ผมมีโอกาสได้ปั่นจักรยานทางไกลแบบดูแลตนเองมาทั้งหมด 4 ครั้ง เป็นแบบที่มีเจตนาที่จะต้องไปให้ถึงเท่านั้น บนข้อจำกัดที่ต้องช่วยเหลือตนเอง ทั้งการดูแลจักรยานและการขนอุปกรณ์หรือเสบียง หรือพูดแบบเข้าใจง่ายๆ คือไร้ผู้ติดตาม แม้ว่าในความเป็นจริงจะมีผู้คอยตามติดในเหตุการณ์ตลอดทั้ง 3 ใน 4 ครั้งที่จัด แต่เป้าหมายเป็นเพียง มาคอยถ่ายรูปและพบปะพูดคุยตามจุดแวะพักต่างๆ ในหลายครั้งก็มีเพื่อนร่วมเส้นทางจำนวนมาก ตั้งแต่ 200, 500 ไปจนร่วม 2000 คน เพื่อนร่วมทีมปั่นเคียงข้าง หรือบางครั้งฉายคนเดียวแบบไม่เกรงกลัวโชคชะตา จนวันนี้ผมคิดว่าผมได้เข้าใจความรู้สึกบางอย่างของการปั่นจักรยานแรลลี่ทางไกลในลักษณะเช่นนี้ น่าจะสามารถถ่ายทอดให้ใครที่อาจจะสนใจได้มาลองกันบ้าง เพราะมันไม่ใช่กิจกรรมทัวริ่งที่ผมเคยเข้าใจ เหมือนครั้งแรกที่ผมประกาศกับเพื่อน ๆ ก่อนปั่น กรุงเทพ – หัวหินเอาไว้ นั่นคือ ผมไม่ปั่นทัวร์ริ่งไปหัวหินนะ และมันก็ไม่ใช่จริง ๆ มาติดตามกันครับ ว่าการปั่น 6+ ชม. โดยไม่มีความช่วยเหลือข้างทาง ถ้าไม่ใช่ทัวร์ริ่ง มันจะเป็นอย่างไร
การปั่นทางไกลครั้งแรกของผมเริ่มด้วยระยะทางประมาณ 180-190 กม. กรุงเทพ-หัวหิน ที่เป็นรายการปั่นประเพณี เราไปเป็นทีม แต่ออกตัวหลังสุดในบรรดานักปั่นร่วมเส้นทางกว่าสองพันคนในวันนั้น เราจึงไม่ได้สัมผัสความรู้สึกของการปั่นเป็นขบวน แต่ได้สัมผัสความรู้สึกของการปั่นแรลลี่ทางไกลเป็นครั้งแรก สมาชิกใหม่ๆ ของทีมก็ไม่ต้องกังวลมากเพราะพี่ๆ อาวุโสสามารถดูแลกรณีฉุกเฉินต่างๆ รวมไปถึงเพื่อนร่วมทางที่มาถ่ายรูปก็ยังสามารถดูแล หากร่างกายไม่ยอมต่อสู้กับเส้นทางอันยาวไกล ผมเขียนบันทึกเหตุการณ์ไว้แล้วจึงคงไม่ทำซ้ำที่ตรงนี้ แต่นั่นเป็นการเปิดโลกของการปั่นทางไกลของผม เราไม่ได้พักมากมายนัก เท่าที่จำเป็นตามความเรียกร้อง และสภาพร่างกายของเพื่อน ๆ ในกลุ่ม มีเหตุการณ์เปลี่ยนยางหนึ่งครั้ง มีเพื่อนที่ไปไม่ถึงจุดหมาย 2 คน พอที่จะทำให้ผู้ที่ปั่นสำเร็จได้รู้สึกถึงความสมหวังตั้งใจ
