ระบบนิเวศน์ทางอิเลคโทรนิค

การพัฒนาของสมาร์ทโฟนค่ายอื่น ๆ นอกเหนือจากแอ๊ปเปิ้ล ไม่ว่าจะเป็นซัมซุง HTC Nokia รวมไปถึงระบบปฏิบัติการต่าง ๆ และการจากไปของสตีฟ จ๊อปที่ทำให้รังสีของแอ๊ปเปิ้ลถดถอยลง การเปรียบเทียบ การแข่งขันมันดูเหมือนรุนแรงขึ้น มีการผลัดกันนำ แซงในความสามารถของมือถือรุ่นใหม่ ๆ ที่เอามาชนกันได้อย่างสนุกสนาน แต่ในรายชื่อผู้เล่นทั้งหมด มีเพียงแอ๊ปเปิ้ล และซัมซุงเท่านั้น (รีวิวเปรียบเทียบ iPhone 5 และ Galaxy S4) ที่มีอุปกรณ์อิเลคโทรนิคประเภทอื่น ๆ ในท้องตลาด แต่มีเพียงแอ๊ปเปิ้ลเท่านั้นที่มีระบบนิเวศน์ทางอิเลคโทรนิคที่สมบูรณ์แบบ แม้ว่าผมจะไม่เคยมีโอกาสได้สัมผัสกับซัมซุงมาก่อน ผมมั่นใจว่าระบบของแอ๊ปเปิ้ลสมบูรณ์แบบที่สุด และยังคงเป็นผู้นำอยู่โดยตลอด

 

450px-IPod_video_30_GB_white_2

ผมเปลี่ยนค่ายมาอยู่แอ๊ปเปิ้ลได้ไม่นานมากนัก และเปลี่ยนในช่วงที่ระบบนิเวศน์ทางอิเลคโทรนิคที่ผมพูดถึงนี้กำลังเริ่มก่อตัวเป็นรูปเป็นร่าง แม้ว่าในอดีตจะมีประสบการณ์กับเครื่องแอ๊ปเปิ้ล IIe แต่ด้วยราคาที่ต่างกันลิบลิ่ว การกลับมาของ iMac สีลูกกวาดก็ทำให้ผมได้แต่นั่งมอง ผมเริ่มด้วย iPod Video 60GB เพื่อตอบโจทย์แผ่นซีดีสะสมจำนวนมากของผม และหลายปีให้หลังผมจึงถอย iPod touch รุ่นแรก ๆ เพราะความสามารถในการเข้าถึง Internet ของมัน และผมค่อย ๆ ปล่อยตัวเองเข้าสู่ระบบนิเวศน์ทางอิเลคโทรนิคที่จ๊อปได้สร้างขึ้น แต่ภาพดังกล่าวยังไม่ชัดเจนจนกระทั่งผมสามารถสะสมเงินจนซื้อ iMac เครื่องแรกของผมได้ เพราะในระบบยุคแรก ระบบนิเวศน์นี้ยังต้องอาศัยตัวกลางที่เป็น Digital Hub ในปัจจุบัน ผมเห็นความพยายามที่จะลดความเป็น digital hub ของอุปกรณ์ใดอุปกรณ์หนึ่ง แต่ผมยังคิดว่าเวลานั้นยังไม่มาถึง (iPod TV Ad)

ที่ผมจะเล่าต่อไปนี้เป็นบรรยากาศในระบบนิเวศน์ทางอิเลคโทรนิคที่สร้างไว้โดยแอ๊ปเปิ้ล โครงสร้างที่มีแต่จะเสริมให้ผู้ใช้ได้ประโยชน์มีเพิ่มอุปกรณ์เข้าในระบบ และโครงสร้างที่จะทำให้ผู้ใช้ถูกกักขังของในระบบที่ตนเองได้สร้างขึ้นจนการเปลี่ยนแปลงระบบนั้น มีค่าใช้จ่ายสูงเกินกว่าที่จะยอมรับได้ แน่นอนว่าคุณเองสามารถสร้างบรรยากาศเช่นนี้ได้โดยใช้อุปกรณ์จากค่ายต่าง ๆ หลากหลายค่าย แต่ความสะดวกแบบแอ๊ปเปิ้ลนั้นคุณจะไม่มีวันได้สัมผัส และเมื่อมูลค่าของเวลาคุณสูงเพียงพอ การลงทุนในระบบแอ๊ปเปิ้ลจึงเป็นการลงทุนที่สมเหตุสมผลมากขึ้นตามลำดับ

apple-imac2011_q2-270-main-lg

สิ่งที่ถือว่าเป็นหัวใจของระบบนี้ แม้ว่าจะเป็นอุปกรณ์แอ๊ปเปิ้ลชิ้นสุดท้ายที่ผมเพิ่มเข้ามาในชีวิตผมนั่นคือ iPhone สิ่งนี้คือที่แอ๊ปเปิ้ลเรียกมันว่า Contact มันเป็นรายชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพย์ที่ผมสะสมมาตลอดทั้งชีวิตของผม ข้อมูลนี้เคยอยู่ในโปรแกรมที่ชื่อว่า Lotus Organizer ที่ผมต้องคอยย้ายไปเรื่อย ๆ ตามความเปลี่ยนแปลงของระบบคอมพิวเตอร์ เมื่อบริษัท Lotus ปิดตัวลงข้อมูลของผมก็รอวันหมดอายุ แต่ตัวช่วยตัวใหม่ Microsoft Outlook ก็มาทดแทน แต่โปรแกรมเหล่านี้เป็นเพียงที่เก็บข้อมูลฉุกเฉิน มีไว้สำหรับค้นข้อมูลเมื่อจำเป็นเท่านั้น ชีวิตที่มีข้อมูลอยู่ในมือเหมือนกับปัจจุบันนี้ยังห่างใกลจากความเป็นจริง แต่เมื่อโทรศัพย์มือถือกลายเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของคนยุคใหม่ การใช้ข้อมูลเบอร์โทรศัพย์บน Outlook กับสิ่งที่ทำได้บนโทรศัพย์ยังแยกออกจากกันโดยสิ้นเชิง ยิ่งไปกว่านั้น ผู้คนจำนวนมากเริ่มให้ความไว้วางใจกับระบบ contact บนมือถือจน เหตุการณ์มือถือหายพร้อมเบอร์ contact ทั้งหมด เป็นเรื่องปกติของคนยุคใหม่ ผมรอจนกระทั่งระบบมือถือสามารถเชื่อมต่อกับ Microsoft Outlook ได้จึงได้ซื้อ smartphone เครื่องแรก โดยเลือก HTC touch แทนที่จะเป็น iPhone 1 ที่เพิ่งออกใหม่ในตอนนั้น ชีวิตดูเหมือนกับง่ายขึ้นเป็นอย่างมากเมื่อในที่สุดเบอร์โทรศัพย์ ที่อยู่ และหลาย ๆ อย่างที่โทรศัพย์สมัยใหม่สามารถทำได้ แต่แล้ว iPod touch ก็ทำให้มุมมองของผมเปลี่ยนไป เทคโนโลยี user interface รูปลักษณ์ แอ๊ปเปิ้ลทำได้ดีกว่าอย่างเหนือชั้น ความสนใจในผลิตภัณฑ์แอ๊ปเปิ้ลของผมเพิ่มขึ้นเป็นสิบเท่าเมื่อได้เป็นเจ้าของ iPod touch จนในที่สุดเมื่อ HTC ของผมเริ่มหมดสภาพ ผมจึงเลือกที่จะพก iPod touch คู่กับ ​​Nokia รุ่นถูกที่สุดแทน (iPod Touch TV Ad)

ในวันที่ iMac เครื่องแรกมาวางบนโต๊ะทำงานของผมทุกอย่างก็เปลี่ยนไป เป็นครั้งแรกที่ iPod ทั้งสองเครื่องของผมจะได้ทำงานกับระบบ native อย่าง iMac ข้อมูลบน iPod touch ของผมได้ถูกป้องกันไว้อย่างดีบน iMac ซึ่งสามารถกู้ทุกอย่างได้แม้ว่าผมจะต้องทดแทน iPod touch มาแล้วถึง 3 เครื่องด้วยกัน และแล้วสิ่งที่เรียกว่าระบบนิเวศน์ทางอิเลคโทรนิคเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นเมื่อจ๊อปแนะนำสิ่งที่เรียกว่า Home Sharing ขึ้นในระบบ ระบบ Home Sharing ทำให้ iPod สามารถเล่นเพลงที่เก็บไว้บนเครื่อง iMac ได้เมื่ออยู่ในระบบ network เดียวกัน ความจุ 8GB ของ iPod touch ระเบิดขึ้นเป็น 1TB ตามขนาดของ iMac ทันที ผมสามารถเล่นเพลงทุกเพลงที่ผมมีจากเครื่องเล็ก ๆ ของผมได้ทุกที่ในบ้าน ผมเริ่มย้ายการทำงานบนฝั่งวินโดส์ของผมข้ามมาฝั่ง Mac มากขึ้นเรื่อย ๆ Home Sharing ได้ถูกขยายความสามารถเพิ่มขึ้นเมื่อผมได้ติดตั้ง Airport Express หรือ wireless router ที่มี Audio Output ผมติดตั้ง AE ในห้องนอนและต่อเข้ากับวิทยุเครื่องเก่า เมื่อใช้ร่วมกับ app ฟรีที่ชื่อว่า Remote ผมสามารถใช้ iPod touch ทำหน้าที่เหมือน remote control ที่จะเปิดเพลงบน iMac ผ่านระบบ Home Sharing และส่งสัญญาณมาออกที่ AE ที่ห้องนอนของผมเพื่อเล่นเพลงออกบนวิทยุของผมได้ผ่านระบบที่จ๊อปเรียกว่า Airplay ซึ่งผมใช้งานระบบที่ว่านี้เป็นประจำทุกวัน

