ปรุงชีวิต :ปัจฉิมกถา

หากจะเปรียบเทียบชีวิตของอ.อาร์ม เป็นเมนูอาหาร ชีวิตอาจารย์น่าจะเป็นอาหารจานเดียว ที่มีครบรสชาติ สีสัน และสารอาหาร อาจจะเป็นสลัดเนื้อย่าง ข้าวยำไข่ต้ม หรือนาซิดาแก ชีวิตของอาจารย์ไม่แยกจานหรือสำรับ ไม่มีถ้วยน้ำแกง น้ำซุป หรือซอสมะเขือเทศ ที่แยกภาชนะโดดเดี่ยว แต่ทุกภาคส่วนในชีวิตถูก “ปรุง” ให้กลายเป็นจานเฉพาะของตัวเอง และเชื่อมโยงกับปัจจัยอื่น ๆ ของชีวิตอีกด้วย

การทำงานประจำด้วยการเป็นอาจารย์และนักวิจัยคิดค้นด้านนวัตกรรมยางพารา เป็นส่วนเสริมของกันและกันกับงานธุรกิจของครอบครัวที่คิดค้นและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่นอนจากยางพารารายแรกในประเทศไทย นอกจากนี้ อาจารย์เป็นนักกีฬาประเภทไตรกีฬาที่ได้เชื่อมโยงชีวิตครอบครัวที่มีภรรยาและลูก ๆ อีกสามชีวิต เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการซ้อมและการแข่งขัน จนกีฬาเหล่านี้ทั้งวิ่ง ปั่นจักรยาน และว่ายน้ำกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมครอบครัวได้อย่างกลมกลืน

กิจกรรมล่าสุดที่อาจารย์ได้เป็นทั้งผู้ริเริ่มผลักดันและลงมือทำกิจกรรมนั้นอย่างจริงจังสม่ำเสมอในตอนนี้คือ กิจกรรม Pattani Trash Hero ซึ่งเป็นกิจกรรมเพื่อบ้านเกิดจากสองมือเปล่าของกลุ่มคนที่จะช่วยกันเก็บกวาดขยะในบ้านของเราให้หมดไป โดยเน้นพื้นที่ไปที่ชายหาดในอำเภอยะหริ่ง กิจกรรมริเริ่มมาจาก Trash Hero ของชาวต่างประเทศในพื้นที่ฝั่งอันดามัน กิจกรรมนี้ก็เชื่อมโยงไปสู่การนำเอาขยะจากทะเลจำนวนหนึ่งกลับมาผ่านกระบวนการผลิตเป็นรองเท้าที่ชื่อว่า “ทะเลจร” ที่ได้สร้างแรงสะเทือนการรับรู้ไปในวงกว้างมากขึ้นเรื่อย ๆ ในหมู่นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทั้งภายในและต่างประเทศ

ในทุก ๆ สถานะและทุก ๆ กิจกรรมที่ทำ อาจารย์อาร์มได้ย้ำเสมอถึงจุดสำคัญของการลงมือทำอย่างสม่ำเสมอ จะเล็กจะใหญ่ จะมากจะน้อย ไม่ใช่เป็นสิ่งที่สำคัญไปกว่า “ความสม่ำเสมอ”

ข้างต้น เป็นคำกล่าวแนะนำองค์ปาฐกที่คณบดีคณะวิทยาการสื่อสารได้กรุณาเรียบเรียง ในวันที่เชิญผมไปพูดคุยให้กับนักศึกษาที่กำลังจบการศึกษา แม้ว่าการพูดคุยไม่ใช่เรื่องที่ยุ่งยากนักสำหรับผม แต่การปาฐกไม่ใช่สิ่งที่ง่ายสำหรับผม และในวันนั้นผมไม่คิดว่าผมทำได้ดีนัก จากความทรงจำที่ยังพอมีอยู่ แต่เพื่อไม่ให้โอกาสที่มีการตั้งคำถาม ด้วย keywords หลาย ๆ คำที่ได้ถูกโยนออกมา และผมได้โยนออกไป ผมจึงถือโอกาสเขียนความคิดความเห็นไล่เรียงไว้อีกครั้ง เพื่อเตือนความทรงจำว่าครั้งหนึ่งผมต้องการเล่าอะไรประมาณนี้ออกไป แม้ว่าอาจจะไม่ได้สื่อสารได้ตรงอย่างที่ใจคิด