กิจกรรมที่สร้างประสบการณ์ให้ผมเป็นอย่างมาก จนผม มั่นใจที่จะมาถ่ายทอดเรื่องราวของการปั่นจักรยานทางไกลไร้ผู้ติดตามไว้ตรงนี้แม้ว่าทั้งชีวิตการปั่นของผมนั้นผมลองทำมาเพียง 4 ครั้งเท่านั้น กิจกรรมนั้นเรียกว่า Brevets de Randonneurs Mondiaux (BRM) ซึ่งเป็นลิขสิทธิ์ของ Audax Club Parisien ที่ถูกจัดขึ้นในเมืองไทยปีนี้เป็นปีแรก ว่ากันว่าเมื่อผ่านกิจกรรมของกลุ่มนี้จะสามารถใช้สิทธิ์ที่จะเข้าร่วมกิจกรรมในลักษณะเดียวกันนี้ในสถานที่ต่าง ๆ ทั่วโลกได้ ประสบการณ์ BRM200 อยุธยา และ BRM300 เขาใหญ่ เป็นการปั่นระยะทาง 200 และ 300 กม. ตามลำดับ โดยปั่นเป็นวงเริ่มต้นและสิ้นสุด ณ จุดเดียวกัน ทำให้ผมมั่นใจว่าผมเล่าอะไรที่น่าจะมีประโยชน์สู่กันฟังได้ BRM นั้นกำหนดให้ไม่มีป้ายบอกทางแต่มีแผนที่และคำอธิบายเส้นทางไว้ให้ มีจุดกำหนดที่จะต้องเข้าเพื่อลงเวลาในระยะเวลาที่กำหนด ไม่อนุญาติให้มีการช่วยเหลือริมทาง รถติดตาม หรือขนสิ่งของใดๆ แต่นัดพบกันที่จุด checkpoint ไม่ว่ากัน ผมเข้าร่วมกิจกรรมนี้เพื่อเป็นการซ้อมปั่นทางไกลสำหรับการแข่งขันไอรอนแมนของผม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการซ้อมเรื่องการกินอาหาร แต่ดูเหมือนว่ามันให้อะไรผมมากกว่าที่ผมวางแผนไว้เป็นอย่างมาก
BRM200 อยุธยา ออกตัวจากหลักสี่ ไปวนตัวเมืองอยุธยาแล้วปั่นกลับ รวมระยะทาง 200 กม. ในทีม Very Forty มีสมาชิกร่วมปั่น 4 คน ผู้จัดการทีมถอนตัววินาทีสุดท้ายเนื่องจากอาการบาดเจ็บยังไม่หายดี อีกทั้งผ่านประสบการณ์นี้มาแล้วครั้งหนึ่ง พี่ป๊อบแยกตัวไปปั่นกับเพื่อนๆ เหลือผม อำนวยและหมอจอนออกตัวไปด้วยกัน การเดินทางเริ่มต้นเวลา 7 โมงเช้า ด้วยความอ่อนประสบการณ์ผมเร่งปั่นตามกลุ่มทุกครั้งที่มีโอกาส เนื่องจากติดนิสัยการแข่ง Road race เราทำเวลาและความเร็วได้ค่อนข้างสูง แต่ไปได้ไม่นานนักหมอจอนเริ่มออกอาการ จนเราจำเป็นต้องเข้าพักในศาลาข้างทาง ระหว่างการพักสั้น ๆ ของเราก็ยังมีกลุ่มอื่น ๆ มาอาศัยศาลาเดียวกันกับเราเพื่อพักผ่อน จึงคาดว่าความเร็วที่ทำกับระยะทางที่คงเหลือ มันน่าจะไม่ค่อยเข้ากันเท่าไรนัก เราจึงปรับกลยุทธแล้วปั่นเรื่อยๆไปกันสามคน เส้นทางไม่มีอะไรตื่นเต้นมากนัก ราบเรียบแต่อากาศค่อนข้างร้อน สองข้างทางเป็นทุ่งนาเสียส่วนใหญ่ ถนนส่วนใหญ่ที่ทางผู้จัดเลือกเป็นถนนสายรอง มีรถใหญ่ไม่มากนัก บรรยากาศการปั่นไม่ค่อยเครียด อย่างไรก็ตามอาหารและน้ำที่เตรียมให้ตามจุดแวะพักต่างๆ มีไม่ค่อยเพียงพอสำหรับความเร็วของกลุ่มเรา เราเข้าพักครึ่งทางที่ อบต. ผักไห่ พร้อมอาหารเที่ยงเบาๆ ผมยางแตกมาแล้วหนึ่งครั้งก่อนถึงจุดนี้ ซึ่งไม่ได้สร้างความตื่นเต้นอะไรมากนัก แต่การเปลี่ยนยางข้างถนน กลางแดดเปรี้ยงๆ ก็ไม่น่ารื่นรมย์นัก เราพักทานอาหารและลดความร้อนจากแดดแผดเผาอย่างไม่เกรงใจ เมื่อเต็มอิ่มกันแล้วก็เริ่มการเดินทางอีกครั้ง แต่แล้วการเปลี่ยนยางอีกครั้งเกิดขึ้นที่เชคพอยท์นี้นี่เอง เนื่องจากยางในเส้นที่เปลี่ยนนั้นมีตำหนิจากการปะคราวก่อนหน้านั้น เราเลี้ยวกลับเข้ามาเปลี่ยนยางในอาคาร ซึ่งทำให้ผมรู้สึกยินดีว่าเราไม่ต้องไปทำกิจกรรมนี้ ข้างถนนอันร้อนระอุ
สุดท้ายเราทั้งสามค่อยๆออกตัวไปอย่างไม่รีบร้อน เพราะอากาศมันร้อนเหลือสุดจะทน เชคพอยท์ถัดไปอยู่ตัวเมืองอยุธยาไม่ไกลมากนัก แต่อากาศที่ร้อนและสภาพปั่นเมืองทำให้เราไม่มีความสุขมากเท่าไรนัก แต่เชคพอยท์ที่ต้อนรับโดยทีมตำรวจจักรยานที่เต็มร้อย ทั้งน้ำเย็น เกลือแร่ ผลไม้ อาหาร ไปจนถึงบริการซ่อมบำรุงจักรยาน ทำให้การพักผ่อนครั้งนี้เต็มอิ่ม น่าเสียดายว่าหมอจอนตัดสินใจยุติการปั่นของวันที่ตรงนี้ นี่เป็นข้อเสียที่สำคัญของการมีผู้จัดการทีมติดตามมาถ่ายรูป การตัดสินใจยอมแพ้นั้น มันอยู่ใกล้แค่เอ่ยปาก จากจุดนั้นจะเหลือผมและอำนวยออกตัวกันต่อไปเพียงสองคน เส้นทางปั่นกลับน่าเบื่อจนผมแทบจำอะไรไม่ได้ เรามาเบรคสุดท้ายที่วัดแห่งหนึ่ง ดวงอาทิตย์เริ่มคล้อยต่ำ เราพักทานของว่างเล็กน้อย ก่อนที่จะออกตัวกันออกไปอีกครั้ง ผมได้ใช้ไฟกระพริบหน้าหลังเพื่อให้เพื่อนร่วมถนนสังเกตุได้ง่ายขึ้น ช่วงสุดท้ายผมกับอำนวยไม่ค่อยได้คุยกันมากนัก เราปั่นผ่านเพื่อนนักปั่นเป็นระยะ ๆ จำได้แต่เพียงว่าผมใช้เวลายี่สิบกิโลเมตรสุดท้ายอย่างค่อนข้างจะเหน็ดเหนื่อย ทำความเร็วได้เพียงยี่สิบต้นๆ เข้าเส้นที่เวลาประมาณหนึ่งทุ่ม สายตาผมเริ่มใช้การไม่ได้ที่ระดับแสงที่จำกัดเช่นนี้พอดี 12 ชม. เต็มพลังงานสะสมผมหมดเกลี้ยง ผมได้เรียนรู้ถึงขอบเขตจำกัดของร่างกายและปริมาณอาหารจากกิจกรรมวันนี้ ผมลืมไปเลยว่าผมเพิ่งรับยาอินเตอร์ฟิวรอนที่ทำให้ผมปวดกระดูกสองวันก่อนหน้า ผมมั่นใจแล้วว่าแม้จะไม่เต็มร้อยแต่ยาก็หยุดผมไม่ได้ และได้เรียนรู้ว่าผมต้องเพิ่มปริมาณอาหารมากกว่านี้ถ้าต้องแข่งไอรอนแมน
