ปีนเขา : ความท้าทายของทุกเพศทุกวัย

ผมได้รู้จักกีฬาปีนเขาอย่างจริง ๆ จัง ๆ เมื่ออาการของกระดูกสันหลังเสื่อมเริ่มปรากฏชัด เมื่ออาการบาดเจ็บรุนแรงจนการวิ่งเป็นการทรมานร่างกายจนสุดจะเกินทน ผมตัดสินใจเลิกเล่นไตรกีฬา และพยายาสรรหากีฬาประเภทอื่นเพื่อทดแทน หนึ่งในนั้นคือ กีฬาปีนเขา ซึ่งเป็นกีฬาที่ผมมีโอกาสได้ลองมาบ้่างแล้ว แต่ด้วยความที่ยังค่อนข้างเป็นกีฬาใหม่ในขณะนั้น จึงหาสถานที่เพื่อที่จะเล่นได้ยากมาก ผมจึงเล่นไตรกีฬามาโดยตลอด เมื่อโอกาสมาเช่นนี้ผมจึงพยายามจัดหาเวลาที่จะไปร่ำเรียนอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ณ สวนสวรรค์ที่นักปีนเขาทั่วโลกฝันว่าจะได้มาเยือนเพียงครั้งหนึ่งในชีวิต ไร่เลย์ กระบี่ บ้านเรานี่เอง

กีฬาปีนเขา เกิดมากว่าหลายสิบปีแล้ว แต่ก็ยังถือว่าเป็นกีฬาที่ค่อนข้างใหม่ คนเริ่มรู้จักกีฬาปีนเขามากขึ้นในฐานะกีฬาที่บรรจุอยู่ใน X-Games แต่ภาพของกีฬาปีนเขาผ่านทางสื่อต่าง ๆ เช่น มนุษย์แมงมุมที่เที่ยวปีนตึกไปทั่วโลก ทอม ครูซ ที่ปีนเขาอย่างท้าทายในภาพยนต์ Mission Impossible หรือข่าวการเสียชีวิตของนักปีนเขาบางครั้งบางคราวที่ถูกนำเสนอเสียจนสร้างให้เห็นว่ากีฬาปีนเขาเป็นกีฬาเสียงอันตราย แต่ในความเป็นจริงแล้ว กีฬาปีนเขา นั้นปลอดภัยกว่าการปั่นจักรยานบนท้องถนนแม้ว่าจะมีความเชี่ยวชาญมากเสียอีก

กีฬาปีนเขาอาจจะแบ่งออกเป็นลักษณะย่อย ๆ ได้สามประเภท คือ

1. Free Climb บางครั้งเรียก Solo Climb หรือการปีนโดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกัน ซึ่งเคยได้รับความนิยมสำหรับนักปีนเขาชั้นนำในอดีต ซึ่งความผิดพลาดเพียงเล็กน้อยส่งผลต่อชีวิต ปกติแล้วการทำ Solo Climb นักปีนจะเลือกปีนเส้นทางที่ง่ายกว่าระดับความสามารถของตัวเองเพื่อความปลอดภัย อย่างไรก็ตาม ความบ้าบิ่นของนักกีฬาบางคน รวมไปถึงการสร้างแบบอย่างที่เสี่ยงตายแบบนี้ ในปัจจุบันไม่ได้รับการยอมรับมากนักในหมู่นักปีนเขา เนื่องจากถือว่าเป็นการสร้าง Bad Publicity ให้กับกีฬา การปีนแบบโซโลในปัจจุบันจึงค่อยๆ กลายมาเป็นการปีนที่เรียกว่า Deep Water Soloing ซึ่งออกไปปีนในทะเล เมื่อตกก็หล่นลงน้ำ หรือ Bouldering ซึ่งเป็นการปีนที่เน้นเทคนิคการปีนเป็นหลัก ไม่พูดถึงความสูง ปีนบนก้อนหินใหญ่ ๆ หรือเฉพาะบางช่วงของหน้าผา ในระยะที่ตกแบบไม่อันตรายมากนัก (แต่ก็จะมีเพื่อนคอยระวังภัยให้ในขณะปีน) ซึ่งลักษณะการปีนในสองรูปแบบหลังนี้เป็นที่นิยม และได้รับการยอมรับมากขึ้น (คลิปของนักปีนเขาโซโลชื่อดัง)

2. Traditional Climb ซึ่งเป็นการปีนโดยให้ระบบป้องกันภัย โดยนักปีนเขาจะต้องค่อย ๆ ปีนและติดตั้งระบบป้องกันภัยนี้ขึ้นไปเรื่อย ๆ ตามเส้นทางที่ปีน การปีนแบบนี้ ต้องใช้ความรู้ความรู้ความเชี่ยวชาญสูง นอกเหนือจากความสามารถในการปีนเขาแล้ว ความรู้เกี่ยวกับตำแหน่งการติดตั้งจุดป้องกันอันตรายต่าง ๆ รวมไปถึงวิธีการติดตั้ง ชนิดของอุปกรณ์ที่เหมาะสม เป็นทักษะที่สำคัญมากเท่า ๆ กับทักษะการปีน หรืออาจจะมากว่าเสียด้วยซ้ำ (คลิปที่อธิบาย traditional climb) การปีนประเภทนี้โดยทั่วไปแล้วนักปีนจะปีนในระดับที่ง่ายกว่าฝีมือตัวเองเล็กน้อยเช่นกัน เนื่องจากระบบป้องกันภัยที่ต้องเตรียมขึ้นนั้นผู้ปีนต้องเตรียมเองทั้งส่วนที่ยึดเข้ากับหน้าผา และส่วนที่ยึดกัับตัวนักปีนเอง (Quick draw)

3. Sport Climb เป็นการปีนที่ใช้ระบบป้องกันภัยเช่นเดียวกันกับแบบ traditional climb เพียงแต่ว่า ส่วนที่ติดกับหน้าผานั้นจะถูกเตรียมไว้อย่างถาวร นักปีนเพียงแต่ติดตั้งส่วนที่ยืดติดกับตัวนักปีนตามเส้นทางปีนที่ถูกเตรียมไว้ให้แล้ว โดยนักปีนรุ่นพี่ที่ฝีมือดีและต้องการสร้างเส้นทางต่าง ๆ เหล่านี้ให้นักปีนรุ่นหลังได้สัมผัสโดยทั่วถึงกัน การถือกำเนิดของ sport climb ทำให้กีฬาชนิดนี้แพร่หลายได้มากขึ้น เนื่องจากนักปีนฝีมือใหม่สามารถเข้าถึงจุดปีนต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ด้วยระบบเดียวกันนี้ทำให้สามารถ นำไปติดตั้งในพื้นที่ต่าง ๆ โดยใช้ระบบตัวยึดลักษณะเดียวกันกับหน้าผาจริง แต่เพิ่มเติม ตัวยึดจับสำหรับปีน เท่านี้เราาก็จะได้สิ่งที่เรียกว่าหน้าผาจำลอง เท่านี้กีฬาปีนเขาก็แพร่หลายเข้าสู่เมือง และผู้คนในกลุ่มใหญ่ได้ (คลิป urban climb แสดงให้เห็น sport climb ในสถานที่ด่าง ๆ )

ผมเองก็เป็นอีกคนที่มีโอกาสทำความรู้จักกีฬาปีนเขาผ่านรูปแบบที่เรียกว่า sport climb ครั้งแรกประมาณยี่สิบปีที่แล้วที่เมือง Rochester รัฐ New York ในรูปแบบของหน้าผาจำลอง ภายในมหาวิทยาลัยที่ไปเรียน หลังจากนั้นก็ไม่มีโอกาสได้เล่นอีกเลย จนกระทั่งมาค้นพบกีฬาประเภทเดียวกันนี้ที่ไร่เลย์เมื่อเรียนจบ จนในที่สุดได้ตัดสินใจไปเรียน course 3 วัน ที่ไร่เลย์ เพื่อจะเรียนรู้สิ่งที่เรียกว่า lead climb, rope control, multi-pitch climb และอื่น ๆ ที่จำเป็นสำหรับการเล่นกีฬา Sport Climb ได้อย่างสนุกสนาน

