กระดูกข้อเข่าเสื่อม : แล้วไง?

เมื่อไม่นานมานี้ผมมีอาการบาดเจ็บบริเวณเข่า เกิดขึ้นในระหว่างผมแข่งขันวิ่งระยะฮาร์ฟมาราธอนในรายการสงขลามาราธอน ซึ่งผมได้บันทึกไว้ในบทความก่อนหน้านี้แล้ว เวลาผ่านไปประมาณสองเดือนเศษ ๆ อาการของผมก็ยังไม่หายดี และเริ่มแสดงอาการเจ็บเมื่อวิ่งไปได้ระยะทางหนึ่ง ในเบื้องต้นผมสงสัย ITBS หรือ  Iliotibial “band” friction syndrome โรคคลาสสิคสำหรับนักวิ่ง และเคยเกิดกับผมมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่หลักฐานยังไม่แจ้งชัดเนื่องจากสาเหตุของโรคนั้นควรจะเกิดจากท่าทางการวิ่ง (Gait) ที่ผมเองเพิ่งปรับมา แม้จะน่าสงสัยแต่โดยหลักการควรจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาเช่นนี้ เมื่ออาการมันยืดเยื้อเป็นเวลานาน และกลับมาทุกครั้งที่มีการออกกำลังกายมากถึงจุดหนึ่ง อีกสันนิษฐานหนึ่งของผมคือ อาการบาดเจ็บของเส้นเอ็น ที่มักจะใช้เวลานานกว่าในการรักษาตัว และจะกลับมาเจ็บทุกครั้งที่มีการออกกำลังกายเกินความพร้อมของร่างกายที่กำลังรักษาตัว เพื่อนนักวิ่งของผมแนะนำให้ไปหาหมอเพื่อรู้สาเหตุที่ชัดเจน และรับยามารักษาอาการให้เหมาะสม

จากคำบอกเล่าของเพื่อนผมที่บอกว่าอาการบาดเจ็บที่เส้นเอ็นบางครั้งอยู่ลึกและใช้เวลานานในการรักษาตัว จำต้องพักให้หายขาดจึงจะไม่กลับมาใหม่ แต่การใช้ยาจะลดระยะเวลานั้นลงได้ ผมจึงงดการซ้อมวิ่งโดยเด็ดขาดและนัดเวลาเพื่อไปพบแพทย์ แม้ว่าจะช้าไปบ้างแต่ก็ทันเวลาก่อนที่จะเข้าร่วมรายการกรุงเทพมาราธอน ในระยะฮาร์ฟมาราธอนอีกครั้งหนึ่ง ผมถือว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่จะต้องรู้สาเหตุของการบาดเจ็บที่แท้จริง ก่อนที่จะเข้าแข่งขันระยะนี้อีกครั้ง เพราะอาการเจ็บเข่าที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างการแข่งขันครั้งนี้นั้น จะได้มีการป้องกันและจัดการอย่างเหมาะสม อีกเหตุผลสำคัญคือในช่วงปลายปีเนื่องจากการเดินทางที่มากมายของผมทำให้ชั่วโมงซ้อมของผมนั้นหดสั้นลงเป็นอย่างมาก ผมจึงใช้วิธีการแข่งขันในรายการต่าง ๆ เป็นหนทางในการรักษาสภาพร่างกายของผมให้พร้อมรับรายการแข่งขันสำคัญที่กำลังจะมาถึง Ironman 70.3

หลังจากระยะฮาร์ฟมาราธอนในรายการกรุงเทพมาราธอนแล้ว ผมมีคิววิ่งระยะมินิมาราธอนในรายการอโยธยาฮาร์ฟมาราธอน แล้วจึงเป็นรายการใหญ่ของปี Ironman 70.3 ก่อนที่จะปิดท้ายฤดูกาลด้วย Ocean2Ocean  ก่อนที่จะปิดการวิ่งประมาณหนึ่งเดือนครึ่งเพื่อรักษาตัว รายการแรกสำหรับปีหน้าถูกจัดไว้ต้นเดือนกุมภาพันธ์ ระยะสั้น ๆ แต่น่าจะสมบุกสมบันพอใช้กับรายการ Northface 100 เมื่อดูรายการวิ่งแล้วเหมือนจะหนักหนาสาหัสแต่ระยะการซ้อมของผมในระยะหลังที่อยู่ที่ระดับ 8km+ ต่อครั้งนั้น รายการแข่งขันเหล่านี้ไม่ต่างอะไรนักกับวันวิ่งยาวที่มีในรายการซ้อมทุกสัปดาห์อยู่แล้ว

