Heart Zone Training Essential


ผมเริ่มใช้ HRM ในการฝึกซ้อมมาตั้งแต่ Polar ออกสินค้าสำหรับผู้ใช้ระดับทั่วไปนับเป็นเวลาเกือบ 20 ปีแล้ว แม้ว่าช่วงแรกอุปกรณ์ในการวัด HR ยังไม่ค่อยแม่นยำมากนักและมีปัญหาบ่อยครั้ง จนกระทั่งผมหยุดใช้ไปเมื่อ chest strap ต้องซื้อใหม่ในราคาสูงใกล้เคียงกับนาฬิกา ผมเพิ่งกลับมาใช้ HR อีกครั้งได้ไม่นานนักหลังจากหันไปใช้ระบบ RPE หรือออกกำลังตามความรู้สึก ซึ่งไม่ค่อยดีกับนักกีฬาใจเสาะอย่างผม อะไร ๆ ก็จะเหนื่อยไปซะหมด ผมพบว่าระบบ HRM ใหม่ ๆ แม่นยำ และใช้งานได้สะดวกขึ้นมาก อีกทั้งราคาของอุปกรณ์อยู่ในระดับที่หลาย ๆ คนจับต้องได้ แถมยังไม่ให้เลือกหลากหลายรูปแบบและดีไซน์ ผมจึงคิดว่าการเรียบเรียงหนังสือที่ผมซื้อมาพร้อม ๆ กับนาฬิกา Polar เมื่อ 20 ปีที่แล้วน่าจะมีประโยชน์กับหลาย ๆ คน ผมอ่านกลับไปมาหลายครั้งในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมาเพื่อเตรียมพร้อมกับการออกตารางซ้อมสำหรับไอรอนแมนครั้งแรกของผม เมื่อเวลาเหลือไม่มากนัก (20 สัปดาห์) การซ้อมอย่างมีประสิทธิภาพจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ผมยังพบว่าหนังสือเล่มนี้ยังค่อนข้างมีข้อมูลที่ทันสมัยใช้งานในระดับพื้นฐานได้ดีเลยทีเดียว ซึ่งส่วนหนึ่งผมได้กล่าวถึงไปบ้างแล้ว ในบทความเกี่ยวกับการใช้ HRM ซึ่งได้พูดถึง Max HR และ Zone ต่าง ๆ คร่าว ๆ เป็นพื้นฐาน

หนังสือเล่มนี้ใช้ชื่อว่า SMART HEART : High Performance Heart Zone Training ซึ่งเขียนโดย Sally Edwards เป็นรูปเล่มแบบเย็บห่วง ซึ่งเป็นหนังสือเล่มแรกของของ Sally ที่เป็นแนวหน้าในเรื่องของการใช้ HRM ในการออกกำลังกาย และเป็นเจ้าของระบบที่เรียกว่า HZT : Heart Zone Training system ในปัจจุบันไม่สามารถหาซื้อได้แล้ว แต่หนังสือที่เกี่ยวกับ HZT และการใช้ HRM อีกกว่า 20 เล่มนั้นยังหาซื้ออ่านกันได้จากอเมซอนครับ ผมพยามยามจะไม่ให้เป็นการลอกหนังสือออกมาเพื่อให้เราไม่ต้องซื้อหนังสือ แต่พยายามสรุปในรูปแบบของการรีวิวร์เพื่อให้มีข้อมูลเพื่อใช้ที่เพียงพอ และค้นหาเพิ่มเติมถ้าต้องการครับ

51YxGSkHojL._SY344_BO1,204,203,200_

Max HR : จุดเริ่มต้นของทุกสิ่ง

เนื่องจาก Heart Zone ที่จะใช้ในการออกกำลังนั้น เป็นร้อยละของ Max HR ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดของการใช้ระบบนี้คือการหา Max HR หนังสือได้กล่าวถึงความไม่เที่ยงตรงของวิธีการคำนวณที่มากับ HRM ทั้งหมดและวิธีง่าย ๆ ทั้งหลายแต่จะเน้นให้มีการหาจากการทดสอบง่าย ๆ มากกว่า รวมไปถึงการกล่าวถึงทฤษฎีต่าง ๆ ที่เกี่ยวของกับ Max HR ซึ่งผมได้เขียนถึงวิธีการหามาแล้วจึงไม่ขอกล่าวถึงอีก สามารถอ่านได้จากบทความก่อนหน้านี้ครับ

ในการออกกำลังกายจะแบ่ง Heart Zone ออกเป็น 5 Zone ซึ่งคำนวณตามร้อยละของ Max HR (MHR) ตามนี้

  1. Healthy Heart Zone : 50-60% MHR
  2. Temperate Zone : 60-70% MHR
  3. Aerobic Zone : 70-80% MHR
  4. Threshold Zone : 80-90% MHR
  5. Redline Zone : 90-100% MHR

เป็นที่สังเกตุครับว่า คำว่าโซนนั้น มีหลาย ๆ อย่างที่ต้องทำความเข้าใจอยู่ไม่น้อย

  1. โซน เป็นเรื่องของตัวบุคคล HR 160 bpm อาจจะอยู่โซน 4 ของบางคนแต่อาจจะเป็นโซน 2 ของบางคน
  2. โซน เป็นคำเรียกของช่วงที่มีความกว้างประมาณหนึ่ง ประกอบไปด้วย พื้น เพดาน และจุดกึ่งกลางของโซน
  3. โซน เป็นการแบ่งสัดส่วนของอัตราการเต้นของหัวใจที่จริง ๆ แล้วเป็นความต่อเนื่อง
  4. โซน จะใช้เวลาเป็นตัววัดปริมาณในการออกกำลัง ไม่ใช่ระยะทาง หรือความเร็ว

Scan 2

จะเห็นว่าเวลาเราคุยกันเรื่องโซนในการออกกำลังกาย หรือ คุยกันถึงการออกกำลังกายทั่ว ๆ ไป โดยใช้ระบบโซนนั้น ความเข้าใจในหัวข้อทั้งสี่เป็นปัจจัยที่สำคัญ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อมีการนัดไปปั่นกันบนทางเขียวกันประมาณ 4 รอบที่โซนสอง นั่นหมายความคร่าว ๆ ว่า ผมเองต้องการออกกำลังกายเบา ๆ Temperate Zone เป็นระยะเวลาประมาณ 3 ชั่วโมงเศษ ๆ เพื่อน ๆ ที่อยุ่ในแกงค์เดียวกันก็จะพอประเมินความหนักเบาของการเชื้อเชิญครั้งนี้ของผมได้ เพราะพอจะรู้ว่าผมปั่นโซนสองเข้ากับความเร็วของเขาที่ประมาณโซนไหน และเจตนาของการซ้อมคืออะไร ใช้เวลาประมาณเท่าไร เป็นต้น

เมื่อเรามองการแบ่งโซนออกเป็น 5 โซนข้างต้นจะเห็นชัดว่า โซน 1-2 จะเป็นกลุ่มที่เรียกว่า Healthy Zone นั่นคือ ถ้าต้องการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพโดยทั่วไป นี่คือโซนที่สามารถใช้งานได้ไปตลอดชีวิต ในขณะที่โซน 4-5 เป็นกลุ่มที่เรียกว่า Performance Zone เป็นกลุ่มที่ถูกใช้เพื่อการพัฒนาสมรรถนะของร่างกายให้พัฒนาขึ้นในขึ้นสูงที่สุด โดยที่มีโซนที่ 3 คั่นกลางโดยโซนนี้เรียกว่า Aerobic Zone เป็นโซนที่ถูกแนะนำในการใช้งานมากที่สุดที่จะสร้างความแข็งแรงของระบบหัวใจและระบบสูบฉีดเลือด จริง ๆ แล้วโซนนี้ถูกทำให้โด่งดังมากว่าสี่สิบปีที่แล้วตามกระแสการเต้นแอโรบิกนั่นเอง ผมจะขอกล่าวถึง 3 โซนสำคัญคือ โซน 2-4 ที่จะใช้ในการฝึกซ้อมกีฬาในระดับมือสมัครเล่นเพื่อสร้างความเข้าใจและการเลือกใช้งานให้เหมาะกับเป้าหมาย เริ่มต้นด้วย

10153797_10203525092745705_3508652785004196214_n

โซน 2 : Temperate Zone 60-70% MHR

โซนนี้ถูกใช้เรียกเป็นโซนมหัศจรรย์ ที่มีสองกลุ่มที่ได้ประโยชน์อย่างมากจากโซนนี้ คือ กลุ่มคนที่ต้องการลดน้ำหนักหรือปรับสัดส่วนของร่างกาย และกลุ่มนักกีฬาระยะอัลตรา (ออกกำลังกายเกิน 3 ชั่วโมง) เนื่องจากในการออกกำลังกายในโซนนี้ร่างกายจะใช้พลังงานในอัตราส่วน 10% แป้ง 85% ไขมัน และ 5% โปรตีน ซึ่งจะเป็นว่าร่างกายจะใช้พลังงานจากไขมันเป็นสัดส่วนที่สูง และจริง ๆ แล้วเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุด ซึ่งแม้ว่าในโซนที่ 3-4 จะต้องใช้พลังงานโดยรวมสูงกว่า แต่การออกกำลังกายในโซน 2 เป็นระยะเวลานาน ๆ จะทำให้สัดส่วนของการใช้ไขมัน ไม่ว่าจะเป็นจากอาหารที่เพิ่งทานเข้าไปหรือจากร่างกายในกล้ามเนื้อ ในกระแสเลือดมีปริมาณที่สูงกว่า ซึ่งส่งผลให้ลดการสะสมหรือลดปริมาณไขมันโดยรวม แม้ว่าจะมีการกินอาหารทดแทนเข้าไปในปริมาณเท่าเดิมก็ตาม (แบบไม่ได้ชดเชยไขมัน) ก็จะส่งผลให้ร้อยละไขมันในร่างกายจะค่อย ๆ ลดลง เนื่องจากมีการใช้ไขมันมากกว่าการกินเข้าไป กิจกรรมนี้ให้ผลดีสองเด้ง เพราะเมื่อปริมาณสัดส่วนไขมันน้อยลงที่น้ำหนักตัวเท่าเดิมนั่นหมายความว่ามีสัดส่วนของ lean mass สูงขึ้น ทำให้ร่างกายต้องการพลังงานที่สูงกว่าแม้ว่าจะนั่งเฉย ๆ นั่นเป็นสาเหตุที่หลาย ๆ คนเห็นว่านักกีฬากินมหาศาลอย่างไรก็ไม่ยอมอ้วน สำหรับนักกีฬาอัลตราการฝึกซ้อมในโซนสองมีความสำคัญเป็นอย่างมากในการฝึกร่างกายให้ใช้ไขมันเป็นส่วนสำคัญของพลังงานสะสม เนื่องจากไขมันมีพลังงานมากกว่าอย่างอื่นถึง 2 เท่า ร่างกายจึงพยายามสะสมเก็บไว้ใช้มากกว่าจะนำเอามาใช้ในทันที อย่างไรก็ตามในการออกกำลังกายในโซนที่สองนั้น ช่วยให้มีการใช้งานไขมันได้มากกว่าโซนอื่น ๆ มาจากสามเหตุผลคือ

  • ขั้นแรก fat mobilization เมื่อมีการใช้พลังงานไขมันที่ถูกเก็บในเซลในรูปของไตรกลีเซอไรด์จะถูกเอนไซน์ย่อยออกมาเป็นรูปของกรดไขมันเพื่อให้ออกมาจากเซลเข้าสู่กระแสเลือดไปใช้งานได้ ถ้าหากมีการออกกำลังในโซน 3-4 การเกิดกรดแลกติกจะทำให้การทำงานของเอนไซน์ถูกยับยั้ง ไขมันจะไม่ถูกเคลื่อนออกมาจากเซลเพื่อมาใช้งาน
  • ขั้นที่สอง ปริมาณเลือดที่ไหลเวียนในบริเวณที่มีเซลไขมันจะค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ ถ้าหากออกกำลังกายหนักขึ้น เพื่อนำเลือดไปเลี้ยงส่วนที่เป็นกล้ามเนื้อมากขึ้น ในขณะที่โซนสองเลือดจะยังสามารถเข้าไปเลี้ยงส่วนที่ไม่ใช่กล้ามเนื้อชั้นที่มีไขมันได้มากขึ้นซึ่งส่งผลให้ fat mobilization จากขั้นแรกนั้นถูกนำเข้ากระแสเลือดอย่างมีประสิทธิภาพ
  • ขั้นที่สาม เลือดที่ไปขนกรดไขมันปริมาณมากเพียงพอมาจากเซลไขมันทั้งหลายเมื่อท้ายสุดถูกนำไปใช้งานที่เซลกล้ามเนื้อ mitrocondria ที่เป็นโรงงานผลิตพลังงานจะสามารถนำกรดไขมันเหล่านี้ไปใช้ได้ต้องอยู่ในสภาวะที่มีออกซิเจน ซึ่งถ้าร่างกายออกกำลังเลยไปโซนที่ 4 จะทำให้ในที่สุดแล้วก็ไม่สามารถเปลี่ยนกรดไขมันเหล่านี้เป็นพลังงานได้อยู่ดี และต้องเปลี่ยนไปใช้แป้งทดแทน

Scan

เมื่อเราฝึกซ้อมในโซนสองเป็นระยะเวลานาน ประสิทธิภาพในการทำงานของร่างกายในสามขั้นตอนนี้จะดีขึ้นเรื่อย ๆ ระบบ fat mobilization ของเราจะดี ร่างกายสามารถหันมาใช้งานไขมันได้เก่งขึ้น ๆ เรื่อย ๆ และมันจะสำคัญกับนักกีฬาอัลตรา เพราะปริมาณพลังงานที่สะสมในกล้ามเนื้อในรูปของไกลโคเจน ที่หลาย ๆ คนคุ้นเคยกับกิจกรรมที่เราชอบทำกันก่อนการแข่งขันนั่นคือการโหลดคาโบร์ คือการนำเข้าแป้งเข้าไปสะสมที่กล้ามเนื้อในรูปของไกลโคลเจนนั่นเอง โดยประมาณแล้วความสามารถในการสะสมไกลโคลเจนในกล้ามเนื้อจะมีให้ใช้ได้เพียงประมาณ 3 ชั่วโมงเท่านั้นเอง ซึ่งทำให้นักวิ่งมาราธอนมือสมัครเล่นทั้งหลายเริ่มต้องมีการกินอาหารเพิ่มเติมในการแข่งขัน แน่นอนว่าการซ้อมเพื่อเพิ่มปริมาณการเก็บสะสมนั้นก็เป็นสิ่งจำเป็น โดยคนทั่ว ๆ ไปอาจจะสะสมไว้ใช้ได้แค่ประมาณ 1.5-2 ชั่วโมง การซ้อม LSD เพื่อใช้งานไกลโคลเจนให้หมด แล้วกินชดเชยเข้าไปใหม่ทำให้ร่างกายสะสมเพิ่มขึ้นก็เป็นวิธีการหลัก ๆ ที่นักกีฬาคนอึดใช้กันเสมอมา อย่างไรก็ตาม สามชั่วโมงกว่า ๆ ถือว่าเข้าใกล้ลิมิตของการสะสมของเราแล้ว เมื่อการไกลโคลเจนค่อย ๆ หมดไปเรื่อย ๆ สัดส่วนของการใช้ไขมันเป็นพลังงานจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเวลาผ่านไปมากขึ้น และถ้าระบบ fat mobilization ไม่มีประสิทธิภาพก็จะเกิดการขาดพลังงานได้ อาการคือเครื่องของคุณจะอืดลงเรื่อย ๆ ตามความสามารถในการ mobilize fat  ของคุณ ถ้าระบบส่วนนี้ของคุณดีขึ้น ไกลโคลเจนของคุณก็จะหมดช้าลง โอกาสที่คุณจะเติมพลังงานในรูปแบบอื่น ๆ ระหว่างทาง เข้าสู่กระแสเลือดก็มีมากขึ้น นั่นคือหลังจากที่ไกลโคลเจนในกล้ามเนื้อหมด ทุกอย่างที่คุณใช้จะอยู่ในเลือดในรูปของ แป้ง/น้ำตาลในเลือด กรดไขมันในเลือด เท่านั้น ในบทความยุคใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องการการใช้พลังงานจากไขมันล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่พูดมาตรงนี้เท่านั้นครับ เพียงแต่ว่านักกีฬาอัลตราเพิ่งเข้าใจวิธีการใช้ประโยชน์มันเท่านั้นเอง

โซน 3 : Aerobic Zone 70-80% MHR

โซนนี้เป็นโซนที่ถือว่าสำคัญที่สุดสำหรับการออกกำลังกาย เป็นจุดที่อะไร ๆ ก็เกิดการเปลี่ยนแปลง เป็นจุดที่แบ่งระหว่างเพื่อสุขภาพกับเพื่อชีวิตที่ดีกว่า ในโซนนี้โดยมากเขาจะแนะนำให้ใช้สิ่งที่เรียกว่า talk test ในการควบคุม เพราะที่ระดับนี้ยังควรที่จะอยุ่ในระดับที่เรายังเรียกว่า สบาย ๆ สามารถคุยกับเพื่อน ๆ ร่วมแกงค์ได้ เริ่มออกเหงื่อ และทุก ๆ อย่างกำลังดี ไม่ปวด ไม่ร้อน คุณจะรู้สึกดีหลังจากออกกำลังกายที่จุดนี้ อาบน้ำเย็น ๆ เป็นที่ที่เราควรจะรุ้จักมันเป็นอย่างดี ในขณะเดียวกันสำหรับนักกีฬาสมัครเล่นที่ต้องการแข่งขัน ที่โซนนี้ยังเป็นโซนที่เราจะสร้างพื้นฐานที่มั่นคง หรือศัพย์ทางการซ้อมเราเรียกมันว่า base ซึ่งนักกีฬาจะสะสมเวลาการซ้อมในโซนนี้เป็นส่วนมาก เพราะที่โซนนี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่กำลังพอเหมาะ เกิดความเสี่ยงที่จะ overtrain ได้ไม่มาก และถ้าซ้อมเป็นเวลานานเพียงพอก็สามารถทำให้ล้าจนก่อให้เกิดผลที่ดีต่อระบบทั้งหมด รวมไปถึงระบบ cardio ทั้งหลายที่ดูเหมือนจะได้รับผลประโยชน์สูงสุดที่โซนนี้ ซึ่งผลดีที่เกิดกับระบบ cardio สามารถเกิดขึ้นได้จากการเพิ่มจำนวนและขนาดของเส้นเลือด ซึ่งส่งผลให้

  • เพิ่มปริมาณเลือดและออกซิเจนเข้าเลี้ยงกล้ามเนื้อ
  • เพิ่มปริมาณออกซิเจนเข้าเลี้ยงเซลไขมัน นำไขมันออกสู่เลือด และนำไปสู่กล้ามเนื้อ
  • เพิ่มขนาดและปริมาณของ mitrocondria
  • ลดความดันโลหิต
  • เพิ่มขนาดและความแข็งแรงของหัวใจ เพิ่มความสามารถในการส่งเลือด
  • ลดอัตราการเต้นของหัวใจ
  • เพิ่มปริมาณเม็ดเลือดแดง พลาสมา และปริมาณเลือด

Scan 1

ขณะเดียวกันก็ยังส่งผลดีต่อระบบหายใจ ที่ส่งผลให้เพิ่ม VO2Max ซึ่งคือปริมาตรออกซิเจนสูงสุดที่ร่างกายสามารถนำเข้าไปใช้ได้ โดยรวม ๆ แล้วสิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้นจากการออกกำลังกายจะเกิดขึ้นที่นี่ อย่างไรก็ตามที่โซนนี้ร่างกายใจใช้พลังงานจากไขมันเพียง 35% โปรตีน 5% และแป้งสูงถึง 65% นั่นหมายความว่าแหล่งพลังงานที่คุณมีให้ใช้จะมีจำนวนจำกัด โดยปกติพลังงานจากแป้งที่เก็บไว้เพียงอย่างเดียวจะมีพอใช้ประมาณสองชั่วโมงอย่างไรก็ตามเนื่องจากเราใช้พลังงานจากส่วนอื่นด้วย เราจึงสามารถออกกำลังกายได้นานกว่าสองชั่วโมงโดยไม่ต้องกินอะไรเพิ่มเติม อย่างไรก็ตามจากการที่ร่างกายจำเป็นต้องใช้แป้งมากขึ้นเมื่อออกกำลังกายในโซนที่สูงขึ้นทำให้จึงต้องมีการกินแป้งหรือน้ำตาลเพิ่มเติมเมื่อมีการออกกำลังกายนานกว่าสองชั่วโมง สำหรับนักกีฬาระดับอัลตรา หรือ มาราธอนขึ้นไป อาจจะคุ้นเคยกับโซนนี้ในอีกชื่อหนึ่งที่เรียกว่า Tempo ที่ที่เราจะใช้เวลากับมันสั้นลงกว่าการซ้อมยาวปกติแล้วเพิ่มความเร็วขึ้นนิด ๆ ในระดับที่กำลังสบาย เช่นปกติปั่นยาว 2.5-3 ชั่วโมงอาจจะทำ tempo ประมาณ 40-60 นาทีเป็นต้น

โซน 4 : Threshold Zone 80-90% MHR

โซนนี้เป็นโซนที่สำคัญของนักกีฬาชั้นนำ ต้องคุ้นเคยเป็นอย่างดี เป็นระดับที่หอบเหนื่อย เป็นระดับที่ก้าวข้ามจากการใช้ระบบออกซิเจนเป็นระบบไม่ใช้ออกซิเจน หรือที่เราเรียกในทางเทคนิคว่า anaerobic threshold เนื่องจากเมื่อมีการเปลี่ยนจากระบบใช้ออกซิเจนเป็นไม่ใช้ออกซิเจนซึ่งจะทำให้เกิดของเสียออกเป็นเป็นกรดแลคติคสะสมในกล้ามเนื้อและไม่สามารถออกกำลังกายต่อไปได้ ซึ่งที่จุดนี้หัวใจเราจะเต้นสูงที่สุดเท่าที่เราจะทำได้โดยประมาณ 30-60 นาที หรือ maximum sustainable HR บางครั้งเราจะได้ยินคำว่า Lactate threshold ซึ่งจะวัดปริมาณกรดแลคติคในกล้ามเนื้อ โดยที่จะตกลงกันว่าประมาณ 4.0 mm/L จะถือว่าเป็นจุด anaerobic threshold แต่โดยทั่วไปแล้วการวัดกรดแลคติคไม่ค่อยมีการกระทำกันในหมู่นักกีฬามือสมัครเล่น การใช้ HR ณ จุดนี้เป็นเกณฑ์จึงถือว่าเป็นแนวปฏิบัติที่ได้รับความนิยม โดยจะเรียกมันว่า anaerobic threshold HR หรือ ATHR บางครั้งผมเรียกมันง่าย ๆ ว่า Lactate threshold สลับกันไปมา โดยค่านี้จะเรียกมันเป็นร้อยละของ Max  HR เช่นกัน สำหรับคนที่ไม่ฟิต ATHR อาจจะต่ำถึง 60% MHR ซึ่งหมายความว่าคนนั้นจะไม่สามารถออกกำลังกายในโซนที่สองได้เลย เนื่องจากร่างกายยังไม่สามารถรับไหว

10286807_849262968424123_1203775380579486885_o

ในขณะที่โซนอื่น ๆ มีค่าโดยประมาณกำหนดไว้ให้แต่โซนนี้ถูกกำหนดด้วยข้อจำกัดของร่างกาย ซึ่งเราจำเป็นต้องทดสอบเพื่อที่จะรู้ ถ้าหากต้องการรับรู้ถึงความฟิตของร่างกายในปัจจุบัน การฝึกซ้อมอินเทอวัล การลงคอร์สทั้งหลาย ๆ ที่เราทำกันเราจะฝึกกันที่โซนนี้ และมีเป้าหมายเพื่อเพิ่ม ATHR หรือ maximum sustainable HR นั่นเอง ในการทดสอบนั้นอาจจะทำง่าย ๆ ด้วยการทำ 30 mins TT ด้วยการวอร์มอัป (วิ่ง 15 นาที หรือปั่น 30 นาที) หลังจากนั้นก็ออกกำลังสุดแรงเกิดที่จะคงความเร็วคงที่ที่สุดในระยะเวลา 30 นาที นำค่าเฉลี่ยของ HR ในช่วง 20 นาทีสุดท้ายมาใช้เป็น ATHR ได้ ในกรณีของผมนั้น ATHR จะมีค่าประมาณ 83% ของ MHR ซึ่งนั่นเป็ฯข้อจำกัดของผม เป็นความฟิต ณ เวลานี้ของผม และจากจุดนี้เอง ผมจึงต้องปรับโซน 2-3-4 ให้มีความเหมาะสม ไม่ใช่หลับหูหลับตาให้โซน 3 มีค่าสูงถึง 80% แล้วไม่เหลือพื้นที่ให้โซน 4 เลย ในการฝึกซ้อมเราจึงควรที่จะมีการทดสอบ threshold อย่างสม่ำเสมอ ผมทำการทดสอบประมาณเดือนละครั้ง แต่การเปลี่ยนแปลงนั้นจะไม่ค่อยได้เห็นเท่าไรนัก เพราะผมจะติดแนวอ่อนซ้อม

จากข้อมูลทั้งหมดนี้น่าจะเพียงพอในการทำความเข้าใจระบบ Heart Zone Training system ได้เป็นอย่างดี รู้จักโซน 2-4 ที่เป็นโซนสำคัญ ๆ สามารถหาตำแหน่งที่แท้จริงของโซนที่ 4 และสามารถแบ่งช่วงที่เหลือให้โซนอื่น ๆ ไปได้บ้าง ถ้าโชคดีโซน 4 ไม่ต่ำจนกินโซน 3 ไปเสียหมดครับ

For Zuri : กองทุนเพื่อซูริ

(ยอดบริจาครวม 977,722 บาท)

