กระดูกข้อเข่าเสื่อม : แล้วไง?

เมื่อไม่นานมานี้ผมมีอาการบาดเจ็บบริเวณเข่า เกิดขึ้นในระหว่างผมแข่งขันวิ่งระยะฮาร์ฟมาราธอนในรายการสงขลามาราธอน ซึ่งผมได้บันทึกไว้ในบทความก่อนหน้านี้แล้ว เวลาผ่านไปประมาณสองเดือนเศษ ๆ อาการของผมก็ยังไม่หายดี และเริ่มแสดงอาการเจ็บเมื่อวิ่งไปได้ระยะทางหนึ่ง ในเบื้องต้นผมสงสัย ITBS หรือ  Iliotibial “band” friction syndrome โรคคลาสสิคสำหรับนักวิ่ง และเคยเกิดกับผมมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่หลักฐานยังไม่แจ้งชัดเนื่องจากสาเหตุของโรคนั้นควรจะเกิดจากท่าทางการวิ่ง (Gait) ที่ผมเองเพิ่งปรับมา แม้จะน่าสงสัยแต่โดยหลักการควรจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาเช่นนี้ เมื่ออาการมันยืดเยื้อเป็นเวลานาน และกลับมาทุกครั้งที่มีการออกกำลังกายมากถึงจุดหนึ่ง อีกสันนิษฐานหนึ่งของผมคือ อาการบาดเจ็บของเส้นเอ็น ที่มักจะใช้เวลานานกว่าในการรักษาตัว และจะกลับมาเจ็บทุกครั้งที่มีการออกกำลังกายเกินความพร้อมของร่างกายที่กำลังรักษาตัว เพื่อนนักวิ่งของผมแนะนำให้ไปหาหมอเพื่อรู้สาเหตุที่ชัดเจน และรับยามารักษาอาการให้เหมาะสม

จากคำบอกเล่าของเพื่อนผมที่บอกว่าอาการบาดเจ็บที่เส้นเอ็นบางครั้งอยู่ลึกและใช้เวลานานในการรักษาตัว จำต้องพักให้หายขาดจึงจะไม่กลับมาใหม่ แต่การใช้ยาจะลดระยะเวลานั้นลงได้ ผมจึงงดการซ้อมวิ่งโดยเด็ดขาดและนัดเวลาเพื่อไปพบแพทย์ แม้ว่าจะช้าไปบ้างแต่ก็ทันเวลาก่อนที่จะเข้าร่วมรายการกรุงเทพมาราธอน ในระยะฮาร์ฟมาราธอนอีกครั้งหนึ่ง ผมถือว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่จะต้องรู้สาเหตุของการบาดเจ็บที่แท้จริง ก่อนที่จะเข้าแข่งขันระยะนี้อีกครั้ง เพราะอาการเจ็บเข่าที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างการแข่งขันครั้งนี้นั้น จะได้มีการป้องกันและจัดการอย่างเหมาะสม อีกเหตุผลสำคัญคือในช่วงปลายปีเนื่องจากการเดินทางที่มากมายของผมทำให้ชั่วโมงซ้อมของผมนั้นหดสั้นลงเป็นอย่างมาก ผมจึงใช้วิธีการแข่งขันในรายการต่าง ๆ เป็นหนทางในการรักษาสภาพร่างกายของผมให้พร้อมรับรายการแข่งขันสำคัญที่กำลังจะมาถึง Ironman 70.3

หลังจากระยะฮาร์ฟมาราธอนในรายการกรุงเทพมาราธอนแล้ว ผมมีคิววิ่งระยะมินิมาราธอนในรายการอโยธยาฮาร์ฟมาราธอน แล้วจึงเป็นรายการใหญ่ของปี Ironman 70.3 ก่อนที่จะปิดท้ายฤดูกาลด้วย Ocean2Ocean  ก่อนที่จะปิดการวิ่งประมาณหนึ่งเดือนครึ่งเพื่อรักษาตัว รายการแรกสำหรับปีหน้าถูกจัดไว้ต้นเดือนกุมภาพันธ์ ระยะสั้น ๆ แต่น่าจะสมบุกสมบันพอใช้กับรายการ Northface 100 เมื่อดูรายการวิ่งแล้วเหมือนจะหนักหนาสาหัสแต่ระยะการซ้อมของผมในระยะหลังที่อยู่ที่ระดับ 8km+ ต่อครั้งนั้น รายการแข่งขันเหล่านี้ไม่ต่างอะไรนักกับวันวิ่งยาวที่มีในรายการซ้อมทุกสัปดาห์อยู่แล้ว

ผมเข้าพบกับหมอที่โรงพยาบาลกรุงเทพ เพื่อความสะดวกและความคาดหวังว่าจะไม่เข้าพบกับเพื่อนหมอที่ผมรู้จัก เพราะผมมั่นใจว่าไม่ว่าผมจะเป็นอะไรก็ตามหมอจะต้องให้ผมหยุดวิ่ง อาจจะสั้นหรือยาว แต่นั่นแหละนี่ยังไม่ใช่เวลา และถ้าคำแนะนำนี้ไม่ได้มาจากเพื่อนที่ผมรู้จัก ผมน่าจะสบายใจกว่าที่จะไม่ทำตามคำแนะนำ อีกอย่างโรงพยาบาลกรุงเทพมีแนวโน้มที่จะจ่ายยาราคาแพงและปริมาณมาก ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของผมในการพบแพทย์ครั้งนี้ หมอสอบถามเล็กน้อย ผมตอบเกี่ยวกับอาการด้วยความอึดอัดเพราะตัวแทนประกันพยายามกำหนดสิ่งที่ผมควรจะพูดเพื่อให้มีโอกาสที่จะเคลมประกันอุบัติเหตุได้  แม้ว่าผมจะไม่เคยเชื่อเลยว่ามันจะเคลมได้ หลังจากได้มีการซัก จับ กด บิด โยก จนเป็นที่พอใจแล้ว ผมก็ถูกส่งไปทำการ x-ray เพื่อจะหาคำตอบที่แท้จริง

ภาพถ่าย x-ray  ข้อเข่าสองสามภาพของผม ตามปากคำของแพทย์ คือ ผมมีอาการของ “กระดูกอ่อนข้อเข่ากร่อน” เป็นผลของการใช้งานหนัก และเป็นอาการเริ่มต้นของโรคที่เรียกว่า “กระดูกอ่อนข้อเข่าเสื่อม” แม้ว่าผมจะไม่ค่อยเห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของแพทย์เกี่ยวกับสาเหตุมากนัก เนื่องจากความจำกัดของคำถามของแพทย์ที่ซักผม และความอ้อมค้อมของคำตอบของผมที่เจตนาเพื่อลุ้นเงินประกัน แต่ต้นเหตุของอาการบาดเจ็บของผมน่าจะชัดเจนจากภาพ x-ray ที่แสดงให้เห็นระยะระหว่างข้อเข่าของผมเริ่มไม่เท่ากันและมีระยะด้านในของข้อเข่าที่แคบกว่าด้านนอก เป็นสัญญาณคลาสสิคของอาการกระดูกอ่อนข้อเข่าที่สึกกร่อนไป

เวลาที่รอคอยมาถึงเมื่อแพทย์เริ่มสั่งยา ยามาตรฐานสำหรับอาการทางกระดูกที่ผมได้เสมอ ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาแก้ปวดแก้อักเสบ แถมยาเคลือบกระเพาะ และที่เด็ดที่สุด คือ Glucosamine Sulfate ยาที่ปัจจุบันถูกยกเลิกจากบัญชียา และจัดให้อยู่ในรายการของยาทางเลือก ที่เชื่อกันว่าใช้เสริมกระดูกอ่อนข้อได้ ผมเองเป็นคนที่ไม่เชื่อในระบบยามากนักเนื่องจากเชื่อว่าร่างกายควรมีโอกาสได้ซ่อมแซมตัวเอง แต่เวลานี้ผมต้องแข่งกับเวลาจึงอดไม่ได้ที่จะต้องลอง แม้กระทั่ง dietary supplement อย่าง Glucosamine Sulfate ที่เป็นเพียงสารหนึ่งที่พบบริเวณข้อต่อ จึงมีความเชื่อว่าการกินสารนี้เข้าไปจะช่วยเสริมสร้างข้อต่อนั่นเอง ไม่แตกต่างอะไรกันนักกับเครื่องดื่มผสม Collagen ที่เชื่อว่าจะช่วยคงความเด้งดึ่งให้กับเราได้ แน่นอนว่าผมไม่ได้รับเงินประกันกับการรักษาครั้งนี้ โรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเสื่อมไม่สามารถเคลมอุบัติเหตุได้ ผมต้องจ่ายค่ารักษาประมาณสองพันกว่าบาท จึงไม่มีเหตุผลอื่นใดที่ผมจะไม่ลองใช้ยาทุกประเภทที่ได้รับมาในวันนี้

ผมเริ่มใช้ยาได้เพียงสองวันก็เกิดผื่นขึ้นตามตัว ซวยแล้วผมน่าจะมีอาการแพ้ยา ตัวใดตัวหนึ่ง ผมหยุดทุกตัว แต่อาการผื่นยังอยู่กับผมจนกระทั่งผมต้องวิ่งฮาร์ฟมาราธอนทั้ง ๆ ที่เป็นผื่นแพ้ทั่วตัว สภาพของผมภายหลังการวิ่งดูน่าสมเพช นอกเหนือจากอาการเข่าที่มากำเริบที่ระยะประมาณ 16 km จนกระทั่งมาหนักที่กิโลเมตรสุดท้าย เลือกลมที่สูบฉีดทำให้ผื่นแดงชัดทั่วตัว แขน ขา คอ และหัว หลาย ๆ คนเห็นสภาพคงต้องกลับไปสงสัยว่าผมทำสิ่งเหล่านี้ไปทำไม ตอนนี้ผ่านรายการกรุงเทพมาราธอนมาเกือบสัปดาห์แล้ว อีกสองวันผมจะวิ่งอีกสิบกิโลในงานอโยธาฮาร์ฟมาราธอน อาการแพ้ยาของผมดีขึ้นแล้ว ผมเริ่ม Glucosamine อีกครั้ง อาการเข่าของผมก็ดีขึ้นแต่ไม่ 100% อีกสองวันจะรู้ว่าเป็นอย่างไร

ในระหว่างการตรวจแพทย์บอกกับผมว่า ให้ผมพัก 100% ทานยาให้หมด แล้วถ้าเกิดอาการอีกระหว่างวิ่ง ควรจะต้องเปลี่ยนกีฬา กลับกับสิ่งที่ผมทำคือ ผมทานยาได้เพียงสองวัน วิ่งฮาร์ฟมาราธอน เกิดอาการ ทานเพียง Glucosamine อีกครั้ง (ไม่รู้ว่าจะแพ้ตัวนี้หรือเปล่า แต่น่าจะไม่เพราะผมไม่ได้แพ้อาหารทะเล) เดี๋ยวผมจะวิ่งอีกสิบกิโล และยังมีต่ออีกทุกสัปดาห์ ผมไม่เคยคิดจะเปลี่ยนกีฬา กีฬาหลักของผมคือไตรกีฬา แต่เพื่อนผมส่วนใหญ่วิ่งได้เพียงอย่างเดียว กีฬาวิ่ง เป็นเหมือนกีฬาสังคมของผม ในขณะที่ไตรกีฬาเป็นความท้าทายของชีวิตผม แต่การปรับตัวต่อจากนี้ผมคงต้องใช้ความเป็นนักวิทยาศาสตร์ ตั้งสมมุติิฐาน ทดสอบ สังเกตุ ผมไม่เข้าใจตรรกกะของการหยุดวิ่งเพราะกลัวว่าจะวิ่งไม่ได้อีก ผมวิ่งจนกระทั่งค้นพบว่าวิ่งไม่ได้อีกน่าจะเป็นทางเลือกที่ดูสมเหตุผลมากกว่าสำหรับผม อาการเจ็บเข่ามันค่อนข้างรุนแรง จนผมคิดว่ามันไม่ควรที่จะทำให้เกิดอาการบาดเจ็บได้มากจนเกินเยียวยาถ้าผมเพียงแต่วิ่ง ต่างจากการเล่นกีฬาประเภทอื่นๆ ที่อาจจะมีการกระทบกระทั่ง หรือต้องมีการเคลื่อนไหวที่รวดเร็วรุนแรง

