Ironman Langkawi ForZuri Episode II : ไม่หมู แต่ทุกคนทำได้

ขาผมหนักเหลือเกิน ท้องไส้ปั่นป่วนพะอืดพะอม กินอะไรไม่ลงแม้แต่น้ำก็ไม่อยากจิบ ผมแทบวิ่งไม่ได้เลยมากว่าสิบกิโลแล้ว เวลาที่คาดว่าจะเหลือเฟือกลับดูน้อยลงทุก ๆ ที ทุกครั้งที่นั่งพัก แทบจะไม่สามารถลุกขึ้นโดยไม่หน้ามืดได้อีก ผมหนาวและดูเหมือนว่าร่างกายจะเริ่มควบคุมอุณหภูมิไม่ได้ ขนลุกซู่ไปทั้งตัว ผมเดินผ่านมาที่จุดที่พบกับลูก ๆ ของผมในรอบที่แล้วแต่ไม่เจอพวกเขา กำลังใจผมอ่อนลง กำลังกายผมร่อยหรอลงทุกที ผมใช้เวลามาแล้วเกือบ 4 ชั่วโมง ตอนนี้ผมเพิ่งได้ระยะมา 17 km เท่านั้น เหลือเวลาอีกเพียง 3 ชม. กับอีก 25km แต่ผมต้องหาที่ล้มตัวลงนอนสักพักแล้วค่อยว่ากันใหม่ แล้วผมหลับไปไม่แน่ใจว่านานเท่าไร Medic เข้ามาดูอาการของผมและได้ทำการปฐมพยาบาลอาการ dehydrate เบื้องต้นแล้วกำชับให้ผมนอนพักต่อไป สักพักเมื่อผมสามารถประคองตัวลุกนั่งได้ ผมก็ตัดสินใจบอกกับ Medic ว่าผมต้องการ DNF

10384459_946104222073330_6550812990853246579_n

ผมได้พบกับคำว่า DNF ครั้งแรกในชีวิตนักกีฬายี่สิบกว่าปีของผมที่นี่ในปี 2014 ผมกลับมาในปี 2015 ไม่ได้มาเพื่อแก้แค้น ล้างตา แต่เหมือนเป็นหน้าที่ ที่ต้องไปได้ยินคำว่า You are an IronMan สักครั้ง หลังจากที่ DNF ครั้งแรกนั้น ผมกลับบ้านมาพร้อมกับความรู้สึกว่าไอรอนแมนนั้นเป็นระยะที่ไม่น่าเล่น เนื่องจากการซ้อมที่ยาวนานหนักหน่วงเกินความสนุกที่เคยเป็น แต่หลังจากที่ผมได้ยินประโยคทองที่ใคร ๆ ต้องการได้ยิน ความคิดของผมก็เปลี่ยนไป ผมจะมาเล่าให้ฟังว่าทำไม และถ้าใครต้องการได้ยินประโยคนี้ ผมมีคำแนะนำให้ และถ้าใครยังไม่มั่นใจ Add Facebook ผมไว้ได้ ยินดีให้คำปรึกษา ถ้าต้องการเพื่อนบ้าพลัง ก็เข้ากลุ่ม Very Forty เอาไว้ แม้ว่าเราจะไม่ใช่ทีมไตรกีฬาแต่กิจกรรมบ้าพลังเราทำกันอย่างสม่ำเสมอครับ

ทำไมผมถึงเชื่อว่าใครก็ทำได้ จริง ๆ แล้ว ผมเชื่อแบบนั้นมาตลอด แต่การที่จะพูดแบบนั้นโดยที่ยังไม่เคยทำสำเร็จอาจจะเป็นการดูถูกความสำเร็จของผู้อื่น ยิ่งไปกว่านั้นผมทำไม่สำเร็จในครั้งแรกของผม ผมจึงรอให้ผมทำสำเร็จก่อน แม้ว่าผมจะต้องใช้เวลาถึงสองปี สองครั้ง กับหนึ่งความผิดหวังก็ตาม ผมยังเชื่อว่าถ้าหากมีการเตรียมตัวที่เหมาะสม ได้รับคำแนะนำที่ถูกต้อง ไอรอนแมนนั้นไม่ใช่เรื่องยากเลย อยากแนะนำให้ทุกคนนอกจากมาลองไตรกีฬาแล้ว ได้ลองระยะไอรอนแมนสักครั้งในชีวิต จะสร้างพลังให้กับคุณอย่างเหลือเชื่อแบบไม่ต้องเสียเงินไปปลุกยักษ์ที่ไหนอีก

12227619_1693079797581646_1361076560909368855_n

ผมวางแผนสำหรับไอรอนแมนครั้งที่สองนี้อย่างมีระบบ แต่เลือกที่จะใช้แผนการซ้อม 16 สัปดาห์เหมือนเดิม ซึ่งมีงานปูพื้นก่อนซ้อมหลักที่ดีกว่าเดิมนิด ๆ ผมลดกิจกรรมโหด ๆ ทั้งหมด ต่างจากปีที่แล้วที่มีรายการมหาโหดหลายรายการต่อเนื่องกัน เหลือเพียงแค่ จอมบึงมาราธอนตอนต้นปี ห่างจากรายการแข่งขันถึงเกือบปี ฮาร์ฟมาราธอนอีกหนึ่งครั้ง ช่วงวันแม่ ผมไม่แข่งรายการใด ๆ เลย มีการปั่นออแดกซ์ 300, 400 อย่างละหนึ่งครั้ง 600 หนึ่งครั้ง และ ปั่น 1200 อีกหนึ่งครั้ง ทั้งหมดเกิดขึ้นก่อนเดือนมิถุนายน เพื่อปูพื้นสำหรับการซ้อมที่จะมาถึง ในช่วงซ้อมผมวางแผนการแข่งขันระยะ 70.3 เอาไว้หนึ่งครั้งในช่วงกลางของแผนการซ้อม ในปีนี้ผมวางแผนลงไตรกีฬาเพียงสองรายการนี้เท่านั้น เพราะในช่วงที่ผมสมัครนั้น ผมมีความรู้สึกเบื่อกีฬาประเภทนี้ เพราะเล่นมายาวนานถึง 25 ปี ในใจคิดว่านี่จะเป็นรายการรองสุดท้ายที่ผมจะแข่งขันแล้วไปหาอย่างอื่นเล่นต่อไป

ผมวางแผนทุกอย่างมาเป็นอย่างดี แต่ไม่น่าเชื่อว่าสิ่งต่าง ๆ ที่ผิดแผนนั้น ทำให้ผมเข้าใจกลไกของไอรอนแมนมากขึ้นและกล้าที่จะบอกว่าทุก ๆ คนทำได้ หลังจาก DNF ครั้งแรกที่ลังกาวี ผมก็ DNF ครั้งที่สอง เมื่อวางแผนปั่น 1200 กม ภายใน 90 ชม. ผมปั่นจากกรุงเทพ มาสิ้นสุดที่พัทลุงก่อนเข้าหาดใหญ่ ได้ระยะทางไป 821 กม. ใช้เวลาไปประมาณ 65 ชม. ต้อง DNF ที่มีทั้ง Dehydrate ความบอบช้ำของกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ตั้งแต่คอเรื่อยลงมาจนปลายเท้า ผมมา DNF ครั้งที่สาม ตอนปั่น 600 ที่เกิดจาก Sleep Deprevation, Dehydrate, Bonk ปั่นไปได้เพียง 320 กว่ากิโล รวมจากการ DNF ครั้งแรกที่เกิดจาก Dehydrate และ Bonk  ในลังกาวีปี 2014 นั่นเอง ผมจึงมีประสบการณ์ตรง และเข้าใจความสำคัญของเรื่อง Fuel, Hydration มากขึ้น ผมทำการศึกษาเรื่องราวเหล่านี้มากขึ้นอย่างมาก เพราะผมเชื่อว่ากุญแจสำคัญของการเอาชนะการแข่งขันในระยะแบบนี้คือ น้ำและพลังงาน เป็นสำคัญ แล้วผมจะมีคำแนะนำสำหรับผู้ที่เริ่มสนใจความท้าทายของการเป็นไอรอนแมนนี้ว่าอย่างไร

11168149_1068580806516068_2985408457971295557_n-2

คำแนะนำที่หนึ่งของผม คือ ถ้าคุณต้องการเอาชนะไอรอนแมนให้ได้นั้น แม้ว่าจะไม่จำเป็น แต่ผมแนะนำเลยว่าคุณควรที่จะมีประสบการณ์ในระยะเดี่ยว ๆ ของไอรอนแมนมาก่อน ไม่ต้องห่วงเรื่องความเร็ว ไม่ต้องสนว่าสภาพหลังแข่งจะเป็นอย่างไร คุณควรจะมีประสบการณ์ว่าระยะที่ว่านี้คุณทำได้มาแล้ว ในแต่ละกีฬา เวลาประมาณเท่าไร ความรู้สึกเหนื่อยประมาณไหน กล้ามเนื้อล้าประมาณไหน ให้พอคุ้นเคยกับมัน ซึ่งในวันแข่งจริงจะช่วยลดความเครียดของการทำครั้งแรกในแต่ละ discipline ไปได้ คงเหลือไว้แต่ความตื่นเต้นของการเอาแต่ละ discipline มาต่อ ๆ กัน

คำแนะนำที่สอง คือ แม้ว่าผมจะใช้ตารางซ้อม 16 สัปดาห์ หรือ 4 เดือน แต่การเตรียมตัวเพื่อเข้าตารางของผมนั้นค่อนข้างเข้มข้น ขาดเพียงความสม่ำเสมอ สำหรับคนอื่น ๆ ที่อาจจะไม่ได้ใช้ชีวิตทั้งชีวิตไปกับการซ้อมเรื่อยๆ แบบผมนั้น ผมแนะนำให้มองการเตรียมตัวเป็น 6-9 เดือน จึงจะเหมาะสม โดยช่วงเดือนแรก ๆ เป็นการสร้างพื้นฐาน นั่นหมายถึงระบบ Cardio และ กล้ามเนื้อที่เหมาะสมสำหรับแต่ละกีฬา ในขณะที่ความเข้มข้นของ 4 เดือนหลังนั้น เป็นการยกระดับ Cardio และกล้ามเนื้อให้พร้อมกับการรับการทดสอบการเป็นมนุษย์เตารีด ด้วยความสม่ำเสมอและระยะทางที่นานขึ้น ตารางซ้อมที่ผมใช้นั้น เฉลี่ยแล้วสัปดาห์ละ 10 ชม. มีช่วงกลาง ๆ ของตารางที่เป็นช่วงเข้มข้นก็จะหนักไปถึง  15 ชม. สัปดาห์ที่ผ่อน ๆ ก็จะประมาณ 6-8  ชม นั่นหมายความว่าผมซ้อมเฉลี่ยวันละ 1-2 ชม. เท่านั้น ระยะทางที่ยาวที่สุดที่ซ้อม ว่ายน้ำก็ 3.8 km จักรยาน 150 km และวิ่ง 30 กม. เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ผมมีรายการมาราธอนมากก่อนหน้านี้ และมีการปั่นออแดกซ์ 200 อยู่เรื่อย ๆ

11034041_1068241929883289_1190114121439582096_n

ถ้าหากว่าคุณทำได้เพียงสองข้อนี้ คุณก็จะเป็นไอรอนแมนได้อย่างแน่นอนครับ ผมรับรอง ถ้าคุณสามารถจัดการกับการกินน้ำและอาหารได้อย่างสม่ำเสมอในช่วงปั่น และอย่างน้อย ๆ 3 ใน 4 ของการวิ่ง ความหนักหน่วงของไอรอนแมนสำหรับคนที่ไม่คุ้นเคย มันอยู่ที่การฝึกซ้อม ความต่อเนื่อง ความยาวนานของตารางซ้อมในบางวัน สำหรับใครที่ทำเป็นครั้งแรกนั้น ผมยืนยันได้เลยว่าจะเป็นเหมือนกับผมในปีแรก นั่นคือ รู้สึกได้เลยว่าไอรอนแมนไม่ใช่ระยะที่น่าเล่น เพราะต้องการความทุ่มเทมากเกินความพอดี แต่ถ้าหากได้มีโอกาสทำมันในครั้งที่สอง ความรู้สึกก็จะเปลี่ยนไป ว่ากันว่าจริง ๆ แล้วคำว่าไอรอนแมนมันเกิดขึ้นที่ช่วงเวลาของการฝึกซ้อม วันแล้ววันเล่า อย่างสม่ำเสมอ ส่วนในวันของการแข่งขันนั้น เป็นช่วงเวลาของการเฉลิมฉลอง ความสุข ความยิ่งใหญ่ของการเฉลิมฉลองนั้นจะมากมายเพียงใด ก็ขึ้นกับช่วงเวลาซ้อมที่คุณได้เตรียมมา

คราวนี้เราลองมาดูกันว่าเมื่อคุณมีการเตรียมตัวที่ดี เหมาะสมแล้ว ในวันเฉลิมฉลองของคุณนั้น คุณควรจะวางแผนอย่างไร อย่าลืมว่าสิ่งที่ผมกำลังจะเล่าสู่กันฟังนี้ คือ การนำตัวเองก้าวข้ามเส้นชัย วิ่งถือธงชาติ ชูมือขึ้นฟ้า เฉลิมฉลอง ประโยคที่ว่า You are an Ironman. ไม่ใช่แผนเพื่อจะติดอันดับ Age Group หรือ qualify ไป Kona ดังนั้น แผนการทั้งหมดเราจะเล่นกันฝั่งที่เรียกกันในภาษาออแดกซ์ว่า Redline Specialist เรามีเวลา 17 ชม. ว่ายกับปั่น 10:30 ชม. ว่ายเดี่ยว ๆ 2:20 ชม. แล้วเราควรจะวางแผนจัดการกับมันอย่างไร นี่คือวิธีคิดแบบ Audax Redline Specialist อย่างผม

ผมมีคำแนะนำง่าย ๆ เช่นนี้คือ ว่ายน้ำ 2 จักรยาน 8 วิ่ง 7 รวมกันเป็น 17 พอดี เวลา T1 T2 ก็แอบอยู่ในพวกนั้นแหละ รวม ๆ แล้วไม่เกิน 0.5 ชม. ใจเย็น ๆ ได้ แต่ทรานสิชั่นละ 15 นาทีถือว่ากำลังดี เวลาที่ผมเสนอนั้นเป็นความเร็วพื้น ๆ ที่ใคร ๆ ก็ทำให้ อาจจะมีบวกลบเล็ก ๆ น้อย ๆ ขึ้นกับความถนัดหรือไม่ถนัดในแต่ละกีฬาของแต่ละคน แต่เวลารวมอย่าเกิน 17 ว่ายน้ำอย่าเกิน 2:20 และ รวมไปจนปั่นเสร็จอย่าได้เกิน 10:30

12249942_1068242049883277_4195824912588518452_n

ในการเดินทางไปแข่งขันนั้น ควรจะเดินทางไปถึงอย่างน้อยสองวันล่วงหน้า ซึ่งจริง ๆ แล้วทางผู้จัดก็จะบังคับให้มาลงทะเบียนในสองวันล่วงหน้าอยู่แล้ว และมีเวลาอีกหนึ่งวันที่จะ brief สำรวจเส้นทาง bike check-in และ bags check-in ผมมีคำแนะนำสำหรับผู้ที่ไม่ถนัดกีฬาบางประเภทให้ทำการสำรวจเส้นทางกีฬาประเภทนั้น ๆ เอาไว้ เช่น ว่ายน้ำเป็นอุปสรรค ก็ควรจะจัดเวลาไปว่ายซ้อมสนามจริงที่ผู้จัดมักจะจัดเวลาซ้อมไว้ให้อยู่แล้ว ถ้าเป็นจักรยานก็อาจจะขน หรือ ปั่นไปลองสัมผัสเขาบางเขาที่คิดว่าสำคัญ ถ้าเป็นไปได้ ผมไม่ค่อยเชื่อในการนั่งรถดูเส้นทาง เพราะรู้สึกว่ามันไม่ช่วยให้รู้สึกว่าเส้นทางมันเป็นเช่นไร ผมเอาเวลานั้นมาวิ่งหรือปั่นเบา ๆ โดยไม่สำรวจเส้นทางจะยังดีเสียกว่า การโหลดคาโบร์ ก็โหลดล่วงหน้าประมาณสัปดาห์นึงหรือน้อยกว่า ไม่ควรจัดอะไรพิสดาร ก็แค่เพิ่มส่วนที่เป็นแป้งในอาหารหลักก็น่าจะพอ เลือกขนมที่เป็นแป้ง ๆ เช่น ขนมปังปิ้ง ขนมปังสังขยา อะไรพวกนี้เพื่อเสริมแป้งนอกเวลาอาหารอีกส่วน เดินทางไปแข่งต่างประเทศก็ระวังอาหารที่กินก่อนช่วงแข่ง อย่าเพิ่งทดลองอาหารประหลาด เพราะเราไม่อยากมีปัญหาท้องไส้ก่อนการหรือระหว่างการแข่งขัน ซ้อมเบา ๆ ทุก ๆ วัน หรือใช้การซ้อมเป็นการสำรวจเส้นทางแข่งขันไปในตัว ในคืนวันแข่งขันให้จัดของให้เรียบร้อย ทำ ritual ต่าง ๆ ให้ดี ส่วนใหญ่เราต้องตื่นตีสี่ ถ้าเป็นไปได้ให้นอน 2-3 ทุ่มเพื่อให้ได้ 8 ชม. แต่นอน 5-6 ชม. ก็ไม่ใช่ปัญหาสำหรับผม

เช้าวันแข่งขันตื่นมากินมื้อเช้า 2-3 ชม. ก่อนการแข่งขัน เน้นแป้ง หลากหลายรูปแบบ กินน้ำเยอะ ๆ รอเวลาให้ขับถ่าย ซึ่งมักจะใช้เวลาไม่นานนัก แล้วออกเดินทางไปจุดเริ่มต้น เพื่อไปสำรวจจักรยาน ถ้าเป็นไปได้ให้ยกลงมาปั่นเล็ก ๆ น้อย ๆ สำรวจการทำงานของเกียร์ ติดตั้งน้ำและอาหารเสริมบนรถ ตามที่ได้วางแผนหรือซ้อมมา ผมไม่ได้เตรียมอาหารเสริมอะไรในคราวนี้ มีเพียงกระติกน้ำบรรจุแกเตอเรดสองกระปุกที่นำติดตัวมาเท่านั้น ผมสูบลมให้แน่นขึ้น เพราะปล่อยลมออกเล็กน้อยในช่วง Bike Check-in เพราะความเสี่ยงในการทิ้งจักรยานตากแดดไว้นาน ๆ คือ ยางระเบิด ดังนั้นขั้นตอนแรกในการกลับมาคือสำรวจว่าเกิดขึ้นกับจักรยานของเราหรือไม่ บรรจุทุกอย่างเรียบร้อยแล้วก็นำ Bags ต่าง ๆ ไปฝากเพื่อจะได้พร้อมในการทำกิจกรรมอื่น ๆ ต่อ ๆ ไป เราควรจะกินน้ำเรื่อย ๆ ในช่วงนี้ คราวละครึ่งแก้วเพื่อสะสมน้ำในระบบ ในการว่ายน้ำสองชั่วโมงนั้นเราจะไม่มีโอกาสได้ดื่มน้ำเลย เราจึงต้องดูดเข้าระบบเอาไว้ โดยปกติแล้ว ผมจะซื้อแกเตอเรดมา 4 ขวดในตอนกลางคืน เปิดใส่กระปุกเอาไว้ซึ่งจะใช้ประมาณเกือบ ๆ สามขวด ผมจะดื่มส่วนที่เหลือให้หมด พร้อมกับบางส่วนของขวดที่ 4 และดื่มขวดที่ 4 ให้หมดหลังตื่นนอนพร้อมกับอัดขนมปังไปสักสองสามแผ่น ก่อนที่จะหาอาหารเช้ากินเป็นเรื่องเป็นราว หลังจากนั้นก็ถือขวดน้ำขวดนึงค่อย ๆ เดิมไปเรื่อย ๆ ในเวลา 2 ชม. ที่เหลือก่อนแข่ง พอฝากถุงทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว ส่วนใหญ่ก็จะได้เวลาไปปลดปล่อย หลังจากนั้นก็จะมีเวลาที่จะวอร์มอัป แต่ในระยะไอรอนแมน ผมไม่ค่อยเห็นประโยชน์ของการวอร์มอัปมากเท่าไร เพราะระยะเวลาการแข่งขันมันยาวนานมาก ผมวางแผนที่จะใช้ว่ายน้ำช่วงแรก ๆ เป็นการวอร์มอัป

