ปัจจัยที่สี่ : สุขภาพดีไม่ต้องมียารักษาโรค

มนุษย์เราใช้ชีวิตเสี่ยงมากขึ้นเรื่อย ๆ ทักษะต่าง ๆ ที่จำเป็นในการดำรงชีวิตที่ว่าด้วยปัจจัยสี่ เราได้ถ่ายโอนให้เป็นหน้าที่ของมืออาชีพ ผู้คนส่วนใหญ่มีอาชีพที่ไม่ได้มีความจำเป็นใด ๆ เลยในการดำรงชีวิต นานเข้าทักษะเหล่านั้นค่อย ๆ เลือนหายไป ปัจจัยที่สี่ที่ว่าด้วยยารักษาโรค ถูกมองเป็นการเข้าถึง เงินที่เพียงพอ โรงพยาบาลที่เพียงพอ หมอที่เพียงพอ มีน้อยคนนักที่จะพูดถึงสุขภาพที่ดีเพียงพอ การดูแลรักษาตัวเองที่ดีพอ ความรู้ต่าง ๆ ในการดูแลตัวเองที่เพียงพอ ตั้งแต่เด็กจนโต เมื่อเกิดอะไรขึ้นกับร่างกาย เราพึ่งพายา หนักขึ้นเราก็พึ่งหมอ และคิดว่าชีวิตเรามีมืออาชีพที่คอยดูแลอยู่แล้ว ไม่ใช่หน้าที่ของเราอีกต่อไป ในระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ หน้าที่ได้ถูกแบ่งกันไปแล้ว และนี่เป็นการดำรงชีวิตอยู่ในความเสี่ยงอย่างมหันต์

มนุษย์เราควรมีความรู้ในการดูแลสุขภาพตัวเอง มีความรู้ในการรักษาตัวเอง มีทักษะในการดำรงชีพอย่างมีสุขภาพ มีทักษะในการเข้าใจและรักษาตัวเองได้อย่างเหมาะสม สิ่งเหล่านี้เราทำได้ แต่ต้องใช้เวลาทั้งชีวิตในการฝึกฝน หมอที่ดีจะต้องมีทักษะในการซักถามอาการผู้ป่วย แต่ผู้ป่วยที่ดีจะรู้ลึกซื้งถึงอาการ ความรู้สึกและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวเองได้ดีที่สุด มากกว่าหมอที่มีทักษะการถามที่ดีที่สุด ในขณะที่ผู้ป่วยเองก็ควรจำทำการเรียนรู้เข้าใจถึงที่มาที่ไปของโรค สาเหตุ อาการ การพัฒนาของโรค ความเสี่ยง การติดต่อ และอื่น ๆ เท่าที่เราจะทำได้ เมื่อมีโอกาสได้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เมื่อได้รับการจ่ายยาเราก็ควรจะรู้ชื่อยาทุกประเภทที่ได้ และควรที่จะปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อที่จะทำความเข้าใจถึงกระบวนการทำงานของยาแต่ละชนิด เพื่อทำความเข้าใจว่าสิ่งที่เรากำลังจะกินเข้าไปนั้นมีความเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วยเรามากน้อยเพียงไร เมื่อทำสิ่งเหล่านี้เป็นนิสัย เราก็จะมีความรู้พื้นฐานในการดูแลตัวเองมากกว่า 80% ของโรคภัยไข้เจ็บที่จะเกิดขึ้นกับตัวเรา รวมไปจนถึงยาประเภทต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย

ปัจจุบันผมแทบจะไม่กินยาเลยแม้แต่ขนานเดียว ผมไปหาหมอเพียงบางครั้งเท่านั้น เมื่อไม่แน่ใจ หรือต้องการผู้เชี่ยวชาญเพื่อวินิจฉัยโรค แม้ว่าเมื่อมั่นใจเรื่องโรคแล้วผมอาจจะไม่ใช้ยาที่หมอให้เลยแม้แต่เม็ดเดียว การฝึกฝนนี้ขยายวงไปสู่คนภายในครอบครัวของผมเองด้วย ผมไม่ได้ต้องการชวนให้ผู้อ่านมาปฏิบัติเอาเยี่ยงอย่าง แม้ว่าผมจะไม่ไปพบหมอ แต่ในรอบตัวผมมีหมอผู้เชี่ยวชาญแทบทุกสาขาที่ผมสามารถยกหูคุยได้ภายในไม่กี่นาที การปฏิบัติเช่นนี้ผมจึงไม่คิดว่าเป็นการใช้ชีวิตที่เสี่ยงมากนัก แต่ผมทำเพื่ออะไร

ผมต้องการ “ทักษะ” ความสามารถที่จะสังเกตุ อาการ สิ่งปกติในร่างกายของผม ทำความเข้าใจโรคร้าย การบาดเจ็บ และเรื่องราวอื่น ๆ ทั้งหมดที่อาจจะเกิดขึ้นกับผมและครอบครัวให้มากที่สุด โดยที่เสี่ยงน้อยที่สุด ผมต้องการให้ร่างกายของผมและคนในครอบครัวมีโอกาสฝึกซ้อมเพื่อที่จะต่อสู้กับภยันต์อันตรายทั้งหมดที่จะเกิดกับสุขภาพร่างกายของผมเองและคนในครอบครัว ก่อนที่จะต้องไปถึงมือผู้เชี่ยวชาญ ผมได้อ่านบทความของคุณพ่อที่เสียลูกไปกับโรคมือเท้าปากที่แพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ ผมเข้าใจในความรู้สึกของพ่อที่เสียลูก เพราะผมเองก็เคยเสียลูกไปเช่นเดียวกัน แต่ผมเห็นความบกพร่องของวิธีปฏิบัติ ดูแลรักษาของพ่อคนนี้เช่นเดียวกัน และผมจะไม่มีวันที่จะเดินซ้ำรอยครอบครัวนี้เป็นอันขาด ยกตัวอย่างเช่นให้กินยาแก้ไขอย่างเคร่งครัดทุก 4 ชั่วโมงและบังคับให้ลูกไปโรงเรียนพร้อมกับยา เป็นต้น