วันนี้ (24 เม.ย.)เป็นวันเกิดของลูกสองคนแรกของเรา เซน และ ซูริ ฝาแฝดต่างเพศ เช่นเดียวกับลูกคนอื่น ๆ เราไม่ได้กำหนดฤกษ์ยาม แต่ปล่อยให้ธรรมชาติเป็นผู้กำหนด (ธรรมชาติของแพทย์ผู้ทำคลอด) แต่ต่างจากลูกคนอื่น ๆ ที่ความผิดธรรมชาติต่างหากที่กำหนดให้วันวันนี้เป็นวันเกิดของเด็กน้อยทั้งสอง และต่างจากครอบครัวอื่น ๆ ในวันเกิดพ่อไม่มีโอกาสได้อยู่เป็นพยานรู้เห็น แม่ไม่มีโอกาสได้ยินเสียงร้องแรก หรือได้เห็นเด็ก ๆ เมื่อคลอด เซนและซูริ มีกำหนดคลอดโดยประมาณในเดือนกรกฎาคม ซึ่งหมายความว่าฝาแผดเป็นกลุ่มเด็กที่มีชื่อเล่นในโรงพยาบาลว่า premie เพราะเขาทั้งสองนั้นมีเวลาอยู่ในครรภ์เพียง 31 สัปดาห์ ด้วยน้ำหนักคลอดเพียง 1400 กรัม และ 900 กรัม สำหรับเซนและซูริ ตามลำดับ ทำให้แฝดทั้งสองต้องเดินทางเข้าหน่วย NICU ในทันที แม้ว่าจะมีการฉีดยากระตุ้นล่วงหน้าไว้แล้ว แฝดทั้งสองยังไม่สามารถหายใจได้ด้วยตัวเองในวินาทีแรกที่ออกมาสู่โลกภายนอก เซนผู้เป็นพี่ชายใส่หน้ากากออกซิเจนประมาณหนึ่งวันก็สามารถหายใจเองได้ และใช้เวลาไม่นานนักในตู้ควบคุมอุณหภูมิก่อนที่จะสามารถควบคุมอุณหภูมิของร่างกายได้ และออกมาใช้ชีวิตนอกสภาวะควบคุม แต่หากยังต้องอยู่ในหน่วย NICU เช่นเดิม แต่น้องสาวซูริ ผู้มีน้ำหนักเพียง 900 กรัมนั้น ยังต้องต่อสู้กับความโหดร้ายของโลกภายนอกรกของแม่ กับอีกหลายระบบที่ยังต้องรอการพัฒนาการให้เหมาะสมกับการใช้ชีวิตบนโลกใบนี้ a5 จะว่าไปแล้วการต่อสู้ของทั้งสองเริ่มตั้งแต่วันแรกที่มีการปฏิสนธิเลยทีเดียว ทั้งสองเกิดจากกระบวนการนอกเหนือธรรมชาติที่เรียกว่า IUI ซึ่งเชื้ออสุจิที่สมบูญถูกฉีดส่งเข้าไปในมดลูกโดยตรง ในสภาวะที่รังไข่ถูกกระตุ้นเตรียมพร้อมให้ไข่ตกลงมารอไว้แล้ว ไม่กี่วันหลังจากการฉีดเชื้อก็พบการตั้งครรภ์พร้อม ๆ กับการตกเลือดเล็ก ๆ แต่ก็เพียงพอที่จะทำให้หมอตัดสินใจฉีดฮอโมนกันแท้ง เรากลายเป็นผู้ปวยที่ถูกเรียกรวม ๆ กันว่า ภาวะแท้งคุกคาม ตั้งแต่วันแรก ๆ ที่แฝดทั้งสองเกิดขึ้นมา แต่เราไม่ได้กังวลอะไรมากนักเพราะสภาวะไข่ที่ถูกกระตุ้นมากเกินไปนั้น ความซับซ้อนที่เกิดจากแฝดที่มากกว่าสองคน เช่นแฝดสาม แฝดสี่นั้นน่ากลัวกว่ามาก เราเพียงคิดว่าถ้าเขาทั้งสองคนไม่พร้อมเขาก็จะไม่อยู่กับเราโดยธรรมชาติ ผ่านไปสองเดือนก็แล้วสามเดือนก็แล้ว การตกเลือดไม่มีท่าทีว่าจะหยุด เราถูก admit เข้าโรงพยาบาลหลายต่อหลายครั้ง เกิดภาวะเสียเลือดจนแม่แทบจะเอาตัวไม่รอดอยู่หลายครั้ง จนในที่สุดก็ผ่านวันเวลานั้นมาได้ด้วยคำนิยามใหม่ที่เรียกว่า Ovary rupture แฝดทั้งสองเดิบโตมาในสภาวะที่แม่กำลังดิ้นรนเพื่อจะเอาชีวิตรอด เสียเลือดจนเข้าสู่สภาวะช็อค ธรรมชาติพยายามอย่างดีที่สุดที่จะรักษาชีวิตแฝดเอาไว้ แต่ไม่วายผ่านไป 31 สัปดาห์ น้องสาวซูริ ที่เริ่มโตไม่ทันพี่ชาย ก็มีอาการไม่มีเลือดเข้าไปเลี้ยง ธรรมชาติกำลังตัดสิน แฝดที่พยายามช่วยกันอย่างสุดชีวิตที่จะยื้ออยู่ให้นานที่สุด เพราะถ้าใครคนใดคนหนึ่งยอมแพ้นั่นก็หมายถึงชีวิตของอีกคนเช่นกัน Picture 038 ชีวิตบนโลกใบนี้ของซูริค่อนข้างจะทรหดไม่แพ้กับในครรภ์ ด้วยน้ำหนักตัวที่ยังน้อย ปอดยังไม่พร้อมที่จะทำงาน ทำให้ต้องใช้ท่อช่วยหายใจ ระบบการกลืนยังไม่ทำงานจึงต้องใช้ท่อส่งอาหารลงกระเพาะ ภาพของการใส่ท่อทั้งสองในทารกขนาดประมาณฝ่ามือนั้นมันบาดตา ขนาดว่าคณะพยาบาลไม่เคยอนุญาติให้เราได้เห็นเลยแม้แต่ครั้งเดียว แน่นอนว่าดูน่ากลัวยิ่งกว่าภาพแรกที่เราได้โอกาสเข้ามาพบฝาแฝดทั้งสองในตู้อบที่เต็มไปด้วยสายระโยงระยาง เมื่อเรารู้ว่าลูกของเราทั้งสองจะไม่ได้กลับบ้านพร้อมกันกับเรา เราจึงหาที่พักใกล้โรงพยาบาลเพื่อที่จะได้อยู่กับพวกเชาทุก ๆ วัน เหมือนอย่างพ่อแม่มือใหม่คาดฝันไว้ก่อนคลอด a3 เราเฝ้ามองพัฒนาการของระบบต่าง ๆ ที่สำคัญ ของลูกทั้งสอง ขณะที่ทั้งสองดูมีพัฒนาการรวดเร็ว เซนสามารถออกจากตู้ได้แต่ซูริยังมีเรื่องของระบบการหายใจที่ดูเหมือนไม่พร้อมเสียที ซึ่งไม่ใช่ข่าวที่ดีมากนัก การใช้ท่อช่วยหายใจทำให้เกิดอาการข้างเคียงหลายอย่างตั้งแต่ระยะสั้น คือ ภาวะปอดติดเชื้อ ซึ่งทำให้มีไข้ ต้องให้ยาฆ่าเชื้อ และมีเสลดตามมา ซึ่งจะมีการไหลไปผิดที่ผิดทางจนต้องมีการดูดออก หรือผลข้างเคียงระยะยาวที่อาจจะทำให้ประสาทตาใช้งานไม่ได้ ทางแพทย์จึงมีความพยายามที่จะหยุดใช้ท่อหายใจให้เร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ เพราะแม้ผลข้างเคียงระยะสั้นนั้นอาจจะลุกลามใหญ่โต การติดเชื้ออาจจะเข้าสู่กระแสเลือดทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ แต่ทุกครั้งที่มีความพยายามที่จะถอดท่อช่วยหายใจออก ซูริก็ยังไม่สามารถหายใจได้ด้วยตัวเอง เนื่องด้วยขนาดที่ค่อนข้างเล็กของซูริ อุปกรณ์ช่วยหายใจแบบที่เป็นหน้ากากครอบจมูกที่มีนั้นมีขนาดที่ใหญ่เกินไปไม่สามารถใช้กับซูริได้ต่างจากพี่เซนที่ใช้หน้ากากตัวนี้ช่วยในการฝึกหายใจวันช่วงวันสองวันแรก ซูริจึงจำเป็นต้องหายใจเองโดยไม่มีอุปกรณ์ช่วยเหลือ ซึ่งจะเกิดอาการตามมาคือ sleep apnea ที่ซูริจะลืมหายใจแล้วหลับไปเอง ต้องคอยมาสะกิดให้ตื่น อุปกรณ์เตียงแบบพิเศษที่คอยเคลื่อนไหวกระตุ้นไม่ให้เกิดอาการนี้ก็ได้พังไปหมดแล้ว อาการ sleep apnea จึงเป็นความเสี่ยงที่อันตรายมากกว่าความเสี่ยงจากการใส่ท่อช่วยหายใจ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ที่มีจำกัด และความเสี่ยงของการปลุกไม่ตื่น นำไปสู่ภาวะฉุกเฉินที่ไม่มีเจ้าหน้าที่คนไหนต้องการให้เกิดขึ้นในกะของตน ซูริจึงต้องหายใจด้วยท่อช่วยหายใจเป็นส่วนมาก ต้องผ่านประสบการการใส่ท่อหลายต่อหลายครั้ง พบกับการติดเชื้อหลายครั้ง มีความจำเป็นต้องดูดเสลดเป็นประจำ และผ่านประสบการ sleep apnea เป็นครั้งคราว สภาวะนี้กับทารกที่มีอายุไม่กี่วัน น้ำหนักตัวเพียง 900 กรัม มันหนักหนาสาหัส มากพอควร มากกว่าความกังวลแรก ๆ ที่เราเคยกังวลกับ ปากแหว่งเพดานโหว่เล็ก ๆ นิ้วมือที่พัฒนาไม่ค่อยสมบูรณ์ หรือแม้กระทั่งความผิดปกติของโครโมโซมที่เรียกกันว่า triple X Picture 040 เราอยู่กับเซนและซูริทุกวัน ตลอดเวลาที่เราตื่น จนในที่สุดเซนมีน้ำหนัก 1.8 กก. เมื่อเวลาผ่านไประมาณ 30 วัน และแพทย์ให้ออกจาก NICU เพื่อกลับบ้านได้ เซนก็จะอยู่กับเราตลอด 24 ชม. และก็มาใช้ชีวิตส่วนใหญ่ที่หน้าห้อง NICU ระหว่างที่เราเข้าไปเยี่ยมซูริ ซูริมีกำลังใจที่ดี ลืมตาขึ้นมาทักทายเราทุก ๆ ครั้ง แม้ว่าจะต้องสู้กับอาการไข้ ภาวะปอดติดเชื้อ หรือ ผ่านการดูเสมหะมาหมาด ๆ การรับอาหารก็ไม่มีปัญหาน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนเป็น 1.4 กก. จนในท้ายที่สุดคณะแพทย์มีความเห็นว่า ซูริควรที่จะหายใจเองได้แล้ว และเริ่มตั้งคำถามถึงสาเหตุว่าทำไม แล้วในเช้าวันหนึ่งคณะแพทย์จึงได้บอกกับเราว่า เขาต้องการส่องกล้องทางเดินหายใจเพื่อจะดูว่ามีอะไรผิดปกติหรือไม่ ผมเห็นดีด้วยเพราะผมเห็นความพยายามที่ไม่เป็นผลสำเร็จหลายต่อหลายครั้งในการที่จะถอดท่อช่วยหายใจ ซึ่งทำให้ต้องมีการใส่ท่อใหม่ที่สุดแสนจะทรมาน ผมเห็นความเจ็บป่วยที่เกิดจากการติดเชื้อ และการเจาะเส้นเลือดทั่วทั้งตัวรวมไปถึงบนศีรษะเพื่อที่จะให้ยาฆ่าเชื้อ ผมเองก็อยากรู้เช่นกันว่าทำไม ในวันถัดไปเราจึงนัดทำการส่องกล้อง แต่สิ่งหนึ่งที่ผมไม่เคยรู้มาก่อนเลยนั่นก็คือ ขั้นตอนนี้ต้องมีการให้ยาสลบ และการให้ยาสลบนั้นมีความเสี่ยงในตัวของมันเองอยู่ ในเช้าวันส่องกล้องแพทย์นำเอกสารที่ระบุถึงการรับรู้ถึงความเสี่ยงและแสดงความยินยอมให้ผมเซนต์ หลังจากนั้นผมจึงอุ้มซูริขึ้นมาจากตู้ ซูริหันมามองหน้าผมเช่นทุก ๆ ครั้งด้วยตากลมโต ยิ้มให้ผมที่มุมปากเล็ก ๆ ตามประสาการรับรู้ของพ่อที่มีต่อลูกน้อยที่มีอายุเพียง 49 วัน ก่อนที่ผมจะส่งให้กับคณะแพทย์ไป ส่วนผมเดินเข้าในนั่งรอในห้องพักแพทย์ภายในห้องผ่าตัด การผ่าตัดดำเนินไปได้ไม่นาน ก่อนที่ผมได้รับโทรศัพย์จากวิสัญญีแพทย์ที่เป็นรุ่นน้อง เรียกให้ผมเข้าไปด้านในห้องผ่าตัด เพื่อไปเห็นภาพซูริกำลังถูกปั้มหัวใจ แพทย์อธิบายว่าการส่องกล้องเป็นไปด้วยดี ซูริไม่มีอะไรผิดปกติที่ระบบทางเดินหายใจ แต่ซูริไม่ยอมตื่นจากยาสลบ b1 ผมไม่แน่ใจว่านี่เป็นแนวปฏิบัติหรือไม่ ที่ผมจะเป็นผู้ตัดสินใจที่จะให้แพทย์ยุติการยื้อชีวิตของลูกน้อย แต่ภาพที่เห็นแพทย์ได้อธิบายว่าในขณะนี้ การ resuscitate life สำคัญกว่าอย่างอื่น ถ้าได้ชีวิตกลับมาแล้ว อวัยวะอื่น ๆ เราค่อยซ่อมกันทีหลัง ด้วยขนาดที่เล็กของซูริ ในขณะนี้อวัยวะบริเวณทรวงอกคงจะบอบช้ำไปหมดแล้ว ผมไม่รู้ว่าแพทย์พยายามปลุกชีวิตซูริกลับมาเป็นเวลานานเท่าใด แต่เลือดที่ซึมออกมาทางปากและจมูกทุกครั้งที่มีการปั้มหัวใจน่าจะบ่งบอกว่ามันคงเป็นเวลาพอสมควรแล้ว สุดท้ายแพทย์จึงพยายามอธิบายว่ามันคงถึงเวลา เพื่อที่ในที่สุดผมจะต้องตัดสินใจว่าหยุด พยาบาลพาภรรยาที่กำลังอุ้มเซนเพื่อมารับรู้ถึงข่าวร้ายอันนี้ ภาพของภรรยาอุ้มลูกชายคนแรก เดินเข้ามายืนมองร่างไร้วิญญาณของลูกสาวคนแรก ยังติดตาผมอยู่ในทุกวันนี้ หลังจากนั้นพยาบาลย้ายร่างของซูริไปพักใน NICU ผมใช้เวลาอยู่กับซูริตลอดเวลาที่เหลืออยู่ ระห่างที่ภรรยาต้องคอยให้นมเซนเป็นพัก ๆ หลังจากนั้นทางพยาบาลก็นำร่างซูริไปเพื่อเตรียมให้ผมพากลับไปทำพิธีทางศาสนา ผมแจ้งข่าวร้ายให้กับทางบ้าน และเตรียมพิธีเผาแบบง่าย ๆ ทันทีที่ผมไปรับร่างชองซูริกลับไปวันรุ่งขึ้น อารมณ์ของพ่อที่อุ้มร่างของลูกคนแรก ออกจากโรงพยาบาล มันต่างจากอารมณ์เมื่อวานที่ยืนมองร่างอย่างสงบ และยากนักที่จะสรรหาคำอธิบาย ผมรู้ว่าเราต้องเข้มแข็ง และก้าวผ่านวันนี้ในทันที เพราะเรายังมีเซนที่ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดอีกหนึ่งคน พ่อแม่มือใหม่กับลูก premie น้ำหนักตัวเพียง 1.8 กก. ที่เราเพิ่งเสียน้องสาวของเขาไป ผมคิดว่าภรรยาของผมทำได้ดีมาก ในช่วงนั้น พ่อของผมมาเล่าให้ฟังว่าซูริมาบอกลากับคุณปู่ของเขาก่อนวันผ่าตัด แต่พ่อไม่กล้าที่จะมาบอกผม แต่ถ้าพ่อบอกผมแล้วผมไม่เชื่อพ่อ ผมคงทำใจลำบากกว่านี้ ทุกวันนี้ผมยังคิดถึงซูริอยู่เสมอ แม้ไม่ได้พูดอะไร แต่จริง ๆ แล้วผมพูดถึงเรื่องนี้ไม่ค่อยได้ นอกจากจะถ่ายทอดออกมาเป็นตัวหนังสือเช่นนี้ สิ่งที่ผมเสียดายที่สุดคือ ผมไม่มีภาพเหตุการณ์ 49 วันเหล่านั้นของเราเลย และรู้สึกเสียใจที่สุดที่ NICU ไม่อนุญาติ ให้มีการถ่ายรูป premie ก่อนที่จะมีการสวด ผมถือโอกาสถ่ายภาพซูริไว้หนึ่งภาพ ในเวลานั้นผมมองเห็นซูรินอนยิ้มอย่างมีความสุข ผมจึงคิดว่าซูริอาจจะทำหน้าที่ช่วยเหลือเซนให้มีชีวิตรอดออกมาเพียงเท่านั้น และหน้าที่นั้นได้สิ้นสุดลงอย่างสมบูรณ์แล้ว เขาจึงลาจากไป เราเผาสิ่งของเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เราเตรียมไว้ให้ซูริ ผมเป็นคนอุ้มร่างของซูริขึ้นบันไดเมรุ และเห็นร่างซูริเป็นคนสุดท้าย ปัจจุบันรูปที่ผมถ่ายไว้ไม่ได้ดูยิ้มอย่างที่ผมเห็นในเวลานั้น แต่กลับดูซีดเซียวไร้ชีวิต ในขณะที่รูปที่แอบถ่ายใน NICU ก็ไม่เต็มตัว สิ่งที่เหลือของซูริก็มีเพียงเถ้ากระดูก ที่ในบางครั้งผมจะแบ่งออกมาเพื่อพาซูริไปเที่ยวที่ต่าง ๆ ที่เราไปกัน เราไม่มีป้ายหลุมศพอย่างที่ฝรั่งเขามี ซูริจึงเป็นเหมือนความทรงจำของผมที่คอยแบ่งให้คนอื่นรับรู้บ้างบางครั้งที่มีการถามว่าผมมีลูกกี่คน และเมื่อสี่คนคือคำตอบ

ไม่นานมานี้มีการแชร์คลิปของเด็ก premie ที่ผ่านหลาย ๆ อย่างแบบที่ซูริเคยเจอแต่ได้มีโอกาสกลับบ้านเหมือนที่เซนได้กลับ แม้ว่าในใจผมเอง ผมเข้าใจดีว่าการจากไปของซูรินั้นมีความซับซ้อน ประกอบร่วมกันหลายอย่างตั้งแต่ความผิดปกติของโครโมโซม ความผิดปกติที่มองเห็นได้ที่นิ้วมือ นิ้วเท้า รวมไปถึงการปากแหว่งเพดานโหว่ และการหายใจที่ท้ายที่สุดแล้ว ด้วยเครื่องมือที่ดีที่สุดในโลก กอรปกับบุคลากรมือหนึ่งของทางโรงพยายาบาลเข้ามาดูแล แล้ว การจากไปของซูรินั้นก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่แล้วผมก็ยังอดที่จะถามตัวเองด้วยคำถาม What if? ไม่ได้ ถ้า NICU แห่งเดียวในภาคใต้ตอนล่างมีความพร้อมของเครื่องไม้เครื่องมือมากกว่านี้ หน้ากากออกซิเจนที่เล็กพอ เตียงป้องกัน sleep apnea ถ้า ถ้า ถ้า เมื่อตั้งสติได้ นั่นเป็นการแสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอภายในจิตใจของผม แสดงให้เห็นแผลในจิตใจที่ยังไม่ได้ถูกเยียวยา เป็นตัวอย่างคลาสสิคของผู้สูญเสียที่แสดงในขั้นตอนต่าง ๆ ของการสูญเสียนั้น ส่วนผมนั้นอยู่ในขั้นตอนที่สามของการเยียวยา หรือ Bargaining การตั้งคำถาม What If นั่นเอง  (5 stages of grief and lost : Denial & Isolation, Anger, Bargaining, Depression, Acceptance) ในที่สุดผมจึงคิดได้ว่าคำถาม what if? นั้นไม่สามารถทำให้อะไรดีขึ้นได้ การเยียวยาจิตใจผมยังไม่ได้เกิดขึ้น ผมจำเป็นต้องทำอะไรบางอย่างที่จะยอมรับในการจากไป ยอมรับความจริงในสิ่งที่เกิดขึ้น (Acceptance) ในวันนี้ผมจึงถือโอกาสจัดตั้งกองทุนเพื่อซูริ เพื่อบริจาคเงิน และจัดหาเงิน มอบให้กับหน่วย NICU นำไปจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น ที่จะเพิ่มโอกาสที่จะช่วยให้ซูริได้กลับบ้าน เพื่อที่จะลดเหตุการณ์ดังเช่นที่ผมเล่ามาข้างต้น ป้องกันการตั้งคำถาม what if? ที่จะเกิดขึ้นกับครอบครัวอื่น ๆ ดังเช่นกับตัวผม ในขณะที่จะช่วยทำให้ผมมีช่องทางที่จะเยียวยาแผลในหัวใจของผมและครอบครัว ในทางที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ โดยวางแผนเป็นขั้นตอนเป็นดังนี้

  1. จัดตั้งกองทุนเพื่อซูริ ด้วยเงินทุนจัดตั้งขั้นต่ำ 100,000 บาท ด้วยทรัพย์ส่วนตัวและผู้ร่วมจัดตั้งบริจาค (*สำเร็จในวันที่ 24 เมย. และเปิดบัญชีวันที่ 27 พค. 54)
  2. สร้างระบบเพื่อนำส่วนแบ่งรายได้จากการขายสินค้าในกลุ่มเด็ก ของผลิตภัณฑ์ยางพาราออริจินัล เข้ากองทุนเป็นรายปี หรือรายครึ่งปี
  3. Fund raise เพื่อหาเงินเข้ากองทุน : กำเนิด Ironman Langawi For Zuri และ Run4ManyReason

เป้าหมายที่ผมต้องการคือ ความทรงจำที่มีค่ายิ่งกว่าป้ายหลุมศพใด ๆ และถ้ากองทุนนี้ได้มีโอกาสได้ช่วยให้ซูริของครอบครัวไหนได้กลับบ้าน เพียงหนึ่งครอบครัว ผมคงนอนตายหลับตาพริ้มอย่างที่ผมเห็นบนใบหน้าของซูริในวันนั้น วันที่กล้องถ่ายภาพไม่สามารถที่จะเก็บภาพนั้นที่ผมเห็นเอาไว้ได้ โครงการนี้ถือว่าเป็นโปรเจคของชีวิตของผมได้เลยทีเดียว คงจะไม่เบื่อกันนะครับ ถ้าผมจะต้องพูดถึงโปรเจคนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า

บันทึกความเคลื่อนไหวกองทุน (ยอดบริจาครวม 807,700 บาท)

1. ณ วันที่ 29 เมย. 2557 เราได้จัดตั้งกองทุนกับ รพ.สงขลานครินทร์ แล้วด้วยยอดบริจาคเริ่มต้น 100,000 บาทครับ 10261655_847589365258150_246523444_n 2. ณ วันนี้ 27 พค. 2557 ผมได้เปิดบัญชีเพื่อใช้ในการร่วมสมทบทุนกับเราไว้แล้วครับ โดยมีเงินเปิดบัญชี 19,500 บาท ที่เหลือมาจากยอดบริจาคของกลุ่มผู้ก่อตั้งกองทุนรวม 119,500 บาท สำหรับท่านใดที่ต้องการร่วมกับโครงการ เป็นบัญชี ธ.กรุงเทพ สาขามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 641-0-15829-6 ท่านใดที่มีจิตศรัทธาบริจาคเข้ามากรุณาแจ้งผมที่ email : nattapong@patexfoam.com หรือ ผ่านทาง www.facebook.com/arm1972 หรือจะแจ้งไว้ที่ตรงนี้ก็ได้ครับ บัญชีชื่อ ณัฐพงศ์ นิธิอุทัย ครับ Screen Shot 2014-05-28 at 9.47.52 PM 3. วันที่ 24 มิย. ถอนเงินจากบัญชีมาบริจาคเพิ่มเติม 20,000 บาทครับ มีผู้สมทบทุนมาเพิ่ม 1000 บาท IMG_1478 4. วันที่ 2 กย. บริจาคเพิ่มเติม 70,000 บาทครับ เงินบริจาคส่วนใหญ่มาจากกิจกรรมของผู้ใจดีครับ ไม่ว่าจะเป็น Icebucket Challenge กลุ่มล้อเล็ก Run 4 Any Reason 10622110_930189586998127_1082791963_n 5. วันที่ 14 ตค. กิจกรรม Ironman Langkawi #ForZuri สร้างยอดบริจาค ร่วมกับ กลุ่มหน้าขาวใจบุญ รวม 50,000 บาท 10721453_955648841118868_158896773_n 6. วันที่ 11 พย. ศิษย์เก่าคณะพยาบาลศาสตร์ มอ. รุ่นที่ 25 ได้จัดโครงการ White Face for Zuri by Nurse PSU และนำเงินไปบริจาคสมทบกองทุนเพื่อซูริเข้าไปอีก 16,000 บาท 10411835_974646775882429_3307617521517547914_n 7. วันที่ 18 พย. นำเงินบริจาค 30,000 บาท เงินส่วนใหญ่ได้มาจากการจัดกิจกรรมของกลุ่ม Run4ManyReasons ที่จุดประกายโดยพี่ กล้วยหอมเรื่องวิ่งเรื่องกล้วย

544936_977142178969534_3920492154396124681_n

8. 18 มีนาคม 2558 วันนี้นำเงินเข้าไปบริจาคเพิ่ม 164,000 บาท ส่วนหนึ่งมาจากกิจกรรม 4 สัปดาห์มหาโหดของผม และการแข่งขันไตรกีฬาครั้งแรกของเซน และการร่วมบริจาคผ้าบัฟ และเงินของคุณติก๋วยเตี๋ยวเป็ด การประมูลของพี่ป๊อกครับ

11073052_1066611950022556_2280941016297540054_n

9. วันที่ 28 เมษายน 2558 ครบรอบหนึ่งปีของการก่อตั้งกองทุน “เพื่อซูริ” บริจาคเงินเข้าอีก 35,500 บาท ส่วนใหญ่มาจากการปั่น กรุงเทพฯ-หาดใหญ่ของผม และผู้ใจบุญที่เริ่มทยอยบริจาคเข้ามาแบบไม่แจ้ง

IMG_0471

10. 28 สิงหาคม 2558 ระหว่างที่น้องฮารุรักษาแผลน้ำร้อนลวกที่โรงพยาบาล เราก็พาน้อง ๆ มาผ่อนคลายด้วยการบริจาคเพิ่มอีก 80,000 บาทครับ มีกลุ่มนักวิ่งจากงานวิ่ง 12 สิงหา ส่วนแบ่งรายได้จากการขายสินค้า Original For Zuri และอื่น ๆ

11889640_1643384165931943_4721556322390368218_n

11. 8 ธันวาคม 2558 นำเงินบริจาคจากกลุ่มน้องเตย จากการวิ่ง TNF100 ปี 2015 จำนวน 122,200 บาท เข้ามอบแก่มูลนิธิครับ ต้องขอบคุณน้องเตยและเพื่อน ๆ ครับ

12366410_10156519217990314_5111343570593042137_n

12. 15 ตุลาคม 2559 นำเงินบริจาค 120,000 บาท เป็นเงินจากการจำหน่ายสินค้าเด็กแบรนด์ออริจินัล สินค้า JonJon เงินจากการขายเสื้อเชียร์ V40 เงินจากกล่องบริจาค เงินจากการทำกิจกรรมของ Banana Run และพี่ป๊อก เทพอัลตรา เงินจากการจัดปั่นออแดกซ์ปัตตานี 200, 300 กม. รวมไปถึงการจัดกิจกรรมของ โคชตั๊ว Elite Multisport Training

84006659_213452009839906_5974780171410997248_n

13. 28 ธันวาคม 2560 นำเงินบริจาค 100,000 บาท เป็นเงินส่วนใหญ่จากการจัดออแดกซ์ 3 ครั้ง และมีหมอแอมที่บังเอิญเจอกันที่ธนาคารตอนนำเงินออกมาบริจาค ก็ร่วมสมทบทุนมาด้วย 1000 บาท ยอดรวมในบัญชี มีเศษ 22 บาทเพิ่มขึ้นมาไม่แน่ใจว่ามีใครช่วยบริจาค หรือ เป็นการปรับดอกเบี้ยให้กองทุนผมไม่แน่ใจครับ

86435906_206324170492927_2254785034999300096_n

14. 14 ธันวาคม 2561 นำเงินบริจาค 70,000 บาท เงินบางส่วนมาจากการจัดออแดกซ์ 30,000 บาท อีก 30,000 บาท เป็นการบริจาคการยอดขายออริจินัล และที่เหลือเป็นเงินจากเพื่อน ๆ ที่บริจาคเข้ากันมาหลาย ๆ ปีรวม ๆ กัน ยกยอดออกมาบริจาคในรอบนี้ครับ

84625687_200979361089122_4296165480206434304_n

15. ในปี 2562 ไม่ได้มีเงินไปบริจาคนะครับ เนื่องจากยอดเงินในบัญชีมีไม่มากนัก งานออแดกซ์มีคนน้อย รวม ๆ ทั้งปี ไม่กี่หมื่นบาท ค่อยยกยอดรวมไปในปี 2563 ต่อไป ปัจจุบันมียอดเงินในกองทุน 977,722 บาทแล้วครับ

เขาใหญ่ทรมานบันเทิง วันที่สอง : Khao Yai SufferFest Day Two

กิจกรรมเขาใหญ่ทรมานบันเทิงเกิดขึ้นด้วยความบังเอิญ ด้วยความที่ทีม Very Forty ของเรามีสมาชิกเข้าร่วมการแข่งขัน The North Face 100 กันหลายคนและมี 4 คนในนั้น อาจหาญที่จะทดสอบจิตใจที่ระยะทาง 50K ขึ้นเขาลงห้วยในผืนป่าเขาใหญ่ อำนวยซึ่งเป็นสมาชิกรุ่นบุกเบิกของทีมไม่สามารถร่วมวิ่งวิบากได้เพราะปัญหาส่วนตัว ที่เจ้าตัวบอกว่าเป็นคนซุ่มซ่าม แค่วิ่งขึ้นลงฟุตบาทก็หัวทิ่มหัวคะมำจนไม่คิดว่าจะสามารถวิ่งขึ้นเขาลูกไหน ๆ ได้ ผมรู้สึกเสียดายที่หลาย ๆ คนได้เข้าร่วมสนุกในรายการนี้แต่ขาดอำนวย จึงได้เอ่ยปากชวนอำนวยให้มาปั่นข้ามเขาใหญ่ด้วยกันในฐานะที่เป็นคนเดียวในทีมที่ได้มาทดสอบเส้นทางก่อนหน้านี้มาแล้ว อย่างไรก็ตามทั้งหมดทั้งสิ้นนี้ล้วนแล้วแต่เป็นความบังเอิญ ผมเจอกับอำนวยในการแข่งขันครั้งสุดท้ายที่ ลากูน่า ภูเก็ต ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เคยคิดว่าจะไปปั่นจักรยานที่หัวหิน แต่คุยไปคุยมาเราคิดว่าการปั่นงานหัวหินน่าจะสนุกสนานตามประสาทีมของเรา ซึ่งก็ไม่ผิดหวัง ระหว่างปั่นหัวหินเราก็ได้คุยกันว่างานต่อไปน่าจะเป็นอะไร การปั่นที่เขาใหญ่ก็เป็นกิจกรรมที่น่าสนใจ ผมจึงทิ้งจักรยานไว้กับอำนวยตั้งแต่งานหัวหิน แล้วนัดกันแบบหลวม ๆ ว่าเราจะไปปั่นกันที่เขาใหญ่ในช่วงที่ผมจะไปแข่ง TNF100 ที่นั่น

1902878_802570229760064_867573002_n

ก่อนวันแข่งขันสักพักเราก็เริ่มชักชวนเพื่อนสมาชิก แต่ผลการตอบรับไม่ค่อยดีเท่าไรนัก อย่างไรก็ตามก็เพียงพอให้ผมและอำนวยในฐานะตัวตั้งตัวตีของความคิดนี้ ไม่กล้าที่จะเลิกล้มความตั้งใจ เรามีสมาชิกเข้าร่วมในรายการวันแรก TNF100 ทั้งหมด 5 คน เพชรทดสอบสนามครั้งแรกที่ระยะ 25K ผม ดร.ตุ๊ โด่ง และหมอนก ขอลอง 50K เป็นครั้งแรก ในงานวันปั่นมีอำนวยเป็นตัวยืน เขาจะขนจักรยานมาให้ผมจากกรุงเทพ ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้รถอำนวยเพิ่งเสียอย่างหนักจนต้องขายทิ้ง และในวันที่ปั่นนี้เขาต้องเช่ารถขับมาเพียงเพื่อปั่นกับพวกเรา ส่วนตุ๊นั้นถ้าเขาปลีกเวลามาได้แล้ว รายการแบบนี้เขาไม่เคยพลาด แม้ว่าตุ๊มีเพียงรถ TT คันเดียว ใช้ clipless pedal ไม่เป็น และเปลี่ยนเกียร์ยังไม่ค่อยเป็น ตอนที่เราประกาศชวนครั้งแรกตุ๊ตอบตกลงอย่างไม่ลังเล ผมพยายามหลอกล่อสมาชิกที่ต้องมาวิ่ง TNF100 ให้เข้าร่วมการปั่นด้วยกันแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ดูเหมือนว่าการปั่นขึ้นเขาใหญ่จะไม่ใช่ความคิดที่ดูสนุกมากนักในสายตาของคนที่ยังไม่ถึงจุดที่เรียกว่า “บ้า” สมาชิกของทีมท่านอื่น ๆ ก็ตอบว่าจะมาร่วมกันปั่นอีกสองสามคน แต่มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแผนการในวินาทีสุดท้าย ซึ่งเมื่อถึงวันจริง ๆ แล้วต้องยอมรับว่าผมเองก็รู้สึกใจหาย เหงา ๆ อยู่เช่นกัน เพราะท้ายที่สุดแล้วจะมีเพียงผม อำนวย และตุ๊ที่อาจจะทรมานจาก TNF100 จนเปลี่ยนใจก็เป็นได้

L1060194

ผมบันทึกเชาใหญ่ทรมานบันเทิงวันแรกเอาไว้ตรงนี้

หลังจากที่ผมได้คำนิยามของ TNF100 ที่ผ่านมาว่า “ทรมาน” แล้ว ความคิดที่จะปั่นในวันรุ่งขึ้นต้องมีตรรกะอื่นเข้ามารองรับ มิเช่นนั้น มองจากมุมภายนอกหลาย ๆ คนคงคิดว่าพวกเราเสียสติ และนี่เป็นที่มาของคำว่า “ทรมานบันเทิง” ชื่องานจึงเป็นเช่นนี้ และเป็นชื่อที่เกิดขึ้นภายหลัง ดังนั้นในปีแรกนี้เรามีสมาชิกเข้าร่วมทั้งหมด 6 คน โดยมี 2 คน ผมและตุ๊ที่ทำครบทั้งสองวัน คงต้องมาดูกันต่อไปว่าจะมีกิจกรรมนี้ต่อเนื่องในปีต่อ ๆ ไปหรือไม่ มีสมาชิกเข้าร่วมเพิ่มขึ้นหรือลดลง และจะมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดกิจกรรมบ้างหรือไม่อย่างไร

L1060169

110K Khao Yai : The Ride to Conquer : ปั่นพิชิตเขาใหญ่

เพื่อที่จะสร้างความยิ่งใหญ่ของวันที่สอง ผมต้องตั้งชื่อกิจกรรมเอาไว้ก่อน เพื่ออ้างอิงในปีหน้า ผมยังมีความรู้สึกว่าเรายังต้องปรับเปลี่ยนเนื้อหากิจกรรมวันที่สองนี้อีกเล็กน้อย แต่อย่างไรก็ตามสำหรับปีแรกนี้ ความรู้สึกที่ได้นั้นทำให้มีความมั่นใจว่าปีที่สองน่าจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน และแม้ว่าผมจะค่อนข้างมั่นใจว่า trail running น่าจะไม่เหมาะกับคนอย่างผม (เช่นเดียวกันกับอำนวย) ผมอาจจะยอมมาเดิน TNF100 ในปีหน้าเพียงเพื่อทำกิจกรรมที่เรียกว่า “เขาใหญ่ทรมานบันเทิง” เป็นปีที่สองให้ได้