ไร่เลย์เปรียบเสมือนเมืองในฝันของนักปีนเขาทั่วโลก ทะเลอันดามันสีมรกต พร้อมกับหน้าผาหินปูน ที่เต็มไปด้วยเส้นทางปีนเขา กว่าสองร้อยเส้นทาง ขนาดว่านักปีนขั้นนำ สามารถใช้ชีวิตที่ได้นักเป็นปีได้ กว่าที่จะได้สัมผัสครบทุกเส้นทางที่ไร่เลย์มีไว้ให้ และมีนักปีนเขาหลายต่อหลายคนมาใช้ชีวิตวนเวียนกลับไปมาเช่นนี้หลายต่อหลายคน หลังจากที่เรียนจบ course 3 วัน ผมเองก็แทบจะใช้ชีวิตแบบนั้นอยู่เหมือนกัน ที่จะขับรถไปในวันพฤหัสแล้วกลับวันอาทิตย์ บางครั้งก็กระฉอกไปวันอังคาร กีฬาประเภทนี้มันมีเสน่ห์น่าหลงไหลเสียจริง ๆ

Sport Climb ใช้จุดยึดบนหน้าผาที่เรียกว่า Bolt ที่ทำจากไททาเนียมฝังบนผาด้วยกาวพลังสูง หรือการฝังด้วยน๊อตประเภทอื่น หรืออาจจะเป็น sling ซึ่งหมายถึงเชือกที่ผู้อยู่กับร่องรูตามธรรมชาติของหน้าผา นักปีนผาปีนขึ้นไปพร้อมกับเชือกผูกกับกางเกงพิเศษที่เรียกกันว่า harnesses เพื่อจะดึงเอาระบบความปลอดภัยส่วนตัวตามไปด้วย เมื่อปีนไปถึง bolt ก็ใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า Quick Draw ซึ่งประกอบไปด้วย Calabriner เชื่อมกันไว้ด้วย sling คลิปด้านหนึ่งเข้า bolt บนหน้าผา อีกด้านหนึ่งคลิปเข้ากับบเชือกที่ตัวเองลากขึ้นมาด้วย เพื่อที่จะสร้างระบบรอกความปลอดภัยกับคู่ปีนที่ เฝ้ามองความปลอดภัยนี้อยู้่เบื้องล่างและเป็นผู้ควบคุมระบบเชือกเส้นนี้ ตำแหน่งที่เรียกว่า belayer นี้เป็นตำแหน่งที่สำคัญที่สุดในขั้นตอนการปีนผาแบบนี้ belayer ที่มีความใส่ใจจะสร้างให้กีฬานี้เป็นกีฬาที่ปลอดภัยมากกว่าการปั่นจักรยานทุกประเภทเป็นไหน ๆ

เมื่อนักปีนที่ปีนคนแรกนี้ปีนไปจนถึงสุดเส้นทางที่ออกแบบไว้ ก็จะเจอกับจุดที่เรียกกันว่า Anchor ซึ่งส่วนใหญ่จะประกอบด้วยห่วงโลหะใหญ่ ๆ ยึดอยู่กับ sling ยาว ๆ ล๊อคกับหน้าผาอย่างน้อย ๆ สามจุด ซึ่งเราจะใช้ห่วงนี้ในการร้อยเชือกที่เราลากขึ้นมา เป็นเสมือนรอกเพื่อใช้ในการโรยตัวลงไปสู่พื้น ในขณะที่ค่อย ๆ เก็บ Quick Draw ที่เราทิ้งไว้ตามเส้นทางปีน ก่อนที่จะใช้ระบบรอกดังกล่าวนี้ ในการปีนบนเส้นทางเดิมอีกครั้งถ้าต้องการ แต่ครั้งหลังนี้ไม่มีความจะเป็นต้องมีการลากเชือกขึ้นไป หรือ คลิปตัวเองเข้ากับหน้าผาอีกแล้ว เพราะระบบความปลอดภัยถูกสร้างไว้แล้วด้วยระบบรอกที่ว่า นักปีนที่ปีนคนแรกเพื่อไปสร้างระบบรอกเราเรียกว่า Lead Climber ส่วนการปีนภายหลังที่มีการสร้างระบบรอกไว้แล้ว เราเรียกมันว่า Top Rope Climb การ lead climb ก็จะยากกว่า top rope เล็กน้อย เนื่องจากความตื่นเต้น และจังหวะในการคลิปเชือกบางครั้งจำเป็นต้องใช้ทักษะในการทรงตัวอยู่บ้าง ในขณะที่ top rope นั้นคนปีนมีหน้าที่ปีนอย่างเดียว ระยะตกเป็นศูนย์ ในขณะที่ระยะตกของ lead climber จะประมาณ 1-2 เมตร ไม่สูงมากนักแต่สร้างความเสียวได้มากเลยทีเดียว

