พี่อาร์มนักสู้ผู้มากประสบการณ์ (บทสัมภาษณ์ใน Fit 4 Fun)

บทสัมภาษณ์จาก Fit 4 Fun

Arm-1Arm-8

พี่อาร์มนักสู้ผู้มากประสบการณ์ แม้แต่ไวรัสตับอักเสบไม่สามารถขัดขวางชายคนนี้เข้าแข่ง Ironman ที่ลังกาวีได้

ชื่อ : ณัฐพงศ์ นิธิอุทัย (อาร์ม)
อายุ : 42 ปี
น้ำหนัก : 57 Kg.
ส่วนสูง : 171 cm.
สถานะภาพ : แต่งงานแล้วมีลูก 3 คน จริงๆมี 4 ครับ แต่เสียไป 1 คน ตอนนี้ผมก็เลยทำกองทุนในชื่อลูกที่เสียไปด้วยครับ
การศึกษา :
ประถม – วรคามินอนุสรณ์ (ปัตตานี)
มัธยม(ต้น) – อัสสัมชัญ ศรีราชา
มัธยม(ปลาย) – สาธิตสงขลานครินทร์ (ปัตตานี)
ป.ตรี – จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย (วิศวกรรมศาสตร์)
ป.โท – ป.เอก Case Western Reserve University, USA (Polymer Engineering)
อาชีพ :
– เป็นอาจารย์ที่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ภาควิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์
– ดูแลกิจการของครอบครัวผลิตและจำหน่ายเครื่องนอนยางพารา
ประวัติกีฬาที่เล่น : ว่ายน้ำก๊อกๆแก๊กๆ ได้มาอยู่ทีมโปโลน้ำจุฬา ในตำแหน่งที่ไม่ต้องว่ายน้ำมาก

Arm-9Arm-10

Fit4fun : รางวัลและสถิติ
คุณอาร์ม : ไม่เคยได้รางวัลอะไรเลย เล่นเพราะรักเพราะชอบ แต่ผมแบกคำว่า DNF (DID NOT FINISH หรือ แข่งไม่จบ) มานานมากแล้ว ไม่เคยไม่จบ ทรมาน เจ็บ ไข้ ลากสังขารจนจบทุกครั้ง เพิ่งได้ลอง DNF ในงานล่าสุดนี่แหละ

Arm-4Arm-2

Fit4fun : เป้าหมายในการออกกำลังกายและการเล่นไตรกีฬา
คุณอาร์ม : เคยคิดว่าแก่ๆน่าจะวางมือได้แล้ว การแข่ง Ironman ที่ลังกาวีที่ผ่านมากับผมก็ต้องใช้ยา อินเตอฟิวรอน (ฉีดยาอินเตอฟิวรอนเข้าไปในร่างกายเหมือนคีโมอ่อนๆทุกสัปดาห์เป็นเวลาหนึ่งปี เพื่อรักษาอาการตับอักเสบบีเรื้อรัง) ช่วงหลังนี่ผมเป็นลมบ่อยขึ้น แต่ก็ยังฝืนเล่น มันมีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่พอ ๆ กัน ทั้งการซ้อมและการแข่งขัน สุดท้ายผมก็ไม่สามารถเป็นไอรอนแมนได้นะ เป็นลมไปเสียก่อน dehydrate น่ะ

Arm-5Arm-7

Fit4fun : การแบ่งเวลาการซ้อม การแข่งและเวลาของครอบครัว
คุณอาร์ม : ผมตั้ง priority ให้ครอบครัว ชีวิตและสุขภาพเป็นที่หนึ่ง ในส่วนการทำงานที่ทำอย่างเป็นทางการคืออาจารย์มหาวิทยาลัย ก็ต้องเสียสละเรื่องความก้าวหน้าไปบ้าง ส่วนธุรกิจของครอบครัวก็วางตัวห่าง ๆ ให้น้องๆไปดูแล และเข้าไปช่วยตามความจำเป็น ผมจะซ้อมตอนเช้าอย่างเดียว ตอนเย็นเป็นเวลาครอบครับ นอกจากต้องเดินทางก็จะอดซ้อมไปบ้าง ผมมีแนวคิดแบบนี้ครับ คือผมซ้อมเพื่อจะไปแข่ง และสมัครแข่งขันเตรียมไว้เพื่อบังคับให้ซ้อมและแข่งเวียนกันไป ไม่ว่างเว้น สุขภาพจะได้ดีๆตลอดครับ ทีนี้เราก็เพิ่มเรื่องของครอบครัวเราเข้าไปด้วย เช่นเลือกรายการที่เราอยากไปเที่ยว อยากพักผ่อนจากการทำงาน เลือกประเทศที่เราอยากพาลูกๆและภรรยาไป พอเลือกแล้วก็วางเป้าหมายในการแข่งขันนั้นๆ เช่น ถ้าเป็นระยะทางใหม่ เราอาจจะตั้งเป้าเวลา อาจจะขอแค่แข่งจนจบ ถ้าเป็นระยะทางเดิม เราอาจจะทำเวลาให้ได้ดีกว่าเดิม แล้วจึงมาวางแผนการซ้อมเพื่อจะทำให้สำเร็จตามเป้าหมาย ผมพาไปหมดนะ แต่งงานใหม่ ๆ ท้องเล็ก ๆ ท้องแก่ ๆ ลูกหนึ่งเดือน ลูกสอง ลูกสาม ไม่เคยไปแข่งโดยไม่มีครอบครัวเลยแม้แต่ครั้งเดียว หลัง ๆ เริ่มลากเพื่อน ๆ ไปด้วย รวมตัวเป็นทีมกีฬาสุขภาพ V40 (Very Forty) เล่นมันทุกกีฬาคนอึด ผมเป็นหัวหน้าเผ่าในปัจจุบัน

Arm-13Arm-16

Fit4fun : ทำไมจึงเลือกเล่นไตรกีฬาและมีเป้าหมายต่อไปอย่างไร
คุณอาร์ม : ผมเล่นไตรกีฬา เพราะมันหลากหลายดี ผมชอบการใช้ชีวิตตรงตามคอนเซปต์ของไตรกีฬา คือ จริง ๆ เป็นเป็ด มันไม่เก่งสักอย่าง แต่ก็เล่นมาเรื่อยๆ บางปีก็เน้นวิ่ง บางปีเน้นปั่นจักรยานสลับกันไป สมัยก่อนมันมีองค์ประกอบหลายอย่างที่ต่างจากกีฬาประเภทอื่น คือหลักๆ เราแข่งร่วมกับโปร (ไม่เหมือนสมัยนี้) ต้องเดินทางไปแข่งไกลๆ เพราะรายการแข่งขันมีน้อยมาก ทุกคนจะเดินทางไปถึงสถานที่แข่งขันล่วงหน้าหนึ่งวัน เพื่อร่วม pasta party เพื่อที่จะกินอาหารร่วมกัน พูดคุยทำความรู้จักกัน ผู้จัดก็จะมาคุยเล็กๆน้อยๆ เกี่ยวกับการแข่งขันในวันรุ่งขึ้น เราก็จะมีโอกาสได้พูดคุยทำความรู้จักกับโปรด้วย จริงๆ pasta party ก็ไม่ได้อร่อยอะไรนะครับ แต่มันเป็นอาหารง่ายๆน่ะครับ แต่ที่สำคัญคือการได้มีโอกาสพูดคุย ทำความรู้จักกันมากกว่าสนามการแข่งขันจะเป็นมิตรกว่าปัจจุบันพอสมควร

Arm-3Arm-6

จริงๆไตรกีฬาในยุคแรกเป็นกีฬาของคนที่ทำอาชีพ หมอ ทนายและเจ้าของกิจการ คือด้วยความที่เป็นกีฬาที่ต้องใช้ระเบียบวินัยและการจัดการในการซ้อมมาก ใช้งบประมาณมากทั้งอุปกรณ์และการเดินทาง ซึ่งกลุ่มคนพวกนี้ไม่ได้มีเวลามากกว่าคนอื่นเลย แต่ดูเหมือนว่าจะจัดการเวลาได้เก่งกว่า สมัยที่ผมเริ่มแข่ง ผมใส่กางเกงใน (speedo) ตัวเดียวแข่งตั้งแต่ว่ายน้ำจนวิ่งเข้าเส้นชัยเลย 555 เดี๋ยวนี้อะไรๆ มันก็เปลี่ยนไป ถอดเสื้อปั่น-วิ่งไม่ได้แล้ว ผิดกฎ

Arm-21
โดยรวมแล้ว เป้าหมายของการเล่นทั้งหมดก็คือทำอย่างไรให้ชีวิตเรา active ได้ทั้งชีวิต ไม่เบื่อไปซะก่อน ผมเริ่มพาลูกๆ แข่งๆโน่นแข่งนี่บ้าง อย่างคน 5 ขวบนี่เริ่มแข่งจักรยาน 25 กม. 30 กม. มาสองสนามแล้ว ว่ายน้ำ 50 – 100 ม. ก็พอว่ายได้ ก็ต้องแล้วแต่ลูกๆจะชอบ

Arm-19Arm-20

Fit4fun : ช่วยอธิบายถึงกองทุนเพื่อซูริ (For Zuri)
คุณอาร์ม : เรา (ผมและภรรยา) มีปัญหามีบุตรยากต้องพึ่งหมอ พอทำมาแล้วมันมี complication ได้ลูกแฝดต้องคลอดก่อนกำหนด ซูริแฝดน้องน้ำหนักน้อยสุขภาพไม่ค่อยดี ต้องอยู่ในห้องฉุกเฉินทารก (NICU) ระหว่างนั้นพบว่าเพราะที่ซูริตัวเล็ก อุปกรณ์ที่มีจะใช้ไม่ค่อยได้ โน่นนี่นั่น เคยมีแต่เสียไปแล้วบ้าง แต่ผมไม่คิดอะไรมาก เพราะเราวุ่นกับการเฝ้าและคอยให้กำลังจะเขาทุกวัน สุดท้ายเขาก็จากไปอยู่กับเราได้ 49 วัน ผ่านมาแล้ว 5 ปี ผมเริ่มคิดว่าความรับผิดชอบของ NICU ที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์นี่ค่อนข้างมาก รับผิดชอบภาคใต้ตอนล่าง และถ้าเป็นไปได้ถ้าผมช่วยระดมทุนให้อาจจะมีสักวันหนึ่ง ทุนที่เราระดมมาอาจจะทำประโยชน์ช่วยให้ “ซูริ” ของใครบางคนได้กลับบ้าน ไม่เหมือนกับซูริของผม

Arm-14Arm-15

Fit4fun : ช่วยฝากข้อคิดดีๆให้กับคนที่อยากเริ่มเล่นกีฬาประเภท endurance sport หรือ ยังลังเลกับการออกกำลังกายครับ
คุณอาร์ม : ผมมีความเชื่อแบบ extreme ที่ว่ากีฬาแก้ได้ทุกอย่าง ออกซิเจน ระบบภูมิคุ้มกัน ล้วนแล้วส่งผลดีต่อสุขภาพโดยรวมทั้งนั้น เจ็บเข่า เจ็บหลัง เจ็บขา มันมากับกีฬาบางประเภท ถ้าเราสร้างนิสัยการออกกำลังกายเอาไว้แล้ว มันจะเป็นแบบผม พอคิดว่าจะวิ่งไม่ได้เราก็จะหากีฬาอื่นแทนทันที ไม่งั้นลงแดง กีฬา endurance สามารถช่วยเรื่องความต่อเนื่องแบบนี้ได้มาก เพราะมีการแข่งขันที่มือสมัครเล่นเข้าร่วมได้เยอะ มีกีฬาหลากหลายให้เลือก และอาจจะทำได้ทั้งหมดเลยก็ยังได้ และส่วนใหญ่เริ่มได้ ทำได้ด้วยตัวคนเดียว ไม่ต้องคอยรอคู่หู เรามีชีวิตบนโลกนี้ประมาณ 30,000 วันผมใช้มาแล้วมากกว่าครึ่ง เหลือไม่น่าเกิน 10,000 ในช่วงวันท้าย ๆ เราจะใช้ชีวิตอย่างไรมันขึ้นกับช่วงประมาณนี้แหละครับ เป็นการลงทุนที่สำคัญสำหรับบั้นปลายของชีวิต

     Arm-17 Arm-18

Endurance : Why we do what we do?

สัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อน ๆ หลายคนมีกิจกรรม Endurance (ต่อจากนี้ผมจะเรียกมันว่า อดทน) ที่แตกต่าง แต่มีความเข้มข้นไม่แพ้กัน มาเล่าสู่กันฟัง ผมนั่งไล่อ่านกิจกรรมของทุก ๆ คน ที่อธิบายถึงความรู้สึก เล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้น แชร์กันไปมาเต็มไปด้วยความสุข และตื้นตัน ผมอดไม่ได้ที่จะแสดงความเห็นว่าผมรู้สึกมีความสุขที่ได้เห็นหลาย ๆ คนมีความสุข โดยใช้การอธิบายในลักษณะ “ความสุขบนความทรมาน” ซึ่งพบว่ามีหลาย ๆ คน รวมถึงคู่หูเพื่อนซี้ในกิจกรรมอดทนของผมค่อนข้างไม่สบายใจกับทำว่า “ทรมาน” และต้องการที่จะแสดงออกว่านี่ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นและเหตุผลที่เขาเหล่านั้นเลือกทำกิจกรรมอดทน จากการแลกเปลี่ยนในกระทู้นั้น ทำให้ผมมาถามตัวเองอีกครั้ง ทั้ง ๆ ที่ถามตัวเองมาหลายต่อหลายครั้งแล้วตลอดยี่สิบปีที่ผ่านมา ว่าเราทำกิจกรรมอดทนเหล่านี้ไปเพื่ออะไร

TRI NCB

แต่ก่อนอื่นคงต้องท้าวความไปถึงครั้งแรกที่ผมใช้คำว่า “ทรมาน” เพื่อสื่อถึงความรู้สึกบางช่วงในกิจกรรมเหล่านี้ มันเกิดเมื่อเพื่อนของผมชวนให้ไปปั่นบนเขาใหญ่ ผมจึงเลือกช่วงที่ผมต้องไปแข่งขัน TNF100 เป็นวันที่จะปั่นเขาใหญ่ โดยวันแรกวิ่ง TNF50K แล้ววันที่สองปั่นเขาใหญ่ ด่านชนด่าน 100K เพื่อที่จะชักชวนเพื่อน ๆ มาร่วมสนุกกัน ผมจึงคิดที่จะหาชื่อที่เหมาะสมให้กับกิจกรรมนี้ ในช่วงนั้นผมซ้อมเทรนเนอร์กับ DVD Series SufferFest ซึ่งผมรู้สึกว่ามันสื่อตรงกับความรู้สึกของผมจึงคิดที่จะแปลความหมายนี้ออกมา เลือกมาได้ว่า “ทรมานบันเทิง” เพื่อสื่อถึงกิจกรรมนี้ หลังจากนั้นผมใช้คำว่า “ทรมาน” อีกหลายครั้ง เพื่อสื่อถึงกิจกรรมอดทนที่เราชาวเผ่า V40 ทำกัน

IMG_1140

สำหรับผมคำว่า “ทรมาน” มันไม่ได้มีความหมายเป็นลบเลย เพราะที่มาจากความว่า Suffer ที่ผมแปลมานั้น ผมนึกไปถึง “ทุกข์” ในศาสนาตลอดเวลา ผมมองมันคล้าย ๆ กับว่ากิจกรรมอดทนนั้น คือการธุดงค์ ที่นำ “ทุกข์” มาพิจารณา ส่วนกิจกรรมอดทนนั้นนำ “ทรมาน” มาพิจารณา มันเกิดขึ้นกับผมในทุก ๆ ครั้ง และผมใช้มันในทำนองนี้ในทุก ๆ ครั้ง แต่ไม่เคยคิดว่าคำ ๆ นี้จะบาดใจใครหลาย ๆ คน โดยที่ผมไม่ได้ตั้งใจ ดังนั้นผมจึงตั้งใจที่จะเขียนมันออกมาว่าสำหรับผมแล้ว ผมเห็นอะไร และทำไปทำไม โดยไม่แน่ใจว่าเมื่อจบบทความนี้ผมจะได้คำตอบหรือไม่ ความเป็นนักวิทยาศาสตร์ในตัวผมสอนให้ผมบันทึกกระบวนการ และให้ความสำคัญกับมันเท่า ๆ กับผลลัพธ์

IMG_2582

เมื่อพิจารณาถึงสิ่งที่เกิดขึ้นที่ถูกสื่อว่า “ทรมาน” มันมีอะไรเกิดขึ้นบ้างในกิจกรรมอดทน สำหรับผม ความร้อน ความเหนื่อย ความเมื่อยล้า คำที่เรียกง่าย ๆ ว่า “หมด” หรือ exhaustion เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแน่ ๆ ในกิจกรรมอดทนทั้งหลาย ในมุมมองของเปลือกภายนอก แต่ถ้าพิจารณาลึกเข้าไปในจิตใจ ผมจะเห็นความท้อใจ การยอมแพ้ กำลังใจ ความหึกเหิม ในความต่อเนื่องของความรู้สึกทางร่างกายและจิตใจนั้น บางครั้งมันปวดร้าวรุนแรงจนผมเองต้องตั้งคำถามว่า ผมมันทำมันไปทำไม แม้มันจะไม่บ่อย แต่คำตอบของคำถามในเวลานั้นมันจะกำหนดผลลัพธ์ของกิจกรรมไม่ว่าในช่วงเวลาก่อนทำกิจกรรมนั้นเราต้องการผลลัพธ์เช่นใด

IMG_3711

ผมวิ่ง 10K เพราะต้องการลบความคิดว่านักว่ายน้ำ (จริง ๆ แค่สมาชิกชมรมว่ายน้ำ) จะไม่ถนัดวิ่ง ผมลง 21K เพราะอยากเอาความฟิตที่เหลือจาก 10K มาใช้ให้เป็นประโยชน์ ผมลงทวิกีฬาเพราะอยากปั่นจักรยานที่ผมใช้มามหาลัยแบบเร็ว ๆ สุดชีวิตกะเขามั่ง ผมลงไตรกีฬาเพราะผมเป็นนักว่ายน้ำ กิจกรรมอดทนของผมนั้นถูกขับมาจากความอยากรู้ และความต้องการขยายข้อจำกัด รวมไปถึงใช้ทรัพยากร อุปกรณ์ และทักษะทั้งหมดที่ผมมีอย่างคุ้มค่า ซึ่งมันเป็นนิสัยส่วนตัวที่จะใช้ความคุ้มค่า หรือประสิทธิภาพมากำหนดสิ่งที่ทำ ผมใช้เวลาอยู่กับมันสิบกว่าปี วิ่งไล่ตามสถิติต่าง ๆ ปีหน้ามันต้องเร็วขึ้นดีขึ้น ตำแหน่งสูงขึ้น แม้ว่าจะไม่เคยได้ถ้วยกับเขาเลย แต่ก็สามารถนำตัวเองไปอยู่ในอันดับ Top 5 Top 10 ได้ทั้งในสนามประเทศไทย และต่างประเทศ ในขณะที่สถิติก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ จนไปพีคที่อายุประมาณ 30 ก่อนที่จะค่อย ๆ คงตัวและช้าลงในที่สุด

IMG_7410

แน่นอนว่าผมคุ้นเคยกับความเจ็บปวด ตะคริว ไม่ใช่เรื่องแปลก และหลาย ๆ ครั้งไม่สามารถชะลอผมลงได้มากนัก อัดจนอาเจียรข้างทาง หรือจำเป็นต้องกลืนมันกลับเข้าไป เพราะอยู่ในระหว่างการแข่งขัน ไม่ใช่เรื่องแปลกอีกเช่นกัน ถ้าถามว่ามันจะใช้คำว่า “ทรมาน” ได้มั้ยสำหรับผม ผมเองก็เห็นด้วยกับเพื่อน ๆ ที่ไม่ชอบคำ ๆ นี้ว่าผมไม่อยากเรียกมันว่า “ทรมาน” ผมต้องยอมรับว่ามันอาจจะเจ็บปวด ผมไม่ได้ชอบมัน ไม่ได้เสพติด แต่ระหว่างซ้อมจนถึงวันแข่งและระหว่างแข่งนั้นผมทำทุกอย่างเพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้น แต่แม้ว่าผมรู้อยู่แก่ใจว่ามันจะเกิดขึ้นอีกถ้าผมต้องการสถิติที่ดีขึ้นในทุก ๆ ครั้งที่ผมลงแข่งขัน แต่เมื่อจุดสูงสุดของผมเหมือนจะผ่านพ้นไปแล้ว ความที่ผมเองอาจจะต้องยอมแพ้ให้กับตัวเองในวัยหนุ่ม เปลี่ยนมาแข่งขันกับคนรอบข้าง เปลี่ยนมาตั้งเป้าหมายใหม่ ๆ สถิติใหม่ ๆ ที่เหมาะสมกับกลุ่ม V40 อย่างผม ความกดดันในระดับที่จะต้อง “ทรมาน” มันก็ค่อย ๆ หมดไปจนวันหนึ่งผมเองก็เริ่มหาเป้าหมายใหม่ให้ตนเอง

IMG_7455

วันหนึ่งเพื่อนสนิทสมัยเรียนมัธยมมาชวนให้ตั้งทีมเพื่อวิ่งผลัดข้ามประเทศ ที่เรียกว่า O2O ผมคิดว่ามันฟังดูแล้วตื่นเต้นท้าทายดี จึงพยายามฟอร์มทีมขึ้นมาซึ่งก็ไม่ง่ายนักเพราะไอเดียที่จะวิ่งกันในเวลาเที่ยง วิ่งกันข้ามวันข้ามคืน วิ่งผลัดระยะสั้น ๆ ที่รวมระยะของแต่ละคนแล้วไม่เกิน 30K นั้นมันดูช่างไม่ “ท้าทาย” เอาเสียเลย แต่โชคดีที่ทีมได้ถือกำเนิดขึ้น และผมได้พบกับเหตุผลใหม่ของกิจกรรมอดทด กิจกรรมนี้ทำมาแล้วสองปี ได้ทำให้ผมได้ไปสนิทอีกครั้งกับเพื่อนเก่า ๆ ที่ร้างราจากกันมานาน กิจกรรมนี้ถือเป็นต้นกำเนิดของทีม Very Forty ที่เพื่อนในกลุ่มนี้อยากมีการรวมตัวเพื่อเข้าแข่งขันไตรกีฬาในรายการกรุงเทพไตรกีฬา ผลลัพธ์ของกิจกรรมที่ผมได้ดูเหมือนว่าจะสร้างผลกระทบได้กว้างขวางขึ้น มีเพื่อน ๆ หลาย ๆ คนมารวมตัวกันแสดงจุดยืน สร้างตัวตน แสดงตัวเป็นแบบอย่างของการใช้ชีวิต active ที่ผมต้องรับว่าเป็นอีกความสุขหนึ่งที่ทำให้ผมมุ่งมั่นทำกิจกรรมเหล่านี้มากขึ้นเรื่อย ๆ แม้ว่าการเผยตัวตนในครั้งนี้เริ่มทำให้อีกหลาย ๆ คนมองเห็นผมเป็นคน “บ้า”

L1010355

ผมเริ่มร่วมการแข่งขันจักรยานทางไกล เริ่มขยายระทางทางของไตรกีฬา และเริ่มสนใจระยะมาราธอน เนื่องจากเป็นระยะทางใหม่ ๆ ทุก ๆ ครั้ง ทุก ๆ ก้าวที่ผมทำลงไปมันเป็นสถิติใหม่ไปทั้งสิ้น แม้ว่าผมยังไม่เห็นเหตุผลที่ชัดเจนในการทำมันลงไป ผมยังได้ป้อนอาหาร ego ส่วนตัวของผมด้วยสถิติใหม่ ๆ เช่น Sub5 Marathon, 6:08 Hr Half-Ironman เป็นต้น จนวันหนึ่งเพื่อนแจ๊คแนะนำให้ผมรู้จักกับ Festive500 ที่ต้องปั่น 500K ภายใน 8 วันช่วงปลายปี สำหรับคนปั่นระยะ 80-100K การที่จะทำแบบนี้ต่อเนื่องทุก ๆ วันสร้างความท้าทายใหม่ ๆ ให้กับผม และก็ไม่ผิดหวังเมื่อผมร่วมคำท้าแล้วต้องถามกับตัวเองวันแล้ววันเล่าที่ต้องตื่นมาปั่นระยะ 80-100K โดยไม่สนว่าฝนจะตกหรือแดดจะออก เพื่อนคนเดียวกันนี้ก็แนะนำให้ผมรู้จักกับ Audax กิจกรรมอดทนในรูปแบบใหม่ที่ไม่ต้องแข่งกับใคร ไม่สนใจสถิติ มาด้วยใจกับคิวชีทเป็นพอ ผมกระโดดเข้าหาแล้วก็ติดมันงอมแงม มันเป็นการปั่นระยะที่ไกลมากขึ้น 200 300 400 600 ซึ่งต้องมีเรื่องของการกิน การพัก การนอนเข้ามาเป็นส่วนร่วมของความท้าทายนั้น ๆ ด้วย ดูเหมือนว่าในช่วงนี้ผมเริ่มได้เป้าหมายใหม่ของกิจกรรมอดทน นั่นก็คือ “ท้าทาย”

IMG_6245

อย่างไรก็ตามยังมีคำถามจากบุคคลภายนอกอีกในเรื่องของค่าใช้จ่าย นอกเหนือจากความเหน็ดเหนื่อยแล้ว ยังไม่ค่าใช้จ่ายในกิจกรรมเข้ามาเกี่ยวข้องอีกเยอะมาก ทำให้ผมเริ่มมองในมุมมองของทางด้านการเงินบ้าง แต่ไม่ทราบว่ามันมีอะไรที่ดลใจให้ผมจัดการกับปัญหาด้วยการตั้งกองทุนในชื่อลูกสาวที่เสียไปของผม ชื่อว่า กองทุนเพื่อซูริ ในการที่จะระดมเงินไปบริจาคให้กับหน่วย NICU โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ สถานที่ที่ลูกสาวคนนี้ของผมถือกำเนิดและเสียชีวิต ด้วยความหวังไกล ๆ ว่าเงินเหล่านี้อาจจะช่วยให้ลูกตัวน้อยของคนอื่นมีโอกาสกลับบ้านไม่เป็นเช่นลูกสาวของผม ผมจึงพยายามสร้างความสัมพันธ์ุระหว่างกิจกรรมอดทนและเงินบริจาคเพื่อกองทุนขึ้นในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อที่จะเป็นคำตอบหนึ่งในด้านการเงิน ซึ่งหลาย ๆ กลุ่มที่มีความเห็นตรงกันก็ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ ยกตัวอย่างเช่น กลุ่ม Run4ManyReasons ของพี่ย้ง เป็นต้น

IronmanLangkawiForZuri

ความ “ท้าทาย” ใหม่เข้ามาอีกครั้งเมื่อผมต้องเข้ารักษาตับอักเสบด้วยการฉีดยาอินเตอฟูรอน 48 เข็ม ผมจึงสมัครแข่งขันไอรอนแมนทันที แม้ว่าผมจะไม่คิดว่าจะลงรายการระยะนี้ในสภาพที่ผมไม่แน่ใจว่าผมสามารถวิ่งได้ไกลเพียงใด ผมดีใจที่การตัดสินใจพุ่งเข้าชนกับโรคร้ายและการรักษาอันหฤโหดนั้นได้สร้างแบบอย่างและกำลังใจให้กับผู้ป่วย หรือผู้พักฟื้นอีกหลายคน แม้ว่าในด้านของการวิ่งนั้น หลังจากผมแตะระยะมาราธอนแรกแล้ว ผมก็ขยายเป็นระยะอัลตราที่ TNF 50K แต่ทำให้อาการบาดเจ็บที่กระดูกสันหลังกำเริบ การวิ่งระยะ 10K 15K 21K กลายเป็นความท้าทายอีกครั้ง ขอแค่เพียงได้วิ่งครบระยะ ผมเก็บความท้าทายแบบผู้ป่วยกายภาพของผมอย่างเงียบ ๆ เพราะความผิดหวังในการ DNF ครั้งแรกในชีวิตที่สนามไอรอนแมนลังกาวี ก่อนที่จะประกาศชนกับมันอีกครั้งด้วยการวิ่งจอมบึงมาราธอน เพียงแต่บอกคนรอบข้างว่าผมต้องการวิ่งช้า ๆ ในใจเพียงคิดว่าต้องการวิ่งให้ถึงเป็นเท่านั้น ซึ่งในเวลานี้ผมต้องยอมรับว่า มันยังคงเป็นความ “ท้าทาย” สำหรับผมอยู่ดี

Week2

ในขณะเดียวกันที่ผมไม่สามารถเร่งความเร็วได้ดั่งใจ ผมจึงเริ่มหาความแปลกใหม่เพื่อมาเติมเต็มให้จิตใจผมอีกครั้งในกิจกรรมอดทนที่แทบไม่มีความหวังจะสร้างสถิติ เมื่อความท้าทายลดคุณค่าเหลือเพียงที่จะ “วิ่ง” ได้จนครบระยะ ผมเริ่มอาสาวิ่งเก็บขยะ ในงานภูเก็ตมาราธอน ในระยะฮาร์ฟ ที่ทำให้ผมได้รู้จักกับพี่ย้ง กล้วยหอม ผมเข็นรถ trailer ขนลูก ๆ สัมผัสบรรยากาศสงลามาราธอนในระยะฮาร์ฟ และสุดท้ายวิ่งแจกตุ๊กตาในงานจอมบึงมาราธอน ที่ระยะฟูลมาราธอน แม้ว่า ณ เวลานี้ ผมยังไม่สามารถ “วิ่ง” ได้จนครบระยะ แต่ผมก้าวข้ามความ “ท้าทาย” ในแต่ละขั้นมาเรื่อย ๆ ช้า ๆ อย่างมั่นคง

L1040269

ผมร่ายยาวมาจนถึงย่อหน้าสุดท้าย ผมเองยังไม่แน่ใจว่าผมได้คำตอบหรือยัง ว่าผมทำกิจกรรมอดทนเหล่านี้ไปทำไม มีความเป็นไปได้ว่าผมอาจจะต้องค้นหามันไปตลอดชีวิต เฉกเช่นคำถามที่ว่า มนุษย์เราเกิดมาเพื่ออะไร แม้ว่าผมจะเล่าให้หลาย ๆ คนด้วยเหตุผลต่าง ๆ กัน ไม่ว่าอาการเจ็บหลังที่กำเริบจนไม่สามารถอุ้มลูกชายคนแรกอาบน้ำได้ สุขภาพที่ย่ำแย่จากการโหมทำงานหนักจนแม้กระทั่งเดินขึ้นบันไดหอบ หรือการที่จะสร้างแบบอย่างให้กับลูก ๆ ในการใช้ชีวิตแบบมีสุขภาพ ไปจนกระทั่งเหตุผลเนื่องจากเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่พัฒนาจนอายุเฉลี่ยเรายาวนานขึ้นและผมไม่ต้องการที่จะใช้ช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตบนเตียง เหตุผลเหล่านี้อาจจะเติมเต็มให้กับผู้สงสัย ผู้ตั้งคำถาม แต่ผมรู้ดีว่าสำหรับผมนี่มันเป็นเพียงผลพลอยได้  Why we do what we do? The answer my friend is blowing in the wind.           

