Nurturing Naturalist Intelligence

สำหรับใครที่เป็น FC ของ Howard Gardner จะทราบดีว่า 12 ปีหลังจากตีพิมพ์หนังสือ Frame of Mind : Theory of Multiple Intelligence เขาขอเพิ่มอีกหนึ่ง Intelligence ที่เรียกว่า Naturalist ในปี 1995 ทำให้เกิดกระแสธรรมชาตินิยมขึ้นอย่างมากมาย เช่นเดียวกัน มีวารสารทางวิทยาศาสตร์หลากหลายงานที่ตีพิมพ์เกี่ยวกับผลดีของการที่เด็กรักธรรมชาติในแง่มุมที่หลากหลายเกินที่จะจินตนาการได้ สำหรับผมที่เป็น FC ของ Gardner นั้น เป็นเพียงการยืนยันความหลงไหลส่วนตัวของความเป็นคนชอบสันโดด การหนีไปอยู่ท่ามกลางธรรมชาติอย่างภูเขา หรือ ทะเล นั้นเป็นสิ่งที่ผมทำอย่างสม่ำเสมอ จนกลายเป็นกิจวัตรอย่างกิจกรรม Trash Hero Pattani เป็นต้น จึงไม่เป็นเรื่องที่แปลกนักที่ผมจะพยายามปลูกฝังความรักในธรรมชาติให้กับลูก ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราเลือกเองได้เมื่อเรานั้นทำ โฮมสคูล ผมจึงมีหน่วยกิจกรรมการเรียนรู้ที่สามารถใช้การเข้าหาธรรมชาติเป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา เช่น กิจกรรมท่องโลก (ซึ่งหลายครั้งเราเลือกท่องเที่ยวธรรมชาติ) กิจกรรม sports and outdoor ที่เราให้การเข้าหาธรรมชาติเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้โดยตรง

ผมบังเอิญได้ค้นพบ Tarzan Boyd โดยบังเอิญผ่าน Facebook จากภาพเดินป่าสวย ๆ แต่ได้มาเจอตัวจริง ๆ ในวันที่ลูก ๆ ของเราไปเข้าค่ายวิทยาศาสตร์ที่ศูนย์วิทย์ นครฯ ในวันสุดท้ายที่น้ำตกอ้ายเขียว เมื่อ Tarzan Boyd ลงจากเขามาพบกับลูกชาย ที่ร่วมเรียนในค่าย พร้อมกับคุณแม่ที่เป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่ของศูนย์วิทย์ ในวันนั้นผมเพียงแค่ขอถ่ายภาพไว้ในฐานะ FC คนหนึ่ง ส่วนภรรยาของผมก็ทำความรู้จักกับเจ้าหน้าที่ของศูนย์เพื่อรับทราบข้อมูลค่ายอื่น ๆ ที่อาจจะเป็นประโยชน์กับลูก ๆ ของเรา ซึ่งแน่นอนว่าเราก็มีโอกาสได้เข้าร่วมหลาย ๆ ครั้ง ล้วนแล้วแต่เป็นค่ายที่เราเลือกเพื่อที่จะเสริมสร้างความเป็น Naturalist ให้กับลูก ๆ ของเรา ไม่ว่าจะเป็น นักสืบสายน้ำ เรียนรู้เรื่องเมฆ ดูนก ดูปลา และอื่น ๆ แต่หนึ่งค่ายที่เรารู้สึกตื่นเต้นที่สุด เพราะจะได้ไปกางเตนท์ใหม่ที่เตรียมมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ แต่นี่เป็นค่ายของ Tarzan Boyd ไม่ใช่ของศูนย์วิทย์ ซึ่งใช้ขื่อค่ายว่า “รหัสป่า junior”

17757599_1711390285544716_6163357360554631062_n

เราพาครอบครัวไปเข้าค่ายรหัสป่าจูเนียร์ เพื่อให้ลูก ๆ ได้สัมผัสบรรยากาศการนอนเตนท์กลางป่า และเรียนรู้การใช้ขีวิตในป่า ตามวิถีของพรานป่า ไม่ใช่วิถีของนักเดินป่ายุคปัจจุบัน เด็ก ๆ ได้สัมผัสอารมณ์ นอนเตนท์ แคมป์ไฟ การกินอาหารที่ทำกันในป่า โดยใช้เครื่องปรุงที่เตรียมไว้ ร่วมกับพืชผักที่หาได้ในป่า เด็ก ๆ ได้สัมผัสกับการเดินป่าจริง ๆ การดูแลตัวเองในการเดินป่า พร้อม ๆ กับเพื่อนในวัยไล่เรี่ยกันหลาย ๆ ครอบครัว  บรรยากาศในการได้ตั้งแคมป์ในพื้นที่ป่า ทำความรู้จักกับพืชพันธุ์ นานาชนิด เล่นน้ำตก หาอาหารป่า สร้างอารมณ์ร่วมให้กับเด็ก ๆ เป็นอย่างมาก เด็ก ๆ ของเรามีพัฒนาการด้านธรรมชาติวิทยาเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากหลังจากกลับจากค่าย ซึ่งผมเองก็พยายามหากิจกรรมธรรมขาติ เดินป่า ล่องเรือ ตั้งแคมป์ นอนเดนท์ให้เด็ก ๆ ได้สัมผัสอย่างสม่ำเสมอ แต่มีหนึ่งโครงการที่เรารออย่างใจจดจ่อ เพราะแทบจะจองลงชื่อทันทีที่จบจากค่าย รหัสป่าจูเนียร์ นั่นคือ รหัสป่า junior advance

แน่นอนว่าระหว่างที่เราอยู่ในค่ายรหัสป่าจูเนียร์ เราได้มีการพูดคุยถึงค่ายอื่น ๆ และได้สอบถามเกี่ยวกับเรื่องค่าย advance นี้มาบ้างแล้ว ว่าเป็นค่ายสำหรับเด็ก ที่จะเดินขึ้นยอดเขาหลวง ในระยะเวลา 5 วัน 4 คืน โดยที่จะต้องดูแลสัมภาระของตัวเอง ตั้งแคมป์ในป่า กินนอนกันในป่า ในขณะที่เดินทางไปเรื่อย ๆ สู่เป้าหมาย ซึ่งดูท้ายทายดี ค่าย advance นี้เด็กจะต้องผ่านค่ายพื้นฐานมาก่อนเท่านั้น จึงจะมีสิทธิ์ ในขณะเดียวกันผมเคยแลกเปลี่ยนรูปภาพขณะที่ไปเดินป่าที่ญี่ปุ่นบนเกาะ Yagoshima ก็ทราบว่าบนยอดเขาหลวงก็มีพื้นที่ที่มีภาพใกล้เคียงกับป่าโบราณที่เราไปเห็นที่ญี่ปุ่น จึงรู้สึกว่าเป็นสถานที่ที่น่าจะต้องไปค้นหา เมื่อค่าย advance เปิดเราจึงลงทะเบียนล่วงหน้ากันข้ามปี และรอคอยให้ถึงวันนั้น