ทางออกของผม ณ เวลานี้ มุ่งไปที่รองเท้าวิ่ง ผมไม่เชื่อเสียทีเดียวว่า Vibram Fivefinegers ที่ผมเริ่มใช้เพื่อกลับมาวิ่งครั้งนี้จะเป็นต้นเหตุ เพราะอาการเข่าเสื่อมไม่น่าจะเกิดได้ภายในระยะเวลาสั้นไม่เกิน 1 ปี อาการน่าจะสะสมมาก่อนหน้านี้ แต่ผมก็ยังอยากใช้เวลามากขึ้นกับ Barefoot running ที่ช่วยให้มีการลงเท้าที่เบามากขึ้น และรองเท้ากลุ่ม Lightweight Cusion Trainer โดยเฉพาะอย่างยิ่งรองเท้า Newton ที่ช่วยโฟกัสท่าวิ่งในการลงปลายเท้า กลางเท้า อย่างไรก็ตามงานหน้านี้ผมจะลองเริ่มด้วย Barefoot running เพื่อทดสอบอีกครั้ง ให้กำลังใจผมด้วยครับ

Barefoot Running : Race days testing

ใครที่ติดตามบทความของผมมาบ้างคงเริ่มจำได้แล้วว่าผมมีปัญหากระดูกสันหลังเสื่อม แต่ดันทุรังกลับมาวิ่งอีกครั้งจากบทความในวารสาร Nature ที่แสดงให้เห็นว่าการวิ่งด้วยปลายเท้า-กลางเท้า จะมีลดแรงกระแทกที่มีต่อข้อต่อทั้งหมดตั้งแต่ข้อเท้า เข่า ไปจนถึงหลัง ผมกลับมาวิ่งอีกครั้งด้วย Vibram Fivefingers ผู้นำด้านการโปรโมทการวิ่งปลายเท้า ด้วยนวัตกรรมสองลักษณะหลัก ๆ คือ พื้นรองเท้าที่บางมาก (หนาประมาณสองมิลลิเมตร) รวมถึงไม่มีส่วนรองรับบริเวณส้นเท้า เหมือนกับรองเท้าวิ่งในท้องตลาดทั้งหมด อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญคือการที่รองเท้ามีช่องรองรับนิ้วเท้าทั้งสิบนิ้ว ซึ่งช่วยให้เกิดการเคลื่อนไหวอย่างอิสระของนิ้วเท้าทั้งหมดซึ่งจะทำให้ระบบการทรงตัวของนักวิ่งดีขึ้น ทั้งหมดทั้งสิ้นตั้งอยู่ในสมมุติฐานที่ว่าการวิ่งของมนุษย์นั้นถูกออกแบบให้วิ่งเช่นนี้ ตั้งแต่ยุคที่ยังไม่มีการประดิษฐ์รองเท้าวิ่งขึ้นมา หรือการวิ่งด้วยเท้าเปล่านั่นเอง

Vibram Fivefingers ใช้งานกับผมได้ดี จนผมใช้มันในการวิ่งมาราธอนแรกในชีวิตของผม ซึ่งผมได้เขียนประสบการณ์นั้นเอาไว้แล้วก่อนหน้านี้ (40K at 40 in Vibram) แน่นอนว่าโดยนิสัยของผมเองในเมื่อรองเท้าถูกออกแบบมาเพื่อเลียนแบบการวิ่งเท้าเปล่า แล้วการวิ่งเท้าเปล่าเองล่ะจะมีใครทำอะไรทิ้งไว้บ้างไหม ผมได้ค้นพบว่า กระแสการวิ่งด้วยปลายเท้า-กลางเท้า มาแรงมาก ๆ และมีแนวการวิ่งในรูปแบบดังกล่าว อยู่ด้วยกันสามรูปแบบ ผมพบกับรูปแบบแรกมีชื่อว่า Pose Running ในรูปแบบของวิดีโอ ผู้นำเสนอเป็นชาวรัสเซียผมฟังภาษาลำบากเลยไม่ค่อยสนใจมากนัก หลังจากนั้นผมได้ซื้อหนังสือที่ชื่อว่า Chi Marathon เพื่อมาทำความเข้าใจการวิ่งรูปแบบนี้ในอีกรูปแบบหนึ่ง หนังสือเล่มนี้ทำให้ผมสนใจที่จะเปลี่ยนรูปแบบการวิ่งอย่างจริงจัง นอกเหนือจากการที่เปลี่ยนรองเท้าเพียงอย่างเดียว หลังจากนั้นไม่นานผมก็พบกับหนังสือชื่อ Barefoot Running Step by Step ภาพของการวิ่งปลายเท้า-กลางเท้าก็สมบูรณ์ในที่สุด

โดยรวมแล้วรูปแบบการวิ่งแนวนี้จะต้องเน้นความเร็วรอบของการก้าวเท้ามากกว่าระยะก้าวเท้า เนื่องจากการลงด้วยปลายเท้านั้นจะทำให้ไม่สามารถก้าวเท้าเกินระยะร่างกายได้ การ overstretch จึงไม่เกิดขึ้น ก้าวที่สั้นลงนี้จึงถูก compensate ด้วยความถี่ของการก้าวเท้า ทุกรูปแบบนั้นเน้นความเป็นธรรมชาติ กฏพื้นฐานทางฟิสิกส์ เช่นแรงโน้มถ่วง กฏของสปริง เพื่อใช้อธิบายกลไกต่าง ๆ ของการวิ่งนั้น ๆ แม้ว่ารูปแบบของร่างกาย และการขับเคลื่อนร่างกายโดยรวมนั้นจะแตกต่างกันอยู่บ้างในแต่ละวิธี อย่างไรก็ตามผมยังไม่ได้มีโอกาสศึกษาอีกแนวการวิ่งที่เรียกว่า Natural Running ที่ถูกโปรโมทโดยรองเท้าวิ่งกลางเท้าอีกยี่ห้อหนึ่งที่ได้รับความนิยมคือ Newton Shoes ที่เน้นการลงกลางเท้าเป็นหลัก แต่ผมคาดว่าคงไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ

ผมต้องยอมรับว่ารูปแบบการวิ่งแนวนี้ทำให้ผมสามารถวิ่งได้ยาวนานขึ้นอย่างมาก ความอดทนผมเพิ่มขึ้น อาจจะเป็นเพราะเป็นรูปแบบที่เน้นประสิทธิภาพสูงที่สุด อย่างไรก็ตามผมก็พบว่าผมมีอาการบาดเจ็บเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการวิ่งบ่อยครั้งมากขึ้นเมื่อเทียบกับอดีต อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ไม่อาจสรุปว่าการใช้รูปแบบการวิ่งปลายเท้า หรือการใช้รองเท้าที่ไม่มีระบบรองรับอย่าง Vibram จะเป็นต้นเหตุ ในอดีตระยะทางการแข่งขันผมจำกัดอยู่ที่ 10K เท่านั้น และอยู่ในช่วงวัย 20 ปลาย ๆ ในขณะที่ในปัจจุบันการวิ่ง 10K ของผมไม่ถูกเรียกว่าวิ่งยาวอีกต่อไป ในขณะที่ผมอยู่ในวัย 40 ต้น ๆ ปัญหา ITBS ที่เคยเกิดกับผมด้วยสาเหตุการสึกของรองเท้า กลับมามีปัญหากับผมในช่วงนี้ (สงขลามาราธอน : Welcome to ITBS) แต่ยังไม่แน่ใจว่าเกิดจากอะไร รองเท้า Vibram ของผมมีการสึกในทิศทางที่น่าจะเป็นต้นเหตุของ ITBS ได้ อย่างไรก็ตามด้วยพื้นหนาเพียงสองมิลลิเมตร ไม่น่าจะทำให้เกิดการผิดรูปของการลงเท้าได้ ในขณะนี้ผมสันนิษฐานว่าเป็นที่ Biomechanics ของขาโก่งเล็ก ๆ ของผม รวมกับความอ่อนซ้อมของกล้ามเนื้อ support ทำให้การลงขาของผมผิดรูป ร่วมกับการ overstretch ของผมที่เกิดจากศักยภาพทาง aerobic ที่เพิ่มขึ้นจนเกิดความต้องการเร่งความเร็วเกินกว่าความแข็งแรงของกล้ามเนื้อจะรับได้ เรื่องนี้ยังคงต้องพิสูจน์กันต่อไป

แต่สิ่งแรกที่ผมตัดสินใจทดลองก่อนคือ การวิ่งเท้าเปล่า การวิ่งเท้าเปล่านั้นจะส่งเสริมให้เราโฟกัสเรื่องรูปแบบการวิ่งมากยิ่งขึ้นเนื่องการที่ต้องระวังในการลงเท้ามากเป็นพิเศษ ผมเองเคยทดสอบการวิ่งเท้าเปล่ามาเพียงหนึ่งครั้งในการซ้อมที่สวนลุมพินี ถนนเรียบเนียน ใช้เวลาประมาณ 15 นาที เท้าของผมรู้สึกแสบ ๆ เล็กน้อย แต่ไม่ได้มีปัญหาอะไรเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตามเนื่องจากการซ้อมของผมโดยปกตินั้นจะเป็นถนนหลวงที่เต็มไปด้วยเศษหิน กระจก ผมจึงไม่เคยคิดที่จะถอดรองเท้าวิ่งเพื่อซ้อม จะมีบ้างก็รอบ ๆ บ้านในช่วง WU/WD ระยะทางไม่เกิน 1 Kg ในขณะที่ผมเองเป็นคนที่ชอบถอดรองเท้าเป็นนิสัย ผมเองก็ถอดรองเท้าทำกิจกรรรมประจำวันของผมเมื่อทำได้ จนเป็นนิสัย ทำให้นิสัยการลงเท้าของผมค่อนข้างจะเน้นความปลอดภัยเป็นหลัก ไม่ลากเท้า ไม่ลงน้ำหนัก (ไม่เดินเสียงดัง) เพื่อหลีกเลี่ยงการเหยียบเศษกรวดเศษหิน แม้ว่าผมจะไม่ได้ซ้อมวิ่งเท้าเปล่า แต่ประสบการณ์เท้าเปล่าของผมเองนั้นมีมากกว่ามนุษย์ชนคนเมืองคนอื่น ๆ มากมายนัก ผมเชื่อเช่นนั้น