Challenge Laguna Phuket : Race of truth

IMG_1914

แม้ว่าเป็นเรื่องน่าเสียใจที่รายการนี้ไม่ได้ใช้ชื่อ Ironman ชื่อมีลิขสิทธิ์ที่สามารถสร้างความสนใจกับผู้คนรอบข้างได้มากกว่าชื่อใหม่ที่เรียกว่า Challenge สำหรับผมแล้วดูเหมือนว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะเข้าทางผมมากกว่า ในขณะที่ Ironman ถูกวางตำแหน่งให้เป็นซีรี่ส์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด มีรายการที่เรียกว่าชิงแชมป์โลกอยู่ภายใต้ชื่อของเขา รายการที่ใช้ชื่อ Ironman นั้นมีทั้งระยะเต็ม Ironman ระยะครึ่งหรือ Ironman 70.3 หรือเมื่อเร็ว ๆ นี้ระยะโอลิมปิกก็ถูกเรียกใหม่ภายใต้ชื่อ 5150 ผมเองไม่ค่อยชอบนักที่จะเอาชื่อที่พวกเราใช้เรียกสิ่งที่เราทำกันไปจดลิขสิทธิ์ สำหรับผมแล้ว Ironman หมายถึงคนที่ข้ามขีดจำกัดของตนเองไม่ว่าคุณจะทำกิจกรรมใด ระยะทางเท่าไรก็ตาม ในขณะที่ Ironman มีเป้าหมายให้รายการมีมาตรฐานสูงเท่าเทียมกันทุกรายการที่เขาจัด Challenge จะเน้นกิจกรรมของ local ใช้ทีมงาน local เน้นครอบครัวและสนับสนุนการแข่งขันในรูปแบบทีม โดยคอนเซปแล้วเหมือนว่า Challenge  จะน่าสนุกกว่า ผมไม่ได้ตั้งใจที่จะเขียนเล่าประสบการณ์นี้เท่าไร เนื่องจากว่ามันไม่ใช่ครั้งแรก แม้จะเป็นครั้งแรกของอำนวยเพื่อนร่วมทีมคนเดียวที่มาลงเดี่ยวพร้อมกันในปีนี้ แต่อำนวยมีการเตรียมพร้อมที่ดีมาก พร้อมกับประสบการณ์ไตรกีฬามาแล้วถึงสองสนาม ทวิกีฬาอีกหนึ่งสนาม ผมจึงไม่รู้สึกว่าเขาเองจะตื่นเต้นสักเท่าไรนัก แต่มีสองอย่างที่ในที่สุดแล้วทำให้ผมลงมานั่งเขียนอยุ่ในวันนี้ นั่นคือ การไปภูเก็ตคราวนี้เป็นครั้งแรกที่มีคนแปลกหน้าเข้ามาทักทายผมภายหลังการแข่งขัน เล่าให้ฟังว่าเขาอ่านบล๊อกนี้ของผม และเขาก็มาแข่งเป็นปีแรก ในรูปแบบทีม ผมไม่แน่ใจว่าเขาอ่านบทความเรื่องใด ไม่รุ้ว่าจะเป็นเรื่องราวของปีที่ผ่านมาที่ผมเขียนไว้หรือไม่ แต่ก็รู้สึกดีใจที่อย่างน้อยก็มีใครบางคนได้ประโยชน์จากปลายปากกา หรือว่าปลายนิ้วของผม อีกเหตุผลหนึ่งคือผมจะต้องตรวจเลือกตับอักเสบอีกครั้งหลังจากแข่งขัน ผมจะได้ทราบว่าผลการแข่งขันที่ดีขึ้นหรือเลวลงนั้นมีคามเกี่ยวข้องกับปริมาณไวรัสในตับที่ขึ้น ๆ ลง ๆ ของผมหรือไม่

1404432_253360724818409_1769189008_o

แม้ว่าจะประสบความสำเร็จกับการกระตุ้นให้เพื่อนร่วมทีมยกแกงค์และครอบครัวไปร่วมงานไตรกีฬาประจำปีที่หัวหินได้สำเร็จ แม้ว่ารายการดังกล่าวไม่ได้อยู่ในแผนของผม ก็พลาดไม่ได้ที่หัวหอกของทีมอย่างผมจะพลาด อ่อนซ้อม และการเดินทางแสนไกลทำให้ผลการแข่งขันไม่ค่อยดีเท่าที่ควร แต่การได้เห็นเพื่อน ๆ มีความสุขกับความสำเร็จก้าวใหม่ของพวกเขาในวันนั้น มันก็คุ้มค่า แต่งานที่ภูเก็ตนี้แม้ว่าจะเป็น Triathlon Festival ที่จัดยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศมีการแข่งขัน back-to-back ทั้งระยะสั้นและยาว แต่ด้วยความโหดของเส้นทาง ความลำบากด้านโลจิสติก ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องที่ค่อนข้างสูง จากเป้าคนร่วมแข่งขันจากทีมที่เริ่มต้นด้วยเกือบ ๆ 10 คน ค่อย ๆ เงียบ ๆ หายไปจนในที่สุดเหลือเพียงผมคนเดียว ก่อนที่มนุษย์เหล็ก อำนวย จะตัดสินใจวินาทีสุดท้ายเข้าร่วมเป็นกำลังใจให้กับผม และสร้างชื่อไอรอนแมนให้กับตนเอง

ผมออกแบบตารางการซ้อมทั้งปีให้มาพีคที่รายการนี้เป็นรายการแรก ในการแข่งปีนี้จะมีการอัปเกรดจักรยาน ปรับแผนการซ้อม และเป็นปีที่ผมเข้าจัดการกับไวรัสตับอักเสบบีเป็นครั้งแรก หลังการแข่งขันเพียง 8 วันผมจะต้องไปอัลตราซาวน์ตับและเจาะเลือดเป็นครั้งสุดท้ายก่อนทำการรักษา เมื่อดูภาวะแวดล้อมทั้งสิ้นแล้ว นี่เป็นการแข่งขันที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตของผม symbolically ผมจึงแสดงความตั้งใจเป็นพิเศษให้รายการนี้ด้วยการโกนขนขาซึ่งเป็นการแสดงถึงความจริงจัง และความเคารพต่อกีฬาชนิดนี้

IMG_1910

แม้ว่าผมจะเริ่ม season ค่อนข้างต้วมเตี้ยมด้วยเวลาในรายการสมุยที่ช้ากว่าปีที่แล้ว รายการสำคัญอันดับสองของผมที่กรุงเทพฯ ค่อนข้างออกมาดี เสียกำลังใจที่หัวหินเล็กน้อย เพราะก่อนหน้าการแข่งขันผมต้องทำการเจาะตับทำให้ไม่สามารถซ้อมจริงจังได้เป็นเวลาประมาณสองสัปดาห์ แต่รายการนี้ผมมั่นใจเต็มที่ ผมเตรียมจักรยานทุกคันให้พร้อมสำหรับรายการนี้ด้วยการเปลี่ยนเป็น compact crank  ทั้งหมด ผมซ้อมจักรยานมาเป็นอย่างดีตลอดทั้งปี รวมถึงการซ้อมว่ายน้ำที่เรียกว่าพร้อมเป็นพิเศษ จะมีเพลาเรื่องวิ่งอยู่บ้าง อาจจะเป็นเพราะจักรยานทุกคันเพิ่งปรับปรุงมาใหม่สำหรับฤดูการนี้ ร่วมกับผมไม่มีรายการวิ่งท้าทายใหม่ ๆ ที่รอคอยอยู่เลยเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ช่วงสองสัปดาห์ก่อนแข่งขันนั้นตารางซ้อมผมเป็นเทเปอร์ที่เรียกได้ว่าลดจนเกือบใจหาย แต่ผมก็อดไม่ไหวที่จะออกไปปั่นเขาของรายการนี้ แบ่งระยะทาง 30 กม. แต่ปั่นช้าที่สุดเท่าที่ทำได้ ผมไม่ได้ต้องการวอร์มอัป แต่ทั้งนี้เพื่อเป็นการทดสอบเกียร์ของผมว่าที่เตรียมมานั้นเพียงพอกับเขาที่โหดที่สุดของรายการหรือไม่ แผนของผมคือไม่เข็นในทุกเขา แต่จะเก็บแรงให้มากที่สุดก่อนขึ้นเขาและจะปั่นที่เกียร์เบาที่สุดด้วยรอบที่ช้าที่สุด เพื่อให้ใช้ power ในการปั่นน้อยที่สุดนั่นเอง ผมลองใช้วิธีการนี้กับสองเขาสุดท้ายของรายการ อำนวยที่ปั่นร่วมกันมากับผมก็สามารถจัดการกับเขาทั้งสองได้โดยไม่ยากเย็นนัก หลังการออกปั่นผมก็มั่นใจว่าเป้าที่จะไม่เข็นเลยน่าจะเป็นเป้าที่ทำได้ ถ้าหากไม่มีอาการตะคริวเข้ามารบกวนเสียก่อน ส่วนสองเขาแรกเราไม่ได้ไปทดสอบเพราะฝนตกหนักแต่ผมมั่นใจว่าเขาที่สี่หรือเขาตรีศาลา นั้นโหดกว่าเขาศุภาลัยแน่นอนแม้ว่าในการ briefing จะยกนิ้วให้กับเขาศุภาลัยเป็นอันดับหนึ่ง

IMG_1930

รายการซ้อมของผมจริง ๆ แล้วคือ 600 ชั่วโมงต่อปี ซึ่งเป็นจำนวนชั่วโมงที่น้อยที่สุดที่เขาแนะนำให้ซ้อมถ้าต้องการแข่งขันในระดับไอรอนแมน แต่ที่ผมทำได้จริง ๆ นั้นไม่ถึง 1 ใน 3 เสียทีเดียว จากเป้าซ้อมสัปดาห์ละ 8-16  ชม. ทำได้จริง ๆ เฉลี่ยประมาณ 5 ชม.กว่า ๆ และมีพีคแค่ 12 ชม. เพียงสัปดาห์เดียวเท่านั้น จะว่าไปผมอ่อนซ้อมถ้าจะอ้างถึงแผนการซ้อมอันนี้ แต่การเน้นจักรยานที่ตอนนี้เป็นจุดอ่อนสำคัญของผมก็ทำให้ผมกล้าที่จะตั้งเป้าหมายที่จะเอาชนะเวลาของทีมที่ทำเอาไว้เมื่อสามปีที่แล้ว ด้วยเวลา 6:36 ชม. เวลาว่ายน้ำ 45 นาที จักรยาน 3:30 ชม และวิ่งอีก 2:15 ชม. เมื่อดูส่วนประกอบนี้ดูแล้ว มีเพียงจักรยานเท่านั้นที่ผมจะเอาชนะมันได้ และต้องเอานะมันมาก ๆ ด้วยเพราะในการวิ่งเมื่อปีที่แล้วผมทำสถิติไว้ไม่ดีนัก อย่างไรก็ตามเพื่อป้องกันความเสียใจ ผมยังมีสถิติส่วนตัวที่ทำไว้ที่ 6:59 ชม เอาไว้คอยปลอบใจถ้าผมทำได้ไม่ตามเป้า ส่วนอำนวยตั้งเป้าไว้ที่ 8 ชม. เมื่อรู้ว่าผมทำไว้ครั้งแรกที่ประมาณ 7 ชม. ซึ่งผมเห็นว่าเป็นเป้าหมายที่กำลังดี

1400283_254289781392170_1454280041_o

ปีนี้ผมออกมาที่งานค่อนข้างช้าเพราะข้าศึกไม่มาตามนัด ร่วมกับการติดตั้งที่ยุ่งยากกว่าปีที่แล้วเพราะผมมีอุปกรณ์ hydration ที่ซับซ้อนขึ้น มีการพกพา power gel ซึ่งระบบการให้น้ำและพลังงานของผมในปีนี้ก็ถือว่ายกเครื่องใหม่ทั้งหมด เพราะผมเริ่มมั่นใจว่าอาการตะคริวของผมเกิดจากผม hydrate ไม่เพียงพอ ในขณะที่อาการแผ่วปลายของผมมีสาเหตุหลักมาจากผมเติมพลังงานไม่เพียงพอ ในคราวนี้มีการใช้ถุงเท้า ปลอกแขน และอื่น ๆ ที่ปกติผมไม่เคยใช้ สิ่งเหล่านี้ผมคาดว่าผมจะต้องใช้ในระยะไอรอนแมน ผมจึงเพิ่มเข้าไปในจุด transition ในครั้งนี้เพื่อความคุ้นเคย เนื่องจากผมไม่ค่อยชอบซ้อม transition ที่บ้าน ผม set up  จักรยานจนหมดเวลาต้องไปที่จุดเริ่มต้น ผมเดินหาอำนวยอยุ่พักใหญ่ก่อนที่จะตัดสินใจออกไปว่ายสั้น ๆ เพื่อเป็นการยืดเส้นยืดสาย ในการแข่งขันนี้ผมเริ่มต้นเป็นกลุ่มแรกสำหรับมือสมัครเล่น ซึ่งด้วยการเริ่มต้นเนิบ ๆ แบบผม และความเร็วปานกลางก็จะถูก wave หรือ 2 wave ที่ตามมาแซงได้จำนวนหนึ่ง แต่สำหรับอำนวยนั้น คาดว่าคงได้ว่ายอยู่ในกลุ่มใหญ่ของ wave ที่ตามมาอย่างแน่นอน

1167438_254289851392163_149199900_o

ผมออกตัวไม่ได้รอเหมือนปีที่ผ่านมา ผมออกตัวในกลุ่มกลาง ๆ แล้วก็พบว่า มันไม่น่าจะทำให้ผมเร็วขึ้นได้เลย เพราะผมไม่สามารถทำความเร็วได้ คนเกะกะไปหมด ออกซ้ายก็ไม่ได้ ออกขวาก็ไม่ได้ ริบบิ้นลายธงชาติที่ผมผูกข้อมือเอาไว้เป็นสัญลักษณ์ในการต่อต้านคอรับชั่นในวันนี้ค่อย ๆ เลื่อนหลุดออก ผมเอามือคว้าไว้ได้ทันแล้วพยายามยัดมันลงในอกเสื้อของผม ปีนี้ผมรู้สึกว่าผมว่ายได้ไม่ค่อยดีเมื่อเทียบกับปริมาณการซ้อมว่ายน้ำที่ทุ่มเทลงไป แม้ว่าเวลาซ้อมผมจะทำความเร็วได้ที่ 1:45/100m เวลาแข่งผมก็ยังทำได้เท่า ๆ เดิมที่ 2:xx/100m เช่นเดียวกันปีที่แล้ว แถมเวลารวมที่ช้าลงเกือบหนึ่งนาที ทั้ง ๆ ที่สภาพทะเลไม่ได้โหดร้ายเท่า สงสัยงานต่อ ๆ ไปผมคงต้องขอไปออกตัวด้านหน้า ๆ แก้ปัญหาตามก้นชาวบ้านบ้างเสียแล้ว อีกอย่างอาจจะเป็นเพราะเมื่อก่อนผมไม่ซ้อมว่ายน้ำเลย เวลาว่ายก็กะว่าให้เหนื่อย ๆ ประมาณ RPE 4 แต่คราวนี้เนื่องจากซ้อมเยอะเลยพยายามเก็บที่ RPE 3 มาแบบไม่เหนื่อยแต่เวลาเลวร้ายหน่อย ในตอนนี้ก็ยังไม่รู้ว่าในการแข่งจริง ๆ นั้นจะ pace อย่างไร ข้อดีอย่างนึงของการขึ้นจากน้ำแบบเหนื่อยน้อยคือ สภาพรูปที่ถ่ายออกมาค่อนข้างสวย ทำมาหากินได้ เอาวะ ถือว่าได้อย่างเสียอย่าง ผมพยายามควานหาริบบิ้นลายธงชาติที่ผมเก็บไว้ที่ในเสื้อ แต่ก็ไม่พบ ใจคิดว่านี่คงเป็นสัญญาณที่ดี มันคงหมายถึงไทยคงได้เป็นอิสระเสียที ผมคงเหลือริบบิ้นธงชาติอีกเส้นที่โบกสะบัดที่ท้ายหลักอานของจักรยานของผม
IMG_1983

ผมออกปั่นด้วยความเครียดน้อยมากเพราะเริ่มเข้าใจปฏิกิริยาของร่างกายในตอนปั่นจักรยาน ผมพยายามคุม HR และ Power ให้อยู่โซน 4 ไม่กระฉอกขึ้นสูงเหมือนการแข่งขันอื่น ๆ ที่ผมจะตื่นเต้นเมื่อเริ่มต้นปั่นจักรยานทำให้เสียพลังงานมากเกินไปในช่วงแรก ผมแทบไม่ได้ดูความเร็ว เวลาหรือค่าเฉลี่ยใด ๆ เลย ใจผมมุ่งมั่นอยู่ที่ Power Zone 4 เท่านั้น ในขณะที่เหลือบ ๆ ดูว่า HR ของผมพุ่งเกินไปหรือไม่ ซึ่งปรากฏว่าหัวใจผมเต้นในระดับ 160 ซึ่งเป็นจังหวะ Tempo เท่านั้นยังไม่เข้าใกล้ Threshold ของผม อย่างไรก็ตาม race marshall ปีนี้ค่อนข้างจะเข้มงวดเล็กน้อย ในกลุ่มเดียวกับที่ผมปั่นจะมี race marshall  ที่คอยตามเพราะมีกลุ่มปั่นอยู่ใกล้ ๆ กันหลายคน ซึ่งแน่นอนว่ามีความเสี่ยงของการ drafting ซึ่งเป็นข้อห้าม ปัญหาที่เกิดกับผมก็คือผมพยายามใช้ power ที่คงที่และทักษะการเข้าโค้งที่อาจจะดีกว่าหลาย ๆ คน เมื่อถึงโค้งทีไรผมเข้าประชิดกับคันข้างหน้าทุกที พอจะเร่งเท่านั้นแหละ ก็โดนตะโกน เป็นอย่างนี้สองสามครั้งจะกระทั่งครั้งสุดท้าย race marshall ถึงกับตะโกนเรียกหมายเลขของผม 377 point ผมตกใจจนเบรคทิ้งระยะลงมาเกือบ 100 ม. ด้วยความงง และไม่แน่ใจว่าจริง ๆ แล้วผมต้องจอดให้เขียน point บนป้ายผมหรือไม่ แต่ดูไปดูมาเขาก็ไม่ได้บอกให้จอด และผมก็ถอยลงมาจนไกลมาก ผมต้องเจอกับ marshall คนนี้และทำให้ไม่สามารถเร่งความเร็วได้เลย ไปพักใหญ่ ๆ เพราะเท่าที่เห็นกับคันข้างหน้าแต่ละคนก็โดนไปคนละทีสองที จนกระทั่งมีคนนึงที่ถูกปรับจอดจริง ๆ ผมจึงรีบเร่งออกไปให้ห่างจากเขาให้มากที่สุด ถือว่าเป็นช่วงตัดกำลังใจ และตัดความเร็วไปเยอะจริง ๆ


1450911_764244203592667_557843602_n

และแล้ว ช่วง 40 km แรกผ่านไปอย่างรวดเร็วและในที่สุดผมก็เข้าใกล้เขตเขาที่หนึ่ง ผมเคยปั่นขึ้นเขานี้แล้วหนึ่งครั้ง เข็นอีกหนึ่งครั้ง ผมจำเขานี้ได้ดี แม้ว่าเนินแรกจะดูน่ากลัวเพราะเราจะเห็นยอดเขา (ที่จริง ๆ แล้วเราไม่ต้องปั่นขึ้นไป) ตั้งตระหง่านอยู่เบื้องหน้า ด้านข้างเป็นเหวย่อม ๆ มีราวกันตกกั้นโดยตลอด ผมจำได้ว่าเลยโค้งและเนินนี้จะมีช่วงพักเล็กน้อยก่อนที่จะชันขึ้นไปสั้น ๆ เป็นมุมมองที่น่าเกรงขามแต่ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่ใจคนสร้างภาพไว้ เขาแรกเป็นการกระตุ้นบรรยากาศการแข่งขันได้ดี ผมรู้ว่าเขาศุภาลัยที่อยู่ถัดไปหนักหนาสาหัสกว่ามาก

ผมพยายามเลี้ยง Power Zone 4 มาเรื่อย ๆ จนเข้าเนินของเขาศุภาลัยอันโหดร้าย ซึ่งสมคำร่ำลือจริง ๆ แม้ผมค่อย ๆ ปั่นช้า ๆ เกียร์เบา ๆ รอบต่ำ ๆ ไปเรื่อย ๆ เนินเขาก็ดูเหมือนว่าจะไม่มีวันจบสิ้น เนินที่ชันขึ้นทีละเล็กละน้อย ค่อย ๆ เข้ามาระลอกแล้วระลอกเล่า ผมเริ่มจะเชื่อว่าบางทีที่ศุภาลัยนี่อาจจะเป็นเนินที่โหดที่สุด ผมเริ่มนึกถึงปีที่ผ่านมาที่มีฝนตกหนัก มีสายน้ำไหลเชี่ยวลงจากเขา ไหล่ทางที่ลื่น วันนี้ไม่มีฝน และตอนนี้ผมยังนั่งปั่นได้โดยไม่ระเบิดหัวใจ แต่ทันใดนั้นชะง่อนเนินสุดท้ายก็พุ่งเข้ามาผมต้องรีบยกตัวขึ้นทิ้งน้ำหนักลงไปบนเท้าหมุนล้อเร่งจักรยานขึ้นไปก่อนที่ความเร็วจะตกจนผมล้มไถลลงไปกับพื้นถนน ปั่นได้เพียง 2 ก้าวล้อหลังก็เริ่มฟรี นี่แหละความโหดของเนินที่เขาที่ร่ำลือกัน เหลืออีกเพียง 30 ม.ก็จะถึงยอด ผมรีบนั่งลงแล้วกัดฟัน มือซ้ายขวาสลับกันดึงรั้งเมื่อผมใช้พลังงานที่เหลืออยู่อัดเข้าที่บันไดเพื่อเร่งรอบขาทำความเร็วให้ข้ามเนินให้ได้ “Keep spinning, only 20 meters to go” เสียงกองเชียร์ชาวต่างชาติมาทันยกกำลังใจผมที่กำลังจะถดถอยลง ต้องขอบคุณเสียงนั้น และแล้วผมก็ผ่านมาไปได้

0513_03672

หลังจากเขาศุภาลัยผมรู้ว่ากว่าจะเจอเขาอีกครั้งหนึ่งก็จะประมาณ  80 กม. ช่วงนี้มีเวลาที่จะพักและทำความเร็วค่อนข้างจะมากเลยทีเดียว ในเที่ยวกลับนี้ผมปั่นสวนกับอำนวยบนเส้นทางสวนเพียงเส้นเดียวของงานนี้ ซึ่งหมายความว่าอำนวยอยู่ไม่ห่างจากผมมากมายนัก ถือว่าเป็นความเร็วที่น่านับถือเลยทีเดียวสำหรับคนที่เพิ่งซื้อจักรยานมาได้ 6 เดือน ผมโบกมือทักทายเล็กน้อย ก่อนที่จะกดหัวปั่นต่อไป ผมเริ่มเห็นประโยชน์อย่างจริงจังของ power meter เพราะในรายการนี้ผมควบคุม Power เป็นหลัก เพื่อที่จะไม่ให้เกิดการล้าของกล้ามเนื้อจนกระตุ้นให้เกิดตะคริว เพราะนั่นจะทำลายเป้าหมายสูงสุดของผมก็คือไม่ลงเข็นนั่นเอง ยังไม่ทันไรพอเข้าพื้นที่ของ 70km ขาผมก็เริ่มมีอาการตึง ๆ นิด ๆ ตะคริวที่น่องทั้งสองข้างกำลังมา ผมรู้ว่าอีกเพียง 10km ผมจะถึงย่นเขาที่โหดร้ายที่สุด ผมต้องเก็บอาการไว้ให้ได้ เพราะการที่จะต้องกดแรง ๆ ขณะขึ้นเขามีโอกาสทำให้ตะคริวโจมตีได้โดยง่าย แต่มันไม่ได้ง่ายอย่างที่คิดเพราะเส้นทางเข้าสู่สองเขาสุดท้ายก็เป็นเนินน้อย ๆ ซึม ๆ ที่ต้องใช้กำลังขาพอสมควร ต้นขาผมเริ่มออกอาการคล้ายตะคริวจะถามหา ผมจึงตัดสินใจชะลอตัวอย่างเต็มที่ เปลี่ยนเป็นเกียร์ที่เบาที่สุดแล้วเลี้ยงตัวเข้าสู่เขาที่สาม ยุทธวิธีนี้ได้ผล เขาที่สามผ่านไปอย่างง่ายดาย แต่เขาที่สี่ที่ตรีศาลารออยุ่ใกล้ ๆ ผมเลี้ยงขามาเรื่อย ๆ จนกระทั่งเห็นโค้งสุดท้ายที่จะหัดศอกไต่ขึ้นไปชันที่สุดของสนามนี้

