Barefoot Running : Race days testing

ใครที่ติดตามบทความของผมมาบ้างคงเริ่มจำได้แล้วว่าผมมีปัญหากระดูกสันหลังเสื่อม แต่ดันทุรังกลับมาวิ่งอีกครั้งจากบทความในวารสาร Nature ที่แสดงให้เห็นว่าการวิ่งด้วยปลายเท้า-กลางเท้า จะมีลดแรงกระแทกที่มีต่อข้อต่อทั้งหมดตั้งแต่ข้อเท้า เข่า ไปจนถึงหลัง ผมกลับมาวิ่งอีกครั้งด้วย Vibram Fivefingers ผู้นำด้านการโปรโมทการวิ่งปลายเท้า ด้วยนวัตกรรมสองลักษณะหลัก ๆ คือ พื้นรองเท้าที่บางมาก (หนาประมาณสองมิลลิเมตร) รวมถึงไม่มีส่วนรองรับบริเวณส้นเท้า เหมือนกับรองเท้าวิ่งในท้องตลาดทั้งหมด อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญคือการที่รองเท้ามีช่องรองรับนิ้วเท้าทั้งสิบนิ้ว ซึ่งช่วยให้เกิดการเคลื่อนไหวอย่างอิสระของนิ้วเท้าทั้งหมดซึ่งจะทำให้ระบบการทรงตัวของนักวิ่งดีขึ้น ทั้งหมดทั้งสิ้นตั้งอยู่ในสมมุติฐานที่ว่าการวิ่งของมนุษย์นั้นถูกออกแบบให้วิ่งเช่นนี้ ตั้งแต่ยุคที่ยังไม่มีการประดิษฐ์รองเท้าวิ่งขึ้นมา หรือการวิ่งด้วยเท้าเปล่านั่นเอง

Vibram Fivefingers ใช้งานกับผมได้ดี จนผมใช้มันในการวิ่งมาราธอนแรกในชีวิตของผม ซึ่งผมได้เขียนประสบการณ์นั้นเอาไว้แล้วก่อนหน้านี้ (40K at 40 in Vibram) แน่นอนว่าโดยนิสัยของผมเองในเมื่อรองเท้าถูกออกแบบมาเพื่อเลียนแบบการวิ่งเท้าเปล่า แล้วการวิ่งเท้าเปล่าเองล่ะจะมีใครทำอะไรทิ้งไว้บ้างไหม ผมได้ค้นพบว่า กระแสการวิ่งด้วยปลายเท้า-กลางเท้า มาแรงมาก ๆ และมีแนวการวิ่งในรูปแบบดังกล่าว อยู่ด้วยกันสามรูปแบบ ผมพบกับรูปแบบแรกมีชื่อว่า Pose Running ในรูปแบบของวิดีโอ ผู้นำเสนอเป็นชาวรัสเซียผมฟังภาษาลำบากเลยไม่ค่อยสนใจมากนัก หลังจากนั้นผมได้ซื้อหนังสือที่ชื่อว่า Chi Marathon เพื่อมาทำความเข้าใจการวิ่งรูปแบบนี้ในอีกรูปแบบหนึ่ง หนังสือเล่มนี้ทำให้ผมสนใจที่จะเปลี่ยนรูปแบบการวิ่งอย่างจริงจัง นอกเหนือจากการที่เปลี่ยนรองเท้าเพียงอย่างเดียว หลังจากนั้นไม่นานผมก็พบกับหนังสือชื่อ Barefoot Running Step by Step ภาพของการวิ่งปลายเท้า-กลางเท้าก็สมบูรณ์ในที่สุด

โดยรวมแล้วรูปแบบการวิ่งแนวนี้จะต้องเน้นความเร็วรอบของการก้าวเท้ามากกว่าระยะก้าวเท้า เนื่องจากการลงด้วยปลายเท้านั้นจะทำให้ไม่สามารถก้าวเท้าเกินระยะร่างกายได้ การ overstretch จึงไม่เกิดขึ้น ก้าวที่สั้นลงนี้จึงถูก compensate ด้วยความถี่ของการก้าวเท้า ทุกรูปแบบนั้นเน้นความเป็นธรรมชาติ กฏพื้นฐานทางฟิสิกส์ เช่นแรงโน้มถ่วง กฏของสปริง เพื่อใช้อธิบายกลไกต่าง ๆ ของการวิ่งนั้น ๆ แม้ว่ารูปแบบของร่างกาย และการขับเคลื่อนร่างกายโดยรวมนั้นจะแตกต่างกันอยู่บ้างในแต่ละวิธี อย่างไรก็ตามผมยังไม่ได้มีโอกาสศึกษาอีกแนวการวิ่งที่เรียกว่า Natural Running ที่ถูกโปรโมทโดยรองเท้าวิ่งกลางเท้าอีกยี่ห้อหนึ่งที่ได้รับความนิยมคือ Newton Shoes ที่เน้นการลงกลางเท้าเป็นหลัก แต่ผมคาดว่าคงไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ

ผมต้องยอมรับว่ารูปแบบการวิ่งแนวนี้ทำให้ผมสามารถวิ่งได้ยาวนานขึ้นอย่างมาก ความอดทนผมเพิ่มขึ้น อาจจะเป็นเพราะเป็นรูปแบบที่เน้นประสิทธิภาพสูงที่สุด อย่างไรก็ตามผมก็พบว่าผมมีอาการบาดเจ็บเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการวิ่งบ่อยครั้งมากขึ้นเมื่อเทียบกับอดีต อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ไม่อาจสรุปว่าการใช้รูปแบบการวิ่งปลายเท้า หรือการใช้รองเท้าที่ไม่มีระบบรองรับอย่าง Vibram จะเป็นต้นเหตุ ในอดีตระยะทางการแข่งขันผมจำกัดอยู่ที่ 10K เท่านั้น และอยู่ในช่วงวัย 20 ปลาย ๆ ในขณะที่ในปัจจุบันการวิ่ง 10K ของผมไม่ถูกเรียกว่าวิ่งยาวอีกต่อไป ในขณะที่ผมอยู่ในวัย 40 ต้น ๆ ปัญหา ITBS ที่เคยเกิดกับผมด้วยสาเหตุการสึกของรองเท้า กลับมามีปัญหากับผมในช่วงนี้ (สงขลามาราธอน : Welcome to ITBS) แต่ยังไม่แน่ใจว่าเกิดจากอะไร รองเท้า Vibram ของผมมีการสึกในทิศทางที่น่าจะเป็นต้นเหตุของ ITBS ได้ อย่างไรก็ตามด้วยพื้นหนาเพียงสองมิลลิเมตร ไม่น่าจะทำให้เกิดการผิดรูปของการลงเท้าได้ ในขณะนี้ผมสันนิษฐานว่าเป็นที่ Biomechanics ของขาโก่งเล็ก ๆ ของผม รวมกับความอ่อนซ้อมของกล้ามเนื้อ support ทำให้การลงขาของผมผิดรูป ร่วมกับการ overstretch ของผมที่เกิดจากศักยภาพทาง aerobic ที่เพิ่มขึ้นจนเกิดความต้องการเร่งความเร็วเกินกว่าความแข็งแรงของกล้ามเนื้อจะรับได้ เรื่องนี้ยังคงต้องพิสูจน์กันต่อไป

แต่สิ่งแรกที่ผมตัดสินใจทดลองก่อนคือ การวิ่งเท้าเปล่า การวิ่งเท้าเปล่านั้นจะส่งเสริมให้เราโฟกัสเรื่องรูปแบบการวิ่งมากยิ่งขึ้นเนื่องการที่ต้องระวังในการลงเท้ามากเป็นพิเศษ ผมเองเคยทดสอบการวิ่งเท้าเปล่ามาเพียงหนึ่งครั้งในการซ้อมที่สวนลุมพินี ถนนเรียบเนียน ใช้เวลาประมาณ 15 นาที เท้าของผมรู้สึกแสบ ๆ เล็กน้อย แต่ไม่ได้มีปัญหาอะไรเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตามเนื่องจากการซ้อมของผมโดยปกตินั้นจะเป็นถนนหลวงที่เต็มไปด้วยเศษหิน กระจก ผมจึงไม่เคยคิดที่จะถอดรองเท้าวิ่งเพื่อซ้อม จะมีบ้างก็รอบ ๆ บ้านในช่วง WU/WD ระยะทางไม่เกิน 1 Kg ในขณะที่ผมเองเป็นคนที่ชอบถอดรองเท้าเป็นนิสัย ผมเองก็ถอดรองเท้าทำกิจกรรรมประจำวันของผมเมื่อทำได้ จนเป็นนิสัย ทำให้นิสัยการลงเท้าของผมค่อนข้างจะเน้นความปลอดภัยเป็นหลัก ไม่ลากเท้า ไม่ลงน้ำหนัก (ไม่เดินเสียงดัง) เพื่อหลีกเลี่ยงการเหยียบเศษกรวดเศษหิน แม้ว่าผมจะไม่ได้ซ้อมวิ่งเท้าเปล่า แต่ประสบการณ์เท้าเปล่าของผมเองนั้นมีมากกว่ามนุษย์ชนคนเมืองคนอื่น ๆ มากมายนัก ผมเชื่อเช่นนั้น

การแข่งขันแรกที่ผมตัดสินใจลองด้วยเท้าเปล่า เป็นการแข่งขันวิ่งวันมหิดลที่ มอ.หาดใหญ่ วันนั้นผมไปค้างบ้านเพื่อนที่นั่นเพื่อที่จะได้ทำงานในตอนเช้าวันรุ่งขึ้น ซึ่งบังเอิญว่าในวันรุ่งขึ้นนั้นเพื่อนของผมซึ่งอยู่ในกลุ่มผู้จัดวิ่งจำเป็นต้องเข้าร่วม ผมจึงถือโอกาสเข้าร่วมด้วยความไม่พร้อมเป็นที่สุด นั่นคือไม่มีชุดวิ่ง ไม่มีรองเท้า แต่ด้วยระยะทางเพียง 4K ผมคาดว่าด้วยเวลายี่สิบนาทีเศษ ไม่ต่างจากระยะทางที่เคยซ้อมที่สนามลุมฯมากนัก ผมไม่น่าจะเกิดปัญหาอะไร อย่างไรก็ตามผมก็ยังเลือกที่จะถือรองเท้าแตะคู่ใจวิ่งไปกับผมด้วย วิ่งวันนั้นผ่านไปได้อย่างดี ด้วยความฉงนสนเท่ห์จากเพื่อนร่วมวิ่งทั้งหมด ผมทำเวลาสบาย ๆ ที่ 23 นาที ไม่เร็วแต่ก็ไม่ช้านัก ความมั่นใจในการวิ่งเท้าเปล่าผมมีมากขึ้น วันนั้นผมไม่รู้สึกถึงอาการของ ITBS เลย แม้ว่าก่อนหน้านั้นผมไม่สามารถวิ่งได้เกิน 3Km ก่อนที่จะเริ่มเกิดปัญหา อย่างไรก็ตามในวันนั้นข้อพับนิ้วเท้าขวาประมาณนิ้วกลางก็เกิดอาการช้ำเลือดขึ้น คาดว่าเกิดจากการเหยียบก้อนหิน อาการช้ำนี้อยู่กับผมประมาณสองวัน แต่ไม่ได้ทำให้ต้องเดินกระเผลกหรืออย่างไร