13245287_241692246197831_5594295152584959871_n

จากวันที่เริ่มคุยกันถึงความเป็นไปได้ในการเป็นองค์ปาฐก ในเบื้องต้นเราคุยกันถึงแง่มุมของความแตกต่างในการเลือกใช้ชีวิต เรามองถึงความขวางโลกอย่างสร้างสรรค์ ทำให้ผมมองไปถึงประเด็นของ group psychology ประเด็นของ stereotype และ personal judgement เป็นส่วนใหญ่ในการที่จะคิดว่าจริง ๆ แล้วทางคณะมองเห็นผมในประเด็นใด แต่สุดท้ายเมื่อชื่อของการปัจฉิมกถา ออกมาเป็นคำว่า “ปรุงชีวิต” ทุกสิ่งทุกอย่างที่คิดเตรียมไว้ ก็ต้องเปลี่ยนไป ซึ่งในคำ ๆ นี้ ผมสามารถคิดได้อย่างเดียวคือคำว่า “สมดุลย์” และในความสมดุลย์นั้น ผมอยากที่จะสื่อให้ทุกคนมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องง่าย ๆ ที่หลาย ๆ คนแม้แต่องค์ปาฐกในหลาย ๆ งานนั้นพยายามทำให้มันดูเป็นเรื่องยาก เป็นความสำเร็จที่มีน้อยคนเท่านั้นที่จะทำได้ แต่ผมอยากจะบอกว่าเราเพียงใช้ชีวิตที่สมดุลย์ และความสมดุลย์นั้นเป็นสิ่งง่าย ๆ ที่มาตามธรรมชาติถ้าเราไม่ได้ไปฝืนอะไรมัน แล้วใคร ๆ ก็ตามก็สามารถทำได้ง่าย ๆ ตามคำพูดของโจน จันได ปราชชาวบ้านที่ผมเรียกเป็นครู ในฐานะที่ผมได้มีโอกาสไปเรียนรู้วิธีการทำบ้านดิน แต่ได้ปรัชญาชีวิตง่าย ๆ นี้กลับมา

ในวันที่เริ่มมีการประชาสัมพันธ์ ผมก็มาสะดุดกับหัวข้อของกิจกรรมที่เรียกว่า วิชาสุดท้ายที่มหาลัยไม่ได้สอน ซึ่งทางคณะได้ขออนุญาตินำเอาชื่อหนังสือแปลปาฐกชื่อดังของหลายมหาวิทยาลัยมารวมเล่มไว้ด้วยกัน ในใจผมเมื่อได้เห็นชื่อกิจกรรมก็อดที่จะถามตัวเองติดตลกไม่ได้ว่า มีวิชาอะไรอีกหรือที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน ในเมื่อวันแรก ๆ ที่ผมกลับมาทำหน้าที่อาจารย์ในมหาลัยก็พบรายวิชาที่สอนการ save file เปิดปิดคอมพิวเตอร์ การใช้ Word Excel การใช้ชีวิตอย่างชาวมุสลิมให้กับนักศึกษา 90% ที่เป็นมุสลิม มันยังเหลือวิชาอะไรอีกหรือ ผมโยนคำถามนี้ลงไปใน Facebook เพื่อขอความเห็น และมีคำตอบหนึ่งที่น่าสนใจ ชนกับความคิดของผมพอดีนั่นคือ “Life is not that fucking complicated and people are full of shit. That’s what they are not telling you in the university.” ผมตีความหมายเข้าข้างตัวเองว่า นั่นหมายถึงชีวิตเป็นเรื่องง่าย แต่คนส่วนใหญ่พยายามบอกหรือทำว่ามันยากนั่นเอง ผมพยายามเอาสองสามคำนั้นมายำ ๆ กันแล้วคิดคร่าว ๆ ว่าควรจะเล่าอะไรให้ฟังบ้าง

12741983_1287010017982747_5970979906565796934_n

เมื่อถึงวันจริง เมื่อได้ยินคำกล่าวแนะนำ จึงได้ตระหนักว่าจริง ๆ แล้ว สิ่งที่ผมต้องการจะบอกเล่านั้น ได้ถูกกลั่นกลองออกมาแล้ว สิ่งที่ผมควรจะเสริมจึงควรจะเป็นเรื่องราวที่เป็นส่วนตัวมากสักหน่อย แล้วน่าจะเป็นความเห็น รวมไปถึงเนื้อหาประมาณ How To แต่ในเสี้ยววินาทีที่พยายามเรียบเรียงทุก ๆ อย่างนั้น ผมก็หลุดไปกับอารมณ์เล่าให้ฟัง ตามนิสัยที่คุ้นเคย ผมชอบเล่า ชอบถูกถาม เพื่อจะได้เล่า มากกว่าที่จะให้แต่งเรื่องมาเล่าให้ฟัง ซึ่งอาจจะต่างจากการเขียนที่ผมชอบแต่งเรื่องมาเล่าให้ฟังในรูปแบบของการเขียน แต่เมื่อมีผู้ฟัง ผมอยากมากกว่าที่จะ be spontanious และตอบสนองกับผู้ฟังที่อยู่ตรงหน้า ทำให้การพูดคุยของผมแทบทุกครั้ง จับเอาสาระอะไรออกมาไม่ค่อยได้

