Brooks Cambium Grueling Test

เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (17 พย 2013) เป็นการปั่นในระยะทางที่ไกลที่สุดในชีวิตของผมในรายการ Samila Century Ride 2013 ซึ่งเดิมกำหนดเอาไว้ที่ระยะทาง 160km (100 miles:century) แต่ด้วยปัญหาทางเทคนิคของผู้จัดทำให้จำเป็นต้องย้ายจุด start และลดระยะทางแข่งขันเหลือเพียง 145km ผมเตรียมตัวสำหรับงานนี้ด้วยการปั่นยาว 110km สองครั้งประมาณเกือบ ๆ เดือนก่อนหน้า นอกเหนือจากนั้นก็เป็นการซ้อมปกติ 40-60km สัปดาห์ละประมาณ 2-3 ครั้ง รวมวันปั่นยาว 75-90km ในช่วงเวลาปกติ จริง ๆ แล้วในวันปั่นยาวครั้งสุดท้ายผมวางแผนที่จะปั่นให้ได้ระยะ 120km แต่พอเอาเข้าจริง ๆ ความร้อน ความเหนื่อย น้ำ อาหารที่เตรียมไปไม่ค่อยเพียงพอ จึงถอดใจกลับเข้าบ้านก่อนที่จะไปวนลูปเล็ก ๆ ที่เตรียมไว้สำหรับระยะ 10km สุดท้าย นั่นหมายความว่าผมมีการเตรียมตัวมาในระดับหนึ่ง แต่ไม่ได้ถึงกับพร้อมมากมายนัก

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ทำให้งานนี้สนุกอย่างบอกไม่ถูกก็คือความ spontanious ของการจัดการของผม ก่อนหน้าวัน แข่งขันประมาณไม่กี่สัปดาห์ อานจักรยานของบรูคส์รุ่นที่ผมติดตามข่าวมาเป็นเวลานานก็เข้ามาประเทศไทย ด้วยราคาที่แม้ว่าจะแพงกว่าอานอื่น ๆ แต่ก็ถูกกว่ารุ่น limited edition ที่ขายที่เวปของบรูคส์เขาพอสมควร เนื่องจากวัสดุที่ใช้เป็นยางธรรมชาติและผ้าฝ้าย ในฐานะที่ผมเป็นนักวิจัยเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ยางและรักงานที่เกี่ยวกับรีไซเคิล หรือ green product ผมจึงตัดสินใจซื้ออานบรูคส์ C17 Cambiumโดยใช้ข้ออ้างว่าเพื่อการวิจัย ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์บรูคส์ชิ้นแรกในชีวิตผม การใช้ยางและผ้าฝ้ายในอานจักรยานไม่ใช่เรื่องใหม่ และเคยเกิดขึ้นแล้วตั้งแต่ปี 1930’s นี่คือการเกิดใหม่ของวัสดุธรรมชาติ ในกระแสสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เช่นเดียวกันที่เกิดขึ้นกับที่นอนยางพาราเมื่อ 8 ปีที่ผ่านมาก แม้ว่าผมจะไม่เคยซื้ออุปกรณ์จักรยานชิ้นใดเลยถ้าชิ้นเดิมไม่พังจนใช้งานไม่ได้ นี่จึงเป็นอะไหล่ครั้งแรกในรอบยี่สิบปีที่ผมจัดให้จักรยานของผมโดยที่ของเก่ายังใช้งานได้อยู่ (แม้ว่าผมจะไม่ค่อยพอใจคุณภาพของมันก็ตาม) ผมจัดเข้าแคมเบี่ยมตัวนี้เข้ากับจักรยานคู่ชีวิตของผมที่ใช้มาตั้งแต่สมัยยังหนุ่ม บรูคส์ควรค่ากับเฟรมคลาสสิค ลุคแบบคลาสสิค แบบ Formigli Classic Replica เช่นเดียวกับวิธีการนำเสนอสินค้าทั้งผ่านหน้าเวปของเขาและ packaging ที่มาพร้อมกับอานราคาแพงอันนี้ แน่นอนว่า unpack experience เพียงอย่างเดียวก็แทบจะคุ้มราคาของเจ้าอานตัวนี้ซะแล้ว อย่างไรก็ตามถ้าไม่ได้มีการทดสอบอย่างจริง ๆ จัง ๆ ประวัติศาสตร์ เพียงอย่างเดียว มันอาจจะไม่ค่อยคู่ควรกับจักรยานเมื่อระยะและสไตล์การปั่นของผมอาจจะค่อนข้างแตกต่างจากลูกค้าบรูคส์ในปัจจุบันอยู่มาก แม้ว่าเจ้าแคมเบี่ยมจะเพิ่งได้รางวัล Gold Award มาจากงาน Eurobike 2013 รางวัลที่ถือว่าสูงที่สุดของปีสำหรับอะไหล่จักรยาน
1414910_752878921395862_1526835174_n

ผมนอนคิดอยู่หลายคืน ก่อนที่จะเลือกที่จะใช้ Formigli Classic เฟรมเหล็กพร้อมบรูคส์ เพื่อทดสอบประสิทธิภาพของอาน ในขณะเดียวกันทดสอบกำลังกายของผมเองกับระยะ 160km ที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อนเลยในชีวิต นอกจากเฟรมนี้จะใส่กระติกน้ำได้เพียงอันเดียวแล้ว เฟรมที่มีน้ำหนักมากที่สุดในบรรดาจักรยานทั้งหมดของผม ร่วมกับอานที่ไม่คุ้นเคยมาก่อนมันเป็นการตัดสินใจที่ดีแล้วหรือไม่ ผมจึงนำคันนี้ออกไปปั่นซ้อมเบา ๆ ระยะ 40km เพื่อสร้างความคุ้นเคยกับสิ่งใหม่ ๆ เวลาชั่วโมงเศษ ๆ บนอาน บนถนนราดยางเรียบ ๆ เจ้าแคมเบียมแสดงความสามารถได้เป็นอย่างดี วัสดุยางธรรมชาติเสริมแรงด้วยผ้าฝ้ายนั้น มีการให้ตัวได้ มีความสามารถในการดูดซับแรงกระแทก ซึ่งเป็นสมบัติหลักของยาง เมื่อร่วมกับความนุ่มของเฟรมเหล็ก ผมจึงมั่นใจขึ้นมากว่าคันนี้แม้ว่าจะหนักกว่า แต่เจ้าแคมเบี่ยมบนเฟรมเหล็กนั้นน่าจะให้ประสบการณ์ครั้งแรกของชีวิตของผมนี้น่าจดจำได้โดยไม่ยาก