ผมเข้าพบกับหมอที่โรงพยาบาลกรุงเทพ เพื่อความสะดวกและความคาดหวังว่าจะไม่เข้าพบกับเพื่อนหมอที่ผมรู้จัก เพราะผมมั่นใจว่าไม่ว่าผมจะเป็นอะไรก็ตามหมอจะต้องให้ผมหยุดวิ่ง อาจจะสั้นหรือยาว แต่นั่นแหละนี่ยังไม่ใช่เวลา และถ้าคำแนะนำนี้ไม่ได้มาจากเพื่อนที่ผมรู้จัก ผมน่าจะสบายใจกว่าที่จะไม่ทำตามคำแนะนำ อีกอย่างโรงพยาบาลกรุงเทพมีแนวโน้มที่จะจ่ายยาราคาแพงและปริมาณมาก ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของผมในการพบแพทย์ครั้งนี้ หมอสอบถามเล็กน้อย ผมตอบเกี่ยวกับอาการด้วยความอึดอัดเพราะตัวแทนประกันพยายามกำหนดสิ่งที่ผมควรจะพูดเพื่อให้มีโอกาสที่จะเคลมประกันอุบัติเหตุได้  แม้ว่าผมจะไม่เคยเชื่อเลยว่ามันจะเคลมได้ หลังจากได้มีการซัก จับ กด บิด โยก จนเป็นที่พอใจแล้ว ผมก็ถูกส่งไปทำการ x-ray เพื่อจะหาคำตอบที่แท้จริง

ภาพถ่าย x-ray  ข้อเข่าสองสามภาพของผม ตามปากคำของแพทย์ คือ ผมมีอาการของ “กระดูกอ่อนข้อเข่ากร่อน” เป็นผลของการใช้งานหนัก และเป็นอาการเริ่มต้นของโรคที่เรียกว่า “กระดูกอ่อนข้อเข่าเสื่อม” แม้ว่าผมจะไม่ค่อยเห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของแพทย์เกี่ยวกับสาเหตุมากนัก เนื่องจากความจำกัดของคำถามของแพทย์ที่ซักผม และความอ้อมค้อมของคำตอบของผมที่เจตนาเพื่อลุ้นเงินประกัน แต่ต้นเหตุของอาการบาดเจ็บของผมน่าจะชัดเจนจากภาพ x-ray ที่แสดงให้เห็นระยะระหว่างข้อเข่าของผมเริ่มไม่เท่ากันและมีระยะด้านในของข้อเข่าที่แคบกว่าด้านนอก เป็นสัญญาณคลาสสิคของอาการกระดูกอ่อนข้อเข่าที่สึกกร่อนไป

เวลาที่รอคอยมาถึงเมื่อแพทย์เริ่มสั่งยา ยามาตรฐานสำหรับอาการทางกระดูกที่ผมได้เสมอ ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาแก้ปวดแก้อักเสบ แถมยาเคลือบกระเพาะ และที่เด็ดที่สุด คือ Glucosamine Sulfate ยาที่ปัจจุบันถูกยกเลิกจากบัญชียา และจัดให้อยู่ในรายการของยาทางเลือก ที่เชื่อกันว่าใช้เสริมกระดูกอ่อนข้อได้ ผมเองเป็นคนที่ไม่เชื่อในระบบยามากนักเนื่องจากเชื่อว่าร่างกายควรมีโอกาสได้ซ่อมแซมตัวเอง แต่เวลานี้ผมต้องแข่งกับเวลาจึงอดไม่ได้ที่จะต้องลอง แม้กระทั่ง dietary supplement อย่าง Glucosamine Sulfate ที่เป็นเพียงสารหนึ่งที่พบบริเวณข้อต่อ จึงมีความเชื่อว่าการกินสารนี้เข้าไปจะช่วยเสริมสร้างข้อต่อนั่นเอง ไม่แตกต่างอะไรกันนักกับเครื่องดื่มผสม Collagen ที่เชื่อว่าจะช่วยคงความเด้งดึ่งให้กับเราได้ แน่นอนว่าผมไม่ได้รับเงินประกันกับการรักษาครั้งนี้ โรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเสื่อมไม่สามารถเคลมอุบัติเหตุได้ ผมต้องจ่ายค่ารักษาประมาณสองพันกว่าบาท จึงไม่มีเหตุผลอื่นใดที่ผมจะไม่ลองใช้ยาทุกประเภทที่ได้รับมาในวันนี้