ผมตีออกขวาทันที่ที่มองเห็นโค้ง หวังแต่เพียงว่าจะไม่มีรถสวนลงมา หรือถ้ามีผมก็จะยังน่าที่จะไต่ขึ้นตามไหล่ทางได้ ผมพยายามนั่งให้นานที่สุด แล้วมายืนโยกเพียงไม่กี่ขาให้พ้นช่วงโค้งนั้นเท่านั้น ผมรู้ว่าหลังจากนี้จะยังมีเนินโหด ๆ ตามมาที่จะต้องเก็บแรงไว้อัดให้พ้น แผนนี้ก็ได้ผลอีกเช่นเคย เมื่อผ่านโค้งมรณะมาถึงทางลาดสั้น ๆ ได้พัก เนินชันยาว ๆ สองช่วงรอผมอยู่ ขาผมล้าเต็มที่แล้ว การนั่งปั่นเริ่มเป็นไปไม่ได้ ผมเริ่มตัดสินใจว่าเฮือกสุดท้ายที่ผมจะต้องยกตัวขึ้นแล้วกัดฟันไปให้ถึงยอด ผมใช้กำลังทั้งหมดที่มี กัดฟัน มือซ้ายขวาสลับกันดึง จนกล้ามเนื้อเกร็งไปทั้งตัว และแล้วผมก็สามารถผ่านข้ามมันมาได้โดยขาไม่แตะพื้นแม้แต่ครั้งเดียว ผมยิ้มให้กับน้องพนักงานไบค์โซนที่เอา Go Pro มาวิ่งถ่ายตอนผมอัดขึ้นมา ผมไม่แน่ใจว่าผมจะได้เห็นภาพเหล่านั้นมั้ย แต่การถูกบันทึกลงในวิดีโออาจจะเป็นกำลังใจหนึ่งที่ทำให้ผมข้ามเขาตรีศาลานี่มาก็ได้

IMG_2206

ในช่วง 10km สุดท้ายผมเริ่มเก็บแรงขา ปล่อย spin เบา ๆ หลาย ๆ ครั้ง เพื่อไล่ตะคริวให้หมดไป ผมทำเวลาเข้าสู่ T2 ได้รวดเร็วจนผมเองก็ต้องตกใจ เมื่อดูเวลารวมแล้ว เพิ่ง 3:50 ชม. เท่านั้น ถ้าผมสามารถวิ่งฮาร์ฟมาราธอนภายใน 2:10 ชม. ผมก็จะทำเวลาได้ต่ำกว่า 6 ชม. นั่นหมายความว่าไม่เพียงผมจะสามารถเอาชนะตัวเองเมื่อปีที่แล้ว ทำเป้าหมาย 6:37 ชม. ได้แล้ว ผมยังทำสถิติที่เรียกว่าน่าเกรงขามระดับหนึ่งเลยทีเดียว ผมเข้าสู่ T2 อย่างสบายใจ ค่อย ๆ เปลี่ยนรองเท้าใส่หมวก คว้าปลอกแขน และ hydration belt ผมลังเลเล็กน้อย เพราะสนามนี้มีน้ำให้ตามระยะ 1.5 กม. ซึ่งถือว่าถี่พอสมควร แต่สุดท้ายแล้วผมตัดสินใจคว้ามันออกมาด้วย ในใจผมคิดว่าถ้าผมวิ่งได้ดี ผมจะสามารถใช้น้ำของผมเองเกือบทั้งการแข่งขันไม่ต้องแวะเข้าจะให้น้ำเลย หรือถ้าผมวิ่งได้ไม่ดี ผมก็ยังสามารถดื่มน้ำได้ตลอดเวลาที่ผมต้องการซึ่งเป็นผลดีต่อกำลังใจ ผมวิ่งออกจาก T1 มาเจอกับครอบครัวที่ยืนรออยู่ผมวิ่งเข้าไปทักทายกับลูกชายคนโตอยู่พักใหญ่ ไม่ทันเห็นลูกสาวคนกลาง ซึ่งภรรยาผมบอกภายหลังว่ายืนอยู่ข้าง ๆ กัน เลยไม่รู้ว่าสาวน้อย ซาช่าจะมีอาการน้อยใจหรือไม่

2 กม.แรกผมทำเวลาค่อนข้างดีที่ความเร็ว 6 min/km ซึ่งเร็วกว่าเป้า แต่ไม่นานนักขาของผมก็เริ่มไม่ทำงาน hydration belt ที่ดูเหมือนว่าผมจะไม่อยากจะหิ้วมาตั้งแต่แรก เริ่มทำตัวมีปัญหา บน Tri-suit ที่ลื่นปรื๊ด Belt คอยจะเด้งขึ้นเด้งลงตลอดเวลา จนในที่สุดกระติกน้ำรูปไตก็คอยที่จะเด้งหล่นลงพื้นตลอดเวลา ซึ่งน่ารำคาญและเสียสมาธิเป็นอย่างมาก ผมวิ่งไปเจอคุณไตร เจ้าของร้านไบค์โซน ที่แซงผมในช่วงจักรยานมาเหมือนว่าจะนานแสนนานตั้งแต่ก่อนเขาที่หนึ่ง ผมแปลกใจเล็กน้อยผมจึงเข้าไปทักทาย และวิ่งคู่กันไป ทันใดนั้นเจ้ากระติกรูปไตก็กระเด็นหลุดอีกครั้ง ผมต้องหันกลับไปเก็บและปล่อยคุณไตรวิ่งต่อไป ผมตามคุณไตรทันอีกครั้งเมื่อเขาเข้า pit stop ก่อนที่เขาจะกลับมาแซงผมได้อีกครั้งในเวลาไม่นานนัก ความเร็วผมเริ่มตกจนเห็นได้ชัด ตอนนี้ผมเริ่มต้องเอากระติกขึ้นมาถือบนมือทั้งสองข้าง เนื่องจากมีการหล่นบ่อยครั้ง ความเหนื่อย ความล้า ความเร็วที่ตกลง ผมเริ่มไม่สามารถคุมความเร็วได้และพาลหลุดไป 7min/km บ่อยขึ้น

IMG_1979

ผมจำเป็นต้องตั้งสติให้ดี โฟกัสกับตัวเอง ตอนนี้วิ่งผ่านมากว่า 5 km แล้ว ผมยังทำเวลาได้ 30 เศษ ๆ ไม่ถึง 35 นับว่าไม่เลวร้ายจนเกินไปนัก ผมเริ่มต้ังเป้าแบบเบา ๆ ว่าผมขอแค่เฉลี่ยนเพียง 7 min/km หรือ จบฮาร์ฟมาราธอนนี้ที่ 2:27 ชม. น่าจะเพียงพอ ซึ่งจะทำให้เวลารวมผมอยู่ในช่วง 6:17ชม.  ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ถึง 20 นาที และเร็วกว่าเดิมถึง 40 นาที ผมเริ่มนับถอยหลังครั้งละ 1 km และคำนวณเวลาที่ผมได้กำไร ความเร็วของผมค่อย ๆ ดีขึ้น คงที่ขึ้นเฉลี่ยได้ 6:30-7:00 ซึ่งผมค่อนข้างพอใจ ที่จะไปตามใครทัน หรือวิ่งแซงใครผมไม่คิดแล้ว จิตใจแน่วแน่อยุ่ที่ความเร็วที่ตั้งไว้ และเวลาที่มีเหลือเพื่อที่คงความเร็วเฉลี่ยให้ได้ตามเป้า

เมื่อ 10.5 km แรกผ่านไปผมรู้สึกดีขึ้น แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าผมวิ่งได้เร็วขึ้น ผมแอบว่า hydration belt ลงใกล้ ๆ กับเส้นชัย ตอนนี้มือผมว่าง ผมไม่รู้สึกหนักขาอีกต่อไป ผมเร่งความเร็วขึ้นเล็กน้อย พยายามดันให้ HR ผมขึ้นไปแตะ 160 ให้ได้ แต่ทำเท่าไรก็ไม่ได้ ขาผมไม่ค่อยตอบสนอง จึงต้องประคองที่ความเร็วเดิมไป และปล่อยให้ HR เต้นที่ประมาณ 155 เท่านั้น นั่นหมายความว่าข้อจำกัดของผมตอนนี้กลายเป็นกล้ามเนื้อ หรือไม่ก็พลังงานสะสม แต่ตอนนั้นผมคิดอะไรไม่ค่อยออก ยกเว้นแต่การคำนวณเวลาเท่านั้น แม้ว่าทางรายการจะมีแจก poewr gel จำนวนมาก ผมก็ไม่มีอารมณ์ที่จะเข้าไปรับมากินเลย ผมจึงไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วทำไมผมถึงเร่งเครื่องไม่ขึ้นทั้ง ๆ ที่ HR ไม่แสดงความเหนื่อยให้เห็นเลย

IMG_1984

ผ่านเป็น 15 km ผมมีเวลาเหลือเฟือเก็บไว้ในกระเป๋า ผมจึงตั้งเป้าใหม่ 6:10ชม. ทันใดนั้นผมก็เห็นอำนวยวิ่งสวนกลับมา พร้อมกับตะโกนว่า “เพิ่งถึงนี่เองเหรอวะ?” ผมตอบเออไปแบบงง ๆ ก่อนที่จะมาเข้าใจภายหลัง สมองเริ่มทำงานได้จำกัด เนื่องจากออกกำลังกายอย่างหนักต่อเนื่องมา 5 ชั่วโมงกว่า ๆ แล้ว นี่ถ้าไปไอรอนแมนเราต้องพูดกันถึงตัวเลข 13-15 ชม. เลยนะเนี่ย มันจะเป็นอย่างไรไม่ค่อยอยากจะคิดตอนนี้เท่าไรเลย ผมคำนวณเวลาเฉลี่ย และ pace ทุก ๆ กิโลเมตรที่ผ่านเข้ามา เพื่อให้เวลามันผ่านไปเร็วขึ้น ผมเริ่มเข้าจุดให้น้ำทุกจุด เพิ่มการเดินเข้าไปทุกครั้ง น้ำสองแก้ว ฟองน้ำสองก้อน เป็นกิจกรรมที่ดูเหมือนว่าลดความเครียดจากการนับถอยหลังลงไปได้บ้าง

ช่วงเวลา 2 km สุดท้ายค่อนข้างจะสบาย ๆ สำหรับผม เมื่อเทียบกับเมื่อปีที่ผ่านมา ผมยังสามารถคงความเร็ว 6:30 min/km ได้สบาย ๆ แม้ว่าจะไม่สามารถเร่งไปได้มากกว่านี้ แต่ก็ไม่รู้สึกทรมาน เมื่อเข้าโค้งสุดท้ายเพื่อวิ่งตรงเข้าเส้นชัย ผมมองไปทั่ว ๆ พยายามหาครอบครัวของผม แต่ก็ไม่เห็นใคร ผมรู้สึกผิดหวังเล็กน้อย เหลือบมองนาฬิกา แล้วพบว่าผมน่าจะทำเวลาได้ดีกว่า 6:10 ชม. อย่างแน่นอน สงสัยว่าตารางเวลาที่ผมเขียนให้พวกเขาจะไม่ค่อยแม่นยำ เพราะผมกะว่าจะเข้าประมาณ 6:30-6:50 ชม. ในกระดาษที่ผมคำนวณให้พวกเขาไว้ ในที่สุดผมก็เข้าเส้นชัยได้ด้วยเวลา 6:08:55 ชม. เร็วกว่าปีที่ผ่านมาถึง 51 นาที เร็วกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ถึง 28 นาที เป็นสัญญาณของความแข็งแรงที่ดี  หลังจากวันนี้ 8 วัน การตรวจเลือดของผมน่าจะให้ผลสวย ๆ เช่นนี้ออกมาเช่นกัน

0513_02769

ผมเข้าเส้นชัยมาเจอกับคุณหมอ Krongchai สมาชิกใหม่ของทีมที่มาปั่นแบบทีมผลัด เราถ่ายรูปร่วมกันเล็กน้อย แต่กิจกรรมนี้ทำให้ครอบครัวผมรับรู้ถึงการเข้าเส้นชัยของผมแล้วตัดสินใจรออยู่ในห้องพัก ผมขอตัวไปหาน้ำและอาหารทาน พร้อมกับใช้บริการนวดจากบันยันทรี ความรู้สึกของผมค่อนข้างดีมากเมื่อเทียบกับการแข่งขันครั้งอื่น ๆ ที่จะค่อนข้างทรมานเวลานวด หลังจากนวดเรียบร้อยผมก็ตัดสินใจออกมานั่งรออำนวยเพราะคาดเดาเอาว่าคงอีกไม่เกินครั้งชั่วโมงอำนวยน่าจะเข้าเส้นชัยถ้าทำเวลาห่างจากผมสักหนึ่งชั่วโมง ผมรออยุ่ค่อนข้างนานจนไม่มั่นใจว่าอำนวยเข้าเส้นไปก่อนหน้านี้แล้วหรือยัง แล้วในที่สุดอำนวยก็วิ่งสบาย ๆ เข้าเส้นมาด้วยเวลา 7:38 ชม. เวลาที่น่าประทับใจกับนักไตรกีฬาปีแรก ที่เพิ่งซื้อจักรยานไม่เกิน 6 เดือน เราถ่ายภาพกันเล็ก ๆ น้อย ๆ อำนวยบ่นแบบเดิม ๆ เหมือนกับที่บ่นตั้งแต่รายการแรกที่สมุย รายกรที่สองที่กรุงเทพ และรายการที่สามที่หัวหิน บ่นว่าเบื่อ

1479150_544503828974763_7490656_n

เราแยกย้ายกันไปพักผ่อน อำนวยแวะมาคุยสัพเพเหระที่โรงแรมในเย็นวันนั้น ก่อนที่จะบอกลา วันรุ่งขึ้นเราจะเริ่มแยกย้ายกันไป ผมถือโอกาสไปพักผ่อนที่พังงาต่ออีกวันก่อนค่อย ๆ คลานไปกระบี่อีกหนึ่งวัน แล้วกลับปัตตานี ผมใช้เวลาทั้งสัปดาห์พักผ่อน งดการออกกำลังกาย ผมมีอาการอ่อนเพลียเล็กน้อยเนื่องจากติดหวัดจากเด็ก ๆ และมีไข้ต่ำ ๆ ในขณะที่อำนวยออกไปพักในตัวเมืองภูเก็ตหนึ่งคืน ก่อนที่จะไปพักที่ชุมพรอีกคืน แล้วไปต่อที่หัวหินในวันที่ 5 ธันวาคม พร้อมกับการเริ่มซ้อมวันแรกหลังจากแข่ง ผมเชื่อว่า Tri Bug ได้กัดอำนวยเข้าแล้ว จากวันนี้เขาคงไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เตรียมพบกับบทใหม่ของ Ironman อำนวยกันได้แน่นอนครับ

เดินทางสร้างชีวิตผ่านกีฬาที่ผมรัก

วันนี้ผมได้มีโอกาสคุยกับกลุ่มนักไตรกีฬาชั้นนำของประเทศที่เรียกตัวเองว่า Seal Tri Team ที่มีประสบการณ์แข่งรายการ Ironman มาแล้วทั่วโลกนับเป็นสิบครั้ง โดยที่ผมเองนั้นยังไม่เคยมีประสบการณ์ในระยะนี้แม้แต่ครั้งเดียว ไม่เคยแม้กระทั่งเดินทางออกไปแข่งขันในต่างประเทศ เมื่อทางกลุ่มได้พูดคุยถามความเห็นถึงประสบการณ์และความประทับใจในการแข่งไตรกีฬา โดยถามว่ารายการไหนที่ดีและน่าประทับใจ ทั้งในและต่างประเทศ ผมซึ่งเล่นกีฬานี้มานานแสนนานจึงถือโอกาสแชร์ความคิดเห็นลงไปบ้าง

ผมมองอย่างนี้นะครับ จากประสบการณ์ท่องเที่ยวไตรฯ มาตั้งแต่ปี 36 ก่อนที่ NBC จะสร้าง Drama ให้คำว่า Ironman ดูยิ่งใหญ่เกินความเป็นมนุษย์ มันเหมือนการท่องเที่ยวในที่ต่างๆครับ แต่ละรายการมีจุดเด่นจุดด้อยต่างๆกันไป และให้อะไรที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะถ้าจัดโดย local authority งานที่จัดโดย frainschaise มันก็ให้ความรู้สึกเหมือนเข้าร้านอาหาร chain เมื่อไปเที่ยวนั่นแหละครับ คนส่วนใหญ่ชอบอะไรที่คุ้นเคยและคาดเดาง่าย chain จึงเป็นที่นิยม ความมีมาตรฐานและธุรกิจทำให้การจัดการออกจะดูดีกว่า ง่ายกว่าที่จะได้รับความประทับใจโดยเฉพาะถ้าลงทุนเยอะๆไม่มีใครอยากเสี่ยงกับรายการ local ยิ่งถ้าเดินทางไกลๆ ก็ยิ่งต้องทำให้คุ้ม สังเกตุตัวเองได้ครับว่าเวลาไปเที่ยวต่างประเทศเรามองหาอาหารไทย แมคโดนัล สตาร์บัค หรือเสี่ยงกับร้านที่อ่านชื่อไม่ออก อ่านเมนูไม่ได้แล้วก็คุยกันไม่รู้เรื่อง เท่านี้คุณก็จะเลือกรายการที่เหมาะกับคุณได้ครับ และทุกรายการเมื่อกลับไปอีกครั้งคุณก็จะรำลึกถึงบรรยากาศเก่าๆ โค้งที่จำได้ เขาที่เคยเข็น ไม่ว่าใครจะเป็นคนจัด รายการคุณจะติดยี่ห้อหรือไม่ ในใจคุณเท่านั้นครับที่จะติดกลับไป ผมพบว่าสิ่งที่ดีและน่าจดจำที่สุดเป็นประสบการณ์ร่วมกับเพื่อนๆ ครอบครัวครับที่จะทำให้รายการนั้นน่าประทับใจ ซึ่งผมมีเยอะมาก ไม่ได้เกี่ยวกับการแข่งเสียเท่าไร ไม่ว่าจะเรียก มนุษย์เตารีด หรือ จอมท้าทาย แต่สุดท้ายเราคือนักไตรกีฬาครับ

ปรากฏว่าเมนท์นี้ให้สร้างมุมมองให้กับกลุ่มได้พอสมควร ก็เลยคิดว่าจะมาถ่ายทอดประสบการณ์เหล่านี้ออกมาเสียหน่อย ผมเริ่มเล่นกีฬาตั้งแต่เด็ก ๆ แต่ด้วยฝีมือระดับกระจอกจึงไม่ได้มีโอกาสได้เดินทางไปแข่งขันที่ไหนเลย มาจนเข้ามหาลัย มาเริ่มวิ่งเพื่อสุขภาพ การเดินทางเพื่อแข่งขันผมจึงเริ่มขึ้น เนื่องจากผมไม่เคยคิดที่จะชนะใคร การเข้าร่วม การเตรียมตัวในการซ้อมจึงเป็นสิ่งสำคัญของผม เป็นหัวใจของการออกกำลังกายของผม ในขณะที่การแข่งขันนั้นเป็นเสมือนการท่องเที่ยวไปในสถานที่ต่าง ๆ สร้างสมประสบการณ์ ทั้งผ่านชีวิต ทั้งภายในจิตใจของผมเอง ด้วยเหตุนี้การแข่งขันในแต่ละครั้งจึงมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่จะทำให้ผมจดจำประทับใจ แม้ว่าเวลาจะผ่านมาแล้วหลายสิบปีก็ตาม ผมเริ่มแข่งทวิกีฬาครั้งแรกในรายการราบสิบเอ็ดทวิกีฬา ครั้งที่ 1 ซึ่งผมต้องเดินทางปั่นจักรยานจากคลองสานมาขึ้นรถไฟที่หัวลำโพงไปลงที่หลักสี่แล้วจึงปั่นไปแข่ง จนถึงทุกวันนี้หลักสี่ในความทรงจำของผมเป็นเรื่องนี้เสมอ ผมกลับไปแข่งทุกปีจนถึงครั้งที่ 3 รองเท้าจักรยานคู่แรกผมซื้อที่งานนี้ แอโร่บาร์อันแรกผมปั่นในงานนี้ จักรยานสองคันแรกของผมใช้แข่งในรายการนี้เป็นรายการแรก เรียกได้่ว่าผมโตมาจากรายการนี้เลยทีเดียว

run

ผมมีโอกาสแข่งไตรกีฬาครั้งแรก เป็นไตรกีฬาวิบาก ใช้เสือภูเขาในการแข่งขัน แข่งที่จันทบุรี ผมต้องนั่งรถไฟจากปัตตานีไปลงกรุงเทพ ระหว่างทางนั่งตรงข้ามกับคนแปลกหน้าที่กลายมาเป็นเพื่อนกันจนทุกวันนี้ ผมต้องปั่นไปเอกมัยเพื่อนั่งรถทัวร์ไปลงปากทางเข้าอ่างเก็บน้ำ แล้วจ้างรถมอเตอร์ไซด์แบกจักรยานเข้าไปที่สถานที่แข่งขันก่อนผมจะพบว่าที่พักบนแพที่เขาจัดให้มีไม่เพียงพอ สุดท้ายผมต้องพักกับกำนัน ที่ลูกสาวมาเป็นอาสาสมัครพยาบาลในการแข่งขันนี้ ความทรงจำของการแข่งขันของผม ความประทับใจล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องราวแวดล้อม มีน้อยนักที่จะเกี่ยวกับการแข่งขันโดยตรง ในช่วงแรกของชีวิตนักกีฬาของผมเป็นช่วงชีวิตนักศึกษา ป.ตรี จึงเป็นความทรงจำเกี่ยวกันความดันทุรังในการเดินทาง ความไม่พร้อมเรื่องงบประมาณที่พัก เป็นเสียส่วนใหญ่ แต่สถิติที่ดีที่สุดในชีวิตของผมก็อยู่ในช่วงนั้น

Edge Water Park #14

ผมเดินทางไปศึกษาต่อในอเมริกาภายหลังเรียนจบไม่นาน ชีวิตนักกีฬาของผมเริ่มด้วยการโพสหาเพื่อนซ้อมผ่านอินเตอร์เนต แน่นอนว่าผมอยู่ในกลุ่มคนแรก ๆ ที่ใช้ประโยชน์อินเตอเนตในชีวิตประจำวัน ซึ่งรวมไปถึงการหาเพื่อนร่วมซ้อมไตรกีฬานี่ด้วยเช่นกัน ผมได้พบกับเพื่อนนักกฏหมายชาวอเมริกันวัยประมาณห้าสิบหรือย่างห้าสิบผมไม่ค่อยแน่ใจแต่ลูก ๆ เขาอยู่ประมาณ ม.ปลาย เขาพาผมไปปั่นซ้อมใน national park พาไปว่ายน้ำ open water ใน Lake Erie ผมจำได้ว่าผมมีคู่หูซ้อมว่ายน้ำเป็นเพื่อนนักเรียนชาวมาเลเซีย ซึ่งเราก็ออกไปว่าย open water ด้วยกัน ผมยังจำหน้าตาของคนตกปลาที่มองผมเป็นตัวประหลาดที่โผล่มาจากที่ไหนไม่รู้ ราวกับว่าผมว่ายข้ามมาจาก Canada เพราะทะเลสาบที่ผมไปว่ายนั้นเชื่อมติดกับ Canada นั่นเอง จำความตื่นเต้นระทึกใจเมื่อต้องรอเพื่อนชาวมาเลเซียที่ว่ายน้ำไม่แข็งนัก ไม่ยอมโผล่มาจากน้ำเสียที จนผมกลัวจะต้องเป็นคนโทรไปบอกแม่เขาว่าผมเป็นคนสุดท้ายที่เห็นเขา และเพื่อนนักกฏหมายคนนี้เองที่พาผมเข้าไปรู้จักบรรยากาศของการแข่งขันไตรกีฬาแบบที่ควรจะเป็นในรายการแรกของฤดู เป็นรายการชิงแชมป์ของพื้นที่บริเวณนั้น เราขับรถจาก Cleveland, Ohio ไปแข่งกันที่ Edinboro, Pennsilvania ผมเปิดซิง Wetsuit QR ของผมเป็นครั้งแรก เดือน พค. แม้ว่าอากาศจะไม่หนาวแล้วแต่น้ำยังอยู่ประมาณ 10-15C ซึ่งทำให้หัวชาได้เลยีเดียว งานแข่งในอเมริกามีบ่อยมาก ในพื้นที่ใกล้เคียงระดับขับรถไม่เกินสองชั่วโมง (ไม่ต้องไปค้างคืน) มีให้แข่งแทบทุกสัปดาห์ไปจนถึงปลาย ฤดูกาลคือเดือนสิงหาคม