ผมรู้สึกเสียดายเล็กน้อยเมื่อทราบ 1 วันก่อนการแข่งขันว่าระยะทางต้องลดลงเหลือ 145km และมีการเปลี่ยนจุด start แต่ผมพยายามไม่คิดถึงมันมากนัก การวอร์มอัปหรือวอร์มดาวน์สัก 15กม. ก็จะทำให้ผมแตะ century แรกของชีวิตได้โดยง่าย อีกทั้งจุด start ใหม่ก็เป็นรีสอร์ทที่เป็นจุดเริ่มต้นของการแข่งขัน O2O เมื่อปีที่แล้วในช่วงเวลาใกล้ ๆ กันนี้ ไปรำลึกความหลังบ้างคงมีความสุขดี และจะเป็นการฉลองวันเกิดครบหนึ่งเดือนของฮารุ ลูกสาวคนล่าสุดของผม ด้วยทริปแรกระยะทางเบา ๆ ร้อยกว่ากิโลเมตรจากบ้านของเราที่ปัตตานี ผมมาถึงโรงแรมพร้อมกับตรวจสอบความพร้อมของจักรยาน ด้วยการสูบลมทั้งสองล้อให้เต็มที่ 150psi ตามที่ระบุข้าง ๆ ยาง Vittoria เนื่องจากฝ่ายเทคนิคของรายการมาเตือนเรื่องความขรุขระของถนนที่ต้องปั่นในวันพรุ่งนี้ แต่แล้วผมก็พบว่าถ้วยคอของผมมันหลวม มีอาการตะเกียบโยกเล็กน้อยเมื่อทดสอบด้วยเบรค ผมอยากจะเตะก้นตัวเองเสียจริง ๆ เพราะก่อนเดินทางผมขี้เกียจยกกล่องเครื่องมือขึ้นรถด้วยเหตุผลเพียงว่าเราไปแค่วันเดียว (แล้วมันเกี่ยวอะไรหว่า) ด้วยความขี้เกียจขอความช่วยเหลือ ผมจึงใช้สองมือของผมบิดสุดแรงแล้วก็ได้แต่หวังว่าพรุ่งนี้มันคงจะไม่คลายระหว่างปั่น

1461986_750369068313514_972463135_n

ผมเตรียมเรื่องการ refuel ระหว่างการแข่งขันนี้เป็นพิเศษ เพราะนี่เป็นทักษะหลักที่ผมต้องการฝึกซ้อมมากกว่าที่จะต้องการ cover century distance ครั้งแรกของชีวิต ผมวางแผนที่จะใช้ Power Gel ประมาณชั่วโมงละ 2 ซองเพื่อให้ได้พลังงาน 200 คาลอรี่ในทุก ๆ ชั่วโมง แต่ในสองชั่วโมงแรกผมเลือกที่จะทานอาหารเช้าเข้าไปเป็นพลังงาน ผมจึงพกเจลไว้ 8 ซองสำหรับระยะเวลาประมาณ 5 ชั่วโมง เนื่องจากผู้จัดเล็ก ๆ ส่วนใหญ่จะมีปัญหาเรื่องจุดให้น้ำ และเฟรมของผมใส่กระติกได้เพียงอันเดียว ผมจึงพกกระติกน้ำอีกสองกระติกที่กระเป๋าเสื้อ รวมเป็นทั้งหมด 3 กระติก เป็น Gatorade 2.5 ลิตรโดยประมาณ ถ้าผมสามารถกินน้ำได้ ชั่วโมงละลิตรตามที่ตั้งใจ จุดให้น้ำประมาณ 3 จุดที่จะมีน่าจะเพียงพอสำหรับการแข่งขันนี้อย่างแน่นอน ผมเลือกใช้กางเกงจักรยานแบบเอี๊ยมที่ลดปัญหาขอบกางเกงที่น่ารำคาญ และใช้เสื้อทีม V40 รุ่น  laser cut หลังจากพบว่ามันสบายรักแร้กว่าเมื่อปั่นยาว ๆ และระยะหลัง ๆ ผมมักจะใส่ปลอกแขนทุกครั้ง ไม่ใช่เพราะว่ากลัวแดดแต่รู้สึกว่ามันใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง และไม่ได้ร้อนอย่างที่เคยกังวล ผมยังใช้รองเท้าไตรกีฬาแบบไม่ใส่ถุงเท้าเพื่อความคุ้นเคยเมื่อใช้ในการแข่งไตรกีฬารายการยาว ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น อีกทั้งใส่ head gear รัดศีรษะป้องกันเหงื่อไหลเข้าตา ซึ่งเป็นปัญหาหลักของคนหัวไม่มีผมอย่างผมเอง