การปีนเขาสำหรับมือใหม่ มันเป็นกีฬาที่ทดสอบจิตใจและพละกำลังของร่างกาย แต่เมื่อคุ้นเคยกับมันมากขึ้นมันก็จะกลายเป็นเรื่องของเทคนิค การทรงตัว และการควบคุมภาวะจิตใจ ความสนุกของการปีนเขาอยู่ที่การแก้ปัญหาที่เส้นทางนั้น ๆ สร้างไว้ คล้าย ๆ กับการต่อ Jigsaw หรือเล่น Puzzle ในขณะที่ยังเป็นการออกกำลังกายกล้ามเนื้อและ cardio ได้ดีระดับหนึ่ง ด้วยความคลั่งไคล้กีฬาปีนเขาจากไร่เลย์ ทำให้ผมสรรหาสถานที่ฝึกซ้อมที่เป็นไปได้ ซึ่งก็พบว่าในพื้นที่ กรุงเทพนั้นก็มีหน้าผาเทียมอยู่จำนวนมากเลยทีเดียว ผมเองเคยได้ไปสัมผัสมาแล้วเกือบทุกที่ อย่างไรก็ตามบรรยากาศการปีนเขาจริงที่ไร่เลย์ กับการปีนเขาเทียมในกรุงเทพนั้นค่อนข้างจะแตกต่างกันอยู่มาก

ผู้คนที่ปีนผาเทียมในกรุงเทพนั้นค่อนข้างจะจริงจังก้บกีฬาเป็นอย่างมาก และโดยส่วนใหญ่จะค่อนข้างปิดตัวและไม่ค่อยจะต้อนรับผู้มาใหม่มากนัก ผิดกับบริเวณไร่เลย์ ที่กีฬาปีนเขาเป็นเหมือนกิจกรรมร่วมสนุกกันของเหล่าชาวเลย์ มีความเป็นเพื่อน ความสนุกสนานปะปนอยู่มากกว่า อย่างไรก็ตามผมอาจจะไม่ได้มีเวลาที่จะกลับไปที่ผาเทียมแต่ละแห่งบ่อยเพียงพอที่จะทำความรู้จักใคร การกล่าวเช่นนี้อาจจะไม่ค่อยแฟร์นัก ในขณะที่ผมไปไร่เลย์บ่อยครั้งจนทำความรู้จักคนในพื้นที่ไว้ได้หลายคน

อย่างไรก็ตามในขณะที่การปีนผาจำลองนั้น จะเป็นการออกกำลังกายที่สนุกสนาน แต่ด้วยความเป็นของจำลองในพื้นที่ไม่กว้างใหญ่มากนัก บรรยากาศเต็มที่ก็ให้กับเราได้เพียงการออกกำลังกายที่สะใจ ได้เหงื่อ เมื่อเทียบกับการปีนเขาจริงนั้น บรรยากาศ วิว ทิวทัศน์ มันเป็นกีฬา ที่พ่วงกับการพักผ่อนหย่อนใจได้ดีที่สุดรูปแบบหนึ่งที่ยากจะหากีฬาประเภทอื่นมาเทียบเคียง