TRI NCB

ผมจัดการแข่งขันให้ตัวเองแทบทุกสัปดาห์ สลับกันไปไตรกีฬา ทวิกีฬา เสือภูเขา ตลอด 7 ปีที่อยู่ที่นั่นผมจึงมีโอกาสแข่งขันมากมาย ในช่วงการใช้ชีวิตแข่งขันที่อเมริกานั้นส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวของการสร้างมิตรภาพ ผมค่อย ๆ ฝึกเพื่อนชาวมาเลย์จากว่ายน้ำได้ไม่เกินร้อยเมตรให้ไปว่าย open water ระยะทางเป็นกิโลกับผม ในการแข่งขันรายการ Edinboro ปีถัดไปผมชวนรุ่นน้องที่มาเพิ่งเดินทางมาไปชมการแข่งขัน พ่วงกับไปเที่ยวต่างรัฐด้วยกัน หลังจากกลับมาเพียง 1 สัปดาห์น้องเขาก็ซื้อจักรยาน ก่อนที่จะกลับมารับตำแหน่งผู้ช่วยอธิการบดีที่ผลักดันระบบเส้นทางจักรยานในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงที่สุด ผมไม่รู้ว่าเกี่ยวข้องอะไรกับการเดินทางครั้งนี้หรือไม่ แต่ผมคิดว่าการเดินทางครั้งนี้ส่งผลกับความคิดกับเขาพอสมควร การกลับไปแข่งขันที่ Edinboro ทุก ๆ ปีของผม มีความหมายมาก ๆ สำหรับการเริ่มต้นฤดูกาล เริ่มจากปีแรกที่เพื่อนนักกฏหมายได้พาผมไปพบกับบรรยากาศที่เรียกว่า pasta party งานไตรกีฬาที่ใหญ่เพียงพอระดับหนึ่งจะมีงาน pasta party ที่อาหารทุกอย่างจะฟรี (รวมอยู่ในค่าสมัคร) ซึ่งอาหารจะเรียบง่ายคือ ​pasta จำนวนมหาศาล มีให้กินจนไม่รู้จักหมด (ไม่มีอย่างอื่นให้กินครับ) บรรยากาศแห่งความเป็นมิตรที่ทุกคนจะทักทายกันราวกับว่ารู้จักกันมาก่อน ไถ่ถามกันว่ามาจากที่ใด เราอาจจะได้คุยกับแชมป์ปีที่แล้ว หรือคนที่กำลังจะเป็นแชมป์ เพราะในยุคนั้นคนเล่นไตรกีฬา ถือว่าเป็นกลุ่มคนประหลาดที่มีอยู่ไม่มากนัก เราจึงรู้สึกเป็นเพื่อนกันในทันทีที่ได้เจอกัน การกลับมาในทุก ๆ ปี จะเป็นตัวบ่งบอกความฟิตของผมในฤดูกาลนั้น ๆ บอกว่าในฤดูหนาวที่ผ่านมา ผมเตรียมตัวมาดีแค่ไหน เขาที่ยังจำได้ โค้งที่ประทับใจ ทำให้การปั่นสนามเดิม ๆ มีความหมายมากขึ้นทุก ๆ ปี ไม่รวมการพ่วงเที่ยวพิตสเบิร์ก หรือ Falling water ตามแต่ที่อยากจะไปก็ทำให้การเดินทางสนุกยิ่งขึ้น

race meeting#4

รายการอื่น ๆ ของปี ผมจะอยู่ในละแวกใกล้เคียง คือ Akron, Columbus, Cleveland และเมืองใกล้ ๆ บางครั้งผมเดินทางไปค้างคืนล่วงหน้าหนึ่งคืน เพื่อร่วมงาน pasta party เที่ยวเมืองเล็ก ๆ ข้าง ๆ เยี่ยมเพื่อนบ้างไรบ้าง หลาย ๆ ครั้ง ไปพักกับเพื่อนสนิทของผม โด่ง ที่เรียนอยู่ที่ Kent, Ohio ก่อนที่จะย้ายไปทำงานที่ Columbus, Ohio หลาย ๆ ครั้งที่ผมไปพักกับเขา ทำให้เขาตัดสินใจมาร่วมกับผมในหลายการแข่งขัน ตั้งแต่การซื้อจักรยานเสือภูเขาคันแรก ผมพาเขาไปเปิดที่สนาม single track ที่ technical ที่สุดในพื้นที่ Ohio เรียกว่า Vulture Knob ผมผ่านการแข่งขันที่สนามนี้หลายครั้ง ลงเขาแรก โด่งก็หัวทิ่ม คิ้วแตก ยังไม่ทันได้ปั่นไปไหนเลย หลังจากนั้นผมจึงพาเขาไปสนามอื่น ๆ ที่ง่ายกว่า ผมเริ่มสร้างแกงค์จักรยานขึ้นในเมือง มีหลาย ๆ คนซื้อเสือภูเขาคันแรก ด้วยความช่วยเหลือของผม เสือหมอบคันแรก หรือคันที่สองด้วยความช่วยเหลือของผม ผมเป็นสมาชิกชมรมจักรยานคนแรก ๆ ของมหาลัย เพราะผมเคยเป็นหัวลากให้ประธานชมรมคนแรกมาก่อน สมัยที่เขาอยู่ปี 1 ผมได้ไปช่วยสร้าง single track ของมหาลัยเส้นทางแรก

swim finish#3

งานที่ผมประทับใจอีกงานหนึ่งที่ผมไปทุกปีชื่อว่า Wendy’s International Triathlon ซึ่งผมพาเพื่อน ๆ ผมไปลงแข่งขันทวิกีฬาเป็นครั้งแรก โด่ง จบครั้งแรกด้วย DNF ส่วนพี่หนุ่มที่มีประสบการณ์มากกว่าเข้าเส้นชัยอย่างสวยงาม รายการนี้เราทั้งหมดได้ออกทีวีท้องถิ่น จริง ๆ แล้วหลาย ๆ รายการเราได้ออกทีวีกันเพราะทีวีที่นั่นจะค่อนข้างมีข่าวท้องถิ่นเป็นส่วนใหญ่ ความประทับใจครั้งนั้นอยู่ที่รายการข่าวที่มีนักกีฬาขาด้วนวิ่งเข้าเส้นชัย ก่อนที่พี่หนุ่มจะสปรินท์เต็มที่แข่งกับเด็กวัยประมาณสิบกว่า ๆ (โดยไม่รู้ว่าชายขาด้วนเพิ่งเข้าไปก่อนหน้านี้) ดูในข่าวแล้วมันสนุกจริง ๆ ครับ เพราะนั่งดูอยู่ด้วยกันทั้งสามคน

Alpine Valley #1

ผมเคยไปแข่งขันที่รายการที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ MsT’s Chicago Triathlon ซึ่งสร้างความประทับใจให้กับผมมาก ๆ เพราะวันนั้นเป็นครั้งแรกที่พี่หนุ่มที่เริ่มจากว่ายน้ำไม่เป็นเลย ที่ผมช่วยสอนว่ายน้ำจากเริ่มแตะขา จนกระทั่งลงรายการไตรกีฬาที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้ การได้ว่ายน้ำที่ชิคาโก ทำให้ผมคุยได้เต็มปากว่าการว่ายน้ำเจ้าพระยานั้น สะอาดดว่าชิคาโกเป็นอย่างมาก ที่ชิคาโกเหม็นมากขอบอก พี่หนุ่มว่ายถึงเป็นคนสุดท้ายและจบการแข่งขันอย่างสวยงาม การแข่งที่ชิคาโกครั้งนั้น แม้ว่าจะได้พ่วงการเที่ยวไปด้วย ทำให้ผมพบว่าการแข่งขันรายการเล็ก ๆ นอกเมืองนั้น บรรยากาศการแข่งขัน มันสนุกสนานกว่ากันมากมาย สวยกว่า สบายกว่า เป็นมิตรกว่า ผมไม่เคยกลับไปแข่งที่ชิคาโกอีกเลยหลังจากนั้น

ในงานแข่งหลาย ๆ งาน ผมได้เพื่อนใหม่แบบไม่ได้ตั้งใจ เพื่อนที่ฟิตเนส เมื่อเห็นเราซ้อม เมื่อเจอกันในงานแข่ง มีอยู่รายการหนึ่งที่ผมไปทุกปีเพราะเส้นทางปั่นที่สวยงาม ปั่นในป่า ขึ้นเขาวกวนก่อนมาจบที่ทะเลสาปที่ใช้ว่ายน้ำ ชื่อรายการว่า Ashtabula Triathlon ผมมักจะขับรถไปแต่เช้ามืดเพื่อไปนอนรอก่อนแข่ง เนื่องจากที่พักไม่ค่อยสะดวกนักในพื้นที่นั้น รายการสปรินท์ ออกตัวในน้ำคล้าย ๆ กันการแข่งโอลิมปิกสมัยนี้ การออกตัวแบบนี้ทำให้ผมได้เปรียบ เพราะปกติผมจะไม่ค่อยชอบออกตัวเร็ว ไม่ชอบโดนถีบ ไม่ชอบแย่งกันว่าย แต่พอทุกคนออกตัวพร้อม ๆ กันแบบนี้ ผมจึงมีโอกาสนำขึ้นหน้าได้ง่าย ในงานนั้นผมทำผิดพลาดครั้งใหญ่ ทำให้ผมไม่กล้าที่จะทำอีกเลย นั่นคือ ผมว่ายน้ำอย่างเต็มที่ ปรากฏว่าเข้าเส้นมาเป็นที่หนึ่ง ก่อนที่จะค่อย ๆ กลายเป็นที่ 10 ตอนปั่น และหายไปเมื่อวิ่ง เพราะความเร็วในการวิ่งของผมเมื่อก่อนนั้นค่อนข้างแย่ หลาย ๆ คนเชียร์ผม ต้องกลับมาถามว่าผมหายไปไหน ผมได้เพื่อนใหม่ในวันนั้นหลายคน ส่วนใหญ่เป็นรุ่นน้องที่มหาลัยที่เห็นผมซ้อมว่ายน้ำ หรือวิ่ง จึงตั้งใจเชียร์ผมในวันที่ผมได้ที่หนึ่งว่ายน้ำในวันนั้นเอง

Vulture Knob #3

Akron Triathlon ก็เป็นรายการที่ผมชอบอีกรายการหนึ่ง เพราะสนามแข่งขันดี ปั่นสนุก เพื่อน ๆ มักจะไปกันครบทุกคน สิ่งที่ผมมีความสุขเสมอ คือบรรยากาศการแข่งขันที่อเมริกานั้น เหมาะกับเป็นกิจกรรมครอบครัวเป็นอย่างมาก เราจะเห็นแต่ละคนมีครอบครัวมาคอยให้กำลังใจ บรรยากาศใกล้ ๆ เส้นใจเต็มไปด้วยความสุข ความรักตลบอบอวล งานที่ Akron เป็นงานหนึ่งที่ให้บรรยากาศแบบนี้ และความรู้สึกแบบนี้ส่งผลมากับผมจนถึงทุกวันนี้ ในอีกรายการที่เป็นเสมือนงานที่สำคัญที่สุดคือ รายการ Cleveland Triathlon บางปีเรียกว่า Keybank Tri บางปีเรียกว่า Rock N’ Roll  Tri แล้วแต่ว่าสปอนเซอร์หลักจะเป็นใคร แต่เป็นรายการใหญ่ประจำปีของเมืองที่ผมอยู่ จะเป็นรายการที่ผมจะมีเพื่อน ๆ มาเชียร์มากที่สุด

Wendy's 99 #2

ระยะ Olympic distance นับว่าเป็นระยะที่สำคัญที่สุดในยุคนั้น เพราะรายการใหญ่ ๆ ประจำปีจะเป็นระยะนี้ทั้งสิ้น รวมถึงที่ Cleveland ด้วย ผมได้พบกับนักกีฬาดัง ๆ ในสมัยนั้น ที่เป็น idol ของผมอย่าง Mike Pigg, Puala Newby-Fraser ได้พบ Peter Reid, Karen Smyer หลาย ๆ คนเคยมาเป็นแชมป์ในรายการลากูนาไตรกีฬาในยุคแรก ๆ แล้วทั้งนั้น พี่หนุ่มเริ่มเข้าสู่วงการที่นี่ด้วยการเป็น Volunteer ก่อนที่จะผันตัวมาเป็นนักกีฬาในปีถัด ๆ ไป ถ้าจะให้คิดก็คงเหมือนรายการกรุงเทพไตรกีฬา ที่ว่ายน้ำที่ Lake Erie ที่สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญอย่าง Rock N’ Roll Hall of Fame ปั่นขึ้นทางด่วนของเมืองอย่าง I-90 และวิ่งวนผ่านสถานที่สำคัญของเมือง การแข่งขันในเมืองใหญ่ ๆ บรรยากาศไม่ค่อยอบอุ่นมากนัก แต่เนื่องจากเป็นเมืองของผม เพื่อน ๆ ที่ตื่นเต้นกับการได้รู้จักนักไตรกีฬาอย่างผมก็มาเชียร์กันถ้วนหน้า สร้างความสุขให้กับผมไม่ใช่น้อย ผมเคยทำโซ่หลุดแล้วดึงจนตีนผีหักที่รายการนี้

NCB

ผมกลับมาเมืองไทยเริ่มชีวิตการทำงาน ทำให้ผมลืมการออกกำลังกายไปเป็นระยะเวลาหนึ่ง ผมแข่งขันครั้งแรกที่รายการลากูน่าภูเก็ต ด้วยความไม่พร้อม แต่ก็เป็นครั้งแรกที่การเดินทางแข่งขันของผมเริ่มเปลี่ยนไป ภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวผมจึงพ่วง element ของการท่องเที่ยวเข้าไปด้วยอย่างมาก ผมกลับไปภูเก็ตเป็นครั้งที่สองของชีวิต หลังจากที่เคยไปกับครอบครัวตั้งแต่ยังเรียนหนังสือในมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ พักผ่อนจากงานประจำและเล่นกีฬาที่เรารัก แต่หลังจากนั้นอาการกระดูกสันหลังเสื่อมก็ทำให้ผมต้องหยุดไป แต่ด้วยเมื่อสุขภาพเสื่อมโทรมจนคิดว่าต้องเริ่มกลับมาทำอะไรสักอย่าง ผมจึงตัดสินใจไปภูเก็ตอีกครั้งเพื่อไปชมการแข่งขัน สร้างกำลังใจ และเป็นครั้งแรกที่ผมพาภรรยาที่เพิ่งแต่งงานกันไม่กี่เดือนไปด้วย เป็นการพักผ่อนกับครอบครัวของผมเอง และให้ความหวังกำลังใจกับชีวิตไตรกีฬาของผม หลังจากนั้นผมก็เริ่มกลับมาซ้อมอย่างจริงจัง และใช้กีฬาสร้างชีวิต และการเดินทางให้กับผมอีกครั้ง

DSC00145

ปัจจุบันนี้ ผมซ้อมทุกวัน (ที่ไม่อู้ซ้อม) แข่งขันในทุก ๆ รายการที่ทำได้ ในการเดินทางทุกครั้ง ผมไม่เคยเร่งรีบ ในการเดินทางทุกครั้งผมมีครอบครัวไปให้กำลังใจ ผมเดินทาง ท่องเที่ยว พักผ่อนในที่พักสบาย ๆ ที่ให้ความสะดวกสบายไม่ต่างจากการอยู่ที่บ้าน หรือบางครั้งหรูหรา กว่าที่บ้าน ลูก ๆ ผมค่อย ๆ โตขึ้นเรื่อย ๆ จากที่แม่เข็นมาให้กำลังใจในช่วงปล่อยตัว จนทุกวันนี้จะมารอคอยเพื่อวิ่งเข้าเส้นด้วยกันกับพ่อ ผมใช้โอกาสในการเดินทางแข่งขันนี้เป็นวันของครอบครัวอย่างเต็มที่ เป็นวันที่ผมไม่ทำงานใด ๆ ตั้งแต่เริ่มออกรถจากบ้าน เดินทางไปด้วยกัน เข้าที่พัก เที่ยวไปในเมืองต่าง ๆ ที่ไปแข่ง จนถึงการแข่งขัน ท่องเที่ยวพักผ่อนหลังการแข่งขัน บรรยากาศสบาย ๆ อาหารอร่อย ๆ เป็นของขวัญให้กับครอบครัวของผม ที่เสียสละให้ผมซ้อมทุก ๆ วัน ให้ผมได้ใช้งบประมาณในอุปกรณ์ต่าง ๆ ผมคืนให้ด้วยเวลาของผม ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ  ที่ต้องเสียไป ถ้าจะตีเป็นเงินว่ามันคุ้มค่าหรือไม่ สำหรับผมแล้วมันคุ้มค่าเสมอ เงินมันไม่เคยมีค่าอะไรเลยสำหรับผม ผมยอมที่จะเสียเงินไปแลกกับเวลาที่ผมจะได้กลับมา ผมยอมที่จะเสียเงินไปเพื่อความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ ของคนในครอบครัว ประสบการณ์อันยิ่งใหญ่ของลูก ๆ ของผม

bike

ในช่วงหลังนี้เพื่อนร่วมก๊วนของผมเริ่มมากขึ้น ถึงขนาดมีทีม ชื่อทีม ชุดทีมของพวกเรากันเอง การแข่งขันแต่ละครั้งมันยิ่งมีความหมายมากขึ้น การซ้อมมันมีความหมายมากขึ้น ผมรู้ว่าประสบการณ์ของผมจะเป็นประโยชน์กับหลาย ๆ คน ผมรู้ว่าแนวความคิด และการใช้ชีวิตของผมจะเป็นกำลังใจให้กับหลาย ๆ คน การซ้อมของผมแต่ละวัน มีผลให้เพื่อน ๆ หันมาออกกำลังกาย การลงทะเบียนเพื่อแข่งแต่ละครั้งจะทำให้หลาย ๆ คนออกกำลังกายไปอีกหลายชั่วโมง การซ้อมการแข่งของผมในทุกวันนี้มีความหมายเพิ่มขึ้นทุกที ผมมีครอบครัวของผมไปด้วยทุกครั้ง เพื่อบรรยากาศความสุขของครอบครัวผมเอง และผมกำลังพยายามสร้างสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้นในรายการของคนไทย ให้คนไทยใช้เวลากิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับครอบครัวมากขึ้น โดยเริ่มต้นจากเพื่อนร่วมทีมของผมก่อน ซึ่งเพื่อน ๆ ใกล้ ๆ ตัวของผมก็เริ่มกันบ้างแล้ว ครอบครัวเป็นจุดเริ่มต้นของทุกสิ่งครับ สิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ สร้างความรักและผูกพันธ์ุขึ้นในครอบครัวอย่างไม่น่าเชื่อเลยทีเดียว ในอีกไม่กี่ปีผมคงสามารถเพิ่มระยะทางการแข่งขัน รวมถึงการเดินทางที่เป็นกิจกรรมประจำปีของครอบครัวที่จะสนุกขึ้นเรื่อย ๆ ครับ ผมเคยคิดว่าสิ่งที่ทำให้ผมทุ่มเวลาให้กับครอบครัวโดยไม่สนเรื่องราวอื่น ๆ นั่นมาจากการสูญเสียลูกสาวคนแรกของผมไป ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ซูริ เป็นคนที่สอนผมในเรื่องนี้ครับ เวลาหาซื้อไม่ได้ เงินจะหาเมื่อไรก็ได้ ขอให้มีความสุขกับการใช้เวลาของทุก ๆ คนครับ

ไก่สามอย่าง : A reflection on my tri(p)athlete lifestyle.

การแข่งขันสมุยไตรกีฬาเพิ่งจบลงไปเมื่อวาน (21 เมษายน 2556) แม้ว่างานจะขลุกขลักไปบ้าง แลดูเงียบเหงาไปบ้าง เมื่อเทียบกับงานอื่น ๆ ที่ผมเข้าร่วม แต่เมื่อเทียบกับเมื่อปีที่ผ่านมา ผมก็เห็นได้อย่างชัดเจนถึงคุณค่าของคำว่าประสบการณ์ ถ้าใครได้อ่านบทความเรื่อง Samui Triathlon 2012 ที่ผมเขียนไว้เมื่อปีที่แล้วน่าจะนึกภาพได้ชัดขึ้น ปีนี้การจัดการทำได้เรียบร้อยขึ้นเป็นอย่างมาก และผู้จัดต่างมีความมั่นใจในการตัดสินใจแก้ปัญหาต่าง ๆ ดีขึ้นเป็นอย่างมาก เริ่มตั้งแต่การรับสมัคร การแก้ปัญหาจากการสมัคร และอื่น ๆ ผมคิดว่าใครที่ได้เข้าร่วมงานนี้ก็คงอดใจไม่ได้ที่ต้องกลับมาครั้งแล้วครั้งเล่า

15041_439308156160998_1582850358_n

ในปีนี้การแข่งขันที่นี่มีความหมายสำหรับผมเป็นอย่างมาก และเป็นการแข่งขันที่น่าประทับใจอีกครั้งสำหรับผม แต่มันไม่ได้เกี่ยวข้องกับผลการแข่งขัน หรือกระบวนการในการแข่งขันเลยแม้แต่น้อย ยกเว้นในช่วงเข้าเส้นชัยที่เป็นครั้งแรกที่เซนสามารถวิ่งตามผมเข้าเส้นชัยเป็นระยะทางค่อนข้างไกลทีเดียว นอกจากนี้ซาช่ายังแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งที่ไม่ได้วิ่งไปกับผมด้วย ซึ่งเป็นการบอกผมว่าคราวหน้าผมจะมีลูก ๆ สองคนวิ่งตามผมเข้าเส้นชัยเป็นครั้งแรก แล้วมันเป็นเรื่องอะไรน่ะหรือ มันเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคนอื่น ๆ ล้วน ๆ ครับ

11749_439315479493599_614574031_n

ในการเตรียมตัวเพื่อการแข่งขันครั้งนี้ ผมได้มีโอกาสอย่างมากมายที่จะแบ่งปัน ประสบการณ์ ความคิด ความรู้สึก ที่เกี่ยวกับกีฬาไตรกีฬาที่ผมรักให้กับเพื่อน ๆ หลาย ๆ คน ทั้งที่รู้จักกันมาเป็นระยะเวลาหลายทศวรรษ หรือไม่กี่สัปดาห์ ประสบการณ์กว่า 25 ปีที่ผมตระเวณ ตะลอน ตะลอน ไปเพื่อร่วมการแข่งขันรายการต่าง ๆ โดยไม่มีความหวัง หรือโอกาสที่จะได้รับรางวัลใด ๆ และผมเองก็ไม่เคยสนใจในสิ่งเหล่านั้นเลย แต่นี่มันคือ lifestyle ของผม ชีวิตของผม และมันสร้างผมให้เป็นเหมือนทุกวันนี้ อย่างที่ผมเคยเขียนอธิบายไว้ว่าผมไตรฯ ทำไม ในการแข่งขันนี้มีเพื่อน ๆ ผม ทั้งเก่ามัธยม เก่ามหาวิทยาลัย ใหม่สามเดือน ใหม่หกเดือน เข้าร่วมการแข่งขันในสนามนี้เป็นครั้งแรก บางคนเป็น multisport event ครั้งแรก บางคนก็เป็นการแข่งกีฬาครั้งแรก

ด้วยความเพื่อน ๆ ทั้งหลายเป็นมือใหม่ ผมจึงมีโอกาสได้พูดคุย แสดงความคิดเห็น ในหลาย ๆ เรื่องไม่ว่าจะเป็นเรื่องการฝึกซ้อม การเลือกซื้อจักรยาน การเลือกซื้ออุปกรณ์ อะไรควรซื้อ อะไรยังไม่จำเป็น การเตรียมตัวเดินทาง การแข่งขัน การเตรียมพร้อมก่อนการแข่งขัน การเตรียมอาหาร ไปจนถึงที่พัก การขนครอบครัวเพื่อไปเชียร์ การเตรียมให้ event เหล่านี้กลายเป็นกิจกรรมของครอบครัว สิ่งที่ควรคาดหวัง ไม่ควรคาดหวังจากกิจกรรมเหล่านี้ และอื่น ๆ อีกมากมายตลอดระยะเวลาที่เพื่อน ๆ เหล่านั้นตัดสินใจร่วมลงแข่งขันมาจนถึงวันที่แข่งขันวันก่อนนี้ แม้ว่ารายการที่เราทุกคนแข่งขันนั้นไม่ใช่ไตรกีฬากลับเป็นทวิกีฬา แต่หัวใจของสิ่งที่เรียกว่า multisport ยังมีอยู่เต็มเปี่ยม รวมทั้งสถานที่แข่งขันบนเกาะสมุย เกาะสวรรค์แห่งหนึ่งของทะเลแดนใต้ กับระยะทางที่ห่างจากบ้านของเพื่อน ๆ นักกีฬาแต่ละคนตั้งแต่ 400 ไปจนถึง 800 กว่ากิโลเมตร ผมได้ดึงให้เพื่อน ๆ ได้มาสัมผัสกับสิ่งที่เรียกว่าไก่สามอย่าง และ tri(p)athlete lifestyle ของผม

59238_4813868260837_534333869_n

คำว่าไก่สามอย่างเป็นชื่อเรียกไตรกีฬาเมื่อสมัย 25 ปีที่แล้ว เมื่อผมเริ่มเล่นใหม่ ๆ ผมไม่รู้ถึงที่มาและยังไม่เข้าใจว่าทำไมถึงต้องเป็น “ไก่” เพราะสำหรับผมแล้วไตรกีฬานั้น ไม่เหมาะกับ “ไก่” เอาเสียเลย เพราะไก่ (chicken) จะไม่มีวันที่จะประสบความสำเร็จในไตรกีฬา เพื่อนผมอย่างน้อย ๆ สองคนที่ร่วมในการแข่งขันครั้งนี้ ที่เป็นนักวิ่งระยะไกล และวิ่งรอกแข่งขันระดับก้้าวหน้า ได้เรียนรู้กับประสบการณ์ใหม่ ทั้งการแข่งขันที่มีการปั่นจักรยานครั้งแรก บนจักรยานคันแรก ที่เพิ่งถอยมาไม่เกินสามเดือน และความรู้สึกที่น่ามหัศจรรย์ ที่เรียกว่าตะคริว สำหรับคนทั่วไปแล้วคำว่าตะคริวอาจจะหมายถึงชีวิต หมายถึงการสิ้นสุดการแข่งขัน แต่สำหรับ multisport athlete มันคือศัดรูที่คุ้นเคย การแข่งปีนี้ผมโชคร้ายที่เกิดตะคริวที่น่องทั้งสองข้างตั้งแต่เริ่มต้นปั่นจักรยาน อำนวย และหมอนก ก็พบกับเจ้าศัตรูตัวนี้เช่นเดียวกัน แต่ในสภาวะเช่นนี้ เราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันไปเป็นเวลา 1 ชั่วโมงครึ่งเป็นอย่างน้อย ความเหน็ดเหนื่อย ปวดเมื่อย ปวดหลัง ปวดแขน ปวดก้น สะท้อนความรู้สึกใหม่ ๆ ให้กับนักกีฬาที่มีพื้นฐานมาจากกีฬาวิ่งเพียงอย่างเดียว

550290_602094413135609_700168013_n

ช่วงที่ยากลำบากที่สุดของ multisport คือรายการวิ่งเพื่อปิดท้าย ซึ่งหลังจากผ่านกิจกรรมอื่น ๆ มาแล้วยาวนานกว่าสองหรือสามชั่วโมง เมื่อต้องมาวิ่งเพื่อปิดท้ายมันจะเป็นช่วงที่ทรมานที่สุด และมันจะทำให้เราเข้าใจถึงคำว่า dig deep ได้อย่างชัดเจน ถึงพริกถึงขิง เลยทีเดียว เพื่อน ๆ ผมที่มาจากกีฬาจักรยาน บางคนก็ต้องยอมที่จะเดินในช่วงสุดท้ายนี้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะผมเองในการแข่งขันรายการลากูน่าภูเก็ตครั้งแรกหลังจากกลับมาจากอเมริกาอ่อนซ้อมมาปีกว่า ๆ แล้วลุยเลย ก็ต้องมาจบด้วยการเดินเกือบเต็มระยะเช่นกัน มันไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ถ้าหากว่าเรามีข้อแม้อยู่ในใจ ถ้าเราไก่ (chicken out)

923429_4813865380765_1475529492_n

การซ้อมจึงไม่ใช่เพียงเป็นการเตรียมตัวให้พร้อมเท่านั้น แต่เป็นการเตรียมใจให้พร้อมอีกด้วย เมื่อการเข้าร่วมเป็นสิ่งสำคัญ ความสำเร็จจากการแข่งขันเป็นสิ่งสำคัญ การเดินทางและความลำบากต่าง ๆ เป็นเรื่องเล็ก ผมใช้การแข่งขันต่าง ๆ เหล่านี้เป็นแรงผลักดันให้ฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอ ผมใช้การเดินทางเพื่อการแข่งขันเป็นแรงจูงใจ สถานที่แข่งขัน ที่พัก และการเดินทางเป็นรางวัลของการแข่งขัน กิจกรรมต่าง ๆ ของผมล้อมด้วยกิจกรรมของครอบครัว และการใช้ชีวิตร่วมกัน ก่อน ระหว่าง และหลังการแข่งขัน มันเป็น lifestyle

58857_439331282825352_1188814894_n

เพื่อการแข่งขันเราต้องเจออุปสรรคมากมาย ครอบครัวที่ต้องทำความเข้าใจ เวลาที่เราต้องใช้เพื่อฝึกซ้อม งบประมาณที่เราต้องใส่เข้าไปกับอุปกรณ์ การเดินทางเพื่อแข่งขันในแต่ละครั้ง เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดในการแข่งขัน ยางแตก ตะคริว อุบัติเหตุ ชนกำแพง เราจะเห็นภาพการต่อสู้เหล่านี้อย่างมากมายในกีฬาประเภทนี้ ผมเห็นด้วยตาตัวเองหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุบนเส้นทางจักรยาน ถลอดปอกเปิด แม้กระทั่งแขนหัก แต่ก็ยังวิ่งจนครบเส้นทาง รองเท้ากัด ตะคริวกิน มันเป็นเพียงน้ำจิ้ม เป็นเพียงสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ไม่สามารถหยุดนักกีฬาไก่สามอย่างเอาไว้ได้ เพราะเราไม่ใช่ไก่

