มนุษย์เราใช้ชีวิตเสี่ยงมากขึ้นเรื่อย ๆ ทักษะต่าง ๆ ที่จำเป็นในการดำรงชีวิตที่ว่าด้วยปัจจัยสี่ เราได้ถ่ายโอนให้เป็นหน้าที่ของมืออาชีพ ผู้คนส่วนใหญ่มีอาชีพที่ไม่ได้มีความจำเป็นใด ๆ เลยในการดำรงชีวิต นานเข้าทักษะเหล่านั้นค่อย ๆ เลือนหายไป ปัจจัยที่สี่ที่ว่าด้วยยารักษาโรค ถูกมองเป็นการเข้าถึง เงินที่เพียงพอ โรงพยาบาลที่เพียงพอ หมอที่เพียงพอ มีน้อยคนนักที่จะพูดถึงสุขภาพที่ดีเพียงพอ การดูแลรักษาตัวเองที่ดีพอ ความรู้ต่าง ๆ ในการดูแลตัวเองที่เพียงพอ ตั้งแต่เด็กจนโต เมื่อเกิดอะไรขึ้นกับร่างกาย เราพึ่งพายา หนักขึ้นเราก็พึ่งหมอ และคิดว่าชีวิตเรามีมืออาชีพที่คอยดูแลอยู่แล้ว ไม่ใช่หน้าที่ของเราอีกต่อไป ในระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ หน้าที่ได้ถูกแบ่งกันไปแล้ว และนี่เป็นการดำรงชีวิตอยู่ในความเสี่ยงอย่างมหันต์
มนุษย์เราควรมีความรู้ในการดูแลสุขภาพตัวเอง มีความรู้ในการรักษาตัวเอง มีทักษะในการดำรงชีพอย่างมีสุขภาพ มีทักษะในการเข้าใจและรักษาตัวเองได้อย่างเหมาะสม สิ่งเหล่านี้เราทำได้ แต่ต้องใช้เวลาทั้งชีวิตในการฝึกฝน หมอที่ดีจะต้องมีทักษะในการซักถามอาการผู้ป่วย แต่ผู้ป่วยที่ดีจะรู้ลึกซื้งถึงอาการ ความรู้สึกและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวเองได้ดีที่สุด มากกว่าหมอที่มีทักษะการถามที่ดีที่สุด ในขณะที่ผู้ป่วยเองก็ควรจำทำการเรียนรู้เข้าใจถึงที่มาที่ไปของโรค สาเหตุ อาการ การพัฒนาของโรค ความเสี่ยง การติดต่อ และอื่น ๆ เท่าที่เราจะทำได้ เมื่อมีโอกาสได้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เมื่อได้รับการจ่ายยาเราก็ควรจะรู้ชื่อยาทุกประเภทที่ได้ และควรที่จะปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อที่จะทำความเข้าใจถึงกระบวนการทำงานของยาแต่ละชนิด เพื่อทำความเข้าใจว่าสิ่งที่เรากำลังจะกินเข้าไปนั้นมีความเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วยเรามากน้อยเพียงไร เมื่อทำสิ่งเหล่านี้เป็นนิสัย เราก็จะมีความรู้พื้นฐานในการดูแลตัวเองมากกว่า 80% ของโรคภัยไข้เจ็บที่จะเกิดขึ้นกับตัวเรา รวมไปจนถึงยาประเภทต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย
ปัจจุบันผมแทบจะไม่กินยาเลยแม้แต่ขนานเดียว ผมไปหาหมอเพียงบางครั้งเท่านั้น เมื่อไม่แน่ใจ หรือต้องการผู้เชี่ยวชาญเพื่อวินิจฉัยโรค แม้ว่าเมื่อมั่นใจเรื่องโรคแล้วผมอาจจะไม่ใช้ยาที่หมอให้เลยแม้แต่เม็ดเดียว การฝึกฝนนี้ขยายวงไปสู่คนภายในครอบครัวของผมเองด้วย ผมไม่ได้ต้องการชวนให้ผู้อ่านมาปฏิบัติเอาเยี่ยงอย่าง แม้ว่าผมจะไม่ไปพบหมอ แต่ในรอบตัวผมมีหมอผู้เชี่ยวชาญแทบทุกสาขาที่ผมสามารถยกหูคุยได้ภายในไม่กี่นาที การปฏิบัติเช่นนี้ผมจึงไม่คิดว่าเป็นการใช้ชีวิตที่เสี่ยงมากนัก แต่ผมทำเพื่ออะไร
ผมต้องการ “ทักษะ” ความสามารถที่จะสังเกตุ อาการ สิ่งปกติในร่างกายของผม ทำความเข้าใจโรคร้าย การบาดเจ็บ และเรื่องราวอื่น ๆ ทั้งหมดที่อาจจะเกิดขึ้นกับผมและครอบครัวให้มากที่สุด โดยที่เสี่ยงน้อยที่สุด ผมต้องการให้ร่างกายของผมและคนในครอบครัวมีโอกาสฝึกซ้อมเพื่อที่จะต่อสู้กับภยันต์อันตรายทั้งหมดที่จะเกิดกับสุขภาพร่างกายของผมเองและคนในครอบครัว ก่อนที่จะต้องไปถึงมือผู้เชี่ยวชาญ ผมได้อ่านบทความของคุณพ่อที่เสียลูกไปกับโรคมือเท้าปากที่แพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ ผมเข้าใจในความรู้สึกของพ่อที่เสียลูก เพราะผมเองก็เคยเสียลูกไปเช่นเดียวกัน แต่ผมเห็นความบกพร่องของวิธีปฏิบัติ ดูแลรักษาของพ่อคนนี้เช่นเดียวกัน และผมจะไม่มีวันที่จะเดินซ้ำรอยครอบครัวนี้เป็นอันขาด ยกตัวอย่างเช่นให้กินยาแก้ไขอย่างเคร่งครัดทุก 4 ชั่วโมงและบังคับให้ลูกไปโรงเรียนพร้อมกับยา เป็นต้น
เมื่อสมัยเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย ผมเองก็เคยมีนิสัยเคยชินกับการกินยาแก้ปวดลดไข้ กินไว้ กินดัก กินแก้ ด้วยความที่รู้สึกว่าต้องเรียนให้ได้ ทำงานให้ได้ไม่ว่าจะมีสภาพเป็นอย่างไรก็ตาม ทำแล้วมันเท่ห์ ผมเริ่มมาดูแลตัวเองเมื่อเกิดอาการบาดเจ็บที่หัวเข่าขณะหัดวิ่งระยะไกล (ต่ำกว่า 10 กิโล) ด้วยการอ่านหนังสือ เพียงเพราะผมไม่รู้ว่าต้องไปหาหมอประเภทใดเมื่อเกิดอาการบาดเจ็บจากการออกกำลังกาย โชคดีที่ผมได้หนังสือดี เมื่อผมสามารถรักษาตัวเองให้หายได้เป็นปลิดทิ้ง ผมจึงเข้าใจเอาเองว่ามีหลากหลายอาการเจ็บป่วย บาดเจ็บที่เกิดขึ้นกับเรานั้นไม่ได้ซับซ้อนจนเกินไป และไม่ได้จำเป็นต้องถึงผู้เชี่ยวชาญเสมอไป และถ้าหากเราหาความรู้เพิ่มเรื่อย ๆ เราก็จะสามารถดูแลตัวเองได้มากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน
ผมมีโอกาสได้ไปเรียนต่อต่างประเทศ เนื่องจากเป็นที่รู้กันว่าค่ารักษาพยาบาลที่ต่างประเทศแพงมาก ผมจึงตั้งหน้าตั้งตาออกกำลังกายอย่างเอาเป็นเอาตาย เพราะผมเรียนรู้ตั้งแต่เด็ก ๆ ว่าช่วงใดที่ผมออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอผมจะไม่ค่อยป่วย ถ้าไม่เช่นนั้นผมจะป่วยเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจได้ง่ายมาก ๆ เนื่องจากผมถูกตัดต่อมทอลซิลและอะไรอื่น ๆ บริเวณลำคอไปหมดแล้วตั้งแต่เด็ก ทำให้ไม่มีปราการด่านแรกที่จะจัดการกับเขื้อโรคที่เข้าผ่านปากและจมูกของผม ผมแทบจะไม่เคยได้ทานยาเลยตลอดระยะเวลาตั้งแต่เริ่มเดินทางไปต่างประเทศจนถึงปัจจุบัน ยกเว้นยาโรคกระเพาะอาหาร เนื่องจากผมมี ulsers ในกระเพาะและในบางครั้งเมื่อเกิดความเครียดจนเกินควบคุม ผมจำเป็นต้องพึ่งยาที่ระงับการหลั่งกรด (ผมเคยต้องซื้อยานี้ทั้งหมดสองครั้งในชีวิตผมครั้งละประมาณ 2-3 วัน) นอกนั้นก็ทนเอาไปตามอาการ โชคดีที่ผมไม่เป็นโรคติดเชื้ออื่น ๆ ประเภทแบคทีเรียเลย เป็นเพียงเพราะผมออกกำลังกายสม่ำเสมอและก็โชคดี ผมมาถือปฏิบัติในการที่จะให้ร่างกายซ่อมแซมตัวเอง ใช้การสังเกตุ ใส่ใจในตนเองเพื่อเป็นการดูแลรักษาตนเองอย่างเคร่งครัดมากขึ้น ภายหลังจากอ่านหนังสือชื่อ Spontaneous Healing ของหมอ Andrew Weil เนื่องจากผมค่อนข้างจะเห็นด้วยกับแนวคิดของเขา
ผมเล่นกีฬาค่อนข้างหนักและมีอาการบาดเจ็บประจำตัวอยู่หนึ่งอย่างคือ เจ็บกล้ามเนื้อน่อง เป็นเหตุการณ์ที่น่าสนใจมากเมื่อผมไปพบหมอ และเปลี่ยนแนวความคิดของผม มหาวิทยาลัยของผมนั้นเป็นโรงเรียนแพทย์ด้วย จึงมีนักเรียนแพทย์มาวินิจฉัยเมื่อผมตัดสินใจไปคลินิคของมหาวิทยาลัย ผมได้เรียนรู้เป็นอย่างมากเมื่อ อาจารย์แพทย์ได้สอนนักศึกษาแพทย์ผู้นั้น ว่าอาการของผมน่าจะเกิดจากอาการกล้ามเนื้ออักเสบที่เป็นผลจากตะคริว (คงคาดว่าจากตำแหน่งของกล้ามเนื้อที่เจ็บ) แล้วมีการวิเคราะห์ต่อไปอีกว่าสาเหตุของการเกิดตะคริวคืออะไร ในวันนั้นผมได้เรียนรู้การแพทย์ทางกีฬาเป็นอย่างมาก และไม่เคยเห็นแพทย์คนไทยคนไหนให้ความสนใจอย่างเช่นวันนั้นอีก (ที่ผมเจอส่วนใหญ่ก็บอกแค่ให้เลิกเล่นกีฬา ตัดปัญหาแบบง่าย ๆ ) หลังจากนั้นผมจึงใช้ความเป็นอาชีพจากแพทย์ทุกครั้งเพื่อศึกษาถึงโรคร้าย และอาการบาดเจ็บใหม่ ๆ ที่ผมไม่เคยเป็นมาก่อน