เมื่อสมัยเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย ผมเองก็เคยมีนิสัยเคยชินกับการกินยาแก้ปวดลดไข้ กินไว้ กินดัก กินแก้ ด้วยความที่รู้สึกว่าต้องเรียนให้ได้ ทำงานให้ได้ไม่ว่าจะมีสภาพเป็นอย่างไรก็ตาม ทำแล้วมันเท่ห์ ผมเริ่มมาดูแลตัวเองเมื่อเกิดอาการบาดเจ็บที่หัวเข่าขณะหัดวิ่งระยะไกล (ต่ำกว่า 10 กิโล) ด้วยการอ่านหนังสือ เพียงเพราะผมไม่รู้ว่าต้องไปหาหมอประเภทใดเมื่อเกิดอาการบาดเจ็บจากการออกกำลังกาย โชคดีที่ผมได้หนังสือดี เมื่อผมสามารถรักษาตัวเองให้หายได้เป็นปลิดทิ้ง ผมจึงเข้าใจเอาเองว่ามีหลากหลายอาการเจ็บป่วย บาดเจ็บที่เกิดขึ้นกับเรานั้นไม่ได้ซับซ้อนจนเกินไป และไม่ได้จำเป็นต้องถึงผู้เชี่ยวชาญเสมอไป และถ้าหากเราหาความรู้เพิ่มเรื่อย ๆ เราก็จะสามารถดูแลตัวเองได้มากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน

ผมมีโอกาสได้ไปเรียนต่อต่างประเทศ เนื่องจากเป็นที่รู้กันว่าค่ารักษาพยาบาลที่ต่างประเทศแพงมาก ผมจึงตั้งหน้าตั้งตาออกกำลังกายอย่างเอาเป็นเอาตาย เพราะผมเรียนรู้ตั้งแต่เด็ก ๆ ว่าช่วงใดที่ผมออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอผมจะไม่ค่อยป่วย ถ้าไม่เช่นนั้นผมจะป่วยเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจได้ง่ายมาก ๆ เนื่องจากผมถูกตัดต่อมทอลซิลและอะไรอื่น ๆ บริเวณลำคอไปหมดแล้วตั้งแต่เด็ก ทำให้ไม่มีปราการด่านแรกที่จะจัดการกับเขื้อโรคที่เข้าผ่านปากและจมูกของผม ผมแทบจะไม่เคยได้ทานยาเลยตลอดระยะเวลาตั้งแต่เริ่มเดินทางไปต่างประเทศจนถึงปัจจุบัน ยกเว้นยาโรคกระเพาะอาหาร เนื่องจากผมมี ulsers ในกระเพาะและในบางครั้งเมื่อเกิดความเครียดจนเกินควบคุม ผมจำเป็นต้องพึ่งยาที่ระงับการหลั่งกรด (ผมเคยต้องซื้อยานี้ทั้งหมดสองครั้งในชีวิตผมครั้งละประมาณ 2-3 วัน) นอกนั้นก็ทนเอาไปตามอาการ โชคดีที่ผมไม่เป็นโรคติดเชื้ออื่น ๆ ประเภทแบคทีเรียเลย เป็นเพียงเพราะผมออกกำลังกายสม่ำเสมอและก็โชคดี ผมมาถือปฏิบัติในการที่จะให้ร่างกายซ่อมแซมตัวเอง ใช้การสังเกตุ ใส่ใจในตนเองเพื่อเป็นการดูแลรักษาตนเองอย่างเคร่งครัดมากขึ้น ภายหลังจากอ่านหนังสือชื่อ Spontaneous Healing ของหมอ Andrew Weil เนื่องจากผมค่อนข้างจะเห็นด้วยกับแนวคิดของเขา

ผมเล่นกีฬาค่อนข้างหนักและมีอาการบาดเจ็บประจำตัวอยู่หนึ่งอย่างคือ เจ็บกล้ามเนื้อน่อง เป็นเหตุการณ์ที่น่าสนใจมากเมื่อผมไปพบหมอ และเปลี่ยนแนวความคิดของผม มหาวิทยาลัยของผมนั้นเป็นโรงเรียนแพทย์ด้วย จึงมีนักเรียนแพทย์มาวินิจฉัยเมื่อผมตัดสินใจไปคลินิคของมหาวิทยาลัย ผมได้เรียนรู้เป็นอย่างมากเมื่อ อาจารย์แพทย์ได้สอนนักศึกษาแพทย์ผู้นั้น ว่าอาการของผมน่าจะเกิดจากอาการกล้ามเนื้ออักเสบที่เป็นผลจากตะคริว (คงคาดว่าจากตำแหน่งของกล้ามเนื้อที่เจ็บ) แล้วมีการวิเคราะห์ต่อไปอีกว่าสาเหตุของการเกิดตะคริวคืออะไร ในวันนั้นผมได้เรียนรู้การแพทย์ทางกีฬาเป็นอย่างมาก และไม่เคยเห็นแพทย์คนไทยคนไหนให้ความสนใจอย่างเช่นวันนั้นอีก (ที่ผมเจอส่วนใหญ่ก็บอกแค่ให้เลิกเล่นกีฬา ตัดปัญหาแบบง่าย ๆ ) หลังจากนั้นผมจึงใช้ความเป็นอาชีพจากแพทย์ทุกครั้งเพื่อศึกษาถึงโรคร้าย และอาการบาดเจ็บใหม่ ๆ ที่ผมไม่เคยเป็นมาก่อน

