Sport Nutrition : ทุกอย่างที่ผมรู้เกี่ยวกับระบบพลังงานของกีฬาคนอึด

เนื่องจากปัญหาเรื่องโรคตับและระบบพลังงานที่ผมต้องเผชิญ ในช่วงที่ผ่านมาผมจึงได้ศึกษาและทดลองหลากหลายรูปแบบเพื่อที่จะเข้าใจเรื่องราวของระบบพลังงาน และเพื่อเป็นของฝากให้กับเพื่อน ๆ ที่เริ่มก้าวเข้ามาในโลกของกีฬาคนอึดและเพื่อน ๆ ที่เตรียมพร้อมในการไปพิชิตสุดยอดรายการคนอึดอย่าง Paris-Bret-Paris 1200 km ภายใน 90 ชั่วโมงในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ ผมจึงคิดว่าน่าจะเขียนรวม ๆ ความรู้และความเข้าใจอย่างย่อ ๆ เอาไว้ในตอนนี้

5

สารอาหารที่สำคัญของนักกีฬามีหลายชนิด ตั้งแต่ คาร์โบไฮเดรต ไขมัน เกลือแร่ โปรตีน วิตามิน และน้ำ แต่ละอย่างมีหน้าที่แตกต่างกันไป และเสริมกันเพื่อให้ทุกอย่างทำหน้าที่ของมันได้อย่างเต็มที่ การขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งจะทำให้ระบบการทำงานเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ถ้าเราได้อ่านบทความเกี่ยวกับอาหารหลาย ๆ แหล่งจะพบว่า แทบทุกแหล่งจะเน้นความสำคัญของน้ำมาเป็นอันดับแรก ทั้งนี้เนื่องจากน้ำเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของเซล กล้ามเนื้อ และเลือด มีหน้าที่นำพาสารอาหารต่าง ๆ ไปสู่เซล รวมไปถึงออกซิเจน เป็นส่วนประกอบสำคัญในกิจกรรมภายในเซล มีส่วนช่วยในการย่อยอาหาร ใช้ในการระบายความร้อนของร่างกาย เป็นต้น ผมได้เขียนบทความเกี่ยวกับน้ำไว้ก่อนหน้านี้แล้วจึงจะไม่มาเขียนซ้ำในบทความนี้ (กดเพื่ออ่าน) ในขณะเดียวกัน สารอาหารประเภท เกลือแร่ วิตามิน แม้กระทั่งโปรตีน แม้จะเป็นส่วนประกอบสำคัญแต่ถือว่าเป็นส่วนประกอบทางอ้อมของการใช้งานในระหว่างการซ้อม หรือ การแข่งขัน (คือพกไปกินตอนแข่งไม่ค่อยมีประโยชน์) ผมจะไม่ขอกล่าวถึง ในบทความนี้ผมต้องการเน้น กระบวนการให้พลังงาน และหน้าที่และการทำงานของ คาร์โบไฮเดรต และ ไขมัน เป็นหลักเพื่อความเข้าใจในการเตรียมพร้อมสำหรับการเติมพลังงานในกีฬาคนอึด

ก่อนอื่นมาทำความรู้จักสารอาหารทั้งสองอย่างที่เราพูดถึงกันก่อนนั่นคือ คาร์โบไฮเดรต และไขมัน สำหรับคาร์โบไฮเดรตที่เราสนใจในแง่ของการให้พลังงานอาจจะคุ้นเคยกันสมัยเรียนตอนเด็ก ๆ ก็คือ แป้งและน้ำตาล โดยทั่ว ๆ ไปแหล่งอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตที่เราคุ้นเคยก็คือ อาหารประเภทแป้งเช่น ข้าว ขนมปัง พาสต้า ถั่ว มัน และผลไม้ต่าง ๆ ในรูปแบบของน้ำตาลประเภทต่าง ๆ ซึ่งอาหารประเภทต่าง ๆ ที่เราจะรับเข้าไปนั้นก็มีปริมาณคาร์โบไฮเดรตที่แตกต่างกันออกไป รวมไปถึงผลกระทบต่อระดับน้ำตาลในกระแสเลือดแตกต่างกันออกไป รายละเอียดเหล่านี้ก็ซับซ้อนพอดู ในขณะเดียวกันไขมันที่ดูเหมือนกับเป็นตัวร้ายในเมนูอาหารทุกรูปแบบ แต่สำหรับนักกีฬาคนอึดแล้วไขมัน และกระบวนการเปลี่ยนไขมันเป็นพลังงานนั้นถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่สุดของระบบพลังงานเลยทีเดียว

ในถังนำ้มันของคนเรานั้น เราสามารถเก็บสะสมพลังงานเพื่อใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ ในสามรูปแบบคือ คาร์โบไฮเดรต ไขมัน และโปรตีน สำหรับคาร์โบไฮเดรตนั้นจะถูกเก็บในรูปแบบน้ำตาลในเลือด ไกลโคเจนในตับ และไกลโคลเจนในกล้ามเนื้อ ส่วนไขมันก็จะถูกเก็บในเลือดในรูปแบบกรดไขมัน ในซีรั่มในรูปแบบไตรกลีเซอไรด์ ในกล้ามเนื้อในรูปแบบไตรกลีเซอไรด์ และสุดท้ายตามเนื้อเยื่อต่าง ๆ ที่เราเห็นเป็นไขมันที่หลาย ๆ คนอยากลดในรูปแบบไตรกลีเซอไรด์เช่นกัน จากตารางเราจะเห็นว่าปริมาณคาร์โบไฮเดรตที่เก็บไว้ได้นั้นมีจำนวนที่จำกัดและน้อยกว่าปริมาณไขมันเป็นอย่างมาก ดังนั้นการฝึกซ้อมและกลไกการใช้งานไขมันจึงเป็นกุญแจสำคัญของนักกีฬาคนอึด

1

แม้ว่าเราจะมองว่าเราใช้คาร์โบไฮเดรต ไขมัน และโปรตีน เป็นแหล่งพลังงาน หรือ เป็นรูปแบบหลักที่ร่างกายใช้ในการสะสมพลังงาน แต่ในความเป็นจริงแล้วมีสารเคมีเพียงชนิดเดียวที่กล้ามเนื้อต้องใช้เพื่อที่จะทำงานนั่นก็คือ adenosine triphosphate (ATP) ร่างกายจะต้องเปลี่ยนทุก ๆ อย่างที่เราพูดถึงก่อนหน้านี้ด้วยวิธีการต่าง ๆ กันเพื่อให้กลายเป็น ATP ให้กล้ามเนื้อไปใช้งาน ในขณะที่สมองมีแหล่งพลังงานที่เดียวคือ น้ำตาลในเลือด ดังนั้นร่างกายจึงมีหน้าที่หลาย ๆ อย่างเพื่อสร้างสมดุลย์ของระบบพลังงานให้กับชิ้นส่วนต่าง ๆ ของร่างกายไม่ว่าจะเป็นสมอง หรือ กล้ามเนื้อ ปกติแล้วปริมาณน้ำตาลในเลือดและไกลโคลเจนในตับนั้นจะมีเพียงพอสำหรับการใช้งาน ในสภาวะไม่ออกกำลังกายเพียง 3-5 ชม. ก่อนที่จะเกิดอาการที่เราเรียกกันว่าหิว อาจจะมีปวดหัว ตาลายเข้าร่วม นั่นคือ อาการของการขาดน้ำตาล ในขณะเดียวกันปริมาณไกลโคลเจนในกล้ามเนื้อที่มีประมาณ 1200-1800 kCal นั้น เมื่อรวม ๆ ปริมาณคาร์โบไฮเดรตทั้งหมดที่มีในร่างกาย ก็จะสามารถออกกำลังกายต่อเนื่องได้ประมาณ 4-5 ชม. ก่อนที่นำ้มันในถังจะหมด อาการของการขาดน้ำตาลขณะออกกำลังกาย ก็อาจจะมึนหัว สมาธิหลุด ความเร็วตก หรือ อาจจะจำเป็นต้องหยุด รวม ๆ แล้วเป็นอาการที่เราเรียกกันว่า “ชนกำแพง” และนี่คือสาเหตุว่าทำไมนักวิ่งมาราธอนมือใหม่จะพบกับปีศาจที่ กม. 32-37 กันหลาย ๆ คนโดยไม่ได้นัดหมาย ดังนั้น การเติมอาหารระหว่างการออกกำลังกาย รวมไปถึงการซ้อมเพื่อปรับเปลี่ยนกลไกการใช้แหล่งพลังงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด ที่เราพบกันมากในวันที่เรียกว่าวันวิ่งยาว หรือ วัน Long Slow Distance (LSD) จึงเป็นกุญแจสำคัญอีกดอกในการไขประตูสู่ระยะคนอึดที่สำคัญ

Scan 1

เส้นทางหรือ Pathway ในการเปลี่ยนแหล่งพลังงานให้เป็น ATP นั้นมี 4 เส้นทาง แบ่งเป็น 2 ระบบใหญ่ ได้แก่ระบบ Anaerobic และ Aerobic ในระบบ Anaerobic นั้นจะเกิดได้สองเส้นทางคือ ATP-CP ระบบนี้มีน้อยมาก ใช้ระเบิดพลังงานแบบสุดแรงเกิด หรือ ประเภทยกน้ำหนัก โดยทั้ง ATP และ CP (Creatine Phosphate) จะใช้ที่มีในกล้ามเนื้อเพียงพอใช้ประมาณ 10 วินาที การฝึกซ้อมแบบอัดสุดแรงเกิดเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ก็เป็นการฝึกระบบนี้ รวมไปถึงการเพิ่มความสามารถในการเก็บ ครีเอทีน ในกล้ามเนื้อ อีกเส้นทางหนึ่ง Anaerobic Glycolysis ระบบนี้จะเริ่มมีการใช้ ไกลโคลเจนในกล้ามเนื้อมาเปลี่ยนเป็น ATP ร่วมกับ ATP-CP ที่มีอยู่ แต่ผ่านกระบวนการที่ไม่ใช้ออกซิเจน และเกิดของเสียเป็นกรดแลคติค จะมีเพียงพอให้ใช้ประมาณ 90-120 วินาที ก่อนที่จะต้องพักเพื่อเติม ATP-CP ในระบบ 3-5 นาที การซ้อม interval หรือ ที่เราเรียกว่าการลงคอร์ทสั้น ๆ ก็เป็นการฝึกซ้อมระบบนี้ เพื่อให้ร่างกายฝึกที่จะอดทนสภาพการเกิดกรดแลคติคในกล้ามเนื้อ และฝึกให้ร่างกายกำจัดกรดแลคติคให้เร็วขึ้น ในระบบนี้เป็นการซ้อมหนักที่พาหัวใจเข้าใกล้ Max Hr และ สูงกว่า Threshold

2

ในขณะที่ในระบบ Aerobic ก็เกิดได้สองเส้นทางเช่นกัน คือ Glycolysis และ Lipolytic คือ ใช้พลังงานจากไกลโคลเจน และไขมัน ตามลำดับ ขณะที่ออกกำลังกายในระดับ โซน 3 Tempo หรือ โซน 4 Sub-Threshold แหล่งพลังงานก็จะมาจากคาร์โบไฮเดรตเป็นส่วนมาก เมื่อระดับความเข้มข้นลดลงเป็นโซน 2 ที่เรียกว่า Endurance โซนนั้น แหล่งพลังงานที่มาจากไขมันจะถูกใช้เป็นสัดส่วนมากขึ้น เนื่องจากคาร์โบไฮเดรตอยู่ในรูปแบบที่ใช้ได้สะดวกกว่าไขมันจึงถูกใช้ก่อนเมื่อการออกกำลังกายเข้มข้น และเมื่อความเข้มข้นน้อยลงไขมันซึ่งใช้งานได้ยากกว่าจะถูกใช้มากขึ้น เนื่องจากไขมันเป็นแหล่งพลังงานที่มีจำนวนมาก การฝึกซ้อมในโซน 2 เพื่อให้ร่างกายฝึกที่จะใช้พลังงานจากไขมันให้ได้มาก และเชี่ยวชาญยิ่งขึ้น เพื่อเก็บสะสมไกลโคเจนที่มีปริมาณจำกัด และมีอัตตราการกิน และย่อยเข้าระบบ เพียงพอต่อการใช้งาน จึงเป็นสิ่งสำคัญ ถือเป็นรากฐานของกีฬาคนอึดทุกประเภท โดยการซ้อมในโซน 2 จะเกิดผลสองอย่างคือ ขยายความสามารถในการเก็บไกลโคลเจนในกล้ามเนื้อ และเพิ่มความสามารถในการใช้ไขมันเพื่อเป็นพลังงานของระบบร่างกาย ในขณะที่โซน 3 เร่งกระบวนการนี้ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และโซน 4 เพิ่มเรื่องราวของกรดแลคติคเข้ามาด้วย

3

ดังนั้นจึงจะเห็นว่าการซ้อมในโซนต่าง ๆ สำหรับนักกีฬาคนอึดนั้นส่งผลต่อระบบการจ่าย ใช้ เก็บ พลังงานแตกต่างกันไป สำหรับรายละเอียดที่มากขึ้นเกี่ยวกับการฝึกซ้อมที่โซนต่าง ๆ ผมเคยเขียนไว้คร่าว ๆ ก่อนหน้านี้แล้ว (กดเพื่ออ่าน) ในกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทำนั้น จะต้องใช้พลังงานแตกต่างกันไปตาม ชนิดของกีฬา ขนาดของร่างกาย (น้ำหนัก) และความเข้มข้นของการออกกำลัง (ความเร็ว) ดังที่เห็นในตาราง ดังนั้นจึงจำเป็นเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการกินเข้าไปเพื่อชดเชยกับพลังงานที่ถูกใช้ไป การคำนวณโดยละเอียดว่าในกิจกรรมแต่ละอย่างนั้นเราจะใช้พลังงานเท่าไร มีเก็บไว้แล้วเท่าไร เป็นไขมันเท่าไร เป็นคาร์โบไฮเดรตเท่าไร แล้วต้องกินคาร์โบไฮเดรตเพิ่มอีกเท่าไร ค่อยมาคุยกันในบทความหน้าครับ บทความนี้เริ่มยาวและหนักจนเกินไปละ

4

HepB / Langkawi / PBP แด่ความพ่ายแพ้ที่ยิ่งใหญ่

เมื่อต้นปี 2014 ผมมีกำหนดเข้ารักษา Chronic HepB โดยการใช้ Interfuron ฉีดใต้ผิวหนังทุกสัปดาห์เป็นระยะเวลา 48 สัปดาห์ แม้ว่าจะมีกระแสฮือฮาอยู่ช่วงหนึ่งที่ว่า “ไวรัสตับอักเสบปี อันตรายกว่า เอดส์ 100 เท่า” มันไม่ใช่เรื่องที่ผมกังวลมากนัก แม้ว่าจะมีเพียง 10% ที่โรคตับอักเสบบีจะไม่สามารถรักษาตัวเองจนกลายเป็นเรื้อรังแบบที่ผมเป็น และแม้ว่าจะมีเพียง 10% ของผู้ป่วยเรื้อรังเหล่านั้นที่จะพัฒนาไปจนกลายเป็นมะเร็งตับในที่สุด หรืออย่างน้อย ๆ ต้องมีภาวะตับแข็ง ตับวายเมื่ออายุมากขึ้น สิ่งที่ผมกังวลมากที่สุดคือ การฉีดยา การเจาะตับ สำหรับคนที่กลัวเข็มเป็นชีวิตจิตใจ การที่จะต้องใช้เข็มยาว ๆ แทงสีข้างเพื่อเก็บตัวอย่างตับ การที่จะต้องฉีดยาเข้าบริเวณรอบสะดือ หรือต้นขาทุก ๆ สัปดาห์ เจาะเลือดจำนวนมากทุก ๆ เดือน เป็นเรื่องที่ทำให้ผมกังวลมากที่สุด อุบายเพียงอย่างเดียวที่ผมนึกออกในตอนนั้นคือ ผมต้องสร้างความท้าทายอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน เพื่อจะดึงจิตใจผมให้อยู่กับความท้าทายเหล่านั้น และปล่อยให้การรักษาดำเนินไปตามตารางของมัน ความท้าทายที่ผมกำหนดขึ้นคือ การแข่งขันไอรอนแมนลังกาวี และการเตรียมตัวเพื่อไปแข่งขัน Paris-Bret-Paris (PBP) จักรยานทางไกลที่มีระยะทางถึง 1200 กม.

Screen Shot 2558-06-29 at 10.54.52 PM

ในการแข่งขันไอรอนแมนลังกาวีนั้น ผมต้องเตรียมตัวซ้อมประมาณ 16 สัปดาห์ อย่างเข้มข้นเพื่อยกระดับจากระยะการซ้อม 60-80 km ไปเป็น 130-150 จากการวิ่ง 15-18 กม. ไปเป็น 25-35 กม. ในช่วงเวลา 16 สัปดาห์นั้น ในขณะที่ต้องค่อย ๆ เก็บ qulification และซ้อมเพื่อการปั่นจักรยานระยะไกลที่ผมไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน ที่ระยะทาง 200, 300, 400 และสุดท้ายคือ 600 กม. ให้ทันภายใน 1 ปี จะเห็นได้ว่าการมีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวผมเองอย่างมากมายเช่นนี้ ทำให้จิตใจผมแทบไม่มีเวลาเหลือที่จะโอดครวญกับกระบวนการรักษาต่าง ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นเลยแม้แต่น้อย ผมฉีดยาเข้าตัวเองเข็มแรก ก่อนการปั่นระยะทาง 200 กม. ครั้งแรกของผมจะเกิดขึ้นบนเส้นทาง BRM200 อยุธยา ในช่วงเข็มแรกนั้น ร่างกายกำลังปรับตัวทำให้เกิดไข้สูงตลอดคืน ร่างกายหนาวสั่น เกิดตะคริวทั่วตัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อไปจนวันแข่งขัน เข็มแล้วเข็มเล่า อาการต่าง ๆ ก็ทุเลาลงเรื่อย ๆ ผลการเจาะเลือดก็ดูดีขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่ร่างกายของผมอ่อนแอลงทุกที ๆ การแข่งขันในสาย Audax BRM ก็เข้มข้นขึ้นทุกที ๆ

img_5819

อาการทางร่างกายของผมเริ่มตั้งแต่การเบื่ออาหาร รสชาดปากเปลี่ยนไปอย่างมาก อาหารหลาย ๆ อย่างเค็มไปหมด จนแทบจะกินอะไรไม่ได้ น้ำหนักลด เหนื่อยง่าย เพลีย ย่อยยาก ท้องอืด ตับเป็นอวัยวะที่สำคัญและมีหน้าที่หลายอย่างมากกว่าที่ทุกคนจะเข้าใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับกีฬาอดทนที่ต้องการใช้พลังงานเป็นจำนวนมาก ต้องพึ่งพาการย่อยอาหาร การตูดซึมอาหารที่มีประสิทธิภาพที่เป็นหน้าที่โดยตรงของตับ ความท้าทายของผมมันมากขึ้นทุกวัน ทุกวัน แม้ว่าอาการเฉียบพลันที่เกิดจากการฉีดยาแทบจะไม่หลงเหลืออีกต่อไป BRM300 เขาใหญ่ ที่ระดับเม็ดเลือดแดง ระดับฮีโมลโกลบิน ผมลดลงเรื่อย ๆ เม็ดเลือดขาวก็โดนทำลายจนเข้าขั้นวิกฤติลงไปทุกที ผมผ่าน BRM300 อย่างฉิวเฉียด อย่างที่ผมได้บันทึกความประทับใจของประสบการการปั่นทางไกลแบบ Audax เอาไว้ก่อนหน้านี้แล้ว (กดเพื่ออ่าน)

img_6252

ในช่วงเข็มหลัง ๆ ของการรักษา อาการเฉียบพลันเรียกได้ว่าหายไปหมดแล้ว เหลือแต่เพียงแผลไหม้ตามรอบสะดือ และหน้าขาที่ถูกฤทธิ์ยาแผดเผาจนไหม้ดำ แต่อาการที่เปลี่ยนผมไปอย่างถาวรคือ ปริมาณเม็ดเลือดแดงที่น้อยลง ฮีโมลโกลบินที่น้อยลง ในการปั่นที่ความเร็วเดิม ๆ หัวใจผมต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อส่งออกซิเจนให้กับร่างกายให้ได้ในระดับเดิม HR ผมสูงขึ้นอย่างน้อย 10 bpm ในทุก ๆ กิจกรรม ผมจำเป็นต้องซ้อมทุกอย่างให้ช้าลง เพราะการทำงานที่ระดับ HR สูง ๆ น้ันสิ้นเปลืองพลังงานที่เป็นส่วนสำคัญในการกำหนดผลลัพธ์ของกีฬาอดทนอย่างไอรอนแมนที่ใกล้เข้ามาทุก ๆ ที และเมื่อวันนั้นมาถึง ผมก็ต้องพบกับความพ่ายแพ้ครั้งแรกในชีวิตของผม เมื่อผมสามารถกินได้น้อยลง ๆ เรื่อย ๆ จนในที่สุดพลังงานก็ถูกใช้ไปจนหมดสิ้นโดยไม่สามารถเติมเข้าไปในระบบได้อีก ผมสิ้นสุดการแข่งขันไอรอนแมนแรกในชีวิตผมด้วย DNF แรกในชีวิตเช่นกัน ผมใช้เวลาอยู่กับตัวเองค่อนข้างนานในคืนนั้น ก่อนที่จะรวบรวมกำลังใจกำลังกายเดินกลับที่พัก พบกับภรรยาและลูก ๆ และ เพื่อแจ้งข่าวนี้ให้กับเพื่อน ๆ ทุกคนที่คอยลุ้นได้รับรู้ (กดเพื่ออ่าน)

10384459_946104222073330_6550812990853246579_n

ผมไม่มีเวลาเสียใจ เสียดายมากนัก เพราะยังมีรายการหนักหน่วงที่รอผมอยู่นั่นคือการแข่งขัน Back-to-back-to-back-to back สี่สัปดาห์ที่ต่อเนื่อง จากการปั่น BRM200 ไตรกีฬา LPT ไตรกีฬา CLP และ BRM400 เป็นการปิดท้าย แม้ว่าในปีนี้ ปีที่ผมไม่สามารถคาดหวังกับสถิติความเร็วได้ แต่ความต่อเนื่องและหนักหน่วงของการแข่งขันก็ทำให้หลาย ๆ คนเครียดได้พอสมควร ผมสามารถจบการแข่งขันทั้ง 4 รายการได้อย่างน่าพอใจ ทั้งนี้อาจจะเป็นช่วงที่ผมมีเม็ดเลือดขาวตกต่ำมากจนถึงขึ้นวิกฤติ จนหมอต้องงดการใช้ยา เพื่อน ๆ ที่เป็นหมอเริ่มตักเตือนเสียงแข็ง แต่ความอยากอาหารที่เพิ่งกลับมา ความอ่อนเพลียที่หายไปในฉับพลันนั้น ทำให้กำลังใจในการแข่งขันทั้งสี่รายการให้จบสิ้นภายในสี่สัปดาห์นั้นมีเปี่ยมล้น ผมค่อย ๆ กลับมาซ้อมวิ่งอีกครั้งหลังจากพักผ่อนชั่วคราวหลังการแข่งขันอันหนักหน่วง

img_0317

ผมลงแข่งขันรายการจอมบึงมาราธอนเป็นครั้งแรก และเป็นรายการที่น่าประทับใจ แม้ว่าผมและเพื่อน ๆ ในทีมจะวิ่งแบกถึงคอยแจกตุ๊กตาให้เด็ก ๆ ที่มาคอยเชียร์ตลอดทาง หลังจากนั้นผมก็ไปแข่งวิ่งเทรลที่เกาะสวรรค์ที่ญี่ปุ่น ซึ่งผ่านไปอย่างน่าประทับใจ จนผมสัญญากับตัวเองว่า มันคงถึงเวลาแล้วที่ผมจะเริ่มทำความรู้จักกับการแข่งขันที่เรียกว่าเทรลรันนิ่ง (กดเพื่ออ่าน) หลังจากนั้นมีการนัดกันในกลุ่มนักปั่น  Audax ที่ต้องการไปแข่งขัน PBP ที่จะซ้อมปั่นระยะทาง 1200 km ภายในเวลา 90 ชม. โดยเริ่มจากกรุงเทพ เพื่อมาปั่น BRM300 สงขลา ผมจึงตอบตกลงโดยไม่ลังเล ประสบการณ์นี้ทำให้ผมได้พบกับสิ่งที่ไม่เคยพบมาก่อนหลาย ๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นการ break down ของอุปกรณ์ การล้มเหลวของกล้ามเนื้อเล็ก ๆ บางส่วน เช่น คอ หลัง  ผลกระทบของการอดหลับอดนอน การ dehydrate และอื่น ๆ ผมจบการซ้อมใหญ่ของผมที่ระยะประมาณ 820 กม. และไม่สามารถเข้าร่วมการปั่น BRM300 ได้ เป็น DNS แรกในชีวิตของผม (กดเพื่ออ่าน) ช่วงนี้ผมหยุดการรักษา HepB ไปแล้วเนื่องจากเม็ดเลือดขาวตกต่ำเป็นเวลานาน จนหยุดยานานเกินไป รวมระยะเวลาการรักษา 32 สัปดาห์ ผลเลือดสองครั้งสุดท้ายพบว่าไม่พบไวรัสในร่างกายของผมอีกแล้ว อย่างไรก็ตามผมทราบดีว่า HepB จะไม่หายไปเพราะ HepB เป็นโรคที่รักษาไม่หาย

IMG_1975

ผมเหลือเพียงรายการ BRM600 อีกเพียงรายการเดียวที่ต้องสอบให้ผ่าน เพื่อที่จะ qualify ในการไปปั่น PBP ที่ฝรั่งเศส ซึ่งผมมีความกังวลน้อยมากเพราะเพื่อน ๆ หลายคนบอกว่า BRM400 จะหนักกว่าเนื่องจากการออกแบบ CP ที่มีเวลาเหลือให้นอนได้ไม่มาก ก่อนรายการ  BRM600 ผมจึงจัด BRM300 และ BRM400 ไปอีกครั้ง และนั่นทำให้ผมเริ่มสังเกตความผิดปกติในร่างกายของผม ผมเหนื่อยผิดปกติมาก ๆ แม้ว่าจะปั่นไปเพียงร้อยกิโลเมตรเศษ ๆ การที่จะบอกว่าเพื่อนผมที่มาช่วย pacing ให้กับผมนั้นใช้ความเร็วมากเกินไปก็คงไม่ใช่ เพราะเราปั่นในช่วง 25-30 km/hr เท่านั้น ซึ่งปกติระยะ 200 ผมสามารถปั่นเดี่ยวที่ความเร็ว 27-32 ได้มาก่อน อย่างไรก็ตาม BRM300 นั้น เรามีกัน 4 คน ก็มีการจอดรอกันเป็นช่วง ๆ ทำให้ผมยังพอมีเวลาหายใจ แต่สำหรับ BRM400 นั้น อำนวย pacer ของผมต้องการเข้าจุดพักตามกำหนดเพื่อให้มีเวลานอน ซึ่งนั่นเป็นกลยุทธ์ที่เขาวางให้ผมใช้เพื่อไปพิชิต PBP เมื่อการเดินทางกลายเป็น 4 วัน 4 คืน การอดนอนอย่างต่อเนื่อง มันเป็นระเบิดเวลาที่จะทำให้การพิชิต PBP เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ด้วยแผนนี้ BRM300 และ BRM400 ทั้งสองรายการนี้เป็นรายการที่ทำเวลาได้ดีกว่ารายการอื่น ๆ ก่อนหน้าค่อนข้างมาก แม้ว่าผมจะเหนื่อยแทบขาดใจก็ตาม

IMG_0806

รายการสุดท้ายที่จะชี้ชะตาก็มาถึง ผมไม่ได้ซ้อมมากนักเพราะรู้สึกว่าตัวเองมีอาการคล้าย ๆ กับ Overtrain หัวใจเต้นเร็วผิดปกติจากเดิมก่อนรักษาในเวลานี้ 15-20 bpm เข้าไปแล้ว การปั่น 27-30 km/hr อาจจะทำให้หัวใจเต้นสูงถึง 160-170 bpm เข้าโซน 4 ปริ่ม ๆ โซน 5 ก่อนวันแข่งไม่กี่วัน ผมไปฟังผลติดตามการตรวจเลือด ได้พบกว่าความจริงที่ว่าไวรัสกลับคืนมาอีกครั้ง นั่นหมายความว่า หนึ่งปีที่ผมได้ต่อสู้กับมันจนมาจบที่คำสรุปว่าผมไม่สามารถเอาชนะมันได้ และคงต้องอยู่กับสภาวะตับอักเสบไปอีกตลอดชีวิต เมื่อวันที่ต้องปั่น 600 มาถึง ผมเตือนอำนวย pacer ของผมให้เริ่มช้า ๆ เพราะผมอาจจะจำเป็นต้อง warm up นาน กว่าปกติ ซึ่งอำนวยก็ทำตาม แต่ก็มาเลียบ ๆ เคียง ๆ ถามไถ่อยู่เสมอ ว่าพร้อมหรือยัง ช่วงแรก ๆ เราเจอกับพี่อ้อ อารมณ์พาไปจึงเร่ง ๆ ตามพี่อ้อขาแรง ทำให้ผมมาหมดก่อนในช่วงเที่ยง ๆ ต้องจอดหาน้ำดาลชดเชย และในที่สุดต้องหาอาหารเที่ยงกินก่อนถึง CP ไม่กี่กิโลเมตร เพิ่งผ่านไปเพียงร้อยกิโลเศษ ผมเริ่มกินอาหารไม่ค่อยลง ผมปั่นตามไปเจอเพื่อน ๆ ที่ CP ที่เป็นปั้มน้ำมัน อำนวยให้ผมพักนิดหน่อยก่อนที่จะออกตัวไป ในช่วงหลังนี้ผมเริ่มมีปัญหากินไม่ได้มากขึ้น ปริมาณน้ำที่พยายามใส่เข้าไปชั่วโมงละขวดค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ จนเหลือ สองสามชั่วโมงไม่ถึงครึ่งขวด จาก CP หนึ่งไป CP หนึ่งห่างกันร่วม 80 กม. ใช้เวลากว่าสามสี่ชั่วโมงผมแทบไม่ต้องเติมน้ำเลย แต่ผมก็เปลี่ยนนำ้เย็นทุก ๆ ครั้ง ผมเหนื่อยจนคิดอะไรไม่ออก จากที่ควรจะพยายามกินน้ำหรืออาหารชดเชย ผมได้แต่เปลี่ยนน้ำเย็นใส่ขวดแล้วพยายามนั่งพักให้หายเหนื่อยแทนที่จะพยายามกิน พลังงานเริ่มหมด ขาเริ่มกดไม่ค่อยลง ท้ายที่สุดอำนวยเห็นว่าต้องพักบ่อยจนไม่ได้การ จำเป็นต้องแก้แผนให้ใหม่ พาผมเข้าพักที่ปั้มน้ำมันในนอนรอเพื่อนอีกกลุ่มที่ตามหลังอยู่ประมาณ 1 ชั่วโมง ผมจะได้พักก่อน 1 ชั่วโมงเพื่อดูว่าจะมีกำลังมาอีกหรือไม่