12247158_1234060123277737_8536027418264730672_n

ในรายการไอรอนแมนนั้นจะมีความพิเศษกว่าระยะอื่น ๆ คือ เราจะมีโอกาสเตรียมสิ่งของพิเศษที่จะมาคว้าไปใช้ได้ ในช่วงปั่น และช่วงวิ่ง ที่เรียกว่า Specia Needs Bags ซึ่งในคู่มือก็แนะนำว่า อาจจะเป็นวาสลีน ครีมนวด หรือ อาหารพลังงานพิเศษที่เตรียมไว้ ในปีที่แล้ว ผมเตรียมอาหารประเภทขนมปัง และวางแผนที่จะมาคว้าในรอบที่สองของการแข่งขัน แต่ในปีนี้ผมมีแผนที่แตกต่างกัน ผมเตรียมสเปรย์ อาหารเสริมเป็นข้าวต้มมัด และ พาวเวอร์บาร์สองอัน สำหรับการปั่นจักรยาน และคว้ามาเก็บไว้ในทันทีที่เริ่มปั่น ส่วนสำหรับวิ่ง ผมก็มีอาหารอีกชุดเป็นข้าวต้มมัดเช่นเคย เสริมด้วยฝอยทอง และสเปรย์อีกขวด (กันหมด) และก็คว้าในรอบแรกของการแข่งขันเช่นเดิม ซึ่งผมรู้สึกว่า Special needs bags ที่ผมจัดในรอบนี้ ทั้งสิ่งที่เตรียมมาและการคว้ามาใช้ในทันทีในรอบแรกที่ผ่านเข้าไป มีส่วนเป็นอย่างมากที่ทำให้ผมพิชิตมนุษย์เตารีดครั้งนี้ได้ ทั้งนี้เนื่องจากได้รับอาหารที่เราเลือกมาเอง เป็นอาหารที่ช่วยกระตุ้นความอยากอาหารอื่น ๆ (อร่อยกว่าเจล) และการมีสเปรย์ติดตัวไว้ใช้ตลอดเวลาก็เป็นประกันที่ดี ซึ่งผมได้เอาออกมาใช้หลายต่อหลายครั้งทั้งในช่วงปั่นและวิ่ง

ในการแข่งขัน ผู้จัดจะให้ประเมินเวลาการว่ายน้ำในใบสมัครเพื่อที่จะจัดสีหมวกกำหนดช่วงเวลาปล่อยตัว การปล่อยตัวเป็นแบบปล่อยทีละกลุ่มย่อย ๆ 4-5 คน ที่เรียกว่า Rolling Start ไม่ใช่ Mass start ที่จะปล่อยวิ่งลุยกันเป็นกลุ่ม ซึ่งจะทำให้ลดความเครียดและเกิดความปลอดภัย ผมแนะนำให้ลงเวลาประเมินตามจริง เพื่อที่เราจะได้ว่ายร่วมกับกลุ่มที่มีความเร็วใกล้เคียงกัน ลดปัญหาปลาตีน การโดนทุบ ถ้าว่ายน้ำเป็นกีฬาที่ไม่ถนัด ผมแนะนำให้เริ่มคนแรก ๆ ของ wave ที่เราเลือก เพื่อที่จะได้เวลา cut off ที่ไม่มีความเสี่ยง ผมคิดว่าวิธีที่ดีที่สุดสำหรับการว่ายน้ำในรายการไอรอนแมนคือระบบ Total Immersion การว่ายโดยเน้นการใช้แขน การ Glide และติดไปในทาง low cadance มีการใช้ขาค่อนข้างน้อย ใช้เพื่อทรงตัว และ roll body เท่านั้น การว่ายน้ำแบบนี้จะช่วยให้ได้ความเร็วจากประสิทธิภาพของการดึงแขน การบิดตัว และการ  Glide มากกว่าการใช้พลังงานทุกสัดส่วนของวิธีการว่ายน้ำรูปแบบอื่น ๆ  ระยะทาง 3.8 km ในเวลา 2 ชม. เราต้องการ pace 3:00 ต่อ 100 เมตรเท่านั้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่เหลือบ่ากว่าแรง ว่ายความเร็วนี้น่าจะไม่เกินโซน 2 หรือ 3 ต้น ๆ ค่อนข้างปลอดภัย กล้ามเนื้อที่ใช้เน้นการใช้แขน มีเตะขาตามจังหวะ ซึ่งจะประหยัดพลังงาน และแรงขาเป็นอย่างมาก ในวันแข่งจริง ๆ นั้น ผมว่ายประมาณ 2:00 ต่อ 100 เมตร ทำให้เวลาจบจริง ๆ เพียง 1:20 ชม. แบบไม่ค่อยเหนื่อย ผมมีเวลา spare ไว้แล้ว ครึ่งขั่วโมงจากที่วางแผนไว้ แต่สำหรับมือใหม่หัดว่ายอาจจะได้ประมาณ 2 ชม.บวกลบนิดหน่อย ซึ่งรวม T1 ไป 15 นาทีก็กินเวลาปั่นไปไม่มากนัก

1182_006142

ในการซ้อมว่ายน้ำถ้าจะเอาง่ายที่สุดสามารถว่ายยาว ๆ 1500, 2000, 3000 หรือ กำหนดเป็นเวลา 1, 1.5, 2 ชม เอาก็ได้ เน้นฟอร์ม โฟกัสการใช้แขนให้ดี (คำแนะนำสำหรับมือใหม่ทางการว่ายน้ำจริง) ถ้าอยากให้ดีขึ้นก็นับจำนวนแขน พยายามให้น้อย ๆ และคงที่ ถ้าเริ่มเยอะก็โฟกัสท่าทาง การจับน้ำดี ๆ ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ เวลาก็จะดีขึ้นเอง ส่วนใครที่เริ่มว่ายน้ำเก่งแล้วก็อาจจะหาคอร์ทมาลอง มันสปรินท์บ้างไรบ้างแก้เบื่อ ในเวลาแข่ง ผมเลือกที่จะใส่ชุดไตรเต็มตัว เพราะเวลาถ่ายรูปจะดูสวย เพราะเมื่อปีที่แล้วใส่เฉพาะกางเกงแล้วมันดูไม่ค่อยดี และเมื่อมา T1 ก็เปลี่ยนชุดซึ่งผมก็แนะนำให้เปลี่ยนไปใช้ชุดจักรยานทั้งชุดไปเลย กางเกงดี ๆ ที่พร้อมรับงานหนัก 180 กม. เสื้อจักรยานที่มีกระเป๋าหลังเอาไว้ใส่ของกิน บางครั้งกระบอกน้ำ และสเปรย์ เสื้อผ้า หมวก แว่น และอื่น ๆ จะถูกเตรียมไว้ใน Bike Bag มีเพียงรองเท้าที่มีให้เลือกว่าจะติดไว้กับจักรยานหรือเอามาใส่พร้อม ๆ กับเครื่องแต่งตัวอื่น ๆ ผมแนะนำให้เอามาใส่พร้อมกันไปเลย ผมรู้สึกว่าจากการว่ายน้ำมา 1.5-2.0 ชม. แล้วการใส่รองเท้าแล้วค่อย ๆ ประคองตัวออกไปเรื่อย ๆ ไม่รีบเร่งนัก จะช่วยเป็นการเตรียมตัวที่ดีสำหรับการปั่นที่จะตามมา แทนที่จะรีบเร่งวิ่งเท้าเปล่าออกไป หาจักรยานแล้วใส่รองเท้าบนจักรยาน เพราะนอกจากจะดูไม่จำเป็นแล้ว ยังต้องมาตระเตรียมการแขวนรองเท้า รัดหนังยาง หรือเสี่ยงกับรองเท้าหลุดจากบันไดตอนเข็น ไม่ค่อยคุ้มกัน แต่ถ้าการแข่งระดับโอลิมปิกหรือ 70.3 ที่มีระยะว่ายน้ำสั้นกว่านี้มาก อาจจะเตรียมตัวแตกต่างกัน

เมื่อถึงเวลาปั่น เรามีเวลาอีก 8 ชม. ในการจัดการ 180 km. ซึ่งคิดเป็นความเร็วเฉลี่ย 22 เท่านั้น ถือว่าช้ามาก ๆ และทุกคนน่าจะจัดการได้อย่างไม่เป็นปัญหา เวลามีบวกลบเล็กน้อยขึ้นกับผลของการว่ายน้ำ และการใช้เวลาในการแต่งตัว โดยมากแล้วความเร็วนี้ทุก ๆ คนสามารถเลี้ยงตัวเองในโซนสองได้โดยไม่ยาก ซึ่งทำให้ประหยัดพลังงาน กินอาหารง่าย เก็บแรงขาไว้สำหรับมาราธอนที่จะตามมาได้ สำหรับผมนั้น ปีนี้ผมวางแผนไว้ 7:30 ชม เพราะปีนี้ความแข็งแรงผมเพิ่มขึ้น ผมรักษา power zone 2 ไว้ได้ที่ความเร็วประมาณ  25-28 แม้ว่า HR ในช่วงท้าย ๆ จะมีอาการ drift ขึ้นไปโซน 3 บ้างแต่ก็ไม่ใช่เรื่องน่ากังวล การรักษา HR ไม่ให้  drift เลยนั้น ต้องอาศัยฐานที่แกร่งมาก ๆ ซึ่งยังไม่ถึงกับจำเป็นในงานไอรอนแมนนี้

11058086_1233526099997806_2028243179698462793_n

อีกเทคนิคที่ผมใช้คือ ผม spin ทุกครั้งที่เป็นการขึ้นเขา เพื่อเก็บแรงขา โดยทั่วไปแล้ว จานหน้า Compact กับเฟืองหลัง 11-28 ก็เพียงพอกับสนามลังกาวี เพราะเราต้องการ power สูงที่สุดประมาณ 180 วัตต์ในการไต่เขาทุกเขาที่มี แตกต่างกันเพียงแค่บางเขาต้องลากนานหน่อยเท่านั้น ซึ่งในการซ้อมคุณควรที่จะมีการตระเตรียมสถานการณ์แบบนี้เอาไว้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นการปั่น Zone 3 ลากยาว ๆ แล้วพักแล้วลากต่อ Zone 4 ยาว ๆ 10, 15, 20 นาที เหมือนการทำการทดสอบ FTP  หรือสปรินท์ VO2Max สั้น ๆ สองสามครั้ง ก่อนสิ้นสุดการปั่นยาว ๆ  การซ้อมประเภทนี้ จะทำให้เกิดความคุ้นเคยกับการดึง HR ไประดับสูง ๆ แล้วอดทนให้ได้เวลาตามต้องการ รวมไปถึงจะช่วยเพิ่มกำลังขา FTP ที่จะมีประโยชน์ในการลากยาวเขาที่มีความชันสูงและค่อนข้างยาว สิ่งที่สำคัญคือ คุม HR ให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ลุกขึ้นปั่นถ้าไม่จำเป็น จับ Hood หรือ Bar ยืดตัว หายใจให้เต็มปอด ใช้แขนดึงสลับซ้ายขวากับจังหวะกดขาเพื่อสร้าง leverage ถ้ากำลังขาเริ่มไม่พอ ก็ลุกขึ้นยืน ทิ้งน้ำหนัก 2-3 จังหวะแล้วนั่งลงใหม่ ในการซ้อมนั้นจริง ๆ แล้ว ผมแนะนำให้ซ้อมการยืนโยกแบบนี้บ่อย ๆ อาจจะทุกครั้งที่ขึ้นสะพาน เพื่อเสริมทักษะ ถ้าจังหวะการโยกดี HR จะเพิ่มขึ้นไม่มาก จะช่วยให้คุณพิชิตเขาได้มากขึ้นมาก เพราะถ้าหากคุณต้องลงเข็น เวลาที่เสียไปนั้นจะสูงมากและประเมินลำบาก อาจจะทำให้มีการผิดพลาดเกิดขึ้นได้ เรื่องการเตรียมตัวปั่นขึ้นเขาจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ไม่ใช่เรื่องของความภูมิใจ ขาแตะพื้นหรือไม่แตะพื้น กำลังขาที่ใช้ในการปั่นขึ้นแบบถูกวิธีนั้น แทบไม่ต่างกับการเข็นขึ้นโดยใส่รองเท้าจักรยานเลย แต่เวลาที่จะใช้นั้นมีความเป็นไปได้ที่จะแตกต่างกันในระดับครึ่งชั่วโมงขึ้นไป แต่สิ่งสำคัญคือคุณต้องไม่ blow HR จะถึงในระดับที่ใกล้เป็นลม เพราะนั่นหมายถึงคุณจะต้องใช้เวลาในการ recover ในช่วงลงเขา คุณจะไม่สามารถเร่งลงเขาได้ สมองทำงานช้าและบีบเบรคบ่อย ถ้าไม่ก็จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น

ความรู้สึกที่ควรเกิดขึ้นเมื่อถึงยอดเขาคือ ความสุขใจที่ผ่านพ้น สามารถหายใจตามปกติได้ คว้าน้ำขึ้นมาจิบได้ เปลี่ยนเกียร์เพื่อเตรียมลงได้ ไม่ใช่หมดจนไม่อาจจะทำอะไรได้ต้องปล่อยไหลลงไป ลืมแม้กระทั่งการเปลี่ยนเกียร์ จิบน้ำ นั่นหมายถึงคุณลาก HR สูงและนานเกินความสามารถ และการทำแบบนี้บ่อย ๆ แหล่งพลังงานคุณจะหมดอย่างรวดเร็วอาจจะมีใช้ไม่พอสำหรับการแข่งขัน ในการแข่งขันรอบนี้ผมเข้า food station ที่มีทุก ๆ 20 กม. ครบทุกอัน ผมเลือกที่จะรับ special need bag ตั้งแต่รอบแรกเพื่อที่จะรับอาหารที่ผมอยากกินมาใช้กินก่อน ต่างจากปีที่แล้วที่มารับรอบที่สอง การรับอาหารของตัวเองมากินก่อนแล้วจัดการเรื่องการกินอย่างรวดเร็วในตอนแรกนั้น ทำให้การกินเป็นเรื่องง่าย ผมกินอาหารทุก ๆ ครึ่งชั่วโมง ซึ่งเป็นข้าวต้มมัดแม่นภา และจิบแกเตอเรดไปเรื่อย ๆ ให้ได้กระปุกละประมาณ ชั่วโมง ผมเตรียมมาเพียงสองกระปุก และรู้ว่าผมจะไม่ได้รับมันอีก เนื่องจากในงานลังกาวีนั้น เขาแจก 100 Plus ซึ่งมีแก๊สด้วย ผมไม่สามารถกินแก๊สระหว่างแข่งขันได้ การรู้รสชาติและเตรียมแผนเพื่อรองรับ energy drink ที่แจกโดยงานแข่งขันก็เป็นกลไกที่จำเป็นต้องเตรียมให้ดี เนื่องจากในการซ้อมผมใช้แกเตอเรด สลับกับน้ำเปล่าเป็นหลัก ในรายการแข่งนั้น มักจะเป็นเครื่องดื่มประเภทอื่นซึ่งผมไม่สามารถใช้งานได้ ผมจึงต้องออกแบบการเพิ่มพลังงานเข้าไปชดเชยแทนแกเตอเรดซึ่งมีพลังงานประมาณ 100 cal  ที่ผมจะจัดเข้าไปให้ตัวเองทุก ๆ ชั่วโมง ในงานนี้ผมเลือกที่จะเข้ารับ กล้วย และเจลหนึ่งซอง บีบกินในทันทีแล้วตามด้วยน้ำ 1/4 กระบอก ผมเปลี่ยนน้ำสองกระบอกทุกครั้งที่เข้าจุดให้น้ำ (หลังจากที่ผมจัดการแกเตอเรดสองกระบอกแรกที่เตรียมมาหมดแล้ว) น้ำเย็นจะกระตุ้นให้มีการจิบบ่อยขึ้น และช่วยในการดูดซึมได้ดีกว่าน้ำอุ่น เมื่อระยะมันประมาณ 20 กม. ก็จะใช้เวลาประมาณ 45 นาทีต่อเจลหนึ่งถุง ระหว่างนั้นผมก็จัดการอาหารแข็งหนึ่งอย่าง ซึ่งรวม ๆ แล้วผมน่าจะได้รับพลังงานเพิ่มเข้าไปชั่วโมงละประมาณ 200-250 cal. ยกเว้นในช่วงแรกที่ผมกินอาหารแข็งทุกครึ่งชั่วโมงและเสริมด้วยแกเตอเรด รวม ๆ แล้วช่วงสองชั่วโมงแรกผมน่าจะได้พลังงานเข้าไป 300-400 cal. การรีบใส่อาหารในช่วงแรกนั้นช่วยผมได้มาก เพราะเมื่อระยะเวลาปั่นนานขึ้นเรื่อย ๆ ความเหนื่อยจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้น HR เริ่ม drift อัตราการกินน้ำและอาหารแข็งจะค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ ในบางคนถึงกับเหนื่อยจนกินไม่ลง แถมยังมีเรื่องความเสี่ยงของการปวดท้อง มวนท้องจากการย่อยอาหารไม่สะดวกเนื่องจากการออกกำลังกายอย่างหนักที่จะตามมาอีก ดังนั้นการเริ่มต้นด้วยการเร่งกินสำหรับผมนั้น ค่อนข้างได้ผลในคราวนี้ เพราะท้าย ๆ ของการปั่น ความสามารถในการกินของผมก็ลดลงเรื่อย ๆ อย่างที่คาดการณ์เอาไว้ แต่ไม่เป็นไรเพราะผมได้เตรียมการไว้แล้ว

1182_012598

การจัดสนามปั่นในปีนี้ถือว่าใจร้ายกว่าปีที่แล้ว เนินสามเนินสุดท้ายแม้จะไม่ได้ชันมากเวอร์ แต่ยาวและต่อเนื่องกันสามลูก กลับมาเจอที่ระยะประมาณ 155 กม. สภาพกำลังน่วม แม้ว่าจะไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่โตสำหรับผม แต่ก็เป็นปัญหากับหลาย ๆ คน ผมเจอคนจีนที่ปั่นนำหน้าเกิดตะคริวกินขาสองข้างจนต้องล้มตัวลงนอนพร้อมจักรยาน ร้องให้ช่วยโอดโอย ผมปั่นผ่านไปพร้อมกับถามตามมารยาท เพราะในใจคิดว่าตะคริวนั้นเพียงแค่พักสักพักก็จะหายได้เอง ผมตะโกนถาม “Are you ok?” เขาดันตะโกนกลับมาว่า “I’m not ok. Help me!” ซวยละผมกำลังกัดฟันอัดขึ้นไป เขาขอให้หยุดช่วย ทำไงได้ก็ต้องหยุดเพื่อช่วยเขา แต่พอหยุดเท่านั้น ผมก็หน้ามืด ผมพยายามยืนทรงตัวไม่ให้ล้ม แต่แล้วก็เกิดตะคริวที่ต้นขาทั้งสองข้างจนต้องยอมล้มตัวลงนอนไปข้าง ๆ คนจีนที่ผมจะช่วยนั่นเอง ผมล้วงเอาสเปรย์มาฉีด แล้วยื่นให้คนจีน ที่เริ่มลุกขึ้นกำลังจะขยับตัวออกไป เมื่อเขาฉีดเรียบร้อย ขอบคุณผมเล็กน้อยก็ลุกเข็นจักรยานขึ้นไป ผมเลือกที่จะยืดเหยียดสักพัก ฉีดสเปรย์อีกครั้งพร้อมกับนวดทั้งสองขาก่อนที่จะยกจักรยานขึ้นปั่น และแซงคนจีนคนนั้นไปก่อนที่จะถึงยอดเนิน ทุกครั้งที่ลงเนินเป็นความถนัดส่วนตัวของผม และส่วนใหญ่ทางลงไม่ได้คดเคี้ยวมากนัก ผมสามารถทำเวลาได้ค่อนข้างดี ความเร็วสูงสุดในคราวนี้ผมได้มาถึง  73 km/hr เลยทีเดียว

ในช่วงปั่นจักรยานนั้นผมเลือกที่จะพก power bar ที่เขาแจกมาไว้ด้วย แต่เลือกที่จะจอดกินข้างทาง เพราะมันต้องเคี้ยวแล้วกรอกน้ำตาม ผมจอดกินที่ระยะประมาณ 100 km ถือเป็น lunch break สำหรับผม เป็นการพักขา พักเท้า คลายเครียดที่เกินครึ่งทางมาแล้ว ระหว่างพักก็พบกับกองเชียร์ชาวสิงคโปร์ก็ได้คุยกันสนุกสนาน ก่อนที่จะออกตัวไปเพื่อจัดการ 80 km สุดท้ายของการปั่น ช่วงท้าย ๆ ผมเริ่มสวนกับเพื่อน ๆ ที่มาแข่งด้วยกันหลาย ๆ คน เวลาว่ายน้ำรวมปั่นของผมถือว่าค่อนข้างเร็ว แม้ว่าจริง ๆ แล้วจะไม่ได้เร็วนัก เพราะว่ายน้ำผมทำเฉลี่ยได้แค่ 2 นาที และผมจบการปั่นที่ 7 ชมพอดีเป๊ะ ความเร็วเฉลี่ยประมาณ 26.6 km/hr เร็วกว่าที่คาดไว้ครึ่งชั่วโมง เป็นผลให้กองเชียร์เด็ก ๆ ของผมมาช้าครึ่งชั่วโมงในทุก ๆ จุดที่ผมกำหนดเวลาไว้ให้ ก่อนเข้า T2 ผมถอดรองเท้าล่วงหน้าค่อนข้างนานเพื่อให้เท้าได้ผ่อนคลายเล็กน้อยก่อนที่จะต้องถูกใช้งานในอีกรูปแบบ ผมเลือกที่จะห้อยรองเท้าทิ้งไว้ที่จักรยานในช่วง T2 เพราะรู้สึกว่าการได้เดินเปลือยเท้าเข้ามาจะช่วยเตรียมสำหรับการวิ่งได้ดีกว่า

