วันนี้ผมมีโอกาสได้เข้าร่วมพิธีเปิด Eco-Library ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน พื้นที่ห้องสมุดไม่ใหญ่ไม่เล็ก ที่เปิดให้บุคคลทั่วไปได้เข้าใช้ มีปริมาณหนังสือไม่มากไม่น้อยไปกว่าห้องสมุดชุมชนตามจังหวัดใหญ่ ๆ ทั่วไป การตกแต่งภายใน และหนังสือบางส่วนเน้นย้ำสิ่งที่ ผศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หนึ่งในหัวเรือใหญ่ในการก่อตั้งห้องสมุดแห่งนี้ พยายามสื่อสารให้กับสาธารณะชนได้ตระหนัก Recycle Now!
เช่นเดียวกับธุรกิจอื่น ๆ ที่เริ่มต้นโดย อาจารย์สิงห์ Eco-Library อาจจะไม่ได้ช่วยลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้นในปริมาณที่สามารถวัดได้ เมื่อเทียบกับปริมาณขยะที่มนุษย์เราสร้างขึ้นในแต่ละวัน แต่ความมุ่งมั่นที่จะสร้าง awareness และ แสดงตัวอย่างความเป็นไปได้ในการสร้างธุรกิจจากเศษขยะ ที่ไม่ใช่ธุรกิจพื้นฐานอย่างเช่น ธุรกิจรับซื้อ รีไซเคิล หรือทำลาย แต่เป็นธุรกิจสร้างสรรค์ ในการทำผลิตภัณฑ์จากเศษสิ่งของเหลือใช้ให้กลายเป็นเฟอร์นิเจอร์และของใช้ตกแต่งในบ้าน อาจารย์สิงห์ สามารถโหนกระแส หรืออาจจะเป็นผู้สร้างการแส ของการรีไซเคิลในวงการธุรกิจของเมืองไทย ผ่านโครงการหลากหลายโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล และได้รับการตอบสนองอย่างดีจากภาคเอกชน แน่นอนว่าแม้ในระดับที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ จะได้รับความสนใจจากผู้คนในวงกว้าง ปริมาณขยะที่ลดลงจากโครงการทั้งหมดก็ยังไม่สามารถเทียบได้กับปริมาณขยะที่เราสร้างขึ้นในแต่ละวัน แต่ทุกการเดินทางต้องมีจุดเริ่มต้น และนี่เป็นการก้าวย่างแรกที่มั่นคงแข็งแรง
โอซิซุ แบรนด์สินค้าที่ใช้วัสดุเหลือใข้เพื่อทำมาเป็นเฟอร์นิเจอร์ และของใช้ตกแต่งในบ้าน ที่อาจารย์สิงห์ร่วมกันสร้างกับหุ้นส่วนได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ มีสินค้าใหม่ ๆ วัสดุหลากหลาย ออกสู่ท้องตลาดอย่างสม่ำเสมอ โครงการลดขยะ รีไซเคิล ผ่านงานสร้างสรรค์ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล นอกจากจะสร้างผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มจากเศษขยะเหลือใช้ในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย ยังช่วยเปิดมุมมองกับนักธุรกิจในการช่วยรักษาสภาพแวดล้อมในขณะที่มีรายได้เกิดขึ้นจากความพยายามดังกล่าว นักศึกษาที่ผ่านการเรียนรู้จากอาจารย์สิงห์ เริ่มเป็นส่วนหนึ่งของแรงผลักดันต่าง ๆ ของสังคม ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแบรนด์สินค้าใหม่ ๆ สร้าง awareness ต่าง ๆ ไปจนถึงความพยายามล่าสุดที่ใช้วัสดุรีไซเคิลในงานตกแต่งภายในของร้าน Scrap Shop ร้านค้าที่ขายสินค้าจากห้องวิจัยรีไซเคิลของอาจารย์สิงห์เอง ไปจนถึงการตกแต่งภายในของ Eco-Library แห่งนี้