17862761_1714509741899437_8120669183760309003_n

ตามแผนที่ได้คุยกันกับครูแจง ซึ่งเป็นอดีตเจ้าหน้าที่ศูนย์วิทย์ ภรรยา Tarzan Boyd ซึ่งในเวลานี้เราเรียกกันว่าครูบอยเมื่อผ่าน รหัสป่าจูเนียร์มาเรียบร้อยแล้ว เราได้คุยกันคร่าว ๆ ว่า เด็ก ๆ ที่ไม่มีผู้ปกครองมาเดินป่าด้วยจะค่อนข้างแข็งแกร่ง ไม่อิดออดเหมือนกับเด็กที่มีผู้ปกครองมาเดินด้วย และน่าจะทำให้การจัดการค่ายเป็นไปได้ง่ายขึ้น เราจึงวางแผนให้เซนไปเดินคนเดียว และซาช่า รอออกไปอีกปี แม้ว่าจะผ่าน รหัสป่ามาแล้วก็ตาม แต่เมื่อวันเดินป่าใกล้เข้ามากลับพบว่าหลาย ๆ ครอบครัวเลือกที่จะเดินทางไปด้วยกัน หรือ อย่างน้อยมีผู้ปกครองหนึ่งคนร่วมไปด้วย เราคุยกันว่าน่าจะให้ผมไปเดินกับเซนด้วย เพื่อไม่ให้เซนรู้สึกแตกต่างจากเพื่อน ๆ ที่มีพ่อหรือแม่มาเดินเป็นเพื่อน ในขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสของผมที่จะได้ไปเยือนป่าที่มีภาพใกล้เคียงกับที่ Yagoshima โอกาสที่จะฝึกความ independent ของเซนถอยออกไปอีกปี แต่โอกาสเที่ยวของผมเพิ่มขึ้นมา แถมด้วยโอกาสการสร้างความสัมพันธ์พิเศษระหว่างพ่อลูก ซึ่งคิด ๆ ไปแล้วผมอาจจะทำแบบนี้กับซาช่าด้วย โดยไม่มีเซนตามมาในคราวหน้า

17884432_1711472825536462_2001074965874511122_n

เมื่อวันเดินป่าเวียนมาถึง ด้วยความที่ผมเองก็เดินป่าเป็นครั้งแรก ถ้าไม่นับการเข้าป่าแบบลูกเสือ หรือ เรียน รด. ผมไม่แน่ใจว่าจะต้องเตรียมตัวอย่างไร หรือ คาดหวังอะไร ผมทราบเพียงว่าเราจะเดินเข้าไปในป่าลึก ไปยังที่ใดที่หนึ่ง พักแรม ค้างคืนกันในป่า แล้วเดินไปเรื่อย ๆ ก่อนที่จะกลับมาในวันสุดท้าย ผมไม่รู้ว่าคนเดินป่าเขาทำอะไรกัน เดินไปดูวิวที่จุดสูงสุด ดูนก ชมไม้ ผมไม่ใช่คนแบบนั้น ผมชอบอารมณ์ของการเดินทางมากกว่าจุดหมายปลายทาง ไม่ว่าเป็นกิจกรรมใด ๆ สิ่งที่ผมจะเก็บเกี่ยวได้มักจะเป็นการเดินทาง ผมจึงพยายามติดตามคำแนะนำของทางผู้จัดว่าให้ตระเตรียมอุปกรณ์อย่างไร เสื้อผ้าสำหรับเดิน ขายาว แห้งเร็ว ๆ เบา ๆ ไม่อมน้ำ สองชุด ชุดนอนอุ่น ๆ หนึ่งชุด ถุงกันทาก ถุงเท้ายาวแบบฟุตบอล ถุงนอน ไฟฉาย น้ำ ทุกอย่างให้ใส่ถุงพลาสติกลงในเป้ให้หมด ไม่แขวนหรือผูกอะไรไว้ด้านนอก เราไม่ได้มีอะไรที่เหมาะสมสำหรับเดินป่าสักอย่าง ผมซื้อกางเกงเดินป่ามือสองมาหนึ่งตัว แต่ก็พบภายหลังว่ามีซับใน ไม่น่าจะเหมาะกับกิจกรรมที่ต้องเปียก จึงเอาไปใช้เป็นชุดนอน ส่วนเซนก็เลือกหากางเกงขายาวที่พอมีในบ้าน ไม่ได้มีตัวไหนที่ดูจะแห้งเร็วเป็นพิเศษ แต่โชคดีที่เรามีเสื้อจากงานวิ่งเป็นจำนวนมาก เสื้อพวกนี้แห้งไวอยู่แล้วจึงไม่เป็นปัญหา ถุงกันทาก เรายืมทางทีมงานได้ ถุงเท้าไปหาเอาดาบหน้า ถุงพลาสติกเอาไปเผื่อเยอะ ๆ ผมไม่แน่ใจสภาพจึงขนเอากล้องถ่ายรูป กล้องส่องทางไกล มือถือพร้อม power bank ไปด้วยเต็มสูบ ไฟฉายคาดหัว และแน่นอนสมุดบันทึกของเซน พร้อมกับกระติกน้ำคนละกระบอกให้สมชื่อ Trash Hero Pattani ไม่ใช้น้ำขวด