ผมเป็นคนหน้าอกบุ๋ม มาตั้งแต่เด็ก ซึ่งทำให้มีผลต่อตำแหน่งของหัวใจของผม และเป็นปัญหาเมื่อผมออกกำลังกายหนัก ๆ บางประเภท (จริง ๆ แล้วทุกประเภทที่ผมทำอยู่ คือ ว่ายน้ำ จักรยาน วิ่ง) ซึ่งมีอยู่ช่วงหนึ่งที่ผมหยุดออกกำลังกายไปเพื่อเตรียมสอบ Qualify แล้วกลับมาออกกำลังกายใหม่ซึ่งตรงกับเวลาในช่วงปลายฤดูหนาว ผมเกิดอาการเจ็บกล้ามเนื้อหน้าอก จึงไปปรึกษาแพทย์ ผมเคยเป็นคล้าย ๆ อย่างนี้มาแล้วที่เมืองไทยแต่หมอให้ยาแก้เครียดมากิน (ซึ่งผมก็ไม่ได้กิน) แต่ผมเริ่มส่งสัยว่าผมมีอาการผิดปกติของหัวใจหรือไม่ เพราะเท่าที่เขาว่ากันอาการเจ็บหน้าอกไม่ควรจะเกิดขึ้นไม่ว่ากับใครก็ตาม (แม้ว่ากับผมมันเป็นเรื่องปกติพอสมควร) แต่ ณ เวลานี้ทัศนคติผมเปลี่ยนไป ผมต้องการเรียนรู้ เมื่อไปปรึกษาแพทย์ที่มหาวิทยาลัย ก็ปรากฎว่าสนุกมาก ๆ ครับ หมอจับผมทดสอบทุกอย่าง EKG Stress Test วิ่งบนสายพาน X-ray เยอะแยะมากมาย สิ่งผิดปกติแรกที่หมอสังเกตุ (เขาไม่ได้บ่นเรื่องอกบุ๋ม) คือ นักเรียนแพทย์แทบไม่สามารถ ส่องเห็นลิ้นหัวใจผมได้เลย ใช้เวลาอยู่นานมาก จนต้องให้อาจารย์แพทย์มาทำให้ และต้องกดแรงและเจ็บมาก อาจารย์บ่นนิด ๆ หน่อย ๆ สรุปว่าหมอวิเคราะห์ว่าเป็นเพราะอกบุ๋ม หัวใจอยู่ผิดที่นิดหน่อย ทำให้บางครั้งทำงานหนัก หรือกล้ามเนื้อบริเวณหน้าอกเนื่องจากกระดูกอยู่ผิดที่ผิดทางการทำงานก็ไม่ค่อยปกติมากนักจึงเกิดอาการเจ็บของกล้ามเนื้อได้
หลังจากนั้นไม่นาน เกิดอุบัติเหตุระหว่างยกน้ำหนักท่า Squat แล้วทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังของผมเคลื่อนมาทับเส้นประสาท ซึ่งทำให้เกิดอาการเจ็บอย่างรุนแรง และเป็นอีกครั้งที่ผมต้องใช้ยาระงับปวดที่รุนแรงมาก ๆ เป็นครั้งแรก การบาดเจ็บครั้งนั้นทำให้ชิ้นส่วนของร่างกายของผมตรงส่วนนั้นไม่สามารถกลับมาเป็นเหมือนเดิมอีกเลย จะมีอาการปวดหลังเป็น ๆ หาย ๆ อยู่ตลอดเวลา บางครั้งหนัก ๆ ก็เจ็บมากจนต้องใช้ยาแก้ปวด (ผมเคยใช้อีกหนึ่งครั้งหลังจากป่วยครั้งแรก) บางครั้งก็เจ็บมากขนาดเดินไม่ได้ หรืออาจจะเดินตัวแข็งหันไปมาไม่ได้ บางครั้งต้องพึ่งยาคลายกล้ามเนื้อ แต่ผมก็ยังสามารถออกกำลังกายต่อไป แต่ในช่วงนั้นผมลดปริมาณการออกกำลังกายลงเป็นอย่างมาก เนื่องจากใกล้สำเร็จการศึกษา ผมเป็นบ่อยขึ้นหลังจากที่กลับมาเมืองไทย การเปลี่ยนสถานที่ การเริ่มทำงาน ทำให้ผมต้องเริ่มปรับตัวกับหน้าที่การงานใหม่ และไม่ได้ออกกำลังกายเป็นเรื่องเป็นราวเลย เมื่อกลับมาออกกำลังกายกลับพบว่าอาการเจ็บมันรุนแรงถึงขนาดไม่สามารถวิ่งได้ ผมจึงตัดสินใจหยุดกีฬาไตรกีฬาที่ผมชอบโดยสิ้นเชิง