ผมเป็นคนหน้าอกบุ๋ม มาตั้งแต่เด็ก ซึ่งทำให้มีผลต่อตำแหน่งของหัวใจของผม และเป็นปัญหาเมื่อผมออกกำลังกายหนัก ๆ บางประเภท (จริง ๆ แล้วทุกประเภทที่ผมทำอยู่ คือ ว่ายน้ำ จักรยาน วิ่ง) ซึ่งมีอยู่ช่วงหนึ่งที่ผมหยุดออกกำลังกายไปเพื่อเตรียมสอบ Qualify แล้วกลับมาออกกำลังกายใหม่ซึ่งตรงกับเวลาในช่วงปลายฤดูหนาว ผมเกิดอาการเจ็บกล้ามเนื้อหน้าอก จึงไปปรึกษาแพทย์ ผมเคยเป็นคล้าย ๆ อย่างนี้มาแล้วที่เมืองไทยแต่หมอให้ยาแก้เครียดมากิน (ซึ่งผมก็ไม่ได้กิน) แต่ผมเริ่มส่งสัยว่าผมมีอาการผิดปกติของหัวใจหรือไม่ เพราะเท่าที่เขาว่ากันอาการเจ็บหน้าอกไม่ควรจะเกิดขึ้นไม่ว่ากับใครก็ตาม (แม้ว่ากับผมมันเป็นเรื่องปกติพอสมควร) แต่ ณ เวลานี้ทัศนคติผมเปลี่ยนไป ผมต้องการเรียนรู้ เมื่อไปปรึกษาแพทย์ที่มหาวิทยาลัย ก็ปรากฎว่าสนุกมาก ๆ ครับ หมอจับผมทดสอบทุกอย่าง EKG Stress Test วิ่งบนสายพาน  X-ray เยอะแยะมากมาย สิ่งผิดปกติแรกที่หมอสังเกตุ (เขาไม่ได้บ่นเรื่องอกบุ๋ม) คือ นักเรียนแพทย์แทบไม่สามารถ ส่องเห็นลิ้นหัวใจผมได้เลย ใช้เวลาอยู่นานมาก จนต้องให้อาจารย์แพทย์มาทำให้ และต้องกดแรงและเจ็บมาก อาจารย์บ่นนิด ๆ หน่อย ๆ สรุปว่าหมอวิเคราะห์ว่าเป็นเพราะอกบุ๋ม หัวใจอยู่ผิดที่นิดหน่อย ทำให้บางครั้งทำงานหนัก หรือกล้ามเนื้อบริเวณหน้าอกเนื่องจากกระดูกอยู่ผิดที่ผิดทางการทำงานก็ไม่ค่อยปกติมากนักจึงเกิดอาการเจ็บของกล้ามเนื้อได้

หลังจากนั้นไม่นาน เกิดอุบัติเหตุระหว่างยกน้ำหนักท่า Squat แล้วทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังของผมเคลื่อนมาทับเส้นประสาท ซึ่งทำให้เกิดอาการเจ็บอย่างรุนแรง และเป็นอีกครั้งที่ผมต้องใช้ยาระงับปวดที่รุนแรงมาก ๆ เป็นครั้งแรก การบาดเจ็บครั้งนั้นทำให้ชิ้นส่วนของร่างกายของผมตรงส่วนนั้นไม่สามารถกลับมาเป็นเหมือนเดิมอีกเลย จะมีอาการปวดหลังเป็น ๆ หาย ๆ อยู่ตลอดเวลา บางครั้งหนัก ๆ ก็เจ็บมากจนต้องใช้ยาแก้ปวด (ผมเคยใช้อีกหนึ่งครั้งหลังจากป่วยครั้งแรก) บางครั้งก็เจ็บมากขนาดเดินไม่ได้ หรืออาจจะเดินตัวแข็งหันไปมาไม่ได้ บางครั้งต้องพึ่งยาคลายกล้ามเนื้อ แต่ผมก็ยังสามารถออกกำลังกายต่อไป แต่ในช่วงนั้นผมลดปริมาณการออกกำลังกายลงเป็นอย่างมาก เนื่องจากใกล้สำเร็จการศึกษา ผมเป็นบ่อยขึ้นหลังจากที่กลับมาเมืองไทย การเปลี่ยนสถานที่ การเริ่มทำงาน ทำให้ผมต้องเริ่มปรับตัวกับหน้าที่การงานใหม่ และไม่ได้ออกกำลังกายเป็นเรื่องเป็นราวเลย เมื่อกลับมาออกกำลังกายกลับพบว่าอาการเจ็บมันรุนแรงถึงขนาดไม่สามารถวิ่งได้ ผมจึงตัดสินใจหยุดกีฬาไตรกีฬาที่ผมชอบโดยสิ้นเชิง