คืนก่อนแข่งฝนลงอย่างหนัก ต่อเนื่องมาถึงเช้าวันแข่ง แต่ผุ้จัดสามารถดำเนินรายการได้อย่างดี และสามารถปล่อยตัวได้ตามหมายกำหนดการ นักปั่นส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติจากมาเลย์เซีย และสิงคโปร์ แม้กระทั่งญี่ปุ่น หรือชาวยุโรป คนไทยจะมีกลุ่มจากสุราษฏร์ ปัตตานี นครศรีธรรมราช ยะลา นราธิวาส รวมไปถึงสงขลาเจ้าถิ่นจังหวัดละไม่กี่คน มีนักปั่นคนไทยหลายคนยกเลิกเนื่องจากมีปากเสียงกับผุ้จัดเกี่ยวเนื่องจากจุดประสงค์หลักของการจัดนี้เป็นเพื่อโปรโมทการท่องเที่ยวเชิงกีฬาให้กับต่างชาติ มากกว่าเพื่อเป็นการแข่งขันเพื่อหาผุ้ชนะของรายการ แม้ว่าทางผุ้จัดจะมีโล่รางวัลให้กับ 5 อันดับแรกของกลุ่มอายุก็ตาม แม้ว่ารายการนี้จะเป็นการแข่งขันกระชับมิตร เมื่อเสือหมอบแต่งสุด ๆ ร่วมสองร้อยกว่าคันมาอยุ่รวมกัน แล้วถูกปล่อยให้ปั่นไปบนถนนโดยมีรถยนต์นำทาง และมอเตอร์ไซค์ขนาบข้างคอยเคลียร์เส้นทางให้ peloton ก็เร่งความเร็วอย่างรวดเร็วไประดับ 40+km/hr ในสภาวะฝนตกหนัก คนแก่อย่างผมไม่สามารถเร่งความเร็วอย่างรวดเร็วแบบนั้นได้ ผ่านไปกว่า 10 กม. กว่าผมจะสามารถตามทันและซุกเข้าด้านใน peloton เพื่อพักเหนื่อยได้ ไม่ทันไรผมก็พบสิ่งผิดปกติที่ก้ามเบรคซ้ายของผมที่ดูเหมือนว่าจะมีอาการให้ตัวได้เล็กน้อย และดูเหมือนว่าจะมีการเลื่อนตำแหน่งไหลต่ำลงไปเล็กน้อย เพราะฝนที่ตกหนัก ร่วมกับการเร่งอย่างหนักหน่วงในช่วงแรกอาจทำให้น็อตเกิดการคลายตัว ผมเริ่มกังวลเพราะในรายการที่ผ่านมาก็เกิดเหตุการณ์คล้ายกันนี้กับ Cannondale ที่สุดท้ายแล้ว ทำให้ผมต้องเข้าเส้นชัยเกือบเป็นคนสุดท้าย ผมจึงค่อย ๆ เลี่ยงการจับมือในตำแหน่ง hood มาจัดด้านหลัง หรือ ตำแหน่ง drop บ้าง

ฝนมีแต่จะหนักขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นผลจากพายุที่เกือบจะพัฒนาเป็น depression กำลังขึ้นฝั่งในบริเวณที่เราแข่งขันพอดี แว่นตาสีดำเข้มของผมทำให้ผมมองอะไรไม่ค่อยเห็น แต่ฝนเม็ดใหญ่ สายน้ำพุ่งเป็นสายจากล้อหลังของจักรยานคันหน้าที่ผมจำเป็นต้องซุกเข้าไปใน slip stream เพื่อให้การคงความเร็ว 40+ นี้ไม่ทำให้หัวใจผมระเบิดเสียก่อน แต่แล้วสิ่งที่ผมคาดว่าจะเกิดก็เกิดขึ้น อุบัติเหตุใน peloton ที่ความเร็วนี้ สภาพอากาศและถนนเช่นนี้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากจริง ๆ ความสามารถในการมองเห็นที่จำกัด นักปั่นถูกให้เลือกระหว่างใส่แว่นที่ทำให้การรับภาพจำกัดเนื่องจากความมืด หรือถอดแว่นเพื่อรับภาพแต่เสี่ยงกับการรับภาพที่จำกัดจากการที่ต้องคอยจัดการกับน้ำที่ไหลและกระเด็นเข้าตา รวมไปถึงความเสี่ยงจากการที่ฝุ่นผงจะกระเด็นเข้าตา ส่วนผมนั้นไม่มีทางเลือกเนื่องจากสายตาที่ค่อนข้างจะสั้น ความมืดเป็นอุปสรรคใหญ่หลวง ร่วมกับสายน้ำพาเอาเหงื่อเข้าตาผมตลอดเวลาจนต้องถอดแว่นให้สายฝนคอยชะเหงื่อเค็ม ๆ ออกจากบริเวณรอบตา และแล้วอุบัติเหตุครั้งที่สองเกิดก็กับคันที่ปั่นข้าง ๆ ผม เมื่อ peloton ชะลอความเร็วกระทันหันเพื่อเลี้ยว ผมเห็นล้อหลังสะบัด จักรยานที่ตามมาเสยเข้ากลางลำ ที่เหลือผมต้องเดาภาพที่ชินตาจากการดูการแข่งขันจักรยานหลาย ๆ ครั้ง peloton แบ่งออกเป็นสองส่วนหลังจากนั้น

1422904_756632827687138_1966155060_n

เมื่อเลี้ยวเข้าถนนสายรอง ปัญหาใหม่ก็ตามมา ถนนขรุขระที่ฝ่ายจัดพูดถึงมันคือ pot hole ขนาดหน้ากว้างล้อรถยนต์ ที่มีเป็นจำนวนมาก ในเวลานี้นักปั่นต้องใช้ทุกสิ่งทุกอย่างที่ตัวเองมีเพื่อที่จะเกาะติดใน slip stream ของคันหน้า ปั่นฝ่าสายฝน หลบ pot hole มรณะที่มองไม่เห็นจากมุมมองแคบ ๆ ประมาณตูดคันหน้า ร่วมกับน้ำเจิ่งนองที่ปกปิด ความผิดปกติของพื้นผิวถนน นี่คือภาวะที่อันตรายมาก ๆ ในความคิดของผม เมื่อคิดถึงรายการไตรกีฬารายการใหญ่ที่ผมจะเข้าแข่งขันในอีกสองสัปดาห์ข้างหน้า และตำแหน่งมือจับของผมที่ค่อนข้างเสี่ยงเพราะห่างจากตำแหน่งเบรคกว่าที่ควรจะเป็นเพราะกลัวก้ามเบรคไหล และต้องมาใช้ตำแหน่ง drop หลายครั้งเพื่อเบรค แต่จะเสียมุมมองที่อาจจะทำให้ไหวตัวไม่ทันเมื่อจำเป็น ผมจึงตัดสินใจถอยออกมาอยู่ท้าย ๆ ของ peloton ซึ่งพบว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะเกาะในตำแหน่งนี้เป็นระยะเวลานาน ๆ หัวใจผมเริ่มพุ่งขึ้นเข้าใกล้ threshold ก่อนที่จะเริ่มหลุดในท้ายที่สุดที่ระยะทางประมาณ 50km ผมยังห่างจากกลุ่มที่สองอยุ่มาก ทำให้ต้องปั่นคนเดียวอยู่สักพักก่อนที่เพื่อนนักปั่นอีกคนจะหลุดจากกลุ่มลงมาอีกหนึ่งคน