หลังจากผ่านวันแรกไปได้ ผมเองไม่ได้เหนื่อยหรืออ่อนล้าเหมือนกับประสบการณ์ผ่านการวิ่งมาราธอนครั้งแรกของผม หลังจาก ชุดนวดชั้นดีของผู้จัด TNF100 hot bath ที่โรงแรม และเล่นน้ำสนุก ๆ กับลูก ๆ พร้อมกับจัดอาหารเย็นชุดใหญ่แล้ว ผมก็รู้สึกสบายตัวขึ้นมาก แน่นอนว่าผมวิ่งไม่ได้เพราะหลังเจ็บมาก แต่เดิน ก้มนิด ๆ หน่อย ๆ ไม่ใช่ปัญหา ผมนอนหลับอย่างไม่กังวล และตื่นเช้าในเวลาประมาณตีห้าอย่างสดชื่น ผมทานขนมปังเล็กน้อยเพื่อให้มีเวลาย่อย เพราะเราวางแผนจะเริ่มปั่น 7:30 ผมรอห้องอาหารของโรงแรมเปิดเวลา 6:00 เพื่อไปทานข้าวต้มเบา ๆ รองท้อง อำนวยซึ่งบ่นว่านอนไม่หลับได้ออกมาจากกรุงเทพฯ มานานแล้วและมาถึงในพื้นที่ปากช่อง แต่หลบนอนข้างทางรอเวลาอยู่ก่อนหน้าแล้ว ผมจึงบอกให้อำนวยเข้ามาจัดของบริเวณลานจอดรถของโรงแรมซึ่งเป็นจุดนัดพบ ก่อนที่ผมจะตามไปสมทบเมื่อทานข้าวเช้าเรียบร้อย เราตระเตรียมจักรยาน แต่งเนื้อแต่งตัวรอการปรากฏตัวของตุ๊ เมื่อเขามาถึงเราจึงตรวจสอบอุปกรณ์อีกครั้ง ก่อนที่จะถ่ายรูปร่วมกัน กิจกรรมถ่ายรูปซึ่งสำคัญมาก ทำให้เราพลาดแผนไปประมาณหนึ่งชั่วโมง เวลา 8:30 โดยประมาณเราจึงค่อย ๆ เริ่มออกตัวปั่น 7 กม. เพื่อไปหน้าด่านฝั่งปากช่อง เราคาดกันว่าน่าจะใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมง และวันนี้น่าจะเสร็จสิ้นในช่วงอาหารกลางวัน

1897829_690160011007461_314095219_n

อำนวยผู้ชำนาญในพื้นที่มากที่สุด เป็นคนบรีฟเส้นทาง เรารู้กันว่าในช่วงแรกจากหน้าด่าน เราต้องปั่นขึ้นเขาเรื่อย ๆ ขึ้นไประยะทางประมาณ 6-8 กม. โดยจะมีช่วง 1 กม. สุดท้ายที่จะชันและยาวแบบไม่มีจุดพัก อาจจะเป็นจุดเดียวที่ถ้าหากจะสอบตกคราวนี้ มันก็น่าจะเป็นจุดนี้นี่แหละ เป้าหมายของวันนี้ได้ถูกประกาศล่วงหน้าเอาไว้แล้ว นั่นคือ เวลาไม่สน เราเอาแค่ขาไม่แตะพื้นให้ได้เป็นพอ ผมไม่เคยมาปั่นที่นี่มาก่อน จึงวางแผนว่าจะอยู่ในโหมดประหยัดพลังงานตลอดเวลา ในช่วง 7 กม. แรกก่อนมาถึงหน้าด่านนั้นเป็นระยะทางที่ค่อนข้างเหมาะสม ปั่นเบา ๆ เหงื่อกำลังซึม ๆ เพราะเมื่อมาถึงหน้าด่านแล้ว ก็จะเป็นทางขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งผมเห็นว่าการวอร์มอัปเบื้องต้นน่าจะเป็นสิ่งจำเป็น เราคุยกันเรื่อยเปื่อย อำนวยพยายามสอนตุ๊เรื่องวิธีการเปลี่ยนเกียร์ ผมคิดในใจว่าหลังจากงานนี้ตุ๊น่าจะเข้าใจหลักการของเกียร์จักรยานมากขึ้นเพราะเส้นทางเป็นเขาแบบนี้จำเป็นต้องใช้เกียร์แทบครบทุกเกียร์

1798779_690167071006755_926005687_n

เมื่อถึงหน้าด่าน เราชำระค่าผ่านทาง แล้วก็นัดแนะถึงจุดนัดพบจุดแรกในกรณีที่มีการทิ้งระยะกัน งานนี้เรามาทำกิจกรรมร่วมกัน ถ้าจะทิ้งกันแบบตัวใครตัวมันก็คงไม่มีความจำเป็นต้องนัดกันมา ผมคิดเช่นนั้น จุดนัดพบจุดแรกคือจุดชมวิว ตามที่อำนวยวางแผนไว้ ซึ่งจะเป็นระยะทางประมาณ 7-8 km แรกที่ชันที่สุดของวันนี้ โหดที่สุดในวันนี้ และช่วงที่โหดสุดคือ 1 กม. สุดท้ายก่อนถึงจุดชมวิว ตามที่เรามีข้อมูล หลังจากนั้นเราก็เริ่มออกตัวไปพร้อม ๆ กัน ผมค่อย ๆ ปั่นขึ้นไปเรื่อย ๆ เริ่มเห็นเขาชันขึ้นและหักโค้ง ผมตะโกนถามอำนวยไปเรื่อย ๆ ตลอดทางว่านี่ใช่เขาหรือยัง มีชันกว่านี้อีกมั้ย ในหัวของผมวางแผนการใช้พลังงาน ในขณะที่ร่างกายพยายามรับเอาออกซิเจนเข้าให้มากที่สุด ผมพยายามรักษารอบขาเปลี่ยนเกียร์เบา ๆ อย่างรวดเร็ว ยังไม่พ้นเนินแรก ผมก็ตะโกนบอกอำนวยว่าเกียร์ของผมหมดแล้ว ซึ่งหมายถึงผมเปลี่ยนมาเป็นเกียร์สุดท้ายที่เบาที่สุดแล้ว วันที่เหลือต่อจากนี้ เป็นเรื่องของการประเมินความเร็ว การเลี้ยงขาและลมหายใจ ทำอย่างไรเพื่อไม่ให้ปริมาณกรดแลกติกในกล้ามเนื้อมีปริมาณมากจนไม่สามารถปั่นต่อไปได้และในที่สุดต้องลงมาเข็น การที่เกียร์ผมหมดตั้งแต่เนินแรกของวันมันก็กัดกินใจผมพอสมควร ในระยะทาง 100 กิโลเมตรกว่า ๆ ที่เหลือสภาพเราจะเป็นอย่างไร

1375052_690159037674225_549931754_n

ผมหันไปด้านหลังเพื่อสังเกตุอาการของตุ๊ซึ่งก็บ่นว่าเกียร์หมดแล้วเช่นกัน จริง ๆ แล้วผมค่อนข้างดีใจที่ตุ๊บ่นเช่นนั้น เนื่องจากรูปร่างของเขานั้น สังเกตุจากขนาดของต้นขา การปั่นเขาน่าจะเป็นจุดอ่อนของตุ๊ได้เลยทีเดียว ต้นขาขนาดมหึมาไม่ต่างจากสปรินเตอร์ หรือ นักปั่น track มีศักยภาพในการระเบิดพลังขา กดวัตต์ประมาณมหาศาลออกมาในช่วงสั้น ๆ การปีนเขานั้นเป็นเรื่องของความสามารถในการผลิตพลังงานเป็นวัตต์ต่อกิโลกรัมออกมาในประมาณพอสมควร แต่ที่สำคัญกว่าคือ cardiovascular efficiency ที่จะแลกออกซิเจนออกจากกล้ามเนื้อได้มากกว่า เร็วกว่า จะการก่อตัวของกรดแลกติกในกล้ามเนื้อเกิดขึ้นช้ากว่า หรือไม่เกิดขึ้นในระหว่างการปีนเขานั้น ๆ ดังนั้นเมื่อตุ๊เลือกที่จะใช้เกียร์ต่ำ ๆ จนถึงเกียร์สุดท้ายผมมั่นใจว่าเขาไม่ได้ใช้กล้ามเนื้อผิดประเภทเข้าไปห้ำหั่นกับเขาลูกนี้ แต่อย่างไรก็ตามทักษะการปีนเขานอกเหนือจากการเปลี่ยนเกียร์และใช้ขานั้น มันก็ต้องมีการสั่งสมมาประมาณหนึ่ง การปีนเขาครั้งแรกของ ดร.ตุ๊ ไม่น่าจะเป็นเรื่องง่ายสำหรับเขานัก

จริง ๆ แล้วความรู้นี้เป็นความรู้พื้นฐานของเหล่านักกีฬาคนอึด แต่ผมเข้าใจมันจริง ๆ เมื่อตอนผมไปเล่นกีฬาปีนเขา ที่ความผิดผลาดของมือใหม่คือการใช้งานกล้ามเนื้อหนักเกินกำลังอยากรวดเร็วจนเกิดอาการที่เรียกว่า “ปั้ม” แล้วไม่สามารถใช้งานกล้ามเนื้อนั้นได้อีกต่อไปถ้าไม่พักเป็นเรื่องเป็นราว ซึ่งเป็นอาการคล้าย ๆ กันเมื่อนักปั่นไม่สามารถกดเท้าลงบนบันไดจะสร้างความเร็วเพียงพอเพื่อที่จะให้จักรยานทรงตัวอยู่ได้ การลงมาเข็นก็หลีกเลี่ยงไม่ได้

1016569_690164987673630_2025848252_n

เมื่อเขาชันมาก ๆ เข้า เราต่างคนต่างก็ต้องเข้าสู่จังหวะของตนเอง ตามลักษณะของกล้ามเนื้อ และคุณภาพการฝึกซ้อมทึ่เตรียมมา ผมพยายามปรับจังหวะให้รอบขาสูงกว่าที่ผมต้องการเล็กน้อยเพื่อที่จะได้ความเร็วที่ต้องการ ใช้กำลังจากขาให้น้อยที่สุด ในขณะเดียวกันพยายามผ่อนคลายร่างกายท่อนบน ด้วยการจับบนบาร์ยกตัวให้สูงเข้าไว้เพื่เปิดกระบังลมรับอากาศเข้าปอดให้มากที่สุด สลับกับการเข้าไปจับบริเวณมือเบรค (Hood) เมื่อต้องการ leverage เนื่องจากในบางครั้งบางจังหวะที่เขามีการหักมุม เพิ่มความชันในช่วงสั้น ๆ ผมจะใช้ร่างกายท่อนบนช่วยทำงานด้วยการเป็น leverage กับจังหวะขาที่กดลงในขณะที่จังหวะแขนฝั่งตรงข้ามง้างตัวงัดสร้างกลไกคานดีดคานงัดบนเฟรมจักรยาน ซึ่งการเคลื่อนมือไปจับบริเวณคันเบรคจะช่วยให้มีระยะงัดสูงกว่า การทรงตัวทำให้ง่ายกว่า และท่าจับที่ถนัดมากว่าซึ่งสร้างความมั่นใจขณะออกแรงง้างได้อย่างเต็มที่ ผมอาศัยทักษะการปั่นที่มีมายาวนานเข้าสู้กับเขาใหญ่และความอ่อนล้าของวันก่อนหน้า ในขณะที่อำนวยใช้ประสบการณ์และความมั่นใจที่เคยผ่านมาแล้วเข้าสู้ เนินแล้วเนินเล่า เวลาดูเหมือนจะผ่านไปอย่างรวดเร็ว เมื่อเทียบกับระดับความชันที่เขาใหญ่ได้เตรียมไว้สำหรับเรา ผมกับอำนวยเริ่มทิ้งตุ๊จนมองไม่เห็น และคาดว่าจะปฏิกิริยาในเนินแรก เขาอาจจะถอดใจลงเข็น แต่คงไม่เป็นการดีนักเพราะถ้าต้องเข็นขึ้นเขาเป็นระยะทาง 7k วันนี้คงไม่สั้นอย่างที่คิดไว้

IMG_3922

อำนวย คอยตะโกนบอกระยะทางเป็นพัก ๆ เพื่อคอยเตือนว่ายังเหลือเขาอีกนานเท่าไร และ 1km สุดท้ายในตำนาน ที่เขาจะต้องกลับมาล้างแค้นในวันนี้มันอยู่ตรงไหน เขาเปรย ๆ ว่า ในคราวนั้น เขายังมีประสบการน้อย เขาแม้ว่าจะไม่ชันมากเท่ากับที่ภูเก็ตที่เขาเคยปราบมาแล้ว แต่ความต่อเนื่องกันเป็นระยะทาง 1 กิโลเมตรโดยไม่มีจังหวะพักนั้น ทำให้เขายอมแพ้ในคราวแรกที่ได้เจอกัน ทันทีที่เข้าสู่กิโลเมตรสุดท้าย เขาก็ประกาศว่าเริ่มตรงนี้แหละ จากนี้เขาไม่รู้ว่าเขาจะข้ามผ่านมันได้หรือไม่ในคราวนี้ ผมแอบมองจังหวะการปั่นของเพื่อนที่เพิ่งเริ่มซื้อจักรยานมาปั่นได้ไม่ถึง 6 เดือน รอบขาสูง ร่างกายช่วงบนมั่นคง ยืดตรงสูงรับอากาศเข้าเต็มปอด ผมมั่นใจว่าเขานี้ไม่สามารถหยุดอำนวยไว้ได้แล้วในวันนี้ อำนวยได้ยกระดับของทักษะการปั่นขึ้นไปอีกขั้น ความท้าทายอื่น ๆ ในปีต่อไปน่าจะต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับทักษะที่พัฒนาขึ้น ผมยังคงอยู่ในโหมดประหยัดพลังงาน เลื้อยเมื่อมีโอกาส อำนวยค่อย ๆ ทิ้งผมห่างไปเรื่อย ๆ ผมคิดว่าเขาคงรู้แล้วว่าจุดไหนคือจุดที่เป็นศัตรูตัวร้ายที่เขาต้องเข้าจัดการ ไม่มีเสียงจากอำนวยคอยบอกแล้ว ผมตะโกนถามแบบไม่มีคำตอบตลอดเวลาว่านี่คือเนินสุดท้ายหรือยัง

ในเวลานี้จากการกดขาแล้วขาเล่ามาเป็นระยะทางเกือบ 1 กม. โดยไม่มีการพัก แม้ว่าความพยายามเก็บแรงของผมจะช่วยได้มาก การนำเข้าออกซิเจนเพื่อกำจัดกรดแลกติกเริ่มจะทำงานไม่ค่อยทัน ผมเริ่มต้องลุกขึ้นยืนปั่นเป็นจังหวะสั้น ๆ ซึ่งผมมักจะเก็บไว้เป็นไม้ตายสุดท้าย เพราะการลุกขึ้นยืนจะทำให้มีการใช้พลังงานจากกล้ามเนื้อหลายส่วนมากขึ้นแม้ว่าจะลดพลังงานที่ต้องการจากกล้ามเนื้อขาไปได้ด้วยการใช้น้ำหนักตัวเข้าช่วยกด แต่การใช้กล้ามเนื้อทั้งตัวจะทำให้ต้องการออกซิเจนเพิ่มขึ้นส่งผลให้มีความจำเป็นต้องเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ ซึ่งในเวลานี้ก็ปริ่ม ๆ จะ over heat อยู่แล้ว เข้าสุ่จุดที่อัตราการเต้นของหัวใจพุ่งสุ่จุด over heat จนต้องดับเครื่องเพื่อลดความร้อนลง ผมเข้าใจกลไกนี้ดี และกำลังเล่นอยู่กับมัน ความสมดุลย์ระหว่าง  aerobic efficiency และ anaerobic efficiency

IMG_3932

ทันใดนั้นผมก็เห็นอำนวยซึ่งตอนนี้อยู่ห่างจากผมไปเกือบสามร้อยเมตร ลงจากจักรยานควักมือถือขึ้นมาเล็งมาที่ผม ผมเข้าใจทันทีว่ามันสิ้นสุดแล้วที่ตรงนี้ ในขณะที่ขาของผมเริ่มร้องไห้ หัวใจผมเริ่มหัวเราะด้วยความยินดี แต่เหมือนจะยินดีเร็วไปหน่อย ความเร็วของผมตกจนแทบจะทรงตัวไม่อยู่ผมเริ่มเลื้อยอีกครั้ง เอาความเร็วขึ้นมาได้เล็กน้อย ผมจำเป็นต้องยกตัวเข้าโยกในบางจังหวะเพราะขาอย่างเดียวเริ่มเอาไม่ไหว แต่ผมก็เริ่มจะเห็นหัวใจที่กำลังจะระเบิดเนื่องจากความล้าที่สะสมมาทั้ง 7km ซึ่งมาพีคในช่วงสุดท้ายนี้ ผมไม่แปลกใจที่อำนวยลงเข็นในครั้งแรกที่มาคนเดียว เพราะเป็นผม ผมก็คงเข็นเช่นกัน และผมก็ไม่แปลกใจถ้าตุ๊จะเลือกลงมาเข็น ณ จุดนี้ เพราะในขณะที่เขาถึงจุดนี้นั้น เขาจะต้องปั่นอยู่คนเดียว โดยไม่เคยรู้ว่ามันจะต้องรู้สึกเช่นไรและจะต้องไปอีกไกลเท่าไร มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่สำหรับผมการหยุดเก็บภาพของอำนวยน่าจะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่ทำให้ผมรู้ว่าผมต้องทนความรู้สึกนี้ไปอีกไม่นานเท่าไรนัก ผมปั่นผ่านอำนวยไปอย่างช้า ๆ เมื่ออำนวยเก็บภาพเรียบร้อยแล้วก็ปั่นตามผมขึ้นไปเรื่อย ๆ จนถึงจุดชมวิว ซึ่งเราถือโอกาสรอการรวมกลุ่มกันอีกครั้งเพื่อถ่ายภาพ ถ้าถามว่าคุ้มค่าความเหนื่อยที่จะปั่นขึ้นมาจนเห็นวิวนี้หรือไม่นั้น คงตอบยากสำหรับผม แต่ความเข้าใจถึงจิตวิทยาของความท้อแท้ การต่อสู้กับตนเองภายในหัว ความอ่อนล้า เหน็ดเหนื่อย จิตวิทยาของการยอมแพ้ ผมว่ามันคุ้มค่ามาก ๆ

หลังจากได้ภาพกันจนเป็นที่พอใจแล้ว เป้าหมายต่อไปคือบริเวณยอดเขา ที่มีศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ที่อำนวยอธิบายมาแล้วว่าไม่ค่อยจะมีเนินหนัก ๆ แล้ว เรื่อยๆ ไปอีกประมาณ 8k เท่านั้น เราทั้งสามขึ้นอานไปเจอเนินเล็ก ๆ อันแรก ตุ๊ก็โวยวายไม่หยุดเสียแล้ว ไหนว่าไม่มีเนินแล้วไง ซึ่งมันย่อมเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วเพราะเรายังต้องขึ้นไปให้ถึงจุดสูงสุดเป็นระยะทางอีก 8 กิโลเมตร มันคงต้องมีแต่ขึ้น แต่ถ้าเส้นทางเป็นไปในลักษณะขึ้นแล้วพัก ขึ้นแล้วลงแล้วขึ้น เช่นนี้ มันก็จะไม่หนักหนาสาหัสเหมือนในช่วงที่ผ่านมา แม้ว่าตุ๊จะบ่นตลอดทาง แต่คราวนี้เขาก็สามารถเกาะกลุ่มมากับเราได้ คาดว่าตุ๊เองก็ก้าวข้ามข้อจำกัดของตัวเองมาแล้วอีกชั้นหนึ่ง แล้วเราก็พบว่าหลังจากงานนี้จบสิ้นตุ๊ก็หาโอกาสไปร่วมทริปจักรยานแบบลุยเดี่ยวอีกครั้ง พร้อมกับประกาศหาเสือหมอบคันใหม่ในทันที ไม่ช้าไม่นานเราก็ขึ้นมาถึงยอดเขา แน่นอนว่าเราก็ต้องจอดกันเพื่อถ่ายรูปกับป้ายชื่ออุทยานเป็นที่ระลึก ตามธรรมเนียมปฏิบัติของนักท่องเที่ยวที่ดี เราถือโอกาสคุยกับนักปั่นทีม PCS จากโคราช เป็นระยะเวลาสั้น ซึ่งทราบภายหลังว่าเป็นนักกีฬาทีมชาติรุ่นเกษียณที่เพิ่งกลับมาปั่นเตรียมไปพิชิตดอยอินทนนท์ หลังจากนั้นเราก็คว้าจักรยานออกตัวกันไป เพื่อจะลงไปอีกฝากของเขาใหญ่ ด่านฝั่งจังหวัดปราจีนบุรี

L1060173

จากจุดนี้เราไม่ทราบระยะทางที่ชัดเจน นอกจากคำบอกเล่าว่าน่าจะเป็นระยะทางประมาณ 40 กม. แต่จากการถามคนในพื้นที่บางคนก็บอกว่า 30 กม. เราจึงไม่แน่ใจนักว่าระยะทางจริง ๆ จะเป็นอย่างไร แต่เนื่องจากมันจะเป็นการลงเขาตลอดทางเราจึงไม่กังวลมากนัก แต่ในความเป็นจริง มันก็จะมีขึ้น ๆ ลง ๆ เป็นพัก ๆ แม้ว่าโดยเฉลี่ยแล้วเราจะค่อย ๆ ลงเขามาเรื่อย ๆ ในระหว่างที่มีการปั่นขึ้นบ้างเป็นบางจังหวะ เราก็ร่วมกันยินดีว่านี่จะเป็นจุดพักในขณะที่เราปั่นกลับขึ้นมา ในช่วงนี้ตุ๊สามารถเกาะกลุ่มกับเราได้ตลอดเวลา เนินเขาสลับขึ้นลงในลักษณะนี้ตุ๊เอามันอยู่แล้วอย่างสบาย ๆ อย่างไรก็ตาม การเน้นพลังขาอันมหาศาลของเขาเพียงอย่างเดียว จะยังคงเป็นข้อจำกัดเมื่อเขานั้นยาวอย่างต่อเนื่อง หรือความชันสูงเกินจุดหนึ่ง แต่เราก็ได้เริ่มเห็นอีกข้อจำกัดของนักปั่นมือใหม่อ่อนซ้อม เมื่อเขาเริ่มลาดเป็นทางลงอย่างต่อเนื่องยาวขึ้นเรื่อย ๆ

อำนวยเริ่มปล่อยตัวลงไปให้ความเร็วปลายสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่ผมยังโลเลว่าจะรอตุ๊อีกหรือไม่ แต่ท้ายที่สุดแล้วเมื่อเห็นอำนวยเริ่มโหนความเร็ว หมอบตัวเข้าโค้ง ผมก็อดไม่อยู่ที่จะร่วมสนุกกับเขาด้วย ในขณะที่อำนวยใช้การปั่นรอบขาสูงร่วมกับการลงที่ความเร็วสูง ผมพยายามใช้โมเมนตัมจากจักรยานหนัก ๆ ของผม แตะเบรคน้อยที่สุด ปรับตัวอยู่ในท่าหมอบยอดฮิตของโปรยามลงเขา หาจังหวะเข้าโค้งให้คมและดีที่สุด ที่สำคัญคือปั่นให้น้อยที่สุด นาน ๆ จะได้ฝึกทักษะเหล่านี้ ผมจึงของจัดเต็มใช้เวลากับมันอย่างเต็มที่ ทักษะเหล่านี้เป็นทักษะสร้างความได้เปรียบเป็นอย่างมากสำหรับนักจักรยานที่มีความเชี่ยวชาญ ในขณะที่มือใหม่จำเป็นต้องแตะเบรค หาโค้งที่ดีเข้าไม่ได้ ก็จะสูญเสียเวลาในช่วงลงเขาไปเป็นอย่างมาก ในทางกลับกันนั้นคนที่เชี่ยวชาญจะได้เวลากลับมาโดยไม่ต้องออกแรง และนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น เราสองคนค่อย ๆ ทิ้งระยะห่างจากตุ๊ไปเรื่อย ๆ ผมกับอำนวยผลัดกันนำ ผลัดกันตาม เพราะผมจะพยายามไม่ปั่น ความเร็วเฉลี่ยขณะลงของผมน่าจะเร็วกว่าอำนวยเล็กน้อย แต่ความเร็วเฉลี่ยขณะขึ้นผมก็น้อยกว่าอำนวยเล็กน้อยเพราะการงดปั่นของผม และหลาย ๆ ครั้งผมใช้อำนวยในการอ่าน line ลงเขา มันทำให้ผมทำความเร็วได้สูงกว่า และผมก็สนุกกว่าด้วย ในที่สุด 20km เศษ ๆ ก็จบสิ้นลง เรามาหยุดรอตุ๊ที่หน้าทางเข้าน้ำตกเหวนรก เหลือระยะทางประมาณ 10 km จะถึงด่านปราจีนฯ

71656_574737825951363_1136757059_n

เราเสียเวลารอค่อนข้างนาน และตอนนี้ก็เข้าใกล้สิบโมงเข้าไปแล้ว จากเส้นทางลงยาว ๆ ที่ผ่านมานั้น เรารู้แล้วว่าการปั่นขึ้นน่าจะต้องใช้เวลาค่อนข้างมากกว่าการปั่นขึ้นจากฝั่งโน้นมากเลยทีเดียว เมื่อตุ๊มาถึงเราก็มาคุยกันเพื่อวางแผนอีกเล็กน้อย เราคุยกันว่าน่าจะต้องลงไปที่ด่านแล้วปั่นกับมาทานอาหารเที่ยงที่ตรงนี้เลย เพราะการปั่นขึ้นน่าจะใช้เวลาหลายชั่วโมงอยู่ เมื่อตกลงกันตามนั้น เราก็ไหลกันลงต่อไป ระยะทาง 10 km ลงเขานั้นใช้เวลาเพียงเล็กน้อย เมื่อลงไปถึงด่านเราก็หันหน้ากลับทันที ระหว่างที่เราปั่นขึ้นไปนั้นเราก็เริ่ม ๆ คุยกันว่ามันยาวและหนักหน่วงใช้ได้นะ ขาขึ้นช่วงนี้ ซึ่งน่าจะเป็นคำอธิบายภาพที่เราเห็น ในขณะที่นักปั่นขึ้นจากฝั่งนี้ขึ้นไปมีหน้าตาที่เจ็บปวด เสื้อได้ถูกปลดซิปลงมาปล่อยให้ชายเสื้อปลิวไปกับสายลมเบา ๆ แม้ว่าจะไม่ได้ชันมากเท่ากับอีกฝั่ง แม้ว่าจะไม่ได้มีความชันยาวต่อเนื่องแบบไม่มีที่ให้พักเหมือนฝั่งโน้น แต่ระยะทาง 35-40 km ปั่นขึ้นโดยตลอดแบบนี้ เวลาที่ยาวนาน ระยะทางที่ดูเหมือนจะไม่มีวันสิ้นสุดได้ง่าย ๆ มันทำร้ายจิตใจได้มากพอ ๆ กัน

ณ วันนี้ผมคงยังไม่เข้าใจความเจ็บปวดของนักปั่นที่ปั่นกลับขึ้นไปสวนกับพวกผมที่ปั่นลงมามากนัก เพราะเราปั่น 10 กม. ขึ้นมาจากด่านถึงจุดพักทานอาหารเที่ยงของเรา แม้ว่าจะรู้สึกว่าหนักพอดูแต่มันก็เป็นระยะเวลาเพียง 1 ชั่วโมง เส้นทางทางทั้งหมดมีความชันเฉลี่ยน่าจะไม่เกิน 10% แต่จะมีช่วง 15% เป็นจุด ๆ และชันที่สุด 17% แต่เนื่องจากมีช่วงพักระหว่างเนินค่อนข้างมากทำให้ไม่เหนื่อยไม่เท่ากับฝั่งขึ้นจากด่านปากช่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีการใช้เทคนิคการปั่นรอบขาสูงเข้าร่วมด้วย แม้ว่าจะเหนื่อย ร้อน และยาวนาน ข้อจำกัดทางร่างกายเนื่องจากปริมาณกรดแลกติกหรือร่างกาย (หัวใจ) over heat แทบจะไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ ถ้ายอมแพ้ในฝากฝั่งนี้ก็คงเป็นการแพ้ใจตัวเองเพียงอย่างเดียว

1014090_690157924341003_2024164791_n

เทคนิคการปั่นรอบสูงนี้จริง ๆ แล้วเกิดโดยความจำเป็นที่มี แลนซ์ อาร์มสตรองค์ แสดงให้ดูเป็นคนแรกในการปั่นบดขยี้นักปั่นขึ้นเขาอย่าง มาร์โค พานทานี หรือ ยาน อูลริค ที่ใช้รอบขาค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับมาตรฐานปัจจุบัน ยิ่งถ้าได้ดูปีที่ เซอร์ วิกกินส์ ปั่นจนเป็นแชมป์ ก็จะได้เห็นรอบขา 120 rpm ปั่นขึ้น มองค์ วองทูส์ ซึ่งเป็นภาพแปลกประหลาดที่ชินตากันแล้วในปัจจุบัน การที่แลนซ์ มีความจำเป็นที่จะต้องปั่นด้วยรอบขาสูงทั้งนี้เนื่องจากเขาใช้ EPO ที่เป็นสารกระตุ้นในการเพิ่มเม็ดเลือดแดงในตอนนั้น และเพื่อที่จะให้ระบบนี้มีประสิทธิภาพสูงเขาต้อง สร้างกิจกรรมที่เอื้อต่อระบบนี้ นั่นคือ การใช้รอบขาสูง ๆ อาศัยปริมาณเม็ดเลือดแดงที่มากผิดปกติ เป็นขนส่งออกซิเจนสู่กล้ามเนื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากสารประเภทนี้ไม่ได้ทำให้เรามีกำลังสูงเพิ่มขึ้น เพียงแต่ความล้าที่เกิดจากการขนถ่ายออกซิเจนไม่ทันจนเกิดกรดแลกติกสะสมนั้นจะเกิดขึ้นช้ากว่านักปั่นอื่น ๆ ที่มีไม่การดัดแปลงร่างกายด้วยวิธีเช่นนี้ แลนซ์ซึ่งโดยปกติไม่ใช่คนที่มีประวัติในการปีนเขาได้ดี มีกำลังไม่มากเท่าจึงต้องอาศัยรอบขาสูง ๆ เข้าสู้กับเขาผ่านความได้เปรียบของ Lactace Threshold  ที่ถูกปรับให้สูงขึ้น

นี่เป็นสิ่งที่เราได้เรียนรู้จาก 7 ปีที่หายไปของประวัติศาสตร์ตูเดอร์ฟรองค์ แม้ว่าแลนซ์จะถูกปลดชื่อออกแต่ในช่วงเวลานั้น ไม่มีใครในรายการที่ไม่ถูกปลดชื่อ ซึ่งนั่นหมายความว่าแลนซ์ก็คงยังเป็นผู้ชนะในเวทีที่ทุกคนเท่าเทียมกันอยู่ดี แม้ว่าความโด่งดังของแลนซ์น่าจะทำให้เขาได้เปรียบที่จะได้หมอที่มีความเชี่ยวชาญมากที่สุด และทีมที่สามารถเสริมความได้เปรียบของเขามากที่สุด การกลับมาในปี  2009 ของแลนซ์ที่แม้ว่าจะไม่สามารถเอาชนะเพื่อนร่วมทีมที่ภายหลังก็ถูกจับโด้ปได้อย่าง คอนทาดอร์  นั่นแสดงให้เห็นว่าทฤษฎีทั้งหลายที่เราเข้าใจอยู่ในปัจจุบันนั้นใช้งานได้จริง ๆ ความที่ผมและอำนวย เป็นนักกีฬาคนอึด แต่ตุ๊เป็นเพียงคนอึด ทำให้ผมและอำนวยมี Lactate Threshold ที่สูงกว่า เมื่อเอาร่วมกับทักษะการปั่นที่ดีกว่า เราก็ค่อย ๆ ทิ้งตุ๊ออกไปทุกทีทุกที แม้ว่าเขาปั่นขึ้นเขาในระยะทาง 30km สุดท้ายที่ต้องใช้เวลาประมาณ 2 ชม. จะไม่มีช่วงชัน ๆ เกิน 15% อยู่เลย มีเพียงทางขึ้นเนินยาว ๆ ไปเรื่อย ๆ แบบไม่สิ้นสุด Lactate Threshold  ที่สูงกว่าสามารถทำให้เราคงความเร็วที่สูงกว่า และทิ้งระยะได้โดยไม่ต้องลุ้นให้ตุ๊เข็น ซึ่งในระยะทางขึ้นจากฝั่งนี้ตุ๊บอกกับเราว่าเขาไม่ต้องลงเข็นเลย

