ผมเคยให้สัมภาษณ์หลายครั้งแล้วว่าทางออกของหลาย ๆ ปัญหาสิ่งแวดล้อมในเวลานี้ สามารถเริ่มต้นและลงท้ายด้วยคำว่า “ZeroWaste” แต่หลายคนเมื่อได้ยินคำนี้ก็เดินหนีทันทีอาจจะเพราะเกรงกลัวคำว่า Zero หรือ หมายเลขศูนย์ หรือ อาจจะติดกับภาพจำของ YouTuber หรือ Bloggler หลายคนที่จุดประกายความสนใจในคำคำนี้ด้วยการดำเนินชีวิตไปในทางสุดโต่ง เพื่อทดสอบว่าตนเองจะสามารถลดขยะได้มากน้อยเพียงใดหากตั้งใจจริง ซึ่งความตั้งใจเหล่านั้น น่ายกย่อง และ น่าประทับใจมาก ๆ หลายคนสร้างขยะเพียงขวดโหลเล็ก ๆ ในช่วงระยะเวลาหลาย ๆ เดือน หรือ แม้กระทั่งเป็นปี แม้ว่าสิ่งที่สื่อสารออกมาจะบอกว่า การใช้ชีวิต ZeroWaste และการสร้างขยะน้อยมาก ๆ มีความเป็นไปได้สูง เพียงแค่ตั้งใจเท่านั้น แต่ภาพของปริมาณขยะอันน้อยนิด หรือ ตัวเลขศูนย์ ทำให้หลาย ๆ คน เมื่อได้ยินคำว่า ZeroWaste สมองจะไม่ยอมรับข้อมูลใด ๆ อีก ใจคิดเพียงว่าเป็นไปไม่ได้

ครอบครัวของผมเองได้ทดลองชีวิต ZeroWaste มาได้ประมาณ 4 ปีล่วงมาแล้วน่าจะได้ จากครอบครัวปกติที่สร้างขยะ ไม่ได้น้อยเลย เกือบ 1.5 kg ต่อหัวต่อวัน จนเหลือเพียง 20 กรัมต่อคนต่อวัน ภายในเวลาประมาณ 1 ปี โดยใช้เครื่องมือต่าง ๆ ทั้งถูกและแพง หลากหลาย ก่อนที่จะค่อย ๆ ขยายความคำ ๆ นี้ออกไปในกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยเครื่องมือต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดร้าน ZeroWaste Pattani ไปเรื่อยจนถึงการพัฒนาคอนเซ็ปท์ของ ZeroWaste Events รวมถึงเนื้อหาของ ZeroWaste Camping ที่ค่อย ๆ ปรับปรุงมาจนเป็นครั้งที่ 7 เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ภาพของกิจกรรมได้ถูกถ่ายทอดหลายครั้งตั้งแต่ครั้งที่ 5 ครั้งที่ 6 ไปจนครั้งที่ 7 ในรายการคนค้นคน แม้ว่าในรายการไม่ได้เน้นสื่อสารเรื่อง ZeroWaste แต่ฉายแสงไปที่ความร่วมมือของกลุ่มต่าง ๆ ในพื้นที่ในการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับชุมชน แต่ก็หลีกเลี่ยงเส้นเรื่องกลางของกิจกรรมที่เราทำเป็น ZeroWaste ไม่พ้น
ในการศึกษาชนิดของขยะของประเทศไทยพบว่า สัดส่วนของขยะที่จัดเป็นสี่ประเภทให้คัดแยกนั้นประกอบไปด้วยขยะอินทรีย์ 60% ขยะรีไซเคิล 30% ขยะอันตราย 3% และขยะทั่วไปเพียง 7% ซึ่งแสดงให้เห็นว่าในชีวิตจริง ๆ ของเรานั้น มีขยะเพียง 10% (ขยะอันตราย และขยะทั่วไป) ที่จัดการเองไม่ได้ หากเราอ้างถึงข้อกำหนดของ Zerowaste International Alliance ที่กำหนดไว้ว่า หากเราสามารถจัดการขยะของตนเองได้ 90% หรือ มีขยะที่ไม่สามารถจัดการได้เพียง 10% เราจะสามารถใช้คำว่า ZeroWaste ในการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ได้ทันที ไม่ว่าจะเป็น ZeroWaste Family, ZeroWaste Community, ZeroWaste Event, ZeroWaste Village, ZeroWaste Province หรือแม้กระทั่งกรณีนี้ ZeroWaste Country เพียงแค่เราแยกขยะ 4 ประเภทนี้ให้ได้ และ ล้างขยะรีไซเคิลให้สะอาด เพื่อแยกขยะรีไซเคิลออกจากขยะทั่วไปที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ เพราะไม่มีเทคโนโลยี ไม่ใช่เพียงเพราะสกปรก ถามว่าต้องใช้เทคโนโลยีมั้ยก็จะเห็นว่าเราไม่ได้ต้องการเทคโนโลยีใด ๆ เลยในการไปสู่คำว่า ZeroWaste