ผมเริ่มใช้ยาได้เพียงสองวันก็เกิดผื่นขึ้นตามตัว ซวยแล้วผมน่าจะมีอาการแพ้ยา ตัวใดตัวหนึ่ง ผมหยุดทุกตัว แต่อาการผื่นยังอยู่กับผมจนกระทั่งผมต้องวิ่งฮาร์ฟมาราธอนทั้ง ๆ ที่เป็นผื่นแพ้ทั่วตัว สภาพของผมภายหลังการวิ่งดูน่าสมเพช นอกเหนือจากอาการเข่าที่มากำเริบที่ระยะประมาณ 16 km จนกระทั่งมาหนักที่กิโลเมตรสุดท้าย เลือกลมที่สูบฉีดทำให้ผื่นแดงชัดทั่วตัว แขน ขา คอ และหัว หลาย ๆ คนเห็นสภาพคงต้องกลับไปสงสัยว่าผมทำสิ่งเหล่านี้ไปทำไม ตอนนี้ผ่านรายการกรุงเทพมาราธอนมาเกือบสัปดาห์แล้ว อีกสองวันผมจะวิ่งอีกสิบกิโลในงานอโยธาฮาร์ฟมาราธอน อาการแพ้ยาของผมดีขึ้นแล้ว ผมเริ่ม Glucosamine อีกครั้ง อาการเข่าของผมก็ดีขึ้นแต่ไม่ 100% อีกสองวันจะรู้ว่าเป็นอย่างไร

ในระหว่างการตรวจแพทย์บอกกับผมว่า ให้ผมพัก 100% ทานยาให้หมด แล้วถ้าเกิดอาการอีกระหว่างวิ่ง ควรจะต้องเปลี่ยนกีฬา กลับกับสิ่งที่ผมทำคือ ผมทานยาได้เพียงสองวัน วิ่งฮาร์ฟมาราธอน เกิดอาการ ทานเพียง Glucosamine อีกครั้ง (ไม่รู้ว่าจะแพ้ตัวนี้หรือเปล่า แต่น่าจะไม่เพราะผมไม่ได้แพ้อาหารทะเล) เดี๋ยวผมจะวิ่งอีกสิบกิโล และยังมีต่ออีกทุกสัปดาห์ ผมไม่เคยคิดจะเปลี่ยนกีฬา กีฬาหลักของผมคือไตรกีฬา แต่เพื่อนผมส่วนใหญ่วิ่งได้เพียงอย่างเดียว กีฬาวิ่ง เป็นเหมือนกีฬาสังคมของผม ในขณะที่ไตรกีฬาเป็นความท้าทายของชีวิตผม แต่การปรับตัวต่อจากนี้ผมคงต้องใช้ความเป็นนักวิทยาศาสตร์ ตั้งสมมุติิฐาน ทดสอบ สังเกตุ ผมไม่เข้าใจตรรกกะของการหยุดวิ่งเพราะกลัวว่าจะวิ่งไม่ได้อีก ผมวิ่งจนกระทั่งค้นพบว่าวิ่งไม่ได้อีกน่าจะเป็นทางเลือกที่ดูสมเหตุผลมากกว่าสำหรับผม อาการเจ็บเข่ามันค่อนข้างรุนแรง จนผมคิดว่ามันไม่ควรที่จะทำให้เกิดอาการบาดเจ็บได้มากจนเกินเยียวยาถ้าผมเพียงแต่วิ่ง ต่างจากการเล่นกีฬาประเภทอื่นๆ ที่อาจจะมีการกระทบกระทั่ง หรือต้องมีการเคลื่อนไหวที่รวดเร็วรุนแรง

