Baby Swimming : บทเรียนสำคัญที่ถูกมองข้าม

 

ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาครอบครัวเรามีโอกาสได้ไปว่ายน้ำกันมากขึ้นเนื่องจากเป็นช่วงปิดเทอม (ที่พ่อเลิกงานเร็วกว่าปกติเล็กน้อย) สิ่งที่เราสังเกตุได้จากการพาลูก ๆ ของเราทั้งสองคนในวัยสองขวบครึ่งและขวบสี่เดือนไปเล่นน้ำกันในคราวนี้ และยิ่งไปกว่าช่วงเวลาก่อนหน้านี้ก็คือความสนใจจากผู้คนรอบข้างที่อยู่ในระดับมากมายมหาศาลจริง ๆ ผู้สนใจเริ่มตั้งแต่วัยสิบขวบ ที่ว่ายเวียนมาด้อม ๆ มอง ๆ มาชวนคุย มาถามอายุ หรือแอบนินทากับกลุ่มเพื่อน ๆ อยู่ห่าง ๆ ไปจนถึงคุณยายวัยเจ็ดสิบที่มานั่งเฝ้าหลานของตัวเองเล่นน้ำอยู่ด้านที่ขอบสระ กลุ่มพ่อแม่ที่เริ่มพาลูก ๆ ของตัวเองมาเล่นน้ำ โดยมากจะเป็นลูกที่อยู่ในวัยประมาณ หกถึงแปดขวบ บ้างก็มาเรียนว่ายน้ำ บ้างก็พามาเพื่อเล่นน้ำ

ทุก ๆ คนให้ความสนใจกับลูก ๆ ของเราที่ไม่แสดงอาการกลัวน้ำให้เห็นเลย บางคนก็ชื่นชมว่าเจ้าหนูน้อยตัวเล็ก ๆ ทั้งสองคนทำไมถึงว่ายน้ำได้แล้ว ซึ่งจริง ๆ แล้วทั้งสองคนยังว่ายน้ำกันไม่ได้นะครับ อย่างไรก็ตามพฤติกรรมของทั้งสองคนแสดงให้เห็นถึงความมั่นใจในน้ำ ราวกับว่าสามารถว่ายน้ำกันได้แล้วอย่างไรอย่างนั้น ประกอบกับวัยน้อย ๆ ขนาดตัวเล็ก ๆ ที่ดูเด็กกว่าวัย ปราศจากอุปกรณ์ช่วยในการลอยตัวใด ๆ ทั้งสิ้น ต่างคนต่างกระโดดจากขอบสระตูม ๆ เพื่อที่จะตะเกียกตะกายไปหาพ่อแม่ สภาพการดำน้ำจากพ่อไปหาแม่ หรือแม่ไปหาพ่อ ดูราวกับว่าทั้งสองคนเกิดและโตกันในน้ำเลยทีเดียว มันสร้างคำถาม ความสนใจให้กับผู้คนรอบข้างทุก ๆ วัย (วิดีโอประกอบ)

จริง ๆ แล้วมันไม่ได้เป็นเช่นนี้ในวันแรกที่เราพาลูก ๆ มาเล่นน้ำ นั่นหมายถึงกว่าปีมาแล้ว ที่เราแนะนำพวกลูก ๆ เราให้ทำความคุ้นเคยกับน้ำ แม้ว่าเราไม่ได้เคยรับรู้มาก่อนเลยว่า สาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของเด็กไทยในวันนี้คือ จมน้ำ แต่เป็นเพียงเพราะว่าตัวผมเองชอบว่ายน้ำ และความจริงที่ว่าเราทั้งหมดอาศัยอยู่บน Water World พื้นที่ส่วนใหญ่บนโลกใบนี้เป็นผืนน้ำและเราทั้งหมดใช้ชีวิตอยู่บนเกาะ เราควรที่จะว่ายน้ำเป็นพร้อม ๆ กับเดินให้เป็น นี่เป็นความคิดของผมเอง แต่มันก็อาจจะเป็นเพียงเพราะประสบการณ์การจมน้ำของผมเอง ไม่มีใครรับรู้ เพียงผมยังมีชีวิตอยู่ ลูก ๆ ผมอาจจะไม่ได้โชคดีเหมือนกับผม

