ผมเล่นไตรกีฬามา 21 ปี แต่ไม่เคยคิดว่าผมจะเข้าแข่งขันระยะทางระดับไอรอนแมนมาก่อน แน่นอนว่าเหมือนนักไตรกีฬาคนอื่น ๆ ที่ผมจะคอยติดตามรายการชิงแชมป์โลกที่โคนาทุก ๆ ปี และมันสร้างแรงบันดาลใจให้กับผมในทุก ๆ ปี แต่ผมไม่ได้แรงบันดาลใจที่จะเข้าร่วมในระยะนี้ แต่เป็นแรงบันดาลใจที่จะทำการซ้อมอย่างสม่ำเสมอและแข่งขันอย่างสม่ำเสมอมาเป็นเวลาสองทศวรรษ แต่ปี 2014 ปีนี้มันแตกต่างออกไป มีบางอย่างดลบันดาลใจให้ผมตั้งกองทุน “เพื่อซูริ” เพื่อที่จะจัดหาทุนบริจาคให้กับหน่วย NICU โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ในขณะเดียวกันผมเริ่มเข้ารักษาโรคตับอักเสบบีเรื้อรัง ซึ่งจะต้องใช้ยาอินเตอร์ฟิวรอนทุกสัปดาห์เป็นเวลา 48 สัปดาห์ การที่จะต้องเจาะตับ อาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นทำให้หลาย ๆ คนที่เข้ารับการรักษามีกำลังใจไม่สู้จะดีเท่าไร จากที่ผมสัมผัส
ผมยอมรับว่าอาการข้างเคียงในช่วงแรกเข้าขั้นที่เรียกได้ว่าทรมาน แต่ไม่กี่เข็มก็หายไป เหลือแต่อาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด หัวใจเต้นเร็ว เหนื่อยง่าย หงุดหงิด เหล่านี้เข้ามาทดแทน ในวันที่ผมตัดสินใจเข้ารับการรักษา ผมก็ตัดสินใจลงทะเบียนรายการไอรอนแมนลังกาวีคู่ ๆ กันไป ในเบื้องต้นผมต้องการเป้าหมาย ความท้าทาย เพื่อที่จะดึงจิตใจผมออกจากความเป็นจริงที่จะต้องฉีดยาตัวเองทุก ๆ สัปดาห์เป็นระยะเวลาเกือบปี สำหรับคนที่เป็นโรคกลัวเข็มอย่างผมมันเป็นเรื่องใหญ่โตมาก และเป็นความเครียดเพียงอย่างเดียวในการเข้ารักษาครั้งนี้ การกำหนดให้ตัวเองซ้อมเพื่อรายการไอรอนแมนดึงความสนใจออกจากเข็มได้เป็นอย่างดี ผมฉีดยาเข็มแรก ลงทะเบียนเพื่อร่วมแข่งขัน และเริ่มต้นซ้อมอย่างเป็นทางการ
หลังจากเราสามารถตั้งกองทุนเพื่อซูริได้สำเร็จ กระบวนการถัดไปคือการรณรงค์เพื่อหาเงินบริจาคต่อเนื่องภายหลังจากการระดมทุนครั้งแรกสำเร็จไปแล้ว ผมจึงตัดสินใจใช้การซ้อมและแข่งขันไอรอนแมนเป็นตัวกำหนด โดยผมจะบริจาคสองบาทต่อกิโลเมตร ผมซื้อแผนการฝึกซ้อมระยะเวลา 16 สัปดาห์ที่จริง ๆ แล้วค่อนข้างที่จะสั้นและโหดเกินไปสำหรับความฟิตระดับผม แต่มันเป็นระยะเวลาที่กำลังพอดี ๆ ผมมีเวลาเตรียมล่วงหน้าก่อนเข้าโปรแกรมประมาณ 3-4 สัปดาห์ ในขณะเดียวกันผมใช้การแข่งขันต่าง ๆ ร่วมกับเพื่อนร่วมทีม Very Forty เพื่อช่วยให้ผมเข้าซ้อมอย่างสม่ำเสมอ หลัก ๆ คือ การวิ่ง O2O และ Audax 200 Audax 300 ที่เตรียมกำลังใจในการปั่นเกินระยะ 180 km ที่ต้องพบในรายการไอรอนแมน ในขณะที่จะต้องคอยวัดความรู้สึกที่เกิดขึ้นในร่างกายหลังจากรับยามาเป็นระยะเวลานาน