คลิปของการพูดคุยในวันนั้น

ตั้งแต่วัยเด็ก ในใจลึก ๆ ของผมบอกตัวเองเสมอว่าผมนั้นมีความสนใจที่จะเรียนรู้หลายสิ่ง ในความหมายของคำว่าเรียนรู้ ผมหมายถึงการขุดเข้าไปลึกถึงจุดหนึ่ง ในคำว่าหลากหลายสิ่งอย่างนั้นผมแทบจะไม่กำหนดข้อแม้ใด ๆ ไว้เลย ด้วยลักษณะนิสัยเช่นนี้ทำให้ผมพยายามสร้างชีวิตตัวเองให้หลากหลายโดยเมื่อมองจากระยะไกลนั้นจะถูกมองว่าเกิดความสมดุลย์ ในวัยเรียน การเรียน กีฬา สังคม และดนตรี เป็นความสมดุลย์ เป็นสิ่งที่ผมแบ่งเวลาให้อย่างสมดุลย์ ผมมีผลการเรียนระดับแนวหน้าของประเทศในวัยเด็กที่ยังไม่เล่นดนตรี เมื่อโตขึ้นแบ่งเวลาให้สังคม การเรียนก็ตกมาในระดับเพียงที่สามารถชิงทุนได้ เมื่อรับทุนเรียนในมหาวิทยาลัยที่มีอันดับในสาขาสูงสุด Top 5 ของโลกได้ การเพิ่มเรื่องของดนตรีเข้าไป เพิ่มความเข้มข้นของกีฬา และการแสวงหาตัวตนด้านอื่น ๆ การเรียนก็ต้องตกลงมาในระดับที่เพียงสามารถผ่านจบการศึกษาได้เพียงเท่านั้น นั่นคือความสมดุลย์ในความจำกัดของทรัพยากรที่เรียกว่าเวลา แต่ในความสมดุลย์นั้นทำให้ผมเป็นหนึ่งในวิศวกรเครื่องกล ที่เรียนทุกรายวิชาของวิศวกรรมอุตสาหการ จบ Ph.D. ด้านวิศวกรรมพอลิเมอร์ ด้าน processing and rheology ที่มีเพียงไม่กี่คนในโลก เป็นนักไตรกีฬาระดับ Top 5 ในสนามแถบ ๆ Ohio ที่มีเพื่อนหลากหลายทั้งไทย ฝรั่ง เอเชีย ประสบการณ์เรียนกีตาร์คลาสสิคที่ Cleveland Institue of Music อีกสองปีกว่า ๆ ไปจนสามารถทำกีตาร์คลาสสิคด้วยตัวเอง รวมไปถึงการฟังดนตรีคลาสสิคและแจ๊สอย่างถึงกึ๋น แน่นอนว่าผมสามารถคุยเรื่องราวเหล่านี้กับคนทั่วไปได้ลึกกว่า 80-90% ของคนปกติ แต่ไม่ได้เชี่ยวชาญเหมือนมืออาชีพในด้านนั้น ๆ