ผมมีอาการปวดบ้าง เจ็บบ้าง เดินไม่ได้บ้าง จนในท้ายที่สุดผล x-ray ยืนยันว่าผมเริ่มมีอาการของโรคกระดูกเสื่อม ซึ่งมีแต่จะเสื่อมลงเรื่อย ๆ หมอแนะนำให้ผมหยุดทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงทั้งหมด ซึ่งในเวลานั้นผมเลิกกีฬาวิ่ง หันมาปีนเขา และยกน้ำหนัก เพราะรู้สึกว่าไม่มีการกระแทก แต่หมอแนะนำให้ว่ายน้ำ ผมก็พยายามถามถึงกีฬายกน้ำหนัก ปีนเขา ซึ่งหมอไม่แนะนำเลย ผมถามเรื่องวิ่งก็ยิ่งถูกห้ามเข้าไปใหญ่ หมอให้ว่ายน้ำสัปดาห์ละสี่วัน เพื่อเป็นการออกกำลังกาย (ผมรู้สึกเหมือนใบสั่งกายภาพบำบัด) ผมไม่เคยทำใจได้เลย แม้ว่าผมจะมีพื้นฐานการออกกำลังกายคือว่ายน้ำ แต่ด้วยทัศนคติว่าการว่ายน้ำในเวลานี้คือกายภาพบำบัด และหนทางเดียวที่ผมเลือกไม่ได้ ในที่สุดผมก็ไม่เคยได้ไปว่ายน้ำตามที่หมอสั่งเลย จนกระทั่งผมได้ไปพักผ่อนที่ภูเก็ตในช่วงที่มีการแข่งขันไตรกีฬา กีฬาที่ผมโปรดปรานที่สุด เพราะผมต้องการไปชมการแข่งขัน ผมดูการแข่งขันอย่างตั้งใจ และมีแรงบันดาลอีกครั้ง แล้วตั้งใจว่าในปีหน้าผมต้องกลับมาเป็นผู้แข่งขันเองให้ได้ แล้วในที่สุดผมก็กลับมาแข่งขันประเภททีม โดยผมทำหน้าที่ปั่นจักรยาน เมื่อจบการแข่งขันผมบอกกับตัวเองว่าผมต้องกลับมาอีกครั้งแล้วทำให้ครบทุกอย่างให้ได้
ผมจึงเร่ิมต้นซ้อมวิ่งเป็นครั้งแรกเมื่อปลายปีที่ผ่านมา (2554) ผมค้นคว้า และทดลองการเปลี่ยนท่าวิ่ง ใช้รองเท้ามินิมัลลิส โดยไม่ปรึกษาแพทย์เลย เพราะผมรู้ว่าหมอซึ่งเห็นว่าการวิ่งมีการกระแทกสูงและอันตรายต่อหลัง มีเพียงกลุ่มนักวิชาการ แพทย์ และคนกลุ่มเล็ก ๆ เท่านั้นที่เชื่อว่าการหันมาวิ่งด้วยปลายเท้า ใช้รองเท้าที่บางที่สุด หรือใช้เท้าเปล่าจะป้องกันปัญหานี้ได้ ด้วยทักษะการฟังตัวเองของผมที่ฝึกมาหลายสิบปีมาเป็นประโยชน์กับผมมากในช่วงที่หัดใหม่นี้ ผมใช้เวลาประมาณ 2 เดือนจากเริ่มวิ่งด้วยเท้าเปล่า ประมาณ 15 นาทีจนร่วมแข่งรายการกรุงเทพมาราธอนในระยะ 21.1 กม. และจากวันนั้นถึงวันนี้ ผมก็ได้สัมผัสระยะทาง 42.195 กม. เป็นครั้งแรกในชีวิตของผม