มีเพื่อน ๆ หลายคนเข้าร่วมเป็นกำลังใจด้วยการร่วมบริจาคในการซ้อมครั้งนี้ หลายคนร่วมบริจาคจากระยะที่ตัวเองซ้อม หลายคนช่วยรณรงค์เพื่อช่วยบริจาคด้วยกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งหมดทั้งสิ้นเกิดขึ้นในช่วง 16 สัปดาห์ที่ผมซ้อมและรับยา ในช่วงสัปดาห์แรก ๆ ผลข้างเคียงเป็นแบบทรมาน ปวดกระดูก เป็นไข้ ในช่วง 2-3 วันที่รับยา หลังจากนั้นผมก็สามารถซ้อมและร่วมแข่งขันรายการย่อย ๆ ต่าง ๆ ที่จัดเตรียมไว้ได้ ในช่วงแรก ๆ การซ้อมที่ระยะทาง 200+ km ต่อสัปดาห์เป็นเรื่องไม่ยากนัก แต่หลังจากผ่านไปสัก 10 สัปดาห์อาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร หัวใจเต้นเร็วเริ่มเห็นเด่นชัด ความสามารถในการสร้างพลังงานของตับ ทั้งในแง่ของการสร้างไกลโคลเจนทดแทน เปลี่ยนสารอาหารให้เป็นพลังงาน ลดลงอย่างชัดเจน ผมมีปัญหาสร้างไกลโคลเจนสะสม และการซ้อมระยะไกลสัปดาห์ละครั้งเริ่มเป็นปัญหา พลังงานหมดเร็วขึ้น ๆ ในทุก ๆ สัปดาห์ที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่อาการหัวใจเต้นเร็วนั้นก็ทำให้ความเร็วในการปั่น วิ่งของผมตกลงอย่างเห็นได้ชัด เมื่อรวมสองสิ่งนี้เข้าด้วยกันมันเป็นปัญหาที่ใหญ่มาก ๆ ความเร็วที่ลดทำให้ผมต้องใช้เวลานานขึ้นในระยะทางเท่ากัน ในขณะที่ความต้องการพลังงานต่อเวลายังค่อนข้างคงที่ พลังงานสะสม ความสามารถในการเปลี่ยนพลังงานน้อยลง ผมเจอกับปัญหาพลังงานหมดระหว่างแข่ง ซ้อม บ่อยครั้ง เรียกได้ว่าแทบทุกครั้งที่ซ้อมยาวก็ว่าได้ อย่างไรก็ตามการซ้อมก็ยังต้องดำเนินต่อไป แม้ว่าระยะเวลาการซ้อมจะไม่สามารถทำได้เท่ากับแผนที่ซื้อมาก็ตาม
เมื่อการแข่งขันใกล้เข้ามา สภาพร่างกายของผมเรียกได้ว่าอยู่ใกล้จุดต่ำสุดที่ผมเคยเป็น ในบ่อยครั้งผมจำเป็นต้องนอนกลางวันเพื่อเพิ่มพลัง ในขณะที่ช่วงกลางคืนดูดพลังงานของผมไปอย่างมาก ช่วงเช้าการตื่นเป็นไปด้วยความยากลำบาก ความอ่อนเพลียเป็นเหมือนนามสกุลของผมที่ติดตัวไปตลอดเวลาเสียแล้ว อย่างไรก็ตามด้วยประสบการณ์ทรมานร่างกายมาอย่างยาวนาน มันไม่ได้ทำให้ผมเครียดได้เลย ผมคำนวณแผนคร่าว ๆ ในการแข่งขันที่จะต้องทำให้สำเร็จในกำหนดเวลา 17 ชม. แล้ว มันมีความเป็นไปได้อยู่มากที่จะจบการแข่งขันครั้งนั้นแบบพอดี ๆ และไม่กดดันร่างกายมากเกินไป ผมกำหนดการว่ายน้ำไว้ 2 ชม. ซึ่งช้ามากสำหรับความเร็วเฉลี่ยปกติที่ผมว่าย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็มีความจำเป็นเนื่องจากสระว่ายน้ำที่ผมใช้ปิดซ่อมแซมตลอดช่วงระยะเวลาซ้อมที่กำหนดไว้ ผมมีโอกาสซ้อมว่ายน้ำรวม ๆ ได้ระยะทางไม่เกิน 2-3 เท่าของระยะแข่ง ในขณะที่ผมเน้นการซ้อมปั่นจักรยานเนื่องจากมีอะไรใหม่ ๆ ที่ผมต้องหัด ได้แก่ระยะทาง 200 km นั้นการใช้พลังงานสะสมเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ต้องมีการฝึกการเติมพลังงานระหว่างทาง และล่วงหน้าให้สามารถย่อยและดึงมาใช้ได้ทันในช่วงครึ่งหลังของการปั่น อีกทั้งต้องมีเหลือไว้ใช้ในช่วงวิ่งอีกด้วย หัวใจที่เต้นเร็วทำให้ผมต้องทำความเร็วที่ประมาณ 24-26 km/hr แทนที่จะเป็น 28-30 km/hr ที่ผมใช้ซ้อมและแข่งโดยปกติ ผมจึงกำหนดเวลาแข่งเอาไว้ที่ 8 hr ซึ่งรวมเวลาในการหยุดเติมอาหารแล้ว ความเร็วเฉลี่ย 22km/hr รวมพัก น่าจะพอทำได้สบาย ๆ