1621733_690157397674389_801519742_n

เมื่อถึงใกล้บริเวณยอดเขาผ่านอ่างเก็บน้ำเล็ก ๆ ผมคิดในใจว่าพรุ่งนี้น่าจะต้องพาครอบครัวเข้ามาเยี่ยมชมบรรยากาศเขาใหญ่ยามเช้าสักเที่ยว เข้ามาจุดชมวิว แวะขึ้นมาถ่ายรูปที่อ่างเก็บน้ำเล็กน้อยก่อนที่เราจะลากลับกรุงเทพฯในช่วงสาย ๆ และเพื่อเป็นการเพิ่มความตื่นเต้น ผมจึงถือโอกาสแวะไปถ่ายรูปคอปเตอร์ที่จอดในบริเวณนั้น เพื่อเป็นตัวล่อให้ลูก ๆ ตื่นเต้นกับการตื่นเช้าขึ้นมาในเขาใหญ่ แม้ว่าทหารที่เฝ้าอยู่จะบอกว่าคอปเตอร์จะออกเดินทางกลับในเย็นนี้ เป้าหมายในการที่จะเก็บรูปไปหลอกล่อลูก ๆ นั้นได้สำเร็จลงแล้ว เมื่อปั่นถึงยอดผมกับอำนวยจอดรอตุ๊อยู่พักหนึ่ง แต่เราได้คุยกันแต่แรกแล้วว่าไม่ต้องรอกัน ตอนนี้เราสายมากแล้ว จากที่วางแผนว่าจะปั่นเสร็จประมาณเที่ยงวันนี้ ตอนนี้เวลาประมาณบ่ายสองโมงเข้าไปแล้ว ตุ๊อาจจะต้องแยกกับเราที่หน้าด่านเพื่อไปเชคเอาท์โรงแรมของเขา ไม่ได้ร่วมปั่นกลับไปที่จอดรถอีก 7 km ผมกับอำนวยเห็นตรงกันแล้วก็ปั่นลงล่วงหน้าไปก่อน

ทางลงตามที่อำนวยบอกเล่ามาคือ จะค่อนข้างชันและมีการเลี้ยวหักศอกตลอดเวลา ทำความเร็วไม่ค่อยได้ ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติของเส้นทางชัน ๆ แบบนี้ แต่การที่มีทางเลี้ยวไปมาเยอะ ๆ มันก็ทำให้สนุกดี ผมไม่สามารถลงในท่าลู่ลมเหมือนลงฝั่งปราจีนได้ เพราะนอกจากจะมีทางหักศอกเยอะแล้ว ช่วงเวลานี้รถยนต์เริ่มมีปริมาณมากขึ้นจนเริ่มเสียว ท่าลงจึงเป็นการจับบริเวณ drop นิ้วแตะเบรค ที่ความชันขนาดนี้การแตะเบรคเมื่อมืออยู่บน Hood นั้นเริ่มจะมีกำลังไม่เพียงพอที่จะชะลอจักรยานได้อีกแล้ว แม้ว่าความรู้สึกโดยรวมจะสนุกและตื่นเต้นดี แต่ผมโดยนิสัยแล้วไม่ค่อยชอบมากนักเนื่องจากจะต้องมีสมาธิค่อนข้างสูงในการลงที่ความเร็วสูง ๆ บนถนนเลี้ยวไปมา พร้อม ๆ กับรถยนต์จำนวนมาก ทำให้บางครั้งผมรู้สึกเครียด ๆ ผมชอบมากกว่าที่จะปั่นชิลล์ ใจลอยดูวิวว์บ้างเป็นบางครั้ง แต่เส้นทางลง 15 กม. นี้จบลงภายในเวลาครึ่งชั่วโมง ซึ่งเฉลี่ยเข้าจริง ๆ แล้ว 30 km/hr ช้ากว่าปั่นทางเรียบเสียด้วยซ้ำ แสดงให้เห็นว่าผมเครียดกว่าที่รู้สึกค่อนข้างเยอะทีเดียว ผมทิ้งอำนวยลงมาก่อนไม่กี่นาทีที่หน้าด่านปากช่อง เรารอตุ๊อีกไม่น่าจะเกินสิบนาที ก่อนที่จะแยกย้ายกับตุ๊ แล้วเหลือเพียงอำนวยและผมปั่นกลับไปที่ลานจอดรถของโรงแรม ที่จุดเริ่มต้นของเรา เราทำระยะทางได้ใกล้เคียงเป้าหมายคือ 107 km กิจกรรมของเราสิ้นสุดที่เวลาประมาณบ่ายสามโมงช้ากว่าแผนที่วางไว้ประมาณสามชั่วโมง

L1060167

เวลากว่า 7 ชั่วโมงบนสองกำลังขาข้ามฝั่งเขาใหญ่ ทำให้เราได้สัมผัสความสวยงามของธรรมชาติได้อย่างลึกซึ้งอย่างบอกไม่ถูก ช่วงเขาที่ไม่ถูกแสงระหว่างวัน ทำให้เราเข้าใจว่าป่าไม้สร้างความเย็นให้กับโลกของเราได้มากแค่ไหน เมื่อเทียบกับฝั่งที่โดนแสงแดดกลางเที่ยงวัน ที่ทำให้เราเข้าใจพลังความร้อนของดวงอาทิตย์ ต้นกำเนิดของชีวิตบนโลก เราปั่นผ่านเส้นทางข้ามหุบ ข้ามเขา ระยะทางร่วม 100 km ด้วยความเร็วที่พลังของมนุษย์จะกลั่นออกมาจากระบบย่อยสลายทางชีวภาพจะทำได้ ความเร็วที่สัมผัสได้ด้วยสายลมที่ปะทะใบหน้า ความเร็วที่เชื่องช้าเพียงพอที่จะบ่งบอกถึงความลาดชันและความยิ่งใหญ่ของขุนเขา  เราสัมผัสความเย็นตั้งแต่ 16C เรื่อยไปจน 34C บนพื้นป่า ที่โยงบนถนนเล็ก ๆ เส้นเดียวกัน ความรู้สึกผ่านรูขุมขนบนผิวหนัง ไม่ใช่แผ่นโลหะสองชิ้นที่เกิดความต่างศักย์แล้วอ่านเป็นตัวเลขบนหน้าจอ กลิ่นของป่าเขา มูลช้าง มูลลิง ผสมกับไอแดด เราสัมผัสได้อย่างช้า ๆ ในความเร็วที่สมองของมนุษย์จะซึมซับสิ่งละอันพันละน้อยเหล่านี้ได้ทัน ผมไม่ใช่นักธรรมชาติวิทยาที่จะเข้าใจอะไรลึกซึ้งไปกว่า คำว่า “ป่าเขาคือชีวิต” และนี่น่าจะเป็นความจริงที่มนุษย์โลกไม่อยากจะยอมรับ เป็น inconvenient truth เมื่อการพัฒนาถูกนิยามด้วยการตัดไม้ทำลายป่า และความล้าหลังเป็นนิยามของป่านั่นเอง ผมเชื่อว่าเวลาเพียง 7  ชั่วโมงของชีวิต น่าจะทำให้หลาย ๆ คนที่ได้สัมผัสความรู้สึกเช่นนี้เหมือนพวกเรา เข้าใจมันได้อย่างลึกซึ้ง และผมไม่เชื่อว่าการนั่งรถขึ้นมาชมความสวยงามเช่นนี้จะทำให้เขาเหล่านั้นเข้าใจได้อย่างที่พวกผมเข้าใจ เพราะผมเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า ความเข้าใจที่แท้จริงนั้นต้องเริ่มจากความรู้สึกภายในของแต่ละคน ผมไม่แน่ใจว่าในปีต่อไปจะมีใครเข้าร่วมทรมานบันเทิงกับผมบ้าง แต่ผมมั่นใจว่าเวลา 20 ชั่วโมงของชีวิตที่จะใช้ไปบนเขาใหญ่ ตลอดเวลาทั้งสองวัน จะเปลี่ยนแปลงเขาเหล่านั้นไปในทิศทางที่ดีขึ้น และจะเป็นแรงผลักดันให้เขาช่วยกันทำให้โลกเราน่าอยู่มากขึ้น อย่างแน่นอน

 

 

Khao Yai SufferFest Day One : เขาใหญ่ทรมานบันเทิง วันแรก

กิจกรรมบันเทิงในวันที่ 8-9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเกิดขึ้นแบบไม่ได้ตั้งใจ ทั้งในรูปแบบกิจกรรมและชื่อกิจกรรม แต่ความน่าจดจำไม่แพ้เรื่องราวอื่น ๆ ในชีวิตของผมเลยทีเดียว จริง ๆ แล้วชื่อกิจกรรมนั้นเกิดจากความรู้สึกจากก้นบึ้งของจิตใจของผมในระหว่างทำกิจกรรมนั้นอย่างไม่มีคำอื่น ๆ ใดจะสามารถมาทดแทนได้ เขาใหญ่ทรมานบันเทิงนั้นประกอบด้วยกิจกรรมหฤโหดต่อเนื่องกันสองวัน ในวันแรกคือการแข่งขัน The Northface 100 ที่ผมเข้าร่วมในระยะ 50km และวันที่สองคือการปั่นจักรยานข้ามเขาใหญ่จากด่านปากช่องไปยังด่านปราจีนฯและย้อนกลับมายังด่านปากช่องอีกครั้ง ระยะทางรวมตามเป้าหมาย 110Km แต่ไม่น่าเชื่อว่ากิจกรรมที่ใช้เวลารวมกว่า 20hr แบบนี้ เกิดขึ้นด้วยความบังเอิญ

The Northface 100 : Struggling to the finish line

ก่อนที่จะอ่านเลยไป โด่งได้ทำคลิป Teaser เอาไว้ให้ดูตรงนี้ครับ

ผมเคยร่วมแข่งขันในรายการนี้ครั้งแรกในปีที่ผ่านมาในระยะทาง 25km ด้วยเวลาที่น่าพอใจ วิ่งบนเส้นทางป่าเขาด้วย Vibram Fivefingers การท่องเที่ยวพักผ่อนในพื้นที่เขาใหญ่ สร้างบรรยากาศที่มีความสุขที่ผมค่อนข้างมั่นใจว่าผมคงกลับไปอีกครั้ง แต่ในปีนี้กลับเป็นเพชร สมาชิกเซเลปรายล่าสุดของทีมเราสมัครเข้าร่วมรายการเป็นคนแรก แล้วอ้างว่าเป็นผลจากการสะกดจิตจากผมที่เป็นสมาชิกรุ่นก่อตั้งของทีม V40 ของเรา ผลจากการสมัครของสมาชิกมือใหม่ที่เพิ่งเพิ่มระยะวิ่งเป็น half marathon เป็นครั้งแรกสร้างแรงกดดันให้ผมมากเพียงพอที่จะทำให้ผมมีความสนใจที่จะสัมผัสกับระยะ 50Km เป็นครั้งแรกของชีวิต ผมจึงวางแผนชวนโด่ง ตุ๊ และหมอนก สามคนที่ผมมั่นใจว่าจะไม่ปฏิเสธผมแน่ ๆ แม้ว่าผมจะต้องใช้การหลอกล่อเรื่องการถ่ายวีดีโอเข้ามาเพื่อให้โด่งตัดสินใจ แต่ลึก ๆ ผมก็รู้ว่าโด่งก็อยากจะลองสัมผัสระยะทางนี้ร่วมกับเพื่อน ๆ เช่นกัน หลังจากที่ทุก ๆ คนที่กล่าวมาจะผ่านระยะ 42.195 km มาก่อนหน้านี้ไม่นานนัก (ยกเว้นตุ๊ที่ผ่านมาแล้วหลายครั้ง) ในวันแข่งที่จะถึงนั้นมีเพียงผมที่จะมีความพร้อมน้อยที่สุดเนื่องจากไม่เข้าร่วมแข่งขันกรุงเทพมาราธอนร่วมกับคนอื่น ๆ

IMG_4063

เมื่อเวลาการแข่งขันใกล้เข้ามา ผมเริ่มการซ้อมค่อนข้างช้าเนื่องจากพักผ่อนจากรายการหลักอย่าง Challenge Phuket ผมวางแผนซ้อมไม่กี่สัปดาห์ล่วงหน้าแต่จากประสบการณ์ที่เพิ่มมากขึ้น ผมก็สามารถทำระยะ 30km ได้ถึงสองครั้งระหว่างการซ้อม อย่างไรก็ตามก็มีเรื่องน่ากังวลใจที่เกี่ยวกับหลังของผมเล็กน้อย เพราะหลังจากระยะทางประมาณ 25K หลังของผมจะมีอาการตึง ๆ เล็กน้อย ผมจึงเจตนายกเว้นระยะ 40km ที่วางแผนไว้ในตารางซ้อม และตั้งเป้าหมายการวิ่ง 50Km ครั้งนี้แบบเบา ๆ โดยใช้ระบบ Run-Walk ซึ่งผมเริ่มเอามาใช้ตั้งแต่ในการซ้อมยาวที่ระยะ 30km ทั้งสองครั้ง ผมทดลองทั้ง 2:30/1:00 และ 4:00/1:00 ก็ประสบความสำเร็จอย่างดี จากประสบการณ์ในสนามปีที่ผ่านมาผมคาดว่า Run-Walk 4:00/1:00 ที่ pace 6 น่าจะเป็นไปได้

ในการแข่งขันครั้งนี้มีอุปกรณ์ภาคบังคับหลายชิ้นที่ผมต้องจัดหามาใหม่ ตั้งแต่เป้น้ำ 2L และไฟฉายคาดหัว ซึ่งผมถือโอกาสทำการทดสอบชุดและอุปกรณ์ทั้งหมดในการซ้อมยาวครั้งสุดท้ายของผมเรียบร้อยแบบไม่มีปัญหา เรานัดเจอกันในวันลงทะเบียนเพื่อไปฟัง race briefing ซึ่งผู้บรรยายค่อนข้างขู่เอาไว้เยอะ ผมเองไม่ได้ใส่ใจมากนักเพราะคุ้นเคยว่าผู้บรรยายคนนี้พูดจาเกินจริงเสียส่วนใหญ่ เช้าวันแข่งผมเตรียมอาหารและอุปกรณ์มาที่จุดเริ่มต้นตั้งแต่ตีสี่ แต่สภาพเส้นทาง การจอดรถ และความยุ่งเหยิงของจุดเริ่มต้น กับสิ่งที่ไม่ตรงกับที่ผู้บรรยายได้นัดแนะเอาไว้ ทำให้ผมไม่มีเวลาที่จะวอร์มเรียกเหงื่อเล็ก ๆ อย่างที่ผมต้องการ เมื่อถูกเกณฑ์เข้าเส้นสตาร์ทผมจึงพยายามหาเพื่อนร่วมทีมเพื่อที่จะร่วมถ่ายรูปและออกวิ่งไปด้วยกันอย่างน้อย ๆ ในระยะเริ่มต้น เมื่อเสียงปล่อยตัวดังขึ้นเราก็ค่อย ๆ คืบคลานออกไปในความมืด เป็นครั้งแรกที่ผมวิ่งในสภาวะมืดสนิท อาศัยเพียงแสงไฟจากไฟฉายที่อยุ่บนหัว ทำให้เข้าใจว่าการทำงานของระบบร่างกายมันน่าพิศวง ประกายไฟช่วงสั้น ๆ ที่กระทบพื้นส่องสว่างพื้นที่เล็ก ๆ เบื้องหน้าระยะเวลาเพียงพอที่จะให้สมองจดจำเพื่อปรับเปลี่ยนตำแหน่งการวางเท้า ก้าวแล้วก้าวเล่า นักวิ่งเทรลระดับโลกที่ชอบซ้อมกลางคืนได้เคยกล่าวว่า ในการวิ่งตอนกลางวัน เขามองเห็นสิ่งต่าง ๆ รอบตัว แต่ในเวลากลางคืนนั้นเขาเห็นเพียงเบื้องหน้าระยะเพียงพอให้เท้าเขาสัมผัสพื้นเพียงเท่านั้น ทำให้เขามีสมาธิในการวิ่งและให้อารมณ์วิ่งของเขามากกว่าที่กลางวันจะให้ได้ ผมเริ่มเข้าใจคำพูดของเขา เราวิ่งเพลิน ๆ ตามความเร็วที่ผมกำหนดเอาไว้ได้อย่างไม่ยากเย็นนัก มีหลงทางกันบ้างพอให้ได้ตื่นเต้น ก็อย่างว่า เรามองอะไรไม่เห็น ได้แต่วิ่งตามคนข้างหน้าไปอย่างไม่ต้องคิด ระยะทาง 12km แรกผ่านไปอย่างรวดเร็ว

IMG_3906

ในช่วงแรกนั้น แม้ว่าโด่ง หรือตุ๊ เองจะมีบ่นบ้างว่าวิ่งสี่นาทีเดินหนึ่งนาทีดูเหมือนว่าจะเหนื่อยนะ เปลี่ยนเป็นวิ่งหนึ่งเดินสี่จะดีหรือเปล่า แต่ทุกคนก็บ่นแบบทีเล่นทีจริง คงมีเจตนาจะหยอกล้อผมที่ทำหน้าที่คุมเวลาให้ทีมของเราทั้งสี่คน ตั้งแต่ กม. ที่ 10 เป็นต้นมาเส้นทางเริ่มเป็นการขึ้นเขาเรื่อย ๆ มีวิ่งลงบ้าง โด่งเริ่มบ่น ๆ ว่าเจ็บเข่า เหมือนกับทุก ๆ ครั้งในช่วงหลังที่โด่งบ่นเจ็บเข่าในช่วงซ้อม แต่สัญญาณที่ไม่ค่อยดีเริ่มเกิดขึ้นกับผม หลังผมเริ่มรู้สึกตึง ๆ แปลบ ๆ บริเวณหลังล่างด้านซ้าย ขณะวิ่งลงเขา แต่ผมก็ไม่ค่อยแน่ใจนักเพราะยังไม่ทันรู้สึกชัดก็ถึงจังหวะเดินของเรา บางครั้งจังหวะวิ่งที่เป็นเนินเสียส่วนใหญ่ที่ระยะนี้ผมก็ไม่รู้สึกเท่าไรนัก ผิดกับโด่งที่บ่นเจ็บเข่าถี่ขึ้นทุกทีทุกที และเริ่มร้องขอให้หยุดเดินก่อนที่จะครบสี่นาทีตามที่เราตกลงกันไว้ ตุ๊เริ่มล้อว่าโด่งต้องการที่จะ “โด่ง” หรือไม่ ตามศัพย์แสลงของทีมสำหรับคำว่า DNF แต่โด่งยังสามารถกัดฟันตามพวกเราไปได้เรื่อย ๆ

IMG_3892

แต่ในที่สุดประตูสู่นรกก็ได้แง้มเปิดขึ้นเมื่อถึงจังหวะวิ่งอีกครั้ง แต่ผมกลับเจ็บแปลบจากหลังส่วนล่างพุ่งขึ้นกลางแผ่นหลังแล้วร้าวลงขา ผมต้องหยุดในทันทีพร้อมอุทานว่า “เห้ย วิ่งไม่ได้แล้วว่ะ” เพื่อน ๆ ไม่ค่อยเห็นผมบ่นเท่าไรนัก ได้ยินดังนั้นจึงบอกว่าให้เราเดินสักพักก่อนมั้ย ผมจึงเริ่มเปลี่ยนเป็นเดินเร็ว และคอยสำรวจเป็นพัก ๆ ว่าผมเริ่มเหยาะได้หรือยัง แต่ดุเหมือนว่าอาการเจ็บจะเกิดทุกครั้งที่มีการกระแทกของเท้าลงบนพื้น และจะค่อนข้างเจ็บมากเมื่อต้องลงเขา ในเวลานี้ตุ๊เริ่มแซวบ่อยขึ้นว่าจะ “โด่ง” กันมั้ย ที่ CP ถัดไประยะ 20K ผมไม่ได้พูดอะไร แต่ในใจผมคิดเหมือนทุกครั้งที่เกิดปัญหาระหว่างแข่ง และคงเหมือนกับหลาย ๆ คน คือ ถ้าเราเลิกตอนนี้ ความเจ็บปวดนี้ก็จะจบสิ้นลง ผมตั้งคำถามกับตัวเองเหมือนทุกครั้ง แต่ผมไม่เคยให้คำตอบนี้กับตัวเอง ตลอดยี่สิบปีที่ผ่านมาในกีฬาคนอึด และผมบอกตรงนี้เลยว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรก และคงไม่ใช่ครั้งสุดท้าย ผมมั่นใจว่าการแข่งขันครั้งนี้คงจบลงแล้ว ผมไม่สามารถวิ่งได้อีกแน่นอนในวันนี้ มันอยู่ที่ผมจะตัดสินใจอย่างไรเมื่อถึง CP 20k

1610037_10152015334794755_1709990689_n

ณ เวลานั้น ผมเริ่มเปรย ๆ กับเพื่อน ๆ ว่าผมน่าจะวิ่งไม่ได้แล้ว คิดว่าทิ้งผมกันไปก่อนได้ แต่ผิดคาด จากความเร็วที่เราทำมาก่อนหน้า กับเส้นทางที่ค่อนข้างจะเป็นเขาสูงชัน ณ เวลานั้น ไม่มีใครตอบอะไร หมอนกบอกว่าหลังเป็นเรื่องสำคัญอย่าฝืน ให้เดินก่อนดีกว่า ส่วนโด่งดูเหมือนจะโล่งใจ แล้วก็บอกว่ากูขอเดินก่อนเจ็บเข่า ส่วนตุ๊เองก็ดันมาบ่นเจ็บขา (มุขเดิม ๆ ซะงั้น) ยังไม่มีใครตัดสินใจทำอะไร ผมได้แต่เดินเร็ว ๆ ไม่ช้าไม่นานแสงสีทองก็ค่อย ๆ สว่างขึ้นลับ ๆ ขอบฟ้า พวกเราค่อย ๆ เห็นทุ่งกว้าง เวิ้งว้างอยู่กลางหุบเขา ทุกคนลืมความเจ็บปวด และกิจกรรมที่ทำอยู่ชั่วขณะ กุลีกุจอ ควักโทรศัพท์ออกมาถ่ายรูป โพสเฟส โพส IG กันอย่างอิ่มหนำ ผมนอกจากจะทำการถ่ายรูปด้วย iPhone แล้วยังถือโอกาสเอากล้อง GoPro ออกมาบันทึกภาพเคลื่อนไหวอีกด้วย เราเดินร่วมกันขึ้นเขาช่วงที่สูงชันที่สุดประมาณ กม. ที่ 14 ภาพของกลุ่มคนจำนวนมากเดินเรียงกันขึ้นภูเขาที่ส่วนใหญ่เป็นหิน มีซากการถูกเผาทำลาย ไม่แน่ใจว่าเกิดจากฝ่ายจัดการแข่งขันหรือไฟป่าธรรมชาติ มันช่างดูดุเดือด โหดร้าย เราเสียเวลาบนยอดเขาลูกนั้นอีกพักใหญ่เพื่อเก็บภาพร่วมกัน หลังจากลงเขาลูกนั้น เราก็ไม่พูดถึงเรื่อง “โด่ง” กันอีกเลย เราทั้งหมดคงตองมนต์สะกดของเขาใหญ่เข้าให้เสียแล้ว

หมอนกหลังจากที่ใช้เวลาเดินกับเรามาร่วมชั่วโมง เมื่อฟ้าเริ่มเปิด เส้นทางเริ่มกว้าง เราก็เห็นหลังหมอนกเป็นครั้งสุดท้าย มันช่างเป็นภาพที่คุ้นตาสำหรับผม ในทุก ๆ คราวที่ผมมีปัญหาบาดเจ็บ ไม่สามารถบังคับร่างกายได้อย่างที่หวัง ก็มีเพื่อนคนนี้แหละที่วิ่งนำแบกเอาความฝันของผมไปให้ ภาพเจนตานี้ค่อยห่างไปทีละก้าวละก้าว ผมรู้แน่ว่าวันนี้จะมีใครบางคนในทีมของเราที่ไม่ “โด่ง” อย่างแน่นอน ส่วนที่เหลือนะเหรอ ไม่มีใครทำท่ากระดิก ไม่มีใครบอกลา และไม่มีใครตาละห้อย ราวกับว่ารู้ชะตากรรมของตัวเอง และฝากวิญญาณของเขาไปกับร่างเล็ก ๆ ร่างนั้นไปเรียบร้อยแล้ว ถึงเวลานี้แต่ละคนเริ่มหยิบคว้าเอาท่อนไม้มาทำไม้เท้ากันแล้วค่อย ๆ เดินกันต่อไป ต่างก็เปรย ๆ กันว่ามีไม้นี่มันช่วยได้เยอะเลยนะเนี่ย ส่วนผมเองหาไม้ที่ถูกใจไม่ได้เสียที จนกระทั่งตุ๊ยกไม้ของเขามาให้ผม มันเข้ามือผมอย่างมาก และผมไม่เคยคิดมาก่อนว่ามันจะอยู่ร่วมกับผมจนกระทั่งเข้าเส้นชัยในวันนั้น

IMG_3903

ในตอนนี้ตุ๊ไม่บ่นเจ็บอีกแล้ว บ่นแต่ว่าถ้าเราเดินกันแบบนี้คงไม่ถึงกันง่าย ๆ แน่ ลองวิ่งกันดูหน่อยมั้ย ผมลองดูหน่อยตามที่ว่า แต่ตุ๊กลับบอกกลับมาว่าขอให้หยุดเหอะ ดูแล้วน่าเกลียดกว่าเดินเยอะเลย และแล้วเราก็เดินกันต่อไปเพื่อเข้า CP 20k ไม่มีใครเอ่ยถึงการ “โด่ง” ผมไปหาอาหารกิน เพราะทางผู้จัดบอกว่าจะมีกล้วย แต่บังเอิญที่เราเดินกันเร็วไปหน่อย กล้วยที่เตรียมไว้จึงสุกไม่ทัน ผมหยิบแตงโมกินหลายชิ้น ยืนยืดเส้นสาย บรรเทาความเจ็บปวดที่หลังของผมที่ตอนนี้นั้น ไม่สามารถก้มลงได้แม้แต่น้อย ผมพยายามถอดรองเท้าเพื่อที่จะขจัดกรวดทรายที่หลุดรอดเข้าไป ในใจก็คิดถึงว่าทำไมมีหลาย ๆ คนใส่ปลอกคลุมรองเท้าเอาไว้ ผมกรอกน้ำเพิ่มลงในเป้น้ำของผม ไฟฉายถูกเก็บลงกระเป๋าไปนานแล้ว ผมแอบมองดูถุงอาหารที่ผู้จัดวางไว้ พยายามเดาว่าถุงไหนน่าจะเป็นของหมอนก ราวกับว่าถ้าผมเห็นอาหารของหมอนกแล้วจะพอเดาได้ว่าหมอห่างเราไปนานเท่าไรแล้ว ตอนนี้เราใช้เวลาไปแล้วถึงสามชั่วโมง เวลาแปดโมงเช้าบนเขาใหญ่แม้ยังไม่ร้อน แต่ท้องฟ้าที่ไร้เมฆเช่นนี้ ให้คำสัญญากับเราแล้วว่าวันนี้คงไม่ใช่วันธรรมดาของชีวิต

เราค่อย ๆ คืบคลานไปบนเส้นทางที่เขจัดไว้ให้ ช่วงประมาณ กม. ที่ 25 ก็เริ่มเป็นช่วงเขาอีกรอบ และเป็นเส้นทางที่ทรมานจิตใจเสียเหลือเกิน เราเดินกันมาแล้วร่วมสี่ชั่วโมง เส้นทางถูกจัดให้เป็นทางขึ้นไปบนเขาแล้วกลับออกมา ณ ตำแหน่งเดิม หลายคนออกมาแล้วบอกกับเราว่าบนเขานั้นไม่มีจุดเชคพอยท์อีกแล้ว เราจะยังสามารถรับรางวัลในวันนี้ได้โดยไม่จำเป็นต้องเดินเข้าไปขึ้นเขา ตุ๊เริ่มเปรย ๆ ว่าเราไม่ต้องเข้าไปก็ได้มั้ง ผมพยายามทำเป็นไม่ได้ยิน แล้วรีบ ๆ เดินหน้าเข้าไป ผมรู้ดีว่าในเวลาที่เราอ่อนล้า เจ็บปวดและเหน็ดเหนื่อยอย่างนี้ การคิดสั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ เส้นทางภายในหุบเขาที่สองนั้นประมาณ 7 กม. ซึ่งต้องใช้เวลาเดินประมาณชั่วโมงเศษ แต่เขานั้นมันช่วงเลวร้าย ทั้งในแง่ความความชัน ความร้อน และในแง่ของความรู้สึกเสียรู้ที่ในท้ายที่สุดแล้วเาก็จะต้องกลับไปที่จุดเดิมเมื่อกี้อีกครั้ง หลังจากอีกหนึ่งชั่วโมงของความทรมานนี้ผ่านไป ใช่แล้ว ถึงตอนนี้ผมเริ่มเข้าใจแล้วว่าความรู้สึกที่เกิดขึ้นในตอนนี้มันคืออะไร “ทรมาน” คำนี้ผุดขึ้นในใจผม ผมสบถขึ้นมาดัง ๆ วันนี้มันช่างทรมานจริง ๆ ณ เวลานี้ ผมเริ่มวิ่งกระหย่องกระแหย่งเป็นพัก ๆ ทีมสามคนของเราแตกเป็นช่วง ๆ โดยมากผมจะเป็นฝ่ายนำขึ้นไป แล้วสองคนหลังค่อย ๆ ตามมาจนทัน โด่งเริ่มมีอาการเข่าที่น่าเป็นห่วงมากขึ้นมาก ดุเหมือนว่าการเดินลงเขาแทบจะทำไม่ได้เลย ต้องเดินกรรเชียงปูลงมาบ้าง เดินถอยหลังบ้าง ผมก็อาศัยช่วงเวลาที่หยุดรอโด่งมายืดกล้ามเนื้อหลังไม่ให้เกิดการ collapse ขึ้น เพื่อ ณ ตอนนี้ ผมเริ่มมีอาการเข่าอ่อน หลังพับ เป็นพัก ๆ นั่นเป็นอาการของหลังที่พยายาม shut down ตัวเอง แต่ผมยังหลอกให้มันทำงานต่อไป

1779094_724087977609912_1255551634_n

เราเดินกลับออกมา ณ จุดเดิมอีกครั้ง ตอนนี้เราผ่านมาแล้ว 34 km จากที่คาดว่าโด่งอาจจะ “โด่ง” ที่ตรงนี้ แต่หลังจากประสบการณ์ “โด่ง” ในคราวที่ผ่านมาจนเป็นที่มาของคำว่า “โด่ง” โด่งบอกว่าจะไม่มีวันทำผิดพลาดเป็นครั้งที่สอง แต่สำหรับผมเองนั้น แม้ว่าเพื่อน ๆ จะไม่รู้เลยว่าในใจผมคิดอย่างไร ผมเองนั้นก็ต้องต่อสู้กับตัวเองเป็นอย่างมากเพื่อที่จะไม่ DNF ในช่วงเวลาที่ตกอับเป็นที่สุด ในเวลาที่ต้องยอมรับว่าผมจะวิ่งอีกไม่ได้แล้วในวันนี้ แล้วเวลาที่เหลือคือการเดิน เราจะผ่านเส้นทางนี้ด้วยการเดินหรือไม่ เราจะหลอกตัวเองได้ไหมว่าเรามารายการนี้เพื่อที่จะวิ่ง 50k ถ้าจำเป็นต้องเดินเราจะอยู่ต่อไปเพื่ออะไร หรือเราต้องบอกตัวเองว่าเรามาเพื่อที่จะทำวันนี้ให้สำเร็จ ถ้าวิ่งไม่ได้ก็เดิน ถ้าเดินไม่ได้ก็ต้องคลาน เราจะเลือกเส้นทางเส้นใด หลาย ๆ คนคงจะมองเห็นว่าผมเป็นคนอึดและอดทน คงไม่มีวันยอมแพ้ ประสบการณ์แข่งขันร่วม 20 ปีที่ไม่เคย DNF คงหล่อหลอมผมให้เป็นคนที่แพ้ไม่เป็น แต่ไม่ใช่เลยประสบการณ์เช่นนี้ยิ่งเป็นอุปสรรคต่อกำลังใจเป็นอย่างมาก หลาย ๆ ครั้งที่ผมคิดว่า 20 ปีที่ผ่านมาเราทำได้มาตลอด วันนี้จะเป็นครั้งแรกมันไม่ใช่เรื่องน่าอายอะไร หลังเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด แม้แต่หมอนกยังบอกว่าอย่าฝืน นี่ผมฝืนมาร่วมห้าชั่วโมงแล้ว เลิกตอนนี้คงไม่เป็นไร แต่จนแล้วจนเล่าผมก็ยังเดินหน้าต่อไป จนกระทั่งมาค้นพบคำว่า “ทรมาน” ที่มาช่วยชีวิตผมไว้