ทางออกของผม ณ เวลานี้ มุ่งไปที่รองเท้าวิ่ง ผมไม่เชื่อเสียทีเดียวว่า Vibram Fivefinegers ที่ผมเริ่มใช้เพื่อกลับมาวิ่งครั้งนี้จะเป็นต้นเหตุ เพราะอาการเข่าเสื่อมไม่น่าจะเกิดได้ภายในระยะเวลาสั้นไม่เกิน 1 ปี อาการน่าจะสะสมมาก่อนหน้านี้ แต่ผมก็ยังอยากใช้เวลามากขึ้นกับ Barefoot running ที่ช่วยให้มีการลงเท้าที่เบามากขึ้น และรองเท้ากลุ่ม Lightweight Cusion Trainer โดยเฉพาะอย่างยิ่งรองเท้า Newton ที่ช่วยโฟกัสท่าวิ่งในการลงปลายเท้า กลางเท้า อย่างไรก็ตามงานหน้านี้ผมจะลองเริ่มด้วย Barefoot running เพื่อทดสอบอีกครั้ง ให้กำลังใจผมด้วยครับ

Barefoot Running : Race days testing

ใครที่ติดตามบทความของผมมาบ้างคงเริ่มจำได้แล้วว่าผมมีปัญหากระดูกสันหลังเสื่อม แต่ดันทุรังกลับมาวิ่งอีกครั้งจากบทความในวารสาร Nature ที่แสดงให้เห็นว่าการวิ่งด้วยปลายเท้า-กลางเท้า จะมีลดแรงกระแทกที่มีต่อข้อต่อทั้งหมดตั้งแต่ข้อเท้า เข่า ไปจนถึงหลัง ผมกลับมาวิ่งอีกครั้งด้วย Vibram Fivefingers ผู้นำด้านการโปรโมทการวิ่งปลายเท้า ด้วยนวัตกรรมสองลักษณะหลัก ๆ คือ พื้นรองเท้าที่บางมาก (หนาประมาณสองมิลลิเมตร) รวมถึงไม่มีส่วนรองรับบริเวณส้นเท้า เหมือนกับรองเท้าวิ่งในท้องตลาดทั้งหมด อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญคือการที่รองเท้ามีช่องรองรับนิ้วเท้าทั้งสิบนิ้ว ซึ่งช่วยให้เกิดการเคลื่อนไหวอย่างอิสระของนิ้วเท้าทั้งหมดซึ่งจะทำให้ระบบการทรงตัวของนักวิ่งดีขึ้น ทั้งหมดทั้งสิ้นตั้งอยู่ในสมมุติฐานที่ว่าการวิ่งของมนุษย์นั้นถูกออกแบบให้วิ่งเช่นนี้ ตั้งแต่ยุคที่ยังไม่มีการประดิษฐ์รองเท้าวิ่งขึ้นมา หรือการวิ่งด้วยเท้าเปล่านั่นเอง

Vibram Fivefingers ใช้งานกับผมได้ดี จนผมใช้มันในการวิ่งมาราธอนแรกในชีวิตของผม ซึ่งผมได้เขียนประสบการณ์นั้นเอาไว้แล้วก่อนหน้านี้ (40K at 40 in Vibram) แน่นอนว่าโดยนิสัยของผมเองในเมื่อรองเท้าถูกออกแบบมาเพื่อเลียนแบบการวิ่งเท้าเปล่า แล้วการวิ่งเท้าเปล่าเองล่ะจะมีใครทำอะไรทิ้งไว้บ้างไหม ผมได้ค้นพบว่า กระแสการวิ่งด้วยปลายเท้า-กลางเท้า มาแรงมาก ๆ และมีแนวการวิ่งในรูปแบบดังกล่าว อยู่ด้วยกันสามรูปแบบ ผมพบกับรูปแบบแรกมีชื่อว่า Pose Running ในรูปแบบของวิดีโอ ผู้นำเสนอเป็นชาวรัสเซียผมฟังภาษาลำบากเลยไม่ค่อยสนใจมากนัก หลังจากนั้นผมได้ซื้อหนังสือที่ชื่อว่า Chi Marathon เพื่อมาทำความเข้าใจการวิ่งรูปแบบนี้ในอีกรูปแบบหนึ่ง หนังสือเล่มนี้ทำให้ผมสนใจที่จะเปลี่ยนรูปแบบการวิ่งอย่างจริงจัง นอกเหนือจากการที่เปลี่ยนรองเท้าเพียงอย่างเดียว หลังจากนั้นไม่นานผมก็พบกับหนังสือชื่อ Barefoot Running Step by Step ภาพของการวิ่งปลายเท้า-กลางเท้าก็สมบูรณ์ในที่สุด

