วิทยาศาสตร์เครื่องนอน

ศาสตร์แห่งการนอนจะว่าไปแล้วค่อนข้างหลากหลาย แม้ว่าเป้าหมายปลายทางหลักของการนอนคือ การพักผ่อนร่างกายให้เพียงพอ พอเหมาะพอดีกับระดับการใช้งานของชีวิตระหว่างวัน อย่างไรก็ตามความพอดีนั้นยังคงเป็นศัพย์เชิงสัมพัทธ์ พอดีของแต่ละคนนั้นไม่ได้อยู่ในระดับเดียวกัน เมื่อครั้งที่ผมใช้ชีวิตนักบวชที่สวนโมกข์ เราได้ถูกสอนให้ใช้หมอนไม้ นอนบนเตียงไม้ ด้วยเหตุผลที่ว่าจะทำให้ร่างกายตื่นตัวและไม่เพลิดเพลินไปกับความสุขจากการนอน เมื่อรู้สึกตัวนั่นหมายความว่าร่างกายได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอแล้วจึงเหมาะสมที่จะตื่นขึ้นทำกิจกรรมประจำวัน การนอนบนที่นอนไม้ หนุนหมอนไม้ทำให้ตื่นนอนได้ง่าย เพราะเมื่อรู้สึกตัวเมื่อไรเราจะนอนหลับไม่ลงอีกเลย ช่วงนั้นเราเข้านอนสองทุ่มและตื่นตีสี่โดยประมาณ ซึ่งชีวิตประจำวันที่ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการทำสมาธิ มีงานทางกายบ้างเล็กน้อย การนอนแบบนี้ก็ค่อนข้างเพียงพอต่อการดำเนินชีวิต ในขณะที่ระดับนักกีฬาระดับโลกที่ต้องซ้อมอย่างหนักทั้งวัน ต้องพกอุปกรณ์การนอนของทีมไปด้วยทุกโรงแรมที่เดินทางไป เพียงเพื่อให้มั่นใจว่าเครื่องนอน คุณภาพของที่นอน หมอน จะเท่าเทียมกับในทุก ๆ คืน การใช้งานร่างกายที่หนักหน่วงระหว่างวัน ต้องการคุณภาพการพักผ่อนที่มากและเพียงพอต่อการซ่อมแซมร่างกายให้พร้อมกับการใช้งานหนักในวันถัดไป สำหรับคนปกติอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ก็คงต้องประเมินว่าเรานั้นจะใช้ชีวิตอยู่ในระดับใด การนอนเช่นไรจะมั่นใจว่าจะทำให้เราได้รับการพักผ่อนเพียงพอกับชีวิตประจำวันของแต่ละคน

โดยเฉลี่ยแล้วมนุษย์ยุคปัจจุบันพยายามใช้ประโยชน์ของการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งไฟฟ้า อินเตอเนต คอมพิวเตอร์ ทำให้เราสามารถทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมงถ้าเราต้องการ แนวโน้มของเราจึงใช้เวลาตื่นมากขึ้นทุกวัน ๆ และใช้เวลานอนน้อยลงทุกที ๆ ดังนั้นคุณภาพการหลับนอนในปัจจุบันจึงต้องมีการปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพสูงที่สุด ซึ่งต้องอาศัยหลาย ๆ องค์ประกอบ ตั้งแต่ห้องนอนที่สะอาด เรียบร้อยเป็นระเบียบ การไม่มีสื่อประเภททีวี วิทยุ ก็ช่วยเพิ่มคุณภาพการนอนได้เป็นอย่างดี บางครั้งการใช้ม่านในการปิดแสงที่คุณภาพสูง ระดับความมืดของห้องนอน อุณหภูมิ คุณภาพอากาศ ตลอดจนระดับเสียงรบกวน ก็เป็นจุดง่าย ๆ ที่ช่วยเพิ่มคุณภาพของการนอน การใช้อุปกรณ์ในการวัดประสิทธิภาพการนอน นาฬิกาปลุกแบบไฮเทค หรือการยกเลิกนาฬิกาปลุกไปเลยก็จะช่วยเพิ่มระดับการนอนที่มีคุณภาพให้กับชีวิต และที่แน่นอน อุปกรณ์การนอน ตั้งแต่ผ้าปูที่นอน ผ้าห่ม ไปจนถึงที่นอนและหมอน ย่อมเป็นปัจจัยสำคัญในการควบคุม กำหนดคุณภาพของการนอนของทุก ๆ คน

