอบความเหมาะสมของแผนและความก้าวหน้าของงานตามแผนนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นอะไรที่ผมเรียนรู้จากการออกแบบการซ้อมไตรกีฬาของผมทั้งนั้น
ในช่วง 7 ปีนั้น ผมสนใจเรื่องของการออกแบบแผนการซ้อม ตั้งสมมุติฐาน ทดสอบสมมุติฐาน และวัดผล ผมต้องการผลการแข่งขันที่ดีขึ้น ๆ ทุก ๆ ปี แม้ว่าส่วนใหญ่จะได้ตามคาดหวัง ซึ่งอาจจะเกิดจากการซ้อมที่ปรับปรุงขึ้นเรื่อย ๆ หรือ ประสบการณ์แข่งขันที่สั่งสมมาเรื่อย ๆ ก็เป็นได้ เมื่อเวลาแย่ลงก็จะมีโจทย์เพื่อการปรับเปลี่ยนกระบวนการซ้อมเล็กน้อย รวมไปถึงการปรับปรุง ปรับเปลี่ยน แก้ไข เมื่อไม่สามารถทำตามแผนที่วางเอาไว้ สิ่งเหล่านี้จะสามารถทำได้ดีมากขึ้นเมื่อประสบการณ์มีมากขึ้น และมันเป็นประโยชน์อย่างมากในการเรียนระดับบัณฑิตศึกษาของผม ที่มีกิจกรรมเกี่ยวเนื่องมากมายจากวันที่เริ่มเข้าเรียนไปจนถึงวันที่พรีเซนต์จบ ทักษะเหล่านี้ผมเรียนรู้มาจากไตรกีฬาทั้งสิ้น
มุมมองต่อไตรกีฬาของผมเปลี่ยนไปเมื่อผมได้กลับมาเมืองไทย ณ เวลานั้นผมรู้จักเพียงรายการลากูน่าภูเก็ตไตรกีฬา ผมจึงสมัครเข้าร่วมทันทีที่ผมได้จักรยานผมกลับมาจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตามผมมองว่าการวางแผนซ้อมทั้งปีเพื่อการแข่งขันเพียงครั้งเดียวนั้นไม่คุ้มค่าเสียเลย ผมจึงเห็นการแข่งขันนี้เพียงเพื่อการเข้าร่วม และโอกาสไปเที่ยวภูเก็ตอย่างน้อยปีละครั้ง ส่วนการซ้อมก็ไปตามสภาพ ไม่มีการวางแผน อาศัยความรู้สึก และระยะที่คุ้นเคยมาตลอดระยะเวลา 7 ปี ที่สำคัญไม่มีการบันทึก การแข่งขันปีนั้นที่ภูเก็ตถือว่าอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่ สนามที่โหดกว่าทุก ๆ สนามที่ผมเคยเจอมาในอเมริกา ภูเขาชัน ๆ ที่ต้องเข็นเท่านั้น อากาศร้อน ๆ ขณะวิ่ง ทำให้ผมต้องเดินเป็นส่วนใหญ่และทำเวลาเกินกว่าสี่ชั่วโมง ในการแข่งขันครั้งนั้น ผมได้เรียนรู้ว่าประสบการณ์แม้ว่าจะทำให้เราทำอะไรได้ง่ายขึ้น ได้ผลที่ดีขึ้น แต่ไม่สามารถทดแทนการวางแผนไปได้ ในฤดูกาลถัดไปผมจึงเริ่มวางแผนการซ้อมแต่น่าเสียดายอาการบาดเจ็บที่กระดูกสันหลังของผมพัฒนาเป็นภาวะกระดูกเสื่อมจนผมไม่สามารถวิ่งได้อีก ทำให้จำเป็นต้องเลิกไป