เราเดินทางไปจุดนัดพบเวลา 9 โมงที่น้ำตกวังลุง ท่ามกลางสายฝนโปรยปราย บังเอิญ 2 ใน 5 วันที่เราจะเข้าป่ากันนั้น คาบเกี่ยวกับช่วงเวลาพายุฤดูร้อน 5 วันที่กำลังถล่มภาคใต้พอดี เราพอเดาได้ว่าสภาพป่าน่าจะสวยสด แต่พื้นดินน่าจะเละเทะ และปริมาณน้ำในน้ำตกน่าจะมากพอดู นั่นคือการประเมินแบบคนไม่เคยเดินป่าอย่างผม แต่เมื่อดูสถานะการณ์รอบ ๆ จากผู้เชี่ยวชาญไม่ว่าจะเป็นครูบอย หรือเจ้าหน้าที่อุทยาน ผมเริ่มคิดว่างานนี้น่าจะไม่ค่อยธรรมดา ทางผู้จัดเริ่มเปรย ๆ ว่าด้วยสภาพที่ว่านี้ เราน่าจะต้องเปลี่ยนเส้นทางกันเล็กน้อย เส้นทางที่คาดว่าจะไปในคราวแรกนั้น มีความลาดชันสูง แม้จะไกล้กว่าเล็กน้อย สภาพอากาศเช่นนี้มีความเสี่ยงมากเกินไป ในขณะที่เจ้าหน้าที่อุทยานกล่าวต้อนรับ ด้วยคำพูดแปลก ๆ “ปกติสภาพแบบนี้เราไม่ให้เข้าไป แต่นี่เห็นว่าเป็นนักเรียนรหัสป่า มีประสบการณ์สูง และเราทำงานร่วมกันมานาน” ในใจผมก็รู้สึกว่าเอ๊ะนี่มันแปลก ๆ ในขณะเดียวกันช่วงนั้นมีฝนเทลงมาห่าใหญ่ ครูบอยบอกว่าเราจะรอให้ฝนซาสักนิดก่อนเดินเข้าไป ฝนแบบนี้มาหนักเป็นพัก ๆ แล้วผ่านไป แต่ไม่น่าจะหยุดง่าย ๆ เริ่มตื่นเต้นแล้วสิ จริง ๆ แล้วผมน่าจะเรียนรู้มาก่อนเพราะจุดนัดพบนี้ถูกเลื่อนมากระทันหัน จากจุดนัดพบเดิม ซึ่งทางเดินจะปลอดภัยมากขึ้น แลกกับระยะทางเดินที่ไกลขึ้น ผมเริ่มจัดแจงสิ่งของวินาทีสุดท้าย ตรวจดูร่างกาย อุปกรณ์ให้ผมและเซน ก่อนที่จะปล่อยให้เซนบอกลาน้อง ๆ และแม่ เพราะเราจะไม่ได้เจอกันในอีก 5 วันข้างหน้า นี่จะเป็นครั้งแรกที่ยาวที่สุดที่เซนจะแยกกับแม่ของเขา โชคดีว่าในเวลานั้นเขาเริ่มออกไปเล่นน้ำฝนกับเพื่อน ๆ แม้ว่าผมทดสอบถามเขาว่า ผมไม่เดินไปด้วยได้ไหม เขายังหันกลับมาตอบอย่างอารมณ์ดีว่า ผมไม่ต้องไปกับเขาก็ได้ ผมยิ้มในใจ

17904107_1714075641942847_4540273630950799423_n

เรารอฝนอยู่ประมาณชั่วโมงนึง เราเริ่มเดินเข้าไปตอน 10 โมงเช้า เลทไปแล้วหนึ่งชั่วโมง ฝนห่าใหญ่ผ่านไปแล้ว แต่ยังไม่หยุด ทุกคนแต่งตัวมิดชิด ใส่ถุงกันทากแล้วถุงเท้ายาวทับอีกชั้น เสื้อใส่ในกางเกง ป้องกันสัตว์ แมลง โดยเฉพาะทาก ครูแจงแนะนำให้เด็ก ๆ ใส่แขนสั้น ถ้าแขนยาวไม่รัดรูป เพื่อที่จะได้สังเกตได้ง่ายเมื่อมีสัตว์หรือแมลงเข้าไปด้านในแขนเสื้อ ผมจึงต้องถอดปลอกแขนที่เตรียมมาให้เขาออก ในขณะที่ผมนั้นใส่ปลอกแขนไว้ เราเดินมุ่งหน้าเข้าป่า แล้วก็เริ่มปีนเขาสูงชันเข้าไปทางทางเล็ก ๆ ที่พอเดินได้ ไม่ได้มีลักษณะเป็น trail อย่างที่เคยพบเจอในรายการวิ่ง trail ใด ๆ ค่อย ๆ ลัดเลาะผ่านสวนยาง ป่าโปร่งเรื่อยไปจนในที่สุดก็เข้าป่ารกทึบอีกครั้ง ในตอนนี้ทุกคนเปียกไปหมดทั้งตัว ทางผู้จัดได้แนะนำให้เดินตัวเปล่าไม่ใส่เสื้อกันฝน เพราะจะเย็นสบายกว่า ในขณะนี้ลูกทีมที่เตรียมเสื้อกันฝนกันมาเริ่มถอดเก็บกันหมดแล้ว เพราะความเร็ว ความชัน และระยะทางที่เราเดินกันมานั้น เริ่มทำให้ความร้อนสะสมภายใต้เสื้อเหล่านั้นสูงจนไม่อยู่ในสภาวะที่น่าใช้มากนัก เราเดินขึ้นเขา ลงหุบ ซ้ำไปมาแบบนี้หลายรอบจนผมเริ่มงง ว่าสุดท้ายแล้วเราขึ้นลงไปกี่ครั้ง ผมคุยคร่าว ๆ กับครูบอยว่า เราต้องพยายามหาทางข้ามน้ำที่แคบและปลอดภัยที่สุด เพราะในสภาวะช่วงนี้ ฝนตกมาหลายวัน แม่น้ำมีน้ำมาก หลายจุดข้ามปกติไม่สามารถข้ามได้ เมื่อมาถึงจุดข้ามแรก ผมก็เริ่มเข้าใจว่าเรากำลังพบเจอกับอะไร