527257_533915513318425_731083025_n

เราเริ่มต้นช้าไปนิดหน่อยสำหรับลูกคนแรก, เซน คือ ประมาณ 5-6 เดือนโดยมีเป้าหมายเพียงต้องการให้เขาสามารถกลั้นหายใจเองเมื่อถูกกดลงใต้ผิวน้ำ แต่ได้มาเรียนรู้ในภายหลังว่าถ้าหากเราพาเขามาก่อนหน้านี้เหมือนกับตอนที่ลูกคนที่สองของเรา, ซาช่า ซึ่งอายุประมาณไม่ถึงสามเดือน เด็กทารกสามารถทำอะไรมหัศจรรย์ได้ไม่ต่างจากที่เราเห็นกันใน YouTube (ตัวอย่างวิดีโอ) โดยไม่ยากนัก ผมเพียงแค่ใช้ฝ่ามือรองที่ศีรษะของซาช่าและปล่อยให้เธอลอยตัวได้อย่างเป็นธรรมชาติ ในขณะที่เซนไม่มีโอกาสเช่นนั้นเลย ผมเข้าใจกระบวนการนี้มากขึ้นเมื่อซาช่าโตขึ้นและความสามารถนี้หายไปพร้อม ๆ กับความสามารถในการนั่งของเธอ นั่นใช้เวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์

แน่นอนว่าในเวลานี้ผมพบว่าผมไม่สามารถให้ลูก ๆ ผมผ่อนคลายมากเพียงพอที่จะลอยตัวอย่างวิดีโอตัวอย่างนั่นอีกแล้ว แต่ภายในเวลากว่าสองปีที่เราได้เรียนรู้ เราพบว่ามันยังมีอีกหลายเส้นทางที่เด็ก ๆ ทุก ๆ คนสามารถเดินผ่านไปสู่ความสามารถในการช่วยตัวเองในสระว่ายน้ำได้ เมื่อลูกทั้งสองคนของผมเลยวันที่ผมคิดว่าจะสามารถให้เขาลอยตัวในน้ำอย่างธรรมชาติได้แล้ว ผมจึงตั้งเป้าหมายเบื้องต้นให้เขาไม่จมน้ำเสียก่อน นิยามการจมน้ำของผมจากประสบการณ์ตรงของตัวเองคือ การกินน้ำ การสำลักน้ำ หรือการหายใจเอาน้ำเข้าจมูกหรือปอด ในวัยเด็กที่ผมคิดว่าผมจมน้ำในหลาย ๆ ครั้งนั้น ผมเล่นน้ำอยู่คนเดียว แต่ผมไม่ได้จมน้ำตามนิยามของผมนั่นคือ ผมไม่กินน้ำ ไม่สำลักน้ำ และไม่หายใจเอาน้ำเข้าจมูก ผมเพียงว่ายน้ำไม่เป็น ผมจมลงไปใต้ผิวน้ำจนถึงพื้น และผมก็เดินเข้าหาฝั่ง (หรือบางครั้งคลาน) ก็เพียงเท่านั้น ผมจึงคิดว่าทักษะนี้สำคัญที่สุด

ผมเริ่มด้วยการจุ่มเด็ก ๆ ให้หัวมิดน้ำ (ตัวอย่างวิดิโอ) เริ่มต้นด้วยเสี้ยววินาที และค่อย ๆ เพิ่มเวลาไปเรื่อย ๆ สิ่งสำคัญคือต้องเรียกคิวให้ดี ผมใช้การนับและยกตัวขึ้นเล็ก ๆ ก่อนที่จะกดลงน้ำ ผมใช้กิจกรรมจมน้ำนี้ร่วมกับกิจกรรมอื่น ๆ ที่ลูก ๆ ชอบ ไม่ว่าจะเป็นการกระโดดจากขอบสระ (ตัวอย่างวิดีโอ) การลากไปมาบนผิวน้ำ ไปจนถึงการเข้าหาขอบสระเพื่อเกาะ เราสังเกตุความสามารถของลูก ๆ ในการกลั้นหายใจ ทั้งระยะเวลาในการกลั้นหายใจ ไปจนถึงความสามารถในการกลั้นหายใจทันที่ที่ต้องการ จากการบอกคิวแบบชัด ๆ จะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นการไม่บอกคิวเลย จากช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ไปจนนานเท่าที่เราคิดว่าเขาจะทำได้