โดยรวมแล้วรูปแบบการวิ่งแนวนี้จะต้องเน้นความเร็วรอบของการก้าวเท้ามากกว่าระยะก้าวเท้า เนื่องจากการลงด้วยปลายเท้านั้นจะทำให้ไม่สามารถก้าวเท้าเกินระยะร่างกายได้ การ overstretch จึงไม่เกิดขึ้น ก้าวที่สั้นลงนี้จึงถูก compensate ด้วยความถี่ของการก้าวเท้า ทุกรูปแบบนั้นเน้นความเป็นธรรมชาติ กฏพื้นฐานทางฟิสิกส์ เช่นแรงโน้มถ่วง กฏของสปริง เพื่อใช้อธิบายกลไกต่าง ๆ ของการวิ่งนั้น ๆ แม้ว่ารูปแบบของร่างกาย และการขับเคลื่อนร่างกายโดยรวมนั้นจะแตกต่างกันอยู่บ้างในแต่ละวิธี อย่างไรก็ตามผมยังไม่ได้มีโอกาสศึกษาอีกแนวการวิ่งที่เรียกว่า Natural Running ที่ถูกโปรโมทโดยรองเท้าวิ่งกลางเท้าอีกยี่ห้อหนึ่งที่ได้รับความนิยมคือ Newton Shoes ที่เน้นการลงกลางเท้าเป็นหลัก แต่ผมคาดว่าคงไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ

ผมต้องยอมรับว่ารูปแบบการวิ่งแนวนี้ทำให้ผมสามารถวิ่งได้ยาวนานขึ้นอย่างมาก ความอดทนผมเพิ่มขึ้น อาจจะเป็นเพราะเป็นรูปแบบที่เน้นประสิทธิภาพสูงที่สุด อย่างไรก็ตามผมก็พบว่าผมมีอาการบาดเจ็บเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการวิ่งบ่อยครั้งมากขึ้นเมื่อเทียบกับอดีต อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ไม่อาจสรุปว่าการใช้รูปแบบการวิ่งปลายเท้า หรือการใช้รองเท้าที่ไม่มีระบบรองรับอย่าง Vibram จะเป็นต้นเหตุ ในอดีตระยะทางการแข่งขันผมจำกัดอยู่ที่ 10K เท่านั้น และอยู่ในช่วงวัย 20 ปลาย ๆ ในขณะที่ในปัจจุบันการวิ่ง 10K ของผมไม่ถูกเรียกว่าวิ่งยาวอีกต่อไป ในขณะที่ผมอยู่ในวัย 40 ต้น ๆ ปัญหา ITBS ที่เคยเกิดกับผมด้วยสาเหตุการสึกของรองเท้า กลับมามีปัญหากับผมในช่วงนี้ (สงขลามาราธอน : Welcome to ITBS) แต่ยังไม่แน่ใจว่าเกิดจากอะไร รองเท้า Vibram ของผมมีการสึกในทิศทางที่น่าจะเป็นต้นเหตุของ ITBS ได้ อย่างไรก็ตามด้วยพื้นหนาเพียงสองมิลลิเมตร ไม่น่าจะทำให้เกิดการผิดรูปของการลงเท้าได้ ในขณะนี้ผมสันนิษฐานว่าเป็นที่ Biomechanics ของขาโก่งเล็ก ๆ ของผม รวมกับความอ่อนซ้อมของกล้ามเนื้อ support ทำให้การลงขาของผมผิดรูป ร่วมกับการ overstretch ของผมที่เกิดจากศักยภาพทาง aerobic ที่เพิ่มขึ้นจนเกิดความต้องการเร่งความเร็วเกินกว่าความแข็งแรงของกล้ามเนื้อจะรับได้ เรื่องนี้ยังคงต้องพิสูจน์กันต่อไป