13 Comments

  1. Pek พูดว่า:

    ครั้งแรกและครั้งเดียวที่ปีนเขา ที่หมู่เกาะอ่างทอง ซึ่งคิดว่าธรรมดามาก เพราะใครก็ปีนได้ ปกติแล้ว เป๊กเป็นคนกลัวความสูง ไม่มากแต่ก็ไม่น้อย ขึ้นลิฟท์แก้วยังหวิว แต่พอปีนขึ้นไปยังจุดชมวิว ซึ่งมีบางจุด ที่รู้ว่าถ้าพลาดไป ไม่เหลือซากเหมือนกัน กลับมุ่งขึ้นๆๆ ไปอย่างเดียว ไม่มองลาข้างล่าง แถมตอนนั้นกลับรู้สึกสนุก จำความรู้สึกได้ เพราะประทับใจและยังพูดกับเพื่อนๆที่ไปด้วยว่า เพิ่งรู้ว่าปีนแล้วสนุก
    แต่ธรรมชาติของเป๊ก เป็นคนที่ไม่ชอบผาดโผน ไม่ชอบความเสี่ยง เลยคิดมาตลอดว่า ปีนเขาจริงมันเสี่ยง ส่วนผาจำลอง มันไม่เหมือนของจริง ที่มีทางราบบ้างชันบ้าง แต่จะเป็นแนวดิ่ง (ผิดไหมคะ) ซึ่งแค่คิดก็เสียวสันหลังแล้ว ซึ่งถ้าจะให้ม่ันใจ คงต้องไปลอง
    แล้วที่พี่อาร์มเล่นมาตลอด มันมีผลกระทบอะไรบ้างกับร่างกายที่เคยบาดเจ็บบ้างเปล่าคะ

    1. arm1972 พูดว่า:

      กีฬาปีนเขาที่พี่เขียนไว้ เป็นกีฬาประเภทหนึ่งเรียกกันว่า Rock Climbing ในขณะที่เป๊กเล่นที่เกาะอ่างทองนั้น น่าจะเรียกว่า Hiking มากกว่า Rock Climbing จะเน้นแนวดิ่งเป็นอย่างน้อย แต่ออกอาการเอนลงด้านหลัง หรือปีนห้อยเพดานไม่ใช่เรื่องแปลก (แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ) Sport Rock Climbing จะเน้นเรื่องความปลอดภัยเป็นอย่างมาก ความยากง่ายของการปีนจะถูกตั้งเกรดเอาไว้ ปกติแล้วระดับ 6a กำลังปีนสนุก ๆ สำหรับมือใหม่ แต่ถ้าออกแนวเดิน ๆ ปีน ๆ ระดับก็จะอยู่ประมาณ 5 ซึ่งก็มีให้ปีนบ้างแต่ส่วนใหญ่เอาไว้สอนพื้นฐาน หรือสอนเด็กเท่านั้น หน้าผาจำลองเขาไม่ค่อยทำเส้นทางแบบนี้ไว้ เขามักจะเริ่มที่ประมาณ 6a แต่สำหรับมือใหม่เขาก็ไม่ค่อยจะเคร่งครัดอะไรมาก ปีนได้ปีนไป ไม่มีเส้นทาง อันนี้ก็จะง่ายกว่า 6a หน่อย ประมาณนั้นเล่นปีนเขาไม่ค่อยมีโอกาสบาดเจ็บเท่าไร
      ที่เคยเป็นหนัก ๆ ก็ล้มตอนช่วง Hiking เพื่อไป Climbing เสียมากกว่า นอกจากนั้นก็เป็นเรื่องรองเท้ากัด มือพอง หนังลอก เข่าถลอกอะไรประมาณนั้น แต่ร่างกายที่บาดเจ็บก็จำกัดการปีนเขาไปเยอะเหมือนกัน โดยเฉพาะเรื่อง Flexibility แน่นอนว่ากล้ามเนื้อบางส่วนทำงานได้มีดีนัก ก็มีผลต่อการปีนเขาในบางท่า บางตำแหน่ง ไปลองเล่นดิ ที่ Racquet Club สุขุมวิท 53 มั้ง (หรืออาจจะ 51) มันจะมีผาจำลองชื่อ The Rock อยู่ ปีนผาจำลอง มันมีข้อเสียอีกอย่างคือ มือแสบ ไปเล่นครั้งนึงปีนได้ 4-6 ครั้งก็เจ๋งแล้ว เหนื่อย พอชิน ๆ ก็เริ่มเล่นตามเส้นทาง หลังจากนั้นก็จะเริ่มสนุกขึ้น กีฬานี้ปลอดภัยพี่ยังคิดว่าเอาไว้เล่นตอนแก่ ๆ ได้เลย