1182_022957

ผมเข้า  T2 แบบสบาย ๆ มีเวลาเหลือ 8 ชั่วโมงสำหรับมาราธอน ผมเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวอีกครั้ง ผมเลือกใช้เสื้อไตรกีฬารัดรูปในการวิ่ง กางเกงนั้นผมไม่ได้เปลี่ยนเพราะใส่ขาสั้นไตรกีฬาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ไม่ได้ใช้กางเกงจักรยานเต็มสูตร เนื่องจากในวันฝากกระเป๋าผมลืมเอากางเกงวิ่งที่กะจะเปลี่ยนมาใส่ถุง ทำให้ต้องใช้กางเกงไตรตั้งแต่การปั่นไปจนวิ่ง แต่ก็ไม่ได้ทำให้เกิดปัญหาอะไร การใช้เสื้อไตรกีฬาในการวิ่งนั้นมีประโยชน์หลายอย่างเมื่อเทียบกับเมื่อปีที่แล้วที่ผมใช้เสื้อวิ่งหลวม ๆ การใช้เสื้อฟิต ๆ นั้น สามารถทำให้อาหารและสเปรย์ที่ใส่ในกระเป๋าหลังไม่กระเด้งไปมาจนน่ารำคาญ และดูเหมือนว่าเสื้อรัดรูปจะระบายความร้อนได้ดีกว่า ในช่วงที่ผมต้องวิ่งนั่นคือ 4 โมงเย็น ถ้าเป็นเวลาบ้านเราคือ  3 โมงเท่านั้น แดดยังร้อนแรง การวิ่งรอบสนามบิน เป็นช่วงที่ทรมานน่าดู ปีนี้ผมออกวิ่งแบบสบาย ๆ ด้วยเพซ 6 นิด ๆ แบบไม่เหนื่อย แต่ผมกังวลว่าจะใช้พลังงานมากเกินไป จึงออกกฏให้เดินตลอดช่วงจุดให้น้ำทุก ๆ สองกิโล แต่ด้วยความร้อน HR ผมก็เริ่มลอยไปโซนสาม ผมจึงกำหนดกฏเกณฑ์ใหม่ซึ่งลอกมาจาก คุณนุ๊กแวนแกงค์ที่วิ่งเป็นเพื่อนผมเมื่อปีที่แล้วในรายการ CLP นั่นก็คือ เดินทุกครั้งที่มีร่ม แล้ววิ่งทุกครั้งที่มีแดด ผมใช้เกณฑ์นี้ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ สามารถควบคุม HR ให้ไม่เกิน 150 ได้ค่อนข้างตลอด เราต้องวิ่งรอบเส้นทางเดิมเป็นจำนวน 2.5 รอบ ผมใช้เกณฑ์นี้ไป 1.5 รอบ แล้วพบว่าผมเหลือเวลาอีกมากมายสำหรับ 17 km สุดท้ายของวันนี้ ผมทำได้ประมาณเพช 8 กว่า ๆ ผมคำนวณคร่าว ๆ ถ้าผมทำเพช 9 กว่า ๆ เกือบ ๆ 10 กับระยะทางที่เหลือ ผมก็จะจบที่เวลา 15 ชม. พอดี ๆ ในรอบสุดท้ายผมจึงปรับกลยุทธอีกครั้งเพื่อลดความเสี่ยง เพราะในตอนนี้ผมไม่อยากกินอะไรเท่าไรแล้ว มีจิบน้ำแก้วเดียว แตงโมหนึ่งซีกในทุก ๆ สองกิโล ผมรู้สึกว่ามันน่าจะไม่พอสำหรับการวิ่งเกินโซนสอง ผมจึงกำหนดไม่ให้ HR ของผมเกิน 140 ในช่วงท้ายของมาราธอน ส่งผลให้ผมแทบไม่สามารถวิ่งได้เลย ทันทีที่ก้าววิ่ง HR ก็โดดขึ้นอย่างรวดเร็ว เหมือนหยุดเดิน ก็ใช้เวลานานมากกว่าจะลดลงต่ำกว่า 130 ที่ผมจะเริ่มวิ่งอีกครั้ง แต่โชคช่วยที่มีฝนโปรยลงมาในช่วงสุดท้าย ความรู้สึกผมดีขึ้น ผมเปลี่ยนเป็นวิ่งทุกครั้งที่มีไฟสว่างและเดินเมื่อเจอความมืด หรือบางทีก็สลับกันไป วิ่งไปหาแสงไฟ แล้วเดินช่วงที่มีแสงไฟ ตามแต่ความรู้สึกของผม

มาราธอนครั้งนี้ถือว่าเป็นมาราธอนที่รู้สึกดีที่สุดของผม ผมไม่รู้สึกล้าขาเท่าใดนัก ที่ควบคุมไม่ได้คือ HR เท่านั้น แต่ผมก็พยายามคุมไม่ให้สูงเกินโซนสองในท้ายสุด เมื่อถึงระยะ 30 กม. เจ้านาฬิกาของผมก็ตายไป ผมไม่สามารถรับรู้ความเร็วและ HR อีกต่อไป ผมวิ่ง 12 km สุดท้ายด้วยความรู้สึก แต่ความรู้สึกส่วนใหญ่ของผมบอกให้ผมเดิน ผมวิ่งบ้างเล็กน้อยเวลาเจอผู้คน กองเชียร์ เวลาเงียบ ๆ เหงา ๆ มืด ๆ ก็เดินไปเรื่อย ๆ นับถอยหลัง 10, 8, 6, 4 จนในที่สุด 2 km ที่ผมกะไว้ว่าจะวิ่ง สุดท้ายผมก็ขี้เกียจ จะมาวิ่งอีกครั้งก็ช่วงเลียบหาดสุดท้ายระยะ 200 กว่า ๆ เมตรก่อนเข้าเส้นชัย แล้วผมก็กลายเป็นไอรอนแมนด้วยเวลารวม 15:02 ชม ใช้เวลาวิ่งไปประมาณ 6:20 ชม

CT1182_025322

น่าเสียดายที่ผมซ้อมวิ่งไม่ค่อยได้ระยะตามที่ตั้งใจ วิ่งยาวของผมได้ไปเพียง 27 กม. แบบไม่ต่อเนื่อง แต่ผมรู้สึกได้ว่าการใช้ชีวิตแบบ time on foot นั้นช่วยให้กล้ามเนื้อขาของผมแกร่งขึ้นมาก ความล้ามีน้อยมาก ผมใช้วิธีการวิ่งไป ๆ มา ๆ ตั้งแต่เช้าวิ่งไปกินข้าวเช้าวิ่งกลับ อาจจะเป็นระยะไปกลับเพียง 3 กม. บางวันก็อ้อม ๆ หน่อยได้ไป อีก 3 บางวันก็ได้รวม ๆ 8-10 กม. ช้า ๆ เป็นเพียงการ run commuting ไม่เชิงเป็นการซ้อมมากนัก ผมมีซ้อม tempo บ้างในช่วงแรก ๆ ของตาราง วิ่งยาวได้ประมาณ 20 กม ต่อเนื่องเท่านั้น การซ้อม brick ก็ค่อนข้างจำกัด เพราะหลังจากปั่นมายาว ๆ ภรรยาเริ่มหงุดหงิด พอเก็บจักรยานแล้วจึงไม่ค่อยกล้าออกไปวิ่งต่อ แต่ก็พยายามจัดวันวิ่งหลังวันปั่นยาว ซึ่งถือว่าช่วยได้ดีในปีนี้

ผมเช้าเส้นชัยมานวดที่เขาจัดไว้ให้ มีถังน้ำแข็งสำหรับแช่เท้า มีเจ้าหน้าที่มาช่วยเช็ดตัว นวดไหล่ให้ก่อน แล้วช่วยถอดถุงเท้ารองเท้า โดยไม่มีความรังเกียจเลยแม้แต่น้อย (เขาใส่ถุงมือ) ซึ่งเป็นความประทับใจหนึ่งของรายการนี้ เจ้าหน้าที่ในทรานสิชั่นช่วยเหลือเป็นอย่างมาก ช่วยเทของออกจากกระเป๋า ช่วยใส่เสื้อให้ในกรณีผมที่ใส่เสื้อรัดรูปสำหรับการวิ่ง ดึงเองไม่ค่อยลง หยิบโน่นนี่นั่นยัดกลับใส่ถุงให้ ไม่ว่าจะเป็นถุงเท้าเน่า ๆ หมวกเสื้อใช้แล้ว สร้างความประทับใจให้ผม ช่วยลดความเครียด สับสน งุนงง เนื่องจากความเหนื่อยล้าได้เป็นอย่างดี หลังจากรับบริการ sport massage แล้วซึ่งสบายมาก ๆ ผมก็ไปหาของกินซึ่งก็กินได้ไม่ค่อยมากนัก ผมพยายามหาพาสตา และซดซุปร้อน ๆ ชามใหญ่ ๆ รอจนหมอนกเข้าเส้นชัยมาห่างจากผมประมาณหนึ่งชั่วโมง หมอนกใช้เวลาวิ่งเพียง 5 ชม.เศษ ๆ เท่านั้น ทันทีที่เราเจอกันก็ทักกันทันทีว่า มันไม่ค่อยเหนื่อยเท่าไรเลย สบายมาก ๆ ยังต่อได้อีก ตามมาตรฐานของเผ่า V40 เรารู้สึกกันเช่นนั้น นั่นเป็นความรู้สึกแรก ๆ และเป็นความรู้สึกที่ผมต้องการจะบอกต่อ ชี้โพรง และเชิญชวน แม้ว่ามันไม่ได้เหนื่อยหนักโหดร้ายในวันเฉลิมฉลองของเรา แต่การได้สมัคร ซ้อมอย่างหนักหน่วงนั้น มันทำให้เราเป็นไอรอนแทนไปแล้ว ก่อนที่จะมีเฉลิมฉลอง ตีตราอีกครั้งที่สนามแห่งนี้ ผมเชื่อว่าใคร ๆ ก็เป็นไอรอนแมนได้ ตามที่ได้กล่าวเล่ามาข้างต้นนั่นเอง

12219347_1068985896475559_4930892196648334285_n

และในครั้งนี้ผมก็ได้จัดการระดมเงินบริจาค #ForZuri  เพื่อหอบริบารทารกแรกคลอด รพ.สงขลานครินทร์เช่นเคย โดยบริจาคเป็นนาที เวลารวมการแข่งขัน IronKids ของเด็ก ๆ และเวลาของผมวันนี้รวม 962 นาที ผมเองบริจาค 3 บาทต่อนาที เป็นเงิน 2886 บาท มีผู้ร่วมจิตศรัทธาครั้งนี้ ได้แก่ พี่ใหญ่พี่มิ๊กกี้ของเราเสนอมาถึง  10 บาทต่อนาที เป็นเงิน 9620 บาท ได้รางวัลอานบรูคซ์ไปครอง พี่ชมพู่สมทบ 1000 หมอนกสมทบ 1600 และพี่ป้อม ที่ทำเวลาไปได้ 13 ชม.นิด ๆ ร่วมมาอีก 3000 บาท รวมเป็นเงินประมาณ  18,106 บาท ครับผม หวังว่าบทความนี้จะทำให้ไอรอนแมนเข้าถึงง่ายขึ้นสำหรับทุกคน ถ้ามีอะไรให้ช่วยก็ยินดีครับ

 

Ironman Langkawi “ForZuri”

ผมเล่นไตรกีฬามา 21 ปี แต่ไม่เคยคิดว่าผมจะเข้าแข่งขันระยะทางระดับไอรอนแมนมาก่อน แน่นอนว่าเหมือนนักไตรกีฬาคนอื่น ๆ ที่ผมจะคอยติดตามรายการชิงแชมป์โลกที่โคนาทุก ๆ ปี และมันสร้างแรงบันดาลใจให้กับผมในทุก ๆ ปี แต่ผมไม่ได้แรงบันดาลใจที่จะเข้าร่วมในระยะนี้ แต่เป็นแรงบันดาลใจที่จะทำการซ้อมอย่างสม่ำเสมอและแข่งขันอย่างสม่ำเสมอมาเป็นเวลาสองทศวรรษ แต่ปี 2014 ปีนี้มันแตกต่างออกไป มีบางอย่างดลบันดาลใจให้ผมตั้งกองทุน “เพื่อซูริ” เพื่อที่จะจัดหาทุนบริจาคให้กับหน่วย NICU โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ในขณะเดียวกันผมเริ่มเข้ารักษาโรคตับอักเสบบีเรื้อรัง ซึ่งจะต้องใช้ยาอินเตอร์ฟิวรอนทุกสัปดาห์เป็นเวลา 48 สัปดาห์ การที่จะต้องเจาะตับ อาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นทำให้หลาย ๆ คนที่เข้ารับการรักษามีกำลังใจไม่สู้จะดีเท่าไร จากที่ผมสัมผัส

1972263_939652886051797_2351151305672493063_n

ผมยอมรับว่าอาการข้างเคียงในช่วงแรกเข้าขั้นที่เรียกได้ว่าทรมาน แต่ไม่กี่เข็มก็หายไป เหลือแต่อาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด หัวใจเต้นเร็ว เหนื่อยง่าย หงุดหงิด เหล่านี้เข้ามาทดแทน ในวันที่ผมตัดสินใจเข้ารับการรักษา ผมก็ตัดสินใจลงทะเบียนรายการไอรอนแมนลังกาวีคู่ ๆ กันไป ในเบื้องต้นผมต้องการเป้าหมาย ความท้าทาย เพื่อที่จะดึงจิตใจผมออกจากความเป็นจริงที่จะต้องฉีดยาตัวเองทุก ๆ สัปดาห์เป็นระยะเวลาเกือบปี สำหรับคนที่เป็นโรคกลัวเข็มอย่างผมมันเป็นเรื่องใหญ่โตมาก และเป็นความเครียดเพียงอย่างเดียวในการเข้ารักษาครั้งนี้ การกำหนดให้ตัวเองซ้อมเพื่อรายการไอรอนแมนดึงความสนใจออกจากเข็มได้เป็นอย่างดี ผมฉีดยาเข็มแรก ลงทะเบียนเพื่อร่วมแข่งขัน และเริ่มต้นซ้อมอย่างเป็นทางการ

หลังจากเราสามารถตั้งกองทุนเพื่อซูริได้สำเร็จ กระบวนการถัดไปคือการรณรงค์เพื่อหาเงินบริจาคต่อเนื่องภายหลังจากการระดมทุนครั้งแรกสำเร็จไปแล้ว ผมจึงตัดสินใจใช้การซ้อมและแข่งขันไอรอนแมนเป็นตัวกำหนด โดยผมจะบริจาคสองบาทต่อกิโลเมตร ผมซื้อแผนการฝึกซ้อมระยะเวลา 16 สัปดาห์ที่จริง ๆ แล้วค่อนข้างที่จะสั้นและโหดเกินไปสำหรับความฟิตระดับผม แต่มันเป็นระยะเวลาที่กำลังพอดี ๆ ผมมีเวลาเตรียมล่วงหน้าก่อนเข้าโปรแกรมประมาณ 3-4 สัปดาห์ ในขณะเดียวกันผมใช้การแข่งขันต่าง ๆ ร่วมกับเพื่อนร่วมทีม Very Forty เพื่อช่วยให้ผมเข้าซ้อมอย่างสม่ำเสมอ หลัก ๆ คือ การวิ่ง O2O และ Audax 200 Audax 300 ที่เตรียมกำลังใจในการปั่นเกินระยะ 180 km ที่ต้องพบในรายการไอรอนแมน ในขณะที่จะต้องคอยวัดความรู้สึกที่เกิดขึ้นในร่างกายหลังจากรับยามาเป็นระยะเวลานาน

มีเพื่อน ๆ หลายคนเข้าร่วมเป็นกำลังใจด้วยการร่วมบริจาคในการซ้อมครั้งนี้ หลายคนร่วมบริจาคจากระยะที่ตัวเองซ้อม หลายคนช่วยรณรงค์เพื่อช่วยบริจาคด้วยกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งหมดทั้งสิ้นเกิดขึ้นในช่วง 16 สัปดาห์ที่ผมซ้อมและรับยา ในช่วงสัปดาห์แรก ๆ ผลข้างเคียงเป็นแบบทรมาน ปวดกระดูก เป็นไข้ ในช่วง 2-3 วันที่รับยา หลังจากนั้นผมก็สามารถซ้อมและร่วมแข่งขันรายการย่อย ๆ ต่าง ๆ ที่จัดเตรียมไว้ได้ ในช่วงแรก ๆ การซ้อมที่ระยะทาง 200+ km ต่อสัปดาห์เป็นเรื่องไม่ยากนัก แต่หลังจากผ่านไปสัก 10 สัปดาห์อาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร หัวใจเต้นเร็วเริ่มเห็นเด่นชัด ความสามารถในการสร้างพลังงานของตับ ทั้งในแง่ของการสร้างไกลโคลเจนทดแทน เปลี่ยนสารอาหารให้เป็นพลังงาน ลดลงอย่างชัดเจน ผมมีปัญหาสร้างไกลโคลเจนสะสม และการซ้อมระยะไกลสัปดาห์ละครั้งเริ่มเป็นปัญหา พลังงานหมดเร็วขึ้น ๆ ในทุก ๆ สัปดาห์ที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่อาการหัวใจเต้นเร็วนั้นก็ทำให้ความเร็วในการปั่น วิ่งของผมตกลงอย่างเห็นได้ชัด เมื่อรวมสองสิ่งนี้เข้าด้วยกันมันเป็นปัญหาที่ใหญ่มาก ๆ ความเร็วที่ลดทำให้ผมต้องใช้เวลานานขึ้นในระยะทางเท่ากัน ในขณะที่ความต้องการพลังงานต่อเวลายังค่อนข้างคงที่ พลังงานสะสม ความสามารถในการเปลี่ยนพลังงานน้อยลง ผมเจอกับปัญหาพลังงานหมดระหว่างแข่ง ซ้อม บ่อยครั้ง เรียกได้ว่าแทบทุกครั้งที่ซ้อมยาวก็ว่าได้ อย่างไรก็ตามการซ้อมก็ยังต้องดำเนินต่อไป แม้ว่าระยะเวลาการซ้อมจะไม่สามารถทำได้เท่ากับแผนที่ซื้อมาก็ตาม

1234106_940849445932141_2930631344901859730_n

เมื่อการแข่งขันใกล้เข้ามา สภาพร่างกายของผมเรียกได้ว่าอยู่ใกล้จุดต่ำสุดที่ผมเคยเป็น ในบ่อยครั้งผมจำเป็นต้องนอนกลางวันเพื่อเพิ่มพลัง ในขณะที่ช่วงกลางคืนดูดพลังงานของผมไปอย่างมาก ช่วงเช้าการตื่นเป็นไปด้วยความยากลำบาก ความอ่อนเพลียเป็นเหมือนนามสกุลของผมที่ติดตัวไปตลอดเวลาเสียแล้ว อย่างไรก็ตามด้วยประสบการณ์ทรมานร่างกายมาอย่างยาวนาน มันไม่ได้ทำให้ผมเครียดได้เลย ผมคำนวณแผนคร่าว ๆ ในการแข่งขันที่จะต้องทำให้สำเร็จในกำหนดเวลา 17 ชม. แล้ว มันมีความเป็นไปได้อยู่มากที่จะจบการแข่งขันครั้งนั้นแบบพอดี ๆ และไม่กดดันร่างกายมากเกินไป ผมกำหนดการว่ายน้ำไว้ 2 ชม. ซึ่งช้ามากสำหรับความเร็วเฉลี่ยปกติที่ผมว่าย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็มีความจำเป็นเนื่องจากสระว่ายน้ำที่ผมใช้ปิดซ่อมแซมตลอดช่วงระยะเวลาซ้อมที่กำหนดไว้ ผมมีโอกาสซ้อมว่ายน้ำรวม ๆ ได้ระยะทางไม่เกิน 2-3 เท่าของระยะแข่ง ในขณะที่ผมเน้นการซ้อมปั่นจักรยานเนื่องจากมีอะไรใหม่ ๆ ที่ผมต้องหัด ได้แก่ระยะทาง 200 km นั้นการใช้พลังงานสะสมเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ต้องมีการฝึกการเติมพลังงานระหว่างทาง และล่วงหน้าให้สามารถย่อยและดึงมาใช้ได้ทันในช่วงครึ่งหลังของการปั่น อีกทั้งต้องมีเหลือไว้ใช้ในช่วงวิ่งอีกด้วย หัวใจที่เต้นเร็วทำให้ผมต้องทำความเร็วที่ประมาณ 24-26 km/hr แทนที่จะเป็น 28-30 km/hr ที่ผมใช้ซ้อมและแข่งโดยปกติ ผมจึงกำหนดเวลาแข่งเอาไว้ที่ 8 hr ซึ่งรวมเวลาในการหยุดเติมอาหารแล้ว ความเร็วเฉลี่ย 22km/hr รวมพัก น่าจะพอทำได้สบาย ๆ

