กิจกรรมเขาใหญ่ทรมานบันเทิงเกิดขึ้นด้วยความบังเอิญ ด้วยความที่ทีม Very Forty ของเรามีสมาชิกเข้าร่วมการแข่งขัน The North Face 100 กันหลายคนและมี 4 คนในนั้น อาจหาญที่จะทดสอบจิตใจที่ระยะทาง 50K ขึ้นเขาลงห้วยในผืนป่าเขาใหญ่ อำนวยซึ่งเป็นสมาชิกรุ่นบุกเบิกของทีมไม่สามารถร่วมวิ่งวิบากได้เพราะปัญหาส่วนตัว ที่เจ้าตัวบอกว่าเป็นคนซุ่มซ่าม แค่วิ่งขึ้นลงฟุตบาทก็หัวทิ่มหัวคะมำจนไม่คิดว่าจะสามารถวิ่งขึ้นเขาลูกไหน ๆ ได้ ผมรู้สึกเสียดายที่หลาย ๆ คนได้เข้าร่วมสนุกในรายการนี้แต่ขาดอำนวย จึงได้เอ่ยปากชวนอำนวยให้มาปั่นข้ามเขาใหญ่ด้วยกันในฐานะที่เป็นคนเดียวในทีมที่ได้มาทดสอบเส้นทางก่อนหน้านี้มาแล้ว อย่างไรก็ตามทั้งหมดทั้งสิ้นนี้ล้วนแล้วแต่เป็นความบังเอิญ ผมเจอกับอำนวยในการแข่งขันครั้งสุดท้ายที่ ลากูน่า ภูเก็ต ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เคยคิดว่าจะไปปั่นจักรยานที่หัวหิน แต่คุยไปคุยมาเราคิดว่าการปั่นงานหัวหินน่าจะสนุกสนานตามประสาทีมของเรา ซึ่งก็ไม่ผิดหวัง ระหว่างปั่นหัวหินเราก็ได้คุยกันว่างานต่อไปน่าจะเป็นอะไร การปั่นที่เขาใหญ่ก็เป็นกิจกรรมที่น่าสนใจ ผมจึงทิ้งจักรยานไว้กับอำนวยตั้งแต่งานหัวหิน แล้วนัดกันแบบหลวม ๆ ว่าเราจะไปปั่นกันที่เขาใหญ่ในช่วงที่ผมจะไปแข่ง TNF100 ที่นั่น
ก่อนวันแข่งขันสักพักเราก็เริ่มชักชวนเพื่อนสมาชิก แต่ผลการตอบรับไม่ค่อยดีเท่าไรนัก อย่างไรก็ตามก็เพียงพอให้ผมและอำนวยในฐานะตัวตั้งตัวตีของความคิดนี้ ไม่กล้าที่จะเลิกล้มความตั้งใจ เรามีสมาชิกเข้าร่วมในรายการวันแรก TNF100 ทั้งหมด 5 คน เพชรทดสอบสนามครั้งแรกที่ระยะ 25K ผม ดร.ตุ๊ โด่ง และหมอนก ขอลอง 50K เป็นครั้งแรก ในงานวันปั่นมีอำนวยเป็นตัวยืน เขาจะขนจักรยานมาให้ผมจากกรุงเทพ ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้รถอำนวยเพิ่งเสียอย่างหนักจนต้องขายทิ้ง และในวันที่ปั่นนี้เขาต้องเช่ารถขับมาเพียงเพื่อปั่นกับพวกเรา ส่วนตุ๊นั้นถ้าเขาปลีกเวลามาได้แล้ว รายการแบบนี้เขาไม่เคยพลาด แม้ว่าตุ๊มีเพียงรถ TT คันเดียว ใช้ clipless pedal ไม่เป็น และเปลี่ยนเกียร์ยังไม่ค่อยเป็น ตอนที่เราประกาศชวนครั้งแรกตุ๊ตอบตกลงอย่างไม่ลังเล ผมพยายามหลอกล่อสมาชิกที่ต้องมาวิ่ง TNF100 ให้เข้าร่วมการปั่นด้วยกันแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ดูเหมือนว่าการปั่นขึ้นเขาใหญ่จะไม่ใช่ความคิดที่ดูสนุกมากนักในสายตาของคนที่ยังไม่ถึงจุดที่เรียกว่า “บ้า” สมาชิกของทีมท่านอื่น ๆ ก็ตอบว่าจะมาร่วมกันปั่นอีกสองสามคน แต่มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแผนการในวินาทีสุดท้าย ซึ่งเมื่อถึงวันจริง ๆ แล้วต้องยอมรับว่าผมเองก็รู้สึกใจหาย เหงา ๆ อยู่เช่นกัน เพราะท้ายที่สุดแล้วจะมีเพียงผม อำนวย และตุ๊ที่อาจจะทรมานจาก TNF100 จนเปลี่ยนใจก็เป็นได้
ผมบันทึกเชาใหญ่ทรมานบันเทิงวันแรกเอาไว้ตรงนี้
หลังจากที่ผมได้คำนิยามของ TNF100 ที่ผ่านมาว่า “ทรมาน” แล้ว ความคิดที่จะปั่นในวันรุ่งขึ้นต้องมีตรรกะอื่นเข้ามารองรับ มิเช่นนั้น มองจากมุมภายนอกหลาย ๆ คนคงคิดว่าพวกเราเสียสติ และนี่เป็นที่มาของคำว่า “ทรมานบันเทิง” ชื่องานจึงเป็นเช่นนี้ และเป็นชื่อที่เกิดขึ้นภายหลัง ดังนั้นในปีแรกนี้เรามีสมาชิกเข้าร่วมทั้งหมด 6 คน โดยมี 2 คน ผมและตุ๊ที่ทำครบทั้งสองวัน คงต้องมาดูกันต่อไปว่าจะมีกิจกรรมนี้ต่อเนื่องในปีต่อ ๆ ไปหรือไม่ มีสมาชิกเข้าร่วมเพิ่มขึ้นหรือลดลง และจะมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดกิจกรรมบ้างหรือไม่อย่างไร
