Swim : The Dreadful Leg No More

เมื่อเช้าผมตื่นสายมาเจอกับข้อความจากพี่อ้อ ขาแรงล้อเล็ก “พี่มีโปรแกรมว่ายน้ำสำหรับ 2 อาทิตย์มั้ยครับ” ด้วยความงุนงง ผมต้องถามกลับไปมาอยู่นานจนได้ความว่า อีกสองสัปดาห์จะลงแข่งหัวหินไตรกีฬา ระยะ 1500 ม. แต่ยังไม่ได้ซ้อม อยากได้ยาแรง ผมเลยย้อนกลับไปว่า “สัปดาห์ละสามวัน ลง 1500?” พี่อ้อก็ยืนยันว่าโอเค ผมเลยจัดตารางแบบเร็ว ๆ ให้หนึ่งตาราง หน้าตาเป็นแบบนี้

Screen Shot 2015-08-05 at 11.05.21 PM

แต่พี่ก้อกลับตอบกลับมาว่า “ขอภาษาไทยได้มั้ยพี่” ผมจึงพยายามอธิบายตัวย่อต่าง ๆ ให้แต่ดูท่าพี่อ้อก็ยังไม่พึงพอใจ ผมจึงคิดว่าผมน่าจะเขียนบทความง่าย ๆ อันนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นไอเดียให้เพื่อน ๆ หลาย ๆ คนที่อาจจะไม่ถนัดว่ายน้ำ แล้วรู้สึกว่าการซ้อมว่ายน้ำนั้นเป็นยาขมของการเล่นไตรกีฬา และขอเพียงแค่ซ้อม ๆ ไปให้ได้ตามระยะเป็นเท่านั้น จริง ๆ แล้วการซ้อมว่ายน้ำเป็นส่วนที่สนุกที่สุดอันหนึ่งของไตรกีฬา เพราะเป็นหนึ่งกีฬาที่เราสามารถซ้อมแบบไหนก็ได้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นการซ้อมยาว ๆ ไม่ต้องคิดอะไร การฝึกเทคนิคเป็นบ้าเป็นหลัง หรือว่าการซ้อมความเร็วแทบทุก ๆ วันก็ไม่ทำให้ร่างกายกรอบได้โดยง่าย ต่างจากการวิ่งหรือปั่นจักรยาน ก็เลยคิดว่าเอาแนวคิดการซ้อมว่ายน้ำแบบบ้าน ๆ ที่ผมชอบใช้มาอธิบายให้ฟังจากตัวอย่างจริงน่าจะเป็นประโยชน์ต่อหลาย ๆ คน

ก่อนอื่นขอเริ่มจากแปลตารางด้านบนให้เป็นภาษาไทยก่อน วิธีการเตรียมซ้อมว่ายน้ำสำหรับคนขี้เกียจอย่างผมคือ ซ้อมให้ได้ระยะที่จะแข่ง หรืออาจจะเลยนิด ๆ แต่จะไม่ใช่แบบว่ายยาว ๆ ต่อเนื่อง เพราะผมเบื่อ ผมจะรวมทั้งการอบอุ่นร่างกาย การฝึกเทคนิค และการว่ายผ่อนคลาย เข้าไปกับตารางซ้อมหลัก ให้ได้ระยะโดยไม่สนใจว่าในวันจริง ๆ เราอาจจะต้องว่ายต่อเนื่อง เพราะผมคิดเอาว่าในวันจริง ๆ เลวร้ายที่สุดก็ว่าย ๆ หยุด ๆ แบบที่ซ้อมนี่แหละ มันก็ถึงเองได้  ทีนี้ก็มาดูที่ตารางภาษาไทย