ในช่วงเริ่มต้นที่มีการขับเคี่ยวกันอย่างเมามันส์ ผมไม่มีโอกาสได้สังเกตุประสิทธิภาพของเจ้าแคมเบี่ยมมากนัก นอกจากความสามารถในการดุซับแรงที่ได้เล่าให้ฟังไปแล้ว ซึ่งทำให้การปั่นนุ่มกว่าคันอื่น ๆ ของผมที่เป็นเฟรมคาร์บอน และอลูฯ โดยตัวเฟรมแล้วเหล็กมีความนุ่มกว่ามาก แต่ผมก็ยังรู้สึกได้ว่าความนุ่มนวล และการดูดซับแรงส่วนหนึ่งมาจากอานยางตัวนี้ C17 ไม่ใช่ทรงแข่งขัน ซึ่งจะมีท้ายอานที่ค่อนข้างกว้างกว่าซึ่งบางกรณีอาจจะทำให้ไม่สะดวกในการเลื่อนตัวหน้าหลังที่อาจจะต้องมีบ้างในกรณีที่จำเป็นต้องถ่ายน้ำหนักเพื่อช่วยในการเบรคในกรณีที่มีความเสี่ยงเหมือนวันนี้ ผมทำอยู่หลาย ๆ ครั้ง ก็ไม่พบปัญหาอะไรมากนัก ปัญหาที่มีคนอื่นเคยรีวิวร์ว่าตัวผิวอานค่อนข้างฝืดกลับเป็นผลดีในกรณีที่ต้องมีการขยับก้นแทบจะตลอดเวลาเนื่องจากการปั่นที่กระชั้น ในสภาวะฝนตกหนักที่ความเร็วสูง เพราะสัมผัสที่รับได้ระหว่างก้น หว่างขากับตัวอานดีขึ้นมาก ผมเคยพบปัญหานี้กับอานมาตรฐานที่หุ้มหนังเทียมสีดำ ที่ฝนตกทำให้ความลื่นส่งข้อมูลผิด ๆ จนไม่แน่ใจตำแหน่งของอานและต้องยืนเป็นส่วนมากเมื่ออยู่กลาง peloton กลางสายฝน

ผมลดความเร็วเหลือประมาณ 32-35km/hr เพื่อคุม HR ให้อยุ่ระดับ 160 ซึ่งเป็นระดับ Tempo และน่าจะทำให้ผมยืนความเร็วประมาณนี้ได้จนจบการแข่งขัน เราสองคนเริ่มบ่น ๆ ว่าปั่นแค่สองคนในระยะ 100Km ที่เหลือน่าจะเหนื่อยพอดู ผมเปรย ๆ ไปว่าถ้ายางไม่แตก ก็ถือว่าโอเคแล้ว ถนนแบบนี้ เสี่ยงมาก ๆ และเราก็เริ่มเห็นนักปั่นยางแตกกันทีละคน ๆ  ในที่สุดก็ถึงคิวผมที่ต้องยางแตกเช่นเดียวกัน เพื่อนร่วมทางขอตัวไปก่อน ผมเข้าข้างทางถอดล้อออกเพื่อเปลี่ยนยาง พบว่ามีหินเสี้ยวเล็ก ๆ ฝังเข้าไป เก่าจะออกได้ต้องเอายากนอกมาบิดออก และผมก็พบข้อเสียของเจ้าอานตัวนี้ เนื่องจากยางเป็นวัสดุที่มีความยืดหยุ่น ผ้าฝ้ายที่หุ้มผิวหน้าจริง ๆ แล้วจะมีหน้าที่หลักสองอย่าง ในขณะที่คนส่วนใหญ่อาจจะคิดว่าเพื่อความสวยงาม และการเติมสีสันให้กับตัวอาน แต่หน้าที่เชิงวิศวกรรมที่สำคัญคือการช่วยเสริมความแข็งแรงให้กับแผ่นยาง เพิ่มความสามารถในการรับแรง และจำกัดการยืดหยุ่นของตัววัสดุยางให้เหมาะสม เมื่อเป็นเช่นนี้ ชั้นผ้าชั้นนี้มีความสำคัญมากกว่าความสวยงาม ผมจึงไม่กล้าที่จะคว่ำตัวจักรยานให้อานสัมผัสพื้น ตามที่หลาย ๆ คนชอบใช้เมื่อเปลี่ยนยาง หรือแม้กระทั่งการเอนจักรยานลงกับพื้นผมยังกลัวที่จะให้ขอบอานถูกกับพื้น เพราะกลัวจะกระตุ้นให้ผ้าใบมีการฉีกตัวออกจากตัวอานยาง เมื่อตัวผ้าใบมีตำหนิเมื่อไร ความแช็งแรงเชิงกลของยางเคลือบผ้าใบนั้นจะลดลงเป็นอย่างมาก ในกรณีที่เป็นสายพานแบบหุ้มผ้าใบ (wrapped V-belt) การฉีกขาดของผ้าใบหุ้มนั้นคือ death sentence ดี ๆ นี่เอง แต่ในกรณีอานตัวนี้ ไม่ได้มีการกล่าวถึงอายุการใช้งาน และความปลอดภัยในการใช้ในเอกสารใด ๆ ที่มากับตัวอานเลย แต่ประกัน 2 ปี แถมด้วย 10 years extended warranty  ก็ทำให้หายกังวลไปได้เยอะ

