หนังสืออิเลคโทรนิค : Replacement or Supplement

ตั้งแต่วันแรกที่อเมซอนแนะนำหนังสืออิเลคโทรนิคเข้าสู่ตลาด แอปเปิ้ลตามมาด้วยไอแพด ผมก็ได้แต่สงสัยว่าความรู้สึกในการอ่านหนังสือ หรือแมกกาซีนจากอุปกรณ์แห่งโลกอนาคตจะเป็นเช่นไร ในฐานะที่เป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือเป็นชีวิตจิตใจ ทั้งแมกกาซีนและหนังสือ แมกกาซีนส่วนมากผมจะซื้อหนังสือแต่งบ้าน หนังสือ Lifestyle เช่น Wallpaper, A Day และอื่น ๆ อีกมากมาย โดยส่วนใหญ่ดูรูป อ่านบ้างเล็กน้อย ส่วนหนังสือส่วนใหญ่ก็เป็นหนังสือกลุ่มที่เรียกว่า Non-Fiction 80% ของหนังสือที่ผมซื้อจะเป็นภาษาอังกฤษ และจำนวนมากเลยทีเดียวที่ผมสั่งซื้อจากอเมซอนนี่แหละส่งมาจากต่างประเทศ ผมจึงคิดว่าอุปกรณ์ประเภทนี้น่าจะเหมาะสำหรับผมเป็นอย่างมาก

ตั้งแต่วันแรกที่เจ้า Kindle ออกสู่ตลาดผมก็ตัดสินใจในทันทีว่าผมต้องซื้อมัน แต่ผมมีข้อแม้ให้กับตัวเองว่าหนังสือลอทสุดท้ายที่ผมสั่งมาจากอเมซอน ผมต้องจัดการมันให้หมดเสียก่อน ผมจำไม่ได้แล้วว่ากี่เล่ม แต่คาดว่าประมาณ 4-5 เล่มน่าจะได้ แต่ไม่ทันที่ผมจะได้อ่านไปได้ถึงไหน ไอแพดก็ออกมาทำให้ชีวิตมันน่าปวดหัวมากยิ่งขึ้น พอผมอ่านจบทั้ง 4-5 เล่มแล้วผมจะถอยอะไรดีล่ะ ผมมีโอกาสได้แอบเห็นหน้าจอของ Kindle ของฝรั่งที่ดูแล้วทึ่งจริง ๆ ส่วนไอแพดก็สามารถเข้าไปลูบ ๆ คลำ ๆ ได้ที่ iStudio ทั่วไป ข้อแม้นั้นของผมก็ดูจะไม่หมดไปง่าย ๆ หนังสือกองนี้ช่างไม่สนุกเอาเสียเลย

แต่แล้วทุกสิ่งทุกอย่างก็เปลี่ยนไปเมื่อ คุณแม่ของผมซื้อไอแพด 2 ให้เป็นของขวัญ (สังเกตุว่าผมรอที่จะซื้อนานมาก ๆ จากวันแรกที่ Kindle เปิดตัวไปจนถึงวันที่ไอแพด 2 ออกจำหน่าย ) ในที่สุดผมก็มีโอกาสได้สำรวจความรู้สึกของผมที่มีต่อหนังสืออิเลคโทรนิคเสียที ผมรีบหาหนังสือทุกรูปแบบที่แจกฟรีมาอ่านดูบนไอแพด ความรู้สึกแรกก็แปลกใหม่และสนุกดีครับ แต่ความตื่นเต้นก็ผ่านไปอย่างรวดเร็ว ประโยชน์แรกที่ผมได้จากอุปกรณ์แห่งอนาคตชิ้นนี้ คือ Aps ที่ชื่อ Zinio ที่เรียกตัวเองว่า World Largest Newstand ผมใช้เพื่อซื้อหนังสือบ้านเล่มแรก สวยงามมากในราคาเพียงไม่เกินห้าร้อยบาท เมื่อเทียบกับแมคกาซีนหัวนอกที่ผมซื้อเป็นประจำที่ราคา 600-800 บาท ผมเริ่มเห็นประโยชน์ของเจ้าไอแพดนี่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังสือที่ผมซื้อมานี้น่าจะมีสนนราคาไม่ต่ำกว่าพันเลยทีเดียว