110K Khao Yai : The Ride to Conquer : ปั่นพิชิตเขาใหญ่
เพื่อที่จะสร้างความยิ่งใหญ่ของวันที่สอง ผมต้องตั้งชื่อกิจกรรมเอาไว้ก่อน เพื่ออ้างอิงในปีหน้า ผมยังมีความรู้สึกว่าเรายังต้องปรับเปลี่ยนเนื้อหากิจกรรมวันที่สองนี้อีกเล็กน้อย แต่อย่างไรก็ตามสำหรับปีแรกนี้ ความรู้สึกที่ได้นั้นทำให้มีความมั่นใจว่าปีที่สองน่าจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน และแม้ว่าผมจะค่อนข้างมั่นใจว่า trail running น่าจะไม่เหมาะกับคนอย่างผม (เช่นเดียวกันกับอำนวย) ผมอาจจะยอมมาเดิน TNF100 ในปีหน้าเพียงเพื่อทำกิจกรรมที่เรียกว่า “เขาใหญ่ทรมานบันเทิง” เป็นปีที่สองให้ได้
หลังจากผ่านวันแรกไปได้ ผมเองไม่ได้เหนื่อยหรืออ่อนล้าเหมือนกับประสบการณ์ผ่านการวิ่งมาราธอนครั้งแรกของผม หลังจาก ชุดนวดชั้นดีของผู้จัด TNF100 hot bath ที่โรงแรม และเล่นน้ำสนุก ๆ กับลูก ๆ พร้อมกับจัดอาหารเย็นชุดใหญ่แล้ว ผมก็รู้สึกสบายตัวขึ้นมาก แน่นอนว่าผมวิ่งไม่ได้เพราะหลังเจ็บมาก แต่เดิน ก้มนิด ๆ หน่อย ๆ ไม่ใช่ปัญหา ผมนอนหลับอย่างไม่กังวล และตื่นเช้าในเวลาประมาณตีห้าอย่างสดชื่น ผมทานขนมปังเล็กน้อยเพื่อให้มีเวลาย่อย เพราะเราวางแผนจะเริ่มปั่น 7:30 ผมรอห้องอาหารของโรงแรมเปิดเวลา 6:00 เพื่อไปทานข้าวต้มเบา ๆ รองท้อง อำนวยซึ่งบ่นว่านอนไม่หลับได้ออกมาจากกรุงเทพฯ มานานแล้วและมาถึงในพื้นที่ปากช่อง แต่หลบนอนข้างทางรอเวลาอยู่ก่อนหน้าแล้ว ผมจึงบอกให้อำนวยเข้ามาจัดของบริเวณลานจอดรถของโรงแรมซึ่งเป็นจุดนัดพบ ก่อนที่ผมจะตามไปสมทบเมื่อทานข้าวเช้าเรียบร้อย เราตระเตรียมจักรยาน แต่งเนื้อแต่งตัวรอการปรากฏตัวของตุ๊ เมื่อเขามาถึงเราจึงตรวจสอบอุปกรณ์อีกครั้ง ก่อนที่จะถ่ายรูปร่วมกัน กิจกรรมถ่ายรูปซึ่งสำคัญมาก ทำให้เราพลาดแผนไปประมาณหนึ่งชั่วโมง เวลา 8:30 โดยประมาณเราจึงค่อย ๆ เริ่มออกตัวปั่น 7 กม. เพื่อไปหน้าด่านฝั่งปากช่อง เราคาดกันว่าน่าจะใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมง และวันนี้น่าจะเสร็จสิ้นในช่วงอาหารกลางวัน
อำนวยผู้ชำนาญในพื้นที่มากที่สุด เป็นคนบรีฟเส้นทาง เรารู้กันว่าในช่วงแรกจากหน้าด่าน เราต้องปั่นขึ้นเขาเรื่อย ๆ ขึ้นไประยะทางประมาณ 6-8 กม. โดยจะมีช่วง 1 กม. สุดท้ายที่จะชันและยาวแบบไม่มีจุดพัก อาจจะเป็นจุดเดียวที่ถ้าหากจะสอบตกคราวนี้ มันก็น่าจะเป็นจุดนี้นี่แหละ เป้าหมายของวันนี้ได้ถูกประกาศล่วงหน้าเอาไว้แล้ว นั่นคือ เวลาไม่สน เราเอาแค่ขาไม่แตะพื้นให้ได้เป็นพอ ผมไม่เคยมาปั่นที่นี่มาก่อน จึงวางแผนว่าจะอยู่ในโหมดประหยัดพลังงานตลอดเวลา ในช่วง 7 กม. แรกก่อนมาถึงหน้าด่านนั้นเป็นระยะทางที่ค่อนข้างเหมาะสม ปั่นเบา ๆ เหงื่อกำลังซึม ๆ เพราะเมื่อมาถึงหน้าด่านแล้ว ก็จะเป็นทางขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งผมเห็นว่าการวอร์มอัปเบื้องต้นน่าจะเป็นสิ่งจำเป็น เราคุยกันเรื่อยเปื่อย อำนวยพยายามสอนตุ๊เรื่องวิธีการเปลี่ยนเกียร์ ผมคิดในใจว่าหลังจากงานนี้ตุ๊น่าจะเข้าใจหลักการของเกียร์จักรยานมากขึ้นเพราะเส้นทางเป็นเขาแบบนี้จำเป็นต้องใช้เกียร์แทบครบทุกเกียร์