17862616_1662631570431392_8655465547247298626_n

ทีมงานข้ามแม่น้ำไปผูกเชือกไว้กับโขดหินที่ฝั่งตรงกันข้ามแล้วค่อย ๆ แนะนำให้เด็ก ๆ เดินข้ามแม่น้ำที่ในเวลานั้นเชี่ยวกราก เด็กบางคนทางทีมเลือกที่จะอุ้ม แต่บางคนก็ต้องเดินเอง ภาพที่เห็นเป็นความทุลักทุเล เมื่อเด็กบางคนที่ต้องเดินแต่ไม่สามารถวางเท้าลงบนหินที่มีแรงน้ำสูงขนาดนั้นได้ ขณะที่มือโหนเชือกปล่อยให้ตัวถูกโยนไปกับสายน้ำ มั่นน่าตื่นเต้นสำหรับผมที่จะลองสัมผัสความอันตรายของธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ เมื่อถึงคราวผมก็ได้เข้าใจ สายน้ำแรง ๆ ที่เห็นทำให้บางครั้งไม่สามารถเล็ง หรือ กำหนดตำแหน่งวางเท้าได้อย่างที่ต้องการ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการเดินข้ามธารน้ำตกที่เต็มไปด้วยหิน บางจุดไม่เหมาะในการวางเท้า ความลื่น ความไม่มั่นคง ต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้มีจุดบังคับในการวางเท้า ที่บางครั้งเราเอาเท้าลงไปไม่ค่อยได้ ทุกครั้งที่มีการข้ามน้ำถือเป็นความเสี่ยง ทีมออกแบบการเดินทางเพื่อลดความเสี่ยงเหล่านี้ ในขณะที่หยั่งกับความเสี่ยงของการเดินผ่านหน้าผาชัน ลื่น หรือสภาพต่าง ๆ ที่ต้องพบเจอ ทำให้การเดินป่าแบบพรานนั้น มีความสนุกตื่นเต้นจากความไม่แน่นอนของเส้นทางเดินปะปนอยู่ด้วย ผมทราบภายหลังว่าเส้นทางที่เราใช้ในการเดินทางนั้น ส่วนใหญ่แล้วเป็นเส้นทางเดินของสัตว์ สำหรับป่านี้เราเดินตามเส้นทางของสมเสร็จ ครูบอยบอกว่าสมเสร็จที่ป่าเขาหลวงนั้นตัวใหญ่มาก ทำให้ทางเดินของเราค่อนข้างเดินง่าย เราเดินผ่านมูลสมเสร็จหลายครั้ง ขนาดของกองถ่ายทำให้เราพอจะเดาขนาดสมเสร็จที่น่าจะใกล้เคียงวัวตัวย่อม ๆ ตัวหนึ่งเลยทีเดียว เราเดินมาพักทานอาหารเที่ยงกันริมลำธาร ซึ่งจริง ๆ แล้วควรจะเป็นจุดตั้งค่ายพักในคืนนี้ แต่วันนี้เราต้องเดินกันต่อ เพราะพายุฝนยังไม่ผ่านไป ตำแหน่งนี้อาจจะมีความเสี่ยงของน้ำป่าได้ ทางทีมจึงต้องมองหาตำแหน่งที่ปลอดภัยกว่านี้

17862648_1713429135340831_3274983964333435475_n

การเปิดพื้นที่พักแรมในป่าดิบนั้น ว่ากันว่าจะทำเมื่อจำเป็นจริง ๆ เท่านั้น พรานจะใช้พื้นที่เดิม ๆ ถ้าเป็นไปได้ เพราะพื้นที่เปิดใหม่จะส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมของป่าเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะสิ่งมีชีวิตในป่า เมื่อไม่มีการใช้งานซ้ำ การฟื้นฟูให้คงสภาพเดิมอาจจะใช้เวลาเป็นสิบปี แต่วันนี้เป็นหนึ่งในข้อยกเว้นนั้น เราเดินจากจุดตั้งแคมป์เดิมไปอีกประมาณ 2 ชม. ทีมก็ให้เด็ก ๆ ลงเล่นน้ำตกกัน แล้วบอกว่าจะขึ้นไปทำค่ายกันที่ด้านบน เด็ก ๆ เหมือนจะผ่อนคลายกันนิดนึงวันนี้เดินกันมาได้ประมาณ 5 ชม. ระยะทางรวม ๆ แค่ 5 กม. เท่านั้น เป็นการวอร์มอัปที่ทำให้เด็ก ๆ บางคนถอดใจไปบ้าง อารมณ์เล่นน้ำวันนี้จึงดูไม่ครื้นเครงเท่าที่ควร เมื่อล้างเนื้อล้างตัวกันแล้ว เราก็ปีนเชิงเขาขึ้นไปดูที่ตั้งค่าย พื้นที่เล็ก ๆ พอจะมีจุดให้กางเตนท์ได้บ้าง มีลำธารขนาดเล็กใกล้ ๆ แต่เราก็ไม่มีพื้นที่มากเพียงพอสำหรับทุก ๆ กิจกรรม เราต้องใช้พื้นที่ใต้ Flysheet เดียวกันระหว่างพื้นที่รับประทานอาหารและสันทนาการ พร้อมกับกางเต้นท์ 6 หลังที่ต้องยกเข้าออกสลับหน้าที่ของพื้นที่นั้น เด็ก ๆ หิวและมากินมาม่าบ้าง โจ๊กบ้าง หรือขนมบ้างตามแต่ที่พกมาก อาหารเย็นมื้อแรก เด็ก ๆ ยังเลือกกินกันอยู่บ้าง เพราะแต่ละคนยังมีเสบียงส่วนตัว และยังไม่เห็นภาพที่ชัดเจนของชีวิตการเดินป่า ในคืนนั้นเด็ก ๆ ใช้เวลากลางคืนในบริเวณทำครัว ครูเกรียงเล่านิทานสอดแทรกความรู้ ช่วยให้เวลาค่ำคืนแรกในป่าดิบชื้นของเด็ก ๆ ผ่านไปได้ง่ายขึ้น ส่วนผู้ใหญ่อย่างผม กับรากไม้ทิ่มแทง เสียงป่า น้ำตก และเวลาค่ำคืนที่ยาวนาน เริ่มต้นที่ประมาณสามทุ่ม มันช่างผ่านไปเชื่องช้าเสียเหลือเกิน