มันช่าง Ironic จริง ๆ ที่ผมได้มาเห็นประโยชน์อีกครั้งหนึ่งของเจ้าไอแพดเมื่อศาสดาจ๊อปเดินทางกลับสู่สวรรค์ ผม pre-order หนังสือ Steve Jobs ทันทีที่เขาเปิดให้จอง ด้วยราคาเพียง 300 กว่าบาทเท่านั้น ก่อนหน้านี้ผมได้ลองใช้ iBook ของแอ๊ปเปิ้ลบ้างแล้วแต่เป็นหนังสือคลาสสิคที่เขาแจกฟรี ผมยังไม่เจอหนังสืออะไรที่อยากอ่านใน iBook เลย ในขณะที่หนังสือ PDF ทั้งหมดที่ผมใส่เข้าไปก็ยังไม่ดึงดูดเพียงพอให้ผมอ่าน นอกจากการรวบรวมหนังสืออิเลคโทรนิคที่ผมมีทั้งหมดเอาไว้ในที่เดียวกัน รวมไปจนถึงหนังสือเล่มที่ pre-order นี้ที่มีแต่ Kindle Store เท่านั้นที่มี ในขณะที่ iBook ยังไม่มีให้เลือกซื้อ เมื่อเปรียบเทียบปริมาณหนังสือแล้ว Kindle Store มีให้เลือกมากมายกว่า iBook Store หลายขุมนัก โดยเฉพาะใครที่ไม่อ่านหนังสือนิยาย หรือ Best Seller อย่างผม iBook Store เรียกได้ว่าปิดกันไปเลย

ทันทีที่หนังสือ Steve Jobs ออกสู่ท้องตลาดมันก็ถูกส่งตรงมาที่ Kindle Aps ที่อยู่ในไอแพดในทันที แน่นอนว่าด้วยความสนใจในตัวศาสดาอย่างมหาศาล ประกอบกับฝีไม้ลายมือการเขียนของผู้เขียน และช่วงเวลาของ Steve Jobs ที่คาบเกี่ยวกับชีวิตของผมเอง การอ่านหนังสือเล่มแรกบนไอแพดเป็นไปอย่างรวดเร็ว ผมใช้เวลาว่างระหว่างวัน รวมไปถึงช่วงก่อนเข้านอนประมาณ  3-4 วันที่จะอ่านหนังสือเล่มหนาประมาณ  800 หน้าให้จบได้อย่างสนุกสนาน แน่นอนว่าฟังก์ชั่นในการไฮไลท์ และการที่ได้เห็นคนอื่น ๆ ไฮไลท์ในหลาย ๆ จุด ทั้งที่ตรงหรือไม่ตรงกับเรา มันเพิ่มความรู้สึกของอะไรบางอย่างคล้าย ๆ Book club ให้กับเราได้พอสมควร นอกเหนือจากนี้ระบบแวดล้อมอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้ การอ่านบนเจ้าไอแพดก็ถูกคิดมาแล้วอย่างดี ไม่ว่าการอ่านบนหน้าจอ LCD ที่สามารถเปลี่ยนสีกระดาษเป็นสีเหลืองนวล แทงตาน้อยลง และสามารถอ่านในเวลากลางคืนได้โดยไม่ต้องเปิดไฟ ความว่องไวในการเปิดหน้าย้อนกลับไปมา Dictionary ซึ่งแม้ว่าโดยปกติผมไม่ได้ใช้ ก็ดูจะมีประโยชน์ขึ้นมาทันทีเมื่อการใช้งานก็เพียงแค่เลือกคำที่ต้องการเปิดก็เท่านั้น ทั้งหมดทั้งสิ้นทำให้กระบวนการอื่นหนังสือบนไอแพด เป็นกระบวนการที่ค่อนข้างรื่นไหลเป็นธรรมชาติ ข้อเสียของความเป็นวัตถุที่จับต้องได้ หน้าปก กลิ่น สัมผัสถูกทดแทนด้วยความสะดวกอื่น ๆ ที่กล่าวไปแล้ว ผมถือว่าแทนกันได้เลยทีเดียว