Speedo day was over (long time ago) : ไตรกีฬาใส่ชุดอะไรดี

ไตรกีฬาเป็นกีฬาที่ค่อนข้างใหม่ ในกีฬาโอลิมปิกนั้นไตรกีฬาถูกบรรจุลงครั้งแรกในประมาณปี 2000 ภายหลังที่ได้ถือกำเนิดขึ้นมาได้ประมาณยี่สิบปีเศษ ๆ โดยรวมแล้วไตรกีฬามีอายุอานามประมาณสามสิบยังแจ๋ว แน่นอนว่ายังอยู่ในรุ่นเอ๊าะ ๆ ที่ยังมีความเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย ในระยะสิบกว่าปีที่ผ่านมาไตรกีฬาเป็นหนึ่งในกีฬาที่มีการเติบโตของผู้เล่นสูงที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระแสความนิยมจักรยานที่มาแรงเช่นนี้ นักวิ่งหลาย ๆ คนก็สนใจที่จะเพิ่มไตรกีฬาเข้าไปในรายการแข่งขัน หลังจากที่ทนกระแสปั่นจักรยานไม่ไหว เพื่อน ๆ นักวิ่งของผมหลาย ๆ คนก็จัดอยู่ในกลุ่มนี้ ในขณะเดียวกันนักปั่นจักรยานหน้าใหม่หลาย ๆ คนก็พยายามหาตัวเองจากสนามแข่งขันไตรกีฬาหรือทวิกีฬาที่มีความเป็นมิตรมากกว่าสนามแข่งจักรยาน เนื่องจากไตรกีฬาหรือทวิกีฬาเป็นกีฬาที่ต้องแข่งกันตัวเองเป็นสำคัญ

images-3

เรื่องที่ผมไม่เคยคิดมาก่อน แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่เคยเกิดกับผมมาแล้วในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาเมื่อผมกลับมาเล่นไตรกีฬาอีกครั้งหลังจากหยุดไปสี่ถึงห้าปี ฟังดูแล้วตลกแต่เรื่องที่ว่าคือ แล้วจะใส่ชุดอะไรในการแข่งขันดี คิด ๆ ไปมันก็ง่ายมากนะครับ สำหรับทุกวันนี้ เพราะในปัจจุบันเรามีชุดไตรกีฬาทั้งที่เป็นไปตามข้อกำหนดของ ITU และไม่เป็นไปตามกำหนดของ ITU ให้เลือกซื้อหากัน (แต่เมืองไทยไม่มีให้เลือกเท่าไร) มองย้อนกลับไปในยุคเริ่มต้นมันเป็นเรื่องที่ยุ่งยากกว่านี้มากมายนัก (เอ หรือว่าง่ายกว่าหว่า) ในวันเริ่มต้นจนถึงช่วงปลายปี 80 นั้นไตรกีฬาแทบไม่มีอุปกรณ์อะไรเป็นของตัวเองเลย เนื่องจากเป็นกีฬาที่อยู่บนพื้นฐานของกีฬาสามประเภทที่พัฒนามาจนถึงจุดอิ่มตัวเสียแล้วไม่ว่าจะเป็นว่ายน้ำ จักรยาน หรือวิ่ง ในยุคแรกการแข่งขันไตรกีฬานั้นนักกีฬาก็คงคิด ๆ เหมือนกันกับมือใหม่ในวันนี้ มีอะไรก็ใช้ไป ในกีฬาว่ายน้ำก็ใช้ชุดว่ายน้ำ ถึงเวลาปั่นจักรยานอาจจะมีการสวมเสื้อ และกางเกงวิ่ง หรือกางเกงจักรยาน แล้วแต่ความพึงพอใจของแต่ละคน แต่ส่วนใหญ่กางเกงจักรยานมักจะไม่ถูกใช้ในกีฬาไตรกีฬา เมื่อมาถึงเวลาวิ่ง ทั้งหมดก็จะอยู่ในชุดวิ่ง ง่าย ๆ แบบนั้น เรื่องชุดแต่งกายไม่ใช่เรื่องใหญ่มากนักเพราะช่วงเวลา transition หรือช่วงเปลี่ยนกีฬายังไม่ถูกใช้มาเป็นหนึ่งในกลยุทธของการแข่งขัน การที่จะเปลี่ยนชุดหรือไม่อย่างไรนั้นเป็นเรื่องของความพอใจมากกว่าเพื่อความรวดเร็ว

images

Julie-Moss-PIX-300x233

เมื่อกีฬาเป็นที่นิยมมากขึ้น การแข่งขันสูงขึ้นการประหยัดเวลาในช่วง transition เริ่มถูกนำมาใช้เป็นกลยุทธในการแข่งขันมากขึ้นการออกเบบการแต่งกายในการแข่งขันและยุทธวิธีในการทรานสิชั่นเริ่มเป็นตัวกำหนดการแต่งตัวมากขึ้น นักกีฬาเริ่มที่จะเลือกที่จะไม่เปลี่ยนชุดกีฬามากขึ้นเรื่อย ๆ เราจะเริ่มเห็นนักกีฬาจากคนที่เคยเลือกที่จะนำกางเกงวิ่งมาสวมทับกางเกงว่ายน้ำ อาจจะเป็นในช่วงวิ่ง หรือตั้งแต่ช่วงจักรยานเริ่มหันมาวิ่งด้วยกางเกงว่ายน้ำ รวมถึงนักกีฬาหญิงก็เช่นเดียวกัน และเนื่องจากการสวมเสื้อวิ่งมาปั่นจักรยาน หรือการใส่เสื้อจักรยานวิ่งนั้น ค่อนข้างจะไม่สะดวกอย่างเห็นได้ชัด เสื้อวิ่งที่นิยมใช้เสื้อบาง ๆ ตัวใหญ่ ๆ ในเวลานั้นไม่เหมาะกับการใส่ปั่น เช่นเดียวกับเสื้อจักรยานที่รัดรูปและค่อนข้างที่จะหนา ถูกมองว่าไม่สะดวกต่อการใส่วิ่ง นักกีฬาหลาย ๆ คนเลือกที่จะไม่สวมเสื้อใด ๆ เลยตลอดการแข่งขัน หรือการเลือกใช้หรือไม่ใช้เสื้อนั้นเป็นเรื่องของการใส่เพื่อป้องการแสงแดดในรายการที่มีระยะการแข่งขันไกล ๆ เพียงเท่านั้น ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ผมเริ่มเล่นไตรกีฬาใหม่ ๆ แน่นอนว่าในเมืองไทยนั้น การเปลี่ยนชุดตามชนิดกีฬาเป็นที่นิยมมากกว่า

11v5h69

เมื่อผมไปเล่นที่ต่างประเทศเป็นช่วงปีแรก ๆ ที่มีการออกแบบชุดแต่งกายสำหรับไตรกีฬาขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมากเป็นการออกแบบโดยผลิตภัณฑ์ที่มีชุดว่ายน้ำเป็นหลัก แต่ผู้นำในการเปลี่ยนแปลงในยุคนั้นคือ TYR ที่เริ่มต้นจากผลิตภัณฑ์ชุดไตรกีฬาโดยมีแนวคิดที่จะใช้แผ่นรองก้นสำหรับปั่นจักรยานที่สามารถเปียกน้ำได้และมีขนาดเล็กกว่าปกติ และเสื้อที่รัดรูปมีขนาดเล็ก เปิดสะดือนิด ๆ พอเซกซี่ ที่คิดว่าสามารถใส่ว่ายน้ำได้โดยไม่มีปัญหา สุดท้ายคือแนวความคิดที่ว่าต้องใช้ผ้าที่บางและแห้งเร็วเป็นสำคัญ ชุดไตรกีฬาในยุคแรกที่สามารถใส่ตั้งแต่เริ่มแข่งขันจนสิ้นสุดการแข่งขันจึงลักษณะคล้ายกางเกงว่ายน้ำที่มีรองก้นบาง ๆ ร่วมกับเสื้อรัดรูปตัวเล็ก ๆ ในขณะที่ของสุภาพสตรีจะอยู่ในชุดว่ายน้ำนั่นเอง หรืออาจจะเป็น two piece ที่มีท่อนบนค่อนข้างใหญ่ คล้่าย ๆ นักกีฬาวอลเลย์บอลชายหาดในปัจจุบัน

Mark-Allen-and-Lance-Armstrong

ชุดไตรกีฬาชุดแรกของผมก็อยู่ในรูปแบบนี้เช่นกัน ปัจจัยสำคัญในการกำหนดลักษณะชุดไตรกีฬาอีกปัจจัยคือความที่กีฬานี้จำเป็นต้องว่ายน้ำในแหล่งน้ำธรรมขาติ หรือที่เราเรียกกันว่า open water swim ในเมืองหนาว อุณหภูมิของน้ำตลอดทั้งปีอาจจะไม่เคยเกิน 15C ทำให้อุปกรณ์ที่เกิดมาพร้อมกับความนิยมของไตรกีฬาที่ขยายจากเมืองร้อนมาสู่เมืองหนาวนั่นก็คือ wetsuit ที่คิดค้นเป็นครั้งแรกโดย Quintana Roo ชุดแต่งกายที่ใส่ภายใต้ Wetsuit ที่รัดติ้วเพื่อกันน้ำเย็นเล็ดรอดเข้ามานั้นจำเป็นต้องบางเฉียบไม่เช่นนั้นการใช้งานของ Wetsuit จะไม่เป็นไปตามที่ถูกออกแบบไว้โดยสิ้นเชิง ในช่วงราว ๆ ปี 95 นั้นเป็นช่วงเวลาที่นักกีฬาสมัครเล่นอย่างผมมีความสนุกเป็นอย่างมาก เพราะมีสินค้ามากมายที่ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อไตรกีฬาและพวกเราเองที่เป็นกลุ่มหนูทดลองกลุ่มแรกสำหรับอุปกรณ์เหล่านั้นรวมไปถึงชุดแข่งขัน

2yx3xa1

สำหรับผมเองการตัดสินใจในการเลือกชุดแข่งขัน มีเพียงปัจจัยเดียวคือ ความจำเป็นในการใส่ Wetsuit ถ้ามีความจำเป็นผมก็จะแต่งเต็มยศ เสื้อและกางเกง พอย่างเข้าปลายฤดูร้อน ในสนามสั้น ๆ ที่ไม่จำเป็นต้องใช้ Wetsuit ผมก็ไม่ใส่เสื้อตลอดทั้งงาน เพราะหลังจากลองว่ายน้ำด้วยเสื้อแล้ว หรือลองใส่เสื้อขณะตัวเปียก ๆ ก่อนปั่นจักรยานแล้ว มันยุ่งยากไม่สบายตัวเป็นอย่างมาก ในขณะที่ผู้คนส่วนใหญ่ยังไม่ลงทุนกับชุดไตรกีฬารุ่นใหม่นี้ก็ยังเลือกที่จะวิ่งเปลือยเปล่าด้วยกางเกงว่ายน้ำตัวเดียว ภาพที่เห็นก็เป็นภาพที่คุ้นตาในทุก ๆ การแข่งขัน จะมีก็แต่โปรที่ในเวลานั้น สปอนเซอร์เริ่มย้ายจากการเขียนสีตามร่างกายมาปรากฏตามเสื้อของนักกีฬา เราก็จะเห็นโปรส่วนใหญ่เท่านั้นที่จะใช้เสื้อในการแข่งขันด้วย

images-2

ช่วงสี่ห้าปีที่ผมหายไปจากการเล่นไตรกีฬาก็เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่อีกช่วงหนึ่ง ผมสังเกตุจากวันที่ผมห่างหายไปมาจนวันที่ผมเริ่มเล่นอีกครั้ง มีหลายอย่างที่เปลี่ยนแปลงไปจนผมเองก็ต้องศึกษาหาข้อมูลเหมือนเริ่มต้นใหม่ การที่ไตรกีฬาถูกบรรจุในกีฬาโอลิมปิกก็น่าจะเป็นสาเหตุหนึ่ง เพราะ ITU ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลไตรกีฬาในค่ายโอลิมปิกมีข้อกำหนดในการแต่งกายชัดเจน ซึ่งกำหนดรูปลักษณ์ทั่ว ๆ ไปของชุดไตรกีฬาที่เราเห็นในปัจจุบัน ซึ่งน่าจะได้แนวทางคร่าว ๆ จากชุดไตรกีฬาที่ได้รับความนิยมในช่วงนั้น ซึ่งในช่วงนั้นเองเทคโนโลยีของ high performance fabric ได้รับการยอมรับมากขึ้น เราได้เห็นการใช้ full bodysuite สำหรับการว่ายน้ำ กางเกงว่ายน้ำชายขายาวเป็นภาพที่ชินตามากขึ้น ในวงการวิ่งเองชุดวิ่งรัดรูปก็เป็นภาพที่ไม่แปลกตามากนัก จึงไม่แปลกที่ชุดไตรกีฬาจะค่อย ๆ เปลี่ยนไปในทิศทางนั้นจนท้ายที่สุดกลายมาเป็นชุดไตรกีฬาที่เราเห็นในปัจจุบันนี้
images-1

อย่างไรก็ตามชุดไตรกีฬาในปัจจุบันจะยังไม่เป็นรูปแบบเดียวกันไปทั้งหมด ในทิศทางของ ITU ซึ่งมีข้อกำหนดเกี่ยวกับตำแหน่งของซิปที่ต้องอยู่ด้านหลัง ในขณะที่ก่อนหน้านั้นซิปจะนิยมติดตั้งไว้ด้านหน้าตามแบบของเสื้อจักรยาน ซึ่งในปัจจุบันการออกแบบแบบนี้ก็ยังได้รับความนิยมในสนามที่ไม่ใช่ ITU อย่างไรก็ตามเนื่องจากว่านักกีฬาสมัครเล่นแม้ทำการแข่งขันในสนาม ITU จะไม่ถูกข้อบังคับเหล่านี้ ชุดไตรฯที่มีซิปรูดด้านหน้าจะดูเหมือนว่าจะได้รับความนิยมมากกว่าเพราะพื้นฐานของนักกีฬาที่มาจากจักรยานจะคุ้นเคยกับการรูดซิปเสื้อด้านหน้านั่นเอง ชุดไตรกีฬาส่วนใหญ่มักจะเป็นแบบชิ้นเดียวและแขนกุด ทั้งนี้เพื่อสะดวกในการว่ายน้ำ แต่เราก็ยังเห็นแบบสองชิ้นมีใช้อยู่บ้าง ผมไม่แน่ใจถึงเหตุผลในการตัดสินใจที่ชัดเจนแต่คาดว่าน่าจะเป็นเพราะระบบแยกชิ้นนั้นสามารถนำแต่ละชิ้นมาใช้ในช่วงกีฬาต่าง ๆ ในตอนซ้อมได้ง่ายกว่า ดูเหมือนจะคุ้มค่ากว่า ในการใช้ชุดไตรกีฬาในการซ้อมนั้นไม่ค่อยดีนัก เนื่องจากชุดจะมีราคาแพงแล้ว การใส่ชุดรัด ๆ แบบนั้นไม่ว่าจะเป็นการวิ่ง ว่ายน้ำ หรือปั่นจักรยานโดยไม่มีการแข่งขันมันดูตลกพอสมควร ชุดไตรกีฬาของผู้ชายดูเหมือนจะค่อนข้างไปในทางเดียวกันเช่นนี้ แตกต่างจากชุดของผู้หญิงที่เรายังเห็นโปรบางคนโดยเฉพาะในกีฬาโอลิมปิกใช้ชุดที่เหมือนชุดว่ายน้ำอยู่เกือบหนึ่งในสามเลยทีเดียว

images-5

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ผมคิดว่าในเวลานี้เทคโนโลยีชุดแข่งขันสำหรับไตรกีฬาได้พัฒนามาถึงจุดที่สมบูรณ์แบบแล้ว เมื่อเทียบกับชุดรุ่นแรกที่ผมใช้ เบาะรองก้นที่ออกแบบให้เปียกน้ำได้แห้งเร็วนั้น ดูดซ้บน้ำดีจนความรู้สึกในการปั่นจักรยานเสียไปเป็นอย่างมากเมื่อมีน้ำไหลลงหว่างขาแทบจะตลอดระยะทางการปั่น เสื้อท่อนบนที่ใช้ผ้ายืดไลครา แม้ว่าจะเลือกไซส์ที่ฟิตเปรี๊ยะปะรเภทต้องใช้เพื่อนช่วยใส่ก็แล้ว ในการว่ายน้ำนั้นก็ยังมีความรู้สึกถึง drag ได้อย่างชัดเจน ในขณะที่การขึ้นมาใส่หลังจากว่ายน้ำมันก็ช่างยากเสียเหลือเกิน รูปทรงของกางเกงสไตล์ speedo ก็เสี่ยงต่อการเสียดสีช่วงปั่นจักรยานเป็นอย่างมาก เมื่อเปรียบเทียบกับชุดใหม่ที่ผมเพิ่งซื้อมาเมื่อปีที่ผ่านมา เทคโนโลยี compression ที่คาดว่าช่วยกระชับกล้ามเนื้อ และเทคโนโลยีที่ถ่ายทอดมาจาก ชุดว่ายน้ำแบบ body suit ทำให้ไม่มีความรู้สึก drag เกิดขึ้น กลายเป็นความรู้สึกลื่นไหลในน้ำไปเสียอีก วัสดุรองก้นแทบจะไม่มีการดูดซับน้ำให้รู้สึกได้เลย ในขณะที่ผ้ามีความบางเฉียบรัดรูปเปรี๊ยะ เมื่อขึ้นจากน้ำก็แทบจะรู้สึกได้ว่าแห้งแทบจะทันที ความบางของผ้าทำให้รู้สึกราวกับว่าไม่มีอะไรกั้นระหว่างผิวหนังกับอากาศเมื่อยามลมปะทะจากการปั่นจักรยาน พัฒนาไปไกลมาก ๆ จริง ๆ ผมซื้อชุดนี้มาเป็นรุ่นทอปที่มี option ครบทุกรูปแบบ เพียงแต่ในช่วงที่ลดราคาเพื่อเปลี่ยนฤดู ได้มาที่ราคาประมาณ 3500 บาทหย่อน ๆ สำหรับผมก็นับว่าแพงโขอยู่ ตามคำแนะนำเขาเขียนอย่างชัดเจนว่าไม่ให้ใช้ซ้อมว่ายน้ำในสระเป็นประจำ ผมจึงใช้ชุดนี้เพื่อแข่งขันเท่านั้น หรือวันซ้อมบางวันที่ผมต้องการว่ายน้ำแล้วปั่นต่อเนื่องกัน แต่สำหรับใครที่มีความคิดแนวอื่น ๆ เช่น ซื้อมาต้องใช้ให้คุ้มอะไรทำนองนี้ อาจจะคิดและทำแตกต่างกันไป ก็คงแล้วแต่จริตและเจตนาของแต่ละคนครับผม

images-4

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ไตรฯ ทำไม?

ไตรกีฬา หรือ Triathlon เป็นกีฬาที่ผมโปรดปรานมากที่สุด ไม่นานมานี้ (2 ธันวาคม 2555) ผมเพิ่งประสบความสำเร็จกับระยะทางใหม่ที่ไกลกว่าเดิมนั่นคือ ระยะ Half Ironman หรือ ในเวลานี้ถูกจดลิขสิทธิ์ไว้ในชื่อของ Ironman 70.3 โดยหมายเลข 70.3 เป็นระยะทางรวม (เป็นไมล์) ที่นักกีฬาจะต้องผ่านกันภายในระยะเวลาที่กำหนด ผมจบรายการนี้ด้วยเวลา 6 ชั่วโมง 59 นาที ด้วยระยะทางอันยาวไกลและเวลาที่หลาย ๆ คนไม่สามารถนึกภาพตามได้ว่าการออกกำลังกายอย่างหนักเป็นเวลาค่อนวันมันเป็นอย่างไร และที่สำคัญทำไปเพื่ออะไร

IMG_3800

หลาย ๆ คน มองว่าเป็นการเอาชนะตนเอง ความท้าทายของชีวิต บางคนมองว่าทำไปเพื่อสุขภาพ หรืออื่น ๆ อีกมากมาย เมื่อผมมองกลับมาที่ตัวเอง มันยังไม่มีคำตอบที่โดนใจผม ผมตั้งใจจะเขียนบทความนี้เพื่อขุดเข้าไปภายในจิตใจของตนเอง เพื่อจะถามว่าทำไม โดยที่ผมเอง ณ เวลานี้ยังไม่รู้ว่าบทความนี้จะให้คำตอบอะไรกับผม ทำไม ผมเริ่มกีฬานี้ในฐานะของสมาชิกชมรมว่ายน้ำ ที่หันไปวิ่งเพื่อสุขภาพ ในขณะที่ใช้จักรยานเป็นยานพาหนะในการเดินทาง ในขณะที่ผมเริ่มกีฬาประเภทนี้จากรายการทวิกีฬางานต่าง ๆ ก่อน เนื่องจากสมัยนั้นการแข่งขันไตรกีฬาต่างจังหวัดเป็นไปได้ยากมากสำหรับนักเรียนบ้านนอกอย่างผม ในที่สุดผมได้มีโอกาสแข่งขันไตรกีฬาครั้งแรกในทันทีที่เรียนจบ แม้่ว่าการเดินทางจะทุลักทุเลเป็นอย่างมาก ผมต้องเดินทางด้วยรถไฟจากปัตตานี มาขึ้นรถทัวร์เพื่อไปจังหวัดจันทบุรี เพื่อแข่งรายการไตรกีฬาวิบาก การแข่งขันครั้งแรกนั้นมันช่างทรมาณเหลือหลาย ผมใช้เวลาส่วนใหญ่ในการเดินมากกว่าวิ่ง แต่ความฝันของผมที่จะได้ลงเล่นไตรกีฬาก็เป็นจริงแล้ว ครั้งแรกนั้นจึงเป็นเพียงเติมความฝัน ในเวลานั้นผมซ้อมมั่ว ๆ ตามสภาพ ขอแค่ถึงเป็นพอ
TRI NCB

หลังจากจบการศึกษาไม่นาน ผมก็ไม่โอกาสไปศึกษาต่อต่างประเทศ ทันทีที่ผมไปถึงผมก็หาข้อมูลเกี่ยวกับไตรกีฬาในทันที โชคดีที่ว่าไตรกีฬาในขณะนั้นเริ่มได้รับความนิยม มีรายการแข่งขันแทบทุกสัปดาห์ตลอดช่วงฤดูร้อน รวมไปถึงรายการยิ่งใหญ่ประจำปีของเมืองคลีฟแลนด์ที่ผมอยู่ด้วย ซึ่งอาจจะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมไปจนถึงสิงหาคม ผมหาข้อมูลทุกอย่างเรื่องการซ้อม รวมไปถึงหาเพื่อนร่วมซ้อม แม้ว่าผมจะโชคดีที่ได้เพื่อนร่วมซ้อมที่ต่อมาชวนกันไปแข่งในหลาย ๆ งานที่น่าจดจำ อย่างไรก็ตามผมก็ยังไม่ทุ่มเทมากถึงขนาดเข้าร่วมกับทีมนักวิ่ง นักว่ายน้ำ หรือนักปั่นจักรยานของเมืองเพื่อซ้อมทั้งสามกีฬานี้ ผมเลือกที่จะจัดเวลาในการซ้อมด้วยตนเอง ด้วยความรุ้ที่ได้จากหนังสือหลาย ๆ เล่ม

swim finish#3

สิ่งที่ผมค้นพบคือว่า ไตรกีฬา เป็นกีฬาที่ต้องมีการวางแผน และเตรียมตัวล่วงหน้าเป็นเวลานานมาก ในยุคนั้นหนังสือทั้งหมดแนะนำการใช้เวลาทั้งปีในการออกแบบตารางการซ้อมสำหรับแข่งในฤดูแข่งขันที่จะมาถึง ในขณะที่ต่างเล่มอาจจะมีแนวความคิดที่แตกต่างกันอยู่บ้างในการซ้อมช่วงฤดูหนาว แต่ส่วนใหญ่การซ้อมจริง ๆ จะเน้นอยู่ในช่วงสร้างฐานในช่วงฤดูใบไม้ร่วง และเริ่มฝึกความเร็วก่อนถึงฤดูใบไม้ผลิเล็กน้อย จากการที่ต้องมีการเตรียมตัวซ้อมกันทั้งปี แบบนี้ในฤดูแข่งขัน เราก็มักจะร่วมการแข่งขันกันค่อนข้างถี่อาจจะถึงทุกสัปดาห์ แต่สลับระยะแข่งขันกันไป ส่วนใหญ่แล้วในเวลานั้น ระยะยาวที่สุดที่เป็นไฮไลท์ของฤดูกาลก็จะเป็นเพียงระยะโอลิมปิกเท่านั้น (ครึ่งหนึี่งของระยะ Ironman  70.3) รายการย่อย ๆ ก็ถูกเรียกว่า sprint distance ซึ่งมีระยะทางแตกต่างกันไปไม่มีมาตรฐานที่ชัดเจน ในฤดูกาลหนึ่งผมจะแข่งขันประมาณ 8-10 ครั้ง โดยมักจะมีระยะโอลิมปิกประมาณ 3 ครั้งกระจายตั้งแต่ต้นฤดูไปจนปลายฤดู ที่เหลือก็ไปแข่งทุกงานที่ไม่ไกลเกินไปนัก

เนื่องจากความจำเป็นในการวางแผน ออกแบบการซ้อม และมีอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องค่อนข้างมาก ในยุคเติบโตของไตรกีฬานั้น นักกีฬาส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มบุคคลประเภทหนึ่งที่จัดอยู่ในประเภทที่ต้องวางแผน และมีความสามารถมองสู่เป้าหมายระยะยาวได้ คนกลุ่มนี้ได้แก่ ทนายความ แพทย์ ผู้บริหารธุรกิจ และนักศึิกษาระดับบัณฑิตศึกษา ซึ่งผมจัดอยู่ในกลุ่มบัณฑิตศึกษา สำหรับผมที่เป็นนักศึกษาไทยได้รับทุนการศึกษาไปศึกษาต่างประเทศ ผมเองไม่เคยวางแผนระยะยาวเกี่ยวกับการเรียนของผมมากนัก แต่ต้องยอมรับว่าการเข้าเล่นไตรกีฬาอย่างจริง ๆ จังๆ ในช่วง 7 ปีที่ศึกษาต่ออยู่นั้น ทำให้ผมเพิ่มศักยภาพในการมองไกล ตั้งเป้าหมายระยะไกล และออกแบบวางแผนเพื่อไปสู่เป้าหมายนั้น ๆ ได้ อย่างเป็นธรรมชาติ การวางแผนต่าง ๆ โดยให้มีการสลับกิจกรรม มีไมล์สโตน รวมไปถึงการตรวจสอบความเหมาะสมของแผนและความก้าวหน้าของงานตามแผนนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นอะไรที่ผมเรียนรู้จากการออกแบบการซ้อมไตรกีฬาของผมทั้งนั้น

bike finish#1

ในช่วง 7 ปีนั้น ผมสนใจเรื่องของการออกแบบแผนการซ้อม ตั้งสมมุติฐาน ทดสอบสมมุติฐาน และวัดผล ผมต้องการผลการแข่งขันที่ดีขึ้น ๆ ทุก ๆ ปี แม้ว่าส่วนใหญ่จะได้ตามคาดหวัง ซึ่งอาจจะเกิดจากการซ้อมที่ปรับปรุงขึ้นเรื่อย ๆ หรือ ประสบการณ์แข่งขันที่สั่งสมมาเรื่อย ๆ ก็เป็นได้ เมื่อเวลาแย่ลงก็จะมีโจทย์เพื่อการปรับเปลี่ยนกระบวนการซ้อมเล็กน้อย รวมไปถึงการปรับปรุง ปรับเปลี่ยน แก้ไข เมื่อไม่สามารถทำตามแผนที่วางเอาไว้ สิ่งเหล่านี้จะสามารถทำได้ดีมากขึ้นเมื่อประสบการณ์มีมากขึ้น และมันเป็นประโยชน์อย่างมากในการเรียนระดับบัณฑิตศึกษาของผม ที่มีกิจกรรมเกี่ยวเนื่องมากมายจากวันที่เริ่มเข้าเรียนไปจนถึงวันที่พรีเซนต์จบ ทักษะเหล่านี้ผมเรียนรู้มาจากไตรกีฬาทั้งสิ้น