1977283_10206693321549445_8820775100374244395_n

เมื่อเพื่อน ๆ ตามมาถึงเราก็ออกตัวไปด้วยกัน แต่ผมก็ไม่สามารถทำความเร็วตามทุก ๆ คนได้ เมื่อเลี้ยวเข้าเขางอบ เจอเนินแล้วเนินเล่า ผมก็ค่อย ๆ ถูกทิ้งห่างออกไปเรื่อย ๆ ผมปั่นช้า ๆ ด้วยความเร็ว 10 กว่า ๆ ไปเรื่อย ๆ จนถึงที่ รพ.เขางอบตอนตีสอง ช้ากว่าแผนการที่วางไว้ถึง สามชั่วโมง รวมเวลานอนพัก 1 ชม. ไปด้วย เพิ่งผ่านมาได้ครึ่งทาง 305 กม. เท่านั้น แต่ผมไม่เหลืออะไรอีกแล้วในร่างกาย โรงแรมที่พักที่จองไว้ 20 กม. ข้างหน้ามันดูไกลเกินไปที่ผมจะปั่นไปให้ถึงในตอนนี้ ผมจึงขอนอนข้างทางที่นั่น ข้าง ๆ ถ้วยถั่วเขียวที่กินไปได้เพียงสามคำ ผมมีเวลานอนสองชั่วโมงก่อนที่จะต้องออกตัวตอนตีสี่เพื่อไปให้ทันอีก CP หนึ่งที่ห่างออกไป 80 กม. ที่เส้นตาย 9 โมง ผมปั่นไปได้เพียง 15 km  เริ่มเกิดอาการเซไปมา หน้ามืดมองด้านหน้าไม่เห็นหลายครั้ง ผมคิดหลายต่อหลายครั้งว่าถ้าผมแพ้ในตอนนี้ PBP เป็นอันจบกัน แล้วก็กดขาไปเรื่อย ๆ จนในที่สุดผมคิดว่าผมได้พาชีวิตผมเข้าไปเสี่ยงจนล้ำเส้น ครั้งนี้ล้ำเส้นแบ่งถนนจนเริ่มเสียวว่า ชีวิตอาจจะสูญไปเพียงเพราะรถสวน ผมจึงยอมเข้าข้างทางที่ร้านน้ำเต้าหู้ สั่งน้ำเต้าหู้ทาน message บอกผู้จัดการทีม แจ๊ค และหยิน ที่คาดว่าจะเพิ่งเข้านอนได้ไม่นาน ให้มาเก็บศพผมด้วย ก่อนที่จะเปิดโลเกชั่นในโทรศัพท์ทั้งไว้ ก่อนที่จะผลอยหลับไป ผู้จัดการมารับผมตอนไหนผมจำไม่ค่อยได้ ไปอาบน้ำทานอาหารเช้า แล้วเราก็ออกรถตามเพื่อนคนอื่น ๆ ไป

11391329_822997454458731_3160123015741880084_n

ผมใช้เวลาส่วนใหญ่หลับ แทบไม่รู้สึกตัวอีกเลย กว่าจะเริ่มขยับตัวคุยรู้เรื่องราว ก็บ่ายแก่ ๆ ใจผมวนเวียนอยู่กับความพ่ายแพ้ที่ถาโถมเข้ามา การสอบตก BRM600 ครั้งนี้หมายความว่า  PBP เป็นเพียงความฝัน แม้ว่าจะมี BRM600 Singapore รอให้แก้ตัว แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่อยู่ในแผนของผม ผมคิดว่านี่คือความพ่ายแพ้ที่ผมต้องยอมรับ ใช้เวลาสามสี่วันกว่าผมจะเริ่มจับต้นชนปลายได้ และเริ่มวางแผนแก้มือใหม่อีกครั้ง ปลายปีนี้ผมจะเผชิญหน้ากับความพ่ายแพ้ครั้งแรกที่ลังกาวีอีกครั้ง อีกสี่ปีข้างหน้า ผมจะกลับไปจัดการกับมันให้ได้ PBP เมื่อบทหนึ่งได้สิ้นสุดลง ไม่ว่าตอนจบมันจะเป็นเช่นไร บทใหม่ย่อมเริ่มต้นขึ้นเสมอ เรื่องราวทั้งเล่มจะเป็นเช่นไร ก็ขึ้นกับหลาย ๆ บทที่เราค่อย ๆ เขียนขึ้น ไม่มีหนังเศร้าเรื่องใดที่จะเศร้าทุกบททุกตอน และไม่มีหนังสุขสมเรื่องใดที่จะสุขทุกบททุกตอน เรื่องราวจะ happy ending หรือไม่ ชีวิตเราขึ้นกับเราจะเขียนให้มันจบแบบแฮปปี้หรือไม่ก็เท่านั้น

พี่อาร์มนักสู้ผู้มากประสบการณ์ (บทสัมภาษณ์ใน Fit 4 Fun)

บทสัมภาษณ์จาก Fit 4 Fun

Arm-1Arm-8

พี่อาร์มนักสู้ผู้มากประสบการณ์ แม้แต่ไวรัสตับอักเสบไม่สามารถขัดขวางชายคนนี้เข้าแข่ง Ironman ที่ลังกาวีได้

ชื่อ : ณัฐพงศ์ นิธิอุทัย (อาร์ม)
อายุ : 42 ปี
น้ำหนัก : 57 Kg.
ส่วนสูง : 171 cm.
สถานะภาพ : แต่งงานแล้วมีลูก 3 คน จริงๆมี 4 ครับ แต่เสียไป 1 คน ตอนนี้ผมก็เลยทำกองทุนในชื่อลูกที่เสียไปด้วยครับ
การศึกษา :
ประถม – วรคามินอนุสรณ์ (ปัตตานี)
มัธยม(ต้น) – อัสสัมชัญ ศรีราชา
มัธยม(ปลาย) – สาธิตสงขลานครินทร์ (ปัตตานี)
ป.ตรี – จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย (วิศวกรรมศาสตร์)
ป.โท – ป.เอก Case Western Reserve University, USA (Polymer Engineering)
อาชีพ :
– เป็นอาจารย์ที่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ภาควิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์
– ดูแลกิจการของครอบครัวผลิตและจำหน่ายเครื่องนอนยางพารา
ประวัติกีฬาที่เล่น : ว่ายน้ำก๊อกๆแก๊กๆ ได้มาอยู่ทีมโปโลน้ำจุฬา ในตำแหน่งที่ไม่ต้องว่ายน้ำมาก

Arm-9Arm-10

Fit4fun : รางวัลและสถิติ
คุณอาร์ม : ไม่เคยได้รางวัลอะไรเลย เล่นเพราะรักเพราะชอบ แต่ผมแบกคำว่า DNF (DID NOT FINISH หรือ แข่งไม่จบ) มานานมากแล้ว ไม่เคยไม่จบ ทรมาน เจ็บ ไข้ ลากสังขารจนจบทุกครั้ง เพิ่งได้ลอง DNF ในงานล่าสุดนี่แหละ

Arm-4Arm-2

Fit4fun : เป้าหมายในการออกกำลังกายและการเล่นไตรกีฬา
คุณอาร์ม : เคยคิดว่าแก่ๆน่าจะวางมือได้แล้ว การแข่ง Ironman ที่ลังกาวีที่ผ่านมากับผมก็ต้องใช้ยา อินเตอฟิวรอน (ฉีดยาอินเตอฟิวรอนเข้าไปในร่างกายเหมือนคีโมอ่อนๆทุกสัปดาห์เป็นเวลาหนึ่งปี เพื่อรักษาอาการตับอักเสบบีเรื้อรัง) ช่วงหลังนี่ผมเป็นลมบ่อยขึ้น แต่ก็ยังฝืนเล่น มันมีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่พอ ๆ กัน ทั้งการซ้อมและการแข่งขัน สุดท้ายผมก็ไม่สามารถเป็นไอรอนแมนได้นะ เป็นลมไปเสียก่อน dehydrate น่ะ

Arm-5Arm-7

Fit4fun : การแบ่งเวลาการซ้อม การแข่งและเวลาของครอบครัว
คุณอาร์ม : ผมตั้ง priority ให้ครอบครัว ชีวิตและสุขภาพเป็นที่หนึ่ง ในส่วนการทำงานที่ทำอย่างเป็นทางการคืออาจารย์มหาวิทยาลัย ก็ต้องเสียสละเรื่องความก้าวหน้าไปบ้าง ส่วนธุรกิจของครอบครัวก็วางตัวห่าง ๆ ให้น้องๆไปดูแล และเข้าไปช่วยตามความจำเป็น ผมจะซ้อมตอนเช้าอย่างเดียว ตอนเย็นเป็นเวลาครอบครับ นอกจากต้องเดินทางก็จะอดซ้อมไปบ้าง ผมมีแนวคิดแบบนี้ครับ คือผมซ้อมเพื่อจะไปแข่ง และสมัครแข่งขันเตรียมไว้เพื่อบังคับให้ซ้อมและแข่งเวียนกันไป ไม่ว่างเว้น สุขภาพจะได้ดีๆตลอดครับ ทีนี้เราก็เพิ่มเรื่องของครอบครัวเราเข้าไปด้วย เช่นเลือกรายการที่เราอยากไปเที่ยว อยากพักผ่อนจากการทำงาน เลือกประเทศที่เราอยากพาลูกๆและภรรยาไป พอเลือกแล้วก็วางเป้าหมายในการแข่งขันนั้นๆ เช่น ถ้าเป็นระยะทางใหม่ เราอาจจะตั้งเป้าเวลา อาจจะขอแค่แข่งจนจบ ถ้าเป็นระยะทางเดิม เราอาจจะทำเวลาให้ได้ดีกว่าเดิม แล้วจึงมาวางแผนการซ้อมเพื่อจะทำให้สำเร็จตามเป้าหมาย ผมพาไปหมดนะ แต่งงานใหม่ ๆ ท้องเล็ก ๆ ท้องแก่ ๆ ลูกหนึ่งเดือน ลูกสอง ลูกสาม ไม่เคยไปแข่งโดยไม่มีครอบครัวเลยแม้แต่ครั้งเดียว หลัง ๆ เริ่มลากเพื่อน ๆ ไปด้วย รวมตัวเป็นทีมกีฬาสุขภาพ V40 (Very Forty) เล่นมันทุกกีฬาคนอึด ผมเป็นหัวหน้าเผ่าในปัจจุบัน

Arm-13Arm-16

Fit4fun : ทำไมจึงเลือกเล่นไตรกีฬาและมีเป้าหมายต่อไปอย่างไร
คุณอาร์ม : ผมเล่นไตรกีฬา เพราะมันหลากหลายดี ผมชอบการใช้ชีวิตตรงตามคอนเซปต์ของไตรกีฬา คือ จริง ๆ เป็นเป็ด มันไม่เก่งสักอย่าง แต่ก็เล่นมาเรื่อยๆ บางปีก็เน้นวิ่ง บางปีเน้นปั่นจักรยานสลับกันไป สมัยก่อนมันมีองค์ประกอบหลายอย่างที่ต่างจากกีฬาประเภทอื่น คือหลักๆ เราแข่งร่วมกับโปร (ไม่เหมือนสมัยนี้) ต้องเดินทางไปแข่งไกลๆ เพราะรายการแข่งขันมีน้อยมาก ทุกคนจะเดินทางไปถึงสถานที่แข่งขันล่วงหน้าหนึ่งวัน เพื่อร่วม pasta party เพื่อที่จะกินอาหารร่วมกัน พูดคุยทำความรู้จักกัน ผู้จัดก็จะมาคุยเล็กๆน้อยๆ เกี่ยวกับการแข่งขันในวันรุ่งขึ้น เราก็จะมีโอกาสได้พูดคุยทำความรู้จักกับโปรด้วย จริงๆ pasta party ก็ไม่ได้อร่อยอะไรนะครับ แต่มันเป็นอาหารง่ายๆน่ะครับ แต่ที่สำคัญคือการได้มีโอกาสพูดคุย ทำความรู้จักกันมากกว่าสนามการแข่งขันจะเป็นมิตรกว่าปัจจุบันพอสมควร

Arm-3Arm-6

จริงๆไตรกีฬาในยุคแรกเป็นกีฬาของคนที่ทำอาชีพ หมอ ทนายและเจ้าของกิจการ คือด้วยความที่เป็นกีฬาที่ต้องใช้ระเบียบวินัยและการจัดการในการซ้อมมาก ใช้งบประมาณมากทั้งอุปกรณ์และการเดินทาง ซึ่งกลุ่มคนพวกนี้ไม่ได้มีเวลามากกว่าคนอื่นเลย แต่ดูเหมือนว่าจะจัดการเวลาได้เก่งกว่า สมัยที่ผมเริ่มแข่ง ผมใส่กางเกงใน (speedo) ตัวเดียวแข่งตั้งแต่ว่ายน้ำจนวิ่งเข้าเส้นชัยเลย 555 เดี๋ยวนี้อะไรๆ มันก็เปลี่ยนไป ถอดเสื้อปั่น-วิ่งไม่ได้แล้ว ผิดกฎ

Arm-21
โดยรวมแล้ว เป้าหมายของการเล่นทั้งหมดก็คือทำอย่างไรให้ชีวิตเรา active ได้ทั้งชีวิต ไม่เบื่อไปซะก่อน ผมเริ่มพาลูกๆ แข่งๆโน่นแข่งนี่บ้าง อย่างคน 5 ขวบนี่เริ่มแข่งจักรยาน 25 กม. 30 กม. มาสองสนามแล้ว ว่ายน้ำ 50 – 100 ม. ก็พอว่ายได้ ก็ต้องแล้วแต่ลูกๆจะชอบ

Arm-19Arm-20

Fit4fun : ช่วยอธิบายถึงกองทุนเพื่อซูริ (For Zuri)
คุณอาร์ม : เรา (ผมและภรรยา) มีปัญหามีบุตรยากต้องพึ่งหมอ พอทำมาแล้วมันมี complication ได้ลูกแฝดต้องคลอดก่อนกำหนด ซูริแฝดน้องน้ำหนักน้อยสุขภาพไม่ค่อยดี ต้องอยู่ในห้องฉุกเฉินทารก (NICU) ระหว่างนั้นพบว่าเพราะที่ซูริตัวเล็ก อุปกรณ์ที่มีจะใช้ไม่ค่อยได้ โน่นนี่นั่น เคยมีแต่เสียไปแล้วบ้าง แต่ผมไม่คิดอะไรมาก เพราะเราวุ่นกับการเฝ้าและคอยให้กำลังจะเขาทุกวัน สุดท้ายเขาก็จากไปอยู่กับเราได้ 49 วัน ผ่านมาแล้ว 5 ปี ผมเริ่มคิดว่าความรับผิดชอบของ NICU ที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์นี่ค่อนข้างมาก รับผิดชอบภาคใต้ตอนล่าง และถ้าเป็นไปได้ถ้าผมช่วยระดมทุนให้อาจจะมีสักวันหนึ่ง ทุนที่เราระดมมาอาจจะทำประโยชน์ช่วยให้ “ซูริ” ของใครบางคนได้กลับบ้าน ไม่เหมือนกับซูริของผม

Arm-14Arm-15

Fit4fun : ช่วยฝากข้อคิดดีๆให้กับคนที่อยากเริ่มเล่นกีฬาประเภท endurance sport หรือ ยังลังเลกับการออกกำลังกายครับ
คุณอาร์ม : ผมมีความเชื่อแบบ extreme ที่ว่ากีฬาแก้ได้ทุกอย่าง ออกซิเจน ระบบภูมิคุ้มกัน ล้วนแล้วส่งผลดีต่อสุขภาพโดยรวมทั้งนั้น เจ็บเข่า เจ็บหลัง เจ็บขา มันมากับกีฬาบางประเภท ถ้าเราสร้างนิสัยการออกกำลังกายเอาไว้แล้ว มันจะเป็นแบบผม พอคิดว่าจะวิ่งไม่ได้เราก็จะหากีฬาอื่นแทนทันที ไม่งั้นลงแดง กีฬา endurance สามารถช่วยเรื่องความต่อเนื่องแบบนี้ได้มาก เพราะมีการแข่งขันที่มือสมัครเล่นเข้าร่วมได้เยอะ มีกีฬาหลากหลายให้เลือก และอาจจะทำได้ทั้งหมดเลยก็ยังได้ และส่วนใหญ่เริ่มได้ ทำได้ด้วยตัวคนเดียว ไม่ต้องคอยรอคู่หู เรามีชีวิตบนโลกนี้ประมาณ 30,000 วันผมใช้มาแล้วมากกว่าครึ่ง เหลือไม่น่าเกิน 10,000 ในช่วงวันท้าย ๆ เราจะใช้ชีวิตอย่างไรมันขึ้นกับช่วงประมาณนี้แหละครับ เป็นการลงทุนที่สำคัญสำหรับบั้นปลายของชีวิต

     Arm-17 Arm-18

Grand Training Bkk-HDY and 300 km more.

ชีวิตคือการเดินทาง ค้นหา ตอบคำถาม และอีกหลายๆนิยามที่เราหลายคนคงได้ยินกันมา สุดท้ายแล้วแล้วแต่ละคนถ้าโชคดีก็นิยามชีวิตในอย่างที่ตนเองเป็น ถ้าโชคร้ายก็มีนิยามของชีวิตที่ต่างไปจากสิ่งที่ตนเองเป็น ในช่วงสงกรานต์ปี 2558 ผมมีโอกาสได้ทำบางสิ่งบางอย่างที่ลดคุณค่าของการมีชีวิตลงเหลือเพียงเม็ดทรายเล็กๆในทะเลทรายโกบีในขณะเดียวกันยกคุณค่าของชีวิตเหนือสิ่งที่เม็ดทรายจ้อยๆพยายามให้คำนิยามเป็นหมื่นแสนเท่า สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นภายในและผมไม่แน่ใจว่าจะถ่ายทอดออกมาได้หรือไม่ แต่นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นที่ผมจะเล่าให้ฟัง

 