ในกีฬาวิ่งผมได้ใช้ทักษะในการฟังร่างกายตัวเองมากถึงมากที่สุด เพราะทุกก้าวที่เปลี่ยนไปมีความรู้สึกใหม่ ๆ เกิดขึ้นเสมอ ผมได้สังเกตุ ติดตามผล เฝ้ามองอาการเจ็บ ปวด เมื่อย ไม่น่าเชื่อว่าผมรู้สึกว่าร่างกายผมแข็งแรงยิ่งกว่าเมื่อก่อนที่จะเป็นโรคกระดูกเสื่อมเสียอีก ถ้าไม่ใช่เพราะกีฬาจักรยานที่ทำให้ผมต้องก้มเป็นระยะเวลานาน ๆ จนบางครั้งอาการปวดหลังผมกำเริบ ผมคงลืมไปแล้วว่าผมเป็นโรคกระดูกเสื่อม
ในตอนนี้ผมพยายามปรับปรุงท่าปั่นจักรยานของผม ให้เข้ากับความยืดหยุ่นของตัวผมที่เหลือน้อยเต็มทน เนื่องจากกล้ามเนื้อหลังหลายส่วน รวมไปถึงกล้ามเนื้อต้นขาที่ต้องทำงานผิดปกติ รับแรงแทนกระดูก และมีความตึงเครียดค่อนข้างสูง ในขณะเดียวกันผมก็พยายามหาวิธีที่จะช่วยยืด หรือผ่อนคลายกล้ามเนื้อในส่วนนี้ แต่ก็ยังไม่ได้เริ่มจริง ๆ จัง ๆ เสียที ผมคาดว่าผมอยากใช้โยคะเข้ามาช่วย ถ้าผมได้เริ่มร่างกายผมก็น่าจะเข้าสู่ภาวะปกติอีกครั้ง
ทั้งหมดทั้งสิ้นนี้ ผมทำไปบนความรู้สึกของร่างกายของผมเอง กับความรู้ที่มีมากมายบนอินเตอร์เนท หนังสือต่าง ๆ ร่างกายของสิ่งมีชีวิตยังคงเป็นสิ่งมหัสจรรย์ที่สุดอย่างหนึ่งที่ธรรมชาติสร้างมา ความสามารถในการปรับตัว ซ่อมแซมตัวเอง มีมากมาย เพียงแต่ว่าเราต้องไม่ทิ้งมันไป ต้องฝึกฝน เข้าใจ และใช้มันอย่างถูกวิธี ทักษะนี้เป็นสิ่งสำคัญและผมเชื่อว่ามันจะเป็นบันไดไปสู่สุขภาพที่ดี เป็นจุดหมายปลายทางที่แท้จริงของปัจจัยที่สี่ คือ ความไม่ต้องการยารักษาโรคใด ๆ ทั้งสิ้น
ผมพยายามเขียนบทความนี้ให้กับบุคคลหนึ่งที่มีอาการบาดเจ็บที่หัวเข่า และได้รับคำแนะนำจากแพทย์ให้เลิกเล่นทุกอย่าง (ตั้งแต่อายุยังน้อย) ซึ่งผมเองไม่มีคำแนะนำดี ๆ ใด ๆ ให้เลย แต่ผมมีความคิดของผมเองว่า ถ้าผมต้องทำตัวเหมือนคนแก่ง่อยเปลี้ยเสียขา ไม่สามารถเล่นกีฬาใด ๆ ได้เลยนอกจากว่ายน้ำตามที่หมอผมสั่ง แล้วผมเป็นเด็กดีทำตามหมอเพราะกลัวว่าในอนาคตผมจะกลายเป็นคนง่อยเปลี้ยเสียขา ผมสู้ลองทำตัวเป็นคนมีขาไปก่อนดีกว่าแล้วเมื่อไรง่อยเปลี้ยเสียขาจริง ๆ แล้วทำตามที่หมอว่าคงไม่สาย ผมว่าคงกำไรชีวิตสำหรับผม ถ้าจะให้แนะนำกันจริง ๆ ผมคงพูดได้แต่ว่า “Just do it and listen to yourself” ครับ
ขอขอบคุณเป็นอย่างยิ่งค่ะ สำหรับบทความที่ดีและมากด้วยประโยชน์