อย่างไรก็ตาม การล้างขยะทั่วไปให้สะอาด เพื่อให้มันกลับมาเป็นขยะรีไซเคิลให้ได้นั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะจูงใจคนให้ทำได้ง่ายนัก เมื่อเทียบกับการชักชวนให้คนช่วยกันแยกขยะ ในกิจกรรม ZeroWaste Camping ที่เป็นงานที่รวมบุคคลที่ทุ่มเทกับการแยกขยะ และการใช้ชีวิต ZeroWaste มาร่วมกันนั้น เรามีสถิติในการล้างขยะทั่วไปให้กลายเป็นขยะรีไซเคิลได้เพียง 5-10% เท่านั้น หมายความว่า ถ้าบรรจุภัณฑ์ใด ที่ถูกออกแบบให้เป็นขยะทั่วไป แนวโน้มของการที่มันจะลงท้ายเป็นขยะทั่วไปนั้นสูงถึง 90-95% เลยทีเดียว บรรจุภัณฑ์เหล่านี้ ได้แก่ ถุงแกง กล่องพลาสติกบรรจุอาหาร หรือ แก้วพลาสติกใช้แล้วทิ้ง ดังนั้นเราพบว่าเรามีโอกาสสร้าง ZeroWaste ได้ง่ายกว่า หากเรามีการเตรียมตัวเบื้องต้นเล็กน้อยเพื่อที่จะลดขยะจำพวกนี้ตั้งแต่เริ่มต้น