Screen Shot 2015-08-05 at 11.04.31 PM

จากตารางจะเห็นว่าผมแบ่งการซ้อมออกเป็น 4 กลุ่ม คือ WU, Drill, MS, WD ซึ่งมีเป้าหมายหรือแนวคิดตามนี้ WU ผมใช้เพื่ออบอุ่นร่างกาย คล้าย ๆ ยืดเส้นยืดสายเพราะผมขี้เกียจที่จะยืดเส้นบนบก ส่วนใหญ่ผมจะว่ายแบบยืด ๆ ไม่เร่ง ช้าบ้างเร็วบ้าง แต่ว่ายทีไรช่วงวอร์มอัปนี่เพซเร็วที่สุดอยู่เรื่อยเลย  หลังจากนั้นผมก็มาฝึกทักษะ แล้วแต่ที่นึกออกจะฝึก ทักษะ หรือ Drill ที่ผมชอบที่สุดคือ การว่ายกำมือ เพราะมันจะทำให้ผมรู้สึกถึงน้ำได้ดีขึ้น อีกทักษะที่ผมชอบเล่นคือ Catch Up คือ การว่ายแบบให้มือมาประกบกันด้านหน้าก่อนที่จะเริ่มดึงมืออีกข้าง การฝึกนี้จะช่วยให้ผมหมุนแขนเร็วขึ้นเนื่องจากลดความเคยชินที่จะยืดมือนำออกไปนานจนเกินไป พอจบจากการฝึกทักษะก็เข้าสู่การซ้อมจริง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ผมก็จะว่ายไม่เร็วมาก แค่ประมาณ race pace หรือ ความเร็ว 1000m TT (ความเร็วที่ผมทำได้ตอนว่ายจับเวลา 1000 ม.) เพราะเป้าหมายของผมคือ เพื่อให้ผมคุ้นเคยกับความเร็ว คุ้นเคยกับความรู้สึกที่ความเร็วที่ต้องการใช้แข่ง ผมมักจะไม่ว่ายยาว ๆ มาก ๆ เพราะมันทำให้เสียโอกาสในการดูเวลา แล้วปรับความเร็ว ผมอาจจะว่ายแค่ 100 ม. หลาย ๆ รอบ พยายามคงความเร็วให้แม่น ๆ หรือ อาจจะว่าย Build เพื่อจะหาความรู้สึกว่าทำอย่างไรคือการว่ายช้า แล้วอย่างไรคือการเร่งความเร็ว คล้าย ๆ กับการฝึกเหยียบคันเร่ง อาจจะมีการยืดระยะออกเป็น 300, 400 เพื่อดูความสามารถในการควบคุมความเร็วเมื่อระยะยาวขึ้น ทั้งหมดทั้งสิ้นสิ่งที่ผมต้องการคือ การว่ายความเร็วคงที่ ที่ความเร็วที่ผมวางแผนไว้เพื่อใช้ในการแข่งขันที่จะมาถึง สุดท้ายก็จบด้วยการว่ายยืดเส้นยืดสาย ส่วนใหญ่ผมจะเปลี่ยนท่าว่าย อาจจะเป็นว่ายกบ อาจจะมีการเตะขาในช่วง warm down นี้  ที่พิเศษให้เห็นในตารางด้านบนนี้ในวันสุดท้าย นั่นคือบางครั้ง ในวันซ้อมเบา ๆ ผมอาจจะว่ายโดยไม่สนใจความเร็วมากนัก แต่อาจจะพยายามใส่ใจเรื่องเทคนิค เช่น เน้นท่าสวยตามที่ได้เรียนรู้มา นับแขนให้สม่ำเสมอ อาจจะมีการใช้ Paddle มีการใช้ Pull Buoy ส่วนใหญ่เพื่อจะสังเกตุการดึงมือของผมที่ค่อนข้างมีปัญหาดึงไม่สมมาตรกัน

หลัก ๆ ในการซ้อมว่ายน้ำ ผมก็ทำแค่นี้ครับ ซ้อมแบบนี้ ไม่อาจจะพาคุณขึ้น Podium ได้ แต่รับรองว่าจะทำให้คุณสนุกกับการซ้อมว่ายน้ำได้อีกเยอะ และพาคุณไปเล่นไตรแบบไม่กังวลกับการว่ายน้ำอีกเลย นอกเหนือจากการประเมินเวลาการแข่งขันได้อย่างแม่นยำอีกด้วย