images-6

ในขณะเดียวกับการจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์พกพาเครื่องใหม่ที่เป็น Macbook Air ตัวแรกของผมที่ได้มาพร้อม ๆ กับการเปิดตัวของบริการที่เรียกว่า iCloud เครื่องคอมพิวเตอร์พกพานับว่าเป็นอุปกรณ์จำเป็นสำหรับอาชีพอาจารย์อย่างผม เมื่อเนื้อหาการสอนหรืองานพรีเซนต์เป็นส่วนสำคัญของอาชีพ ปัญหาการจัดการไฟล์ต่าง ๆ บนเครื่อง desktop และเครื่อง notebook เป็นปัญหาโลกแตกถึงขนาดที่ผมจำใจที่จะใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์ Notebook เพียงตัวเดียวเพื่อที่จะแก้ปัญหานี้ โดยต้องยอมทนทำงานทุกอย่างบนหน้าจอขนาดเล็กกว่าที่ควรจะเป็น แต่เมื่อมีบริการ iCloud เหตุผลในการมีเครื่องคอมพิวเตอร์พกพาที่เป็น Mac ก็ดูสมเหตุผลมากขึ้น บริการ iCloud ในเริ่มแรกนี้เชื่อมโยง app พื้นฐานอย่าง Contact Calendar Note และอื่น ๆ เข้าด้วยกันโดยเชื่อมเข้ากับศูนย์ข้อมูลกลางที่เรียกมันว่า Cloud AppleID ที่เคยใช้สำหรับการลงทะเบียนเครื่อง สมาชิก iTunes Home Sharing ตอนนี้ก็ใช้สำหรับบริการ iClound เพิ่มขึ้น ​​Macbook Air ของผมจึงมีเพียงโปรแกรมพื้นฐานที่จำเป็นต้องใช้งานเมื่อเดินทาง ในขณะที่ข้อมูลทั้งหมดจะเชื่อมต่อกันอยู่บน Cloud ดังนั้นไม่ว่าผมจะทำงานบนเครื่องไหนผมก็จะมีไฟล์งานที่ใหม่ล่าสุดอยู่พร้อมเสมอ แม้ว่า iCloud จะยังไม่รับรองโปรแกรมหลาย ๆ โปรแกรม แต่บริการ Cloud Service อย่าง Dropbox ก็ทำให้การทำงานแบบนี้เป็นเรื่องง่าย และเมื่อผมจำเป็นต้องเปลี่ยน router ตัวใหม่ไปเป็น Time Capsule ที่ทำงานเป็นทั้ง router และ NAS ข้อมูลของผมทั้งหมดก็ถูกปกป้อง 100% เพราะงานหลักของ NAS ตัวนี้ถูกออกแบบมาเพื่อใช้กับโปรแกรมที่เรียกว่า Time Machine ที่แถมมาพร้อมกับ OSX ทุกเครื่อง iMac ที่ต่ออยู่กับ Time Capsule ตัวนี้จะถูก Backup ไว้อัตโนมัติการกู้ไฟล์เป็นเรื่องง่ายแสนง่ายเหมือนกับชื่อที่เขาตั้งไว้ ในขณะเดียวกันระบบที่มาใหม่ใน OSX ที่เรียกว่า Version ทำให้ความเสียหายของข้อมูลเนื่องจากลืมกด Save กลายเป็นอดีตไปในทันที ยิ่งไปกว่านี้ ​Macbook Air ของผมก็ถูก Backup ผ่าน Time Machine เครื่องเดียวกันผ่าน Wifi โดยไม่ต้องทำอะไรเพิ่มเติม แน่นอนว่าการติดตั้งระบบใหม่ภายหลังที่ Macbook Air เครื่องแรกของผมถูกขโมยไป สามารถทำได้ภายในเสี้ยววินาที ทุกอย่างกลับมาเหมือนเดิมเป๊ะรวมถึงไฟล์ต่าง ๆ ที่วางไว้บน desktop แม้เครื่อง iMac ของผมจะไม่เคยเสีย แต่บริการ Time machine ก็เคยช่วยชีวิตผมมาแล้วเมื่อการอัปเกรด Vmware เกิดปัญหาทำให้ partition ฝั่งวินโดส์ทั้งหมดไม่สามารถเข้าถึงได้ นั่นเป็นความเสียหายใหญ่หลวงที่ถ้าเกิดขึ้นกับระบบวินโดส์ในยุคก่อน นี่คือเวลาที่ต้องฆ่าตัวตายเพียงอย่างเดียว แต่ด้วย Time machine ผมแค่ย้อนเวลากลับไปก่อนการอัปเกรดทุกอย่างก็เรียบร้อย

ความสนุกของระบบนิเวศน์ทางอิเลคโทรนิคเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อผมตัดสินใจที่จะฝากลูกศิษย์ของผมหิ้ว AppleTV กลับมาจากญี่ปุ่น เมื่อจดทะเบียน AppleID ใหม่โดยใช้ที่อยู่ประเทศอเมริกาทำให้สามารพใช้งาน AppleTV ในอย่างเต็มประสิทธิภาพที่เมืองไทย นั่นหมายถึงการเช่า/ซื้อ หนังหรือรายการทีวีได้เหมือนกับอยู่อเมริกา เพียงแค่ใช้บัตรเติมเงินที่เรียกว่า iTunes Card ที่หาซื้อได้ทั่วไปตามร้าน Apple Store ของต่างประเทศที่มีการขาย Apple TV เมื่อ AppleTV ต่อกับ TV ที่มีอยู่จะสามารถคุยกับ iMac ผ่าน Home Sharing เพื่อที่จะนำหนังต่าง ๆ ที่มีอยู่บน iMac ออก TV ได้ ผมจึงเริ่ม rip แผ่นหนังที่มีอยู่ลง iMac เรื่อย ๆ ตั้งแต่วันนั้น เครื่องเล่นดีวีดีที่เริ่มหมดอายุก็ถูกปลดระวางอย่างถาวร นอกจากนี้ผมยังสามารถเปิดรูปที่อยู่ในโปรแกรม iPhoto หรือ Aperture บน iMac ให้ออก TV ได้ ซึ่งหมายถึงการแชร์รูปให้เพื่อน ๆ ดูได้โดยไม่ต้องลากตัวเข้าไปที่ห้องทำงาน รวมไปถึงโปรแกรมต่าง ๆ ที่มีใน AppleTV ก็ทำให้ TV ธรรมดากลายเป็น Internet TV ไปทันทีก่อนที่จะมี Internet TV ขายในท้องตลาด นั่นหมายถึงบริการต่าง ๆ ที่ทางแอ๊ปเปิ้ลจัดให้ ไม่ว่าจะเป็น Youtube หรือ Vimeo จะเห็นว่าทางแอ๊ปเปิ้ลไม่ได้จัดให้มีการใช้ browser ผ่าน AppleTV ซึ่งผมเห็นด้วยเพราะจากประสบการณ์ Jailbreak เพื่อลองใช้พบว่ามันไม่สนุกเอาเสียเลย และเมื่อการใช้ remote ในการเล่น Youtube บน TV เป็นเรื่องลำบาก เพราะการพิมพ์และค้นหา Youtube ด้วย remote control ตัวเล็ก ๆ มันยุ่งยาก ผมก็ยังสามารถยิงทุกอย่างที่ต้องการออก TV ได้ผ่านระบบ Airplay ไม่ว่าจะเป็นหน้าจอของ Macbook Air หรือ Youtube จาก iPod touch ที่ทำการค้นหาและควบคุมได้ง่ายกว่า ผมนั่งดู Tour de France ในปีที่ผ่านมาด้วยระบบยิงจาก TV app บน iPod touch ยิงผ่าน AppleTV ไปออกบนทีวีมาแล้วทั้งการแข่งขัน รวมไปถึงการถ่ายทอด Ironman World Championship ผ่าน Youtube เต็ม ๆ ชั่วโมงอีกด้วย (Airplay TV Ad)

apple-appletv12-channels-lg

ระบบนิเวศน์นี้ดึงผมเข้าไปลึกมากขึ้น และเมื่อเทคโนโลยีของ iPad เริ่มสเถียรผมจึงจัดหา iPad 2 เข้ามาในระบบอีกสองเครื่องเป็นของผมกับภรรยา เครื่องแรกเป็นของขวัญวันเกิดจากแม่ผมเอง และอีกเครื่องผมจัดให้ภรรยา ในขณะที่ผมพยายามนำมาหาศักยภาพของการใช้เป็นเครื่องมือการสอน หนังสือและแมกกาซีนอิเลคโทรนิก ภรรยาผมใช้มันเป็น Internet Portal (iPad TV Ad) แน่นอนว่าอุปกรณ์ทุกอย่างถูก Backup ลงบน iMac ซึ่งเคยถูกฟื้นชีพมาหลายครั้งจากความเสียหายที่เกิดขึ้นกับ iPad 2 ของเราถึงสองสามครา ยิ่งไปกว่านั้นการ Backup นี้เกิดขึ้นอัตโนมัติผ่าน Wifi เมื่อมีการ charge เครื่องโดยไม่จำเป็นต้องนำไปต่อเข้ากับ iMac เครื่องแม่เลย เมื่ออุปกรณ์เริ่มหลากหลายขึ้น และมีผู้ใช้ในระบบเพิ่มขึ้นในบ้านผมทำให้ผมต้องตัดสินใจอีกครั้ง ผมเลือกที่จะใช้ AppleID สองบัญชีเหมือนเดิมคือบัญชีประเทศไทย และบัญชีอเมริกาโดยให้บัญชีประเทศไทยเป็นตัวแม่ และผมกับภรรยาใช้บัญชีร่วมกัน ซึ่งทางแอ๊ปเปิ้ลอนุญาติให้หนึ่ง AppleID รองรับอุปกรณ์ได้จำนวนมากกว่าที่เงินของผมจะจัดหาได้เกินข้อจำกัดนี้ และมูลค่าเพิ่มของ AppleID นี้ก็มีมูลค่าสูงขึ้นเมื่อระบบ app store อนุญาติให้ app ทุกตัวที่ซื้อผ่าน app store สามารถลงในอุปกรณ์ทุก ๆ ตัวที่ใช้ appleID เดียวกันได้ และในอุปกรณ์ตัวเดียวกันยังสามารถสลับ AppleID ไปมาได้อย่างไม่จำกัด ดังนั้นในเวลานี้ผมจึงสามารถซื้อ app ใด ๆ แล้วลงในเครื่องใด ๆ ของผมที่มีก็ได้ ลบเมื่อไร จะลงใหม่เมื่อไรก็ได้ผ่านระบบ Cloud ที่จัดตั้งไว้ เมื่อรวมกับอุปกรณ์ของน้องชายของผมแล้ว การซื้อ app แล้วแบ่งกันใช้มันคุ้มค่ามากจริง ๆ