ผมมีอาการปวดบ้าง เจ็บบ้าง เดินไม่ได้บ้าง จนในท้ายที่สุดผล x-ray ยืนยันว่าผมเริ่มมีอาการของโรคกระดูกเสื่อม ซึ่งมีแต่จะเสื่อมลงเรื่อย ๆ หมอแนะนำให้ผมหยุดทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงทั้งหมด ซึ่งในเวลานั้นผมเลิกกีฬาวิ่ง หันมาปีนเขา และยกน้ำหนัก เพราะรู้สึกว่าไม่มีการกระแทก แต่หมอแนะนำให้ว่ายน้ำ ผมก็พยายามถามถึงกีฬายกน้ำหนัก ปีนเขา ซึ่งหมอไม่แนะนำเลย ผมถามเรื่องวิ่งก็ยิ่งถูกห้ามเข้าไปใหญ่ หมอให้ว่ายน้ำสัปดาห์ละสี่วัน เพื่อเป็นการออกกำลังกาย (ผมรู้สึกเหมือนใบสั่งกายภาพบำบัด) ผมไม่เคยทำใจได้เลย แม้ว่าผมจะมีพื้นฐานการออกกำลังกายคือว่ายน้ำ แต่ด้วยทัศนคติว่าการว่ายน้ำในเวลานี้คือกายภาพบำบัด และหนทางเดียวที่ผมเลือกไม่ได้ ในที่สุดผมก็ไม่เคยได้ไปว่ายน้ำตามที่หมอสั่งเลย จนกระทั่งผมได้ไปพักผ่อนที่ภูเก็ตในช่วงที่มีการแข่งขันไตรกีฬา กีฬาที่ผมโปรดปรานที่สุด เพราะผมต้องการไปชมการแข่งขัน ผมดูการแข่งขันอย่างตั้งใจ และมีแรงบันดาลอีกครั้ง แล้วตั้งใจว่าในปีหน้าผมต้องกลับมาเป็นผู้แข่งขันเองให้ได้ แล้วในที่สุดผมก็กลับมาแข่งขันประเภททีม โดยผมทำหน้าที่ปั่นจักรยาน เมื่อจบการแข่งขันผมบอกกับตัวเองว่าผมต้องกลับมาอีกครั้งแล้วทำให้ครบทุกอย่างให้ได้

ผมจึงเร่ิมต้นซ้อมวิ่งเป็นครั้งแรกเมื่อปลายปีที่ผ่านมา (2554) ผมค้นคว้า และทดลองการเปลี่ยนท่าวิ่ง ใช้รองเท้ามินิมัลลิส โดยไม่ปรึกษาแพทย์เลย เพราะผมรู้ว่าหมอซึ่งเห็นว่าการวิ่งมีการกระแทกสูงและอันตรายต่อหลัง มีเพียงกลุ่มนักวิชาการ แพทย์ และคนกลุ่มเล็ก ๆ เท่านั้นที่เชื่อว่าการหันมาวิ่งด้วยปลายเท้า ใช้รองเท้าที่บางที่สุด หรือใช้เท้าเปล่าจะป้องกันปัญหานี้ได้ ด้วยทักษะการฟังตัวเองของผมที่ฝึกมาหลายสิบปีมาเป็นประโยชน์กับผมมากในช่วงที่หัดใหม่นี้ ผมใช้เวลาประมาณ 2 เดือนจากเริ่มวิ่งด้วยเท้าเปล่า ประมาณ 15 นาทีจนร่วมแข่งรายการกรุงเทพมาราธอนในระยะ 21.1 กม. และจากวันนั้นถึงวันนี้ ผมก็ได้สัมผัสระยะทาง 42.195 กม. เป็นครั้งแรกในชีวิตของผม

ในกีฬาวิ่งผมได้ใช้ทักษะในการฟังร่างกายตัวเองมากถึงมากที่สุด เพราะทุกก้าวที่เปลี่ยนไปมีความรู้สึกใหม่ ๆ เกิดขึ้นเสมอ ผมได้สังเกตุ ติดตามผล เฝ้ามองอาการเจ็บ ปวด เมื่อย ไม่น่าเชื่อว่าผมรู้สึกว่าร่างกายผมแข็งแรงยิ่งกว่าเมื่อก่อนที่จะเป็นโรคกระดูกเสื่อมเสียอีก ถ้าไม่ใช่เพราะกีฬาจักรยานที่ทำให้ผมต้องก้มเป็นระยะเวลานาน ๆ จนบางครั้งอาการปวดหลังผมกำเริบ ผมคงลืมไปแล้วว่าผมเป็นโรคกระดูกเสื่อม

ในตอนนี้ผมพยายามปรับปรุงท่าปั่นจักรยานของผม ให้เข้ากับความยืดหยุ่นของตัวผมที่เหลือน้อยเต็มทน เนื่องจากกล้ามเนื้อหลังหลายส่วน รวมไปถึงกล้ามเนื้อต้นขาที่ต้องทำงานผิดปกติ รับแรงแทนกระดูก และมีความตึงเครียดค่อนข้างสูง ในขณะเดียวกันผมก็พยายามหาวิธีที่จะช่วยยืด หรือผ่อนคลายกล้ามเนื้อในส่วนนี้ แต่ก็ยังไม่ได้เริ่มจริง ๆ จัง ๆ เสียที ผมคาดว่าผมอยากใช้โยคะเข้ามาช่วย ถ้าผมได้เริ่มร่างกายผมก็น่าจะเข้าสู่ภาวะปกติอีกครั้ง

ทั้งหมดทั้งสิ้นนี้ ผมทำไปบนความรู้สึกของร่างกายของผมเอง กับความรู้ที่มีมากมายบนอินเตอร์เนท หนังสือต่าง ๆ ร่างกายของสิ่งมีชีวิตยังคงเป็นสิ่งมหัสจรรย์ที่สุดอย่างหนึ่งที่ธรรมชาติสร้างมา ความสามารถในการปรับตัว ซ่อมแซมตัวเอง มีมากมาย เพียงแต่ว่าเราต้องไม่ทิ้งมันไป ต้องฝึกฝน เข้าใจ และใช้มันอย่างถูกวิธี ทักษะนี้เป็นสิ่งสำคัญและผมเชื่อว่ามันจะเป็นบันไดไปสู่สุขภาพที่ดี เป็นจุดหมายปลายทางที่แท้จริงของปัจจัยที่สี่ คือ ความไม่ต้องการยารักษาโรคใด ๆ ทั้งสิ้น

