Bike fitting : จักรยานที่คุณใช้พอดีแค่ไหน

สรีระของแต่ละบุคคลเป็นของขวัญที่บรรพบุรุษเราส่งผ่านมาให้เรา เราไม่สามารถทำอะไรได้มากนักกับมัน การปรับแต่งจักรยานให้เข้ากับตัวเรานั้น เป็นวิทยาศาสตร์ที่มีมูลค่าสูง และยังไม่นิ่ง อย่างไรก็ตามด้วยความรู้ที่สั่งสมกันมาเกือบสองร้อยปีนั้น เราก็มีไกด์ไลน์ที่พอที่จะทำเองได้ง่าย ๆ ที่บ้าน เพียงขอให้ใครบางคนช่วงถ่ายรูป ถ่ายวีดิโอให้เพียงเท่านั้น แค่นี้เราก็สามารถจะปรับแต่งจักรยานของเราให้เข้ากับเราได้มากที่สุดแล้ว อย่างไรก็ตามการให้มืออาชีพช่วยเราในการปรับแต่งไม่ได้แปลว่าไม่เป็นเรื่องสำคัญนะครับ มืออาชีพเห็นมามากกว่าเรา การแก้ไขปัญหาในการปรับแต่งย่อมดีกว่าเรา ถ้าใครที่สนใจจริง ๆ เท่าที่รู้ในเมืองไทยก็จะมีที่ร้านไบค์โซนที่รับการปรับแต่งจักรยานในราคาสมเหตุสมผลครับ

เนื่องจากจักรยานมีหลากหลายรูปแบบ และหลาย ๆ คนก็ปั่นจักรยานเพื่อตอบโจทย์ที่แตกต่างกันไป ในกรณีนี้ผมอยากจะพูดถึงจักรยานเสือหมอบ หรือที่มีหน้าตามาตรฐานตามรูปแบบจักรยานเสือหมอบ เช่น จักรยานไตรกีฬา หรือจักรยานฟิกซ์ที่มีพื้นฐานมาจากจักรยาน  time trial รวมไปถึงจักรยานประเภท city bike ที่มีโครงสร้างลักษณะเดียวกันครับ คงมีน้อยคนนักที่จะมีโอกาสตัดเฟรมจักรยานอย่างที่มิเกล อินดูเรน แชมป์ตลอดกาลอีกคนของรายการทัวร์เดอฟรองค์ เราส่วนมากต้องเลือกจากร้านที่มีขนาดของจักรยานที่ถูกสร้างมาแล้ว แม้ว่าโครงสร้างของจักรยานแต่ละยี่ห้อจะไม่ตรงกันเสียทีเดียวแต่ก็ไม่ได้ผิดกันมากมายนัก อย่างไรก็ตามในปัจจุบันการใช้คาร์บอนไฟเบอร์ในการทำเฟรมก็ทำให้การเลือกจักรยานง่ายขึ้นมาอีกหน่อย เพราะมีขนาดให้เลือกไม่มาก เช่น S M L แต่การปรับแต่งจักรยานเป็นเรื่องที่ยากมากขึ้น

ขนาดของจักรยานที่เหมาะสมไม่วิธีการเลือก วัดหลายวิธี เช่น วัดความสูงของเป้าด้วยการถอดรองเท้ายืนหลังชิดกำแพง หาหนังสือหนา ๆ มาดันให้ชนระหว่างเป้าแล้วทำตำแหน่งเอาไว้ที่ผนัง ระยะนี้เรียกว่า inseam length ซึ่งทั่ว ๆ ไประยะ 2/3 ของ inseam length ก็จะเป็น size ของจักรยานที่เหมาะสมกับเรา แต่ก็ไม่ค่อยตรงไปตรงมามากนักเพราะแต่ละยี่ห้อมีวิธีการในการวัดขนาดจักรยานของตัวเองที่แตกต่างกันไปเล็กน้อย ในขณะที่วิธีที่ง่ายกว่านั้นก็คือ ยืนคร่อมจักรยาน แล้วลองยกจักรยานขึ้นมาชนกับเป้า ระยะนี้ควรจะมีระยะประมาณ 1 นิ้ว แต่รูปร่างของจักรยานที่เปลี่ยนไปทำให้วิธีนี้ทำได้ลำบากขึ้นในปัจจุบัน เมื่อเราได้ขนาดของจักรยานเป็นพื้นฐานแล้วก็ถึงเวลาปรับชิ้นส่วนต่าง ๆ ให้เหมาะสมครับ ถ้าหากว่าเราเลือกขนาดจักรยานที่เหมาะสมถูกต้องตั้งแต่ตอนแรก การปรับในระดับที่สองก็จะทำให้ง่ายขึ้น แต่ถ้าไม่ถูกก็จะทำให้เกิดปัญหาในการปรับแต่งต่อไปครับ แต่เนื่องจากปัจจุบันอุปกรณ์ปรับแต่งจักรยานมีมากขึ้นวิธีการแก้ไขปัญหาก็มีมากขึ้นเช่นกัน