เรากลับมาที่จุดเดิม 34km ซึ่งเป็นร้านขายของชำเล็ก ๆ เราเดินเช้าไปหลบแดด พักผ่อน ผมเดิมน้ำในเป้อีกครั้ง หยุดกินแตงโมจำนวนมาก กล้วยเริ่มสุกบ้างแล้ว ผมเลือกกินเล็กน้อยเพราะกลัวจะย่อยลำบาก ปวดท้องขึ้นมาจะยุ่งไปกันใหญ่ พักผ่อนกันหนำใจแล้ว เราก็มุ่งเกินเดินต่อไป ผมไม่มั่นใจว่าทำไมตุ๊ยังเดินอยู่กับพวกเรา ตอนนี้ตุ๊ไม่มีอาการเจ็บเหมือนคนอื่น ผมวิ่งย่อง ๆ เป็นพัก ๆ เดินเป็นพัก ๆ ส่วนโด่งที่ดูเหมือนว่าเริ่มเจ็บมากขึ้นก็ถูกทิ้งระยะห่างมากขึ้น ผมกับตุ๊เดินคุยเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิต เรื่องราวหนัก ๆ จิปาถะ แต่ไม่มีเรื่องการเมืองที่ร้อนแรงในเวลานี้เข้ามาในหัวของเราเลย เมื่อร้อนเหนื่อยมาก ๆ ผมก็จะบ่นว่าวันนี้มันช่างทรมานจริง ๆ แล้วความรู้สึกท้อแท้มันก็มลายหายไปเหมือนราวกับว่าการยอมรับโดยดุษฎีว่าชีวิตนี้มันคือทุกข์ คือการค้นพบทางออกของชีวิตนั่นเอง การยอมรับว่าเรากำลังทรมานเป็นการรับรู้ว่าชีวิตเรากำลังเดินต่อไป

IMG_3933

เรามาเจอด่านทดสอบกำลังใจอีกครั้งในอีกหุบเขาหนึ่ง ประมาณ กม. 37 เราเห็นคนที่เดินออกจากหุบเขามาล้วนแล้วแต่มีใบหน้าไม่สู้ดี และเรารู้ว่าเราต้องเข้าไปเดินข้างในร่วมชั่วโมง เพียงเพื่อจะกลับมาที่เดิมตรงนี้อีกครั้ง คราวนี้ตุ๊เริ่มคุยกับเราซีเรียสมากขึ้น เป้าหมายที่จะสิ้นสุดการเดินทางของวันนี้ที่เวลาก่อนเที่ยงหมดไปแล้ว เราทะยอยโทรไปบอกกองเชียร์ให้ใช้เวลาท่องเที่ยวให้คุ้มค่า เพราะวันนี้คงไม่จบลงง่าย ๆ และยังคงอีกหลายชั่วโมงเราจึงจะกลับออกไปได้ ตุ๊เริ่มให้เหตุผลว่าเขาที่เราจะเข้าไปมันจะชัน และเหนื่อยมาก วันนี้เราได้พิสูจน์แล้ว ว่าเรามีใจที่สู้ เส้นทางมันโหดกว่าที่จะวิ่งได้ แล้วเราเองก็ไม่ได้วิ่ง ด้านในก็ไม่ได้มีจุดตรวจอะไร เราน่าจะเดินกลับกันที่ตรงนี้จะประหยัดเวลาไปได้เป็นชั่วโมงเลยทีเดียว ผมจำได้ว่าเป็นครั้งเดียวที่ผมพูดเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะตอนนี้กำลังใจผมดีขึ้นมาก ผมยอมรับแล้วว่าวันนี้จะไม่มีวันวิ่งได้อีก ผมรับรู้แล้วว่าวันนี้มันทรมาน และผมรู้แล้วว่าวันนี้จะสิ้นสุดลงในเวลาอีกสามถึงสี่ชั่วโมงข้างหน้า ผมพูดกับเพื่อน ๆ ว่า ถ้าเราเดินลัดในวันนี้ มันก็เหมือนกับการคอรับชั่นนั่นแหละ ทำไปอาจจะไม่มีใครรู้ ไม่มีใครจับได้ หรือคนที่รู้อาจจะไม่ได้ใส่ใจ แต่เรานี่แหละจะต้องอยู่กับวันนี้ไปตลอดชีวิตของเรา นี่เป็นครั้งเดียวที่ผมวกเข้าเรื่องการเมือง และผมคิดเช่นนั้นจริง ๆ ผมไม่ได้ใช้ชีวิตในวันนี้ หรือวันไหน ๆ เพื่อการยอมรับ หรือการแสดงออกเพื่อใคร ๆ ผมเดินทางในวันนี้ และในทุก ๆ วันในชีวิตเพื่อตัวของผมเอง และผมเองจะรู้เสมอว่าผมได้ทำอะไรลงไป แล้วเราก็เดินกระย่องกระแย่งเข้าไปในหุบเขานั้น เราเริ่มมองเห็นวิวสวย ๆ ในหุบเขา ความพยายามของมนุษย์ที่จะเอาชนะธรรมชาติ ถนนคอนกรีต บนยอดเขา ผ่ากลางสวนมะม่วง พืชสวนที่ขึ้นผิดที่ผิดถิ่น มองเห็นความอหังการ์ของมนุษย์ที่ตีเส้นสมมุติลงบนผิวโลกแล้วเข่นฆ่ากันเพื่อแย่งชิงสิทธิ์จอมปลอมเหนือเส้นสมมุติเหล่านั้น

เราลงมาจากเขาที่ควรจะทรมานที่สุดด้วยความรู้สึกปลอดโปร่งโล่งสบาย ผมตะโกนถามตลอดเวลาว่าเขานี้ชันที่สุดหรือยังเนี่ย ราวกับว่าชันกว่านี้มีอีกมั้ย ผมยังไม่ทรมานอย่างที่ผ่านมาเลยนะ ไม่ใช่แต่เพียงว่านี่จะเป็นหุบเขาสุดท้ายของวันนี้ CP 40k ตั้งอยู่เบี้องหน้า แต่เราออกมาพร้อมกับความรู้สึกน้อมรับถึงความต่ำต้อยด้อยค่าของมนุษย์ที่ต้องการครอบครองพื้นที่ใหญ่โต มากความความสามารถของตัวเองที่จะเดินได้รอบพื้นที่ผืนนั้น ความรู้สึกเริ่มต้นที่เห็นความสวยงามของวิว และอิจฉาบ้านหลังสวยตั้งขึ้นเพื่อชิงวิวที่สวยที่สุดบนยอดเขา กลายเป็นความเฉยชา ความรังเกียจในความเห็นแก่ตัวที่แย่งชิงสิ่งที่ธรรมชาติสร้างขึ้นไว้เป็นของตนแต่เพียงผู้เดียว ทันใดนั้น ก็มีนักวิ่งวิ่งแซงเราไปอย่างรวดเร็ว นั่นคือผู้นำของระยะ 100km ขณะที่เราเดินได้ 40km นักวิ่งคนนี้ทำระยะไปได้แล้ว 90km ตุ๊พยายามวิ่งไล่หลังไปได้พักใหญ่ ๆ ผมเริ่มเชื่อว่านี่คงเป็นครั้งสุดท้ายที่จะได้เห็นเขา แต่แล้วก็พบว่าในที่สุดเขาก็มาหยุดรอเราอยู่ด้านหน้า แล้วบ่น ๆ ว่าตามไม่ทันเลยแม้แต่น้อย ช่างน่ามหัสจรรย์จริง ๆ ผมเริ่มคิดว่าเดี๋ยวเราคงโดนอีกหลาย ๆ คนตามมาทัน แต่ก็ไม่มีใครมาเสียที

หลังจากลงจากเขา ผมก็เริ่มวิ่งสลับเดินอีกครั้ง 1:1 วิ่งหนึ่งนาทีและเดินหนึ่งนาที เราแวะที่ CP 40k พักใหญ่ หลังจากนั้นก็เดินออกมาถ่ายรูปร่วมกันที่ระยะ 42km เพื่อรับรู้ว่าเวลาที่เหลือนี้ เป็นช่วงเวลาที่เราไม่เคยสัมผัส เพราะไม่มีใครเคยวิ่งเกินระยะมาราธอนมาก่อนในชีวิต แต่หารู้ไม่ว่า ณ เวลานี้เราเดินร่วมกันมากว่า 8 ชั่วโมงครึ่งแล้ว ผมเชื่อเหลือเกินว่า ไม่มีใครเคยเดินนานเท่านี้มาก่อนในชีวิตเช่นกัน ผมวิ่งสลับเดินและค่อย ๆ ทิ้งห่างเพื่อนทั้งสองออกมาช้า ๆ จากจุดนี้จะไม่มีเขาอีกแล้ว ค่อนข้างเป็นทางเรียบและเป็นถนนเสียส่วนใหญ่ สักพักโด่งก็ค่อย ๆ วิ่งมาทัน โด่งสามารถทำความเร็วได้มากกว่าผม ผมนั้นแม้ว่าจะอยู่ในท่าวิ่ง แต่ความเร็วไม่ได้ต่างจากเดินมากนัก หลังผมแทบจะใช้งานไม่ได้อยู่แล้ว ไม้เท้ายังต้องอยู่ในมือผมตลอดเวลา เพราะผมจำเป็นต้องใช้มันพยุงหลังของผมไว้ ในช่วงพักเดิน ผมกับโด่งค่อย ๆ ทิ้งห่างจากตุ๊ไปเรื่อย ๆ จนในที่สุดเราก็มองไม่เห็นตุ๊อีก

IMG_3888

ที่ระยะ 44 กม. เหลือเพียง 6 km สุดท้าย แต่ด้วยความเร็วทรมานใจเช่นนี้ เรายังคงต้องอยู่บนท้องถนนกันอีกอย่างน้อยหนึ่งชั่วโมง ผมเริ่มโทรไปบอกภรรยาชองผม คุยสารทุกสุกดิบ แฟนผมถามว่าจะถึงหรือยัง ผมก็เล่าให้ฟังเรื่องหลัง เรื่องที่วิ่งไม่ได้ และบอกว่าอย่างน้อยก็หนึ่งชั่วโมง วันนี้เริ่มต้นวันที่ตีสี่ ผมเริ่มวิ่งออกมาตั้งแต่ตีห้า ตอนนี้เวลาบ่ายสองโมงแล้ว อาการที่กินไปตอนเช้า มีขนมปังเล็กน้อย ระหว่างทางมีกล้วยนิดหน่อย แตงโมจำนวนมาก เจลอีกจำนวนนึง และอีกหนึ่งชั่วโมงจะถึงเส้นชัย ผมบอกภรรยากะเกณฑ์เวลา และนัดเวลาอาหารเย็นให้เร็วขึ้นเล็กน้อยเพราะคาดว่าหลังแข่งผมคงจะหลับอย่างรวดเร็ว ถึงจุดนี้ผมกับโด่งก็ไม่ได้อยู่ในสภาพที่วิ่งได้มากนัก การเดินเป็นระยะเวลาร่วมสิบชั่วโมงมันทำให้อ่อนล้าไม่ต่างจากการวิ่งเลย ขาของผมหนักอึ้ง ไม่รวมหลังที่เจ็บปวดจนบรรยายไม่ถูก แถมเจ็บแปลบ ๆ ที่มาเยือนเป็นระยะ ๆ เจ็บแบบเข่าอ่อนน้ำตากระเด็น ที่เขาว่ากัดฟันไม่ใช่เป็นเพียงคำเปรียบเปรย แต่เป็นความจำเป็นที่ผมต้องกัดฟันเอาไว้เป็นพัก ๆ เพื่อช่วยระงับความเจ็บปวด แผ่นยาตราเสือผมแปะใช้ไปหมดแล้วทั้งสองแผ่น ผมนึกถึงสเปรย์ฉีดที่ผมตัดสินใจทิ้งไว้ในโรงแรมในวินาทีสุดท้าย แต่ตอนนี้ผมเริ่มได้ยินเสียงของเส้นชัยมาแต่ไกลแล้ว นาฬิกาของผมบอกว่าเหลืออีกเพียง 2 กมเท่านั้น ผมแค่ต้องลุ้นว่า GPS ของผมคลาดเคลื่อนมากน้อยเท่าไร เส้นทางของผู้จัดแม่นยำแค่ไหน และเส้นทางที่เราวิ่งหลงนั้นมากน้อยเท่าไร ตอนนี้ 100-200  เมตรเป็นระยะทางที่ไกลกว่าที่ใจจะสามารถปัดเศษได้

IMG_3890

2 km สุดท้ายผ่านไปอย่างเชื่องช้า แม้ว่าผมกับโด่งจะยังสามารถ วิ่งเดินสลับอย่างละหนึ่งนาทีมาได้โดยตลอด นาฬิกาของผมบอกระยะ 50Km ไปแล้ว เหลือแต่ว่าระยะทางที่เหลือนั้นมันไกลเท่าไร ผมเห็นเส้นชัยแล้ว เวลาตอนนี้นักวิ่งแทบไม่เหลือแล้ว คนเชียร์ก็แทบไม่มีเหลือแล้ว เมื่อเข้าโค้งสุดท้ายผมก็บอกโด่งว่าเราน่าจะวิ่งไปตลอดนะ ไม่มีเดินอีกแล้ว แล้วทั้งสองก็กัดฟันกันเข้าไป เส้นชัยมันดูสวยงาม แต่ก็ไม่ได้สวยงามมากว่าเส้นชัยอื่น ๆ ที่ผมเคยเข้ามาแม้ว่าวันนี้ผมจะใช้เวลาไปถึงสิบชั่วโมงเต็ม ๆ กับระยะทาง 50km สิ่งแรกที่ผมวิ่งเข้าหาก็เป็นเต้นนวดและก็ไม่ผิดหวัง บริการนวดที่ครบสูตร ยาวนานจนในที่สุดตุ๊ก็วิ่งเข้าเส้นมานวดอยู่ในเตียงข้าง ๆ กัน ผมกับโด่งนวดเสร็จก่อนตุ๊เล็กน้อย ผมบอกลาตุ๊ เพราะพรุ่งนี้เราต้องเจอกันอีกครั้งสำหรับ เขาใหญ่ทรมานบันเทิง วันที่สอง

ผมกลับบ้านไปพบกับครอบครัว พาลูก ๆ ลงเล่นน้ำนิดหน่อยหลังจากที่อาบน้ำล้างเนื้อตัวเรียบร้อยแล้ว เย็นนั้นเราออกไปกินข้างเร็วตามที่ผมโทรมาจัดแจงไว้แล้ว อาหารเย็นวันนั้นเราสั่งมาแบบเต็มสูบ หลังจากอาการเจ็บหลังในช่วง 10-20km การเดิน 30km ให้หลังแม้ว่าจะมีแปลบ ๆ บ้างเล็กน้อย แต่เมื่อสิ้นวันผมยังคงเดินเหิญได้ปกติ ก้มได้เล็กน้อยเพียงพอสำหรับการปั่นจักรยานในวันต่อไป อำนวยโทรมาถามไถ่เล็กน้อยว่าต้องการอะไรหรือไม่ ผมขอให้เขาแกเตอเรตให้ผมสักสี่ขวด คืนนั้นผมเข้านอนตามปกติ ไม่ได้เพลียหลับเร็วอย่างที่คิดไว้ ไม่ได้เหนื่อยล้าอย่างที่รู้สึกทรมาน เป็นความรู้สึกแปลก ๆ ผมรู้สึกแข็งแรงผิดปกติ ผมตั้งนาฬิกาปลุกที่ตีห้าครึ่งและเข้านอนประมาณเที่ยงคืน สำหรับวันที่ยาวนานนี้

ทริปประเพณี กรุงเทพฯ-หัวหิน ในตำนาน

นี่เป็นกิจกรรมหนึ่งที่ถูกกว่าขวัญถึงเป็นอย่างมากในเวปจักรยานยอดนิยมอย่าง ThaiMTB ด้วยจำนวนจักรยานร่วมสองพันคัน ระยะทาง 180+ km ปลายทางที่เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจที่สำคัญของคนเมืองกรุงอย่างหัวหิน ผมก็ใช้เวลาไม่เกินสองวินาทีในการตอบตกลงเพื่อนเก่า นักปั่นหน้าใหม่อย่างอำนวยที่เอ่ยปากชวนผม ทั้ง ๆ ที่ผมไม่เคยคิดจะเข้าร่วมกิจกรรมปั่นเล่น ๆ แบบนี้กับเขาเลยแม้แต่ครั้งเดียว การเดินทางไปร่วมกิจกรรมนี้ของผมค่อนข้างยากลำบาก ทั้งนี้ผมต้องการให้ครอบครัวผมมาร่วมด้วยซึ่งหมายความว่าพวกเขาต้องมารอผมที่หัวหิน และผมต้องไปเริ่มที่กรุงเทพด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง ในเบื้องต้นผมต้องการที่จะนั่งรถไฟขึ้นมาจากปัตตานี แต่ภรรยาที่มีลูกอ่อนอายุเพียงสองเดือนเศษ ไม่ยินยอม ทำให้ผู้ป่วยโรคหลังอย่างผมต้องขับรถใช้เวลาถึงสามวันสองคืนกว่าจะกระดึ๊บจากปัตตานีมาถึงปลายทางหัวหินได้ ก่อนที่จะต้องขนจักรยานขึ้นรถตู้เข้ากรุงเทพฯ เพียงเพื่อจะปั่นกลับมาที่เดิมในวันรุ่งขึ้น โชคดีที่มีโด่งที่เพิ่งมาส่งครอบครัวมารอที่หัวหินเช่นกันนั่งกลับไปด้วยกัน ทำให้ระยะเวลาสองชั่วโมงเศษ ๆ ในรถตู้ผ่านไปอย่างรวดเร็ว

1609743_10202749681040897_912562024_n

เนื่องจากเป็นรายการปั่นสนุก ๆ ผมจึงเลือกใช้จักรยานเหล็ก ปั่นสบาย สไตล์วินเทจของผมเข้าร่วม ในขณะเดียวกันก็ถือโอกาสชักชวนเพื่อนร่วมทีม หน้าเก่า หน้าใหม่เข้ามาร่วมสนุกกันในทริปประเพณีนี้ โดยมีเป้าหมายที่จะไปร่วมกัน ช่วยเหลือกัน และเข้าเส้นชัยด้วยกัน สร้างโอกาสให้หลาย ๆ คนที่อาจจะไม่เคยคิดว่าระยะทาง 180+ นั้นเป็นไปได้สำหรับเขา ได้มาท้าทาย ลองกำลังความสามารถ โดยที่มีเพื่อนร่วมทีมคอยเป็นกำลังใจและให้ความช่วยเหลือ เป็นที่น่ายินดีทีมเรามีคนตัดสินใจเข้าร่วมถึง 8 คน ทั้งหมดไม่เคยมีใครปั่นเกิน 100 km มาก่อนเลยสักคน มีเพียงผมที่ผ่าน 145+ และ Festive500 มาหมาด ๆ มาทำหน้าที่เป็นเหมือนเสาหลักในการปั่นครั้งนี้ให้กับทีม ในฐานะที่รู้ตัวว่าปั่นถึงแน่ ๆ และเป็นครั้งแรกที่ผมปั่นจักรยานโดยมีผู้จัดการทีมขับรถตามสนับสนุนตลอดทาง แจ๊ค แม้ว่าจะเบี้ยวการปั่น แต่ก็มาอาสาทำหน้าที่นี้ให้กับทีม ข้อกังวลเกี่ยวกับอาหารและน้ำ ปัญหาระหว่างทางทั้งสิ้นของทีมเราเป็นอันหมดห่วง

1538805_10202750336617286_1216365631_n

เช้าวันงาน การลงทะเบียนเป็นไปอย่างยุ่งเหยิง เนื่องจากมีการแบ่งพรรคแบ่งพวกเป็นทีม ๆ บรรยากาศจึงไม่เหมือนว่าเรามาทำกิจกรรมร่วมกัน หรือเป็นงานประเพณีใด ๆ ร่วมกันเพียงแต่เป็นการรวมตัวของทีมจักรยานหลาย ๆ ทีมเท่านั้น กำหนดการดูมั่ว ๆ เล็กน้อย แต่ก็เพียงพอให้ทีมของเรารวมตัวกันเพื่อปล่อยตัวไม่ทัน เราต้องมาหาที่รวมตัวกันอีกครั้งหลังจากขบวนได้เริ่มเดินทางออกไปแล้ว เมื่อทีมเราพร้อมและปั่นออกไปด้วยกัน ในช่วงต้นนั้นต้องปั่นผ่านถนนกรุงเทพฯ ที่เต็มไปด้วยความสับสน ขบวนใหญ่เลยออกไปนานแล้ว ทำให้จักรยานแต่ละคันต้องพยายามเอาตัวรอดบนท้องถนนอันโหดร้าย ทีมเราแตกเป็นเสี่ยง ๆ จนในที่สุดผมมารอที่เส้นไฮเวย์ก่อนออกนอกเมือง พบกับเพื่อนร่วมทีมอีกสองคนแล้วตัดสินใจรอคนอื่น ๆ ณ จุดนั้น จนกระทั่งผู้จัดงานมาไล่ บอกว่าเราเป็นสามคันสุดท้ายของงานเสียแล้ว ด้วยความงุนงงว่าเพื่อนร่วมทีมคนอื่น ๆ หายไปไหน เราจำเป็นต้องปั่นออกไป การปั่นกันไปสามคน แม้ว่าจะมีคันอื่น ๆ ประปรายให้พานพบตามรายทาง บนถนนเส้นใหญ่ มีทางเข้าออกทางขนานเป็นระยะ ๆ นั้น น่ากลัว น่าสยองขวัญเป็นอย่างมาก มีอันตรายสูง แม้ว่าในวันนั้นไม่มีเหตุการณ์อะไรร้ายแรง แต่เส้นทางเช่นนี้ ไม่ใช่ bicycle friendly เลยแม้แต่น้อย ผมอดคิดเสียดายไม่ได้ที่หลุดกลุ่มนำตั้งแต่เริ่มงาน ซึ่งในวันนี้ทั้งวันผมรู้แล้วว่าผมคงไม่มีโอกาสสัมผัสกับคำว่าทริปประเพณี

1551711_10202751146477532_1379563616_n

ใช่ว่าจะเป็นเรื่องเลวร้าย การรวมกลุ่มกับทีมแปดคน ปั่นเป็นระยะทาง 180+ ผ่านเพื่อนนักจักรยานหลักพันคน แม้ว่าจะไม่ได้สัมผัสความรู้สึกของทริปประเพณี ชีวิต 6-8 ชม. บนถนนร่วมกัน จะสร้างความประทับใจ ความผูกพันธ์ุได้อย่างไม่น่าเชื่อ ว่ากันว่าใครได้ปั่นดูดใครเป็นระยะทางเกิน 100+ คนเหล่านั้นจะกลายเป็นเพื่อนกันจวบชั่วกัลปวสาน งานนี้คงไม่ครบร้อย แต่ก็ยาวนานเพียงพอที่จะเป็นเพื่อนกันไปได้ทั้งชีวิตเลยทีเดียว จากจุดเริ่มต้นที่พระจอมเกล้าพระนครเหนือ ไปถึงวัดเกตุม ระยะทางร่วม 70 กม. ผ่านถนนหนทางอันโหดร้าย ผมไม่คิดว่าจะสร้างความประทับใจให้กับใครได้มาก โดยเฉพาะกลุ่มมือใหม่ที่หลุดจากกลุ่มนำอย่างทีมผม นักปั่นล้าหลังสามคนมีรวมตัวกับทีมที่เหลือที่เข้ามาถึงก่อน (ได้ยังไงไม่รู้) ที่จุดพัก เข้าห้องน้ำ โพส IG FB กินน้ำ กินแตงโม แล้วก็ตัดสินใจปล่อยหัวแถวล่วงหน้าไปเหมือนเคย แล้วเราคุยกันว่าเดี๋ยวเราจะเกาะกันไป 8 คัน แล้วเราก็เริ่มปั่นออกพร้อม ๆ กันอีกครั้ง

1510816_10202750384938494_210816624_n

ผมปั่นนำบ้างตามบ้างกับเพื่อนร่วมทีมขาแรง พยายามกำหนด pace ให้ได้ประมาณ 27-30 km/hr ผมเพิ่งมาตระหนักในวันนี้ว่าจริง ๆ แล้วการปั่นนำทีมนั้นมีความยุ่งยากกว่าที่คาดไว้เยอะมาก โดยปกติแล้วผมปั่นกับคนอื่น ผมก็เพียงแต่หมกอยู่ในกลุ่ม ไม่เคยต้องมีการตัดสินใจอะไร แค่พยายามปั่นตามให้ทัน ไม่หลุดจากกลุ่มก็เท่านั้น แต่ในวันนั้น เพียงชั่วเสี้ยววินาทีที่เผลอ ขาแรงของทีมก็เหลือกันอยู่เพียงสามคัน คันอื่น ๆ อันตรธานหายไป เราปั่นชะลอเท่าไรก็ไม่เจอเสียที จนกระทั่งเราเจอกับตุ๊ที่มากับ TT bike แต่ไม่เคยใช้ แอโร่บาร์  เราปั่นไปด้วยกันสักพัก ในขณะที่เาชะลอเพื่อคอยคนในทีมตุ๊เหมือนจะไม่ค่อยอยากลดความเร็วเราก็ปล่อยเขาไป แต่เนื่องจากเราไม่เจอใครเสียทีผมจึงขอให้ขาแรงที่สุดของทีม ปั่น Look ลงไปหาเพื่อนร่วมทีมแล้วให้ช่วยลากขึ้นมา หมอเก่งหายไปเป็นเวลานาน แล้วกลับมาบอกว่าห่างกันใกลมาก ลากขึ้นมาไม่ไหว ผมกับจ๊อบยังคงอยากที่จะรอพรรคพวกอยู่เพราะปั่นกันสองสามคนนั้นไม่ค่อยสนุกเท่าไรนัก ส่วนหมอเก่งที่มีเวลาปั่นสั้น ๆ ได้เพียง 100km ขอตัวปั่นขึ้นหน้าไปเพื่อจะได้สนุกกับการปั่นครั้งนี้อย่างที่หวัง

1490919_272853526202462_1428840912_o

ในที่สุดผมกับจ๊อบจึงตัดสินใจเข้าข้างทางเพื่อรอ เพราะปั่นไปเช่นนี้อาจจะไม่มีวันได้เจอกัน หลังจอดได้ไม่นานผมก็เจอตุ๊ปั่นผ่านไป เขาไม่เห็นพวกผม และผมเองก็ไม่คิดว่าจะเจอตุ๊อีกครั้งเพราะเขาทิ้งเราไปล่วงหน้านานมากแล้ว สงสัยว่า ดร.ตุ๊แอบเข้าปลดทุกข์ที่ปั้มใดปั้มหนึ่ง ผมโทรศัพท์หาผู้จัดการทีม ก็พบว่าเพื่อนร่วมทีมเริ่มหมดสภาพ และกำลังช่วยเหลือกันอยู่ น้องแววดาวผู้ไม่เคยปั่นเกิน 50km  ขอยอมแพ้ที่ระยะประมาณ 100km มีจอนปั่นเป็นพี่เลี้ยงให้ตลอดระยะ 30km สุดท้าย ส่วนโด่งที่ไม่เคยปั่นเกิน 60km ก็เริ่มหมดสภาพ อำนวยปั่นเป็นพื่เลี้ยงเพื่อมาพบกับรถสนับสนุน ผมจึงรอให้นักปั่นทั้งสี่จัดการตัวเองให้เรียบร้อย สองคันขึ้นรถ และอีกสองคันปั่นมาเจอกับเราที่ข้างทางแล้วเริ่มออกเดินทางไปด้วยกันอีกครั้ง ประสบการณ์ของทีมเริ่มสูงขึ้นและจำนวน 4 คันเป็นตัวเลขที่บริหารค่อนข้างง่าย รวมไปถึงเส้นทางที่เริ่มออกนอกเมืองแล้ว การปั่นไม่น่ากลัวเหมือนช่วงแรก เราสามารถที่จะคุยกันดูแลกัน และกำหนด pace ที่เหมาะสมได้ง่ายขึ้น ความสนุกของการปั่นทีมได้เริ่มขึ้นแล้ว หลังจากเราปั่นออกจากกรุงเทพมาร่วม 100 km

1496616_10202750631944669_1685217544_n

เราเข้าจุดพักทานอาหารกลางวัน ณ เวลาที่กลุ่มนำจะเริ่มออกตัวสำหรับภาคบ่ายพอดี อาหารที่เตรียมไว้สำหรับงานประเพณี เหลือไม่พอถึงทีมเรา นั่นเป็นคำบอกเล่าของดร.ตุ๊ที่เข้าถึงจุดก่อนเราสี่คนพักใหญ่ เราจึงเลือกออกมาทานร้านข้าวแกงริมทางแล้วปล่อยเวลาทริปนี้ให้กลายเป็นทริปของทีมเราไปโดยสมัครใจ ผมไม่ได้ซื้อข้าวแกงมาทานเหมือนคนอื่น เนื่องจากกูเม่ท์แซนวิชที่จ๊อบเตรียมมาให้ตั้งแต่เช้ายังเหลือเป็นจำนวนมาก ผมจึงจัดไปสองชุดเศษ  อิ่มเต็มที่ ตบด้วยน้ำมะพร้าว electrolyte drink ที่กำลังเป็นที่นิยมในวงการกีฬาคนอึด ผู้จัดการทีมเราทันสมัยเสียจริง ๆ เมื่อทุกคนอิ่มแปร้ เข้าห้องน้ำห้องท่ากันไปแล้ว การวางแผนปั่นเฟสบ่ายจึงเริ่มขึ้นด้วยจุดพักเบรคที่ร้านกาแฟน่ารัก ๆ ที่ผู้จัดการแนะนำ เราออกปั่นไปด้วยพลังงานเต็มกระเพาะ เราจึงมีช่วงดูดขบวนรถด่วนที่วิ่งผ่านมาเป็นพัก ๆ มีทีมแตกบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ แบบไม่ต้องกังวล เพราะเหลือแต่ขาแรง ประสบการณ์สูง และที่สำคัญอย่างน้อย ๆ เราจะมีกันสองคนเพื่อคอยช่วยเหลือกัน ยกเว้นในช่วงเดียวที่จ๊อบหลุดลงไปเนื่องจากติดทีมอื่น นอกนั้นถ้าแตกก็แตกเป็นสองสอง ซึ่งใช้เวลาไม่นานมากนักก็กลับมารวมทีมสี่คนได้อีก ส่วน ดร.ตุ๊รายนั้นยังนิยมปั่นเดี่ยวอยู่ ก่อนถึงพักเบรคกาแฟ ก็มีเหตุการณ์เปลี่ยนยางเล็กน้อยพอได้มีประสบการณ์สนุก ๆ อำนวยยางระเบิดแล้วเราก็ลงเปลี่ยนยางด้วยกันทั้งสี่คนก่อนเข้าพักเบรคเพียงไม่ถึงหนึ่งกิโล

