ผมได้รู้จักกีฬาปีนเขาอย่างจริง ๆ จัง ๆ เมื่ออาการของกระดูกสันหลังเสื่อมเริ่มปรากฏชัด เมื่ออาการบาดเจ็บรุนแรงจนการวิ่งเป็นการทรมานร่างกายจนสุดจะเกินทน ผมตัดสินใจเลิกเล่นไตรกีฬา และพยายาสรรหากีฬาประเภทอื่นเพื่อทดแทน หนึ่งในนั้นคือ กีฬาปีนเขา ซึ่งเป็นกีฬาที่ผมมีโอกาสได้ลองมาบ้่างแล้ว แต่ด้วยความที่ยังค่อนข้างเป็นกีฬาใหม่ในขณะนั้น จึงหาสถานที่เพื่อที่จะเล่นได้ยากมาก ผมจึงเล่นไตรกีฬามาโดยตลอด เมื่อโอกาสมาเช่นนี้ผมจึงพยายามจัดหาเวลาที่จะไปร่ำเรียนอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ณ สวนสวรรค์ที่นักปีนเขาทั่วโลกฝันว่าจะได้มาเยือนเพียงครั้งหนึ่งในชีวิต ไร่เลย์ กระบี่ บ้านเรานี่เอง
กีฬาปีนเขา เกิดมากว่าหลายสิบปีแล้ว แต่ก็ยังถือว่าเป็นกีฬาที่ค่อนข้างใหม่ คนเริ่มรู้จักกีฬาปีนเขามากขึ้นในฐานะกีฬาที่บรรจุอยู่ใน X-Games แต่ภาพของกีฬาปีนเขาผ่านทางสื่อต่าง ๆ เช่น มนุษย์แมงมุมที่เที่ยวปีนตึกไปทั่วโลก ทอม ครูซ ที่ปีนเขาอย่างท้าทายในภาพยนต์ Mission Impossible หรือข่าวการเสียชีวิตของนักปีนเขาบางครั้งบางคราวที่ถูกนำเสนอเสียจนสร้างให้เห็นว่ากีฬาปีนเขาเป็นกีฬาเสียงอันตราย แต่ในความเป็นจริงแล้ว กีฬาปีนเขา นั้นปลอดภัยกว่าการปั่นจักรยานบนท้องถนนแม้ว่าจะมีความเชี่ยวชาญมากเสียอีก
กีฬาปีนเขาอาจจะแบ่งออกเป็นลักษณะย่อย ๆ ได้สามประเภท คือ
1. Free Climb บางครั้งเรียก Solo Climb หรือการปีนโดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกัน ซึ่งเคยได้รับความนิยมสำหรับนักปีนเขาชั้นนำในอดีต ซึ่งความผิดพลาดเพียงเล็กน้อยส่งผลต่อชีวิต ปกติแล้วการทำ Solo Climb นักปีนจะเลือกปีนเส้นทางที่ง่ายกว่าระดับความสามารถของตัวเองเพื่อความปลอดภัย อย่างไรก็ตาม ความบ้าบิ่นของนักกีฬาบางคน รวมไปถึงการสร้างแบบอย่างที่เสี่ยงตายแบบนี้ ในปัจจุบันไม่ได้รับการยอมรับมากนักในหมู่นักปีนเขา เนื่องจากถือว่าเป็นการสร้าง Bad Publicity ให้กับกีฬา การปีนแบบโซโลในปัจจุบันจึงค่อยๆ กลายมาเป็นการปีนที่เรียกว่า Deep Water Soloing ซึ่งออกไปปีนในทะเล เมื่อตกก็หล่นลงน้ำ หรือ Bouldering ซึ่งเป็นการปีนที่เน้นเทคนิคการปีนเป็นหลัก ไม่พูดถึงความสูง ปีนบนก้อนหินใหญ่ ๆ หรือเฉพาะบางช่วงของหน้าผา ในระยะที่ตกแบบไม่อันตรายมากนัก (แต่ก็จะมีเพื่อนคอยระวังภัยให้ในขณะปีน) ซึ่งลักษณะการปีนในสองรูปแบบหลังนี้เป็นที่นิยม และได้รับการยอมรับมากขึ้น (คลิปของนักปีนเขาโซโลชื่อดัง)