383505_375481392552611_1146372555_n

เมื่อคิดถึง marginal gain แน่นอนว่า ไม่ว่าแต่ละคนจะใช้เวลาในการนอนไม่เท่ากัน ตาม lifestyle แต่ในเวลาทั้งหมดที่เราทุ่มเทให้กับการนอนนั้น คุณภาพของอุปกรณ์การนอนและสิ่งแวดล้อม จะเป็นตัวกำหนดประสิทธิภาพของการนอนที่เราจะได้คืนมาในแต่ละวัน สำหรับคนที่นอนเพียงห้าชั่วโมงแต่ประสิทธิภาพ 95% จะได้รับการพักผ่อนเทียบเท่ากับคนที่นอน แปดชั่วโมงที่มีประสิทธิภาพ 60% โดยส่วนตัวผมเป็นคนที่นอนน้อยชั่วโมง ออกกำลังกายหนักหน่วง ดังนั้นประสิทธิภาพในการนอนจึงเป็นเรื่องที่ผมสนใจมากเป็นพิเศษ การออกแบบหมอน ที่นอน ผมจึงเน้นเรื่องราวของประสิทธิภาพเป็นสำคัญ คำว่าหลับสบาย คลายปวดหลัง มันเป็น tag line โบราณของผลิตภัณฑ์ของเราเองที่ผมเลิกมองไปมากกว่าสิบปีแล้ว

942527_375467992553951_1554578699_n

หลักการในการออกแบบนั้นเริ่มต้นจากไอเดียง่าย ๆ จากสิ่งที่เราเคยเรียนในสมัยเด็ก ๆ คือ เตียงตะปูของ

เหล่าโยคี เรื่องนี้สอนเราว่าถ้ามีตะปูมากหรือหนาแน่นเพียงพอ น้ำหนักที่ลงบนตะปูแต่ละตัวก็น้อยลงจนเราสามารถนอนบนตะปูได้ นั่นคือ ถ้าเราเพิ่มพื้นที่ในการรองรับร่างกายได้มากเท่าไรน้ำหนักในแต่ละพื้นที่ก็จะน้อยลงเท่านั้น ด้วยคอนเซ็ปพันปีของอินเดียนี้ ผมจึงเชื่อว่าการรองรับการนอนด้วยที่นอนสปริง จะไม่มีวันเทียบเท่าการรองรับแบบทั้งตัวแบบที่นอนที่เราเรียกว่า full body support ได้เลย ที่นอนสปริงก็ไม่ต่างจากที่นอนตะปูขนาดใหญ่ เมื่อเทียบที่นอน full body จึงด้อยกว่าโดยหลักฟิสิกส์พื้นฐาน ในขณะที่ full body support mattress มีให้เลือกตั้งแต่ราคาถูก ไปจนราคาแพง แข็งสุด ๆ ไปจนนิ่มสุด ๆ Full body ได้แก่ที่นอนไม้ ใยมะพร้าว ที่นอนนุ่น ฟองน้ำเทียม ที่นอนยางพาราแท้ ที่นอนยางพาราเทียม เป็นต้น แน่นอนว่าผมจะไม่ไปเสียเวลากับที่นอนสปริง เนื่องจากความเป็นนักฟิสิกส์ของผม เพราะมันเป็น partial body support by definition ที่นอนไม้ ไม่เหมาะกับคนที่ใช้ชีวิตประจำวันปกติเท่าไรนัก ในขณะที่ใยมะพร้าว นุ่น มีการกักเก็บฝุ่น ซึ่งจะสร้างผลเสียในระยะยาวต่อสุขภาพปอด ระบบหายใจและภูมิแพ้ เราจะเหลือเพียง ที่นอนฟองน้ำเทียม ที่นอนยางพาราแท้ ที่นอนยางพาราเทียม ซึ่งรวมไปถึงระบบยางอัด ที่ทำยางฟองน้ำเทียม ยางพาราแท้ ยางพาราเทียม หรือ ปน ๆ กัน ที่ผมค่อนข้างสนใจในแง่ที่ว่ามีความเป็นไปได้ในทางฟิสิกส์ที่จะสร้างระบบการนอนที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า