ipad-2_

การตัดสินใจใช้ appleID เดียวกันของผมกับภรรยา ทำให้ผมจัดการระบบ IT ภายในบ้านง่ายขึ้น นอกจากนี้ผมยังใช้บริการ iCloud ของ Contact Calender Notes ร่วมกันในทุก ๆ อุปกรณ์ ทำให้เรามีข้อมูลนี้เพียงชุดเดียวเป็นของครอบครัว ผมสามารถค้นหาเบอร์ของเพื่อนภรรยา หรือภรรยาสามารถค้นหาเบอร์บริษัทที่ผมต้องการติดต่อให้ผมได้ รวมไปถึงตารางเวลาการทำงานของเราทั้งสองคนก็ใช้ร่วมกัน ไม่ว่าใครถืออุปกรณ์ตัวไหนอยู่เราก็ค้นได้ทั้งสิ้น สุดท้ายบริการที่เราใช้งานบ่อยที่สุดแต่มีการกล่าวถึงน้อยที่สุดก็คือ Photostream ซึ่งเป็นการนำรูปที่เราถ่ายในอุปกรณ์ต่าง ๆ ขึ้นในระบบ Cloud ทั้งจากการถ่ายรูปด้วยอุปกรณ์ และจากการนำรูปเข้าโปรแกรมจัดการรูปอย่าง iPhoto หรือ Aperture นั่นหมายความว่าไม่ว่าผมหรือภรรยาจะถ่ายรูปที่ไหน เมื่อไร ด้วยเครื่องมือใด ๆ ก็ตาม ในทุก ๆ อุปกรณ์ของเราจะมีรูปภาพเหล่านั้น 1000 รูปสุดท้ายรอให้เราได้ใช้อยู่เสมอ ซึ่งการใช้งานของภรรยาของผมมักจะเป็นการนำไปโพสบน Facebook โดยใช้รูปที่อาจจะถ่ายมาจากกล้องไลก้าของผม หรือ iPod ผ่านจาก iPad ของภรรยาที่เป็นเครื่องมือหลักของเขา ผมเองก็มักจะนำรูปใน Photostream เหล่านี้ที่ผมไม่ได้เป็นคนถ่ายเอง ซึ่งอาจจะมาจากการถ่ายรูปด้วย iPad ของภรรยาขณะที่เลี้ยงลูกอยู่ที่บ้าน มาใส่ใน Instagram app หลักที่ผมชอบใช้ในการแชร์รูปภาพ บริการดังกล่าวนี้ทำให้รู้สึกว่าการถ่ายรูปเป็นเรื่องสนุกสนาน และการส่งผ่านข้อมูลภายในครอบครัวเป็นสิ่งที่ Seamless มากขึ้นเป็นอย่างมาก ไม่มีคำว่ารูปในกล้องเธอ รูปในกล้องฉัน มีเพียงแต่รูปที่ถ่ายเมื่อไรเพียงเท่านั้น

iPhone5_0571_large_verge_medium_landscape

และเมื่อถึงเวลาที่ผมต้องจัดหาโทรศัพย์มือถือเครื่องใหม่ ผมจึงไม่ลังเลที่จะเลือกใช้ iPhone ซึ่งในเวลานั้นอยู่ในรุ่น iPhone 4s นับว่าผมไม่ได้เป็น early adopter แต่อย่างใดเพราะในทุก ๆ อุปกรณ์ที่ผมเลือกใช้ ผมได้รอให้การพัฒนาของอุปกรณ์ดังกล่าวอยู่ในระดับที่เริ่มคงตัวแล้วทั้งนั้น ในปัจจุบันผมจึงมีอุปกรณ์ Apple ที่หลากหลายพอสมควร แม้ว่าจะไม่ได้จัดหาเมื่อออกใหม่ล่าสุด และไม่ได้มีการอัปเกรดตามเลยก็ตาม แต่เมื่อใครได้เห็นระบบนิเวศน์ของผมแล้วก็อดที่จะนึกไม่ได้ว่าผมเป็นสาวกตัวยงของสตีฟ จ๊อป การมี iPhone 4s ทำให้ผมถลำลึกลงไปในระบบนิเวศน์นี้อย่างยากที่จะถอนตัวได้ มือถือที่ติดตัวอยู่ตลอดเวลา สามารถค้นหาทุกอย่างบนอินเตอร์เนทได้ มีระบบ Cloud ที่ดูแล Contact Calendar Notes ที่แชร์ร่วมกับครอบครัว ผ่านอุปกรณ์อื่น ๆ ที่มี ระบบ Backup ทำให้มั่นใจว่านอกจากข้อมูลบน Cloud จะปลอดภัย 100% แล้วข้อมูลที่เก็บไว้ในอุปกรณ์ชิ้นต่าง ๆ ก็จะยังถูกเก็บไว้เป็นอย่างดี พร้อมทั้งการปกป้องอีกชั้นด้วย Time Machine app ทุกอย่างที่มีสามารถแชร์ไดักับทุกอุปกรณ์ที่มีทั้งในอดีตและอนาคต รูปถ่ายทั้งหมดของครอบครัวไม่ว่าจะถ่ายด้วยวิธีใดก็ตามจะถูกเก็บบน ​iMac และแชร์ผ่าน Cloud ที่ใครในครอบครัวสามารถเข้ามาหยิบใช้ได้โดยอัตโนมัติ ผ่านทุกอุปกรณ์ที่มี ระบบนี้ทำให้ค่าใช้จ่ายในการออกจากระบบมันแพงมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่า Sumsung หรือ Nokia จะมาด้วยมุขใด ๆ คงยากที่จะทะลวงเข้าสู่ระบบนิเวศน์ที่ผมเป็นอยู่ได้แล้ว ผมไม่สามารถนึกภาพได้อีกแล้วว่า Contact ของผมจะไม่ถูกปรับปรุงไปทุก ๆ อุปกรณ์เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงที่อุปกรณ์ใดอุปกรณ์หนึ่ง การ Backup ข้อมูลและโปรแกรม app ที่สะสมไว้ ความสามารถในการใช้เป็น Remote ในการเล่น Airplay บังคับ AppleTV นี่ละมั้งที่เรียกว่าสาวก ผมคิดว่าไม่ว่าใครก็ตามถ้าคิดจะ penetrate เข้าสู่ The Matrix ไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันที่ features ที่ดูแล้วก็เป็นเพียงของเล่นอวดสาวเท่านั้นเอง

Run for a reason : The Gears


12 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา ตีสาม ผมค่อย ๆ คืบคลานไปปิดนาฬิกาปลุก ก่อนที่จะพาร่างไร้วิญญาณไปแปรงฟัน อาบน้ำ วันนี้ผมมีรายการวิ่ง กรุงเทพมาราธอน 2554 ที่ต้องเลื่อนมาจากปลายปีที่แล้วเนื่องจากเหตุการณ์มหาอุทกภัย นี่จะเป็นรายการวิ่งแข่งขันครั้งแรกของผมในรอบเกือบยี่สิบปี ในการแข่งครั้งนี้ผมต้องซื้ออุปกรณ์ใหม่ทั้งหมดตั้งแต่หัวจรดเท้าเลยทีเดียว ความตื่นเต้นเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณเมื่อเสริมความตื่นเต้นจากการได้เล่นของเล่นใหม่เหล่านี้ ผมออกจากห้องน้ำเพื่อมาสวมใส่ชุดแข่งขันที่วางไว้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยตั้งแต่เมื่อคืน เป็นการเตรียมตัวเพื่อลดความฉุกละหุกของการตื่นเช้า

The Gears :

ชุดวิ่งต่างไปจากเมื่อยี่สิบปีที่แล้วเป็นอย่างมาก ชุดอดิอาสชุดนี้เป็นอุปกรณ์ชิ้นแรกที่ผมมีของอุปกรณ์กีฬาค่ายใหญ่ค่ายนี้ ปัจจุบันดูเหมือนว่ากางเกงวิ่งจะขายาวขึ้นมาก หรือเป็นเพราะว่ามีคนหันมาวิ่งกันมากขึ้นจึงต้องออกแบบให้โดนใจคนหมู่มาก เมื่อก่อนนั้นกางเกงวิ่งทุกตัวที่ผมมีสั้นจู๋เห็นโคนขาแล้วยังผ่าไปจนเหลือด้านข้างเพียงนิ้วเศษ ๆ เท่านั้น เข้าใจได้เพราะเราไม่อยากให้มีอะไรมาขัดขวางการวิ่งของเรานั่นเอง แต่เมื่อกางเกงขายาวเช่นนี้ เทคโนโลยีเป็นสิ่งสำคัญ ชุดนี้เป็นชุดที่อยู่ในระดับทอปของอดิดาสในเวลาที่ผมซื้อ ถักด้วยเส้นใย silver เพื่อช่วยในการถ่ายเทความร้อน ไม่รวมถึงระบบแห้งเร็ว moisture wicking และอื่น ๆ อีกมากมายลายตา ยี่สิบปีที่ผ่านมามันมีอะไรเปลี่ยนไปมากจริง ๆ ต่างจากคีเวิร์ด DriFit ของไนกี้ที่ผมคุ้นเคย

ผมสวมเสื้อยืดทับอีกตัวเพื่อไม่ให้ดูแปลกตาจนเกินไปนักสำหรับคนที่จะเดินออกจากบ้านตอนตีสามครึ่ง แล้วนั่งใส่รองเท้าไวแบรมห้านิ้ว (แล้วผมจะมาคุยทีหลัง) ก่อนที่จะคว้าหมวก Ironman ที่ผมได้ติดมือมาจากรายการ Ironman 70.3 ที่ภูเก็ต คว้าอุปกรณ์ทุกอย่างลงถุงแล้วรีบออกไปจับแทกซี่มุ่งไปหน้างานในทันที คนขับแทกซี่มองผมแปลก ๆ แล้วถามว่ามีอะไรกันเหรอพี่ ผมก็เล่าถึงรายการแข่งขันแล้วต่างคนก็ต่างทำหน้าที่ของตัวเองไป ผมหันไปจัดการกับอาหารเช้าที่เตรียมมาทั้งครัวซองค์และกล้วย คนขับเหลือบมองดูผมอีกครั้งราวกับสงสัยถึงสาเหตุที่แท้จริงของการใส่หมวกในเวลาตีสามเศษ ๆ ผมไม่ปล้นพี่หรอก ผมคิดในใจ