10511349_906984272651992_5380215080714876951_n

ในขณะที่กำหนดการในการซ้อมวิ่งในตารางซ้อมมีค่อนข้างน้อย ผมเองซึ่งมีปัญหาหลังมาตั้งแต่รายการ TNF100 ตอนต้นปี ทำให้ไม่สามารถวิ่งได้เกิน 30 km อีกเลย ร่วมกับอาการที่หัวใจเต้นเร็วนั้น ทำให้ประสบการณ์วิ่ง ที่ใส่เข้าไปในโปรแกรมนอกจากจะน้อยไปมากแล้ว ยังได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่ไม่ดีกลับมาในทุก ๆ สนามแข่งขันตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะเป็นอาการเจ็บหลังที่ระยะ 18km ที่รายการพัทยามาราธอนจนต้องเดินในระยะที่เหลือจบที่เวลา 6:20 ชั่วโมง หรือ ฮาร์ฟมาราธอนสงขลาที่มีอาการเจ็บตั้งแต่ระยะ 15 km จะต้องกึ่งเดินกึ่งวิ่งเกาะ trailer ที่เข็นไปด้วยจนเข้าเส้นที่เวลา 2:40 ชั่วโมง อำนวยลงความเห็นว่าการซ้อมวิ่งของผมน้อยเกินไป ซึ่งผมเองก็เห็นด้วยแต่จำเป็นต้องเลือกไม่ให้มีอาการบาดเจ็บก่อนการแข่งขันมากกว่าที่จะกดซ้อมเพื่อให้สามารถรับระยะทางมาราธอนได้โดยไม่เครียด และถ้าต้องเดินจริง ๆ ผมยังมีเวลาทั้งหมดเหลืออีก 7 ชม. ในการเดินระยะมาราธอนซึ่งไม่น่าจะเป็นเรื่องลำบากเกินไปนัก เพราะเคยเดินมาแล้ว ในสองรายการ

ผมเดินทางไปลังกาวีพร้อมครอบครัวตามปกติ ตามสไตล์ไปยกแกงค์ของผม เราเดินทางล่วงหน้าไปพักที่สตูลก่อนหนึ่งวันก่อนจะจับเรือเที่ยวเช้าไปพร้อม ๆ กับกลุ่มคนไทย O2Max และ Van Gang ที่เดินทางมาจากกรุงเทพทั้งทางรถ หรือทางเครื่องบิน ลังกาวีจริง ๆ แล้วห่างจากบ้านผมที่ปัตตานีเพียง 3-4 ชม การเดินทางไปแข่งต่างประเทศครั้งแรกของผมจึงเป็นเรื่องที่สะดวกกว่าการแข่งขันภายในประเทศอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นที่เขาใหญ่ หรือหัวหิน ที่ค่อนข้างจะลำบากต่อการเดินทางมากกว่ามาก ผมจึงเริ่มสนใจการแข่งขันที่มาเลย์เซียรายการอื่น ๆ เพิ่มขึ้นจากการได้เดินทางไปครั้งนี้ ลังกาวีเป็นเมืองเล็ก ๆ ความเจริญน้อยกว่าหาดใหญ่นิดหน่อย เมื่อไปถึงในวันแรกเราจึงไม่ค่อยได้ทำอะไร นอกจากที่ผมไปลงทะเบียน พักผ่อน และเตรียมอุปกรณ์สำหรับวันหนัก ๆ ในอีกสองวันข้างหน้า เนื่องจากปัญหาของระบบพลังงานของผม ผมจึงไม่เข้าร่วมการซ้อมว่ายน้ำ หรือปั่นรอบเกาะที่ผมมักจะทำก่อนรายการแข่งสำคัญ ๆ งานนี้ขอเก็บพลังงานอย่างเดียว

10665332_931622150188204_8724209783583863805_n

เช้าวันแข่งขันเริ่มต้นแบบง่าย ๆ คนไทยร่วมถ่ายรูปด้วยกันก่อนจะแยกย้ายกันไปตามเวลาว่ายน้ำ เพราะการแข่งขันนี้จะมีการปล่อยตัวแบบ rolling start ซึ่งแม้ว่าการปล่อยตัวแบบ mass start จะสร้างความได้เปรียบสำหรับผมที่ว่ายน้ำได้ดีกว่าเฉลี่ย แต่ rolling start ก็ลดความเครียดของการแข่งขันของผมได้มาก เพราะผมแทบไม่ได้ซ้อมว่ายน้ำมาเลย ปล่อยตัวทีละสี่คนเวลาใครเวลามันเริ่มจับตั้งแต่เกินผ่านจุดกระโดดลงน้ำ ทะเลช่วงที่แข่งขันเป็นดินโคลนและไม่ลึกมากนัก ทำให้น้ำเป็นสีดำสนิทไม่สามารถมองเห็นอะไรได้เลย ผมว่ายไปในกลุ่ม 1:30-1:45 ชม. ซึ่งค่อนข้างผิดไปเล็กน้อย ผมต้องว่ายแซงหลาย ๆ คน ในขณะที่บางคนคิดเอาว่าตัวเองว่ายช้าไปออกตัวเร็ว ๆ จะได้มีเพื่อนปั่นจักรยานเยอะ ๆ ทำให้ในช่วงครึ่งแรกของระยะทาง 3.8 km นั้น ผมใช้เวลาส่วนใหญ่ในการว่ายหลบคนด้านหน้าเพื่อแซงขึ้นไป ผมพยายามว่ายไหล ๆ ช้า ๆ ที่สุดเท่าที่จะทำได้ เมื่อถึงช่วงกลับตัวผมเริ่มแซงหมดแล้ว น่าจะมาเข้ากลุ่มที่ความเร็วใกล้เคียงกัน การว่ายในช่วงครึ่งหลังเป็นไปโดยง่าย กล้ามเนื้อแขนที่ตึง ๆ ในช่วงแรกเริ่มหาย ว่ายสบายขึ้น แต่ข้อเท้าที่เจ็บแปลบ ๆ ตอนเตะขาเริ่มทำให้ผมกังวล

ผมว่ายเข้าเส้นแบบสบาย ๆ แทบไม่มีความเหนื่อยเลย เหลือบดูนาฬิกา 1:24 hr ก็ตกใจนิด ๆ ว่าเราว่ายเร็วไปหรือเปล่า กลัวพลังงานหมด ผมเดินเรื่อย ๆ เพื่อเข้า T1 เจตนาคือประหยัดพลังงาน และมีความสุขกับบรรยากาศการแข่งขัน ผมเปลี่ยนชุดทุกชิ้นใน T1 ใช้กางเกงเอี๊ยม เสื้อแขนยาว พกอาหารเต็มหลัง ก่อนที่จะค่อย ๆ เดินออกไป ผมชอบแหะการมีห้องแต่งตัวแบบนี้ จากที่เคยเห็นว่ามันยุ่งยากเมื่อเทียบกับรายการ Challenge เปลี่ยนชุด ไม่รีบ ไม่ต้องคอยเห็นคนที่คอยวิ่งรีบ ๆ ออกไปพร้อมจักรยาน พอผมเปลี่ยนชุดเรียบร้อยก็เดินเอื่อย ๆ ไปที่จักรยาน ไม่เครียดเลย ในใจคิดว่าผมมีเวลาเผื่อสะสมไว้แล้วครึ่งชั่วโมง เสร็จแล้วก็ค่อย ๆ เข็นจักรยานออกไป

10583866_912192472131172_3641653746482815082_n

การปั่นจักรยานจะเป็นการปั่นสองรอบ รอบละ 90 km ซึ่งจริง ๆ แล้วตอนที่ผมไม่แข่งก็รู้สึกว่ามันน่าเบื่อที่จะปั่นซ้ำสองรอบ แต่ในวันแข่งขันผมว่าแบบนี้มันก็ดีเหมือนกัน การวางแผนการแข่งขันสามารถทำได้ง่ายขึ้น ผมเพิ่งรู้ว่าในการแข่งขันยาว ๆ แบบนี้เขาจะมีถุงพิเศษที่เรียกว่า special needs bag สำหรับทั้งจักรยานและวิ่ง โดยเราสามารถเอาอะไรมาใส่ในถุงก็ได้ แต่มีการเตือนว่าให้ใส่อะไรที่ทิ้งได้เพราะเขาอาจจะไม่ขนกลับมาคืน สำหรับจักรยานนั้นจุดเก็บ special need bag จะตั้งอยู่ใกล้ ๆ จุดเริ่มต้น ซึ่งเราสามารถเข้ารับได้ทั้งสองรอบ เนื่องจากผมไม่ได้เตรียมตัวมาก่อนและไม่เข้าใจว่าการ set up จะเป็นอย่างไรผมจึงใส่พวกสเปรย์แก้ตะคริวไว้เพียงอย่างเดียว ผมปั่นเรื่อย ๆ แบบไม่รีบ ช่วงแรกเป็นเขาชันน้อย ๆ แต่ยาวพอสมควร ความชันแบบใช้ power 120-130 watts ก็เพียงพอผมกดเบา ๆ เก็บแรงไปเรื่อย ๆ แต่เห็นหลาย ๆ คนอัด แบบว่าไม่รู้มาก่อนว่าจะต้องปั่นกันสองรอบ

เส้นทางปั่นจะมีเขาแบบนี้ ชันน้อย ๆ ยาว ๆ หน่อย กระจายตั้งแต่ต้น ๆ และไปแออัดในช่วงระยะ 30-70 km ซึ่งเราจะต้องเจอแบบนี้สองรอบ แม้ว่าจะไม่หนักมากนัก แต่คาดว่าในรอบที่สองคงได้เห็นปัญหา โดยเฉพาะในส่วนที่เขาเรียกมันว่า Redbull Tough Zone ซึ่งเป็นระยะทางปั่นไปกลับประมาณ 50 km มีเขาที่ว่านี้ประมาณ 5 ลูก ไปกลับก็รวมเป็น 10 ลูก อีกทั้งในช่วงนั้นจะมีบางส่วนที่เป็น Monkey Zone ซึ่งห้ามกินอาหารในช่วงนั้น ผมพบว่าการตั้งป้าย Monkey Zone นั้นค่อนข้างไม่ชัดเจน เพราะป้าย Monkey Zone ahead มีเป็นจำนวนมากจนไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วมันเริ่มและสิ้นสุดในตอนไหน แล้วผมจะกินได้เมื่อไร อย่างไรก็ตามมันก็แค่ทำให้หงุดหงิดใจเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น เพราะตามแผนของผมที่จะหยุดทุกจุดให้น้ำ 20km มันทำให้ผมไม่ต้องกังวลเรื่องการเตือนให้ตัวเองกินระหว่างปั่นเท่าไรนัก ขอแค่จอดกินครบทุกอันก็น่าจะไม่เป็นปัญหา ผมปั่นผ่านรอบแรกไปตามแผน 3:40 ชั่วโมงได้เวลามาเพิ่มอีกยี่สิบนาที ผมจอดที่ special needs แต่ปรากฏว่าถุงผมหาย แต่ไม่เครียดอะไรเพราะเป็นสเปรย์ฉีดที่ในรายการนี้มีให้เยอะแทบจะเหลือเฟือ ผมจึงปั่นไปอีกเบรคบนยอดเขาแรกเพื่อที่จะหยุดกินอาหารมื้อใหญ่หน่อยในช่วงที่เป็นอาหารเที่ยงพอดี ผมเลือกที่จะหยุดรถและนั่งกินเป็นเรื่องเป็นราวเพื่อลดความกังวล ผมกินกล้วยสองลูก energy bar อีกหนึ่งแท่ง เข้าห้องน้ำ ยืดเส้นยืดสายก่อนที่จะออกตัวปั่นออกไปอีกครั้ง

10628150_937139049636514_5287437662244094254_n

ในรอบที่สองบริเวณ Redbull Tough Zone ผมเริ่มเห็นหลาย ๆ คนเกิดปัญหา มีทั้งยางแตก มีทั้งคนที่ต้องเริ่มเข็น มันคงไม่ง่ายมากนักถ้าเกิดสิ่งเหล่านี้ เนื่องจากถ้าดูเวลาแล้ว ผมมีเวลาเผื่อ cut off ไม่มากนัก ปั่นด้วยความเร็วของผมก็จะผ่านแบบสบาย ๆ แต่ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นก็เรียกว่าอาจจะฉิวเฉียดหรือไม่ผ่านเอาซะเลย การที่มีช่วง Tough Zone ตอนช่วง 100-150 km อีกครั้งนั้น รวมกับอากาศร้อนในช่วงบ่ายแก่ ๆ น่าจะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ไอรอนแมนสนามนี้ถูกจัดให้เป็นสนามที่โหดเป็นอันดับสามของโลก ผมไปเรื่อย ๆ ของผมช้า ๆ ไม่ต้องเข็น แต่หยุดกินทุกเบรค แต่พบว่าแม้ว่าผมจะพยายามหยุดเพื่อกิน แต่ในช่วงหลัง ๆ ผมเริ่มกินไม่ค่อยได้ ผมหยุดกินน้ำมานานมากแล้ว น้ำแทบไม่พร่องกระติก อาหารเริ่มกินไม่ลง กล้วยอย่างมากก็กินได้แค่ครึ่งลูกหรือน้อยกว่า ผมพยายามไม่คิดถึงมันแล้วชวนอาสาสมัครคุยเรื่อยเปื่อยคลายความกังวล

ในช่วง 30 km สุดท้ายผมเริ่มเกิดปัญหา ผมเริ่มรู้สึกว่าพลังงานเริ่มไม่ค่อยเพียงพอ กดขาไม่ค่อยลงแต่ผมก็ยังไม่กังวลมากเพราะรู้ว่าส่วนใหญ่ช่วงนี้เป็นทางลาดลงไปสู่ทะเล แต่ปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้นคือการซ้อมส่วนใหญ่ที่ผมจะใช้ road bike เมื่อมาแข่งด้วย TT ช่วงหลัง ๆ ผมไม่สามารถเงยหน้าขึ้นได้ เริ่มปั่นเข้าเมืองเริ่มมีความเสี่ยง ผมก้มมองได้ไม่เกินล้อหน้ามากนัก กล้ามเนื้อคอล้ามากจนไม่สามารถเงยหน้าขึ้นได้ จนต้องจับแฮนด์และยืดตัวตรงปั่นเข้ามาในระยะ 15 กม. สุดท้ายแบบหมดแรง เมื่อถึงจุดใกล้ T2 ผมพยายามหันมองหาครอบครัวของผมแต่ก็มองไม่เห็น ผมไม่ค่อยแปลกใจมากนักเพราะตอนนี้ผมเข้าล่วงหน้าเวลาที่กำหนดไว้อยู่ 1 ชั่วโมง ผมคิดเอาว่าในการวิ่งสี่รอบที่จะถึงนี้ผมน่าจะได้เห็นหน้าภรรยาและลูก ๆ เป็นกำลังใจสักรอบ

10615631_916611365022616_7350911132831104665_n

เมื่อเข้าจุด T2 ผมทดสอบความล้าของขาก็พบว่าแทบไม่มีความเมื่อยล้าเลย ผมลงจักรยานและเดินสบาย ๆ เข้าไปเปลี่ยนชุด เพื่อน ๆ ตามผมมาทันหมดแล้วที่ T2 นี่เอง ต่างคนต่างรีบเปลี่ยนชุดแล้วออกวิ่งไป ส่วนผมเปลี่ยนชุดใหม่ทั้งชุด สดชื่นกว่า โกยเจลอีกหลายซองเข้ากระเป๋าแล้วออกเดินไปเรื่อย ๆ ตอนนี้ผมเริ่มสับสนว่าจริง ๆ แล้วผมเหลือเวลาอีกเท่าไร เนื่องจากเวลาที่เห็นนั้นเป็นเวลาของมาเลเซีย ซึ่งผมไม่ได้ทำการเปลี่ยนในนาฬิกาของผม แต่โดยหลักการเนื่องจากการใช้ GPS นาฬิกามันควรจะปรับโดยอัตโนมัติ ผมดูเวลารวมแล้ว ดูนาฬิกาแล้ว ถามคนรอบข้างก็แล้วดูเหมือนว่าข้อมูลจะสับสนไม่ตรงกัน ในใจผมคิดว่าผมได้เวลาเหลือมาประมาณหนึ่งชั่วโมง ทำให้ผมเหลือเวลาวิ่งอีก 8 ชั่วโมง แต่นักกีฬาที่ผมถามแต่ละคนยืนยันว่าผมเหลือเวลาอีกเพียง 7 ชม. ซึ่งแม้ว่าจะเป็นไปตามแผนที่วางไว้ ผมก็ยังไม่เข้าใจว่าทำไมในเมื่อเราทำความเร็วได้ดีขนาดนี้มันหายไปไหนหมด 1 ชั่วโมงที่สะสมมา เมื่อผ่านจุด T2 ออกมาผมก็เริ่มวิ่งช้า ๆ ตามกำหนดการที่ตั้งไว้คือ วิ่ง 3 นาที เดิน 1 นาที

ในช่วงสองกิโลเมตรแรกก่อนที่จะเข้าจุดให้น้ำ ผมเริ่มรู้สึกว่าแม้จะไม่มีอาการล้า แต่ขารู้สึกหนักผิดปกติ และหายใจหอบมากผิดปกติ และบางครั้งเกิดอาการมึนงง ผมเข้าใจว่าอาหารผมเริ่มไม่เพียงพอแล้ว เมื่อเข้าจุดให้น้ำผมจึงตัดสินใจนั่งลงเพื่อกินแตงโมไปได้สองชิ้น พยายามกินกล้วยแต่กินไม่ลง ผมจึงแกะ energy bar อีกห่อที่เตรียมมาสำหรับกินช่วงนี้ที่จะพอดี ๆ กับอาหารเย็น ผมกินไปได้ประมาณ 1/4 ก็ไม่สามารถกินได้ น้ำแทบกินไม่ลงอีกเลย ได้แต่จิบแล้วบ้วนทิ้ง ผมคิดว่าอาจจะต้องรอสักหน่อยให้ร่างกายปรับตัว จึงค่อย ๆ เดินออกไปเรื่อย ๆ กะว่าพอรู้สึกดีขึ้นแล้วจะค่อยเริ่มวิ่งใหม่ แต่ดูเหมือนว่าผมไม่รู้สึกดีขึ้นอีกเลย จนกระทั่งผ่านระยะทางไป 6 กม. ครอบครัวของผมรอให้กำลังใจกันอยู่ ลูก ๆ วิ่งเข้ามาหา ผมถ่ายรูปกับลูก ๆ คุยโน่นนี่นั่น พยายามตอบคำถามเรื่องเดินตั้งแต่รอบแรก ก่อนที่จะขอตัวออกเดินต่อไป แต่จริง ๆ เดินไปไม่กี่เมตรผมก็เข้านั่งเพื่อพยายามกินที่จุดให้น้ำอีกครั้ง ครั้งนี้ผมอาจจะนั่งนานจะเจ้าหน้าที่เข้ามาถามอาการของผม ผมน่าจะกินกล้วยได้ประมาณอีกครึ่งลูก แล้วจึงตัดสินใจยกตัวขึ้น คราวนี้อาการมึนงงเพิ่มมากขึ้นจนเดินเซ แต่ก็กัดฟันเดินหน้าไปเรื่อย

ผมเดินไปตามทางเรื่อย ๆ และวิ่งบ้างในบางครั้ง แต่น้อยมากเพราะอาการดูแล้วไม่สู้จะดีเท่าไรนัก ผมใช้เวลาที่จุดให้น้ำค่อนข้างเยอะ ทานอะไรไม่ได้ แต่พยายามพักเพื่อหวังว่าอาหารที่ทานเพิ่มเข้าไปอาจจะสามารถย่อยแล้วออกมาเป็นพลังงานให้กับผม ในที่สุดผมก็วนกลับมาที่จุดเดิมได้แต่ไม่พบกับครอบครัวของผมแล้ว ผมไม่รู้ว่าเขาจะกลับเข้าโรงแรม ไปทานข้าวเย็นหรือ ล่วงหน้าไปรอผมในบริเวณสวนสาธารณะที่ดูแล้วจะเป็นพื้นที่ที่นั่งรอเชียร์ได้ง่ายที่สุด เราไม่มีการคุยกันเรื่องนี้เพราะผมมีลูกอ่อนวัยไม่ถึงขวบ และลูกเล็ก ๆ อีกสองคนที่ภรรยาผมต้องดูแลเพียงคนเดียว ผมจึงไม่อยากคาดคั้นแผนการอะไรจากครอบครัวมากนัก ปล่อยให้เด็ก ๆ และบรรยากาศเป็นตัวกำหนด เมื่อผมเดินผ่านบริเวณที่คาดว่าครอบครัวผมจะนั่งอยู่ก็ได้แต่มองหา แต่ก็ไม่เจอ ในตอนนั้นจริง ๆ แล้วผมต้องการที่จะนั่งลงข้าง ๆ ภรรยาของผมเพื่อจะบ่นว่าเหนื่อยมาก ๆ แล้วเอาความห่วงใยของภรรยามาเป็นข้ออ้างที่จะหยุดความทรมานที่ขณะนี้ไม่ค่อยจะบรรเทิงเท่าไรแล้วอันนี้ลง แต่เมื่อมองไม่เห็นครอบครัวผมจึงผิดหวัง ในตอนนั้นผมแยกไม่ออกว่าผมผิดหวังที่หาข้ออ้างในการเลิกไม่ได้หรือผิดหวังที่ไม่ได้เจอกองเชียร์ของผมอีกครั้ง