PTH-001t

ฟองน้ำเทียม เป็นชื่อเรียกฟองน้ำที่เตรียมจากพอลิเมอร์สังเคราะห์ที่เรียกว่าพอลิยูรีเทน เป็นการทำปฏิกิริยาระหว่างสารเคมีหลักสองชนิด อาจจะมีสารเสริมอีกหนึ่งหรือสองชนิด เกิดฟองจากปฏิกิริยาดังกล่าวแล้วฟูขึ้น ข้อดีของฟองน้ำเทียมคือราคาถูก เพราะใช้สารเคมีไม่มาก มีการฟูตัวมาก แต่ข้อเสียคือสมบัติทางกายภาพของพอลิยูรีเทนไม่ค่อยสูงมาก ทำให้อายุการใช้งานสั้น ในขณะที่ลักษณะของเซลที่ทำให้คุณลักษณะการรับแรงของฟองน้ำเทียมนั้นไม่ค่อยสมบูรณ์แบบ ไม่ค่อยสบายเมื่อเทียบกับฟองน้ำยางพารา เราจึงเห็นฟองน้ำเทียมมาเป็นฟองน้ำล้างจานแทนที่จะเป็นฟองน้ำสำหรับแต่งหน้า เราจึงเห็นฟองน้ำเทียมในที่นอนราคาถูก ๆ แทนที่จะเป็นที่นอนระดับราคาปานกลางหรือราคาสูง

ฟองน้ำยางพารา ทั้งเทียมและสังเคราะห์โครงสร้างพื้นฐานของเซลจะดีกว่าฟองน้ำเทียมทำให้มีความสามารถในการรองรับที่ดีกว่า มีความสบายกว่า เราจะเห็นฟองน้ำยางพาราที่ใช้เป็นฟองน้ำสำหรับแต่งหน้า ไม่ใช่ฟองน้ำล้างจาน เราจึงเห็นฟองน้ำยางพาราในที่นอนราคาปานกลางถึงสูง แต่ยางพาราแท้กับยางพาราเทียมก็ยังมีความแตกต่างกันค่อนข้างมากอยู่พอสมควร เริ่มต้นจากยางพาราแท้ เป็นยางพาราที่เกิดจากธรรมชาติ เกิดจากต้นยาง มีชีวิต สามารถเน่าเสียได้ภายหลังการเก็บเกี่ยว ถ้าหากมีกระบวนการผลิตที่ไม่เหมาะสม ในขณะที่ยางพาราเทียม เป็นพอลิเมอร์สังเคราะห์ที่เรียกว่า สไตรีนบิวทาไดอีน และเหมือนกับยางสังเคราะห์อื่น ๆ ที่มีต้นกำเนิดจากน้ำมันดิบ ยางพาราเทียมนั้นเกิดจากพอลิเมอร์สองประเภทหลักคือ สไตรีน และ บิวทาไดอีน ในสัดส่วนที่เหมาะสมเพื่อเลียนแบบสมบัติจากยางธรรมชาติ หรือยางพาราแท้ แต่มนุษย์ยังไม่สามารถเลียนแบบธรรมชาติได้เต็มที่ ยางพาราเทียมยังไม่ข้อด้อยอีกหลายอย่างที่ไม่สามารถมองเห็นได้โดยง่ายเมื่อเทียบกับยางพาราแท้

7-zone_f_001

ฟองน้ำยางพาราแท้ มีสมบัติทางกายภาพที่ดีกว่าฟองน้ำยางพาราเทียม เกิดจากข้อจำกัดของตัวเนื้อวัสดุเองที่มนุษย์ยังไม่สามารถสร้างได้เหมือนอย่างที่ธรรมชาติสร้าง โดยพื้นฐานคือความสามารถในการรองรับที่แม้ว่าจะปรับปรุงไปจากฟองน้ำเทียมเป็นอย่างมาก แต่ก็ยังไม่เทียบเท่าฟองน้ำยางพาราแท้ ถ้าหากสัมผัสเปรียบเทียบกันฟองน้ำยางพาราเทียมจะให้ความรู้สึกไปทางฟองน้ำล้างจานมากกว่าฟองน้ำยางพาราแท้ สมบัติทางกายภาพที่ด้อยกว่าทำให้ความคงทนของฟองน้ำยางพาราแท้จะสูงกว่าฟองน้ำยางพาราเทียม อย่างไรก็ตามในการปรับเปลี่ยนคุณภาพของฟองน้ำ คุณสมบัติการรับแรง รวมไปถึงราคาต้นทุน ยางพาราเทียม และยางพาราแท้ สามารถนำมาผสมกันเพื่อจุดประสงค์เหล่านี้ได้ ดังนั้นในตลาดจึงสร้างความสับสนให้กับผู้บริโภคเป็นอย่างมากทั้งโดยไม่เจตนาและด้วยความตั้งใจ ในยุโรปมีข้อกฏหมายกำหนดที่เคร่งครัด ที่จะให้สามารถเขียนระบุว่าเป็นฟองน้ำยางพาราแท้ หรือ ฟองน้ำยางธรรมชาติ ได้ก็ต่อเมื่อมีสัดส่วนของยางพาราแท้เกิน 80% และสามารถระบุ 100% ยางธรรมชาติได้ก็ต่อเมื่อเป็นฟองน้ำยางพาราแท้โดยไม่มีสารอื่นเจือปน ในขณะที่ส่วนอื่น ๆ ของโลกยังตามความเจ้าเล่ห์ของผู้ขายไม่ทัน คำว่าฟองน้ำยางพาราจึงถูกใช้ทั่วไป โดยไม่สนใจว่าจริง ๆ แล้วมียางพาราแท้ ๆ อยู่กี่เปอร์เซนต์