แม้ว่าในรายการแข่งขันวันนี้ผมน่าจะวิ่งเข้าเส้นในเวลาประมาณเจ็ดโมงเช้า ที่พระอาทิตย์ยังไม่ตื่นมาทำงานดี ผมก็ตัดสินใจที่จะคว้าหมวกใบนี้เข้าการแข่งขันกับผมด้วย หมวกที่ออกแบบมาสำหรับใส่วิ่งระยะไกลนั้น มีไอเดียที่ช่วยให้การวิ่งนั้นสบายขึ้นเยอะเมื่อเทียบกับหน้าที่หลักในการบังแดดของมัน แน่นอนว่าการใส่หมวกอาจจะทำให้หัวร้อนขึ้นเล็กน้อย แต่การใช้ผ้าทีี่มีใยปรุ และแห้งเร็วนั้นจะลดปัญหานี้ไปได้มาก หมวกสีขาวไม่ดึงดูดแสงมากไปกว่าสีผม หรือสีของหนังศีรษะในกรณีของผม แต่ปัจจัยสำคัญที่ผมนำมันมาด้วยในวันนี้คือ build-in sweat management headband หรือง่าย ๆ มันคล้าย ๆ กับสายรัดศีรษะที่นักเทนนิสเมื่อยี่สิบปีที่แล้วนิยมใช้กัน พอซ่อนมันไว้ในหมวก เทคโนโลยีโบราณนี้ก็เข้ากับยุคสมัยได้โดยง่าย สำหรับคนที่มีไม่ผมและคิ้วบางอย่างผม อุปกรณ์ชิ้นนี้สำคัญมาก ๆ ไม่มึใครอยากจะต้องมีปัญหาแสบตาจากเหงื่อ ในขณะที่ปัญหาหลัก ๆ ควรจะเกิดกับขาเพียงเท่านั้น

ผมมาถึงหน้างาน ฝากของและ warm up เล็กน้อย จัดการเรื่องห้องน้ำ เดินไปจุดปล่อยตัว และยืดเส้นยืดสายรอ เพื่อนผมเดือนเข้ามาทักทาย เราคุยกันเล็กน้อย ก่อนที่สัญญาณปล่อยตัวดังขึ้นผมวิ่งออกไปช้า ๆ ตามคนจำนวนมากที่ค่อย ๆ ขยายตัวออกไปจนเต็มถนน เสียงเพลงจังหวะกระชับช่วยให้ผมค่อย ๆ ทำเวลาไล่ขึ้นมาเรื่อย ๆ จากจุดเริ่มต้นที่แออัด สำหรับคนที่เกิดมาในยุคของ Sony/Aiwa Walkman ผมไม่เคยคิดว่าจะสามารถพกพาเพลงลงแข่งขันวิ่งในระยะทางฮาล์ฟมาราธอนอย่างวันนี้ ในยุคก่อนนิตยสารวิ่งจะเขียนถึงการนับก้าว นับลมหายใจ นับต้นไม้ เรื่อยไปจนถึงท่องพุทโธ เพื่อดึงจิตใจของเราให้อยู่กับกิจกรรมซ้ำ ๆ อย่างนี้เป็นระยะเวลาสองชั่วโมง แต่ไม่ใช่วันนี้ ผมพก iPhone4s อายุไม่กี่เดือนของผมมาผจญภัยกับผมด้วย ต้องขอบคุณ H2O Audio Waterproof Armband ที่แม้ว่าจะใหญ่เทอะทะที่สุดในตลาด แต่กันน้ำ 100% เพียงพอที่จะทำให้ผมยอมมองข้ามความเทอะทะนั้นไป แต่ด้วยวัสดุนีโอปรีนและความเทอะทะของมันเองกลับทำให้การใส่อาร์มแบนด์นี้ มันสบายกว่าที่เห็นมากนัก ดนตรีอยู่กับผมทุกที่ที่ย่างไป


“You are behind your target pace 30 seconds” เสียงเตือนเบา ๆ แทรกผ่านเสียงดนตรี ส่งผ่านหูชั้นนอกของผมเข้าไปเตือนโสตประสาทที่เหลือ ผ่านไปเกือบสามในสี่ของการแข่งขันแล้ว ในหัวของผมสับสนเป็นอย่างมากเมื่อข้อมูลจากโคชที่ผมพกพามาด้วยในการแข่งขันครั้งนี้ ขัดแย้งกับข้อมูลที่ผู้จัดตั้งไว้ตามรายทางการแข่งขัน ใครถูกกันแน่วะเนี่ย ผมสบถ ความสนุกของการกลับมาซ้อมครั้งนี้ ครึ่งหนึ่งต้องยกให้เป็นผลงานของโคชที่ว่านี้เลยทีเดียว แทนที่จะลงทุนในระบบอื่น ๆ อย่างเช่น Garmin ผมเลือกที่จะใช้ Runkeeper ที่ลงใน iPhone4s ของผมเป็นโคชให้ผม น่าทึ่งว่าทุก ๆ ก้าวที่ผมวิ่งในรายการนี้ ถูกส่งอย่างสด ๆ ผ่านระบบ 3G ไปยังเวปไซท์ของรันคีปเปอร์ และครอบครัวผมสามารถมองเห็นผมในสนามแข่งขันทุก ๆ วินาทีถ้าต้องการ ผมไม่ได้ไปเที่ยวไหนแต่กำลังเหงื่อตกอยู่แถว ๆ สะพานพระรามแปด ภรรยาผมอาจจะสบายใจขึ้น ด้วยความช่วยเหลือของโปรแกรมต่อเชื่อม CycleLog ผมได้ข้อมูลที่ทำให้การแข่งขันหรือการซ้อมของผมสนุกขึ้นกว่ายี่สิบปีที่แล้วเป็นอย่างมาก “You are behind your ghost pace 1,450 meters” แม้ว่าผมจะวิ่งตามผีตัวนี้อยู่ตลอดก็ตาม ย้อนกลับไปยี่สิบปีที่ผ่านมา ไม่น่าเชื่อว่า ณ เวลานี้ผมกำลังสื่อสารกับดาวเทียมสามถึงสี่ดวงห่างออกไปกว่าหลายหมื่นกิโลเมตร บอกต่ำแหน่งของตัวเอง บันทึก คำนวณ ส่งข้อมูลผ่านระบบเซล 3G เข้าสู่เมนเฟรมของ รันคีปเปอร์ และ ไซเคิลลอค ที่อยู่อีกซีกโลกหนึ่ง เพื่อประกาศข้อมูลเหล่านี้สด ๆ ลงในเวปไซท์ ให้ใคร ๆ ติดตามการกลับมาของผมในวันนี้ได้

ชุดกีฬาไฮเทค ที่ผมซื้อมาด้วยเงินสูงเกินความจำเป็นไม่ได้ perform ได้ดีอย่างที่คุยโม้ ทั้งเสื้อและกางเกงเปียกโชก แนบติดตัวและขาของผมอย่างน่ารำคาญ ขาสั้นจู๋ยังจะดีเสียกว่า ว่าแล้วว่าทำไมนักวิ่งเคนยาทั้งหมดที่วิ่งสวนไปตั้งแต่ผมเริ่มวิ่งได้ไม่นาน ล้วนแล้วแต่ใส่ขาสั้น ๆ กันทั้งนั้น ผมบ่นก่นด่า อาจจะเป็นเพราะหลาย ๆ อย่าง ณ ตอนนี้มันไม่ได้ดั่งใจเอาเสียเลย ระยะทางจากดาวเทียม GPS ไม่ตรงกับระยะตามป้ายที่ผู้จัดรายการ ความเร็วที่ทำได้ที่คำนวณจากโคชไม่รู้ว่าแม่นยำแค่ไหน ไม่รู้ว่าใครหลอกใคร เครื่องดื่มเกลือแร่ที่ผู้จัดแจ้งว่าจะมีเสริมตั้งแต่ระยะ 16 กิโลเมตรเป็นต้นไป กลับมีเพียงที่ระยะ 16 กิโลเมตรเท่านั้น เสียงเพลงที่กรอกหู ณ ตอนนี้เหมือนตอกย้ำความซับซ้อน สับสน แต่ผมยังคงต้องวิ่งต่อไป ในกีฬาคนอึดความรู้สึกเหล่านี้จะมาหลอกหลอนเราให้หยุด ให้เลิกอยู่เสมอ เป็นการทดสอบของชีวิตที่เราได้รับการฝึกฝนให้เกร่งขึ้น

เสียงของเส้นชัยได้ยินมาไกล แต่แล้วเส้นทางวิ่งก็พาผมห่างออกไปอีกครั้ง ขาของผมหนักขึ้นเรื่อย ๆ ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าเป็นเพราะใจหรือร่างกาย มองดูเวลา ผมคำนวณไม่ถูกแล้วว่าผมจะทำได้หรือไม่กับเป้าหมาย เสียงเพียงดังขึ้นในหูของผมราวกับว่าเข้าใจ Yo Yo Ma บรรเลง unaccompanied cello suite ของ Bach แม้ว่าเป็นบทเพลงที่ผมรัก แต่ ณ เวลานี้มันเหมือนกับ soundtrack ของภาพยนต์ที่ตัวเอกของเรื่องกำลังสิ้นหวัง ในที่สุดกำแพงอันสวยงามก็อยู่ตรงหน้า ผมพยายามเร่งความเร็ว แต่ก็พบว่าหลาย ๆ คนเริ่มแซงผมราวกับผมยืนอยู่กับที่ เวลาสองชั่วโมงได้ผ่านไปแล้ว แม้ว่าตอนนี้เพลงได้เปลี่ยนไปเป็น Black Eyes Peas เร้าใจเต็มที่แล้ว แต่ในใจผมไม่เป็นสุขเท่าที่หลาย ๆ คนที่เส้นชัยคิดเมื่อเห็นผมค่อย ๆ วิ่งเข้าไป เสียงตบมือดังขึ้น ผู้ประกาศเรียกชื่อ “Nattapong Nithi-Uthai from Indonesia” เป้าหมายผมพังทลายไปแล้ว ผมวิ่งเข้าเส้นชัย ด้วยเวลา 2:02 “from Indonesia” ผมคิดในใจ มันเอามาจากไหนเนี่ย

