The story of the wheels

เมื่อคิดย้อนกลับไปถึงต้นกำเนิดของจักรยาน ผมมีความรู้สึกส่วนตัวที่ยกย่องให้การกำเนิดของล้อจักรยานแบบซี่ลวด หรือ spoke tension wheel เป็นชิ้นส่วนสำคัญในการพัฒนาของจักรยานสู่ยุคปัจจุบัน เมื่อนึกย้อนกลับไปว่าก่อนหน้าที่จะมีล้อซี่ลวดแบบปัจจุบัน ล้อที่มีการใช้งานก่อนหน้านั้นซี่ล้อเป็นส่วนสำคัญในการรับน้ำหนักในรูปแบบกดอัด (compression) ซึ่งทำให้ต้องมีขนาดซี่ล้อที่ใหญ่และแข็งแรง ทำให้น้ำหนักล้อโดยรวมค่อนข้างหนัก มาจนกระทั่ง Eugene Meyer ได้คิดค้นล้อซี่ลวดขึ้นมาเป็นครั้งแรกเมื่อประมาณปี 1869

เมื่อลองนึกภาพดูว่าล้อที่คิดค้นขึ้นมานั้นประกอบด้วยขอบล้อทรงกลม ดุมที่ต้องรับน้ำหนักตัวจักรยานก่อนที่จะส่งผ่านซี่ลวดไปยังขอบล้อ ในอดีตที่ซี่ล้อรับแรงกดทำให้ต้องมีขนาดใหญ่นั้น นวัตกรรมใหม่ชิ้นนี้เลือกให้ซี่ลวดรับแรงดึง (tension) แทนแล้วส่งผ่านแรงนั้นไปยังขอบล้อที่ทำหน้าที่รับน้ำหนักกดทั้งหมด ซี่ล้อจึงมีหน้าที่รับแรงดึงเท่านั้น ในขณะที่น้ำหนักจะถูกรองรับด้วยขอบล้อแทน ซี่ล้อจึงสามารถมีขนาดที่เล็กลงเป็นอย่างมากได้ในขณะที่ขอบล้อที่แข็งแรงขึ้นนั้นไม่ได้ต้องการขนาดที่ใหญ่ขึ้นมากนักและนั่นเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ

การขึ้นล้อเป็นศิลปะแขนงสำคัญในวงการจักรยาน การที่จะห้อยดุมให้อยู่กลางวงล้อพอดิบพอดี บนล่าง ซ้ายขวา ไม่ใช่เรื่องง่าย และเป็นเรื่องสุดท้ายที่คนปั่นจักรยานจะคิดที่จะหัดทำ ล้อหน้าที่มีความสมดุลย์ในทุก ๆ ด้าน ล้อหลังนั้นเนื่องจากต้องเว้นที่ไว้ให้เฟืองท้าย ซี่ล้อด้านที่มีเฟืองก็จะแบนกว่าอีกด้านหนึ่ง เนื่องจากการรับและถ่ายแรงขึ้นอยู่กับซี่ล้อและขอบล้อ ถ้าจำนวนซี่ล้อมีมากระยะห่างระหว่างซี่ล้อแต่ละซี่บนขอบล้อก็น้อยลง การรับแรงของวงล้อโดยรวมก็จะเพิ่มขึ้น หรืออีกนัยย์หนึ่งซี่ล้อยิ่งมีจำนวนมากก็ยิ่งแข็งแรง