การได้เกิดมาและได้มีชีวิตอยู่ต่อ ถือเป็นสิ่งอัศจรรย์และพิเศษ แต่บางที ความพิเศษ ก็ต้องแลกมาด้วยความสูญเสียบางอย่าง เป๊กเป็นเด็กแฝด ที่เกิดมาคนเดียว และมีชีวิตรอดได้อย่างปาฏิหาริย์ เนื่องจากอีกคนเสียชีวิตตั้งแต่อายุครรภ์ 6 เดือน แล้วอยู่ด้วยกันจนคลอดโดยที่แพทย์ไม่ตรวจพบความผิดปกติใดๆ แต่เมื่อเกิดมาแล้วเป๊กเข้าโรงพยายาลตั้งแต่อายุ 10 วัน และหลังจากนั้น ชีวิตก็วนเวียนอยู่กับโรงพยาบาล, แพทย์ และยา เนื่องจากร่างกายไวและเกิดการแพ้ได้กับทุกสิ่งรอบตัว แพ้อาหารทะเล, แพ้ไก่, แพ้อากาศ, แพ้ไรฝุ่น, แพ้รังแคสุนัข, แพ้ควัน, ฯลฯ คุณแม่จึงให้ออกกำลังกายและเล่นกีฬาตั้งแต่เด็ก และเล่นจริงจังจนสามารถเป็นตัวแทนไปแข่งกีฬาเยาวชนแห่งชาติ ครั้งแรกตอนป.4 และเรื่อยมาจนได้เป็นนักกีฬาโครงการช้างเผือก ซึ่งจุดหันเหของชีวิตจากการเล่นกีฬา เริ่มขึ้นประมาณปี 2 ของการเป็นนิสิต เดินอยู่ดีๆ ก็ปวดแปล๊บที่เข่าซ้าย ด้วยความเป็นนักกีฬา ที่ค่อนข้างชินกับความเจ็บปวด จึงปล่อยไป ไม่คิดว่าเป็นอะไรมาก ปล่อยไปเป็นสัปดาห์ เป็นหลายสัปดาห์ ไม่ทุเลา จึงไปพบแพทย์ และเริ่มต้นการรักษาด้วยยาทาและยาทาน ตัวที่เบาที่สุด จนกลายเป็นแรงที่สุด, เปลี่ยนเป็นฉีดยาเข้าข้อเข่า ซึ่งทรมานมาก แต่ไม่มีทางไหนที่รักษาให้ทุเลาได้ มีแต่ปวดเพิ่มขึ้นๆ MRI แล้วก็มองไม่เห็นความผิดปกติใด จึงตัดสินใจขอผ่าตัดแบบส่องกล้อง (Arthroscopy) สิ่งที่พบคือ ผิวข้อและหมอนรองกระดูกสึกกร่อน (ตามที่แพทย์แจ้ง) ซึ่งอาจเกิดจากการเล่นกีฬาอย่างหนัก (แต่ตอนนั้นอายุยังน้อย) หรืออาจเกิดจากร่างกายตนเองที่ไวต่อทุกสิ่งก็ตามแต่ สุดท้าย ต้องทานยารักษารวมทุกอย่าง วันละไม่ต่ำกว่า 15 เม็ด ร่วม 2 ปี แพทย์แนะนำให้ว่ายน้ำ แต่เนื่องจากเป็นภูมิแพ้ ว่ายน้ำทีไรไซนัสอักเสบ ชีวิตจึงไม่สามารถเล่นกีฬาใดๆ ได้อีกเลย ส่วนหนึ่งก็เกิดความกลัว ที่จะต้องกลับไปรักษาอีก และเป็นอย่างเช่นที่ผู้เขียนได้กล่าวถึงแรงกระแทกจากการวิ่ง แพทย์มองว่า คนไข้ที่มีอาการเจ็บป่วยที่กระดูกสันหลัง, ข้อเข่า หรือข้อเท้า ไม่ควรวิ่ง และสั่งห้ามอย่างเด็ดขาด จากที่เคยวิ่งได้ครั้งละ 10 กม. ต้องหยุด, กระโดยเชือกวันละ 1,000 ครั้ง ต้องหยุด, การปั่นจักรยาน หากนั่งเบาะต่ำ ข้อเข่าจะเสียดสี และในระยะยาวจะสึกหรอได้ นี่คือคำแนะนำบางส่วนของแพทย์ ที่ทำให้คนไข้ธรรมดา กลายเป็นคนไข้จิตป่วย เนื่องจากไม่กล้าออกกำลังกายหนักๆ แบบที่ชอบได้อีกเลย