คืนแรกนั้น ฝนกระหน่ำลงมาอีกครั้งราว ๆ ตีสาม รุนแรง จนผมคิดในใจว่าแล้วเราจะทำกันอย่างไรในวันรุ่งขึ้น ผมนอนกระสับกระส่ายเพื่อรอแสงแรกของวัน แต่ชิงลุกขึ้นมาหากาแฟร้อน ๆ ดื่มทันทีที่ได้ยินเสียง พื้นดินในค่ายเฉอะแฉะเต็มไปด้วยโคลน ระหว่างที่ทางทีมเตรียมอาหารเช้า บางส่วนเริ่มออกเดินสำรวจสภาพน้ำ ป่าเพื่อที่จะประเมินสถานการณ์ ครูบอยเรียกประชุมคร่าว ๆ บอกข่าวร้ายกับเราว่าในคราวนี้คาดว่าคงจะไม่สามารถเดินขึ้นไปถึงยอดได้อย่างที่คาดหวังไว้ ฝนตกหนักทั้งคืน คาดว่าเราอาจจะไม่สามารถข้ามน้ำไปได้ เส้นทางที่เราจะเดินขึ้นไปนั้น ลาดชัน และยาวไกล ไม่มีจุดที่จะสามารถพักค้างแรมใด ๆ ได้ ถ้าเรามุ่งหน้าไปแล้ว มีอย่างเดียวคือเราต้องไปให้ถึง สุดท้ายครูบอยจะออกไปสำรวจสภาพน้ำอีกครั้ง และจะพยายามหาที่ตั้งแคมป์ใหม่ที่เหมาะสมที่จะค้างคืนอีกสามวันที่เหลือโดยไม่ลำบากมากนัก ในขณะที่เราอาจจะใช้เวลาระหว่างวันในการทำกิจกรรมเดินป่าในพื้นที่ใกล้ ๆ บริเวณนี้แทน ตอนนี้เด็ก ๆ ตื่นกันหมดแล้ว บ้างก็นั่งเล่นกัน ผมเองในใจก็รู้สึกเสียดายอยู่บ้าง แต่อีกใจก็รู้สึกยินดีเล็ก ๆ ที่เหมือนกับว่าจะไม่ต้องดันทุรังฝ่าฝนฝ่าน้ำเดินทางกันเหมือนเมื่อวานอีก หลังจากนั้นไม่นาน ครูบอยก็กลับมาด้วยข่าวที่ปนดีปนร้าย พื้นที่ที่คาดว่าจะลงไปตั้งแคมป์ ในพื้นที่เปิดและจะใช้เวลาอยู่กันนั้น ไม่เปิดเท่าที่ควร มีน้ำในระดับที่ยังไม่น่าไว้วางใจที่จะตั้งแคมป์ การตั้งแคมป์ที่จุดเดิมนี้อีกหลายวันคงไม่เป็นทางเลือกที่ดี เด็ก ๆ คงไม่น่าจะทนเบื่อและเละเทะกันได้ ถ้าจะเดินกลับไปความเสี่ยงที่จะติดน้ำ ไม่ต่างกันไปกับเสี่ยงที่จะเดินขึ้นไปต่อ ครูบอยจึงเรียกประชุมอีกครั้ง พร้อมกับเสนอแผนที่ยิ่งใหญ่ ท้าทาย และต้องการความร่วมมือจากทุกคน

17861619_1662633073764575_8956256117690840938_n

ครูบอยวางแผนว่าเราจะเสี่ยงที่จะเดินขึ้นไปให้ถึงจุดพักใกล้จุดสูงสุด ในบริเวณที่เรียกว่าห้วยน้ำหนาว ซึ่งเป็นพื้นที่โล่งกว้าง มีลำธารสวยงามไหลผ่าน แต่เส้นทางไปนั้นจะต้องข้ามน้ำอีกสามครั้ง ทางเดินชันตลอดเส้นทาง จากความสูงในเวลานี้ประมาณ 300 เมตรจากระดับน้ำทะเล เราต้องเดินไปอีกประมาณ 10 กม. ขึ้นอีก 1000 ม. จากระดับน้ำทะเล ไปพักกันที่ 1300 เมตร ซึ่งเราไม่สามารถที่จะค้างคืนที่อื่นใดได้อีก นอกจากจะต้องเดินให้ถึงเท่านั้น เราจะต้องทิ้งของทุกอย่างที่นี่ไว้ครึ่งหนึ่ง นำสำภาระเท่าที่จำเป็นขึ้นไป แล้วเราจะกลับลงมาแคมป์กันที่นี่อีกครั้งในเที่ยวกลับ (ซึ่งปกติไม่เคยทำเช่นนี้มาก่อน นั่นคือ ค่ายมักจะเดินขึ้นทางหนึ่งแล้วเดินลงอีกทางหนึ่ง แต่ในครั้งนี้เป็นความจำเป็น) ในเวลานั้นใกล้ 10 โมงเช้าแล้ว ครูบอยให้เวลาทุกคนจัดสัมภาระ 15 นาทีก่อนที่จะรวมตัวกันเพื่อเดินฝ่าฝนกันออกไป เด็ก ๆ หลาย ๆ คนเมื่อต้องเปลี่ยนเป็นชุดเปียกอีกครั้ง ออกมายืนกลางฝน เริ่มออกอาการตัวสั่น ด้วยความหนาวเย็น เซนก็เช่นกัน เราก็ได้แต่หวังว่าการเดินจะค่อย ๆ ทำให้เราทุก ๆ คนอุ่นขึ้นเรื่อย ๆ ณ จุดนี้ ไม่มีป่าโปร่งอีกแล้ว เราเดินผ่านป่าทึบ หลายครั้งหากไม่รักษาระยะห่างดี ๆ อาจจะมองไม่เห็นคนด้านหน้า จนทำให้รู้สึกเหมือนหลงทางกันเลยทีเดียว เราต้องเดินลัดเลาะเลียบลำน้ำตกหลายครั้ง เพื่อหาตำแหน่งในการข้ามน้ำที่ปลอดภัย เส้นทางสูงชันต้องปีนขึ้นลงเขาแล้วเขาเล่า ครูบอยคาดว่าวันนี้เราน่าจะเดินในป่ากันจนมืดค่ำ ไฟฉายเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ครูบอยกำชับให้ทุกคนพกไว้ในตำแหน่งที่หยิบออกมาใช้ได้ง่าย เส้นทางเดินป่าของวันนี้ เรียกได้ว่าไม่ธรรมดาเลยทีเดียว ด้วยความอ่อนประสบการณ์ของผม จากเส้นทาง ความสูง ความชัน การเดินลัดเลาะไหล่เขา หน้าผาเช่นนี้ ถ้าผมต้องตัดสินใจด้วยตัวเอง ผมคงไม่มีวันปล่อยมือเซนเป็นแน่ อย่างไรก็ตาม ผมไว้ใจทีมงานในการประเมินสถานการณ์