IMG_0265IMG_0254

ตั้งแต่วันที่รู้จักออแดกซ์ มุมมองของกิจกรรมของผมเปลี่ยนไปเรื่อยๆจากความท้าทายที่จะปั่นระยะ 200 กม. ในเวลาที่กำหนด ไปสู่การต่อสู้กับการอดหลับอดนอน การช่วยเหลือกันในรูปแบบของทีมในกิจกรรมที่ออกแบบให้เป็นเรื่องส่วนบุคคล การจัดการกับความสงสัยในศักยภาพและข้อจำกัดต่างๆ การเตรียมตัว เตรียมพร้อมและสัดส่วนของความไม่พร้อมที่ยอมให้เกิดขึ้นได้ ในวันที่ผมเริ่มรู้จักสิ่งที่เรียกว่า Paris-Brets-Paris ความคิดผมก็เปลี่ยนไปอีกครั้ง ผมเริ่ม plot เส้นทางจากปัตตานีไปกรุงเทพ ประมาณ 1000 กม. จากความคิดในการปั่นปีละ 500 ใน 8 วันทุกๆปีทั่วไทย กลายไปเป็น power ride 1000-1200 ในเวลาจำกัด แต่นั่นเป็นเพียงความฝัน ถึงแม้ว่าผมจะมีนิสัยไล่ล่าความฝันเพียงใดมันยังคงฝันไม่ใช่แผนการ
IMG_0312
กระทั่งมีการจัดตั้งกลุ่ม Thailand Go PBP ขึ้น ผมหาข้อมูลและตัดสินใจไป PBP มีกลุ่มพี่ๆที่มาจากสายทัวริ่งคิดจัดการทดสอบปั่นจากกรุงเทพมายังหาดใหญ่เพื่อเข้าร่วม BRM300 Songkla รวมระยะทาง 1200 เศษๆ โดยจะกำหนดเวลาให้เหมือนกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นที่ PBP ผมไม่ลังเลที่จะเข้าร่วมในทันที แต่เป็นครั้งแรกที่ผมไม่กล้าที่จะบอกใครจนกระทั่งวินาทีสุดท้าย เมื่อมองในแง่ของความไม่สมเหตุสมผลแล้ว ผมคงไม่สามารถค้านความเห็นของทุกคนได้ การปั่นเต็มระยะ 1200 เพื่อเตรียมไปแข่ง 1200 เป็นเรื่องไม่จำเป็น นักกีฬาอัลตราทุกคนเข้าใจมันดี ไม่มีนักวิ่งอัลตราคนใดซ้อม 100 ไมล์เพื่อเตรียมแข่ง 100 ไมล์ ผมมาจากสายนักกีฬาซึ่งเข้าใจเรื่องนี้ดีว่าความเสี่ยงมันมากเกินกว่าผลลัพธ์ที่จะได้ เพื่อนที่สนใจความท้าทายของระยะทางก็เห็นว่าการปั่นแบบไม่มีกลุ่มเซอร์วิสอดหลับอดนอนในฤดูร้อนที่สุดของเมืองไทยนั้นไม่ได้เรียกว่าท้าทายแต่น่าจะออกไปทางสิ้นคิด แม้กระทั่งกลุ่มคนที่สนใจ power ride ระยะทางสุดประเทศยังให้ความเห็นว่าการปั่นแบบอ่อนล้าใน 7 วันที่อันตรายที่สุดในรอบปีของประเทศไทยมันไม่ต่างกับการกระโดดจากหอไอเฟลแล้วคาดหวังว่าจะรอดชีวิต มีเพียงกลุ่มที่เลือกออกเดินทางด้วยกัน 5 ชีวิต ที่เหมือนว่าจะต้องการทดสอบอุปกรณ์ และไปด้วย mindset ของทัวริ่งที่ยอมรับการปรับเปลี่ยนของแผนการปั่นในทุกชั่วโมง ผมเองเข้าใจความเสี่ยง ข้อเสีย และข้อจำกัดเหล่านี้ได้ดี แต่ในทุกการตัดสินใจมนุษย์เราย่อมสามารถหาเหตุผลมารองรับการตัดสินใจของเราได้เสมอ
IMG_0364IMG_0315
สำหรับผมแล้วการปั่นจากบ้านที่กรุงเทพไปยังบ้านที่ภาคใต้มันเติมเต็มความฝันบางส่วนของนักปั่นจักรยานของผมพอควร การที่จะได้ทดสอบความรู้สึกของการอดหลับอดนอนแล้วปั่นให้ไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้แม้ว่าจะไม่ได้ผลดีทางกายภาพแต่ถ้าตั้งเป้าประสงค์ที่ถูกต้องย่อมสร้างผลดีทางจิตใจ ผมใช้มันมาตลอดในชีวิตนักกีฬาอดทนของผม การลองอุปกรณ์ ขนของที่คล้ายความจริงจะช่วยในการวางแผนสำหรับผมเองที่ไม่มีประสบการณ์ปั่นทัวริ่งมาก่อนเลย และสุดท้าย การใช้เวลากับตัวเองมันสร้างงานให้กับผมที่ใช้ผลจากความคิดเป็นหลักในการทำงานเป็นอย่างมาก และสุดท้ายสำหรับคนที่ใช้ชีวิตกับครอบครัว 24-7 อย่างผม การปล่อยให้แม่บ้านได้จัดการความเรียบร้อยในบ้านโดยไม่มีผมเป็นการฝึกฝนเป็นอย่างดีถ้าวันใดวันหนึ่งพวกเขาต้องใช้ชีวิตแบบนั้น การตั้งอยู่ในความไม่ประมาทย่อมเป็นสิ่งที่ดี
IMG_0271IMG_0290
ต่อจากนี้เป็นสิ่งที่ผมบันทึกไว้ทันทีหลังจากการปั่นสิ้นสุดลง เสริมเกร็ดเล็กน้อยที่ผมแทรกลงไปในวันนี้ จากแผน 1240 กม. 93 ชม. แต่ทำได้ 810 กม. 65 ชม. เกิดอะไรขึ้นบ้าง ผมพยายามเตรียมชุดและอุปกรณ์ตามที่คิดไว้ รองเท้า MTB ใหญ่ขึ้นสองเบอร์ กระเป๋าหน้าหลัง ผมขนเสื้อผ้าไปสองชุด เสื้อจักรยานแขนสั้นและยาว และชุดนอนหนึ่ง ถุงเท้าสี่คู่ ปลอกแขนสอง ผ้าบัฟสองผืน Hi-Vis gillet อีกหนึ่ง เพื่อจำลองภาวะจริงที่จะต้องขนเสื้อกันลม กางเกงยาวและ thermal vest แทนชุดที่ขนมาเกินๆ ผมขน power bank 50000 mAh อุปกรณ์ชาร์จและของจิปาถะจากการเดินทางไปกรุงเทพหนึ่งคืนล่วงหน้า รวมๆแล้วน่าจะใกล้เคียงกับความจริงที่ PBP
 11157535_810321489053403_1763873998513516677_o
Stage 1 BTS วุฒากาศ-ประจวบฯ 280km. เราออกตัวช้ากว่าที่วางไว้ 1 ชม. จากที่คิดไว้คือตีห้าแต่ BTS เปิดตีห้าที่สถานีปลายทาง ส่วนหน้าบ้านผมเปิด 5:30 ผมจึงได้ออกมายืนดูยามนั่งหลับหน้าสถานีอยู่ 10 นาที เมื่อไปถึงสถานีนัดหมายก็รอสมาชิก พี่เรืองชัยที่มาแนะนำตัวด้วยเงินบริจาค #ForZuri พร้อมของแถมจากภรรยาของพี่ อีกไม่นานนักก็ได้เริ่มออกตัวไปกันสามชีวิตพี่หมอป้อม ผมและพี่เรืองชัย เราต้องเปลี่ยนเส้นทางเล็กน้อยจากเส้นที่สมาชิกในกลุ่ม Thailand Go PBP ทำมาให้เพื่อไปรับสมาชิกที่ร้านข้าวแกงมหาชัยคือน้องเจี๊ยบ และถือโอกาสแวะกินอาหารเช้ากันเลย จึงเป็นโอกาสทำความรู้จักกันอย่างเป็นทางทางอีกครั้ง แต่ละคนยื่นเงินบริจาคมาเต็มจำนวนเหมือนกับจะบอกว่างานนี้ไม่มีถอย เช้านี้ ฟ้าครึ้มมีละอองฝนบ้างตลอดครึ่งเช้าเนื่องจากมีพายุฤดูร้อนคลุมทั้งบริเวณตอนเหนือของกรุงเทพ เราทราบภายหลังว่ากรุงเทพฝนตกหนักมากแต่เราไม่เจอฝนระดับพายุ ช่วงนาเกลือที่ใครๆว่าร้อนโหด ลมแรง ไม่เป็นอุปสรรคมากอย่างที่กลัว ถือว่าโชคดี ช่วงบ่ายเริ่มร้อนปกติและเกินปกติ ผมกับเจี๊ยบหยุดรอเพื่อทานอาหารเที่ยงบริเวณที่เลยจากนาเกลือมาได้ไม่ใกล พี่หมอตามมาสมทบส่วนพี่เรืองชัยจอดกินล่วงหน้า เรารอจนพี่เรืองชัยตามมาแล้วออกตัวอีกครั้ง
IMG_0294IMG_0292
ปั่นๆหยุดๆรอๆเพราะออกนอกเส้นทางเยอะ ไม่กล้าเดี่ยว บอกเป้าหมายต่อไปเป็นระยะๆ ช่วงบ่ายร้อนเหนื่อยปกติ โดยเฉพาะช่วงหัวหิน แต่เราไม่เร่งมากเพราะรู้ว่าวันรุ่งขึ้นคือของจริง เราหยุดกินเข้าเย็นแถวๆปั้มน้ำมันตอนประมาณ 6 โมงเย็นเพื่อรอให้ทีมด้านหลังตามมา ผมกับเจี๊ยบแม้จะปั่นไม่เร็วแต่ก็เร็วกว่าพี่หมอที่ทดลองขนแบบทัวริ่งเต็มรูปและพี่เรืองชัยที่คอยปั่นเป็นเพื่อน เราตัดสินใจมาจอดรออีกครั้งบริเวณทางเข้าประจวบฯ เพราะตำแหน่งโรงแรมดูสับสน ผมปั่น HR ต่ำ 130 แทบทั้งวัน เฉลี่ยแค่ 137 อยู่ในโซนสอง สมาชิกไม่ถนัดเนินต้องผ่อนรอทุกครั้ง กระเป๋าหน้าร่วงต้องแก้หลายครั้ง ปั่นไปยกไปหลายช่วง สุดท้ายเมื่อสมาชิกมากันครบเราปั่นหลงทางหาโรงแรมสักพัก ก่อนเข้าพัก แต่ผมต้องซ่อมกระเป๋าได้นอนห้าทุ่ม ตั้งปลุกตีสี่ครึ่ง. วันแรกได้ไป. 276.74 กม. แทบไม่เหนื่อยเลย ไม่เมื่อยด้วย เฉลี่ย 25.6 โดยประมาณ พี่เรืองชัยเสียสละให้ทุกคนไปอาบน้ำนอนก่อน ส่วนพี่อัปเดทให้กลุ่ม Thailand go PBP รับรู้ วันนี้ในเวลา 20 ชั่วโมงที่ตื่นผมใช้เวลาปั่นเพียง 12 ชม.
IMG_0282IMG_0304
Stage 2 ประจวบฯ-สุราษฎร์ 360km. เรามีสมาชิกมาเพิ่มอีกหนึ่งในช่วงเช้าพี่หมอแอน ขับรถกว่าห้าชั่วโมงตามมาถึงที่โรงแรมประมาณเที่ยงคืน เซตอัปรถเป็นจาวามินิล้อเล็กแต่เป้ใหญ่มาก ระหว่างรอเราก็ตามหาพี่เรืองชัยที่มีคนเห็นครั้งสุดท้ายคือนั่งหลับอยู่ด้านล่างตอนเที่ยงคืน ประมาณตีห้าเป๊ะๆพี่เขาก็โผล่ามาเฉลยว่าเขาเปิดห้องเพิ่มเพราะไม่เอาชุดมาเปลี่ยนอยากนอนแก้ผ้า โอเคไม่ว่ากันเหตุผลฟังขึ้นเพราะถ้าผมตื่นมาเจอพี่นอนแก้ผ้าบนเตียงเดียวกับผมคงไปต่อไม่ถูกเหมือนกัน เราออกสายไปครึ่งชั่วโมง แถวๆนี้ผมเคยมาแล้วจึงบอกให้พี่ๆเขาปั่นตาม จากประจวบวิ่งด้านในเพื่อไปออกเพชรเกษมแถวๆหว้ากอ เส้นทางดีในช่วงเช้ามืดหลังจากนั้นเมื่อออกเพชรเกษมมาแล้ว มีเนิน Rolling ตลอดทาง 1,3,5% สลับกันไป ผมค่อนข้างถนัดเพราะไม่ต้องใช้แรงมากใช้เทคนิคเยอะ สมาชิกโดนนวดน่วมตั้งแต่เช้า เริ่มมีหลุด กลุ่มเล็กพี่หมอและพี่เรืองชัยหลุดไปก่อน เพราะขนของหนักกว่าใครเพื่อน
IMG_0318IMG_0311
วันนี้แดดเต็มๆ เจี๊ยบเริ่มออกอาการส่วนพี่หมอแอนไปเรื่อยๆเนิบๆ เราคุยกันว่าจะไปพักที่บางสะพาน ผมกับเจี๊ยบก็ปั่นไปเรื่อยๆจนกระทั่งพี่หมอแอนหายไป แต่ก็ยังไม่หยุด ปั่นไปเรื่อยสักระยะพบว่าน่าจะเลยบางสะพานมาได้สักพักแล้ว เราปั่นต่อเนื่องมากว่า 80 กม. เลยหยุดรอเพราะสมาชิกเริ่มไม่ไหว ร้อนตั้งแต่เช้า จอดกินแตงโมลูกนึงแบ่งสามคน. อร่อยมากกินไปเยอะแม้จะกลัวท้องอืดแต่ยอม แตงโมหวานๆในบรรยากาศร้อนตอนกระหายสุดๆนี่มันสุขใจจริงๆ เรารอกลุ่มหมอป้อม รอต่อไปร่วมชั่วโมงครึ่งเลยคิดว่าควรออกตัว เพราะคนที่ร้านแตงโมบอกว่ายังอยู่ห่างออกไปอีกกว่าห้ากิโล เราโทรแจ้งตำแหน่งกันเล็กน้อยก่อนที่จะบอกว่าจุดต่อไปคือเขาโพธิ์อาหารเที่ยง แต่ยังไปรอเป็นช่วงๆ เพราะเรารู้ว่าเราเริ่มปั่นช้าลงมากเพราะร้อนและเนิน บางช่วงมีหลุดเนื่องจากเนินและร้อนที่สลับกันตัดแรงของกลุ่มเราทั้งสามคน แต่ก็ต้องรอต่อเพราะคนเหลือแค่สามการทิ้งกันที่ระยะนี้แล้วลุยเดี่ยวอีก 260 กม. คงไม่น่าสนุกเท่าไรนัก
IMG_0291IMG_0296
สุดท้ายเรามากินเที่ยงกันที่เขาโพธิ์ มารอจนทันกันที่เขาโพธิ์ กลุ่มเราเรียบร้อยแล้วจึงอาสาเฝ้าจักรยานให้พี่เขาไปหาอาหารมาทานกัน แต่พี่เขาตัดสินใจให้แยกกัน ณ จุดนี้เพราะเขาคิดว่าเส้นทางคงเป็นแบบนี้ไปอีกไกล เขาคงทำเวลาไม่ได้เช่นเคย สรุปครึ่งวันรอมาแล้วสามชั่วโมง ร้อนมาก เนินเยอะมาก จากเขาโพธิ์ก็ไปเรื่อยแต่เริ่มยิ้มไม่ออกเนินมันทำร้ายจิตใจพอๆกับแดด พี่หมอแอนเริ่มหลุดอีกครั้ง ผมกับเจี๊ยบก็ปั่นปั่นปั่นจนมาทราบว่าพี่เขายางแตกแล้วมีปัญหาจึงโบกรถล่วงหน้าจะไปรอแถวชุมพร เราสองคนปั่นร้อนกันจนมาถึงหน้าร้านคุณสาหร่าย เจี๊ยบจอดซื้อไอติมข้างทางผมบอกเจี๊ยบว่าพี่หมอบอกก่อนที่จะหลุดว่าเราจะมาพักกันที่ร้านนี้ น่าจะโทรถามพี่เขาว่าอยู่ที่ไหน ปรากฏว่าพี่เขามาซ่อมยางที่ร้านซ่อมมอเตอร์ไซค์ห่างออกไปเพียงสองร้อยเมตร
IMG_0286IMG_0329
เราจึงเจอกันอีกครั้ง ผมไม่แน่ใจว่าปัญหาหลักคืออะไรเพราะทันทีที่ผมนั่งลงรอผมก็ผลอยหลับในทันที ไม่รู้ว่านานเท่าไรแต่หลังจากออกตัวด้วยกันอีกครั้งเราปั่นยาวกันจนหกโมงเย็นจัดการอาหารเย็นคราวนี้เป็นโจ้กเบาๆเพราะผมเริ่มมีปัญหากับระบบย่อยของผมมากขึ้นตลอดทาง หลังจากอาหารเย็นเรามองกันว่าคืนนี้คงไม่ได้นอนเราควรจะเก็บงีบสั้นๆไปเรื่อยๆระหว่างทางและแล้วทุกคนเริ่มของีบกันข้างทาง เมื่อออกตัว เราปั่นช้าลง หยุดบ่อยขึ้นและบ่อยขึ้นในช่วงกลางคืน สุดท้ายประมาณสี่ทุ่มเราได้ระยะทางมาประมาณ 260 กม. เราจึงขอพักงีบอีกครั้ง คราวนี้สมาชิกนอนตั้งแต่สี่ทุ่มยันเที่ยงคืน ผมแอบกินมาม่าและพยายามนอนแต่ไม่ค่อยหลับ จึงไปหยิบโน่นนี่นั่นมากินเรื่อย ๆ ฆ่าเวลา แต่เห็นว่าไม่ไหวแล้วจึงปลุกเพราะเหลืออีกร้อยกิโล ถ้าใช้เวลาห้าชั่วโมงจะได้อาบน้ำก่อนออกตัวตีห้าในวันรุ่งขึ้นพอดีที่สุราษฎร์ ทุกๆคนงัวเงียตื่นขึ้นมาเพื่อปั่นกันต่อไป แต่ไปได้ไม่นานเจี๊ยบขอจอดปรับตำแหน่งอานข้างทาง ส่วนผมขอตัวเข้าข้างทาง แต่ในช่วงเวลาที่ผมทำธุระอยู่นั้น ที่จุดที่เราหยุดบังเอิญเป็นโรงแรมพอดี สองสาวหันมาพูดพร้อมๆกันว่าเราน่าจะนอนกันที่นี่เพราะไม่ไหวกันแล้ว แต่ให้ทางเลือกผมที่จะแยกไปก่อน ผมคิดว่าถ้าผมหยุดวันนี้จะไม่มีวันไปทันที่หาดใหญ่ตอนตีห้า นั่นเท่ากับผมล้มเหลวในวันที่สอง ที่ระยะทางเพียงห้าร้อยกว่ากิโลเท่านั้น ผมจึงคิดว่าเราควรลองให้มันสุดทางเลยแยกกันไป ช่วงนั้นเนื่องจากผมเก็บขามาทั้งสองวันได้โอกาสเร่ง 28-30 ตลอดทางแวะที่ระยะประมาณ 50 กม. ผมลองดื่ม redbull extra เป็นครั้งแรกเพราะเริ่มเข้าใกล้ตีสาม ผมเคยหลับในที่เวลาประมาณนี้จึงอยากป้องกันไว้ก่อน แต่เป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดอย่างมหันต์ ผมเกิดอาการใจสั่นอย่างรุนแรง ความเร็วที่เคยทำได้ในช่วงแรกต้องลดลงเพราะในตอนนั้นผมไม่มั่นใจว่าเกิดจากอะไร แดดที่ผ่านมาทั้งวันนี้ก็ถือว่าโหดร้าย ถ้าผมจะหัวใจวายตอนตีสามระยะทางรวม 500 กว่ากิโล ผมและทีมชันสูตรคงไม่แปลกใจกันเท่าไรนัก ผมผ่อนลงเยอะ ผมนับถอยหลังไปเรื่อยๆอย่างอดทน พลางคิดว่าเราจะนอนสักหน่อยโดยไม่สนใจเวลาออกเดิมคือตีห้าอาจจะออกหกหรือเจ็ดโมงตามแต่เวลาถึง แล้วผมก็ถึงสุราษฎร์ตีสี่นิดๆ ได้ระยะทาง 351.21 กม. โดยประมาณ ปั่นมา 14.5 ชม. ตื่นมากว่า 24 ชั่วโมง HR เฉลี่ย 132 ความเร็วเฉลี่ย 24 ผมตั้งเวลาเพื่อที่จะนอนสองชั่วโมงกะว่าจะออกหกโมงนิดๆ แต่ลงมาเห็นอาหารเช้าแล้วทำใจไม่ไหวต้องอยู่ต่อเพื่อหาอะไรเล็กน้อยทานก่อนออกตัวไป
IMG_0317IMG_0307
Stage 3 สุราษฎร์-หาดใหญ่ 320km. ผมตื่นตีห้าสี่สิบตามที่ตั้งปลุกไว้กะจะออกหกโมงแต่คิดๆไปจำได้ว่าอาหารเช้าที่นี่ค่อนข้างดีแล้วเมื่อวานนี้อดอาหารปั่นตอนเช้าไม่สนุกเท่าไรนักเราน่าจะหาอะไรกินหน่อยดีกว่า อย่างไรก็ตามอาการมวนท้องยังไม่หายเลยจัดแค่ผลไม้และไก่ต้มขมิ้น ช่วงเชคเอาท์พนักงานสัมภาษณ์เล็กน้อย คงเป็นเพราะเห็นผมเข้ามาในยามวิกาลและออกตัวในเวลาไม่กี่ชั่วโมงถัดไป เขารายงานว่ายังไม่มีใครมาเชคอินท์เพิ่ม ทำให้รู้ว่ากลุ่มพี่หมอป้อมยังคงปั่นต่อไม่เลือที่จะมา reset ที่ตำแหน่งนี้ สุดท้ายกว่าจะออกตัวได้ 7:30 ช้ากว่าแผนชั่วโมงครึ่ง โรงแรมอยู่เลยโคออปมาแล้วเลยไม่รู้เรื่องไฟไหม้ที่เป็นข่าวฮือฮาในวันนั้นผมสังเกตว่าจักรยานสั่นและส่ายมากผิดปกติ และส่ายจนเริ่มคุมไม่ได้ขณะลงสะพาน แม้ว่าผมพยายามจะใช้มือขันถ้วยคอที่มักจะเป็นปัญหาจนแน่นที่สุดแล้วก็ยังไม่หายสั่น ผมจึงจอดดูเล็กน้อยพบว่าอาการถ้วยคอเหมือนเดิมจริงๆ แต่คราวนี้ไขให้แน่นด้วยมือไม่ได้แล้ว จำเป็นต้องปั่นสั่นๆ ส่ายๆไปเรื่อยๆ จากการลงสะพานง่ายๆที่ทำความเร็วได้กลายเป็นการประคองตัวไม่ให้ล้ม ผมแวะแทบทุกปั้มเพื่อหาประแจเลื่อน แต่ยังเช้าเกินไป ในที่สุดโชคเข้าข้างอีกครั้งเมื่อพบว่ายางล้อหลังรั่ว ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อเปิดเอาอุปกรณ์ปะยางใหม่เอี่ยมที่เพิ่งถอยมาสำหรับทริปนี้ยี่ห้อโปรดของผม Zefal กลับพบว่าผมไม่มีที่งัดยาง ชุดปะยางกล่องใหญ่ที่ซื้อมาใหม่ไม่มีที่งัดยางให้ตายซิ ปกติผมใช้มือเปล่าเปลี่ยนยางได้แต่กับล้อมาวิคคู่นี้มันแน่นมากแม้ว่าจะใช้ร่วมกับที่งัดยางก็ตาม หลังจากพยายามอยู่นานผมตัดสินใจใช้ไขควงงัดมันออกมา ขอบล้ออลูแตกและบิ่นเล็กน้อย ผมรีบหารอยรั่วแต่ไม่เจอ แต่จากตำแหน่งเมื่อวิเคราะห์คาดว่าน่าจะเกิดจากซี่ล้อจึงเลือกที่จะปิดเทปรองขอบล้อใหม่ทับลงไปเพื่อความปลอดภัย แต่มารู้ว่าเดี๋ยวนี้มันให้มาเผื่อต่างจากเมื่อก่อนที่พอดีเป๊ะกับรอบวงล้อ นั่นหมายความว่าผมต้องตัดปลายที่เหลือออก แต่ผมไม่มีมีดจึงจำเป็นต้องพับไว้ การติดตั้งยากลำบากเพราะแน่นล้อมากอยู่แล้ว พันขอบล้อให้หนาขึ้นก็ยิ่งแน่นขึ้นไปอีก อุปกรณ์ช่วยก็ไม่มี ในที่สุดก็มีหน่วยอาสาที่ขับรถตระเวณดูแลปัญหาช่วงสงกรานต์มาช่วยไว้ด้วยไขควงยักษ์งัดยางผมเข้าไป ผมขอบคุณแต่ก็อดไม่ได้ที่จะคิดในใจว่าล้อผมคงมีปัญาหาแน่นอนทั้งจากการงัดออกและงัดเข้าในวันนี้ ผมเสียเวลาในการเดินทางสิบกิโลแรกหนึ่งชั่วโมง ปั่นออกตัวล้อเด้งๆ อยู่ช่วงหนึ่งน่าจะเป็นตำแหน่งของการพับผ้ารองขอบล้อ ผมไม่สนใจมันมากนักเพราะตอนนี้ผมมีปัญหาใหม่มาให้คิด
                   IMG_0322  IMG_0325
เมื่อปั่นมาได้สักพักก็พบว่าผมเงยหน้าไม่ได้ คอเมื่อย ล้า เหมือนจะเป็นตะคริว จนต้องจับด้านบนและยืดตัวตรงตลอดเวลา แต่ไม่นานมันก็เริ่มสูงไม่พอ ผมตัดสินใจเอาไฟหน้าออกแล้วใช้เสาติดไฟหน้ามาเป็นตำแหน่งจับที่สูงขึ้น แต่ที่ตำแหน่งนี้มีทอร์คในการเลี้ยวที่น้อย ความสามารถในการควบคุมต่ำและห่างจากเบรค ทำความเร็วไม่ได้ทั้งพื้นราบและลงเนิน หลังจากพยายามคิดอยู่นานผมจึงตัดสินใจไขแฮนด์หงายขึ้น นับว่าเป็นความโชคดีที่ผมเปลี่ยนไปใช้สับถังเพราะไม่เช่นนั้นการหงานแฮนด์คงเป็นเรื่องที่ซับซ้อนกว่านี้อีกมาก หลังจากนั้นผมก็ปั่นคอส่ายๆไปเรื่อยๆ จนได้อู่ซ่อมรถข้างทาง ผมยืมประแจเลื่อนไขถ้วยคออัดแน่นไว้ก่อน เพราะไม่มี spaner ที่จะมาคอยรั้งระยะอัดของถ้วยคอ ด้วยความคิดที่ว่าแน่นไว้ก่อนปลอดภัยกว่าแม้ว่าสุดท้ายลูกปืนอาจจะเสียหายหรือถ้วยคอเสียหายจนต้องเปลี่ยนทั้งยวง สรุปแล้ว 35 กม. แรกของวันนี้ผมใช้เวลาไปสามชั่วโมง
IMG_0331IMG_0327
ผมตัดสินใจหยุดกินเช้าที่ร้านข้าวแกงข้างทางที่น่ารักมากๆ นอกจากอาหารอร่อย ห้องน้ำสะอาด น้ำ กาแฟฟรีแล้ว ยังมีเตียงนอนให้ผมเมื่อผมขอล้มตัวที่พื้นหญ้าหน้าร้าน ผมถือโอกาสนอนพัก 15 นาที เมื่อออกตัวหลังจากนั้นผมจึงเร่งได้นิดหน่อยเพื่อให้ได้ 60 กม. ช่วงเที่ยงที่เวียงสระ ช้ากว่าเป้าที่วางไว้คือทุ่งสงตอนเที่ยงไปร่วมสี่สิบกิโล จุดพักเป็นที่หยุดรถทัวร์ผมกินอาหารเที่ยง เติมน้ำอีกครั้ง ในเวลาต่างกันไม่ถึงสามชั่วโมง เจอพี่หมอแอนเลยรู้ว่าคนอื่นๆ กำลังตามมา กลุ่มพี่หมอป้อมเริ่มออกปั่นตั้งแต่ตีสาม มารับสาวๆที่โรงแรม และกำลังจะเข้าสุราษฎร์กัน ส่วนพี่หมอแอนต้องการปั่นสามร้อยสงขลาจึงคิดว่าควรกลับไปรอที่หาดใหญ่ดีกว่า ผมออกจากเวียงสระประมาณบ่ายโมงครึ่งแต่กว่าจะถึงทุ่งสงก็สี่โมงเย็น ช่วงนี้โหดร้ายมากเนิน 3-5% ตลอดทาง ร้อนและไม่มีปั้มเลย น้ำผมร่อยหรอ ใช้ได้แต่น้อยกินบ้าง แต่ต้องราดขาส่วนใหญ่เพราะร้อนมาก ถ้าไม่ราดจะปั่นไม่ค่อยได้เลย ผมหยุดอีกครั้งเพื่อหลบแดด หาน้ำเพิ่ม ถือโอกาสกินอีกทื้อเพราะเข้าใกล้มื้อเย็นเต็มที หลังจากนั้นนอนพักไปอีกครึ่งชั่วโมง เริ่มออกตัวหลังจากกินขนมหวานง่ายๆ อีกที
IMG_0323 IMG_0333
ผมกัดฟันปั่นไปเรื่อย ด้วยน้ำเพียงสองขวดใช้กิน ราดตัวและขามาเรื่อย ๆ ก็ไม่มีปั้มให้หยุดพักเลย จนมาเจอร้านกาแฟแถวๆ แยกสวนผักชื่อร้านวอลแตร์ ตอนหกโมงห้าสิบโชคดีมากๆเพราะร้านจะปิด ตอนทุ่มนึง ตอนนี้แดดหายหมดแล้ว ผมเริ่มง่วงหาวบ่อยขึ้น ร่างกายยังคงร้อนและต้องการราดน้ำอยู่ตลอด หลังจากกาแฟหมดผมก็ไปต่อไป ทุกอย่างที่ไม่เกิดในวันก่อนก็ค่อยๆก่อตัว ขาหนักเร่งความเร็ว 20kph. ยากลำบาก ง่วงหาวตลอดทางแต่ไม่สามารถหากาแฟเพิ่มได้ตามต้องการ ร่างกายร้อนทั้งๆ ไม่มีแดดอีกแล้ว ผมต้องราดน้ำบนตัวและขาเรื่อยๆ เพื่อลดความร้อน ผมนับกิโลไปเรื่อย ๆ รอให้ถึงพัทลุงเพราะจะมีร้านอาหารใหญ่ที่คุ้นเคย จนสุดท้าย กม. ที่ 193 ของวัน อีกเพียง 7 กม. ก่อนถึงพัทลุงก็มีคนโบกให้เข้าข้างทาง ปรากฏว่าเป็นกลุ่มพี่หมอป้อมขึ้นกระบะกันมาจากเวียงสระกะเข้าหาดใหญ่เพื่อไปปั่น 300 ผมเหลืออีก 120 กม. ตอนนั้นเป็นเวลาสี่ทุ่มคาดว่าจะถึงหาดใหญ่ตอนตีสาม ตั้งใจไว้ว่าจะออกปั่นหกโมง สายกว่าคนอื่นหนึ่งชั่วโมงเพื่อนอนเพิ่มขึ้น แต่ในตอนนั้นร่างกายบอกผมว่ามันได้เวลาพักแล้ว ความร้อนที่ขึ้นไม่ยอมลง สภาพคอและรถที่ทำความเร็วไม่ได้ ความต่อเนื่องที่สูญหายไป ผมขึ้นรถแล้วบอกทุกคนว่าผมคงลง 300 ไม่ไหวแล้วเพราะ dehydrated มากและถ้าร้อนอีกวันอาจจะเกิด heat stroke ได้ หลายๆคนบ่นเสียดายแต่เข้าใจเป็นอย่างดี วันนี้ผมปั่นมาได้ 193.73 กม. ผมตื่นมาแล้ว 15 ชม. ปั่นทั้งหมด 8.5 ชม. เท่านั้นความเร็วเฉลี่ย 22.6 หัวใจเฉลี่ย 133 ผมอาสานั่งหลังกระบะเพราะคิดว่าผมอยากล้มตัวลงนอน ช่วงระยะทางร้อยกว่ากิโลรถยนต์ต้องใช้เวลาอย่างน้อยหนึ่งชั่วโมง ผมหลับไปจริงๆและยาวจนถึงไดอาน่า หาดใหญ่ เราแยกย้ายกันไป เพื่อนอนพัก
IMG_0335IMG_0355
วันรุ่งขึ้นแม้ว่าผมตื่นไม่สายมากประมาณ 7 โมงเข้านอนได้ตอนเที่ยงคืน ร่างกายไม่บอบช้ำมากนักแต่ขาดน้ำยังฉี่ไม่ได้และตัวยังร้อนอยู่ พี่หมอแอน เจี๊ยบและพี่เรืองชัยออกปั่น 300 กันต่อซึ่งทำให้ระยะทางรวม 1000 กม. 83 ชม. ในขณะที่ผมทำได้เพียง 821.68 กม. เวลารวม 65 ชม. ผมพยายามเติมน้ำทั้งวันและสรุปเรื่องอุปกรณ์ที่ได้เรียนรู้มา ผมออกไปเล่นน้ำกับลูกเพื่อลดความร้อน พร้อมหาอะไหล่จักรยานที่ต้องเปลี่ยนเพิ่มเติม ผมอยู่รอจนน้องชายปั่นเข้าเส้นเพื่อดูผลจากรองเท้าและบันไดที่ยืมผมไปเมื่อคืนนี้หลังจากรู้ว่าผมจะไม่ออกปั่น เหมือนว่าน้องก็มาช่วยให้การงด 300 ของผมง่ายขึ้นเพราะต้องยืมรองเท้าและบันไดของผมไปใช้เนื่องจากลืมเอารองเท้ามาจากบ้าน อย่างไรก็ตามสามวัน 65 ชม. 821.68 กม. จบลงอย่างเรียบง่าย ล้มเหลวแต่เรียนรู้ อีกสองสัปดาห์ BRM300+ BRM200 ระยองรอผมอยู่ครับ ไม่มีเวลาเสียดาย มีแต่เวลาแก้ไข ซ่อมแซมรถ ร่างกายและเดินต่อไป สิ่งที่เกิดขึ้นในสามวันนี้ค่อยๆซึมลงไปในใจของผม ผมเริ่มรู้จักเส้นทาง จังหวัด ประเทศ อย่างที่ไม่รู้จักมาก่อน ในช่วงยี่สิบกิโลเมตร ผมใช้เวลาอยู่กับมันชั่วโมงนึงเต็มๆ เนินที่สัมผัสด้วยกล้ามเนื้อขา ความร้อนของแดดสัมผัสด้วยรูขุมขน กลิ่นรอบๆตัวที่สัมผัสผ่านจมูก แต่ละตำบล อำเภอ จังหวัดคืบอย่างช้าๆ ความเข้าใจในศักยภาพและข้อจำกัดของตัวเอง ทั้งกายภาพและจิตใจ เป็นประสบการณ์ง่ายๆ ราคาไม่แพง ที่คุ้มค่าหาอะไรทดแทนยากจริงๆ

Yakushima Trail & Beach Run : วิ่งตามฝันมิยาซากิ

ถ้าหากการวิ่งเทรลหมายถึง elevation, view และ ปาร์ตี้ของกินทีจุดให้น้ำ แล้วละก็ รายการนี้คือการวิ่งเทรลที่ผมชอบมากๆ แม้ว่าระยะทางรวมสั้นๆเพียง 38 กม. มีความสูงที่ต้องไต่ 1800 เมตรที่อัดอยู่ในช่วง 9 กม. ชันที่สุดคือ 1000 เมตรในระยะประมาณ 3 กม. กับวิวป่าโบราณที่อยู่ในพื้นที่ข้างเคียงกับมรดกโลกทางธรรมชาติของยูเนสโกแห่งแรกของญี่ปุ่น ความมหัศจรรย์ของป่าที่เปลี่ยนจากป่าสนค่อยๆเปลี่ยนไปเป็นป่าไม้ซีดาร์เมื่อมีความสูงระดับเกิน 800 เมตรซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะแห่งเดียวในโลกที่ทำให้ถูกบันทึกเป็นมรดกโลก อาหารที่จุดพักมีทั้งปลาย่าง ข้าวปั้นแบบต่างๆ พร้อมทั้งขนมหวานขึ้นชื่อของเมือง รวมทั้งดังโงะสุดแสนอร่อย น้ำ เกลือแร่ น้ำชาล้างปากมีให้เพียบพร้อม สำหรับผมเพียงเท่านี้รายการเทรลแห่งนี้ก็ประทับกลางดวงใจกร้านๆของผมได้แล้ว

ผมรู้จักรายการนี้จากการแนะนำของลูกศิษที่กำลังทำ post-doc อยู่ที่ญี่ปุ่น ในระหว่างที่ผมกำลังสนใจจะเข้าร่วมวิ่ง slow marathon ในบริเวณใกล้ๆกับโตเกียว แต่ขั้นตอนการขอวีซ่าเป็นไปด้วยความยากลำบากเพราะเป็นโซนที่ครอบครัวเราไปเที่ยวกันมาเมื่อเกือบสองปีที่ผ่านมา ข้อมูลที่มีไม่ได้ช่วยอะไรผมมากนัก ผมรู้ว่าผู้จัดจากคันไซมาจัดที่นี่เป็นครั้งที่สอง เป็นงานเล็กๆ ที่รับจำกัดเพียง 200-250 คน ไม่มีข้อมูลใดๆที่เป็นภาษาอังกฤษเพราะไม่ได้เจตนาให้มีกระเหรี่ยงอย่างผมไปร่วมด้วย สิ่งเดียวที่ผมรับรู้คือสถานที่จัดเป็นเกาะทางใต้ของคิวชูที่ซึ่งมีป่าโบราณที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับมิยาซากิในการสร้างเรื่องราวคลาสสิคอย่าง Princess Mononoke ทันทีที่ผมค้นหาภาพเกี่ยวกับป่าโบราณที่ว่านี้ ผมก็รู้ตัวทันทีว่าผมพลาดงานนี้ไม่ได้ ป่าและวิ่งเทรลเป็นเหตุผลมากเพียงพอที่ทำให้ผมตัดสินใจตอบตกลงร่วมลงทะเบียนภายในเวลาไม่เกินสองชั่วโมง ผมนำเรื่องราวไปชักชวนเพื่อนๆ หลายครั้งหลายคราว มีไม่กี่คนทำท่าสนใจแต่สุดท้ายไม่มีใครร่วมเดินทางมากับผม อาจจะเป็นเพราะกลุ่มเรายังมีความสนใจในการวิ่งเทรลค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่จะเน้นไปทางปั่นจักรยานออแดกซ์และไตรกีฬา

บนเกาะที่ห่างไกลจากศูนย์กลางของญี่ปุ่นค่อนข้างมากลูกศิษย์ของผมก็ไม่สามารถชักชวนใครมาร่วมได้ เนื่องจากการเดินทางที่ยาวไกล ค่าใช้จ่ายสูง ผมเองต้องเดินทางมาพักที่ฟูกูโอกะก่อนที่จะกระโดดขึ้นชินคันเซนเที่ยวแรก 6 โมงเช้ามาลงที่เมืองคากูชิมะตอน 8 โมงแล้วกระโจนขึ้นแทกซี่ไปขึ้นเรือให้ทัน 8 โมงครึ่ง เรือลำใหญ่ใช้เวลาอีก 4 ชั่วโมงเศษกว่าจะพาเรามาถึงตัวเกาะ ทั้งเรือลำมหึมามีผู้โดยสารไม่น่าจะเกิน 20 คน มีชาวต่างชาติเพียงเราครอบครัวเดียวเริ่มรับประกันบรรยากาศอย่างที่ผมต้องการได้ เมื่อมาพบกับตารางรถบัสที่เดินบนถนนหลักเพียงชั่วโมงละคันเราจึงมั่นใจว่าทริปนี้สนุกแน่ ๆ และเป็นสาเหตุที่ผมเข้าร่วมบรีฟไม่ได้ในช่วงเย็นก่อนหน้า ร่วมกับคณะชาวญี่ปุ่นที่ส่วนใหญ่ซื้อรายการเป็นทัวร์มาจากพื้นที่คันไซ

ในคืนก่อนแข่งมีพายุหนัก จนเรือเฟอร์รี่ยกเลิกการเดินทาง ส่งผลให้รถเมล์เที่ยวแรก 6 โมงเช้ายกเลิก ด้วยความโชคดีที่เราออกมาเจอกับแทกซี่ที่คงจะเพิ่งกลับมาจากการส่งผู้โดยสารที่คาดว่าคงผิดหวังกับรถเมล์เที่ยวเช้าเหมือนเรา ไม่เช่นนั้นผมเองก็ไม่รู้ว่าจะเดินทางไปจุดนัดพบเพื่อขึ้นรถบัสที่ผู้จัดจะพาเราไปยังจุดเริ่มต้นได้อย่างไร นี่เป็นการวิ่งเทรลครั้งที่สามของผมจากสองครั้งแรกในรายการ TNF100 ที่ระยะ 25k 50k ตามลำดับ ผมบาดเจ็บค่อนข้างสาหัสมาจาก 50k ทำให้ผมต้องชะลอการวิ่งมาร่วมปีและไม่กล้าร่วมวิ่งเทรลอีกเลย แต่ในปีนี้ผมพยายามฟื้นฟูสภาพร่างกายของผมด้วยการวิ่งเท้าเปล่าและด้วยการซ้อมช้า แต่ว่าโปรแกรมเพิ่งเริ่มมาได้ไม่กี่สัปดาห์ ตารางวิ่งยาวเพิ่งเข้ามาที่ระยะ 16k ผมจึงตัดสินใจ train through ไม่มีการ taper สำหรับรายการนี้ ผมวางแผนที่จะวิ่งช้าๆ ให้มี HR ไม่เกิน 160 สิ่งที่ผมกลัวที่สุดคืออากาศเย็นเพราะผมห่างหายไปนานจากจนไม่รู้ว่าต้องแต่งตัวอย่างไร อีกทั้งผมไม่มีกางเกงวิ่งขายาวและถุงมือแต่ด้วยความขลุกขลักแผนที่จะมาหาซื้อที่ฟูกูโอกะไม่เป็นไปดังหวัง มาเห็นสภาพเกาะและการเดินทางผมจึงขอยืมถุงน่องและถุงมือของภรรยามาใช้ในการแข่งขัน ส่วนท่อนบนผมจัด layering ตามแผนที่จะใช้ในการปั่น PBP1200 ที่ฝรั่งเศสเพื่อทดสอบไปในตัว ผมไม่มีรองเท้าวิ่งเทรล ส่วนรองเท้าวิ่งที่มีคู่เดียวคือนิวตันที่มีพื้นรองเท้าที่ออกไปทางสกีเสียมากกว่าออกแบบมาเพื่อจับยึด แต่สิ่งหนึ่งที่ผมเตรียมมาเพื่องานนี้โดยเฉพาะนั่นคือไม้เท้าคาร์บอนที่อยากได้มาตั้งแต่ตอนที่ต้องหากิ่งไม้ประคองตัวเองมาจาก TNF100 ด้วยข้อจำกัดทั้งหมดนี้ ผมตั้งเป้าไว้ที่ 8 ชม. ตาม cut off time ที่เขากำหนดไว้พอดี

ระหว่างนั่งรถบัสก็ได้คุยกับผู้เข้าร่วมแข่งขันเล็กน้อย ผมเจอกับสาว ไอรอนแมนสองคนจากโตเกียวที่ทักผมเรื่องรองเท้านิวตันที่มีแต่นักไตรกีฬาเท่านั้นที่รู้จัก เจอกับคนอิสราเอลที่ทำงานในโตเกียว และคู่หูคนหนึ่งเป็นลูกครึ่งคานาดาญี่ปุ่นและอีกคนเป็นคนเกาหลีที่เรียนที่อเมริกา มีแค่เท่านี้ที่พูดภาษาอังกฤษกับเราได้ ไม่รวมผู้จัดอีกหนึ่งคนที่ใช้ภาษาได้ กลุ่มคนเหล่านี้เข้ามาทักผมในทันทีที่เห็นเพราะในช่วงบรีฟมีการประกาศว่ามีคนไทยเข้าร่วม 2 คน จากผู้เข้าแข่งขันทั้งหมดประมาณ 50 กว่าคน เขาเล่าเรื่องบรีฟให้ผมฟังเล็กน้อย บอกว่ามีจุด checkpoint ที่ยอดเขาสองจุด มี food station 4 จุด จุดสุดท้ายจะมีเพียงน้ำไม่มีอาหาร จะไม่จุด cut off หนึ่งจุดที่ระยะ 22 กม. ตอนบ่ายสองโมง เริ่มปล่อยตัว 8 โมงเช้า จากสภาพฝนตกเมื่อคืนผมจึงคาดว่าทางคงเปียกและลื่นมาก เป็นไปดังคาดผู้จัดตรงเข้ามาหาลูกศิษย์ผมด้วยความเป็นห่วงเตือนเรื่องทางที่ลื่นมาก และบอกข่าวร้ายเราว่า cut off จะเลื่อนเป็นบ่ายสองและปล่อยตัวเลื่อนเป็น แปดโปงครึ่ง