1549457_10151899497045949_102823912_n

เราเบรคกันค่อนข้างนาน เนื่องจากร้านกาแฟค่อนข้างบรรยากาศดี และร่มรื่น ต่างจากสภาพอากาศที่เราปั่นมาแล้วค่อนวัน เรากินกาแฟ เข้าห้องน้ำ ถ่ายภาพกันจนหนำใจ แล้วจึงออกไปปั่นอีกครั้งโดยมีเป้าหมายที่ร้านกาแฟอีกแล้ว ประมาณ 30km ก่อนเข้าหัวหิน ซึ่งเราตกลงกันว่าโด่งจะปลดจักรยานลงมาปั่นร่วมกับเราเพื่อให้ได้ระยะ 100+ ในวันนี้ ผมก็หวัง ๆ ลุ้น ๆ ว่าน้องแววดาวเมื่อเห็นโด่งแล้วน่าจะกัดฟันลองกันสักตั้ง ในช่วงสั้น ๆ ก่อนเข้าเบรคสุดท้ายประจำวัน ดร.ตุ๊ยอมที่จะปั่นร่วมกับทีม เราเป็นขบวน 5 คันที่ทำให้การปั่นสนุกและง่ายขึ้นเป็นอย่างมาก เราสามารถผลัดกันนำ ผลัดกันตามได้ค่อนข้างง่าย ผมเองที่นำมาค่อนข้างมากตลอดทั้งวัน เริ่มสามารถทิ้งตัวลงมาห้อยด้านหลังโดยที่เพื่อนร่วมทีมเริ่มเข้าใจหน้าที่ของตัวเอง แต่ที่ยังต้องหัดกันอยู่คือ พอใครนำแล้วดูเหมือนว่าจะไม่ค่อยกล้าทิ้งตัวกลับลงมาให้คนอื่นนำ หรือถ้าทิ้งลงมาก็ไม่ลงมาต่อหลังขบวนทำให้ต้องกลับไปนำซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่ได้นำเอาศักยภาพของทีม 5 คันมาให้ให้ได้ประโยชน์สูงสุด แต่ประสบการณ์มันคงต้องค่อย ๆ สะสมกันไป แม้กระทั่งขาแรงอย่างอำนวยก็ยังมีแผ่ว และเข้าใจถึงการดูดอย่างแท้จริงในวันนี้เอง

1013681_10202758119931864_1646639312_n

เบรคสุดท้ายเข้าเร็วกว่าที่คิด เวลาแห่งความสนุกมักจะผ่านไปอย่างรวดเร็ว เรามาพักเบรคที่ร้านกาแฟน่ารัก ๆ อีกร้านหนึ่ง เราใช้เวลาส่วนมากในการหลอกล่อให้น้องแววดาวยกจักรยานลงมาปั่นเข้าหัวหินเป็นระยะทางสั้น ๆ ด้วยกัน แต่ไม่สำเร็จ  โด่งยกจักรยานลงมาแล้วเปรย ๆ ว่าเหตุการณ์วันนี้ห้อมเพร่งพรายให้เมียรู้เป็นอันขาด ทุก ๆคน ตบปากรับคำ เส้นทางสุดท้ายเราปั่นกันไปอย่างช้า ๆ ปั่นไปคุยไป 180+km ไม่ได้ยาวนานจนเกินเหตุ แม้ว่าผมจะไม่ได้ทดลองปั่นต่อเนื่องเพื่อเป็นการเตรียมสำหรับรายการไอรอนแมน แต่วันนี้ก็เป็นกิจกรรมที่ให้บรรยากาศและความสนุกสนานไปอีกแบบ เราปั่นเลี้ยวซ้ายเข้าสู่เส้นชัยที่ริมทะเล วิวสวยจนได้ภาพสวยเพียงพอที่จะเป็น cover photo ของ FB ของทีม ถ่ายรูปนั่งลุ้นรางวัลกัน ไม่มีใครสนใจที่จะตอบคำถามดร.ตุ๊ “ปั่นถึงแล้วยังไงวะ” แต่ในใบหน้าของแต่ละคนผมรู้ว่าทุกคนมีคำตอบของตัวเองอยู่ในใจ เย็นวันนั้น 5 คนในทีมนั่งรถกลับกรุงเทพในทันที ส่วนผม โด่ง ตุ๊ ยังใช้เวลาอยู่ในหัวหินอีกหนึ่งคืน เราสังสรรค์กันเล็กน้อย ตามประสาเพื่อนเก่า ก่อนที่จะแยกย้ายกันกลับไปในวันรุ่งขึ้น ผมยังต้องขับรถอีกสามวันสองคืนก่อนที่จะถึงปัตตานี มานั่งอมยิ้มดูรูปต่าง ๆ ที่ค่อย ๆ ถูก tag เพิ่มลงมาใน FB ของกลุ่มทีละรูป ละรูป หลาย ๆ คนในทีมที่ได้สัมผัสความรู้สึกนี้คงเข้าใจว่าผมนั่งยิ้มทำไม แม้กระทั่งโด่งที่สัมผัสเสี้ยวหนึ่งของประสบการณ์ แม้ว่าทุกวันนี้ทีมเราจะใช้คำว่า “โด่ง” เพื่อแทนคำว่า DNF อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันนั้น แต่ด้วยชั่วโมงบินอย่างโด่ง เคาะให้ได้ 100+ อย่างวันนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ผมเองใช้เวลาซ้อมและแข่งหนึ่งปีที่จะเพิ่มระยะซ้อมและแข่งในช่วง 70 ไปเป็น 100+km จริง ๆ แล้วโด่งทำให้ผมแปลกใจด้วยซ้ำที่ตัดสินใจเข้าปั่น 180+ ด้วยประสบการ์แบบนั้น

1511690_10202752045900017_1697916544_n

ปีหน้า ประเพณีนี้ผมจะเข้าร่วมอีกหรือไม่ คงยังไม่แน่นอนเหมือนกับเพื่อนร่วมทีมคนอื่น ๆ การเดินทางร่วมสัปดาห์ กับเป้าหมายที่จะเป็นคนหนึ่งคนในทีมที่ทุกคนรู้ว่าปั่นถึงแน่ ๆ มันจบลงไปแล้ว ในปีหน้าจะมีอย่างน้อย 6-7 คนที่มีประสบการณ์ 180+ และความจำเป็น หน้าที่และสิ่งที่ผมสนใจมันไม่ได้มากเหมือนเดิม ต้องคอยมาลุ้นกันต่อไปครับว่าผมจะกลับไปปั่นอีกหรือไม่ แต่สำหรับปีนี้ ความประทับใจคงต้องบันทึกไว้อย่างถาวรทั้งที่ตรงนี้และภายในใจของผม

#Festive500 Day 3 : Commuting.

604099_550877774929312_954531416_n

I’m working as a lecturer in Prince of Songkla University. I’m one of few people living off campus. Pattani town is quite small, to run around town it is only 12-15 km. My long run would need 2-3 laps around town. Size of the town wasn’t change much from 100 years ago only more buildings to fill up the space. When I was in high school everyone use bicycle to go everywhere to do anything from go to school, market, movie or hang out. Bicycle taxi (3 wheeler) is a way to get around town. Thinking about it Pattani is a perfect size to be a bicycle town. However now bicycle is a rarity. After my wife settle down with the idea of filing a divorce if I bike to work. I ride almost everyday to work. My wife got a folding bike which has become my favourite commuting bike today. My trip from home to work only take 3.5km barely break a sweat but most people refuse to bike to work saying it is too hot to ride. These route would go pass one of the hottest street on Pattani town. Campus street whom never sleep yet along 2km stretch there were bombing incident almost every 500 meters also. Every single 7-11 along this street were bombed and we have 3 on this 2km. Most people live on a small campus no more than 3 km. across, one way to work maybe only 1km but mostly drive a car. I’m probably live the farthest and only one riding to work. Even tough bicycle is quite popular nowadays, only morning exercise and evening exercise are only time for people on their bikes. Sometimes I just think that by bike commute, I can show my colleagues that bike can take you as far as my home (3.5km) so living on campus one don’t need any motorised vehicle at all. By participating in Festive500 would tell the friends how far can someone can just pickup their bike and ride for a trip of their life time. It actually tell me that I can easily make a trip of my dream tomorrow if I want to. It does’t take much to ride 100km per day.


Screen Shot 2557-01-04 at 11.50.43 PM

#Festive500 Day 1 : This could be my last ride.

#Festive500 Day 2 : Route 418.

#Festive500 Day 2 : Route 418

1552868_778731698810584_536101840_n

Bike takes me as far as my heart cry for. I don’t do laps in my training ride. This mean that I have to ride far out from the city. My favourite route is called 418. It is one of the most recent highway in Thailand and it is one of the best. Route 418 was designed to connect 4 southern provinces of Thailand in the most direct and efficient way. There is no intersection on the highway. There are overpass bridges and huge roundabout. The section I rode is connecting Pattani-Yala-Route 4 to Songkla. As it was like drawing a strait line from Yala to Pattani, 418 cut into one of the most active area of insurgency. Regular road contractor could not make this route happen since in the early days of insurgency road contractors were the target of shooting as they are working far out in the country. Hence route 418 was built by the Army. It is 4 lanes highway with very clean and wide side way perfect for a bike ride. From Pattani, it would run strait line rolling up and down on the overpass bridges. 10Km into Yala there is a short 4% hill to climb to wake me up from the trance of 35km down the green heaven comprise of rice paddies and rubber plantations. Very few road blocks and soldier barricade compare to others highway in the area. However, Humvy with machine gun or walking patrol is a common sight. You can gauge the severity of the situation by counting patrolling unit along the highway back and forth. Sometimes helicopter patrolling can be spotted. Walking patrol is quite scary since they are looking to the side of the road for suspected bomb site. Insurgence would dig a hole under the road to put the bomb inside and aim for their target driving by. Of course patrolling unit is one of their likely target. Other than the serious of the situation and the danger of it, riding along 418 is an easily enjoyable ride. Once a year there will be a race along 418 connecting Yala to Pattani 70km. One of the best race since it is the only time you can put your head down and hit the road. Not having to worry about how good the race officials are blocking the intersections. Green everywhere all year round. Highway is relatively quiet and calm. It is my favourite ride in the area. I would spend approximately 420Km out of 500km on this peaceful highway. Even though it is quite difficult to tell anyone that I’m riding on this route alone by myself even to the bikers who frequently spending time on the same route in group. But for me the ride is define by the bike, myself and surrounding become one. As I said earlier, “I might as well enjoy it”.

Screen Shot 2557-01-02 at 11.17.44 PM#Festive500 Day 1 : This could be my last ride.

#Festive500 Day 3 : Commuting.

#Festive500 Day 1 : This could be my last ride.

1474773_779870288696725_1810578508_n

I live in Pattani, Thailand. One of the Southern most province of Thailand close to Malaysia border. Twenty years ago even Thais have trouble locating Pattani on Thailand map. Not until recently Pattani was included in an incident called “South Thailand Insurgency“, embassy of most country issue a warning not to travel to the area or else void your life insurance. Now everyone know Pattani and everyt time when I tell someone that I am from Pattani something changes in their mind and their face. It started 10 years ago on 2004. Now everyone living in the area know someone in person who was affected by incidents. This could be bombing, drive by shooting, arson or raid with assault rifle. It was so bad that carrying a conceal weapon is legal. Police and soldier having lunch with M16 on their lap. Just drive to work on certain day could be so challenging. My three bikes were hung up on the wall since the start of the incident as my wife told me that she would file a divorce if I pick up my bike and ride to work. My family business was burned down three times. Some nights I have to load my guns preparing for the worst after soldiers in the area came to warn us of potential attempt on our business for one more time. Ten years has passed but nothing seem to improve much. However, we changed. We have kids and we view our life differently. Now I ride my bike to work. My wife got herself a bike and my training ride take me to where it consider red area so far out of the city. I want to take this opportunity to write about my hometown and our life riding #Festive500. I have never ride so far like this before. In my life I have ridden 100km only three times, months apart. My training ride usually 40km and 60km for the long ride. It also depends on the situation. When I have down from bedroom seeing my gun and shotgun fully loaded from the night before and grab my bike. I would think “now it is safe to ride, let’s do it”.  But 500Km in 8 days would force my to ride no matter what (in fact I have only 6 days to ride since I knew about Festive500 late for 1 day and I have full working day on another day) So if I wake up realise the situation thinking “this could be my last ride” then I would have to tell myself “I might as well enjoy all of it”

Screen Shot 2556-12-31 at 10.44.22 PM

#Festive500 Day 2 : Route 418

#Festive500 Day 3 : Commuting.

Challenge Laguna Phuket : Race of truth

IMG_1914

แม้ว่าเป็นเรื่องน่าเสียใจที่รายการนี้ไม่ได้ใช้ชื่อ Ironman ชื่อมีลิขสิทธิ์ที่สามารถสร้างความสนใจกับผู้คนรอบข้างได้มากกว่าชื่อใหม่ที่เรียกว่า Challenge สำหรับผมแล้วดูเหมือนว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะเข้าทางผมมากกว่า ในขณะที่ Ironman ถูกวางตำแหน่งให้เป็นซีรี่ส์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด มีรายการที่เรียกว่าชิงแชมป์โลกอยู่ภายใต้ชื่อของเขา รายการที่ใช้ชื่อ Ironman นั้นมีทั้งระยะเต็ม Ironman ระยะครึ่งหรือ Ironman 70.3 หรือเมื่อเร็ว ๆ นี้ระยะโอลิมปิกก็ถูกเรียกใหม่ภายใต้ชื่อ 5150 ผมเองไม่ค่อยชอบนักที่จะเอาชื่อที่พวกเราใช้เรียกสิ่งที่เราทำกันไปจดลิขสิทธิ์ สำหรับผมแล้ว Ironman หมายถึงคนที่ข้ามขีดจำกัดของตนเองไม่ว่าคุณจะทำกิจกรรมใด ระยะทางเท่าไรก็ตาม ในขณะที่ Ironman มีเป้าหมายให้รายการมีมาตรฐานสูงเท่าเทียมกันทุกรายการที่เขาจัด Challenge จะเน้นกิจกรรมของ local ใช้ทีมงาน local เน้นครอบครัวและสนับสนุนการแข่งขันในรูปแบบทีม โดยคอนเซปแล้วเหมือนว่า Challenge  จะน่าสนุกกว่า ผมไม่ได้ตั้งใจที่จะเขียนเล่าประสบการณ์นี้เท่าไร เนื่องจากว่ามันไม่ใช่ครั้งแรก แม้จะเป็นครั้งแรกของอำนวยเพื่อนร่วมทีมคนเดียวที่มาลงเดี่ยวพร้อมกันในปีนี้ แต่อำนวยมีการเตรียมพร้อมที่ดีมาก พร้อมกับประสบการณ์ไตรกีฬามาแล้วถึงสองสนาม ทวิกีฬาอีกหนึ่งสนาม ผมจึงไม่รู้สึกว่าเขาเองจะตื่นเต้นสักเท่าไรนัก แต่มีสองอย่างที่ในที่สุดแล้วทำให้ผมลงมานั่งเขียนอยุ่ในวันนี้ นั่นคือ การไปภูเก็ตคราวนี้เป็นครั้งแรกที่มีคนแปลกหน้าเข้ามาทักทายผมภายหลังการแข่งขัน เล่าให้ฟังว่าเขาอ่านบล๊อกนี้ของผม และเขาก็มาแข่งเป็นปีแรก ในรูปแบบทีม ผมไม่แน่ใจว่าเขาอ่านบทความเรื่องใด ไม่รุ้ว่าจะเป็นเรื่องราวของปีที่ผ่านมาที่ผมเขียนไว้หรือไม่ แต่ก็รู้สึกดีใจที่อย่างน้อยก็มีใครบางคนได้ประโยชน์จากปลายปากกา หรือว่าปลายนิ้วของผม อีกเหตุผลหนึ่งคือผมจะต้องตรวจเลือกตับอักเสบอีกครั้งหลังจากแข่งขัน ผมจะได้ทราบว่าผลการแข่งขันที่ดีขึ้นหรือเลวลงนั้นมีคามเกี่ยวข้องกับปริมาณไวรัสในตับที่ขึ้น ๆ ลง ๆ ของผมหรือไม่

1404432_253360724818409_1769189008_o

แม้ว่าจะประสบความสำเร็จกับการกระตุ้นให้เพื่อนร่วมทีมยกแกงค์และครอบครัวไปร่วมงานไตรกีฬาประจำปีที่หัวหินได้สำเร็จ แม้ว่ารายการดังกล่าวไม่ได้อยู่ในแผนของผม ก็พลาดไม่ได้ที่หัวหอกของทีมอย่างผมจะพลาด อ่อนซ้อม และการเดินทางแสนไกลทำให้ผลการแข่งขันไม่ค่อยดีเท่าที่ควร แต่การได้เห็นเพื่อน ๆ มีความสุขกับความสำเร็จก้าวใหม่ของพวกเขาในวันนั้น มันก็คุ้มค่า แต่งานที่ภูเก็ตนี้แม้ว่าจะเป็น Triathlon Festival ที่จัดยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศมีการแข่งขัน back-to-back ทั้งระยะสั้นและยาว แต่ด้วยความโหดของเส้นทาง ความลำบากด้านโลจิสติก ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องที่ค่อนข้างสูง จากเป้าคนร่วมแข่งขันจากทีมที่เริ่มต้นด้วยเกือบ ๆ 10 คน ค่อย ๆ เงียบ ๆ หายไปจนในที่สุดเหลือเพียงผมคนเดียว ก่อนที่มนุษย์เหล็ก อำนวย จะตัดสินใจวินาทีสุดท้ายเข้าร่วมเป็นกำลังใจให้กับผม และสร้างชื่อไอรอนแมนให้กับตนเอง

ผมออกแบบตารางการซ้อมทั้งปีให้มาพีคที่รายการนี้เป็นรายการแรก ในการแข่งปีนี้จะมีการอัปเกรดจักรยาน ปรับแผนการซ้อม และเป็นปีที่ผมเข้าจัดการกับไวรัสตับอักเสบบีเป็นครั้งแรก หลังการแข่งขันเพียง 8 วันผมจะต้องไปอัลตราซาวน์ตับและเจาะเลือดเป็นครั้งสุดท้ายก่อนทำการรักษา เมื่อดูภาวะแวดล้อมทั้งสิ้นแล้ว นี่เป็นการแข่งขันที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตของผม symbolically ผมจึงแสดงความตั้งใจเป็นพิเศษให้รายการนี้ด้วยการโกนขนขาซึ่งเป็นการแสดงถึงความจริงจัง และความเคารพต่อกีฬาชนิดนี้

IMG_1910

แม้ว่าผมจะเริ่ม season ค่อนข้างต้วมเตี้ยมด้วยเวลาในรายการสมุยที่ช้ากว่าปีที่แล้ว รายการสำคัญอันดับสองของผมที่กรุงเทพฯ ค่อนข้างออกมาดี เสียกำลังใจที่หัวหินเล็กน้อย เพราะก่อนหน้าการแข่งขันผมต้องทำการเจาะตับทำให้ไม่สามารถซ้อมจริงจังได้เป็นเวลาประมาณสองสัปดาห์ แต่รายการนี้ผมมั่นใจเต็มที่ ผมเตรียมจักรยานทุกคันให้พร้อมสำหรับรายการนี้ด้วยการเปลี่ยนเป็น compact crank  ทั้งหมด ผมซ้อมจักรยานมาเป็นอย่างดีตลอดทั้งปี รวมถึงการซ้อมว่ายน้ำที่เรียกว่าพร้อมเป็นพิเศษ จะมีเพลาเรื่องวิ่งอยู่บ้าง อาจจะเป็นเพราะจักรยานทุกคันเพิ่งปรับปรุงมาใหม่สำหรับฤดูการนี้ ร่วมกับผมไม่มีรายการวิ่งท้าทายใหม่ ๆ ที่รอคอยอยู่เลยเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ช่วงสองสัปดาห์ก่อนแข่งขันนั้นตารางซ้อมผมเป็นเทเปอร์ที่เรียกได้ว่าลดจนเกือบใจหาย แต่ผมก็อดไม่ไหวที่จะออกไปปั่นเขาของรายการนี้ แบ่งระยะทาง 30 กม. แต่ปั่นช้าที่สุดเท่าที่ทำได้ ผมไม่ได้ต้องการวอร์มอัป แต่ทั้งนี้เพื่อเป็นการทดสอบเกียร์ของผมว่าที่เตรียมมานั้นเพียงพอกับเขาที่โหดที่สุดของรายการหรือไม่ แผนของผมคือไม่เข็นในทุกเขา แต่จะเก็บแรงให้มากที่สุดก่อนขึ้นเขาและจะปั่นที่เกียร์เบาที่สุดด้วยรอบที่ช้าที่สุด เพื่อให้ใช้ power ในการปั่นน้อยที่สุดนั่นเอง ผมลองใช้วิธีการนี้กับสองเขาสุดท้ายของรายการ อำนวยที่ปั่นร่วมกันมากับผมก็สามารถจัดการกับเขาทั้งสองได้โดยไม่ยากเย็นนัก หลังการออกปั่นผมก็มั่นใจว่าเป้าที่จะไม่เข็นเลยน่าจะเป็นเป้าที่ทำได้ ถ้าหากไม่มีอาการตะคริวเข้ามารบกวนเสียก่อน ส่วนสองเขาแรกเราไม่ได้ไปทดสอบเพราะฝนตกหนักแต่ผมมั่นใจว่าเขาที่สี่หรือเขาตรีศาลา นั้นโหดกว่าเขาศุภาลัยแน่นอนแม้ว่าในการ briefing จะยกนิ้วให้กับเขาศุภาลัยเป็นอันดับหนึ่ง

IMG_1930

รายการซ้อมของผมจริง ๆ แล้วคือ 600 ชั่วโมงต่อปี ซึ่งเป็นจำนวนชั่วโมงที่น้อยที่สุดที่เขาแนะนำให้ซ้อมถ้าต้องการแข่งขันในระดับไอรอนแมน แต่ที่ผมทำได้จริง ๆ นั้นไม่ถึง 1 ใน 3 เสียทีเดียว จากเป้าซ้อมสัปดาห์ละ 8-16  ชม. ทำได้จริง ๆ เฉลี่ยประมาณ 5 ชม.กว่า ๆ และมีพีคแค่ 12 ชม. เพียงสัปดาห์เดียวเท่านั้น จะว่าไปผมอ่อนซ้อมถ้าจะอ้างถึงแผนการซ้อมอันนี้ แต่การเน้นจักรยานที่ตอนนี้เป็นจุดอ่อนสำคัญของผมก็ทำให้ผมกล้าที่จะตั้งเป้าหมายที่จะเอาชนะเวลาของทีมที่ทำเอาไว้เมื่อสามปีที่แล้ว ด้วยเวลา 6:36 ชม. เวลาว่ายน้ำ 45 นาที จักรยาน 3:30 ชม และวิ่งอีก 2:15 ชม. เมื่อดูส่วนประกอบนี้ดูแล้ว มีเพียงจักรยานเท่านั้นที่ผมจะเอาชนะมันได้ และต้องเอานะมันมาก ๆ ด้วยเพราะในการวิ่งเมื่อปีที่แล้วผมทำสถิติไว้ไม่ดีนัก อย่างไรก็ตามเพื่อป้องกันความเสียใจ ผมยังมีสถิติส่วนตัวที่ทำไว้ที่ 6:59 ชม เอาไว้คอยปลอบใจถ้าผมทำได้ไม่ตามเป้า ส่วนอำนวยตั้งเป้าไว้ที่ 8 ชม. เมื่อรู้ว่าผมทำไว้ครั้งแรกที่ประมาณ 7 ชม. ซึ่งผมเห็นว่าเป็นเป้าหมายที่กำลังดี

1400283_254289781392170_1454280041_o

ปีนี้ผมออกมาที่งานค่อนข้างช้าเพราะข้าศึกไม่มาตามนัด ร่วมกับการติดตั้งที่ยุ่งยากกว่าปีที่แล้วเพราะผมมีอุปกรณ์ hydration ที่ซับซ้อนขึ้น มีการพกพา power gel ซึ่งระบบการให้น้ำและพลังงานของผมในปีนี้ก็ถือว่ายกเครื่องใหม่ทั้งหมด เพราะผมเริ่มมั่นใจว่าอาการตะคริวของผมเกิดจากผม hydrate ไม่เพียงพอ ในขณะที่อาการแผ่วปลายของผมมีสาเหตุหลักมาจากผมเติมพลังงานไม่เพียงพอ ในคราวนี้มีการใช้ถุงเท้า ปลอกแขน และอื่น ๆ ที่ปกติผมไม่เคยใช้ สิ่งเหล่านี้ผมคาดว่าผมจะต้องใช้ในระยะไอรอนแมน ผมจึงเพิ่มเข้าไปในจุด transition ในครั้งนี้เพื่อความคุ้นเคย เนื่องจากผมไม่ค่อยชอบซ้อม transition ที่บ้าน ผม set up  จักรยานจนหมดเวลาต้องไปที่จุดเริ่มต้น ผมเดินหาอำนวยอยุ่พักใหญ่ก่อนที่จะตัดสินใจออกไปว่ายสั้น ๆ เพื่อเป็นการยืดเส้นยืดสาย ในการแข่งขันนี้ผมเริ่มต้นเป็นกลุ่มแรกสำหรับมือสมัครเล่น ซึ่งด้วยการเริ่มต้นเนิบ ๆ แบบผม และความเร็วปานกลางก็จะถูก wave หรือ 2 wave ที่ตามมาแซงได้จำนวนหนึ่ง แต่สำหรับอำนวยนั้น คาดว่าคงได้ว่ายอยู่ในกลุ่มใหญ่ของ wave ที่ตามมาอย่างแน่นอน

1167438_254289851392163_149199900_o

ผมออกตัวไม่ได้รอเหมือนปีที่ผ่านมา ผมออกตัวในกลุ่มกลาง ๆ แล้วก็พบว่า มันไม่น่าจะทำให้ผมเร็วขึ้นได้เลย เพราะผมไม่สามารถทำความเร็วได้ คนเกะกะไปหมด ออกซ้ายก็ไม่ได้ ออกขวาก็ไม่ได้ ริบบิ้นลายธงชาติที่ผมผูกข้อมือเอาไว้เป็นสัญลักษณ์ในการต่อต้านคอรับชั่นในวันนี้ค่อย ๆ เลื่อนหลุดออก ผมเอามือคว้าไว้ได้ทันแล้วพยายามยัดมันลงในอกเสื้อของผม ปีนี้ผมรู้สึกว่าผมว่ายได้ไม่ค่อยดีเมื่อเทียบกับปริมาณการซ้อมว่ายน้ำที่ทุ่มเทลงไป แม้ว่าเวลาซ้อมผมจะทำความเร็วได้ที่ 1:45/100m เวลาแข่งผมก็ยังทำได้เท่า ๆ เดิมที่ 2:xx/100m เช่นเดียวกันปีที่แล้ว แถมเวลารวมที่ช้าลงเกือบหนึ่งนาที ทั้ง ๆ ที่สภาพทะเลไม่ได้โหดร้ายเท่า สงสัยงานต่อ ๆ ไปผมคงต้องขอไปออกตัวด้านหน้า ๆ แก้ปัญหาตามก้นชาวบ้านบ้างเสียแล้ว อีกอย่างอาจจะเป็นเพราะเมื่อก่อนผมไม่ซ้อมว่ายน้ำเลย เวลาว่ายก็กะว่าให้เหนื่อย ๆ ประมาณ RPE 4 แต่คราวนี้เนื่องจากซ้อมเยอะเลยพยายามเก็บที่ RPE 3 มาแบบไม่เหนื่อยแต่เวลาเลวร้ายหน่อย ในตอนนี้ก็ยังไม่รู้ว่าในการแข่งจริง ๆ นั้นจะ pace อย่างไร ข้อดีอย่างนึงของการขึ้นจากน้ำแบบเหนื่อยน้อยคือ สภาพรูปที่ถ่ายออกมาค่อนข้างสวย ทำมาหากินได้ เอาวะ ถือว่าได้อย่างเสียอย่าง ผมพยายามควานหาริบบิ้นลายธงชาติที่ผมเก็บไว้ที่ในเสื้อ แต่ก็ไม่พบ ใจคิดว่านี่คงเป็นสัญญาณที่ดี มันคงหมายถึงไทยคงได้เป็นอิสระเสียที ผมคงเหลือริบบิ้นธงชาติอีกเส้นที่โบกสะบัดที่ท้ายหลักอานของจักรยานของผม
IMG_1983

ผมออกปั่นด้วยความเครียดน้อยมากเพราะเริ่มเข้าใจปฏิกิริยาของร่างกายในตอนปั่นจักรยาน ผมพยายามคุม HR และ Power ให้อยู่โซน 4 ไม่กระฉอกขึ้นสูงเหมือนการแข่งขันอื่น ๆ ที่ผมจะตื่นเต้นเมื่อเริ่มต้นปั่นจักรยานทำให้เสียพลังงานมากเกินไปในช่วงแรก ผมแทบไม่ได้ดูความเร็ว เวลาหรือค่าเฉลี่ยใด ๆ เลย ใจผมมุ่งมั่นอยู่ที่ Power Zone 4 เท่านั้น ในขณะที่เหลือบ ๆ ดูว่า HR ของผมพุ่งเกินไปหรือไม่ ซึ่งปรากฏว่าหัวใจผมเต้นในระดับ 160 ซึ่งเป็นจังหวะ Tempo เท่านั้นยังไม่เข้าใกล้ Threshold ของผม อย่างไรก็ตาม race marshall ปีนี้ค่อนข้างจะเข้มงวดเล็กน้อย ในกลุ่มเดียวกับที่ผมปั่นจะมี race marshall  ที่คอยตามเพราะมีกลุ่มปั่นอยู่ใกล้ ๆ กันหลายคน ซึ่งแน่นอนว่ามีความเสี่ยงของการ drafting ซึ่งเป็นข้อห้าม ปัญหาที่เกิดกับผมก็คือผมพยายามใช้ power ที่คงที่และทักษะการเข้าโค้งที่อาจจะดีกว่าหลาย ๆ คน เมื่อถึงโค้งทีไรผมเข้าประชิดกับคันข้างหน้าทุกที พอจะเร่งเท่านั้นแหละ ก็โดนตะโกน เป็นอย่างนี้สองสามครั้งจะกระทั่งครั้งสุดท้าย race marshall ถึงกับตะโกนเรียกหมายเลขของผม 377 point ผมตกใจจนเบรคทิ้งระยะลงมาเกือบ 100 ม. ด้วยความงง และไม่แน่ใจว่าจริง ๆ แล้วผมต้องจอดให้เขียน point บนป้ายผมหรือไม่ แต่ดูไปดูมาเขาก็ไม่ได้บอกให้จอด และผมก็ถอยลงมาจนไกลมาก ผมต้องเจอกับ marshall คนนี้และทำให้ไม่สามารถเร่งความเร็วได้เลย ไปพักใหญ่ ๆ เพราะเท่าที่เห็นกับคันข้างหน้าแต่ละคนก็โดนไปคนละทีสองที จนกระทั่งมีคนนึงที่ถูกปรับจอดจริง ๆ ผมจึงรีบเร่งออกไปให้ห่างจากเขาให้มากที่สุด ถือว่าเป็นช่วงตัดกำลังใจ และตัดความเร็วไปเยอะจริง ๆ


1450911_764244203592667_557843602_n

และแล้ว ช่วง 40 km แรกผ่านไปอย่างรวดเร็วและในที่สุดผมก็เข้าใกล้เขตเขาที่หนึ่ง ผมเคยปั่นขึ้นเขานี้แล้วหนึ่งครั้ง เข็นอีกหนึ่งครั้ง ผมจำเขานี้ได้ดี แม้ว่าเนินแรกจะดูน่ากลัวเพราะเราจะเห็นยอดเขา (ที่จริง ๆ แล้วเราไม่ต้องปั่นขึ้นไป) ตั้งตระหง่านอยู่เบื้องหน้า ด้านข้างเป็นเหวย่อม ๆ มีราวกันตกกั้นโดยตลอด ผมจำได้ว่าเลยโค้งและเนินนี้จะมีช่วงพักเล็กน้อยก่อนที่จะชันขึ้นไปสั้น ๆ เป็นมุมมองที่น่าเกรงขามแต่ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่ใจคนสร้างภาพไว้ เขาแรกเป็นการกระตุ้นบรรยากาศการแข่งขันได้ดี ผมรู้ว่าเขาศุภาลัยที่อยู่ถัดไปหนักหนาสาหัสกว่ามาก