ผมมีรายการสมุยมาราธอนที่วางแผนเอาไว้ว่าจะไปเข้าร่วม แต่เนื่องจากภาระงานที่อาจจะชนกัันจึงยังไม่แน่ใจนัก ร่วมกับอาการ ITBS ที่ยังไม่หายเท่าไร ระยะซ้อมผมยังไม่สามารถดันให้เกิน 5K ได้โดยไม่เกิดอาการเจ็บเข่า แต่ด้วยความบังเอิญว่าภาระงานของผมถูกยกเลิก ผมว่างขึ้นมาอย่างกระทันหัน บวกกับเพื่อนที่นัดไปด้วยกันนั้นยังไม่เคยไปสมุยมาก่อนเราจึงตัดสินใจ เข้าร่วมระยะทาง 10K ด้วยกันคนหนึ่งบาดเจ็บอีกคนหนึ่งอ่อนซ้อม แต่เช่นเดียวกันกับการแข่งขันอื่น ๆ ของผม Lifestyle Sport แบบนี้จะถูกพ่วงด้วยการปรนเปรอด้วยโรงแรมหรู ๆ อาหารอร่อย ๆ และการพาลูก ๆ เที่ยวสนุก ๆ สไตล์คนมีครอบครัว ก่อนวันแข่งขันผมยังไม่กล้าตัดสินใจเท่าไรว่าจะถอดรองเท้าวิ่งหรือไม่ ในใจผมคิดว่าน่าจะเอาอยู่แต่ผมก็ยังจัดรองเท้าไปด้วยจนถึงหน้างานวิ่งเลยทีเดียว

ผมตัดสินใจครั้งสุดท้ายเมื่อจอดรถก่อนเข้าไปที่เส้นสตาร์ท ผมเดินเท้าเปล่าเข้าไป และแล้วผมก็ต้องวิ่งในวันนี้เป็นระยะทางทั้งสิ้น 10.55k ด้วยเท้าเปล่า เพื่อนผมถามด้วยน้ำเสียงห่วง ๆ ว่าจะไหวเหรอ ไม่พองเหรอ ผมตอบว่าเจ็บเท้าน่ะ ผมไม่กลัวเท่าไรหรอก ผมกลัวเจ็บเข่ามากกว่า (ITBS จะทำให้งอเข่าไม่ได้เมื่อเกิดอาการ และการวิ่งหรือแม้กระทั่งเดินของคุณจะทรมาณมาก) ในใจผมคิดอย่างนั้นจริง ๆ เพราะคาดว่าแม้ว่าเท้าจะเจ็บ พองหรืออะไรก็ตามที่จะเกิดขึ้นได้นั้น ไม่น่าจะทำให้ผมเจ็บปวดได้มากเท่ากับ ​​ITBS ผมเองคาดหวังเล็ก ๆ ว่าจะเจอนักวิ่งเท้าเปล่าสักคนในงานนี้ เพราะเป็นสถานที่ท่องเที่ยว นักวิ่งเท้าเปล่าที่ผมเจอในเมืองไทยส่วนใหญ่จะเป็นชาวญี่ปุ่น ผมเจอทั้งในงานกรุงเทพมาราธอน และพัทยามาราธอน สมุยมาราธอนก็อาจจะมีปะปนอยู่บ้าง

เส้นทางวิ่งของสมุยมาราธอนสำหรับระยะ 10K นั้นยังอยู่บนถนนสายหลักที่เป็นคอนกรีต ปนกับถนนลาดยางช่วงสั้น ๆ ไม่น่าหนักในมากนักสำหรับการวิ่งเท้าเปล่าระยะทาง 10K ครั้งแรกของผม ผมตั้งใจออกวิ่งคู่ไปกับ โด่ง เพื่อนที่มาด้วยกัน เพราะรู้ดีว่าคราวนี้ผมไม่ต้องการทำความเร็วสูงมากนัก เนื่องจากข้อกังวลทั้งสองข้อคือ ITBS และ วิ่งเท้าเปล่า ระยะทางผ่านไปอย่างรวดเร็วไม่ทันจะตั้งตัวเราทั้งคู่ก็ถึงจุดกลับตัว ถนนที่ผ่านมาทั้งหมดผมได้สัมผัสมันมาก ๆ อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ช่วงที่ถนนไม่เรียบนัก ทำให้ช่วงที่ถนนเรียบมีความรู้สึกกับเท้าราวกับวิ่งอยู่บนพรม มีความกังวลเล็กน้อยบริเวณข้อพับของนิ้วนาง นิ้วก้อยของเท้าขวาของผม เพราะในครั้งที่ซ้อมวิ่งที่สวนลุมฯ ผมพบว่าจุดนี้เกิดการเสียดสีกับพื้นถนนมากกว่าที่คาดไว้ อย่างไรก็ตามอาการนี้ไม่เกิดขึ้น ยกเว้นบริเวณเท้าขวาด้านหน้่าที่ออกอาการร้อนนิด ๆ ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าเกิดจากอะไร ตลอดการวิ่งครั้งนี้ผมเน้นการซอยขาเป็นอย่างมาก การเร่งความเร็วเกิดจากการซอยขาทั้งสิ้น ไม่มีการ overstretch แม้แต่น้อย ผมเริ่มเห็นประโยชน์ของการไม่ใส่รองเท้าเสียแล้ว

เราวิ่งกันมาถึงระยะประมาณ 8K ยังไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นเลย มีนักวิ่งทักทายผมสองสามคน เกี่ยวกับการวิ่งเท้าเปล่า และแล้วสิ่งที่ไม่อยากให้เกิดก็เกิดขึ้นจนได้ อาการ ITBS เกิดขึ้นนิด ๆ แล้วที่ระยะนี้ ผมจึงชลอความเร็วลงเล็กน้อย พร้อม ๆ กับเพื่อนผมเริ่มบ่น ๆ ว่าเหนื่อยเพราะในช่วงแรกเขารู้สึกว่าเร่งเกินไปหน่อย ตอนนั้นเราเห็นป้าย 40K นั่นหมายความว่าเหลือเพียง 2.195K เท่านั้นจะถึงเส้นชัย ผมก้มลงมองนาฬิกาแล้วก็เปรย ๆ กับเพื่อนว่าเราน่าจะทำเวลาต่ำกว่าหนึ่งชั่วโมงได้นะ เราเร่งความเร็วขึ้นเล็กน้อย แม้ว่าอาการเจ็บเข่าของผมเริ่มปรากฏชัดขึ้นเรื่อย ๆ เราเร่งฝีเท้ากันได้สักพัก ทันใดนั้น ผมก็เห็นป้าย 2K ซึ่งบอกระยะทางที่ยังคงเหลือ แม่นแล้ว เจ้าป้ายบอกระยะมันไม่แม่นยำจริง ๆ ด้วย ในใจผมเริ่มคิดถึง Garmin 910XT ที่เคยคิดว่าจะถอยหลังจากแข่งขันพัทยามาราธอน ถ้ามีเจ้านี่ผมก็ไม่ต้องพึ่งพาป้ายบอกระยะอีกต่อไป เช่นเดียวกันกระเป๋าน้ำคาดเอว Nathan ที่ผมถอยมาสำหรับรับมือกับการแจกน้ำที่ไม่เป็นไปตามคำสัญญาของผู้จัดงาน

ผมมองดูนาฬิกาอีกครั้งก่อนที่จะบ่นกับเพื่อนผมว่าไม่ทันแล้วล่ะ คงต้องประมาณ ชั่วโมงสองนาที ไหวมั้ย เพียง 6 นาทีต่อกิโลเท่านั้น ที่เราต้องทำความเร็ว ในช่วง 700 เมตรสุดท้ายเป็นช่วงเวลาที่ผมเริ่มเครียดที่สุด ถนนเรียบลาดยางยาวไปจนถึงเส้นชัย ร่วมกับความเร็วที่กำหนดไว้ ทำให้ผมมีอาการ overstretch หลายครั้ง เมื่อร่วมกับ ITBS ทำให้อาการเจ็บเข่ารุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ผมเริ่มกลัวที่จะต้องหยุดเดิน แต่ในใจก็ยังอยากทำเวลาให้ได้ตามที่ตั้งใจ เกิดสงครามขึ้นในจิตใจของผม ด้วยระยะเท่านี้เท้าเปล่าของผมไม่ทำให้เกิดปัญหาใด ๆ เป็นอย่างแน่นอน มีแต่เข่าเท่านั้นที่อาจจะหยุดผมได้ แต่แล้วเส้นชัยก็ใกล้กว่าที่คิด เวลาที่เราทำได้ตามที่หวัง 1:02:04 ไม่เลวนัก เราเข้าไปรับน้ำ อาหาร นั่งทานกันสักพัก ก่อนที่จะขับรถกลับที่พัก ผมสบายใจประสบการณ์ใหม่นี้ น่าจะเป็นประโยชน์กับผมในอนาคต ผมสามารถวิ่งเท้าเปล่าได้เป็นระยะเวลา 1 ชั่วโมงสำเร็จแล้ว เป้าหมายต่อไปควรเป็นอะไร คราวนี้ขอรักษาเข่าก่อนก็แล้วกัน รายการต่อไปกรุงเทพมาราธอน อีกสองเดือนพักให้เต็มที่ แล้วค่อยมาดูกันว่าจะลองฮาร์ฟ หรือ 10K อีกสักครั้ง

40K at 40 in Vibram : Pattaya Marathon

ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2555 ที่่ผ่านมาผมได้มีโอกาสฉลองวันเกิดครบรอบ 40 ปี (12 วัน) ของผมด้วยการวิ่งมาราธอนแรกในชีวิตในรายการพัทยามาราธอนชิงถ้วยพระราชทาน หลังจากที่หยุดออกกำลังกายมากว่า 5 ปี เนื่องจากอาการบาดเจ็บหลัง พ่วงด้วยอาการเริ่มต้นของโรคกระดูกสันหลังเสื่อม ใบสั่งยาของหมอที่ให้เลิกทุกอย่างเหลือแต่ว่ายน้ำทำให้ผมไม่ได้ออกกำลังกายอีกเลยหลังจากวันที่พบหมอ แต่ด้วยสุขภาพที่ดูเหมือนจะเลวร้ายลงเรื่อย ๆ ผมจึงตัดสินใจที่จะรักษาตัวเองด้วยการออกกำลังกายอีกครั้งและทิ้งคำแนะนำของหมอไว้ที่โรงพยาบาล

ผมค้นหาเพื่อหาข้อมูลมากมายที่จะเชื่อมโยงการวิ่งกับอาการปวดหลัง ซึ่งไม่น่าเชื่อว่ามีข้อมูลมากมายที่แสดงถึงความเกี่ยวเนื่องของการปวดหลังและการวิ่ง แต่สิ่งที่ผมสนใจคือสำหรับคนที่ปวดหลังจะกลับมาวิ่งได้อย่างไร แล้วก็มาพบบทความในวารสารเนเจอร์ที่เกี่ยวกับแรงกระแทกที่เกิดจากการวิ่งเปรียบเทียบกันระหว่างการวิ่งเท้าเปล่า (ลงด้วยกลาง-ปลายเท้า) และรองเท้าวิ่ง (ลงด้วยส้นเท้า) การศึกษาพบว่าการลงส้นเท้าก่อให้เกิดแรงกระแทกสูงกว่าการลงด้วยกลาง-ปลายเท้า เมื่อมีการสอบถาม กูเกิ้ล เพิ่มเติมก็พบ รองเท้าห้านิ้วไวแบรม ที่โฆษณาว่ามีส่วนช่วยให้การวิ่งเป็นไปในรูปแบบการลงด้วยปลายเท้า ซึ่งในเวลานั้นมันคือสิ่งที่เรียกว่า minimalist shoes ที่กำลังได้รับความสนใจอยากล้นหลามในต่างประเทศ ผมจึงตัดสินใจสั่งซื้อในทันทีและเริ่มออกวิ่งด้วยรองเท้าแตะเพื่อทดสอบทฤษฎีดังกล่าวระหว่างที่ต้องรอรองเท้าที่จะต้องเดินทางมาจากอเมริกา