IMG_1966

ในการเปิดงานมีหลานคนน่าจะเป็นตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากล่าวสั้นๆ เหมือนเป็นการต้อนรับและอวยพร มีนักวิ่งเทรลอาชีพที่เป็นคนจัดเส้นทางมานำยืดเหยียด แล้วก็ถึงเวลาปล่อยตัว ผู้จัดมีเจ้าหน้าที่วิ่งไปกับเราสองกลุ่มคือนักวิ่งอาชีพที่วิ่งไปพร้อมๆกับกลุ่มใหญ่ ส่วนอีกกลุ่มจะวิ่งปิดท้าย ผมเข้าไปแนะนำตัวเล็กน้อยเพราะคาดว่าคงต้องเจอกันเรื่อยๆ จุดสตาร์ทเป็นโรงเรียนที่ตั้งอยู่บนเชิงเขาเมื่อเลี้ยวออกมาจากโรงเรียนก็มีแต่ทางลาดขึ้นนวดขาเราไปเรื่อย ๆ ผ่านหมู่บ้านเล็กๆแต่มีความเป็นญี่ปุ่นที่ใครๆร่ำลือ ปู่ย่าตายายลูกเด็กเล็กแดงออกมายืนหน้าบ้านคอบปรบมือให้กับนักกีฬาที่วิ่งผ่าน วิ่งไปคำนับไปไม่หยุด ไม่ทันจะสองกิโลดีเราก็หลงเป็นจุดที่ทำให้ผมหลุดจากกลุ่มนำกลายเป็นรั้งท้ายในทันที แม้ว่าจะหลงไปไม่ไกลนักแต่ทางเลี้ยวที่เราพลาดมันเป็นทางเลี้ยวเข้าป่าปีนเขาสี่ขาที่ต้องเดินแถวเรียงเดี่ยวขึ้นไปเท่านั้น ผมไม่แน่ใจว่าความชันมันโหดหรือไม่อย่างไรแต่ฝนทำให้ลื่น รองเท้าไม่ช่วยเกาะ สี่ขาเป็นเรื่องจำเป็น ไต่ขึ้นมาได้สักพักน่องผมก็เริ่มปูดตามภาษานักปีนเขาเรียกว่า pumping ผมจึงพยายามชะลอเล็กน้อยกลัวตะคริวถามหา ผมคิดกับตัวเองเล็ก ๆ ผู้จัดบอกไว้ว่าเริ่มปล่อยตัวไปจะมีเนินเล็กๆมาต้อนรับเรา และนี่คือเนินเล็กของเขาผมเดาไม่ถูกว่าเนินใหญ่จะเป็นอย่างไร ตลอดเส้นทางปีนขึ้นไปไม่มีใครแซงใครให้เห็นแต่อาจจะเป็นเพราะผมรั้งท้ายมีนักวิ่งปิดท้ายให้เห็นอยู่ไม่ไกล แต่ทันทีที่ถึงจุด check point ก็เข้าใจว่าทำไมเขาถึงพามาที่นี่ ทุกคนที่ผ่านจุด check point แล้วต่อคิวกันขึ้นไปยังแท่นชมวิวขนาดประมาณ 2×2 เมตร วิว 380 องศา มองเห็นหาดหินกับคลื่นทะเลเกรี้ยวกราด เสียงตะโกนสุโค่ยได้ยินไม่ขาดระยะ ผมยืนมองวิวหนาวสั่นระริกจนนักวิ่งคนสุดท้ายเข้ามาแล้วจึงถือโอกาสไปต่อไป

IMG_1973

ช่วงที่ลงจากจุดชมวิวเป็นเทรลในป่าที่น่าจะพอแซงกันได้บ้างแต่ด้วยที่ระยะทางไกลถึง 38 กม. และผู้แข่งขันเพียง 50 คนเราจึงไม่ได้แซงใครและก็ไม่มีใครแซงผมเท่าไรนัก เส้นทางเป็นกึ่งโคลนลื่นๆ ผมไม่กล้าทำความเร็วเท่าไร เมื่อออกจากป่าก็เป็นถนนราดยางอย่างดีลัดเลี้ยวไปตามเชิงเขาเป็นถนนเลนเดียวรถสวนทางไม่ได้ วิวข้างสวยงามทิวสนสูงชะลูด สลับกับสวนส้ม ผลไม้ประจำถิ่น ผู้จัดนำเราลัดเลาะลงเขาแล้วเข้าไปวิ่งบนชายหาดที่เป็นแหล่งวางไข่ของเต่าทะเล ในฤดูที่ไม่มีใครมาเยี่ยมเยือน ขยะทะเลมีให้เห็นเกลื่อนหาด ผมจึงหายสงสัยว่าทำไมเขาจึงบอกให้นักวิ่งแต่ละคนช่วยกันเก็บขยะคนละชิ้นสองชิ้นมาให้ที่จุดให้น้ำแรกของการแข่งขันที่ปลายชายหาดนั่นเอง หลังจากชายหาดก็เป็นจุดให้น้ำจุดแรกที่เพียบพร้อม น้ำเปล่า เกลือแร่ และน้ำชา อาหารก็มีปลาย่าง ข้าวปั้นสองรูปแบบ ขนมหวานสามชนิด ผมทดลองทุกอย่าง อัดข้าวปั้นไปสองก้อน ดังโงะยอดอร่อยไปสองชิ้น เกลือแร่สามแก้ว แล้วก็คว้าเค้กก้อนเล็ก ๆ ในห่อพร้อมกับ bar ใส่กระเป๋าเก็บไว้ หลังจากนั้นเก็บภาพกันเล็กน้อยก็วิ่งออกไป จากจุดพักแรกก็เป็นเส้นทางขึ้นเขาตลอดทาง เนิบ ๆ เนียน ๆ ไม่ชันมากนัก แต่ก็ชัน ที่แย่ที่สุดคือ มันไม่เหมือนจะมีการสิ้นสุด มีแต่ความชันที่ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมกับอากาศที่เย็นลงเรื่อย ๆ

เมื่อวิ่งมาได้สักระยะผมจึงตัดสินใจเดิน เส้นทางค่อนข้างชันเพียงพอที่จะเรียกร้องให้หัวใจเต้นสูงเกินเป้าหมายและยาวนานเหมือนไม่มีวันสิ้นสุด ผมเปลี่ยนจากวิ่งเป็นเดินจ้ำขึ้นเขาไปยาวนานมากวิวค่อยๆเปลี่ยนไปจากทิวสน ไปเป็นยอดสน เราเริ่มเห็นต้นไม้เปลี่ยนไปเป็นซีดาร์ อุณหภูมิเปลี่ยนจาก 15 ลดลงเหลือต่ำกว่า 10 เพราะเราอยู่บนพื้นที่สูง 1000 เมตรจากระดับน้ำทะเล หมอกหนาขึ้นเรื่อยๆจนในที่สุดวิสัยทัศน์ลดเหลือประมาณ 5 เมตร จนผมเริ่มรู้สึกว่าผมกำลังอยู่ชายขอบของสวรรค์ 500 เมตรใน 6 กม. ผมแทบไม่ได้วิ่งเลย หลอกตัวเองว่าเดินชมวิวบ้าง อ้างว่ารักษา HR บ้าง แต่เมื่อสุดขอบสวรรค์เราก็มาเจอนรกรออยู่เบื้องหน้า

IMG_1952

ระยะ 22 กม. เป็นจุกแยกระหว่าง 32 กับ 38 กม. โดย 38 กม. จะถูกส่งไปปีนเขาลูกนึงสูงประมาณ 600 เมตรที่ระยะ 3 กม. เมื่อผมมาถึงที่จุด cut off นี้ก็พบกับผู้จัด เขาบอกกับผมว่าสภาพอากาศด้านบนเลวร้ายมาก เขาตัดสินใจเปลี่ยน cut off time จากบ่ายสองไปเป็นเที่ยงครึ่งและผมเข้าถึงก่อนเวลานิดหน่อย เขาจะให้ผมขึ้นไปเป็นคนสุดท้าย ด้วยความงงงวยกับการสื่อสาร ผมจึงใช้เวลานั่งกินอาหารที่จุดรอเผื่อจะมีใครเข้ามาหลังผมแล้วทางผู้จัดคงให้ออกไปได้พร้อมกัน ซึ่งเป็นไปเช่นนั้นจริงๆ ผมนั่งพักใหญ่ แอ่นเข้าพงหญ้าเล็กน้อยแล้วเริ่มปีนขึ้นไปก็มีกลุ่มสุดท้ายตามขึ้นมา ตลอดสามกิโลที่ขึ้นไปนั้นเรียกได้ว่าไม่สามารถวิ่งหรือเดินได้เลย ต้องปีนอย่างเดียวเท่านั้น มีหลายช่วงมากๆ ที่ต้องพึ่งไม้เท้าทั้งสองจิ้มเป็นจุดยึด มีหลายครั้งที่ต้องใช้มือโหนต้นไม้ตะเกียกตะกายดึงตัวเองขึ้นไปไม่ต่างจากการปีนหน้าผา ในใจผมนึกคำเดียวของภรรยาคือห้ามเจ็บ เพราะเราต้องอยู่เที่ยวกันต่ออีกหลายวัน ผมเริ่มเห็นประโยชน์หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าข้ออ้างดีๆที่จะซื้อรองเท้าสำหรับเทรลโดยเฉพาะ ถุงน่องของภรรยาทำหน้าที่ได้ดี ผมไม่หนาวเกินไปในขณะที่ระบายอากาศและแห้งเร็วไม่ต่างจากกางเกงวิ่งชั้นนำ แถมคือไซส์ภรรยายังทำหน้าที่เป็น compression ไปในตัว แต่ถุงมือเริ่มส่งสัณญาณไม่ดี ถุงมือไหมพรมแบบสตรีกัน wind shield ได้พอควรแต่เมื่อต้องใช้มือตลอดเวลาก็เริ่มเปียก นิ้วมือผมเริ่มเย็นแล้วเปลี่ยนเป็นชา ระหว่างที่เราปีนขึ้นไปก็มีคนสวนลงกลับมาเรื่อยๆ ผมปีนเร็วกว่าหลายๆคน ในกลุ่มท้ายๆ ผมจึงเริ่มทิ้งห่างลูกศิษย์ที่มาด้วยกันตลอดทางจนในที่สุดผมตามชาวเกาหลีที่พบในรถบัสได้ทัน ชาวเกาหลีตะโกนถามคนที่สวนลงมาเป็นระยะ แต่มีสาวคนหนึ่งให้คำตอบที่ผมกังวลเป็นอย่างมาก เธอบอกกับเราว่านี่ยังไม่ถึงครึ่งทาง เธอขึ้นไปแล้วแต่ไปได้ไม่ถึงจุดเชคพอยท์เพราะอากาศมันหนาวเกินไปจึงเปลี่ยนใจลงกลับมา ผมเริ่มกังวลนิ้วผมชาจนไม่มีความรู้สึก ร่างกายหนาวเหน็บเพราะเราได้แต่ปีนไม่สามารถทำความเร็วเพื่ออบอุ่นร่างกายได้เลย ผมเริ่มก่นด่าตัวเองเรื่องความไม่พร้อม เครื่องแต่งกายท่อนบ่นเริ่มเอาไม่อยู่เมื่อไต่ระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากมีฝนปรอยและลมกรรโชกแรงเป็นระยะๆ ผมเริ่มแซงหลายคนเพราะใจต้องการเคลื่อนตัวเร็วๆ จนท้ายที่สุดก็ขึ้นถึงจุดสูงสุดที่หนาวยะเยือก ลมแรงมากจนเข้าใจว่าทำไมจึงต้องเปลี่ยน cut off time เพราะเจ้าหน้าที่ด้านบนคงไม่สามารถทนได้นานกว่านี้อีกนานนัก ผมพยายามมองหาวิวแต่ด้วยความหนาวเหน็บจึงไม่สามารถชื่นชมอะไรมากนัก แต่ก็นานพอที่ลูกศิษย์ผมจะตามขึ้นมาทัน หลังจากนั้นเราจึงลงไปพร้อมกัน

IMG_1970

ขาลงย่ำแย่กว่าขาขึ้นหลายเท่านัก เส้นทางลื่นมาก กิ่งไม้ก้อนหินให้ยึดเหนี่ยวมีน้อย ชีวิตผมฝากไว้กับไม้เท้าคาร์บอน ผมเริ่มทิ้งห่างคนอื่นๆ อีกครั้ง. เริ่มแซงคนอื่นอีกครั้งอย่างสะบักสะบอม สิ่งหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้จากเทรลนี้คือ don’t fight the fall ผมพยายามคิดอย่างเดียวว่าจะลื่นอย่างไรจะล้มอย่างไร แล้วปล่อยให้ตัวเองลื่นและล้มตามที่มันจะเกิด และดูเหมือนจะเกิดขึ้นทุกๆ 4-5 เมตร ผมเริ่มสนุกกับมัน ไม้เท้าคาร์บอน รองเท้านิวตัน ผมกำลังเล่นสกีบกอย่างเมามันส์ ขาลงสามกิโลผ่านไปอย่างรวดเร็ว อุณหภูมิก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน เมื่อถึงจุดเชคพอยท์ด้านล่างผมจึงนั่งรอลูกศิษย์ผมอีกครั้งซึ่งไม่นานนักก็ตามลงมาสมทบด้วยหน้าตายิ้มแย้ม คิดว่าคงสนุกไม่แพ้กัน หลังจากนั้นเราก็วิ่งออกไปพร้อมกัน

IMG_1975

เส้นทางลงเขาประมาณ 5 กม. เป็นทางหินก้อนใหญ่ที่วิ่งยากมาก ปวดระบมฝ่าเท้า ไม่อยากจะคิดถ้าหาดใช้ VFF จะเป็นเช่นไร ผมได้รู้ว่าวิ่งลงยาวๆ หลายๆ กิโลโดยไม่มีทางราบเข้ามาแทรกเลยสักนิดก็ไม่ใช่หมูๆ ต้องเกร็งกล้ามเนื้อในบางจุดที่ไม่ค่อยได้ใช้งานเป็นเวลานานๆ ช่วงนั้น GPS ผมเริ่มมีปัญหาจับความเร็วได้ช้าผิดปกติ ระยะขึ้นน้อยผมเริ่มไม่มั่นใจความเร็วที่เราใช้เพราะบอกเพซ 8 ตลอดเวลาขณะที่ผมรู้สึกว่าเร็วกว่านั้นมาก วิวเริ่มเปลี่ยนจากซีดาร์ไปเป็นทิวสนแบ้วเราก็พบกับจุดให้น้ำจุดสุดท้าย 33 กม. นาฬิกาผมทำระยะทางหายไป 3 กม. ผมขนลูกอมใส่เสื้อกะเอาไปฝากลูกๆ ยืนกินน้ำอีกสักพักดูอาการลูกศิษย์รอจนได้ที่ก่อนที่จะวิ่งออกไป 5 กม. สุดท้าย

IMG_1944

เป้าหมายผมในช่วงสุดท้ายคือ HR 150 และไม่หยุดเดิน ซึ่งแปลงมาเป็นเพซได้ประมาณ 6:30 ผมคอยเงี่ยหูฟังเสียงลมหายใจลูกศิษย์นิดๆ ถ้าหอบมากไปก็ผ่อนลงหน่อย เราเริ่มได้ยินเสียงคลื่นซึ่งบ่งบอกถึงเส้นชัยที่ใกล้เข้ามา ผมเริ่มนับถอยหลังดังๆ ทีละกิโลที่เราทำได้ จากที่สามารถวิ่งคุยกันไปได้เริ่มเป็นผมพูดฝ่ายเดียว ดูท่าจะยืดออกไปได้อีกไม่นาน เข้าโค้งสุดท้ายผ่านเข้าหมู่บ้านเล็กๆ เริ่มมีเสียงปรบมือประปราย ผู้จัดให้เราวิ่งวนไปมาเล็กน้อยในช่วงกิโลเมตรสุดท้าย ลูกศิษย์ผมเริ่มออกอาการมาตั้งแต่สองกิโลก่อนหน้า ผมเลือกที่จะไม่ถาม ไม่ทิ้ง เร่งความเร็วแบบดึงๆ เพื่อดึงหยดสุดท้ายออกมาจากคู่หูวิ่งประจำวัน เมื่อเส้นชัยวนมาอยู่ตรงหน้า แม้ว่าลูกศิษย์จะให้ผมเข้าไปก่อนแต่ผมก็บอกให้เราเข้าพร้อมกัน สุดท้ายผู้จัดก็ให้ประกาศนียบัตรลงเวลาเดียวกันที่ 7 ชม. 35 นาที 14 วินาที

IMG_1976

อาหารที่รอเราที่เส้นชัยอุดมสมบูรณ์ ป้าๆกุลีกุจอมาเสริฟให้ถึงจุดพัก อาหารหลักทอดมันปลา ซุปมิโซ ขนมต่างๆ โดยเฉพาะดังโงะที่กลายเป็นของชอบของผมไปแล้ว ผมกินเท่าที่จะพอกินได้ ไม่ทันไรผู้จัดก็เก็บป้ายระยะทางลงมาจนหมด คนสุดท้ายวิ่งเข้าเส้นชัย นักวิ่งกลุ่มใหญ่เดินทางไปกับรถบัสก่อนหน้าสักครู่ใหญ่ ผู้จัดหารถตู้มาขนผู้รั้งท้ายสิบกว่าคนแนกย้ายสู่โรงแรมที่พัก การแข่งขันนี้ผมไม่เจ็บหลัง แต่กล้ามเนื้อหลังเริ่มตึงตัวเคลื่อนไหวลำบากบ้าง กำลังขาที่ดีขึ้นช่วยชะลอเวลาออกไปได้มาก ผมรู้ว่าการฝึก core strength น่าจะช่วยยืดเวลาออกไปได้อีก ตอนนี้ผมรู้แล้วว่าผมพร้อมสำหรับวิ่งเทรล แต่อัลตราเทรลต้องคอยดูกันต่อไป

IMG_1974

ผมไม่มั่นใจว่านักวิ่งเทรลสรรหาอะไรในรายการวิ่ง ผมเลิกค้นหาความท้าทาย เปลี่ยนไปหาประสบการณ์หาสิ่งใหม่ๆภายในใจของตัวเอง ผมไม่ต้องการที่จะแสดงถึงพลังใจ ความแข็งแกร่ง หรือมูลค่าความสำเร็จใดๆจากการแข่งขันมาได้สักระยะหนึ่งแล้ว สำหรับเทรลนี้มันเหน็บหนาว มันยากลำบากมากเพียงพอที่จะเรียกให้ผมถามตนเองว่าทำไปทำไม มันสดใสสดสวยเพียงพอที่จะทำให้ผมพึงพอใจกับการเดินทางข้ามประเทศเพื่อการนี้โดยเฉพาะ มันหนักหนายาวนานเพียงพอที่จะดึงอะไรจากเทรล โดดเดี่ยวตัวเองจากโลกอันวุ่นวายให้อยู่บนใจแน่วแน่ที่คิดเพียงว่าก้าวไปข้างหน้าทีละก้าวละก้าว คุณจะไม่ได้เหรียญ ไม่ได้แต้ม ไม่ได้สิทธิในการตีโวโอ้อวดใดๆ แต่มันอาจจะทำให้คุณเข้าใจว่าคุณเทรลเพื่ออะไร คุ้มหรือไม่เป็นการตัดสินใจของคุณเอง สุดท้ายต้องขอบคุณลูกศิษย์ของผม ทิยาที่วิ่งรายการนี้เพื่อสมทบทุนกองทุนเพื่อซูริ พี่มิกกี้ที่สมทบให้อีกกิโลละ 100 บาท รายการหน้าจะเป็นอะไรรอคอยครับ

Endurance : Why we do what we do?

สัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อน ๆ หลายคนมีกิจกรรม Endurance (ต่อจากนี้ผมจะเรียกมันว่า อดทน) ที่แตกต่าง แต่มีความเข้มข้นไม่แพ้กัน มาเล่าสู่กันฟัง ผมนั่งไล่อ่านกิจกรรมของทุก ๆ คน ที่อธิบายถึงความรู้สึก เล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้น แชร์กันไปมาเต็มไปด้วยความสุข และตื้นตัน ผมอดไม่ได้ที่จะแสดงความเห็นว่าผมรู้สึกมีความสุขที่ได้เห็นหลาย ๆ คนมีความสุข โดยใช้การอธิบายในลักษณะ “ความสุขบนความทรมาน” ซึ่งพบว่ามีหลาย ๆ คน รวมถึงคู่หูเพื่อนซี้ในกิจกรรมอดทนของผมค่อนข้างไม่สบายใจกับทำว่า “ทรมาน” และต้องการที่จะแสดงออกว่านี่ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นและเหตุผลที่เขาเหล่านั้นเลือกทำกิจกรรมอดทน จากการแลกเปลี่ยนในกระทู้นั้น ทำให้ผมมาถามตัวเองอีกครั้ง ทั้ง ๆ ที่ถามตัวเองมาหลายต่อหลายครั้งแล้วตลอดยี่สิบปีที่ผ่านมา ว่าเราทำกิจกรรมอดทนเหล่านี้ไปเพื่ออะไร

TRI NCB

แต่ก่อนอื่นคงต้องท้าวความไปถึงครั้งแรกที่ผมใช้คำว่า “ทรมาน” เพื่อสื่อถึงความรู้สึกบางช่วงในกิจกรรมเหล่านี้ มันเกิดเมื่อเพื่อนของผมชวนให้ไปปั่นบนเขาใหญ่ ผมจึงเลือกช่วงที่ผมต้องไปแข่งขัน TNF100 เป็นวันที่จะปั่นเขาใหญ่ โดยวันแรกวิ่ง TNF50K แล้ววันที่สองปั่นเขาใหญ่ ด่านชนด่าน 100K เพื่อที่จะชักชวนเพื่อน ๆ มาร่วมสนุกกัน ผมจึงคิดที่จะหาชื่อที่เหมาะสมให้กับกิจกรรมนี้ ในช่วงนั้นผมซ้อมเทรนเนอร์กับ DVD Series SufferFest ซึ่งผมรู้สึกว่ามันสื่อตรงกับความรู้สึกของผมจึงคิดที่จะแปลความหมายนี้ออกมา เลือกมาได้ว่า “ทรมานบันเทิง” เพื่อสื่อถึงกิจกรรมนี้ หลังจากนั้นผมใช้คำว่า “ทรมาน” อีกหลายครั้ง เพื่อสื่อถึงกิจกรรมอดทนที่เราชาวเผ่า V40 ทำกัน

IMG_1140

สำหรับผมคำว่า “ทรมาน” มันไม่ได้มีความหมายเป็นลบเลย เพราะที่มาจากความว่า Suffer ที่ผมแปลมานั้น ผมนึกไปถึง “ทุกข์” ในศาสนาตลอดเวลา ผมมองมันคล้าย ๆ กับว่ากิจกรรมอดทนนั้น คือการธุดงค์ ที่นำ “ทุกข์” มาพิจารณา ส่วนกิจกรรมอดทนนั้นนำ “ทรมาน” มาพิจารณา มันเกิดขึ้นกับผมในทุก ๆ ครั้ง และผมใช้มันในทำนองนี้ในทุก ๆ ครั้ง แต่ไม่เคยคิดว่าคำ ๆ นี้จะบาดใจใครหลาย ๆ คน โดยที่ผมไม่ได้ตั้งใจ ดังนั้นผมจึงตั้งใจที่จะเขียนมันออกมาว่าสำหรับผมแล้ว ผมเห็นอะไร และทำไปทำไม โดยไม่แน่ใจว่าเมื่อจบบทความนี้ผมจะได้คำตอบหรือไม่ ความเป็นนักวิทยาศาสตร์ในตัวผมสอนให้ผมบันทึกกระบวนการ และให้ความสำคัญกับมันเท่า ๆ กับผลลัพธ์

IMG_2582

เมื่อพิจารณาถึงสิ่งที่เกิดขึ้นที่ถูกสื่อว่า “ทรมาน” มันมีอะไรเกิดขึ้นบ้างในกิจกรรมอดทน สำหรับผม ความร้อน ความเหนื่อย ความเมื่อยล้า คำที่เรียกง่าย ๆ ว่า “หมด” หรือ exhaustion เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแน่ ๆ ในกิจกรรมอดทนทั้งหลาย ในมุมมองของเปลือกภายนอก แต่ถ้าพิจารณาลึกเข้าไปในจิตใจ ผมจะเห็นความท้อใจ การยอมแพ้ กำลังใจ ความหึกเหิม ในความต่อเนื่องของความรู้สึกทางร่างกายและจิตใจนั้น บางครั้งมันปวดร้าวรุนแรงจนผมเองต้องตั้งคำถามว่า ผมมันทำมันไปทำไม แม้มันจะไม่บ่อย แต่คำตอบของคำถามในเวลานั้นมันจะกำหนดผลลัพธ์ของกิจกรรมไม่ว่าในช่วงเวลาก่อนทำกิจกรรมนั้นเราต้องการผลลัพธ์เช่นใด

IMG_3711

ผมวิ่ง 10K เพราะต้องการลบความคิดว่านักว่ายน้ำ (จริง ๆ แค่สมาชิกชมรมว่ายน้ำ) จะไม่ถนัดวิ่ง ผมลง 21K เพราะอยากเอาความฟิตที่เหลือจาก 10K มาใช้ให้เป็นประโยชน์ ผมลงทวิกีฬาเพราะอยากปั่นจักรยานที่ผมใช้มามหาลัยแบบเร็ว ๆ สุดชีวิตกะเขามั่ง ผมลงไตรกีฬาเพราะผมเป็นนักว่ายน้ำ กิจกรรมอดทนของผมนั้นถูกขับมาจากความอยากรู้ และความต้องการขยายข้อจำกัด รวมไปถึงใช้ทรัพยากร อุปกรณ์ และทักษะทั้งหมดที่ผมมีอย่างคุ้มค่า ซึ่งมันเป็นนิสัยส่วนตัวที่จะใช้ความคุ้มค่า หรือประสิทธิภาพมากำหนดสิ่งที่ทำ ผมใช้เวลาอยู่กับมันสิบกว่าปี วิ่งไล่ตามสถิติต่าง ๆ ปีหน้ามันต้องเร็วขึ้นดีขึ้น ตำแหน่งสูงขึ้น แม้ว่าจะไม่เคยได้ถ้วยกับเขาเลย แต่ก็สามารถนำตัวเองไปอยู่ในอันดับ Top 5 Top 10 ได้ทั้งในสนามประเทศไทย และต่างประเทศ ในขณะที่สถิติก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ จนไปพีคที่อายุประมาณ 30 ก่อนที่จะค่อย ๆ คงตัวและช้าลงในที่สุด

IMG_7410

แน่นอนว่าผมคุ้นเคยกับความเจ็บปวด ตะคริว ไม่ใช่เรื่องแปลก และหลาย ๆ ครั้งไม่สามารถชะลอผมลงได้มากนัก อัดจนอาเจียรข้างทาง หรือจำเป็นต้องกลืนมันกลับเข้าไป เพราะอยู่ในระหว่างการแข่งขัน ไม่ใช่เรื่องแปลกอีกเช่นกัน ถ้าถามว่ามันจะใช้คำว่า “ทรมาน” ได้มั้ยสำหรับผม ผมเองก็เห็นด้วยกับเพื่อน ๆ ที่ไม่ชอบคำ ๆ นี้ว่าผมไม่อยากเรียกมันว่า “ทรมาน” ผมต้องยอมรับว่ามันอาจจะเจ็บปวด ผมไม่ได้ชอบมัน ไม่ได้เสพติด แต่ระหว่างซ้อมจนถึงวันแข่งและระหว่างแข่งนั้นผมทำทุกอย่างเพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้น แต่แม้ว่าผมรู้อยู่แก่ใจว่ามันจะเกิดขึ้นอีกถ้าผมต้องการสถิติที่ดีขึ้นในทุก ๆ ครั้งที่ผมลงแข่งขัน แต่เมื่อจุดสูงสุดของผมเหมือนจะผ่านพ้นไปแล้ว ความที่ผมเองอาจจะต้องยอมแพ้ให้กับตัวเองในวัยหนุ่ม เปลี่ยนมาแข่งขันกับคนรอบข้าง เปลี่ยนมาตั้งเป้าหมายใหม่ ๆ สถิติใหม่ ๆ ที่เหมาะสมกับกลุ่ม V40 อย่างผม ความกดดันในระดับที่จะต้อง “ทรมาน” มันก็ค่อย ๆ หมดไปจนวันหนึ่งผมเองก็เริ่มหาเป้าหมายใหม่ให้ตนเอง

IMG_7455

วันหนึ่งเพื่อนสนิทสมัยเรียนมัธยมมาชวนให้ตั้งทีมเพื่อวิ่งผลัดข้ามประเทศ ที่เรียกว่า O2O ผมคิดว่ามันฟังดูแล้วตื่นเต้นท้าทายดี จึงพยายามฟอร์มทีมขึ้นมาซึ่งก็ไม่ง่ายนักเพราะไอเดียที่จะวิ่งกันในเวลาเที่ยง วิ่งกันข้ามวันข้ามคืน วิ่งผลัดระยะสั้น ๆ ที่รวมระยะของแต่ละคนแล้วไม่เกิน 30K นั้นมันดูช่างไม่ “ท้าทาย” เอาเสียเลย แต่โชคดีที่ทีมได้ถือกำเนิดขึ้น และผมได้พบกับเหตุผลใหม่ของกิจกรรมอดทด กิจกรรมนี้ทำมาแล้วสองปี ได้ทำให้ผมได้ไปสนิทอีกครั้งกับเพื่อนเก่า ๆ ที่ร้างราจากกันมานาน กิจกรรมนี้ถือเป็นต้นกำเนิดของทีม Very Forty ที่เพื่อนในกลุ่มนี้อยากมีการรวมตัวเพื่อเข้าแข่งขันไตรกีฬาในรายการกรุงเทพไตรกีฬา ผลลัพธ์ของกิจกรรมที่ผมได้ดูเหมือนว่าจะสร้างผลกระทบได้กว้างขวางขึ้น มีเพื่อน ๆ หลาย ๆ คนมารวมตัวกันแสดงจุดยืน สร้างตัวตน แสดงตัวเป็นแบบอย่างของการใช้ชีวิต active ที่ผมต้องรับว่าเป็นอีกความสุขหนึ่งที่ทำให้ผมมุ่งมั่นทำกิจกรรมเหล่านี้มากขึ้นเรื่อย ๆ แม้ว่าการเผยตัวตนในครั้งนี้เริ่มทำให้อีกหลาย ๆ คนมองเห็นผมเป็นคน “บ้า”