การแข่งขันแรกที่ผมตัดสินใจลองด้วยเท้าเปล่า เป็นการแข่งขันวิ่งวันมหิดลที่ มอ.หาดใหญ่ วันนั้นผมไปค้างบ้านเพื่อนที่นั่นเพื่อที่จะได้ทำงานในตอนเช้าวันรุ่งขึ้น ซึ่งบังเอิญว่าในวันรุ่งขึ้นนั้นเพื่อนของผมซึ่งอยู่ในกลุ่มผู้จัดวิ่งจำเป็นต้องเข้าร่วม ผมจึงถือโอกาสเข้าร่วมด้วยความไม่พร้อมเป็นที่สุด นั่นคือไม่มีชุดวิ่ง ไม่มีรองเท้า แต่ด้วยระยะทางเพียง 4K ผมคาดว่าด้วยเวลายี่สิบนาทีเศษ ไม่ต่างจากระยะทางที่เคยซ้อมที่สนามลุมฯมากนัก ผมไม่น่าจะเกิดปัญหาอะไร อย่างไรก็ตามผมก็ยังเลือกที่จะถือรองเท้าแตะคู่ใจวิ่งไปกับผมด้วย วิ่งวันนั้นผ่านไปได้อย่างดี ด้วยความฉงนสนเท่ห์จากเพื่อนร่วมวิ่งทั้งหมด ผมทำเวลาสบาย ๆ ที่ 23 นาที ไม่เร็วแต่ก็ไม่ช้านัก ความมั่นใจในการวิ่งเท้าเปล่าผมมีมากขึ้น วันนั้นผมไม่รู้สึกถึงอาการของ ITBS เลย แม้ว่าก่อนหน้านั้นผมไม่สามารถวิ่งได้เกิน 3Km ก่อนที่จะเริ่มเกิดปัญหา อย่างไรก็ตามในวันนั้นข้อพับนิ้วเท้าขวาประมาณนิ้วกลางก็เกิดอาการช้ำเลือดขึ้น คาดว่าเกิดจากการเหยียบก้อนหิน อาการช้ำนี้อยู่กับผมประมาณสองวัน แต่ไม่ได้ทำให้ต้องเดินกระเผลกหรืออย่างไร

ผมมีรายการสมุยมาราธอนที่วางแผนเอาไว้ว่าจะไปเข้าร่วม แต่เนื่องจากภาระงานที่อาจจะชนกัันจึงยังไม่แน่ใจนัก ร่วมกับอาการ ITBS ที่ยังไม่หายเท่าไร ระยะซ้อมผมยังไม่สามารถดันให้เกิน 5K ได้โดยไม่เกิดอาการเจ็บเข่า แต่ด้วยความบังเอิญว่าภาระงานของผมถูกยกเลิก ผมว่างขึ้นมาอย่างกระทันหัน บวกกับเพื่อนที่นัดไปด้วยกันนั้นยังไม่เคยไปสมุยมาก่อนเราจึงตัดสินใจ เข้าร่วมระยะทาง 10K ด้วยกันคนหนึ่งบาดเจ็บอีกคนหนึ่งอ่อนซ้อม แต่เช่นเดียวกันกับการแข่งขันอื่น ๆ ของผม Lifestyle Sport แบบนี้จะถูกพ่วงด้วยการปรนเปรอด้วยโรงแรมหรู ๆ อาหารอร่อย ๆ และการพาลูก ๆ เที่ยวสนุก ๆ สไตล์คนมีครอบครัว ก่อนวันแข่งขันผมยังไม่กล้าตัดสินใจเท่าไรว่าจะถอดรองเท้าวิ่งหรือไม่ ในใจผมคิดว่าน่าจะเอาอยู่แต่ผมก็ยังจัดรองเท้าไปด้วยจนถึงหน้างานวิ่งเลยทีเดียว

ผมตัดสินใจครั้งสุดท้ายเมื่อจอดรถก่อนเข้าไปที่เส้นสตาร์ท ผมเดินเท้าเปล่าเข้าไป และแล้วผมก็ต้องวิ่งในวันนี้เป็นระยะทางทั้งสิ้น 10.55k ด้วยเท้าเปล่า เพื่อนผมถามด้วยน้ำเสียงห่วง ๆ ว่าจะไหวเหรอ ไม่พองเหรอ ผมตอบว่าเจ็บเท้าน่ะ ผมไม่กลัวเท่าไรหรอก ผมกลัวเจ็บเข่ามากกว่า (ITBS จะทำให้งอเข่าไม่ได้เมื่อเกิดอาการ และการวิ่งหรือแม้กระทั่งเดินของคุณจะทรมาณมาก) ในใจผมคิดอย่างนั้นจริง ๆ เพราะคาดว่าแม้ว่าเท้าจะเจ็บ พองหรืออะไรก็ตามที่จะเกิดขึ้นได้นั้น ไม่น่าจะทำให้ผมเจ็บปวดได้มากเท่ากับ ​​ITBS ผมเองคาดหวังเล็ก ๆ ว่าจะเจอนักวิ่งเท้าเปล่าสักคนในงานนี้ เพราะเป็นสถานที่ท่องเที่ยว นักวิ่งเท้าเปล่าที่ผมเจอในเมืองไทยส่วนใหญ่จะเป็นชาวญี่ปุ่น ผมเจอทั้งในงานกรุงเทพมาราธอน และพัทยามาราธอน สมุยมาราธอนก็อาจจะมีปะปนอยู่บ้าง

เส้นทางวิ่งของสมุยมาราธอนสำหรับระยะ 10K นั้นยังอยู่บนถนนสายหลักที่เป็นคอนกรีต ปนกับถนนลาดยางช่วงสั้น ๆ ไม่น่าหนักในมากนักสำหรับการวิ่งเท้าเปล่าระยะทาง 10K ครั้งแรกของผม ผมตั้งใจออกวิ่งคู่ไปกับ โด่ง เพื่อนที่มาด้วยกัน เพราะรู้ดีว่าคราวนี้ผมไม่ต้องการทำความเร็วสูงมากนัก เนื่องจากข้อกังวลทั้งสองข้อคือ ITBS และ วิ่งเท้าเปล่า ระยะทางผ่านไปอย่างรวดเร็วไม่ทันจะตั้งตัวเราทั้งคู่ก็ถึงจุดกลับตัว ถนนที่ผ่านมาทั้งหมดผมได้สัมผัสมันมาก ๆ อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ช่วงที่ถนนไม่เรียบนัก ทำให้ช่วงที่ถนนเรียบมีความรู้สึกกับเท้าราวกับวิ่งอยู่บนพรม มีความกังวลเล็กน้อยบริเวณข้อพับของนิ้วนาง นิ้วก้อยของเท้าขวาของผม เพราะในครั้งที่ซ้อมวิ่งที่สวนลุมฯ ผมพบว่าจุดนี้เกิดการเสียดสีกับพื้นถนนมากกว่าที่คาดไว้ อย่างไรก็ตามอาการนี้ไม่เกิดขึ้น ยกเว้นบริเวณเท้าขวาด้านหน้่าที่ออกอาการร้อนนิด ๆ ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าเกิดจากอะไร ตลอดการวิ่งครั้งนี้ผมเน้นการซอยขาเป็นอย่างมาก การเร่งความเร็วเกิดจากการซอยขาทั้งสิ้น ไม่มีการ overstretch แม้แต่น้อย ผมเริ่มเห็นประโยชน์ของการไม่ใส่รองเท้าเสียแล้ว

เราวิ่งกันมาถึงระยะประมาณ 8K ยังไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นเลย มีนักวิ่งทักทายผมสองสามคน เกี่ยวกับการวิ่งเท้าเปล่า และแล้วสิ่งที่ไม่อยากให้เกิดก็เกิดขึ้นจนได้ อาการ ITBS เกิดขึ้นนิด ๆ แล้วที่ระยะนี้ ผมจึงชลอความเร็วลงเล็กน้อย พร้อม ๆ กับเพื่อนผมเริ่มบ่น ๆ ว่าเหนื่อยเพราะในช่วงแรกเขารู้สึกว่าเร่งเกินไปหน่อย ตอนนั้นเราเห็นป้าย 40K นั่นหมายความว่าเหลือเพียง 2.195K เท่านั้นจะถึงเส้นชัย ผมก้มลงมองนาฬิกาแล้วก็เปรย ๆ กับเพื่อนว่าเราน่าจะทำเวลาต่ำกว่าหนึ่งชั่วโมงได้นะ เราเร่งความเร็วขึ้นเล็กน้อย แม้ว่าอาการเจ็บเข่าของผมเริ่มปรากฏชัดขึ้นเรื่อย ๆ เราเร่งฝีเท้ากันได้สักพัก ทันใดนั้น ผมก็เห็นป้าย 2K ซึ่งบอกระยะทางที่ยังคงเหลือ แม่นแล้ว เจ้าป้ายบอกระยะมันไม่แม่นยำจริง ๆ ด้วย ในใจผมเริ่มคิดถึง Garmin 910XT ที่เคยคิดว่าจะถอยหลังจากแข่งขันพัทยามาราธอน ถ้ามีเจ้านี่ผมก็ไม่ต้องพึ่งพาป้ายบอกระยะอีกต่อไป เช่นเดียวกันกระเป๋าน้ำคาดเอว Nathan ที่ผมถอยมาสำหรับรับมือกับการแจกน้ำที่ไม่เป็นไปตามคำสัญญาของผู้จัดงาน

ผมมองดูนาฬิกาอีกครั้งก่อนที่จะบ่นกับเพื่อนผมว่าไม่ทันแล้วล่ะ คงต้องประมาณ ชั่วโมงสองนาที ไหวมั้ย เพียง 6 นาทีต่อกิโลเท่านั้น ที่เราต้องทำความเร็ว ในช่วง 700 เมตรสุดท้ายเป็นช่วงเวลาที่ผมเริ่มเครียดที่สุด ถนนเรียบลาดยางยาวไปจนถึงเส้นชัย ร่วมกับความเร็วที่กำหนดไว้ ทำให้ผมมีอาการ overstretch หลายครั้ง เมื่อร่วมกับ ITBS ทำให้อาการเจ็บเข่ารุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ผมเริ่มกลัวที่จะต้องหยุดเดิน แต่ในใจก็ยังอยากทำเวลาให้ได้ตามที่ตั้งใจ เกิดสงครามขึ้นในจิตใจของผม ด้วยระยะเท่านี้เท้าเปล่าของผมไม่ทำให้เกิดปัญหาใด ๆ เป็นอย่างแน่นอน มีแต่เข่าเท่านั้นที่อาจจะหยุดผมได้ แต่แล้วเส้นชัยก็ใกล้กว่าที่คิด เวลาที่เราทำได้ตามที่หวัง 1:02:04 ไม่เลวนัก เราเข้าไปรับน้ำ อาหาร นั่งทานกันสักพัก ก่อนที่จะขับรถกลับที่พัก ผมสบายใจประสบการณ์ใหม่นี้ น่าจะเป็นประโยชน์กับผมในอนาคต ผมสามารถวิ่งเท้าเปล่าได้เป็นระยะเวลา 1 ชั่วโมงสำเร็จแล้ว เป้าหมายต่อไปควรเป็นอะไร คราวนี้ขอรักษาเข่าก่อนก็แล้วกัน รายการต่อไปกรุงเทพมาราธอน อีกสองเดือนพักให้เต็มที่ แล้วค่อยมาดูกันว่าจะลองฮาร์ฟ หรือ 10K อีกสักครั้ง