เมื่อถึงหน้าด่าน เราชำระค่าผ่านทาง แล้วก็นัดแนะถึงจุดนัดพบจุดแรกในกรณีที่มีการทิ้งระยะกัน งานนี้เรามาทำกิจกรรมร่วมกัน ถ้าจะทิ้งกันแบบตัวใครตัวมันก็คงไม่มีความจำเป็นต้องนัดกันมา ผมคิดเช่นนั้น จุดนัดพบจุดแรกคือจุดชมวิว ตามที่อำนวยวางแผนไว้ ซึ่งจะเป็นระยะทางประมาณ 7-8 km แรกที่ชันที่สุดของวันนี้ โหดที่สุดในวันนี้ และช่วงที่โหดสุดคือ 1 กม. สุดท้ายก่อนถึงจุดชมวิว ตามที่เรามีข้อมูล หลังจากนั้นเราก็เริ่มออกตัวไปพร้อม ๆ กัน ผมค่อย ๆ ปั่นขึ้นไปเรื่อย ๆ เริ่มเห็นเขาชันขึ้นและหักโค้ง ผมตะโกนถามอำนวยไปเรื่อย ๆ ตลอดทางว่านี่ใช่เขาหรือยัง มีชันกว่านี้อีกมั้ย ในหัวของผมวางแผนการใช้พลังงาน ในขณะที่ร่างกายพยายามรับเอาออกซิเจนเข้าให้มากที่สุด ผมพยายามรักษารอบขาเปลี่ยนเกียร์เบา ๆ อย่างรวดเร็ว ยังไม่พ้นเนินแรก ผมก็ตะโกนบอกอำนวยว่าเกียร์ของผมหมดแล้ว ซึ่งหมายถึงผมเปลี่ยนมาเป็นเกียร์สุดท้ายที่เบาที่สุดแล้ว วันที่เหลือต่อจากนี้ เป็นเรื่องของการประเมินความเร็ว การเลี้ยงขาและลมหายใจ ทำอย่างไรเพื่อไม่ให้ปริมาณกรดแลกติกในกล้ามเนื้อมีปริมาณมากจนไม่สามารถปั่นต่อไปได้และในที่สุดต้องลงมาเข็น การที่เกียร์ผมหมดตั้งแต่เนินแรกของวันมันก็กัดกินใจผมพอสมควร ในระยะทาง 100 กิโลเมตรกว่า ๆ ที่เหลือสภาพเราจะเป็นอย่างไร
ผมหันไปด้านหลังเพื่อสังเกตุอาการของตุ๊ซึ่งก็บ่นว่าเกียร์หมดแล้วเช่นกัน จริง ๆ แล้วผมค่อนข้างดีใจที่ตุ๊บ่นเช่นนั้น เนื่องจากรูปร่างของเขานั้น สังเกตุจากขนาดของต้นขา การปั่นเขาน่าจะเป็นจุดอ่อนของตุ๊ได้เลยทีเดียว ต้นขาขนาดมหึมาไม่ต่างจากสปรินเตอร์ หรือ นักปั่น track มีศักยภาพในการระเบิดพลังขา กดวัตต์ประมาณมหาศาลออกมาในช่วงสั้น ๆ การปีนเขานั้นเป็นเรื่องของความสามารถในการผลิตพลังงานเป็นวัตต์ต่อกิโลกรัมออกมาในประมาณพอสมควร แต่ที่สำคัญกว่าคือ cardiovascular efficiency ที่จะแลกออกซิเจนออกจากกล้ามเนื้อได้มากกว่า เร็วกว่า จะการก่อตัวของกรดแลกติกในกล้ามเนื้อเกิดขึ้นช้ากว่า หรือไม่เกิดขึ้นในระหว่างการปีนเขานั้น ๆ ดังนั้นเมื่อตุ๊เลือกที่จะใช้เกียร์ต่ำ ๆ จนถึงเกียร์สุดท้ายผมมั่นใจว่าเขาไม่ได้ใช้กล้ามเนื้อผิดประเภทเข้าไปห้ำหั่นกับเขาลูกนี้ แต่อย่างไรก็ตามทักษะการปีนเขานอกเหนือจากการเปลี่ยนเกียร์และใช้ขานั้น มันก็ต้องมีการสั่งสมมาประมาณหนึ่ง การปีนเขาครั้งแรกของ ดร.ตุ๊ ไม่น่าจะเป็นเรื่องง่ายสำหรับเขานัก
จริง ๆ แล้วความรู้นี้เป็นความรู้พื้นฐานของเหล่านักกีฬาคนอึด แต่ผมเข้าใจมันจริง ๆ เมื่อตอนผมไปเล่นกีฬาปีนเขา ที่ความผิดผลาดของมือใหม่คือการใช้งานกล้ามเนื้อหนักเกินกำลังอยากรวดเร็วจนเกิดอาการที่เรียกว่า “ปั้ม” แล้วไม่สามารถใช้งานกล้ามเนื้อนั้นได้อีกต่อไปถ้าไม่พักเป็นเรื่องเป็นราว ซึ่งเป็นอาการคล้าย ๆ กันเมื่อนักปั่นไม่สามารถกดเท้าลงบนบันไดจะสร้างความเร็วเพียงพอเพื่อที่จะให้จักรยานทรงตัวอยู่ได้ การลงมาเข็นก็หลีกเลี่ยงไม่ได้
เมื่อเขาชันมาก ๆ เข้า เราต่างคนต่างก็ต้องเข้าสู่จังหวะของตนเอง ตามลักษณะของกล้ามเนื้อ และคุณภาพการฝึกซ้อมทึ่เตรียมมา ผมพยายามปรับจังหวะให้รอบขาสูงกว่าที่ผมต้องการเล็กน้อยเพื่อที่จะได้ความเร็วที่ต้องการ ใช้กำลังจากขาให้น้อยที่สุด ในขณะเดียวกันพยายามผ่อนคลายร่างกายท่อนบน ด้วยการจับบนบาร์ยกตัวให้สูงเข้าไว้เพื่เปิดกระบังลมรับอากาศเข้าปอดให้มากที่สุด สลับกับการเข้าไปจับบริเวณมือเบรค (Hood) เมื่อต้องการ leverage เนื่องจากในบางครั้งบางจังหวะที่เขามีการหักมุม เพิ่มความชันในช่วงสั้น ๆ ผมจะใช้ร่างกายท่อนบนช่วยทำงานด้วยการเป็น leverage กับจังหวะขาที่กดลงในขณะที่จังหวะแขนฝั่งตรงข้ามง้างตัวงัดสร้างกลไกคานดีดคานงัดบนเฟรมจักรยาน ซึ่งการเคลื่อนมือไปจับบริเวณคันเบรคจะช่วยให้มีระยะงัดสูงกว่า