ผมเดินตรงไปจนสุดทาง หาสนามหญ้าที่มุมเลี้ยวที่นักวิ่งที่เหลือทุกคนจะต้องวิ่งผ่าน ผมนั่งลงอย่างหมดแรง ผมถอดรองเท้าออกและมองมันอย่างภาคภูมิใจ ความสับสนจากสถิติที่น่าผิดหวังร่วมกับป้ายบอกระยะทางที่สุดแสนจะมั่วผ่านไปแล้ว ผมกลับวิ่งระยะทางนี้ได้เพราะรองเท้าคู่นี้จริง ๆ ไม่เสียแรงที่พยายามหาซื้อมาด้วยความยากลำบาก ประมาณ 12 ปีที่ผ่านมาเกิดอุบัติเหตุทางหลังกับผม จนกระทั่งในที่สุดกลายเป็นอาการของโรคกระดูกเสื่อม และทำให้ผมต้องหยุดวิ่งไปเมื่อกว่า 5 ปีโดยเด็ดขาด หลังจากผมพยายามหากีฬาใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นเพาะกาย ปีนหน้าผา แต่กีฬาคนอึดแบบนี้ดูจะตอบโจทย์ผมได้มากกว่า หลังจากตัดสินใจว่าจะลองกลับมาวิ่งอีกครั้ง ผมค้นหาข้อมูลในอินเตอร์เนทจนพบว่ามีการศึกษาที่บอกว่าการวิ่งด้วยปลายเท้า จะทำให้มีการกระแทกหลังส่วนล่างน้อยมาก ผมก็ลองทันทีด้วยรองเท้าแตะ เมื่อวิ่งสะสมไปสักหนึ่งร้อยกิโลเมตร ผมจึงตัดสินใจซื้อ Vibram Fivefingers ที่กำลังเป็นผู้นำในเทรนด์วิ่งปลายเท้าอยู่ในขณะนี้

แน่นอนว่าผมใช้ระยะเวลาปรับตัวอีกสักพักในการวิ่งด้วยปลายเท้า กล้ามเนื้อน่องและต้นขามีการใช้งานมากเป็นพิเศษและไม่ค่อยคุ้นเคย แต่เมื่อเพิ่มระยะทางมากขึ้นเรื่อย ๆ กล้ามเนื้อเหล่านี้ก็แข็งแรงขึ้นและไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป กระแสการวิ่งด้วยปลายเท้าก็กำลังมาแรง ต่อไปน่าจะหาข้อมูลการวิ่งในลักษณะนี้ได้เพิ่มเติมอีกมาก จาก ณ เวลานี้ ถ้าจะหาก็ใช้คำว่า pose running หรือ chi running ก็มีอะไรให้อ่านไม่รู้จบแล้ว อีกปัญหาหนึ่งที่ผมเป็นกังวลแต่อาจจะไม่มากเท่าคนอื่น ๆ ที่จะหันมาใช้รองเท้าคู่นี้ คือ การไม่ใส่ถุงเท้าวิ่ง การเลือกรองเท้า fivefingers ให้ถูกขนาดเป็นเรื่องสำคัญมาก ถึงขนาดมีข้อมูลในเวปที่สอนวิธีการวัดอย่างละเอียด ในเวปเน้นให้เลือกไซด์ตามที่วัดได้จริง ๆ ทั้งสองข้าง ผมจำเป็นต้องเลือกไซด์ของผู้หญิงที่มีความฟิตมากกว่าไซด์ผู้ชาย ถ้าใครเท้าไม่เท่ากันเขาแนะนำให้ซื้อสองคู่เสียด้วยซ้ำ เมื่อรองเท้าฟิตพอดีปัญหาก็ไม่เกิด อาการรองเท้ากัดเกิดกับผมในวันแรกที่ได้รองเท้ามาเพียงวันเดียวเท่านั้น หลังจากนั้นก็ไม่เคยมีปัญหาอีกเลย รวมไปถึงในระยะทางฮาล์ฟมาราธอนวันนี้ด้วย

การไม่มี cushion ในรองเท้าอาจจะทำให้หลาย ๆ คนกังขาถึงผลลัพธ์ของการวิ่ง การซ้อม อันนี้ผมยังไม่สามารถบอกอะไรได้ เพราะผมยังอยู่กับมันได้ไม่นาน เสียงของฝรั่งดังขึ้นในหัวผมอีกครั้ง “Good luck in your Vibram. It’s pretty hard on your knee” ผมต้องยอมรับว่าผมไม่ได้รู้สึกถึงความแตกต่าง เมื่อนึกย้อนกลับไปเมื่อยี่สิบปีที่แล้วมากนัก ความรู้สึกเจ็บข้อเท้า และเข่า ซึ่งเกิดทุก ๆ ครั้งภายหลังการแข่งขันในระยะนี้ มันอาจจะมากกว่าการลงส้นเท้าแล้วมี cushion แต่อย่างน้อย รองเท้าคู่นี้ และการวิ่งปลายเท้า ทำให้ผมกลับมาเล่นกีฬาที่ผมรักที่สุดได้อีกครั้ง คือ ไตรกีฬา ผมวิ่งได้แล้ว ผมปั่นจักรยานได้แล้ว ว่ายน้ำไม่เป็นปัญหาแน่นอน ขอบคุณ Vibram Fivefingers ครับ

เพื่อน ๆ ผมมารวมตัวกันแล้ว เราชักภาพร่วมกันสองสามภาพก่อนแยกย้ายกันกลับบ้าน ผมค่อย ๆ เดือนโขยกเขยกไปขึ้นแทกซี่ ในใจตั้งคำถาม “Hard on my knee” ผมรู้สึกอย่างนั้น แต่ผมก็ยังดีใจมากกว่าผมไม่สามารถวิ่งได้อีกเลย

Run for a reason : The Race


12 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา ตีสาม ผมค่อย ๆ คืบคลานไปปิดนาฬิกาปลุก ก่อนที่จะพาร่างไร้วิญญาณไปแปรงฟัน อาบน้ำ แต่งตัว วันนี้ผมมีรายการวิ่ง กรุงเทพมาราธอน 2554 ที่ต้องเลื่อนมาจากปลายปีที่แล้วเนื่องจากเหตุการณ์มหาอุทกภัย นี่จะเป็นรายการวิ่งแข่งขันครั้งแรกของผมในรอบเกือบยี่สิบปี ครั้งสุดท้ายผมลงรายการนี้ในระยะฮาล์ฟมาราธอน 21.1 กม. ด้วยเวลา 1:47 เป็นเวลาที่ดีที่สุดในชีวิตของผม อายุเพิ่มขึ้นอีกยี่สิบปี เป้าหมายของผมในปีนี้คือ ต่ำกว่าสองชั่วโมงในระยะทางเดียวกัน แต่ก็แอบหวังลืก ๆ ที่จะเข้าใกล้สถิติอันนี้ของผม แม้ว่ามีหลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนไปนอกเหนือจากอายุ หลายสิ่งหลายอย่างที่ผมจะมีโอกาสใช้ โอกาสที่จะทำ เป็นครั้งแรก ผมก็ยังคิดว่าทุกอย่างน่าจะไปได้ด้วยดีในวันนี้ ผมรีบแต่งตัวแล้วคว้ากล้วยหอมสี่ลูกที่เตรียมไว้ตั้งแต่เมื่อวาน แล้วรีบโจนออกไปเรียกแทกซี่ นาฬิกาบอกเวลาตีสามครึ่ง หลังจากบอกเป้าหมายกับคนขับแทกซี่แล้วก็ได้โอกาสปอกกล้วยเข้าปาก พลางคิด เราทำอย่างนี้ไปเพื่ออะไร

The Race :

กรุงเทพมาราธอน 2011 สำหรับปีนี้เป็นการจัดครั้งที่ 24 แล้ว จุดเริ่มต้นและสิ้นสุดอยู่บริเวณริมรั้วพระบรมมหาราชวังฝั่งกระทรวงกลาโหม ซึ่งให้ฉากของการวิ่งเข้าเส้นชัยยิ่งใหญ่ตระการตา สมกับเป็นรายการมาราธอนที่ยิ่งใหญ่งานหนึ่งของประเทศ ที่มีการจัดมาเป็นระยะเวลายาวนาน เมื่อนึกย้อนกลับไปเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว กรุงเทพมาราธอน ครั้งที่ สอง สาม สี่ อยู่ในสภาพที่มีความเสี่ยงจะยกเลิกทุกปี แต่นี่ยี่สิบสี่ปีผ่านไป ช่างเป็นเรื่องที่น่ายินดี ไม่เหมือนกับ Jazz Festival ที่ต้องเปลี่ยนชื่อ ล้มหายตายจากไปด้วยระยะเวลาไม่เกินสองปี ผมมาถึงบริเวณปล่อยตัวประมาณตีสี่ เพื่อมาพบกับกระบวนการจัดการที่ดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับยี่สิบปีที่แล้ว ผมตรงเข้าไปฝากกระเป๋า ก่อนที่จะออกวิ่งเหยาะ ๆ ประมาณยี่สิบนาที เพื่อเป็นการวอร์มร่างกาย เรียบร้อยแล้วก็เดินหาห้องน้ำเพื่อทำธุระที่จำเป็น ก่อนที่จะได้ตระหนักว่า ป้ายบอกทาง ใช้ไม่ได้เอาเสียเลย แม้ว่าผมจะดูแผนที่คร่าว ๆ มาแล้วว่าตำแหน่งของห้องน้ำอยู่ที่ใด แต่เมื่ออยู่หน้างานมันไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด สุขาอยู่หนใด ผมพยายามมองหาป้ายแต่ไม่พบจึงได้ตัดสินใจเดินตามคนส่วนใหญ่เข้าไปในสวนสราญรม ผมคาดไว้ไม่ผิดคนส่วนใหญ่เหล่านั้นเดินไปเข้าห้องน้ำ แต่นี่ไม่ใช่ห้องน้ำที่ทางผู้จัดเตรียมไว้ แต่หากเป็นห้องน้ำเล็ก ๆ ภายในสวน พร้อมกับแถวยาว ๆ ผมเข้าคิวเพื่อรับฟังฝรั่งด้านหน้าก่นด่าผู้จัดอย่างเมามันส์ อยากจะบอกเขาว่านี่ไม่ใช่ห้องน้ำที่เขาจัดไว้นะ แต่ก็บอกไม่ถูกว่าที่เขาจัดไว้ให้มันอยู่ที่ไหน ก็เลยต้องเงียบไว้ก่อน