40K at 40 in Vibram : Pattaya Marathon

ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2555 ที่่ผ่านมาผมได้มีโอกาสฉลองวันเกิดครบรอบ 40 ปี (12 วัน) ของผมด้วยการวิ่งมาราธอนแรกในชีวิตในรายการพัทยามาราธอนชิงถ้วยพระราชทาน หลังจากที่หยุดออกกำลังกายมากว่า 5 ปี เนื่องจากอาการบาดเจ็บหลัง พ่วงด้วยอาการเริ่มต้นของโรคกระดูกสันหลังเสื่อม ใบสั่งยาของหมอที่ให้เลิกทุกอย่างเหลือแต่ว่ายน้ำทำให้ผมไม่ได้ออกกำลังกายอีกเลยหลังจากวันที่พบหมอ แต่ด้วยสุขภาพที่ดูเหมือนจะเลวร้ายลงเรื่อย ๆ ผมจึงตัดสินใจที่จะรักษาตัวเองด้วยการออกกำลังกายอีกครั้งและทิ้งคำแนะนำของหมอไว้ที่โรงพยาบาล

ผมค้นหาเพื่อหาข้อมูลมากมายที่จะเชื่อมโยงการวิ่งกับอาการปวดหลัง ซึ่งไม่น่าเชื่อว่ามีข้อมูลมากมายที่แสดงถึงความเกี่ยวเนื่องของการปวดหลังและการวิ่ง แต่สิ่งที่ผมสนใจคือสำหรับคนที่ปวดหลังจะกลับมาวิ่งได้อย่างไร แล้วก็มาพบบทความในวารสารเนเจอร์ที่เกี่ยวกับแรงกระแทกที่เกิดจากการวิ่งเปรียบเทียบกันระหว่างการวิ่งเท้าเปล่า (ลงด้วยกลาง-ปลายเท้า) และรองเท้าวิ่ง (ลงด้วยส้นเท้า) การศึกษาพบว่าการลงส้นเท้าก่อให้เกิดแรงกระแทกสูงกว่าการลงด้วยกลาง-ปลายเท้า เมื่อมีการสอบถาม กูเกิ้ล เพิ่มเติมก็พบ รองเท้าห้านิ้วไวแบรม ที่โฆษณาว่ามีส่วนช่วยให้การวิ่งเป็นไปในรูปแบบการลงด้วยปลายเท้า ซึ่งในเวลานั้นมันคือสิ่งที่เรียกว่า minimalist shoes ที่กำลังได้รับความสนใจอยากล้นหลามในต่างประเทศ ผมจึงตัดสินใจสั่งซื้อในทันทีและเริ่มออกวิ่งด้วยรองเท้าแตะเพื่อทดสอบทฤษฎีดังกล่าวระหว่างที่ต้องรอรองเท้าที่จะต้องเดินทางมาจากอเมริกา

ผมลงแข่งขันระยะฮาร์ฟมาราธอนทันที่ภายหลังการซ้อมประมาณสองเดือนในรายการกรุงเทพมาราธอน ซึ่งผ่านได้ได้ด้วยดี แม้ว่าจะรู้สึกถึงความเมื่อยล้าที่เกิดขึ้นจากการใช้กล้ามเนื้อน่องมากกว่าท่าวิ่งที่ผมคุ้นเคย ผมร่วมแข่งรายการอื่น ๆ อีกหลายครั้งและในที่สุดตัดสินใจที่จะทดสอบทฤษฎีนี้ให้ถึงที่สุดก่อนที่จะถลำลงไปลึกกว่านี้แล้วเกิดผลเสียระยะยาวต่อช่วงล่าง (หลังและขา) ของผมทั้งหมด ผมคิดว่าระยะมาราธอนน่าจะเป็นตัวทดสอบที่ดีที่จะบอกถึงอันตรายของท่าวิ่งใหม่และรองเท้าในรูปแบบที่ไม่มีการรองรับเลย เมื่อกล้ามเนื้อทั้งหมดในร่างกายอ่อนล้า เมื่อระยะทางมันสูงเกินกว่าที่จะดัดจริตท่าวิ่ง เราจะมีเวลาช่วงใหญ่ ๆ ในการเรียนรู้สิ่งที่เกิดขึ้นจริง ๆ กับร่างกายของเรา

ในเวลานั้นผมเหลือเวลาในการซ้อมอีกเพียง 2 เดือนและย่างเข้าอายุ 40 ปีพอดี คิดดูแล้วมันช่างเหมาะเจาะจริง ๆ ผมเริ่มประกาศให้เพื่อน ๆ รับรู้ สร้างแรงกดดันไม่ให้ตัวเองหันหลังกลับ เมื่อรวบรวมความกล้าแล้วผมจึงเพิ่มระยะการซ้อมของผมในทันที 1 เดือนผ่านไประยะฮาร์ฟมาราธอนก็เริ่มเป็นระยะทางวิ่งยาวที่ไม่สร้างความกังวลให้ผมอีกต่อไป และเมื่อระยะเวลาเหลือเพียง 1 เดือน ผมจึงสมัครเข้าร่วมรายการ การซ้อม การแข่งขันครั้งนี้ จะเป็นดัชนีวัดที่ดีว่าการวิ่งด้วย minimalist shoes จะไม่ก่อผลเสียต่อผมในระยะยาวตามที่ตั้งสมมุติฐานเอาไว้ข้างต้น เนื่องจากระยะเวลาการซ้อมที่สั้น มาราธอนครั้งแรกในชีวิต อะไรที่เลวร้ายถ้ามันจะเกิด ก็จะแสดงตัวในคราวนี้อย่างแน่นอน

ผมเดินทางไปกรุงเทพฯ ล่วงหน้า 3 วันเพื่อทำงานเล็ก ๆ น้อย ๆ ก่อนที่จะเดินทางไปพัทยาล่วงหน้า 1 วันเพื่อลดความเครียดจากการเดินทาง เพียงหนึ่งวันก่อนเดินทางไปพัทยาก็ถูกขโมยขึ้นบ้านสูญเสียไปเกือบครึ่งล้าน แต่ผมลั่นวาจากับเจ้าหัวขโมยผ่านทาง Facebook ว่าสิ่งของต่าง ๆ เอาไปได้แต่สุขภาพที่ดีของผมไม่มีใครเอาไปได้ และไปเตรียมตัวที่พัทยาเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น บรรยากาศก่อนการแข่งขันดูน่าตื่นเต้น กระบวนการลงทะเบียนรับเบอร์วิ่ง เป็นไปอย่างรวดเร็ว และมืออาชีพตามที่หลาย ๆ คนได้ชมกันไว้ แม้ว่าหน้าตาของเวปดูไม่เป็นมืออาชีพเอาเสียเลย ผมทานอาหารเย็นเต็มที่ และไปซื้อของเตรียมเพื่อเป็นอาหารเช้า ผมกังวลเรื่องการเตรียมอาหารสำหรับมาราธอนแรกของผมเป็นที่สุด อาหารเย็นของผมเป็นสปาเกตตี้ชามใหญ่พร้อมกับแซนวิชก้อนโต ที่ทานแล้วไม่หมดจนต้องเหลือไว้เป็นอาหารเช้า

อาหารเช้าก็เตรียมกล้วยและนมถั่วเหลืองเพ่ิมเติม ในขณะที่เสบียงระหว่างวิ่งผมจัด Power Gel สองถุง และลูกพรุนไปอีก 10 เม็ดหลังจากพบว่าลูกพรุน 5 เม็ดให้พลังงานเทียบเท่า Power Gel 1 ถุง ผมพยายามรีบนอนให้ได้ก่อนสามทุ่มเพราะต้องตื่นมากินอาหารเช้าประมาณตีสองครึ่งเพื่อทิ้งระยะเวลาประมาณ 2 ชั่วโมงสำหรับการย่อยอาหารทันพอดีเวลาออกตัวตีสี่ครึ่ง (แต่ก็เสียว ๆ ว่าแซนวิชชิ้นโตที่เหลือจากมื้อเย็นอาจจะย่อยยากหน่อย) เพื่อลดความเสี่ยงเรื่องนอนไม่หลับผมจึงจัดให้เด็ก ๆ ไปนอนกับแม่ ๆ และพ่อ ๆ คือผมและโด่ง ที่มาวิ่งฮาร์ฟมาราธอนแรกของเขา นอนห้องเดียวกัน ผมหลับอย่างสนิทในขณะที่โด่งบ่นเรื่องเสียงเปิดปิดไฟที่ดังทั้งคืนทำให้เขานอนไม่ค่อยหลับ แต่เราทั้งสองคนก็รีบจัดการกับอาหารเช้า เพื่อที่จะได้มีระยะเวลาในการย่อยเพียงพอ

เราค่อย ๆ วิ่งเหยาะ ๆ ไปเป็นระยะทางประมาณ 1.5 Km เพื่อไปพบกับตุ้เพื่อนร่วมวิ่งมาราธอนกับผม (ตุ้วิ่งมาราธอนที่สองในรายการนี้) เริ่มสตาร์ทผมกับตุ๊วิ่งคู่กันไปด้วยความเร็วค่อนข้างดี สิบกิโลแรก 55 นาที และสิบกิโลที่สอง 58 นาที แม้ว่าในช่วงแรก ๆ ผมมีอาการอึดอัดและจุกเสียดเล็กน้อย อาจจะเป็นเพราะแซนวิชที่มีทั้งชีสและแฮมก้อนโต ผมคุยเล่น ๆ กันตุ๊ว่าถ้าเราคงความเร็วประมาณนี้ได้เราน่าจะทำเวลาประมาณสี่ชั่วโมงต้น ๆ ได้อย่างสบาย ๆ แต่หลังจากนั้นตุ๊ที่เพิ่งหายจากไข้ ซึ่งไอแค๊ก ๆ มาตลอดยี่สิบกิโล ก็เริ่มมีอาการเจ็บข้อเท้าและค่อย ๆ ชลอความเร็วลงปล่อยให้ผมล่วงหน้าไปก่อน ผมเริ่มกังวลเพราะช่วงเวลาต่อจากนี้เป็นระยะทางที่ผมเองไม่เคยสัมผัสมาก่อน ผมซ้อมวิ่งยาวที่สุดเพียง 25km เท่านั้น และก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ ช่วงระยะทาง 24-30km เป็นช่วงระยะทางแรกที่ผมต้องขุดลงไปหากำลังใจจากข้างใน นี่เป็นระยะที่ผ่านการกลับตัวมาแล้ว ผมจำตำแหน่งของป้ายบอกระยะ 24, 26, 28, และ 30 ​km ได้ดี และผมค่อย ๆ เตรียมใจในการก้าวขาไปทีละสองกิโลเมตร เมื่อไม่มีเพื่อนว่ิงเวลาของผมตกลงไปอย่างมาก ดูเหมือนว่าแต่ละระยะสองกิโลมันผ่านไปอย่างเชื่องช้า สิบกิโลที่สาม ผมใช้เวลาไปประมาณ 1 ชั่วโมงกับอีก 10 นาที เวลาที่เตรียมเก็บไว้หายหมดไปอย่างรวดเร็ว ณ เวลานี้ถ้าต้องการสี่ชั่วโมงต้น ๆ ก็ต้องคงความเร็วเอาไว้ให้ได้ ช้ากว่านี้ไม่ได้แล้ว