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ ถ้าหากเราต้องการจำกัดการสัมผัสของร่างกายของเราต่อสิ่งสังเคราะห์ และเจตนาเลือกใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ แทนสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น นอกเหนือจากความทนทาน ความสบายของที่นอนเพียงอย่างเดียว ฟองน้ำยางพาราเทียม ที่เกิดจาก สไตรีนบิวทาไดอีน ผ่านกระบวนการทางเคมีมากมายกว่าจะมาเป็นยางพาราเทียมอย่างที่เราได้เห็นกัน แม้ว่าสไตรีบิวทาไดอีน จะไม่ถูกระบุว่ามีผลต่อร่างกายในระยะสั้น ในระยะยาวยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน สไตรีนที่เป็นต้นกำเนิดของยางพาราเทียมนี้ เริ่มได้รับการยืนยันว่าเป็นสารก่อมะเร็ง แต่ยังไม่มีการระบุชัดว่ามีการเข้าสู่ร่างกายได้อย่างไร จึงไม่ชัดเจนว่าเป็นต้นเหตุของมะเร็งในกลุ่มใด ยางพาราเทียมที่เกิดจากสไตรีนบิวทาไดอีนย่อมมีความเสี่ยงของการเจือปนของสไตรีน และนั่นหมายถืงความเสี่ยงของผู้ใช้ที่จะได้รับสารก่อมะเร็งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ความเสี่ยงนั้นจะมากขึ้นหรือน้อยลงตามปริมาณสัดส่วนความเจือปนของยางพาราแท้ และเทียม มากน้อยตามคุณภาพของยางพาราเทียมนั้น ๆ ความอันตรายนี้คงอยู่ในระดับเดียวกันกับที่นอนนุ่นหรือใยมะพร้าวที่ในระยะยาวก่อให้เกิดภูมิแพ้ แต่กรณีของฟองน้ำยางพาราเทียมนั้นในระยะยาวอาจจะหมายถึงความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดมะเร็งบางประเภท โดยพื้นฐานแล้วผมเองจึงพยายามหลีกเลี่ยง เช่นเดียวกันกับที่ผมหลีกเลี่ยงกินไก่เลี้ยงด้วยโฮโมน ปลาแช่ฟอมาลีน เป็นต้น

sph_f_001

วิธีสังเกตุนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แม้ว่ากฏหมายไทยจะมีกำหนดให้ระบุวัสดุที่ใช้ทำที่นอน และมีโทษปรับสำหรับผู้ไม่ปฏิบัติ แต่การบังคับใช้นั้นไม่มีจริง ในขณะที่วัสดุที่ระบุนั้นจะยังบิดเบือนด้วยการใช้คำว่ายางพารา โดยไม่บอกว่าเป็นยางพาราแท้จากธรรมชาติ หรือยางพาราเทียมจากน้ำมันดิบ หรือเจตนาสร้างความเข้าใจผิดด้วยการระบุว่าเป็นยางพาราจากธรรมชาติ แต่ไม่ระบุสัดส่วน ที่ความเป็นจริงแล้วอาจจะมีปริมาณน้อยมาก ๆ ก็ได้ ไปจนถึงเจตนาที่จะหลอกลวงกันเลย ด้วยการเขียนมั่ว ๆ หรือระบุ 100% ยางธรรมชาติทั้ง ๆ ที่ความจริงนั้นไม่ใช่ ในเมื่อกฏหมายเพื่อผู้บริโภคยังตามไม่ทันในขณะนี้ผู้บริโภคจึงมีความจำเป็นต้องช่วยตัวเองสูง หาความรู้จากผู้รู้ ผู้ผลิตที่เชื่อถือได้ แล้วใช้ข้อมูลที่ได้มาในการตัดสินใจ วิธีที่ง่ายที่สุดในการทดสอบว่าเป็นยางพาราแท้หรือยางพาราเทียมนั้น อาจจะทำง่าย ๆ ด้วยการหยิบมาดม สำหรับคนไทยนั้นมีความได้เปรียบบ้างเล็กน้อยด้วยความคุ้นเคยกับยางพาราที่ประเทศเราเป็นผู้ผลิตและส่งออกอันดับหนึ่งของโลก ยางพาราแท้ จะมีกลิ่นของยางพารา ซึ่งบางท่านอาจจะรู้สึกว่าฉุน เหม็น และไม่ค่อยคุ้นเคย ในขณะที่ยางพาราเทียมมักจะมีกลิ่นหอมอุ่น ๆ ไปในโทนหวาน ๆ เล็กน้อย ชวนดมมากกว่า แต่ถ้าหากสูดลึก ๆ กลิ่นสังเคราะห์คล้าย ๆ น้ำหอมราคาถูก จะสามารถรู้สึกได้ ลึก ๆ แถว ๆ โพรงจมูกด้านใน อ่อน ๆ ไม่แสบ แต่อย่างใด