หลังจากห้องน้ำผมก็มุ่งหน้าไปที่จุดปล่อยตัว เหลือเวลาอีก 15 นาที ผมยืดเส้นยืดสายรอเวลา ไม่นานนักเพื่อนที่เป็นคนชักชวนให้ผมกลับมาวิ่งอีกครั้ง ก็แวะเข้ามาทักทาย ผมนึกในใจคนตั้งพันสองร้อยคน มันเห็นผมได้ไงง่ะ ผมลดความตื่นเต้นของตัวเองด้วยการถามเพื่อนของผมถึงเส้นทาง และระยะทางที่จะผ่านสะพานทั้งสองสะพานในการแข่งขัน การวิ่งขึ้นสะพานตอนเหนื่อย ๆ มันไม่ค่อยน่าสนุกนักในความคิดของผม เพื่อนผมหันมาตอบว่าสะพานแรกก็สะพานปิ่นเกล้าที่อยู่ตรงหน้าเรานี่เอง ผมถามถึงสะพานพระรามแปด แต่เพื่อนของผมได้แต่ยิ้ม

สัญญาณปล่อยตัวดังขึ้นผมวิ่งออกไปช้า ๆ ตามคนจำนวนมากที่ค่อย ๆ ขยายตัวออกไปจนเต็มถนน สะพานแรกอยู่ใกล้จริง ๆ ผมพยายามควบคุมความเร็วไม่ให้สูงเกินไปนัก ผมไม่ได้ซ้อมมากเท่าไร ระยะสูงที่สุดที่ผมซ้อมมาสำหรับการแข่งขันนี้คือ 14 กม. ในวันนี้ผมต้องวิ่งต่อไปอีก 7.1 กม. ผมยังไม่อยากเจอกับอาการชนกำแพงเป็นครั้งแรกของชีวิตในวันนี้ การวิ่งในวันนี้มันช่างต่างไปจากยี่สิบปีก่อนเสียจริง ๆ ผมไม่ได้เห็นตัวเมืองอย่างที่เป็นเมืองเอาเสียเลย หลังจากที่ขึ้นสะพานแรกมาแล้ว ผมยังไม่มีความรู้สึกว่าได้ลงสะพานอีกเลย ผมนึกในใจว่านี่กรุงเทพฯ เรามีรถเยอะขนาดต้องทำถนนวิ่งกันสองชั้นกันเลยหรือ ไม่ทันไร ก็ถึงจุดกลับตัว ที่ผมท่องมาว่าอยู่หน้าเซ็นทรัล เพื่อช่วยในการควบคุมเวลา อย่างไม่ทันได้ตั้งตัว เราวิ่งอยู่บนชั้นที่สองโดยตลอด ผมเริ่มกังวลถึงความเร็ว ผมเร็วเกินไปหรือเปล่านะ เมื่อดูป้ายบอกระยะเทียบกับเวลากลับพบว่านี่ผมวิ่งช้าอยู่เหรอเนี่ย ผมเร่งความเร็วขึ้นอีกนิด ไม่ทันจะได้ตั้งตัวป้ายบอกระยะทาง 10 กม. ก็อยู่ตรงหน้าผม ดูเวลาด้วยความตกใจ 50 นาที ผมวิ่งเร็วเกินไป ในใจคิด ไม่ค่อยเหนื่อยเลยนี่หว่า ถ้าอย่างนี้ 1:47 น่าจะมีความหวังนะเนี่ย

ความหวังผมค่อย ๆ สลายลงเมื่อผมวิ่งผ่านกิโลเมตรที่ 14 เข้าสู่เขตของความไม่รู้ ผมไม่เคยวิ่งเกินระยะนี้มาเป็นระยะเวลายี่สิบปี ต่อจากนี้จะเกิดอะไรขึ้นกับผมบ้าง ผมเกิดความรู้สึกอึดอัดขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อป้ายบอกระยะทางที่ 16 กม. ยังไม่มาถึงเสียที นี่มันนานเกิดไปแล้วนะผมคิด ทันใดนั้นผมก็เห็นจุดให้น้ำอยู่ตรงหน้า ผมตัดสินใจไม่แวะเข้าเพราะรู้สึกว่าผมทำเวลาไม่ค่อยดีในช่วงที่ผ่านมา ในใจพาลฉุกคิดนิด ๆ ทำไมไม่มีป้ายบอกระยะทางนะที่จุดเมื่อกี้ ผมค่อย ๆ เร่งฝีเท้าขึ้นเล็กน้อย จุดให้น้ำจุดต่อไปอยู่ด้านหน้า 18 กม. แล้วเหลือเพียงสามกิโลสุดท้าย เวลาแบบนี้น่าจะทำลายสถิติส่วนตัวเป็นแน่ ทันใดนั้นฝันผมก็สลายลงไปในทันทีเมื่อป้ายที่เห็นกลับเขียนว่า 16 กม. เห้ย อะไรฟะ ผมรีบคำนวณเวลาในใจอย่างรวดเร็ว โอ้ย 1:47 ไปซะแล้ว เวลาขณะนี้ 1:26 ต่ำกว่าสองชั่วโมงน่าจะยังเอาอยู่ ในใจคิดแต่ขาผมหนักขึ้นเรื่อย ๆ เร่งไม่ออกเลย กิโลเมตรที่ 18 เหมือนกับว่าจะไม่มีวันมาถึง ป้ายกิโลเมตรที่ 20 วางอยู่คู่กับ ป้ายกิโลเมตรที่ 40 ของมาราธอน เห้ย มันเหลืออีก 1 หรือ 2 กิโลกันแน่วะเนีี่ย

เสียงของเส้นชัยได้ยินมาไกล แต่แล้วเส้นทางวิ่งก็พาผมห่างออกไปอีกครั้ง ขาของผมหนักขึ้นเรื่อย ๆ ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าเป็นเพราะใจหรือร่างกาย มองดูเวลา ผมคำนวณไม่ถูกแล้วว่าผมจะทำได้หรือไม่กับเป้าหมาย ในที่สุดกำแพงอันสวยงามก็อยู่ตรงหน้า ผมพยายามเร่งความเร็ว แต่ก็พบว่าหลาย ๆ คนเริ่มแซงผมราวกับผมยืนอยู่กับที่ เวลาสองชั่วโมงได้ผ่านไปแล้ว เป้าหมายผมพังทลายไปแล้ว ผมวิ่งเข้าเส้นชัย ด้วยเวลา 2:02

ผมค่อย ๆ เดินไปหาน้ำ ผลไม้ ในใจก่นด่าอยู่ตลอดเวลา จุดให้น้ำที่เส้นชัยมีน้อยนิด จนต้องต่อแถวรับน้ำกัน สปอนเซอร์น้ำเกลือแร่แกเตอเรต มีเพียงหนึ่งบูธที่แถวยาวเหมือนซื้อ Krispy Creme เต้นท์ผลไม้ซ่อนอยู่ในหลืบ แยกกันกับเต้นสปอนเซอร์แมคโดนัลที่ต้องเดินต่อไปอีกเกือบร้อยเมตร เป็นการทรมานคนที่เพิ่งวิ่งมา 21 กม. เป็นอย่างยิ่ง ไม่ต้องคิดถึงกลุ่มที่วิ่งมาแล้ว 42.195 กม. ผมมุ่งหน้าไปรับกระเป๋า น้ำเพียงหนึ่งแก้วที่รับมาได้จากการต่อแถวยาว ๆ หมดไปนานแล้ว ผมเดินตรงไปจนสุดทาง หาสนามหญ้าที่มุมเลี้ยวที่นักวิ่งที่เหลือทุกคนจะต้องวิ่งผ่าน ผมนั่งลงอย่างหมดแรง ตามองที่ผลไม้แจก พร้อมกับเบอร์เกอร์ ในใจได้แต่คิดว่าแล้วเราจะกระเดือกมันลงไปได้อย่างไร ในเมื่อไม่มีน้ำให้กิน ผมคว้าแอปเปิ้ลในถุง กัดทันทีเพื่อประทังความกระหาย effect ของบริการนวดแถมขายประกัน รวมไปถึงสปอนเซอร์น้ำมันมวย ค่อย ๆ หายไป ความปวดเมื่อยกลับคืนมา ผมได้แต่นั่งรอเวลาให้เพื่อน ๆ ที่ชวน ๆ กันมาวิ่งระยะทางต่าง ๆ กันมารวมตัวกันเพื่อชักภาพประวัติศาสตร์วันนี้ไว้ ก่อนจะแยกย้ายกันกลับบ้านไปพักผ่อน

 

Living with Steve #1 : Data Security.

ผมก็เหมือนกับใครหลาย ๆ คนที่ก้าวเข้าสู่โลกของแอปเปิ้ลด้วยอุปกรณ์ขนาดพกพา โดยประมาณกึ่งหนึ่งเข้าผ่านทาง iPod อีกประมาณกึ่งหนึ่งเข้าผ่านทาง iPhone และอีกเสี้ยวหนึ่งเข้าผ่านทาง MacBook หลาย ๆ คนเมื่อข้ามเข้าสู่โลกของแอปเปิ้ลแล้ว มากกว่า 80% ใช้ชีวิตที่เหลือในโลกกับอุปกรณ์ประเภทนั้น ๆ ของแอปเปิ้ล ประเมินว่ามากกว่า 50% ถลำลึกเข้าไปในโลกอื่น ๆ ของแอปเปิ้ลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อไม่นานมานี้ผมก็มีโอกาสได้อ่านบทความสั้น ๆ ที่พยายามจัดอันดับมือถือในปัจจุบันซึ่ง บางลิสไม่มี iPhone รุ่นใด ๆ อยู่ในลิสเลย หรือ เมื่อมือถือค่ายอื่นอยู่ในอันดับที่สูงกว่า iPhone 4s ที่เพิ่งเปิดตัวไปได้ไม่นานนัก ทำให้เกิดกระบวนการ link share ment กันอย่างสะใจจากสาวกค่ายอื่น ๆ ที่รอโอกาสนี้มานานแสนนาน ทำให้ผมคิดว่าเขาเหล่านั้น หรือแม้กระทั่งอีก 50% ที่เหลือของผู้ใช้แอปเปิ้ลที่ยังไม่มีโอกาสก้าวถลำสู่โลกของแอปเปิ้ลอย่างเต็มตัวจะเข้าใจสิ่งที่ Steve Jobs ได้ออกแบบไว้หรือไม่