มุมมองต่อไตรกีฬาของผมเปลี่ยนไปเมื่อผมได้กลับมาเมืองไทย ณ เวลานั้นผมรู้จักเพียงรายการลากูน่าภูเก็ตไตรกีฬา ผมจึงสมัครเข้าร่วมทันทีที่ผมได้จักรยานผมกลับมาจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตามผมมองว่าการวางแผนซ้อมทั้งปีเพื่อการแข่งขันเพียงครั้งเดียวนั้นไม่คุ้มค่าเสียเลย ผมจึงเห็นการแข่งขันนี้เพียงเพื่อการเข้าร่วม และโอกาสไปเที่ยวภูเก็ตอย่างน้อยปีละครั้ง ส่วนการซ้อมก็ไปตามสภาพ ไม่มีการวางแผน อาศัยความรู้สึก และระยะที่คุ้นเคยมาตลอดระยะเวลา 7 ปี ที่สำคัญไม่มีการบันทึก การแข่งขันปีนั้นที่ภูเก็ตถือว่าอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่ สนามที่โหดกว่าทุก ๆ สนามที่ผมเคยเจอมาในอเมริกา ภูเขาชัน ๆ ที่ต้องเข็นเท่านั้น อากาศร้อน ๆ ขณะวิ่ง ทำให้ผมต้องเดินเป็นส่วนใหญ่และทำเวลาเกินกว่าสี่ชั่วโมง ในการแข่งขันครั้งนั้น ผมได้เรียนรู้ว่าประสบการณ์แม้ว่าจะทำให้เราทำอะไรได้ง่ายขึ้น ได้ผลที่ดีขึ้น แต่ไม่สามารถทดแทนการวางแผนไปได้ ในฤดูกาลถัดไปผมจึงเริ่มวางแผนการซ้อมแต่น่าเสียดายอาการบาดเจ็บที่กระดูกสันหลังของผมพัฒนาเป็นภาวะกระดูกเสื่อมจนผมไม่สามารถวิ่งได้อีก ทำให้จำเป็นต้องเลิกไป

IMG_3792

ผมหยุดไตรกีฬาแล้วหันมาหากีฬาอื่นเพื่อทดแทนเริ่มด้วยกีฬาเพาะกาย ในขณะที่กำลังจะไปได้ดีแต่ผมก็ต้องล้มเลิกเสียเพราะงานด้านการกินที่เป็นงานหลักของเพาะกายนั้นผมไม่มีความสุขเอาเสียเลย ในขณะที่สภาพการเสื่อมของกระดูกหลังของผมเริ่มเลวร้ายขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะเดียวกันกีฬาปีนเขาที่ผมเริ่มหลงไหลมันมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็ดูเป็นคำตอบที่ดีที่สุดเนื่องจากเป็นกีฬาที่ไม่มีการกระทบกระแทกเลย อย่างไรก็ตามด้วยความที่ยังเป็นกีฬาใหม่สำหรับประเทศไทย ที่ปัตตานีการหาสถานที่เพื่อซ้อมปีนเขาเป็นไปไม่ได้เลย ผมจึงค่อย ๆ ห่างจากการฝึกซ้อมและในที่สุดก็หยุดทุกอย่างไป จนกระทั่งในวันหนึ่งสุขภาพของผมย่ำแย่เป็นที่สุด อาการกระดูกเสื่อมไม่ได้ดีขึ้น ความแข็งแรงลดลง ป่วยง่าย เหนื่อยง่าย ผมต้องเริ่มทำอะไรกับชีวิตอีกครั้ง

ผมค้นคว้าและเริ่มใหม่ วิ่งด้วยรองเท้าแตะ Fivefingers เท้าเปล่า เอาจักรยานทุกคันออกมาซ่อม ปั่นไปทำงาน ปั่นเพื่อซ้อม ลงสมัครแข่งขันวิ่ง ไตรกีฬาในรูปแบบผลัด เพิ่มระยะวิ่งจาก 10K เป็น 21K จนเป็นมาราธอนแรกของชีวิต ลงทวิกีฬา เริ่มจากไตรกีฬาแบบผลัดไปเป็นเดี่ยว จากระยะโอลิมปิก เพิ่มเป็น Ironman  70.3 เกิดอาการเข่าเสื่อม กัดฟันสู้ ซ้อมต่อ วิ่ง trail วิ่งข้ามมหาสมุทร จากไม่เคยคิดจะแข่งขันรายการเสือหมอบก็เริ่มเข้าร่วมปั่น การแข่งขันเยอะแยะมากมาย เมื่อมองย้อนกลับไปในระยะปีกว่า ๆ ที่ผ่านมานี้ ผมแข็งแรงขึ้นมากกว่าสมัยหนุ่ม ๆ เสียอีก แม้ว่าสถิติผมจะไม่สามารถจะทำได้อย่างสมัยหนุ่ม ๆ อีกแล้วแต่ความอดทน จิตใจของผมแข็งแกร่งขึ้นมาก

IMG_6893

ไตรกีฬาสร้างผมให้เป็นเช่นนี้ ผมเชื่ออย่างนั้น กีฬาที่ต้องใช้การวางแผนระยะยาว กีฬาที่ต้องใช้ความอดทนเป็นปัจจัยหลัก กีฬาที่มีความหลากหลาย ทั้งการว่ายน้ำที่ต้องใช้เทคนิคเป็นสำคัญ จักรยานที่มีปัจจัยของอุปกรณ์เข้ามาเกี่ยวข้องค่อนข้างมาก วิ่งที่ต้องใช้ความอดทนเป็นอย่างสูงเมื่อเป็นกีฬาสุดท้ายภายหลังจากออกแรงทุกอย่างมาเป็นระยะเวลาพอสมควรแล้ว มีไม่กี่สิ่งในชีวิตของผมที่อยู่กันมาเนิ่นนานอย่างไตรกีฬา ถ้านับตั้งแต่ครั้งแรกที่ผมเข้าแข่งขันเราก็รู้จักกันมากว่า 24 ปี ผมทุ่มเทเวลา กำลังกายกำลังทรัพย์มากมายไปกับกีฬานี้ ผลตอบแทนเพียงอย่างเดียวที่ผมต้องการและกีฬานี้ให้ผมได้คือสุขภาพ พร้อมของแถมอื่น ๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ระเบียบวินัย การวางแผน การใช้เวลาเดินทางท่องเที่ยวกับครอบครัว แม้ว่าผมจะแข่งรายการวิ่ง หรือจักรยานอื่น ๆ บ่อยครั้งกว่าไตรกีฬา แต่ไตรกีฬายังคงเป็นเป้าหมายสำคัญของผมอยู่เสมอ 

IMG_3804

Ironman : First experience


ผมลงทะเบียนเข้าร่วมแข่งขัน Laguna Phuket Ironman 70.3 โดยไม่รู้มาก่อนว่างานนี้ จะเป็นทั้ง Ironman ครั้งแรกและครั้งสุดท้ายของผม ผมเดินทางไปพักผ่อนที่ภูเก็ตตรงกับช่วงที่มีการแข่งขัน Laguna Phuket Triathlon ผมกลับมาตั้งใจซ้อมเพื่อที่จะกลับมาร่วมแข่งขันในรายการให้ได้ แต่ในปีนั้นผมพบว่ามีรายการ Ironman 70.3 ในสนามเดียวกัน แต่แข่งขันถัดออกไปหนึ่งสัปดาห์ เป็นช่วงที่เรียกว่า TRI-WEEK ของที่นั่น ผมจึงตัดสินใจจัดทีมแข่งขันรายการนี้ขึ้นมาโดยผมอาสาเล่นกีฬาประเภทใดก็ได้ ในที่สุดผมก็ได้ทีม Addicted ที่มีผู้ร่วมทีมคือ ต่อ (ชลวิทย์) มาเป็นนักว่ิง และ ​ณัฐ (ณัฐวุฒิ) ทำหน้าที่ว่ายน้ำให้กับทีม นับเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องจริง ๆ ที่ผมเริ่มการกลับมาออกกำลังกายด้วยโจทย์ง่าย ๆ เช่นนี้

แม้ว่าในช่วงต้นปีผมใช้กลไกการลงแข่งขันวิ่งรายการต่าง ๆ ในระยะยาวที่สุดถึง 21.1K หรือฮาร์ฟมาราธอน แต่ช่วงเวลากลางปีที่เหลือผมก็ไม่สามารถผลักตัวเองให้ซ้อมได้มากนัก การเข้าร่วมการแข่งขัน Ironman 70.3 ในรูปทีมของผมก็ผ่านไปได้ด้วยดี เป็นการจบปีของการออกกำลังกายที่น่าประทับใจปีหนึ่งเลยทีเดียวและเป็นการแนะนำผมได้รู้จักการแข่งขันกีฬาคนอึดในรูปแบบของทีม แต่เนื่องจาก Ironman เป็นกีฬาเดี่ยว การจบรายการในรูปแบบทีมไม่ได้สร้างความภาคภูมิใจแบบ Ironman ให้กับผมได้ ผมจึงตั้งใจว่าในปีถัดไปนั้นผมต้องร่วมแข่งขันแบบเดี่ยวให้ได้ วินัยในการซ้อมเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดถ้าหากผมต้องการเพิ่มชั่วโมงการออกกำลังกายจาก 3 ชั่วโมงเป็น 7 ชั่วโมงให้สำเร็จ

IMG_3805

แน่นอนว่าการสร้างวินัยภายในระยะเวลาอันสั้น มันไม่ใช่เรื่องง่าย decoy ต่าง ๆ จึงได้ถูกวางเอาไว้เป็นจังหวะ เริ่มจากการแข่งมาราธอนแรก การแข่งขันทวิกีฬาที่สมุย การแข่งขันไตรกีฬาที่กรุงเทพ ล้วนแล้วแต่เป็น decoy ที่วางไว้เป็นข่วง ๆ เพื่อกำหนดจังหวะการซ้อมตลอดทั้งปีของผม อย่างไรก็ตามในช่วงปลาย ๆ ปี ปริมาณการแข่งขันมีน้อยลง เช่นเดียวกับการเข้าร่วมการแข่งขันที่ลดลง จนกระทั่งเกิดการแข่งขันในสภาวะอ่อนซ้อม กดดันให้ผมเกิดอาการบาดเจ็บ ในรายการสงขลามาราธอนนานาชาติ จนทำให้ผมต้องทดสอบการใช้เท้าเปล่าในการวิ่งแข่งขันในรายการสมุยมาราธอน เพื่อผลักดันความพร้อมให้เกิดขึ้นจงได้ ทั้งหมดทั้งสิ้นเป็นการเตรียมตัวตนสำหรับการแข่งขันที่จะยาวนานที่สุดในชีวิตของผม ซึ่งผมประมาณเอาไว้ว่าผมน่าจะใช้เวลาในรายการนี้ 6:30-7:00 ชั่วโมง ผมได้เรียนรู้จากการเข้าแข่งขันกีฬาคนอึดในหลาย ๆ รายการว่าการประเมินระยะเวลาการแข่งขันนั้นสำคัญกับการเตรียมตัวซ้อม และเตรียมตัวแข่งเป็นอย่างมาก

ถึงแม้กระนั้นการเดินทางอย่างหนักหน่วงทำให้การซ้อมของผมไม่เป็นไปตามแผนเสียส่วนใหญ่ และเกือบจะห่างหายไปทั้งสองเดือนก่อนที่จะย่างเข้าปลายปี แต่ยังโชคดีที่ในช่วงหนึ่งเดือนก่อนการแข่งขัน ผมไม่มีการเดินทางทำให้สามารถอัดเวลาการซ้อมได้หนักหน่วงยิ่งขึ้น เตรียมพร้อมกับการแข่งขันระยะทางยาวไกลที่สุดของชีวิตผม 7 ชั่วโมงของการออกกำลังอย่างหนักหน่วง ต่อเนื่อง คงไม่ใช่กิจกรรมที่อยู่ดี ๆ ผมนึกจะลุกขึ้นมาทำได้อย่างง่ายดาย การเตรียมพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับผมเป็นอย่างมาก ผมต้องย้ำคำว่าเจ็ดชั่วโมงนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อให้เห็นถึงความยาวนานของกิจกรรมนี้ และเพื่อให้เห็นถึงแรงจูงใจหลักที่ผมใช้ผลักดันการฝึกซ้อมของผม

L1010170

การได้เข้าแข่งขันในประเภทผลัดในปีที่ผ่านมา รวมไปถึงการแข่งขันไตรกีฬาครั้งรอบเกือบสิบปีในรายการกรุงเทพไตรกีฬา ทำให้ผมคลายความเตรียด ลดความตื่นเต้นลงได้มากเมื่อได้เดินทางไปถึงภูเก็ตเพื่อลงทะเบียน รับเบอร์ ฟัง race briefing รวมไปถึงการที่ได้สวมใส่เสื้อสามารถจากงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสมุย กรุงเทพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสื้อของรายการนี้ในปีที่ผ่านมาทำให้ความมั่นใจของผมเพิ่มสูงขึ้น เพราะเราได้แสดงให้ผู้ร่วมคนอื่น ๆ ได้เห็นว่าเราเป็นคนหนึ่งที่มีประสบการณ์  ปีนี้ผมเดินทางไปล่วงหน้าค่อนข้างนาน แม้ว่าจะไม่นานอย่างที่ตั้งใจไว้คือไปไม่ทันวันปั่นสำรวจเส้นทางที่มีรถตำรวจขับนำ แต่ก็นานเพียงพอที่จะให้ผมมีเวลาปั่นซ้อมสำรวจเส้นทาง โดยเฉพาะ 2-3 ภูเขาที่ผมจะต้องเจอในช่วงสุดท้ายของการแข่งจริงได้ถึงสองครั้ง การได้สัมผัสเส้นทางเหล่านี้ก่อนการแข่งขันช่วยอย่างมากในเรื่องการวางแผน และสภาวะทางจิตใจเมื่อการแข่งขันมาถึง ซึ่งผมต้องการมันเป็นอย่างมาก

L1010161

เช้าวันแข่งขันมาถึง พร้อมกับสิ่งที่ไม่คาดคิดอีกเล็ก ๆ น้อย ๆ รายการนี้เป็นหนึ่งในไม่กี่รายการในประเทศที่บังคับให้มีการฝากรถที่จุดทรานสิชั่นล่วงหน้าไว้หนึ่งคืน การจอดจักรยานตากแดดทิ้งไว้ตั้งแต่เมื่อวานมักจะต้องปล่อยลมยางออกเพื่อป้องกันยางระเบิดโดยไม่คาดคิด ในช่วงเช้าก่อนการแข่งขันต่างคนก็จะมาสูบลมให้เต็มอีกครั้ง ซึ่งปกติทางผู้จัดการแข่งขันจะเตรียมสูบลมไว้ให้ แต่ในปีนี้ผู้เข้าร่วมแข่งขันเป็นจำนวนมากเลือกที่จะนำจักรยานออกมาเติมลมที่เต้นบริการทำให้สูบลมที่มีจำนวนจำกัดมีไม่เพียงพอ ผมจึงต้องไปขอยืมจากผู้ร่วมแข่งขันคนอื่นที่เลือกที่จะหิ้วสูบลมมาแข่งขันด้วย เหตุติด ๆ ขัด ๆ เล็กน้อยเช่นนี้ในวันแข่งขันไม่ใช่สิ่งที่ดีนัก เพราะมันทำลายสมาธิและ spirit ของการแข่งขันที่บ่มเพาะมาทั้งคืน

น้อง ๆ นักเรียนอาสาสมัครที่คาดว่าล้วนมาจากโรงเรียนนานาชาติในพื้นที่เข้ามาช่วยเรื่องการเตรียมถุง T1 และ T2 นี่ก็เป็นอีกรายการที่มีความแตกต่างจากรายการอื่น ๆ ในประเทศไทย (หรืออาจจะเป็นแนวปฏิบัติในการแข่งขันนานาชาติ ไม่อาจทราบได้) ในจุดทรานสิชั่นซึ่งโดยปกติแต่ละคนจะมีอุปกรณ์วางไว้ข้าง ๆ จักรยานของตัวเอง แต่รายการนี้ทุกคนจะต้องใส่ของไว้ในถุงซึ่งแบ่งเป็นสองถุง คือ T1 และ T2 ถุงดังกลาวจะถูกแขวนไว้บนราวเพื่อให้นักกีฬาสามารถคว้าถุงของตัวเองออกไปเพื่อนำไปแต่งตัวที่เต้นแต่งตัวก่อนที่จะใส่สิ่งของทุกอย่างลงถุงทิ้งไว้ที่เต้นบริการนั้น นักเรียนนานาชาติได้สอนให้ผมผูกเงื่อนกระตุกที่จะช่วยในการปลดถุงออกได้รวดเร็วขึ้นเมื่อถึงเวลาทรานสิชั่น แต่มันกลับมาสร้างปัญหาให้กับผมมากอย่างไม่น่าให้อภัย เมื่อผมจัดการส่ิงของลงถุงเรียบร้อยแล้วผมก็รีบไปยังจุดปล่อยตัวในทันที ครอบครัวผมแม้ว่าจะเดินทางไปไหนมาไหนกับผมด้วยทุกครั้งแต่ผมก็ไม่เคยที่จะปลุกให้แต่ละคนตื่นเช้ามาเชียร์ผมเลยสักครั้ง การที่พวกเขาจะมาร่วมเชียร์ ถ่ายรูป ผมหรือไม่อย่างไรผมปล่อยให้ขึ้อยู่กับจังหวะชีวิตของพวกเขา เวลาตีห้าเศษ ๆ แบบนี้แต่ละคนจึงยังพักผ่อนอยู่ในห้องพัก ผมจึงไม่ต้องกังวลว่าจะมีใครตามมาแล้วหากันไม่เจอ

IMG_3785

ในปีนี้โชคไม่ดีที่มีมรสุมผาดผ่านในบริเวณใกล้เคียงเราจึงมีฝนตกในช่วงเย็น ๆ ของทุก ๆ วัน บรรยากาศในตอนเช้าวันแข่งขันจึงเป็นวันที่น่าจดจำเป็นอย่างยิ่งอีกวันหนึ่งเลยทีเดียว เมื่อทะเลมีคลื่นลมแรงมาก คลื่นบริเวณใกล้ฝั่งเรียกได้ว่าสูงท่วมหัว ต้องยกนิ้วให้กับนักกีฬาที่มีจุดอ่อนเป็นการว่ายน้ำแต่ยังสู้กับสภาพคลื่นเยี่ยงวันนี้จริง ๆ เพราะหลาย ๆ คนเหล่านั้นอาจจะสงสัยว่าเขาจะสามารถนำชีวิตกลับเข้าฝั่งมาได้หรือไม่ ผมตัดสินใจลุยน้ำเพื่อลงไปสัมผัสความรุนแรงของกระแสคลื่น แม้ว่าผมจะเป็นพวกเครื่องติดยาก การวอร์มร่างกายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผม แต่ความขี้เกียจของผมมักจะเอาชนะความจำเป็นได้เสมอ แต่วันอย่างนี้ผมไม่ค่อยอยากเสี่ยง ผมตะลุยยอดคลื่นออกไปเพื่อวอร์มร่างกายสั้น ๆ ประมาณสิบกว่านาที ก่อนที่จะต้องกลับมาเพื่อรอปล่อยตัว มาพบกับครอบครัวที่รออยู่บนฝั่ง เด็ก ๆ ตื่นกันเช้าในวันนี้เราจึงมีโอกาสได้ถ่ายรูปครอบครัวก่อนปล่อยตัวการแข่งขันไอรอนแมนสนามแรกและสุดท้ายของผม

L1010140

เมื่อเสียงปล่อยตัวดังขึ้น ผมก็รอให้ทุก ๆ คนวิ่งกันไปก่อน ส่วนผมค่อย ๆ เดินตามไปเป็นคนสุดท้าย เนื่องจากกีฬาว่ายน้ำเป็นกีฬาถนัดของผม มีหลาย ๆ ครั้งผมเข้าเส้นคนแรก ๆ ในกีฬาว่ายน้ำ แต่เมื่อถึงกีฬาอื่น ๆ ก็โดนแซงออกไป ผมไม่ค่อยชอบให้ใครที่สังเกตเห็นมาถามไถ่ว่าผมหายไปไหนหลังจากว่ายน้ำนำเข้ามาอย่างนั้น ซึ่งเกิดขึ้นอย่างเลวร้ายที่สุดในงานแข่งเล็ก ๆ ในอเมริกาที่ผมว่ายน้ำเข้ามาถึงเป็นคนแรก ผมจึงเลือกที่จะเริ่มทีหลัง แล้วเข้าเส้นในกลุ่มใหญ่ ๆ ร่วมกันกับคนอื่น ๆ ที่ล่วงหน้าไปก่อน โชคดีที่ผมเลือกออกมาว่ายวอร์มก่อนในวันนี้ เพราะทักษะที่เพิ่งหัดใหม่ในการตะลุยคลื่นยักษ์ออกไปนั้น ได้ใช้ในทันที ผมเลือกที่จะใส่แว่นไว้ใต้หมวกว่ายน้ำ และใช้ความพยายามส่วนใหญ่ในการที่จะรักษาแว่นเอาไว้แทนที่จะมุ่งหน้าทำเวลาออกตะลุยไป เพราะถ้าขาดแว่นการแข่งขันก็เป็นอันจบเกมส์ ในวันนั้นมีนักกีฬาหลายคนต้องออกจากการแข่งขันเพราะสูญแว่นไปกับคลื่นลม บางคนโดนคลื่นซัดหายตั้งแต่ช่วงวอร์มร่างกาย ผมไม่แน่ใจว่ามีอีกกี่คนที่ต้องสูญเสียแว่นไปในการแข่งขันครั้งนี้ ในช่วงการแข่งขันจริง ๆ ระยะทางประมาณ 1.2 Km ในทะเลสิ้นสุดลงอย่างรวดเร็ว การเข้าฝั่งก็เป็นเรื่องท้าทายในวันคลื่นมหึมาเช่นนี้ ผมเองถูกคลื่นซัดเสียจังหวะไปถึงสองครั้ง ครั้งแรกถูกคลื่นที่โถมเข้ามาตีที่ท้ายทอยจนเสียหลัก และอีกครั้งที่ว่ายผิดจังหวะทำให้ถูกคลื่นตีจนถูกดูดมุดลงไปใต้คลื่นขนาดยักษ์ แต่โชคดีที่ไม่มีสำลักน้ำแต่อย่างใด ถือว่ารอดตัวไปอย่างหวิดหวิด สนามแข่งนี้มีความพิเศษอยู่เล็กน้อยที่เมื่อขึ้นจากทะเลแล้ว เรายังคงต้องวิ่งไปว่ายข้ามสระน้ำเล็ก ๆ ที่เป็นที่มาของชื่อสถานที่ Laguna เป็นระยะทางอีกประมาณ 800 เมตร เพื่อจะไปยังจุดทรานสิชั่น ผมจบรายการว่ายน้ำค่อนข้างเร็วตามปกติ จากนั้นก็วิ่งเข้าไปหยิบถุง T1 เพื่อเข้าไปเปลี่ยนอุปกรณ์สำหรับใช้ในการแข่งขันจักรยานต่อไป เชื่อว่าการจัดการให้มีเต้นเปลี่ยนอุปกรณ์แยกชายหญิงที่มีการปิดล้อมค่อนข้างมิดชิดนั้น น่าจะเกิดจากเมื่อครั้งไตรกีฬาระบาดไปถึงประเทศจีนแล้วไปเจอกับเหล่านักกีฬาจีนเลือกที่จะยืนเปลือยกายล่อนจ้อนที่ข้าง ๆ จักรยานในจุดทรานสิชั่นนั่นเอง ห้องเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวในรายการระดับนานาชาติใหญ่ ๆ จึงได้ถือกำเนิดขึ้น

Screen Shot 2012-12-05 at 3.19.56 PM

การแข่งขันจักรยานในปีนี้ผมมีความมั่นใจมากขึ้น เพราะมีส่วนประกอบที่สำคัญหลาย ๆ ส่วน คือผมเคยปั่นเส้นทางนี้มาแล้วในปีที่ผ่านมา นอกจากนี้จักรยานของผมมีความพร้อมมากขึ้น ผมได้ไปใช้บริการ bike fitting เพื่อปรับให้จักรยานเข้ากับร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปของผม โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการบาดเจ็บทางหลังที่ทำให้การ setup เดิม ๆ บนจักรยานของผมส่งผลให้เกิดปัญหาปวดหลังในช่วงสิบกิโลเมตรสุดท้ายเมื่อปีที่ผ่านมา การซ้อมจักรยานระยะไกลของผมที่ดูเหมือนว่าพร้อมมากขึ้น ไม่รวมถึง aero helmet อุปกรณ์ใหม่ที่ผมเลือกมาใช้สำหรับลุยการแข่งขันไอรอนแมนแรก เขาว่ากันว่าผมจะได้ 30 วินาทีขึ้นมาเฉย ๆ เพียงแค่สวมหมวกใบนี้ แม้ว่าตามแผนนั้นผมวางไว้ว่าผมจะเปลี่ยนจักรยานคันใหม่ถ้าหากผมตัดสินใจลงการแข่งขันไอรอนแมน แต่ท้ายที่สุดผมตัวสินใจใช้โอกาสนี้ให้ Cannondale MS800 ของผมได้มีโอกาสลิ้มรสรายการไอรอนแมนครั้งแรกของเรา ในฐานะที่ร่วมรบกันมาอย่างโชกโชนถึง 16 ปี อย่างไรก็ตามด้วย setup ที่มีในขณะนี้ผมมีความมั่นใจเต็มร้อย เมื่อผมลุยถึงเขาที่หนึ่งซึ่งเป็นเขาที่ชันน้อยที่สุดแต่ก็มีความยาวค่อนข้างจะมากที่สุดของทั้งสี่เขาในรายการนี้ ผลจากการว่ายน้ำก็มาแสดงอาการทันที ปีที่ผ่านมาผมปั่นขึ้นเขานี้ได้ แต่ในปีนี้ผมต้องลงเข็น ซึ่งอาจจะเป็นเพราะผลของการว่ายน้ำหรือความตั้งใจที่จะเก็บแรงเอาไว้สำหรับวิ่ง อย่างไรก็ตามในใจผมคิดว่าแรงขาผมต้องเก็บไว้ เพราะยังมีวิ่งฮาร์ฟมาราธอนรอคอยอยู่ แต่ลึก ๆ ผมเริ่มหวั่นใจ นี่ผมฟิตขึ้นกว่าปีที่แล้วรึเปล่าเนี่ย แล้วสิบกิโลเมตรสุดท้ายของการปั่นผมจะเป็นอย่างไร จะเป็นเช่นดังปีที่ผ่านมาหรือไม่