2. Traditional Climb ซึ่งเป็นการปีนโดยให้ระบบป้องกันภัย โดยนักปีนเขาจะต้องค่อย ๆ ปีนและติดตั้งระบบป้องกันภัยนี้ขึ้นไปเรื่อย ๆ ตามเส้นทางที่ปีน การปีนแบบนี้ ต้องใช้ความรู้ความรู้ความเชี่ยวชาญสูง นอกเหนือจากความสามารถในการปีนเขาแล้ว ความรู้เกี่ยวกับตำแหน่งการติดตั้งจุดป้องกันอันตรายต่าง ๆ รวมไปถึงวิธีการติดตั้ง ชนิดของอุปกรณ์ที่เหมาะสม เป็นทักษะที่สำคัญมากเท่า ๆ กับทักษะการปีน หรืออาจจะมากว่าเสียด้วยซ้ำ (คลิปที่อธิบาย traditional climb) การปีนประเภทนี้โดยทั่วไปแล้วนักปีนจะปีนในระดับที่ง่ายกว่าฝีมือตัวเองเล็กน้อยเช่นกัน เนื่องจากระบบป้องกันภัยที่ต้องเตรียมขึ้นนั้นผู้ปีนต้องเตรียมเองทั้งส่วนที่ยึดเข้ากับหน้าผา และส่วนที่ยึดกัับตัวนักปีนเอง (Quick draw)
3. Sport Climb เป็นการปีนที่ใช้ระบบป้องกันภัยเช่นเดียวกันกับแบบ traditional climb เพียงแต่ว่า ส่วนที่ติดกับหน้าผานั้นจะถูกเตรียมไว้อย่างถาวร นักปีนเพียงแต่ติดตั้งส่วนที่ยืดติดกับตัวนักปีนตามเส้นทางปีนที่ถูกเตรียมไว้ให้แล้ว โดยนักปีนรุ่นพี่ที่ฝีมือดีและต้องการสร้างเส้นทางต่าง ๆ เหล่านี้ให้นักปีนรุ่นหลังได้สัมผัสโดยทั่วถึงกัน การถือกำเนิดของ sport climb ทำให้กีฬาชนิดนี้แพร่หลายได้มากขึ้น เนื่องจากนักปีนฝีมือใหม่สามารถเข้าถึงจุดปีนต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ด้วยระบบเดียวกันนี้ทำให้สามารถ นำไปติดตั้งในพื้นที่ต่าง ๆ โดยใช้ระบบตัวยึดลักษณะเดียวกันกับหน้าผาจริง แต่เพิ่มเติม ตัวยึดจับสำหรับปีน เท่านี้เราาก็จะได้สิ่งที่เรียกว่าหน้าผาจำลอง เท่านี้กีฬาปีนเขาก็แพร่หลายเข้าสู่เมือง และผู้คนในกลุ่มใหญ่ได้ (คลิป urban climb แสดงให้เห็น sport climb ในสถานที่ด่าง ๆ )
ผมเองก็เป็นอีกคนที่มีโอกาสทำความรู้จักกีฬาปีนเขาผ่านรูปแบบที่เรียกว่า sport climb ครั้งแรกประมาณยี่สิบปีที่แล้วที่เมือง Rochester รัฐ New York ในรูปแบบของหน้าผาจำลอง ภายในมหาวิทยาลัยที่ไปเรียน หลังจากนั้นก็ไม่มีโอกาสได้เล่นอีกเลย จนกระทั่งมาค้นพบกีฬาประเภทเดียวกันนี้ที่ไร่เลย์เมื่อเรียนจบ จนในที่สุดได้ตัดสินใจไปเรียน course 3 วัน ที่ไร่เลย์ เพื่อจะเรียนรู้สิ่งที่เรียกว่า lead climb, rope control, multi-pitch climb และอื่น ๆ ที่จำเป็นสำหรับการเล่นกีฬา Sport Climb ได้อย่างสนุกสนาน