พิธีเปิดห้องสมุดเป็นไปอย่างเรียบง่าย แต่แฝงไปด้วยความยิ่งใหญ่และได้รับความสนใจจากผู้คนจากหลากหลายสาขาอาชีพ เมื่อได้เห็นความสนใจของสาธารณะชนต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคอนเซปของพื้นที่สาธารณะ ความสนใจต่อส่วนประกอบของห้องสมุดที่เป็นเฟอร์นิเจอร์ และอุปกรณ์ตกแต่งทั้งหมด ที่ล้วนแล้วแต่่ผ่านการถูกทอดทิ้งก่อนที่จะมาถูกชุบชีวิตจนมีสีสันที่ใคร ๆ ก็ไม่สามารถอดใจยื่นมือเข้าไปสัมผัส เพ่งมองพิจารณาอย่างพินิจพิเคราะห์ว่าในอดีตสิ่งเหล่านี้ ได้เคยผ่านชีวิตในหน้าที่อย่างไรมา ปรากฎการณ์วันนี้สร้างความหวังให้กับอนาคตที่น่าจะเรียกได้ว่าน่าจะสดใสกว่าวันนี้ อย่างไม่ต้องสงสัย
ผมได้มีส่วนเข้ามามีส่วนร่วมกับโครงการนี้ ในฐานะฟันเฟืองตัวเล็ก ๆ ที่สนับสนุนเก้าอี้ที่เตรียมจากเศษยางรถยนต์บรรทุกที่ผ่านใช้งานจนหมดอายุขัย ผลิตภัณฑ์ที่เริ่มจากความเป็นคนรู้จักห่าง ๆ ผ่านนักศึกษาในความดูแลของอาจารย์สิงห์คนหนึ่งเมื่อนานมาแล้ว วัสดุจากเศษยางรถยนต์บรรทุกได้ถูกเตรียมขึ้นโดยอาศัยเทคนิคการประสานด้วยพอลิยูริเทน พอลิเมอร์ประเภทหนึ่งในจำพวกเทอร์โมเซท ที่มีความยืดหยุ่นในการออกแบบมากที่สุดประเภทหนึ่ง จากวัสดุชิ้นเล็ก ๆ ที่หยิบยื่นให้กับอาจารย์สิงห์ เพื่อเป็นโจทย์ในการออกแบบเพื่อการใช้ประโยชน์ อาจารย์สิงห์ใช้เวลาไม่นานนัก เก้าอี้จากเศษยางรถยนต์บรรทุก ที่มีชื่อน่ารัก ๆ ว่า Canele’ ก็ถือกำเนิดขึ้นบนแผ่นกระดาษ และกลับกลายมาเป็นโจทย์ให้กับผมเองในการที่จะ frabricate วัสดุนี้ให้เป็นไปตามความฝันของอาจารย์สิงห์ ซึ่งผมต้องออกตัวว่าไม่ใช่งานที่ง่ายเลยทีเดียว
จากวัสดุที่ถูกพัฒนามาเพื่อเตรียมผลิตภัณฑ์ที่มีรูปแบบเป็นสองมิติ กลับถูกตีโจทย์ใหม่ให้มีการขึ้นรูปในลักษณะที่เป็นสามมิติ นับจากวันที่เริ่มรับโจทย์จนมาถึงวันนี้ที่เจ้า Canele’ บางส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการ Eco Library นี้ มีเพียงตัวเดียวเท่านั้นที่สามารถขึ้นรูปได้ตามที่อาจารย์สิงห์ได้ออกแบบมา แต่นั่นก็เป็นเพียงการขึ้นรูปตามขนาดที่ได้ออกแบบมาเท่านั้น ยังมีปัญหาที่เหลืออีกหลายส่วนกว่าที่ผมจะตีโจทย์ข้อนี้จากอาจารย์สิงห์ได้ทั้งหมด มันช่างเป็นงานที่สนุกท้าทายมากจริง ๆ (คลิปการเตรียม Canele’)
ขอบคุณอาจารย์สิงห์ที่ส่งโจทย์มันส์ มาให้เล่น ขอบคุณนักศึกษาทุกคนที่เป็นส่วนหนึ่งในการเดินทางครั้งนี้ การเดินทางยังไม่สิ้นสุด ขอบคุณทุกคำสบวิจารณ์ ความไม่เป็นวิทยาศาสตร์ของโครงการ ที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของโครงงานวิทยาศาสตร์ ผมเองคงไม่เข้าใจว่าความเป็นวิทยาศาสตร์ที่เกิดขึ้นเพียงกระบวนการวัด เก็บ บันทึก ข้อมูลเพื่อสะสมปริมาณข้อมูลที่แทบไม่มีส่วนในการแก้ไขปัญหาใด ๆ เลย มันน่าเบื่อเท่าใด และการแก้ไขปัญหาสนุก ๆ โดยใช้ทักษะ กระบวนท่าทั้งทางวิทยาศาสตร์และอื่น ๆ ที่มีค่อยจะวิทยาศาสตร์มันให้ผมมากกว่ามากเพียงใด