เมื่อไม่นานมานี้ผมก็ยังได้ของขวัญวันเกิดล่วงหน้าจากน้องชาย เป็น Kindle Touch ตัวใหม่รุ่นที่มีโฆษณาพ่วงราคาย่อมเยา ขนาดกระทัดรัดมาเพิ่มอืกหนึ่งตัว เพื่อเป็นการเปรียบเทียบและศึกษาพฤติกรรมการอ่าน การใช้หนังสืออิเลคโทรนิคของผมเอง ผมจึงตัดสินใจที่จะสั่งหนังสือเล่มขนาดเดียวกันมาอีกหนึ่งเล่ม ชื่อหนังสือคือ Snowball ซึ่งเป็ชีวประวัติของ Warren Buffet อีกชายหนึ่งที่ผมค่อนข้างจะบูชาเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามจะเป็นการเปรียบเทียบที่ไม่สมน้ำสมเนื้อกันมากนัก ในขณะที่หนังสือเรื่อง Steve Jobs เขียนโดยนักเขียนฝีมือเยี่ยม ผู้เขียน Snowball ยังอายุน้อยและฝีมือการเขียนเทียบกันไม่ติด อีกทั้งการนำเสนออาจจะมีข้อจำกัดอยู่บ้างเนื่องจาก Warren Buffet ยังมีชีวิตอยู่ ผมเองซื้อหนังสือเล่มนี้มาตั้งแต่เริ่มออกซึ่งนานมากแล้ว หนังสือขนาดประมาณ 900 หน้า ราคาอยู๋ที่ประมาณ 990 บาทถ้าจำไม่ผิด ผมซื้ออีกเล่มในรูปแบบ Kindle ในราคาประมาณ 450 บาทถูกลงอย่างน้อยครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว เนื่องจากสไตล์การเขียนที่ค่อนข้างเยิ่นเย้อ และนำเสนอตัวละครที่เป็นตัวประกอบมากจนเกินเหตุจนจำกันไม่ไหว และขนาดของหนังสือที่หนาเกือบ ๆ สามน้ิว ผมจึงอ่านมันไปได้เพียงไม่ถึง 10% ทิ้งช่วงมาเป็นระยะเวลานานมาก การซื้อมาใหม่คราวนี้ก็คงเป็นการเริ่มต้นอ่านใหม่อีกครั้ง

สิ่งประทับใจอย่างแรก ไม่ต่างจากสิ่งแรกที่ผมเห็นใน Kindle นั่นก็คือ หน้าจอที่สมบูญแบบเป็นที่สุด เหมาะสำหรับการอ่านเป็นอย่างยิ่ง แม้ว่าจะไม่สามารถเปลี่ยนสีจากสีขาวไปเป็นสีเหลืองนวลอย่างไอแพดได้ แต่หน้าจอขาวอย่างที่เห็นนั้นอาจจะสบายตากว่าอ่านจากกระดาษสีขาวจริง ๆ เสียด้วยซ้ำ เนื่องจากการสะท้อนแสงที่ต่ำมากจนแทบจะสังเกตุไม่เห็น เป็นข้อได้เปรียบที่ถ้าไม่ใช้เอง อธิบายให้เห็นความสำคัญได้ยากมาก ๆ แม้แต่ผมซึ่งมีศักยภาพในการมองหน้าจอเป็นระยะเวลาต่อเนื่องมากกว่าสิบชั่วโมงต่อวัน ซึ่งการใช้คอมพิวเตอร์หรือไอแพดไม่ได้รบกวนกระบวนการทำงานของตาผมมากไปกว่าที่เป็นอยู่อย่างไรเลย ผมยังรู้สึกถึงความได้เปรียบอันมหาศาลของหน้าจอ Kindle อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ก็ต้องแลกกับความเฉื่อยชาในการตอบสนองของตัวเครื่อง ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะ CPU หรือระบบ touch ที่ค่อนข้างช้าและ unresponsive เมื่อชินกับการใช้งานไอแพดมาหลายเดือน การเปลี่ยนมาใช้ Kindle ก็ต้องปรับตัวกันพอสมควร การทำงานทุกอย่างกับ Kindle ต้องทำแบบเนิบ ๆ ค่อย ๆ เปลี่ยนหน้า ค่อย ๆ แตะแล้วไฮไลท์ เป็นต้น ความสามารถอื่น ๆ ของ Kindle เช่นการไฮไลท์แล้ว share การใช้ web browser ก็ค่อนข้างจะยุ่งยาก ช้าและทำให้ประสบการณ์ในการใช้ไม่บรรเทิงมากนัก อาจจะใช้เพื่อทดลองก็เพียงเท่านั้น popular highlight ก็ยังมีเหมือนกันกับฝั่งไอแพด แต่นี่อาจจะเป็นเพราะเป็นหนังสือ Kindle ที่สามารถอ่านได้ในหลาย ๆ ที่แบบไร้รอยต่อ