การทรงตัวทำให้ง่ายกว่า และท่าจับที่ถนัดมากว่าซึ่งสร้างความมั่นใจขณะออกแรงง้างได้อย่างเต็มที่ ผมอาศัยทักษะการปั่นที่มีมายาวนานเข้าสู้กับเขาใหญ่และความอ่อนล้าของวันก่อนหน้า ในขณะที่อำนวยใช้ประสบการณ์และความมั่นใจที่เคยผ่านมาแล้วเข้าสู้ เนินแล้วเนินเล่า เวลาดูเหมือนจะผ่านไปอย่างรวดเร็ว เมื่อเทียบกับระดับความชันที่เขาใหญ่ได้เตรียมไว้สำหรับเรา ผมกับอำนวยเริ่มทิ้งตุ๊จนมองไม่เห็น และคาดว่าจะปฏิกิริยาในเนินแรก เขาอาจจะถอดใจลงเข็น แต่คงไม่เป็นการดีนักเพราะถ้าต้องเข็นขึ้นเขาเป็นระยะทาง 7k วันนี้คงไม่สั้นอย่างที่คิดไว้
อำนวย คอยตะโกนบอกระยะทางเป็นพัก ๆ เพื่อคอยเตือนว่ายังเหลือเขาอีกนานเท่าไร และ 1km สุดท้ายในตำนาน ที่เขาจะต้องกลับมาล้างแค้นในวันนี้มันอยู่ตรงไหน เขาเปรย ๆ ว่า ในคราวนั้น เขายังมีประสบการน้อย เขาแม้ว่าจะไม่ชันมากเท่ากับที่ภูเก็ตที่เขาเคยปราบมาแล้ว แต่ความต่อเนื่องกันเป็นระยะทาง 1 กิโลเมตรโดยไม่มีจังหวะพักนั้น ทำให้เขายอมแพ้ในคราวแรกที่ได้เจอกัน ทันทีที่เข้าสู่กิโลเมตรสุดท้าย เขาก็ประกาศว่าเริ่มตรงนี้แหละ จากนี้เขาไม่รู้ว่าเขาจะข้ามผ่านมันได้หรือไม่ในคราวนี้ ผมแอบมองจังหวะการปั่นของเพื่อนที่เพิ่งเริ่มซื้อจักรยานมาปั่นได้ไม่ถึง 6 เดือน รอบขาสูง ร่างกายช่วงบนมั่นคง ยืดตรงสูงรับอากาศเข้าเต็มปอด ผมมั่นใจว่าเขานี้ไม่สามารถหยุดอำนวยไว้ได้แล้วในวันนี้ อำนวยได้ยกระดับของทักษะการปั่นขึ้นไปอีกขั้น ความท้าทายอื่น ๆ ในปีต่อไปน่าจะต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับทักษะที่พัฒนาขึ้น ผมยังคงอยู่ในโหมดประหยัดพลังงาน เลื้อยเมื่อมีโอกาส อำนวยค่อย ๆ ทิ้งผมห่างไปเรื่อย ๆ ผมคิดว่าเขาคงรู้แล้วว่าจุดไหนคือจุดที่เป็นศัตรูตัวร้ายที่เขาต้องเข้าจัดการ ไม่มีเสียงจากอำนวยคอยบอกแล้ว ผมตะโกนถามแบบไม่มีคำตอบตลอดเวลาว่านี่คือเนินสุดท้ายหรือยัง
ในเวลานี้จากการกดขาแล้วขาเล่ามาเป็นระยะทางเกือบ 1 กม. โดยไม่มีการพัก แม้ว่าความพยายามเก็บแรงของผมจะช่วยได้มาก การนำเข้าออกซิเจนเพื่อกำจัดกรดแลกติกเริ่มจะทำงานไม่ค่อยทัน ผมเริ่มต้องลุกขึ้นยืนปั่นเป็นจังหวะสั้น ๆ ซึ่งผมมักจะเก็บไว้เป็นไม้ตายสุดท้าย เพราะการลุกขึ้นยืนจะทำให้มีการใช้พลังงานจากกล้ามเนื้อหลายส่วนมากขึ้นแม้ว่าจะลดพลังงานที่ต้องการจากกล้ามเนื้อขาไปได้ด้วยการใช้น้ำหนักตัวเข้าช่วยกด แต่การใช้กล้ามเนื้อทั้งตัวจะทำให้ต้องการออกซิเจนเพิ่มขึ้นส่งผลให้มีความจำเป็นต้องเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ ซึ่งในเวลานี้ก็ปริ่ม ๆ จะ over heat อยู่แล้ว เข้าสุ่จุดที่อัตราการเต้นของหัวใจพุ่งสุ่จุด over heat จนต้องดับเครื่องเพื่อลดความร้อนลง ผมเข้าใจกลไกนี้ดี และกำลังเล่นอยู่กับมัน ความสมดุลย์ระหว่าง aerobic efficiency และ anaerobic efficiency
ทันใดนั้นผมก็เห็นอำนวยซึ่งตอนนี้อยู่ห่างจากผมไปเกือบสามร้อยเมตร ลงจากจักรยานควักมือถือขึ้นมาเล็งมาที่ผม ผมเข้าใจทันทีว่ามันสิ้นสุดแล้วที่ตรงนี้ ในขณะที่ขาของผมเริ่มร้องไห้ หัวใจผมเริ่มหัวเราะด้วยความยินดี แต่เหมือนจะยินดีเร็วไปหน่อย ความเร็วของผมตกจนแทบจะทรงตัวไม่อยู่ผมเริ่มเลื้อยอีกครั้ง เอาความเร็วขึ้นมาได้เล็กน้อย ผมจำเป็นต้องยกตัวเข้าโยกในบางจังหวะเพราะขาอย่างเดียวเริ่มเอาไม่ไหว แต่ผมก็เริ่มจะเห็นหัวใจที่กำลังจะระเบิดเนื่องจากความล้าที่สะสมมาทั้ง 7km ซึ่งมาพีคในช่วงสุดท้ายนี้ ผมไม่แปลกใจที่อำนวยลงเข็นในครั้งแรกที่มาคนเดียว เพราะเป็นผม