การใช้ระบบปฎิบัติการวินโดส์บนเครื่องแมค


คำถามแรกของหลาย ๆ คนที่เริ่มสนใจจะย้ายมายังค่ายแมค คือ เราจะต้องทำอย่างไรกับชีวิตบนโลกคอมพิวเตอร์ที่สร้างไว้บนวินโดส์ ตลอดระยะเวลานับสิบปีที่ผ่านมา คำตอบง่ายที่สุดก็คือ ย้ายทุกอย่างมาด้วยกันเสียเลย

ในเครื่องแมค และระบบปฏิบัติการ OSX มีทางเลือกสำหรับคำถามข้อนี้ให้คุณเรียบร้อยแล้ว ยิ่งถ้าเป็นเมื่อสักสองปีที่แล้วในเวปของแอปเปิ้ลจะมีลิงค์ที่พูดถึงการย้ายค่ายโดยเฉพาะ อย่างไรก็ตามในปัจจุบันข้อมูลเหล่านี้จะซ่อนอยู่ในหน้า Why you’ll love a Mac ซึ่งถ้าเข้าไปดูจะพบว่าในปัจจุบันการย้ายค่ายเป็นเรื่องง่ายเข้าไปกว่าเดิม อย่างไรก็ตามบทความนี้เราจะยกวินโดส์มาทั้งดุ้นกันก่อนแล้วต่อ ๆ ไปเราค่อยมาคุยกันเรื่องการปรับตัวเข้าสู่ แมค ทั้งระบบทีละเล็กทีละน้อย

วิธีที่เมื่อก่อนแอปเปิ้ลแนะนำให้ใช้ก็คือการใช้โปรแกรมที่เรียกว่า Boot Camp แถมมาพร้อมกับแมค Boot Camp เป็นโปรแกรมประเภทบริหารพาติขั่นหรือบูธพาติชั่น ข้อดีของการใช้วิธีนี้คือ แต่ละระบบปฏิบัติการจะได้ใช้ทุกส่วนของเครื่องแมคอย่างเต็มที่ จะได้ศักยภาพการใช้งานของเครื่องแมคตามที่ได้ออกแบบมาโดยสมบูรณ์ อย่างไรก็ตามจากความเคลื่อนไหวของแอปเปิ้ล ณ เวลานี้ การใช้ Boot Camp เริ่มมีข้อจำกัดมากขึ้นเรื่อย ๆ และคาดว่าในอนาคตอาจจะไม่สามารถใช้งานได้ตามที่ต้องการอีกต่อไป ยกตัวอย่างเช่น วินโดส์ที่ใช้งานกับ Boot Camp ได้ต้องเป็น XP(sp2) ขึ้นไปเท่านั้น หรือ ถ้าใครต้องการใช้วินโดส์บน MacBookAir ตอนนี้ต้องเริ่มที่ Windows 7 เป็นต้นไป เป็นต้น รายละเอียดเกี่ยวกับการใช้งาน ข้อจำกัดเกี่ยวกับการใช้ Boot Camp เพิ่งถูกแก้ไขเมื่อปลายปี 2011 บนเวปของแอปเปิ้ลเองในบทความชื่อว่า Mac 101: Using Windows on your Mac via Boot Camp ข้อจำกัดหลัก ๆ ของการใช้วิธีที่ว่านี้คือ ระบบปฏิบัติการที่แยกกันโดยเด็ดขาด การทำงานร่วมกับระหว่างสองระบบปฏิบัติการของเราเองจะค่อนข้างยุ่งยาก ไม่ราบรื่นอย่างที่ควรจะเป็น การส่งผ่านไฟล์ข้อมูล การค้นหาข้อมูล ทำได้ไม่สะดวก ซึ่งจะส่งผลให้การย้ายค่ายมาสู่แมคโดยสมบูรณ์ทำได้ยากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณต้องการใช้ข้อมูลพื้นฐาน จำพวกที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ ดูข้อมูลอ้างอิงจากอีเมล์ ระหว่างที่ต้องใช้โปรแกรมฝั่งวินโดส์ คุณข้อต้องมีข้อมูลเหล่านี้ซ้ำซ้อนอยู่บนฝั่งวินโดส์ การดูแลเพื่ออัปเดทข้อมูลซ้ำซ้อนต่าง ๆ ทำได้ไม่สะดวก และอาจจะผิดพลาดได้