ผมพยายามเขียนบทความนี้ให้กับบุคคลหนึ่งที่มีอาการบาดเจ็บที่หัวเข่า และได้รับคำแนะนำจากแพทย์ให้เลิกเล่นทุกอย่าง (ตั้งแต่อายุยังน้อย) ซึ่งผมเองไม่มีคำแนะนำดี ๆ ใด ๆ ให้เลย แต่ผมมีความคิดของผมเองว่า ถ้าผมต้องทำตัวเหมือนคนแก่ง่อยเปลี้ยเสียขา ไม่สามารถเล่นกีฬาใด ๆ ได้เลยนอกจากว่ายน้ำตามที่หมอผมสั่ง แล้วผมเป็นเด็กดีทำตามหมอเพราะกลัวว่าในอนาคตผมจะกลายเป็นคนง่อยเปลี้ยเสียขา ผมสู้ลองทำตัวเป็นคนมีขาไปก่อนดีกว่าแล้วเมื่อไรง่อยเปลี้ยเสียขาจริง ๆ แล้วทำตามที่หมอว่าคงไม่สาย ผมว่าคงกำไรชีวิตสำหรับผม ถ้าจะให้แนะนำกันจริง ๆ ผมคงพูดได้แต่ว่า “Just do it and listen to yourself” ครับ

Embody Experience


เมื่อพูดถึงเก้าอี้ที่ถูกออกแบบตามหลัก Ergonomic ไม่มีชื่อใดที่จะยิ่งใหญ่ไปกว่า Bill Stumpf ในปี 1995 ที่เขาให้กำเนิด Aeron Chair ที่ปัจจุบันกลายเป็นเก้าอี้ทำงานที่ใคร ๆ ก็ใฝ่ฝันหา ใช้เวลากว่า 14 ปี กว่าที่ Hermann Miller จะกล้าพอที่จะออกเก้าอี้ทำงานออกมาเทียบเคียงกับ Aeron แม้ว่า Bill Stumpf จะได้เสียชีวิตไปก่อนที่จะได้เห็นการเปิดตัวที่ยิ่งใหญ่ของ Embody Chair Jeff Weber ซึ่งสานงานต่อเนื่องมาจากเป้าหมายที่มากไปกว่าสิ่งที่ Aeron Chair ได้เคยทำไว้เก้าอี้ทำงานที่ไม่เพียงแต่ถูกหลัก Ergonomic เท่านั้น เก้าอี้ทำงานตัวนี้ต้องทำให้เกิด positive effect ต่องานของคุณด้วย

ผมไม่รู้ว่าจะโชคดีหรือไม่ที่มีหลังที่อ่อนแอด้วยโรคกระดูกสันหลังเสื่อมที่คุกคามผมมากว่า 10 ปีหลังจากอุบัติเหตุยกของหนัก และภรรยาที่เข้าใจเนื่องด้วยเธอเองก็เคยประสบอุบัติเหตุกระดูกสันหลังจนต้องกายภาพบำบัดตั้งแต่ยังเยาว์วัย แม้ว่าผมจะใช้ที่นอนยางพาราที่ดีที่สุดในโลก ปาเทกซ์ รองรับหลังผมอย่างน้อย ๆ 6 ชั่วโมงต่อวัน แต่ด้วยภาระงานที่ต้องนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์กว่าวันละ 10 ชั่วโมง ก่อนที่ผมจะมีอายุขึ้นเลขสี่และต้องนั่งรถเข็น ผมก็ได้เจ้า Embody Chair ตัวนี้เป็นของขวัญวันเกิด

Embody ตัวนี้เดินทางมาจากต่างประเทศ ข้ามน้ำข้ามทะเล ก่อนที่จะมาขึ้นรถสิบล้อจาก กทม. มาสู่ปัตตานีบ้านเกิดของผมอีกต่อหนึ่ง ด้วยราคาสินค้าที่สูงเกินกว่าจะบรรยายได้ ณ ที่นี้ และความคุ้นเคยกับการสั่งสินค้าจาก

แอปเปิ้ลสตอร์ที่ส่งของมาจากเมืองจีน บรรจุภัณฑ์ที่มากับเก้าอี้ Hermann Miller ถือว่าไม่ผ่านอย่างแรง ถ้าหากว่าใครเป็นคนจู้จี้สักหน่อยอาจจะไม่ค่อยสบายใจเอาเสียเลยเมื่อเห็นสภาพบรรจุภัณฑ์ที่เดินทางกว่าพันกิโลเมตร และคงตรวจสอบหาตำหนิที่น่าจะเกิดขึ้นได้ไม่ยากนักโดยสภาพการหีบห่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาที่หลาย ๆ คนร้องเรียนเต็มอินเตอร์เนท ก็คือล้อที่เสียหาย ซึ่งดูแล้วไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ยากเท่าไรนัก เพราะเก้าอี้จะถูกวางอยู่บนกล่องขนาดใหญ่ที่ดูน่าโยนเป็นอย่างมาก โชคดีที่สิ่งนี้ไม่ได้เกิดกับเก้าอี้ของผม อย่างไรก็ตามไม่ใช่ว่าบรรจุภัณฑ์จะเลวร้ายจนถึงที่สุด เก้าอี้จะถูกห่อด้วยพลาสติกอย่างดี บริเวณที่จะมีโอกาสถูกกระทบกระทั่งได้ง่าย เช่น บริเวณที่วางแขน ขาเก้าอี้ ก็จะมีสติกเกอร์หุ้มไว้อีกชั้น แต่สภาพกล่องที่ดูบึกบึน และเก้าอี้ทำงานที่หนักที่สุดที่คุณจะเคยพานพบมา Embody น่าจะถูกโยนกระแทกพื้นได้ง่าย ๆ และอาจเป็นต้นเหตุของล้อเสียหายที่ว่า