10384459_946104222073330_6550812990853246579_n

ผมเดินผ่านรอบแรกไประยะทางเป็น 12 กม. ใช้เวลาไปทั้งสิ้น 2 ชม. ผมเหลือเวลาอีกประมาณ 5:30 ชม. กับระยะทางอีก 30 กม. ในช่วงเวลานั้นสมองผมทำงานไม่ค่อยเป็นระบบ ร่างกายของผมเหมือนจะไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิได้ดีเท่าไร รู้สึกหนาวและขนลุกชัน ผมเริ่มรู้สึกว่าถ้าเดินไปอย่างนี้น่าจะไม่ทันแล้ว จะวิ่งก็วิ่งไม่ออกเลย จะกินก็กินไม่ลง จะทำอย่างไรดี ผ่านมาสองชั่วโมงแล้วก็ยังไม่มีอะไรดีขึ้น ผมเดินผ่านจุดที่ผมพบกับครอบครัวในรอบแรกอีกครั้งแต่คราวนี้ไม่มีพวกเขารออยู่ ผมเดินเลยไปยังจุดให้น้ำแล้วหยิบน้ำมาหนึ่งแก้วนั่งลง แต่คราวนี้ผมเลือกที่จะนั่งลงบนเตียงสนาม และอดใจไม่ไหวที่จะล้มตัวลงนอน สักพักมีเจ้าหน้าที่เข้ามาคุยกับผมแล้วค่อย ๆ เอาน้ำแข็งมาราดบนตัวของผม เอามาให้หนีบที่รักแร้ ยกเท้าของผมขึ้น ผมจำอะไรไม่ได้มากนัก แต่จำได้ว่าผมนอนอยู่อย่างนั้นเป็นเวลานาน เมื่อตัดสินใจลุกนั่งก็พบกับรถพยาบาลรออยู่แล้วเพื่อจะนำตัวไปที่เต้นท์พยาบาลที่เส้นชัย รอบ ๆ ตัวผมมีทั้งคนที่เข้ามาในสภาพของผม และคนที่ผ่านเส้นชัยมาแล้ว เสียงประกาศที่ทุกคนต้องการได้ยินแว่ว ๆ มาตลอดเวลา “You are an Ironman” ผมคงมีโอกาสได้ยินจากไกล ๆ เพียงเท่านี้ในวันนี้ ก่อนที่จะหลับตาลง ใต้ผ้าห่มบรรเทาอาหารหนาวสั่นของผม

ผมตื่นมาลุกเดินดูบรรยากาศเล็กน้อย แต่ไม่มีแรงเหลือมากพอที่จะเดินไปหาบรรยากาศที่เส้นชัย เพราะผมรู้ว่าผมยังต้องเดินกลับเป็นระยะทางเกือบสี่กิโลเมตรเพื่อไปยังโรงแรมของผม ถ้าเพื่อน ๆ ติดตามกันอยู่น่าจะเริ่มเป็นห่วงบ้างแล้วว่าเกิดอะไรขึ้น ผมเดินช้า ๆ ไปตามทางเดียวกับนักกีฬาที่ยังทำการแข่งขันกันอยู่ บางคนก็วิ่งรอบที่สอง บางคนก็วิ่งรอบสุดท้าย แต่ทุก ๆ คนก็วิ่ง ๆ เดิน ๆ กันไป แม้ว่าผมจะไม่ได้วางแผนที่จะจบไอรอนแมนแรกของผมเช่นวันนี้ ผมก็ยังรู้สึกยินดีที่ได้เรียนรู้ว่าความรู้สึกเมื่อมีการ DNF มันเป็นเช่นไร จริง ๆ แล้วมันเกิดที่ใจ หรือร่างกาย หรือทั้งสองอย่างมารวมกัน ผมมา DNF ครั้งแรกในการแข่งขันปีที่ 21 ของผม ทำให้ผมรู้สึกแข็งแรงขึ้น แกร่งขึ้น จริงอย่างที่เขาว่าคุณจะเป็นผู้ชนะในวันแรกที่คุณตัดสินใจสมัคร คำว่า “You are an Ironman” มันเป็นของแถม ผมรู้สึกเช่นนั้นจริง ๆ

ผมกลับไปอาบน้ำนอนและตื่นมาทานอาหารเช้าก่อนพาลูก ๆ เที่ยวลังกาวี แบบสดชื่น แทบไม่มีความเมื่อยล้า เป็นการยืนยันว่าผมจบการแข่งขันนี้ลงด้วยอาการ dehydrate และ bonk ขาดน้ำและน้ำตาล ปัญหาหลัก ๆ จากการกินและการสร้งพลังงานของร่างกาย กิจกรรมนี้ผมทำการซ้อมและแข่งขันรวมกันโดยประมาณ 2300 km ต่ำกว่าเป้าที่ประมาณไว้ในวันแรกเกือบ 700 km รวม ๆ แล้วได้เงินร่วมบริจาคประมาณ 30000 บาท แต่ระหว่างที่ผมทำการซ้อมนั้น ผมเชื่อว่าผมได้สร้างแรงกระตุ้นให้มีการช่วยบริจาคเพิ่มเติมผ่านกิจกรรมที่หลาย ๆ คนเลือกที่จะทำกันเอง ไม่ว่าจะเป็นทริปล้อเล็ก วิ่งพัทยามาราธอน Icebucket challenge รวม ๆ กันแล้วได้มาเพิ่มอีกกว่าหนึ่งแสนบาท และยังจะมีการซ้อมต่อเนื่องเพื่อบริจาคอีกจากรายการกรุงเทพมาราธอน ภูเก็ตไตรกีฬา เกียวโตมาราธอน ที่คาดว่าในท้ายที่สุดในปีนี้เราน่าจะรวบรวมเงินบริจาคได้ใกล้ ๆ สามแสนบาทเลยทีเดียว ไม่เลวสำหรับกองทุนที่เพิ่งเกิดได้เพียงครึ่งปี

1970517_946709305346155_1684248765274827972_n

มีอยู่ช่วงหนึ่งระหว่างปั่นจักรยานในขณะที่สมองผมยังคงทำงานได้ดีปกติ ผมนึกภาพการเข้าเส้นชัยของหลาย ๆ คนที่ผมได้เห็นจากการนั่งชมการแข่งขันทางทีวีทุก ๆ ปี หลาย ๆ คนน้ำตาไหล ตื้นตันด้วยเหตุผลต่าง ๆ กัน แม้ว่าในตอนนี้ผมไม่รู้สึกว่าไอรอนแมนมันจะหลักหนาสาหัสอย่างที่คิด ไม่คิดว่าความเหน็ดเหนื่อยนั้นจะทำให้ผมเองน้ำตาไหลได้ แต่ ณ เวลาที่ผมปั่นจักรยานอยู่นั้น ผมคิดแต่เพียงว่าผมแข่งขันครั้งนี้ ผมและหลาย ๆ คนรู้จักมันในชื่อว่า Ironman Langkawi ForZuri ตลอดเวลาที่ผมออกไปซ้อม ตลอด 5-6 ชั่วโมงที่ปั่นออกไป จนในวันที่แข่งขันอยู่นี้ที่เวลาผ่านเลยไปมากกว่า 6 ชั่วโมง และจะต่อเนื่องไปตลอดทั้งวัน ผมรู้สึกว่าผมได้อยู่ใกล้ชิดซูริ เหมือนได้มองหน้าของลูกสาวผมเหมือนที่ผมได้มองเขาในวันสุดท้าย เหมือนได้โอบอุ้มเขาอย่างที่ผมไม่ได้เคยอุ้ม กิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ เหตุผลต่าง ๆ เหล่านี้เองที่น่าจะเป็นสาเหตุให้หลาย ๆ คนกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่เมื่อผ่านเส้นชัย เพราะแค่ผมได้คิดเช่นนี้น้ำตาแห่งความปลื้มปิดิของผมก็หลั่งไหลออกมาแทบหยุดไม่ได้ ขณะที่กดขาปั่นขึ้นเนินแรกของเส้นทางลังกาวีในรอบที่สองนั้นเอง จนวันนี้ผมก็ยังคงไม่รู้ว่าผมจะเป็นอย่างไรเมื่อผ่านเส้นชัยเส้นนั้น แต่ผมมั่นใจว่าสักวันหนึ่งผมจะเข้าใจ

เดินทางสร้างชีวิตผ่านกีฬาที่ผมรัก

วันนี้ผมได้มีโอกาสคุยกับกลุ่มนักไตรกีฬาชั้นนำของประเทศที่เรียกตัวเองว่า Seal Tri Team ที่มีประสบการณ์แข่งรายการ Ironman มาแล้วทั่วโลกนับเป็นสิบครั้ง โดยที่ผมเองนั้นยังไม่เคยมีประสบการณ์ในระยะนี้แม้แต่ครั้งเดียว ไม่เคยแม้กระทั่งเดินทางออกไปแข่งขันในต่างประเทศ เมื่อทางกลุ่มได้พูดคุยถามความเห็นถึงประสบการณ์และความประทับใจในการแข่งไตรกีฬา โดยถามว่ารายการไหนที่ดีและน่าประทับใจ ทั้งในและต่างประเทศ ผมซึ่งเล่นกีฬานี้มานานแสนนานจึงถือโอกาสแชร์ความคิดเห็นลงไปบ้าง

ผมมองอย่างนี้นะครับ จากประสบการณ์ท่องเที่ยวไตรฯ มาตั้งแต่ปี 36 ก่อนที่ NBC จะสร้าง Drama ให้คำว่า Ironman ดูยิ่งใหญ่เกินความเป็นมนุษย์ มันเหมือนการท่องเที่ยวในที่ต่างๆครับ แต่ละรายการมีจุดเด่นจุดด้อยต่างๆกันไป และให้อะไรที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะถ้าจัดโดย local authority งานที่จัดโดย frainschaise มันก็ให้ความรู้สึกเหมือนเข้าร้านอาหาร chain เมื่อไปเที่ยวนั่นแหละครับ คนส่วนใหญ่ชอบอะไรที่คุ้นเคยและคาดเดาง่าย chain จึงเป็นที่นิยม ความมีมาตรฐานและธุรกิจทำให้การจัดการออกจะดูดีกว่า ง่ายกว่าที่จะได้รับความประทับใจโดยเฉพาะถ้าลงทุนเยอะๆไม่มีใครอยากเสี่ยงกับรายการ local ยิ่งถ้าเดินทางไกลๆ ก็ยิ่งต้องทำให้คุ้ม สังเกตุตัวเองได้ครับว่าเวลาไปเที่ยวต่างประเทศเรามองหาอาหารไทย แมคโดนัล สตาร์บัค หรือเสี่ยงกับร้านที่อ่านชื่อไม่ออก อ่านเมนูไม่ได้แล้วก็คุยกันไม่รู้เรื่อง เท่านี้คุณก็จะเลือกรายการที่เหมาะกับคุณได้ครับ และทุกรายการเมื่อกลับไปอีกครั้งคุณก็จะรำลึกถึงบรรยากาศเก่าๆ โค้งที่จำได้ เขาที่เคยเข็น ไม่ว่าใครจะเป็นคนจัด รายการคุณจะติดยี่ห้อหรือไม่ ในใจคุณเท่านั้นครับที่จะติดกลับไป ผมพบว่าสิ่งที่ดีและน่าจดจำที่สุดเป็นประสบการณ์ร่วมกับเพื่อนๆ ครอบครัวครับที่จะทำให้รายการนั้นน่าประทับใจ ซึ่งผมมีเยอะมาก ไม่ได้เกี่ยวกับการแข่งเสียเท่าไร ไม่ว่าจะเรียก มนุษย์เตารีด หรือ จอมท้าทาย แต่สุดท้ายเราคือนักไตรกีฬาครับ

ปรากฏว่าเมนท์นี้ให้สร้างมุมมองให้กับกลุ่มได้พอสมควร ก็เลยคิดว่าจะมาถ่ายทอดประสบการณ์เหล่านี้ออกมาเสียหน่อย ผมเริ่มเล่นกีฬาตั้งแต่เด็ก ๆ แต่ด้วยฝีมือระดับกระจอกจึงไม่ได้มีโอกาสได้เดินทางไปแข่งขันที่ไหนเลย มาจนเข้ามหาลัย มาเริ่มวิ่งเพื่อสุขภาพ การเดินทางเพื่อแข่งขันผมจึงเริ่มขึ้น เนื่องจากผมไม่เคยคิดที่จะชนะใคร การเข้าร่วม การเตรียมตัวในการซ้อมจึงเป็นสิ่งสำคัญของผม เป็นหัวใจของการออกกำลังกายของผม ในขณะที่การแข่งขันนั้นเป็นเสมือนการท่องเที่ยวไปในสถานที่ต่าง ๆ สร้างสมประสบการณ์ ทั้งผ่านชีวิต ทั้งภายในจิตใจของผมเอง ด้วยเหตุนี้การแข่งขันในแต่ละครั้งจึงมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่จะทำให้ผมจดจำประทับใจ แม้ว่าเวลาจะผ่านมาแล้วหลายสิบปีก็ตาม ผมเริ่มแข่งทวิกีฬาครั้งแรกในรายการราบสิบเอ็ดทวิกีฬา ครั้งที่ 1 ซึ่งผมต้องเดินทางปั่นจักรยานจากคลองสานมาขึ้นรถไฟที่หัวลำโพงไปลงที่หลักสี่แล้วจึงปั่นไปแข่ง จนถึงทุกวันนี้หลักสี่ในความทรงจำของผมเป็นเรื่องนี้เสมอ ผมกลับไปแข่งทุกปีจนถึงครั้งที่ 3 รองเท้าจักรยานคู่แรกผมซื้อที่งานนี้ แอโร่บาร์อันแรกผมปั่นในงานนี้ จักรยานสองคันแรกของผมใช้แข่งในรายการนี้เป็นรายการแรก เรียกได้่ว่าผมโตมาจากรายการนี้เลยทีเดียว

run

ผมมีโอกาสแข่งไตรกีฬาครั้งแรก เป็นไตรกีฬาวิบาก ใช้เสือภูเขาในการแข่งขัน แข่งที่จันทบุรี ผมต้องนั่งรถไฟจากปัตตานีไปลงกรุงเทพ ระหว่างทางนั่งตรงข้ามกับคนแปลกหน้าที่กลายมาเป็นเพื่อนกันจนทุกวันนี้ ผมต้องปั่นไปเอกมัยเพื่อนั่งรถทัวร์ไปลงปากทางเข้าอ่างเก็บน้ำ แล้วจ้างรถมอเตอร์ไซด์แบกจักรยานเข้าไปที่สถานที่แข่งขันก่อนผมจะพบว่าที่พักบนแพที่เขาจัดให้มีไม่เพียงพอ สุดท้ายผมต้องพักกับกำนัน ที่ลูกสาวมาเป็นอาสาสมัครพยาบาลในการแข่งขันนี้ ความทรงจำของการแข่งขันของผม ความประทับใจล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องราวแวดล้อม มีน้อยนักที่จะเกี่ยวกับการแข่งขันโดยตรง ในช่วงแรกของชีวิตนักกีฬาของผมเป็นช่วงชีวิตนักศึกษา ป.ตรี จึงเป็นความทรงจำเกี่ยวกันความดันทุรังในการเดินทาง ความไม่พร้อมเรื่องงบประมาณที่พัก เป็นเสียส่วนใหญ่ แต่สถิติที่ดีที่สุดในชีวิตของผมก็อยู่ในช่วงนั้น

Edge Water Park #14

ผมเดินทางไปศึกษาต่อในอเมริกาภายหลังเรียนจบไม่นาน ชีวิตนักกีฬาของผมเริ่มด้วยการโพสหาเพื่อนซ้อมผ่านอินเตอร์เนต แน่นอนว่าผมอยู่ในกลุ่มคนแรก ๆ ที่ใช้ประโยชน์อินเตอเนตในชีวิตประจำวัน ซึ่งรวมไปถึงการหาเพื่อนร่วมซ้อมไตรกีฬานี่ด้วยเช่นกัน ผมได้พบกับเพื่อนนักกฏหมายชาวอเมริกันวัยประมาณห้าสิบหรือย่างห้าสิบผมไม่ค่อยแน่ใจแต่ลูก ๆ เขาอยู่ประมาณ ม.ปลาย เขาพาผมไปปั่นซ้อมใน national park พาไปว่ายน้ำ open water ใน Lake Erie ผมจำได้ว่าผมมีคู่หูซ้อมว่ายน้ำเป็นเพื่อนนักเรียนชาวมาเลเซีย ซึ่งเราก็ออกไปว่าย open water ด้วยกัน ผมยังจำหน้าตาของคนตกปลาที่มองผมเป็นตัวประหลาดที่โผล่มาจากที่ไหนไม่รู้ ราวกับว่าผมว่ายข้ามมาจาก Canada เพราะทะเลสาบที่ผมไปว่ายนั้นเชื่อมติดกับ Canada นั่นเอง จำความตื่นเต้นระทึกใจเมื่อต้องรอเพื่อนชาวมาเลเซียที่ว่ายน้ำไม่แข็งนัก ไม่ยอมโผล่มาจากน้ำเสียที จนผมกลัวจะต้องเป็นคนโทรไปบอกแม่เขาว่าผมเป็นคนสุดท้ายที่เห็นเขา และเพื่อนนักกฏหมายคนนี้เองที่พาผมเข้าไปรู้จักบรรยากาศของการแข่งขันไตรกีฬาแบบที่ควรจะเป็นในรายการแรกของฤดู เป็นรายการชิงแชมป์ของพื้นที่บริเวณนั้น เราขับรถจาก Cleveland, Ohio ไปแข่งกันที่ Edinboro, Pennsilvania ผมเปิดซิง Wetsuit QR ของผมเป็นครั้งแรก เดือน พค. แม้ว่าอากาศจะไม่หนาวแล้วแต่น้ำยังอยู่ประมาณ 10-15C ซึ่งทำให้หัวชาได้เลยีเดียว งานแข่งในอเมริกามีบ่อยมาก ในพื้นที่ใกล้เคียงระดับขับรถไม่เกินสองชั่วโมง (ไม่ต้องไปค้างคืน) มีให้แข่งแทบทุกสัปดาห์ไปจนถึงปลาย ฤดูกาลคือเดือนสิงหาคม

TRI NCB

ผมจัดการแข่งขันให้ตัวเองแทบทุกสัปดาห์ สลับกันไปไตรกีฬา ทวิกีฬา เสือภูเขา ตลอด 7 ปีที่อยู่ที่นั่นผมจึงมีโอกาสแข่งขันมากมาย ในช่วงการใช้ชีวิตแข่งขันที่อเมริกานั้นส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวของการสร้างมิตรภาพ ผมค่อย ๆ ฝึกเพื่อนชาวมาเลย์จากว่ายน้ำได้ไม่เกินร้อยเมตรให้ไปว่าย open water ระยะทางเป็นกิโลกับผม ในการแข่งขันรายการ Edinboro ปีถัดไปผมชวนรุ่นน้องที่มาเพิ่งเดินทางมาไปชมการแข่งขัน พ่วงกับไปเที่ยวต่างรัฐด้วยกัน หลังจากกลับมาเพียง 1 สัปดาห์น้องเขาก็ซื้อจักรยาน ก่อนที่จะกลับมารับตำแหน่งผู้ช่วยอธิการบดีที่ผลักดันระบบเส้นทางจักรยานในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงที่สุด ผมไม่รู้ว่าเกี่ยวข้องอะไรกับการเดินทางครั้งนี้หรือไม่ แต่ผมคิดว่าการเดินทางครั้งนี้ส่งผลกับความคิดกับเขาพอสมควร การกลับไปแข่งขันที่ Edinboro ทุก ๆ ปีของผม มีความหมายมาก ๆ สำหรับการเริ่มต้นฤดูกาล เริ่มจากปีแรกที่เพื่อนนักกฏหมายได้พาผมไปพบกับบรรยากาศที่เรียกว่า pasta party งานไตรกีฬาที่ใหญ่เพียงพอระดับหนึ่งจะมีงาน pasta party ที่อาหารทุกอย่างจะฟรี (รวมอยู่ในค่าสมัคร) ซึ่งอาหารจะเรียบง่ายคือ ​pasta จำนวนมหาศาล มีให้กินจนไม่รู้จักหมด (ไม่มีอย่างอื่นให้กินครับ) บรรยากาศแห่งความเป็นมิตรที่ทุกคนจะทักทายกันราวกับว่ารู้จักกันมาก่อน ไถ่ถามกันว่ามาจากที่ใด เราอาจจะได้คุยกับแชมป์ปีที่แล้ว หรือคนที่กำลังจะเป็นแชมป์ เพราะในยุคนั้นคนเล่นไตรกีฬา ถือว่าเป็นกลุ่มคนประหลาดที่มีอยู่ไม่มากนัก เราจึงรู้สึกเป็นเพื่อนกันในทันทีที่ได้เจอกัน การกลับมาในทุก ๆ ปี จะเป็นตัวบ่งบอกความฟิตของผมในฤดูกาลนั้น ๆ บอกว่าในฤดูหนาวที่ผ่านมา ผมเตรียมตัวมาดีแค่ไหน เขาที่ยังจำได้ โค้งที่ประทับใจ ทำให้การปั่นสนามเดิม ๆ มีความหมายมากขึ้นทุก ๆ ปี ไม่รวมการพ่วงเที่ยวพิตสเบิร์ก หรือ Falling water ตามแต่ที่อยากจะไปก็ทำให้การเดินทางสนุกยิ่งขึ้น

race meeting#4

รายการอื่น ๆ ของปี ผมจะอยู่ในละแวกใกล้เคียง คือ Akron, Columbus, Cleveland และเมืองใกล้ ๆ บางครั้งผมเดินทางไปค้างคืนล่วงหน้าหนึ่งคืน เพื่อร่วมงาน pasta party เที่ยวเมืองเล็ก ๆ ข้าง ๆ เยี่ยมเพื่อนบ้างไรบ้าง หลาย ๆ ครั้ง ไปพักกับเพื่อนสนิทของผม โด่ง ที่เรียนอยู่ที่ Kent, Ohio ก่อนที่จะย้ายไปทำงานที่ Columbus, Ohio หลาย ๆ ครั้งที่ผมไปพักกับเขา ทำให้เขาตัดสินใจมาร่วมกับผมในหลายการแข่งขัน ตั้งแต่การซื้อจักรยานเสือภูเขาคันแรก ผมพาเขาไปเปิดที่สนาม single track ที่ technical ที่สุดในพื้นที่ Ohio เรียกว่า Vulture Knob ผมผ่านการแข่งขันที่สนามนี้หลายครั้ง ลงเขาแรก โด่งก็หัวทิ่ม คิ้วแตก ยังไม่ทันได้ปั่นไปไหนเลย หลังจากนั้นผมจึงพาเขาไปสนามอื่น ๆ ที่ง่ายกว่า ผมเริ่มสร้างแกงค์จักรยานขึ้นในเมือง มีหลาย ๆ คนซื้อเสือภูเขาคันแรก ด้วยความช่วยเหลือของผม เสือหมอบคันแรก หรือคันที่สองด้วยความช่วยเหลือของผม ผมเป็นสมาชิกชมรมจักรยานคนแรก ๆ ของมหาลัย เพราะผมเคยเป็นหัวลากให้ประธานชมรมคนแรกมาก่อน สมัยที่เขาอยู่ปี 1 ผมได้ไปช่วยสร้าง single track ของมหาลัยเส้นทางแรก

swim finish#3

งานที่ผมประทับใจอีกงานหนึ่งที่ผมไปทุกปีชื่อว่า Wendy’s International Triathlon ซึ่งผมพาเพื่อน ๆ ผมไปลงแข่งขันทวิกีฬาเป็นครั้งแรก โด่ง จบครั้งแรกด้วย DNF ส่วนพี่หนุ่มที่มีประสบการณ์มากกว่าเข้าเส้นชัยอย่างสวยงาม รายการนี้เราทั้งหมดได้ออกทีวีท้องถิ่น จริง ๆ แล้วหลาย ๆ รายการเราได้ออกทีวีกันเพราะทีวีที่นั่นจะค่อนข้างมีข่าวท้องถิ่นเป็นส่วนใหญ่ ความประทับใจครั้งนั้นอยู่ที่รายการข่าวที่มีนักกีฬาขาด้วนวิ่งเข้าเส้นชัย ก่อนที่พี่หนุ่มจะสปรินท์เต็มที่แข่งกับเด็กวัยประมาณสิบกว่า ๆ (โดยไม่รู้ว่าชายขาด้วนเพิ่งเข้าไปก่อนหน้านี้) ดูในข่าวแล้วมันสนุกจริง ๆ ครับ เพราะนั่งดูอยู่ด้วยกันทั้งสามคน