ในวัยประถมในวันที่เพื่อน ๆ ชวนกันไปเรียนว่ายน้ำผมก็ร่วมด้วย แต่ไปให้ถึงจุดที่แข่งขันข้ามจังหวัด ชัยชนะแรก ๆ ของผมเริ่มต้นที่ ป.1 ชีวิตเริ่มเข้าใจคำว่าฝึกซ้อม ม.ต้น ผมก็เลือกที่จะเล่นกรีฑาเสริมจากว่ายน้ำ ทั้งประเภทลู่และลาน เก็บเหรียญ ประสบการณ์ ฝึกซ้อมเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต สมดุลย์ระหว่างเรียน เล่น ซ้อม สุขภาพ วินัย สังคมในมุมต่าง ๆ ก่อตัวอย่างช้า ๆ เมื่อโอกาสเปิดผมทุ่มเทให้กับการเป็นนักดนตรีในช่วงสุดท้ายของมัธยมต้น ซ้อมหนักขึ้นอีกหลายระดับ เข้าแข่งขันในระดับประเทศ เป็นประสบการณ์และการฝึกตนที่สำคัญ ในขณะที่ด้านการเรียนยังคงไปได้ดี ไม่ใช่ที่หนึ่งของโรงเรียน แต่เป็นที่พึ่งของเพื่อน ๆ ห้องบ๊วย และเป็นตัวแทนของโรงเรียนบ้างตามแต่โอกาสจะอำนวย ในมัธยมปลายที่ย้ายโรงเรียนมาเป็นโรงเรียนเด็กเรียนที่กีฬาเป็นเรื่องรอง ผมก็เลือกที่จะซ้อมว่ายน้ำอยู่คนเดียวแทนที่จะไปเรียนพิเศษเหมือนคนอื่น แล้วใช้เวลากลางคืนอ่านหนังสือ น่าจะเป็นช่วงที่เป็นจุดสูงสุดของการเรียนเพราะเป็นช่วงที่สอบได้ระดับต้น ๆ ของประเทศ ผมใช้เวลาเหลือทั้งหมดของผมในการเล่นกีฬา ไม่ว่าจะเป็นว่ายน้ำหรือเทนนิส การเตรียมสอบทำเท่าที่จำเป็น เพื่อที่จะสอบได้คะแนนสูงกว่าคนสุดท้ายของคณะไปเพียง 10 คะแนน แต่ก็เป็นคณะที่คะแนนสูงที่สุดในยุคนั้น นี่คือความสมดุลย์ ระดับมหาวิทยาลัยทักษะว่ายน้ำของผมไม่สามารถแข่งขันกับเด็กเมืองได้ ผมต้องเปลี่ยนมาเล่นโปโลน้ำ ซึ่งก็อยู่ในระดับประเทศ แม้ว่าจะไม่เคยชนะแชมป์ประเทศไทย หรือ อุดมศึกษา แต่ส่วนใหญ่ทีมของผมก็ได้เหรียญเงิน โลกของมหาวิทยาลัยกว้างขึ้น ความสมดุลย์ถูกแบ่งสรรปันส่วนมากขึ้น งานคณะที่ผมเลือกเป็นทีม entertain ในกิจกรรมรับน้อง การเป็นนักกีฬาของคณะ ของมหาวิทยาลัย ผมเริ่มทำงานแปลก ๆ เช่น รณรงค์การปั่นจักรยาน เริ่มจากตัวคนเดียว ไปช่วยชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย เริ่มแข่งขันกีฬาแบบใหม่ วิ่งมาราธอน ต่อด้วยทวิกีฬา การเรียนจึงต้องลดเหลือเพียงเท่าที่จำเป็น จาก Top 10% ของคณะไปจนเหลือเพียง 2.76 ในวันจบการศึกษาเพียงเพื่อสิทธิ์ในการสอบชิงทุน ผมยังคงนำทักษะทางกีฬาไปใช้ในการเรียนต่อที่ต่างประเทศ ทั้งเตรียมทีมโปโลน้ำแข่งขันกับมหาวิทยาลัยอื่น การเป็นนักไตรกีฬาในอเมริกา ตะเวณแข่งไปทั่ว ขณะที่เรียน ป.โท ป.เอก ตีพิมพ์เพียงเท่าที่จำเป็น แม้ว่าทางหลักสูตรจะไม่บังคับแต่ที่ปรึกษามักจะขอให้มี ป.โทหนึ่ง ป.เอกสอง ผมต่อรองจนเหลือแค่ ป.เอกสอง เพราะในช่วงปลาย ๆ ของการศึกษาผมเริ่มใช้เวลากับการเรียนดนตรี ทำกีตาร์ เริ่มอาชีพการสร้าง template ของ website และการขายของออนไลน์ ซึ่งจะเห็นว่าในช่วงชีวิตตั้งแต่เด็กจนจบการศึกษานั้น ผมไม่เคยทุ่มเทให้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงอย่างเดียวเลย และเปิดโอกาสให้ตัวเองได้เรียนรู้ ทักษะใหม่ ๆ ประสบการณ์ใหม่ ๆ โดยยอมสูญเสียความเป็นหนึ่งในด้านอื่น ๆ ไปตามที่จำเป็น ในมุมมองผม ผมเรียกมันว่าสมดุลย์ แต่คนอื่น อาจจะมองว่าไม่ทุ่มเท ก็เป็นได้ แต่ผมคิดจริง ๆ ว่า ผมไม่รู้ว่าคำตอบของชีวิตคืออะไร เส้นทางใด ๆ นั้นล้วนแล้วแต่ใครจะตัดสิน จึงไม่ต้องสนใจใคร