วิธีที่ผมเลือกใช้เป็นวิธีที่แอปเปิ้ลไม่แนะนำ ด้วยข้อหา “performance penalty” คือวิธีที่เรียกว่า software emulation หรือโดยทั่วไปเรียกติดปากกันว่า Virtual Machines (VM) แต่จะแก้ไขปัญหาในระยะยาวได้ดีกว่า เนื่องจาก ความเสี่ยงของการจำกัดระบบปฏิบัติการโดยแอปเปิ้ลจะลดลง เราก็จะสามารถใช้ Windows XP(sp2) ที่อุตสาห์ยอมเสียเงินซื้อแบบถูกลิขสิทธิ์มาไปได้อีกนานพอสมควรในกรณีของผมเอง ในขณะนี้ iMac และ MacBookAir  รุ่นประมาณปี 2010 ก็ยังสามารถทำงานในระบบนี้ได้อยู่ ทั้งหมดทั้งสิ้นถือว่าเป็นเซทอัปที่ future proof ได้ดีในระดับหนึ่ง โปรแกรมกลุ่ม VM นี้ โดยพื้นฐานแล้วก็คล้าย ๆ กับโปรแกรมบริหารพาติชั่นหรือบูธพาติชั่นที่มีความซับซ้อนขึ้นอีกระดับนั่นเอง ในการใช้งานจะไม่จำเป็นต้องมีการ reboot เพื่อเลือกฝั่งระบบปฏิบัติการ OSX จะเป็นระบบปฏิบัติการหลัก และ VM จะเป็นเหมือน app ตัวหนึ่งเพียงเท่านั้น และใน app ตัวที่ว่านี้เราสามารถลงระบบปฏิบัติการณ์อื่น ๆ ลงไปได้ตามแต่ที่เราต้องการ ไม่ว่าจะเป็น Linux, Windows7 หรือแม้กระทั่ง OSX อื่น ๆ เท่านี้คุณก็จะสามารถใช้งานระบบปฏิบัติการต่าง ๆ เหล่านี้บนเครื่องแมคไปพร้อม ๆ กัน การแลกเปลี่ยนข้อมูล ทำได้สะดวกโดยไม่ต้องคิดเล็กคิดน้อยว่าตอนนี้เรากำลังใช้งานอยู่บนระบบปฏิบัติการใด แต่ข้อเสียคือแต่ละระบบปฏิบัติการต้องการจองทรัพยากรไว้เป็นของตัวเองไม่ว่าจะเป็น แรม ฮาร์ดดิส หรืออาจจะลามไปถึงซีพียู ทำให้การใช้งานแมคจะไม่ได้สมบูรณ์แบบอย่างที่ได้ถูกออกแบบเอาไว้ เพราะทรัพยากรต่าง ๆ เหล่านี้จะถูกจองโดยไม่มีการใช้งานเป็นเสียส่วนใหญ่ แต่ผมก็มองว่ามันก็ยังเร็วกว่าที่จะต้อง reboot เพื่อเข้าถึงข้อมูลอีกฝั่งเมื่อต้องการเป็นไหน ๆ อีกทั้งเราจะสามารถเปิดปิด VM เมื่อไม่ต้องการใช้งานได้เสมอเพื่อประหยัดทรัพยากร ไม่รวมถึงราคาของแรม ฮาร์ดดิส ที่มีแต่ลดลงเรื่อย ๆ ปัญหาเรื่องการเพิ่มทรัพยากรไม่น่าจะเป็นเรื่องใหญ่มากนัก

โปรแกรมจำพวก VM ก็มีอยู่หลายตัวให้เลือกสรรค์ ตั้งแต่ Opensourse อย่าง Q emulator หรือ VirtualBox โปรแกรมที่ถือว่าเป็นตัวมาตรฐานในด้านความเร็วอย่าง Parallels Desktop หรือ โปรแกรมราคาถูกอย่าง VMware Fusion ที่ผมซื้อมาจาก Apple Store Thailand ในราคาเพื่อการศึกษา 1400 บาทเท่านั้น ในขณะที่ Parallels สำหรับการศึกษาจะเร่ิมประมาณ 2500 บาท ผมไม่เคยใช้ตัวอื่นแต่เท่าที่ทำงานกับ VMware มาตั้งแต่เวอร์ชั่น 3 จนวันนี้เวอร์ชั่น 4 ก็ยังไม่พบปัญหาอะไร บนระบบที่เป็น OSX Snow Leopard – VMWare Fusion3 – WindowsXP(sp2) ทั้งบน iMac และ MacBookAir เรื่อยไปจนเปลี่ยนเป็น OSX Lion – VMware Fusion4 บนทั้งสองเครื่อง ยังไม่เจอปัญหาใด ๆ ทั้งสิ้นครับ ผมมีแรมทั้งหมด 4GB แบ่งกันใช้คนละครึ่งแน่นอนว่าบางทีเครื่องก็ช้าจนต้องบูธใหม่ อาการค้างเหล่านั้นก็หายไป ผมคงไม่บ่นอะไรเพราะผมใช้งานเครื่องตามที่แอปเปิ้ลเขาโม้เอาไว้คือ ผมไม่เคยปิดเครื่องเลย จะมีมาบูธใหม่บ้างก็เวลามันช้าเกินเหตุนี่แหละ