โดยปกติแล้วขอบล้อมาตรฐานจะมีซี่ล้อได้ 28, 32 หรือ 36 ซึ่ล้อ เนื่องจากล้อหลังของจักรยานจะรับแรงขับ รับน้ำหนักสูงกว่าล้อหน้า จึงมีความเขื่อกันว่าการออกแบบให้ล้อหลังมีซี่ล้อมากกว่าล้อหน้าเป็นการออกแบบที่ดีกว่า เพราะถ้าหากใช้ซี่ล้อจำนวนเท่ากัน ย่อมหมายความว่าถ้าล้อหลังไม่อ่อนแอกว่าที่ควรจะเป็น ก็จะเป็นล้อหน้าที่แข็งแรงเกินความจำเป็น เช่น 28/36 (หน้า/หลัง) จะดีกว่า 32/32 เป็นต้น เนื่องจากขอบล้อเป็นส่วนหนึ่งในการรับแรง การลดจำนวนซี่ล้อลงทำให้สัดส่วนการรับแรงของขอบล้อมีมากขึ้นและต้องแข็งแรงขึ้น การมีซี่ล้อที่น้อยลงทำให้แอโรไดนามิกของล้อดีขึ้น แต่การที่ต้องทำให้ขอบล้อแข็งแรงขึ้นนั้นก็เป็นการเพ่ิมน้ำหนักขึ้นด้วย ซึ่งส่งผลให้มาลงตัวอยู่ที่เลข 28, 32, 36 สำหรับวัสดุอลูมิเนียมที่ใช้เป็นขอบล้อในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตามเนื่องจากในปัจจุบันการใช้ขอบล้อลึก (deep rim section) เป็นที่นิยม ตามแฟชั่นหรือเพื่อแอโรไดนามิกที่เพิ่มขึ้น จำนวนซี่ล้อที่จำเป็นก็ลดจำนวนลงไปด้วยเนื่องจากความแข็งแรงของขอบล้อที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง รวมไปถึงการพัฒนาการของตัววัสดุที่แข็งแรงขึ้นในส่วนของขอบล้อที่อาจจะทำให้การเพิ่มความแข็งแรงโดยไม่เพิ่มน้ำหนักสามารถทำได้ดีขึ้นและต้องการซี่ล้อที่น้อยลงไปได้

โดยส่วนตัวแล้วผมไม่ชอบล้อดิส และล้อที่ใช้ซี่ล้อคาร์บอน ด้วยเหตุผลทางประวัติศาสตร์ และความเป็นวิศวกรที่ชื่นชมความคลาสสิคของ tension spoke wheel ที่ถูกออกแบบมาเป็นอย่างดีร่วมสองร้อยปี ดังนั้นผมจึงจะไม่ขอกล่าวถึงให้เสียบรรยากาศ คิดไปแล้วผมนึกถึงภาพล้อเกวียน หรือล้อของมนุษย์ยุคหินมากกว่าเมื่อเห็นล้อเหล่านั้น

ความแข็งแรงของล้อนั้นขึ้นอยู่ความสามารถของช่างในการสร้่างล้อ สมมาตรซ้ายขวาหน้าหลัง เป็นสิ่งที่สำคัญเนื่องจากความกลมของขอบล้อขึ้นอยุ่กับความตึงของซี่ล้อ ดังนั้นล้อที่ขึ้นมาเป็นอย่างดีจะมีความสมดุลย์เป็นอย่างสูง และจะมีความแข็งแรงตามที่ได้ออกแบบมาไว้ทุกประการ ขอบล้อที่มีความแข็งแรงสูง อย่างเช่นขอบลึก (deep wheel section) จะมีความแข็งตึงสูง (Stiffness) การให้ตัวต่ำ (Flexibility) และมีความจำเป็นที่จะต้องตั้งศูนย์มาเป็นอย่างดี เพราะการปรับแต่งภายหลังนั้นเป็นไปได้ยากมากเนื่องจากความตึงซี่ล้อสูงมาก และถ้าหากเสียศูนย์จะซ่อมแซมลำบาก ล้อประเภทนี้ถ้ามีการตกท่อ หรือชนก้อนหิน ก็จะส่งผ่านแรงไปยังตะเกียบ และเฟรมได้มากกว่าล้อปกติ