หลายครั้งทีมงานมีการแบ่งหน้าที่เพื่อคอยเฝ้าระวังในจุดที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ทางลงเขาชันแล้วต้องเลี้ยวเลาะไหล่เขาในทันที ถ้าพลั้งพลาดในบางจุดคาดว่าคงไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ที่จะกลับขึ้นมาครบ 32 ได้ เห็นทีมงานทำงานเข้าขากันอย่างเงียบ ๆ ความอันตรายของเส้นทางถูก ป้องกัน สร้างระบบเพื่อลดความเสี่ยงอย่างมากจนคาดว่าคนมาเดินหลาย ๆ คนคาดไม่ถึงว่าความอันตรายของเส้นทางนี้มีสูงมากเพียงใด หากไม่ได้เดินทางมากับผู้เชี่ยวชาญอย่างเช่นวันนี้ อย่างไรก็ตามในความเหนื่อยล้าของการเดินทางทั้งวันนี้ แดดแทบไม่มีให้เห็น ป่าทึบ เมฆฝน แทบจะบังคับให้ต้องใช้ไฟฉาย ในเวลากลางวัน เราเริ่มไต่ความสูงขึ้นมาเรื่อย ๆ จนถึงยอดต้นไม้ใหญ่ เราเริ่มเดินเข้ามาสู่ระดับเดียวกันกับเมฆหมอก ครูบอยพาพวกเรามาดูหนึ่งต้นน้ำ และเล่าปรากฏการณ์ของการเกิดน้ำที่ต้นน้ำแห่งนี้ ที่นี่ไม่ได้มีตาน้ำ ไม่มีน้ำใต้ดินที่ไหลลงมา แต่หากว่าเมฆ หมอกที่มาพร้อมกับความชื้นที่พัดผ่านมาปะทะกับต้นไม้ ป่าในบริเวณนี้และรอบ ๆ ทำให้น้ำถูกก่อตัวลงสู่ใบ กิ่งก้านสาขาของต้นไม้เหล่านั้นแล้วไหลร่วงลงมาสู่พื้นดิน รวมตัวกันจนเป็นจุดเริ่มต้นของสายน้ำยิ่งใหญ่ที่เราพยายามข้ามกันมาทั้งวัน สองสามเที่ยว มันเป็นความน่ามหัสจรรย์ของธรรมชาติ เป็นจังหวะที่ทุกคนได้ผ่อนคลายกันเล็กน้อย เรายังต้องเดินทางกันอีกยาวไกลในวันนี้

17904202_1714509428566135_2691042292950774906_n

ท่ามกลางความเหน็ดเหนื่อยมีเสียงพร่ำสอนของครูเกรียงเป็นระยะ ๆ แมลงบ้าง เห็ดบ้าง ผมเดินค่อนข้างห่างไปทางด้านหลังจึงไม่ได้มีโอกาสที่จะได้เห็นว่าสิ่งเหล่านั้นคืออะไร ในบางช่วงเส้นทางมันช่างดูน่าหวาดกลัวสำหรับคนเป็นพ่อแม่ แต่เหมือนว่าเด็ก ๆ จะจัดการกับมันได้ดี เราเดินหยุดคอยกันเป็นระยะ ๆ การเดินป่านั้นมีเรื่องราวสองสามเรื่องที่ครูบอยและครูแจงสอนไว้ ครูแจงพยายามเร่งให้แต่ละคนเดินไม่ทิ้งระยะกันจนเกินไปนัก เพราะความรกของเส้นทาง ถ้ามองไม่เห็นหลังกันอาจจะหลงกันง่าย ๆ ส่วนครูบอยก็มีการสอนการแกะรอยแบบง่าย ๆ ไว้ให้บ้าง ในเส้นทางที่มีทางแยกก็อาจจะมีการบิดใบไม้ให้พอเป็นจุดสังเกตุ เส้นทางอันตรายอาจจะมีการหักกิ่งไม้พาดไว้ เป็นเรื่องราวที่พรานเขาทำกัน แต่สำหรับอย่างเรา ๆ ถ้าสายตาหลุดจากหลังคนด้านหน้าเมื่อไร ก็รู้สึกทันทีว่าหลงทาง มีเรื่องราวตื่นเต้นอึกครั้งเมื่อมีเสียงตะโกนโหวกเหวกโวยวายจากรีซ หนูน้อยตัวเล็กที่สุดวัย 7 ขวบ ช่วงนั้นรีซเริ่มงอแงบ้างแล้ว หลาย ๆ คนไม่ได้แปลกใจอะไรมาก ถ้าหากจะเกิดการร้องไห้โวยวายในเวลานี้ แต่ไม่นานนักเราก็รู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น เมื่อเหล่าผู้ใหญ่เมื่อเดินตามมาถึงต่างตะโกนกันว่า วิ่งเร็ววิ่ง ฝูงผึ้งแตกรัง เข้ารุมต่อย ใบหน้า หัว หลัง หลาย ๆ คน ตั้งแต่รีซและทุก ๆ คนที่เดินตามมา ทำให้ผมเริ่มนึกได้ว่า ผมเองก็โดนเหมือนกันไปสามสี่ครั้ง แต่ด้วยความที่ด้านต่อสิ่งเหล่านี้จึงไม่ได้รู้สึกอะไรมากมาย