ผมก็คงเข็นเช่นกัน และผมก็ไม่แปลกใจถ้าตุ๊จะเลือกลงมาเข็น ณ จุดนี้ เพราะในขณะที่เขาถึงจุดนี้นั้น เขาจะต้องปั่นอยู่คนเดียว โดยไม่เคยรู้ว่ามันจะต้องรู้สึกเช่นไรและจะต้องไปอีกไกลเท่าไร มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่สำหรับผมการหยุดเก็บภาพของอำนวยน่าจะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่ทำให้ผมรู้ว่าผมต้องทนความรู้สึกนี้ไปอีกไม่นานเท่าไรนัก ผมปั่นผ่านอำนวยไปอย่างช้า ๆ เมื่ออำนวยเก็บภาพเรียบร้อยแล้วก็ปั่นตามผมขึ้นไปเรื่อย ๆ จนถึงจุดชมวิว ซึ่งเราถือโอกาสรอการรวมกลุ่มกันอีกครั้งเพื่อถ่ายภาพ ถ้าถามว่าคุ้มค่าความเหนื่อยที่จะปั่นขึ้นมาจนเห็นวิวนี้หรือไม่นั้น คงตอบยากสำหรับผม แต่ความเข้าใจถึงจิตวิทยาของความท้อแท้ การต่อสู้กับตนเองภายในหัว ความอ่อนล้า เหน็ดเหนื่อย จิตวิทยาของการยอมแพ้ ผมว่ามันคุ้มค่ามาก ๆ
หลังจากได้ภาพกันจนเป็นที่พอใจแล้ว เป้าหมายต่อไปคือบริเวณยอดเขา ที่มีศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ที่อำนวยอธิบายมาแล้วว่าไม่ค่อยจะมีเนินหนัก ๆ แล้ว เรื่อยๆ ไปอีกประมาณ 8k เท่านั้น เราทั้งสามขึ้นอานไปเจอเนินเล็ก ๆ อันแรก ตุ๊ก็โวยวายไม่หยุดเสียแล้ว ไหนว่าไม่มีเนินแล้วไง ซึ่งมันย่อมเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วเพราะเรายังต้องขึ้นไปให้ถึงจุดสูงสุดเป็นระยะทางอีก 8 กิโลเมตร มันคงต้องมีแต่ขึ้น แต่ถ้าเส้นทางเป็นไปในลักษณะขึ้นแล้วพัก ขึ้นแล้วลงแล้วขึ้น เช่นนี้ มันก็จะไม่หนักหนาสาหัสเหมือนในช่วงที่ผ่านมา แม้ว่าตุ๊จะบ่นตลอดทาง แต่คราวนี้เขาก็สามารถเกาะกลุ่มมากับเราได้ คาดว่าตุ๊เองก็ก้าวข้ามข้อจำกัดของตัวเองมาแล้วอีกชั้นหนึ่ง แล้วเราก็พบว่าหลังจากงานนี้จบสิ้นตุ๊ก็หาโอกาสไปร่วมทริปจักรยานแบบลุยเดี่ยวอีกครั้ง พร้อมกับประกาศหาเสือหมอบคันใหม่ในทันที ไม่ช้าไม่นานเราก็ขึ้นมาถึงยอดเขา แน่นอนว่าเราก็ต้องจอดกันเพื่อถ่ายรูปกับป้ายชื่ออุทยานเป็นที่ระลึก ตามธรรมเนียมปฏิบัติของนักท่องเที่ยวที่ดี เราถือโอกาสคุยกับนักปั่นทีม PCS จากโคราช เป็นระยะเวลาสั้น ซึ่งทราบภายหลังว่าเป็นนักกีฬาทีมชาติรุ่นเกษียณที่เพิ่งกลับมาปั่นเตรียมไปพิชิตดอยอินทนนท์ หลังจากนั้นเราก็คว้าจักรยานออกตัวกันไป เพื่อจะลงไปอีกฝากของเขาใหญ่ ด่านฝั่งจังหวัดปราจีนบุรี
จากจุดนี้เราไม่ทราบระยะทางที่ชัดเจน นอกจากคำบอกเล่าว่าน่าจะเป็นระยะทางประมาณ 40 กม. แต่จากการถามคนในพื้นที่บางคนก็บอกว่า 30 กม. เราจึงไม่แน่ใจนักว่าระยะทางจริง ๆ จะเป็นอย่างไร แต่เนื่องจากมันจะเป็นการลงเขาตลอดทางเราจึงไม่กังวลมากนัก แต่ในความเป็นจริง มันก็จะมีขึ้น ๆ ลง ๆ เป็นพัก ๆ แม้ว่าโดยเฉลี่ยแล้วเราจะค่อย ๆ ลงเขามาเรื่อย ๆ ในระหว่างที่มีการปั่นขึ้นบ้างเป็นบางจังหวะ เราก็ร่วมกันยินดีว่านี่จะเป็นจุดพักในขณะที่เราปั่นกลับขึ้นมา ในช่วงนี้ตุ๊สามารถเกาะกลุ่มกับเราได้ตลอดเวลา เนินเขาสลับขึ้นลงในลักษณะนี้ตุ๊เอามันอยู่แล้วอย่างสบาย ๆ อย่างไรก็ตาม การเน้นพลังขาอันมหาศาลของเขาเพียงอย่างเดียว จะยังคงเป็นข้อจำกัดเมื่อเขานั้นยาวอย่างต่อเนื่อง หรือความชันสูงเกินจุดหนึ่ง แต่เราก็ได้เริ่มเห็นอีกข้อจำกัดของนักปั่นมือใหม่อ่อนซ้อม เมื่อเขาเริ่มลาดเป็นทางลงอย่างต่อเนื่องยาวขึ้นเรื่อย ๆ