การลดขยะตั้งแต่ต้นทางนั้น พูดเหมือนง่าย แต่การกระทำนั้นไม่ได้ง่ายนัก เพราะเป็นเรื่องของการเปลี่ยนพฤติกรรม เปลี่ยนสิ่งที่ติดตัวมาเป็นเวลานาน จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ เครื่องมือ หรือแม้กระทั่ง community มาช่วยสร้างพฤติกรรมที่เหมาะสมให้เกิดขึ้นจนท้ายที่สุดกลายเป็นธรรมชาติ และกลายเป็นอะไรที่ง่ายเหมือนไม่ต้องเปลี่ยนแปลงใด ๆ เราใช้การ camping มาเป็น simulation ของการใช้ชีวิตร่วมกัน การดำเนินชีวิตจริง ๆ 3 วัน 2 คืน มีอาหาร 5 มื้อ อาบน้ำแต่งตัว 4 รอบ ที่หากเราจะลองกำหนดกติกาในการใช้ชีวิต ZeroWaste เราจะได้พัฒนากระบวนการในการดำเนินชีวิตให้สร้างขยะที่จัดการไม่ได้ หรือ ขยะทั่วไปนั้นให้น้อยลง เราทำสถิติของการอยู่ร่วมกันเช่นนี้ไว้เพียง 2 ครั้ง ในการ camping ครั้งที่ 6 และครั้งที่ 7 ครั้งที่ 6 พบว่าเราสร้างขยะเพียง 40 กรัมต่อคนต่อวัน และครั้งที่ 7 ลดเหลือเพียง 33 กรัมต่อคนต่อวันเท่านั้น จากประชาชนคนธรรมดาที่สร้างขยะประจำวันอยู่ที่ 1.3 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน นั่นแสดงให้เห็นว่าชีวิต ZeroWaste นั้นสามารถเกิดขึ้นได้ในทันที ขอเพียงมีการปรับพฤติกรรมเพียงเล็กน้อย และ แยกขยะให้ได้เท่านั้น
ในทุกครั้งที่เราพูดถึงการแยกขยะ จะต้องถูกตั้งคำถามเสมอเรื่องที่หลายคนเคยแอบเห็นรถขยะเขาเทถุงรวมกันที่ท้ายรถ แม้ว่าจริง ๆ แล้วนั่นเป็นกระบวนการที่ชาวเก็บขยะเขาใช้เพื่อแยกขยะรีไซเคิลให้ละเอียดและถูกต้องยิ่งขึ้น ถ้าจะสังเกตุดี ๆ จะพบว่าท้ายรถทุกคันจะมีถุงแยกขยะห้อยไว้เตรียมแยกขยะเหล่านี้ให้แม่นยำ แม้ว่าเรื่องนี้จะเป็นความจริงมากน้อยแค่ไหนก็ตาม จากข้อมี Waste Audit เราจะพบว่าเรื่องสำคัญของการแยกขยะนั้น ไม่ได้อยู่ในประเด็นที่สังคมพยายามพูดถึงกันเลย ไม่ว่าจะแยกประเภทของเหล็ก พลาสติก กระดาษ อลูมิเนียม หรือ กล่องนม เพราะปริมาณขยะรีไซเคิลเหล่านี้ รวมกันมีปริมาณเพียง 30% ดังนั้นประเด็นของการแยกขยะคือ การแยกจัดการขยะอินทรีย์เป็นสำคัญ ไม่ว่าบ้านใดจะแยกขยะรีไซเคิลเป็น 20-30 ประเภท หากมีการรวมขยะอินทรีย์เข้ากับขยะทั่วไปนั่นถือว่าสอบตก เพราะขยะที่จัดการได้จะมีเพียง 33% (รวมขยะอันตราย) และขยะทั่วไปจะกลายเป็น 67% (รวมอินทรีย์กับขยะทั่วไปเข้าด้วยกัน) เมื่อเป็นเช่นนี้ การสื่อสารเรื่องการแยกขยะโดยมุ่งเน้น เรื่องการเพิ่มรายได้นั้นจริง ๆ แล้ว ผิดทั้งหมด หากไม่สามารถจัดการขยะอินทรีย์ให้ได้เสียก่อน

ข้อมูลจากการทำ ZeroWaste Camping 2 ครั้งสุดท้าย เราพบว่าเมื่อทำการ Waste Audit สัดส่วนของขยะจะเปลี่ยนไปดังนี้
ครั้งที่ 6 สร้างขยะ 40 กรัมต่อคนต่อวัน
- ขยะอินทรีย์ 31.6%
- ขยะรีไซเคิล 20.8%
- ขยะทั่วไป 47%
ครั้งที่ 7 สร้างขยะ 33 กรัมต่อคนต่อวัน
- ขยะอินทรีย์ 60%
- ขยะรีไซเคิล 5.3%
- ขยะทั่วไป 34.5%