โชคดีที่ระยะสามสิบกิโลเมตร เป็นจุดที่ผมมาร์คไว้ในใจ เป็นจุดหมายทางจิตวิทยาที่บ่งบอกถึงการก้าวข้ามผ่านสู่เป้าหมายที่ใกล้เข้ามาทุกที จิดใจผมดีขึ้นเล็กน้อย ผมผ่านการทดสอบมาได้ 3/4 ของเส้นทางแล้ว แม้ว่าร่างกายตอนนี้เริ่มไม่ค่อยอยากจะเร่งความเร็วอีกต่อไป ผมพยายามกัดฟันวิ่งต่อไปเรื่อย ๆ เพราะไม่อยากที่จะให้การวิ่งมาราธอนแรกของผมกลายเป็นเดินมาราธอน ผมแบ่งเสบียงอาหารของผมเป็นระยะ ๆ ซึ่ง Power Gel ทั้ง 2 ถุงนั้นผมใช้ไปในยี่สิบกิโลแรกเรียบร้อยแล้ว ในระยะสามสิบกิโลนี้ผมเริ่มใช้พลังลูกพรุน ซึ่งก็ไม่น่าผิดหวังมากนัก ผมยังพอมีแรงไปต่อแต่ทันทีที่ผมแตะระยะทาง 34 กิโลเมตร ผมก็เกิดอาการเจ็บแปลบขึ้นที่ต้นคอ ผมรีบสำรวจอาการอื่น ๆ ของร่างกายทันที จุดสำคัญต่าง ๆ ที่เคยบาดเจ็บ ไล่ไปตั้งแต่หลังส่วนล่างที่มีอาการกระดูกเสื่อม ข้อเข่าที่เคยมีอาการเล็กน้อยระหว่างการแข่งขันกรุงเทพฯมาราธอนเมื่อต้นปี ข้อเท้าที่ออกอาการในระยะกิโลเมตรสุดท้ายของการแข่งขันสมุยไตรกีฬา และฝ่าเท้าที่มีอาการเจ็บเล็กน้อยระหว่างการซ้อม

ระหว่างการไล่ตามจุดต่าง ๆ ก็ทำให้ผมตระหนักว่า นี่เราอยู่ที่ระยะประมาณ 35 กิโลเมตรเข้าไปแล้ว แม้ว่าความเร็วผมจะตกลงจากต่ำกว่า 6 นาทีต่อกิโลเมตรกลายไปเป็น 8 นาทีต่อกิโลเมตรมาได้สักพักแล้ว แต่ยังไม่มีอาการเจ็บเล็กน้อยอื่น ๆ ให้เห็นเลย ซึ่งแสดงว่าการวิ่งปลายเท้าด้วยไวแบรม ไม่ใช่เพียงแต่ทำให้ผมกลับมาวิ่งได้ แต่ยังทำให้ผมทะลุระยะทางที่ผมไม่เคยทำมาก่อนแบบไม่มีอาการบาดเจ็บเลยแม้แต่น้อย ผมสรุปด้วยตัวเองว่าอาการเจ็บแปลบที่ต้นคอน่าจะเกิดจากอาการเกร็งเนื่องจากผมใช้พลังทุกอย่างในการขุดทุก ๆ สิ่งออกมาเพื่อก้าวต่อไปข้างหน้า ผมจึงพยายามผ่อนคลายแล้ววิ่งต่อไป จริงอย่างที่คิดอาการเจ็บต้นคอค่อย ๆ จางหายไปในระยะเวลาไม่ช้า ในระยะนี้ผมเริ่มใช้จุดให้น้ำอย่างฟุ่มเฟือย จากที่เคยใช้จุดให้น้ำเป็นจุดผ่อนคลายทางจิตใจ วิ่งโฉบเข้าไปเก็บน้ำและฟองน้ำ จิบเล็กน้อย ล้างหน้าเล็กน้อย แต่ที่ระยะนี้ผมเริ่มเดินเข้า เดินออกจากจุดให้น้ำเป็นระยะทางที่ไกลขึ้นทุกที ๆ

และแล้วสิ่งที่ผมไม่อยากให้เกิดขึ้นก็เกิดกับผม ที่ระยะประมาณ 36.5 Km ผมรู้สึกวิงเวียนเล็กน้อย และมีความรู้สึกว่าผมต้องใช้ความพยายามมากผิดปกติในการที่จะต้องวิ่งให้เป็นเส้นตรง ผมเดาเอาว่าร่างกายผมกำลังขาดน้ำหรือสารอาหารบางอย่าง ผมชลอความเร็วลงจนในที่สุดกลายเป็นเดิน และหลังจากนั้นผมวิ่งไม่ออกอีกเลย เพราะจะเกิดอาการไปไม่เป็นเสียอย่างนั้น ผมกลัวที่จะต้องออกจากการแข่งขันและไม่จบมาราธอนแรกของผม มันคงจะเป็นฝันร้ายที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ผมจึงเลือกที่จะเดินช้า ๆ หยิบลูกพรุนขึ้นมากิน ในใจคิดว่าเราจะสิ้นสุดที่ระยะนี้จริง ๆ หรือ เสียงในหูแว่วมาจากคำพูดคุยกับเจ้าของร้าน Bike Zone เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาก็ดังขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ “I hit the wall at 32nd km in my first marathon” ผมเริ่มตกใจ นี่หรือที่เขาเรียกว่า Hit The Wall ของจริง มันเกิดกับผมที่ 37km จริงหรือ แล้วผมจะทำอย่างไรต่อไป แต่แล้วลูกพรุนที่มีความชุ่มฉ่ำเรียกร้องให้ผมหยิบลูกแล้วลูกเล่า เดินไปคิดไป ตรวจสอบร่างกาย ความรู้สึก และแล้ว ป้ายบอกระยะทางซึ่งในเวลานี้เปลี่ยนเป็นบอกระยะทางที่เหลือ 4km

ผมเหลือบดูนาฬิกา ผมใช้เวลาไปสี่ชั่วโมงเศษ ๆ แล้ว ในใจผมเริ่มคิดถึงเรื่องอื่นแล้ว ผมเริ่มมองเห็นความหวัง เริ่มมองเห็นเส้นชัย ผมนัดครอบครัวของผมไว้ว่า ผมน่าจะเข้าเส้นชัยในช่วงสี่ชั่วโมงถึงสี่ชั่วโมงครึ่ง หรือเต็มที่ก็ไม่น่าจะเกินห้าชั่วโมง ผมเริ่มคิดว่าในเวลานี้พวกเขาน่าจะเริ่มมารอบริเวณเส้นชัยกันแล้ว ผมใช้พลังสมองที่มีเหลือเพียงน้อยนิดจากการทุ่มเทพลังงานทั้งหมดในการเคลื่อนตัวไปข้างหน้าเพื่อคำนวณความเร็วของผมในปัจจุบันซึ่งตอนนี้ก้าวเลยไปเป็นแปดนาทีกว่า ๆ ต่อกิโลเมตรแล้ว (ถ้าผมยังวิ่งอยู่) แต่ถ้าผมเดินผมต้องใช้เวลาเกินห้าชั่วโมงเป็นแน่ ผมจึงตัดสินใจใช้พลังจิตพลังใจทั้งหมดที่มีออกวิ่งอีกครั้งด้วยความเร็วที่เต่ายังอาย สังเกตุจากทุก ๆ คนวิ่งแซงผมได้เพียงแค่พวกเขาเลือกที่จะวิ่ง แต่แล้วผมก็จะวิ่งแซงกลับได้ทุกครั้งที่เขาเหล่านั้นพักเดินอีกครั้ง มันเป็นแผนมาตรฐานที่เพื่อนผมชื่อต่อสอนไว้ นั่นคือการใช้กลยุทธิ์เดินสลับวิ่ง แต่ดูเหมือนว่ามันจะใช้ได้ไม่ดีสำหรับผม ผมจึงวางแผนสำหรับสี่กิโลสุดท้ายว่าผมจะวิ่งตลอดเวลาแม้ว่าจะช้าแค่ไหนก็ตามแล้วผมก็วิ่งไปเรื่อย ๆ

ในระยะ 2 กิโลเมตรสุดท้ายที่เริ่มเลี้ยวเข้าเส้นถนนคนเดินเป็นช่วงเวลาที่เหงาอย่างมากมาย นักวิ่งแต่ละคนอยู่ห่างกันมากจนเหมือนผมดูเหมือนเป็นคนบ้าวิ่งอย่างทรมานอยู่คนเดียวในอากาศที่ร้อนระอุของวันนั้น และแล้วกลยุทธของผมก็เริ่มได้ผล ผมวิ่งช้า ๆ ไม่หยุดและสามารถแซงหลาย ๆ คนที่เคยวิ่งแซงผมไปเพราะเขาเหล่านั้นแทบจะเปลี่ยนเป็นการเดินไปกันหมดแล้วจากการที่แพ้ใจตัวเองในช่วงสลับเดิน แต่ละก้าวของสองกิโลเมตรสุดท้ายมันช่างยาวนานเชื่องช้า และยากลำบาก ป้าย 500 เมตรสุดท้ายไม่ทำให้มีกำลังใจเพิ่มขึ้นมากนักเมื่อมองด้วยสายตาแล้วเซ็นทรัลเฟสติวัลพัทยาซึ่งเป็นเส้นชัยไม่ยังดูสุดลูกหูลูกตาเสียเหลือเกิน แต่แล้วในที่สุด 200 เมตรสุดท้ายคืบเข้ามาราวกับว่าผมเป็นหอยทากออกมาเดินจ่ายตลาด แต่ผมรู้ว่าทุก ๆ คนรอผมอยู่ในระยะอีกไม่กี่ก้าวผมคงเจอกับพวกเขา กัดฟันต่อไป ผมยกมือขึ้นชูนิ้วโป้งให้กับช่างถ่ายภาพที่รอถ่ายในบริเวณใกล้เส้นชัย

ในที่สุดผมก็ได้ยินเสียงที่คุ้นเคย ลูก ๆ ครอบครัว และเพื่อน ๆ เริ่มส่งเสียงเชียร์ ช่วงสุดท้ายแล้วผมคิดในใจ ผมเริ่มสามารถเร่งความเร็วขึ้นได้เล็กน้อย แม้ว่ามันจะไม่ช่วยเรื่องเวลากับผมอีกแล้วแต่มันก็ทำให้รู้สึกดีที่เราวิ่งแทบทั้งระยะมาราธอนและที่สำคัญเราวิ่งเข้าเส้นชัย แม้ว่ามีการเดินในช่วงกิโลเมตรที่ 37 แต่ก็เป็นระยะทางไม่น่าจะเกิน 1Km เพียงเท่านั้น ลูกชายผมวิ่งเข้ามาหาตามที่นัดกันไว้ แต่ไม่ยอมวิ่งเข้าเส้นชัยกับผม ไม่เป็นไรค่อย ๆ ฝึกกันไปคราวหน้าผมจะพาเขาวิ่งเข้าเส้นชัยพร้อมผมให้ได้ จากที่เคยคิดว่าเมื่อถึงเส้นชัยจะล้มตัวลงนอนแล้วให้ใครก็ได้มาแบกไปปฐมพยาบาล นวด แต่ด้วยความกลัวว่ากองเชียร์จะเข้าใจผิดว่าเป็นลม จึงแข็งใจเดินไปบริเวณให้น้ำ ก่อนที่อำนวยเพื่อนของผมที่มาร่วมวิ่งระยะฮาร์ฟมาราธอนในวันนี้จะเอาเกเตอร์เรทมาให้ถึงมือ ช่วยอาสาเดินไปบอกครอบครัวผมว่าผมกำลังจะคลานไปนวด