Alpine Valley #1

ผมเคยไปแข่งขันที่รายการที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ MsT’s Chicago Triathlon ซึ่งสร้างความประทับใจให้กับผมมาก ๆ เพราะวันนั้นเป็นครั้งแรกที่พี่หนุ่มที่เริ่มจากว่ายน้ำไม่เป็นเลย ที่ผมช่วยสอนว่ายน้ำจากเริ่มแตะขา จนกระทั่งลงรายการไตรกีฬาที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้ การได้ว่ายน้ำที่ชิคาโก ทำให้ผมคุยได้เต็มปากว่าการว่ายน้ำเจ้าพระยานั้น สะอาดดว่าชิคาโกเป็นอย่างมาก ที่ชิคาโกเหม็นมากขอบอก พี่หนุ่มว่ายถึงเป็นคนสุดท้ายและจบการแข่งขันอย่างสวยงาม การแข่งที่ชิคาโกครั้งนั้น แม้ว่าจะได้พ่วงการเที่ยวไปด้วย ทำให้ผมพบว่าการแข่งขันรายการเล็ก ๆ นอกเมืองนั้น บรรยากาศการแข่งขัน มันสนุกสนานกว่ากันมากมาย สวยกว่า สบายกว่า เป็นมิตรกว่า ผมไม่เคยกลับไปแข่งที่ชิคาโกอีกเลยหลังจากนั้น

ในงานแข่งหลาย ๆ งาน ผมได้เพื่อนใหม่แบบไม่ได้ตั้งใจ เพื่อนที่ฟิตเนส เมื่อเห็นเราซ้อม เมื่อเจอกันในงานแข่ง มีอยู่รายการหนึ่งที่ผมไปทุกปีเพราะเส้นทางปั่นที่สวยงาม ปั่นในป่า ขึ้นเขาวกวนก่อนมาจบที่ทะเลสาปที่ใช้ว่ายน้ำ ชื่อรายการว่า Ashtabula Triathlon ผมมักจะขับรถไปแต่เช้ามืดเพื่อไปนอนรอก่อนแข่ง เนื่องจากที่พักไม่ค่อยสะดวกนักในพื้นที่นั้น รายการสปรินท์ ออกตัวในน้ำคล้าย ๆ กันการแข่งโอลิมปิกสมัยนี้ การออกตัวแบบนี้ทำให้ผมได้เปรียบ เพราะปกติผมจะไม่ค่อยชอบออกตัวเร็ว ไม่ชอบโดนถีบ ไม่ชอบแย่งกันว่าย แต่พอทุกคนออกตัวพร้อม ๆ กันแบบนี้ ผมจึงมีโอกาสนำขึ้นหน้าได้ง่าย ในงานนั้นผมทำผิดพลาดครั้งใหญ่ ทำให้ผมไม่กล้าที่จะทำอีกเลย นั่นคือ ผมว่ายน้ำอย่างเต็มที่ ปรากฏว่าเข้าเส้นมาเป็นที่หนึ่ง ก่อนที่จะค่อย ๆ กลายเป็นที่ 10 ตอนปั่น และหายไปเมื่อวิ่ง เพราะความเร็วในการวิ่งของผมเมื่อก่อนนั้นค่อนข้างแย่ หลาย ๆ คนเชียร์ผม ต้องกลับมาถามว่าผมหายไปไหน ผมได้เพื่อนใหม่ในวันนั้นหลายคน ส่วนใหญ่เป็นรุ่นน้องที่มหาลัยที่เห็นผมซ้อมว่ายน้ำ หรือวิ่ง จึงตั้งใจเชียร์ผมในวันที่ผมได้ที่หนึ่งว่ายน้ำในวันนั้นเอง

Vulture Knob #3

Akron Triathlon ก็เป็นรายการที่ผมชอบอีกรายการหนึ่ง เพราะสนามแข่งขันดี ปั่นสนุก เพื่อน ๆ มักจะไปกันครบทุกคน สิ่งที่ผมมีความสุขเสมอ คือบรรยากาศการแข่งขันที่อเมริกานั้น เหมาะกับเป็นกิจกรรมครอบครัวเป็นอย่างมาก เราจะเห็นแต่ละคนมีครอบครัวมาคอยให้กำลังใจ บรรยากาศใกล้ ๆ เส้นใจเต็มไปด้วยความสุข ความรักตลบอบอวล งานที่ Akron เป็นงานหนึ่งที่ให้บรรยากาศแบบนี้ และความรู้สึกแบบนี้ส่งผลมากับผมจนถึงทุกวันนี้ ในอีกรายการที่เป็นเสมือนงานที่สำคัญที่สุดคือ รายการ Cleveland Triathlon บางปีเรียกว่า Keybank Tri บางปีเรียกว่า Rock N’ Roll  Tri แล้วแต่ว่าสปอนเซอร์หลักจะเป็นใคร แต่เป็นรายการใหญ่ประจำปีของเมืองที่ผมอยู่ จะเป็นรายการที่ผมจะมีเพื่อน ๆ มาเชียร์มากที่สุด

Wendy's 99 #2

ระยะ Olympic distance นับว่าเป็นระยะที่สำคัญที่สุดในยุคนั้น เพราะรายการใหญ่ ๆ ประจำปีจะเป็นระยะนี้ทั้งสิ้น รวมถึงที่ Cleveland ด้วย ผมได้พบกับนักกีฬาดัง ๆ ในสมัยนั้น ที่เป็น idol ของผมอย่าง Mike Pigg, Puala Newby-Fraser ได้พบ Peter Reid, Karen Smyer หลาย ๆ คนเคยมาเป็นแชมป์ในรายการลากูนาไตรกีฬาในยุคแรก ๆ แล้วทั้งนั้น พี่หนุ่มเริ่มเข้าสู่วงการที่นี่ด้วยการเป็น Volunteer ก่อนที่จะผันตัวมาเป็นนักกีฬาในปีถัด ๆ ไป ถ้าจะให้คิดก็คงเหมือนรายการกรุงเทพไตรกีฬา ที่ว่ายน้ำที่ Lake Erie ที่สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญอย่าง Rock N’ Roll Hall of Fame ปั่นขึ้นทางด่วนของเมืองอย่าง I-90 และวิ่งวนผ่านสถานที่สำคัญของเมือง การแข่งขันในเมืองใหญ่ ๆ บรรยากาศไม่ค่อยอบอุ่นมากนัก แต่เนื่องจากเป็นเมืองของผม เพื่อน ๆ ที่ตื่นเต้นกับการได้รู้จักนักไตรกีฬาอย่างผมก็มาเชียร์กันถ้วนหน้า สร้างความสุขให้กับผมไม่ใช่น้อย ผมเคยทำโซ่หลุดแล้วดึงจนตีนผีหักที่รายการนี้

NCB

ผมกลับมาเมืองไทยเริ่มชีวิตการทำงาน ทำให้ผมลืมการออกกำลังกายไปเป็นระยะเวลาหนึ่ง ผมแข่งขันครั้งแรกที่รายการลากูน่าภูเก็ต ด้วยความไม่พร้อม แต่ก็เป็นครั้งแรกที่การเดินทางแข่งขันของผมเริ่มเปลี่ยนไป ภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวผมจึงพ่วง element ของการท่องเที่ยวเข้าไปด้วยอย่างมาก ผมกลับไปภูเก็ตเป็นครั้งที่สองของชีวิต หลังจากที่เคยไปกับครอบครัวตั้งแต่ยังเรียนหนังสือในมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ พักผ่อนจากงานประจำและเล่นกีฬาที่เรารัก แต่หลังจากนั้นอาการกระดูกสันหลังเสื่อมก็ทำให้ผมต้องหยุดไป แต่ด้วยเมื่อสุขภาพเสื่อมโทรมจนคิดว่าต้องเริ่มกลับมาทำอะไรสักอย่าง ผมจึงตัดสินใจไปภูเก็ตอีกครั้งเพื่อไปชมการแข่งขัน สร้างกำลังใจ และเป็นครั้งแรกที่ผมพาภรรยาที่เพิ่งแต่งงานกันไม่กี่เดือนไปด้วย เป็นการพักผ่อนกับครอบครัวของผมเอง และให้ความหวังกำลังใจกับชีวิตไตรกีฬาของผม หลังจากนั้นผมก็เริ่มกลับมาซ้อมอย่างจริงจัง และใช้กีฬาสร้างชีวิต และการเดินทางให้กับผมอีกครั้ง

DSC00145

ปัจจุบันนี้ ผมซ้อมทุกวัน (ที่ไม่อู้ซ้อม) แข่งขันในทุก ๆ รายการที่ทำได้ ในการเดินทางทุกครั้ง ผมไม่เคยเร่งรีบ ในการเดินทางทุกครั้งผมมีครอบครัวไปให้กำลังใจ ผมเดินทาง ท่องเที่ยว พักผ่อนในที่พักสบาย ๆ ที่ให้ความสะดวกสบายไม่ต่างจากการอยู่ที่บ้าน หรือบางครั้งหรูหรา กว่าที่บ้าน ลูก ๆ ผมค่อย ๆ โตขึ้นเรื่อย ๆ จากที่แม่เข็นมาให้กำลังใจในช่วงปล่อยตัว จนทุกวันนี้จะมารอคอยเพื่อวิ่งเข้าเส้นด้วยกันกับพ่อ ผมใช้โอกาสในการเดินทางแข่งขันนี้เป็นวันของครอบครัวอย่างเต็มที่ เป็นวันที่ผมไม่ทำงานใด ๆ ตั้งแต่เริ่มออกรถจากบ้าน เดินทางไปด้วยกัน เข้าที่พัก เที่ยวไปในเมืองต่าง ๆ ที่ไปแข่ง จนถึงการแข่งขัน ท่องเที่ยวพักผ่อนหลังการแข่งขัน บรรยากาศสบาย ๆ อาหารอร่อย ๆ เป็นของขวัญให้กับครอบครัวของผม ที่เสียสละให้ผมซ้อมทุก ๆ วัน ให้ผมได้ใช้งบประมาณในอุปกรณ์ต่าง ๆ ผมคืนให้ด้วยเวลาของผม ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ  ที่ต้องเสียไป ถ้าจะตีเป็นเงินว่ามันคุ้มค่าหรือไม่ สำหรับผมแล้วมันคุ้มค่าเสมอ เงินมันไม่เคยมีค่าอะไรเลยสำหรับผม ผมยอมที่จะเสียเงินไปแลกกับเวลาที่ผมจะได้กลับมา ผมยอมที่จะเสียเงินไปเพื่อความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ ของคนในครอบครัว ประสบการณ์อันยิ่งใหญ่ของลูก ๆ ของผม

bike

ในช่วงหลังนี้เพื่อนร่วมก๊วนของผมเริ่มมากขึ้น ถึงขนาดมีทีม ชื่อทีม ชุดทีมของพวกเรากันเอง การแข่งขันแต่ละครั้งมันยิ่งมีความหมายมากขึ้น การซ้อมมันมีความหมายมากขึ้น ผมรู้ว่าประสบการณ์ของผมจะเป็นประโยชน์กับหลาย ๆ คน ผมรู้ว่าแนวความคิด และการใช้ชีวิตของผมจะเป็นกำลังใจให้กับหลาย ๆ คน การซ้อมของผมแต่ละวัน มีผลให้เพื่อน ๆ หันมาออกกำลังกาย การลงทะเบียนเพื่อแข่งแต่ละครั้งจะทำให้หลาย ๆ คนออกกำลังกายไปอีกหลายชั่วโมง การซ้อมการแข่งของผมในทุกวันนี้มีความหมายเพิ่มขึ้นทุกที ผมมีครอบครัวของผมไปด้วยทุกครั้ง เพื่อบรรยากาศความสุขของครอบครัวผมเอง และผมกำลังพยายามสร้างสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้นในรายการของคนไทย ให้คนไทยใช้เวลากิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับครอบครัวมากขึ้น โดยเริ่มต้นจากเพื่อนร่วมทีมของผมก่อน ซึ่งเพื่อน ๆ ใกล้ ๆ ตัวของผมก็เริ่มกันบ้างแล้ว ครอบครัวเป็นจุดเริ่มต้นของทุกสิ่งครับ สิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ สร้างความรักและผูกพันธ์ุขึ้นในครอบครัวอย่างไม่น่าเชื่อเลยทีเดียว ในอีกไม่กี่ปีผมคงสามารถเพิ่มระยะทางการแข่งขัน รวมถึงการเดินทางที่เป็นกิจกรรมประจำปีของครอบครัวที่จะสนุกขึ้นเรื่อย ๆ ครับ ผมเคยคิดว่าสิ่งที่ทำให้ผมทุ่มเวลาให้กับครอบครัวโดยไม่สนเรื่องราวอื่น ๆ นั่นมาจากการสูญเสียลูกสาวคนแรกของผมไป ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ซูริ เป็นคนที่สอนผมในเรื่องนี้ครับ เวลาหาซื้อไม่ได้ เงินจะหาเมื่อไรก็ได้ ขอให้มีความสุขกับการใช้เวลาของทุก ๆ คนครับ

ไตรฯ ทำไม?

ไตรกีฬา หรือ Triathlon เป็นกีฬาที่ผมโปรดปรานมากที่สุด ไม่นานมานี้ (2 ธันวาคม 2555) ผมเพิ่งประสบความสำเร็จกับระยะทางใหม่ที่ไกลกว่าเดิมนั่นคือ ระยะ Half Ironman หรือ ในเวลานี้ถูกจดลิขสิทธิ์ไว้ในชื่อของ Ironman 70.3 โดยหมายเลข 70.3 เป็นระยะทางรวม (เป็นไมล์) ที่นักกีฬาจะต้องผ่านกันภายในระยะเวลาที่กำหนด ผมจบรายการนี้ด้วยเวลา 6 ชั่วโมง 59 นาที ด้วยระยะทางอันยาวไกลและเวลาที่หลาย ๆ คนไม่สามารถนึกภาพตามได้ว่าการออกกำลังกายอย่างหนักเป็นเวลาค่อนวันมันเป็นอย่างไร และที่สำคัญทำไปเพื่ออะไร

IMG_3800

หลาย ๆ คน มองว่าเป็นการเอาชนะตนเอง ความท้าทายของชีวิต บางคนมองว่าทำไปเพื่อสุขภาพ หรืออื่น ๆ อีกมากมาย เมื่อผมมองกลับมาที่ตัวเอง มันยังไม่มีคำตอบที่โดนใจผม ผมตั้งใจจะเขียนบทความนี้เพื่อขุดเข้าไปภายในจิตใจของตนเอง เพื่อจะถามว่าทำไม โดยที่ผมเอง ณ เวลานี้ยังไม่รู้ว่าบทความนี้จะให้คำตอบอะไรกับผม ทำไม ผมเริ่มกีฬานี้ในฐานะของสมาชิกชมรมว่ายน้ำ ที่หันไปวิ่งเพื่อสุขภาพ ในขณะที่ใช้จักรยานเป็นยานพาหนะในการเดินทาง ในขณะที่ผมเริ่มกีฬาประเภทนี้จากรายการทวิกีฬางานต่าง ๆ ก่อน เนื่องจากสมัยนั้นการแข่งขันไตรกีฬาต่างจังหวัดเป็นไปได้ยากมากสำหรับนักเรียนบ้านนอกอย่างผม ในที่สุดผมได้มีโอกาสแข่งขันไตรกีฬาครั้งแรกในทันทีที่เรียนจบ แม้่ว่าการเดินทางจะทุลักทุเลเป็นอย่างมาก ผมต้องเดินทางด้วยรถไฟจากปัตตานี มาขึ้นรถทัวร์เพื่อไปจังหวัดจันทบุรี เพื่อแข่งรายการไตรกีฬาวิบาก การแข่งขันครั้งแรกนั้นมันช่างทรมาณเหลือหลาย ผมใช้เวลาส่วนใหญ่ในการเดินมากกว่าวิ่ง แต่ความฝันของผมที่จะได้ลงเล่นไตรกีฬาก็เป็นจริงแล้ว ครั้งแรกนั้นจึงเป็นเพียงเติมความฝัน ในเวลานั้นผมซ้อมมั่ว ๆ ตามสภาพ ขอแค่ถึงเป็นพอ
TRI NCB

หลังจากจบการศึกษาไม่นาน ผมก็ไม่โอกาสไปศึกษาต่อต่างประเทศ ทันทีที่ผมไปถึงผมก็หาข้อมูลเกี่ยวกับไตรกีฬาในทันที โชคดีที่ว่าไตรกีฬาในขณะนั้นเริ่มได้รับความนิยม มีรายการแข่งขันแทบทุกสัปดาห์ตลอดช่วงฤดูร้อน รวมไปถึงรายการยิ่งใหญ่ประจำปีของเมืองคลีฟแลนด์ที่ผมอยู่ด้วย ซึ่งอาจจะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมไปจนถึงสิงหาคม ผมหาข้อมูลทุกอย่างเรื่องการซ้อม รวมไปถึงหาเพื่อนร่วมซ้อม แม้ว่าผมจะโชคดีที่ได้เพื่อนร่วมซ้อมที่ต่อมาชวนกันไปแข่งในหลาย ๆ งานที่น่าจดจำ อย่างไรก็ตามผมก็ยังไม่ทุ่มเทมากถึงขนาดเข้าร่วมกับทีมนักวิ่ง นักว่ายน้ำ หรือนักปั่นจักรยานของเมืองเพื่อซ้อมทั้งสามกีฬานี้ ผมเลือกที่จะจัดเวลาในการซ้อมด้วยตนเอง ด้วยความรุ้ที่ได้จากหนังสือหลาย ๆ เล่ม

swim finish#3

สิ่งที่ผมค้นพบคือว่า ไตรกีฬา เป็นกีฬาที่ต้องมีการวางแผน และเตรียมตัวล่วงหน้าเป็นเวลานานมาก ในยุคนั้นหนังสือทั้งหมดแนะนำการใช้เวลาทั้งปีในการออกแบบตารางการซ้อมสำหรับแข่งในฤดูแข่งขันที่จะมาถึง ในขณะที่ต่างเล่มอาจจะมีแนวความคิดที่แตกต่างกันอยู่บ้างในการซ้อมช่วงฤดูหนาว แต่ส่วนใหญ่การซ้อมจริง ๆ จะเน้นอยู่ในช่วงสร้างฐานในช่วงฤดูใบไม้ร่วง และเริ่มฝึกความเร็วก่อนถึงฤดูใบไม้ผลิเล็กน้อย จากการที่ต้องมีการเตรียมตัวซ้อมกันทั้งปี แบบนี้ในฤดูแข่งขัน เราก็มักจะร่วมการแข่งขันกันค่อนข้างถี่อาจจะถึงทุกสัปดาห์ แต่สลับระยะแข่งขันกันไป ส่วนใหญ่แล้วในเวลานั้น ระยะยาวที่สุดที่เป็นไฮไลท์ของฤดูกาลก็จะเป็นเพียงระยะโอลิมปิกเท่านั้น (ครึ่งหนึี่งของระยะ Ironman  70.3) รายการย่อย ๆ ก็ถูกเรียกว่า sprint distance ซึ่งมีระยะทางแตกต่างกันไปไม่มีมาตรฐานที่ชัดเจน ในฤดูกาลหนึ่งผมจะแข่งขันประมาณ 8-10 ครั้ง โดยมักจะมีระยะโอลิมปิกประมาณ 3 ครั้งกระจายตั้งแต่ต้นฤดูไปจนปลายฤดู ที่เหลือก็ไปแข่งทุกงานที่ไม่ไกลเกินไปนัก