IMG_3792

การวางแผนที่สำคัญที่สุดของผมในการแข่งขันกีฬาประเภทนี้และเป็นจุดอ่อนที่สำคัญของผม คือการกิน แม้ว่าการแข่งขันระยะเวลา 7 ชั่วโมงเช่นนี้ อาหารเสริมประเภทคาร์โบไฮเดรทดริ้ง และอาหารแท่งต่าง ๆ เริ่มมีบทบาทที่สำคัญมากขึ้น นักกีฬาหลายคนเลือกใช้พลังงานแสนสะดวกเหล่านั้น เนื่องจากความสามารถในการให้พลังงานที่มากกว่า แต่ผมก็เลือกที่จะใช้เพียงเกเตอเรตกับ power gel เช่นที่ใช้กับการแข่งขันรายการอื่น ๆ ด้วยสองสาเหตุคือ ในประเทศไทยของเหล่านี้หาซื้อลำบาก การหามาใช้ในการฝึกซ้อมเป็นเรื่องยุ่งยาก ผมเองไม่อยากใช้อะไรที่ไม่เคยทดลองใช้ในช่วงซ้อมมาทดลองใช้ในวันแข่งจริง อีกสาเหตุคือ ผมเคยลองของทั้งสองอย่างแล้วบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ เมื่อสมัยอยู่ต่างประเทศ ในใจยังมีความรู้สึกว่าในวันแข่งจริงผมน่าจะมีปัญหากระเดือกของเหล่านี้ไม่ลงเป็นแน่ ดังนั้นในการแข่งขันของผมแทบทุกครั้งความกังวลของผมจะอยู่ที่คำถามที่ว่า ผมมีพลังงานมากเพียงพอสำหรับวันนี้หรือไม่ อาหารเสริมเท่านี้ผมเตรียมมาเพียงพอแล้วหรือยัง แต่ในวันนี้เนื่องจากในการแข่งขันมีฝนตกหนักลงมาแทบตลอดเส้นทาง ทำให้อากาศไม่ร้อน ผมใช้ power gel และเกเตอเรต ในปริมาณที่วางแผนไว้อย่างดี และทุกอย่างเป็นไปด้วยดีจนถึงประมาณ 70 กิโลเมตร ช่วงเขาสุดท้ายที่มีความชันมากที่สุด ในวันนี้ผมเข็นมาแล้วทุก ๆ เขาซึ่งประเดิมตั้งแต่เขาที่ง่ายที่สุดในลูกที่หนึ่ง และเป็นที่แน่นอนว่าเขาที่ชันที่สุดนี้ผมก็กะที่จะเข็นเมื่อถึงเวลาเช่นกัน แต่ทว่ากำลังของผมกลับมีเหลือเฟือในช่วงเวลาขึ้นเขาลูกนั้น ผมกลับสามารถปั่นไต่ขึ้นมาเรื่อย ๆ ได้จนถึงโค้งสุดท้ายที่ถือว่าเป็นจุดที่ชันที่สุดของเขานี้ ผมวางแผนที่จะเข้าใกล้จุดหักโค้งก่อนที่จะปลดรองเท้าออกเพื่อลงเดิน

L1010256

ทันใดที่ผมปลดรองเท้าออก สิ่งที่ผมไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น ทันทีที่ผมวางเท้าลงบนพื้น ในความรู้สึกช่วงเวลานี้ช่วงยาวนานเสียเหลือเกิน ผมเริ่มมองไม่เห็นสิ่งแวดล้อมข้าง ๆ ตัวผม มือผมบีบเบรคไว้แน่นเพื่อที่จะพยุงตัว โหนกับจักรยานไม่ให้ไหลหรือล้มลงไปบนเขาชัน ๆ ลูกนั้น ใช่แล้วผมกำลังเป็นลม แม้ว่าการเป็นลมกับผมมันเป็นของคู่กัน ในใจผมยังสงสัยว่าในวันนี้นั้น ผมจะยืนอยู่ได้นานเท่าใด ผมจะล้มลงไปหรือผมจะตื่นขึ้นมาทันเพื่อทรงตัว การแข่งขันไอรอนแมนครั้งแรกของผมจะจบลงด้วย DNF อย่างนั้นหรือ เหมือนโชคช่วยทันใดนั้นความรู้สึกแปลบบนต้นขาทั้งสองข้่างก็ปลุกให้ผมตื่นขึ้นมาจากผวัง ตะคริวกินที่ต้นขาทั้งสองข้างของผมทั้งสองข้างพร้อม ๆ ผมเลือกที่จะแสดงออกถึงความเจ็บปวดของตะคริวบนใบหน้าของผม แทนที่จะปล่อยให้อารมณ์เป็นลมหน้าซีดของผมเข้าครอบงำ โชคดีที่กองเชียร์ข้างทางพกสเปรย์คลายกล้ามเนื้อจึงเอามาฉีดให้ผมทั้งสองข้างหลังจากเห็นหน้าตาที่แหยเกพร้อมกับท่าทางจับต้นขาของผม ผมตื่นขึ้นในทันทีจากอาการเป็นลม จากนั้นจึงค่อย ๆ พยุงตัวก้าวขาออกจากจักรยานเพื่อเข็นขึ้นสู่ยอดเขาอีกไม่กี่เมตรข้างหน้า หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว ผมก็ไม่มีปัญหาใด ๆ อีกเลย 10km สุดท้ายไม่ได้สร้างปัญหาให้ผมอีกแล้ว ผมเข้าจุดทรานสิชั่นด้วยเวลาไม่ต่างจากปีที่แล้วมากนัก ผมเริ่มมีความหวังเล็ก ๆ ว่าผมจะสามารถทำสถิติได้ใกล้เคียงกับสถิติของทีมของผมเมื่อปีที่ผ่านมา แต่เงื่อนกระตุกของนักเรียนนานาชาติกับฝนที่ตกลงมาตลอดการแข่งขัน มันไม่เข้ากันเสียเลย เมื่อเชือกเปียกโชก เงื่อนนั้นกลับกระตุกไม่ออก ผมต้องเสียเวลาแกะอยู่เกือบห้านาทีก่อนที่จะสามารถออกมาวิ่งต่อได้ เป็นการทรานสิชั่นที่น่าปวดหัวที่สุดตั้งแต่ผมแข่งขันมา เนื่องจากเราต้องพึ่งพาถุงใบนั้นในการเก็บอุปกรณ์ของเราทั้งหมดไม่ให้สูญหายนั่นเอง

IMG_3713

ในช่วงวิ่งฮาร์ฟมาราธอนนี้จะเป็นช่วงที่ผมไม่เคยสัมผัสมาก่อนเลยในชีวิต จากการว่ายน้ำ 1.9Km ประมาณ 40 นาที ปั่นจักรยานบนเส้นทางหฤโหดกว่า 90​Km ด้วยเวลากว่า 3.5 ชั่วโมง ผมออกกำลังกายอย่างหนักมาแล้วสี่ชั่วโมงครึ่ง มีเพียงวิ่งมาราธอนเมื่อกลางปีเท่านั้นที่ผมเคยใช้เวลาอยู่บนท้องถนนถึงห้าชั่วโมง การวิ่งอีก 21Km นี้ผมไม่เคยมาก่อน และแน่นอนว่าอย่างน้อย ๆ สองชั่วโมงผมยังต้องสู้ต่อไป เมื่อปีที่ผ่านมาหลังจากจักรยาน 90Km นี้ ผมแทบจะไม่สามารถเดินได้เลย ต้องพยุงตัวเพื่อเข้าเต้นท์นวดอย่างทุลักทุเล แต่วันนี้ผมต้องวิ่งต่อในทันที ผมไม่แน่ใจว่าขาและเข่าของผมจะตอบสนองอย่างไร ในเวลานี้ฝนหยุดสนิทแล้ว ราวกับรู้ว่าถึงเวลาที่จะต้องทดสอบความทนทานของนักกีฬาในช่วงการวิ่งเป็นการส่งท้าย ผมกัดฟันวิ่ง  10Km แรกไปอย่างเชื่องช้า แต่ผมค่อนข้างแปลกใจว่าหลังจากที่ทำทุกอย่างมาเป็นเวลาสี่ชั่วโมงกว่า ๆ แล้วการวิ่ง 10Km ที่ผ่านมามันก็ไม่ได้ดูเลวร้ายมากนักเลย แต่ผมเข้าใจผิดนรกรอผมอยู่ข้างหน้าอีก  10Km ที่สอง เมื่อผ่านการกลับตัวมาได้ไม่นาน ระบบของร่างกายของผมค่อย ๆ ปิดตัวลง การตอบสนองของขาของผมเป็นไปอย่างดื้อดึง ผมเริ่มต้องเปลี่ยนยุทธวิธี หันมาเดินทุกครั้งที่มีจุดให้น้ำ และวิ่งทุกครั้งที่ผมกินน้ำหมด แม้ว่าการวิ่งของผมนั้นดูเหมือนจะไม่ได้เร็วกว่าเดินสักเท่าไร การยกขาเป็นไปด้วยความยากลำบาก อากาศที่ร้อนระอุทำให้ทุกอย่างเลวร้ายขึ้นเป็นทวีคูณ

Screen Shot 2012-12-05 at 3.31.40 PM

ในช่วงเวลาเช่นนี้ ผมสังเกตุเห็นหลายสิ่งหลายอย่างรอบ ๆ ตัวผม วิธีการจัดการกับอุปสรรคนี้ของคนอื่น ๆ นักกีฬาบางคนเลือกที่จะเดินเป็นเวลานาน แต่เมื่อกลับมาวิ่งอีกครั้งก็ได้ความเร็วสูง แซงผมไปได้ไกล บางคนก็ถอดใจไปแล้ว ค่อย ๆ เดินเก็บเกี่ยวน้ำที่จุดต่าง ๆ แต่บางคนยังดูเหมือนมีแรงเหลือเฟือวิ่งได้เหมือนกับเพิ่งตื่นมาวิ่งใหม่ ๆ (ผมยังสังสัยว่าแล้วทำไมเพิ่งโผล่มาตอนนี้เนี่ย) มารู้อีกทีเจอนั่งกินน้ำระยะยาวอยู่ในจุดที่เลยออกไปไม่ไกลนัก ความลำบาก การต่อสู้ ที่เกิดขึ้นภายในระยะเวลากว่าเจ็ดชั่วโมงของวัน เป็นสเน่ห์ที่ทำให้ผมรักกีฬาประเภทนี้ การเข้าไปคุยกับตัวเองหลายๆ ครั้งเพื่อที่จะดึงเอาตัวเองขึ้นมาจากความสิ้นหวัง ความหมดแรง มันเหมือนกับการฝึกตนอย่างหนึ่ง ผมกัดฟันอย่างเต็มที่ และเรียกได้ว่าต้องกัดฟันจริง ๆ ก่อนที่จะลากขาตัวเองเข้าเส้นชัยได้ด้วยเวลา 6 ชั่วโมง 59 นาที ใช้เวลากับการวิ่งไปเนิ่นนานกว่า 2.5 ชั่วโมงเลยทีเดียว

IMG_3712

ผมเข้าเส้นชัย รับเหรียญ เสื้อที่ระลึกเรียบร้อย จึงนำจักรยานออกปั่นกลับที่พักเพื่อไปพบกับครอบครัวที่นั่งรอเชียร์ผมมากว่า 6 ชั่วโมง นั่งแอบถ่ายรูปผมวิ่งอย่างหมดสภาพในช่วง 10Km สุดท้าย ก่อนที่จะต้องกลับเข้าห้องพักไปอย่างหมดแรง ผมเข้าห้องพักเพื่ออาบน้ำพักผ่อน พร้อมกับใจที่เต็มเปี่ยม ผมคือไอรอนแมน เวลาที่ได้ในปีนี้ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ในปีต่อ ๆ ไปผมน่าจะสามารถปรับปรุงการวิ่งของผมได้โดยไม่น่าจะยากเกินไปนัก จักรยานของผมอาจจะปรับปรุงได้อีก การว่ายน้ำผมอาจจะซ้อมมันมากขึ้นและออกตัวแข่งขันกับชาวบ้านเขาบ้าง ผมเริ่มฝันถึงปีต่อไป ในขณะที่ร่างกาย ณ เวลานี้อ่อนล้า สะกดให้เปลือกตาผมปิดลง ผมจำไม่ได้ว่าบ่ายวันนั้นผมนอนหลับฝันว่าอย่างไร แต่ในใจผมรู้ว่าปีหน้าแม้ว่าจะไม่ใช่รายการที่ถูกเรียกว่า Ironman อีกแล้ว แต่สนามเดิม ระยะทางเท่าเดิม กับชื่อใหม่ Chalenge Phuket Triathlon เราเจอกันแน่

IMG_3711

กรุงเทพไตรกีฬา : ความหวังของชาวกรุงเทพฯ

รายการกรุงเทพฯ ไตรกีฬา ที่มีการจัดขึ้นเป็นประมาณครั้งที่ 5 โดยประมาณ (ปี 2555) ซึ่งโดยในวงการไตรกีฬาสมัครเล่น มองว่าเป็นการท้าทายที่สำคัญของผู้จัดที่จะจัดรายการประเภทนี้ตามเมืองขนาดใหญ่ต่าง ๆ ที่มีชื่อเสียงของโลก อย่างเช่น กรุงเทพมหานคร เมืองฟ้าอมรของเรา ในรายการไตรกีฬาในเมืองนิวยอร์คที่จัดในปีนี้เป็นปีแรก ต้องใช้เวลาเตรียมการมากว่า 6 ปี และผมเชื่อว่าการจัดการรายการนี้ในพื้นที่กรุงเทพฯ ใช้เส้นทางว่ายน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีจราจรทางน้ำคับคั่ง เส้นทางปั่นจักรยานบนทางด่วนพิเศษทั้งเส้นทาง ต้องมีความยุ่งยากในการเตรียมงานไม่แพ้กัน ซึ่งสังเกตุได้จากการจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมที่ลดปริมาณผู้เข้าร่วมเหลือเพียง 300 คน จากไม่จำกัดจำนวน (มากกว่าหนึ่งพันคน) ในปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังเกิดการเปลี่ยนเส้นทางแข่งขัน เปลี่ยนเวลาแข่งขัน ในช่วงที่กระชั้นชิดกับวันแข่งขัน รวมถึงสถานที่ที่ต้องใช้ในการจัด race briefing ก็ยังต้องมีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน ถ้าหากผู้จัดสามารถจัดรายการนี้ได้ประสบความสำเร็จ ในอนาคตอาจจะกลายเป็นจุดแข่งขันที่สำคัญสำหรับนักเดินทางแข่งขันมือสมัครเล่นจากทั่วโลก อย่างเช่น รายการชิคาโกไตรกีฬา อาบูดาบีไตรกีฬา หรือ อัลคาทราซไตรกีฬา (ซานฟรานซิสโก) ก็เป็นได้

สำหรับผมเอง เนื่องจากปีนี้เป็นช่วงที่เริ่มเข้าสู่ปีที่สองที่ผมเริ่มกลับมาออกกำลังกายหลังจากโรคกระดูกเสื่อมร่วมกับคำขู่ของแพทย์ได้หยุดผมไว้มากว่า 4 ปี ซึ่งปลายปี 2554 ผมได้เข้าร่วมการแข่งขันไตรกีฬาประเภทผลัด ในรายการ Phuket Ironman 70.3 และตั้งความตั้งใจไว้ว่าภายในหนึ่งปีผมจะกลับไปอีกครั้งเพื่อจัดการรายการ 70.3 นี้ด้วยตัวของผมคนเดียว การซ้อมของผมเป็นไปด้วยดีจนกระทั่งผมมีความมั่นใจในร่างกายของผมว่าผมจะสามารถจบรายการนี้ได้อย่างสบาย ๆ และปลายปีในรายการ 70.3 ซึ่งเป็นระยะที่ผมไม่เคยเข้าร่วมมาก่อนในชีวิต ผมจึงตัดสินใจลงรายการนี้เป็นไตรกีฬาแทนที่จะเป็นทวิกีฬา ตามที่ผมได้สัญญาไว้กับเพื่อน (ดร.วาทิน) ที่จะร่วมลงท้าทายระยะ 70.3 โดยไม่ได้แจ้งเพื่อนผมคนนี้ล่วงหน้า ซึ่งผมถูกค้อนเล็ก ๆ เมื่อเขาพบว่าในที่สุดผมเปลี่ยนมาลงไตรกีฬาโดยไม่ได้บอกเขาก่อน

โลเกชั่นของการจัดการแข่งขันบริเวณสะพานพระรามแปดนับว่าเป็นสถานที่ที่มีความเหมาะสมมากแห่งหนึ่งเลยทีเดียว พื้นที่ใต้สะพานถูกใช้เป็นบริเวณ transition area จะบริเวณการจัดงานอื่น ๆ สวนสาธารณะเล็ก ๆ ริมแม่น้ำ ที่สามารถใช้เป็นพื้นที่ในการยืดเส้นยืดสาย นั่งพักเพื่อเชียร์ ในขณะที่เส้นทางปั่นจักรยานบนทางด่วนพิเศษ ก็เป็นเส้นทางในฝันเส้นทางหนึ่งของนักปั่นทางเรียบ ในขณะที่การว่ายน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ก็เป็นไฮไลท์ที่สำคัญของผู้ร่วมแข่งขันหลายคนกล่าวขวัญถึง ไม่ว่าจะในทำนองของการได้โอกาสในการว่ายในแม่น้ำที่เป็นเหมือนสายโลหิตของประเทศ หรือความสยองขวัญที่จะต้องรับกับสภาพน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาที่รองรับน้ำทิ้งจากคลองหลากหลายสายในพื้นที่ กทม. ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าไม่มีคลองสายใดเลยที่น้ำไม่เสีย เป็นต้น

ผมเดินทางมาถึงสนามแข่งขันช้าไปเล็กน้อย เมื่อนำจักรยานเข้า transition area แล้ว ก็แทบไม่เหลือเวลาให้ วอร์มอับเลย นอกจากนี้การวอร์มอับสำหรับไตรกีฬาที่ต้องเริ่มต้นด้วยการว่ายน้ำ ก็ไม่เคยที่จะได้ผลเสียเท่าไรนักกับผม เพราะผมไม่ค่อยชอบวอร์มในน้ำ นักกีฬาทั้งหมดขึ้นเรือเพื่อไปเริ่มว่ายน้ำพร้อม ๆ กัน บนเรือขนาดใหญ่แต่เนื่องจากมีนักกีฬาค่อนข้างแออัด และไม่มีที่ยืดจับทำให้ผมไม่สามารถใช้เวลารอช่วงนี้ในการยืดแส้นยืดสายได้ ทำให้เพียงแต่รอเวลาเท่านั้น การปล่อยตัวเริ่มต้นช้าไปเล็กน้อย อาจจะเป็นเพราะต้องรอประธานจัดงานมาปล่อยตัวที่บนเรืออีกลำหนึ่ง ผมต้องออกตัวเป็นกลุ่มที่สองก็ออกอาการเซ็งเล็กน้อย เพราะรอมานานแล้ว ผมเองก็คาดเอาไว้ว่าผมจะใช้เวลาสักสิบนาทีแรกในการว่ายเพื่อวอร์มอัป เพื่อรอให้กลุ่มคนที่เริ่มว่ายจากจุดเดียวกันบริเวณท้ายเรือค่อย ๆ กระจายตัวกันออกไป นี่เป็นปัญหาการออกตัวจากท้ายเรือ

การว่ายน้ำสำหรับผมเป็นเรื่องไม่ยากมากนัก สิ่งที่ผมกังวลเพียงอย่างเดียวคือผมมีนิสัยชอบจิบน้ำนิด ๆ ระหว่างว่ายน้ำ สภาพน้ำ กลิ่นของน้ำจะเป็นปัญหากับผมเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามการว่ายน้ำครั้งนี้ผมไม่เกิดปัญหานั้น ผมหยุดออกกำลังกายมานานจนนิสัยจิบน้ำของผมหายไปแล้วโดยไม่รู้ตัว สภาพน้ำ และกลิ่นก็ไม่ได้เลวร้ายเท่าที่คิด ตามประสบการการว่ายน้ำในการแข่งขันชิคาโกไตรกีฬาที่ใหญ่ที่สุดในโลกมีปัญหาเยอะกว่านี้มาก เหม็นกว่ามาก การว่ายน้ำแม้ว่าทางผู้จัดจะไม่ได้วางทุ่นเอาไว้เลย แต่การว่ายเลียบไปกับฝั่งที่อยู่ในด้านเดียวกับทิศทางการหายใจของผมก็ทำให้การ navigate การว่ายน้ำของผมเป็นไปได้โดยง่าย ผ่านไปหลายปีตอนนี้ชุดสำหรับไตรกีฬาอยุ่ในรูป Tri Suit ซึ่งผมได้มีการทดลองใช้เป็นครั้งแรก ก็ค่อนข้างน่าพอใจ อาจจะเป็นเพราะผมเลือกใช้แบบที่เรียกว่า Compression แม้ว่าผมไม่ค่อยเชื่อเรื่องประโยชน์ของ Compression มากนักแต่ประสบการณ์การใช้ชุดประเภท Tri Singlet นั้นผมว่ามันน่ารำคาญเมื่อต้องว่ายน้ำแล้วรู้สึกเหมือนใส่เสื้อยืดว่ายน้ำ การใช้ชุดรัด ๆ แบบนี้น่าจะรู้สึกดีกว่า และก็เป็นไปตามนั้น ผมว่ายน้ำเสร็จในกลุ่มแรก ๆ ตามปกติ เพราะแม้ว่าความเร็วของผมไม่ได้รวดเร็วขนาดนักว่ายน้ำแต่มีนักว่ายน้ำไม่มากนักที่หันมาเล่นไตรกีฬา ผมก็เลยสบายในขาแรกของไตรกีฬาในทุก ๆ ครั้ง

เมื่อขึ้นมาเตรียมสำหรับกีฬาต่อไปคือจักรยาน ผมเปลี่ยนเครื่องแต่งกายอย่างฝืด ๆ เพราะไม่ได้ซ้อม ไม่ได้แข่งมาเสียนาน อีกทั้งหมวกกันน๊อกรุ่นแอโร่ไดนามิกมันสวมใส่ลำบากเสียเหลือเกิน ในระหว่างการเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวผมก็ยังเกิดอาการลังเลว่าผมควรจะสวมรองเท้าจักรยานเลยหรือค่อยสวมใส่ขณะปั่นจักรยาน โดยปกติแล้วผมมักจะสวมขณะปั่นจักรยานเพราะรองเท้าจักรยานของผมค่อนข้างจะใส่เดินยากมาก แต่การสวมรองเท้าในขณะปั่นจักรยานก็เป็นเรื่องที่ต้องมีการฝึกฝนพอสมควร รองเท้าใหม่ร่วมกับขาดการฝึกซ้อมอาจก่อให้เกิดปัญหาไม่คาดคิดเกิดขึ้นได้ แม้ว่าในการแข่งขันครั้งนี้ผมตัดสินใจมาแล้วว่าจะใส่ระหว่างปั่นจักรยาน แต่ด้วยความอ่อนซ้อมจึงเกิดความลังเล และความลังเลนั้นสร้างให้ผมเกิดปัญหาตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มปั่น รองเท้าที่ติดอยู่กับจักรยานเรียบร้อยแล้วเกิดลากชนกับพื้นและหลุดขณะที่ผมกำลังเข็นจักรยานออกไปยังจุดขึ้นจักรยาน ผลคือต้องวางจักรยานเดินกลับไปหยิบรองเท้า กลับมาหยิบรองเท้าอีกข้างเพื่อใส่รองเท้าทั้งคู่ก่อนที่จะเข็นจักรยานออกไป ณ จุดขึ้นจักรยาน เมื่อคิดดูแล้วผมน่าจะเสียเวลาจากความผิดพลาดนี้ไปกว่า 3 นาทีน่าจะได้

ช่วงเวลาปั่นจักรยานเป็นความสุขของนักปั่นจักรยานโดยทั่วไปฝัน หลาย ๆ คนในการปั่นบนทางด่วนพิเศษความโอกาสที่ไม่สามารถหากันได้ง่าย ๆ ความคิดที่จะได้หลับหูหลับตาปั่นบนทางด่วนแบบไม่คิดชีวิตเป็นระยะเวลาชั่วโมงครึ่ง ทำให้ในการแข่งขันครั้งนี้ผมสามารถชวนเพื่อนนักปั่นมาสร้างทีมทวิกีฬาประเภททีมได้เพิ่มอีกถึงสองทีม เมื่อรวม ดร.วาทิน และผมแล้วเรามีนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขันในวันนี้ ถึง 7 คน แบ่งเป็นผมที่ลงไตรกีฬา ดร.วาทิน (หรืออาจารย์ตุ๊ผู้บริหารสถาบันสอนภาษา iFast) ลงทวิกีฬา ทีมทวิกีฬาสองทีมที่มีนักกีฬาอีก 5 คน ที่เกิดจากความอยากปั่นบนทางด่วนล้วน ๆ ได้แก่สองพี่น้องวัชรักษะ (Jack & John) ทำให้ต้องเตรียมทีมนักวิ่งรอบตัวผม โด่ง ต่อ กร มาช่วยให้เกิดทีมขึ้นได้

ผมไม่ได้ตื่นเต้นอะไรมากนักเพราะผมไม่ชอบปั่นบนที่สูงเนื่องจากจะมีลมค่อนข้างมาก และก็เป็นอย่างที่คาด ลมกับผมไม่ค่อยถูกกันเท่าไรนัก อุปสรรคที่มองไม่เห็นแต่ให้ผลใกล้เคียงกับการปั่นขึ้นเขา นักปั่นแบบผมชอบเขามากกว่าลม ตัวเบาจะได้เปรียบเรื่องน้ำหนัก ในกรณีลมผมไม่ได้เปรียบอะไรขึ้นเลย เมื่อไม่ได้เปรียบผมก็เสียเปรียบเนื่องจากนักไตรกีฬาส่วนมากมีพื้นฐานกีฬามาจากจักรยาน หรือวิ่ง ซึ่งผมมีพื้นฐานมาจากว่ายน้ำ ทำให้เกิดความเสียเปรียบเป็นอย่างมาก เมื่อปั่นในสนามประเภทนี้ ผมถนัดสนามที่มีลักษณะ Rolling Hill อย่างภูเก็ตมากกว่า ผมจบรายการจักรยานด้วยเวลาไม่ค่อยดีนัก เนื่องจากความตื่นสนามของผมเองที่เริ่มต้นจากรองเท้าหล่น ปัญหาของ cyclometer ที่มีปัญหาของผมทำให้กะระยะทาง ความเร็ว และเวลาไม่ถูก คำนวณแรงไม่ค่อยเหมาะสม

ขาสุดท้ายคือการวิ่ง ในอดีตถือว่าเป็นจุดอ่อนที่สำคัญของผม แต่เนื่องจากว่าในระยะเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมา ผมเน้นการฝึกซ้อมวิ่งเป็นอย่างมาก ด้วยสาเหตุที่การวิ่งนั่นเองเป็นอุปสรรคในการเล่นกีฬาของผม ที่เป็นผลต่อเนื่องจากโรคกระดูกเสื่อมนั่นเอง ในวันนี้ผมรู้สึกมั่นใจในการวิ่งของผมเป็นพิเศษ ไม่ใช่เวลาของผมจะหรูหราอะไรนะครับ เพียงแต่ว่าผมไม่รู้สึกเครียดมากขณะที่วิ่ง ภายหลังจากที่ผ่านกีฬาหนัก ๆ มาแล้วทั้งสองประเภท ไม่ต้องมารู้สึกลุ้นเท่าไรว่าความรุ้สึกหลังจากลงจากจักรยานจะเป็นอย่างไร น่าเสียดายที่เส้นทางวิ่งที่จะได้วิ่งข้ามสะพานพระรามแปดถูกเปลี่ยนแปลงเป็นวิ่งรอบ ๆ บริเวณแถว ๆ นั้นสี่รอบ ซึ่งทำให้บรรยากาศการแข่งขันเสียไปค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตามกลับกลายเป็นผลดีต่อครอบครัวของผม ที่เป็นครั้งแรกที่พวกเขาตื่นเช้ามาเชียร์ผมแข่งขัน การได้เห็นผมวิ่งวนไปมาผ่านหน้าพวกเขาแปดรอบ มันทำให้การมาเชียร์ดูคุ้มค่าเล็กน้อย ไ่ม่เช่นนั้นพวกลูก ๆ ก็คงเห็นพ่อเฉพาะช่วง transition และเข้าเส้นชัยเพียงเท่านั้น อากาศในช่วงวิ่งค่อนข้างร้อนมาก แต่การจัดการเรื่องน้ำ และฟองน้ำของรายการมีเรียบร้อยและเพียงพอ ทำให้ไม่มีอาการอารมณ์เสียจากสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น