BRm300 เขาใหญ่ ท้าทายผมมากกว่าเดิม ระดับฮีโมโกลบิน และเม็ดเลือดขาวผมลดลงจากยา ระยะสองร้อยกิโลเมตรคือสุดขอบของความสามารถในการสะสมและกินเพิ่มของผม ผมไม่มั่นใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นที่ร้อยกิโลเมตรสุดท้าย อีกทั้งเส้นทางภูเขาที่หฤโหดได้ถูกบันทึกไว้โดยผู้สำรวจเส้นทาง ทีม Very Forty มีสมาชิคมาร่วมปั่น 5 คนแต่แบ่งกันปั่นเป็นสามกลุ่ม ผมปั่นคู่กับอำนวยเช่นเคย แจ๊คตัดสินใจอดหลับอดนอนมาขับรถเก็บภาพให้เรา เราต้องเดินทางออกจากกรุงเทพด้วยรถยนต์เพื่อมานอนค้างใกล้ ๆ จุดเริ่มต้น การเดินทางเริ่มต้นขึ้นตีห้าบริเวณกบินบุรีย์ขึ้นเขาปักธงชัยวนไปเขาใหญ่แล้วกลับมาเป็นวงระยะทาง 300 กม. เขาแรกและอาจจะเรียกว่าเขาเดียวของเส้นทางนี้ ไม่ชันนักแต่ยาวนานถึง 6-7 กม. ซึ่งไม่ง่ายนักสำหรับคนตัวใหญ่ ผมเห็นคนเริ่มลงเข็นตั้งแต่กิโลแรก ไม่คิดว่าจะสามารถเข้าทันในเชคพอยท์แรก 60 กม. ความเร็วเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 15 กม/ชม โดยไม่สนใจว่าจะทุรกันดารอย่างไร และคิดว่าจะเป็นเช่นนั้นจริงๆ เราทั้งสองคนไม่ได้ปั่นเร็วนัก แต่ทิ้งนักปั่นจำนวนมากบนเชิงเขา แม้ว่าเราจะไม่ได้พักนานนัก เวลาที่เหลือในจุดพักนั้นมีเหลือเพียง 1 ชั่วโมง เป็นไปได้ว่านักปั่นจำนวนมากสอบตกตั้งแต่ check point ที่ 1
เชคพอยท์ที่สองระยะทาง 120 กม. เราปั่นผ่านเขาแผงม้า ข้ามเส้นทางในหุบเขาสวยงาม เส้นทางขึ้นลงตลอดทั้ง 60 กม. เงียบสงบ ผมคิดว่าถ้าปั่นอีกครั้งเส้นทางนี้น่ากลับมาท่องเที่ยว ในตอนนั้นอากาศเริ่มร้อนขึ้น ผมเริ่มกังวลว่าเส้นทางผ่านขุนเขาเช่นนี้น่าจะกินพลังงานผมไปมากกว่าปกติ ผมพยายามกินเจลชั่วโมงละซอง ร่วมกับอาหารประเภทอื่น เช่น กล้วย ขนมปัง หรือข้าวต้มมัดที่มีแจกให้ รวมไปถึงแกเตอเรดชั่วโมงละขวด เราเข้ามาถึงจุดเชคพอยท์หน้าด่านเก็บเงินอุทยานที่ปากช่อง ผมเริ่มพบว่าผมเริ่มไม่ค่อยยอมรับอาหารเข้าไปมากนักแล้ว ผมพยายามเปลี่ยนจากขนมปังที่ผมพกมาด้วยไปเป็นกล้วยที่แจก ข้าวต้มมัดไม่มีเหลืออีกแล้ว จำนวนกล้วยเริ่มมากขึ้นในกระเพาะของผม ผมรู้ว่าท้องผมรับได้จำนวนหนึ่งเท่านั้นก่อนที่จะไม่สามารถย่อยได้ เราพักกันไม่นานนักก่อนที่จะปั่นลงไปทางมวกเหล็ก อำนวยบอกไว้ว่าจากจุดนี้จะเป็นเส้นทางลงของเพียงอย่างเดียวแล้ว อย่างไรก็ตามเส้นทางไม่ได้เป็นทางลงอย่างที่คิด หลังจากเลี้ยวซ้ายเข้าเส้นในไปมวกเหล็กทางแดรีโฮม เราก็ต้องพบกับ เขาแล้ว เขาเล่า