เนื่องจากความจำเป็นในการวางแผน ออกแบบการซ้อม และมีอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องค่อนข้างมาก ในยุคเติบโตของไตรกีฬานั้น นักกีฬาส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มบุคคลประเภทหนึ่งที่จัดอยู่ในประเภทที่ต้องวางแผน และมีความสามารถมองสู่เป้าหมายระยะยาวได้ คนกลุ่มนี้ได้แก่ ทนายความ แพทย์ ผู้บริหารธุรกิจ และนักศึิกษาระดับบัณฑิตศึกษา ซึ่งผมจัดอยู่ในกลุ่มบัณฑิตศึกษา สำหรับผมที่เป็นนักศึกษาไทยได้รับทุนการศึกษาไปศึกษาต่างประเทศ ผมเองไม่เคยวางแผนระยะยาวเกี่ยวกับการเรียนของผมมากนัก แต่ต้องยอมรับว่าการเข้าเล่นไตรกีฬาอย่างจริง ๆ จังๆ ในช่วง 7 ปีที่ศึกษาต่ออยู่นั้น ทำให้ผมเพิ่มศักยภาพในการมองไกล ตั้งเป้าหมายระยะไกล และออกแบบวางแผนเพื่อไปสู่เป้าหมายนั้น ๆ ได้ อย่างเป็นธรรมชาติ การวางแผนต่าง ๆ โดยให้มีการสลับกิจกรรม มีไมล์สโตน รวมไปถึงการตรวจสอบความเหมาะสมของแผนและความก้าวหน้าของงานตามแผนนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นอะไรที่ผมเรียนรู้จากการออกแบบการซ้อมไตรกีฬาของผมทั้งนั้น

bike finish#1

ในช่วง 7 ปีนั้น ผมสนใจเรื่องของการออกแบบแผนการซ้อม ตั้งสมมุติฐาน ทดสอบสมมุติฐาน และวัดผล ผมต้องการผลการแข่งขันที่ดีขึ้น ๆ ทุก ๆ ปี แม้ว่าส่วนใหญ่จะได้ตามคาดหวัง ซึ่งอาจจะเกิดจากการซ้อมที่ปรับปรุงขึ้นเรื่อย ๆ หรือ ประสบการณ์แข่งขันที่สั่งสมมาเรื่อย ๆ ก็เป็นได้ เมื่อเวลาแย่ลงก็จะมีโจทย์เพื่อการปรับเปลี่ยนกระบวนการซ้อมเล็กน้อย รวมไปถึงการปรับปรุง ปรับเปลี่ยน แก้ไข เมื่อไม่สามารถทำตามแผนที่วางเอาไว้ สิ่งเหล่านี้จะสามารถทำได้ดีมากขึ้นเมื่อประสบการณ์มีมากขึ้น และมันเป็นประโยชน์อย่างมากในการเรียนระดับบัณฑิตศึกษาของผม ที่มีกิจกรรมเกี่ยวเนื่องมากมายจากวันที่เริ่มเข้าเรียนไปจนถึงวันที่พรีเซนต์จบ ทักษะเหล่านี้ผมเรียนรู้มาจากไตรกีฬาทั้งสิ้น

มุมมองต่อไตรกีฬาของผมเปลี่ยนไปเมื่อผมได้กลับมาเมืองไทย ณ เวลานั้นผมรู้จักเพียงรายการลากูน่าภูเก็ตไตรกีฬา ผมจึงสมัครเข้าร่วมทันทีที่ผมได้จักรยานผมกลับมาจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตามผมมองว่าการวางแผนซ้อมทั้งปีเพื่อการแข่งขันเพียงครั้งเดียวนั้นไม่คุ้มค่าเสียเลย ผมจึงเห็นการแข่งขันนี้เพียงเพื่อการเข้าร่วม และโอกาสไปเที่ยวภูเก็ตอย่างน้อยปีละครั้ง ส่วนการซ้อมก็ไปตามสภาพ ไม่มีการวางแผน อาศัยความรู้สึก และระยะที่คุ้นเคยมาตลอดระยะเวลา 7 ปี ที่สำคัญไม่มีการบันทึก การแข่งขันปีนั้นที่ภูเก็ตถือว่าอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่ สนามที่โหดกว่าทุก ๆ สนามที่ผมเคยเจอมาในอเมริกา ภูเขาชัน ๆ ที่ต้องเข็นเท่านั้น อากาศร้อน ๆ ขณะวิ่ง ทำให้ผมต้องเดินเป็นส่วนใหญ่และทำเวลาเกินกว่าสี่ชั่วโมง ในการแข่งขันครั้งนั้น ผมได้เรียนรู้ว่าประสบการณ์แม้ว่าจะทำให้เราทำอะไรได้ง่ายขึ้น ได้ผลที่ดีขึ้น แต่ไม่สามารถทดแทนการวางแผนไปได้ ในฤดูกาลถัดไปผมจึงเริ่มวางแผนการซ้อมแต่น่าเสียดายอาการบาดเจ็บที่กระดูกสันหลังของผมพัฒนาเป็นภาวะกระดูกเสื่อมจนผมไม่สามารถวิ่งได้อีก ทำให้จำเป็นต้องเลิกไป

IMG_3792

ผมหยุดไตรกีฬาแล้วหันมาหากีฬาอื่นเพื่อทดแทนเริ่มด้วยกีฬาเพาะกาย ในขณะที่กำลังจะไปได้ดีแต่ผมก็ต้องล้มเลิกเสียเพราะงานด้านการกินที่เป็นงานหลักของเพาะกายนั้นผมไม่มีความสุขเอาเสียเลย ในขณะที่สภาพการเสื่อมของกระดูกหลังของผมเริ่มเลวร้ายขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะเดียวกันกีฬาปีนเขาที่ผมเริ่มหลงไหลมันมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็ดูเป็นคำตอบที่ดีที่สุดเนื่องจากเป็นกีฬาที่ไม่มีการกระทบกระแทกเลย อย่างไรก็ตามด้วยความที่ยังเป็นกีฬาใหม่สำหรับประเทศไทย ที่ปัตตานีการหาสถานที่เพื่อซ้อมปีนเขาเป็นไปไม่ได้เลย ผมจึงค่อย ๆ ห่างจากการฝึกซ้อมและในที่สุดก็หยุดทุกอย่างไป จนกระทั่งในวันหนึ่งสุขภาพของผมย่ำแย่เป็นที่สุด อาการกระดูกเสื่อมไม่ได้ดีขึ้น ความแข็งแรงลดลง ป่วยง่าย เหนื่อยง่าย ผมต้องเริ่มทำอะไรกับชีวิตอีกครั้ง

ผมค้นคว้าและเริ่มใหม่ วิ่งด้วยรองเท้าแตะ Fivefingers เท้าเปล่า เอาจักรยานทุกคันออกมาซ่อม ปั่นไปทำงาน ปั่นเพื่อซ้อม ลงสมัครแข่งขันวิ่ง ไตรกีฬาในรูปแบบผลัด เพิ่มระยะวิ่งจาก 10K เป็น 21K จนเป็นมาราธอนแรกของชีวิต ลงทวิกีฬา เริ่มจากไตรกีฬาแบบผลัดไปเป็นเดี่ยว จากระยะโอลิมปิก เพิ่มเป็น Ironman  70.3 เกิดอาการเข่าเสื่อม กัดฟันสู้ ซ้อมต่อ วิ่ง trail วิ่งข้ามมหาสมุทร จากไม่เคยคิดจะแข่งขันรายการเสือหมอบก็เริ่มเข้าร่วมปั่น การแข่งขันเยอะแยะมากมาย เมื่อมองย้อนกลับไปในระยะปีกว่า ๆ ที่ผ่านมานี้ ผมแข็งแรงขึ้นมากกว่าสมัยหนุ่ม ๆ เสียอีก แม้ว่าสถิติผมจะไม่สามารถจะทำได้อย่างสมัยหนุ่ม ๆ อีกแล้วแต่ความอดทน จิตใจของผมแข็งแกร่งขึ้นมาก

IMG_6893

ไตรกีฬาสร้างผมให้เป็นเช่นนี้ ผมเชื่ออย่างนั้น กีฬาที่ต้องใช้การวางแผนระยะยาว กีฬาที่ต้องใช้ความอดทนเป็นปัจจัยหลัก กีฬาที่มีความหลากหลาย ทั้งการว่ายน้ำที่ต้องใช้เทคนิคเป็นสำคัญ จักรยานที่มีปัจจัยของอุปกรณ์เข้ามาเกี่ยวข้องค่อนข้างมาก วิ่งที่ต้องใช้ความอดทนเป็นอย่างสูงเมื่อเป็นกีฬาสุดท้ายภายหลังจากออกแรงทุกอย่างมาเป็นระยะเวลาพอสมควรแล้ว มีไม่กี่สิ่งในชีวิตของผมที่อยู่กันมาเนิ่นนานอย่างไตรกีฬา ถ้านับตั้งแต่ครั้งแรกที่ผมเข้าแข่งขันเราก็รู้จักกันมากว่า 24 ปี ผมทุ่มเทเวลา กำลังกายกำลังทรัพย์มากมายไปกับกีฬานี้ ผลตอบแทนเพียงอย่างเดียวที่ผมต้องการและกีฬานี้ให้ผมได้คือสุขภาพ พร้อมของแถมอื่น ๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ระเบียบวินัย การวางแผน การใช้เวลาเดินทางท่องเที่ยวกับครอบครัว แม้ว่าผมจะแข่งรายการวิ่ง หรือจักรยานอื่น ๆ บ่อยครั้งกว่าไตรกีฬา แต่ไตรกีฬายังคงเป็นเป้าหมายสำคัญของผมอยู่เสมอ 

IMG_3804

Ironman : First experience


ผมลงทะเบียนเข้าร่วมแข่งขัน Laguna Phuket Ironman 70.3 โดยไม่รู้มาก่อนว่างานนี้ จะเป็นทั้ง Ironman ครั้งแรกและครั้งสุดท้ายของผม ผมเดินทางไปพักผ่อนที่ภูเก็ตตรงกับช่วงที่มีการแข่งขัน Laguna Phuket Triathlon ผมกลับมาตั้งใจซ้อมเพื่อที่จะกลับมาร่วมแข่งขันในรายการให้ได้ แต่ในปีนั้นผมพบว่ามีรายการ Ironman 70.3 ในสนามเดียวกัน แต่แข่งขันถัดออกไปหนึ่งสัปดาห์ เป็นช่วงที่เรียกว่า TRI-WEEK ของที่นั่น ผมจึงตัดสินใจจัดทีมแข่งขันรายการนี้ขึ้นมาโดยผมอาสาเล่นกีฬาประเภทใดก็ได้ ในที่สุดผมก็ได้ทีม Addicted ที่มีผู้ร่วมทีมคือ ต่อ (ชลวิทย์) มาเป็นนักว่ิง และ ​ณัฐ (ณัฐวุฒิ) ทำหน้าที่ว่ายน้ำให้กับทีม นับเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องจริง ๆ ที่ผมเริ่มการกลับมาออกกำลังกายด้วยโจทย์ง่าย ๆ เช่นนี้

แม้ว่าในช่วงต้นปีผมใช้กลไกการลงแข่งขันวิ่งรายการต่าง ๆ ในระยะยาวที่สุดถึง 21.1K หรือฮาร์ฟมาราธอน แต่ช่วงเวลากลางปีที่เหลือผมก็ไม่สามารถผลักตัวเองให้ซ้อมได้มากนัก การเข้าร่วมการแข่งขัน Ironman 70.3 ในรูปทีมของผมก็ผ่านไปได้ด้วยดี เป็นการจบปีของการออกกำลังกายที่น่าประทับใจปีหนึ่งเลยทีเดียวและเป็นการแนะนำผมได้รู้จักการแข่งขันกีฬาคนอึดในรูปแบบของทีม แต่เนื่องจาก Ironman เป็นกีฬาเดี่ยว การจบรายการในรูปแบบทีมไม่ได้สร้างความภาคภูมิใจแบบ Ironman ให้กับผมได้ ผมจึงตั้งใจว่าในปีถัดไปนั้นผมต้องร่วมแข่งขันแบบเดี่ยวให้ได้ วินัยในการซ้อมเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดถ้าหากผมต้องการเพิ่มชั่วโมงการออกกำลังกายจาก 3 ชั่วโมงเป็น 7 ชั่วโมงให้สำเร็จ

IMG_3805

แน่นอนว่าการสร้างวินัยภายในระยะเวลาอันสั้น มันไม่ใช่เรื่องง่าย decoy ต่าง ๆ จึงได้ถูกวางเอาไว้เป็นจังหวะ เริ่มจากการแข่งมาราธอนแรก การแข่งขันทวิกีฬาที่สมุย การแข่งขันไตรกีฬาที่กรุงเทพ ล้วนแล้วแต่เป็น decoy ที่วางไว้เป็นข่วง ๆ เพื่อกำหนดจังหวะการซ้อมตลอดทั้งปีของผม อย่างไรก็ตามในช่วงปลาย ๆ ปี ปริมาณการแข่งขันมีน้อยลง เช่นเดียวกับการเข้าร่วมการแข่งขันที่ลดลง จนกระทั่งเกิดการแข่งขันในสภาวะอ่อนซ้อม กดดันให้ผมเกิดอาการบาดเจ็บ ในรายการสงขลามาราธอนนานาชาติ จนทำให้ผมต้องทดสอบการใช้เท้าเปล่าในการวิ่งแข่งขันในรายการสมุยมาราธอน เพื่อผลักดันความพร้อมให้เกิดขึ้นจงได้ ทั้งหมดทั้งสิ้นเป็นการเตรียมตัวตนสำหรับการแข่งขันที่จะยาวนานที่สุดในชีวิตของผม ซึ่งผมประมาณเอาไว้ว่าผมน่าจะใช้เวลาในรายการนี้ 6:30-7:00 ชั่วโมง ผมได้เรียนรู้จากการเข้าแข่งขันกีฬาคนอึดในหลาย ๆ รายการว่าการประเมินระยะเวลาการแข่งขันนั้นสำคัญกับการเตรียมตัวซ้อม และเตรียมตัวแข่งเป็นอย่างมาก

ถึงแม้กระนั้นการเดินทางอย่างหนักหน่วงทำให้การซ้อมของผมไม่เป็นไปตามแผนเสียส่วนใหญ่ และเกือบจะห่างหายไปทั้งสองเดือนก่อนที่จะย่างเข้าปลายปี แต่ยังโชคดีที่ในช่วงหนึ่งเดือนก่อนการแข่งขัน ผมไม่มีการเดินทางทำให้สามารถอัดเวลาการซ้อมได้หนักหน่วงยิ่งขึ้น เตรียมพร้อมกับการแข่งขันระยะทางยาวไกลที่สุดของชีวิตผม 7 ชั่วโมงของการออกกำลังอย่างหนักหน่วง ต่อเนื่อง คงไม่ใช่กิจกรรมที่อยู่ดี ๆ ผมนึกจะลุกขึ้นมาทำได้อย่างง่ายดาย การเตรียมพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับผมเป็นอย่างมาก ผมต้องย้ำคำว่าเจ็ดชั่วโมงนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อให้เห็นถึงความยาวนานของกิจกรรมนี้ และเพื่อให้เห็นถึงแรงจูงใจหลักที่ผมใช้ผลักดันการฝึกซ้อมของผม

L1010170

การได้เข้าแข่งขันในประเภทผลัดในปีที่ผ่านมา รวมไปถึงการแข่งขันไตรกีฬาครั้งรอบเกือบสิบปีในรายการกรุงเทพไตรกีฬา ทำให้ผมคลายความเตรียด ลดความตื่นเต้นลงได้มากเมื่อได้เดินทางไปถึงภูเก็ตเพื่อลงทะเบียน รับเบอร์ ฟัง race briefing รวมไปถึงการที่ได้สวมใส่เสื้อสามารถจากงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสมุย กรุงเทพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสื้อของรายการนี้ในปีที่ผ่านมาทำให้ความมั่นใจของผมเพิ่มสูงขึ้น เพราะเราได้แสดงให้ผู้ร่วมคนอื่น ๆ ได้เห็นว่าเราเป็นคนหนึ่งที่มีประสบการณ์  ปีนี้ผมเดินทางไปล่วงหน้าค่อนข้างนาน แม้ว่าจะไม่นานอย่างที่ตั้งใจไว้คือไปไม่ทันวันปั่นสำรวจเส้นทางที่มีรถตำรวจขับนำ แต่ก็นานเพียงพอที่จะให้ผมมีเวลาปั่นซ้อมสำรวจเส้นทาง โดยเฉพาะ 2-3 ภูเขาที่ผมจะต้องเจอในช่วงสุดท้ายของการแข่งจริงได้ถึงสองครั้ง การได้สัมผัสเส้นทางเหล่านี้ก่อนการแข่งขันช่วยอย่างมากในเรื่องการวางแผน และสภาวะทางจิตใจเมื่อการแข่งขันมาถึง ซึ่งผมต้องการมันเป็นอย่างมาก

L1010161

เช้าวันแข่งขันมาถึง พร้อมกับสิ่งที่ไม่คาดคิดอีกเล็ก ๆ น้อย ๆ รายการนี้เป็นหนึ่งในไม่กี่รายการในประเทศที่บังคับให้มีการฝากรถที่จุดทรานสิชั่นล่วงหน้าไว้หนึ่งคืน การจอดจักรยานตากแดดทิ้งไว้ตั้งแต่เมื่อวานมักจะต้องปล่อยลมยางออกเพื่อป้องกันยางระเบิดโดยไม่คาดคิด ในช่วงเช้าก่อนการแข่งขันต่างคนก็จะมาสูบลมให้เต็มอีกครั้ง ซึ่งปกติทางผู้จัดการแข่งขันจะเตรียมสูบลมไว้ให้ แต่ในปีนี้ผู้เข้าร่วมแข่งขันเป็นจำนวนมากเลือกที่จะนำจักรยานออกมาเติมลมที่เต้นบริการทำให้สูบลมที่มีจำนวนจำกัดมีไม่เพียงพอ ผมจึงต้องไปขอยืมจากผู้ร่วมแข่งขันคนอื่นที่เลือกที่จะหิ้วสูบลมมาแข่งขันด้วย เหตุติด ๆ ขัด ๆ เล็กน้อยเช่นนี้ในวันแข่งขันไม่ใช่สิ่งที่ดีนัก เพราะมันทำลายสมาธิและ spirit ของการแข่งขันที่บ่มเพาะมาทั้งคืน

น้อง ๆ นักเรียนอาสาสมัครที่คาดว่าล้วนมาจากโรงเรียนนานาชาติในพื้นที่เข้ามาช่วยเรื่องการเตรียมถุง T1 และ T2 นี่ก็เป็นอีกรายการที่มีความแตกต่างจากรายการอื่น ๆ ในประเทศไทย (หรืออาจจะเป็นแนวปฏิบัติในการแข่งขันนานาชาติ ไม่อาจทราบได้) ในจุดทรานสิชั่นซึ่งโดยปกติแต่ละคนจะมีอุปกรณ์วางไว้ข้าง ๆ จักรยานของตัวเอง แต่รายการนี้ทุกคนจะต้องใส่ของไว้ในถุงซึ่งแบ่งเป็นสองถุง คือ T1 และ T2 ถุงดังกลาวจะถูกแขวนไว้บนราวเพื่อให้นักกีฬาสามารถคว้าถุงของตัวเองออกไปเพื่อนำไปแต่งตัวที่เต้นแต่งตัวก่อนที่จะใส่สิ่งของทุกอย่างลงถุงทิ้งไว้ที่เต้นบริการนั้น นักเรียนนานาชาติได้สอนให้ผมผูกเงื่อนกระตุกที่จะช่วยในการปลดถุงออกได้รวดเร็วขึ้นเมื่อถึงเวลาทรานสิชั่น แต่มันกลับมาสร้างปัญหาให้กับผมมากอย่างไม่น่าให้อภัย เมื่อผมจัดการส่ิงของลงถุงเรียบร้อยแล้วผมก็รีบไปยังจุดปล่อยตัวในทันที ครอบครัวผมแม้ว่าจะเดินทางไปไหนมาไหนกับผมด้วยทุกครั้งแต่ผมก็ไม่เคยที่จะปลุกให้แต่ละคนตื่นเช้ามาเชียร์ผมเลยสักครั้ง การที่พวกเขาจะมาร่วมเชียร์ ถ่ายรูป ผมหรือไม่อย่างไรผมปล่อยให้ขึ้อยู่กับจังหวะชีวิตของพวกเขา เวลาตีห้าเศษ ๆ แบบนี้แต่ละคนจึงยังพักผ่อนอยู่ในห้องพัก ผมจึงไม่ต้องกังวลว่าจะมีใครตามมาแล้วหากันไม่เจอ