ความแตกต่างของครั้งที่ 6 และ 7 มีดังนี้ ในครั้งที่ 7 มีการสื่อสารที่ชัดเจนมากขึ้นในขยะจำพวกกระดาษ และทิชชู่ ซึ่งเป็นขยะอินทรีย์ที่ย่อยสลายได้ ทำให้ขยะเหล่านี้ย้ายจากขยะทั่วไปไปลงที่ขยะอินทรีย์ ถือว่าแยกขยะถูกต้องขึ้น และครั้งที่ 7 เราทำการทดลองให้มีตลาดเล็ก ๆ เกิดขึ้น คือ มีร้านอาหาร มีบริการอาหารในบางมื้อ และมีร้านน้ำโดยทั้งสองบริการนั้นให้บริการในรูปแบบ ZeroWaste รวมถึงการสื่อสารที่ชัดเจนมากขึ้นในกระบวนการ ZeroWaste ทำให้ขยะทั้งเป็นขยะรีไซเคิลเกิดขึ้นน้อย ปริมาณขยะทั่วไปลดน้อยลง และเชื่อว่าหากมีการล้างขยะเหล่านี้จะสามารถรีไซเคิลได้แทบทั้งหมด

การสร้างสถานการณ์การใช้ชีวิต 3 วัน 2 คืนใน camp นั้น ไม่ได้แตกต่างจากสิ่งที่ผมเรียนรู้จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของครอบครัวของเรา เริ่มต้นจากการจัดการขยะอินทรีย์ ที่ใช้ตั้งแต่กรีนโคน หรือ ถังขยะไม่มีวันเต็ม ใส่ขยะอินทรีย์ทุกอย่าง เพิ่ม Aerobin เพื่อกำจัดขยะเปลือกผลไม้ และผัก ได้ปุ๋ยน้ำ และปุ๋ยหมัก และไปปิดท้ายที่ถัง Oklin ที่กำจัดขยะทุกประเภทได้ และได้ปุ๋ยหมักคืนมา ถือว่าเป็นระบบที่ redundant เพราะผมมองว่าขยะอินทรีย์มีปริมาณมากที่สุดต้องจัดการได้ก่อน อีกประเด็นที่สำคัญแต่อาจจะถูกมองข้ามคือ น้ำดื่ม ผมใช้ระบบต้มน้ำ ค่อย ๆ ปรับมาเป็นกรองน้ำ RO และปัจจุบันมีระบบดักน้ำจากความชื้นร่วมด้วย นั่นหมายความว่า ผมไม่มีขยะรีไซเคิลประเภทขวดนน้ำเลยในระบบ ซึ่งเราก็เลือกที่จะนำแนวคิดนี้มาใช้ในแคมป์เช่นเดียวกันด้วยการเตรียมน้ำดื่มให้ผู้ร่วมแคมป์ทำให้ลดขยะขวดน้ำได้จำนวนมาก แม้ว่าเราจะไม่ได้เอาขยะส่วนนี้มาคำนวณปริมาณขยะ เราก็ถือว่าเป็นประเด็นสำคัญ อีกสองเรื่องราวที่เหลือคือ การใช้ภาชนะใช้ซ้ำที่เราชวนคนมาใช้กันตั้งแต่การทำร้าน ZeroWaste Pattani เริ่มต้นที่กระบอกน้ำ ถุงผ้าของ Trash Hero และอื่น ๆ ชวนคนมาปรุงอาหารด้วยไฟ การใช้ไฟทำให้กระบวนการเตรียมอาหารเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น ไม่ได้ดูลำบาก และช่วยลดการเตรียมอาหารแคมป์ในจำพวกอาหารกึ่งสำเร็จรูปที่มาพร้อมกับขยะพลาสติกจำนวนมากได้

ในอนาคตทางองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ชวนทีม Trash Hero Pattani เข้าไปคุยเรื่องจัดการขยะ ซึ่งแน่นอนว่า เราก็ต้องชักชวนให้มีการตั้งเป้าหมายไปที่คำว่า ZeroWaste เสียก่อน และจัดการขยะอินทรีย์เป็นลำดับแรก แยกขยะรีไซเคิล ส่งเสริมด้วยระบบการเงิน ทั้งการแยกขายขยะรีไซเคิล และการคิดค่าขยะตามปริมาณจริง เพราะผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าทันทีที่เราทำครบตามนี้ ท้องถิ่นของเราจะกลายเป็น ZeroWaste ไปในทันที