ในขณะที่กำหนดการในการซ้อมวิ่งในตารางซ้อมมีค่อนข้างน้อย ผมเองซึ่งมีปัญหาหลังมาตั้งแต่รายการ TNF100 ตอนต้นปี ทำให้ไม่สามารถวิ่งได้เกิน 30 km อีกเลย ร่วมกับอาการที่หัวใจเต้นเร็วนั้น ทำให้ประสบการณ์วิ่ง ที่ใส่เข้าไปในโปรแกรมนอกจากจะน้อยไปมากแล้ว ยังได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่ไม่ดีกลับมาในทุก ๆ สนามแข่งขันตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะเป็นอาการเจ็บหลังที่ระยะ 18km ที่รายการพัทยามาราธอนจนต้องเดินในระยะที่เหลือจบที่เวลา 6:20 ชั่วโมง หรือ ฮาร์ฟมาราธอนสงขลาที่มีอาการเจ็บตั้งแต่ระยะ 15 km จะต้องกึ่งเดินกึ่งวิ่งเกาะ trailer ที่เข็นไปด้วยจนเข้าเส้นที่เวลา 2:40 ชั่วโมง อำนวยลงความเห็นว่าการซ้อมวิ่งของผมน้อยเกินไป ซึ่งผมเองก็เห็นด้วยแต่จำเป็นต้องเลือกไม่ให้มีอาการบาดเจ็บก่อนการแข่งขันมากกว่าที่จะกดซ้อมเพื่อให้สามารถรับระยะทางมาราธอนได้โดยไม่เครียด และถ้าต้องเดินจริง ๆ ผมยังมีเวลาทั้งหมดเหลืออีก 7 ชม. ในการเดินระยะมาราธอนซึ่งไม่น่าจะเป็นเรื่องลำบากเกินไปนัก เพราะเคยเดินมาแล้ว ในสองรายการ
ผมเดินทางไปลังกาวีพร้อมครอบครัวตามปกติ ตามสไตล์ไปยกแกงค์ของผม เราเดินทางล่วงหน้าไปพักที่สตูลก่อนหนึ่งวันก่อนจะจับเรือเที่ยวเช้าไปพร้อม ๆ กับกลุ่มคนไทย O2Max และ Van Gang ที่เดินทางมาจากกรุงเทพทั้งทางรถ หรือทางเครื่องบิน ลังกาวีจริง ๆ แล้วห่างจากบ้านผมที่ปัตตานีเพียง 3-4 ชม การเดินทางไปแข่งต่างประเทศครั้งแรกของผมจึงเป็นเรื่องที่สะดวกกว่าการแข่งขันภายในประเทศอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นที่เขาใหญ่ หรือหัวหิน ที่ค่อนข้างจะลำบากต่อการเดินทางมากกว่ามาก ผมจึงเริ่มสนใจการแข่งขันที่มาเลย์เซียรายการอื่น ๆ เพิ่มขึ้นจากการได้เดินทางไปครั้งนี้ ลังกาวีเป็นเมืองเล็ก ๆ ความเจริญน้อยกว่าหาดใหญ่นิดหน่อย เมื่อไปถึงในวันแรกเราจึงไม่ค่อยได้ทำอะไร นอกจากที่ผมไปลงทะเบียน พักผ่อน และเตรียมอุปกรณ์สำหรับวันหนัก ๆ ในอีกสองวันข้างหน้า เนื่องจากปัญหาของระบบพลังงานของผม ผมจึงไม่เข้าร่วมการซ้อมว่ายน้ำ หรือปั่นรอบเกาะที่ผมมักจะทำก่อนรายการแข่งสำคัญ ๆ งานนี้ขอเก็บพลังงานอย่างเดียว
เช้าวันแข่งขันเริ่มต้นแบบง่าย ๆ คนไทยร่วมถ่ายรูปด้วยกันก่อนจะแยกย้ายกันไปตามเวลาว่ายน้ำ เพราะการแข่งขันนี้จะมีการปล่อยตัวแบบ rolling start ซึ่งแม้ว่าการปล่อยตัวแบบ mass start จะสร้างความได้เปรียบสำหรับผมที่ว่ายน้ำได้ดีกว่าเฉลี่ย แต่ rolling start ก็ลดความเครียดของการแข่งขันของผมได้มาก เพราะผมแทบไม่ได้ซ้อมว่ายน้ำมาเลย ปล่อยตัวทีละสี่คนเวลาใครเวลามันเริ่มจับตั้งแต่เกินผ่านจุดกระโดดลงน้ำ ทะเลช่วงที่แข่งขันเป็นดินโคลนและไม่ลึกมากนัก ทำให้น้ำเป็นสีดำสนิทไม่สามารถมองเห็นอะไรได้เลย ผมว่ายไปในกลุ่ม 1:30-1:45 ชม. ซึ่งค่อนข้างผิดไปเล็กน้อย ผมต้องว่ายแซงหลาย ๆ คน ในขณะที่บางคนคิดเอาว่าตัวเองว่ายช้าไปออกตัวเร็ว ๆ จะได้มีเพื่อนปั่นจักรยานเยอะ ๆ ทำให้ในช่วงครึ่งแรกของระยะทาง 3.8 km นั้น ผมใช้เวลาส่วนใหญ่ในการว่ายหลบคนด้านหน้าเพื่อแซงขึ้นไป ผมพยายามว่ายไหล ๆ ช้า ๆ ที่สุดเท่าที่จะทำได้ เมื่อถึงช่วงกลับตัวผมเริ่มแซงหมดแล้ว น่าจะมาเข้ากลุ่มที่ความเร็วใกล้เคียงกัน การว่ายในช่วงครึ่งหลังเป็นไปโดยง่าย กล้ามเนื้อแขนที่ตึง ๆ ในช่วงแรกเริ่มหาย ว่ายสบายขึ้น แต่ข้อเท้าที่เจ็บแปลบ ๆ ตอนเตะขาเริ่มทำให้ผมกังวล
ผมว่ายเข้าเส้นแบบสบาย ๆ แทบไม่มีความเหนื่อยเลย เหลือบดูนาฬิกา 1:24 hr ก็ตกใจนิด ๆ ว่าเราว่ายเร็วไปหรือเปล่า กลัวพลังงานหมด ผมเดินเรื่อย ๆ เพื่อเข้า T1 เจตนาคือประหยัดพลังงาน และมีความสุขกับบรรยากาศการแข่งขัน ผมเปลี่ยนชุดทุกชิ้นใน T1 ใช้กางเกงเอี๊ยม เสื้อแขนยาว พกอาหารเต็มหลัง ก่อนที่จะค่อย ๆ เดินออกไป ผมชอบแหะการมีห้องแต่งตัวแบบนี้ จากที่เคยเห็นว่ามันยุ่งยากเมื่อเทียบกับรายการ Challenge เปลี่ยนชุด ไม่รีบ ไม่ต้องคอยเห็นคนที่คอยวิ่งรีบ ๆ ออกไปพร้อมจักรยาน พอผมเปลี่ยนชุดเรียบร้อยก็เดินเอื่อย ๆ ไปที่จักรยาน ไม่เครียดเลย ในใจคิดว่าผมมีเวลาเผื่อสะสมไว้แล้วครึ่งชั่วโมง เสร็จแล้วก็ค่อย ๆ เข็นจักรยานออกไป
การปั่นจักรยานจะเป็นการปั่นสองรอบ รอบละ 90 km ซึ่งจริง ๆ แล้วตอนที่ผมไม่แข่งก็รู้สึกว่ามันน่าเบื่อที่จะปั่นซ้ำสองรอบ แต่ในวันแข่งขันผมว่าแบบนี้มันก็ดีเหมือนกัน การวางแผนการแข่งขันสามารถทำได้ง่ายขึ้น ผมเพิ่งรู้ว่าในการแข่งขันยาว ๆ แบบนี้เขาจะมีถุงพิเศษที่เรียกว่า special needs bag สำหรับทั้งจักรยานและวิ่ง โดยเราสามารถเอาอะไรมาใส่ในถุงก็ได้ แต่มีการเตือนว่าให้ใส่อะไรที่ทิ้งได้เพราะเขาอาจจะไม่ขนกลับมาคืน สำหรับจักรยานนั้นจุดเก็บ special need bag จะตั้งอยู่ใกล้ ๆ จุดเริ่มต้น ซึ่งเราสามารถเข้ารับได้ทั้งสองรอบ เนื่องจากผมไม่ได้เตรียมตัวมาก่อนและไม่เข้าใจว่าการ set up จะเป็นอย่างไรผมจึงใส่พวกสเปรย์แก้ตะคริวไว้เพียงอย่างเดียว ผมปั่นเรื่อย ๆ แบบไม่รีบ ช่วงแรกเป็นเขาชันน้อย ๆ แต่ยาวพอสมควร ความชันแบบใช้ power 120-130 watts ก็เพียงพอผมกดเบา ๆ เก็บแรงไปเรื่อย ๆ แต่เห็นหลาย ๆ คนอัด แบบว่าไม่รู้มาก่อนว่าจะต้องปั่นกันสองรอบ