10399943_1318573188159763_5051189311191381631_n

ผมใช้หลักการเดียวกันนี้เมื่อกลับมาทำหน้าที่ที่ประเทศไทย ทั้งหน้าที่ของลูกที่มารับหน้าที่ต่อจากพ่อแม่ในกิจการของครอบครัวและหน้าที่ชดใช้ทุนของกระทรวงวิทย์ในฐานะอาจารย์ ความสมดุลย์จึงต้องถูกสร้างระหว่างหน้าที่ในกิจการเอกชน และราชการ แน่นอนว่าเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงที่สุดผมต้องพยายามหาจุดร่วมกันให้มากที่สุด ในความเป็นอาจารย์นั้นมีภาระงานที่ถูกจัดออกเป็นงานสอน งานวิจัย บริการวิชาการ และทำนุบำรงวัฒนธรรม ซึ่งในสองหัวข้อหลังมีความคลุมเคลือจนผมคิดว่ามีไม่กี่คนเข้าใจว่าจริง ๆ มันคืออะไร ในขณะเดียวกันก็ถูกจัดให้แบ่งงานไปให้ไม่มากนักรวมกันไม่เกิน 20% ผมจึงแบ่งชีวิตด้านการงานของผมออกเป็นงานสอน งานวิจัย และงานโรงงาน ส่วนชีวิตส่วนตัวก็เป็นเรื่องของสังคม ดนตรีและกีฬา ในช่วงแรก ผมสร้างสังคมจากเรื่องราวของดนตรี ทั้งเรื่องดนตรีคลาสสิค แจ๊ส คอนเสริต จนกระทั่งมีเรื่องราวของครอบครัวเข้ามา ก็เริ่มแบ่งเวลาจากดนตรีมาให้ครอบครัว เริ่มผสมกีฬาและครอบครัวเข้าด้วยกัน จนสุดท้ายเมื่อต้องมีการ homeschool ลูก ๆ ก็เริ่มเอางานกับครอบครัวมาปนกัน ตอนนี้ใกล้ถึงจุดที่ลูก ๆ เริ่มเข้าใจดนตรีมากขึ้น ก็กำลังพยายามเอาดนตรีกลับเข้ามา ชีวิตในช่วงนี้จึงเป็นเหมือนกับอาหารจานเดียวที่มีครบทุกสิ่ง ในทุกมิติอย่างที่คณบดีได้กล่าวไว้ในช่วงต้น แต่มันไม่ได้เป็นเช่นนั้นในวันแรก และไม่ได้เป็นอาหารจานนั้น ๆ ในทุก ๆ ช่วงของชีวิต แม้จะเป็นอาหารที่ค่อนไปทางอาหารจานเดียวมากกว่าอย่างอื่น