แน่นอนว่าผลิตภัณฑ์ของแอปเปิ้ลเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีรายละเอียดสูงเริ่มตั้งแต่การออกแบบ ฟังก์ชั่นการใช้งาน ไปจนถึงบรรจุภัณฑ์ เรื่อยไปจนถึงประสบการณ์การแกะกล่อง ที่มีน้อยนักที่เราจะได้รับความใส่ใจของผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ในรายละเอียดระดับลึกซึ้งอย่างเช่นที่ Steve Jobs ทุ่มเทให้กับลูกค้าของเขา การนำเพียง ฟังก์ชั่นการใช้งานเพียงอย่างเดียวเพื่อมาใช้ในการจัดอันดับนั้นย่อมขาดรายละเอียดอีกหลายภาคส่วน และเป็นที่น่าเสียดายที่เราจะทิ้งภาคส่วนต่าง ๆ เหล่านั้นไป เพราะนั่นเป็นเพียงน้ำจิ้ม main course ที่ Steve ได้ออกแบบไว้มันมากไปกว่านั้นอีกมากมายนัก โปรดติดตาม

แม้ว่าผลิตภัณฑ์ของแอปเปิ้ลจะสามารถทำงานได้เองโดยเกือบจะไม่ต้องพึ่งพาอุปกรณ์อื่น ๆ ล่าสุดด้วย iOS5 แอปเปิ้ลก็ประกาศ PC Free อย่างไรก็ตามโปรดักส์ไลน์ทั้งหมดถูกออกแบบให้ใช้งานร่วมกันเป็นระบบนิเวศน์ทางอิเลคโทรนิคที่ถูกวางตำแหน่งเพื่อเสริมกันอย่างที่ไม่มีผู้ผลิตรายใด ๆ มองเห็น หรือมีศักยภาพเพียงพอที่จะทำได้ ผลิตภัณฑ์ของแอปเปิ้ลของแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มตามลักษณะการใช้งาน ได้แก่ Mac, iPod, iPad, iPhone และ AppleTV ซึ่งในปัจจุบันขนาดของแต่ละกลุ่มไม่สมดุลย์กันเท่าไรนัก ทั้งในแง่ของความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ ปริมาณการขาย ความสามารถในการทำกำไร และความใส่ใจของแอปเปิ้ลเองต่อกลุ่มนั้น ๆ นอกจากนี้กลุ่มของผลิตภัณฑ์ที่ไม่สามารถซื้อขายได้ แต่เสริมสร้างประสบการณ์การใช้งานของระบบนิเวศน์ ได้แก่ Apple Store, iTunes Store, App store ไปจนถึง iBook Store ซึ่งที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดได้เป็นตัวกำหนดมาตรฐานที่สำคัญของตลาด ที่ในปัจจุบันยังไม่มีใครสามารถสร้างสิ่งใด ๆ เข้ามาเทียบเคียงได้เลย สุดท้ายก็เป็นส่วนของ Software หลากหลายตัวที่แอปเปิ้ลพัฒนาขึ้นมาเพื่อแสดงดึงศักยภาพของระบบนิเวศน์ที่ว่านี้ออกมาใช้งานอย่างสูงที่สุด เริ่มจากระบบปฏิบัติการไปจนถึง iWork

ในความเป็นจริง ผลิตภัณฑ์แอปเปิ้ล ถูกออกแบบให้ทำงานร่วมกัน โดยมี Home based Mac ทำหน้าที่เป็น digital hub ทำหน้าที่เป็นหัวใจของระบบนิเวศน์ ซึ่งมีให้เลือกสามขนาดตามลักษณะการใช้งานของผู้ใช้ตั้งแต่ MacPro, iMac, Mac Mini  หัวใจดวงนี้มีหน้าที่ดูแลระบบข้อมูลทั้งหมดที่ไหลเวียนอยู่บนเครื่องมือแอปเปิ้ลที่คุณมี ทำหน้าที่ back up เป็นศูนย์กลางในการ syncronize ข้อมูลทั้งหมดตั้งแต่ address, calendar ไปจนถึง movie และ music ในอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่คุณมีอยู่ทั้งหมดให้เป็นข้อมูลชุดเดียวกัน หรือเป็นไปอย่างที่คุณต้องการ

ระบบความปลอดภัยของข้อมูลที่ว่านี้ จะถูกดูแลอีกชั้นหนึ่งผ่านโปรแกรมที่มาพร้อมกับ OSX Lion ที่เรียกว่า Time Machine เมื่อใช้ร่วมกับ feature ใหม่ที่เรียกว่า Versions ในโปรแกรมหลาย ๆ ตัวของแอปเปิ้ล ที่เก็บทุกการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับไฟล์ของคุณ ในทุกรูปแบบเหมือนมีผ้าคลุมกาลเวลาของโดเรมอน การ save เป็นเรื่องที่เชยมากในโลกของแอปเปิ้ล คุณสามารถจะปิดเครื่อง ปิดโปรแกรม ดึงปลั๊ก ฟ้าผ่า ไฟดับ กลับมาก็จะพบกับสิ่งที่คุณทิ้งไว้อยู่เสมอ การสูญเสียข้อมูลของคุณแทบจะกลายเป็นเรื่องอดีตไปในทันที แน่นอนว่าเพื่อให้ integration ของระบบนิเวศน์นี้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด Time Capsule ได้ถูกวางตัวมาให้ทำหน้าที่นี้ Wireless Network Attatched Storage & Router ถ้าจะต้องอธิบายหน้าที่ของเจ้า Time Capsule มันก็คงจะมีชื่อยาว ๆ ทำนองนั้น ร่วมกับ Time Machine เจ้า Time Capsule จะทำให้คำว่า Backup เป็นสิ่งที่ล้าสมัยไปในทันที เนื่องจากข้อมูลทั้งหมดใน digital hub ของคุณจะถูกเก็บเอาไว้อย่างเป็นระบบทุกชั่วโมงใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ทุกวันในสัปดาห์ที่ผ่านมา ทุกสัปดาห์ในหนึ่งเดือนท่ี่ผ่านมา ทั้งหมดทั้งสิ้นเป็นไปโดยอัตโนมัติ

Time capsule ทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้กับ Mac Mobile ของคุณด้วยแบบ seamless ไร้สาย ไม่ว่าคุณจะเป็น power mobile หรือ ligther mobile ด้วย Macbook Pro หรือ Macbook Air แม้กระทั่ง Vintage ไปกับ Original Macbook โปรแกรม Time machine ใน Mac Mobile ของคุณก็จะสามารถคุยไร้สายกับ Time Capsule เพื่อเก็บรักษาข้อมูลในลักษณะเดียวกันกับ digital hub  ของคุณทันทีที่ Mac Mobile ของคุณเข้าไปอยู่ในวง wifi เดียวกันกับ Time capsule

ส่วนอุปกรณ์กลุ่มอื่น ๆ ที่เหลือที่อยู่บนระบบปฏิบัติการ iOS การเปลี่ยนแปลงไปสู่ iOS5 เมื่อไม่นานที่ผ่านมานี้ ก็ทำให้กระบวนการที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นเป็นไปอย่าง seamless ไร้สายตามที่ควรจะเป็น มันน่าคิดจริง ๆ ว่าถ้าไม่ใช่เพราะ Steve Jobs จะมีใครดื้อรั้นพอที่จะให้เกิดระบบนิเวศน์ของการดูแลข้อมูลที่ไร้รอยต่อเช่นนี้ ถ้าคุณเลือกที่จะ Backup อุปกรณ์ iOS ของคุณผ่าน Mac แทนที่จะเป็น iCloud (ที่เราจะค่อยคุยกันต่อไป) และเลือกที่จะให้มีการ sync wirelessly กับ iTunes บน digital hub ของคุณ หรือที่เรียกว่า Wifi Sync เท่านี้ คำว่า Data Security ก็กลายเป็นเรื่องตลกที่คุยกันในอดีตเท่านั้น

อย่างไรก็ตามทิศทางในอนาคตที่แอปเปิ้ลจะย้าย digital hub นี้ไปอยู่บน iCould ก็เริ่มชัดเจนขึ้น แต่ ณ เวลานี้ยังค่อนข้างจะไกลจากความเป็นจริง เนื่องจากความไม่โปร่งใสเองของ iCould ขนาดที่จำกัดทำให้สามารถเก็บได้เพียงรูปหนึ่งพันรูป ข้อมูลจำพวก address, calendar ก็เท่านั้น พื้นที่ 5Gb ฟรีนั้นแทบจะไม่สามารถใช้งานอื่น ๆ ได้จริง ยกเว้นการเก็บข้อมูล docement ที่สามารถทำให้การทำงาน across platform ของคุณเป็นไปได้อย่างง่ายดาย ก็ยังไม่ค่อยจะเข้าท่าเท่าไรนักเพราะ document เหล่านั้นถูกจำกัดอยู่เพียง document ในระบบ iWork ของแอปเปิ้ลเพียงอย่างเดียว เรื่องระบบ Cloud นั้นแอปเปิ้ลมาทีหลัง ทำให้ระบบเมล์ ระบบ address, calendar เจ้าใหญ่รายอื่น ๆ ที่มาก่อนอย่าง Google ทำได้ดีกว่า ในขณะเดียวกันการแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่าน Cloud นั้น ผู้เล่นอย่าง Dropbox ก็ทำได้ดีกว่า หลายเท่าเลยทีเดียว ในปัจจุบันการใช้  Homebased Mac เป็น digital hub ยังเป็นสิ่งจำเป็นในการสร้างระบบนิเวศน์พิเศษนี้

ผมเห็นว่าด้วยระบบนิเวศน์ที่ว่านี้เพียงอย่างเดียว ก็ทำให้ไม่ว่าจะ ranking อย่างไร ติดหรือไม่ติดลิสใด ๆ อุปกรณ์จากค่ายไหน ๆ ก็ไม่เข้าใกล้สิ่งที่ผมได้เล่ามาให้ฟังนี้ได้เลยแม้แต่น้อย แต่ค่าใช้จ่ายในการสร้างระบบนิเวศน์ที่ว่านี้ เป็นข้อจำกัดที่สำคัญที่จะทำให้มีน้อยคนนักที่จะมีโอกาสได้สัมผัส หรือถ้าคุณสามารถรอจน iCloud สามารถใช้งานได้จริง ๆ ค่าใช้จ่ายนี้ก็จะลดลงอย่างน้อยครึ่งแสนกันเลยทีเดียว และวันนั้นหลาย ๆ คนจะเข้าใจว่าผมกำลังพูดถึงอะไร

Walking the path!