คลิปลูกชายวิ่งมารับคุณพ่อ

ผมใช้เวลานวด และนั่งพักหลังเต้นท์นวดอยู่นานเพื่อรอตุ๊ (จริง ๆ แล้วไม่สามารถลุกเดินไปไหนได้อีก) แต่แล้วด้วยความที่ลูก ๆ เริ่มงอแงเราจึงต้องเดินทางกลับก่อนที่ตุ๊จะเข้าเส้นชัย น่าเสียดายคราวนี้เลยไม่ได้ถ่ายรูปหมู่กับเพื่อน ๆ กันเลย งานนี้จริง ๆ แล้วมีเพื่อนมาเยอะเลยทีเดียว ผม โด่ง และหมอนก ที่มาวิ่งฮาร์ฟมาราธอนกับโด่ง และครอบครัวของพวกเราก็เดินกลับที่พักที่อยู่ไม่ไกล ในระหว่างนั้นอำนวยก็โพสรูปตุ๊เข้าเส้นชัย แล้วบอกว่าเรานั้นพลาดไปแป๊บเดียวเท่านั้น

สรุปว่าในวันนี้ผมได้เรียนรู้หลายอย่าง ทดสอบหลายอย่างกับจิตใจ ร่างกายของผม ในที่สุดผมก็สามารถพูดได้ว่า “I’m a marathon man” ด้วยเวลา 4 ชั่วโมง 50 นาที ผมแอบภูมิใจเล็ก ๆ กลับห้องพักไปอาบน้ำ นอนพักเล็กน้อย ทานอาหารเที่ยง นอนพัก แน่นอนว่าผมวางแผนพักต่ออีกหนึ่งคืน กับความรู้สึกอิ่มเอม ในที่สุดผมก็พิสูจน์แล้วว่าผมทำได้ และผมจะทำอะไรก็ได้ เราเป็นเจ้านายของร่างกายเราเอง เจอกันในสนามต่อไปครับ แล้วอย่าลืมทักทายกันบ้าง

Run for a reason : The Gears


12 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา ตีสาม ผมค่อย ๆ คืบคลานไปปิดนาฬิกาปลุก ก่อนที่จะพาร่างไร้วิญญาณไปแปรงฟัน อาบน้ำ วันนี้ผมมีรายการวิ่ง กรุงเทพมาราธอน 2554 ที่ต้องเลื่อนมาจากปลายปีที่แล้วเนื่องจากเหตุการณ์มหาอุทกภัย นี่จะเป็นรายการวิ่งแข่งขันครั้งแรกของผมในรอบเกือบยี่สิบปี ในการแข่งครั้งนี้ผมต้องซื้ออุปกรณ์ใหม่ทั้งหมดตั้งแต่หัวจรดเท้าเลยทีเดียว ความตื่นเต้นเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณเมื่อเสริมความตื่นเต้นจากการได้เล่นของเล่นใหม่เหล่านี้ ผมออกจากห้องน้ำเพื่อมาสวมใส่ชุดแข่งขันที่วางไว้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยตั้งแต่เมื่อคืน เป็นการเตรียมตัวเพื่อลดความฉุกละหุกของการตื่นเช้า

The Gears :

ชุดวิ่งต่างไปจากเมื่อยี่สิบปีที่แล้วเป็นอย่างมาก ชุดอดิอาสชุดนี้เป็นอุปกรณ์ชิ้นแรกที่ผมมีของอุปกรณ์กีฬาค่ายใหญ่ค่ายนี้ ปัจจุบันดูเหมือนว่ากางเกงวิ่งจะขายาวขึ้นมาก หรือเป็นเพราะว่ามีคนหันมาวิ่งกันมากขึ้นจึงต้องออกแบบให้โดนใจคนหมู่มาก เมื่อก่อนนั้นกางเกงวิ่งทุกตัวที่ผมมีสั้นจู๋เห็นโคนขาแล้วยังผ่าไปจนเหลือด้านข้างเพียงนิ้วเศษ ๆ เท่านั้น เข้าใจได้เพราะเราไม่อยากให้มีอะไรมาขัดขวางการวิ่งของเรานั่นเอง แต่เมื่อกางเกงขายาวเช่นนี้ เทคโนโลยีเป็นสิ่งสำคัญ ชุดนี้เป็นชุดที่อยู่ในระดับทอปของอดิดาสในเวลาที่ผมซื้อ ถักด้วยเส้นใย silver เพื่อช่วยในการถ่ายเทความร้อน ไม่รวมถึงระบบแห้งเร็ว moisture wicking และอื่น ๆ อีกมากมายลายตา ยี่สิบปีที่ผ่านมามันมีอะไรเปลี่ยนไปมากจริง ๆ ต่างจากคีเวิร์ด DriFit ของไนกี้ที่ผมคุ้นเคย

ผมสวมเสื้อยืดทับอีกตัวเพื่อไม่ให้ดูแปลกตาจนเกินไปนักสำหรับคนที่จะเดินออกจากบ้านตอนตีสามครึ่ง แล้วนั่งใส่รองเท้าไวแบรมห้านิ้ว (แล้วผมจะมาคุยทีหลัง) ก่อนที่จะคว้าหมวก Ironman ที่ผมได้ติดมือมาจากรายการ Ironman 70.3 ที่ภูเก็ต คว้าอุปกรณ์ทุกอย่างลงถุงแล้วรีบออกไปจับแทกซี่มุ่งไปหน้างานในทันที คนขับแทกซี่มองผมแปลก ๆ แล้วถามว่ามีอะไรกันเหรอพี่ ผมก็เล่าถึงรายการแข่งขันแล้วต่างคนก็ต่างทำหน้าที่ของตัวเองไป ผมหันไปจัดการกับอาหารเช้าที่เตรียมมาทั้งครัวซองค์และกล้วย คนขับเหลือบมองดูผมอีกครั้งราวกับสงสัยถึงสาเหตุที่แท้จริงของการใส่หมวกในเวลาตีสามเศษ ๆ ผมไม่ปล้นพี่หรอก ผมคิดในใจ

แม้ว่าในรายการแข่งขันวันนี้ผมน่าจะวิ่งเข้าเส้นในเวลาประมาณเจ็ดโมงเช้า ที่พระอาทิตย์ยังไม่ตื่นมาทำงานดี ผมก็ตัดสินใจที่จะคว้าหมวกใบนี้เข้าการแข่งขันกับผมด้วย หมวกที่ออกแบบมาสำหรับใส่วิ่งระยะไกลนั้น มีไอเดียที่ช่วยให้การวิ่งนั้นสบายขึ้นเยอะเมื่อเทียบกับหน้าที่หลักในการบังแดดของมัน แน่นอนว่าการใส่หมวกอาจจะทำให้หัวร้อนขึ้นเล็กน้อย แต่การใช้ผ้าทีี่มีใยปรุ และแห้งเร็วนั้นจะลดปัญหานี้ไปได้มาก หมวกสีขาวไม่ดึงดูดแสงมากไปกว่าสีผม หรือสีของหนังศีรษะในกรณีของผม แต่ปัจจัยสำคัญที่ผมนำมันมาด้วยในวันนี้คือ build-in sweat management headband หรือง่าย ๆ มันคล้าย ๆ กับสายรัดศีรษะที่นักเทนนิสเมื่อยี่สิบปีที่แล้วนิยมใช้กัน พอซ่อนมันไว้ในหมวก เทคโนโลยีโบราณนี้ก็เข้ากับยุคสมัยได้โดยง่าย สำหรับคนที่มีไม่ผมและคิ้วบางอย่างผม อุปกรณ์ชิ้นนี้สำคัญมาก ๆ ไม่มึใครอยากจะต้องมีปัญหาแสบตาจากเหงื่อ ในขณะที่ปัญหาหลัก ๆ ควรจะเกิดกับขาเพียงเท่านั้น

ผมมาถึงหน้างาน ฝากของและ warm up เล็กน้อย จัดการเรื่องห้องน้ำ เดินไปจุดปล่อยตัว และยืดเส้นยืดสายรอ เพื่อนผมเดือนเข้ามาทักทาย เราคุยกันเล็กน้อย ก่อนที่สัญญาณปล่อยตัวดังขึ้นผมวิ่งออกไปช้า ๆ ตามคนจำนวนมากที่ค่อย ๆ ขยายตัวออกไปจนเต็มถนน เสียงเพลงจังหวะกระชับช่วยให้ผมค่อย ๆ ทำเวลาไล่ขึ้นมาเรื่อย ๆ จากจุดเริ่มต้นที่แออัด สำหรับคนที่เกิดมาในยุคของ Sony/Aiwa Walkman ผมไม่เคยคิดว่าจะสามารถพกพาเพลงลงแข่งขันวิ่งในระยะทางฮาล์ฟมาราธอนอย่างวันนี้ ในยุคก่อนนิตยสารวิ่งจะเขียนถึงการนับก้าว นับลมหายใจ นับต้นไม้ เรื่อยไปจนถึงท่องพุทโธ เพื่อดึงจิตใจของเราให้อยู่กับกิจกรรมซ้ำ ๆ อย่างนี้เป็นระยะเวลาสองชั่วโมง แต่ไม่ใช่วันนี้ ผมพก iPhone4s อายุไม่กี่เดือนของผมมาผจญภัยกับผมด้วย ต้องขอบคุณ H2O Audio Waterproof Armband ที่แม้ว่าจะใหญ่เทอะทะที่สุดในตลาด แต่กันน้ำ 100% เพียงพอที่จะทำให้ผมยอมมองข้ามความเทอะทะนั้นไป แต่ด้วยวัสดุนีโอปรีนและความเทอะทะของมันเองกลับทำให้การใส่อาร์มแบนด์นี้ มันสบายกว่าที่เห็นมากนัก ดนตรีอยู่กับผมทุกที่ที่ย่างไป


“You are behind your target pace 30 seconds” เสียงเตือนเบา ๆ แทรกผ่านเสียงดนตรี ส่งผ่านหูชั้นนอกของผมเข้าไปเตือนโสตประสาทที่เหลือ ผ่านไปเกือบสามในสี่ของการแข่งขันแล้ว ในหัวของผมสับสนเป็นอย่างมากเมื่อข้อมูลจากโคชที่ผมพกพามาด้วยในการแข่งขันครั้งนี้ ขัดแย้งกับข้อมูลที่ผู้จัดตั้งไว้ตามรายทางการแข่งขัน ใครถูกกันแน่วะเนี่ย ผมสบถ ความสนุกของการกลับมาซ้อมครั้งนี้ ครึ่งหนึ่งต้องยกให้เป็นผลงานของโคชที่ว่านี้เลยทีเดียว แทนที่จะลงทุนในระบบอื่น ๆ อย่างเช่น Garmin ผมเลือกที่จะใช้ Runkeeper ที่ลงใน iPhone4s ของผมเป็นโคชให้ผม น่าทึ่งว่าทุก ๆ ก้าวที่ผมวิ่งในรายการนี้ ถูกส่งอย่างสด ๆ ผ่านระบบ 3G ไปยังเวปไซท์ของรันคีปเปอร์ และครอบครัวผมสามารถมองเห็นผมในสนามแข่งขันทุก ๆ วินาทีถ้าต้องการ ผมไม่ได้ไปเที่ยวไหนแต่กำลังเหงื่อตกอยู่แถว ๆ สะพานพระรามแปด ภรรยาผมอาจจะสบายใจขึ้น ด้วยความช่วยเหลือของโปรแกรมต่อเชื่อม CycleLog ผมได้ข้อมูลที่ทำให้การแข่งขันหรือการซ้อมของผมสนุกขึ้นกว่ายี่สิบปีที่แล้วเป็นอย่างมาก “You are behind your ghost pace 1,450 meters” แม้ว่าผมจะวิ่งตามผีตัวนี้อยู่ตลอดก็ตาม ย้อนกลับไปยี่สิบปีที่ผ่านมา ไม่น่าเชื่อว่า ณ เวลานี้ผมกำลังสื่อสารกับดาวเทียมสามถึงสี่ดวงห่างออกไปกว่าหลายหมื่นกิโลเมตร บอกต่ำแหน่งของตัวเอง บันทึก คำนวณ ส่งข้อมูลผ่านระบบเซล 3G เข้าสู่เมนเฟรมของ รันคีปเปอร์ และ ไซเคิลลอค ที่อยู่อีกซีกโลกหนึ่ง เพื่อประกาศข้อมูลเหล่านี้สด ๆ ลงในเวปไซท์ ให้ใคร ๆ ติดตามการกลับมาของผมในวันนี้ได้