ไม่ต้องพูดพร่ำทำเพลง เมื่อเปิดกล่องเรียบร้อย ผมก็กระโดดลงนั่งทันที ไม่สนใจว่าวิธีปรับมันเป็นอย่างไร สัมผัสแรกที่ได้นั่งลงบนเจ้า Embody ก็รู้สึกดีใจที่เลือกตัวนี้แทนที่จะเป็น iconic Aeron chair เพียงเพราะ ตาข่ายพลาสติกของ Aeron chair นั้นค่อนข้างจะกระด้างเมื่อเทียบกับ ผ้าหุ้มของ Embody แม้ว่าผมจะไม่ได้ลงทุนอัปเกรดเนื้อผ้าเป็นรุ่นที่ควรจะนุ่มสบายไปกว่านี้ โดยเฉพาะเมื่อการทำงานที่บ้านส่วนใหญ่ผมจะใส่เพียงบอกเซอร์เพียงตัวเดียว สัมผัสที่ว่าผ่านต้นขาด้านหลัง และแผ่นหลังอันเปลือยเปล่านับว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง Embody ใช้แนวความคิดเดียวกันกับ Aeron นั่นคือไม่ใช้โฟมรองรับร่างกายใด ๆ ทั้งสิ้น เลือกที่จะใช้ membrane ที่ระบายอากาศได้แทนที่ นอกจากนี้ระบบการรองรับร่างกายของเก้าอี้ทั้งสองประเภทนี้เรียกว่า topographically neutral suspension ที่อ้างว่าจะสามารถเข้ากับรูปร่างของผู้นั่งได้หลากหลายกว่าระบบรองรับด้วยโฟม ร่วมกับเทคโนโลยีที่เรียกว่า Pixelated Support จะทำให้ผู้นั่งมีความรู้สึกว่าลอยล่องอยู่กลางอากาศ (ซึ่งนั่นก็เวอร์เกินไป) สัมผัสแรกที่ผมได้นั่งคือ นุ่มสบายดี บริเวณเบาะนั่ง

และผนักพิงเข้ารูปได้ดีกับก้นและหลังของผม ไม่ว่าจะขยับไปทางไหน ผมถือว่าเทคโนโลยีนี้ทำงานได้ดีครับ พ่วงด้วยการระบายอากาศ ผมมั่นใจว่าถ้าพูดกันเพียงแค่การสัมผัส ไม่ว่าจะเป็นแรงดันผิวสัมผัส หรือการระบายอากาศรวมไปถึงความร้อนตามผิวสัมผัส คุณจะไม่มีวันเจอเก้าอี้ตัวใดทำได้ดีไปกว่า Embody แน่นอนครับ

การออกแบบเก้าอี้ตัวนี้ เข้ากับยุคสมัย iT ที่ออกแบบสำหรับการใช้นั่งทำงานกับคอมพิวเตอร์เป็นหลัก ซึ่งเป็นงานของผมเลย อย่างไรก็ตาม หลักการในการออกแบบนั้น แตกต่างไปจากเก้าอี้ทำงานหลาย ๆ รุ่น นั่นก็คือ หลักการการใช้งานเก้าอี้ตัวนี้คือการใช้พนักพิงเพื่อรองรับหลังตลอดเวลาในท่าที่ไม่ได้มีเจตนาที่จะให้หลังตั้งตรง พนักพิงมีหน้าที่

หลักในการถ่ายน้ำหนักร่างกายออกจากส่วนก้นของเรา ซึ่งเป็นการออกแบบที่โยนความรับผิดชอบไปให้กับพนักพิงมากที่สุดเท่าที่เคยพบมา ในขณะที่ข้อแนะนำในการนั่งที่ถูกหลักกายภาพที่แนะนำโดยหนังสือหลาย ๆ เล่มที่เขียนโดยแพทย์กระดูกนั้น จะมีหลักการให้นั่นหลังตรงที่สุดโดยให้น้ำหนักตัวตกลงบนก้น และให้หลังเป็นรูปตัวเอสตามธรรมชาติเหมือนกับท่ายืนของเรา แนวโน้มของหลักการทางการแพทย์นี้คือให้เรานั่งโดยมีส่วนก้นอยู่สูงกว่าเข่าเล็กน้อย แต่ Embody เน้นให้หน้าขาตั้งราบขนานกับพื้น และหลังมีแนวโน้มที่จะถ่ายน้ำหนักไปด้านหลังโดยมีพนักพิงรองรับทั้งหมด ใครก็ตามที่ปรับตัวกับการนั่งตามหมอสั่งจะพบว่าเก้าอี้ตัวนี้มีท่านั่งที่ไม่คุ้นเคยเลยเสียทีเดียว ความรู้สึกแรกของผมก็รู้สึกสบายดี แต่ระยะยาวนั้นยังไม่ทราบ