ผมเริ่มจะไม่สนุกกับมันมากนัก เนินเล็กๆ เริ่มกลายเป็นเขาสำหรับผม เมื่อเส้นทางวกเข้าทางหลวง ความสนุกของวันก็หมดไป ความเครียดของการแชร์เส้นทางกับรถบรรทุก 18 ล้อ บนเนินซึม ๆ ยาว ๆ ฝุ่นและอากาศที่ร้อน ทำให้อะไรๆมันดูเลวร้ายไปหมด เมื่อมาถึงจุดพัก ผมไม่สามารถใส่อาหารลงกระเพาะได้อีกแล้วไม่ว่าจะพยายามอย่างไร ผมพยายามใส่กล้วยลงไปเพิ่ม เราออกเดินทางกันต่อจนกระทั่งถึงจุดพักที่ระยะ 200 กม. หน้าร้านสะดวกซื้อ 7-11 เป็นหยดสุดท้ายของผม เริ่มทานอะไรไม่ได้มาพักหนึ่งแล้ว จิตใจผมไม่ยอมรับอาหารอื่น ๆ ใดอีกแล้ว แม้ว่าจะมีอาหารให้เลือกมากมายในร้านสะดวกซื้อแห่งนั้น ผมจึงเลือกที่จะกินน้ำอัดลมเผื่อว่าจะช่วยให้กระตุ้นความอยากอาหาร เวลานั้นขาทั้งสองข้างเริ่มล้า เริ่มไม่อยากลุกเดินไปไหนมาไหน มันเป็นปลายทางของจิตใจ ผมต้องหมดแรงที่ตรงนี้ เหมือนอย่างครั้งที่ผ่านมา
เราออกตัวกันอีกครั้งตามที่วางแผนกันไว้ว่าจะพักคราวละไม่เกิน 30 นาที ผมต้องเริ่มกัดฟันในขณะที่อำนวยเริ่มเร่งความเร็วเมื่อเราปั่นร่วมทางกับสิบล้อ จากความคุ้นเคยในการปั่นซ้อมในกรุงเทพ และจากอาหารอันอุดมสมบูรณ์ที่พักเบรคที่เพิ่งผ่านมา สำหรับผมพลังงานใกล้จะหมด หัวใจเริ่มระเบิดเป็นเสี่ยง ๆ ผมตามไปได้เพียงยี่สิบกิโล อาการก็เริ่มออก มันคืออาการ Bonk หรือหมดพลังงาน การตัดสินใจการเคลื่อนไหวของร่างกายช้าลง ผมจำเป็นต้องขอเข้าข้างทาง พักและพยายามหาอะไรกิน แจ๊คและอำนวยพยายามบังคับให้ผมกินอะไรแต่ตอนนั้นมันแน่นไปหมด แจ๊คสั่งนมเย็นให้ผมทานด้วยความคิดว่าน้ำตาลอาจจะช่วยให้ฟื้นได้เร็วขึ้น ในขณะที่พยายามเสนออาหารหนักให้ผม ผมกินโจ๊คไปหนึ่งกล่องและนมได้เล็กน้อย แต่ต้องการนอนพัก อำนวยดูท่าผิดหวังเล็กน้อยเพราะแรงกำลังมาและเรากำลังทำเวลาได้ดีกว่า BRM 200 อยู่กว่าหนึ่งชั่วโมง ถ้าไม่น่าเกลียดเราน่าจะสามารถจบวันนี้ภายในเวลา 16 ชั่วโมงได้ เราพักหนึ่งชั่วโมง อำนวยยังดูมีความหวังว่าเวลาที่เสียไปน่าจะไม่เกินไปจากนี้ 17 ชั่วโมงก็เป็นตัวเลขที่ไม่น่าอายเท่าไร เราออกตัวเพื่อปั่นไปยังจุดเชคพอยท์สุดท้ายที่ห่างออกไปเพียง 20 km ผมสามารถขุดเอาพลังงานออกมาปั่นไปได้เรื่อย ๆ อย่างช้า ๆ มีอำนวยคอยควบคุมความเร็วไว้ให้ จนสุดท้ายเรามาถึงจุดพักที่เป็นปั้มน้ำมัน เป็นจุดที่ทีมเราทุก ๆ คนเข้ามาพักเพื่อทานอาหารเย็น ผมสามารถกินมาม่าได้หนึ่งกล่องและนมอีกกล่อง เราใช้เวลานั่งพักนานพอสมควร ผมบ่นถึงความโหดร้ายของรายการที่เลิกไม่ได้ เพราะถ้าเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในรายการไอรอนแมน ผมของได้เข้าพักในเต้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อำนวยจึงวางแผนให้ค่อยๆไปคราวละยี่สิบกิโล ผมต้องปั่นพักกินและปั่นเช่นนั้นอีกร่วม 7 ชั่วโมง สำหรับระยะเพียง 60 km ที่ยังเหลือ ทุก ๆ จุดแวะพัก อำนวยจะเอาอาหารหรือขนมมาเสนอเชิงบังคับให้ผมกิน สงสัยกลัวว่าจะไม่สำเร็จตามเป้าที่ตั้งไว้ ผมพยายามกินตามที่เสนอแม้ว่าความรู้สึกขณะนั้นคือทุกสิ่งทุกอย่างมันล้นมาอยู่ที่ลำคอของผมแล้ว พักสุดท้ายที่หน้าปั้ม เราจัดกาแฟกันคนละแก้ว เหลือเวลาอีกเพียงสองชั่วโมง อำนวยวางแผนให้พักเกือบ ๆ ชั่วโมง เพื่อจะเหลือเวลาไว้ 1 ชั่วโมงในการปั่น 18 km สุดท้าย ในที่สุดการปั่นสุดท้ายของคืนก็เริ่มขึ้นที่ประมาณเที่ยงคืน อำนวยออกนำเช่นเคย ก่อนผมจะค่อยๆ ลากสังขารตามก้นมาเข้าเส้นได้ที่เวลาประมาณเที่ยงคืนสี่สิบนาที รวมใช้เวลาไป 19:40 ชม. ผมพะอืดพะอมตลอดยี่สิบกิโลเมตรสุดท้ายจนลากตัวเองไปอาเจียนในที่พัก อาบน้ำแล้วหลับยาวจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอะไรไม่ค่อยได้
อย่างไรก็ตาม การปั่นทางไกลแบบไร้ผู้ติดตามจริงๆ นั้นเกิดขึ้นก่อนหน้านั้น หลายเดือน เมื่อผมต้องการซ้อมระยะทาง 180 กม. เพื่อทดสอบร่างกาย ด้วยการปั่นจากบ้านที่สะพานสาธรไปยังบ้านภรรยาที่บางระจัน สิงห์บุรี วันนั้นผมออกเดินทางตีห้าครึ่งด้วยแผนที่ที่เตรียมขึ้นเองจากเวป www.ridewithgps.com เป็นการเดินทางที่ตื่นเต้นเป็นที่สุด ความมั่นใจในแผนที่มีเพียง 60% เนื่องจากเป็นเส้นทางที่ผมไม่เคยสัมผัสเลย ไม่รู้สภาพถนน ไม่รู้สภาพรถ ไม่มั่นใจว่าแผนที่จากเวปต่างประเทศนั้นมีความแม่นยำเพียงใด แผนสำรองมีเพียงยางในหนึ่งเส้น แผ่นปะยางสามแผ่น โทรศัพย์และเงินสามร้อยบาท ผมพลาดไม่ได้โดยเด็ดขาด ภรรยาและลูก ๆ เดินทางล่วงหน้าไปรอก่อน อย่างไรก็ตามภรรยาไม่มีรถที่จะสามารถมาช่วยเหลือได้ถ้าเกิดอะไรขึ้น ผมออกเดินทางเช้าที่สุดที่จะทำได้ เวลาประมาณ 5:30 น. ฟ้าเริ่มสาง เดินทางบนเส้นสาธรตัดใหม่ได้เริ่มต้นขึ้น ช่วงการปั่นออกจากกรุงเทพนั้น