ผมลงแข่งขันระยะฮาร์ฟมาราธอนทันที่ภายหลังการซ้อมประมาณสองเดือนในรายการกรุงเทพมาราธอน ซึ่งผ่านได้ได้ด้วยดี แม้ว่าจะรู้สึกถึงความเมื่อยล้าที่เกิดขึ้นจากการใช้กล้ามเนื้อน่องมากกว่าท่าวิ่งที่ผมคุ้นเคย ผมร่วมแข่งรายการอื่น ๆ อีกหลายครั้งและในที่สุดตัดสินใจที่จะทดสอบทฤษฎีนี้ให้ถึงที่สุดก่อนที่จะถลำลงไปลึกกว่านี้แล้วเกิดผลเสียระยะยาวต่อช่วงล่าง (หลังและขา) ของผมทั้งหมด ผมคิดว่าระยะมาราธอนน่าจะเป็นตัวทดสอบที่ดีที่จะบอกถึงอันตรายของท่าวิ่งใหม่และรองเท้าในรูปแบบที่ไม่มีการรองรับเลย เมื่อกล้ามเนื้อทั้งหมดในร่างกายอ่อนล้า เมื่อระยะทางมันสูงเกินกว่าที่จะดัดจริตท่าวิ่ง เราจะมีเวลาช่วงใหญ่ ๆ ในการเรียนรู้สิ่งที่เกิดขึ้นจริง ๆ กับร่างกายของเรา

ในเวลานั้นผมเหลือเวลาในการซ้อมอีกเพียง 2 เดือนและย่างเข้าอายุ 40 ปีพอดี คิดดูแล้วมันช่างเหมาะเจาะจริง ๆ ผมเริ่มประกาศให้เพื่อน ๆ รับรู้ สร้างแรงกดดันไม่ให้ตัวเองหันหลังกลับ เมื่อรวบรวมความกล้าแล้วผมจึงเพิ่มระยะการซ้อมของผมในทันที 1 เดือนผ่านไประยะฮาร์ฟมาราธอนก็เริ่มเป็นระยะทางวิ่งยาวที่ไม่สร้างความกังวลให้ผมอีกต่อไป และเมื่อระยะเวลาเหลือเพียง 1 เดือน ผมจึงสมัครเข้าร่วมรายการ การซ้อม การแข่งขันครั้งนี้ จะเป็นดัชนีวัดที่ดีว่าการวิ่งด้วย minimalist shoes จะไม่ก่อผลเสียต่อผมในระยะยาวตามที่ตั้งสมมุติฐานเอาไว้ข้างต้น เนื่องจากระยะเวลาการซ้อมที่สั้น มาราธอนครั้งแรกในชีวิต อะไรที่เลวร้ายถ้ามันจะเกิด ก็จะแสดงตัวในคราวนี้อย่างแน่นอน

ผมเดินทางไปกรุงเทพฯ ล่วงหน้า 3 วันเพื่อทำงานเล็ก ๆ น้อย ๆ ก่อนที่จะเดินทางไปพัทยาล่วงหน้า 1 วันเพื่อลดความเครียดจากการเดินทาง เพียงหนึ่งวันก่อนเดินทางไปพัทยาก็ถูกขโมยขึ้นบ้านสูญเสียไปเกือบครึ่งล้าน แต่ผมลั่นวาจากับเจ้าหัวขโมยผ่านทาง Facebook ว่าสิ่งของต่าง ๆ เอาไปได้แต่สุขภาพที่ดีของผมไม่มีใครเอาไปได้ และไปเตรียมตัวที่พัทยาเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น บรรยากาศก่อนการแข่งขันดูน่าตื่นเต้น กระบวนการลงทะเบียนรับเบอร์วิ่ง เป็นไปอย่างรวดเร็ว และมืออาชีพตามที่หลาย ๆ คนได้ชมกันไว้ แม้ว่าหน้าตาของเวปดูไม่เป็นมืออาชีพเอาเสียเลย ผมทานอาหารเย็นเต็มที่ และไปซื้อของเตรียมเพื่อเป็นอาหารเช้า ผมกังวลเรื่องการเตรียมอาหารสำหรับมาราธอนแรกของผมเป็นที่สุด อาหารเย็นของผมเป็นสปาเกตตี้ชามใหญ่พร้อมกับแซนวิชก้อนโต ที่ทานแล้วไม่หมดจนต้องเหลือไว้เป็นอาหารเช้า