1418230_750369191646835_1123698223_n

ผมใช้เวลาเปลี่ยนยางประมาณ 20 นาที นานพอที่จะทำให้ peloton กลุ่มที่สองผ่านผมไปฉิว ๆ รวมไปถึงกลุ่มเล็ก กลุ่มน้อย อีกมากมายจนผมเริ่มรู้สึกว่าผมน่าจะหลุดเป็นคนสุดท้ายแน่ ๆ เพราะโดยส่วนมากแล้วนักกีฬาที่ยางแตกมักจะรอขึ้นรถกลับ แต่ด้วยสปิริตนักไตรกีฬาอย่างผม ที่มีค่าลงทะเบียนแพงที่สุดในบรรดากีฬาสมัครเล่นทั่วไป ยางแตกแค่นี้เราเปลี่ยนได้ และยังแข่งต่อครับ ไม่งั้นขาดทุนตายเลย ช่วงที่ลุก ๆ นั่ง ๆ ก้ม ๆ เงย ๆ ก็มีรถเก็บตกดูเหมือนว่าจะจอดรับผม ด้วยความคิดว่าปั่นคนเดียวอีก 100 km น่าจะหนักพอดู และผมอาจจะกลายเป็นคนสุดท้ายแล้วก็ได้ในตอนนี้ ผมจึงตะโกนออกไปว่า “ไปด้วยครับผม” รถชะลอตัวลงเล็กน้อย แต่ไม่แน่ใจว่าผมทำท่าทำทางอย่างไร แต่ผมไม่ได้เรียกเขาอย่างชัดเจน และคาดว่าคงเป็นชาวมาเลย์เชีย เขาจึงออกรถไป ด้วยความโล่งใจของผม ที่รู้สึกละอายที่คิดจะยอมแพ้ที่ระยะทางเพียง 1/3 เท่านั้น ผมจึงรีบเติมลม แล้วออกตัวปั่นไปเรื่อย ๆ อย่างเดียวดาย จิตใจไม่ค่อยอยู่กับเนื้อกับตัวมากนัก ในระหว่างนั้นผมเริ่มผ่านจักรยานคันแล้วคันเล่าที่ประสบชะตากรรม ยางแตก แบบผม บ้างก็กำลังเปลี่ยนยาง บ้างก็ทำท่ายืนเพื่อรอรถมาเก็บตกเพียงอย่างเดียว ผมจึงมีความมั่นใจมากขึ้นว่าผมคงไม่ใช่คนสุดท้าย อย่างน้อย ๆ ก็ต้องมีอีกหลายสิบคันที่ตัดสินใจ เปลี่ยนยางแล้วยังต้องปั่นตามผมมาเช่นกัน หลังจากนั้นผมก็เริ่มสังเกตุเห็นรถเก็บตกจำนวนมาก บ้างก็ขับผ่านผมไป บ้างก็ขับเข้าไปเก็บตกนักปั่นที่รออยู่เบื้องหน้า ผมเริ่มเห็นนักปั่นนั่งรอกันเป็นกลุ่ม ๆ มากขึ้น ในใจผมเริ่มคิดว่างานนี้ถนนโหดร้ายอย่างที่ผู้จัดเตือนมาจริง ๆ ผมได้แต่หวังว่าคงไม่มีครั้งที่สองสำหรับผมในวันนี้ เพราะถ้ามีอีกครั้งผมก็คงถอดใจ

กำลังผมค่อย ๆ กลับคืนมาอย่างรวดเร็ว ฝนเริ่มซาลง ชุดปั่นของผมเริ่มแห้งหมดแล้ว แดดยังไม่ถึงกับออกมากนัก เหลือบดู Garmin Edge ก็พบว่าพบปั่นมาได้ 80km กว่า ๆ แล้ว เลยครึ่งทางไปได้สักพักแล้ว ผมยังคงความเร็วที่  32-35 km/hr ได้อย่างสบาย ๆ แม้ว่าจะต้องปั่นตัวคนเดียว โชคดีที่ว่าหลังจากฝนในช่วงต้นรายการแล้ว ผมไม่ต้องพบกับลมกรรโชกแรง หรืออะไรอื่น ๆ ที่มาร่วมกับฝนอีกเลยตลอดทั้งการแข่งขัน แถมเส้นทางที่ผ่านมาทั้งหมดยังค่อนข้างราบเรียบ ไม่มีเนินอะไรให้ต้องออกแรงเลย ผมรู้สึกดีใจนิด ๆ ที่ผู้จัดเลือกเส้นทางเช่นนี้ แม้ว่าตลอดเส้นทางผมได้ปั่นผ่านอำเภอ หรือ หมู่บ้าน ที่ล้วนแล้วใช้ชื่อว่า “ควน” ซึ่งหมายถึงที่สูงแทบทั้งนั้น การที่ต้องพยายามใช้ drop position เป็นส่วนใหญ่ เพราะกลัวว่าการจับที่ hood position จะทำให้เบรคผมเลื่อนไปจนปั่นไม่ได้ คราวนี้ drop postion ไม่ได้สร้างปัญหาให้กับผมเลย ต้องขอบคุณการฝึกซ้อมในช่วงที่ผ่านมา ที่ผมพยายามฝึกการใช้ drop postion มากขึ้นมาก เมื่อพบว่าระหว่าง hood postion และ drop postion อาจจะทำให้เกิดความเร็วต่างกันได้สูงถึง 3 กม/ชม เลยทีเดียว การฝึก strength training โดยเฉพาะ core training เริ่มช่วยไม่ให้ผมเกิดอาการปวดหลังที่เมื่อก่อนจะเกิดที่ประมาณระยะ 80 กม. เมื่อร่างกายทั้งหมดของผมไม่สร้างปัญหา ผมกำลังอยู่ในอารมณ์ที่เรียกว่า “in the zone” ผมจึงเริ่มหันความสนใจมาที่แคมเบียม มากขึ้น