แต่อยากบอกให้รู้กันว่า VMware Fusion4 ราคาถูกไม่มีให้หาซื้อกันแล้วนะครับ ตอนนี้ราคาลดพิเศษเริ่มที่ $49.99 และไม่สามารถหาซื้อได้ที่ Apple Store Thailand หรือ AppStore ได้ คิดว่าเป็นเพราะความสามารถใหม่ ๆ ของ Fusion4 ที่นำความสามารถของ OSX Lion มาสู่โปรแกรมฝั่งวินโดส์ ไม่ว่าจะเป็น Launchpad, Mission Control และ Spotlight แต่ผมเองก็ยังไม่เคยใช้นะครับ หรือว่าใช้อยู่โดยไม่รู้ตัว อันนี้ก็ไม่แน่ใจ แต่ที่แน่ ๆ ความสามารถใหม่ ๆ เหล่านี้ ทำให้คุณใช้ชีวิตบนเครื่องแมคใหม่ของคุณได้โดยแทบไม่รู้สึกเลยว่ากำลังใช้โปรแกรมฝั่งแมคหรือฝั่งวินโดส์อยู่ และแอปเปิ้ลก็ไม่อยากเห็นอย่างนั้น ก็เลยโละออกจาก Apple Store ไปเสีย

การลงโปรแกรมและลงวินโดส์ก็ตรงไปตรงมาครับ แต่ถ้าไม่แน่ใจทาง VMware Fusion ก็มี ระบบสนับสนุน ที่สุดยอดเลยทีเดียว รายละเอียดเยอะมาก ๆ ใครอยากหาข้อมูลวิธีการติดตั้งทั้งตัวโปรแกรมและวินโดส์ก็ไปที่นั่นเลยครับ ผมคิดว่าทุกปัญหาแก้ได้ด้วยลิงค์ที่ให้ไปแน่นอนครับ ในการติดตั้งแต่ละระบบปฏิบัติการซึ่งจะถูกเรียกว่า Virtual Machine นั้น จะมีขั้นตอนให้จัดการแรมและฮาร์ดดิสของแต่ละระบบปฏิบัติการก่อนที่จะติดตั้ง ไม่ต้องเครียดครับในส่วนนี้ เพราะเมื่อใช้งานไปแล้วไม่ชอบใจก็สามารถปรับเปลี่ยนได้ค่อนข้างจะอิสระเลยทีเดียว เช่นเดียวกันถ้าให้มีการแชร์ documents ร่วมกัน การใช้งานส่วนที่เป็น WindowsExploer กับ Finder ก็จะใช้ Folder ที่เรียกว่า My Document ร่วมกัน เท่าที่ผมใช้ก็สะดวกดีครับ ส่วนการใช้งานเมื่อติดตั้งโปรแกรมและวินโดส์เรียบร้อยแล้วผมก็แนะนำให้ใช้ View แบบ Fullscreen ก่อน จะได้รู้ว่าตอนนี้อยู่บนวินโดส์หรืออยู่บนแมค แบ่งหน้าจอใครหน้าจอมันไปก่อน หรือใช้ Single Window เราก็จะเห็นทุกอย่างอยุ่ในหน้าจอของวินโดส์ แต่ผมไม่ค่อยชอบแบบนี้เพราะมันจะเล็ก พอคล่อง ๆ แล้ว ก็เปลี่ยนเป็น Unity เลยครับ คราวนี้หน้าต่างของแมค วินโดส์ ก็จะบนกันอย่างอิสระอยู่ในหน้าจอของเราเลย ย้ายไปมาได้ ใช้งาน Multi Gesture ได้ ราบรื่นครับ

ไปลองกันดูนะครับ มีอะไรก็โพสมาถามกันได้ หลาย ๆ อย่างถ้าลองทำมาแล้วจะเล่าสู่กันฟังครับ

ให้ความเห็น