อำนวยเริ่มปล่อยตัวลงไปให้ความเร็วปลายสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่ผมยังโลเลว่าจะรอตุ๊อีกหรือไม่ แต่ท้ายที่สุดแล้วเมื่อเห็นอำนวยเริ่มโหนความเร็ว หมอบตัวเข้าโค้ง ผมก็อดไม่อยู่ที่จะร่วมสนุกกับเขาด้วย ในขณะที่อำนวยใช้การปั่นรอบขาสูงร่วมกับการลงที่ความเร็วสูง ผมพยายามใช้โมเมนตัมจากจักรยานหนัก ๆ ของผม แตะเบรคน้อยที่สุด ปรับตัวอยู่ในท่าหมอบยอดฮิตของโปรยามลงเขา หาจังหวะเข้าโค้งให้คมและดีที่สุด ที่สำคัญคือปั่นให้น้อยที่สุด นาน ๆ จะได้ฝึกทักษะเหล่านี้ ผมจึงของจัดเต็มใช้เวลากับมันอย่างเต็มที่ ทักษะเหล่านี้เป็นทักษะสร้างความได้เปรียบเป็นอย่างมากสำหรับนักจักรยานที่มีความเชี่ยวชาญ ในขณะที่มือใหม่จำเป็นต้องแตะเบรค หาโค้งที่ดีเข้าไม่ได้ ก็จะสูญเสียเวลาในช่วงลงเขาไปเป็นอย่างมาก ในทางกลับกันนั้นคนที่เชี่ยวชาญจะได้เวลากลับมาโดยไม่ต้องออกแรง และนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น เราสองคนค่อย ๆ ทิ้งระยะห่างจากตุ๊ไปเรื่อย ๆ ผมกับอำนวยผลัดกันนำ ผลัดกันตาม เพราะผมจะพยายามไม่ปั่น ความเร็วเฉลี่ยขณะลงของผมน่าจะเร็วกว่าอำนวยเล็กน้อย แต่ความเร็วเฉลี่ยขณะขึ้นผมก็น้อยกว่าอำนวยเล็กน้อยเพราะการงดปั่นของผม และหลาย ๆ ครั้งผมใช้อำนวยในการอ่าน line ลงเขา มันทำให้ผมทำความเร็วได้สูงกว่า และผมก็สนุกกว่าด้วย ในที่สุด 20km เศษ ๆ ก็จบสิ้นลง เรามาหยุดรอตุ๊ที่หน้าทางเข้าน้ำตกเหวนรก เหลือระยะทางประมาณ 10 km จะถึงด่านปราจีนฯ
เราเสียเวลารอค่อนข้างนาน และตอนนี้ก็เข้าใกล้สิบโมงเข้าไปแล้ว จากเส้นทางลงยาว ๆ ที่ผ่านมานั้น เรารู้แล้วว่าการปั่นขึ้นน่าจะต้องใช้เวลาค่อนข้างมากกว่าการปั่นขึ้นจากฝั่งโน้นมากเลยทีเดียว เมื่อตุ๊มาถึงเราก็มาคุยกันเพื่อวางแผนอีกเล็กน้อย เราคุยกันว่าน่าจะต้องลงไปที่ด่านแล้วปั่นกับมาทานอาหารเที่ยงที่ตรงนี้เลย เพราะการปั่นขึ้นน่าจะใช้เวลาหลายชั่วโมงอยู่ เมื่อตกลงกันตามนั้น เราก็ไหลกันลงต่อไป ระยะทาง 10 km ลงเขานั้นใช้เวลาเพียงเล็กน้อย เมื่อลงไปถึงด่านเราก็หันหน้ากลับทันที ระหว่างที่เราปั่นขึ้นไปนั้นเราก็เริ่ม ๆ คุยกันว่ามันยาวและหนักหน่วงใช้ได้นะ ขาขึ้นช่วงนี้ ซึ่งน่าจะเป็นคำอธิบายภาพที่เราเห็น ในขณะที่นักปั่นขึ้นจากฝั่งนี้ขึ้นไปมีหน้าตาที่เจ็บปวด เสื้อได้ถูกปลดซิปลงมาปล่อยให้ชายเสื้อปลิวไปกับสายลมเบา ๆ แม้ว่าจะไม่ได้ชันมากเท่ากับอีกฝั่ง แม้ว่าจะไม่ได้มีความชันยาวต่อเนื่องแบบไม่มีที่ให้พักเหมือนฝั่งโน้น แต่ระยะทาง 35-40 km ปั่นขึ้นโดยตลอดแบบนี้ เวลาที่ยาวนาน ระยะทางที่ดูเหมือนจะไม่มีวันสิ้นสุดได้ง่าย ๆ มันทำร้ายจิตใจได้มากพอ ๆ กัน
ณ วันนี้ผมคงยังไม่เข้าใจความเจ็บปวดของนักปั่นที่ปั่นกลับขึ้นไปสวนกับพวกผมที่ปั่นลงมามากนัก เพราะเราปั่น 10 กม. ขึ้นมาจากด่านถึงจุดพักทานอาหารเที่ยงของเรา แม้ว่าจะรู้สึกว่าหนักพอดูแต่มันก็เป็นระยะเวลาเพียง 1 ชั่วโมง เส้นทางทางทั้งหมดมีความชันเฉลี่ยน่าจะไม่เกิน 10% แต่จะมีช่วง 15% เป็นจุด ๆ และชันที่สุด 17% แต่เนื่องจากมีช่วงพักระหว่างเนินค่อนข้างมากทำให้ไม่เหนื่อยไม่เท่ากับฝั่งขึ้นจากด่านปากช่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีการใช้เทคนิคการปั่นรอบขาสูงเข้าร่วมด้วย แม้ว่าจะเหนื่อย ร้อน และยาวนาน ข้อจำกัดทางร่างกายเนื่องจากปริมาณกรดแลกติกหรือร่างกาย (หัวใจ) over heat แทบจะไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ ถ้ายอมแพ้ในฝากฝั่งนี้ก็คงเป็นการแพ้ใจตัวเองเพียงอย่างเดียว