ไม่ค่อยน่ารื่นรมย์มากเท่าไร เส้นทางเป็นไฮเวย์ขนาดใหญ่ที่รถวิ่งกันเร็วมาก ๆ สะพานข้ามแยกไม่มีพื้นที่สำหรับจักรยานในการปั่น ขอบทางที่ใช้ในการปั่นก็เต็มไปด้วยเศษกระจก จนในที่สุดผมก็ยางแตกที่ระยะทางเพียง 40km แดดยังไม่ร้อน แต่ผมเริ่มรู้สึกว่าการเดินทางวันนี้คงจะยาวไกลพอสมควร มาถึงจุดเบรคแรกที่วางแผนไว้ ระยะทาง 60 กม. เริ่มออกนอกเมืองมาแล้ว ผมใช้เวลาเพื่อปะยาง และเติมแกเตอเรด หลังจากนั้นการเดินทางเป็นไปอย่างเรียบง่าย อากาศร้อนในวันสงกรานต์ ไม่มีใครกล้าราดน้ำจักรยานอย่างผม ทั้ง ๆ ที่ขณะนั้นผมต้องการระบายความร้อนเป็นอย่างมาก ผมเข้าพักอีกครั้งก่อนที่จะเข้าเส้นทางหลวงชนบท เงินผมมีไม่พอสำหรับอาหารเที่ยง ผมเพียงซื้อน้ำขวดสองลิตรและเฉาก้วยทานหนึ่งถ้วย แต่นั่นก็เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ผมกินได้ตามแผนและไปถึงบ้านภรรยาบ่ายสองโมง ช้ากว่าที่วางแผนไว้หนึ่งชั่วโมง เส้นทางเรียบง่ายไม่มีอะไรน่าจดจำแต่ตื่นเต้นที่สุดเพราะงานนี้พลาดไม่ได้จริง ๆ ไม่มีแผนสำรอง
การปั่นจักรยานทางไกลในรูปแบบนี้เปิดประตูบานใหม่ให้กับผม การเดินทางด้วยสองขาบนระยะทางยาวไกลแม้ขับรถยังปวดหลัง ผมเริ่มฝันที่จะบดยางเส้นน้อยๆลงบนถนนเส้นสวยๆทั่วไทย หรือแม้กระทั่งในต่างประเทศ ความรู้สึกที่แตกต่างจากการทัวร์ริ่งอย่างบอกไม่ถูก เราไม่ได้ใช้จักรยานเพื่อออกมาท่องเที่ยว ถ่ายรูป โพส FB IG อย่างที่คนอื่น ๆ เขาทำ แต่เป็นการใช้เพื่อการเดินทางอย่างแท้จริง การเดินทางที่ช้าเพียงพอที่จะสัมผัสความสวยงามรอบ ๆ ด้าน ใกล้ชิดเพียงพอที่จะรู้ซึ้งถึงหุบ เนิน โค้งเว้าของเส้นทาง เปลือยพอที่จะรู้สึกถึงบรรยากาศ ความชื้น และอุณหภูมิรอบตัว แสงแดดแผดเผา สายฝนที่โปรยปราย เพื่อนร่วมทางเล็กใหญ่ รู้สึกและสัมผัสได้ทุกรูขุมขน ในขณะเดียวกันยังรวดเร็วเพียงพอที่จะเห็นมันเป็นการเดินทาง ถ่ายรูป FB IG ยังพอทำได้ แต่ไม่มากนักถ้าไม่มีผู้จัดการตามมาบันทึกเหตุการณ์ไว้ให้ ผมจึงขอแนะนำการเดินทางเช่นนี้ให้กับนักปั่นทุก ๆ คนครับ รับรองว่าคุณจะอยากมีจักรยานติดตัวคุณไปทุกที่นับจากวันที่คุณได้สัมผัสเป็นครั้งแรก
ขอแสดงความยินดีด้วยคับ ผมก็ปั่น Audax 200 (เสือบหมอบล้อ 24″) และ Audax 300 (ทัวริ่ง) สำเร็จมาแล้วเช่นกัน
ยินดีครับ หวังว่าคราวหน้าจะได้เจอกัน