L1010355

ผมเริ่มร่วมการแข่งขันจักรยานทางไกล เริ่มขยายระทางทางของไตรกีฬา และเริ่มสนใจระยะมาราธอน เนื่องจากเป็นระยะทางใหม่ ๆ ทุก ๆ ครั้ง ทุก ๆ ก้าวที่ผมทำลงไปมันเป็นสถิติใหม่ไปทั้งสิ้น แม้ว่าผมยังไม่เห็นเหตุผลที่ชัดเจนในการทำมันลงไป ผมยังได้ป้อนอาหาร ego ส่วนตัวของผมด้วยสถิติใหม่ ๆ เช่น Sub5 Marathon, 6:08 Hr Half-Ironman เป็นต้น จนวันหนึ่งเพื่อนแจ๊คแนะนำให้ผมรู้จักกับ Festive500 ที่ต้องปั่น 500K ภายใน 8 วันช่วงปลายปี สำหรับคนปั่นระยะ 80-100K การที่จะทำแบบนี้ต่อเนื่องทุก ๆ วันสร้างความท้าทายใหม่ ๆ ให้กับผม และก็ไม่ผิดหวังเมื่อผมร่วมคำท้าแล้วต้องถามกับตัวเองวันแล้ววันเล่าที่ต้องตื่นมาปั่นระยะ 80-100K โดยไม่สนว่าฝนจะตกหรือแดดจะออก เพื่อนคนเดียวกันนี้ก็แนะนำให้ผมรู้จักกับ Audax กิจกรรมอดทนในรูปแบบใหม่ที่ไม่ต้องแข่งกับใคร ไม่สนใจสถิติ มาด้วยใจกับคิวชีทเป็นพอ ผมกระโดดเข้าหาแล้วก็ติดมันงอมแงม มันเป็นการปั่นระยะที่ไกลมากขึ้น 200 300 400 600 ซึ่งต้องมีเรื่องของการกิน การพัก การนอนเข้ามาเป็นส่วนร่วมของความท้าทายนั้น ๆ ด้วย ดูเหมือนว่าในช่วงนี้ผมเริ่มได้เป้าหมายใหม่ของกิจกรรมอดทน นั่นก็คือ “ท้าทาย”

IMG_6245

อย่างไรก็ตามยังมีคำถามจากบุคคลภายนอกอีกในเรื่องของค่าใช้จ่าย นอกเหนือจากความเหน็ดเหนื่อยแล้ว ยังไม่ค่าใช้จ่ายในกิจกรรมเข้ามาเกี่ยวข้องอีกเยอะมาก ทำให้ผมเริ่มมองในมุมมองของทางด้านการเงินบ้าง แต่ไม่ทราบว่ามันมีอะไรที่ดลใจให้ผมจัดการกับปัญหาด้วยการตั้งกองทุนในชื่อลูกสาวที่เสียไปของผม ชื่อว่า กองทุนเพื่อซูริ ในการที่จะระดมเงินไปบริจาคให้กับหน่วย NICU โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ สถานที่ที่ลูกสาวคนนี้ของผมถือกำเนิดและเสียชีวิต ด้วยความหวังไกล ๆ ว่าเงินเหล่านี้อาจจะช่วยให้ลูกตัวน้อยของคนอื่นมีโอกาสกลับบ้านไม่เป็นเช่นลูกสาวของผม ผมจึงพยายามสร้างความสัมพันธ์ุระหว่างกิจกรรมอดทนและเงินบริจาคเพื่อกองทุนขึ้นในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อที่จะเป็นคำตอบหนึ่งในด้านการเงิน ซึ่งหลาย ๆ กลุ่มที่มีความเห็นตรงกันก็ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ ยกตัวอย่างเช่น กลุ่ม Run4ManyReasons ของพี่ย้ง เป็นต้น

IronmanLangkawiForZuri

ความ “ท้าทาย” ใหม่เข้ามาอีกครั้งเมื่อผมต้องเข้ารักษาตับอักเสบด้วยการฉีดยาอินเตอฟูรอน 48 เข็ม ผมจึงสมัครแข่งขันไอรอนแมนทันที แม้ว่าผมจะไม่คิดว่าจะลงรายการระยะนี้ในสภาพที่ผมไม่แน่ใจว่าผมสามารถวิ่งได้ไกลเพียงใด ผมดีใจที่การตัดสินใจพุ่งเข้าชนกับโรคร้ายและการรักษาอันหฤโหดนั้นได้สร้างแบบอย่างและกำลังใจให้กับผู้ป่วย หรือผู้พักฟื้นอีกหลายคน แม้ว่าในด้านของการวิ่งนั้น หลังจากผมแตะระยะมาราธอนแรกแล้ว ผมก็ขยายเป็นระยะอัลตราที่ TNF 50K แต่ทำให้อาการบาดเจ็บที่กระดูกสันหลังกำเริบ การวิ่งระยะ 10K 15K 21K กลายเป็นความท้าทายอีกครั้ง ขอแค่เพียงได้วิ่งครบระยะ ผมเก็บความท้าทายแบบผู้ป่วยกายภาพของผมอย่างเงียบ ๆ เพราะความผิดหวังในการ DNF ครั้งแรกในชีวิตที่สนามไอรอนแมนลังกาวี ก่อนที่จะประกาศชนกับมันอีกครั้งด้วยการวิ่งจอมบึงมาราธอน เพียงแต่บอกคนรอบข้างว่าผมต้องการวิ่งช้า ๆ ในใจเพียงคิดว่าต้องการวิ่งให้ถึงเป็นเท่านั้น ซึ่งในเวลานี้ผมต้องยอมรับว่า มันยังคงเป็นความ “ท้าทาย” สำหรับผมอยู่ดี

Week2

ในขณะเดียวกันที่ผมไม่สามารถเร่งความเร็วได้ดั่งใจ ผมจึงเริ่มหาความแปลกใหม่เพื่อมาเติมเต็มให้จิตใจผมอีกครั้งในกิจกรรมอดทนที่แทบไม่มีความหวังจะสร้างสถิติ เมื่อความท้าทายลดคุณค่าเหลือเพียงที่จะ “วิ่ง” ได้จนครบระยะ ผมเริ่มอาสาวิ่งเก็บขยะ ในงานภูเก็ตมาราธอน ในระยะฮาร์ฟ ที่ทำให้ผมได้รู้จักกับพี่ย้ง กล้วยหอม ผมเข็นรถ trailer ขนลูก ๆ สัมผัสบรรยากาศสงลามาราธอนในระยะฮาร์ฟ และสุดท้ายวิ่งแจกตุ๊กตาในงานจอมบึงมาราธอน ที่ระยะฟูลมาราธอน แม้ว่า ณ เวลานี้ ผมยังไม่สามารถ “วิ่ง” ได้จนครบระยะ แต่ผมก้าวข้ามความ “ท้าทาย” ในแต่ละขั้นมาเรื่อย ๆ ช้า ๆ อย่างมั่นคง

L1040269

ผมร่ายยาวมาจนถึงย่อหน้าสุดท้าย ผมเองยังไม่แน่ใจว่าผมได้คำตอบหรือยัง ว่าผมทำกิจกรรมอดทนเหล่านี้ไปทำไม มีความเป็นไปได้ว่าผมอาจจะต้องค้นหามันไปตลอดชีวิต เฉกเช่นคำถามที่ว่า มนุษย์เราเกิดมาเพื่ออะไร แม้ว่าผมจะเล่าให้หลาย ๆ คนด้วยเหตุผลต่าง ๆ กัน ไม่ว่าอาการเจ็บหลังที่กำเริบจนไม่สามารถอุ้มลูกชายคนแรกอาบน้ำได้ สุขภาพที่ย่ำแย่จากการโหมทำงานหนักจนแม้กระทั่งเดินขึ้นบันไดหอบ หรือการที่จะสร้างแบบอย่างให้กับลูก ๆ ในการใช้ชีวิตแบบมีสุขภาพ ไปจนกระทั่งเหตุผลเนื่องจากเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่พัฒนาจนอายุเฉลี่ยเรายาวนานขึ้นและผมไม่ต้องการที่จะใช้ช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตบนเตียง เหตุผลเหล่านี้อาจจะเติมเต็มให้กับผู้สงสัย ผู้ตั้งคำถาม แต่ผมรู้ดีว่าสำหรับผมนี่มันเป็นเพียงผลพลอยได้  Why we do what we do? The answer my friend is blowing in the wind.           

Becoming five years old triathlete.

IMG_8285ผมรักไตรกีฬา แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าผมวางแผนให้ลูกผมเป็นนักไตรกีฬา หรือ แม้กระทั่งเล่นไตรกีฬา ตามปรัชญาการเลี้ยงดูของบ้านเราที่จะปล่อยให้ธรรมชาติและความสนใจของลูกเป็นสิ่งผลักดันพวกเขามาจากข้างใน ในขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าธรรมชาติและความสนใจของพ่อแม่ยังคงมีส่วนเป็นอย่างมากในการสร้างตัวอย่างและผลักดันจากภายนอก การแข่งขันไตรกีฬาสำหรับผมนั้นไม่เคยเป็นการแข่งขันแต่มันเป็นการฝึกตนอย่างหนึ่ง ฝึกวินัยในการซ้อม ฝึกมองภาพใหญ่ ฝึกตั้งเป้าหมายแต่ไม่ลืมสิ่งสวยงามข้างทาง ผมเพียงต้องการถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ให้กับลูก ๆ ผ่านสื่อที่เรียกว่าไตรกีฬา

IMG_0033

เด็ก ๆ บ้านเราถูกสอนให้คุ้นเคยกับน้ำตั้งแต่อายุยังน้อย 2, 3, 6 เดือนตามสภาพความพร้อมของร่างกายและสภาพอากาศ ซึ่งผมได้เคยให้ความคิดเห็นเอาไว้แล้วในโพสเก่า ๆ เรื่องทักษะการว่ายน้ำ ผมต้องการให้ลูก ๆ ทุกคนรู้จักการเอาตัวรอดในน้ำได้ ผมไม่ได้มีความรู้อะไรเป็นพิเศษในการฝึกหัดเด็กให้ว่ายน้ำ เราเพียงแค่พาเด็ก ๆ ไปสนุกกับมัน จริงอยู่ผมมีวิธีการเล็ก ๆ น้อย ๆ  ที่จะแนะนำให้เขาคุ้นเคยกับน้ำเป็นขั้นเป็นตอนไป แต่นั่นผมค่อยมาขยายความภายหลังน่าจะดีกว่า แม้จะดูง่ายแต่รายละเอียดมันเยอะพอสมควร อย่างไรก็ตามพอเด็ก ๆ อายุประมาณสามขวบครึ่งถึงสี่ขวบก็จะเริ่มลอยตัวได้ พาตัวเองไปยังตำแหน่งต่าง ๆ ได้ในระยะทางค่อนข้างไกล 25-50 เมตร ผมยังไม่มีแผนที่จะสอนท่าให้กับพวกเขาจนกว่าเขาจะสนใจ ตอนนี้เซน พี่ชายคนโตอายุห้าขวบครึ่งเริ่มมีความสนใจที่จะว่ายท่าฟรีสไตล์อยู่บ้าง อาจจะเป็นเพราะเริ่มอยากว่ายให้เร็วขึ้น แต่อย่างไรก็ตามทักษะแรกสำหรับไตรกีฬามาตามธรรมชาติที่เราเตรียมภาวะแวดล้อมไว้ให้ ไม่ใช่เรื่องยากอะไรเลย เพราะเด็ก ๆ ส่วนใหญ่ชอบเล่นน้ำกันอยู่แล้ว การเอาเด็กขึ้นจากสระนั้นยากกว่าเอาเด็กไปลงสระเยอะมาก ๆ

 

L1000048

 

ในการเตรียมตัวเรื่องจักรยานก็ไม่ต่างกัน พ่อเป็นคนรักจักรยานเป็นชีวิตจิตใจ โตมากับการใช้จักรยานเพื่อเสริมความสามารถในการเดินทางสมัยยังเป็นเด็ก ผมอยากให้ลูก ๆ ได้ความรู้สึกแบบนั้นบ้าง อยากให้เขารู้ว่ากำลังขาของพวกเขาสามารถนำพาเขาไปได้ไกลเท่าที่หัวใจเขาอยากไป อย่างไรก็ตามจักรยานเป็นกีฬาที่ต้องใช้อุปกรณ์ การเลือกอุปกรณ์ที่เหมาะสมกับทักษะที่พร้อมของเด็ก ๆ จึงเป็นเรื่องที่เราค้นหากัน

IMG_1591

เราก็เริ่มพวกเขากับพาหนะมีล้อตั้งแต่เริ่มตั้งไข่ เริ่มด้วยจักรยานสามล้อแบบไถ ทำความคุ้นเคยกับสิ่งประดิษฐ์มหัสจรรย์ของโลกนั่นคือ “ล้อ” เมื่อเขาเริ่มโตขึ้นสามารถพาเขาออกเดินเล่นบริเวณหมู่บ้านได้ เราก็เริ่มหาพาหนะใหม่ให้พวกเขา ในจังหวะนี้ผมยังมีประสบการณ์น้อยว่าจริง ๆ แล้วพวกเขาจะมีพัฒนาการอย่างไร ในวัย 2 ขวบนั้นการเดินและวิ่งค่อนข้างจะเชี่ยวชาญกันหมดแล้ว การฟังคำสั่งยังไม่ค่อยจะพัฒนามากนัก ซึ่งทำให้ผมเป็นห่วงเพราะพื้นที่ที่เราเล่นกันนั้นเป็นถนนในหมู่บ้าน ไม่ใช่สวนสาธารณะที่ปลอดรถ ในเบื้องต้นผมเลือกจักรยานถีบ 3 ล้อให้กับพวกเขาก่อน ผมได้เห็นความพยายามในการทำความเข้าใจที่จะใช้บันไดในการถีบ ซึ่งดู ๆ แล้วไม่ค่อยเป็นธรรมชาติมากนักสำหรับเด็กวัยนี้ เราจึงไม่ได้ใช้มันเท่าที่ควร แต่อยู่มาวันหนึ่งผมค้นพบสิ่งที่เรียกว่า push bike จากรูปจักรยานไม้สวย ๆ ที่แชร์กันตามเฟสบุค ผมตามหาจนพบว่ามันเป็นจักรยานสำหรับเด็กที่ผลิตที่เยอรมันโดยใช้ชื่อว่า Like-A-Bike ผมตามมาเจอตัวแทนในฮ่องกงแล้วสั่งซื้อตรงจากเขา ไม่นานนักผมก็ได้ของและให้ลูกชายวัยสองขวบครึ่งได้ลอง เขาใช้เวลาสองวันในการที่จะเข้าใจการทำงานของมันและใช้งานได้คล่องแคล่วในเวลาอย่างรวดเร็ว ในปีถัดมาลูกสาวโตขึ้นระบบแบบนี้เริ่มได้รับความนิยม มีคนจำหน่าย push bike มากขึ้น ผมจึงจัดอีกคันที่ใช้ชื่อว่า Strider แม้ว่าจะราคาถูกกว่ากันแรกถึงสี่เท่าแต่รายละเอียดในการออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นความปลอดภัย หรือ ความเหมาะสมของทักษะเด็กในวัยย่างสามขวบ นั้นจะสู้ Like-A-Bike ไม่ได้เลย ลูกสาวไม่สามารถเล่นได้ผมจึงจำเป็นต้องให้ลูกชายแลก Like-A-Bike กับ Strider ของลูกสาว ซึ่งในเวลานั้นลูกชายคนโตเริ่มใช้จักรยานทรงตัวคล่องมากแล้ว การสลับมาใช้ Strider เป็นเรื่องง่าย ในขณะที่ลูกสาวก็สามารถทรงตัวบน Like-A-Bike ได้แทบจะทันทีตามที่เขาได้ออกแบบมา

IMG_0120

 

IMG_7526

เด็ก ๆ ถูกพาออกไปเดินเล่นนอกบ้านพร้อม ๆ กับยานพาหนะคู่ใจของพวกเขาทุกครั้ง เราแทบจะไม่จัด session พิเศษสำหรับการปั่นจักรยานใด ๆ เลย แต่ใช้มันเป็นส่วนประกอบของการ commute สั้น ๆ ในบริเวณหมู่บ้าน ซึ่งในบางวันเขาก็จะเอาสามล้อปั่นออกมาเล่นกันบ้างตามความสนใจในขณะนั้น เมื่อผมมองว่าลูกชายคนโตของผมเริ่มมีความพร้อม ผมก็ไปยืมจักรยานปั่นที่ติดล้อข้างของญาติรุ่นพี่ ผมเอามาถอดล้อออกแล้วลองให้เขาหัดใช้ดู เซนซึ่งสามารถทรงตัวได้แล้ว ทักษะการถีบบันไดพร้อมแล้ว เขาก็สามารถนำทักษะของอย่างนี้รวมเข้าด้วยกันในจักรยานคันใหม่ได้ค่อนข้างรวดเร็วภายในเวลาสองสามวัน ในขณะที่เมื่อไม่นานมานี้ผมได้ให้น้องสาวซาช่าทดลองบ้าง ตอนนี้ซาช่าสามารถใช้ Strider คล่องแล้ว แต่ยังค่อนข้างชอบใช้ Like-A-Bike มากกว่า (นั่งสบายกว่า) ในขณะที่ไม่เคยมีทักษะในการถีบบันได้เลย เพราะไม่ค่อยได้เล่นจักรยานสามล้อ ก็พบว่าในขณะที่ซาช่าสามารถทรงตัวได้ แต่ความเข้าใจในการถีบจักรยานยังมีน้อยเกินไปและยังไม่พร้อมในการปั่นจักรยานในรูปแบบนี้ ซึ่งในขณะนี้ผมนำเอาจักรยานสามล้อลงมาใหม่เพื่อจะให้น้องซาช่าได้มีโอกาสฝึกฝน คงต้องรอดูกันต่อไป

IMG_1652

ส่วนตัวเซน พี่ชายคนโตเอง เมื่อสามารถปั่นจักรยานสองล้อได้ดีแล้ว ผมจึงเริ่มมองหาจักรยานที่มีขนาดใหญ่สักหน่อย ขนาดล้อ 20″ เป็นของยี่ห้อ Obea ประเทศสเปน รุ่นสำหรับเด็กที่ไม่ใช่รุ่นที่เล็กที่สุด และมีอุปกรณ์ใหม่ที่เขาไม่รู้จักมาก่อนคือ เกียร์ 7 สปีด และมือเบรค ซึ่งในเวลานั้นเซนยังไม่สามารถยืนคร่อมจักรยานได้อย่างมั่นคง แต่ทักษะการปั่นจักรยานเขามีพร้อมแล้ว อีกทั้งจักรยานมีขนาดใหญ่กว่าตัวเขา หนักมากกว่าความสามารถในการยกจักรยานของเขา ในช่วงแรกที่พาเขาไปปั่นนั้น เขาล้มหลายครั้ง และสุดท้ายโดนสุนัขไล่จนล้ม แล้วในที่สุดผมก็พบว่าเซนไม่ยอมเล่นจักรยานคันใหม่อีกเลย ซึ่งผมเองไม่ได้กังวลอะไรมากนักเพราะรู้ดีว่าผมซื้อมาค่อนข้างเร็วกว่าสรีระของเขา และอีกอย่างคือ จักรยานคันนี้ผมวางแผนให้เป็นของซาช่าน้องสาวเขา เราเลือกสีชมพูตามที่น้องสาวต้องการ และขอให้น้องสาวให้พี่ชายยืมใช้ก่อน ในช่วงที่น้องสาวยังปั่นจักรยานไม่เป็น สามเดือนผ่านไปไวเหมือนโกหก เซนก็เริ่มสามารถเขย่งให้ยืนคร่อมจักรยานได้บ้าง ผมจึงคยั้นคยอให้เขาออกไปหัดอีกครั้ง

 

L1020500

ในช่วงที่สองนี้ผมพยายามหัดทักษะที่สำคัญคือการเริ่มต้นปั่นจักรยาน การหยุดและลงจากจักรยาน เป็นหลัก ซึ่งใช้เวลานานพอดูในการหัดเขาน่าจะประมาณ 4-5 ครั้งกว่าที่เขาจะเริ่มจับจุดได้เอง ผมสอนการใช้เบรค สอนการใช้เกียร์ แล้วให้เขามั่ว ๆ เอาจนกระทั่งตอนนี้คาดว่าเขาเข้าใจมันดีมากแล้ว การพัฒนาการของเซนบนจักรยานเป็นไปอย่างรวดเร็ว เขาเริ่มปั่นเร็วขึ้น ทดลองปล่อยมือข้างเดียว การเบรค การเปลี่ยนเกียร์ การฟังคำสั่งของผม ในที่สุดผมคิดว่าเขาพร้อมที่จะออกถนนไปพร้อมกับผม ผมจึงพยายามหาการแข่งขันในพื้นที่ใกล้ ๆ ระยะทางไม่ไกลมากนักให้กับเขา ในที่สุดมาลงตัวในรายการแรกที่ต้องปั่น 25 km ในพื้นที่นาทวี ซึ่งจริง ๆ ไม่ใกล้มากนักเพราะห่างออกไป 60 กม. แต่เท่าที่ดูแล้วน่าจะเป็นงานเล็ก ๆ ในถนนเล็ก ๆ ผ่านป่ายาง ผมจึงตัดสินใจพาเขามาลองปั่นด้วยกัน

IMG_5689

เจตนาในการนำมาแข่งขันครั้งนี้คือ ให้เขาได้ร่วมการปั่นจักรยานกับคนอื่น ๆ จำนวนมาก ในสภาวะที่กึ่ง ๆ ปิดถนน และมีระยะทางที่ยาวเพียงพอที่จะได้อะไรกลับไป ผมไม่รู้ว่าระยะทาง 25 กม. ในการปั่นออกถนนครั้งแรกนั้นใกล้หรือใกลมากเกินไปหรือไม่ เพราะในใจคิดเพียงว่าถ้าเขาขอหยุดเมื่อไร ผมก็จะให้แม่เอารถมารับ ก็เท่านั้น อีกอย่างที่ผมต้องการจะฝึกเขามากที่สุดคือการฟังคำสั่ง การที่จะนำเด็กวัยไม่ถึงห้าขวบไปปั่น 25 กม. บนถนนจริงนั้น ความปลอดภัยเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด แม้ว่าถนนจะกึ่งปิด และมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลในทุก ๆ แยกแล้วนั้น เด็กวัยนี้ประสบการณ์แบบนี้ยังไม่สามารถตัดสินใจบนพื้นถนนด้วยตัวเองได้ ผมจึงต้องปั่นประกบและคอยบอกคิวให้เขาในทุก ๆ จังหวะ ไม่ว่าจะเป็นการชะลอ การเตรียมตัวเลี้ยว ทิศทางในการมองรถ การเปลี่ยนเกียร์เมื่อต้องขึ้นเนิน การเบรคและความเร็วที่เหมาะสม รวมไปถึงจังหวะในการพัก รวบรวมกำลังใจและกินน้ำ เป็นต้น เราออกปั่นท่ามกลางความสนเท่ห์ของผู้ร่วมปั่นทุกคน แน่นอนว่าแม้ว่าเราจะพยายามออกตัวไปเป็นคนแรกก่อนที่คนอื่น ๆ จะปล่อยตัว ไม่นานนักเราก็เป็นตำแหน่งสุดท้าย ที่คอยตามติดด้วยรถพยาบาล หลังจากปั่นผ่านไป 15 กม. เราก็หลงทางพร้อม ๆ กับรถติดตามของเรา เมื่อหลงไปได้สักพักรถพยาบาลจึงแจ้งว่าเราหลงและน่าจะขึ้นรถกลับกันได้แล้ว ตัวเซนเองนั้นในเบื้องต้นคงรู้สึกดีใจที่ไม่ต้องปั่นแล้ว และคงกำลังเหนื่อย แต่เมื่อรถพยาบาลขับกลับมาตามเส้นทางจนเจอกับตำแหน่งรองสุดท้ายที่เป็นเด็กผู้หญิงน่าจะอายุประมาณสิบขวบ เซนก็ขอลงไปปั่นแข่งกับพี่เขา ยังไม่ทันจะได้ขึ้นปั่นเราก็ไม่เห็นพี่เขาอีกเลย ส่วนเราเองก็ต้องปั่นดุ่ม ๆ ไปตามเส้นทางที่ในขณะนี้เริ่มเป็นบ้านของชาวบ้าน มีคนจำนวนมากออกมาเชียร์เซน และผมคิดว่าเขาเริ่มรู้สึกสนุก ในที่สุดเราก็ปั่นด้วยความเร็ว 10 kph เป็นจนถึงเส้นชัย พร้อมเสียงปรบมือกึกก้อง น้องคนเล็ก เข้าคนสุดท้าย ผู้จัดคนแล้วคนเล่า ขับมอเตอร์ไซด์มาเวียนดูขณะเซนปั่น แม้ว่าในงานนี้จะไม่มีถ้วยให้กับเซน แต่ผู้จัดก็กรุณาไปหาถ้วยที่ระลึกของงานอื่นมามอบให้เด็กตัวน้อยหัวใจพองโต ที่สุดท้ายแล้วเขาก็ได้เหรียญทองแรก และถ้วยแรกในชีวิตที่วัยไม่ถึงห้าขวบ กับระยะทาง 20 km บนจักรยานเด็กล้อ 20″ ที่ปั่นได้เร็วที่สุดประมาณ  12kph เท่านั้น

IMG_1630

ประสบการณ์ออกถนน 30 km ครั้งแรกของเซนทำให้เขามั่นใจในศักยภาพของตัวเองเป็นอย่างมาก ถึงกับขอปั่นจากบ้านเพื่อไปบ้านย่าที่ห่างออกไป 5 กม. หลายครั้ง ผมต่างหากที่กลัว เพราะเส้นทางเป็นถนนไฮเวย์ที่รถขับกันค่อนข้างเร็ว ผมพาเขาไปตามที่ตั้งใจหลายครั้ง และเริ่มรู้สึกว่าบางครั้งพ่อแม่ก็ประเมินศักยภาพของลูกตนเองต่ำเกินไป เนื่องจากความวิตกกังวล หลังจากนั้น ทั้งผมและเซนเริ่มสนุกกับมัน เราจึงหาการแข่งขันงานใหม่ ก็มาได้การแข่งขันที่ยะลา บนถนนเส้น 418 ระยะทาง 30 กม. คราวนี้ผมไม่ให้พลาด สมัครรุ่น VIP ยังไง ๆ ก็ได้ถ้วย เซนเองจะได้ไม่ผิดหวัง งานนี้ผมวางแผนผิดไปเล็กน้อย เพราะเส้นทางเต็มไปด้วยเขาลูกโต มองดูสุดลูกหูลูกตาสำหรับเด็ก ๆ เซนปั่นขึ้นเนินแล้วเนินเล่าทั้งน้ำตา ผมต้องหยุดให้น้ำให้กำลังใจหลายครั้ง หลังจากข้ามเขามาสำเร็จแล้ว ผมจึงตัดสินใจทิ้งเส้นทางราบที่เหลือให้เขาปั่นข้ามเขากลับไปอีกครั้งเพื่อเข้าเส้นชัย คาดว่าเราปั่นสั้นลงประมาณ 10 km น่าจะได้ แต่แพคไปด้วยภูเขา ในการปั่นขากลับเซนมีกำลังใจดีขึ้น คาดว่าเนื่องจากรู้ว่าเส้นทางใกล้ไกลเพียงใด ในที่สุดเราก็พากันมาถึงเส้นชัยได้ในสภาพที่ไม่บอบช้ำ ผมหัดให้เซนได้ใช้เกียร์จนครบ 7 เกียร์ที่มี การเบรคการชะลอ การประเมินพละกำลัง การฟังคำสั่ง ถือว่าเซนผ่านทุกรูปแบบแล้ว เราจึงมองหาเป้าหมายใหม่ในทันที

IMG_7008

สุดท้ายเรามาตัดสินใจใช้เป้าหมายใหม่เป็นไตรกีฬาสำหรับเด็ก แม้ว่าเป็นรายการที่จัดขึ้นสำหรับเด็กโดยเฉพาะ แต่ก็เป็นรายการระดับโลกที่เรียกว่า Junior Challenge Triathlon ที่จัดขึ้นพร้อม ๆ กับรายการ Challenge Laguna Phuket ในรุ่น 6-8 ขวบที่เซนจะลงแข่งนั้น มีระยะว่ายน้ำ 50 เมตร ปั่นจักรยาน 3 กม และวิ่ง 500 เมตร ซึ่งผมดู ๆ แล้วน่าจะเป็นเรื่องง่ายสำหรับเซนที่จะทำสำเร็จ แต่ก่อนที่จะเข้าร่วมแข่งได้เราต้องทำการโกงอายุครั้งแรกก่อน เนื่องจากระบบสมัครไม่อนุญาติให้อายุ 5 ขวบมาสมัคร เราจึงมั่วไปว่าเซนเอายุ 6 ขวบ แม้ว่าเซนจะยังว่ายน้ำไม่เป็น ได้แต่ลอยคอ แต่ผมคิดว่าทักษะเขามีเพียงพอที่จะลอยคอให้ครบ 50 เมตร สิ่งที่ผมห่วงคือถ้าสระมันสั้น 25 เมตรการจะทำให้เขายอมว่ายสองรอบนั้นน่าจะลำบากกว่า การปั่นจักรยานและวิ่งไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวล แต่นี่จะเป็นครั้งแรกที่เซนจะต้องแข่งขันด้วยตนเองโดยไม่มีผมติดตามให้กำลังใจอยู่ข้าง ๆ ไม่มีใครคอยบอกคิว ให้เบรคชะลอ และมองรถในทิศทางใด ๆ ผมกังวลมากกว่าลูก ๆ เยอะมากในเวลานั้น ในวันที่ได้รายละเอียดของการแข่งขัน ผมก็กังวลเพิ่มเป็นทวีคูณ เพราะผู้จัดการแข่งขันไม่อนุญาติให้มีการช่วยเหลือใด ๆ ซวยละซิ เซนใส่รองเท้า ถุงเท้าเองไม่เป็น ใส่หมวกกันน๊อกไม่เป็น และใส่เสื้อทีม V40 ด้วยตัวเองยังไม่ค่อยได้ (เสื้อมันไม่ค่อยยืด และหลังเปียกน้ำมันจะติด ๆ จนเซนไม่ค่อยยอมใส่เอง) ผมเองก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ในวันแข่งขันจึงมาซ้อมให้เซนใส่รองเท้ากับหมวกกันน๊อคก่อนเวลาสักเล็กน้อย

IMG_7811

เมื่อการแข่งขันเริ่มต้นขึ้น เด็ก ๆ ในรุ่นเดียวกันกับเซนก็มาเข้าแถวเรียงกันที่สระว่ายน้ำ 50 เมตร สบายไปเปราะหนึ่งเพราะไม่ต้องลุ้นว่าพอครบ 25 แล้วเซนจะยอมว่ายต่ออีกเที่ยวมั้ย เมื่อเริ่มปล่อยตัว ผู้แข่งขันรุ่นพี่ทั้งหมดก็อัดกันเต็มที่ มีเซนและเพื่อน ๆ เด็กบ้าน ๆ อีกสองคนที่ว่ายน้ำยังไม่เป็นท่า ค่อย ๆ ลอยคอกันไป เซนเลือกที่จะใช้การดำน้ำเป็นระยะทางไกล ๆ แทน แต่ที่ตลกที่สุดคือเซนคิดว่ามันเป็นการต่อสู้กลาย ๆ ทำให้เซนหันหลังไปสาดน้ำคู่แข่ง หรือพยายามใช้มือกวักน้ำให้กระเด็นไปด้านหลัง โดยคิดว่าจะไปรบกวนคู่แข่ง ซึ่งดุแลค่อนข้างตลก ในขณะที่เพื่อนรุ่นพี่ว่ายขึ้นไปอย่างรวดเร็ว เซนก็ค่อย ๆ ลอยคอมาถึงอีกฝั่งก่อนทุกคนในกลุ่มที่ว่ายไม่เป็นท่า เซนแสดงความดีใจจนออกนอกหน้า วิ่งมาอวดผมว่าเขาชนะแล้ว ผมต้องรีบเตือนให้เขาวิ่งตามคนอื่น ๆ ไปเพื่อไปปั่นต่อ แต่ปัญหาก็เกิดเนื่องจากเซนพยายามจะวิ่งตามผมตลอดเวลา วิ่งไปแล้วก็วิ่งกลับมาหาผม ทำอย่างนี้อยู่หลายรอบจนกรรมการเห็นว่าปัญหาคืออะไร จึงวิ่งพาเซนไปที่จุดทรานสิชั่นได้