หกโมงเช้าผมงัวเงียขึ้นมาเพื่อกดปุ่ม snooze บน iPhone 4s เพื่อจะขอต่อเวลานอนอีกสักห้านาที แต่แล้วก็ต้องเปลี่ยนใจเมื่อเห็นเจ้าตัวเล็กลูก ๆ ของผมเริ่มขยับตัว ผมจึงเปลื่ยนใจกดปุ่ม Awake! เสียงต้อนรับเบา ๆ จากมือถือ “Good morning, you have logged 5 hours and 47 minutes for the night” ผมก้าวขึ้นชั่งน้ำหนักเพื่อเก็บน้ำหนักตัวที่แม่นยำที่สุดของวัน เมื่อกระเพาะอาหารได้ทำหน้าที่ของมันอย่างหนักมาตลอดทั้งคืน 57.8 Kg Fat 13% แล้วรี่ไปล้างหน้าล้างตา ระหว่างที่ผมแปรงฟันอยู่นั้น ข้อมูลการนอน และน้ำหนักตัวพร้อมปริมาณไขมัน กำลังไหลผ่าน Wifi และคืบคลานเข้าสู่อินเตอร์เนท ไหลเข้าไปเก็บอยู่ในเซิร์ฟเวอร์เครื่องใดเครื่องหนึ่งที่อาจจะอยู่ห่างจากห้องนอนของผมกว่า 10,000 กิโลเมตร

ผมค่อย ๆ บรรจงแต่งชุดวิ่งที่เพิ่งได้ลองใช้มาไม่นานนักของอดิดาส ที่มีส่วนผสมของเส้นใย silver เพื่อช่วยในการถ่ายเทความร้อนออกจากร่างกาย ผมว่าเป็นไปไม่ได้หรอก ผมซื้อมันมาเพียงเพราะสีส้มสะท้อนแสง น่าจะทำให้รถราต่าง ๆ เห็นผมได้หลาย ๆ กิโลล่วงหน้า วันนี้ตามตารางซ้อมของผมคือวิ่งสบาย ๆ เป็นเวลา 1 ชั่วโมง ซึ่งน่าจะกินระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร หลังจากใส่รองเท้า Fivefingers Bikila เทรนด์ล่าสุดจากออสเตรเลีย ที่ผมต้องแสวงหามาอย่างยากลำบาก เพียงเพื่อจะมีโอกาสกลับมาวิ่งอีกครั้งหลังจากถูกโรคกระดูกสันหลังเสื่อมเล่นงานจนต้องเลิกวิ่งไปนานกว่า 5 ปี เรียบร้อยแล้วผมก็คว้าปลอกแขนขนาดเทอะทะแล้วยัด iPhone 4s เข้าไปอย่างทุลักทุเล เหลือบดูนาฬิกาบอกเวลา 6:30 น. ผมคิดในใจ “หนึ่งชั่วโมงโดยไม่ได้กินน้ำเลย จะทำเวลาได้เท่าไรกัน”

ผมหันไปเปิด Runkeeper และบอกกับโค้ชของผมว่าช่วยดู pace ให้ผมด้วยนะ เป้าหมาย 5:30 นาทีต่อกิโลเมตร ก่อนที่จะกด start และออกวิ่งไปตามถนนสายเอเซียในทันที คร่ำคิดถึงเสียงเพลงที่กำลังกรอกหูระหว่างวิ่ง ใจหนึ่งก็ยินดีกับเสียงเพลงที่บดบังเสียงรถยนต์ที่วิ่งไปมา อีกใจก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่าจังหวะเพลงของ Oscar Peterson มันช้ากว่า pace เป้าหมายของผมมากเกินไปรึเปล่า ในขณะเดียวกันที่หน้า Wall บน Facebook ของผม ก็มี notification ให้เพื่อน ๆ ทางกายภาพที่กระจายกันอยู่ทั่วโลก ได้รู้ว่าเช้านี้ผมได้ออกกำลังกายอีกวัน การประกาศได้หลาย ๆ คนรับรู้กิจกรรมที่รบกวนเวลานอนของผมนั้น เป็นกลไกสำคัญอย่างหนึ่งที่คอยผลักดันให้ผมตื่นขึ้นมาได้ในวันต่อ ๆ ไป

ผมวิ่งผ่าน Big C สาขาที่ขายดีที่สุดในประเทศ ก่อนจะไปกลับตัวที่หน้าบ้านที่กำลังจะเป็นบ้านที่ใหญ่ที่สุดหลังหนึ่งในปัตตานีด้วยพื้นที่ใช้สอยกว่า 2,000 ตารางเมตร โค้ชก็ส่งเสียงเตือนผมมาแบบเรียบ ๆ “You are behind your target pace 45 seconds” อืม Oscar Peterson ทำให้เราวิ่งช้าจริง ๆ เวลาผ่านไปเพียง 15 นาที เรายังทำความเร็วเพิ่มได้อีก ผมหาข้ออ้างในใจ เกือบ 7 โมงเช้าแล้ว ลูก ๆ ของผมคงตื่นแล้ว จะมีใครแวะเข้ามาดูว่าผมอยู่ที่ไหนรึเปล่าเนี่ย Runkeeper คุยกับระบบดาวเทียม GPS ระบุพิกัดของผม และส่งตำแหน่งปัจจุบันแบบสด ๆ ไปในหน้าเวปของผม ที่ลูก ๆ สามารถเข้ามาดูได้ตลอดเวลา พร้อมทั้งใช้ข้อมูลในการคำนวณระยะทาง ความเร็ว และ pace ส่งให้โค้ชคอยเตือนผมเหมือนเมื่อเสี้่ยววินาทีที่ผ่านมา

เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็วผมวิ่งข้ามทางม้าลายสุดท้าย จากนี้เป็นทางตรงเข้าสู่โรงแรมซีเอสปัตตานี บ้านผมอยู่ที่นั่น “50 minutes distance 8.87 kilometers average pace 5:48 minutes. You are behind your target pace 18 seconds” ไอ๊หยา จะไปทันได้ไงเนี่ย ผมคิดในใจ เสียงเพลงเปลี่ยนไปเป็น Black Eyes Peas จังหวะกระชับ แต่ขาผมไม่อยากทำตามคำสั่งผมอีกต่อไป หิวน้ำมาก ๆ ร่างกายผมบอกอย่างนั้น ผมค่อย ๆ เลี้ยวเข้าสู่บริเวณหมู่บ้านออมทอง 55 minutes เสียงสวรรค์จาก iPhone 4s ผมตัดสินใจเดินเพื่อ warm down และไม่ได้ยินอะไรต่อ ๆ ไปที่โค้ชพยายามบอกผมต่อจากนั้น ในที่สุด “1 hour” เสียงแว่ว ที่ผมรอคอย ผมรีบถอดปลอกแขน และเอื้อมไปกดปุ่ม Stop ที่หน้า app Runkeeper พยายามไม่ฟังสรุปผลที่พยายามเตือนผมว่า 6:02 นาทีต่อกิโลเมตรนะที่ผมทำได้ ในขณะเดียวกัน ผมก็พิมพ์ข้อมูลเพื่อบันทึกการออกกำลังกายวันนี้ “1:47 half marathon. I’m after you.” เป้าหมายที่แท้จริงของผม 5:30 เป็นระยะทาง 21 กิโลเมตร
ผมขยับขาเล็ก ๆ น้อย ๆ ก่อนที่จะเปลี่ยนไปใช้ app Fleetlyทันทีที่เปิดขึ้นมาก็ได้ชื่นใจ “วันนี้คุณได้ 38 คะแนน ตอนนี้คุณแซง Amber C. ในตารางคะแนนรวมแล้ว” ถ้าหากว่าผมจะแปลเป็นภาษาไทย นั่นหมายความว่าข้อมูลจาก Runkeeper ส่งเข้าไปถึง Fleetly เรียบร้อยแล้ว ผมเลือก Stretching Exercise แล้วทำตามรายการที่มีมาให้ เมื่อเสร็จสิ้น Fleetly ให้คะแนนผมเพิ่มอีกหนึ่งคะแนน ด้วยความพึงพอใจ ผมหยิบ iPhone 4s เข้าบ้าน แล้วมุ่งหน้าไปอาบน้ำ

เมื่อแต่งตัวเสร็จเรียบร้อย ก็ลงมาหน้าโต๊ะทำงาน เพื่อที่จะเห็น 6 updates ที่ไอคอน Facebook ของผม เพื่อน ๆ ผมเริ่มตื่นกันบ้างแล้ว ผมเข้าไปทักทาย เล็กน้อย ก่อนที่จะเปลี่ยนเข้าไปดูหน้าเวปของ Runkeeper เพื่อตรวจสอบผลรวมของการออกกำลังกายทั้งสัปดาห์ของผม อืม เมื่อเช้านี้เป็นระยะทางที่ยาวที่สุดในสัปดาห์ นานที่สุดในสัปดาห์ ไม่เลวเลยทีเดียว แม้ว่าจะช้าไปหน่อย ผมแอบเหลือบไปเห็นเพื่อนของผม log การออกกำลังกายก่อนหน้าผมไปแล้ว เมื่อคืนที่ผ่านมา 18 events ในเดือนนี้ นำหน้าผมอยู่ 2 events ผมคิดในใจเดือนนี้คงตามไม่ทัน แต่ก็แอบดีใจว่ามีเป้าหมายให้พุ่งชนมันดีกว่าเป็นผู้นำอยู่คนเดียว

2 ชั่วโมงแรกของผมในวันนี้ ผ่านไปอย่างรวดเร็ว เมื่อมองย้อนกลับไป ทำให้ผมนึกถึงประโยคหนึ่งในเรื่อง Matrix ภาพยนต์เรื่องโปรดของผมเรื่องหนึ่ง มอเฟียส ได้พูดไว้ว่า “It’s different between knowing the path and walking the path.” นี่เรากำลังจะเห็นการเกิดขึ้นของ The Matrix อยู่หรือไม่ ผมกำลัง walking the path แล้ว plugging in and out กับเจ้า Matrix อยู่หรือเปล่า ว่าแล้วผมก็เอื้อมมือไปหยิบ iPhone 4s ปล่อยให้ notification ของ Facebook ที่เพื่อนผมบางคนคงเริ่มตอบกลับมาค้างไว้อยู่อย่างนั้น ขณะที่ในใจก็พลางคิดว่า เอาไว้ค่อยไปตอบตอนกินข้าวเข้าก็แล้วกัน