ชุดกีฬาไฮเทค ที่ผมซื้อมาด้วยเงินสูงเกินความจำเป็นไม่ได้ perform ได้ดีอย่างที่คุยโม้ ทั้งเสื้อและกางเกงเปียกโชก แนบติดตัวและขาของผมอย่างน่ารำคาญ ขาสั้นจู๋ยังจะดีเสียกว่า ว่าแล้วว่าทำไมนักวิ่งเคนยาทั้งหมดที่วิ่งสวนไปตั้งแต่ผมเริ่มวิ่งได้ไม่นาน ล้วนแล้วแต่ใส่ขาสั้น ๆ กันทั้งนั้น ผมบ่นก่นด่า อาจจะเป็นเพราะหลาย ๆ อย่าง ณ ตอนนี้มันไม่ได้ดั่งใจเอาเสียเลย ระยะทางจากดาวเทียม GPS ไม่ตรงกับระยะตามป้ายที่ผู้จัดรายการ ความเร็วที่ทำได้ที่คำนวณจากโคชไม่รู้ว่าแม่นยำแค่ไหน ไม่รู้ว่าใครหลอกใคร เครื่องดื่มเกลือแร่ที่ผู้จัดแจ้งว่าจะมีเสริมตั้งแต่ระยะ 16 กิโลเมตรเป็นต้นไป กลับมีเพียงที่ระยะ 16 กิโลเมตรเท่านั้น เสียงเพลงที่กรอกหู ณ ตอนนี้เหมือนตอกย้ำความซับซ้อน สับสน แต่ผมยังคงต้องวิ่งต่อไป ในกีฬาคนอึดความรู้สึกเหล่านี้จะมาหลอกหลอนเราให้หยุด ให้เลิกอยู่เสมอ เป็นการทดสอบของชีวิตที่เราได้รับการฝึกฝนให้เกร่งขึ้น

เสียงของเส้นชัยได้ยินมาไกล แต่แล้วเส้นทางวิ่งก็พาผมห่างออกไปอีกครั้ง ขาของผมหนักขึ้นเรื่อย ๆ ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าเป็นเพราะใจหรือร่างกาย มองดูเวลา ผมคำนวณไม่ถูกแล้วว่าผมจะทำได้หรือไม่กับเป้าหมาย เสียงเพียงดังขึ้นในหูของผมราวกับว่าเข้าใจ Yo Yo Ma บรรเลง unaccompanied cello suite ของ Bach แม้ว่าเป็นบทเพลงที่ผมรัก แต่ ณ เวลานี้มันเหมือนกับ soundtrack ของภาพยนต์ที่ตัวเอกของเรื่องกำลังสิ้นหวัง ในที่สุดกำแพงอันสวยงามก็อยู่ตรงหน้า ผมพยายามเร่งความเร็ว แต่ก็พบว่าหลาย ๆ คนเริ่มแซงผมราวกับผมยืนอยู่กับที่ เวลาสองชั่วโมงได้ผ่านไปแล้ว แม้ว่าตอนนี้เพลงได้เปลี่ยนไปเป็น Black Eyes Peas เร้าใจเต็มที่แล้ว แต่ในใจผมไม่เป็นสุขเท่าที่หลาย ๆ คนที่เส้นชัยคิดเมื่อเห็นผมค่อย ๆ วิ่งเข้าไป เสียงตบมือดังขึ้น ผู้ประกาศเรียกชื่อ “Nattapong Nithi-Uthai from Indonesia” เป้าหมายผมพังทลายไปแล้ว ผมวิ่งเข้าเส้นชัย ด้วยเวลา 2:02 “from Indonesia” ผมคิดในใจ มันเอามาจากไหนเนี่ย

ผมเดินตรงไปจนสุดทาง หาสนามหญ้าที่มุมเลี้ยวที่นักวิ่งที่เหลือทุกคนจะต้องวิ่งผ่าน ผมนั่งลงอย่างหมดแรง ผมถอดรองเท้าออกและมองมันอย่างภาคภูมิใจ ความสับสนจากสถิติที่น่าผิดหวังร่วมกับป้ายบอกระยะทางที่สุดแสนจะมั่วผ่านไปแล้ว ผมกลับวิ่งระยะทางนี้ได้เพราะรองเท้าคู่นี้จริง ๆ ไม่เสียแรงที่พยายามหาซื้อมาด้วยความยากลำบาก ประมาณ 12 ปีที่ผ่านมาเกิดอุบัติเหตุทางหลังกับผม จนกระทั่งในที่สุดกลายเป็นอาการของโรคกระดูกเสื่อม และทำให้ผมต้องหยุดวิ่งไปเมื่อกว่า 5 ปีโดยเด็ดขาด หลังจากผมพยายามหากีฬาใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นเพาะกาย ปีนหน้าผา แต่กีฬาคนอึดแบบนี้ดูจะตอบโจทย์ผมได้มากกว่า หลังจากตัดสินใจว่าจะลองกลับมาวิ่งอีกครั้ง ผมค้นหาข้อมูลในอินเตอร์เนทจนพบว่ามีการศึกษาที่บอกว่าการวิ่งด้วยปลายเท้า จะทำให้มีการกระแทกหลังส่วนล่างน้อยมาก ผมก็ลองทันทีด้วยรองเท้าแตะ เมื่อวิ่งสะสมไปสักหนึ่งร้อยกิโลเมตร ผมจึงตัดสินใจซื้อ Vibram Fivefingers ที่กำลังเป็นผู้นำในเทรนด์วิ่งปลายเท้าอยู่ในขณะนี้

แน่นอนว่าผมใช้ระยะเวลาปรับตัวอีกสักพักในการวิ่งด้วยปลายเท้า กล้ามเนื้อน่องและต้นขามีการใช้งานมากเป็นพิเศษและไม่ค่อยคุ้นเคย แต่เมื่อเพิ่มระยะทางมากขึ้นเรื่อย ๆ กล้ามเนื้อเหล่านี้ก็แข็งแรงขึ้นและไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป กระแสการวิ่งด้วยปลายเท้าก็กำลังมาแรง ต่อไปน่าจะหาข้อมูลการวิ่งในลักษณะนี้ได้เพิ่มเติมอีกมาก จาก ณ เวลานี้ ถ้าจะหาก็ใช้คำว่า pose running หรือ chi running ก็มีอะไรให้อ่านไม่รู้จบแล้ว อีกปัญหาหนึ่งที่ผมเป็นกังวลแต่อาจจะไม่มากเท่าคนอื่น ๆ ที่จะหันมาใช้รองเท้าคู่นี้ คือ การไม่ใส่ถุงเท้าวิ่ง การเลือกรองเท้า fivefingers ให้ถูกขนาดเป็นเรื่องสำคัญมาก ถึงขนาดมีข้อมูลในเวปที่สอนวิธีการวัดอย่างละเอียด ในเวปเน้นให้เลือกไซด์ตามที่วัดได้จริง ๆ ทั้งสองข้าง ผมจำเป็นต้องเลือกไซด์ของผู้หญิงที่มีความฟิตมากกว่าไซด์ผู้ชาย ถ้าใครเท้าไม่เท่ากันเขาแนะนำให้ซื้อสองคู่เสียด้วยซ้ำ เมื่อรองเท้าฟิตพอดีปัญหาก็ไม่เกิด อาการรองเท้ากัดเกิดกับผมในวันแรกที่ได้รองเท้ามาเพียงวันเดียวเท่านั้น หลังจากนั้นก็ไม่เคยมีปัญหาอีกเลย รวมไปถึงในระยะทางฮาล์ฟมาราธอนวันนี้ด้วย

การไม่มี cushion ในรองเท้าอาจจะทำให้หลาย ๆ คนกังขาถึงผลลัพธ์ของการวิ่ง การซ้อม อันนี้ผมยังไม่สามารถบอกอะไรได้ เพราะผมยังอยู่กับมันได้ไม่นาน เสียงของฝรั่งดังขึ้นในหัวผมอีกครั้ง “Good luck in your Vibram. It’s pretty hard on your knee” ผมต้องยอมรับว่าผมไม่ได้รู้สึกถึงความแตกต่าง เมื่อนึกย้อนกลับไปเมื่อยี่สิบปีที่แล้วมากนัก ความรู้สึกเจ็บข้อเท้า และเข่า ซึ่งเกิดทุก ๆ ครั้งภายหลังการแข่งขันในระยะนี้ มันอาจจะมากกว่าการลงส้นเท้าแล้วมี cushion แต่อย่างน้อย รองเท้าคู่นี้ และการวิ่งปลายเท้า ทำให้ผมกลับมาเล่นกีฬาที่ผมรักที่สุดได้อีกครั้ง คือ ไตรกีฬา ผมวิ่งได้แล้ว ผมปั่นจักรยานได้แล้ว ว่ายน้ำไม่เป็นปัญหาแน่นอน ขอบคุณ Vibram Fivefingers ครับ

เพื่อน ๆ ผมมารวมตัวกันแล้ว เราชักภาพร่วมกันสองสามภาพก่อนแยกย้ายกันกลับบ้าน ผมค่อย ๆ เดือนโขยกเขยกไปขึ้นแทกซี่ ในใจตั้งคำถาม “Hard on my knee” ผมรู้สึกอย่างนั้น แต่ผมก็ยังดีใจมากกว่าผมไม่สามารถวิ่งได้อีกเลย

Run for a reason : The Race


12 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา ตีสาม ผมค่อย ๆ คืบคลานไปปิดนาฬิกาปลุก ก่อนที่จะพาร่างไร้วิญญาณไปแปรงฟัน อาบน้ำ แต่งตัว วันนี้ผมมีรายการวิ่ง กรุงเทพมาราธอน 2554 ที่ต้องเลื่อนมาจากปลายปีที่แล้วเนื่องจากเหตุการณ์มหาอุทกภัย นี่จะเป็นรายการวิ่งแข่งขันครั้งแรกของผมในรอบเกือบยี่สิบปี ครั้งสุดท้ายผมลงรายการนี้ในระยะฮาล์ฟมาราธอน 21.1 กม. ด้วยเวลา 1:47 เป็นเวลาที่ดีที่สุดในชีวิตของผม อายุเพิ่มขึ้นอีกยี่สิบปี เป้าหมายของผมในปีนี้คือ ต่ำกว่าสองชั่วโมงในระยะทางเดียวกัน แต่ก็แอบหวังลืก ๆ ที่จะเข้าใกล้สถิติอันนี้ของผม แม้ว่ามีหลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนไปนอกเหนือจากอายุ หลายสิ่งหลายอย่างที่ผมจะมีโอกาสใช้ โอกาสที่จะทำ เป็นครั้งแรก ผมก็ยังคิดว่าทุกอย่างน่าจะไปได้ด้วยดีในวันนี้ ผมรีบแต่งตัวแล้วคว้ากล้วยหอมสี่ลูกที่เตรียมไว้ตั้งแต่เมื่อวาน แล้วรีบโจนออกไปเรียกแทกซี่ นาฬิกาบอกเวลาตีสามครึ่ง หลังจากบอกเป้าหมายกับคนขับแทกซี่แล้วก็ได้โอกาสปอกกล้วยเข้าปาก พลางคิด เราทำอย่างนี้ไปเพื่ออะไร