เส้นทางปั่นจะมีเขาแบบนี้ ชันน้อย ๆ ยาว ๆ หน่อย กระจายตั้งแต่ต้น ๆ และไปแออัดในช่วงระยะ 30-70 km ซึ่งเราจะต้องเจอแบบนี้สองรอบ แม้ว่าจะไม่หนักมากนัก แต่คาดว่าในรอบที่สองคงได้เห็นปัญหา โดยเฉพาะในส่วนที่เขาเรียกมันว่า Redbull Tough Zone ซึ่งเป็นระยะทางปั่นไปกลับประมาณ 50 km มีเขาที่ว่านี้ประมาณ 5 ลูก ไปกลับก็รวมเป็น 10 ลูก อีกทั้งในช่วงนั้นจะมีบางส่วนที่เป็น Monkey Zone ซึ่งห้ามกินอาหารในช่วงนั้น ผมพบว่าการตั้งป้าย Monkey Zone นั้นค่อนข้างไม่ชัดเจน เพราะป้าย Monkey Zone ahead มีเป็นจำนวนมากจนไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วมันเริ่มและสิ้นสุดในตอนไหน แล้วผมจะกินได้เมื่อไร อย่างไรก็ตามมันก็แค่ทำให้หงุดหงิดใจเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น เพราะตามแผนของผมที่จะหยุดทุกจุดให้น้ำ 20km มันทำให้ผมไม่ต้องกังวลเรื่องการเตือนให้ตัวเองกินระหว่างปั่นเท่าไรนัก ขอแค่จอดกินครบทุกอันก็น่าจะไม่เป็นปัญหา ผมปั่นผ่านรอบแรกไปตามแผน 3:40 ชั่วโมงได้เวลามาเพิ่มอีกยี่สิบนาที ผมจอดที่ special needs แต่ปรากฏว่าถุงผมหาย แต่ไม่เครียดอะไรเพราะเป็นสเปรย์ฉีดที่ในรายการนี้มีให้เยอะแทบจะเหลือเฟือ ผมจึงปั่นไปอีกเบรคบนยอดเขาแรกเพื่อที่จะหยุดกินอาหารมื้อใหญ่หน่อยในช่วงที่เป็นอาหารเที่ยงพอดี ผมเลือกที่จะหยุดรถและนั่งกินเป็นเรื่องเป็นราวเพื่อลดความกังวล ผมกินกล้วยสองลูก energy bar อีกหนึ่งแท่ง เข้าห้องน้ำ ยืดเส้นยืดสายก่อนที่จะออกตัวปั่นออกไปอีกครั้ง
ในรอบที่สองบริเวณ Redbull Tough Zone ผมเริ่มเห็นหลาย ๆ คนเกิดปัญหา มีทั้งยางแตก มีทั้งคนที่ต้องเริ่มเข็น มันคงไม่ง่ายมากนักถ้าเกิดสิ่งเหล่านี้ เนื่องจากถ้าดูเวลาแล้ว ผมมีเวลาเผื่อ cut off ไม่มากนัก ปั่นด้วยความเร็วของผมก็จะผ่านแบบสบาย ๆ แต่ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นก็เรียกว่าอาจจะฉิวเฉียดหรือไม่ผ่านเอาซะเลย การที่มีช่วง Tough Zone ตอนช่วง 100-150 km อีกครั้งนั้น รวมกับอากาศร้อนในช่วงบ่ายแก่ ๆ น่าจะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ไอรอนแมนสนามนี้ถูกจัดให้เป็นสนามที่โหดเป็นอันดับสามของโลก ผมไปเรื่อย ๆ ของผมช้า ๆ ไม่ต้องเข็น แต่หยุดกินทุกเบรค แต่พบว่าแม้ว่าผมจะพยายามหยุดเพื่อกิน แต่ในช่วงหลัง ๆ ผมเริ่มกินไม่ค่อยได้ ผมหยุดกินน้ำมานานมากแล้ว น้ำแทบไม่พร่องกระติก อาหารเริ่มกินไม่ลง กล้วยอย่างมากก็กินได้แค่ครึ่งลูกหรือน้อยกว่า ผมพยายามไม่คิดถึงมันแล้วชวนอาสาสมัครคุยเรื่อยเปื่อยคลายความกังวล
ในช่วง 30 km สุดท้ายผมเริ่มเกิดปัญหา ผมเริ่มรู้สึกว่าพลังงานเริ่มไม่ค่อยเพียงพอ กดขาไม่ค่อยลงแต่ผมก็ยังไม่กังวลมากเพราะรู้ว่าส่วนใหญ่ช่วงนี้เป็นทางลาดลงไปสู่ทะเล แต่ปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้นคือการซ้อมส่วนใหญ่ที่ผมจะใช้ road bike เมื่อมาแข่งด้วย TT ช่วงหลัง ๆ ผมไม่สามารถเงยหน้าขึ้นได้ เริ่มปั่นเข้าเมืองเริ่มมีความเสี่ยง ผมก้มมองได้ไม่เกินล้อหน้ามากนัก กล้ามเนื้อคอล้ามากจนไม่สามารถเงยหน้าขึ้นได้ จนต้องจับแฮนด์และยืดตัวตรงปั่นเข้ามาในระยะ 15 กม. สุดท้ายแบบหมดแรง เมื่อถึงจุดใกล้ T2 ผมพยายามหันมองหาครอบครัวของผมแต่ก็มองไม่เห็น ผมไม่ค่อยแปลกใจมากนักเพราะตอนนี้ผมเข้าล่วงหน้าเวลาที่กำหนดไว้อยู่ 1 ชั่วโมง ผมคิดเอาว่าในการวิ่งสี่รอบที่จะถึงนี้ผมน่าจะได้เห็นหน้าภรรยาและลูก ๆ เป็นกำลังใจสักรอบ