ระยะที่สองในการปรับแต่งคือความสูงของอาน เนื่องการกล้ามเนื้อที่ใช้ในการปั่นจักรยานหลัก ๆ คือกล้ามเนื้อต้นขา หลักการตั้งระยะอานนี้ก็เพื่อให้ใช้กล้ามเนื้อมัดนี้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ Greg Lemond นักจักรยานคนสำคัญอีกคนของฝั่งอเมริกา คิดเป็นสูตรที่หลาย ๆ คนใช้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีนั่นคือ 0.883 x inseam length ก็จะได้ระยะจากด้านบนของอานวัดตามท่อนั่งไปจนสุดถึงจุดหมุนของบันไดพอดี แต่แนวคิดที่ง่าย ๆ ก็คือว่าระยะอานควรจะสูงที่สุดเท่าที่เราจะปั่นได้โดยไม่ต้องโยกซ้ายขวาเวลาปั่น นี่เป็นสิ่งแรกที่มืออาชีพจะต้องการดูครับ คือ เขาจะให้เราปั่นให้ดู สังเกตุการปั่น การโยกซ้ายขวา และลักษณะการปั่นของเรา วิธีที่ง่ายอีกวิธีหนึ่งคือใส่รองเท้า กางเกงที่จะใช้ปั่น แล้วขึ้นนั่ง ยืดขาให้สุด ถ้าหากความสูงของอานพอดีก็จะทำให้ เท้าขนานกับพื้นพอดี ลองทำทั้งสองข้าง โดยกระบวนการนี้จะเห็นว่าระยะนี้จะไม่เป๊ะครับ ขึ้นอยู่กับวิธีการปั่นของแต่ละคนอีกว่าชอบปั่นแบบปลายเท้าจิ้มลง ขนานพื้น หรือส้นเท้าจิ้มลง แม้ว่าโดยหลักการแล้วการปั่นจริง ๆ จะต้องการให้มีปลายเท้าจิ้มลงเล็กน้อยตามจังหวะการดึงขึ้นของกล้ามเนื้อหลังขาและก้น ในครึ่งรอบหลังของการปั่น ดังนั้นระยะอานแม้ว่าแต่ละคนจะมี inseam ที่เท่ากัน ขนาดของเท้า และลักษณะการปั่นยังไม่เหมือนกันครับ ประสบการณ์ของ bike fitter มืออาชีพจะเข้ามาช่วยมากในเรื่องนี้

อานสามารถปรับเลื่อนหน้าหลังได้อีกประมาณสองนิ้วเศษ ๆ ยกเว้นจักรยานสำหรับไตรกีฬา โดยเฉพาะเฟรมคาร์บอน ระยะนี้จะสามารถปรับได้ค่อนข้างมากจากทั้งตัวรางของอานเอง และเสาอานที่ออกแบบมาพิเศษ โดยพื้นฐานเราต้องการปรับอานเพื่อให้ไช้กล้ามเนื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกเช่นเดียวกัน วิธีการก็คือหมุนเท้ามาหยุดเมื่อขาจาน (crank arm) มาขนานกับพื้น ใช้ลูกดิ่งวางจากข้อหมุนของเข่าด้านหน้าลงมาควรจะตรงพอดีกับแกนบันได วัดทั้งสองข้างปรับอานให้เหมาะสม สำหรับไตรกีฬาแนวโน้มที่จะปรับให้แนวเข่าล้ำไปด้านหน้าเล็กน้อยเพื่อเลืยนแบบท่าวิ่ง แต่ปัจจุบันไม่ค่อยนิยมแล้วเนื่องจากว่ากันว่าประสิทธิภาพการปั่นที่เสียไปไม่คุ้มกับความพร้อมในการวิ่งที่จะได้กลับมานั้นมันไม่คุ้มกัน ระยะนี้สามารถปรับละเอียดได้อีกด้วยความยาวของขาจาน (crank arm) แต่ส่วนใหญ่เราไม่ค่อยจะไปยุ่งกับมันเพราะราคาสูง แต่จำไว้นิด ๆ ก็ดีว่าในใจเราอยากให้มันสั้นหรือยาวขึ้นอีกมั้ย เพราะเมื่อถึงเวลาเปลี่ยนอะไหล่ จะได้สั่งความยาวที่เราต้องการ