เมื่อมองโดยระบบแล้วผมคิดว่า Kindle เป็นระบบที่เวิร์คกว่า iBook ทั้งในเรื่องปริมาณหนังสือที่มีให้เลือก อิสระในการอ่านที่ไหน เมื่อไรด้วยอุปกรณ์ใด ๆ ก็ได้ มันทำให้ชีวิตคล้าย ๆ กับการพกหนังสือไปได้ทุกที่จริง ๆ ผมอาจจะอ่านที่หัวเตียงโดยไม่ได้เปิดไฟบนไอแพด แล้วมาอ่านต่อบนเครื่อง Kindle ในช่วงเช้าตอนออกไปทานอาหารเช้านอกบ้าน เนื่องจาก Kindle Touch เบาและพกสะดวกกว่าไอแพดหลายขุมอยู่ นอกจากนี้ผมจะยังสามารถมาเปิดของเครื่อง iMac ของผมเพื่อทำ research ถ้าต้องการได้อีกด้วย โดยอะไรก็ตามที่ผมเปลี่ยนแปลงบนเครื่องใดเครื่องหนึ่งก็จะถูก sync ไปยังเครื่องอื่น ๆ โดยอัตโนมัติ แต่อุปกรณ์ในการอ่านนั้นผมยังคิดว่า Kindle เองก็มีข้อดีของมัน ไอแพดเองมันก็มีข้อดีของมัน เนื่องจากมันเป็นอุปกรณ์คนละประเภทกัน เปรียบเทียบกันโดยตรงไม่ได้

ความพยายามของแอ๊ปเปิ้ลเองที่จะพัฒนาระบบของ iBook ไม่ว่าจะเป็น iTextbook ซึ่งเพิ่มฟังก์ชั่นของอุปกรณ์ช่วยเรียน เช่น การรวมไฮไลท์และโน๊ตไปเป็น Flashcard ใช้ช่วยในการทบทวน เป็นต้น ที่ผมดู potential แล้วก็สูงพอสมควร การแจก iBooks Author ฟรี ๆ รวมไปถึง Aps อื่น ๆ ที่ถูกออกแบบให้เป็น interactive book เช่น หนังสือเรื่อง Our Choice ของ Al Gore และหนังสือการ์ตูนเด็กอีกหลาย ๆ เล่ม ก็มีศักยภาพสูง แต่เท่าที่ผ่านมาผมยังไม่เจอหนังสือที่ผมสนใจจริง ๆ ไ่ม่ว่าจะเป็นฝั่ง iBook iTextbook หรือ Stand alone aps ทำให้ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ อย่างไรก็ตามระบบโดยรวมของ iTextbook iBooks Author iTunesU เป็นระบบที่น่าสนใจเป็นอย่างมากแต่น่าเสียดายประเทศไทยยังไม่สามารถใช้งานได้อย่างครบสูตร

ผ่านไป 3-4 วัน Kindle ได้ช่วยให้ผมอ่าน Snowball ได้เพิ่มขึ้นมาก แม้ว่าจะไม่สะดวกในการอ่านก่อนนอนโดยไม่เปิดไฟ แต่เนื่องจากความสะดวกในการหยิบจับและพกพา รวมไปถึงอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ที่ยาวเป็นหน่วยเดือน ทำให้ไม่ต้องเคยคิดเรื่อง recharge หนังสืออิเลคโทรนิคเล่มนี้เหมาะมากสำหรับคนรักการอ่านหนังสือ ในขณะที่ไอแพดมีศักยภาพ ความสามารถของเครื่องมากกว่ามากมาย แต่ด้วย Kindle Aps เราก็สามารถประยุกต์ใช้เพื่ออ่านหนังสือได้ อย่างไรก็ตาม iBook iBooks Author iTextbook รวมไปจนถึง interactive books เล่มใหม่ ๆ ที่ออกมาเรื่อย ๆ ก็อาจจะเปลี่ยนแปลงความต้องการของเราจากการอ่านหนังสือก็เป็นได้ แต่นั่นคงเป็นเรื่องในอนาคต เพราะสเน่ห์ในการอ่านหนังสือไม่ได้อยู่เพียงภาพประกอบสวยงาม ภาพเคลื่อนไหว แต่หากอยู่บนความสามารถในการจินตนาการของผู้อ่าน บางครั้งภาพที่สร้างขึ้นมาเพื่อประกอบมิอาจเทียบกับภาพที่ถูกสร้างโดยจินตนาการในใจของผู้อ่านได้