Aeron ก็มีหลักการคล้าย ๆ กันในการกระจายน้ำหนัก อย่างไรก็ตามยังให้อิสระในการปรับระดับเบาะนั่งให้เทไปด้านหน้าตามคำแนะนำของแพทย์ได้ แต่ Embody จะไม่สามารถทำได้เลย นอกจากจะให้ต้นขาที่ขนานกับพื้นเพียงอย่างเดียวเท่านั้น และถ่ายน้ำหนักไปยังแผ่นหลัง ซึ่งเจ้าแผ่นรองรับหลังที่ดูคล้าย ๆ กระดูกสันหลังของ Embody จะรองรับและปรับตัวเข้ากับแผ่นหลังของเราไม่ว่าเราจะขยับตัวอย่างไร และมันสามารถทำได้ดีมากเลยจริง ๆ ครับ และต้องยกนิ้วให้ว่าระบบนี้รองรับแผ่นหลังได้ดีกว่า Aeron ที่มีเพียง Lumbar Support ที่ปรับระยะได้ เท่านั้น แต่ขณะที่ Embody สร้าง S-shape curve ของหลังได้ดีมาก พร้อมทั้งปรับความแข็งของการรองรับ และความหนืดในการเอนหลัง ร่วมก้บการปรับรูปแบบการแ

อ่นตัวของ S-curve ได้อย่างเป็นธรรมชาติ ทั้งหมดนี้จะต้องใช้ลูกบิดปรับ friction ทั้งสองลูก ช่วยในการ adjust เพี่อที่จะได้ความหนืด S-curve และความแข็งในการรองรับที่คุณต้องการ ซึ่งผมถือว่าเป็นทั้งข้อดีและข้อเสียของระบบนี้ ข้อดีก็คือว่าเราปรับได้อย่างไม่สิ้นสุด แต่ข้อเสียคือความสัมพันธ์ของระบบการปรับทั้งสองนั้น ปรับอย่างหนึ่งจะทำให้อีกอย่างเปลี่ยนไปด้วย ต้องปรับไปมาอยู่หลายเที่ยวกว่าจะลงตัวจริง ๆ ผมยังรู้สึกว่าโดยเทคโลโลยีและความเป็นผู้นำทางเก้าอี้ Ergonomic Hermann Miller น่าจะสามารถทำให้การปรับทั้งทั้งสองระบบเป็น independent กันได้นะ ผมรู้สึกอย่างนั้น แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ครับ

แน่นอนว่าเก้าอี้ราคานี้ย่อมสามารถปรับความสูงและกำหนดระดับการเอนหลังได้ (tilt limiter) และอื่น ๆ ที่คุณจะควรคาดหวังจากเก้าอี้ Hi-End ทั่วไป และ Embody มีให้คุณอย่างครบถ้วน แต่การที่มีเก้าอี้ขนาดเดียวแทนที่จะมีสามขนาดเหมือนอย่าง Aeron อาจจะทำให้คนที่มีความสูงผิดปกติมาก ๆ อาจจะใช้งาน Embody ได้ไม่ดีเท่า Aeron ก็เป็นได้ ส่วนผมเองด้วยความสูง 171cm เรื่องนี้ไม่

เป็นปัญหา Tilt Limiter ของ Embody ปรับได้เพียงสี่ระดับ ผมมีความรู้สึกว่าน้อยเกินไป มีความรู้สึกหงุดหงิดเวลาต้องการปรับในระยะประหลาด ๆ ที่ผมต้องการ อย่างไรก็ตามคาดว่าวิธีการใช้เก้าอี้คงไม่ได้เจตนาให้ทำแบบนั้น ผมใช้วิธีการปรับความหนืดของการเอนหลังให้ฝืดขึ้น ความรู้สึกที่ต้องการก็เกิดขึ้นโดยไม่ต้องใช้ Tilt Limiter เลยจริง ๆ

สิ่งหนึ่งที่ใช้เทคโนโลยีไม่มากแต่เก้าอี้ตัวอื่นไม่ค่อยทำกันนั่นคือที่วางแขน Embody สามารถปรับทั้งสูงต่ำและความกว้างแคบของที่วางแขนได้แบบไม่มีข้อจำกัดเลยทีเดียว สูงต่ำข้างละเก้าระดับ กว้างแคบอีกข้างละสี่ระดับ การปรับสะดวกเพียงแค่ดันเข้าออก ขึ้นลง (รวมกดปุ่มนิดหน่อย) ทำให้การปรับที่วางแขนทำได้ง่าย และสามารถทำได้ตลอดเวลา ตามที่ต้องการ ผมปรับเปลี่ยนแทบจะทุก ๆ สิบนาทีเลยทีเดียว ตามอริยาบทที่เปลี่ยนไปเวลานั่งทำงาน ไม่ว่าจะเป็นท่ามือซ้ายท้าวคาง (ยกที่วางแขนซ้ายสูงสุด) มือขวาไถ track pad (ที่วางแขนขวาระดับโต๊ะ) หรือ อื่น ๆ อีกมากมาย การออกแบบให้มีการปรับกว้างแคบ ร่วมกับ platform ในการวางแขนที่ใหญ่โต บนแผ่นโฟมนุ่ม ๆ ชนะการออกแบบของ Aeron อย่างขาดลอย ที่ใช้โฟมที่แข็งกว่า platform เล็กกว่า และเลือกที่จะใช้วิธีการบิดซ้ายขวาแทนการปรับเข้าออก ที่วางแขนผมถือว่าเป็นอุปกรณ์สำคัญที่จะช่วยให้เกิดท่านั่งที่เหมาะสม และห่างไกลจากพฤติกรรมที่ติดตัวมาชั่วชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการท้าวคาง ยกไหล่ อีกทั้งจะยังช่วยรองรับแขนในระดับที่ต้องการ ลดความเมื่อยล้าจากการนั่งทำงานเป็นระยะเวลานานได้ดี ผมไม่เข้าใจว่าทำไมเก้าอี้หลายรุ่นจึงไม่ค่อยเน้นการปรับเปลี่ยนตรงจุดนี้