agglo01

ส่วนระบบฟองยางอัดนั้น ก็จะใช้ฟองน้ำชิ้นเล็ก ๆ มาอัดรวมตัวกันด้วยกาว โดยมากจะเป็นพอลิยูริเทน ด้วยสาเหตุต่าง ๆ กัน เช่น เพื่อเพิ่มความแข็ง รีไซเคิล ลดต้นทุน หรือหลาย ๆ สาเหตุรวม ๆ กัน ดังนั้นฟองยางอัด หรือฟองน้ำอัด จึงมีความซับซ้อนเพิ่มขึ้นอีก เพราะสามารถใช้วัสดุอะไรก็ได้มาปนกัน โดยที่ยังไม่มีกฏหมายกำหนดในการระบุต้นกำเนิดของฟองยางอัดเหล่านั้น ยกเว้นในยุโรปที่ต้องระบุว่าเป็นฟองยางพาราอัด หรือ ฟองน้ำเทียมอัด เท่านั้น ส่วนในบ้านเรานั้นอาจจะไม่ระบุคำว่า “อัด” เสียด้วยซ้ำ ซึ่งทำให้ผู้บริโภคมีความเสียเปรียบเป็นอย่างมาก ในระบบฟองยางอัดนั้น แม้ว่าจะใช้กาวเพียง 7% แต่เนื่องจากเป็นกาวสังเคราะห์จึงมักจะให้กลิ่นที่ฉุนมากกว่ายางพาราแท้เสียด้วยซ้ำ แต่มักจะระบายกลิ่นออกไปได้ค่อนข้างรวดเร็วเพราะมีประมาณไม่มากนัก และอันตรายจากพอลิยูริเทนนั้นไม่มีการรายงาน และเป็นพอลิเมอร์ที่มีการใช้งานค่อนข้างหลากหลายในหลายผลิตภัณฑ์

agglomerated_foam

ดังนั้นจะเห็นว่าในการออกแบบคุณภาพการนอนอย่างที่ไม่มีการ compromise นั้น จึงต้องเริ่มตั้งแต่การเลือกใช้วัสดุที่มีความเหมาะสม มีสมบัติที่เพียงพอ มีข้อเสีย ความเสี่ยงที่น้อยที่สุด ร่วมกับหลักการทางวิทยาศาตร์ของการนอน หลักการวิทยาศาสตร์ของการรองรับร่างกาย หลักการวิทยาศาสตร์ของการรับแรงของวัสดุเมื่อประกอบเข้าด้วยกัน หลักการวิทยาศาสตร์ของการกระจายแรง และอื่น ๆ อีกมาก ศาสตร์ต่าง ๆ เหล่านี้ไม่มีการสอนในรายวิชาใด ๆ ความสนุกของนักวิทยาศาสตร์อย่างผม คือ การใช้ความรู้และประสบการณ์จากการออกแบบ การใช้งาน จากผู้ใช้ ลูกค้า เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ของผมให้ดีที่สุดภายใต้ข้อกำหนดราคาที่เหมาะสมที่สุด ถ้ามีโอกาสต่อไป ผมจะมาเล่าให้ฟังว่าการออกแบบโดยใช้วัสดุยางพาราธรรมชาติยังสามารถสร้างนวัตกรรมการนอนที่เหมาะกับความต้องการของแต่ละคนได้อย่างไร