การปรับที่ผ่านมานี้เป็นการปรับที่สำคัญที่สุดเพราะเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับประสิทธิภาพในการปั่นโดยตรง หลังจากนี้เราควรจะนำจักรยานออกปั่นเพื่อทำความรู้จักกับมัน สังเกตุวิธีการปั่นของเราโดยเฉพาะอย่างยิ่งการหมุนขา การ flex เท้าที่จะส่งผลกับระยะที่เหมาะสมของอาน สังเกตุพฤติกรรมของเราในการเลื่อนก้นไปหน้าหลัง มุมสัมผัสของอานเมื่อปั่นเป็นระยะเวลานาน ๆ ในช่วงนี้พกประแจหกเหลืี่ยมตัวไขหลักอานไปด้วยเพื่อปรับแต่งระหว่างการปั่น เมื่อค่อนข้างพอใจแล้วก็มาปรับแต่งละเอียดของความสูงของ stem หรือ handle bar ซึ่งในปัจจุบันด้วยระบบ treadless ระยะนี้จะปรับได้ไม่มากนัก และบางครั้งอาจจะถูกปรับแต่งมาแล้วเมื่อซื้อจักรยานโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเราใช้เฟรมคาร์บอนไฟเบอร์ การปรับอาจจะทำให้โดยปรับมุมก้มเงยของ stem เพียงเท่านั้น โดยหลักการใครที่ปั่นทัวร์ริ่ง หรือปั่นไปทำงานอาจจะตั้งให้ความสูงของ handle bar อยู่ในระดับเดียวกับอาน ยิ่งปั่นเมืองมากเท่าไร handle bar ก็จะอยู่สูงขึ้นมากเท่านั้น แต่ถ้าเราคุยกับนักปั่น นักแข่งเขาก็จะแนะนำให้ลดความสูงให้ต่ำกว่าอานน้อยบ้าง มากบ้าง เพื่อลด frontal area ของเราตอนปั่น ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นกับหลายสิ่งหลายอย่าง ตั้งแต่ความอ่อนตัวของเราเอง ภาพที่เกิดขึ้นเมื่อเรานั่งปั่น ลองตั้งระยะดูให้เพื่อถ่ายรูปให้ดู เพื่อเทียบกับนักจักรยานที่เราชอบ ลองออกไปปั่นดูว่าเรารู้สึกอย่างไร พกหกเหลี่ยมไปปรับแต่ง

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงจะไม่ตรงไปตรงมาอย่างนั้นมากนัก เพราะเมื่อถึงขึ้นนี้ระยะต่าง ๆ ที่เราสามารถปรับนั้นจะลดลงมาก ถ้าขนาดของเฟรมไม่ถูกต้องตั้งแต่แรกเราจะพบว่าเราแทบจะปรับอะไรไม่ได้เลย ด้วยระบบ threadless stem เราจะไม่มีโอกาสปรับแต่งความสูงของ handle bar นอกจากมุมก้มเงยของ stem เพียงเท่านั้น แต่ระยะดังกล่าวนี้สามารถแก้ไขปรับแต่งได้ด้วยอีกสองสามตัวแปรขึ้นอยู่กับประเภทของจักรยานที่เราใช้ ในกรณีนี้จะพูดถึงเสือหมอบและไตรกีฬาเท่านั้น เพราะประเภทอื่น ๆ นั้นไม่ใช่เรื่องสำคัญอีกต่อไปแล้วในขั้นนี้ ถ้าใช้เสือหมอบ วิธีง่าย ๆ ที่มักจะใช้กันก็คือ เมื่อจับที่ด้านบนของตัวเบรค หรือที่เรียกว่า hood ซึ่งเราจะใช้เวลามากกว่าร้อยละแปดสิบจับที่ตำแหน่งนั้น มองลงไปผ่าน handle bar ไปถึงดุมล้อหน้า ตัวแฮนด์ควรจะบังดุมหน้าพอดี ถ้าไม่พอดีก็สามารถปรับที่ตำแหน่งของ hood ปรับได้เล็กน้อย ความสูงของ stem ปรับได้เล็กน้อยหรือไม่ได้เลย มุมก้มเงยของ stem ซึ่งส่วนใหญ่ปรับได้เพียงก้มหรือเงย ปรับความยาวของ stem นั่นหมายถึงซื้ออันใหม่ ก็จะปรับได้อีกประมาณหนึ่ง ในขณะที่จักรยานไตรกีฬาก็คล้าย ๆ กัน ตำหน่งที่วางแขนของแอโร่บาร์อาจจะปรับความสูงได้เล็กน้อย หรือไม่ได้เลย stem ที่อาจจะปรับสั้นยาว ก้มเงยได้แต่ก็ต้องซื้อใหม่ อย่างไรก็ตามเป้าหมายในการปรับจะต่างกันเล็กน้อยกับเสือหมอบคือพยายามปรับให้มุมของต้นแขนทำกับลำตัวเป็นมุมฉากเมื่ออยู่ในท่าแอโร่เป็นหลัก และมุมเดียวกันนี้จะยังสามารถใช้กับการปั่นเสือหมอบขณะจับที่ hood ได้อีกด้วย ที่มุมนี้การรับน้ำหนักตัวของแขนเราจะค่อนข้างลงตัวครับจะไม่หนักแขน หรือหนักก้นช่วยแบ่ง ๆ กันไป