IMG_5709

ผมซึ่งวิ่งมายืนรออยู่แล้ว ก็คอยบอกคิว ให้ใส่เสื้อก่อน เซนต้องหันมาถามว่าใส่ด้านไหนจึงจะถูก หลังจากนั้นก็หมวกกันน๊อค แต่เนื่องจากมันเป็นเรื่องความปลอดภัยกรรมการจึงเข้ามาช่วยดูแลเรื่องการใส่หมวก แล้วด้วยความเก้ ๆ กัง ๆ ของเซนกรรมการผู้นั้นก็เลยช่วยใส่รองเท้าให้เซนไปด้วยเลย เซนก็ปล่อยตัวปั่นออกไป ดีที่ว่ามีกรรมการคอยโบกทาง และมีคนปั่นนำอยู่บ้าง เซนจึงยอมปั่นออกไปคนเดียว หลังจากที่เหลียวหลังหลายรอบว่าทำไมผมจึงไม่ออกตามไปกับเขา ในช่วง 3 กม. มันยาวนานมาก ๆ สำหรับผม เพราะไม่รู้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง แต่ในที่สุดเซนก็กลับมาที่จุดทรานสิชั่นอีกครั้ง การวิ่งระยะ 500 เมตร ทางผู้จัดทำได้ดีมาก ๆ เพราะเด็กแต่ละคนจะมีผู้ใหญ่วิ่งตามประกบไปเพราะเป็นการวิ่งรอบสนามกีฬาที่ไม่เช่นนั้นเด็ก ๆ อาจจะไม่ยอมวิ่งรอบแต่วิ่งลัดสนามแทน ผมพาซาช่าไปรอรับเซนในช่วง 50 เมตรสุดท้าย ซาช่ามีความสุขมากที่ในที่สุดเขาได้มาวิ่งแข่งกับเซน และสุดท้ายเข้าเส้นชัยก่อนเซน ซึ่งหลังการแข่งขันซาช่าก็ภูมิใจที่เอาชนะเซนได้ เซนเสียใจเล็กน้อยมาเปรย ๆ ว่าแม้ว่าเขาจะชนะจนได้เหรียญ แต่ก็ยังแพ้น้องซาช่า

IMG_8271

หลังการแข่งขัน ผมซึ่งตื่นเต้นมาก ก็ถามเซนตลอดว่าเป็นอย่างไรบ้าง เซนเล่าให้ฟังถึงช่วงปั่นจักรยานว่าเจอวัว เจอโน่น เจอนี่ ผมนึกภาพการปั่นของเซนออกในทันที เซนยังไม่มีความรู้สึกถึงการแข่งขัน เขายังมีความสุขกับการปั่นไกล ๆ ได้มองซ้ายมองขวา ดูโน่นนี่นั่น ใบหน้าปะทะกับสายลม ความทรงจำจากการแข่งขันของเขามีเพียงช่วงเวลาแห่งความสุขนั้น เขารู้สึกว่าเขาเอาชนะเด็กสองสามคนที่ว่ายน้ำไม่เป็นเหมือนเขา หลังปั่นจักรยานเขาไม่รู้ว่าใครแซงเขาหรือไม่ แต่เขาได้เห็นสิ่งต่าง ๆ ตามรายทางที่เขาประทับใจจนมาเล่าให้ผมฟังได้ เขาวิ่งเข้าเส้นชัยและชนะได้เหรียญตามที่ตั้งใจ แม้ว่าวิ่งแพ้น้องสาวในช่วงสุดท้าย แต่เขาก็สนุกกับมัน

IMG_8284

หลังจากกลับมาจากการแข่งขัน เขาเริ่มขอจักรยานคันใหม่ เขาบอกว่าเอาที่เหมือนกับพี่ ๆ ที่แข่งขัน เขาจะได้ปั่นตามได้เร็ว ๆ ผมเองก็เล็ง ๆ จะหาให้เขาอยุ่เหมือนกัน เพราะพบว่าจักรยานที่เขาใช้นั้นมีเกียร์น้อย ปั่นได้เร็วสุดประมาณ 12-15 kph เท่านั้น ซึ่งเป็นความเร็วที่ช้าเกินไปสำหรับเซนแล้ว ทักษะของเซนโตเกินกว่าร่างกายของเขาอีกครั้ง ผมคิดว่าจะปลดระวาง Orbea Grow 7V คืนไปให้น้องสาว แล้วคงถึงเวลาที่จะต้องหัดน้องซาช่าให้ปั่นจักรยานจริง ๆ จัง ๆ ก่อนที่จะเกิดความแตกต่างกันมากจนร่วมเล่นด้วยกันไม่ได้ รายการต่อไปที่เล็ง ๆ ไว้เป็นการแข่งขันไตรกีฬาเด็กที่ต่างประเทศ ซึ่งเริ่มเป็นระยะที่ท้าทายมากขึ้น แต่ก่อนที่จะทำการสมัครผมคงต้องหาจักรยาน ลองหัดท่าว่ายน้ำ ให้เซนให้ได้ก่อน

IMG_0129

ผมไม่ได้คาดหวังให้เด็ก ๆ เป็นนักกีฬา ไม่ต้องการให้เขามี competitive spirit ผมเพียงต้องการให้เขาเป็นคนที่ใช้ชีวิตแบบ active lifestyle  รู้จักการแข่งขัน เข้าใจการแข่งขัน ตั้งแต่เด็ก ๆ และโตเกินการแข่งขันกับคนรอบ ๆ ตัว แต่เข้าใจถึงการแข่งขันกับตนเอง กับเป้าหมายของตนเอง ให้ได้เร็วที่สุด กิจกรรมกีฬาเป็นเพียงสื่อเท่านั้นครับ

 

Ironman Langkawi “ForZuri”

ผมเล่นไตรกีฬามา 21 ปี แต่ไม่เคยคิดว่าผมจะเข้าแข่งขันระยะทางระดับไอรอนแมนมาก่อน แน่นอนว่าเหมือนนักไตรกีฬาคนอื่น ๆ ที่ผมจะคอยติดตามรายการชิงแชมป์โลกที่โคนาทุก ๆ ปี และมันสร้างแรงบันดาลใจให้กับผมในทุก ๆ ปี แต่ผมไม่ได้แรงบันดาลใจที่จะเข้าร่วมในระยะนี้ แต่เป็นแรงบันดาลใจที่จะทำการซ้อมอย่างสม่ำเสมอและแข่งขันอย่างสม่ำเสมอมาเป็นเวลาสองทศวรรษ แต่ปี 2014 ปีนี้มันแตกต่างออกไป มีบางอย่างดลบันดาลใจให้ผมตั้งกองทุน “เพื่อซูริ” เพื่อที่จะจัดหาทุนบริจาคให้กับหน่วย NICU โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ในขณะเดียวกันผมเริ่มเข้ารักษาโรคตับอักเสบบีเรื้อรัง ซึ่งจะต้องใช้ยาอินเตอร์ฟิวรอนทุกสัปดาห์เป็นเวลา 48 สัปดาห์ การที่จะต้องเจาะตับ อาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นทำให้หลาย ๆ คนที่เข้ารับการรักษามีกำลังใจไม่สู้จะดีเท่าไร จากที่ผมสัมผัส

1972263_939652886051797_2351151305672493063_n

ผมยอมรับว่าอาการข้างเคียงในช่วงแรกเข้าขั้นที่เรียกได้ว่าทรมาน แต่ไม่กี่เข็มก็หายไป เหลือแต่อาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด หัวใจเต้นเร็ว เหนื่อยง่าย หงุดหงิด เหล่านี้เข้ามาทดแทน ในวันที่ผมตัดสินใจเข้ารับการรักษา ผมก็ตัดสินใจลงทะเบียนรายการไอรอนแมนลังกาวีคู่ ๆ กันไป ในเบื้องต้นผมต้องการเป้าหมาย ความท้าทาย เพื่อที่จะดึงจิตใจผมออกจากความเป็นจริงที่จะต้องฉีดยาตัวเองทุก ๆ สัปดาห์เป็นระยะเวลาเกือบปี สำหรับคนที่เป็นโรคกลัวเข็มอย่างผมมันเป็นเรื่องใหญ่โตมาก และเป็นความเครียดเพียงอย่างเดียวในการเข้ารักษาครั้งนี้ การกำหนดให้ตัวเองซ้อมเพื่อรายการไอรอนแมนดึงความสนใจออกจากเข็มได้เป็นอย่างดี ผมฉีดยาเข็มแรก ลงทะเบียนเพื่อร่วมแข่งขัน และเริ่มต้นซ้อมอย่างเป็นทางการ

หลังจากเราสามารถตั้งกองทุนเพื่อซูริได้สำเร็จ กระบวนการถัดไปคือการรณรงค์เพื่อหาเงินบริจาคต่อเนื่องภายหลังจากการระดมทุนครั้งแรกสำเร็จไปแล้ว ผมจึงตัดสินใจใช้การซ้อมและแข่งขันไอรอนแมนเป็นตัวกำหนด โดยผมจะบริจาคสองบาทต่อกิโลเมตร ผมซื้อแผนการฝึกซ้อมระยะเวลา 16 สัปดาห์ที่จริง ๆ แล้วค่อนข้างที่จะสั้นและโหดเกินไปสำหรับความฟิตระดับผม แต่มันเป็นระยะเวลาที่กำลังพอดี ๆ ผมมีเวลาเตรียมล่วงหน้าก่อนเข้าโปรแกรมประมาณ 3-4 สัปดาห์ ในขณะเดียวกันผมใช้การแข่งขันต่าง ๆ ร่วมกับเพื่อนร่วมทีม Very Forty เพื่อช่วยให้ผมเข้าซ้อมอย่างสม่ำเสมอ หลัก ๆ คือ การวิ่ง O2O และ Audax 200 Audax 300 ที่เตรียมกำลังใจในการปั่นเกินระยะ 180 km ที่ต้องพบในรายการไอรอนแมน ในขณะที่จะต้องคอยวัดความรู้สึกที่เกิดขึ้นในร่างกายหลังจากรับยามาเป็นระยะเวลานาน

มีเพื่อน ๆ หลายคนเข้าร่วมเป็นกำลังใจด้วยการร่วมบริจาคในการซ้อมครั้งนี้ หลายคนร่วมบริจาคจากระยะที่ตัวเองซ้อม หลายคนช่วยรณรงค์เพื่อช่วยบริจาคด้วยกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งหมดทั้งสิ้นเกิดขึ้นในช่วง 16 สัปดาห์ที่ผมซ้อมและรับยา ในช่วงสัปดาห์แรก ๆ ผลข้างเคียงเป็นแบบทรมาน ปวดกระดูก เป็นไข้ ในช่วง 2-3 วันที่รับยา หลังจากนั้นผมก็สามารถซ้อมและร่วมแข่งขันรายการย่อย ๆ ต่าง ๆ ที่จัดเตรียมไว้ได้ ในช่วงแรก ๆ การซ้อมที่ระยะทาง 200+ km ต่อสัปดาห์เป็นเรื่องไม่ยากนัก แต่หลังจากผ่านไปสัก 10 สัปดาห์อาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร หัวใจเต้นเร็วเริ่มเห็นเด่นชัด ความสามารถในการสร้างพลังงานของตับ ทั้งในแง่ของการสร้างไกลโคลเจนทดแทน เปลี่ยนสารอาหารให้เป็นพลังงาน ลดลงอย่างชัดเจน ผมมีปัญหาสร้างไกลโคลเจนสะสม และการซ้อมระยะไกลสัปดาห์ละครั้งเริ่มเป็นปัญหา พลังงานหมดเร็วขึ้น ๆ ในทุก ๆ สัปดาห์ที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่อาการหัวใจเต้นเร็วนั้นก็ทำให้ความเร็วในการปั่น วิ่งของผมตกลงอย่างเห็นได้ชัด เมื่อรวมสองสิ่งนี้เข้าด้วยกันมันเป็นปัญหาที่ใหญ่มาก ๆ ความเร็วที่ลดทำให้ผมต้องใช้เวลานานขึ้นในระยะทางเท่ากัน ในขณะที่ความต้องการพลังงานต่อเวลายังค่อนข้างคงที่ พลังงานสะสม ความสามารถในการเปลี่ยนพลังงานน้อยลง ผมเจอกับปัญหาพลังงานหมดระหว่างแข่ง ซ้อม บ่อยครั้ง เรียกได้ว่าแทบทุกครั้งที่ซ้อมยาวก็ว่าได้ อย่างไรก็ตามการซ้อมก็ยังต้องดำเนินต่อไป แม้ว่าระยะเวลาการซ้อมจะไม่สามารถทำได้เท่ากับแผนที่ซื้อมาก็ตาม

1234106_940849445932141_2930631344901859730_n

เมื่อการแข่งขันใกล้เข้ามา สภาพร่างกายของผมเรียกได้ว่าอยู่ใกล้จุดต่ำสุดที่ผมเคยเป็น ในบ่อยครั้งผมจำเป็นต้องนอนกลางวันเพื่อเพิ่มพลัง ในขณะที่ช่วงกลางคืนดูดพลังงานของผมไปอย่างมาก ช่วงเช้าการตื่นเป็นไปด้วยความยากลำบาก ความอ่อนเพลียเป็นเหมือนนามสกุลของผมที่ติดตัวไปตลอดเวลาเสียแล้ว อย่างไรก็ตามด้วยประสบการณ์ทรมานร่างกายมาอย่างยาวนาน มันไม่ได้ทำให้ผมเครียดได้เลย ผมคำนวณแผนคร่าว ๆ ในการแข่งขันที่จะต้องทำให้สำเร็จในกำหนดเวลา 17 ชม. แล้ว มันมีความเป็นไปได้อยู่มากที่จะจบการแข่งขันครั้งนั้นแบบพอดี ๆ และไม่กดดันร่างกายมากเกินไป ผมกำหนดการว่ายน้ำไว้ 2 ชม. ซึ่งช้ามากสำหรับความเร็วเฉลี่ยปกติที่ผมว่าย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็มีความจำเป็นเนื่องจากสระว่ายน้ำที่ผมใช้ปิดซ่อมแซมตลอดช่วงระยะเวลาซ้อมที่กำหนดไว้ ผมมีโอกาสซ้อมว่ายน้ำรวม ๆ ได้ระยะทางไม่เกิน 2-3 เท่าของระยะแข่ง ในขณะที่ผมเน้นการซ้อมปั่นจักรยานเนื่องจากมีอะไรใหม่ ๆ ที่ผมต้องหัด ได้แก่ระยะทาง 200 km นั้นการใช้พลังงานสะสมเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ต้องมีการฝึกการเติมพลังงานระหว่างทาง และล่วงหน้าให้สามารถย่อยและดึงมาใช้ได้ทันในช่วงครึ่งหลังของการปั่น อีกทั้งต้องมีเหลือไว้ใช้ในช่วงวิ่งอีกด้วย หัวใจที่เต้นเร็วทำให้ผมต้องทำความเร็วที่ประมาณ 24-26 km/hr แทนที่จะเป็น 28-30 km/hr ที่ผมใช้ซ้อมและแข่งโดยปกติ ผมจึงกำหนดเวลาแข่งเอาไว้ที่ 8 hr ซึ่งรวมเวลาในการหยุดเติมอาหารแล้ว ความเร็วเฉลี่ย 22km/hr รวมพัก น่าจะพอทำได้สบาย ๆ

10511349_906984272651992_5380215080714876951_n

ในขณะที่กำหนดการในการซ้อมวิ่งในตารางซ้อมมีค่อนข้างน้อย ผมเองซึ่งมีปัญหาหลังมาตั้งแต่รายการ TNF100 ตอนต้นปี ทำให้ไม่สามารถวิ่งได้เกิน 30 km อีกเลย ร่วมกับอาการที่หัวใจเต้นเร็วนั้น ทำให้ประสบการณ์วิ่ง ที่ใส่เข้าไปในโปรแกรมนอกจากจะน้อยไปมากแล้ว ยังได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่ไม่ดีกลับมาในทุก ๆ สนามแข่งขันตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะเป็นอาการเจ็บหลังที่ระยะ 18km ที่รายการพัทยามาราธอนจนต้องเดินในระยะที่เหลือจบที่เวลา 6:20 ชั่วโมง หรือ ฮาร์ฟมาราธอนสงขลาที่มีอาการเจ็บตั้งแต่ระยะ 15 km จะต้องกึ่งเดินกึ่งวิ่งเกาะ trailer ที่เข็นไปด้วยจนเข้าเส้นที่เวลา 2:40 ชั่วโมง อำนวยลงความเห็นว่าการซ้อมวิ่งของผมน้อยเกินไป ซึ่งผมเองก็เห็นด้วยแต่จำเป็นต้องเลือกไม่ให้มีอาการบาดเจ็บก่อนการแข่งขันมากกว่าที่จะกดซ้อมเพื่อให้สามารถรับระยะทางมาราธอนได้โดยไม่เครียด และถ้าต้องเดินจริง ๆ ผมยังมีเวลาทั้งหมดเหลืออีก 7 ชม. ในการเดินระยะมาราธอนซึ่งไม่น่าจะเป็นเรื่องลำบากเกินไปนัก เพราะเคยเดินมาแล้ว ในสองรายการ

ผมเดินทางไปลังกาวีพร้อมครอบครัวตามปกติ ตามสไตล์ไปยกแกงค์ของผม เราเดินทางล่วงหน้าไปพักที่สตูลก่อนหนึ่งวันก่อนจะจับเรือเที่ยวเช้าไปพร้อม ๆ กับกลุ่มคนไทย O2Max และ Van Gang ที่เดินทางมาจากกรุงเทพทั้งทางรถ หรือทางเครื่องบิน ลังกาวีจริง ๆ แล้วห่างจากบ้านผมที่ปัตตานีเพียง 3-4 ชม การเดินทางไปแข่งต่างประเทศครั้งแรกของผมจึงเป็นเรื่องที่สะดวกกว่าการแข่งขันภายในประเทศอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นที่เขาใหญ่ หรือหัวหิน ที่ค่อนข้างจะลำบากต่อการเดินทางมากกว่ามาก ผมจึงเริ่มสนใจการแข่งขันที่มาเลย์เซียรายการอื่น ๆ เพิ่มขึ้นจากการได้เดินทางไปครั้งนี้ ลังกาวีเป็นเมืองเล็ก ๆ ความเจริญน้อยกว่าหาดใหญ่นิดหน่อย เมื่อไปถึงในวันแรกเราจึงไม่ค่อยได้ทำอะไร นอกจากที่ผมไปลงทะเบียน พักผ่อน และเตรียมอุปกรณ์สำหรับวันหนัก ๆ ในอีกสองวันข้างหน้า เนื่องจากปัญหาของระบบพลังงานของผม ผมจึงไม่เข้าร่วมการซ้อมว่ายน้ำ หรือปั่นรอบเกาะที่ผมมักจะทำก่อนรายการแข่งสำคัญ ๆ งานนี้ขอเก็บพลังงานอย่างเดียว

10665332_931622150188204_8724209783583863805_n

เช้าวันแข่งขันเริ่มต้นแบบง่าย ๆ คนไทยร่วมถ่ายรูปด้วยกันก่อนจะแยกย้ายกันไปตามเวลาว่ายน้ำ เพราะการแข่งขันนี้จะมีการปล่อยตัวแบบ rolling start ซึ่งแม้ว่าการปล่อยตัวแบบ mass start จะสร้างความได้เปรียบสำหรับผมที่ว่ายน้ำได้ดีกว่าเฉลี่ย แต่ rolling start ก็ลดความเครียดของการแข่งขันของผมได้มาก เพราะผมแทบไม่ได้ซ้อมว่ายน้ำมาเลย ปล่อยตัวทีละสี่คนเวลาใครเวลามันเริ่มจับตั้งแต่เกินผ่านจุดกระโดดลงน้ำ ทะเลช่วงที่แข่งขันเป็นดินโคลนและไม่ลึกมากนัก ทำให้น้ำเป็นสีดำสนิทไม่สามารถมองเห็นอะไรได้เลย ผมว่ายไปในกลุ่ม 1:30-1:45 ชม. ซึ่งค่อนข้างผิดไปเล็กน้อย ผมต้องว่ายแซงหลาย ๆ คน ในขณะที่บางคนคิดเอาว่าตัวเองว่ายช้าไปออกตัวเร็ว ๆ จะได้มีเพื่อนปั่นจักรยานเยอะ ๆ ทำให้ในช่วงครึ่งแรกของระยะทาง 3.8 km นั้น ผมใช้เวลาส่วนใหญ่ในการว่ายหลบคนด้านหน้าเพื่อแซงขึ้นไป ผมพยายามว่ายไหล ๆ ช้า ๆ ที่สุดเท่าที่จะทำได้ เมื่อถึงช่วงกลับตัวผมเริ่มแซงหมดแล้ว น่าจะมาเข้ากลุ่มที่ความเร็วใกล้เคียงกัน การว่ายในช่วงครึ่งหลังเป็นไปโดยง่าย กล้ามเนื้อแขนที่ตึง ๆ ในช่วงแรกเริ่มหาย ว่ายสบายขึ้น แต่ข้อเท้าที่เจ็บแปลบ ๆ ตอนเตะขาเริ่มทำให้ผมกังวล

ผมว่ายเข้าเส้นแบบสบาย ๆ แทบไม่มีความเหนื่อยเลย เหลือบดูนาฬิกา 1:24 hr ก็ตกใจนิด ๆ ว่าเราว่ายเร็วไปหรือเปล่า กลัวพลังงานหมด ผมเดินเรื่อย ๆ เพื่อเข้า T1 เจตนาคือประหยัดพลังงาน และมีความสุขกับบรรยากาศการแข่งขัน ผมเปลี่ยนชุดทุกชิ้นใน T1 ใช้กางเกงเอี๊ยม เสื้อแขนยาว พกอาหารเต็มหลัง ก่อนที่จะค่อย ๆ เดินออกไป ผมชอบแหะการมีห้องแต่งตัวแบบนี้ จากที่เคยเห็นว่ามันยุ่งยากเมื่อเทียบกับรายการ Challenge เปลี่ยนชุด ไม่รีบ ไม่ต้องคอยเห็นคนที่คอยวิ่งรีบ ๆ ออกไปพร้อมจักรยาน พอผมเปลี่ยนชุดเรียบร้อยก็เดินเอื่อย ๆ ไปที่จักรยาน ไม่เครียดเลย ในใจคิดว่าผมมีเวลาเผื่อสะสมไว้แล้วครึ่งชั่วโมง เสร็จแล้วก็ค่อย ๆ เข็นจักรยานออกไป

10583866_912192472131172_3641653746482815082_n

การปั่นจักรยานจะเป็นการปั่นสองรอบ รอบละ 90 km ซึ่งจริง ๆ แล้วตอนที่ผมไม่แข่งก็รู้สึกว่ามันน่าเบื่อที่จะปั่นซ้ำสองรอบ แต่ในวันแข่งขันผมว่าแบบนี้มันก็ดีเหมือนกัน การวางแผนการแข่งขันสามารถทำได้ง่ายขึ้น ผมเพิ่งรู้ว่าในการแข่งขันยาว ๆ แบบนี้เขาจะมีถุงพิเศษที่เรียกว่า special needs bag สำหรับทั้งจักรยานและวิ่ง โดยเราสามารถเอาอะไรมาใส่ในถุงก็ได้ แต่มีการเตือนว่าให้ใส่อะไรที่ทิ้งได้เพราะเขาอาจจะไม่ขนกลับมาคืน สำหรับจักรยานนั้นจุดเก็บ special need bag จะตั้งอยู่ใกล้ ๆ จุดเริ่มต้น ซึ่งเราสามารถเข้ารับได้ทั้งสองรอบ เนื่องจากผมไม่ได้เตรียมตัวมาก่อนและไม่เข้าใจว่าการ set up จะเป็นอย่างไรผมจึงใส่พวกสเปรย์แก้ตะคริวไว้เพียงอย่างเดียว ผมปั่นเรื่อย ๆ แบบไม่รีบ ช่วงแรกเป็นเขาชันน้อย ๆ แต่ยาวพอสมควร ความชันแบบใช้ power 120-130 watts ก็เพียงพอผมกดเบา ๆ เก็บแรงไปเรื่อย ๆ แต่เห็นหลาย ๆ คนอัด แบบว่าไม่รู้มาก่อนว่าจะต้องปั่นกันสองรอบ

เส้นทางปั่นจะมีเขาแบบนี้ ชันน้อย ๆ ยาว ๆ หน่อย กระจายตั้งแต่ต้น ๆ และไปแออัดในช่วงระยะ 30-70 km ซึ่งเราจะต้องเจอแบบนี้สองรอบ แม้ว่าจะไม่หนักมากนัก แต่คาดว่าในรอบที่สองคงได้เห็นปัญหา โดยเฉพาะในส่วนที่เขาเรียกมันว่า Redbull Tough Zone ซึ่งเป็นระยะทางปั่นไปกลับประมาณ 50 km มีเขาที่ว่านี้ประมาณ 5 ลูก ไปกลับก็รวมเป็น 10 ลูก อีกทั้งในช่วงนั้นจะมีบางส่วนที่เป็น Monkey Zone ซึ่งห้ามกินอาหารในช่วงนั้น ผมพบว่าการตั้งป้าย Monkey Zone นั้นค่อนข้างไม่ชัดเจน เพราะป้าย Monkey Zone ahead มีเป็นจำนวนมากจนไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วมันเริ่มและสิ้นสุดในตอนไหน แล้วผมจะกินได้เมื่อไร อย่างไรก็ตามมันก็แค่ทำให้หงุดหงิดใจเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น เพราะตามแผนของผมที่จะหยุดทุกจุดให้น้ำ 20km มันทำให้ผมไม่ต้องกังวลเรื่องการเตือนให้ตัวเองกินระหว่างปั่นเท่าไรนัก ขอแค่จอดกินครบทุกอันก็น่าจะไม่เป็นปัญหา ผมปั่นผ่านรอบแรกไปตามแผน 3:40 ชั่วโมงได้เวลามาเพิ่มอีกยี่สิบนาที ผมจอดที่ special needs แต่ปรากฏว่าถุงผมหาย แต่ไม่เครียดอะไรเพราะเป็นสเปรย์ฉีดที่ในรายการนี้มีให้เยอะแทบจะเหลือเฟือ ผมจึงปั่นไปอีกเบรคบนยอดเขาแรกเพื่อที่จะหยุดกินอาหารมื้อใหญ่หน่อยในช่วงที่เป็นอาหารเที่ยงพอดี ผมเลือกที่จะหยุดรถและนั่งกินเป็นเรื่องเป็นราวเพื่อลดความกังวล ผมกินกล้วยสองลูก energy bar อีกหนึ่งแท่ง เข้าห้องน้ำ ยืดเส้นยืดสายก่อนที่จะออกตัวปั่นออกไปอีกครั้ง

10628150_937139049636514_5287437662244094254_n

ในรอบที่สองบริเวณ Redbull Tough Zone ผมเริ่มเห็นหลาย ๆ คนเกิดปัญหา มีทั้งยางแตก มีทั้งคนที่ต้องเริ่มเข็น มันคงไม่ง่ายมากนักถ้าเกิดสิ่งเหล่านี้ เนื่องจากถ้าดูเวลาแล้ว ผมมีเวลาเผื่อ cut off ไม่มากนัก ปั่นด้วยความเร็วของผมก็จะผ่านแบบสบาย ๆ แต่ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นก็เรียกว่าอาจจะฉิวเฉียดหรือไม่ผ่านเอาซะเลย การที่มีช่วง Tough Zone ตอนช่วง 100-150 km อีกครั้งนั้น รวมกับอากาศร้อนในช่วงบ่ายแก่ ๆ น่าจะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ไอรอนแมนสนามนี้ถูกจัดให้เป็นสนามที่โหดเป็นอันดับสามของโลก ผมไปเรื่อย ๆ ของผมช้า ๆ ไม่ต้องเข็น แต่หยุดกินทุกเบรค แต่พบว่าแม้ว่าผมจะพยายามหยุดเพื่อกิน แต่ในช่วงหลัง ๆ ผมเริ่มกินไม่ค่อยได้ ผมหยุดกินน้ำมานานมากแล้ว น้ำแทบไม่พร่องกระติก อาหารเริ่มกินไม่ลง กล้วยอย่างมากก็กินได้แค่ครึ่งลูกหรือน้อยกว่า ผมพยายามไม่คิดถึงมันแล้วชวนอาสาสมัครคุยเรื่อยเปื่อยคลายความกังวล

ในช่วง 30 km สุดท้ายผมเริ่มเกิดปัญหา ผมเริ่มรู้สึกว่าพลังงานเริ่มไม่ค่อยเพียงพอ กดขาไม่ค่อยลงแต่ผมก็ยังไม่กังวลมากเพราะรู้ว่าส่วนใหญ่ช่วงนี้เป็นทางลาดลงไปสู่ทะเล แต่ปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้นคือการซ้อมส่วนใหญ่ที่ผมจะใช้ road bike เมื่อมาแข่งด้วย TT ช่วงหลัง ๆ ผมไม่สามารถเงยหน้าขึ้นได้ เริ่มปั่นเข้าเมืองเริ่มมีความเสี่ยง ผมก้มมองได้ไม่เกินล้อหน้ามากนัก กล้ามเนื้อคอล้ามากจนไม่สามารถเงยหน้าขึ้นได้ จนต้องจับแฮนด์และยืดตัวตรงปั่นเข้ามาในระยะ 15 กม. สุดท้ายแบบหมดแรง เมื่อถึงจุดใกล้ T2 ผมพยายามหันมองหาครอบครัวของผมแต่ก็มองไม่เห็น ผมไม่ค่อยแปลกใจมากนักเพราะตอนนี้ผมเข้าล่วงหน้าเวลาที่กำหนดไว้อยู่ 1 ชั่วโมง ผมคิดเอาว่าในการวิ่งสี่รอบที่จะถึงนี้ผมน่าจะได้เห็นหน้าภรรยาและลูก ๆ เป็นกำลังใจสักรอบ

10615631_916611365022616_7350911132831104665_n

เมื่อเข้าจุด T2 ผมทดสอบความล้าของขาก็พบว่าแทบไม่มีความเมื่อยล้าเลย ผมลงจักรยานและเดินสบาย ๆ เข้าไปเปลี่ยนชุด เพื่อน ๆ ตามผมมาทันหมดแล้วที่ T2 นี่เอง ต่างคนต่างรีบเปลี่ยนชุดแล้วออกวิ่งไป ส่วนผมเปลี่ยนชุดใหม่ทั้งชุด สดชื่นกว่า โกยเจลอีกหลายซองเข้ากระเป๋าแล้วออกเดินไปเรื่อย ๆ ตอนนี้ผมเริ่มสับสนว่าจริง ๆ แล้วผมเหลือเวลาอีกเท่าไร เนื่องจากเวลาที่เห็นนั้นเป็นเวลาของมาเลเซีย ซึ่งผมไม่ได้ทำการเปลี่ยนในนาฬิกาของผม แต่โดยหลักการเนื่องจากการใช้ GPS นาฬิกามันควรจะปรับโดยอัตโนมัติ ผมดูเวลารวมแล้ว ดูนาฬิกาแล้ว ถามคนรอบข้างก็แล้วดูเหมือนว่าข้อมูลจะสับสนไม่ตรงกัน ในใจผมคิดว่าผมได้เวลาเหลือมาประมาณหนึ่งชั่วโมง ทำให้ผมเหลือเวลาวิ่งอีก 8 ชั่วโมง แต่นักกีฬาที่ผมถามแต่ละคนยืนยันว่าผมเหลือเวลาอีกเพียง 7 ชม. ซึ่งแม้ว่าจะเป็นไปตามแผนที่วางไว้ ผมก็ยังไม่เข้าใจว่าทำไมในเมื่อเราทำความเร็วได้ดีขนาดนี้มันหายไปไหนหมด 1 ชั่วโมงที่สะสมมา เมื่อผ่านจุด T2 ออกมาผมก็เริ่มวิ่งช้า ๆ ตามกำหนดการที่ตั้งไว้คือ วิ่ง 3 นาที เดิน 1 นาที