เมื่อเข้าจุด T2 ผมทดสอบความล้าของขาก็พบว่าแทบไม่มีความเมื่อยล้าเลย ผมลงจักรยานและเดินสบาย ๆ เข้าไปเปลี่ยนชุด เพื่อน ๆ ตามผมมาทันหมดแล้วที่ T2 นี่เอง ต่างคนต่างรีบเปลี่ยนชุดแล้วออกวิ่งไป ส่วนผมเปลี่ยนชุดใหม่ทั้งชุด สดชื่นกว่า โกยเจลอีกหลายซองเข้ากระเป๋าแล้วออกเดินไปเรื่อย ๆ ตอนนี้ผมเริ่มสับสนว่าจริง ๆ แล้วผมเหลือเวลาอีกเท่าไร เนื่องจากเวลาที่เห็นนั้นเป็นเวลาของมาเลเซีย ซึ่งผมไม่ได้ทำการเปลี่ยนในนาฬิกาของผม แต่โดยหลักการเนื่องจากการใช้ GPS นาฬิกามันควรจะปรับโดยอัตโนมัติ ผมดูเวลารวมแล้ว ดูนาฬิกาแล้ว ถามคนรอบข้างก็แล้วดูเหมือนว่าข้อมูลจะสับสนไม่ตรงกัน ในใจผมคิดว่าผมได้เวลาเหลือมาประมาณหนึ่งชั่วโมง ทำให้ผมเหลือเวลาวิ่งอีก 8 ชั่วโมง แต่นักกีฬาที่ผมถามแต่ละคนยืนยันว่าผมเหลือเวลาอีกเพียง 7 ชม. ซึ่งแม้ว่าจะเป็นไปตามแผนที่วางไว้ ผมก็ยังไม่เข้าใจว่าทำไมในเมื่อเราทำความเร็วได้ดีขนาดนี้มันหายไปไหนหมด 1 ชั่วโมงที่สะสมมา เมื่อผ่านจุด T2 ออกมาผมก็เริ่มวิ่งช้า ๆ ตามกำหนดการที่ตั้งไว้คือ วิ่ง 3 นาที เดิน 1 นาที
ในช่วงสองกิโลเมตรแรกก่อนที่จะเข้าจุดให้น้ำ ผมเริ่มรู้สึกว่าแม้จะไม่มีอาการล้า แต่ขารู้สึกหนักผิดปกติ และหายใจหอบมากผิดปกติ และบางครั้งเกิดอาการมึนงง ผมเข้าใจว่าอาหารผมเริ่มไม่เพียงพอแล้ว เมื่อเข้าจุดให้น้ำผมจึงตัดสินใจนั่งลงเพื่อกินแตงโมไปได้สองชิ้น พยายามกินกล้วยแต่กินไม่ลง ผมจึงแกะ energy bar อีกห่อที่เตรียมมาสำหรับกินช่วงนี้ที่จะพอดี ๆ กับอาหารเย็น ผมกินไปได้ประมาณ 1/4 ก็ไม่สามารถกินได้ น้ำแทบกินไม่ลงอีกเลย ได้แต่จิบแล้วบ้วนทิ้ง ผมคิดว่าอาจจะต้องรอสักหน่อยให้ร่างกายปรับตัว จึงค่อย ๆ เดินออกไปเรื่อย ๆ กะว่าพอรู้สึกดีขึ้นแล้วจะค่อยเริ่มวิ่งใหม่ แต่ดูเหมือนว่าผมไม่รู้สึกดีขึ้นอีกเลย จนกระทั่งผ่านระยะทางไป 6 กม. ครอบครัวของผมรอให้กำลังใจกันอยู่ ลูก ๆ วิ่งเข้ามาหา ผมถ่ายรูปกับลูก ๆ คุยโน่นนี่นั่น พยายามตอบคำถามเรื่องเดินตั้งแต่รอบแรก ก่อนที่จะขอตัวออกเดินต่อไป แต่จริง ๆ เดินไปไม่กี่เมตรผมก็เข้านั่งเพื่อพยายามกินที่จุดให้น้ำอีกครั้ง ครั้งนี้ผมอาจจะนั่งนานจะเจ้าหน้าที่เข้ามาถามอาการของผม ผมน่าจะกินกล้วยได้ประมาณอีกครึ่งลูก แล้วจึงตัดสินใจยกตัวขึ้น คราวนี้อาการมึนงงเพิ่มมากขึ้นจนเดินเซ แต่ก็กัดฟันเดินหน้าไปเรื่อย