ทั้งหมดทั้งสิ้นของการปรับด้านหน้าของจักรยานสำหรับการแข่งขันนั้นคือเพื่อสิ่งที่เรียกว่าแอโร่ไดนามิก ยิ่งต่ำยิ่งดี แต่จะแลกกับความสบายในการปั่น ซึ่งยิ่งสูงยิ่งปั่นสบาย ระยะนี้จะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ตามความอ่อนตัวของนักปั่น โดยเฉพาะกล้ามเนื้อหลังและหลังขา นอกจากนี้โดยหลักสรีระศาสตร์ ตำแหน่งต่าง ๆ ของร่างกาย ขา แขนก็ยังส่งผลต่อประสิทธิภาพการใช้กล้ามเนื้อ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อต้นขา เรื่องนี้จะสำคัญมากในกรณีของไตรกีฬาที่มีความพยายามเป็นอย่างมากในการปรับแอโร่ไดนามิก เนื่องจากเป็นการแข่งขันแบบ non-drafting เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งความเป็นแอโร่ไดนามิกด้วยการปรับส่วนหน้า frontal area ไม่ว่าจะเป็นความสูงของบาร์ ความกว้างของที่วางแขน เป็นต้น หลักการคร่าว ๆ ของหลัก ergonomic ของการปั่นคือสร้างมุมปั่นของร่างกาย (ดูรูป) ให้เป็นมุมประมาณ 90 องศา ถ้ามากกว่านี้ประสิทธิภาพตก น้อยกว่านี้ประสิทธิภาพตก

จะเห็นว่าไม่ว่าจะเป็นเสือหมอบหรือไตรกีฬามุมดังกล่าวก็จะยังคงอยู่ ในขณะที่ไตรกีฬาต้องการลด frontal drag ให้มากที่สุดด้วยการก้มให้ต่ำที่สุด ก็ต้องมีการเลื่อนอานมาด้านหน้า เพื่อจะไม่ให้เสีย leverage ของกล้ามเนื้อต้นขาแต่มุมนี้จะยังคงอยู่ ส่วนเสือหมอบที่สามารถ drafting ได้ แอโร่ไดนามิกไม่ใช่เรื่องใหญ่การปั่นสูงขึ้นจะทำให้สบายกว่า ได้ระยะไกลกว่า การหายใจสะดวกกว่า อานจะต้องเลื่อนไปด้านหลังเพื่อคงมุม 90 องศานี้ไว้ จะเห็นว่าแม้ว่าเราจะสามารถเลือกซื้อจักรยานที่มีขนาดแปรค่าในระยะเพียง 2 ซม. เท่านั้น เราจะยังสามารถปรับแต่งให้เข้ากับลักษณะการปั่นของเราเอง เป้าหมายในการปั่นของเราเอง และเช่นเดียวกันแม้ว่าการปรับแต่งไม่ใช่เรื่องยาก แต่สายตาที่มีประสบการณ์ ของ bike fitter มืออาชีพจะยังสามารถช่วยให้เรามีความสุขกับการปั่น ไม่ว่าจะเพื่อสถิติส่วนตัว สุขภาพ หรือแม้กระทั่งความปลอดภัยในท้องถนน

4 Comments

  1. Pingback: Good·Morning·Fit

ให้ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s