สิ่งหนึ่งที่น่าจะเลียนแบบกันได้ยากที่สุดคือ Embody สามารถปรับความลึกของเบาะนั่งได้ เนื่องจากเบาะไม่ได้ทำจากโฟม แต่เป็นเพียงผ้าที่ขึงอยู่บนแผ่นรองรับที่มีหน้าตาคล้าย ๆ กับ pocket spring ที่ว่าอยู่บนสะพานขึงอีกที ด้วยระบบนี้ทำให้ เบาะนั่งสามารถปรับความลึกเข้าออกได้เป็นระยะที่มากพอสมควร คราวนี้เป็นการออกแบบที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับผมครับ เก้าอี้ตัวที่ผ่านมาทุกตัวมีความลึกของเบาะที่มากเกินกว่าต้นขาของผมจะรับได้ ทำให้ผมมีแนวโน้มที่จะนั่งแอ่นหลังกับเก้าอี้ทุก ๆ ตัว ซึ่งท้ายที่สุดผมต้องแก้ไขด้วยการใส่หมอนรองหลังหลายใบเพื่อให้ผมสามารถนั่งได้อย่างถูกสุขลักษณะ แต่สำหรับ Embody ไม่ต้องเลยครับ ปรับนิดเดียว “เอาอยู่” Aeron แก้ไขปัญหานี้ด้วยขนาดเก้าอี้สามขนาด ซึ่งในตัวที่ผมลองก็พอดีตัวครับ ถึงปรับไม่ได้แต่ก็พอดีอยู่แล้ว Embody ไม่มีพนักพิงศีรษะครับ ไม่เป็นเรื่องใหญ่สำหรับผม เพราะผมไม่ค่อยพิง และไม่เคยนั่งหลับบนเก้าอี้ ส่วนนักฟังเพลงที่คิดจะใช้ Embody มานั่งฟัง อาจจะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีเช่นกัน (แต่ผมว่าถ้านั่งฟังเพลง ผมเลือก Recliner ดีกว่า สบายกว่า อิอิ)

สุดท้ายที่ไม่มีใครเคยคิดมาก่อนเลย แต่ผมพบว่าเป็นการออกแบบที่ชาญฉลาดครับ ปัญหาที่เป็นเหมือนเส้นผมบังภูเขา พนักพิงของ Embody มีลักษณะที่มีการคอดเข้าในช่วงกลาง ๆ ครับ เพื่อรองรับการขยับตัวโดยเฉพาะช่วงแขน ไม่ว่าจะเป็นการพักแขนจากการพิมพ์ การบิดขี้เกียจ หรือการยืดเส้น พนักพิงที่ถูกออกแบบมาอย่างดีที่จะแนบติดกับหลังคุณตลอดเวลานั้น ไม่เคยมีสะดุดกับส่วนหนึี่งส่วนใดของแขน ศอก ของคุณเลย มันทำให้มีความรู้สึกอิสระ โล่ง และบางครั้งรู้สึกเหมือนล่องลอยอยู่กลางอากาศจริง ๆ

สุดท้ายถ้าจะถามว่าควรซื้อมั้ย ผมคงตอบให้ไม่ได้ครับ แต่จะบอกถึงการตัดสินใจของผมระหว่าง Aeron กับ Embody ไว้อย่างนี้ จำไว้ในใจก่อนนะครับว่า Embody ราคาสูงกว่า Aeron เกือบ ๆ สองเท่่า ผมจะแนะนำให้คุณซื้อ Aeron ถ้าหากว่า

  1. คุณใส่เสื้อผ้านั่งทำงานสม่ำเสมอ
  2. คุณมีโอกาสได้ลอง Aeron ทั้งสามขนาดและมีขนาดใดขนาดหนึ่งเข้ากับรูปร่างของคุณอย่างพอดี
  3. คุณไม่เป็นโรคกระดูกสันหลัง และไม่สามารถสัมผัส ถึงความแตกต่างระหว่างพนักพิงของ Aeron และ Embody
  4. คุณไม่ได้นั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์หรือนั่งทำงานน้อยกว่า 10 ชั่วโมงต่อว้น
  5. คุณต้องถามตัวคุณเองว่ามันคุ้มหรือไม่ เพราะที่ระดับราคานี้ law of dimishing return เริ่มเข้ามามีผลเยอะแล้วครับ
  6. คุณไม่มั่นใจว่าของเขาดีจริง เพราะยังไม่ได้ผ่าน test of time อย่างเช่น Aeron และคุณยังไม่เคยเห็นเก้าอี้ตัวนี้ในบ้านใครเลยในนิตยสารบ้านชั้นนำทั่วประเทศ
ถ้าหากว่าคุณผ่านทั้งหกข้อนี้ เชิญเลยครับ Embody มีให้เลือกหลากสีสัน ไม่ใช่ตราบใดที่ยังเป็นสีดำเหมือน Aeron เฟรมมีสีขาวและดำ ฐานล้อมีสามแบบไททาเนียม ดำ และโครเมียม เนื้อผ้ามีสองประเภทนุ่มและนุ่มกว่า พร้อมกับสีให้เลือกเยอะมาก ไปหา combination กันเอาเองครับ ผมเลือกสีที่มีในหนังสือมากที่สุด เพราะคิดว่าเมื่อเวลาผ่านไป Embody ก็จะกลายเป็น iconic chair ในระดับเดียวกันกับ Aeron ได้อย่างไม่ขัดเขิน และสีนี้คือสีที่ Hermann Miller เลือกที่จะใช้เปิดตัวครับผม