ผมเดินไปตามทางเรื่อย ๆ และวิ่งบ้างในบางครั้ง แต่น้อยมากเพราะอาการดูแล้วไม่สู้จะดีเท่าไรนัก ผมใช้เวลาที่จุดให้น้ำค่อนข้างเยอะ ทานอะไรไม่ได้ แต่พยายามพักเพื่อหวังว่าอาหารที่ทานเพิ่มเข้าไปอาจจะสามารถย่อยแล้วออกมาเป็นพลังงานให้กับผม ในที่สุดผมก็วนกลับมาที่จุดเดิมได้แต่ไม่พบกับครอบครัวของผมแล้ว ผมไม่รู้ว่าเขาจะกลับเข้าโรงแรม ไปทานข้าวเย็นหรือ ล่วงหน้าไปรอผมในบริเวณสวนสาธารณะที่ดูแล้วจะเป็นพื้นที่ที่นั่งรอเชียร์ได้ง่ายที่สุด เราไม่มีการคุยกันเรื่องนี้เพราะผมมีลูกอ่อนวัยไม่ถึงขวบ และลูกเล็ก ๆ อีกสองคนที่ภรรยาผมต้องดูแลเพียงคนเดียว ผมจึงไม่อยากคาดคั้นแผนการอะไรจากครอบครัวมากนัก ปล่อยให้เด็ก ๆ และบรรยากาศเป็นตัวกำหนด เมื่อผมเดินผ่านบริเวณที่คาดว่าครอบครัวผมจะนั่งอยู่ก็ได้แต่มองหา แต่ก็ไม่เจอ ในตอนนั้นจริง ๆ แล้วผมต้องการที่จะนั่งลงข้าง ๆ ภรรยาของผมเพื่อจะบ่นว่าเหนื่อยมาก ๆ แล้วเอาความห่วงใยของภรรยามาเป็นข้ออ้างที่จะหยุดความทรมานที่ขณะนี้ไม่ค่อยจะบรรเทิงเท่าไรแล้วอันนี้ลง แต่เมื่อมองไม่เห็นครอบครัวผมจึงผิดหวัง ในตอนนั้นผมแยกไม่ออกว่าผมผิดหวังที่หาข้ออ้างในการเลิกไม่ได้หรือผิดหวังที่ไม่ได้เจอกองเชียร์ของผมอีกครั้ง
ผมเดินผ่านรอบแรกไประยะทางเป็น 12 กม. ใช้เวลาไปทั้งสิ้น 2 ชม. ผมเหลือเวลาอีกประมาณ 5:30 ชม. กับระยะทางอีก 30 กม. ในช่วงเวลานั้นสมองผมทำงานไม่ค่อยเป็นระบบ ร่างกายของผมเหมือนจะไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิได้ดีเท่าไร รู้สึกหนาวและขนลุกชัน ผมเริ่มรู้สึกว่าถ้าเดินไปอย่างนี้น่าจะไม่ทันแล้ว จะวิ่งก็วิ่งไม่ออกเลย จะกินก็กินไม่ลง จะทำอย่างไรดี ผ่านมาสองชั่วโมงแล้วก็ยังไม่มีอะไรดีขึ้น ผมเดินผ่านจุดที่ผมพบกับครอบครัวในรอบแรกอีกครั้งแต่คราวนี้ไม่มีพวกเขารออยู่ ผมเดินเลยไปยังจุดให้น้ำแล้วหยิบน้ำมาหนึ่งแก้วนั่งลง แต่คราวนี้ผมเลือกที่จะนั่งลงบนเตียงสนาม และอดใจไม่ไหวที่จะล้มตัวลงนอน สักพักมีเจ้าหน้าที่เข้ามาคุยกับผมแล้วค่อย ๆ เอาน้ำแข็งมาราดบนตัวของผม เอามาให้หนีบที่รักแร้ ยกเท้าของผมขึ้น ผมจำอะไรไม่ได้มากนัก แต่จำได้ว่าผมนอนอยู่อย่างนั้นเป็นเวลานาน เมื่อตัดสินใจลุกนั่งก็พบกับรถพยาบาลรออยู่แล้วเพื่อจะนำตัวไปที่เต้นท์พยาบาลที่เส้นชัย รอบ ๆ ตัวผมมีทั้งคนที่เข้ามาในสภาพของผม และคนที่ผ่านเส้นชัยมาแล้ว เสียงประกาศที่ทุกคนต้องการได้ยินแว่ว ๆ มาตลอดเวลา “You are an Ironman” ผมคงมีโอกาสได้ยินจากไกล ๆ เพียงเท่านี้ในวันนี้ ก่อนที่จะหลับตาลง ใต้ผ้าห่มบรรเทาอาหารหนาวสั่นของผม
ผมตื่นมาลุกเดินดูบรรยากาศเล็กน้อย แต่ไม่มีแรงเหลือมากพอที่จะเดินไปหาบรรยากาศที่เส้นชัย เพราะผมรู้ว่าผมยังต้องเดินกลับเป็นระยะทางเกือบสี่กิโลเมตรเพื่อไปยังโรงแรมของผม ถ้าเพื่อน ๆ ติดตามกันอยู่น่าจะเริ่มเป็นห่วงบ้างแล้วว่าเกิดอะไรขึ้น ผมเดินช้า ๆ ไปตามทางเดียวกับนักกีฬาที่ยังทำการแข่งขันกันอยู่ บางคนก็วิ่งรอบที่สอง บางคนก็วิ่งรอบสุดท้าย แต่ทุก ๆ คนก็วิ่ง ๆ เดิน ๆ กันไป