ไร่เลย์เปรียบเสมือนเมืองในฝันของนักปีนเขาทั่วโลก ทะเลอันดามันสีมรกต พร้อมกับหน้าผาหินปูน ที่เต็มไปด้วยเส้นทางปีนเขา กว่าสองร้อยเส้นทาง ขนาดว่านักปีนขั้นนำ สามารถใช้ชีวิตที่ได้นักเป็นปีได้ กว่าที่จะได้สัมผัสครบทุกเส้นทางที่ไร่เลย์มีไว้ให้ และมีนักปีนเขาหลายต่อหลายคนมาใช้ชีวิตวนเวียนกลับไปมาเช่นนี้หลายต่อหลายคน หลังจากที่เรียนจบ course 3 วัน ผมเองก็แทบจะใช้ชีวิตแบบนั้นอยู่เหมือนกัน ที่จะขับรถไปในวันพฤหัสแล้วกลับวันอาทิตย์ บางครั้งก็กระฉอกไปวันอังคาร กีฬาประเภทนี้มันมีเสน่ห์น่าหลงไหลเสียจริง ๆ
Sport Climb ใช้จุดยึดบนหน้าผาที่เรียกว่า Bolt ที่ทำจากไททาเนียมฝังบนผาด้วยกาวพลังสูง หรือการฝังด้วยน๊อตประเภทอื่น หรืออาจจะเป็น sling ซึ่งหมายถึงเชือกที่ผู้อยู่กับร่องรูตามธรรมชาติของหน้าผา นักปีนผาปีนขึ้นไปพร้อมกับเชือกผูกกับกางเกงพิเศษที่เรียกกันว่า harnesses เพื่อจะดึงเอาระบบความปลอดภัยส่วนตัวตามไปด้วย เมื่อปีนไปถึง bolt ก็ใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า Quick Draw ซึ่งประกอบไปด้วย Calabriner เชื่อมกันไว้ด้วย sling คลิปด้านหนึ่งเข้า bolt บนหน้าผา อีกด้านหนึ่งคลิปเข้ากับบเชือกที่ตัวเองลากขึ้นมาด้วย เพื่อที่จะสร้างระบบรอกความปลอดภัยกับคู่ปีนที่ เฝ้ามองความปลอดภัยนี้อยู้่เบื้องล่างและเป็นผู้ควบคุมระบบเชือกเส้นนี้ ตำแหน่งที่เรียกว่า belayer นี้เป็นตำแหน่งที่สำคัญที่สุดในขั้นตอนการปีนผาแบบนี้ belayer ที่มีความใส่ใจจะสร้างให้กีฬานี้เป็นกีฬาที่ปลอดภัยมากกว่าการปั่นจักรยานทุกประเภทเป็นไหน ๆ
เมื่อนักปีนที่ปีนคนแรกนี้ปีนไปจนถึงสุดเส้นทางที่ออกแบบไว้ ก็จะเจอกับจุดที่เรียกกันว่า Anchor ซึ่งส่วนใหญ่จะประกอบด้วยห่วงโลหะใหญ่ ๆ ยึดอยู่กับ sling ยาว ๆ ล๊อคกับหน้าผาอย่างน้อย ๆ สามจุด ซึ่งเราจะใช้ห่วงนี้ในการร้อยเชือกที่เราลากขึ้นมา เป็นเสมือนรอกเพื่อใช้ในการโรยตัวลงไปสู่พื้น ในขณะที่ค่อย ๆ เก็บ Quick Draw ที่เราทิ้งไว้ตามเส้นทางปีน ก่อนที่จะใช้ระบบรอกดังกล่าวนี้ ในการปีนบนเส้นทางเดิมอีกครั้งถ้าต้องการ แต่ครั้งหลังนี้ไม่มีความจะเป็นต้องมีการลากเชือกขึ้นไป หรือ คลิปตัวเองเข้ากับหน้าผาอีกแล้ว เพราะระบบความปลอดภัยถูกสร้างไว้แล้วด้วยระบบรอกที่ว่า นักปีนที่ปีนคนแรกเพื่อไปสร้างระบบรอกเราเรียกว่า Lead Climber ส่วนการปีนภายหลังที่มีการสร้างระบบรอกไว้แล้ว เราเรียกมันว่า Top Rope Climb การ lead climb ก็จะยากกว่า top rope เล็กน้อย เนื่องจากความตื่นเต้น และจังหวะในการคลิปเชือกบางครั้งจำเป็นต้องใช้ทักษะในการทรงตัวอยู่บ้าง ในขณะที่ top rope นั้นคนปีนมีหน้าที่ปีนอย่างเดียว ระยะตกเป็นศูนย์ ในขณะที่ระยะตกของ lead climber จะประมาณ 1-2 เมตร ไม่สูงมากนักแต่สร้างความเสียวได้มากเลยทีเดียว
การปีนเขาสำหรับมือใหม่ มันเป็นกีฬาที่ทดสอบจิตใจและพละกำลังของร่างกาย แต่เมื่อคุ้นเคยกับมันมากขึ้นมันก็จะกลายเป็นเรื่องของเทคนิค การทรงตัว และการควบคุมภาวะจิตใจ ความสนุกของการปีนเขาอยู่ที่การแก้ปัญหาที่เส้นทางนั้น ๆ สร้างไว้ คล้าย ๆ กับการต่อ Jigsaw หรือเล่น Puzzle ในขณะที่ยังเป็นการออกกำลังกายกล้ามเนื้อและ cardio ได้ดีระดับหนึ่ง ด้วยความคลั่งไคล้กีฬาปีนเขาจากไร่เลย์ ทำให้ผมสรรหาสถานที่ฝึกซ้อมที่เป็นไปได้ ซึ่งก็พบว่าในพื้นที่ กรุงเทพนั้นก็มีหน้าผาเทียมอยู่จำนวนมากเลยทีเดียว ผมเองเคยได้ไปสัมผัสมาแล้วเกือบทุกที่ อย่างไรก็ตามบรรยากาศการปีนเขาจริงที่ไร่เลย์ กับการปีนเขาเทียมในกรุงเทพนั้นค่อนข้างจะแตกต่างกันอยู่มาก
ผู้คนที่ปีนผาเทียมในกรุงเทพนั้นค่อนข้างจะจริงจังก้บกีฬาเป็นอย่างมาก และโดยส่วนใหญ่จะค่อนข้างปิดตัวและไม่ค่อยจะต้อนรับผู้มาใหม่มากนัก ผิดกับบริเวณไร่เลย์ ที่กีฬาปีนเขาเป็นเหมือนกิจกรรมร่วมสนุกกันของเหล่าชาวเลย์ มีความเป็นเพื่อน ความสนุกสนานปะปนอยู่มากกว่า อย่างไรก็ตามผมอาจจะไม่ได้มีเวลาที่จะกลับไปที่ผาเทียมแต่ละแห่งบ่อยเพียงพอที่จะทำความรู้จักใคร การกล่าวเช่นนี้อาจจะไม่ค่อยแฟร์นัก ในขณะที่ผมไปไร่เลย์บ่อยครั้งจนทำความรู้จักคนในพื้นที่ไว้ได้หลายคน
อย่างไรก็ตามในขณะที่การปีนผาจำลองนั้น จะเป็นการออกกำลังกายที่สนุกสนาน แต่ด้วยความเป็นของจำลองในพื้นที่ไม่กว้างใหญ่มากนัก บรรยากาศเต็มที่ก็ให้กับเราได้เพียงการออกกำลังกายที่สะใจ ได้เหงื่อ เมื่อเทียบกับการปีนเขาจริงนั้น บรรยากาศ วิว ทิวทัศน์ มันเป็นกีฬา ที่พ่วงกับการพักผ่อนหย่อนใจได้ดีที่สุดรูปแบบหนึ่งที่ยากจะหากีฬาประเภทอื่นมาเทียบเคียง