แต่สิ่งแรกที่ผมตัดสินใจทดลองก่อนคือ การวิ่งเท้าเปล่า การวิ่งเท้าเปล่านั้นจะส่งเสริมให้เราโฟกัสเรื่องรูปแบบการวิ่งมากยิ่งขึ้นเนื่องการที่ต้องระวังในการลงเท้ามากเป็นพิเศษ ผมเองเคยทดสอบการวิ่งเท้าเปล่ามาเพียงหนึ่งครั้งในการซ้อมที่สวนลุมพินี ถนนเรียบเนียน ใช้เวลาประมาณ 15 นาที เท้าของผมรู้สึกแสบ ๆ เล็กน้อย แต่ไม่ได้มีปัญหาอะไรเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตามเนื่องจากการซ้อมของผมโดยปกตินั้นจะเป็นถนนหลวงที่เต็มไปด้วยเศษหิน กระจก ผมจึงไม่เคยคิดที่จะถอดรองเท้าวิ่งเพื่อซ้อม จะมีบ้างก็รอบ ๆ บ้านในช่วง WU/WD ระยะทางไม่เกิน 1 Kg ในขณะที่ผมเองเป็นคนที่ชอบถอดรองเท้าเป็นนิสัย ผมเองก็ถอดรองเท้าทำกิจกรรรมประจำวันของผมเมื่อทำได้ จนเป็นนิสัย ทำให้นิสัยการลงเท้าของผมค่อนข้างจะเน้นความปลอดภัยเป็นหลัก ไม่ลากเท้า ไม่ลงน้ำหนัก (ไม่เดินเสียงดัง) เพื่อหลีกเลี่ยงการเหยียบเศษกรวดเศษหิน แม้ว่าผมจะไม่ได้ซ้อมวิ่งเท้าเปล่า แต่ประสบการณ์เท้าเปล่าของผมเองนั้นมีมากกว่ามนุษย์ชนคนเมืองคนอื่น ๆ มากมายนัก ผมเชื่อเช่นนั้น

การแข่งขันแรกที่ผมตัดสินใจลองด้วยเท้าเปล่า เป็นการแข่งขันวิ่งวันมหิดลที่ มอ.หาดใหญ่ วันนั้นผมไปค้างบ้านเพื่อนที่นั่นเพื่อที่จะได้ทำงานในตอนเช้าวันรุ่งขึ้น ซึ่งบังเอิญว่าในวันรุ่งขึ้นนั้นเพื่อนของผมซึ่งอยู่ในกลุ่มผู้จัดวิ่งจำเป็นต้องเข้าร่วม ผมจึงถือโอกาสเข้าร่วมด้วยความไม่พร้อมเป็นที่สุด นั่นคือไม่มีชุดวิ่ง ไม่มีรองเท้า แต่ด้วยระยะทางเพียง 4K ผมคาดว่าด้วยเวลายี่สิบนาทีเศษ ไม่ต่างจากระยะทางที่เคยซ้อมที่สนามลุมฯมากนัก ผมไม่น่าจะเกิดปัญหาอะไร อย่างไรก็ตามผมก็ยังเลือกที่จะถือรองเท้าแตะคู่ใจวิ่งไปกับผมด้วย วิ่งวันนั้นผ่านไปได้อย่างดี ด้วยความฉงนสนเท่ห์จากเพื่อนร่วมวิ่งทั้งหมด ผมทำเวลาสบาย ๆ ที่ 23 นาที ไม่เร็วแต่ก็ไม่ช้านัก ความมั่นใจในการวิ่งเท้าเปล่าผมมีมากขึ้น วันนั้นผมไม่รู้สึกถึงอาการของ ITBS เลย แม้ว่าก่อนหน้านั้นผมไม่สามารถวิ่งได้เกิน 3Km ก่อนที่จะเริ่มเกิดปัญหา อย่างไรก็ตามในวันนั้นข้อพับนิ้วเท้าขวาประมาณนิ้วกลางก็เกิดอาการช้ำเลือดขึ้น คาดว่าเกิดจากการเหยียบก้อนหิน อาการช้ำนี้อยู่กับผมประมาณสองวัน แต่ไม่ได้ทำให้ต้องเดินกระเผลกหรืออย่างไร