ในช่วงสองกิโลเมตรแรกก่อนที่จะเข้าจุดให้น้ำ ผมเริ่มรู้สึกว่าแม้จะไม่มีอาการล้า แต่ขารู้สึกหนักผิดปกติ และหายใจหอบมากผิดปกติ และบางครั้งเกิดอาการมึนงง ผมเข้าใจว่าอาหารผมเริ่มไม่เพียงพอแล้ว เมื่อเข้าจุดให้น้ำผมจึงตัดสินใจนั่งลงเพื่อกินแตงโมไปได้สองชิ้น พยายามกินกล้วยแต่กินไม่ลง ผมจึงแกะ energy bar อีกห่อที่เตรียมมาสำหรับกินช่วงนี้ที่จะพอดี ๆ กับอาหารเย็น ผมกินไปได้ประมาณ 1/4 ก็ไม่สามารถกินได้ น้ำแทบกินไม่ลงอีกเลย ได้แต่จิบแล้วบ้วนทิ้ง ผมคิดว่าอาจจะต้องรอสักหน่อยให้ร่างกายปรับตัว จึงค่อย ๆ เดินออกไปเรื่อย ๆ กะว่าพอรู้สึกดีขึ้นแล้วจะค่อยเริ่มวิ่งใหม่ แต่ดูเหมือนว่าผมไม่รู้สึกดีขึ้นอีกเลย จนกระทั่งผ่านระยะทางไป 6 กม. ครอบครัวของผมรอให้กำลังใจกันอยู่ ลูก ๆ วิ่งเข้ามาหา ผมถ่ายรูปกับลูก ๆ คุยโน่นนี่นั่น พยายามตอบคำถามเรื่องเดินตั้งแต่รอบแรก ก่อนที่จะขอตัวออกเดินต่อไป แต่จริง ๆ เดินไปไม่กี่เมตรผมก็เข้านั่งเพื่อพยายามกินที่จุดให้น้ำอีกครั้ง ครั้งนี้ผมอาจจะนั่งนานจะเจ้าหน้าที่เข้ามาถามอาการของผม ผมน่าจะกินกล้วยได้ประมาณอีกครึ่งลูก แล้วจึงตัดสินใจยกตัวขึ้น คราวนี้อาการมึนงงเพิ่มมากขึ้นจนเดินเซ แต่ก็กัดฟันเดินหน้าไปเรื่อย

ผมเดินไปตามทางเรื่อย ๆ และวิ่งบ้างในบางครั้ง แต่น้อยมากเพราะอาการดูแล้วไม่สู้จะดีเท่าไรนัก ผมใช้เวลาที่จุดให้น้ำค่อนข้างเยอะ ทานอะไรไม่ได้ แต่พยายามพักเพื่อหวังว่าอาหารที่ทานเพิ่มเข้าไปอาจจะสามารถย่อยแล้วออกมาเป็นพลังงานให้กับผม ในที่สุดผมก็วนกลับมาที่จุดเดิมได้แต่ไม่พบกับครอบครัวของผมแล้ว ผมไม่รู้ว่าเขาจะกลับเข้าโรงแรม ไปทานข้าวเย็นหรือ ล่วงหน้าไปรอผมในบริเวณสวนสาธารณะที่ดูแล้วจะเป็นพื้นที่ที่นั่งรอเชียร์ได้ง่ายที่สุด เราไม่มีการคุยกันเรื่องนี้เพราะผมมีลูกอ่อนวัยไม่ถึงขวบ และลูกเล็ก ๆ อีกสองคนที่ภรรยาผมต้องดูแลเพียงคนเดียว ผมจึงไม่อยากคาดคั้นแผนการอะไรจากครอบครัวมากนัก ปล่อยให้เด็ก ๆ และบรรยากาศเป็นตัวกำหนด เมื่อผมเดินผ่านบริเวณที่คาดว่าครอบครัวผมจะนั่งอยู่ก็ได้แต่มองหา แต่ก็ไม่เจอ ในตอนนั้นจริง ๆ แล้วผมต้องการที่จะนั่งลงข้าง ๆ ภรรยาของผมเพื่อจะบ่นว่าเหนื่อยมาก ๆ แล้วเอาความห่วงใยของภรรยามาเป็นข้ออ้างที่จะหยุดความทรมานที่ขณะนี้ไม่ค่อยจะบรรเทิงเท่าไรแล้วอันนี้ลง แต่เมื่อมองไม่เห็นครอบครัวผมจึงผิดหวัง ในตอนนั้นผมแยกไม่ออกว่าผมผิดหวังที่หาข้ออ้างในการเลิกไม่ได้หรือผิดหวังที่ไม่ได้เจอกองเชียร์ของผมอีกครั้ง

10384459_946104222073330_6550812990853246579_n

ผมเดินผ่านรอบแรกไประยะทางเป็น 12 กม. ใช้เวลาไปทั้งสิ้น 2 ชม. ผมเหลือเวลาอีกประมาณ 5:30 ชม. กับระยะทางอีก 30 กม. ในช่วงเวลานั้นสมองผมทำงานไม่ค่อยเป็นระบบ ร่างกายของผมเหมือนจะไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิได้ดีเท่าไร รู้สึกหนาวและขนลุกชัน ผมเริ่มรู้สึกว่าถ้าเดินไปอย่างนี้น่าจะไม่ทันแล้ว จะวิ่งก็วิ่งไม่ออกเลย จะกินก็กินไม่ลง จะทำอย่างไรดี ผ่านมาสองชั่วโมงแล้วก็ยังไม่มีอะไรดีขึ้น ผมเดินผ่านจุดที่ผมพบกับครอบครัวในรอบแรกอีกครั้งแต่คราวนี้ไม่มีพวกเขารออยู่ ผมเดินเลยไปยังจุดให้น้ำแล้วหยิบน้ำมาหนึ่งแก้วนั่งลง แต่คราวนี้ผมเลือกที่จะนั่งลงบนเตียงสนาม และอดใจไม่ไหวที่จะล้มตัวลงนอน สักพักมีเจ้าหน้าที่เข้ามาคุยกับผมแล้วค่อย ๆ เอาน้ำแข็งมาราดบนตัวของผม เอามาให้หนีบที่รักแร้ ยกเท้าของผมขึ้น ผมจำอะไรไม่ได้มากนัก แต่จำได้ว่าผมนอนอยู่อย่างนั้นเป็นเวลานาน เมื่อตัดสินใจลุกนั่งก็พบกับรถพยาบาลรออยู่แล้วเพื่อจะนำตัวไปที่เต้นท์พยาบาลที่เส้นชัย รอบ ๆ ตัวผมมีทั้งคนที่เข้ามาในสภาพของผม และคนที่ผ่านเส้นชัยมาแล้ว เสียงประกาศที่ทุกคนต้องการได้ยินแว่ว ๆ มาตลอดเวลา “You are an Ironman” ผมคงมีโอกาสได้ยินจากไกล ๆ เพียงเท่านี้ในวันนี้ ก่อนที่จะหลับตาลง ใต้ผ้าห่มบรรเทาอาหารหนาวสั่นของผม

ผมตื่นมาลุกเดินดูบรรยากาศเล็กน้อย แต่ไม่มีแรงเหลือมากพอที่จะเดินไปหาบรรยากาศที่เส้นชัย เพราะผมรู้ว่าผมยังต้องเดินกลับเป็นระยะทางเกือบสี่กิโลเมตรเพื่อไปยังโรงแรมของผม ถ้าเพื่อน ๆ ติดตามกันอยู่น่าจะเริ่มเป็นห่วงบ้างแล้วว่าเกิดอะไรขึ้น ผมเดินช้า ๆ ไปตามทางเดียวกับนักกีฬาที่ยังทำการแข่งขันกันอยู่ บางคนก็วิ่งรอบที่สอง บางคนก็วิ่งรอบสุดท้าย แต่ทุก ๆ คนก็วิ่ง ๆ เดิน ๆ กันไป แม้ว่าผมจะไม่ได้วางแผนที่จะจบไอรอนแมนแรกของผมเช่นวันนี้ ผมก็ยังรู้สึกยินดีที่ได้เรียนรู้ว่าความรู้สึกเมื่อมีการ DNF มันเป็นเช่นไร จริง ๆ แล้วมันเกิดที่ใจ หรือร่างกาย หรือทั้งสองอย่างมารวมกัน ผมมา DNF ครั้งแรกในการแข่งขันปีที่ 21 ของผม ทำให้ผมรู้สึกแข็งแรงขึ้น แกร่งขึ้น จริงอย่างที่เขาว่าคุณจะเป็นผู้ชนะในวันแรกที่คุณตัดสินใจสมัคร คำว่า “You are an Ironman” มันเป็นของแถม ผมรู้สึกเช่นนั้นจริง ๆ

ผมกลับไปอาบน้ำนอนและตื่นมาทานอาหารเช้าก่อนพาลูก ๆ เที่ยวลังกาวี แบบสดชื่น แทบไม่มีความเมื่อยล้า เป็นการยืนยันว่าผมจบการแข่งขันนี้ลงด้วยอาการ dehydrate และ bonk ขาดน้ำและน้ำตาล ปัญหาหลัก ๆ จากการกินและการสร้งพลังงานของร่างกาย กิจกรรมนี้ผมทำการซ้อมและแข่งขันรวมกันโดยประมาณ 2300 km ต่ำกว่าเป้าที่ประมาณไว้ในวันแรกเกือบ 700 km รวม ๆ แล้วได้เงินร่วมบริจาคประมาณ 30000 บาท แต่ระหว่างที่ผมทำการซ้อมนั้น ผมเชื่อว่าผมได้สร้างแรงกระตุ้นให้มีการช่วยบริจาคเพิ่มเติมผ่านกิจกรรมที่หลาย ๆ คนเลือกที่จะทำกันเอง ไม่ว่าจะเป็นทริปล้อเล็ก วิ่งพัทยามาราธอน Icebucket challenge รวม ๆ กันแล้วได้มาเพิ่มอีกกว่าหนึ่งแสนบาท และยังจะมีการซ้อมต่อเนื่องเพื่อบริจาคอีกจากรายการกรุงเทพมาราธอน ภูเก็ตไตรกีฬา เกียวโตมาราธอน ที่คาดว่าในท้ายที่สุดในปีนี้เราน่าจะรวบรวมเงินบริจาคได้ใกล้ ๆ สามแสนบาทเลยทีเดียว ไม่เลวสำหรับกองทุนที่เพิ่งเกิดได้เพียงครึ่งปี

1970517_946709305346155_1684248765274827972_n

มีอยู่ช่วงหนึ่งระหว่างปั่นจักรยานในขณะที่สมองผมยังคงทำงานได้ดีปกติ ผมนึกภาพการเข้าเส้นชัยของหลาย ๆ คนที่ผมได้เห็นจากการนั่งชมการแข่งขันทางทีวีทุก ๆ ปี หลาย ๆ คนน้ำตาไหล ตื้นตันด้วยเหตุผลต่าง ๆ กัน แม้ว่าในตอนนี้ผมไม่รู้สึกว่าไอรอนแมนมันจะหลักหนาสาหัสอย่างที่คิด ไม่คิดว่าความเหน็ดเหนื่อยนั้นจะทำให้ผมเองน้ำตาไหลได้ แต่ ณ เวลาที่ผมปั่นจักรยานอยู่นั้น ผมคิดแต่เพียงว่าผมแข่งขันครั้งนี้ ผมและหลาย ๆ คนรู้จักมันในชื่อว่า Ironman Langkawi ForZuri ตลอดเวลาที่ผมออกไปซ้อม ตลอด 5-6 ชั่วโมงที่ปั่นออกไป จนในวันที่แข่งขันอยู่นี้ที่เวลาผ่านเลยไปมากกว่า 6 ชั่วโมง และจะต่อเนื่องไปตลอดทั้งวัน ผมรู้สึกว่าผมได้อยู่ใกล้ชิดซูริ เหมือนได้มองหน้าของลูกสาวผมเหมือนที่ผมได้มองเขาในวันสุดท้าย เหมือนได้โอบอุ้มเขาอย่างที่ผมไม่ได้เคยอุ้ม กิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ เหตุผลต่าง ๆ เหล่านี้เองที่น่าจะเป็นสาเหตุให้หลาย ๆ คนกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่เมื่อผ่านเส้นชัย เพราะแค่ผมได้คิดเช่นนี้น้ำตาแห่งความปลื้มปิดิของผมก็หลั่งไหลออกมาแทบหยุดไม่ได้ ขณะที่กดขาปั่นขึ้นเนินแรกของเส้นทางลังกาวีในรอบที่สองนั้นเอง จนวันนี้ผมก็ยังคงไม่รู้ว่าผมจะเป็นอย่างไรเมื่อผ่านเส้นชัยเส้นนั้น แต่ผมมั่นใจว่าสักวันหนึ่งผมจะเข้าใจ

วิทยาศาสตร์เครื่องนอน

ศาสตร์แห่งการนอนจะว่าไปแล้วค่อนข้างหลากหลาย แม้ว่าเป้าหมายปลายทางหลักของการนอนคือ การพักผ่อนร่างกายให้เพียงพอ พอเหมาะพอดีกับระดับการใช้งานของชีวิตระหว่างวัน อย่างไรก็ตามความพอดีนั้นยังคงเป็นศัพย์เชิงสัมพัทธ์ พอดีของแต่ละคนนั้นไม่ได้อยู่ในระดับเดียวกัน เมื่อครั้งที่ผมใช้ชีวิตนักบวชที่สวนโมกข์ เราได้ถูกสอนให้ใช้หมอนไม้ นอนบนเตียงไม้ ด้วยเหตุผลที่ว่าจะทำให้ร่างกายตื่นตัวและไม่เพลิดเพลินไปกับความสุขจากการนอน เมื่อรู้สึกตัวนั่นหมายความว่าร่างกายได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอแล้วจึงเหมาะสมที่จะตื่นขึ้นทำกิจกรรมประจำวัน การนอนบนที่นอนไม้ หนุนหมอนไม้ทำให้ตื่นนอนได้ง่าย เพราะเมื่อรู้สึกตัวเมื่อไรเราจะนอนหลับไม่ลงอีกเลย ช่วงนั้นเราเข้านอนสองทุ่มและตื่นตีสี่โดยประมาณ ซึ่งชีวิตประจำวันที่ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการทำสมาธิ มีงานทางกายบ้างเล็กน้อย การนอนแบบนี้ก็ค่อนข้างเพียงพอต่อการดำเนินชีวิต ในขณะที่ระดับนักกีฬาระดับโลกที่ต้องซ้อมอย่างหนักทั้งวัน ต้องพกอุปกรณ์การนอนของทีมไปด้วยทุกโรงแรมที่เดินทางไป เพียงเพื่อให้มั่นใจว่าเครื่องนอน คุณภาพของที่นอน หมอน จะเท่าเทียมกับในทุก ๆ คืน การใช้งานร่างกายที่หนักหน่วงระหว่างวัน ต้องการคุณภาพการพักผ่อนที่มากและเพียงพอต่อการซ่อมแซมร่างกายให้พร้อมกับการใช้งานหนักในวันถัดไป สำหรับคนปกติอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ก็คงต้องประเมินว่าเรานั้นจะใช้ชีวิตอยู่ในระดับใด การนอนเช่นไรจะมั่นใจว่าจะทำให้เราได้รับการพักผ่อนเพียงพอกับชีวิตประจำวันของแต่ละคน

โดยเฉลี่ยแล้วมนุษย์ยุคปัจจุบันพยายามใช้ประโยชน์ของการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งไฟฟ้า อินเตอเนต คอมพิวเตอร์ ทำให้เราสามารถทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมงถ้าเราต้องการ แนวโน้มของเราจึงใช้เวลาตื่นมากขึ้นทุกวัน ๆ และใช้เวลานอนน้อยลงทุกที ๆ ดังนั้นคุณภาพการหลับนอนในปัจจุบันจึงต้องมีการปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพสูงที่สุด ซึ่งต้องอาศัยหลาย ๆ องค์ประกอบ ตั้งแต่ห้องนอนที่สะอาด เรียบร้อยเป็นระเบียบ การไม่มีสื่อประเภททีวี วิทยุ ก็ช่วยเพิ่มคุณภาพการนอนได้เป็นอย่างดี บางครั้งการใช้ม่านในการปิดแสงที่คุณภาพสูง ระดับความมืดของห้องนอน อุณหภูมิ คุณภาพอากาศ ตลอดจนระดับเสียงรบกวน ก็เป็นจุดง่าย ๆ ที่ช่วยเพิ่มคุณภาพของการนอน การใช้อุปกรณ์ในการวัดประสิทธิภาพการนอน นาฬิกาปลุกแบบไฮเทค หรือการยกเลิกนาฬิกาปลุกไปเลยก็จะช่วยเพิ่มระดับการนอนที่มีคุณภาพให้กับชีวิต และที่แน่นอน อุปกรณ์การนอน ตั้งแต่ผ้าปูที่นอน ผ้าห่ม ไปจนถึงที่นอนและหมอน ย่อมเป็นปัจจัยสำคัญในการควบคุม กำหนดคุณภาพของการนอนของทุก ๆ คน

383505_375481392552611_1146372555_n

เมื่อคิดถึง marginal gain แน่นอนว่า ไม่ว่าแต่ละคนจะใช้เวลาในการนอนไม่เท่ากัน ตาม lifestyle แต่ในเวลาทั้งหมดที่เราทุ่มเทให้กับการนอนนั้น คุณภาพของอุปกรณ์การนอนและสิ่งแวดล้อม จะเป็นตัวกำหนดประสิทธิภาพของการนอนที่เราจะได้คืนมาในแต่ละวัน สำหรับคนที่นอนเพียงห้าชั่วโมงแต่ประสิทธิภาพ 95% จะได้รับการพักผ่อนเทียบเท่ากับคนที่นอน แปดชั่วโมงที่มีประสิทธิภาพ 60% โดยส่วนตัวผมเป็นคนที่นอนน้อยชั่วโมง ออกกำลังกายหนักหน่วง ดังนั้นประสิทธิภาพในการนอนจึงเป็นเรื่องที่ผมสนใจมากเป็นพิเศษ การออกแบบหมอน ที่นอน ผมจึงเน้นเรื่องราวของประสิทธิภาพเป็นสำคัญ คำว่าหลับสบาย คลายปวดหลัง มันเป็น tag line โบราณของผลิตภัณฑ์ของเราเองที่ผมเลิกมองไปมากกว่าสิบปีแล้ว

942527_375467992553951_1554578699_n

หลักการในการออกแบบนั้นเริ่มต้นจากไอเดียง่าย ๆ จากสิ่งที่เราเคยเรียนในสมัยเด็ก ๆ คือ เตียงตะปูของ

เหล่าโยคี เรื่องนี้สอนเราว่าถ้ามีตะปูมากหรือหนาแน่นเพียงพอ น้ำหนักที่ลงบนตะปูแต่ละตัวก็น้อยลงจนเราสามารถนอนบนตะปูได้ นั่นคือ ถ้าเราเพิ่มพื้นที่ในการรองรับร่างกายได้มากเท่าไรน้ำหนักในแต่ละพื้นที่ก็จะน้อยลงเท่านั้น ด้วยคอนเซ็ปพันปีของอินเดียนี้ ผมจึงเชื่อว่าการรองรับการนอนด้วยที่นอนสปริง จะไม่มีวันเทียบเท่าการรองรับแบบทั้งตัวแบบที่นอนที่เราเรียกว่า full body support ได้เลย ที่นอนสปริงก็ไม่ต่างจากที่นอนตะปูขนาดใหญ่ เมื่อเทียบที่นอน full body จึงด้อยกว่าโดยหลักฟิสิกส์พื้นฐาน ในขณะที่ full body support mattress มีให้เลือกตั้งแต่ราคาถูก ไปจนราคาแพง แข็งสุด ๆ ไปจนนิ่มสุด ๆ Full body ได้แก่ที่นอนไม้ ใยมะพร้าว ที่นอนนุ่น ฟองน้ำเทียม ที่นอนยางพาราแท้ ที่นอนยางพาราเทียม เป็นต้น แน่นอนว่าผมจะไม่ไปเสียเวลากับที่นอนสปริง เนื่องจากความเป็นนักฟิสิกส์ของผม เพราะมันเป็น partial body support by definition ที่นอนไม้ ไม่เหมาะกับคนที่ใช้ชีวิตประจำวันปกติเท่าไรนัก ในขณะที่ใยมะพร้าว นุ่น มีการกักเก็บฝุ่น ซึ่งจะสร้างผลเสียในระยะยาวต่อสุขภาพปอด ระบบหายใจและภูมิแพ้ เราจะเหลือเพียง ที่นอนฟองน้ำเทียม ที่นอนยางพาราแท้ ที่นอนยางพาราเทียม ซึ่งรวมไปถึงระบบยางอัด ที่ทำยางฟองน้ำเทียม ยางพาราแท้ ยางพาราเทียม หรือ ปน ๆ กัน ที่ผมค่อนข้างสนใจในแง่ที่ว่ามีความเป็นไปได้ในทางฟิสิกส์ที่จะสร้างระบบการนอนที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า

PTH-001t

ฟองน้ำเทียม เป็นชื่อเรียกฟองน้ำที่เตรียมจากพอลิเมอร์สังเคราะห์ที่เรียกว่าพอลิยูรีเทน เป็นการทำปฏิกิริยาระหว่างสารเคมีหลักสองชนิด อาจจะมีสารเสริมอีกหนึ่งหรือสองชนิด เกิดฟองจากปฏิกิริยาดังกล่าวแล้วฟูขึ้น ข้อดีของฟองน้ำเทียมคือราคาถูก เพราะใช้สารเคมีไม่มาก มีการฟูตัวมาก แต่ข้อเสียคือสมบัติทางกายภาพของพอลิยูรีเทนไม่ค่อยสูงมาก ทำให้อายุการใช้งานสั้น ในขณะที่ลักษณะของเซลที่ทำให้คุณลักษณะการรับแรงของฟองน้ำเทียมนั้นไม่ค่อยสมบูรณ์แบบ ไม่ค่อยสบายเมื่อเทียบกับฟองน้ำยางพารา เราจึงเห็นฟองน้ำเทียมมาเป็นฟองน้ำล้างจานแทนที่จะเป็นฟองน้ำสำหรับแต่งหน้า เราจึงเห็นฟองน้ำเทียมในที่นอนราคาถูก ๆ แทนที่จะเป็นที่นอนระดับราคาปานกลางหรือราคาสูง

ฟองน้ำยางพารา ทั้งเทียมและสังเคราะห์โครงสร้างพื้นฐานของเซลจะดีกว่าฟองน้ำเทียมทำให้มีความสามารถในการรองรับที่ดีกว่า มีความสบายกว่า เราจะเห็นฟองน้ำยางพาราที่ใช้เป็นฟองน้ำสำหรับแต่งหน้า ไม่ใช่ฟองน้ำล้างจาน เราจึงเห็นฟองน้ำยางพาราในที่นอนราคาปานกลางถึงสูง แต่ยางพาราแท้กับยางพาราเทียมก็ยังมีความแตกต่างกันค่อนข้างมากอยู่พอสมควร เริ่มต้นจากยางพาราแท้ เป็นยางพาราที่เกิดจากธรรมชาติ เกิดจากต้นยาง มีชีวิต สามารถเน่าเสียได้ภายหลังการเก็บเกี่ยว ถ้าหากมีกระบวนการผลิตที่ไม่เหมาะสม ในขณะที่ยางพาราเทียม เป็นพอลิเมอร์สังเคราะห์ที่เรียกว่า สไตรีนบิวทาไดอีน และเหมือนกับยางสังเคราะห์อื่น ๆ ที่มีต้นกำเนิดจากน้ำมันดิบ ยางพาราเทียมนั้นเกิดจากพอลิเมอร์สองประเภทหลักคือ สไตรีน และ บิวทาไดอีน ในสัดส่วนที่เหมาะสมเพื่อเลียนแบบสมบัติจากยางธรรมชาติ หรือยางพาราแท้ แต่มนุษย์ยังไม่สามารถเลียนแบบธรรมชาติได้เต็มที่ ยางพาราเทียมยังไม่ข้อด้อยอีกหลายอย่างที่ไม่สามารถมองเห็นได้โดยง่ายเมื่อเทียบกับยางพาราแท้

7-zone_f_001

ฟองน้ำยางพาราแท้ มีสมบัติทางกายภาพที่ดีกว่าฟองน้ำยางพาราเทียม เกิดจากข้อจำกัดของตัวเนื้อวัสดุเองที่มนุษย์ยังไม่สามารถสร้างได้เหมือนอย่างที่ธรรมชาติสร้าง โดยพื้นฐานคือความสามารถในการรองรับที่แม้ว่าจะปรับปรุงไปจากฟองน้ำเทียมเป็นอย่างมาก แต่ก็ยังไม่เทียบเท่าฟองน้ำยางพาราแท้ ถ้าหากสัมผัสเปรียบเทียบกันฟองน้ำยางพาราเทียมจะให้ความรู้สึกไปทางฟองน้ำล้างจานมากกว่าฟองน้ำยางพาราแท้ สมบัติทางกายภาพที่ด้อยกว่าทำให้ความคงทนของฟองน้ำยางพาราแท้จะสูงกว่าฟองน้ำยางพาราเทียม อย่างไรก็ตามในการปรับเปลี่ยนคุณภาพของฟองน้ำ คุณสมบัติการรับแรง รวมไปถึงราคาต้นทุน ยางพาราเทียม และยางพาราแท้ สามารถนำมาผสมกันเพื่อจุดประสงค์เหล่านี้ได้ ดังนั้นในตลาดจึงสร้างความสับสนให้กับผู้บริโภคเป็นอย่างมากทั้งโดยไม่เจตนาและด้วยความตั้งใจ ในยุโรปมีข้อกฏหมายกำหนดที่เคร่งครัด ที่จะให้สามารถเขียนระบุว่าเป็นฟองน้ำยางพาราแท้ หรือ ฟองน้ำยางธรรมชาติ ได้ก็ต่อเมื่อมีสัดส่วนของยางพาราแท้เกิน 80% และสามารถระบุ 100% ยางธรรมชาติได้ก็ต่อเมื่อเป็นฟองน้ำยางพาราแท้โดยไม่มีสารอื่นเจือปน ในขณะที่ส่วนอื่น ๆ ของโลกยังตามความเจ้าเล่ห์ของผู้ขายไม่ทัน คำว่าฟองน้ำยางพาราจึงถูกใช้ทั่วไป โดยไม่สนใจว่าจริง ๆ แล้วมียางพาราแท้ ๆ อยู่กี่เปอร์เซนต์

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ ถ้าหากเราต้องการจำกัดการสัมผัสของร่างกายของเราต่อสิ่งสังเคราะห์ และเจตนาเลือกใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ แทนสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น นอกเหนือจากความทนทาน ความสบายของที่นอนเพียงอย่างเดียว ฟองน้ำยางพาราเทียม ที่เกิดจาก สไตรีนบิวทาไดอีน ผ่านกระบวนการทางเคมีมากมายกว่าจะมาเป็นยางพาราเทียมอย่างที่เราได้เห็นกัน แม้ว่าสไตรีบิวทาไดอีน จะไม่ถูกระบุว่ามีผลต่อร่างกายในระยะสั้น ในระยะยาวยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน สไตรีนที่เป็นต้นกำเนิดของยางพาราเทียมนี้ เริ่มได้รับการยืนยันว่าเป็นสารก่อมะเร็ง แต่ยังไม่มีการระบุชัดว่ามีการเข้าสู่ร่างกายได้อย่างไร จึงไม่ชัดเจนว่าเป็นต้นเหตุของมะเร็งในกลุ่มใด ยางพาราเทียมที่เกิดจากสไตรีนบิวทาไดอีนย่อมมีความเสี่ยงของการเจือปนของสไตรีน และนั่นหมายถืงความเสี่ยงของผู้ใช้ที่จะได้รับสารก่อมะเร็งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ความเสี่ยงนั้นจะมากขึ้นหรือน้อยลงตามปริมาณสัดส่วนความเจือปนของยางพาราแท้ และเทียม มากน้อยตามคุณภาพของยางพาราเทียมนั้น ๆ ความอันตรายนี้คงอยู่ในระดับเดียวกันกับที่นอนนุ่นหรือใยมะพร้าวที่ในระยะยาวก่อให้เกิดภูมิแพ้ แต่กรณีของฟองน้ำยางพาราเทียมนั้นในระยะยาวอาจจะหมายถึงความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดมะเร็งบางประเภท โดยพื้นฐานแล้วผมเองจึงพยายามหลีกเลี่ยง เช่นเดียวกันกับที่ผมหลีกเลี่ยงกินไก่เลี้ยงด้วยโฮโมน ปลาแช่ฟอมาลีน เป็นต้น

sph_f_001

วิธีสังเกตุนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แม้ว่ากฏหมายไทยจะมีกำหนดให้ระบุวัสดุที่ใช้ทำที่นอน และมีโทษปรับสำหรับผู้ไม่ปฏิบัติ แต่การบังคับใช้นั้นไม่มีจริง ในขณะที่วัสดุที่ระบุนั้นจะยังบิดเบือนด้วยการใช้คำว่ายางพารา โดยไม่บอกว่าเป็นยางพาราแท้จากธรรมชาติ หรือยางพาราเทียมจากน้ำมันดิบ หรือเจตนาสร้างความเข้าใจผิดด้วยการระบุว่าเป็นยางพาราจากธรรมชาติ แต่ไม่ระบุสัดส่วน ที่ความเป็นจริงแล้วอาจจะมีปริมาณน้อยมาก ๆ ก็ได้ ไปจนถึงเจตนาที่จะหลอกลวงกันเลย ด้วยการเขียนมั่ว ๆ หรือระบุ 100% ยางธรรมชาติทั้ง ๆ ที่ความจริงนั้นไม่ใช่ ในเมื่อกฏหมายเพื่อผู้บริโภคยังตามไม่ทันในขณะนี้ผู้บริโภคจึงมีความจำเป็นต้องช่วยตัวเองสูง หาความรู้จากผู้รู้ ผู้ผลิตที่เชื่อถือได้ แล้วใช้ข้อมูลที่ได้มาในการตัดสินใจ วิธีที่ง่ายที่สุดในการทดสอบว่าเป็นยางพาราแท้หรือยางพาราเทียมนั้น อาจจะทำง่าย ๆ ด้วยการหยิบมาดม สำหรับคนไทยนั้นมีความได้เปรียบบ้างเล็กน้อยด้วยความคุ้นเคยกับยางพาราที่ประเทศเราเป็นผู้ผลิตและส่งออกอันดับหนึ่งของโลก ยางพาราแท้ จะมีกลิ่นของยางพารา ซึ่งบางท่านอาจจะรู้สึกว่าฉุน เหม็น และไม่ค่อยคุ้นเคย ในขณะที่ยางพาราเทียมมักจะมีกลิ่นหอมอุ่น ๆ ไปในโทนหวาน ๆ เล็กน้อย ชวนดมมากกว่า แต่ถ้าหากสูดลึก ๆ กลิ่นสังเคราะห์คล้าย ๆ น้ำหอมราคาถูก จะสามารถรู้สึกได้ ลึก ๆ แถว ๆ โพรงจมูกด้านใน อ่อน ๆ ไม่แสบ แต่อย่างใด

agglo01

ส่วนระบบฟองยางอัดนั้น ก็จะใช้ฟองน้ำชิ้นเล็ก ๆ มาอัดรวมตัวกันด้วยกาว โดยมากจะเป็นพอลิยูริเทน ด้วยสาเหตุต่าง ๆ กัน เช่น เพื่อเพิ่มความแข็ง รีไซเคิล ลดต้นทุน หรือหลาย ๆ สาเหตุรวม ๆ กัน ดังนั้นฟองยางอัด หรือฟองน้ำอัด จึงมีความซับซ้อนเพิ่มขึ้นอีก เพราะสามารถใช้วัสดุอะไรก็ได้มาปนกัน โดยที่ยังไม่มีกฏหมายกำหนดในการระบุต้นกำเนิดของฟองยางอัดเหล่านั้น ยกเว้นในยุโรปที่ต้องระบุว่าเป็นฟองยางพาราอัด หรือ ฟองน้ำเทียมอัด เท่านั้น ส่วนในบ้านเรานั้นอาจจะไม่ระบุคำว่า “อัด” เสียด้วยซ้ำ ซึ่งทำให้ผู้บริโภคมีความเสียเปรียบเป็นอย่างมาก ในระบบฟองยางอัดนั้น แม้ว่าจะใช้กาวเพียง 7% แต่เนื่องจากเป็นกาวสังเคราะห์จึงมักจะให้กลิ่นที่ฉุนมากกว่ายางพาราแท้เสียด้วยซ้ำ แต่มักจะระบายกลิ่นออกไปได้ค่อนข้างรวดเร็วเพราะมีประมาณไม่มากนัก และอันตรายจากพอลิยูริเทนนั้นไม่มีการรายงาน และเป็นพอลิเมอร์ที่มีการใช้งานค่อนข้างหลากหลายในหลายผลิตภัณฑ์

agglomerated_foam

ดังนั้นจะเห็นว่าในการออกแบบคุณภาพการนอนอย่างที่ไม่มีการ compromise นั้น จึงต้องเริ่มตั้งแต่การเลือกใช้วัสดุที่มีความเหมาะสม มีสมบัติที่เพียงพอ มีข้อเสีย ความเสี่ยงที่น้อยที่สุด ร่วมกับหลักการทางวิทยาศาตร์ของการนอน หลักการวิทยาศาสตร์ของการรองรับร่างกาย หลักการวิทยาศาสตร์ของการรับแรงของวัสดุเมื่อประกอบเข้าด้วยกัน หลักการวิทยาศาสตร์ของการกระจายแรง และอื่น ๆ อีกมาก ศาสตร์ต่าง ๆ เหล่านี้ไม่มีการสอนในรายวิชาใด ๆ ความสนุกของนักวิทยาศาสตร์อย่างผม คือ การใช้ความรู้และประสบการณ์จากการออกแบบ การใช้งาน จากผู้ใช้ ลูกค้า เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ของผมให้ดีที่สุดภายใต้ข้อกำหนดราคาที่เหมาะสมที่สุด ถ้ามีโอกาสต่อไป ผมจะมาเล่าให้ฟังว่าการออกแบบโดยใช้วัสดุยางพาราธรรมชาติยังสามารถสร้างนวัตกรรมการนอนที่เหมาะกับความต้องการของแต่ละคนได้อย่างไร