การได้อ่านสิ่งที่ผู้เขียน เขียนจากประสบการณ์ตรง จากที่เคยกลัวการออกกำลังกายหนักๆ ทุกสิ่งเป็นเวลานาน เริ่มกลับมามองอีกครั้ง และนึกถึงคำพูดที่ว่า ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว คือทุกอย่างมันอยู่ที่ใจเรา คนไม่ป่วย ถ้าคิดให้มันป่วย บังคับตัวเองด้วยความคิด ว่าฉันเจ็บ ฉันป่วย ฉันไม่สบาย มันก็คงป่วยจริงเข้าสักวัน สู้หาทางมารู้จักร่างกายตัวเอง รักษาตัวเองด้วยตัวเราเอง คงสามารถทำสิ่งที่ตัวรักได้อีกมากโข, ขอหยิบยืมคำพูดผู้เขียนที่ว่า “Just do it and listen to yourself” ค่ะ
ขอบคุณอีกครั้งค่ะ
เป๊ก
เป็นเรื่องราวที่น่าสนใจครับ ลูกชายผมก็เป็นแฝดเช่นเดียวกัน คลอดก่อนกำหนดค่อนข้างมากเพราะคู่แฝดของเขากำลังจะเสีย ออกมา 1.4kg กับ 0.9kg แฝดของเขามีชีวิตอยู่ได้เพียง 49 วัน เราอยู่โรงพยาบาลกันตั้งแต่เกิดครับ อยู่ประมาณเดือนกว่าสองเดือนได้ ผมคงต้องรอดูต่อไปว่าลูกผมจะมีปัญหาเยอะหรือเปล่า แต่เท่าที่ผ่านมาก็ดูแข็งแรงดีครับ ผมเลี้ยงลูกแบบให้เขา active และแน่นอน แทบไม่ได้เคยหาหมอหรือทานยาเลย
เป๊กจะแข็งแรงล่ำสันมากช่วงเป็นนักกีฬาค่ะ ดื่มนมแทนน้ำ คุณแม่ดูแลดีมากในทุกเรื่อง แต่ถ้าวันนี้ เกิดอะไรขึ้น หรือเป็นอะไรที่เราควบคุมไม่ได้ ไม่เคยกลัว และคิดว่าเราต้องอยู่กับมันให้ได้ เกิดมา ตั้งอยู่ ดับไป เป็นธรรมดาโลกค่ะ
บางอย่างที่เคยเป็นตอนเด็ก อย่างแพ้อาหาร พอโตขึ้นก็อาจดีขึ้นได้ อาจเพราะร่างกายสร้างภูมิขึ้นมาเอง หรือเราบังคับให้ร่างกายสร้างภูมิด้วยการเพิ่มสิ่งที่เราแพ้ในปริมาณที่ร่างกายพอรับได้เข้าไปเรื่อยๆ อย่างตอนเด็กๆ ทานอาหารทะเลที่ไร ก็ออกอาการคันคะเยอ เป็นผื่น บวม คุณแม่ไม่ให้หยุดทาน เนื่องจากสังเกตุว่าหากหยุดทานไปนาน แล้วกลับมาทาน ร่างกายเป๊กจะรับไม่ได้ จะออกอาการแพ้มาก จึงให้ทานทีละน้อย คันมากบวมมากก็ทานยา ทำแบบนี้มาตลอดตั้งแต่จำความได้ (ซึ่งโชคดีที่ไม่ได้แพ้แล้วมีผลต่อระบบทางเดินหายใจ) จนทุกวันนี้ แทบไม่ต้องทานยาแก้แพ้เลย ถ้าไม่ทานในปริมาณที่มากเกิน เป็นวิธีใครวิธีมัน ไม่คิดแนะนำใครเลย เพราะอาการแพ้ของแต่ละคนแตกต่างกัน อาจเกิดอันตรายได้
ตอนนี้เตรียมตัวออกกำลังกายแล้วล่ะค่ะ จะไปวิ่ง อาทิตย์นี้ลดน้ำหนักได้ 1.5 กก. กะว่าจะลดให้ได้อย่างน้อย 3 กก. เข่าจะได้ไม่รับน้ำหนักมากเกิน
เสียใจด้วยกับน้องคนที่เสียไปนะคะ
น้อง 2 คนตอนนี้น่ารักมากๆ ขอให้น้องแข็งแรงมากๆด้วยค่ะ