IMG_3785

ในปีนี้โชคไม่ดีที่มีมรสุมผาดผ่านในบริเวณใกล้เคียงเราจึงมีฝนตกในช่วงเย็น ๆ ของทุก ๆ วัน บรรยากาศในตอนเช้าวันแข่งขันจึงเป็นวันที่น่าจดจำเป็นอย่างยิ่งอีกวันหนึ่งเลยทีเดียว เมื่อทะเลมีคลื่นลมแรงมาก คลื่นบริเวณใกล้ฝั่งเรียกได้ว่าสูงท่วมหัว ต้องยกนิ้วให้กับนักกีฬาที่มีจุดอ่อนเป็นการว่ายน้ำแต่ยังสู้กับสภาพคลื่นเยี่ยงวันนี้จริง ๆ เพราะหลาย ๆ คนเหล่านั้นอาจจะสงสัยว่าเขาจะสามารถนำชีวิตกลับเข้าฝั่งมาได้หรือไม่ ผมตัดสินใจลุยน้ำเพื่อลงไปสัมผัสความรุนแรงของกระแสคลื่น แม้ว่าผมจะเป็นพวกเครื่องติดยาก การวอร์มร่างกายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผม แต่ความขี้เกียจของผมมักจะเอาชนะความจำเป็นได้เสมอ แต่วันอย่างนี้ผมไม่ค่อยอยากเสี่ยง ผมตะลุยยอดคลื่นออกไปเพื่อวอร์มร่างกายสั้น ๆ ประมาณสิบกว่านาที ก่อนที่จะต้องกลับมาเพื่อรอปล่อยตัว มาพบกับครอบครัวที่รออยู่บนฝั่ง เด็ก ๆ ตื่นกันเช้าในวันนี้เราจึงมีโอกาสได้ถ่ายรูปครอบครัวก่อนปล่อยตัวการแข่งขันไอรอนแมนสนามแรกและสุดท้ายของผม

L1010140

เมื่อเสียงปล่อยตัวดังขึ้น ผมก็รอให้ทุก ๆ คนวิ่งกันไปก่อน ส่วนผมค่อย ๆ เดินตามไปเป็นคนสุดท้าย เนื่องจากกีฬาว่ายน้ำเป็นกีฬาถนัดของผม มีหลาย ๆ ครั้งผมเข้าเส้นคนแรก ๆ ในกีฬาว่ายน้ำ แต่เมื่อถึงกีฬาอื่น ๆ ก็โดนแซงออกไป ผมไม่ค่อยชอบให้ใครที่สังเกตเห็นมาถามไถ่ว่าผมหายไปไหนหลังจากว่ายน้ำนำเข้ามาอย่างนั้น ซึ่งเกิดขึ้นอย่างเลวร้ายที่สุดในงานแข่งเล็ก ๆ ในอเมริกาที่ผมว่ายน้ำเข้ามาถึงเป็นคนแรก ผมจึงเลือกที่จะเริ่มทีหลัง แล้วเข้าเส้นในกลุ่มใหญ่ ๆ ร่วมกันกับคนอื่น ๆ ที่ล่วงหน้าไปก่อน โชคดีที่ผมเลือกออกมาว่ายวอร์มก่อนในวันนี้ เพราะทักษะที่เพิ่งหัดใหม่ในการตะลุยคลื่นยักษ์ออกไปนั้น ได้ใช้ในทันที ผมเลือกที่จะใส่แว่นไว้ใต้หมวกว่ายน้ำ และใช้ความพยายามส่วนใหญ่ในการที่จะรักษาแว่นเอาไว้แทนที่จะมุ่งหน้าทำเวลาออกตะลุยไป เพราะถ้าขาดแว่นการแข่งขันก็เป็นอันจบเกมส์ ในวันนั้นมีนักกีฬาหลายคนต้องออกจากการแข่งขันเพราะสูญแว่นไปกับคลื่นลม บางคนโดนคลื่นซัดหายตั้งแต่ช่วงวอร์มร่างกาย ผมไม่แน่ใจว่ามีอีกกี่คนที่ต้องสูญเสียแว่นไปในการแข่งขันครั้งนี้ ในช่วงการแข่งขันจริง ๆ ระยะทางประมาณ 1.2 Km ในทะเลสิ้นสุดลงอย่างรวดเร็ว การเข้าฝั่งก็เป็นเรื่องท้าทายในวันคลื่นมหึมาเช่นนี้ ผมเองถูกคลื่นซัดเสียจังหวะไปถึงสองครั้ง ครั้งแรกถูกคลื่นที่โถมเข้ามาตีที่ท้ายทอยจนเสียหลัก และอีกครั้งที่ว่ายผิดจังหวะทำให้ถูกคลื่นตีจนถูกดูดมุดลงไปใต้คลื่นขนาดยักษ์ แต่โชคดีที่ไม่มีสำลักน้ำแต่อย่างใด ถือว่ารอดตัวไปอย่างหวิดหวิด สนามแข่งนี้มีความพิเศษอยู่เล็กน้อยที่เมื่อขึ้นจากทะเลแล้ว เรายังคงต้องวิ่งไปว่ายข้ามสระน้ำเล็ก ๆ ที่เป็นที่มาของชื่อสถานที่ Laguna เป็นระยะทางอีกประมาณ 800 เมตร เพื่อจะไปยังจุดทรานสิชั่น ผมจบรายการว่ายน้ำค่อนข้างเร็วตามปกติ จากนั้นก็วิ่งเข้าไปหยิบถุง T1 เพื่อเข้าไปเปลี่ยนอุปกรณ์สำหรับใช้ในการแข่งขันจักรยานต่อไป เชื่อว่าการจัดการให้มีเต้นเปลี่ยนอุปกรณ์แยกชายหญิงที่มีการปิดล้อมค่อนข้างมิดชิดนั้น น่าจะเกิดจากเมื่อครั้งไตรกีฬาระบาดไปถึงประเทศจีนแล้วไปเจอกับเหล่านักกีฬาจีนเลือกที่จะยืนเปลือยกายล่อนจ้อนที่ข้าง ๆ จักรยานในจุดทรานสิชั่นนั่นเอง ห้องเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวในรายการระดับนานาชาติใหญ่ ๆ จึงได้ถือกำเนิดขึ้น

Screen Shot 2012-12-05 at 3.19.56 PM

การแข่งขันจักรยานในปีนี้ผมมีความมั่นใจมากขึ้น เพราะมีส่วนประกอบที่สำคัญหลาย ๆ ส่วน คือผมเคยปั่นเส้นทางนี้มาแล้วในปีที่ผ่านมา นอกจากนี้จักรยานของผมมีความพร้อมมากขึ้น ผมได้ไปใช้บริการ bike fitting เพื่อปรับให้จักรยานเข้ากับร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปของผม โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการบาดเจ็บทางหลังที่ทำให้การ setup เดิม ๆ บนจักรยานของผมส่งผลให้เกิดปัญหาปวดหลังในช่วงสิบกิโลเมตรสุดท้ายเมื่อปีที่ผ่านมา การซ้อมจักรยานระยะไกลของผมที่ดูเหมือนว่าพร้อมมากขึ้น ไม่รวมถึง aero helmet อุปกรณ์ใหม่ที่ผมเลือกมาใช้สำหรับลุยการแข่งขันไอรอนแมนแรก เขาว่ากันว่าผมจะได้ 30 วินาทีขึ้นมาเฉย ๆ เพียงแค่สวมหมวกใบนี้ แม้ว่าตามแผนนั้นผมวางไว้ว่าผมจะเปลี่ยนจักรยานคันใหม่ถ้าหากผมตัดสินใจลงการแข่งขันไอรอนแมน แต่ท้ายที่สุดผมตัวสินใจใช้โอกาสนี้ให้ Cannondale MS800 ของผมได้มีโอกาสลิ้มรสรายการไอรอนแมนครั้งแรกของเรา ในฐานะที่ร่วมรบกันมาอย่างโชกโชนถึง 16 ปี อย่างไรก็ตามด้วย setup ที่มีในขณะนี้ผมมีความมั่นใจเต็มร้อย เมื่อผมลุยถึงเขาที่หนึ่งซึ่งเป็นเขาที่ชันน้อยที่สุดแต่ก็มีความยาวค่อนข้างจะมากที่สุดของทั้งสี่เขาในรายการนี้ ผลจากการว่ายน้ำก็มาแสดงอาการทันที ปีที่ผ่านมาผมปั่นขึ้นเขานี้ได้ แต่ในปีนี้ผมต้องลงเข็น ซึ่งอาจจะเป็นเพราะผลของการว่ายน้ำหรือความตั้งใจที่จะเก็บแรงเอาไว้สำหรับวิ่ง อย่างไรก็ตามในใจผมคิดว่าแรงขาผมต้องเก็บไว้ เพราะยังมีวิ่งฮาร์ฟมาราธอนรอคอยอยู่ แต่ลึก ๆ ผมเริ่มหวั่นใจ นี่ผมฟิตขึ้นกว่าปีที่แล้วรึเปล่าเนี่ย แล้วสิบกิโลเมตรสุดท้ายของการปั่นผมจะเป็นอย่างไร จะเป็นเช่นดังปีที่ผ่านมาหรือไม่

IMG_3792

การวางแผนที่สำคัญที่สุดของผมในการแข่งขันกีฬาประเภทนี้และเป็นจุดอ่อนที่สำคัญของผม คือการกิน แม้ว่าการแข่งขันระยะเวลา 7 ชั่วโมงเช่นนี้ อาหารเสริมประเภทคาร์โบไฮเดรทดริ้ง และอาหารแท่งต่าง ๆ เริ่มมีบทบาทที่สำคัญมากขึ้น นักกีฬาหลายคนเลือกใช้พลังงานแสนสะดวกเหล่านั้น เนื่องจากความสามารถในการให้พลังงานที่มากกว่า แต่ผมก็เลือกที่จะใช้เพียงเกเตอเรตกับ power gel เช่นที่ใช้กับการแข่งขันรายการอื่น ๆ ด้วยสองสาเหตุคือ ในประเทศไทยของเหล่านี้หาซื้อลำบาก การหามาใช้ในการฝึกซ้อมเป็นเรื่องยุ่งยาก ผมเองไม่อยากใช้อะไรที่ไม่เคยทดลองใช้ในช่วงซ้อมมาทดลองใช้ในวันแข่งจริง อีกสาเหตุคือ ผมเคยลองของทั้งสองอย่างแล้วบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ เมื่อสมัยอยู่ต่างประเทศ ในใจยังมีความรู้สึกว่าในวันแข่งจริงผมน่าจะมีปัญหากระเดือกของเหล่านี้ไม่ลงเป็นแน่ ดังนั้นในการแข่งขันของผมแทบทุกครั้งความกังวลของผมจะอยู่ที่คำถามที่ว่า ผมมีพลังงานมากเพียงพอสำหรับวันนี้หรือไม่ อาหารเสริมเท่านี้ผมเตรียมมาเพียงพอแล้วหรือยัง แต่ในวันนี้เนื่องจากในการแข่งขันมีฝนตกหนักลงมาแทบตลอดเส้นทาง ทำให้อากาศไม่ร้อน ผมใช้ power gel และเกเตอเรต ในปริมาณที่วางแผนไว้อย่างดี และทุกอย่างเป็นไปด้วยดีจนถึงประมาณ 70 กิโลเมตร ช่วงเขาสุดท้ายที่มีความชันมากที่สุด ในวันนี้ผมเข็นมาแล้วทุก ๆ เขาซึ่งประเดิมตั้งแต่เขาที่ง่ายที่สุดในลูกที่หนึ่ง และเป็นที่แน่นอนว่าเขาที่ชันที่สุดนี้ผมก็กะที่จะเข็นเมื่อถึงเวลาเช่นกัน แต่ทว่ากำลังของผมกลับมีเหลือเฟือในช่วงเวลาขึ้นเขาลูกนั้น ผมกลับสามารถปั่นไต่ขึ้นมาเรื่อย ๆ ได้จนถึงโค้งสุดท้ายที่ถือว่าเป็นจุดที่ชันที่สุดของเขานี้ ผมวางแผนที่จะเข้าใกล้จุดหักโค้งก่อนที่จะปลดรองเท้าออกเพื่อลงเดิน

L1010256

ทันใดที่ผมปลดรองเท้าออก สิ่งที่ผมไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น ทันทีที่ผมวางเท้าลงบนพื้น ในความรู้สึกช่วงเวลานี้ช่วงยาวนานเสียเหลือเกิน ผมเริ่มมองไม่เห็นสิ่งแวดล้อมข้าง ๆ ตัวผม มือผมบีบเบรคไว้แน่นเพื่อที่จะพยุงตัว โหนกับจักรยานไม่ให้ไหลหรือล้มลงไปบนเขาชัน ๆ ลูกนั้น ใช่แล้วผมกำลังเป็นลม แม้ว่าการเป็นลมกับผมมันเป็นของคู่กัน ในใจผมยังสงสัยว่าในวันนี้นั้น ผมจะยืนอยู่ได้นานเท่าใด ผมจะล้มลงไปหรือผมจะตื่นขึ้นมาทันเพื่อทรงตัว การแข่งขันไอรอนแมนครั้งแรกของผมจะจบลงด้วย DNF อย่างนั้นหรือ เหมือนโชคช่วยทันใดนั้นความรู้สึกแปลบบนต้นขาทั้งสองข้่างก็ปลุกให้ผมตื่นขึ้นมาจากผวัง ตะคริวกินที่ต้นขาทั้งสองข้างของผมทั้งสองข้างพร้อม ๆ ผมเลือกที่จะแสดงออกถึงความเจ็บปวดของตะคริวบนใบหน้าของผม แทนที่จะปล่อยให้อารมณ์เป็นลมหน้าซีดของผมเข้าครอบงำ โชคดีที่กองเชียร์ข้างทางพกสเปรย์คลายกล้ามเนื้อจึงเอามาฉีดให้ผมทั้งสองข้างหลังจากเห็นหน้าตาที่แหยเกพร้อมกับท่าทางจับต้นขาของผม ผมตื่นขึ้นในทันทีจากอาการเป็นลม จากนั้นจึงค่อย ๆ พยุงตัวก้าวขาออกจากจักรยานเพื่อเข็นขึ้นสู่ยอดเขาอีกไม่กี่เมตรข้างหน้า หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว ผมก็ไม่มีปัญหาใด ๆ อีกเลย 10km สุดท้ายไม่ได้สร้างปัญหาให้ผมอีกแล้ว ผมเข้าจุดทรานสิชั่นด้วยเวลาไม่ต่างจากปีที่แล้วมากนัก ผมเริ่มมีความหวังเล็ก ๆ ว่าผมจะสามารถทำสถิติได้ใกล้เคียงกับสถิติของทีมของผมเมื่อปีที่ผ่านมา แต่เงื่อนกระตุกของนักเรียนนานาชาติกับฝนที่ตกลงมาตลอดการแข่งขัน มันไม่เข้ากันเสียเลย เมื่อเชือกเปียกโชก เงื่อนนั้นกลับกระตุกไม่ออก ผมต้องเสียเวลาแกะอยู่เกือบห้านาทีก่อนที่จะสามารถออกมาวิ่งต่อได้ เป็นการทรานสิชั่นที่น่าปวดหัวที่สุดตั้งแต่ผมแข่งขันมา เนื่องจากเราต้องพึ่งพาถุงใบนั้นในการเก็บอุปกรณ์ของเราทั้งหมดไม่ให้สูญหายนั่นเอง

IMG_3713

ในช่วงวิ่งฮาร์ฟมาราธอนนี้จะเป็นช่วงที่ผมไม่เคยสัมผัสมาก่อนเลยในชีวิต จากการว่ายน้ำ 1.9Km ประมาณ 40 นาที ปั่นจักรยานบนเส้นทางหฤโหดกว่า 90​Km ด้วยเวลากว่า 3.5 ชั่วโมง ผมออกกำลังกายอย่างหนักมาแล้วสี่ชั่วโมงครึ่ง มีเพียงวิ่งมาราธอนเมื่อกลางปีเท่านั้นที่ผมเคยใช้เวลาอยู่บนท้องถนนถึงห้าชั่วโมง การวิ่งอีก 21Km นี้ผมไม่เคยมาก่อน และแน่นอนว่าอย่างน้อย ๆ สองชั่วโมงผมยังต้องสู้ต่อไป เมื่อปีที่ผ่านมาหลังจากจักรยาน 90Km นี้ ผมแทบจะไม่สามารถเดินได้เลย ต้องพยุงตัวเพื่อเข้าเต้นท์นวดอย่างทุลักทุเล แต่วันนี้ผมต้องวิ่งต่อในทันที ผมไม่แน่ใจว่าขาและเข่าของผมจะตอบสนองอย่างไร ในเวลานี้ฝนหยุดสนิทแล้ว ราวกับรู้ว่าถึงเวลาที่จะต้องทดสอบความทนทานของนักกีฬาในช่วงการวิ่งเป็นการส่งท้าย ผมกัดฟันวิ่ง  10Km แรกไปอย่างเชื่องช้า แต่ผมค่อนข้างแปลกใจว่าหลังจากที่ทำทุกอย่างมาเป็นเวลาสี่ชั่วโมงกว่า ๆ แล้วการวิ่ง 10Km ที่ผ่านมามันก็ไม่ได้ดูเลวร้ายมากนักเลย แต่ผมเข้าใจผิดนรกรอผมอยู่ข้างหน้าอีก  10Km ที่สอง เมื่อผ่านการกลับตัวมาได้ไม่นาน ระบบของร่างกายของผมค่อย ๆ ปิดตัวลง การตอบสนองของขาของผมเป็นไปอย่างดื้อดึง ผมเริ่มต้องเปลี่ยนยุทธวิธี หันมาเดินทุกครั้งที่มีจุดให้น้ำ และวิ่งทุกครั้งที่ผมกินน้ำหมด แม้ว่าการวิ่งของผมนั้นดูเหมือนจะไม่ได้เร็วกว่าเดินสักเท่าไร การยกขาเป็นไปด้วยความยากลำบาก อากาศที่ร้อนระอุทำให้ทุกอย่างเลวร้ายขึ้นเป็นทวีคูณ

Screen Shot 2012-12-05 at 3.31.40 PM

ในช่วงเวลาเช่นนี้ ผมสังเกตุเห็นหลายสิ่งหลายอย่างรอบ ๆ ตัวผม วิธีการจัดการกับอุปสรรคนี้ของคนอื่น ๆ นักกีฬาบางคนเลือกที่จะเดินเป็นเวลานาน แต่เมื่อกลับมาวิ่งอีกครั้งก็ได้ความเร็วสูง แซงผมไปได้ไกล บางคนก็ถอดใจไปแล้ว ค่อย ๆ เดินเก็บเกี่ยวน้ำที่จุดต่าง ๆ แต่บางคนยังดูเหมือนมีแรงเหลือเฟือวิ่งได้เหมือนกับเพิ่งตื่นมาวิ่งใหม่ ๆ (ผมยังสังสัยว่าแล้วทำไมเพิ่งโผล่มาตอนนี้เนี่ย) มารู้อีกทีเจอนั่งกินน้ำระยะยาวอยู่ในจุดที่เลยออกไปไม่ไกลนัก ความลำบาก การต่อสู้ ที่เกิดขึ้นภายในระยะเวลากว่าเจ็ดชั่วโมงของวัน เป็นสเน่ห์ที่ทำให้ผมรักกีฬาประเภทนี้ การเข้าไปคุยกับตัวเองหลายๆ ครั้งเพื่อที่จะดึงเอาตัวเองขึ้นมาจากความสิ้นหวัง ความหมดแรง มันเหมือนกับการฝึกตนอย่างหนึ่ง ผมกัดฟันอย่างเต็มที่ และเรียกได้ว่าต้องกัดฟันจริง ๆ ก่อนที่จะลากขาตัวเองเข้าเส้นชัยได้ด้วยเวลา 6 ชั่วโมง 59 นาที ใช้เวลากับการวิ่งไปเนิ่นนานกว่า 2.5 ชั่วโมงเลยทีเดียว

IMG_3712

ผมเข้าเส้นชัย รับเหรียญ เสื้อที่ระลึกเรียบร้อย จึงนำจักรยานออกปั่นกลับที่พักเพื่อไปพบกับครอบครัวที่นั่งรอเชียร์ผมมากว่า 6 ชั่วโมง นั่งแอบถ่ายรูปผมวิ่งอย่างหมดสภาพในช่วง 10Km สุดท้าย ก่อนที่จะต้องกลับเข้าห้องพักไปอย่างหมดแรง ผมเข้าห้องพักเพื่ออาบน้ำพักผ่อน พร้อมกับใจที่เต็มเปี่ยม ผมคือไอรอนแมน เวลาที่ได้ในปีนี้ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ในปีต่อ ๆ ไปผมน่าจะสามารถปรับปรุงการวิ่งของผมได้โดยไม่น่าจะยากเกินไปนัก จักรยานของผมอาจจะปรับปรุงได้อีก การว่ายน้ำผมอาจจะซ้อมมันมากขึ้นและออกตัวแข่งขันกับชาวบ้านเขาบ้าง ผมเริ่มฝันถึงปีต่อไป ในขณะที่ร่างกาย ณ เวลานี้อ่อนล้า สะกดให้เปลือกตาผมปิดลง ผมจำไม่ได้ว่าบ่ายวันนั้นผมนอนหลับฝันว่าอย่างไร แต่ในใจผมรู้ว่าปีหน้าแม้ว่าจะไม่ใช่รายการที่ถูกเรียกว่า Ironman อีกแล้ว แต่สนามเดิม ระยะทางเท่าเดิม กับชื่อใหม่ Chalenge Phuket Triathlon เราเจอกันแน่

IMG_3711