อาหารเช้าก็เตรียมกล้วยและนมถั่วเหลืองเพ่ิมเติม ในขณะที่เสบียงระหว่างวิ่งผมจัด Power Gel สองถุง และลูกพรุนไปอีก 10 เม็ดหลังจากพบว่าลูกพรุน 5 เม็ดให้พลังงานเทียบเท่า Power Gel 1 ถุง ผมพยายามรีบนอนให้ได้ก่อนสามทุ่มเพราะต้องตื่นมากินอาหารเช้าประมาณตีสองครึ่งเพื่อทิ้งระยะเวลาประมาณ 2 ชั่วโมงสำหรับการย่อยอาหารทันพอดีเวลาออกตัวตีสี่ครึ่ง (แต่ก็เสียว ๆ ว่าแซนวิชชิ้นโตที่เหลือจากมื้อเย็นอาจจะย่อยยากหน่อย) เพื่อลดความเสี่ยงเรื่องนอนไม่หลับผมจึงจัดให้เด็ก ๆ ไปนอนกับแม่ ๆ และพ่อ ๆ คือผมและโด่ง ที่มาวิ่งฮาร์ฟมาราธอนแรกของเขา นอนห้องเดียวกัน ผมหลับอย่างสนิทในขณะที่โด่งบ่นเรื่องเสียงเปิดปิดไฟที่ดังทั้งคืนทำให้เขานอนไม่ค่อยหลับ แต่เราทั้งสองคนก็รีบจัดการกับอาหารเช้า เพื่อที่จะได้มีระยะเวลาในการย่อยเพียงพอ

เราค่อย ๆ วิ่งเหยาะ ๆ ไปเป็นระยะทางประมาณ 1.5 Km เพื่อไปพบกับตุ้เพื่อนร่วมวิ่งมาราธอนกับผม (ตุ้วิ่งมาราธอนที่สองในรายการนี้) เริ่มสตาร์ทผมกับตุ๊วิ่งคู่กันไปด้วยความเร็วค่อนข้างดี สิบกิโลแรก 55 นาที และสิบกิโลที่สอง 58 นาที แม้ว่าในช่วงแรก ๆ ผมมีอาการอึดอัดและจุกเสียดเล็กน้อย อาจจะเป็นเพราะแซนวิชที่มีทั้งชีสและแฮมก้อนโต ผมคุยเล่น ๆ กันตุ๊ว่าถ้าเราคงความเร็วประมาณนี้ได้เราน่าจะทำเวลาประมาณสี่ชั่วโมงต้น ๆ ได้อย่างสบาย ๆ แต่หลังจากนั้นตุ๊ที่เพิ่งหายจากไข้ ซึ่งไอแค๊ก ๆ มาตลอดยี่สิบกิโล ก็เริ่มมีอาการเจ็บข้อเท้าและค่อย ๆ ชลอความเร็วลงปล่อยให้ผมล่วงหน้าไปก่อน ผมเริ่มกังวลเพราะช่วงเวลาต่อจากนี้เป็นระยะทางที่ผมเองไม่เคยสัมผัสมาก่อน ผมซ้อมวิ่งยาวที่สุดเพียง 25km เท่านั้น และก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ ช่วงระยะทาง 24-30km เป็นช่วงระยะทางแรกที่ผมต้องขุดลงไปหากำลังใจจากข้างใน นี่เป็นระยะที่ผ่านการกลับตัวมาแล้ว ผมจำตำแหน่งของป้ายบอกระยะ 24, 26, 28, และ 30 ​km ได้ดี และผมค่อย ๆ เตรียมใจในการก้าวขาไปทีละสองกิโลเมตร เมื่อไม่มีเพื่อนว่ิงเวลาของผมตกลงไปอย่างมาก ดูเหมือนว่าแต่ละระยะสองกิโลมันผ่านไปอย่างเชื่องช้า สิบกิโลที่สาม ผมใช้เวลาไปประมาณ 1 ชั่วโมงกับอีก 10 นาที เวลาที่เตรียมเก็บไว้หายหมดไปอย่างรวดเร็ว ณ เวลานี้ถ้าต้องการสี่ชั่วโมงต้น ๆ ก็ต้องคงความเร็วเอาไว้ให้ได้ ช้ากว่านี้ไม่ได้แล้ว

โชคดีที่ระยะสามสิบกิโลเมตร เป็นจุดที่ผมมาร์คไว้ในใจ เป็นจุดหมายทางจิตวิทยาที่บ่งบอกถึงการก้าวข้ามผ่านสู่เป้าหมายที่ใกล้เข้ามาทุกที จิดใจผมดีขึ้นเล็กน้อย ผมผ่านการทดสอบมาได้ 3/4 ของเส้นทางแล้ว แม้ว่าร่างกายตอนนี้เริ่มไม่ค่อยอยากจะเร่งความเร็วอีกต่อไป ผมพยายามกัดฟันวิ่งต่อไปเรื่อย ๆ เพราะไม่อยากที่จะให้การวิ่งมาราธอนแรกของผมกลายเป็นเดินมาราธอน ผมแบ่งเสบียงอาหารของผมเป็นระยะ ๆ ซึ่ง Power Gel ทั้ง 2 ถุงนั้นผมใช้ไปในยี่สิบกิโลแรกเรียบร้อยแล้ว ในระยะสามสิบกิโลนี้ผมเริ่มใช้พลังลูกพรุน ซึ่งก็ไม่น่าผิดหวังมากนัก ผมยังพอมีแรงไปต่อแต่ทันทีที่ผมแตะระยะทาง 34 กิโลเมตร ผมก็เกิดอาการเจ็บแปลบขึ้นที่ต้นคอ ผมรีบสำรวจอาการอื่น ๆ ของร่างกายทันที จุดสำคัญต่าง ๆ ที่เคยบาดเจ็บ ไล่ไปตั้งแต่หลังส่วนล่างที่มีอาการกระดูกเสื่อม ข้อเข่าที่เคยมีอาการเล็กน้อยระหว่างการแข่งขันกรุงเทพฯมาราธอนเมื่อต้นปี ข้อเท้าที่ออกอาการในระยะกิโลเมตรสุดท้ายของการแข่งขันสมุยไตรกีฬา และฝ่าเท้าที่มีอาการเจ็บเล็กน้อยระหว่างการซ้อม