เทคนิคการปั่นรอบสูงนี้จริง ๆ แล้วเกิดโดยความจำเป็นที่มี แลนซ์ อาร์มสตรองค์ แสดงให้ดูเป็นคนแรกในการปั่นบดขยี้นักปั่นขึ้นเขาอย่าง มาร์โค พานทานี หรือ ยาน อูลริค ที่ใช้รอบขาค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับมาตรฐานปัจจุบัน ยิ่งถ้าได้ดูปีที่ เซอร์ วิกกินส์ ปั่นจนเป็นแชมป์ ก็จะได้เห็นรอบขา 120 rpm ปั่นขึ้น มองค์ วองทูส์ ซึ่งเป็นภาพแปลกประหลาดที่ชินตากันแล้วในปัจจุบัน การที่แลนซ์ มีความจำเป็นที่จะต้องปั่นด้วยรอบขาสูงทั้งนี้เนื่องจากเขาใช้ EPO ที่เป็นสารกระตุ้นในการเพิ่มเม็ดเลือดแดงในตอนนั้น และเพื่อที่จะให้ระบบนี้มีประสิทธิภาพสูงเขาต้อง สร้างกิจกรรมที่เอื้อต่อระบบนี้ นั่นคือ การใช้รอบขาสูง ๆ อาศัยปริมาณเม็ดเลือดแดงที่มากผิดปกติ เป็นขนส่งออกซิเจนสู่กล้ามเนื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากสารประเภทนี้ไม่ได้ทำให้เรามีกำลังสูงเพิ่มขึ้น เพียงแต่ความล้าที่เกิดจากการขนถ่ายออกซิเจนไม่ทันจนเกิดกรดแลกติกสะสมนั้นจะเกิดขึ้นช้ากว่านักปั่นอื่น ๆ ที่มีไม่การดัดแปลงร่างกายด้วยวิธีเช่นนี้ แลนซ์ซึ่งโดยปกติไม่ใช่คนที่มีประวัติในการปีนเขาได้ดี มีกำลังไม่มากเท่าจึงต้องอาศัยรอบขาสูง ๆ เข้าสู้กับเขาผ่านความได้เปรียบของ Lactace Threshold ที่ถูกปรับให้สูงขึ้น
นี่เป็นสิ่งที่เราได้เรียนรู้จาก 7 ปีที่หายไปของประวัติศาสตร์ตูเดอร์ฟรองค์ แม้ว่าแลนซ์จะถูกปลดชื่อออกแต่ในช่วงเวลานั้น ไม่มีใครในรายการที่ไม่ถูกปลดชื่อ ซึ่งนั่นหมายความว่าแลนซ์ก็คงยังเป็นผู้ชนะในเวทีที่ทุกคนเท่าเทียมกันอยู่ดี แม้ว่าความโด่งดังของแลนซ์น่าจะทำให้เขาได้เปรียบที่จะได้หมอที่มีความเชี่ยวชาญมากที่สุด และทีมที่สามารถเสริมความได้เปรียบของเขามากที่สุด การกลับมาในปี 2009 ของแลนซ์ที่แม้ว่าจะไม่สามารถเอาชนะเพื่อนร่วมทีมที่ภายหลังก็ถูกจับโด้ปได้อย่าง คอนทาดอร์ นั่นแสดงให้เห็นว่าทฤษฎีทั้งหลายที่เราเข้าใจอยู่ในปัจจุบันนั้นใช้งานได้จริง ๆ ความที่ผมและอำนวย เป็นนักกีฬาคนอึด แต่ตุ๊เป็นเพียงคนอึด ทำให้ผมและอำนวยมี Lactate Threshold ที่สูงกว่า เมื่อเอาร่วมกับทักษะการปั่นที่ดีกว่า เราก็ค่อย ๆ ทิ้งตุ๊ออกไปทุกทีทุกที แม้ว่าเขาปั่นขึ้นเขาในระยะทาง 30km สุดท้ายที่ต้องใช้เวลาประมาณ 2 ชม. จะไม่มีช่วงชัน ๆ เกิน 15% อยู่เลย มีเพียงทางขึ้นเนินยาว ๆ ไปเรื่อย ๆ แบบไม่สิ้นสุด Lactate Threshold ที่สูงกว่าสามารถทำให้เราคงความเร็วที่สูงกว่า และทิ้งระยะได้โดยไม่ต้องลุ้นให้ตุ๊เข็น ซึ่งในระยะทางขึ้นจากฝั่งนี้ตุ๊บอกกับเราว่าเขาไม่ต้องลงเข็นเลย
เมื่อถึงใกล้บริเวณยอดเขาผ่านอ่างเก็บน้ำเล็ก ๆ ผมคิดในใจว่าพรุ่งนี้น่าจะต้องพาครอบครัวเข้ามาเยี่ยมชมบรรยากาศเขาใหญ่ยามเช้าสักเที่ยว เข้ามาจุดชมวิว แวะขึ้นมาถ่ายรูปที่อ่างเก็บน้ำเล็กน้อยก่อนที่เราจะลากลับกรุงเทพฯในช่วงสาย ๆ และเพื่อเป็นการเพิ่มความตื่นเต้น ผมจึงถือโอกาสแวะไปถ่ายรูปคอปเตอร์ที่จอดในบริเวณนั้น เพื่อเป็นตัวล่อให้ลูก ๆ ตื่นเต้นกับการตื่นเช้าขึ้นมาในเขาใหญ่ แม้ว่าทหารที่เฝ้าอยู่จะบอกว่าคอปเตอร์จะออกเดินทางกลับในเย็นนี้ เป้าหมายในการที่จะเก็บรูปไปหลอกล่อลูก ๆ นั้นได้สำเร็จลงแล้ว เมื่อปั่นถึงยอดผมกับอำนวยจอดรอตุ๊อยู่พักหนึ่ง แต่เราได้คุยกันแต่แรกแล้วว่าไม่ต้องรอกัน ตอนนี้เราสายมากแล้ว จากที่วางแผนว่าจะปั่นเสร็จประมาณเที่ยงวันนี้ ตอนนี้เวลาประมาณบ่ายสองโมงเข้าไปแล้ว ตุ๊อาจจะต้องแยกกับเราที่หน้าด่านเพื่อไปเชคเอาท์โรงแรมของเขา ไม่ได้ร่วมปั่นกลับไปที่จอดรถอีก 7 km ผมกับอำนวยเห็นตรงกันแล้วก็ปั่นลงล่วงหน้าไปก่อน