อย่างไรก็ตามชีวิตครอบครัวไม่สามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่นถ้าการตัดสินใจเลือกคู่ชีวิตผิดพลาด แม้จะดูว่าไม่มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับเนื้อหานี้เลย แต่เป็นเหตุผลที่ยิ่งใหญ่ ผมค่อนข้างเป็นคนที่ให้ความสำคัญในเรื่องของคู่ชีวิตค่อนข้างมาก แม้ว่าภายนอกผมจะถูกมองว่าเป็นคนเจ้าชู้ แต่มันก็แฟร์ที่จะมองเช่นนั้นจากคำจำกัดความ เนื่องจากเรื่องคู่ชีวิตเป็นสิ่งที่สำคัญผมจึงเปิดโอกาสให้ตัวเองอย่างมากในการศึกษาคนที่จะมาเป็นคู่ชีวิตของผม และผมเชื่อในหลักสถิติ จำนวนมาก ๆ ย่อมได้เปรียบ แม้กระนั้นก็มีหลายคนที่ผมคบหาดูใจเป็นเวลาหลาย ๆ ปี แต่สำหรับผู้โชคร้ายที่ถูกเลือกนั้น ผมใช้เวลาในการทำความรู้จักเพียงแค่ไม่เกินหนึ่งหรือสองเดือน และรวบรัดแต่งงานภายในระยะเวลาเพียงสามเดือนเท่านั้น มี value หลัก ๆ เพียงไม่กี่ข้อ แต่หักงอไม่ได้เลยสำหรับผม นั่นคือ ผมต้องการชีวิตครอบครัวที่คำว่าครอบครัวต้องมาก่อน สมดุลย์ของผมเริ่มจากครอบครัว เวลา ความสุข ผมจึงต้องการที่จะมีลูกค่อนข้างเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ (แม้จะไม่ได้เร็วดั่งหวัง) ผมต้องการให้ภรรยาเป็นแม่บ้านเพราะงานดูแลลูก เราจะไม่ให้ใครอื่นมาแย่งไป นั่นหมายถึงเราจะต้องสูญเสียรายได้ครึ่งหนึ่งที่ภรรยาจะสามารถจัดหาได้ ผมบอกอย่างชัดเจนเรื่องความประหยัดในรูปแบบของผม กฏกติกามารยาท เพื่อที่จะเข้าใจกันตั้งแต่วันแรก หลังจากนั้น ผมวัดจากปฏิกิริยา ผมจึงเลือกคนที่มาเป็นคู่ชีวิต ทุกสิ่งทุกอย่างภายหลังการแต่งงานนั้น เป็นไปได้เพียงเพราะอีกครึ่งหนึ่งของชีวิตของผมเห็นด้วย แม้ว่าผมจะมีความคิดย้อนแยงกับสังคม ในเรื่องใด ๆ สมดุลย์ในรูปแบบของผมที่ต้องทิ้งรายได้ที่น่าจะได้ การใช้ชีวิตประหยัดกับหลาย ๆ สิ่งที่สังคมไม่ต้องการประหยัด เช่น รถ บ้าน เสื้อผ้า แม้แต่ first impression ทุกสิ่งล้วนต้องขอวีซ่ามาแล้วทั้งนั้น แน่นอนว่ากิจกรรมกีฬาท้าความตายอย่างการปั่นจักรยานเดี่ยวข้ามวันข้ามคืนจากกรุงเทพเพื่อลงมาหาดใหญ่ ก็ต้องมีวีซ่ามาแล้ว สิ่งเหล่านี้เหมือนเป็นความบังเอิญแต่เป็นการจัดตั้งที่มีการเตรียมงานมาอย่างแยบยล ผมเชื่อว่าภายหลังแต่งงาน ผลงานทุกอย่าง สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดเป็นสิ่งที่เกิดจากผมและคู่ชีวิต ไม่ใช่ตัวคนเดียวอย่างที่หลาย ๆ คนพยายามมอง และนี่เป็นอีกหนึ่งความสมดุลย์ภายในครอบครัวที่เราสร้างไว้

สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั้งหมด ถ้าจะว่าไปแล้วไม่ได้มีอะไรยิ่งใหญ่เกินธรรมดา การทำให้เกิดขึ้นได้นั้นไม่ใช่เรื่องราวที่ใช้ความทุ่มเทหรือความสามารถพิเศษใด ๆ ทั้งสิ้น เพียงแต่การยอมรับในข้อจำกัดของเวลาที่มีเพียง 24 ชั่วโมง ความสำนึกในหน้าที่ทั้งต่อครอบครัว ต่อพ่อแม่ ต่อประเทศชาติ และต่อตนเอง ทางออกเช่นอื่นนั้นจึงไม่มี  นอกจากจะต้องทำทุก ๆ อย่าง ไม่เลือกที่จะทิ้งภารกิจครอบครัวให้เป็นของภรรยา หรือทิ้งเรื่องของสุขภาพเพื่อสิ่งอื่น ๆ การมองอนาคต และการจัดความสำคัญจึงมีส่วนเข้ามาเกี่ยวข้อง ในช่วงแรกงานวิจัยก็เลือกทำงานวิจัยเกี่ยวกับฟองน้ำเพื่อที่จะใช้ในโรงงานได้ด้วย แต่ท้ายที่สุดมีการตำหนิว่าเป็น conflict of interest จากผู้ประเมินงานวิจัยท่านหนึ่ง แม้ว่าจะแค่เปรย ๆ ท้ายที่สุดจึงเปลี่ยนเป็นงานวิจัยด้านอื่นแทน แต่แล้วงานวิจัยชุดหลัง ๆ ก็กำลังจะกลายเป็นโรงงาน เพราะหลักสูตรถูกออกแบบมาให้ผลิตคนให้อุตสาหกรรม และสร้างงานให้อุตสาหกรรม มันเป็นไปไม่ได้เลยที่งานวิจัยที่เสร็จสิ้นจะไม่กลายมาเป็นธุรกิจใหม่ ๆ ส่วนรางวัลต่าง ๆ หรือ สิทธิบัตรที่ถูกมองว่าเป็นผลงานต่าง ๆ โดยบุคคลอื่นนั้นก็เป็นไปตามเส้นทางของงานวิจัยที่จะต้องเกิดอย่างเลี่ยงไม่ได้ แม้ว่าจะไม่ใช่แผนการ ไม่ใช่เป้าหมายเลยก็ตาม ในขณะที่งานด้านกีฬาก็ขยายจากนักกีฬา ที่หลากหลายขึ้นตามบริบทที่เปลี่ยนไปของชีวิตและครอบครัว จากผู้เล่น ค่อย ๆ กลายเป็นผู้จัด จากการแข่งกีฬาเริ่มแบ่งปันความรู้ในฐานะผู้รู้ รุ่นพี่ โคช ตามแต่บริบทและโอกาส ในที่สุดก็ได้มีโอกาสเริ่มงานที่เป็นงานทางสังคมมากขึ้นแม้ว่าในความเป็นจริงแล้วไม่ได้ชอบเข้าสังคมวงกว้างมากนัก งานวิจัยที่เริ่มส่งประโยชน์กับสังคม งานกีฬาที่ตอบโจทย์ด้านสังคม ทั้งหมดทั้งสิ้นก็เปิดโอกาสให้กับครอบครัวได้มีส่วนร่วมในทุก ๆ เรื่องทุก ๆ งาน ให้โอกาสลูก ๆ ได้เรียนรู้ ได้สัมผัสเมื่อพร้อม