ระหว่างการไล่ตามจุดต่าง ๆ ก็ทำให้ผมตระหนักว่า นี่เราอยู่ที่ระยะประมาณ 35 กิโลเมตรเข้าไปแล้ว แม้ว่าความเร็วผมจะตกลงจากต่ำกว่า 6 นาทีต่อกิโลเมตรกลายไปเป็น 8 นาทีต่อกิโลเมตรมาได้สักพักแล้ว แต่ยังไม่มีอาการเจ็บเล็กน้อยอื่น ๆ ให้เห็นเลย ซึ่งแสดงว่าการวิ่งปลายเท้าด้วยไวแบรม ไม่ใช่เพียงแต่ทำให้ผมกลับมาวิ่งได้ แต่ยังทำให้ผมทะลุระยะทางที่ผมไม่เคยทำมาก่อนแบบไม่มีอาการบาดเจ็บเลยแม้แต่น้อย ผมสรุปด้วยตัวเองว่าอาการเจ็บแปลบที่ต้นคอน่าจะเกิดจากอาการเกร็งเนื่องจากผมใช้พลังทุกอย่างในการขุดทุก ๆ สิ่งออกมาเพื่อก้าวต่อไปข้างหน้า ผมจึงพยายามผ่อนคลายแล้ววิ่งต่อไป จริงอย่างที่คิดอาการเจ็บต้นคอค่อย ๆ จางหายไปในระยะเวลาไม่ช้า ในระยะนี้ผมเริ่มใช้จุดให้น้ำอย่างฟุ่มเฟือย จากที่เคยใช้จุดให้น้ำเป็นจุดผ่อนคลายทางจิตใจ วิ่งโฉบเข้าไปเก็บน้ำและฟองน้ำ จิบเล็กน้อย ล้างหน้าเล็กน้อย แต่ที่ระยะนี้ผมเริ่มเดินเข้า เดินออกจากจุดให้น้ำเป็นระยะทางที่ไกลขึ้นทุกที ๆ

และแล้วสิ่งที่ผมไม่อยากให้เกิดขึ้นก็เกิดกับผม ที่ระยะประมาณ 36.5 Km ผมรู้สึกวิงเวียนเล็กน้อย และมีความรู้สึกว่าผมต้องใช้ความพยายามมากผิดปกติในการที่จะต้องวิ่งให้เป็นเส้นตรง ผมเดาเอาว่าร่างกายผมกำลังขาดน้ำหรือสารอาหารบางอย่าง ผมชลอความเร็วลงจนในที่สุดกลายเป็นเดิน และหลังจากนั้นผมวิ่งไม่ออกอีกเลย เพราะจะเกิดอาการไปไม่เป็นเสียอย่างนั้น ผมกลัวที่จะต้องออกจากการแข่งขันและไม่จบมาราธอนแรกของผม มันคงจะเป็นฝันร้ายที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ผมจึงเลือกที่จะเดินช้า ๆ หยิบลูกพรุนขึ้นมากิน ในใจคิดว่าเราจะสิ้นสุดที่ระยะนี้จริง ๆ หรือ เสียงในหูแว่วมาจากคำพูดคุยกับเจ้าของร้าน Bike Zone เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาก็ดังขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ “I hit the wall at 32nd km in my first marathon” ผมเริ่มตกใจ นี่หรือที่เขาเรียกว่า Hit The Wall ของจริง มันเกิดกับผมที่ 37km จริงหรือ แล้วผมจะทำอย่างไรต่อไป แต่แล้วลูกพรุนที่มีความชุ่มฉ่ำเรียกร้องให้ผมหยิบลูกแล้วลูกเล่า เดินไปคิดไป ตรวจสอบร่างกาย ความรู้สึก และแล้ว ป้ายบอกระยะทางซึ่งในเวลานี้เปลี่ยนเป็นบอกระยะทางที่เหลือ 4km

ผมเหลือบดูนาฬิกา ผมใช้เวลาไปสี่ชั่วโมงเศษ ๆ แล้ว ในใจผมเริ่มคิดถึงเรื่องอื่นแล้ว ผมเริ่มมองเห็นความหวัง เริ่มมองเห็นเส้นชัย ผมนัดครอบครัวของผมไว้ว่า ผมน่าจะเข้าเส้นชัยในช่วงสี่ชั่วโมงถึงสี่ชั่วโมงครึ่ง หรือเต็มที่ก็ไม่น่าจะเกินห้าชั่วโมง ผมเริ่มคิดว่าในเวลานี้พวกเขาน่าจะเริ่มมารอบริเวณเส้นชัยกันแล้ว ผมใช้พลังสมองที่มีเหลือเพียงน้อยนิดจากการทุ่มเทพลังงานทั้งหมดในการเคลื่อนตัวไปข้างหน้าเพื่อคำนวณความเร็วของผมในปัจจุบันซึ่งตอนนี้ก้าวเลยไปเป็นแปดนาทีกว่า ๆ ต่อกิโลเมตรแล้ว (ถ้าผมยังวิ่งอยู่) แต่ถ้าผมเดินผมต้องใช้เวลาเกินห้าชั่วโมงเป็นแน่ ผมจึงตัดสินใจใช้พลังจิตพลังใจทั้งหมดที่มีออกวิ่งอีกครั้งด้วยความเร็วที่เต่ายังอาย สังเกตุจากทุก ๆ คนวิ่งแซงผมได้เพียงแค่พวกเขาเลือกที่จะวิ่ง แต่แล้วผมก็จะวิ่งแซงกลับได้ทุกครั้งที่เขาเหล่านั้นพักเดินอีกครั้ง มันเป็นแผนมาตรฐานที่เพื่อนผมชื่อต่อสอนไว้ นั่นคือการใช้กลยุทธิ์เดินสลับวิ่ง แต่ดูเหมือนว่ามันจะใช้ได้ไม่ดีสำหรับผม ผมจึงวางแผนสำหรับสี่กิโลสุดท้ายว่าผมจะวิ่งตลอดเวลาแม้ว่าจะช้าแค่ไหนก็ตามแล้วผมก็วิ่งไปเรื่อย ๆ