ทางลงตามที่อำนวยบอกเล่ามาคือ จะค่อนข้างชันและมีการเลี้ยวหักศอกตลอดเวลา ทำความเร็วไม่ค่อยได้ ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติของเส้นทางชัน ๆ แบบนี้ แต่การที่มีทางเลี้ยวไปมาเยอะ ๆ มันก็ทำให้สนุกดี ผมไม่สามารถลงในท่าลู่ลมเหมือนลงฝั่งปราจีนได้ เพราะนอกจากจะมีทางหักศอกเยอะแล้ว ช่วงเวลานี้รถยนต์เริ่มมีปริมาณมากขึ้นจนเริ่มเสียว ท่าลงจึงเป็นการจับบริเวณ drop นิ้วแตะเบรค ที่ความชันขนาดนี้การแตะเบรคเมื่อมืออยู่บน Hood นั้นเริ่มจะมีกำลังไม่เพียงพอที่จะชะลอจักรยานได้อีกแล้ว แม้ว่าความรู้สึกโดยรวมจะสนุกและตื่นเต้นดี แต่ผมโดยนิสัยแล้วไม่ค่อยชอบมากนักเนื่องจากจะต้องมีสมาธิค่อนข้างสูงในการลงที่ความเร็วสูง ๆ บนถนนเลี้ยวไปมา พร้อม ๆ กับรถยนต์จำนวนมาก ทำให้บางครั้งผมรู้สึกเครียด ๆ ผมชอบมากกว่าที่จะปั่นชิลล์ ใจลอยดูวิวว์บ้างเป็นบางครั้ง แต่เส้นทางลง 15 กม. นี้จบลงภายในเวลาครึ่งชั่วโมง ซึ่งเฉลี่ยเข้าจริง ๆ แล้ว 30 km/hr ช้ากว่าปั่นทางเรียบเสียด้วยซ้ำ แสดงให้เห็นว่าผมเครียดกว่าที่รู้สึกค่อนข้างเยอะทีเดียว ผมทิ้งอำนวยลงมาก่อนไม่กี่นาทีที่หน้าด่านปากช่อง เรารอตุ๊อีกไม่น่าจะเกินสิบนาที ก่อนที่จะแยกย้ายกับตุ๊ แล้วเหลือเพียงอำนวยและผมปั่นกลับไปที่ลานจอดรถของโรงแรม ที่จุดเริ่มต้นของเรา เราทำระยะทางได้ใกล้เคียงเป้าหมายคือ 107 km กิจกรรมของเราสิ้นสุดที่เวลาประมาณบ่ายสามโมงช้ากว่าแผนที่วางไว้ประมาณสามชั่วโมง
เวลากว่า 7 ชั่วโมงบนสองกำลังขาข้ามฝั่งเขาใหญ่ ทำให้เราได้สัมผัสความสวยงามของธรรมชาติได้อย่างลึกซึ้งอย่างบอกไม่ถูก ช่วงเขาที่ไม่ถูกแสงระหว่างวัน ทำให้เราเข้าใจว่าป่าไม้สร้างความเย็นให้กับโลกของเราได้มากแค่ไหน เมื่อเทียบกับฝั่งที่โดนแสงแดดกลางเที่ยงวัน ที่ทำให้เราเข้าใจพลังความร้อนของดวงอาทิตย์ ต้นกำเนิดของชีวิตบนโลก เราปั่นผ่านเส้นทางข้ามหุบ ข้ามเขา ระยะทางร่วม 100 km ด้วยความเร็วที่พลังของมนุษย์จะกลั่นออกมาจากระบบย่อยสลายทางชีวภาพจะทำได้ ความเร็วที่สัมผัสได้ด้วยสายลมที่ปะทะใบหน้า ความเร็วที่เชื่องช้าเพียงพอที่จะบ่งบอกถึงความลาดชันและความยิ่งใหญ่ของขุนเขา เราสัมผัสความเย็นตั้งแต่ 16C เรื่อยไปจน 34C บนพื้นป่า ที่โยงบนถนนเล็ก ๆ เส้นเดียวกัน ความรู้สึกผ่านรูขุมขนบนผิวหนัง ไม่ใช่แผ่นโลหะสองชิ้นที่เกิดความต่างศักย์แล้วอ่านเป็นตัวเลขบนหน้าจอ กลิ่นของป่าเขา มูลช้าง มูลลิง ผสมกับไอแดด เราสัมผัสได้อย่างช้า ๆ ในความเร็วที่สมองของมนุษย์จะซึมซับสิ่งละอันพันละน้อยเหล่านี้ได้ทัน ผมไม่ใช่นักธรรมชาติวิทยาที่จะเข้าใจอะไรลึกซึ้งไปกว่า คำว่า “ป่าเขาคือชีวิต” และนี่น่าจะเป็นความจริงที่มนุษย์โลกไม่อยากจะยอมรับ เป็น inconvenient truth เมื่อการพัฒนาถูกนิยามด้วยการตัดไม้ทำลายป่า และความล้าหลังเป็นนิยามของป่านั่นเอง ผมเชื่อว่าเวลาเพียง 7 ชั่วโมงของชีวิต น่าจะทำให้หลาย ๆ คนที่ได้สัมผัสความรู้สึกเช่นนี้เหมือนพวกเรา เข้าใจมันได้อย่างลึกซึ้ง และผมไม่เชื่อว่าการนั่งรถขึ้นมาชมความสวยงามเช่นนี้จะทำให้เขาเหล่านั้นเข้าใจได้อย่างที่พวกผมเข้าใจ เพราะผมเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า ความเข้าใจที่แท้จริงนั้นต้องเริ่มจากความรู้สึกภายในของแต่ละคน ผมไม่แน่ใจว่าในปีต่อไปจะมีใครเข้าร่วมทรมานบันเทิงกับผมบ้าง แต่ผมมั่นใจว่าเวลา 20 ชั่วโมงของชีวิตที่จะใช้ไปบนเขาใหญ่ ตลอดเวลาทั้งสองวัน จะเปลี่ยนแปลงเขาเหล่านั้นไปในทิศทางที่ดีขึ้น และจะเป็นแรงผลักดันให้เขาช่วยกันทำให้โลกเราน่าอยู่มากขึ้น อย่างแน่นอน