1415618_753182704698817_1663960434_n

ผมพบว่าผมมีแนวโน้มที่จะเลื่อนตัวมาด้านหน้าของอานค่อนข้างมาก ซึ่งตามคู่มือการติดตั้งของบรูคส์บอกว่าอาการเช่นนี้เกิดจากการที่ตั้งอานไปด้านหลังมากเกินไปทำให้เกิด dead spot ในการปั่นรอบขา เราจึงมีแนวโน้มที่จะเลื่อนตัวมาด้านหน้าซึ่งจะช่วยลดอาการเหล่านี้ได้ เป็นคำแนะนำการปรับตั้งที่ผมไม่ค่อยได้เคยพบเท่าไร น่าเสียดายผมไม่ได้พกอุปกรณ์อะไรมาด้วยไม่เช่นนั้นผมคงได้ปรับอานไปด้วย การปรับอานสไตล์นี้เป็นเหมือนระบบ analog เมื่อคิดว่าการวัดตำแหน่งต่าง ๆ ของร่างกาย และตำแหน่งต่าง ๆ ของบันไดอย่างอานชนิดอื่น ๆ เช่น Cobb Saddle นั้นคือระบบ digital โดยมากผมค่อนข้างชอบการ fitting ในรูปแบบนี้ เนื่องจากผมคิดว่าในที่สุดแล้วเราต้องเอาหลาย ๆ อย่างมารวมกันในการ fitting ไม่ว่าจะเป็น skeleton, muscular strength/flexibility, ride technique รวมไปถึง ภาวะความเจ็บป่วยของผู้ปั่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แทนที่จะใช้การวัดโดยไม่สนใจความรู้สึกของผู้ปั่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้ปั่นระยะยาว ๆ เช่นนี้ จะช่วยบอกอะไรได้เป็นอย่างมาก ในรายการซ้อมของผมช่วงต้นฤดูการในวันปั่นยาวจะระบุให้พกอุปกรณ์ปรับแต่งไปด้วย และแนะนำให้ปรับแต่งอานและแอโร่บาร์ ตั้งแต่ช่วงต้นฤดู ในคู่มือของบรูคส์นั้นแนะนำให้นั่งบนส่วนที่กว้างที่สุดของอาน และระบุว่าตรงปลายอานนั้นไม่ได้ออกแบบมาให้นั่งได้ เพียงแต่ว่าอานที่ไม่มีปลายอานนั้นจะทำให้บังคับรถยากขึ้น จึงมีความจำเป็นต้องมีปลายอานมาด้วย ในขณะเดียวกันก็แนะนำให้ปรับให้อานขนานพื้นหรือเชิดหัวขึ้นเล็กน้อยเพื่อป้องกันการไหลมากข้างหน้า Cobb saddle ก็แนะนำคล้าย ๆ กัน แต่เหตุผลของ Cobb Saddle นั้น การเชิดหัวขึ้นเล็กน้อยทำให้มีการถ่ายน้ำหนักลงด้านหลังมากขึ้นทำให้ลดการทดทับด้านหน้า

เมื่อระยะทางแตะ 100km ผมก็เริ่มเห็นคนถอดใจมากขึ้น มีการจอดพักเข้า 7-11 เป็นกลุ่ม ๆ เริ่มมีคนปั่นแบบถ่านหมดมากขึ้น ในขณะเดียวกันเส้นทางก็เริ่มเปลี่ยนเป็น rolling มากขึ้น เริ่มมีการใช้พลังงานในการปั่นขึ้นเนินเตี้ย ๆ ซึม ๆ เป็นช่วง ๆ ช่วงของการทดสอบอานอย่างแท้จริงเริ่มปรากฏ แม้ว่าผมจะพยายามบังคับให้ตัวเองกินเจลทุก ๆ ครึ่งชั่วโมง แต่เนื่องจากฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก อากาศที่ค่อนข้างเย็นขมุกขมัว ผมไม่สามารถกินน้ำได้มากตามแผนที่วางไว้ เวลาผ่านไปเกินกว่าสามชั่วโมงผมเพิ่งกินน้ำได้เพียงกระติกเดียว กับอีกนิด ๆ เท่านั้น ซึ่งหมายความว่าผมน่าจะเริ่มขาดน้ำไปแล้วเกือบสองลิตร เพราะอัตราการเสียเหงื่อของผมอยู่ที่ประมาณ 1 ลิตรต่อชั่วโมง กว่าจะรู้ตัวก็สายไปเสียแล้ว การที่จะอัดกินไปจำนวนมากอาจจะทำให้เกิดอาการปวดท้องได้ ผมจึงได้แต่พยายามจิบให้บ่อยขึ้น แต่ก็ไม่ทัน เมื่อตะคริวเริ่มมาเยือนน่องซ้าย ไม่นานนักก็มาหาน่องขวา ผมจำเป็นต้องลุกขึ้นปั่นเป็นช่วง ๆ เพื่อยืดกล้ามเนื้อน่อง ลดความเจ็บปวดลงไปบ้าง แต่เนินเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่มารบกวนเรื่อย ๆ ทำให้กล้ามเนื้อต้นขาทั้งสองข้างเริ่มมีอาการตะคริวขึ้นบ้างแล้ว จากเหตุการณ์นี้เองผมจึงค่อนข้างมั่นใจว่าการขาดน้ำเป็นสาเหตุหลักในตะคริวของผม ไม่เกี่ยวกับปริมาณคาลอรี่ที่ใส่เข้าไป เนื่องจากผมเติมคาลอรี่ในระดับที่น่าจะเพียงพอ เนื่องจากต้นขาเป็นกล้ามเนื้อใหญ่ ผมจึงพยายามไม่ให้เกิดตะคริวที่ต้นขา การยืนปั่นเป็นอันตกไป ผมหันมาใช้วิธี hyper extend กล้ามเนื้อน่องในช่วงรอบขาลงของการปั่นแทน การทำเช่นนี้ทำให้มีการลงน้ำหนักบนอานมากเป็นพิเศษ และมีการเสียดสีเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ ผมจึงค้นพบข้อเสียอย่างหนึ่งของอานประเภทนี้ ที่มีแรงเสียดทานบนผิวอานค่อนข้างสูง ซึ่งทำให้กางเกงจักรยานมีการขยับตัวเสียดสีกับอวัยวะค่อนข้างมาก เนื่องจากผิวอานมีแรงเสียดทานสูงกว่าผิวหนังของผม กางเกงจึงเลือกที่จะไม่ขยับบนผิวอานมาขยับบนผิวของผมแทน ทำให้หลังปั่นนั้นมีความทรมานในช่วงอาบน้ำเป็นอย่างมาก แต่นั่นอาจจะแก้ปัญหาได้ถ้าผมไม่ลืมทาวาสลีนป้องกันมาก่อน