วันนี้มีแสงอาทิตย์สอดส่องลงมาบ้างเป็นระยะ สลับกับฟ้ามืด และสายฝน ไม่ได้ถึงกับเลวร้ายเหมือนกับเมื่อคืน แต่เราเดินกันมาทั้งวันแล้ว ช่วงบ่ายแก่ ๆ ฟ้าค่อนข้างจะมืดลง การเดินทางในป่าเริ่มยากลำบากขึ้น แม้ว่ายังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ไฟฉาย หลังจากที่รู้สึกว่าความมืดจะเริ่มเข้าปกคลุมได้ไม่นาน ผมก็เห็นไข่มุก เด็กตัวเล็กที่สุดอีกคนลื่นไถล แล้วก็ตีลังกาลงข้างทางสูงชัน ก่อนที่จะไปค้างอยู่กับต้นไม้เล็ก ๆ ทันทีที่ไข่มุกตะโกนเรียก “ช่วยหนูด้วย” พรานเธียรก็กระโจนไปอยู่ข้างตัวเด็กน้อยแล้วช่วยผลักให้ไข่มุกกลับขึ้นมาได้ ไข่มุกตัวสั่นด้วยความกลัว ครูแจงต้องเข้ามาปลอบและเดินจูงมือไปด้วยกันจากจุดนั้น เด็กทุกคนในเวลานี้ เริ่มวิตก และร้องไห้กันทุกคน ยกเว้นสองคนที่อายุมากที่สุด ผมเริ่มมาเดินข้างเซน จูงมือกันไปสร้างกำลังใจให้เขาอีกครั้ง เรามีเวลาไม่มากนักถ้าไม่อยากเดินทางในความมืด จากจุดนั้น ไม่มีเสียงอื่น ๆ ใดอีกเลย นอกจากเสียงร้องไห้ สะอีกสะอื้นของเด็ก ๆ ทั้งหลาย ร้องไห้ไป เดินหน้าต่อไป จนในที่สุดเรามาถึงจุดหนึ่งที่เป็นลานเปิดกว้าง มีลำธารอยู่ใกล้ ๆ แล้วครูบอยก็บอกว่า ถึงแล้ว คืนนี้เราจะพักกันที่นี่ ให้อาบน้ำล้างตัวกันได้ แต่น้ำอาจจะเย็นอยู่สักหน่อย ตามชื่อสถานที่ “ห้วยน้ำหนาว” อุณหภูมิขณะนี้ประมาณ 15 องศา ทางทีมงานจัดเตรียมพื้นที่ กางเตนท์ หุงหาอาหาร ส่วนเด็ก ๆ ก็ค่อย ๆ กระจายกันไป ล้างเนื้อล้างตัว เปลี่ยนเสื้อผ้า แล้วออกมาหาอะไรกินรองท้อง มาม่าบ้าง โจ๊กซองบ้าง ขนมบ้างไปตามประสา อารมณ์ตื่นตกใจทั้งเรื่องของผึ้ง หรือ ไข่มุกตกผา ยังตราตรึง หลังจากอาหารค่ำ ทุกคนแยกย้ายกันเข้านอนแบบไม่อิดออด แต่ความหนาวเย็นก็เป็นอุปสรรคในการนอนหลับสนิทพอสมควร แม้ว่าวันนี้เราจะเดินขึ้นเขากันมากว่า 8 ชั่วโมง กับระยะทาง 10 กม. ไต่ระดับความสูงประมาณ 1000 เมตร

17904223_1714543015229443_4614302251025924284_n

เช้าวันถัดไป หลังจากตื่นขึ้นมาเราค่อย ๆ ซึมซับทีละเล็กละน้อย กับบรรยากาศรอบข้าง ความเขียวขจี อากาศที่สดชื่น หนาวเย็น สายน้ำ โขดหิน ทุกสิ่งอย่างมันค่อย ๆ ลงตัวมากขึ้น ครูบอยบอกให้ทุกคนเตรียมทานอาหารแล้วจะพาเดินไต่ระดับประมาณ 300 เมตรไปยังจุดสูงสุดในบริเวณนี้ที่ระดับความสูงประมาณ 1500 เมตรจากระดับน้ำทะเล บริเวณที่เรียกว่าหินสองเกลอ หลังมื้อเช้า เด็ก ๆ หลาย ๆ คนอิดออด ไม่อยากกลับมาใส่เสื้อผ้าเปียกอีกครั้งในความหนาว 15 องศาเช่นนี้ ความคิดเรื่องการเดินป่าอีกวันนึงนั้น มันช่างน่าสะอิดสะเอียน ทางครูแจงพยายามอธิบายว่าที่เราลำบากกันเมื่อวานนั้น ก็เพื่อความรื่นรมในวันนี้ ถ้าวันนี้เราไม่ออกเดิน ทุกสิ่งทุกอย่างที่เหนื่อยมาเมื่อวานก็คือสูญเสียไป ผมมองเหน้าเด็ก ๆ หลาย ๆ คน ก็เข้าใจว่า หลาย ๆ คนไม่แคร์ ถ้าเขาจะสามารถนั่งรออยู่ที่นี่ได้ พวกเขาเหล่านั้นก็คงเลือกเส้นทางนั้น แต่มันเป็นไปไม่ได้ เราค่อย ๆ ช่วยกันแต่งตัวเด็ก ๆ แล้วมารวมตัวกันเพื่อผจญภัยกันต่อ เราค่อย ๆ เดินลัดเลาะขึ้นไปตามลำธาร กระโดดจากหินก้อนหนึ่งสู่อีกก้อนหนึ่ง บางครั้งก็ลุยน้ำบ้าง แต่ในวันนี้หลาย ๆ คนพยายามไม่ให้เปียก ไม่กี่สิบนาทีผ่านไปความสดใสของเด็ก ๆ ค่อย ๆ กลับมาทีละคน ละคน วันนี้เราเดินนิด ๆ หน่อย ๆ แล้วหยุดเพื่อถ่ายรูป บางครั้ง เราพยายามจัดองค์ประกอบเพื่อถ่ายรูปกันจนเด็ก ๆ เริ่มโวยวายออกเดินกันต่อ พันธุ์ไม้ในความสูงระดับนี้แตกต่างจากด้านล่างพอสมควร ต้นไม่ได้สูงใหญ่มากนัก อากาศเย็น มีมอสขึ้นปกคลุมเขียวไปหมด เราเดินชมบรรยากาศ ดูกล้วยไม้ หลากหลายพันธุ์ รวมไปถึงนกต่าง ๆ ที่เป็นจุดเด่นของเทือกเขาหลวง ก่อนที่จะค่อย ๆ ลอดทะลุป่าโปร่งมาเจอกับโขดหินขนาดใหญ่สองก้อน ที่เรียกว่า หินสองเกลอ ในช่วงเวลาประมาณเที่ยงวันพอดี เราหยุดรับประทานอาหารเที่ยงกันบนโขดหิน ครูบอยเลือกมาแจกประกาศกันที่นี่ เด็ก ๆ ร่าเริงกันมาก เซนบอกกับผมว่า “ดีนะ ที่เซน เดินมาด้วยในวันนี้ เพราะตรงนี้มันสวยมากเลย” ในใจผมรู้สึกเล็ก ๆ ว่า เขาเริ่มเข้าใจในทัศนคติบางอย่างที่ผมต้องการให้เขาได้กลับไปจากการเข้าค่ายนี้บ้างแล้ว