ในความเห็นส่วนตัวของผมนั้น การเลือกใช้ล้อซี่มาตรฐาน 28/36 เป็นทางเลือกที่น่าสนใจมากที่สุด แต่ในปัจจุบันล้อใหม่ ๆ ซี่ล้อจะน้อยกว่านี้มาก อาจจะเป็น 20/24 หรือ 20/20 เป็นต้น หรือไม่ก็ต้องเลือกใช้ขอบล้อที่มีความแข็งแรงเพียงพอ ทั้งนี้ขึ้นกับน้ำหนักของผู้ขี่ ประเภทการใช้งาน ล้อเบา ๆ มาก ๆ นั้นก็จะมีข้อจำกัดเรื่องการรับน้ำหนักและการใช้งานหนัก ดังนั้นในการเลือกต้องอ่านคู่มือของผู้ผลิตให้ดีก่อน ซี่ล้อที่ดี ๆ นั้นควรจะทำจาก stainless steel ไม่ใช่เหล็กชุมโครม หรือสังกะสีเหมือนจักรยานราคาถูก ดังนั้นในการเลือกซื้อควรระบุให้ชัดเจน วัสดุอื่น ๆ ผมไม่แนะนำเพราะอาจจะแพงเกินเหตุ ไม่จำเป็น หรืออันตรายเกินไป (อย่างเช่นคาร์บอน)

ล้อที่มีการออกแบบแปลก ๆ ซี่ล้อไม่สมดุลย์ ผมไม่ค่อยอยากจะแนะนำเท่าไร เพราะโดยส่วนตัวแล้วคิดว่าน่าจะซ่อมยาก อาจจะต้องใช้อุปกรณ์พิเศษ ถ้าไม่ใช่นักกีฬาที่มีสปอนเซอร์ ผมไม่คิดว่าเป็นการลงทุนที่น่าลงทุนเท่าไรนัก สำหรับเรื่องของชนิดของยาง (ยางงัด ยางทิวบ์) หรือขนาดของล้อ (27″, 700c, 650c, 26″, 29″) ก็ยังขอไม่พูดถึงก่อนในบทความนี้ เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่มีคุยกันมากอยู่แล้ว แต่ถ้ามีคำเรียกร้องก็ค่อยสาธยายภายหลัง

อย่างไรก็ตามในระยะหลังที่ผ่านมาการออกแบบล้อด้วยแนวความคิดใหม่ ๆ มีมากขึ้นเรื่อย ๆ และเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ในบางรุ่นนั้นโดยเฉพาะในกรณีที่ยังเป็นระบบซี่ล้อแบบสมดุลย์นั้นผมคิดว่าไม่น่ามีปัญหาในเรื่องซ่อมบำรุงอีกต่อไป แต่แนะนำว่าให้ซื้อล้อแฟนซีเหล่านั้นจากร้านที่คุณไปมาสะดวกเพราะเมื่อถึงเวลาต้องซ่อมร้านทั่วไปอาจจะมือไม่ถึงก็เป็นได้ครับ

ยี่ห้อล้อในปัจจุบันสามารถหาซื้อได้หลากหลายตั้งแต่ยี่ห้อดัง ๆ อย่าง Shimano, Campag ก็มีล้อน่าสนใจออกมาเยอะ หรือจะเป็นยี่ห้อล้อโดยเฉพาะอย่าง HED, Rolf Prima, Zipp ยี่ห้ออย่าง Mavic ก็มีนวัตกรรมล้อใหม่มาฝากกันเรื่อย ๆ น่าสนใจ ในปัจจุบันผมก็ใช้ ​Mavic Aksium ล้อระดับเด็ก ๆ ของเขาอยู่ แต่ถ้าให้ผมเลือกล้อในฝันที่ผมอยากลองใช้ในเวลานี้น่าจะเป็น Rolf Prima Aspin SL 650c แต่เนื่องจากหาซื้อยาก (หมายความว่าคงไม่มีใครมาซ่อมให้) จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ผมจะมาเลือกใช้ Token C22A ล้อของไต้หวันแทน (ราคาเบาหน่อย) เมื่อใช้ล้อ 650c ไม่ค่อยมีทางเลือกให้มากนักครับ

ให้ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s