จักรยานทางไกลไร้ผู้ติดตาม : Audax Randonneur

ผมมีโอกาสได้ปั่นจักรยานทางไกลแบบดูแลตนเองมาทั้งหมด 4 ครั้ง เป็นแบบที่มีเจตนาที่จะต้องไปให้ถึงเท่านั้น บนข้อจำกัดที่ต้องช่วยเหลือตนเอง ทั้งการดูแลจักรยานและการขนอุปกรณ์หรือเสบียง หรือพูดแบบเข้าใจง่ายๆ คือไร้ผู้ติดตาม แม้ว่าในความเป็นจริงจะมีผู้คอยตามติดในเหตุการณ์ตลอดทั้ง 3 ใน 4 ครั้งที่จัด แต่เป้าหมายเป็นเพียง มาคอยถ่ายรูปและพบปะพูดคุยตามจุดแวะพักต่างๆ ในหลายครั้งก็มีเพื่อนร่วมเส้นทางจำนวนมาก ตั้งแต่ 200, 500 ไปจนร่วม 2000 คน เพื่อนร่วมทีมปั่นเคียงข้าง หรือบางครั้งฉายคนเดียวแบบไม่เกรงกลัวโชคชะตา จนวันนี้ผมคิดว่าผมได้เข้าใจความรู้สึกบางอย่างของการปั่นจักรยานแรลลี่ทางไกลในลักษณะเช่นนี้ น่าจะสามารถถ่ายทอดให้ใครที่อาจจะสนใจได้มาลองกันบ้าง เพราะมันไม่ใช่กิจกรรมทัวริ่งที่ผมเคยเข้าใจ เหมือนครั้งแรกที่ผมประกาศกับเพื่อน ๆ ก่อนปั่น กรุงเทพ – หัวหินเอาไว้ นั่นคือ ผมไม่ปั่นทัวร์ริ่งไปหัวหินนะ และมันก็ไม่ใช่จริง ๆ มาติดตามกันครับ ว่าการปั่น 6+ ชม. โดยไม่มีความช่วยเหลือข้างทาง ถ้าไม่ใช่ทัวร์ริ่ง มันจะเป็นอย่างไร

IMG_6243

การปั่นทางไกลครั้งแรกของผมเริ่มด้วยระยะทางประมาณ 180-190 กม. กรุงเทพ-หัวหิน ที่เป็นรายการปั่นประเพณี เราไปเป็นทีม แต่ออกตัวหลังสุดในบรรดานักปั่นร่วมเส้นทางกว่าสองพันคนในวันนั้น เราจึงไม่ได้สัมผัสความรู้สึกของการปั่นเป็นขบวน แต่ได้สัมผัสความรู้สึกของการปั่นแรลลี่ทางไกลเป็นครั้งแรก สมาชิกใหม่ๆ ของทีมก็ไม่ต้องกังวลมากเพราะพี่ๆ อาวุโสสามารถดูแลกรณีฉุกเฉินต่างๆ รวมไปถึงเพื่อนร่วมทางที่มาถ่ายรูปก็ยังสามารถดูแล หากร่างกายไม่ยอมต่อสู้กับเส้นทางอันยาวไกล ผมเขียนบันทึกเหตุการณ์ไว้แล้วจึงคงไม่ทำซ้ำที่ตรงนี้ แต่นั่นเป็นการเปิดโลกของการปั่นทางไกลของผม เราไม่ได้พักมากมายนัก เท่าที่จำเป็นตามความเรียกร้อง และสภาพร่างกายของเพื่อน ๆ ในกลุ่ม มีเหตุการณ์เปลี่ยนยางหนึ่งครั้ง มีเพื่อนที่ไปไม่ถึงจุดหมาย 2 คน พอที่จะทำให้ผู้ที่ปั่นสำเร็จได้รู้สึกถึงความสมหวังตั้งใจ

IMG_5813

กิจกรรมที่สร้างประสบการณ์ให้ผมเป็นอย่างมาก จนผม มั่นใจที่จะมาถ่ายทอดเรื่องราวของการปั่นจักรยานทางไกลไร้ผู้ติดตามไว้ตรงนี้แม้ว่าทั้งชีวิตการปั่นของผมนั้นผมลองทำมาเพียง 4 ครั้งเท่านั้น กิจกรรมนั้นเรียกว่า Brevets de Randonneurs Mondiaux (BRM) ซึ่งเป็นลิขสิทธิ์ของ Audax Club Parisien ที่ถูกจัดขึ้นในเมืองไทยปีนี้เป็นปีแรก ว่ากันว่าเมื่อผ่านกิจกรรมของกลุ่มนี้จะสามารถใช้สิทธิ์ที่จะเข้าร่วมกิจกรรมในลักษณะเดียวกันนี้ในสถานที่ต่าง ๆ ทั่วโลกได้ ประสบการณ์ BRM200 อยุธยา และ BRM300 เขาใหญ่ เป็นการปั่นระยะทาง 200 และ 300 กม. ตามลำดับ โดยปั่นเป็นวงเริ่มต้นและสิ้นสุด ณ จุดเดียวกัน ทำให้ผมมั่นใจว่าผมเล่าอะไรที่น่าจะมีประโยชน์สู่กันฟังได้ BRM นั้นกำหนดให้ไม่มีป้ายบอกทางแต่มีแผนที่และคำอธิบายเส้นทางไว้ให้ มีจุดกำหนดที่จะต้องเข้าเพื่อลงเวลาในระยะเวลาที่กำหนด ไม่อนุญาติให้มีการช่วยเหลือริมทาง รถติดตาม หรือขนสิ่งของใดๆ แต่นัดพบกันที่จุด checkpoint ไม่ว่ากัน ผมเข้าร่วมกิจกรรมนี้เพื่อเป็นการซ้อมปั่นทางไกลสำหรับการแข่งขันไอรอนแมนของผม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการซ้อมเรื่องการกินอาหาร แต่ดูเหมือนว่ามันให้อะไรผมมากกว่าที่ผมวางแผนไว้เป็นอย่างมาก

IMG_5804

BRM200 อยุธยา ออกตัวจากหลักสี่ ไปวนตัวเมืองอยุธยาแล้วปั่นกลับ รวมระยะทาง 200 กม. ในทีม Very Forty มีสมาชิกร่วมปั่น 4 คน ผู้จัดการทีมถอนตัววินาทีสุดท้ายเนื่องจากอาการบาดเจ็บยังไม่หายดี อีกทั้งผ่านประสบการณ์นี้มาแล้วครั้งหนึ่ง พี่ป๊อบแยกตัวไปปั่นกับเพื่อนๆ เหลือผม อำนวยและหมอจอนออกตัวไปด้วยกัน การเดินทางเริ่มต้นเวลา 7 โมงเช้า ด้วยความอ่อนประสบการณ์ผมเร่งปั่นตามกลุ่มทุกครั้งที่มีโอกาส เนื่องจากติดนิสัยการแข่ง Road race เราทำเวลาและความเร็วได้ค่อนข้างสูง แต่ไปได้ไม่นานนักหมอจอนเริ่มออกอาการ จนเราจำเป็นต้องเข้าพักในศาลาข้างทาง ระหว่างการพักสั้น ๆ ของเราก็ยังมีกลุ่มอื่น ๆ มาอาศัยศาลาเดียวกันกับเราเพื่อพักผ่อน จึงคาดว่าความเร็วที่ทำกับระยะทางที่คงเหลือ มันน่าจะไม่ค่อยเข้ากันเท่าไรนัก เราจึงปรับกลยุทธแล้วปั่นเรื่อยๆไปกันสามคน เส้นทางไม่มีอะไรตื่นเต้นมากนัก ราบเรียบแต่อากาศค่อนข้างร้อน สองข้างทางเป็นทุ่งนาเสียส่วนใหญ่ ถนนส่วนใหญ่ที่ทางผู้จัดเลือกเป็นถนนสายรอง มีรถใหญ่ไม่มากนัก บรรยากาศการปั่นไม่ค่อยเครียด อย่างไรก็ตามอาหารและน้ำที่เตรียมให้ตามจุดแวะพักต่างๆ มีไม่ค่อยเพียงพอสำหรับความเร็วของกลุ่มเรา เราเข้าพักครึ่งทางที่ อบต. ผักไห่ พร้อมอาหารเที่ยงเบาๆ ผมยางแตกมาแล้วหนึ่งครั้งก่อนถึงจุดนี้ ซึ่งไม่ได้สร้างความตื่นเต้นอะไรมากนัก แต่การเปลี่ยนยางข้างถนน กลางแดดเปรี้ยงๆ ก็ไม่น่ารื่นรมย์นัก เราพักทานอาหารและลดความร้อนจากแดดแผดเผาอย่างไม่เกรงใจ เมื่อเต็มอิ่มกันแล้วก็เริ่มการเดินทางอีกครั้ง แต่แล้วการเปลี่ยนยางอีกครั้งเกิดขึ้นที่เชคพอยท์นี้นี่เอง เนื่องจากยางในเส้นที่เปลี่ยนนั้นมีตำหนิจากการปะคราวก่อนหน้านั้น เราเลี้ยวกลับเข้ามาเปลี่ยนยางในอาคาร ซึ่งทำให้ผมรู้สึกยินดีว่าเราไม่ต้องไปทำกิจกรรมนี้ ข้างถนนอันร้อนระอุ

IMG_5819

สุดท้ายเราทั้งสามค่อยๆออกตัวไปอย่างไม่รีบร้อน เพราะอากาศมันร้อนเหลือสุดจะทน เชคพอยท์ถัดไปอยู่ตัวเมืองอยุธยาไม่ไกลมากนัก แต่อากาศที่ร้อนและสภาพปั่นเมืองทำให้เราไม่มีความสุขมากเท่าไรนัก แต่เชคพอยท์ที่ต้อนรับโดยทีมตำรวจจักรยานที่เต็มร้อย ทั้งน้ำเย็น เกลือแร่ ผลไม้ อาหาร ไปจนถึงบริการซ่อมบำรุงจักรยาน ทำให้การพักผ่อนครั้งนี้เต็มอิ่ม น่าเสียดายว่าหมอจอนตัดสินใจยุติการปั่นของวันที่ตรงนี้ นี่เป็นข้อเสียที่สำคัญของการมีผู้จัดการทีมติดตามมาถ่ายรูป การตัดสินใจยอมแพ้นั้น มันอยู่ใกล้แค่เอ่ยปาก จากจุดนั้นจะเหลือผมและอำนวยออกตัวกันต่อไปเพียงสองคน เส้นทางปั่นกลับน่าเบื่อจนผมแทบจำอะไรไม่ได้ เรามาเบรคสุดท้ายที่วัดแห่งหนึ่ง ดวงอาทิตย์เริ่มคล้อยต่ำ เราพักทานของว่างเล็กน้อย ก่อนที่จะออกตัวกันออกไปอีกครั้ง ผมได้ใช้ไฟกระพริบหน้าหลังเพื่อให้เพื่อนร่วมถนนสังเกตุได้ง่ายขึ้น ช่วงสุดท้ายผมกับอำนวยไม่ค่อยได้คุยกันมากนัก เราปั่นผ่านเพื่อนนักปั่นเป็นระยะ ๆ จำได้แต่เพียงว่าผมใช้เวลายี่สิบกิโลเมตรสุดท้ายอย่างค่อนข้างจะเหน็ดเหนื่อย ทำความเร็วได้เพียงยี่สิบต้นๆ เข้าเส้นที่เวลาประมาณหนึ่งทุ่ม สายตาผมเริ่มใช้การไม่ได้ที่ระดับแสงที่จำกัดเช่นนี้พอดี 12 ชม. เต็มพลังงานสะสมผมหมดเกลี้ยง ผมได้เรียนรู้ถึงขอบเขตจำกัดของร่างกายและปริมาณอาหารจากกิจกรรมวันนี้ ผมลืมไปเลยว่าผมเพิ่งรับยาอินเตอร์ฟิวรอนที่ทำให้ผมปวดกระดูกสองวันก่อนหน้า ผมมั่นใจแล้วว่าแม้จะไม่เต็มร้อยแต่ยาก็หยุดผมไม่ได้ และได้เรียนรู้ว่าผมต้องเพิ่มปริมาณอาหารมากกว่านี้ถ้าต้องแข่งไอรอนแมน

IMG_5380

BRm300 เขาใหญ่ ท้าทายผมมากกว่าเดิม ระดับฮีโมโกลบิน และเม็ดเลือดขาวผมลดลงจากยา ระยะสองร้อยกิโลเมตรคือสุดขอบของความสามารถในการสะสมและกินเพิ่มของผม ผมไม่มั่นใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นที่ร้อยกิโลเมตรสุดท้าย อีกทั้งเส้นทางภูเขาที่หฤโหดได้ถูกบันทึกไว้โดยผู้สำรวจเส้นทาง ทีม Very Forty มีสมาชิคมาร่วมปั่น 5 คนแต่แบ่งกันปั่นเป็นสามกลุ่ม ผมปั่นคู่กับอำนวยเช่นเคย แจ๊คตัดสินใจอดหลับอดนอนมาขับรถเก็บภาพให้เรา เราต้องเดินทางออกจากกรุงเทพด้วยรถยนต์เพื่อมานอนค้างใกล้ ๆ จุดเริ่มต้น การเดินทางเริ่มต้นขึ้นตีห้าบริเวณกบินบุรีย์ขึ้นเขาปักธงชัยวนไปเขาใหญ่แล้วกลับมาเป็นวงระยะทาง 300 กม. เขาแรกและอาจจะเรียกว่าเขาเดียวของเส้นทางนี้ ไม่ชันนักแต่ยาวนานถึง 6-7 กม. ซึ่งไม่ง่ายนักสำหรับคนตัวใหญ่ ผมเห็นคนเริ่มลงเข็นตั้งแต่กิโลแรก ไม่คิดว่าจะสามารถเข้าทันในเชคพอยท์แรก 60 กม. ความเร็วเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 15 กม/ชม โดยไม่สนใจว่าจะทุรกันดารอย่างไร และคิดว่าจะเป็นเช่นนั้นจริงๆ เราทั้งสองคนไม่ได้ปั่นเร็วนัก แต่ทิ้งนักปั่นจำนวนมากบนเชิงเขา แม้ว่าเราจะไม่ได้พักนานนัก เวลาที่เหลือในจุดพักนั้นมีเหลือเพียง 1 ชั่วโมง เป็นไปได้ว่านักปั่นจำนวนมากสอบตกตั้งแต่  check point ที่ 1

IMG_6252

เชคพอยท์ที่สองระยะทาง 120 กม. เราปั่นผ่านเขาแผงม้า ข้ามเส้นทางในหุบเขาสวยงาม เส้นทางขึ้นลงตลอดทั้ง 60 กม. เงียบสงบ ผมคิดว่าถ้าปั่นอีกครั้งเส้นทางนี้น่ากลับมาท่องเที่ยว ในตอนนั้นอากาศเริ่มร้อนขึ้น ผมเริ่มกังวลว่าเส้นทางผ่านขุนเขาเช่นนี้น่าจะกินพลังงานผมไปมากกว่าปกติ ผมพยายามกินเจลชั่วโมงละซอง ร่วมกับอาหารประเภทอื่น เช่น กล้วย ขนมปัง หรือข้าวต้มมัดที่มีแจกให้ รวมไปถึงแกเตอเรดชั่วโมงละขวด เราเข้ามาถึงจุดเชคพอยท์หน้าด่านเก็บเงินอุทยานที่ปากช่อง ผมเริ่มพบว่าผมเริ่มไม่ค่อยยอมรับอาหารเข้าไปมากนักแล้ว ผมพยายามเปลี่ยนจากขนมปังที่ผมพกมาด้วยไปเป็นกล้วยที่แจก ข้าวต้มมัดไม่มีเหลืออีกแล้ว จำนวนกล้วยเริ่มมากขึ้นในกระเพาะของผม ผมรู้ว่าท้องผมรับได้จำนวนหนึ่งเท่านั้นก่อนที่จะไม่สามารถย่อยได้ เราพักกันไม่นานนักก่อนที่จะปั่นลงไปทางมวกเหล็ก อำนวยบอกไว้ว่าจากจุดนี้จะเป็นเส้นทางลงของเพียงอย่างเดียวแล้ว อย่างไรก็ตามเส้นทางไม่ได้เป็นทางลงอย่างที่คิด หลังจากเลี้ยวซ้ายเข้าเส้นในไปมวกเหล็กทางแดรีโฮม เราก็ต้องพบกับ เขาแล้ว เขาเล่า ผมเริ่มจะไม่สนุกกับมันมากนัก เนินเล็กๆ เริ่มกลายเป็นเขาสำหรับผม เมื่อเส้นทางวกเข้าทางหลวง ความสนุกของวันก็หมดไป ความเครียดของการแชร์เส้นทางกับรถบรรทุก 18 ล้อ บนเนินซึม ๆ ยาว ๆ ฝุ่นและอากาศที่ร้อน ทำให้อะไรๆมันดูเลวร้ายไปหมด เมื่อมาถึงจุดพัก ผมไม่สามารถใส่อาหารลงกระเพาะได้อีกแล้วไม่ว่าจะพยายามอย่างไร ผมพยายามใส่กล้วยลงไปเพิ่ม เราออกเดินทางกันต่อจนกระทั่งถึงจุดพักที่ระยะ 200 กม. หน้าร้านสะดวกซื้อ 7-11 เป็นหยดสุดท้ายของผม เริ่มทานอะไรไม่ได้มาพักหนึ่งแล้ว จิตใจผมไม่ยอมรับอาหารอื่น ๆ ใดอีกแล้ว แม้ว่าจะมีอาหารให้เลือกมากมายในร้านสะดวกซื้อแห่งนั้น ผมจึงเลือกที่จะกินน้ำอัดลมเผื่อว่าจะช่วยให้กระตุ้นความอยากอาหาร เวลานั้นขาทั้งสองข้างเริ่มล้า เริ่มไม่อยากลุกเดินไปไหนมาไหน มันเป็นปลายทางของจิตใจ ผมต้องหมดแรงที่ตรงนี้ เหมือนอย่างครั้งที่ผ่านมา

IMG_6245

เราออกตัวกันอีกครั้งตามที่วางแผนกันไว้ว่าจะพักคราวละไม่เกิน 30 นาที ผมต้องเริ่มกัดฟันในขณะที่อำนวยเริ่มเร่งความเร็วเมื่อเราปั่นร่วมทางกับสิบล้อ จากความคุ้นเคยในการปั่นซ้อมในกรุงเทพ และจากอาหารอันอุดมสมบูรณ์ที่พักเบรคที่เพิ่งผ่านมา สำหรับผมพลังงานใกล้จะหมด หัวใจเริ่มระเบิดเป็นเสี่ยง ๆ ผมตามไปได้เพียงยี่สิบกิโล อาการก็เริ่มออก มันคืออาการ Bonk หรือหมดพลังงาน การตัดสินใจการเคลื่อนไหวของร่างกายช้าลง ผมจำเป็นต้องขอเข้าข้างทาง พักและพยายามหาอะไรกิน แจ๊คและอำนวยพยายามบังคับให้ผมกินอะไรแต่ตอนนั้นมันแน่นไปหมด แจ๊คสั่งนมเย็นให้ผมทานด้วยความคิดว่าน้ำตาลอาจจะช่วยให้ฟื้นได้เร็วขึ้น ในขณะที่พยายามเสนออาหารหนักให้ผม ผมกินโจ๊คไปหนึ่งกล่องและนมได้เล็กน้อย แต่ต้องการนอนพัก อำนวยดูท่าผิดหวังเล็กน้อยเพราะแรงกำลังมาและเรากำลังทำเวลาได้ดีกว่า BRM  200 อยู่กว่าหนึ่งชั่วโมง ถ้าไม่น่าเกลียดเราน่าจะสามารถจบวันนี้ภายในเวลา 16 ชั่วโมงได้ เราพักหนึ่งชั่วโมง อำนวยยังดูมีความหวังว่าเวลาที่เสียไปน่าจะไม่เกินไปจากนี้ 17 ชั่วโมงก็เป็นตัวเลขที่ไม่น่าอายเท่าไร เราออกตัวเพื่อปั่นไปยังจุดเชคพอยท์สุดท้ายที่ห่างออกไปเพียง 20 km ผมสามารถขุดเอาพลังงานออกมาปั่นไปได้เรื่อย ๆ อย่างช้า ๆ มีอำนวยคอยควบคุมความเร็วไว้ให้ จนสุดท้ายเรามาถึงจุดพักที่เป็นปั้มน้ำมัน เป็นจุดที่ทีมเราทุก ๆ คนเข้ามาพักเพื่อทานอาหารเย็น ผมสามารถกินมาม่าได้หนึ่งกล่องและนมอีกกล่อง เราใช้เวลานั่งพักนานพอสมควร ผมบ่นถึงความโหดร้ายของรายการที่เลิกไม่ได้ เพราะถ้าเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในรายการไอรอนแมน ผมของได้เข้าพักในเต้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อำนวยจึงวางแผนให้ค่อยๆไปคราวละยี่สิบกิโล ผมต้องปั่นพักกินและปั่นเช่นนั้นอีกร่วม 7 ชั่วโมง สำหรับระยะเพียง 60 km ที่ยังเหลือ ทุก ๆ จุดแวะพัก อำนวยจะเอาอาหารหรือขนมมาเสนอเชิงบังคับให้ผมกิน สงสัยกลัวว่าจะไม่สำเร็จตามเป้าที่ตั้งไว้ ผมพยายามกินตามที่เสนอแม้ว่าความรู้สึกขณะนั้นคือทุกสิ่งทุกอย่างมันล้นมาอยู่ที่ลำคอของผมแล้ว พักสุดท้ายที่หน้าปั้ม เราจัดกาแฟกันคนละแก้ว เหลือเวลาอีกเพียงสองชั่วโมง อำนวยวางแผนให้พักเกือบ ๆ ชั่วโมง เพื่อจะเหลือเวลาไว้ 1 ชั่วโมงในการปั่น 18 km สุดท้าย ในที่สุดการปั่นสุดท้ายของคืนก็เริ่มขึ้นที่ประมาณเที่ยงคืน อำนวยออกนำเช่นเคย ก่อนผมจะค่อยๆ ลากสังขารตามก้นมาเข้าเส้นได้ที่เวลาประมาณเที่ยงคืนสี่สิบนาที รวมใช้เวลาไป 19:40 ชม. ผมพะอืดพะอมตลอดยี่สิบกิโลเมตรสุดท้ายจนลากตัวเองไปอาเจียนในที่พัก อาบน้ำแล้วหลับยาวจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอะไรไม่ค่อยได้

IMG_5376

อย่างไรก็ตาม การปั่นทางไกลแบบไร้ผู้ติดตามจริงๆ นั้นเกิดขึ้นก่อนหน้านั้น หลายเดือน เมื่อผมต้องการซ้อมระยะทาง 180 กม. เพื่อทดสอบร่างกาย ด้วยการปั่นจากบ้านที่สะพานสาธรไปยังบ้านภรรยาที่บางระจัน สิงห์บุรี วันนั้นผมออกเดินทางตีห้าครึ่งด้วยแผนที่ที่เตรียมขึ้นเองจากเวป www.ridewithgps.com เป็นการเดินทางที่ตื่นเต้นเป็นที่สุด ความมั่นใจในแผนที่มีเพียง 60% เนื่องจากเป็นเส้นทางที่ผมไม่เคยสัมผัสเลย ไม่รู้สภาพถนน ไม่รู้สภาพรถ ไม่มั่นใจว่าแผนที่จากเวปต่างประเทศนั้นมีความแม่นยำเพียงใด แผนสำรองมีเพียงยางในหนึ่งเส้น แผ่นปะยางสามแผ่น โทรศัพย์และเงินสามร้อยบาท ผมพลาดไม่ได้โดยเด็ดขาด ภรรยาและลูก ๆ เดินทางล่วงหน้าไปรอก่อน อย่างไรก็ตามภรรยาไม่มีรถที่จะสามารถมาช่วยเหลือได้ถ้าเกิดอะไรขึ้น ผมออกเดินทางเช้าที่สุดที่จะทำได้ เวลาประมาณ 5:30 น. ฟ้าเริ่มสาง เดินทางบนเส้นสาธรตัดใหม่ได้เริ่มต้นขึ้น ช่วงการปั่นออกจากกรุงเทพนั้น ไม่ค่อยน่ารื่นรมย์มากเท่าไร เส้นทางเป็นไฮเวย์ขนาดใหญ่ที่รถวิ่งกันเร็วมาก ๆ สะพานข้ามแยกไม่มีพื้นที่สำหรับจักรยานในการปั่น ขอบทางที่ใช้ในการปั่นก็เต็มไปด้วยเศษกระจก จนในที่สุดผมก็ยางแตกที่ระยะทางเพียง 40km แดดยังไม่ร้อน แต่ผมเริ่มรู้สึกว่าการเดินทางวันนี้คงจะยาวไกลพอสมควร มาถึงจุดเบรคแรกที่วางแผนไว้ ระยะทาง 60 กม. เริ่มออกนอกเมืองมาแล้ว ผมใช้เวลาเพื่อปะยาง และเติมแกเตอเรด หลังจากนั้นการเดินทางเป็นไปอย่างเรียบง่าย อากาศร้อนในวันสงกรานต์ ไม่มีใครกล้าราดน้ำจักรยานอย่างผม ทั้ง ๆ ที่ขณะนั้นผมต้องการระบายความร้อนเป็นอย่างมาก ผมเข้าพักอีกครั้งก่อนที่จะเข้าเส้นทางหลวงชนบท เงินผมมีไม่พอสำหรับอาหารเที่ยง ผมเพียงซื้อน้ำขวดสองลิตรและเฉาก้วยทานหนึ่งถ้วย แต่นั่นก็เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ผมกินได้ตามแผนและไปถึงบ้านภรรยาบ่ายสองโมง ช้ากว่าที่วางแผนไว้หนึ่งชั่วโมง เส้นทางเรียบง่ายไม่มีอะไรน่าจดจำแต่ตื่นเต้นที่สุดเพราะงานนี้พลาดไม่ได้จริง ๆ ไม่มีแผนสำรอง

IMG_5393

การปั่นจักรยานทางไกลในรูปแบบนี้เปิดประตูบานใหม่ให้กับผม การเดินทางด้วยสองขาบนระยะทางยาวไกลแม้ขับรถยังปวดหลัง ผมเริ่มฝันที่จะบดยางเส้นน้อยๆลงบนถนนเส้นสวยๆทั่วไทย หรือแม้กระทั่งในต่างประเทศ ความรู้สึกที่แตกต่างจากการทัวร์ริ่งอย่างบอกไม่ถูก เราไม่ได้ใช้จักรยานเพื่อออกมาท่องเที่ยว ถ่ายรูป โพส FB IG อย่างที่คนอื่น ๆ เขาทำ แต่เป็นการใช้เพื่อการเดินทางอย่างแท้จริง การเดินทางที่ช้าเพียงพอที่จะสัมผัสความสวยงามรอบ ๆ ด้าน ใกล้ชิดเพียงพอที่จะรู้ซึ้งถึงหุบ เนิน โค้งเว้าของเส้นทาง เปลือยพอที่จะรู้สึกถึงบรรยากาศ ความชื้น และอุณหภูมิรอบตัว แสงแดดแผดเผา สายฝนที่โปรยปราย เพื่อนร่วมทางเล็กใหญ่ รู้สึกและสัมผัสได้ทุกรูขุมขน ในขณะเดียวกันยังรวดเร็วเพียงพอที่จะเห็นมันเป็นการเดินทาง ถ่ายรูป FB IG ยังพอทำได้ แต่ไม่มากนักถ้าไม่มีผู้จัดการตามมาบันทึกเหตุการณ์ไว้ให้ ผมจึงขอแนะนำการเดินทางเช่นนี้ให้กับนักปั่นทุก ๆ คนครับ รับรองว่าคุณจะอยากมีจักรยานติดตัวคุณไปทุกที่นับจากวันที่คุณได้สัมผัสเป็นครั้งแรก