ในระยะ 2 กิโลเมตรสุดท้ายที่เริ่มเลี้ยวเข้าเส้นถนนคนเดินเป็นช่วงเวลาที่เหงาอย่างมากมาย นักวิ่งแต่ละคนอยู่ห่างกันมากจนเหมือนผมดูเหมือนเป็นคนบ้าวิ่งอย่างทรมานอยู่คนเดียวในอากาศที่ร้อนระอุของวันนั้น และแล้วกลยุทธของผมก็เริ่มได้ผล ผมวิ่งช้า ๆ ไม่หยุดและสามารถแซงหลาย ๆ คนที่เคยวิ่งแซงผมไปเพราะเขาเหล่านั้นแทบจะเปลี่ยนเป็นการเดินไปกันหมดแล้วจากการที่แพ้ใจตัวเองในช่วงสลับเดิน แต่ละก้าวของสองกิโลเมตรสุดท้ายมันช่างยาวนานเชื่องช้า และยากลำบาก ป้าย 500 เมตรสุดท้ายไม่ทำให้มีกำลังใจเพิ่มขึ้นมากนักเมื่อมองด้วยสายตาแล้วเซ็นทรัลเฟสติวัลพัทยาซึ่งเป็นเส้นชัยไม่ยังดูสุดลูกหูลูกตาเสียเหลือเกิน แต่แล้วในที่สุด 200 เมตรสุดท้ายคืบเข้ามาราวกับว่าผมเป็นหอยทากออกมาเดินจ่ายตลาด แต่ผมรู้ว่าทุก ๆ คนรอผมอยู่ในระยะอีกไม่กี่ก้าวผมคงเจอกับพวกเขา กัดฟันต่อไป ผมยกมือขึ้นชูนิ้วโป้งให้กับช่างถ่ายภาพที่รอถ่ายในบริเวณใกล้เส้นชัย

ในที่สุดผมก็ได้ยินเสียงที่คุ้นเคย ลูก ๆ ครอบครัว และเพื่อน ๆ เริ่มส่งเสียงเชียร์ ช่วงสุดท้ายแล้วผมคิดในใจ ผมเริ่มสามารถเร่งความเร็วขึ้นได้เล็กน้อย แม้ว่ามันจะไม่ช่วยเรื่องเวลากับผมอีกแล้วแต่มันก็ทำให้รู้สึกดีที่เราวิ่งแทบทั้งระยะมาราธอนและที่สำคัญเราวิ่งเข้าเส้นชัย แม้ว่ามีการเดินในช่วงกิโลเมตรที่ 37 แต่ก็เป็นระยะทางไม่น่าจะเกิน 1Km เพียงเท่านั้น ลูกชายผมวิ่งเข้ามาหาตามที่นัดกันไว้ แต่ไม่ยอมวิ่งเข้าเส้นชัยกับผม ไม่เป็นไรค่อย ๆ ฝึกกันไปคราวหน้าผมจะพาเขาวิ่งเข้าเส้นชัยพร้อมผมให้ได้ จากที่เคยคิดว่าเมื่อถึงเส้นชัยจะล้มตัวลงนอนแล้วให้ใครก็ได้มาแบกไปปฐมพยาบาล นวด แต่ด้วยความกลัวว่ากองเชียร์จะเข้าใจผิดว่าเป็นลม จึงแข็งใจเดินไปบริเวณให้น้ำ ก่อนที่อำนวยเพื่อนของผมที่มาร่วมวิ่งระยะฮาร์ฟมาราธอนในวันนี้จะเอาเกเตอร์เรทมาให้ถึงมือ ช่วยอาสาเดินไปบอกครอบครัวผมว่าผมกำลังจะคลานไปนวด

คลิปลูกชายวิ่งมารับคุณพ่อ

ผมใช้เวลานวด และนั่งพักหลังเต้นท์นวดอยู่นานเพื่อรอตุ๊ (จริง ๆ แล้วไม่สามารถลุกเดินไปไหนได้อีก) แต่แล้วด้วยความที่ลูก ๆ เริ่มงอแงเราจึงต้องเดินทางกลับก่อนที่ตุ๊จะเข้าเส้นชัย น่าเสียดายคราวนี้เลยไม่ได้ถ่ายรูปหมู่กับเพื่อน ๆ กันเลย งานนี้จริง ๆ แล้วมีเพื่อนมาเยอะเลยทีเดียว ผม โด่ง และหมอนก ที่มาวิ่งฮาร์ฟมาราธอนกับโด่ง และครอบครัวของพวกเราก็เดินกลับที่พักที่อยู่ไม่ไกล ในระหว่างนั้นอำนวยก็โพสรูปตุ๊เข้าเส้นชัย แล้วบอกว่าเรานั้นพลาดไปแป๊บเดียวเท่านั้น

สรุปว่าในวันนี้ผมได้เรียนรู้หลายอย่าง ทดสอบหลายอย่างกับจิตใจ ร่างกายของผม ในที่สุดผมก็สามารถพูดได้ว่า “I’m a marathon man” ด้วยเวลา 4 ชั่วโมง 50 นาที ผมแอบภูมิใจเล็ก ๆ กลับห้องพักไปอาบน้ำ นอนพักเล็กน้อย ทานอาหารเที่ยง นอนพัก แน่นอนว่าผมวางแผนพักต่ออีกหนึ่งคืน กับความรู้สึกอิ่มเอม ในที่สุดผมก็พิสูจน์แล้วว่าผมทำได้ และผมจะทำอะไรก็ได้ เราเป็นเจ้านายของร่างกายเราเอง เจอกันในสนามต่อไปครับ แล้วอย่าลืมทักทายกันบ้าง