มีอีกส่วนหนึ่งที่ผมยังไม่ได้แตะมากคือส่วนแมกกาซีน เนื่องจากผมชอบอ่านแมกกาซีนแต่งบ้าน ศิลปะ และแมกกาซีนหัวนอกอีกจำนวนหนึ่ง แม้ว่า Kindle จะมีแมกกาซีนขายแต่ความคิดที่จะซื้อแมกกาซีนสีขาวดำมาอ่านบน Kindle มันไม่ค่อยน่าพิศมัยมากนัก Zinio เป็นร้านที่มีแมกกาซีนให้เลือกมากมาย ผมสมัครสมาชิกหนังสือบ้านเมืองนอกเล่มหนึ่งชื่อว่า Dwell ในราคาปีละร้อยกว่าบาท คุ้มค่าจริง ๆ แม้ว่าเอาเข้าจริง ๆ จะไม่ค่อยได้เปิดอ่านในไอแพดเสียเท่าไร ส่วน DTAC ก็แจกแมกกาซีนของอัมรินทร์ฟรีจำนวนมหาศาล หัวละ  6-7 เดือนป่านนี้ยังโหลดกันไม่หมด อย่างไรก็ตามผมพบว่าการอ่านแมกกาซีนบนไอแพดไม่สามารถทดแทนการเปิดหน้าหนังสือด้วยมือ ผมก็เลยยังแวะร้านหนังสือเพื่อหยิบหนังสือแมกกาซีนต่าง ๆ มาเปิดเล่นเป็นครั้งคราว แต่ที่จะมีประโยชน์จริง ๆ คือเมื่อเจอบทความบางบทความในแมกกาซีนหัวนอกที่สนใจการสั่งซื้อผ่าน Newstand บนไอแพดจะประหยัดกว่าซื้อเล่มจริงเกือบ ๆ สองเท่า

สุดท้ายสรุปว่าไอแพด และ Kindle เป็นคนละเครื่องกัน มีไว้ทั้งสองอันก็มีประโยชน์ หรือหาประโยชน์ได้ทั้งนั้น แม้ว่าทั้งสองเครื่องผมจะได้มาเป็นของขวัญ ถ้าหายไปทั้งสองเครื่องผมคงซื้อเพียงไอแพดกลับคืนมา แม้ว่า Kindle จะมีราคาเพียง 3-4000 เท่านั้น ผมก็คงไม่ซื้อชดเชย เพราะผมเองใช้งานอีกหลายฟังก์ชั่นของไอแพดที่ไม่ใช่การอ่านหนังสือ ส่วนการอ่านหนังสือบน Kindle นั้นผมคิดว่าตัวระบบมันดีกว่าตัวอุปกรณ์ไปมาก การมีอุปกรณ์ติดบ้านนั้นถ้าหากคุณเป็นคนชอบอ่านหนังสือทั้งไอแพดและ Kindle เป็นอุปกรณ์ที่เสริมกันได้ดี ไม่ใช่ว่ามีเครื่องใดแล้วอีกเครื่องจะถูกทิ้งให้เหงา แต่นั่นอยู่บนพื้นฐานของความชอบอ่านหนังสือของคุณเอง

1 ความเห็น

  1. arm1972 พูดว่า:

    หนึ่งเดือนผ่านไป แม้ว่าผมจะได้อ่าน Snowball มากขึ้นแต่ก็ได้ข้อสรุปว่าจริง ๆ แล้วอาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับ Kindle มากนัก เพราะความสะดวกในการหยิบไม่ได้ช่วยเพิ่มอัตราการหยิบอ่านได้มากเท่ากับตัวเนื้อหาในหนังสือที่กำลังจะหยิบเสียเท่าไร ผมซื้อหนังสือมาเพิ่มอีกสองเล่ม ไม่รู้ว่าหนาแค่ไหน แต่อ่านจบไปแล้วทั้งสองเล่มบน Kindle นี่แหละ ปล่อยให้ Snowball ค้างคาอยู่อย่างนั้นไปเรื่อย ๆ

ให้ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s