ด้วยวัสดุที่เป็นยางแม้ว่าจะมีการปรับความตึง หรือความสามารถในการรับแรงรวมไปถึงการยืดหยุ่นด้วยชั้นผ้าใบไปแล้วนั้น โดยรวมอานประเภทนี้ก็ยังมีสมบัติที่เหมือนนำแผ่นวัสดุมาขึงระหว่างจุดสองจุด ในหลาย ๆ การรีวิวร์ใช้คำว่าคุณสมบัติแบบแปลญวณ การขึงยางในรูปเบบนี้คือหนึ่งจุดบริเวณด้านหน้าและอีกจุดบริเวณด้านหลังอาน เนื่องจากยางเสริมผ้าจะไม่มีการยืดตัวเพิ่มเติมความตึงที่ขึงไว้นั้นจึงมีความเหมาะสมตั้งแต่เริ่มต้น ไม่จำเป็นต้องขึงให้แน่นเป็นพิเศษเผื่อการยืด หรือไม่ต้องมีความจำเป็นในการปรับความตึงของแผ่นหนังแบบเบาะหนังรูปแบบอื่น ๆ ซึ่งเป็นสายผลิตภัณฑ์หลักของบรูคส์เอง แม้ว่าบรูคส์จะมีเบาะหนังรุ่นที่  aging มาให้เรียบร้อยแล้ว แต่สำหรับแคมเบี่ยมเอง ความตึงที่เหมาะสมตั้งแต่วันแรก รวมไปถึงสมบัติในการกันน้ำที่มากกว่าหนังทั่วไปก็ถูกนำมาใช้เป็นจุดขายของอานรุ่นนี้ แม้ว่าจุดเด่นนี้จะใช้เทียบกับกับอานของบรูคส์เองเท่านั้น เพราะอานยี่ห้ออื่น ๆ ล้วนแล้วแต่กันน้ำและนุ่มสบายตั้งแต่วันแรกใช้กันทั้งนั้น แต่สิ่งสำคัญที่อานรุ่นนี้มีและหาไม่ได้ในรุ่นอื่นก็คือสมบัติความเป็นยางของมันนั่นเอง เมื่ออานขึงอยู่บนสองจุดโดนรับแรง น้ำหนักตัวของเราจะถูกถ่ายไปเป็นแรงดึง (tension) ภายในแผ่นยาง ความเป็นยางคือความสามารถในการยืดจะส่งผลให้อานรุ่นนี้สามารถปรับรูปเข้ากับสรีระของเราได้อย่างทันที และเป็นไปอย่างทั่วถึง นอกจากนี้สมบัติที่เป็นวิสโคอิลาสติกของยางทำให้สามารถยืดหยุ่น ดูดซับแรงสั่นสะเทือนได้มาก หลักการเป็นการ damping คล้าย ๆ ระบบโชคอัพ ที่ทำให้แรงสั่นสะเทือนจากพื้นถนนไม่ถูกส่งถ่ายของมาที่บั้นท้ายของผู้ปั่นมากนัก อาการเจ็บ ร้อนตาม sit bone ต่าง ๆ น่าจะไม่ค่อยเกิดขึ้นเมื่อใช้อานประเภทนี้

อย่างไรก็ตามเนื่องจากอานประเภทนี้ใช้วัสดุจำนวนน้อย การที่จะทำให้ได้สมบัติในทุก ๆ อย่างพร้อม ๆ กันเป็นเรื่องที่ยากหรือเป็นไปไม่ได้เสียเลย การที่จะทำให้ยางชิ้นนี้สามารถรับน้ำหนักผู้ปั่นได้ รวมถึงสามารถรับแรงกระแทกในขณะปั่นที่ความเร็ว 45-50+ km/hr ได้อย่างปลอดภัย ยางแผ่นนี้จึงต้องมีความแข็งแรงสูง มอดุลัสสูง และหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีความแข็งสูง  (Hardness) แม้ว่าในการใช้งานทั่วไปน่าจะลดปัญหาการเจ็บ ปวดร้อนตามบริเวณ sit bone ซึ่งเกิดจากการกระแทกซ้ำ ๆ กันหลาย ๆ ครั้งเป็นเวลานาน เนื่องจากตัวอานได้ดูดซับแรงกระแทกเหล่านั้นไว้เอง แต่ความแข็งที่สูงนั้นทำให้การกระจายแรงของพื้นผิวทำได้ไม่ดี ส่งผลให้ surface pressure ที่เกิดขึ้นจะค่อนข้างสูงกว่าอานที่มีเบาะนุ่ม ๆ ที่อาจจะเป็นฟองน้ำบาง ๆ หรือเจล surface pressure ที่เกิดขึ้นนี้จะเริ่มเป็นปัญหาเมื่อต้องปั่นเป็นระยะเวลานาน ๆ ผมเริ่มรู้สึกแสบ ๆ ร้อน ๆ ทั่ว ๆ ก้นเมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 4 ชั่วโมง อาการแบบนี้ไม่เคยเกิดกับผมในอานประเภทอื่น แต่อย่างไรก็ตามผมก็ไม่เคยที่จะปั่นบนอานประเภทอื่นนานถึงระดับนี้มาก่อน แต่จากการสัมผัสอานผมเชื่อว่าความแข็งของอานน่าจะเป็นสาเหตุ ความแสบร้อนทั่ว ๆ ก้นสามารถรู้สึกได้มากเพียงพอที่จะทำให้การลุกขึ้นปั่นในบางครั้งมีความสุขสบายตูดเมื่อเทียบกับตอนที่จะลงนั่งปั่น

ผมทำความเร็วเก็บตกสิงห์นักปั่นที่หมดแรง รายแล้วรายเล่า จนเริ่มเข้าบริเวณห้าแยกเกาะยอ เลี้ยวขึ้นเกาะยอ ผ่านเส้นทางที่คุ้นเคย แม้ว่าจะมีอาการเจ็บก้นบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ผมก็ดีใจที่ผมไม่มีอการถ่านหมดแรงตกจนต้องปั่นต่ำกว่า 30km/hr  เป็นระยะเวลานานนัก ยกเว้นในช่วงที่ตะคริวมาเยี่ยมเยียน ก่อนจะถึงช่วงเลี้ยวเข้าปากทางเส้นชัย โรงแรมหาดแก้วรีสอร์ท ก็มีนักปั่นมาเลย์มาตีขนาบกับผม ผมไม่ค่อนเหนื่อยมากแล้วครับ แต่อย่างไรก็ตามผมก็ชวนเพื่อนนักปั่นเล็ก ๆ น้อย ๆ ผมเปรยไปว่า “Now I’m glad that they change it to 145km instead of 160km” แล้วเราทั้งสองคนก็หัวเราะอย่างมีความสุขเมื่อมองเห็นชายทะเลอยู่ไม่ไกล เลยออกไปก็เป็นเส้นชัยอันหอมหวาน เป็นอันจบสิ้นระยะทาง 145km ครั้งแรกของผม ด้วยเวลาปั่น 4 ชั่วโมง 30 นาที แถมอีก 20 นาทีในการเปลี่ยนยาง ผมใช้เวลาน้อยกว่า 5 ชั่วโมงตามที่วางไว้ค่อนข้างมาก ไม่แน่ใจว่าเป็นที่อานยางหรือเฟรมเหล็ก แต่ที่แน่ ๆ สนามวันนี้เป็นสนามที่โหดที่สุดสนามหนึ่งที่ผมเคยสัมผัส