10906391_1013371925346559_3845583309141289464_n

ผมได้มีโอกาสแชร์เรื่องราวชีวิต งาน ครอบครัว และสิ่งต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นมาผ่าน Facebook  ไปบ้างแล้ว หลาย ๆ คนที่อ่าน blog ของผม ก็น่าจะเป็นเพื่อนกันใน Facebook กันหมดแล้ว หลากสิ่ง สมดุลย์ ทำให้ง่าย แค่ได้ทำ เป็น keywords ที่ผมเลือกใช้ตลอดชีวิต conflict ต่าง ๆ ที่ถูกมองจากภายนอกจริง ๆ เป็นสัดส่วนที่ทำให้เกิดความสมดุลย์ ความเจ็บป่วยที่ถูกตอบด้วย extreme sport, introvert ที่สร้างสรรค์งานเพื่อสังคมที่หลากหลาย, บุคลากรทางการศึกษาที่ตอบคำถามความล้มเหลวของระบบด้วยการ homeschool ลูก ๆ ทั้งหมดทั้งสิ้นเป็นกระบวนการ just do it แบบไม่คิดมากเพื่อให้เกิดความสมดุลย์ทั้งสิ้น สมดุลย์นี้ถูกมองจากทุก ๆ มิติ เท่าที่ความลุ่มลึกในชีวิต อายุ ของผมจะสามารถทำความเข้าใจได้ เฉกเช่น อาหารจานเดียวที่สมดุลย์ทั้งรสชาติเปรี้วหวานมันเค็ม สมดุลย์ด้วยคุณค่าทางอาการ แป้ง โปรตีน ไขมัน วิตามิน ไปจนถึงกลิ่น เนื้อสัมผัส เสมือนการหาคำตอบของชีวิต หรือตั้งคำถามกับชีวิต โดยที่ยังไม่มีคำตอบว่าชีวิตคืองาน เงิน สุขภาพ ครอบครัว สังคม ในเมื่อยังไม่ได้คำตอบ สมดุลย์ในทุกสิ่งจึงเป็นคำตอบที่เสี่ยงน้อยที่สุด ผมเชื่อเสมอว่าผมต้องเรียนให้หนัก หรือทำงานให้หนัก หรือหาเงินให้เพียงพอเผื่อว่าผมจะต้องอยู่ในโลกนี้อีกนาน ในขณะเดียวกันผมต้องเล่นให้หนัก เดินทางให้มาก ค้นหาให้เพียงพอ มีความสุขให้เต็มที่ เผื่อว่าเวลาของผมในโลกจะหมดลง ชีวิตของผมจากเกิดจนตายจึงสมดุลย์ ถ้าเรียกเป็นอาหาร นั่นคือ “กลมกล่อม”