ผมมีรายการสมุยมาราธอนที่วางแผนเอาไว้ว่าจะไปเข้าร่วม แต่เนื่องจากภาระงานที่อาจจะชนกัันจึงยังไม่แน่ใจนัก ร่วมกับอาการ ITBS ที่ยังไม่หายเท่าไร ระยะซ้อมผมยังไม่สามารถดันให้เกิน 5K ได้โดยไม่เกิดอาการเจ็บเข่า แต่ด้วยความบังเอิญว่าภาระงานของผมถูกยกเลิก ผมว่างขึ้นมาอย่างกระทันหัน บวกกับเพื่อนที่นัดไปด้วยกันนั้นยังไม่เคยไปสมุยมาก่อนเราจึงตัดสินใจ เข้าร่วมระยะทาง 10K ด้วยกันคนหนึ่งบาดเจ็บอีกคนหนึ่งอ่อนซ้อม แต่เช่นเดียวกันกับการแข่งขันอื่น ๆ ของผม Lifestyle Sport แบบนี้จะถูกพ่วงด้วยการปรนเปรอด้วยโรงแรมหรู ๆ อาหารอร่อย ๆ และการพาลูก ๆ เที่ยวสนุก ๆ สไตล์คนมีครอบครัว ก่อนวันแข่งขันผมยังไม่กล้าตัดสินใจเท่าไรว่าจะถอดรองเท้าวิ่งหรือไม่ ในใจผมคิดว่าน่าจะเอาอยู่แต่ผมก็ยังจัดรองเท้าไปด้วยจนถึงหน้างานวิ่งเลยทีเดียว

ผมตัดสินใจครั้งสุดท้ายเมื่อจอดรถก่อนเข้าไปที่เส้นสตาร์ท ผมเดินเท้าเปล่าเข้าไป และแล้วผมก็ต้องวิ่งในวันนี้เป็นระยะทางทั้งสิ้น 10.55k ด้วยเท้าเปล่า เพื่อนผมถามด้วยน้ำเสียงห่วง ๆ ว่าจะไหวเหรอ ไม่พองเหรอ ผมตอบว่าเจ็บเท้าน่ะ ผมไม่กลัวเท่าไรหรอก ผมกลัวเจ็บเข่ามากกว่า (ITBS จะทำให้งอเข่าไม่ได้เมื่อเกิดอาการ และการวิ่งหรือแม้กระทั่งเดินของคุณจะทรมาณมาก) ในใจผมคิดอย่างนั้นจริง ๆ เพราะคาดว่าแม้ว่าเท้าจะเจ็บ พองหรืออะไรก็ตามที่จะเกิดขึ้นได้นั้น ไม่น่าจะทำให้ผมเจ็บปวดได้มากเท่ากับ ​​ITBS ผมเองคาดหวังเล็ก ๆ ว่าจะเจอนักวิ่งเท้าเปล่าสักคนในงานนี้ เพราะเป็นสถานที่ท่องเที่ยว นักวิ่งเท้าเปล่าที่ผมเจอในเมืองไทยส่วนใหญ่จะเป็นชาวญี่ปุ่น ผมเจอทั้งในงานกรุงเทพมาราธอน และพัทยามาราธอน สมุยมาราธอนก็อาจจะมีปะปนอยู่บ้าง

เส้นทางวิ่งของสมุยมาราธอนสำหรับระยะ 10K นั้นยังอยู่บนถนนสายหลักที่เป็นคอนกรีต ปนกับถนนลาดยางช่วงสั้น ๆ ไม่น่าหนักในมากนักสำหรับการวิ่งเท้าเปล่าระยะทาง 10K ครั้งแรกของผม ผมตั้งใจออกวิ่งคู่ไปกับ โด่ง เพื่อนที่มาด้วยกัน เพราะรู้ดีว่าคราวนี้ผมไม่ต้องการทำความเร็วสูงมากนัก เนื่องจากข้อกังวลทั้งสองข้อคือ ITBS และ วิ่งเท้าเปล่า ระยะทางผ่านไปอย่างรวดเร็วไม่ทันจะตั้งตัวเราทั้งคู่ก็ถึงจุดกลับตัว ถนนที่ผ่านมาทั้งหมดผมได้สัมผัสมันมาก ๆ อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ช่วงที่ถนนไม่เรียบนัก ทำให้ช่วงที่ถนนเรียบมีความรู้สึกกับเท้าราวกับวิ่งอยู่บนพรม มีความกังวลเล็กน้อยบริเวณข้อพับของนิ้วนาง นิ้วก้อยของเท้าขวาของผม เพราะในครั้งที่ซ้อมวิ่งที่สวนลุมฯ ผมพบว่าจุดนี้เกิดการเสียดสีกับพื้นถนนมากกว่าที่คาดไว้ อย่างไรก็ตามอาการนี้ไม่เกิดขึ้น ยกเว้นบริเวณเท้าขวาด้านหน้่าที่ออกอาการร้อนนิด ๆ ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าเกิดจากอะไร ตลอดการวิ่งครั้งนี้ผมเน้นการซอยขาเป็นอย่างมาก การเร่งความเร็วเกิดจากการซอยขาทั้งสิ้น ไม่มีการ overstretch แม้แต่น้อย ผมเริ่มเห็นประโยชน์ของการไม่ใส่รองเท้าเสียแล้ว