1420661_753690771314677_150240188_n

ผมเลี้ยวเข้าไปเก็บจักรยานขึ้นหลังคารถ ผมกินเจลไปได้ทั้งหมด 7 ซอง กินน้ำไปได้ไม่ถึงสองกระติกดี ผมพยายามสำรวจอานแล้วก็พบว่าในบางจุดผมเริ่มเห็นการฉีกเป็นขุยของผ้าใบบ้างแล้ว ผมมั่นใจว่าการฉีกขาดในวันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของความเสียหายของอานที่ออกแบบในลักษณะนี้ ว่าแล้วผมจึงควรเป็นอย่างยิ่งที่จะเข้าไปลงทะเบียนในเวปของบรูคส์เพื่อรับ 10 years extended warranty เพราะผมมั่นใจว่าผมน่าจะได้ใช้ประกันนี้แน่ ๆ ครับ ถ้าจะถามฟันธงว่าผมจะแนะนำให้เพื่อนมั้ย ผมคงคิดว่าแนะนำได้ครับ อานระดับไฮเอนด์ จะราคาประมาณนี้ทั้งนั้นครับ รวมทั้ง Cobb saddle ที่ผมใช้กับจักรยานไตรกีฬาของผมก็แพงกว่านี้เล็กน้อย ถ้าถามถึงความสบายผมว่า  Cobb Saddle สบายกว่าในการปั่นยาวครับ แต่ถ้าเจอถนนแบบวันนี้ เฟรมคาร์บอนกับอานธรรมดา คงสู้เฟรมเหล็กอานยางไม่ได้อย่างแน่นอนครับ ผมเดินขึ้นไปห้องพักเพื่อเตรียมตัวเชคเอาท์ ภรรยาผมทักคำแรกว่า “ทำไมเร็วจัง” เท่านี้ผมก็หายเหนื่อยแล้ว เราแวะเข้าไปหาอะไรทานสำหรับมื่อเที่ยงในเมืองหาดใหญ่ก่อนมุ่งหน้ากลับปัตตานี แม้ว่าจะมีอะไรผิดปกติเกิดกับจักรยานผมมากที่สุดในวันนี้ แต่ผมก็ได้สถิติปั่นยาวที่สุดที่มีความเร็วเฉลี่ยสุงที่สุด 32.0km/hr มาประดับไว้ในบันทึกของผมครับ

6 Comments

  1. Junior พูดว่า:

    ถึงผู้ดูแลบล็อก
    ผมณัฐพล ตรงต่อศักดิ์ (จูเนียร์) จากนิตยสาร Men’s Health Thailand ครับ ตอนนี้ผมและทีมงานกำลังทำสกู๊ปพิเศษเกี่ยวกับนักกีฬาไตรกีฬา และกำลังรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับทั้งการใช้ชีวิต การฝึกซ้อม การพักผ่อน การรับประทานอาหาร ตลอดจนข้อมูลอื่นๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับนักกีฬาประเภทนี้ และระหว่างเซิร์ซหาข้อมูลได้มาเจอบล็อกนี้พอดี และได้อ่านข้อมูลที่น่าสนใจมากครับ เลยอยากจะขอติดต่อพูดคุยเป็นการส่วนตัวเพื่อขอข้อมูลและความรู้เพิ่มเติม ไม่ทราบว่าสามารถติดต่อทางโทรศัพท์ได้หรือไม่ครับ หรือทางช่องทางอื่นที่สะดวก
    ผมต้องขอโทษที่ติดต่อมาทางนี้นะครับ ถ้าอยากสอบถามเพิ่มเติม สามารถติดต่อผมโดยตรงได้ที่เบอร์ 0815595504 หรืออีเมล n_trongtorsak@hotmail.com ครับ
    ขอบคุณมากครับ
    ณัฐพล ตรงต่อศักดิ์
    บรรณาธิการไลฟ์สไตล์ นิตยสาร Men’s Health Thailand

    1. arm1972 พูดว่า:

      ยินดีครับ ผมเมล์ไปแล้ว คุยกันผ่านเมล์จะสะดวกสุดครับ โทรศัพท์มาได้แต่รับบ้างไม่รับบ้าง

  2. Sarinya Look พูดว่า:

    เขียนเรื่อยๆนะคะพี่อาร์ม เดี๋ยวจะตามอ่าน
    พอดีตอนนี้ กำลังฝึกวิ่งเพื่อลงมารธอน แต่ใจจริงๆอยากถึงไตรฯเหมือนกัน:-)

    1. arm1972 พูดว่า:

      ยินดีครับ มาร่วมทีมกับเราสิครับ มีหลายงานมาราธอนที่สมาชิกในทีมอยากลง ผมเองก็พยายามลงให้ได้อีกสัก 3-4 มาราธอนในปีหน้า อยากให้ระยะมาราธอนเป็นระยะธรรมดา ๆ ให้ได้ครับ ทั้งชีวิตเคยลงครั้งเดียว เขียนความรู้สึกเอาไว้ด้วยในบล็อกนี้แหละ

  3. Noonnatchaya พูดว่า:

    อ่านแต่ละเรื่องแล้ว รู้สึกเพลินมากคะ โดยเฉพาะเรื่องนี้ที่อ่านแล้วเหมือนได้นั่งปั่นอยู่บนอานBrook Cambium เองเลย ถ้ามีโอกาสคงได้หามาลองปั่นซักอัน

    ขอบคุณนะค่ะสำหรับเรื่องราวดีๆที่มาแบ่งปันกัน ^_^

    1. arm1972 พูดว่า:

      ขอบคุณครับ

ให้ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s