ผมพยายามเลี้ยง Power Zone 4 มาเรื่อย ๆ จนเข้าเนินของเขาศุภาลัยอันโหดร้าย ซึ่งสมคำร่ำลือจริง ๆ แม้ผมค่อย ๆ ปั่นช้า ๆ เกียร์เบา ๆ รอบต่ำ ๆ ไปเรื่อย ๆ เนินเขาก็ดูเหมือนว่าจะไม่มีวันจบสิ้น เนินที่ชันขึ้นทีละเล็กละน้อย ค่อย ๆ เข้ามาระลอกแล้วระลอกเล่า ผมเริ่มจะเชื่อว่าบางทีที่ศุภาลัยนี่อาจจะเป็นเนินที่โหดที่สุด ผมเริ่มนึกถึงปีที่ผ่านมาที่มีฝนตกหนัก มีสายน้ำไหลเชี่ยวลงจากเขา ไหล่ทางที่ลื่น วันนี้ไม่มีฝน และตอนนี้ผมยังนั่งปั่นได้โดยไม่ระเบิดหัวใจ แต่ทันใดนั้นชะง่อนเนินสุดท้ายก็พุ่งเข้ามาผมต้องรีบยกตัวขึ้นทิ้งน้ำหนักลงไปบนเท้าหมุนล้อเร่งจักรยานขึ้นไปก่อนที่ความเร็วจะตกจนผมล้มไถลลงไปกับพื้นถนน ปั่นได้เพียง 2 ก้าวล้อหลังก็เริ่มฟรี นี่แหละความโหดของเนินที่เขาที่ร่ำลือกัน เหลืออีกเพียง 30 ม.ก็จะถึงยอด ผมรีบนั่งลงแล้วกัดฟัน มือซ้ายขวาสลับกันดึงรั้งเมื่อผมใช้พลังงานที่เหลืออยู่อัดเข้าที่บันไดเพื่อเร่งรอบขาทำความเร็วให้ข้ามเนินให้ได้ “Keep spinning, only 20 meters to go” เสียงกองเชียร์ชาวต่างชาติมาทันยกกำลังใจผมที่กำลังจะถดถอยลง ต้องขอบคุณเสียงนั้น และแล้วผมก็ผ่านมาไปได้

0513_03672

หลังจากเขาศุภาลัยผมรู้ว่ากว่าจะเจอเขาอีกครั้งหนึ่งก็จะประมาณ  80 กม. ช่วงนี้มีเวลาที่จะพักและทำความเร็วค่อนข้างจะมากเลยทีเดียว ในเที่ยวกลับนี้ผมปั่นสวนกับอำนวยบนเส้นทางสวนเพียงเส้นเดียวของงานนี้ ซึ่งหมายความว่าอำนวยอยู่ไม่ห่างจากผมมากมายนัก ถือว่าเป็นความเร็วที่น่านับถือเลยทีเดียวสำหรับคนที่เพิ่งซื้อจักรยานมาได้ 6 เดือน ผมโบกมือทักทายเล็กน้อย ก่อนที่จะกดหัวปั่นต่อไป ผมเริ่มเห็นประโยชน์อย่างจริงจังของ power meter เพราะในรายการนี้ผมควบคุม Power เป็นหลัก เพื่อที่จะไม่ให้เกิดการล้าของกล้ามเนื้อจนกระตุ้นให้เกิดตะคริว เพราะนั่นจะทำลายเป้าหมายสูงสุดของผมก็คือไม่ลงเข็นนั่นเอง ยังไม่ทันไรพอเข้าพื้นที่ของ 70km ขาผมก็เริ่มมีอาการตึง ๆ นิด ๆ ตะคริวที่น่องทั้งสองข้างกำลังมา ผมรู้ว่าอีกเพียง 10km ผมจะถึงย่นเขาที่โหดร้ายที่สุด ผมต้องเก็บอาการไว้ให้ได้ เพราะการที่จะต้องกดแรง ๆ ขณะขึ้นเขามีโอกาสทำให้ตะคริวโจมตีได้โดยง่าย แต่มันไม่ได้ง่ายอย่างที่คิดเพราะเส้นทางเข้าสู่สองเขาสุดท้ายก็เป็นเนินน้อย ๆ ซึม ๆ ที่ต้องใช้กำลังขาพอสมควร ต้นขาผมเริ่มออกอาการคล้ายตะคริวจะถามหา ผมจึงตัดสินใจชะลอตัวอย่างเต็มที่ เปลี่ยนเป็นเกียร์ที่เบาที่สุดแล้วเลี้ยงตัวเข้าสู่เขาที่สาม ยุทธวิธีนี้ได้ผล เขาที่สามผ่านไปอย่างง่ายดาย แต่เขาที่สี่ที่ตรีศาลารออยุ่ใกล้ ๆ ผมเลี้ยงขามาเรื่อย ๆ จนกระทั่งเห็นโค้งสุดท้ายที่จะหัดศอกไต่ขึ้นไปชันที่สุดของสนามนี้

ผมตีออกขวาทันที่ที่มองเห็นโค้ง หวังแต่เพียงว่าจะไม่มีรถสวนลงมา หรือถ้ามีผมก็จะยังน่าที่จะไต่ขึ้นตามไหล่ทางได้ ผมพยายามนั่งให้นานที่สุด แล้วมายืนโยกเพียงไม่กี่ขาให้พ้นช่วงโค้งนั้นเท่านั้น ผมรู้ว่าหลังจากนี้จะยังมีเนินโหด ๆ ตามมาที่จะต้องเก็บแรงไว้อัดให้พ้น แผนนี้ก็ได้ผลอีกเช่นเคย เมื่อผ่านโค้งมรณะมาถึงทางลาดสั้น ๆ ได้พัก เนินชันยาว ๆ สองช่วงรอผมอยู่ ขาผมล้าเต็มที่แล้ว การนั่งปั่นเริ่มเป็นไปไม่ได้ ผมเริ่มตัดสินใจว่าเฮือกสุดท้ายที่ผมจะต้องยกตัวขึ้นแล้วกัดฟันไปให้ถึงยอด ผมใช้กำลังทั้งหมดที่มี กัดฟัน มือซ้ายขวาสลับกันดึง จนกล้ามเนื้อเกร็งไปทั้งตัว และแล้วผมก็สามารถผ่านข้ามมันมาได้โดยขาไม่แตะพื้นแม้แต่ครั้งเดียว ผมยิ้มให้กับน้องพนักงานไบค์โซนที่เอา Go Pro มาวิ่งถ่ายตอนผมอัดขึ้นมา ผมไม่แน่ใจว่าผมจะได้เห็นภาพเหล่านั้นมั้ย แต่การถูกบันทึกลงในวิดีโออาจจะเป็นกำลังใจหนึ่งที่ทำให้ผมข้ามเขาตรีศาลานี่มาก็ได้

IMG_2206

ในช่วง 10km สุดท้ายผมเริ่มเก็บแรงขา ปล่อย spin เบา ๆ หลาย ๆ ครั้ง เพื่อไล่ตะคริวให้หมดไป ผมทำเวลาเข้าสู่ T2 ได้รวดเร็วจนผมเองก็ต้องตกใจ เมื่อดูเวลารวมแล้ว เพิ่ง 3:50 ชม. เท่านั้น ถ้าผมสามารถวิ่งฮาร์ฟมาราธอนภายใน 2:10 ชม. ผมก็จะทำเวลาได้ต่ำกว่า 6 ชม. นั่นหมายความว่าไม่เพียงผมจะสามารถเอาชนะตัวเองเมื่อปีที่แล้ว ทำเป้าหมาย 6:37 ชม. ได้แล้ว ผมยังทำสถิติที่เรียกว่าน่าเกรงขามระดับหนึ่งเลยทีเดียว ผมเข้าสู่ T2 อย่างสบายใจ ค่อย ๆ เปลี่ยนรองเท้าใส่หมวก คว้าปลอกแขน และ hydration belt ผมลังเลเล็กน้อย เพราะสนามนี้มีน้ำให้ตามระยะ 1.5 กม. ซึ่งถือว่าถี่พอสมควร แต่สุดท้ายแล้วผมตัดสินใจคว้ามันออกมาด้วย ในใจผมคิดว่าถ้าผมวิ่งได้ดี ผมจะสามารถใช้น้ำของผมเองเกือบทั้งการแข่งขันไม่ต้องแวะเข้าจะให้น้ำเลย หรือถ้าผมวิ่งได้ไม่ดี ผมก็ยังสามารถดื่มน้ำได้ตลอดเวลาที่ผมต้องการซึ่งเป็นผลดีต่อกำลังใจ ผมวิ่งออกจาก T1 มาเจอกับครอบครัวที่ยืนรออยู่ผมวิ่งเข้าไปทักทายกับลูกชายคนโตอยู่พักใหญ่ ไม่ทันเห็นลูกสาวคนกลาง ซึ่งภรรยาผมบอกภายหลังว่ายืนอยู่ข้าง ๆ กัน เลยไม่รู้ว่าสาวน้อย ซาช่าจะมีอาการน้อยใจหรือไม่

2 กม.แรกผมทำเวลาค่อนข้างดีที่ความเร็ว 6 min/km ซึ่งเร็วกว่าเป้า แต่ไม่นานนักขาของผมก็เริ่มไม่ทำงาน hydration belt ที่ดูเหมือนว่าผมจะไม่อยากจะหิ้วมาตั้งแต่แรก เริ่มทำตัวมีปัญหา บน Tri-suit ที่ลื่นปรื๊ด Belt คอยจะเด้งขึ้นเด้งลงตลอดเวลา จนในที่สุดกระติกน้ำรูปไตก็คอยที่จะเด้งหล่นลงพื้นตลอดเวลา ซึ่งน่ารำคาญและเสียสมาธิเป็นอย่างมาก ผมวิ่งไปเจอคุณไตร เจ้าของร้านไบค์โซน ที่แซงผมในช่วงจักรยานมาเหมือนว่าจะนานแสนนานตั้งแต่ก่อนเขาที่หนึ่ง ผมแปลกใจเล็กน้อยผมจึงเข้าไปทักทาย และวิ่งคู่กันไป ทันใดนั้นเจ้ากระติกรูปไตก็กระเด็นหลุดอีกครั้ง ผมต้องหันกลับไปเก็บและปล่อยคุณไตรวิ่งต่อไป ผมตามคุณไตรทันอีกครั้งเมื่อเขาเข้า pit stop ก่อนที่เขาจะกลับมาแซงผมได้อีกครั้งในเวลาไม่นานนัก ความเร็วผมเริ่มตกจนเห็นได้ชัด ตอนนี้ผมเริ่มต้องเอากระติกขึ้นมาถือบนมือทั้งสองข้าง เนื่องจากมีการหล่นบ่อยครั้ง ความเหนื่อย ความล้า ความเร็วที่ตกลง ผมเริ่มไม่สามารถคุมความเร็วได้และพาลหลุดไป 7min/km บ่อยขึ้น

IMG_1979

ผมจำเป็นต้องตั้งสติให้ดี โฟกัสกับตัวเอง ตอนนี้วิ่งผ่านมากว่า 5 km แล้ว ผมยังทำเวลาได้ 30 เศษ ๆ ไม่ถึง 35 นับว่าไม่เลวร้ายจนเกินไปนัก ผมเริ่มต้ังเป้าแบบเบา ๆ ว่าผมขอแค่เฉลี่ยนเพียง 7 min/km หรือ จบฮาร์ฟมาราธอนนี้ที่ 2:27 ชม. น่าจะเพียงพอ ซึ่งจะทำให้เวลารวมผมอยู่ในช่วง 6:17ชม.  ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ถึง 20 นาที และเร็วกว่าเดิมถึง 40 นาที ผมเริ่มนับถอยหลังครั้งละ 1 km และคำนวณเวลาที่ผมได้กำไร ความเร็วของผมค่อย ๆ ดีขึ้น คงที่ขึ้นเฉลี่ยได้ 6:30-7:00 ซึ่งผมค่อนข้างพอใจ ที่จะไปตามใครทัน หรือวิ่งแซงใครผมไม่คิดแล้ว จิตใจแน่วแน่อยุ่ที่ความเร็วที่ตั้งไว้ และเวลาที่มีเหลือเพื่อที่คงความเร็วเฉลี่ยให้ได้ตามเป้า

เมื่อ 10.5 km แรกผ่านไปผมรู้สึกดีขึ้น แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าผมวิ่งได้เร็วขึ้น ผมแอบว่า hydration belt ลงใกล้ ๆ กับเส้นชัย ตอนนี้มือผมว่าง ผมไม่รู้สึกหนักขาอีกต่อไป ผมเร่งความเร็วขึ้นเล็กน้อย พยายามดันให้ HR ผมขึ้นไปแตะ 160 ให้ได้ แต่ทำเท่าไรก็ไม่ได้ ขาผมไม่ค่อยตอบสนอง จึงต้องประคองที่ความเร็วเดิมไป และปล่อยให้ HR เต้นที่ประมาณ 155 เท่านั้น นั่นหมายความว่าข้อจำกัดของผมตอนนี้กลายเป็นกล้ามเนื้อ หรือไม่ก็พลังงานสะสม แต่ตอนนั้นผมคิดอะไรไม่ค่อยออก ยกเว้นแต่การคำนวณเวลาเท่านั้น แม้ว่าทางรายการจะมีแจก poewr gel จำนวนมาก ผมก็ไม่มีอารมณ์ที่จะเข้าไปรับมากินเลย ผมจึงไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วทำไมผมถึงเร่งเครื่องไม่ขึ้นทั้ง ๆ ที่ HR ไม่แสดงความเหนื่อยให้เห็นเลย

IMG_1984

ผ่านเป็น 15 km ผมมีเวลาเหลือเฟือเก็บไว้ในกระเป๋า ผมจึงตั้งเป้าใหม่ 6:10ชม. ทันใดนั้นผมก็เห็นอำนวยวิ่งสวนกลับมา พร้อมกับตะโกนว่า “เพิ่งถึงนี่เองเหรอวะ?” ผมตอบเออไปแบบงง ๆ ก่อนที่จะมาเข้าใจภายหลัง สมองเริ่มทำงานได้จำกัด เนื่องจากออกกำลังกายอย่างหนักต่อเนื่องมา 5 ชั่วโมงกว่า ๆ แล้ว นี่ถ้าไปไอรอนแมนเราต้องพูดกันถึงตัวเลข 13-15 ชม. เลยนะเนี่ย มันจะเป็นอย่างไรไม่ค่อยอยากจะคิดตอนนี้เท่าไรเลย ผมคำนวณเวลาเฉลี่ย และ pace ทุก ๆ กิโลเมตรที่ผ่านเข้ามา เพื่อให้เวลามันผ่านไปเร็วขึ้น ผมเริ่มเข้าจุดให้น้ำทุกจุด เพิ่มการเดินเข้าไปทุกครั้ง น้ำสองแก้ว ฟองน้ำสองก้อน เป็นกิจกรรมที่ดูเหมือนว่าลดความเครียดจากการนับถอยหลังลงไปได้บ้าง

ช่วงเวลา 2 km สุดท้ายค่อนข้างจะสบาย ๆ สำหรับผม เมื่อเทียบกับเมื่อปีที่ผ่านมา ผมยังสามารถคงความเร็ว 6:30 min/km ได้สบาย ๆ แม้ว่าจะไม่สามารถเร่งไปได้มากกว่านี้ แต่ก็ไม่รู้สึกทรมาน เมื่อเข้าโค้งสุดท้ายเพื่อวิ่งตรงเข้าเส้นชัย ผมมองไปทั่ว ๆ พยายามหาครอบครัวของผม แต่ก็ไม่เห็นใคร ผมรู้สึกผิดหวังเล็กน้อย เหลือบมองนาฬิกา แล้วพบว่าผมน่าจะทำเวลาได้ดีกว่า 6:10 ชม. อย่างแน่นอน สงสัยว่าตารางเวลาที่ผมเขียนให้พวกเขาจะไม่ค่อยแม่นยำ เพราะผมกะว่าจะเข้าประมาณ 6:30-6:50 ชม. ในกระดาษที่ผมคำนวณให้พวกเขาไว้ ในที่สุดผมก็เข้าเส้นชัยได้ด้วยเวลา 6:08:55 ชม. เร็วกว่าปีที่ผ่านมาถึง 51 นาที เร็วกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ถึง 28 นาที เป็นสัญญาณของความแข็งแรงที่ดี  หลังจากวันนี้ 8 วัน การตรวจเลือดของผมน่าจะให้ผลสวย ๆ เช่นนี้ออกมาเช่นกัน

0513_02769

ผมเข้าเส้นชัยมาเจอกับคุณหมอ Krongchai สมาชิกใหม่ของทีมที่มาปั่นแบบทีมผลัด เราถ่ายรูปร่วมกันเล็กน้อย แต่กิจกรรมนี้ทำให้ครอบครัวผมรับรู้ถึงการเข้าเส้นชัยของผมแล้วตัดสินใจรออยู่ในห้องพัก ผมขอตัวไปหาน้ำและอาหารทาน พร้อมกับใช้บริการนวดจากบันยันทรี ความรู้สึกของผมค่อนข้างดีมากเมื่อเทียบกับการแข่งขันครั้งอื่น ๆ ที่จะค่อนข้างทรมานเวลานวด หลังจากนวดเรียบร้อยผมก็ตัดสินใจออกมานั่งรออำนวยเพราะคาดเดาเอาว่าคงอีกไม่เกินครั้งชั่วโมงอำนวยน่าจะเข้าเส้นชัยถ้าทำเวลาห่างจากผมสักหนึ่งชั่วโมง ผมรออยุ่ค่อนข้างนานจนไม่มั่นใจว่าอำนวยเข้าเส้นไปก่อนหน้านี้แล้วหรือยัง แล้วในที่สุดอำนวยก็วิ่งสบาย ๆ เข้าเส้นมาด้วยเวลา 7:38 ชม. เวลาที่น่าประทับใจกับนักไตรกีฬาปีแรก ที่เพิ่งซื้อจักรยานไม่เกิน 6 เดือน เราถ่ายภาพกันเล็ก ๆ น้อย ๆ อำนวยบ่นแบบเดิม ๆ เหมือนกับที่บ่นตั้งแต่รายการแรกที่สมุย รายกรที่สองที่กรุงเทพ และรายการที่สามที่หัวหิน บ่นว่าเบื่อ

1479150_544503828974763_7490656_n

เราแยกย้ายกันไปพักผ่อน อำนวยแวะมาคุยสัพเพเหระที่โรงแรมในเย็นวันนั้น ก่อนที่จะบอกลา วันรุ่งขึ้นเราจะเริ่มแยกย้ายกันไป ผมถือโอกาสไปพักผ่อนที่พังงาต่ออีกวันก่อนค่อย ๆ คลานไปกระบี่อีกหนึ่งวัน แล้วกลับปัตตานี ผมใช้เวลาทั้งสัปดาห์พักผ่อน งดการออกกำลังกาย ผมมีอาการอ่อนเพลียเล็กน้อยเนื่องจากติดหวัดจากเด็ก ๆ และมีไข้ต่ำ ๆ ในขณะที่อำนวยออกไปพักในตัวเมืองภูเก็ตหนึ่งคืน ก่อนที่จะไปพักที่ชุมพรอีกคืน แล้วไปต่อที่หัวหินในวันที่ 5 ธันวาคม พร้อมกับการเริ่มซ้อมวันแรกหลังจากแข่ง ผมเชื่อว่า Tri Bug ได้กัดอำนวยเข้าแล้ว จากวันนี้เขาคงไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เตรียมพบกับบทใหม่ของ Ironman อำนวยกันได้แน่นอนครับ

Brooks Cambium Grueling Test

เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (17 พย 2013) เป็นการปั่นในระยะทางที่ไกลที่สุดในชีวิตของผมในรายการ Samila Century Ride 2013 ซึ่งเดิมกำหนดเอาไว้ที่ระยะทาง 160km (100 miles:century) แต่ด้วยปัญหาทางเทคนิคของผู้จัดทำให้จำเป็นต้องย้ายจุด start และลดระยะทางแข่งขันเหลือเพียง 145km ผมเตรียมตัวสำหรับงานนี้ด้วยการปั่นยาว 110km สองครั้งประมาณเกือบ ๆ เดือนก่อนหน้า นอกเหนือจากนั้นก็เป็นการซ้อมปกติ 40-60km สัปดาห์ละประมาณ 2-3 ครั้ง รวมวันปั่นยาว 75-90km ในช่วงเวลาปกติ จริง ๆ แล้วในวันปั่นยาวครั้งสุดท้ายผมวางแผนที่จะปั่นให้ได้ระยะ 120km แต่พอเอาเข้าจริง ๆ ความร้อน ความเหนื่อย น้ำ อาหารที่เตรียมไปไม่ค่อยเพียงพอ จึงถอดใจกลับเข้าบ้านก่อนที่จะไปวนลูปเล็ก ๆ ที่เตรียมไว้สำหรับระยะ 10km สุดท้าย นั่นหมายความว่าผมมีการเตรียมตัวมาในระดับหนึ่ง แต่ไม่ได้ถึงกับพร้อมมากมายนัก

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ทำให้งานนี้สนุกอย่างบอกไม่ถูกก็คือความ spontanious ของการจัดการของผม ก่อนหน้าวัน แข่งขันประมาณไม่กี่สัปดาห์ อานจักรยานของบรูคส์รุ่นที่ผมติดตามข่าวมาเป็นเวลานานก็เข้ามาประเทศไทย ด้วยราคาที่แม้ว่าจะแพงกว่าอานอื่น ๆ แต่ก็ถูกกว่ารุ่น limited edition ที่ขายที่เวปของบรูคส์เขาพอสมควร เนื่องจากวัสดุที่ใช้เป็นยางธรรมชาติและผ้าฝ้าย ในฐานะที่ผมเป็นนักวิจัยเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ยางและรักงานที่เกี่ยวกับรีไซเคิล หรือ green product ผมจึงตัดสินใจซื้ออานบรูคส์ C17 Cambiumโดยใช้ข้ออ้างว่าเพื่อการวิจัย ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์บรูคส์ชิ้นแรกในชีวิตผม การใช้ยางและผ้าฝ้ายในอานจักรยานไม่ใช่เรื่องใหม่ และเคยเกิดขึ้นแล้วตั้งแต่ปี 1930’s นี่คือการเกิดใหม่ของวัสดุธรรมชาติ ในกระแสสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เช่นเดียวกันที่เกิดขึ้นกับที่นอนยางพาราเมื่อ 8 ปีที่ผ่านมาก แม้ว่าผมจะไม่เคยซื้ออุปกรณ์จักรยานชิ้นใดเลยถ้าชิ้นเดิมไม่พังจนใช้งานไม่ได้ นี่จึงเป็นอะไหล่ครั้งแรกในรอบยี่สิบปีที่ผมจัดให้จักรยานของผมโดยที่ของเก่ายังใช้งานได้อยู่ (แม้ว่าผมจะไม่ค่อยพอใจคุณภาพของมันก็ตาม) ผมจัดเข้าแคมเบี่ยมตัวนี้เข้ากับจักรยานคู่ชีวิตของผมที่ใช้มาตั้งแต่สมัยยังหนุ่ม บรูคส์ควรค่ากับเฟรมคลาสสิค ลุคแบบคลาสสิค แบบ Formigli Classic Replica เช่นเดียวกับวิธีการนำเสนอสินค้าทั้งผ่านหน้าเวปของเขาและ packaging ที่มาพร้อมกับอานราคาแพงอันนี้ แน่นอนว่า unpack experience เพียงอย่างเดียวก็แทบจะคุ้มราคาของเจ้าอานตัวนี้ซะแล้ว อย่างไรก็ตามถ้าไม่ได้มีการทดสอบอย่างจริง ๆ จัง ๆ ประวัติศาสตร์ เพียงอย่างเดียว มันอาจจะไม่ค่อยคู่ควรกับจักรยานเมื่อระยะและสไตล์การปั่นของผมอาจจะค่อนข้างแตกต่างจากลูกค้าบรูคส์ในปัจจุบันอยู่มาก แม้ว่าเจ้าแคมเบี่ยมจะเพิ่งได้รางวัล Gold Award มาจากงาน Eurobike 2013 รางวัลที่ถือว่าสูงที่สุดของปีสำหรับอะไหล่จักรยาน
1414910_752878921395862_1526835174_n

ผมนอนคิดอยู่หลายคืน ก่อนที่จะเลือกที่จะใช้ Formigli Classic เฟรมเหล็กพร้อมบรูคส์ เพื่อทดสอบประสิทธิภาพของอาน ในขณะเดียวกันทดสอบกำลังกายของผมเองกับระยะ 160km ที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อนเลยในชีวิต นอกจากเฟรมนี้จะใส่กระติกน้ำได้เพียงอันเดียวแล้ว เฟรมที่มีน้ำหนักมากที่สุดในบรรดาจักรยานทั้งหมดของผม ร่วมกับอานที่ไม่คุ้นเคยมาก่อนมันเป็นการตัดสินใจที่ดีแล้วหรือไม่ ผมจึงนำคันนี้ออกไปปั่นซ้อมเบา ๆ ระยะ 40km เพื่อสร้างความคุ้นเคยกับสิ่งใหม่ ๆ เวลาชั่วโมงเศษ ๆ บนอาน บนถนนราดยางเรียบ ๆ เจ้าแคมเบียมแสดงความสามารถได้เป็นอย่างดี วัสดุยางธรรมชาติเสริมแรงด้วยผ้าฝ้ายนั้น มีการให้ตัวได้ มีความสามารถในการดูดซับแรงกระแทก ซึ่งเป็นสมบัติหลักของยาง เมื่อร่วมกับความนุ่มของเฟรมเหล็ก ผมจึงมั่นใจขึ้นมากว่าคันนี้แม้ว่าจะหนักกว่า แต่เจ้าแคมเบี่ยมบนเฟรมเหล็กนั้นน่าจะให้ประสบการณ์ครั้งแรกของชีวิตของผมนี้น่าจดจำได้โดยไม่ยาก

ผมรู้สึกเสียดายเล็กน้อยเมื่อทราบ 1 วันก่อนการแข่งขันว่าระยะทางต้องลดลงเหลือ 145km และมีการเปลี่ยนจุด start แต่ผมพยายามไม่คิดถึงมันมากนัก การวอร์มอัปหรือวอร์มดาวน์สัก 15กม. ก็จะทำให้ผมแตะ century แรกของชีวิตได้โดยง่าย อีกทั้งจุด start ใหม่ก็เป็นรีสอร์ทที่เป็นจุดเริ่มต้นของการแข่งขัน O2O เมื่อปีที่แล้วในช่วงเวลาใกล้ ๆ กันนี้ ไปรำลึกความหลังบ้างคงมีความสุขดี และจะเป็นการฉลองวันเกิดครบหนึ่งเดือนของฮารุ ลูกสาวคนล่าสุดของผม ด้วยทริปแรกระยะทางเบา ๆ ร้อยกว่ากิโลเมตรจากบ้านของเราที่ปัตตานี ผมมาถึงโรงแรมพร้อมกับตรวจสอบความพร้อมของจักรยาน ด้วยการสูบลมทั้งสองล้อให้เต็มที่ 150psi ตามที่ระบุข้าง ๆ ยาง Vittoria เนื่องจากฝ่ายเทคนิคของรายการมาเตือนเรื่องความขรุขระของถนนที่ต้องปั่นในวันพรุ่งนี้ แต่แล้วผมก็พบว่าถ้วยคอของผมมันหลวม มีอาการตะเกียบโยกเล็กน้อยเมื่อทดสอบด้วยเบรค ผมอยากจะเตะก้นตัวเองเสียจริง ๆ เพราะก่อนเดินทางผมขี้เกียจยกกล่องเครื่องมือขึ้นรถด้วยเหตุผลเพียงว่าเราไปแค่วันเดียว (แล้วมันเกี่ยวอะไรหว่า) ด้วยความขี้เกียจขอความช่วยเหลือ ผมจึงใช้สองมือของผมบิดสุดแรงแล้วก็ได้แต่หวังว่าพรุ่งนี้มันคงจะไม่คลายระหว่างปั่น

1461986_750369068313514_972463135_n

ผมเตรียมเรื่องการ refuel ระหว่างการแข่งขันนี้เป็นพิเศษ เพราะนี่เป็นทักษะหลักที่ผมต้องการฝึกซ้อมมากกว่าที่จะต้องการ cover century distance ครั้งแรกของชีวิต ผมวางแผนที่จะใช้ Power Gel ประมาณชั่วโมงละ 2 ซองเพื่อให้ได้พลังงาน 200 คาลอรี่ในทุก ๆ ชั่วโมง แต่ในสองชั่วโมงแรกผมเลือกที่จะทานอาหารเช้าเข้าไปเป็นพลังงาน ผมจึงพกเจลไว้ 8 ซองสำหรับระยะเวลาประมาณ 5 ชั่วโมง เนื่องจากผู้จัดเล็ก ๆ ส่วนใหญ่จะมีปัญหาเรื่องจุดให้น้ำ และเฟรมของผมใส่กระติกได้เพียงอันเดียว ผมจึงพกกระติกน้ำอีกสองกระติกที่กระเป๋าเสื้อ รวมเป็นทั้งหมด 3 กระติก เป็น Gatorade 2.5 ลิตรโดยประมาณ ถ้าผมสามารถกินน้ำได้ ชั่วโมงละลิตรตามที่ตั้งใจ จุดให้น้ำประมาณ 3 จุดที่จะมีน่าจะเพียงพอสำหรับการแข่งขันนี้อย่างแน่นอน ผมเลือกใช้กางเกงจักรยานแบบเอี๊ยมที่ลดปัญหาขอบกางเกงที่น่ารำคาญ และใช้เสื้อทีม V40 รุ่น  laser cut หลังจากพบว่ามันสบายรักแร้กว่าเมื่อปั่นยาว ๆ และระยะหลัง ๆ ผมมักจะใส่ปลอกแขนทุกครั้ง ไม่ใช่เพราะว่ากลัวแดดแต่รู้สึกว่ามันใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง และไม่ได้ร้อนอย่างที่เคยกังวล ผมยังใช้รองเท้าไตรกีฬาแบบไม่ใส่ถุงเท้าเพื่อความคุ้นเคยเมื่อใช้ในการแข่งไตรกีฬารายการยาว ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น อีกทั้งใส่ head gear รัดศีรษะป้องกันเหงื่อไหลเข้าตา ซึ่งเป็นปัญหาหลักของคนหัวไม่มีผมอย่างผมเอง

คืนก่อนแข่งฝนลงอย่างหนัก ต่อเนื่องมาถึงเช้าวันแข่ง แต่ผุ้จัดสามารถดำเนินรายการได้อย่างดี และสามารถปล่อยตัวได้ตามหมายกำหนดการ นักปั่นส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติจากมาเลย์เซีย และสิงคโปร์ แม้กระทั่งญี่ปุ่น หรือชาวยุโรป คนไทยจะมีกลุ่มจากสุราษฏร์ ปัตตานี นครศรีธรรมราช ยะลา นราธิวาส รวมไปถึงสงขลาเจ้าถิ่นจังหวัดละไม่กี่คน มีนักปั่นคนไทยหลายคนยกเลิกเนื่องจากมีปากเสียงกับผุ้จัดเกี่ยวเนื่องจากจุดประสงค์หลักของการจัดนี้เป็นเพื่อโปรโมทการท่องเที่ยวเชิงกีฬาให้กับต่างชาติ มากกว่าเพื่อเป็นการแข่งขันเพื่อหาผุ้ชนะของรายการ แม้ว่าทางผุ้จัดจะมีโล่รางวัลให้กับ 5 อันดับแรกของกลุ่มอายุก็ตาม แม้ว่ารายการนี้จะเป็นการแข่งขันกระชับมิตร เมื่อเสือหมอบแต่งสุด ๆ ร่วมสองร้อยกว่าคันมาอยุ่รวมกัน แล้วถูกปล่อยให้ปั่นไปบนถนนโดยมีรถยนต์นำทาง และมอเตอร์ไซค์ขนาบข้างคอยเคลียร์เส้นทางให้ peloton ก็เร่งความเร็วอย่างรวดเร็วไประดับ 40+km/hr ในสภาวะฝนตกหนัก คนแก่อย่างผมไม่สามารถเร่งความเร็วอย่างรวดเร็วแบบนั้นได้ ผ่านไปกว่า 10 กม. กว่าผมจะสามารถตามทันและซุกเข้าด้านใน peloton เพื่อพักเหนื่อยได้ ไม่ทันไรผมก็พบสิ่งผิดปกติที่ก้ามเบรคซ้ายของผมที่ดูเหมือนว่าจะมีอาการให้ตัวได้เล็กน้อย และดูเหมือนว่าจะมีการเลื่อนตำแหน่งไหลต่ำลงไปเล็กน้อย เพราะฝนที่ตกหนัก ร่วมกับการเร่งอย่างหนักหน่วงในช่วงแรกอาจทำให้น็อตเกิดการคลายตัว ผมเริ่มกังวลเพราะในรายการที่ผ่านมาก็เกิดเหตุการณ์คล้ายกันนี้กับ Cannondale ที่สุดท้ายแล้ว ทำให้ผมต้องเข้าเส้นชัยเกือบเป็นคนสุดท้าย ผมจึงค่อย ๆ เลี่ยงการจับมือในตำแหน่ง hood มาจัดด้านหลัง หรือ ตำแหน่ง drop บ้าง