เราวิ่งกันมาถึงระยะประมาณ 8K ยังไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นเลย มีนักวิ่งทักทายผมสองสามคน เกี่ยวกับการวิ่งเท้าเปล่า และแล้วสิ่งที่ไม่อยากให้เกิดก็เกิดขึ้นจนได้ อาการ ITBS เกิดขึ้นนิด ๆ แล้วที่ระยะนี้ ผมจึงชลอความเร็วลงเล็กน้อย พร้อม ๆ กับเพื่อนผมเริ่มบ่น ๆ ว่าเหนื่อยเพราะในช่วงแรกเขารู้สึกว่าเร่งเกินไปหน่อย ตอนนั้นเราเห็นป้าย 40K นั่นหมายความว่าเหลือเพียง 2.195K เท่านั้นจะถึงเส้นชัย ผมก้มลงมองนาฬิกาแล้วก็เปรย ๆ กับเพื่อนว่าเราน่าจะทำเวลาต่ำกว่าหนึ่งชั่วโมงได้นะ เราเร่งความเร็วขึ้นเล็กน้อย แม้ว่าอาการเจ็บเข่าของผมเริ่มปรากฏชัดขึ้นเรื่อย ๆ เราเร่งฝีเท้ากันได้สักพัก ทันใดนั้น ผมก็เห็นป้าย 2K ซึ่งบอกระยะทางที่ยังคงเหลือ แม่นแล้ว เจ้าป้ายบอกระยะมันไม่แม่นยำจริง ๆ ด้วย ในใจผมเริ่มคิดถึง Garmin 910XT ที่เคยคิดว่าจะถอยหลังจากแข่งขันพัทยามาราธอน ถ้ามีเจ้านี่ผมก็ไม่ต้องพึ่งพาป้ายบอกระยะอีกต่อไป เช่นเดียวกันกระเป๋าน้ำคาดเอว Nathan ที่ผมถอยมาสำหรับรับมือกับการแจกน้ำที่ไม่เป็นไปตามคำสัญญาของผู้จัดงาน

ผมมองดูนาฬิกาอีกครั้งก่อนที่จะบ่นกับเพื่อนผมว่าไม่ทันแล้วล่ะ คงต้องประมาณ ชั่วโมงสองนาที ไหวมั้ย เพียง 6 นาทีต่อกิโลเท่านั้น ที่เราต้องทำความเร็ว ในช่วง 700 เมตรสุดท้ายเป็นช่วงเวลาที่ผมเริ่มเครียดที่สุด ถนนเรียบลาดยางยาวไปจนถึงเส้นชัย ร่วมกับความเร็วที่กำหนดไว้ ทำให้ผมมีอาการ overstretch หลายครั้ง เมื่อร่วมกับ ITBS ทำให้อาการเจ็บเข่ารุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ผมเริ่มกลัวที่จะต้องหยุดเดิน แต่ในใจก็ยังอยากทำเวลาให้ได้ตามที่ตั้งใจ เกิดสงครามขึ้นในจิตใจของผม ด้วยระยะเท่านี้เท้าเปล่าของผมไม่ทำให้เกิดปัญหาใด ๆ เป็นอย่างแน่นอน มีแต่เข่าเท่านั้นที่อาจจะหยุดผมได้ แต่แล้วเส้นชัยก็ใกล้กว่าที่คิด เวลาที่เราทำได้ตามที่หวัง 1:02:04 ไม่เลวนัก เราเข้าไปรับน้ำ อาหาร นั่งทานกันสักพัก ก่อนที่จะขับรถกลับที่พัก ผมสบายใจประสบการณ์ใหม่นี้ น่าจะเป็นประโยชน์กับผมในอนาคต ผมสามารถวิ่งเท้าเปล่าได้เป็นระยะเวลา 1 ชั่วโมงสำเร็จแล้ว เป้าหมายต่อไปควรเป็นอะไร คราวนี้ขอรักษาเข่าก่อนก็แล้วกัน รายการต่อไปกรุงเทพมาราธอน อีกสองเดือนพักให้เต็มที่ แล้วค่อยมาดูกันว่าจะลองฮาร์ฟ หรือ 10K อีกสักครั้ง