17523374_1711167778900300_7324851528602095607_n

ช่วงบ่ายหลังจากนั่งกินอาหารเที่ยงบนตำแหน่งที่วิวสวยที่สุดแห่งหนึ่งบนยอดเขาหลวงเรียบร้อยแล้ว ฝนก็กลับมาไล่เราอีกครั้ง ครูบอยจึงพาเดินกลับย้อนลงไปอีกเส้นทางหนึ่ง เพื่อผ่านบริเวณที่เป็นป่าโบราณ ต้นไม้แปลกตา สวยงาม ป่าในโซนนี้ต้นไม้จะไม่สูงใหญ่มากนัก ต่างจากป่าด้านล่าง เราเดินชมป่า วิว กล้วยไม้ เรื่อยไป จนค่อย ๆ ย้อนลงไปถึงแนวลำธารที่เราเกาะขึ้นมา หลังจากนั้นครูบอยก็ค่อย ๆ ทิ้งระยะหายไป แต่ละคนก็ค่อย ๆ ไล่เดินตามแนวลำธารกลับมายังที่พัก วันนี้ทุกคนอิ่มเอิบหัวใจเป็นอย่างมาก เด็ก ๆ ล้างเนื้อล้างตัวมารออาหารเย็น หลังอาหารเย็นก็มีครูเกรียงคอยเล่านิทานความรู้ธรรมชาติให้ฟัง ก่อนที่ครูแจงจะให้เด็ก ๆ เขียนบันทึก วาดภาพเพื่อนำมาแบ่งปันกัน คืนนี้เราจะพักกันที่นี่เป็นคืนสุดท้าย เวลาช่างผ่านไปเร็วเหลือเกิน เมื่อเทียบกับความเชื่องช้าของคืนแรก

วันรุ่งขึ้นเราเดินกลับไปยังแคมป์เก่าอีกครั้ง เพื่อไปค้างคืนสุดท้ายกันที่นั่น การเดินลงเขาเราทำเวลากันได้ดีกว่าขั้นเขามาก เด็ก ๆ ทุกคนเดินนำหน้าไปกับครูบอย การเดินลงเขานั้น อันตรายมากกว่าการเดินขึ้นเขามากนัก ครูบอยค่อนข้างกำชับเรื่องความปลอดภัย มีการระวังภัยให้เป็นระยะ ๆ แต่ก็ไม่วาย เซนร่วงผาในตำแหน่งเดียวกันกับไข่มุกอีกครั้ง แต่มือคว้ารากไม้ไว้ทัน จึงไม่ได้มีเรื่องราวให้ตื่นเต้นกันอีกครั้ง เมื่อมาถึงแคมป์ที่พัก เราจึงใช้เวลาอยู่กับธารน้ำตกค่อนข้างนาน วันนี้เป็นวันแรกที่ผมเองได้อาบน้ำเป็นเรื่องเป็นราว ผมยังเหลือชุดแห้งอีกหนึ่งชุด ในใจมีความสุขเป็นอย่างมากว่าอย่างน้อยในวันพรุ่งนี้ ผมไม่ต้องเปลี่ยนชุดเปียกในตอนเช้า ช่วงคืนสุดท้าย เด็ก ๆ ใช้เวลาบางส่วนทำการบ้านที่ครูแจงให้ แล้วก็รวมตัวนั่งฟังครูเกรียงเล่านิทานกันคืนสุดท้าย เช้าวันถัดมาเราก็ได้มาฟังการเล่าเรื่องราวบันทึกของเด็ก ๆ และความประทับใจต่าง ๆ ที่เด็ก ๆ ได้รับ หลายคนบอกว่าจะไม่กลับมาแล้ว มันเหนื่อย ทำให้ผมคิดถึงการปั่นจักรยานทางไกลออแดกซ์ของผม ที่หลาย ๆ ครั้ง หลาย ๆ คน ก็ได้แต่บอกว่าไม่กลับมาอีกแล้ว แต่สุดท้าย ก็กลับมาอีกครั้ง

17903776_1714665928550485_4449359428701853905_n

ในวันสุดท้าย เราเดินกันเพียง 5 กม. กว่า ๆ เส้นทางง่าย ๆ ไม่เหลืออะไรที่ตื่นเต้นอีกแล้ว และเราก็ใช้เวลาไม่นานเพื่อมายังจุดเริ่มต้นของเรา ที่น้ำตกวังชุม และเราก็ใช้เวลาที่เหลือทั้งหมดเล่นน้ำ ฆ่าเวลา เด็ก ๆ ค่อย ๆ แยกย้ายกันกลับไป เมื่อพ่อแม่มารับ หลายคนก็เปลี่ยนชุด บอกลาครู และเพื่อน ๆ เพราะยังมีการเดินทางกลับบ้านอีกยาวไกลรอกันอยู่ หลายคนมาจากจังหวัดไกล ๆ ภูเก็ต ตรัง นครปฐม หรือ ปัตตานีอย่างเรา สำหรับเซนเอง เขาก็ยังตอบกลับไปกลับมา ว่าจะกลับมาอีกครั้งหรือไม่ แต่ที่แน่ ๆ ประสบการณ์ การเล่าของเซน ทำให้ซาช่ารอคอยเพื่อให้ถึงคิวของเขาในปีถัดไป เป้าหมายที่จะให้ลูกได้สัมผัสธรรมชาติอย่างที่มันเป็น เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของป่าใหญ่ ได้บรรลุแล้ว แต่ยังได้ของแถมเป็นการใช้เวลาร่วมกันสองต่อสอง ของพ่อกับลูก ผมมั่นใจว่าคุณค่าของ 5 วัน 4 คืนที่ผ่านมานั้น จะถูกฝังอยู่ในความทรงจำของเขา ภาพป่าดิบ ๆ การเดินฝ่าป่าเมฆ ข้ามสายน้ำเชี่ยว เพื่อนที่ตกหน้าผา วิวอันงดงาม ความเหนื่อย ความหนาว และเราสองคนในเตนท์เล็ก ๆ พื้นแข็ง ๆ อากาศหนาว ๆ สำหรับผมเอง ก็เช่นกัน

ให้ความเห็น