ผมใช้หลายกิจกรรมเพื่อเพียงให้เขาสามารถกลั้นหายใจในน้ำได้เมื่อต้องการ และทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่จำเป็นได้เมื่ออยู่ใต้น้ำ โผไปหาขอบ เกาะโฟม กระโดดขอบสระ ลงไปหยิบของเล่นที่พื้นสระ หรือลงไปยืนบนพื้นสระ เป็นต้น ผมได้เรียนรู้ว่าการสอนลูกในการกลั้นหายใจนี้ เป็นการหัดพ่อแม่มากพอ ๆ กันกับหัดลูก ๆ เลยทีเดียว การอ่านหน้าตาท่าทางของลูกขณะทำกิจกรรมต่าง ๆ นั้นสำคัญมาก เพราะประสบการณ์ที่ไม่ดีทั้งหมดจะทำให้กิจกรรมต่าง ๆ ในอนาคตเป็นไปด้วยความยากลำบาก ในช่วงแรกของการหัดกลั้นหายใจนั้น บางครั้งเราสามารถทำกับเขาได้เพียงหนึ่งครั้งต่อวันเท่านั้น แต่ในบางครั้งเขาก็ยอมให้ทำได้หลายครั้ง เมื่อเขาเริ่มกลั้นหายใจได้ตามคิวที่บอกแล้ว ผมเริ่มหัดให้เขาทั้งสองเป่าปากในน้ำ เพียงเพื่อให้เขาเข้าใจว่าเมื่ออยู่ใต้น้ำสิ่งที่ควรทำคือหายใจออกไม่ใช่หายใจเข้า เมื่อรวมกิจกรรมทั้งหมดเข้าด้วยกัน การสอนให้ลูก ๆ เล็ก ๆ ไม่จมน้ำเป็นเรื่องไม่ยากเลย

ปัจจุบันเราอยู่ในสถานะการที่กำลังค่อย ๆ สอนให้เขาดำน้ำ หรือพาตัวเขาไปที่ต่าง ๆ ในขณะกำลังกลั้นหายใจในระยะทางที่ใกลขึ้นได้ ผมเองยังไม่มีเจตนาที่จะสอนการว่ายน้ำ เช่นเตะขา หรือการใช้มือให้กับพวกเขา ผมยังอยากเรียนรู้ว่าธรรมชาติจะสอนเราอย่างไรเมื่อเราไม่จมแล้ว แต่ต้องการช่วยตัวเองจากสถานะการณ์ตกน้ำนี้ให้ได้ ผมเริ่มเห็นเซน ลูกคนโต เข้าใจในสถานะการณ์และพยายามทดลองด้วยตัวเองในหลาย ๆ วิธีการที่จะเคลื่อนตัวเองไปในทิศทางที่ต้องการ ทดลองที่จะให้พ่อแม่ออกห่างจากขอบสระมาก ๆ เพื่อที่เขาจะได้ว่ายเข้าไปหา เป็นต้น จากประสบการณ์เล่นน้ำด้วยกันสี่คนพ่อแม่และลูกทั้งสอง ผมว่ามันคุ้มค่ามาก ๆ ครับ นอกเหนือจากทักษะการช่วยตัวเองกับน้ำที่พวกเขาจะได้หัดแล้ว เวลาของครอบครัวเราเพิ่มขึ้นอย่างมากมายมหาศาล ถ้าไม่เชื่อก็ลองดูครับ (ตัวอย่างวิดีโอ) การเอาเด็กขึ้นจากสระว่ายน้ำไม่ใช่เรื่องง่ายเลย และเมื่อมีสองคนด้วยละก็ อย่าให้บรรยายเลย

ให้ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s