แม้ว่าผมจะไม่ได้วางแผนที่จะจบไอรอนแมนแรกของผมเช่นวันนี้ ผมก็ยังรู้สึกยินดีที่ได้เรียนรู้ว่าความรู้สึกเมื่อมีการ DNF มันเป็นเช่นไร จริง ๆ แล้วมันเกิดที่ใจ หรือร่างกาย หรือทั้งสองอย่างมารวมกัน ผมมา DNF ครั้งแรกในการแข่งขันปีที่ 21 ของผม ทำให้ผมรู้สึกแข็งแรงขึ้น แกร่งขึ้น จริงอย่างที่เขาว่าคุณจะเป็นผู้ชนะในวันแรกที่คุณตัดสินใจสมัคร คำว่า “You are an Ironman” มันเป็นของแถม ผมรู้สึกเช่นนั้นจริง ๆ
ผมกลับไปอาบน้ำนอนและตื่นมาทานอาหารเช้าก่อนพาลูก ๆ เที่ยวลังกาวี แบบสดชื่น แทบไม่มีความเมื่อยล้า เป็นการยืนยันว่าผมจบการแข่งขันนี้ลงด้วยอาการ dehydrate และ bonk ขาดน้ำและน้ำตาล ปัญหาหลัก ๆ จากการกินและการสร้งพลังงานของร่างกาย กิจกรรมนี้ผมทำการซ้อมและแข่งขันรวมกันโดยประมาณ 2300 km ต่ำกว่าเป้าที่ประมาณไว้ในวันแรกเกือบ 700 km รวม ๆ แล้วได้เงินร่วมบริจาคประมาณ 30000 บาท แต่ระหว่างที่ผมทำการซ้อมนั้น ผมเชื่อว่าผมได้สร้างแรงกระตุ้นให้มีการช่วยบริจาคเพิ่มเติมผ่านกิจกรรมที่หลาย ๆ คนเลือกที่จะทำกันเอง ไม่ว่าจะเป็นทริปล้อเล็ก วิ่งพัทยามาราธอน Icebucket challenge รวม ๆ กันแล้วได้มาเพิ่มอีกกว่าหนึ่งแสนบาท และยังจะมีการซ้อมต่อเนื่องเพื่อบริจาคอีกจากรายการกรุงเทพมาราธอน ภูเก็ตไตรกีฬา เกียวโตมาราธอน ที่คาดว่าในท้ายที่สุดในปีนี้เราน่าจะรวบรวมเงินบริจาคได้ใกล้ ๆ สามแสนบาทเลยทีเดียว ไม่เลวสำหรับกองทุนที่เพิ่งเกิดได้เพียงครึ่งปี
มีอยู่ช่วงหนึ่งระหว่างปั่นจักรยานในขณะที่สมองผมยังคงทำงานได้ดีปกติ ผมนึกภาพการเข้าเส้นชัยของหลาย ๆ คนที่ผมได้เห็นจากการนั่งชมการแข่งขันทางทีวีทุก ๆ ปี หลาย ๆ คนน้ำตาไหล ตื้นตันด้วยเหตุผลต่าง ๆ กัน แม้ว่าในตอนนี้ผมไม่รู้สึกว่าไอรอนแมนมันจะหลักหนาสาหัสอย่างที่คิด ไม่คิดว่าความเหน็ดเหนื่อยนั้นจะทำให้ผมเองน้ำตาไหลได้ แต่ ณ เวลาที่ผมปั่นจักรยานอยู่นั้น ผมคิดแต่เพียงว่าผมแข่งขันครั้งนี้ ผมและหลาย ๆ คนรู้จักมันในชื่อว่า Ironman Langkawi ForZuri ตลอดเวลาที่ผมออกไปซ้อม ตลอด 5-6 ชั่วโมงที่ปั่นออกไป จนในวันที่แข่งขันอยู่นี้ที่เวลาผ่านเลยไปมากกว่า 6 ชั่วโมง และจะต่อเนื่องไปตลอดทั้งวัน ผมรู้สึกว่าผมได้อยู่ใกล้ชิดซูริ เหมือนได้มองหน้าของลูกสาวผมเหมือนที่ผมได้มองเขาในวันสุดท้าย เหมือนได้โอบอุ้มเขาอย่างที่ผมไม่ได้เคยอุ้ม กิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ เหตุผลต่าง ๆ เหล่านี้เองที่น่าจะเป็นสาเหตุให้หลาย ๆ คนกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่เมื่อผ่านเส้นชัย เพราะแค่ผมได้คิดเช่นนี้น้ำตาแห่งความปลื้มปิดิของผมก็หลั่งไหลออกมาแทบหยุดไม่ได้ ขณะที่กดขาปั่นขึ้นเนินแรกของเส้นทางลังกาวีในรอบที่สองนั้นเอง จนวันนี้ผมก็ยังคงไม่รู้ว่าผมจะเป็นอย่างไรเมื่อผ่านเส้นชัยเส้นนั้น แต่ผมมั่นใจว่าสักวันหนึ่งผมจะเข้าใจ