  2. Pek พูดว่า:

    ไว้มีโอกาส จะลองไปที่พี่อาร์มแนะนำค่ะ
    ช่วงนี้มีแผนหลายอย่าง อยากไปยิงปืน (เคยยิงอยู่เป็นปี ชอบมาก) อยากปีนเขา แล้วก็วาดรูป ดูไปด้วยกันไม่ได้เลย แต่เป็นสิ่งที่ชอบและอยากทำ ตอนนี้ทำได้อย่างมากคือไปฟิตเนส กะนั่งอ่านหนังสือที่สนใจใน Starbucks ไปวันๆ เวลามันบีบรัดเหลือเกิน อยากจะนอนน้อยๆแล้วไม่ง่วง รู้สึกชีวิตมีอะไรให้ทำเยอะมาก

    คนที่เล่นแล้วยืนยันว่าเป็นกีฬาที่ค่ออนข้างปลอดภัย ยิ่งน่าลองดู
    แล้วพี่อาร์มบอกว่า จะเอาไปเล่นตอนแก่ๆ… งั้น…ตอนนี้ก็เริ่มเล่นได้แล้วสิคับ
    อิอิอิ 😛

    1. arm1972 พูดว่า:

      ใช่พรุ่งนี้จะไปปีน ตอนนี้อยู่อ่าวนาง

    2. arm1972 พูดว่า:

      ที่เขียนมาน่ะ ทำไปหมดแล้ว ติดใจปีนเขาอย่างเดียว

      1. Pek พูดว่า:

        พูดเรื่องวัยมีปรี๊ด 555 ล้อเล่นนะคะ

      2. Pek พูดว่า:

        พูดเรื่องวัยมีปรี๊ด 555 ล้อเล่นนะคะ

        ไม่ชอบยิงปืนเหรอคะ เจ๋งดีออก สะใจมาก 😀

      3. arm1972 พูดว่า:

        ปรี๊ดตรงไหน ยิงปืนก็สนุกดีแหละ แต่มันเล่นไม่สะดวก แล้วก็แพง ขี้เกียจไปยิงที่สนาม แต่ตอนเรียน แล้วยิงโน่นยิงนี่ก็สนุกดี เดี๋ยวว่าง ๆ เขียนเล่น ๆ ก็ได้ เพื่อนก็ถาม ๆ อยู่เรื่อยว่าอยากมีปืน จะมีดีมั้ยอะไรทำนองนี้ แต่ลูกตำรวจคงคุ้นเคยกับปืนดีอยู่นะ

  3. ming พูดว่า:

    พอดีปลายเดือนจะไปไร่เลย์ อยากจะไปหัดปีนผาดูครับ ไม่ทราบว่ามีร้านไหนเนะนำบ้างครับ
    มีเวลาอยู่แค่ 1 วัน ที่จะปีน แล้วคนที่น้ำหนักตัวมากอย่างผม จะมีปัญหาหรือเปล่า(80โล)

    1. arm1972 พูดว่า:

      Real rock climbing. ครับ ติดต่อติ๊ก 080-718-1351 หรือ โหลน 080-699-6225. บอกพี่อาร์มแนะนำมา. ต้องนัดนะครับถ้าจะปีนเช้า ต้องนัดล่วงหน้าวันนึง เพราะเขาจะได้วางไกด์ได้ครับ ปกติจะนัดประมาณ 8:30 มาลองอุปกรณ์ ปีนถึงประมาณบ่ายโมง. ถ้าปีนบ่ายก็ไปสายๆได้ ปีนถึงประมาณ 5 โมง

      ถ้าคิดว่าน่าจะชอบ ให้จองเต็มวัน ไกด์ก็จะจัดวันที่สนุกขึ้นได้ครับถ้าคนเยอะอาจได้ปีนหลายที่ มีเข้าถ้ำ โรยตัว อะไรทำนองนี้

    2. arm1972 พูดว่า:

      https://www.facebook.com/realrocks.climbing.7?ref=ts&fref=ts

      หน้า FB ของร้านครับ แต่ไม่ค่อยมีใครตอบ

  4. Tip พูดว่า:

    มือใหม่สนใจกีฬาปีนเขาค่ะ…อยู่ชลบุรี..พอจะมีที่แนะนำและฝึกก่อนออกปีนนอกสถานที่ไหมคะ

    1. arm1972 พูดว่า:

      ชลบุรีไม่แน่ใจครับ แต่โซนบางนามีที่เราชอบไปกันครับ ชื่อ Rock Domain Climbing Gym อยู่ใกล้ ๆ ตึกเนชั่น

ให้ความเห็น