ผมหยุดไตรกีฬาแล้วหันมาหากีฬาอื่นเพื่อทดแทนเริ่มด้วยกีฬาเพาะกาย ในขณะที่กำลังจะไปได้ดีแต่ผมก็ต้องล้มเลิกเสียเพราะงานด้านการกินที่เป็นงานหลักของเพาะกายนั้นผมไม่มีความสุขเอาเสียเลย ในขณะที่สภาพการเสื่อมของกระดูกหลังของผมเริ่มเลวร้ายขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะเดียวกันกีฬาปีนเขาที่ผมเริ่มหลงไหลมันมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็ดูเป็นคำตอบที่ดีที่สุดเนื่องจากเป็นกีฬาที่ไม่มีการกระทบกระแทกเลย อย่างไรก็ตามด้วยความที่ยังเป็นกีฬาใหม่สำหรับประเทศไทย ที่ปัตตานีการหาสถานที่เพื่อซ้อมปีนเขาเป็นไปไม่ได้เลย ผมจึงค่อย ๆ ห่างจากการฝึกซ้อมและในที่สุดก็หยุดทุกอย่างไป จนกระทั่งในวันหนึ่งสุขภาพของผมย่ำแย่เป็นที่สุด อาการกระดูกเสื่อมไม่ได้ดีขึ้น ความแข็งแรงลดลง ป่วยง่าย เหนื่อยง่าย ผมต้องเริ่มทำอะไรกับชีวิตอีกครั้ง
ผมค้นคว้าและเริ่มใหม่ วิ่งด้วยรองเท้าแตะ Fivefingers เท้าเปล่า เอาจักรยานทุกคันออกมาซ่อม ปั่นไปทำงาน ปั่นเพื่อซ้อม ลงสมัครแข่งขันวิ่ง ไตรกีฬาในรูปแบบผลัด เพิ่มระยะวิ่งจาก 10K เป็น 21K จนเป็นมาราธอนแรกของชีวิต ลงทวิกีฬา เริ่มจากไตรกีฬาแบบผลัดไปเป็นเดี่ยว จากระยะโอลิมปิก เพิ่มเป็น Ironman 70.3 เกิดอาการเข่าเสื่อม กัดฟันสู้ ซ้อมต่อ วิ่ง trail วิ่งข้ามมหาสมุทร จากไม่เคยคิดจะแข่งขันรายการเสือหมอบก็เริ่มเข้าร่วมปั่น การแข่งขันเยอะแยะมากมาย เมื่อมองย้อนกลับไปในระยะปีกว่า ๆ ที่ผ่านมานี้ ผมแข็งแรงขึ้นมากกว่าสมัยหนุ่ม ๆ เสียอีก แม้ว่าสถิติผมจะไม่สามารถจะทำได้อย่างสมัยหนุ่ม ๆ อีกแล้วแต่ความอดทน จิตใจของผมแข็งแกร่งขึ้นมาก
ไตรกีฬาสร้างผมให้เป็นเช่นนี้ ผมเชื่ออย่างนั้น กีฬาที่ต้องใช้การวางแผนระยะยาว กีฬาที่ต้องใช้ความอดทนเป็นปัจจัยหลัก กีฬาที่มีความหลากหลาย ทั้งการว่ายน้ำที่ต้องใช้เทคนิคเป็นสำคัญ จักรยานที่มีปัจจัยของอุปกรณ์เข้ามาเกี่ยวข้องค่อนข้างมาก วิ่งที่ต้องใช้ความอดทนเป็นอย่างสูงเมื่อเป็นกีฬาสุดท้ายภายหลังจากออกแรงทุกอย่างมาเป็นระยะเวลาพอสมควรแล้ว มีไม่กี่สิ่งในชีวิตของผมที่อยู่กันมาเนิ่นนานอย่างไตรกีฬา ถ้านับตั้งแต่ครั้งแรกที่ผมเข้าแข่งขันเราก็รู้จักกันมากว่า 24 ปี ผมทุ่มเทเวลา กำลังกายกำลังทรัพย์มากมายไปกับกีฬานี้ ผลตอบแทนเพียงอย่างเดียวที่ผมต้องการและกีฬานี้ให้ผมได้คือสุขภาพ พร้อมของแถมอื่น ๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ระเบียบวินัย การวางแผน การใช้เวลาเดินทางท่องเที่ยวกับครอบครัว แม้ว่าผมจะแข่งรายการวิ่ง หรือจักรยานอื่น ๆ บ่อยครั้งกว่าไตรกีฬา แต่ไตรกีฬายังคงเป็นเป้าหมายสำคัญของผมอยู่เสมอ
อาจารย์ เล่นFB มั้ยคับ ?
ผมชื่อ ต้อม Tom Triprakong
Arm1972 ครับ