ผมเข้าเส้นชัยทำเวลาได้ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ 3:13:54 อันดับของการว่ายน้ำเป็นอันดับต้น ๆ อันดับของการวิ่งของผมดีกว่าอันดับการปั่นจักรยาน เพราะฝีมือการปั่นของผมลดลงเป็นอย่างมาก หลังจากอาการเจ็บหลังที่ได้เล่ามาแล้วบ้าง ไม่น่าเชื่อว่าอาการกระดูกเสื่อมที่เป็นต้นเหตุให้หยุดกีฬาชนิดนี้เพราะวิ่งไม่ได้ กลับมาเป็นอุปสรรคในการปั่นจักรยานอย่างมีประสิทธิภาพ เสียมากกว่าการวิ่งเสียอีก ต่อไปนี้คงต้องคอยดูว่าการใช้โยคะ และ Core Training จะช่วยให้ประสิทธิภาพในการปั่นกลับคืนมาบ้างหรือไม่

ผมใช้เวลาหลังการแข่งขันค่อนข้างนาน ติดใจอ่างน้ำแข็งที่ช่วยกระชับกล้ามเนื้อได้อย่างรวดเร็ว ลดอาการปวดเมื่อยแทบเป็นปลิดทิ้ง ผู้จัดการแข่งขันละเลยเรื่องน้ำบริเวณเส้นชัยไปบ้าง ผมไม่สามารถหาน้ำดื่มได้เลย ณ บริเวณเส้นชัย น่าเสียดายที่เตรียมมาอย่างดีในช่วงการแข่งขัน เรื่องนี้ไม่น่าพลาด บริเวณเส้นชัยอาจจะเน้นสปอนเซอร์ไปหน่อย แล้วสปอนเซอร์เหล่านั้น ไม่ได้สนใจที่จะมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือนักกีฬานอกจากการที่จะมาขายของ มีอาหาร และน้ำของสปอนเซอร์ที่ไม่ได้ให้นักกีฬาได้ใช้แต่เอามาล่อตาล่อใจ ผมในตอนนั้นซึ่งหิวน้ำเป็นอย่างมากต้องหาตอดจากขวดตามมุมต่าง ๆ ที่มีใครก็ไม่รู้วางทิ้งไว้กินไปเรื่อย ๆ จนเพียงพอ อย่างไรก็ตามแม้ว่างานให้รางวัลจะมีเวที และวีไอพีมานั่งขวางทางเดินของนักกีฬาอยู่มาก การเตรียมพื้นที่แบบนี้ก็สะดวกสำหรับครอบครัวนักกีฬาที่มาเชียร์อย่างครอบครัวที่มีลูกเล็ก ๆ สองคนพอสมควร เราใช้เวลานั่ง ๆ นอน ๆ แถว ๆ บริเวณ transition area อยู่พักใหญ่ ก่อนที่จะกลับบ้านไปพร้อมกับความประทับใจ สิ่งที่ขาดหายไปจากบรรยากาศแข่งขันไตรกีฬาที่ผมคุ้นเคยในต่างประเทศคือความเป็นกันเองของเหล่านักกีฬา ในประเทศไทยเต็มไปด้วยชมรมที่แต่งกายกันมาเป็นทีม ส่งเสียงเฮฮากันเป็นกลุ่ม ๆ ใหญ่ ๆ สำหรับคนไม่มีสังกัดอย่างผม มันก็รู้สึกแปลกแยกอยู่พอสมควรเหมือนกัน สงสัยคราวหน้าต้องหาทีมเข้าร่วมเสียแล้ว แต่ถ้าหาทีมยังไม่ได้ก็ช่วยทักทายกันหน่อยก็แล้วกันนะครับ

ปัจจัยที่สี่ : สุขภาพดีไม่ต้องมียารักษาโรค

มนุษย์เราใช้ชีวิตเสี่ยงมากขึ้นเรื่อย ๆ ทักษะต่าง ๆ ที่จำเป็นในการดำรงชีวิตที่ว่าด้วยปัจจัยสี่ เราได้ถ่ายโอนให้เป็นหน้าที่ของมืออาชีพ ผู้คนส่วนใหญ่มีอาชีพที่ไม่ได้มีความจำเป็นใด ๆ เลยในการดำรงชีวิต นานเข้าทักษะเหล่านั้นค่อย ๆ เลือนหายไป ปัจจัยที่สี่ที่ว่าด้วยยารักษาโรค ถูกมองเป็นการเข้าถึง เงินที่เพียงพอ โรงพยาบาลที่เพียงพอ หมอที่เพียงพอ มีน้อยคนนักที่จะพูดถึงสุขภาพที่ดีเพียงพอ การดูแลรักษาตัวเองที่ดีพอ ความรู้ต่าง ๆ ในการดูแลตัวเองที่เพียงพอ ตั้งแต่เด็กจนโต เมื่อเกิดอะไรขึ้นกับร่างกาย เราพึ่งพายา หนักขึ้นเราก็พึ่งหมอ และคิดว่าชีวิตเรามีมืออาชีพที่คอยดูแลอยู่แล้ว ไม่ใช่หน้าที่ของเราอีกต่อไป ในระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ หน้าที่ได้ถูกแบ่งกันไปแล้ว และนี่เป็นการดำรงชีวิตอยู่ในความเสี่ยงอย่างมหันต์

มนุษย์เราควรมีความรู้ในการดูแลสุขภาพตัวเอง มีความรู้ในการรักษาตัวเอง มีทักษะในการดำรงชีพอย่างมีสุขภาพ มีทักษะในการเข้าใจและรักษาตัวเองได้อย่างเหมาะสม สิ่งเหล่านี้เราทำได้ แต่ต้องใช้เวลาทั้งชีวิตในการฝึกฝน หมอที่ดีจะต้องมีทักษะในการซักถามอาการผู้ป่วย แต่ผู้ป่วยที่ดีจะรู้ลึกซื้งถึงอาการ ความรู้สึกและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวเองได้ดีที่สุด มากกว่าหมอที่มีทักษะการถามที่ดีที่สุด ในขณะที่ผู้ป่วยเองก็ควรจำทำการเรียนรู้เข้าใจถึงที่มาที่ไปของโรค สาเหตุ อาการ การพัฒนาของโรค ความเสี่ยง การติดต่อ และอื่น ๆ เท่าที่เราจะทำได้ เมื่อมีโอกาสได้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เมื่อได้รับการจ่ายยาเราก็ควรจะรู้ชื่อยาทุกประเภทที่ได้ และควรที่จะปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อที่จะทำความเข้าใจถึงกระบวนการทำงานของยาแต่ละชนิด เพื่อทำความเข้าใจว่าสิ่งที่เรากำลังจะกินเข้าไปนั้นมีความเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วยเรามากน้อยเพียงไร เมื่อทำสิ่งเหล่านี้เป็นนิสัย เราก็จะมีความรู้พื้นฐานในการดูแลตัวเองมากกว่า 80% ของโรคภัยไข้เจ็บที่จะเกิดขึ้นกับตัวเรา รวมไปจนถึงยาประเภทต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย

ปัจจุบันผมแทบจะไม่กินยาเลยแม้แต่ขนานเดียว ผมไปหาหมอเพียงบางครั้งเท่านั้น เมื่อไม่แน่ใจ หรือต้องการผู้เชี่ยวชาญเพื่อวินิจฉัยโรค แม้ว่าเมื่อมั่นใจเรื่องโรคแล้วผมอาจจะไม่ใช้ยาที่หมอให้เลยแม้แต่เม็ดเดียว การฝึกฝนนี้ขยายวงไปสู่คนภายในครอบครัวของผมเองด้วย ผมไม่ได้ต้องการชวนให้ผู้อ่านมาปฏิบัติเอาเยี่ยงอย่าง แม้ว่าผมจะไม่ไปพบหมอ แต่ในรอบตัวผมมีหมอผู้เชี่ยวชาญแทบทุกสาขาที่ผมสามารถยกหูคุยได้ภายในไม่กี่นาที การปฏิบัติเช่นนี้ผมจึงไม่คิดว่าเป็นการใช้ชีวิตที่เสี่ยงมากนัก แต่ผมทำเพื่ออะไร

ผมต้องการ “ทักษะ” ความสามารถที่จะสังเกตุ อาการ สิ่งปกติในร่างกายของผม ทำความเข้าใจโรคร้าย การบาดเจ็บ และเรื่องราวอื่น ๆ ทั้งหมดที่อาจจะเกิดขึ้นกับผมและครอบครัวให้มากที่สุด โดยที่เสี่ยงน้อยที่สุด ผมต้องการให้ร่างกายของผมและคนในครอบครัวมีโอกาสฝึกซ้อมเพื่อที่จะต่อสู้กับภยันต์อันตรายทั้งหมดที่จะเกิดกับสุขภาพร่างกายของผมเองและคนในครอบครัว ก่อนที่จะต้องไปถึงมือผู้เชี่ยวชาญ ผมได้อ่านบทความของคุณพ่อที่เสียลูกไปกับโรคมือเท้าปากที่แพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ ผมเข้าใจในความรู้สึกของพ่อที่เสียลูก เพราะผมเองก็เคยเสียลูกไปเช่นเดียวกัน แต่ผมเห็นความบกพร่องของวิธีปฏิบัติ ดูแลรักษาของพ่อคนนี้เช่นเดียวกัน และผมจะไม่มีวันที่จะเดินซ้ำรอยครอบครัวนี้เป็นอันขาด ยกตัวอย่างเช่นให้กินยาแก้ไขอย่างเคร่งครัดทุก 4 ชั่วโมงและบังคับให้ลูกไปโรงเรียนพร้อมกับยา เป็นต้น

เมื่อสมัยเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย ผมเองก็เคยมีนิสัยเคยชินกับการกินยาแก้ปวดลดไข้ กินไว้ กินดัก กินแก้ ด้วยความที่รู้สึกว่าต้องเรียนให้ได้ ทำงานให้ได้ไม่ว่าจะมีสภาพเป็นอย่างไรก็ตาม ทำแล้วมันเท่ห์ ผมเริ่มมาดูแลตัวเองเมื่อเกิดอาการบาดเจ็บที่หัวเข่าขณะหัดวิ่งระยะไกล (ต่ำกว่า 10 กิโล) ด้วยการอ่านหนังสือ เพียงเพราะผมไม่รู้ว่าต้องไปหาหมอประเภทใดเมื่อเกิดอาการบาดเจ็บจากการออกกำลังกาย โชคดีที่ผมได้หนังสือดี เมื่อผมสามารถรักษาตัวเองให้หายได้เป็นปลิดทิ้ง ผมจึงเข้าใจเอาเองว่ามีหลากหลายอาการเจ็บป่วย บาดเจ็บที่เกิดขึ้นกับเรานั้นไม่ได้ซับซ้อนจนเกินไป และไม่ได้จำเป็นต้องถึงผู้เชี่ยวชาญเสมอไป และถ้าหากเราหาความรู้เพิ่มเรื่อย ๆ เราก็จะสามารถดูแลตัวเองได้มากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน

ผมมีโอกาสได้ไปเรียนต่อต่างประเทศ เนื่องจากเป็นที่รู้กันว่าค่ารักษาพยาบาลที่ต่างประเทศแพงมาก ผมจึงตั้งหน้าตั้งตาออกกำลังกายอย่างเอาเป็นเอาตาย เพราะผมเรียนรู้ตั้งแต่เด็ก ๆ ว่าช่วงใดที่ผมออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอผมจะไม่ค่อยป่วย ถ้าไม่เช่นนั้นผมจะป่วยเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจได้ง่ายมาก ๆ เนื่องจากผมถูกตัดต่อมทอลซิลและอะไรอื่น ๆ บริเวณลำคอไปหมดแล้วตั้งแต่เด็ก ทำให้ไม่มีปราการด่านแรกที่จะจัดการกับเขื้อโรคที่เข้าผ่านปากและจมูกของผม ผมแทบจะไม่เคยได้ทานยาเลยตลอดระยะเวลาตั้งแต่เริ่มเดินทางไปต่างประเทศจนถึงปัจจุบัน ยกเว้นยาโรคกระเพาะอาหาร เนื่องจากผมมี ulsers ในกระเพาะและในบางครั้งเมื่อเกิดความเครียดจนเกินควบคุม ผมจำเป็นต้องพึ่งยาที่ระงับการหลั่งกรด (ผมเคยต้องซื้อยานี้ทั้งหมดสองครั้งในชีวิตผมครั้งละประมาณ 2-3 วัน) นอกนั้นก็ทนเอาไปตามอาการ โชคดีที่ผมไม่เป็นโรคติดเชื้ออื่น ๆ ประเภทแบคทีเรียเลย เป็นเพียงเพราะผมออกกำลังกายสม่ำเสมอและก็โชคดี ผมมาถือปฏิบัติในการที่จะให้ร่างกายซ่อมแซมตัวเอง ใช้การสังเกตุ ใส่ใจในตนเองเพื่อเป็นการดูแลรักษาตนเองอย่างเคร่งครัดมากขึ้น ภายหลังจากอ่านหนังสือชื่อ Spontaneous Healing ของหมอ Andrew Weil เนื่องจากผมค่อนข้างจะเห็นด้วยกับแนวคิดของเขา

ผมเล่นกีฬาค่อนข้างหนักและมีอาการบาดเจ็บประจำตัวอยู่หนึ่งอย่างคือ เจ็บกล้ามเนื้อน่อง เป็นเหตุการณ์ที่น่าสนใจมากเมื่อผมไปพบหมอ และเปลี่ยนแนวความคิดของผม มหาวิทยาลัยของผมนั้นเป็นโรงเรียนแพทย์ด้วย จึงมีนักเรียนแพทย์มาวินิจฉัยเมื่อผมตัดสินใจไปคลินิคของมหาวิทยาลัย ผมได้เรียนรู้เป็นอย่างมากเมื่อ อาจารย์แพทย์ได้สอนนักศึกษาแพทย์ผู้นั้น ว่าอาการของผมน่าจะเกิดจากอาการกล้ามเนื้ออักเสบที่เป็นผลจากตะคริว (คงคาดว่าจากตำแหน่งของกล้ามเนื้อที่เจ็บ) แล้วมีการวิเคราะห์ต่อไปอีกว่าสาเหตุของการเกิดตะคริวคืออะไร ในวันนั้นผมได้เรียนรู้การแพทย์ทางกีฬาเป็นอย่างมาก และไม่เคยเห็นแพทย์คนไทยคนไหนให้ความสนใจอย่างเช่นวันนั้นอีก (ที่ผมเจอส่วนใหญ่ก็บอกแค่ให้เลิกเล่นกีฬา ตัดปัญหาแบบง่าย ๆ ) หลังจากนั้นผมจึงใช้ความเป็นอาชีพจากแพทย์ทุกครั้งเพื่อศึกษาถึงโรคร้าย และอาการบาดเจ็บใหม่ ๆ ที่ผมไม่เคยเป็นมาก่อน

ผมเป็นคนหน้าอกบุ๋ม มาตั้งแต่เด็ก ซึ่งทำให้มีผลต่อตำแหน่งของหัวใจของผม และเป็นปัญหาเมื่อผมออกกำลังกายหนัก ๆ บางประเภท (จริง ๆ แล้วทุกประเภทที่ผมทำอยู่ คือ ว่ายน้ำ จักรยาน วิ่ง) ซึ่งมีอยู่ช่วงหนึ่งที่ผมหยุดออกกำลังกายไปเพื่อเตรียมสอบ Qualify แล้วกลับมาออกกำลังกายใหม่ซึ่งตรงกับเวลาในช่วงปลายฤดูหนาว ผมเกิดอาการเจ็บกล้ามเนื้อหน้าอก จึงไปปรึกษาแพทย์ ผมเคยเป็นคล้าย ๆ อย่างนี้มาแล้วที่เมืองไทยแต่หมอให้ยาแก้เครียดมากิน (ซึ่งผมก็ไม่ได้กิน) แต่ผมเริ่มส่งสัยว่าผมมีอาการผิดปกติของหัวใจหรือไม่ เพราะเท่าที่เขาว่ากันอาการเจ็บหน้าอกไม่ควรจะเกิดขึ้นไม่ว่ากับใครก็ตาม (แม้ว่ากับผมมันเป็นเรื่องปกติพอสมควร) แต่ ณ เวลานี้ทัศนคติผมเปลี่ยนไป ผมต้องการเรียนรู้ เมื่อไปปรึกษาแพทย์ที่มหาวิทยาลัย ก็ปรากฎว่าสนุกมาก ๆ ครับ หมอจับผมทดสอบทุกอย่าง EKG Stress Test วิ่งบนสายพาน  X-ray เยอะแยะมากมาย สิ่งผิดปกติแรกที่หมอสังเกตุ (เขาไม่ได้บ่นเรื่องอกบุ๋ม) คือ นักเรียนแพทย์แทบไม่สามารถ ส่องเห็นลิ้นหัวใจผมได้เลย ใช้เวลาอยู่นานมาก จนต้องให้อาจารย์แพทย์มาทำให้ และต้องกดแรงและเจ็บมาก อาจารย์บ่นนิด ๆ หน่อย ๆ สรุปว่าหมอวิเคราะห์ว่าเป็นเพราะอกบุ๋ม หัวใจอยู่ผิดที่นิดหน่อย ทำให้บางครั้งทำงานหนัก หรือกล้ามเนื้อบริเวณหน้าอกเนื่องจากกระดูกอยู่ผิดที่ผิดทางการทำงานก็ไม่ค่อยปกติมากนักจึงเกิดอาการเจ็บของกล้ามเนื้อได้

หลังจากนั้นไม่นาน เกิดอุบัติเหตุระหว่างยกน้ำหนักท่า Squat แล้วทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังของผมเคลื่อนมาทับเส้นประสาท ซึ่งทำให้เกิดอาการเจ็บอย่างรุนแรง และเป็นอีกครั้งที่ผมต้องใช้ยาระงับปวดที่รุนแรงมาก ๆ เป็นครั้งแรก การบาดเจ็บครั้งนั้นทำให้ชิ้นส่วนของร่างกายของผมตรงส่วนนั้นไม่สามารถกลับมาเป็นเหมือนเดิมอีกเลย จะมีอาการปวดหลังเป็น ๆ หาย ๆ อยู่ตลอดเวลา บางครั้งหนัก ๆ ก็เจ็บมากจนต้องใช้ยาแก้ปวด (ผมเคยใช้อีกหนึ่งครั้งหลังจากป่วยครั้งแรก) บางครั้งก็เจ็บมากขนาดเดินไม่ได้ หรืออาจจะเดินตัวแข็งหันไปมาไม่ได้ บางครั้งต้องพึ่งยาคลายกล้ามเนื้อ แต่ผมก็ยังสามารถออกกำลังกายต่อไป แต่ในช่วงนั้นผมลดปริมาณการออกกำลังกายลงเป็นอย่างมาก เนื่องจากใกล้สำเร็จการศึกษา ผมเป็นบ่อยขึ้นหลังจากที่กลับมาเมืองไทย การเปลี่ยนสถานที่ การเริ่มทำงาน ทำให้ผมต้องเริ่มปรับตัวกับหน้าที่การงานใหม่ และไม่ได้ออกกำลังกายเป็นเรื่องเป็นราวเลย เมื่อกลับมาออกกำลังกายกลับพบว่าอาการเจ็บมันรุนแรงถึงขนาดไม่สามารถวิ่งได้ ผมจึงตัดสินใจหยุดกีฬาไตรกีฬาที่ผมชอบโดยสิ้นเชิง

ผมมีอาการปวดบ้าง เจ็บบ้าง เดินไม่ได้บ้าง จนในท้ายที่สุดผล x-ray ยืนยันว่าผมเริ่มมีอาการของโรคกระดูกเสื่อม ซึ่งมีแต่จะเสื่อมลงเรื่อย ๆ หมอแนะนำให้ผมหยุดทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงทั้งหมด ซึ่งในเวลานั้นผมเลิกกีฬาวิ่ง หันมาปีนเขา และยกน้ำหนัก เพราะรู้สึกว่าไม่มีการกระแทก แต่หมอแนะนำให้ว่ายน้ำ ผมก็พยายามถามถึงกีฬายกน้ำหนัก ปีนเขา ซึ่งหมอไม่แนะนำเลย ผมถามเรื่องวิ่งก็ยิ่งถูกห้ามเข้าไปใหญ่ หมอให้ว่ายน้ำสัปดาห์ละสี่วัน เพื่อเป็นการออกกำลังกาย (ผมรู้สึกเหมือนใบสั่งกายภาพบำบัด) ผมไม่เคยทำใจได้เลย แม้ว่าผมจะมีพื้นฐานการออกกำลังกายคือว่ายน้ำ แต่ด้วยทัศนคติว่าการว่ายน้ำในเวลานี้คือกายภาพบำบัด และหนทางเดียวที่ผมเลือกไม่ได้ ในที่สุดผมก็ไม่เคยได้ไปว่ายน้ำตามที่หมอสั่งเลย จนกระทั่งผมได้ไปพักผ่อนที่ภูเก็ตในช่วงที่มีการแข่งขันไตรกีฬา กีฬาที่ผมโปรดปรานที่สุด เพราะผมต้องการไปชมการแข่งขัน ผมดูการแข่งขันอย่างตั้งใจ และมีแรงบันดาลอีกครั้ง แล้วตั้งใจว่าในปีหน้าผมต้องกลับมาเป็นผู้แข่งขันเองให้ได้ แล้วในที่สุดผมก็กลับมาแข่งขันประเภททีม โดยผมทำหน้าที่ปั่นจักรยาน เมื่อจบการแข่งขันผมบอกกับตัวเองว่าผมต้องกลับมาอีกครั้งแล้วทำให้ครบทุกอย่างให้ได้

ผมจึงเร่ิมต้นซ้อมวิ่งเป็นครั้งแรกเมื่อปลายปีที่ผ่านมา (2554) ผมค้นคว้า และทดลองการเปลี่ยนท่าวิ่ง ใช้รองเท้ามินิมัลลิส โดยไม่ปรึกษาแพทย์เลย เพราะผมรู้ว่าหมอซึ่งเห็นว่าการวิ่งมีการกระแทกสูงและอันตรายต่อหลัง มีเพียงกลุ่มนักวิชาการ แพทย์ และคนกลุ่มเล็ก ๆ เท่านั้นที่เชื่อว่าการหันมาวิ่งด้วยปลายเท้า ใช้รองเท้าที่บางที่สุด หรือใช้เท้าเปล่าจะป้องกันปัญหานี้ได้ ด้วยทักษะการฟังตัวเองของผมที่ฝึกมาหลายสิบปีมาเป็นประโยชน์กับผมมากในช่วงที่หัดใหม่นี้ ผมใช้เวลาประมาณ 2 เดือนจากเริ่มวิ่งด้วยเท้าเปล่า ประมาณ 15 นาทีจนร่วมแข่งรายการกรุงเทพมาราธอนในระยะ 21.1 กม. และจากวันนั้นถึงวันนี้ ผมก็ได้สัมผัสระยะทาง 42.195 กม. เป็นครั้งแรกในชีวิตของผม

ในกีฬาวิ่งผมได้ใช้ทักษะในการฟังร่างกายตัวเองมากถึงมากที่สุด เพราะทุกก้าวที่เปลี่ยนไปมีความรู้สึกใหม่ ๆ เกิดขึ้นเสมอ ผมได้สังเกตุ ติดตามผล เฝ้ามองอาการเจ็บ ปวด เมื่อย ไม่น่าเชื่อว่าผมรู้สึกว่าร่างกายผมแข็งแรงยิ่งกว่าเมื่อก่อนที่จะเป็นโรคกระดูกเสื่อมเสียอีก ถ้าไม่ใช่เพราะกีฬาจักรยานที่ทำให้ผมต้องก้มเป็นระยะเวลานาน ๆ จนบางครั้งอาการปวดหลังผมกำเริบ ผมคงลืมไปแล้วว่าผมเป็นโรคกระดูกเสื่อม

ในตอนนี้ผมพยายามปรับปรุงท่าปั่นจักรยานของผม ให้เข้ากับความยืดหยุ่นของตัวผมที่เหลือน้อยเต็มทน เนื่องจากกล้ามเนื้อหลังหลายส่วน รวมไปถึงกล้ามเนื้อต้นขาที่ต้องทำงานผิดปกติ รับแรงแทนกระดูก และมีความตึงเครียดค่อนข้างสูง ในขณะเดียวกันผมก็พยายามหาวิธีที่จะช่วยยืด หรือผ่อนคลายกล้ามเนื้อในส่วนนี้ แต่ก็ยังไม่ได้เริ่มจริง ๆ จัง ๆ เสียที ผมคาดว่าผมอยากใช้โยคะเข้ามาช่วย ถ้าผมได้เริ่มร่างกายผมก็น่าจะเข้าสู่ภาวะปกติอีกครั้ง

ทั้งหมดทั้งสิ้นนี้ ผมทำไปบนความรู้สึกของร่างกายของผมเอง กับความรู้ที่มีมากมายบนอินเตอร์เนท หนังสือต่าง ๆ ร่างกายของสิ่งมีชีวิตยังคงเป็นสิ่งมหัสจรรย์ที่สุดอย่างหนึ่งที่ธรรมชาติสร้างมา ความสามารถในการปรับตัว ซ่อมแซมตัวเอง มีมากมาย เพียงแต่ว่าเราต้องไม่ทิ้งมันไป ต้องฝึกฝน เข้าใจ และใช้มันอย่างถูกวิธี ทักษะนี้เป็นสิ่งสำคัญและผมเชื่อว่ามันจะเป็นบันไดไปสู่สุขภาพที่ดี เป็นจุดหมายปลายทางที่แท้จริงของปัจจัยที่สี่ คือ ความไม่ต้องการยารักษาโรคใด ๆ ทั้งสิ้น

ผมพยายามเขียนบทความนี้ให้กับบุคคลหนึ่งที่มีอาการบาดเจ็บที่หัวเข่า และได้รับคำแนะนำจากแพทย์ให้เลิกเล่นทุกอย่าง (ตั้งแต่อายุยังน้อย) ซึ่งผมเองไม่มีคำแนะนำดี ๆ ใด ๆ ให้เลย แต่ผมมีความคิดของผมเองว่า ถ้าผมต้องทำตัวเหมือนคนแก่ง่อยเปลี้ยเสียขา ไม่สามารถเล่นกีฬาใด ๆ ได้เลยนอกจากว่ายน้ำตามที่หมอผมสั่ง แล้วผมเป็นเด็กดีทำตามหมอเพราะกลัวว่าในอนาคตผมจะกลายเป็นคนง่อยเปลี้ยเสียขา ผมสู้ลองทำตัวเป็นคนมีขาไปก่อนดีกว่าแล้วเมื่อไรง่อยเปลี้ยเสียขาจริง ๆ แล้วทำตามที่หมอว่าคงไม่สาย ผมว่าคงกำไรชีวิตสำหรับผม ถ้าจะให้แนะนำกันจริง ๆ ผมคงพูดได้แต่ว่า “Just do it and listen to yourself” ครับ