ฝนมีแต่จะหนักขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นผลจากพายุที่เกือบจะพัฒนาเป็น depression กำลังขึ้นฝั่งในบริเวณที่เราแข่งขันพอดี แว่นตาสีดำเข้มของผมทำให้ผมมองอะไรไม่ค่อยเห็น แต่ฝนเม็ดใหญ่ สายน้ำพุ่งเป็นสายจากล้อหลังของจักรยานคันหน้าที่ผมจำเป็นต้องซุกเข้าไปใน slip stream เพื่อให้การคงความเร็ว 40+ นี้ไม่ทำให้หัวใจผมระเบิดเสียก่อน แต่แล้วสิ่งที่ผมคาดว่าจะเกิดก็เกิดขึ้น อุบัติเหตุใน peloton ที่ความเร็วนี้ สภาพอากาศและถนนเช่นนี้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากจริง ๆ ความสามารถในการมองเห็นที่จำกัด นักปั่นถูกให้เลือกระหว่างใส่แว่นที่ทำให้การรับภาพจำกัดเนื่องจากความมืด หรือถอดแว่นเพื่อรับภาพแต่เสี่ยงกับการรับภาพที่จำกัดจากการที่ต้องคอยจัดการกับน้ำที่ไหลและกระเด็นเข้าตา รวมไปถึงความเสี่ยงจากการที่ฝุ่นผงจะกระเด็นเข้าตา ส่วนผมนั้นไม่มีทางเลือกเนื่องจากสายตาที่ค่อนข้างจะสั้น ความมืดเป็นอุปสรรคใหญ่หลวง ร่วมกับสายน้ำพาเอาเหงื่อเข้าตาผมตลอดเวลาจนต้องถอดแว่นให้สายฝนคอยชะเหงื่อเค็ม ๆ ออกจากบริเวณรอบตา และแล้วอุบัติเหตุครั้งที่สองเกิดก็กับคันที่ปั่นข้าง ๆ ผม เมื่อ peloton ชะลอความเร็วกระทันหันเพื่อเลี้ยว ผมเห็นล้อหลังสะบัด จักรยานที่ตามมาเสยเข้ากลางลำ ที่เหลือผมต้องเดาภาพที่ชินตาจากการดูการแข่งขันจักรยานหลาย ๆ ครั้ง peloton แบ่งออกเป็นสองส่วนหลังจากนั้น

1422904_756632827687138_1966155060_n

เมื่อเลี้ยวเข้าถนนสายรอง ปัญหาใหม่ก็ตามมา ถนนขรุขระที่ฝ่ายจัดพูดถึงมันคือ pot hole ขนาดหน้ากว้างล้อรถยนต์ ที่มีเป็นจำนวนมาก ในเวลานี้นักปั่นต้องใช้ทุกสิ่งทุกอย่างที่ตัวเองมีเพื่อที่จะเกาะติดใน slip stream ของคันหน้า ปั่นฝ่าสายฝน หลบ pot hole มรณะที่มองไม่เห็นจากมุมมองแคบ ๆ ประมาณตูดคันหน้า ร่วมกับน้ำเจิ่งนองที่ปกปิด ความผิดปกติของพื้นผิวถนน นี่คือภาวะที่อันตรายมาก ๆ ในความคิดของผม เมื่อคิดถึงรายการไตรกีฬารายการใหญ่ที่ผมจะเข้าแข่งขันในอีกสองสัปดาห์ข้างหน้า และตำแหน่งมือจับของผมที่ค่อนข้างเสี่ยงเพราะห่างจากตำแหน่งเบรคกว่าที่ควรจะเป็นเพราะกลัวก้ามเบรคไหล และต้องมาใช้ตำแหน่ง drop หลายครั้งเพื่อเบรค แต่จะเสียมุมมองที่อาจจะทำให้ไหวตัวไม่ทันเมื่อจำเป็น ผมจึงตัดสินใจถอยออกมาอยู่ท้าย ๆ ของ peloton ซึ่งพบว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะเกาะในตำแหน่งนี้เป็นระยะเวลานาน ๆ หัวใจผมเริ่มพุ่งขึ้นเข้าใกล้ threshold ก่อนที่จะเริ่มหลุดในท้ายที่สุดที่ระยะทางประมาณ 50km ผมยังห่างจากกลุ่มที่สองอยุ่มาก ทำให้ต้องปั่นคนเดียวอยู่สักพักก่อนที่เพื่อนนักปั่นอีกคนจะหลุดจากกลุ่มลงมาอีกหนึ่งคน

ในช่วงเริ่มต้นที่มีการขับเคี่ยวกันอย่างเมามันส์ ผมไม่มีโอกาสได้สังเกตุประสิทธิภาพของเจ้าแคมเบี่ยมมากนัก นอกจากความสามารถในการดุซับแรงที่ได้เล่าให้ฟังไปแล้ว ซึ่งทำให้การปั่นนุ่มกว่าคันอื่น ๆ ของผมที่เป็นเฟรมคาร์บอน และอลูฯ โดยตัวเฟรมแล้วเหล็กมีความนุ่มกว่ามาก แต่ผมก็ยังรู้สึกได้ว่าความนุ่มนวล และการดูดซับแรงส่วนหนึ่งมาจากอานยางตัวนี้ C17 ไม่ใช่ทรงแข่งขัน ซึ่งจะมีท้ายอานที่ค่อนข้างกว้างกว่าซึ่งบางกรณีอาจจะทำให้ไม่สะดวกในการเลื่อนตัวหน้าหลังที่อาจจะต้องมีบ้างในกรณีที่จำเป็นต้องถ่ายน้ำหนักเพื่อช่วยในการเบรคในกรณีที่มีความเสี่ยงเหมือนวันนี้ ผมทำอยู่หลาย ๆ ครั้ง ก็ไม่พบปัญหาอะไรมากนัก ปัญหาที่มีคนอื่นเคยรีวิวร์ว่าตัวผิวอานค่อนข้างฝืดกลับเป็นผลดีในกรณีที่ต้องมีการขยับก้นแทบจะตลอดเวลาเนื่องจากการปั่นที่กระชั้น ในสภาวะฝนตกหนักที่ความเร็วสูง เพราะสัมผัสที่รับได้ระหว่างก้น หว่างขากับตัวอานดีขึ้นมาก ผมเคยพบปัญหานี้กับอานมาตรฐานที่หุ้มหนังเทียมสีดำ ที่ฝนตกทำให้ความลื่นส่งข้อมูลผิด ๆ จนไม่แน่ใจตำแหน่งของอานและต้องยืนเป็นส่วนมากเมื่ออยู่กลาง peloton กลางสายฝน

ผมลดความเร็วเหลือประมาณ 32-35km/hr เพื่อคุม HR ให้อยุ่ระดับ 160 ซึ่งเป็นระดับ Tempo และน่าจะทำให้ผมยืนความเร็วประมาณนี้ได้จนจบการแข่งขัน เราสองคนเริ่มบ่น ๆ ว่าปั่นแค่สองคนในระยะ 100Km ที่เหลือน่าจะเหนื่อยพอดู ผมเปรย ๆ ไปว่าถ้ายางไม่แตก ก็ถือว่าโอเคแล้ว ถนนแบบนี้ เสี่ยงมาก ๆ และเราก็เริ่มเห็นนักปั่นยางแตกกันทีละคน ๆ  ในที่สุดก็ถึงคิวผมที่ต้องยางแตกเช่นเดียวกัน เพื่อนร่วมทางขอตัวไปก่อน ผมเข้าข้างทางถอดล้อออกเพื่อเปลี่ยนยาง พบว่ามีหินเสี้ยวเล็ก ๆ ฝังเข้าไป เก่าจะออกได้ต้องเอายากนอกมาบิดออก และผมก็พบข้อเสียของเจ้าอานตัวนี้ เนื่องจากยางเป็นวัสดุที่มีความยืดหยุ่น ผ้าฝ้ายที่หุ้มผิวหน้าจริง ๆ แล้วจะมีหน้าที่หลักสองอย่าง ในขณะที่คนส่วนใหญ่อาจจะคิดว่าเพื่อความสวยงาม และการเติมสีสันให้กับตัวอาน แต่หน้าที่เชิงวิศวกรรมที่สำคัญคือการช่วยเสริมความแข็งแรงให้กับแผ่นยาง เพิ่มความสามารถในการรับแรง และจำกัดการยืดหยุ่นของตัววัสดุยางให้เหมาะสม เมื่อเป็นเช่นนี้ ชั้นผ้าชั้นนี้มีความสำคัญมากกว่าความสวยงาม ผมจึงไม่กล้าที่จะคว่ำตัวจักรยานให้อานสัมผัสพื้น ตามที่หลาย ๆ คนชอบใช้เมื่อเปลี่ยนยาง หรือแม้กระทั่งการเอนจักรยานลงกับพื้นผมยังกลัวที่จะให้ขอบอานถูกกับพื้น เพราะกลัวจะกระตุ้นให้ผ้าใบมีการฉีกตัวออกจากตัวอานยาง เมื่อตัวผ้าใบมีตำหนิเมื่อไร ความแช็งแรงเชิงกลของยางเคลือบผ้าใบนั้นจะลดลงเป็นอย่างมาก ในกรณีที่เป็นสายพานแบบหุ้มผ้าใบ (wrapped V-belt) การฉีกขาดของผ้าใบหุ้มนั้นคือ death sentence ดี ๆ นี่เอง แต่ในกรณีอานตัวนี้ ไม่ได้มีการกล่าวถึงอายุการใช้งาน และความปลอดภัยในการใช้ในเอกสารใด ๆ ที่มากับตัวอานเลย แต่ประกัน 2 ปี แถมด้วย 10 years extended warranty  ก็ทำให้หายกังวลไปได้เยอะ

1418230_750369191646835_1123698223_n

ผมใช้เวลาเปลี่ยนยางประมาณ 20 นาที นานพอที่จะทำให้ peloton กลุ่มที่สองผ่านผมไปฉิว ๆ รวมไปถึงกลุ่มเล็ก กลุ่มน้อย อีกมากมายจนผมเริ่มรู้สึกว่าผมน่าจะหลุดเป็นคนสุดท้ายแน่ ๆ เพราะโดยส่วนมากแล้วนักกีฬาที่ยางแตกมักจะรอขึ้นรถกลับ แต่ด้วยสปิริตนักไตรกีฬาอย่างผม ที่มีค่าลงทะเบียนแพงที่สุดในบรรดากีฬาสมัครเล่นทั่วไป ยางแตกแค่นี้เราเปลี่ยนได้ และยังแข่งต่อครับ ไม่งั้นขาดทุนตายเลย ช่วงที่ลุก ๆ นั่ง ๆ ก้ม ๆ เงย ๆ ก็มีรถเก็บตกดูเหมือนว่าจะจอดรับผม ด้วยความคิดว่าปั่นคนเดียวอีก 100 km น่าจะหนักพอดู และผมอาจจะกลายเป็นคนสุดท้ายแล้วก็ได้ในตอนนี้ ผมจึงตะโกนออกไปว่า “ไปด้วยครับผม” รถชะลอตัวลงเล็กน้อย แต่ไม่แน่ใจว่าผมทำท่าทำทางอย่างไร แต่ผมไม่ได้เรียกเขาอย่างชัดเจน และคาดว่าคงเป็นชาวมาเลย์เชีย เขาจึงออกรถไป ด้วยความโล่งใจของผม ที่รู้สึกละอายที่คิดจะยอมแพ้ที่ระยะทางเพียง 1/3 เท่านั้น ผมจึงรีบเติมลม แล้วออกตัวปั่นไปเรื่อย ๆ อย่างเดียวดาย จิตใจไม่ค่อยอยู่กับเนื้อกับตัวมากนัก ในระหว่างนั้นผมเริ่มผ่านจักรยานคันแล้วคันเล่าที่ประสบชะตากรรม ยางแตก แบบผม บ้างก็กำลังเปลี่ยนยาง บ้างก็ทำท่ายืนเพื่อรอรถมาเก็บตกเพียงอย่างเดียว ผมจึงมีความมั่นใจมากขึ้นว่าผมคงไม่ใช่คนสุดท้าย อย่างน้อย ๆ ก็ต้องมีอีกหลายสิบคันที่ตัดสินใจ เปลี่ยนยางแล้วยังต้องปั่นตามผมมาเช่นกัน หลังจากนั้นผมก็เริ่มสังเกตุเห็นรถเก็บตกจำนวนมาก บ้างก็ขับผ่านผมไป บ้างก็ขับเข้าไปเก็บตกนักปั่นที่รออยู่เบื้องหน้า ผมเริ่มเห็นนักปั่นนั่งรอกันเป็นกลุ่ม ๆ มากขึ้น ในใจผมเริ่มคิดว่างานนี้ถนนโหดร้ายอย่างที่ผู้จัดเตือนมาจริง ๆ ผมได้แต่หวังว่าคงไม่มีครั้งที่สองสำหรับผมในวันนี้ เพราะถ้ามีอีกครั้งผมก็คงถอดใจ

กำลังผมค่อย ๆ กลับคืนมาอย่างรวดเร็ว ฝนเริ่มซาลง ชุดปั่นของผมเริ่มแห้งหมดแล้ว แดดยังไม่ถึงกับออกมากนัก เหลือบดู Garmin Edge ก็พบว่าพบปั่นมาได้ 80km กว่า ๆ แล้ว เลยครึ่งทางไปได้สักพักแล้ว ผมยังคงความเร็วที่  32-35 km/hr ได้อย่างสบาย ๆ แม้ว่าจะต้องปั่นตัวคนเดียว โชคดีที่ว่าหลังจากฝนในช่วงต้นรายการแล้ว ผมไม่ต้องพบกับลมกรรโชกแรง หรืออะไรอื่น ๆ ที่มาร่วมกับฝนอีกเลยตลอดทั้งการแข่งขัน แถมเส้นทางที่ผ่านมาทั้งหมดยังค่อนข้างราบเรียบ ไม่มีเนินอะไรให้ต้องออกแรงเลย ผมรู้สึกดีใจนิด ๆ ที่ผู้จัดเลือกเส้นทางเช่นนี้ แม้ว่าตลอดเส้นทางผมได้ปั่นผ่านอำเภอ หรือ หมู่บ้าน ที่ล้วนแล้วใช้ชื่อว่า “ควน” ซึ่งหมายถึงที่สูงแทบทั้งนั้น การที่ต้องพยายามใช้ drop position เป็นส่วนใหญ่ เพราะกลัวว่าการจับที่ hood position จะทำให้เบรคผมเลื่อนไปจนปั่นไม่ได้ คราวนี้ drop postion ไม่ได้สร้างปัญหาให้กับผมเลย ต้องขอบคุณการฝึกซ้อมในช่วงที่ผ่านมา ที่ผมพยายามฝึกการใช้ drop postion มากขึ้นมาก เมื่อพบว่าระหว่าง hood postion และ drop postion อาจจะทำให้เกิดความเร็วต่างกันได้สูงถึง 3 กม/ชม เลยทีเดียว การฝึก strength training โดยเฉพาะ core training เริ่มช่วยไม่ให้ผมเกิดอาการปวดหลังที่เมื่อก่อนจะเกิดที่ประมาณระยะ 80 กม. เมื่อร่างกายทั้งหมดของผมไม่สร้างปัญหา ผมกำลังอยู่ในอารมณ์ที่เรียกว่า “in the zone” ผมจึงเริ่มหันความสนใจมาที่แคมเบียม มากขึ้น

1415618_753182704698817_1663960434_n

ผมพบว่าผมมีแนวโน้มที่จะเลื่อนตัวมาด้านหน้าของอานค่อนข้างมาก ซึ่งตามคู่มือการติดตั้งของบรูคส์บอกว่าอาการเช่นนี้เกิดจากการที่ตั้งอานไปด้านหลังมากเกินไปทำให้เกิด dead spot ในการปั่นรอบขา เราจึงมีแนวโน้มที่จะเลื่อนตัวมาด้านหน้าซึ่งจะช่วยลดอาการเหล่านี้ได้ เป็นคำแนะนำการปรับตั้งที่ผมไม่ค่อยได้เคยพบเท่าไร น่าเสียดายผมไม่ได้พกอุปกรณ์อะไรมาด้วยไม่เช่นนั้นผมคงได้ปรับอานไปด้วย การปรับอานสไตล์นี้เป็นเหมือนระบบ analog เมื่อคิดว่าการวัดตำแหน่งต่าง ๆ ของร่างกาย และตำแหน่งต่าง ๆ ของบันไดอย่างอานชนิดอื่น ๆ เช่น Cobb Saddle นั้นคือระบบ digital โดยมากผมค่อนข้างชอบการ fitting ในรูปแบบนี้ เนื่องจากผมคิดว่าในที่สุดแล้วเราต้องเอาหลาย ๆ อย่างมารวมกันในการ fitting ไม่ว่าจะเป็น skeleton, muscular strength/flexibility, ride technique รวมไปถึง ภาวะความเจ็บป่วยของผู้ปั่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แทนที่จะใช้การวัดโดยไม่สนใจความรู้สึกของผู้ปั่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้ปั่นระยะยาว ๆ เช่นนี้ จะช่วยบอกอะไรได้เป็นอย่างมาก ในรายการซ้อมของผมช่วงต้นฤดูการในวันปั่นยาวจะระบุให้พกอุปกรณ์ปรับแต่งไปด้วย และแนะนำให้ปรับแต่งอานและแอโร่บาร์ ตั้งแต่ช่วงต้นฤดู ในคู่มือของบรูคส์นั้นแนะนำให้นั่งบนส่วนที่กว้างที่สุดของอาน และระบุว่าตรงปลายอานนั้นไม่ได้ออกแบบมาให้นั่งได้ เพียงแต่ว่าอานที่ไม่มีปลายอานนั้นจะทำให้บังคับรถยากขึ้น จึงมีความจำเป็นต้องมีปลายอานมาด้วย ในขณะเดียวกันก็แนะนำให้ปรับให้อานขนานพื้นหรือเชิดหัวขึ้นเล็กน้อยเพื่อป้องกันการไหลมากข้างหน้า Cobb saddle ก็แนะนำคล้าย ๆ กัน แต่เหตุผลของ Cobb Saddle นั้น การเชิดหัวขึ้นเล็กน้อยทำให้มีการถ่ายน้ำหนักลงด้านหลังมากขึ้นทำให้ลดการทดทับด้านหน้า

เมื่อระยะทางแตะ 100km ผมก็เริ่มเห็นคนถอดใจมากขึ้น มีการจอดพักเข้า 7-11 เป็นกลุ่ม ๆ เริ่มมีคนปั่นแบบถ่านหมดมากขึ้น ในขณะเดียวกันเส้นทางก็เริ่มเปลี่ยนเป็น rolling มากขึ้น เริ่มมีการใช้พลังงานในการปั่นขึ้นเนินเตี้ย ๆ ซึม ๆ เป็นช่วง ๆ ช่วงของการทดสอบอานอย่างแท้จริงเริ่มปรากฏ แม้ว่าผมจะพยายามบังคับให้ตัวเองกินเจลทุก ๆ ครึ่งชั่วโมง แต่เนื่องจากฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก อากาศที่ค่อนข้างเย็นขมุกขมัว ผมไม่สามารถกินน้ำได้มากตามแผนที่วางไว้ เวลาผ่านไปเกินกว่าสามชั่วโมงผมเพิ่งกินน้ำได้เพียงกระติกเดียว กับอีกนิด ๆ เท่านั้น ซึ่งหมายความว่าผมน่าจะเริ่มขาดน้ำไปแล้วเกือบสองลิตร เพราะอัตราการเสียเหงื่อของผมอยู่ที่ประมาณ 1 ลิตรต่อชั่วโมง กว่าจะรู้ตัวก็สายไปเสียแล้ว การที่จะอัดกินไปจำนวนมากอาจจะทำให้เกิดอาการปวดท้องได้ ผมจึงได้แต่พยายามจิบให้บ่อยขึ้น แต่ก็ไม่ทัน เมื่อตะคริวเริ่มมาเยือนน่องซ้าย ไม่นานนักก็มาหาน่องขวา ผมจำเป็นต้องลุกขึ้นปั่นเป็นช่วง ๆ เพื่อยืดกล้ามเนื้อน่อง ลดความเจ็บปวดลงไปบ้าง แต่เนินเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่มารบกวนเรื่อย ๆ ทำให้กล้ามเนื้อต้นขาทั้งสองข้างเริ่มมีอาการตะคริวขึ้นบ้างแล้ว จากเหตุการณ์นี้เองผมจึงค่อนข้างมั่นใจว่าการขาดน้ำเป็นสาเหตุหลักในตะคริวของผม ไม่เกี่ยวกับปริมาณคาลอรี่ที่ใส่เข้าไป เนื่องจากผมเติมคาลอรี่ในระดับที่น่าจะเพียงพอ เนื่องจากต้นขาเป็นกล้ามเนื้อใหญ่ ผมจึงพยายามไม่ให้เกิดตะคริวที่ต้นขา การยืนปั่นเป็นอันตกไป ผมหันมาใช้วิธี hyper extend กล้ามเนื้อน่องในช่วงรอบขาลงของการปั่นแทน การทำเช่นนี้ทำให้มีการลงน้ำหนักบนอานมากเป็นพิเศษ และมีการเสียดสีเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ ผมจึงค้นพบข้อเสียอย่างหนึ่งของอานประเภทนี้ ที่มีแรงเสียดทานบนผิวอานค่อนข้างสูง ซึ่งทำให้กางเกงจักรยานมีการขยับตัวเสียดสีกับอวัยวะค่อนข้างมาก เนื่องจากผิวอานมีแรงเสียดทานสูงกว่าผิวหนังของผม กางเกงจึงเลือกที่จะไม่ขยับบนผิวอานมาขยับบนผิวของผมแทน ทำให้หลังปั่นนั้นมีความทรมานในช่วงอาบน้ำเป็นอย่างมาก แต่นั่นอาจจะแก้ปัญหาได้ถ้าผมไม่ลืมทาวาสลีนป้องกันมาก่อน

ด้วยวัสดุที่เป็นยางแม้ว่าจะมีการปรับความตึง หรือความสามารถในการรับแรงรวมไปถึงการยืดหยุ่นด้วยชั้นผ้าใบไปแล้วนั้น โดยรวมอานประเภทนี้ก็ยังมีสมบัติที่เหมือนนำแผ่นวัสดุมาขึงระหว่างจุดสองจุด ในหลาย ๆ การรีวิวร์ใช้คำว่าคุณสมบัติแบบแปลญวณ การขึงยางในรูปเบบนี้คือหนึ่งจุดบริเวณด้านหน้าและอีกจุดบริเวณด้านหลังอาน เนื่องจากยางเสริมผ้าจะไม่มีการยืดตัวเพิ่มเติมความตึงที่ขึงไว้นั้นจึงมีความเหมาะสมตั้งแต่เริ่มต้น ไม่จำเป็นต้องขึงให้แน่นเป็นพิเศษเผื่อการยืด หรือไม่ต้องมีความจำเป็นในการปรับความตึงของแผ่นหนังแบบเบาะหนังรูปแบบอื่น ๆ ซึ่งเป็นสายผลิตภัณฑ์หลักของบรูคส์เอง แม้ว่าบรูคส์จะมีเบาะหนังรุ่นที่  aging มาให้เรียบร้อยแล้ว แต่สำหรับแคมเบี่ยมเอง ความตึงที่เหมาะสมตั้งแต่วันแรก รวมไปถึงสมบัติในการกันน้ำที่มากกว่าหนังทั่วไปก็ถูกนำมาใช้เป็นจุดขายของอานรุ่นนี้ แม้ว่าจุดเด่นนี้จะใช้เทียบกับกับอานของบรูคส์เองเท่านั้น เพราะอานยี่ห้ออื่น ๆ ล้วนแล้วแต่กันน้ำและนุ่มสบายตั้งแต่วันแรกใช้กันทั้งนั้น แต่สิ่งสำคัญที่อานรุ่นนี้มีและหาไม่ได้ในรุ่นอื่นก็คือสมบัติความเป็นยางของมันนั่นเอง เมื่ออานขึงอยู่บนสองจุดโดนรับแรง น้ำหนักตัวของเราจะถูกถ่ายไปเป็นแรงดึง (tension) ภายในแผ่นยาง ความเป็นยางคือความสามารถในการยืดจะส่งผลให้อานรุ่นนี้สามารถปรับรูปเข้ากับสรีระของเราได้อย่างทันที และเป็นไปอย่างทั่วถึง นอกจากนี้สมบัติที่เป็นวิสโคอิลาสติกของยางทำให้สามารถยืดหยุ่น ดูดซับแรงสั่นสะเทือนได้มาก หลักการเป็นการ damping คล้าย ๆ ระบบโชคอัพ ที่ทำให้แรงสั่นสะเทือนจากพื้นถนนไม่ถูกส่งถ่ายของมาที่บั้นท้ายของผู้ปั่นมากนัก อาการเจ็บ ร้อนตาม sit bone ต่าง ๆ น่าจะไม่ค่อยเกิดขึ้นเมื่อใช้อานประเภทนี้

อย่างไรก็ตามเนื่องจากอานประเภทนี้ใช้วัสดุจำนวนน้อย การที่จะทำให้ได้สมบัติในทุก ๆ อย่างพร้อม ๆ กันเป็นเรื่องที่ยากหรือเป็นไปไม่ได้เสียเลย การที่จะทำให้ยางชิ้นนี้สามารถรับน้ำหนักผู้ปั่นได้ รวมถึงสามารถรับแรงกระแทกในขณะปั่นที่ความเร็ว 45-50+ km/hr ได้อย่างปลอดภัย ยางแผ่นนี้จึงต้องมีความแข็งแรงสูง มอดุลัสสูง และหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีความแข็งสูง  (Hardness) แม้ว่าในการใช้งานทั่วไปน่าจะลดปัญหาการเจ็บ ปวดร้อนตามบริเวณ sit bone ซึ่งเกิดจากการกระแทกซ้ำ ๆ กันหลาย ๆ ครั้งเป็นเวลานาน เนื่องจากตัวอานได้ดูดซับแรงกระแทกเหล่านั้นไว้เอง แต่ความแข็งที่สูงนั้นทำให้การกระจายแรงของพื้นผิวทำได้ไม่ดี ส่งผลให้ surface pressure ที่เกิดขึ้นจะค่อนข้างสูงกว่าอานที่มีเบาะนุ่ม ๆ ที่อาจจะเป็นฟองน้ำบาง ๆ หรือเจล surface pressure ที่เกิดขึ้นนี้จะเริ่มเป็นปัญหาเมื่อต้องปั่นเป็นระยะเวลานาน ๆ ผมเริ่มรู้สึกแสบ ๆ ร้อน ๆ ทั่ว ๆ ก้นเมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 4 ชั่วโมง อาการแบบนี้ไม่เคยเกิดกับผมในอานประเภทอื่น แต่อย่างไรก็ตามผมก็ไม่เคยที่จะปั่นบนอานประเภทอื่นนานถึงระดับนี้มาก่อน แต่จากการสัมผัสอานผมเชื่อว่าความแข็งของอานน่าจะเป็นสาเหตุ ความแสบร้อนทั่ว ๆ ก้นสามารถรู้สึกได้มากเพียงพอที่จะทำให้การลุกขึ้นปั่นในบางครั้งมีความสุขสบายตูดเมื่อเทียบกับตอนที่จะลงนั่งปั่น

ผมทำความเร็วเก็บตกสิงห์นักปั่นที่หมดแรง รายแล้วรายเล่า จนเริ่มเข้าบริเวณห้าแยกเกาะยอ เลี้ยวขึ้นเกาะยอ ผ่านเส้นทางที่คุ้นเคย แม้ว่าจะมีอาการเจ็บก้นบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ผมก็ดีใจที่ผมไม่มีอการถ่านหมดแรงตกจนต้องปั่นต่ำกว่า 30km/hr  เป็นระยะเวลานานนัก ยกเว้นในช่วงที่ตะคริวมาเยี่ยมเยียน ก่อนจะถึงช่วงเลี้ยวเข้าปากทางเส้นชัย โรงแรมหาดแก้วรีสอร์ท ก็มีนักปั่นมาเลย์มาตีขนาบกับผม ผมไม่ค่อนเหนื่อยมากแล้วครับ แต่อย่างไรก็ตามผมก็ชวนเพื่อนนักปั่นเล็ก ๆ น้อย ๆ ผมเปรยไปว่า “Now I’m glad that they change it to 145km instead of 160km” แล้วเราทั้งสองคนก็หัวเราะอย่างมีความสุขเมื่อมองเห็นชายทะเลอยู่ไม่ไกล เลยออกไปก็เป็นเส้นชัยอันหอมหวาน เป็นอันจบสิ้นระยะทาง 145km ครั้งแรกของผม ด้วยเวลาปั่น 4 ชั่วโมง 30 นาที แถมอีก 20 นาทีในการเปลี่ยนยาง ผมใช้เวลาน้อยกว่า 5 ชั่วโมงตามที่วางไว้ค่อนข้างมาก ไม่แน่ใจว่าเป็นที่อานยางหรือเฟรมเหล็ก แต่ที่แน่ ๆ สนามวันนี้เป็นสนามที่โหดที่สุดสนามหนึ่งที่ผมเคยสัมผัส

1420661_753690771314677_150240188_n

ผมเลี้ยวเข้าไปเก็บจักรยานขึ้นหลังคารถ ผมกินเจลไปได้ทั้งหมด 7 ซอง กินน้ำไปได้ไม่ถึงสองกระติกดี ผมพยายามสำรวจอานแล้วก็พบว่าในบางจุดผมเริ่มเห็นการฉีกเป็นขุยของผ้าใบบ้างแล้ว ผมมั่นใจว่าการฉีกขาดในวันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของความเสียหายของอานที่ออกแบบในลักษณะนี้ ว่าแล้วผมจึงควรเป็นอย่างยิ่งที่จะเข้าไปลงทะเบียนในเวปของบรูคส์เพื่อรับ 10 years extended warranty เพราะผมมั่นใจว่าผมน่าจะได้ใช้ประกันนี้แน่ ๆ ครับ ถ้าจะถามฟันธงว่าผมจะแนะนำให้เพื่อนมั้ย ผมคงคิดว่าแนะนำได้ครับ อานระดับไฮเอนด์ จะราคาประมาณนี้ทั้งนั้นครับ รวมทั้ง Cobb saddle ที่ผมใช้กับจักรยานไตรกีฬาของผมก็แพงกว่านี้เล็กน้อย ถ้าถามถึงความสบายผมว่า  Cobb Saddle สบายกว่าในการปั่นยาวครับ แต่ถ้าเจอถนนแบบวันนี้ เฟรมคาร์บอนกับอานธรรมดา คงสู้เฟรมเหล็กอานยางไม่ได้อย่างแน่นอนครับ ผมเดินขึ้นไปห้องพักเพื่อเตรียมตัวเชคเอาท์ ภรรยาผมทักคำแรกว่า “ทำไมเร็วจัง” เท่านี้ผมก็หายเหนื่อยแล้ว เราแวะเข้าไปหาอะไรทานสำหรับมื่อเที่ยงในเมืองหาดใหญ่ก่อนมุ่งหน้ากลับปัตตานี แม้ว่าจะมีอะไรผิดปกติเกิดกับจักรยานผมมากที่สุดในวันนี้ แต่ผมก็ได้สถิติปั่นยาวที่สุดที่มีความเร็วเฉลี่ยสุงที่สุด 32.0km/hr มาประดับไว้ในบันทึกของผมครับ