ในโลกที่ให้รางวัลและชื่นชูความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน การเรียนมุ่งเป้าลงไปหาสิ่งที่แคบลงไปเรื่อย ๆ เรียกว่าความเชี่ยวชาญ ในตำแหน่งงานหรือวิชาการก็มอบรางวัลให้กับความเชี่ยวชาญเฉพาะทางจนแทบจะลืมกันว่าเรานั้นเชี่ยวชาญกันไปเพื่ออะไรและเรื่องอะไร กระบวนการคิดของผมนั้นค่อนข้างเป็น contrarian หลายครั้งที่ผมถูกชื่นชมว่ามีความคิดสร้างสรรค์ คิดนอกกรอบ จริง ๆ แล้วผมแค่มองไปในฝั่งตรงกันข้าม ทำที่คนอื่นเขาไม่อยากทำ ไม่คิด หรือไม่ทำ ซึ่งไม่ต้องอาศัยความสร้างสรรค์ใด ๆ ความเชื่อในกาลามสูตรของผมมีมากกว่ากฏระเบียบที่องค์กร หรือแม้กระทั่งสังคมตั้งไว้ ความง่ายของ motto “Just Do It” ถูกนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ที่ผลักดันให้ผมนั้นมีประสบการณ์หลากหลาย มากมาย และดูเหมือนลึกซึ้งเพียงเพราะ ไม่เชื่อ และ ทดลองทำ แต่เมื่อมองเข้ามาในระยะใกล้นั้น ผมเป็นแค่เป็ด ในกีฬาที่เล่นผมแม้ว่าจะสามารถโคชได้และมีสถิติส่วนตัวที่น่าสนใจแต่ผมไม่เคยชนะรายการใดมาก่อน ในการเรียนแม้จะจบขั้นสูงที่สุดแต่ความเชี่ยวชาญนั้นไม่ได้เคยถูกใช้ประโยชน์อีกเลย งานวิจัยใหม่ ๆ ก็ทำเพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมยางของประเทศที่มีความหลากหลาย ไม่ได้เชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่ง ในชีวิตครอบครัวก็ไม่ได้โดดเด่นใด ๆ เพียงแค่เลือกใช้ชีวิตร่วมกันไปด้วยกันทั้งครอบครัว ปฏิเสธข้อกำหนดของสังคมที่บอกว่าลูก ๆ ต้องไปโรงเรียน พ่อแม่ต้องหาเงิน เราเพียงแบ่งงานกันทำ พ่อทำงาน แม่สร้างครอบครัว เมื่อความพร้อมถึงระดับหนึ่ง ครอบครัวก็ไปทำงานด้วยกันได้ เดินทางด้วยกันได้ เล่นกีฬาด้วยกันได้ เรียนรู้ไปด้วยกันได้ นี่ไม่ใช่ความเชี่ยวชาญพิเศษ มันคือความเป็นเป็ดที่หลาย ๆ คนเลือกที่จะไม่เป็น

ผมเชื่อว่าทุก ๆ คนสามารถเลือกใช้ชีวิตของตนเองให้มีความสมดุลย์ได้ เพราะมันง่าย เพียงแค่ทำ ด้วย keyword ว่าทำนั้น มันไม่ได้หมายถึงความยิ่งใหญ่ ก้าวที่ลงทุนสูง เพียงแค่เจตนารมว่าทำ และทำมันอย่างสม่ำเสมอ วันละเล็กละน้อย เราไม่ได้ต้องการความเชี่ยวชาญอย่างที่เราถูกสอนให้เชื่อ เพราะเพียงความรู้เบื้องต้นเล็กน้อย บวกการปฏิบัติก็จะพาเราไปยืนในแถวหน้าของทักษะนั้น ๆ เมื่อพ่วงอีกสักหนึ่งหรือสองทักษะเราก็มีความโดดเด่นในความสามารถเฉพาะ เมื่อหาจุดร่วมกันของทักษะเหล่านั้นได้ ก็จะเกิด synergy และเมื่อนั้นเราก็สร้างประโยชน์ได้มากขึ้น การดำเนินชีวิตไม่มีสิ่งใดยุ่งยาก คนบางคนมองหาแรงบันดาลใจจากคนรอบ ๆ ข้าง แต่ความเป็นจริงนั้นการทำ ๆ ไปง่าย ๆ ทุก ๆ วันนั้น ก็สร้างแรงบันดาลใจให้คนรอบ ๆ ข้างได้โดยไม่ต้องไปมองหาแรงบันดาลใจจากไหน