The Race :

กรุงเทพมาราธอน 2011 สำหรับปีนี้เป็นการจัดครั้งที่ 24 แล้ว จุดเริ่มต้นและสิ้นสุดอยู่บริเวณริมรั้วพระบรมมหาราชวังฝั่งกระทรวงกลาโหม ซึ่งให้ฉากของการวิ่งเข้าเส้นชัยยิ่งใหญ่ตระการตา สมกับเป็นรายการมาราธอนที่ยิ่งใหญ่งานหนึ่งของประเทศ ที่มีการจัดมาเป็นระยะเวลายาวนาน เมื่อนึกย้อนกลับไปเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว กรุงเทพมาราธอน ครั้งที่ สอง สาม สี่ อยู่ในสภาพที่มีความเสี่ยงจะยกเลิกทุกปี แต่นี่ยี่สิบสี่ปีผ่านไป ช่างเป็นเรื่องที่น่ายินดี ไม่เหมือนกับ Jazz Festival ที่ต้องเปลี่ยนชื่อ ล้มหายตายจากไปด้วยระยะเวลาไม่เกินสองปี ผมมาถึงบริเวณปล่อยตัวประมาณตีสี่ เพื่อมาพบกับกระบวนการจัดการที่ดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับยี่สิบปีที่แล้ว ผมตรงเข้าไปฝากกระเป๋า ก่อนที่จะออกวิ่งเหยาะ ๆ ประมาณยี่สิบนาที เพื่อเป็นการวอร์มร่างกาย เรียบร้อยแล้วก็เดินหาห้องน้ำเพื่อทำธุระที่จำเป็น ก่อนที่จะได้ตระหนักว่า ป้ายบอกทาง ใช้ไม่ได้เอาเสียเลย แม้ว่าผมจะดูแผนที่คร่าว ๆ มาแล้วว่าตำแหน่งของห้องน้ำอยู่ที่ใด แต่เมื่ออยู่หน้างานมันไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด สุขาอยู่หนใด ผมพยายามมองหาป้ายแต่ไม่พบจึงได้ตัดสินใจเดินตามคนส่วนใหญ่เข้าไปในสวนสราญรม ผมคาดไว้ไม่ผิดคนส่วนใหญ่เหล่านั้นเดินไปเข้าห้องน้ำ แต่นี่ไม่ใช่ห้องน้ำที่ทางผู้จัดเตรียมไว้ แต่หากเป็นห้องน้ำเล็ก ๆ ภายในสวน พร้อมกับแถวยาว ๆ ผมเข้าคิวเพื่อรับฟังฝรั่งด้านหน้าก่นด่าผู้จัดอย่างเมามันส์ อยากจะบอกเขาว่านี่ไม่ใช่ห้องน้ำที่เขาจัดไว้นะ แต่ก็บอกไม่ถูกว่าที่เขาจัดไว้ให้มันอยู่ที่ไหน ก็เลยต้องเงียบไว้ก่อน

หลังจากห้องน้ำผมก็มุ่งหน้าไปที่จุดปล่อยตัว เหลือเวลาอีก 15 นาที ผมยืดเส้นยืดสายรอเวลา ไม่นานนักเพื่อนที่เป็นคนชักชวนให้ผมกลับมาวิ่งอีกครั้ง ก็แวะเข้ามาทักทาย ผมนึกในใจคนตั้งพันสองร้อยคน มันเห็นผมได้ไงง่ะ ผมลดความตื่นเต้นของตัวเองด้วยการถามเพื่อนของผมถึงเส้นทาง และระยะทางที่จะผ่านสะพานทั้งสองสะพานในการแข่งขัน การวิ่งขึ้นสะพานตอนเหนื่อย ๆ มันไม่ค่อยน่าสนุกนักในความคิดของผม เพื่อนผมหันมาตอบว่าสะพานแรกก็สะพานปิ่นเกล้าที่อยู่ตรงหน้าเรานี่เอง ผมถามถึงสะพานพระรามแปด แต่เพื่อนของผมได้แต่ยิ้ม

สัญญาณปล่อยตัวดังขึ้นผมวิ่งออกไปช้า ๆ ตามคนจำนวนมากที่ค่อย ๆ ขยายตัวออกไปจนเต็มถนน สะพานแรกอยู่ใกล้จริง ๆ ผมพยายามควบคุมความเร็วไม่ให้สูงเกินไปนัก ผมไม่ได้ซ้อมมากเท่าไร ระยะสูงที่สุดที่ผมซ้อมมาสำหรับการแข่งขันนี้คือ 14 กม. ในวันนี้ผมต้องวิ่งต่อไปอีก 7.1 กม. ผมยังไม่อยากเจอกับอาการชนกำแพงเป็นครั้งแรกของชีวิตในวันนี้ การวิ่งในวันนี้มันช่างต่างไปจากยี่สิบปีก่อนเสียจริง ๆ ผมไม่ได้เห็นตัวเมืองอย่างที่เป็นเมืองเอาเสียเลย หลังจากที่ขึ้นสะพานแรกมาแล้ว ผมยังไม่มีความรู้สึกว่าได้ลงสะพานอีกเลย ผมนึกในใจว่านี่กรุงเทพฯ เรามีรถเยอะขนาดต้องทำถนนวิ่งกันสองชั้นกันเลยหรือ ไม่ทันไร ก็ถึงจุดกลับตัว ที่ผมท่องมาว่าอยู่หน้าเซ็นทรัล เพื่อช่วยในการควบคุมเวลา อย่างไม่ทันได้ตั้งตัว เราวิ่งอยู่บนชั้นที่สองโดยตลอด ผมเริ่มกังวลถึงความเร็ว ผมเร็วเกินไปหรือเปล่านะ เมื่อดูป้ายบอกระยะเทียบกับเวลากลับพบว่านี่ผมวิ่งช้าอยู่เหรอเนี่ย ผมเร่งความเร็วขึ้นอีกนิด ไม่ทันจะได้ตั้งตัวป้ายบอกระยะทาง 10 กม. ก็อยู่ตรงหน้าผม ดูเวลาด้วยความตกใจ 50 นาที ผมวิ่งเร็วเกินไป ในใจคิด ไม่ค่อยเหนื่อยเลยนี่หว่า ถ้าอย่างนี้ 1:47 น่าจะมีความหวังนะเนี่ย

ความหวังผมค่อย ๆ สลายลงเมื่อผมวิ่งผ่านกิโลเมตรที่ 14 เข้าสู่เขตของความไม่รู้ ผมไม่เคยวิ่งเกินระยะนี้มาเป็นระยะเวลายี่สิบปี ต่อจากนี้จะเกิดอะไรขึ้นกับผมบ้าง ผมเกิดความรู้สึกอึดอัดขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อป้ายบอกระยะทางที่ 16 กม. ยังไม่มาถึงเสียที นี่มันนานเกิดไปแล้วนะผมคิด ทันใดนั้นผมก็เห็นจุดให้น้ำอยู่ตรงหน้า ผมตัดสินใจไม่แวะเข้าเพราะรู้สึกว่าผมทำเวลาไม่ค่อยดีในช่วงที่ผ่านมา ในใจพาลฉุกคิดนิด ๆ ทำไมไม่มีป้ายบอกระยะทางนะที่จุดเมื่อกี้ ผมค่อย ๆ เร่งฝีเท้าขึ้นเล็กน้อย จุดให้น้ำจุดต่อไปอยู่ด้านหน้า 18 กม. แล้วเหลือเพียงสามกิโลสุดท้าย เวลาแบบนี้น่าจะทำลายสถิติส่วนตัวเป็นแน่ ทันใดนั้นฝันผมก็สลายลงไปในทันทีเมื่อป้ายที่เห็นกลับเขียนว่า 16 กม. เห้ย อะไรฟะ ผมรีบคำนวณเวลาในใจอย่างรวดเร็ว โอ้ย 1:47 ไปซะแล้ว เวลาขณะนี้ 1:26 ต่ำกว่าสองชั่วโมงน่าจะยังเอาอยู่ ในใจคิดแต่ขาผมหนักขึ้นเรื่อย ๆ เร่งไม่ออกเลย กิโลเมตรที่ 18 เหมือนกับว่าจะไม่มีวันมาถึง ป้ายกิโลเมตรที่ 20 วางอยู่คู่กับ ป้ายกิโลเมตรที่ 40 ของมาราธอน เห้ย มันเหลืออีก 1 หรือ 2 กิโลกันแน่วะเนีี่ย

เสียงของเส้นชัยได้ยินมาไกล แต่แล้วเส้นทางวิ่งก็พาผมห่างออกไปอีกครั้ง ขาของผมหนักขึ้นเรื่อย ๆ ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าเป็นเพราะใจหรือร่างกาย มองดูเวลา ผมคำนวณไม่ถูกแล้วว่าผมจะทำได้หรือไม่กับเป้าหมาย ในที่สุดกำแพงอันสวยงามก็อยู่ตรงหน้า ผมพยายามเร่งความเร็ว แต่ก็พบว่าหลาย ๆ คนเริ่มแซงผมราวกับผมยืนอยู่กับที่ เวลาสองชั่วโมงได้ผ่านไปแล้ว เป้าหมายผมพังทลายไปแล้ว ผมวิ่งเข้าเส้นชัย ด้วยเวลา 2:02

ผมค่อย ๆ เดินไปหาน้ำ ผลไม้ ในใจก่นด่าอยู่ตลอดเวลา จุดให้น้ำที่เส้นชัยมีน้อยนิด จนต้องต่อแถวรับน้ำกัน สปอนเซอร์น้ำเกลือแร่แกเตอเรต มีเพียงหนึ่งบูธที่แถวยาวเหมือนซื้อ Krispy Creme เต้นท์ผลไม้ซ่อนอยู่ในหลืบ แยกกันกับเต้นสปอนเซอร์แมคโดนัลที่ต้องเดินต่อไปอีกเกือบร้อยเมตร เป็นการทรมานคนที่เพิ่งวิ่งมา 21 กม. เป็นอย่างยิ่ง ไม่ต้องคิดถึงกลุ่มที่วิ่งมาแล้ว 42.195 กม. ผมมุ่งหน้าไปรับกระเป๋า น้ำเพียงหนึ่งแก้วที่รับมาได้จากการต่อแถวยาว ๆ หมดไปนานแล้ว ผมเดินตรงไปจนสุดทาง หาสนามหญ้าที่มุมเลี้ยวที่นักวิ่งที่เหลือทุกคนจะต้องวิ่งผ่าน ผมนั่งลงอย่างหมดแรง ตามองที่ผลไม้แจก พร้อมกับเบอร์เกอร์ ในใจได้แต่คิดว่าแล้วเราจะกระเดือกมันลงไปได้อย่างไร ในเมื่อไม่มีน้ำให้กิน ผมคว้าแอปเปิ้ลในถุง กัดทันทีเพื่อประทังความกระหาย effect ของบริการนวดแถมขายประกัน รวมไปถึงสปอนเซอร์น้ำมันมวย ค่อย ๆ หายไป ความปวดเมื่อยกลับคืนมา ผมได้แต่นั่งรอเวลาให้เพื่อน ๆ ที่ชวน ๆ กันมาวิ่งระยะทางต่าง ๆ กันมารวมตัวกันเพื่อชักภาพประวัติศาสตร์วันนี้ไว้ ก่อนจะแยกย้ายกันกลับบ้านไปพักผ่อน